เรื่องเด่น เรื่องเล่าพระธรรมบท ตอน ภิกษุสองสหายผู้เป็นปฏิบัติ และ ปริยัติ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 13 กรกฎาคม 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เรื่องเล่าพระธรรมบท ตอน ภิกษุสองสหายผู้เป็นปฏิบัติ และ ปริยัติ
    a15.jpg
    เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันกรุงสาวัตถี ได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 19 และพระคาถาที่ 20 โดยปรารภภิกษุสองสหาย

    ครั้งหนึ่งมีภิกษุสองรูปเป็นสหายกันจากตระกูลคฤหบดีในกรุงสาวัตถี ในภิกษุสองรูปนี้รูปหนึ่งศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฏกจนมีความเชี่ยวชาญสามารถท่องจำความในพระคัมภีร์ต่างๆได้มากมาย ท่านรูปนี้ยังได้สอนพระภิกษุอื่นอีกเป็นจำนวน 500 รูป และยังได้เป็นผู้แนะนำภิกษุอื่นๆอีก 18 กลุ่มด้วยกัน ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งนั้นมีความขยันหมั่นเพียรตามแนวทางของวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

    ครั้งหนึ่งเมื่อพระภิกษุรูปที่สองนี้มาเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ก็ได้มาพบกัน พระภิกษุรูปที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไม่ทราบว่าพระภิกษุอีกรูปหนึ่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงดูหมิ่นพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์โดยคิดว่าท่านเป็นพระภิกษุชรารู้เรื่องคัมภีร์ต่างๆแต่เพียงเล็กน้อย ไม่ความรู้เรื่องนิกายต่างๆสักนิกาย หรือไม่มีความรู้เรื่องในปิฎกใดปิฎกหนึ่งในพระไตรปิฎก ดังนั้นท่านจึงคิดที่จะถามปัญหากับพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ให้เกิดความอับอาย พระศาสดาทรงทราบเจตนาที่เป็นอกุศลของพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก และพระองค์ยังทรงทราบด้วยว่า จากผลของการสร้างความลำบากให้แก่พระภิกษุรูปที่พระอรหันต์จะทำให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไปเกิดในนรกได้

    ดังนั้นพระศาสดาทรงมีพระกรุณาต่อพระภิกษุผู้คงแก่เรียน จึงได้เสด็จไปหาพระภิกษุทั้งสองรูปนั้นเพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนถามปัญหาพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์ พระศาสดาจึงได้ทรงตรัสถามปัญหาเสียเอง โดยได้ตรัสถามปัญหาที่เกี่ยวกับฌานต่างๆ และมรรคต่างๆกับพระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนที่ชำนาญในพระไตรปิฎก พระภิกษุรูปนี้ไม่สามารถตอบปัญหาของพระศาสดาได้เพราะตนไม่เคยนำสิ่งที่ตนสอนมาปฏิบัติ สำหรับกับพระรูปที่เป็นพระอรหันต์นั้น ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านสามารถตอบคำถามของพระศาสดาได้ทุกข้อ พระศาสดาทรงยกย่องพระที่ปฏิบัติธรรมะแต่ไม่ทรงยกย่องพระที่คงแก่เรียน

    พวกพระที่เป็นสัทธิวิหาริกไม่เข้าใจสาเหตุที่พระศาสดาทรงยกย่องพระภิกษุชราที่เป็นพระอรหันต์แต่ไม่ยกย่องพระภิกษุที่คงแก่เรียน พระศาสดาได้ทรงอธิบายเรื่องนี้แก่ภิกษุเหล่านั้นว่า พระภิกษุคงแก่เรียนที่รู้มากแต่ไม่ปฏิบัติตามธรรมะนั้นก็เหมือนกับคนเลี้ยงโค คอยแต่เลี้ยงโคเพื่อรับค่าจ้าง ในขณะที่พระที่ปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับเจ้าของโคที่ได้เสวยผลของผลิตผลห้าอย่างของโค ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุผู้คงแก่เรียนนั้นได้แต่การอุปัฏฐากจากศิษยานุศิษย์แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร ส่วนพระภิกษุสายปฏิบัติธรรมนั้น แม้ว่าจะมีความรู้น้อยและท่องจำพระคัมภีร์ได้น้อย แต่สามารถเข้าใจแก่นแท้ของธรรมะและนำไปปฏิบัติอย่างมุมานะขยันหมั่นเพียร จึงได้ชื่อว่า “อนุธัมมจารี”(ผู้ปฏิบัติตามธรรม) สามารถขจัดราคะ โทสะ และโมหะได้ จิตของท่านจึงปลอดพ้นจากตัณหานุสัยและความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ท่านจึงเป็นผู้ได้เสวยผลประโยชน์ของมรรคและผลจริงๆ

    จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 19 และพระคาถาที่ 20 ดังนี้

    พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน
    น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต
    โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ
    น ภาควา สามญฺญสฺส โหติฯ

    คนที่ได้แต่ท่องจำตำราได้มาก
    แต่มัวประมาท ไม่ปฏิบัติตามคำสอน
    ย่อมไม่ได้รับผลที่ควรจะได้จากการบวช
    เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคให้คนอื่นเขา.

    อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน
    ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
    ราคญจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ
    สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
    อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา
    ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติฯ

    คนที่ท่องจำตำราได้น้อย แต่ประพฤติตามธรรม
    ละราคะ โทสะ โมหะได้
    รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น
    ไม่ยึดมั่นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
    เขาย่อมได้รับผลของการบวช.


    เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมากบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แก่มหาชน.
     

แชร์หน้านี้

Loading...