เรื่องเด่น นานาเรื่องราวหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย Wannachai001, 16 กันยายน 2014.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    789_957.jpg
    อิทธิฤทธิ์หรือความบังเอิญของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
    โดย พ.ต.อ.(พิเศษ) อรรณพ กอวัฒนา


    คำนำครั้งที่ ๑


    "........หนังสือเล่มนี้ ใช้เวลาในการรวบรวมและเรียบเรียงนานถึงประมาณปีเศษๆ จึงสำเร็จลงได้ บางเรื่องบางตอนเขียนไว้เป็นใบปลิวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อกระตุ้นศรัทธาคณะศิษย์ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ในการหาทุนทรัพย์ซ่อมแซมวัดจามเทวีโดยร่วมกันไปทอดกฐิน บางตอนเร่งรัดเขียนไว้เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อเทอดพระคุณ พระเดชพระคุณ “พระราชพรหมยาน” เถระ

    .........ต่อมาได้เขียนตอนใหม่ๆ ขึ้นเพิ่มเติม อีกทั้งขัดเกลาตอนเก่าๆ ที่เห็นว่ายังดีอยู่ รวบรวมเข้าด้วยกันจนสำเร็จเป็นหนังสือที่เฉพาะเนื้อหาหนาถึง ๑๐ ยก (๑๖๐ หน้า) ตามคำสั่งของพระเดชพระคุณหลวงพ่อของพวกเรานั่นเอง

    หนังสือเล่มนี้ เขียนให้ได้อ่านกันแบบสบายๆ คนแก่ๆ ก็อ่านได้เป็นการทบทวนความจำ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็อ่านดีจะได้รู้เรื่องเก่าๆ บ้าง และได้พยายามเขียนให้เกิดอรรถรสสนุกสนานไม่หนักสมอง แต่ไม่ใช่แต่งขึ้นเอง เป็นการหยิบยกเอาแง่มุมหนึ่ง ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจริง ที่เห็นว่าอ่านแล้วไม่ง่วงขึ้นมาเขียน ด้วยเห็นว่าหลักวิชานั้นได้ปรากฏอยู่ในคำสอนมากมายเพียงพอแล้ว
    และในส่วนอรรถาธิบายพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ก็ได้อธิบายขยายความไว้มากมายเช่นกัน นับเฉพาะที่พิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกเป็นปริมาณนับไม่ถ้วน เนื้อหาของหนังสือจึงปรากฏดั่งที่เห็น ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เคยปรากฏมาแล้วในอดีต ไม่ใช่เรื่องที่แต่งเติมเสริมเอาจากเค้าโครงเรื่องที่บอกเล่าต่อๆ กันมาแบบที่เป็นอย่างเรื่องนิยายฉะนั้น

    อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้แม้จะเกิดจากบัญชาของหลวงพ่อฯ แต่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทำได้จนสำเร็จก็มีหลากหลาย ทั้งที่เป็นมนุษย์และที่ตามนุษย์มองไม่เห็น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามสุดแท้แต่จะเรียกกันไป ที่ได้มีส่วนช่วยทั้งที่ให้การอนุเคราะห์สนับสนุน หรือให้การก่อกวนขัดขวางบ่อนทำลายก็ตามแต่

    ท่านที่มีเมตตาการุณย์ก็ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง ท่านที่มีเจตนาเป็นอย่างตรงข้ามก็ขอให้จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจและรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

    ถ้าชีวิตเป็นเสมือนหนึ่งนาวา ที่ล่องลอยอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรกิเลส กราบขอบพระคุณบิดามารดาที่ให้กำเนิด เสมือนเป็นผู้ให้โครงลำเรือ กราบขอบพระคุณคุณย่าเหรียญ ที่เลี้ยงดูอุปถัมภ์และขัดเกลา เสมือนเป็นผู้ให้อุปกรณ์และเสบียงกรัง ตลอดจนลูกเรืออย่างครบถ้วนบริบูรณ์ กราบขอบพระคุณครูบาอาจารย์ในทางโลก ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งเสมือนเป็นอากาศให้ได้หายใจ

    กราบขอบพระคุณแม่นิดฯ ผู้เสมือนเป็นแม่อีกคนหนึ่ง กราบขอบพระคุณป้าน้อยฯ ผู้เสมือนเป็นลำโพงอยู่ในเรือให้เสียงเพราะหูบ้าง รกหูบ้าง ก็เป็นกองเชียร์ให้กำลังใจ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อฯ ที่ได้เมตตาอนุเคราะห์ชี้แนะและสั่งสอน ประคับประคองตลอดจนนำทาง เพื่อจะพานาวาไปให้ถึงฝั่งถึงดินแดนอันเกษม

    กราบขอบพระคุณกิเลสตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ที่เสมือนเป็นมหาสมุทรล้ำลึกสุดลึกลับ และกอร์ปด้วยพายุโหดอุดมไปด้วยฉลามร้าย และภัยอันตรายนานัปการ ตลอดจนความผันแปรที่ไม่อาจจะคาดเดา ทำให้ผู้ฟันฝ่าคือนายนาวาคนนี้ มีคุณค่าน่าภาคภูมิ อย่างไรก็ตามหากหนังสือนี้ จะเป็นบุญเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดที่ได้กล่าวถึง ขอจงโมทนาเถิด ด้วยข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้ทั้งหมด

    **********************************


    คำนำครั้งที่ ๒

    หนังสือเรื่อง “อิทธิฤทธิ์ หรือ ความบังเอิญของ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” นี้ เคยพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ จำนวนพิมพ์ ๑๐,๐๐๐ เล่ม ตามคำสั่งของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ทั้งนี้ในตอนที่จะพิมพ์เป็นครั้งแรกนั้น ผมมีความหวั่นวิตกเหลือเกินว่า วัดจะขาดทุนเพราะคิดว่าไม่น่าจะขายได้ เพราะผมไม่ใช่นักประพันธ์มืออาชีพ จึงพยายามต่อรองจะขอพิมพ์เพียง ๕,๐๐๐ เล่ม
    แต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯไม่ยอม บัญชาเด็ดขาดสั่งให้พิมพ์ตามจำนวนนั้น และก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ที่ปรากฏว่าหนังสือได้ขายหมดลงด้วยเวลาอันรวดเร็ว ตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ของเจ้ากบตัวน้อยอย่างผม เมื่อหนังสือหมดแล้ว ต่อมาได้มีผู้ติดต่อมามากมายให้พิมพ์เพิ่ม บางท่านก็ทวงถามเล่มที่ ๒ ตามที่ผมได้เกริ่นเอาไว้ในหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรก ผมก็ผัดผ่อนเรื่อยมาโดยมีข้ออ้างข้อแก้ตัวสารพัด
    จนเวลาผ่านไปรวดเร็วเหมือนละครน้ำเน่า ในที่สุดของที่สุดหนังสือที่พิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ นี้ก็สำเร็จลงได้ คราวนี้ก็จะพิมพ์อีก ๑๐,๐๐๐ เล่ม และพิมพ์โดยปราศจากความปริวิตกเลยแม้แต่น้อย เพราะพวกๆกันหลายต่อหลายท่านออกทุนให้ พิมพ์แล้วก็มอบให้กับทางวัดจำหน่าย โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายและไม่ได้ใช้ทุนของวัด

    ผมก็จะถือโอกาสนี้แหละชี้แจงให้ทราบที่มาของชื่อหนังสือ เพราะได้มีท่านที่เคารพหลายท่านเคยถามผมหลายครั้งว่า การที่ใช้ชื่อหนังสือว่า “อิทธิฤทธิ์ หรือ ความบังเอิญของ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” นี้ หมายความว่าอย่างไร... ที่มามีดังนี้ครับ คือผมและลูกศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯนั้น เคยมีประสบการณ์ในการที่ได้พบกับสิ่งมหัศจรรย์เหนือมนุษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ มามากมายหลายครั้ง จนพวกเรานั้นแทบจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

    แต่ก็นั่นแหละครับตามวิสัยของปุถุชนคนธรรมดา เมื่อเห็นมาแล้วพวกเราก็อดคันปากไม่ได้ จึงได้นำมาเล่าสู่กันฟัง จากปากสู่หู เข้าหูออกจากปาก ไปเรื่อยๆไปเรื่อยๆ ทีแรกๆก็เล่ากันในวงใน ต่อมาก็ขยายวงออกไป นานๆเข้าเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็จะถูกเล่าจนเพี้ยนไป ขนาดของจิ้งจกในเรื่องก็กลายเป็นตุ๊กแก จากตุ๊กแกก็กลายเป็นจิ้งเหลน จากจิ้งเหลนก็กลายเป็นตะกวด จากตะกวดก็กลายเป็นมังกรโคโดโหมะ และแล้วมังกรโคโดโหมะก็กลายเป็นไดโนซอรัส

    เมื่อเป็นดังนี้ทำให้ผู้ฟังที่เชื่อก็มี ที่ยังสงสัยอยู่ก็ไม่น้อย ท่านที่สงสัยท่านก็แสนจะสุภาพเพราะแม้ไม่เชื่อท่านก็เลี่ยงไปใช้คำพูดว่า เป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่านะเนี่ย นี่แหละครับที่มาของชื่อหนังสือ นั่นก็คือ เนื้อเรื่องบางเรื่องผมก็จะเล่าถึงสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้ไงครับ แล้วให้ท่านที่อ่านได้ใช้วิจารณญาณและเหตุผลว่า นี่เป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ หรือความบังเอิญอย่างที่หลายๆ ท่านมีข้อกังขา ครับ ถึงบางอ้อ!!!! กันแล้วนะครับ

    นอกจากจะขอกราบขอบพระคุณทุกๆท่านที่ได้เคยเอ่ยมาในคำนำครั้งที่ ๑ แล้ว ผมขอกราบขอบพระคุณท่านที่ให้ทุนทรัพย์ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ นี้เพิ่มเติม เอาแต่เฉพาะขาใหญ่ๆอันมีครอบครัวแห่ง ตระกูลพงษ์วัฒนานุสรณ์, ตระกูลถนัดกลึง, ตระกูลมงคลชัยดิษฐ, ครอบครัวตระกูลศิริวัฒโก และมีอีกหลายๆ ตระกูล แต่จะยืดยาวเยิ่นเย้อจนเฟ้อไป ซึ่งก็ได้ขออนุญาตว่าจะไม่เอ่ยชื่อมา ณ ที่นี้ ไว้ล่วงหน้ากันก่อนแล้ว คือเป็นอันว่าท่านประสงค์บุญแต่ไม่ประสงค์จะให้ออกนาม ก็ต้องขอกราบขอบพระคุณและกราบขออภัยมาอีกครั้งหนึ่ง

    ขอพรพระ ให้ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงบังเกิดแด่ท่านผู้อ่านพร้อมครอบครัว และญาติสนิทมิตรสหายอันเป็นที่รักทุกๆ ท่าน กับขอให้สุขให้สบายทั้งกายและใจ อีกทั้งของจงสัมฤทธิ์ผลในสิ่งอันพึงหวังจงทุกประการ..เทอญ.

    **********************************
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    สารบัญอิทธิฤทธิ์หรือความบังเอิญ ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

    โดย. พ.ต.อ. (พิเศษ) อรรณพ กอวัฒนา

    ตอนที่
    01 หลวงพ่อ - พบหลวงพ่อ
    02 อะไรทำให้ศรัทธาในตัวหลวงพ่อ
    03 หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่
    04 ครูบาพรหมจักรสังวร วัดพระบาทตากผ้า จ.ลำพูน
    ปรารภถึงท่านผู้มีความดี (พระราชพรหมยาน)
    คุยกันตามลำพัง (พระราชพรหมยาน)
    05 ครูบาอินทรจักรรักษา วัดน้ำบ่อหลวง จ.เชียงใหม่
    06 หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล จ.เชียงใหม่
    07 ครูบาบุญทืม พรหมเสโน วัดจามเทวี จ.ลำพูน
    08 ครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย จ.ลำพูน
    09 คุณจักรฯ คุณศาสนฯ
    10 หลวงปู่สี ฉันทสิริ วัดถ้ำเขาบุนนาค จ.นครสวรรค์
    หลวงพ่อนัดพบหลวงปู่สีฯ ทางจิต (พล.อ.ต.มนูญ ชมพูทวีป)
    อภินิหาริย์ของหลวงพ่อและหลวงปู่สี (พล.อ.ต.มนูญ ชมพูทวีป)
    หลวงพ่อช่วยงานศพหลวงปู่สีฯ (พล.อ.ต.มนูญ ชมพูทวีป)
    11 เสือหลวงพ่อปานฯ วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ
    12 หลวงปู่คำแสนฯ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
    แม่ทัพแขนด้วน
    13 ครูบาชัยยะวงศา วัดพระบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    อิทธิฤทธิ์หรือความบังเอิญ ตอนที่ 1 พบหลวงพ่อ


    ตอนที่ ๑ หลวงพ่อ

    เมื่อประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๓ ผมได้รับข่าวจากตำรวจที่ดูแลรักษาความปลอดภัยวัดท่าซุง จดหมายมาบอกเล่าเก้าสิบว่า “ หลวงพ่อ” (พระเดชพระคุณพระราชพรหมยาน) รับนิมนต์ที่จะไปประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปพระประธานที่ “วัดเขาไผ่” จังหวัดระยอง และในระยะนั้นจะจำวัดอยู่ที่บ้าน “พี่สมบูรณ์” จังหวัดจันทบุรี บอกมาด้วยว่า หลวงพ่อฯอยากให้ผมไปพบ แต่ไม่ยักกะบอกว่าเรื่องอะไร

    ผมก็เลยต้องเดาว่าหลวงพ่อฯคงอยากไปเยี่ยมทหารและตำรวจที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ทั้งนี้เพราะเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงพ่อฯได้เดินทางไปประกอบพิธีให้ทหารเรือที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งในขณะนั้นผมรับราชการอยู่ที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด จึงได้มีโอกาสไปดูแลให้ความสะดวกเล็กๆน้อยๆ และในโอกาสนั้นเอง หลวงพ่อฯได้ปรารภกับผมว่าปีหน้า ถ้ามีโอกาสท่านอยากจะมาอำเภอคลองใหญ่ (ตอนปรารภนั้นปลายปี ๒๕๓๒) และผมก็เดาถูกนิดหน่อย
    เพราะมาทราบภายหลังว่าหลวงพ่อฯ มีรายการไปบวงสรวงที่บ่อพลอยของลูกศิษย์ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด แต่ไม่ได้ไปเยี่ยมทหาร เพราะกว่าผมจะเดินทางไปพบก็เป็วันสุดท้ายของกำหนดการแล้ว และภายหลังได้ทราบจากหลวงพ่อฯว่าท่านมีเจตนาจะเลยไปเยี่ยมทหารและตำรวจจริงๆ แต่เมื่อผมไปถึงนั้นเลยเวลาแล้ว ทั้งที่ในขณะนั้นผมเองก็ได้ย้ายมารับราชการที่อำเภอบางคล้าด้วย จึงไม่เป็นการสะดวกและได้งดรายการเยี่ยมทหาร-ตำรวจไปแล้ว

    ที่ผมเดาได้ถูกนั้นเพราะหลวงพ่อฯนั้นไม่เคยทอดทิ้งทหารและตำรวจ โดยเฉพาะพวกที่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามชายแดน หลวงพ่อฯได้กรุณาอนุเคราะห์และเอื้อเฟื้อมาโดยตลอด ไม่ว่าดินแดนนั้นจะอยู่ห่างไกลเท่าไร ทุรกันดารเพียงไหนหรืออันตรายปานใด หลวงพ่อฯได้เคยพากเพียรดั้นด้นไปเยี่ยมเยียนมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ระหว่างที่เดินทางไปสงเคราะห์ก็มิใช่จะสะดวกสบาย พูดอย่างภาษาชาวบ้านว่าต้องกินอยู่หลับนอนเหมือนกับพวกเขาที่เราไปสงเคราะห์ หลายครั้งที่หลวงพ่อฯ “ต้องกินข้าวลิง”

    เพราะระหว่างเดินทางอยู่นั้นไม่มีร้านรวงหรือบ้านเรือนให้นิมนต์ฉันได้ สองข้างทางเป็นป่าทึบ และนอกจากนั้นก็ยังเป็นพื้นที่สู้รบอีกด้วย เวลาก็ใกล้จะเลยเพลแล้ว ลูกศิษย์ที่ไปด้วยจำต้องถวายกล้วยและผลไม้อื่นๆบ้างเป็นภัตตาหารมื้อเพล เพราะไม่มีอย่างอื่นจะถวายให้ท่านได้ ฆราวาสไม่เดือดร้อนเพราะจะกินเมื่อไรก็กินได้ แต่พระไม่ได้นี่ครับต้องฉันไม่เกินเวลา แล้วพวกเรารู้ไหม คำน้อยสักคำหนึ่งหลวงพ่อฯไม่เคยบ่น ท่านกลับคุยจ้อ พออกพอใจท่าทางยิ่งแช่มชื่นอะไรจะปานนั้น ท่านพูดว่า

    “ไอ้เป๋เอ๊ย..ไม่เป็นไรนะ เอ็งรู้ไหมข้าฯ อดข้าวสบายมาก การที่ข้าฯ ต้องอดข้าวแลกกับการได้มาสงเคราะห์ลูกๆ ของข้าฯ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละอยู่ที่ชายแดน คนเหล่านี้ยอมสละชีวิต เลือดเนื้อ อวัยวะ ความสุขส่วนตัวเพื่อปกปักรักษาชาติ รักษาในหลวงของเราและพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เขาเหล่านั้นต้องอดยิ่งกว่าเรา ถึงแม้ว่าข้าฯจะต้องอดข้าวตลอดชีวิต เพื่อให้ได้มาสงเคราะห์และให้กำลังใจพวกเขา ข้าฯก็จะทำ”

    หลวงพ่อฯ ท่านยอมอดข้าว เพื่อให้ได้สงเคราะห์พวกเรา แต่พวกเราล่ะครับเอาอย่างหลวงพ่อฯของเราบ้างหรือเปล่า เอาแค่เวลารับประทานอาหารก็พอ บ่นบ้างหรือเปล่าว่าอาหารไม่อร่อย อาหารไม่ถูกปาก รับประทานอาหาร ๑ มื้อ แต่บ่นเสีย ๗ กระบุงหรือเปล่า เวลาจัดเลี้ยงคนมากๆ น่าสงสารน่างเห็นใจแม่ครัวนะครับ คนช่วยทำมีน้อยและมีคนละ ๒ มือ แพ้ปากคนติทุกทีไป

    ซึ่งถ้าพวกแม่ครัวเขามีอิทธิฤทธิ์เสกเป่าเนรมิตได้ ผมว่าแม่ครัวจะต้องเสกเป่าให้พวกเราทันทีไม่มีบิดพริ้ว อย่าไปตามใจปากมากมายนักเลยครับ ไม่ว่าอะไรด็ตามจะสวยจะงามขนาดไหน พอผ่านปากผ่านลำไส้ของเราไปแล้ว ถ้าต้องได้เห็นอีกเป็นต้องร้อง ยี้...กันทุกคน

    มีเรื่องตลกเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินจะเล่าให้ฟังเผื่อจะเป็นข้อคิด ครั้งหนึ่งสมัยที่ผมบวชเรียนอยู่กับหลวงพ่อฯ ผมได้รับความกรุณาจากหลวงพ่อฯให้ร่วมโต๊ะฉันกับท่านทุกมื้อ จึงได้มีลูกศิษย์คณะหนึ่งอยากได้บุญมาก มาแอบกระซิบถามว่าหลวงพ่อฯชอบฉันอะไร แต่เวลาฉันทุกมื้อท่านจะเตือนเสมอให้พิจารณา “อาหาเรปฏิกูลสัญญา”

    และปกติท่านจะฉันเร็วพอสมควร เมื่ออาหารเข้าปากท่านก็เคี้ยวๆ ส่งและก็กลืนๆ ส่ง ไม่เห็นว่าท่านชอบหรือติดใจอะไรเป็นพิเศษ บ่อยรั้งที่เห็นท่านฉันมื้อละ ๒ - ๓ คำก็อิ่ม ส่วนใหญาท่านจะตามใจโยม ฉันให้กำลังใจคนที่ทำมาถวายฯเท่านั้น ผมคิดว่าถ้าร่างกายของท่านนี้ ไม่ต้องการอาหารเพื่อยังชีวิตเอาไว้ หลวงพ่อฯ ท่านคงจะไม่เสียเวลาฉัน

    แต่ผมก็ยังอุตส่าห์สังเกตว่าถ้ามีต้มยำกุ้ง หลวงพ่อฯ จะฉันได้มากขึ้นอีกนิดหนึ่ง จึงได้บอกศิษย์คณะนั้นไปว่าให้ถวายต้มยำกุ้ง ครั้นพอได้เวลาฉันเมื่อหลวงพ่อฯ ท่านเห็นต้มยำกุ้ง ท่านกลับไม่แตะต้องเลย ผมก็คิดของผมเองในใจด้วยกลัวหน้าจะแตกว่า
    “หลวงพ่อฯครับ ฉันต้มยำกุ้งเสียหน่อยเถิดครับ โยมที่ทำมาถวายเขาจะเสียใจ”

    ทันใดนั้นจู่ๆ หลวงพ่อฯก็พูดขึ้นมาดังๆ โดยไม่มองหน้าผมเลยว่า
    “เอ้า..เป๋! คุณฉันศพกุ้งเสียหน่อยสิ”

    ผมงี๊สะดุ้งเฮือก เจอดีเข้าจังเบอร์แล้วไหมล่ะ มื้อนั้นผมมองกับข้าวบนโต๊ะฉันเห็นเป็นศพอะไรต่อมิอะไรยั้วเยี้ยไปหมด ฉันข้าวไม่ได้ กัดฟันฉันข้าวคลุกน้ำศพปลา (น้ำปลา) ไปได้ ๒-๓ คำก็อิ่ม นับเป็นการสาธิต “อาหาเรปฏิกูลสัญญาภาคปฏิบัติ” ที่ชัดเจนและเจ็บปวดที่สุด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถ้าใครมาถามผมว่าหลวงพ่อฯท่านชอบฉันอะไร ผมก็จะหัวเราะกั๊กๆ แล้วทำเป็นหูทวนลมเดินหนีไปทุกครั้ง

    ผมไปพบหลวงพ่อฯที่จันทบุรีช้าไป จนหลวงพ่อฯไม่อาจจะไปสงเคราะห์ทหารและตำรวจที่อำเภอคลองใหญ่ได้ ผมก็เลยถือโอกาสนิมนต์อาราธนาหลวงพ่อฯมาเยี่ยมอำเภอบางคล้าซึ่งผมเป็นสารวัตรใหญ่อยู่ เพราะเห็นว่าเป็นเส้นทางผ่านตอนขากลับ และอยากให้คณะศิษย์ของหลวงพ่อฯ ได้มีโอกาสมานมัสการหลวงพ่อ “พระพุทธโสธร” ว่าอย่างนั้นเถิด หลวงพ่อฯก็รับนิมนต์ คงจะเพื่อสงเคราะห์คณะศิษย์ให้ได้มีโอกาสนมัสการหลวงพ่อพระพุทธโสธร อย่างที่ผมเดาเอาไว้นั่นเอง

    เมื่อ ๑๗ ปีมาแล้ว หลวงพ่อฯเคยพาคณะศิษย์มานมัสการหลวงพ่อพระพุทธโสธร หลวงพ่อฯท่านว่า เทพ (หมายถึงเทวดาหรือพรหม) องค์ที่ดูแลหลวงพ่อพระพุทธโสธร ชื่ออะไรผมก็จำไม่ได้ เป็นเทพที่มีบุญบารมีทางโชคลาภสูงมาก แล้วในวันที่หลวงพ่อฯ มาโรงพักบางคล้า หลวงพ่อฯก็เอ่ยชื่อท่านองค์นี้อีก ผมฟังไม่ถนัด เดาๆ เอาว่าน่าจะเป็นท่าน “สหัมบดีพรหม” แน่ๆ

    และก็จากการที่หลวงพ่อฯ มาเยี่ยมผมที่โรงพักบางคล้านี่เอง ผมจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านพระปลัดวิรัชฯ ท่านพระปลัดวิรัชฯท่านได้ขอให้ผมเขียนเรื่องอะไรก็ได้ ที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงพ่อของพวกเรา ผมจึงแบ่งรับแบ่งสู้ (แต่ออกจะไม่รับไม่สู้ แค่รับว่าจะพยายามลองดูเสียละมากกว่า) และในที่สุดก็จึงได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา

    โดยผมใคร่จะขอกราบเรียนเสียก่อนว่าสันดานของผมนั้น เป็นคนพูดจาโผงผางตรงไปตรงมา บางครั้งสรรพนามที่ใช้เขียนเรื่องนี้ ก็เป็นสรรพนามที่ในตอนนั้น ผู้คนในเรื่องที่เล่านี้เขาพูดจากันอย่างนั้นจริงๆ ผมจึงเขียนไปอย่างนั้น หาได้มีเจตนาจะให้ระคายหู ระคายตาหรือลบหลู่ดูหมิ่นท่านผู้ใด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบุคคลในเรื่องที่ผมเล่าเขาตะโกนว่า

    “เฮ้ย ถ้าพวกมึงถอย กูจะตัดหัวพวกมึงเจ็ดชั่วโคตร” อย่างนี้แล้วจะให้ผมละเลียดเขียนเสียใหม่ว่า
    “อุ๊ย..ถ้าพวกท่านถอย ผมก็จะตัดศีรษะพวกท่านเจ็ดลำดับสายโลหิต นะเคอะ!”
    อ่านแล้วน่าคลื่นไส้ตายโหงนะครับ และอีกอย่างหนึ่งเมื่อจะให้เขียนกันจริงๆ ผมก็จะขอเขียนเรื่องจริงๆ ที่ดูแล้วเข้าท่า เรื่องออดอ้อนพร่ำพรรณนาสุดรักสุดเคารพสุดบูชาสุดประมาณ เห็นทีจะยอมแพ้ไม่ขอเขียนดีกว่า และเรื่องที่จะเขียนก็จะไม่เขียนว่าหลวงพ่อฯ สอนว่าอย่างไร เพราะคำสอนที่พิมพ์อออกมาก็มีมากมายเหลือคณานับไปหาอ่านเอาเองดีกว่าครับ และจะไม่ผิดพลาดด้วยเพราะเป็นคำสอนโดยตรงจากหลวงพ่อฯ

    ผมจะเขียนว่าเพราะอะไร และเหตุใดจึงมาพบหลวงพ่อฯ จากที่ได้มาพบและติดตามท่านระยะหนึ่ง ได้ประสบพบเห็นเหตุการณ์อะไร ที่คิดว่าสนุกไม่ซีเครียด และที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงพ่อฯ และขอทำความเข้าใจว่า เมื่อผมจั่วหัวเรื่องถึงหลวงพ่อฯ หรือหลวงปู่องค์ไหนหรือบุคคลท่านอื่นใด

    ก็หมายความว่าผมจะเล่าเรื่องของหลวงพ่อฯ หลวงปู่องค์นั้น หรือบุคคลท่านนั้นๆ เฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับหลวงพ่อฯ และเฉพาะที่ผมได้รู้ได้เห็นได้สัมผัสมาในเวลาและโอกาสนั้น หรือในการถัดต่อมาที่หลวงพ่อฯ ได้กรุณาอธิบายขยายความให้ชัดเจนและถูกต้องยิ่งขึ้น คนอื่นเห็นอย่างไรก็ให้เขาเล่าเองบ้างเถิดนะขอรับ..ครับกระผม...
    ________________________________________


    ผมถือกำเนิดมาในตระกูลพ่อค้าใหญ่ ผู้คนในตระกูลของผมส่วนใหญ่ไม่มีใครนับถือพระนับถือเจ้าอย่างจริงจังอะไร คุณก๋งของผมเป็นพ่อค้าข้าวมีโรงสีหลายโรง สมัยก่อนแถวถนนสาธรยันถนนตกข้ามเจ้าพระยาไปจนถึงบางค้อไม่มีใครไม่รู้จัก “เจ้าสัวกอเป็งเชียง” หรือ “เจ้าสัวเจียร” ร่ำลือกันว่า ร่ำรวยกว่าใครๆในย่านนี้ บ้านที่พักอาศัยเรียกว่า “บ้านสามภูมิ” ประกอบด้วยบ้านของ ๓ ตระกูลใหญ่มี “กอวัฒนา”“พยัคฆาภรณ์” และ “ทวีสิน” มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล ใครจะจัดงานแต่งงานลูกหลานมักจะมาขอยืมสถานที่เพื่อจัดงานพิธีและงานเลี้ยง เดือนๆ หนึ่งมีงานหลายงาน ผมละชอบนักเชียวเพราะว่าเป็นลาภปากมีงานทีไรอิ่มสบายทุกที บางทีล่อหมูหันซะก่อนแขกเจ้าภาพเสียอีก

    เขาเล่ากันว่าสมัยหนึ่งที่รัฐบาลไทยห้ามส่งข้าวออกนอกประเทศ คุณก๋งของผมตกงานไม่มีอะไรจะทำ จึงได้ประชดจัดตั้งสมาคมขึ้นมา ไม่ใช่สมาคมอั้งยี่กรรไกรขาเดี่ยวอะไรหรอกครับ แต่เป็นสมาคมที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เอาแต่เลี้ยงดูปูเสื่อกันทั้งวันทั้งคืน ไม่ใช่เลี้ยงข้าวเหนียวส้มตำนะครับ แต่เลี้ยงแบบอาหารฮ่องเต้ตลอดวันตลอดคืน มีนักร้องนักดนตรีจีนมาขับกล่อมผลัดเปลี่ยนกันไปตลอด ๒๔ ชั่วโมง แต่จะบรรเลงกันแบบ Non-Stop หรือ Medley หรือเปล่าผมเกิดไม่ทัน เล่าลือกันว่าเจ้าสัวเจียรฯทิปนักร้องครั้งละ ๑ บาทเชียวครับ

    สมัยนั้นเงินบาทเทียบค่าเวลานี้ก็คงจะราวๆ ๑,๐๐๐ บาทเห็นจะได้ โชคดีที่รัฐบาลห้ามเพียง ๓ เดือนก็อนุญาตให้ส่งข้าวออกได้ ไม่งั้นนักร้องรวยกว่านี้และคงจะได้เป็นเจ้าสัวแทนคุณก๋ง ส่วนคุณก๋งของผมนั้นดีไม่ดีอาจจะต้องกลายเป็นจั๊บกังหาบข้าวส่งให้นักร้องก็ได้ ถ้าหากไม่ยุบสมาคมตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินต่อไป ผู้คนเก่าๆแถวนั้นจึงเรียกสมาคมนี้ว่า “สมาคมสามเดือน” อยู่แถวๆ ตรอกพญาพิพัฒน์ฯ ถนนสาธรเหนือนั่นแหละคุณ

    น่าเสียดายที่ในปัจจุบันบ้านกอวัฒนานั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ได้กลายเป็นทรัพย์สมบัติของคนนอกสกุลไปเกือบหมดสิ้นแล้ว ทรัพย์สมบัติของคุณก๋งและคุณย่าก็เหือดแห้งไปพร้อมกับน้ำในคลองสาธรนั่นแหละ เพราะไม่มีน้ำใจไม่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและไม่รู้รักสามัคคีซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดใจ แม้ว่าใดๆในโลกล้วนอนิจจัง แต่ก็ไม่น่าจะรวดเร็วปานฉะนี้ และทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าสกุลใดก็มักจะต้องประสบชะตากรรมแบบนี้หากไม่มีความสามัคคีเอื้ออารีกัน

    สำหรับในส่วนของคุณก๋งนั้น ถึงจะไม่นับถือพระนับถือเจ้า คุณก๋งของผมก็ได้ชื่อว่าเป็นพ่อค้าที่ซื่อตรงที่สุด แม้ท่านจะเสียชีวิตไปนาน แล้วก็ยังมีผู้คนพูดถึงกันโดยยกย่องชมเชยในเรื่องที่กล่าวมานี้ ปัจจุบันลูกหลานก็ยังได้รับการนับหน้าถือตาเพราะได้อาศัยชื่อเสียงของคุณก๋ง ทั้งๆที่ตัวเองน่ะไม่ได้ความ และเช่นเดียวกัน คุณย่าของผมคือคุณย่าเหรียญฯ ก็เป็นภรรยาที่สุดประเสริฐของคุณก๋ง ทุกคนในบ้านพร้อมใจพากันเรียกท่านว่า “คุณแม่ใหญ่” ไม่ว่าเด็กเล็กเด็กใหญ่หรือผู้ใหญ่เองก็ตามทีเถิด ถ้าทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นต้องโดนไม้เรียวของคุณย่าใหญ่กำหราบอยู่หมัดทุกคนไป

    ความจริงแค่ท่านเหลือบตามองหรือเห็นท่านแต่ไกลหรือเพียงได้ยินเสียงท่านกระแอมกระไอก็หยุดกัดกันแล้ว คุณก๋งของผมมีบุตรธิดารวมกัน ๓๔ คน แต่มีบุตรกับคุณย่าของผมเพียงคนเดียว แต่บุตรและธิดาของคุณก๋งคนอื่นๆก็ได้รับความเมตตารักใคร่จากคุณย่าของผมเสมอบุตรในไส้ของท่านเอง

    แม้ภรรยาน้อยของคุณก๋งทุกคนก็พร้อมใจกันเรียกคุณย่าของผมว่า “คุณแม่ใหญ่” ทั้งๆ ที่ท่านตัวเล็กนิดเดียวไม่ว่าต่อหน้าและลับหลัง แต่พอสิ้นคุณย่าใหญ่ไปอีกคนก็เหมือนกับสิ้นชาติ (กอ) ไปเลยละครับ เละตุ้มเป๊ะ อยากรู้ว่าเละอย่างไรไปสืบเอาเองเถิดครับ ถ้าขืนให้ผมเล่าผมเองนั่นแหละที่จะต้องเละเพราะโดนรุมตะลุ่มตุ้มเป๊ะไปเสียก่อน

    ผมเองนั้นเมื่อสมัยเด็ก เขาลงในทะเบียนว่านับถือพุทธ ผมก็นับถือสักแต่เพียงกราบไหว้ เขาให้ไหว้ผมก็ไหว้ แต่ผมไม่เคยเข้าใจว่าหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ยิ่งต้องไปเรียนโรงเรียนฝรั่งก็โรงเรียนอัสสัมชัญนั่นแหละครับ ยิ่งไม่มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ (ก็โรงเรียนแคทอลิคนี่พี่) แม้ต่อมาจะผ่านโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมก็ไม่รู้เรื่องศาสนาพุทธเอาจริงๆ ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร

    สมัยเป็นเด็กมัธยมก็ดอดไปเรียนที่โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัดมหาธาตุ (ด้วยความที่อยากจะเป็นพุทธ) ก็ไม่รู้ไม่ได้เข้าใจอะไร ได้ทุนไปเรียนเมืองนอก ก่อนไปก็พยายามศึกษาก็ไม่รู้อีก ฝรั่งถามทีไรก็จนมุมมันทุกที กลับมาออกไปรบทางชายแดนก็ห้อยพระห้อยเจ้าไปตามเรื่อง พอไปเจอพวกนิยมของขลังคุยกันแต่เรื่องอยู่ยงคงกระพันก็เลยเลิกห้อยพระไปเลยเพราะหมดความเชื่อถือ เนื่องจากพวกเขาคุยอวดกันว่าพระเครื่องของพวกเขาคุ้มครองพวกเขาได้ตลอดกาล

    ผมนึกค้านว่าถ้าไอ้โจรห้าร้อยระยำอัปรีย์มันห้อยพระเครื่องดีๆเกิดปะทะกัน ผมใส่มันเข้าไปเปรี้ยง ! ไม่เข้า ! เพราะมันมีพระดี แต่พอมันใส่ผมตูม ! ผมตาย ! เพราะผมไม่มีพระดีๆจะใส่ เอ ! พระท่านน่าจะคุ้มครองคนดีมากกว่านะ อย่ากระนั้นเลยห้อยไปก็หนักเปล่าๆ ผมจึงออกรบโดยไม่เคยห้อยพระเครื่องและผมก็แคล้วคลาดมาโดยตลอด เพราะผมเอาพระไว้ที่ใจ ในหมวด ต.ช.ด.ที่ผมบังคับบัญชาอยู่ตอนออกรบ มีกำลังตำรวจ ๑ หมวด แต่ห้อยพระไป ๑ กองพล เวลาออกลาดตระเวนเสียงพระเครื่องที่ห้อยอยู่กระทบกันดังดีพิลึก

    จนกระทั่งต่อมาผมถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสเพราะปากไม่ดีไปด่ามารดาฝ่ายตรงข้ามเข้าหนังยุ่ยทันตาเห็น ต้องนอนขี้เยี่ยวอยู่บนเตียง ๙๖ วัน หัดเดินอยู่อีก ๒ ปี ช่วงระยะเวลานั้นเอง ผมจึงได้มีโอกาสหวนกลับมาศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาอีก ตื่นตั้งแต่ตี ๔ เปิดวิทยุฟังธรรมะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพระอภิธรรมและพระปริยัติธรรม ฟังไปจดไปนะครับ จดไม่ทันเอาเทปมาอัด ยิ่งกว่า สุ จิ ปุ ลิ เสียอีก ซื้อตำรับตำรามาเต็มบ้านเต็มช่อง ไม่รู้เรื่องอีกเช่นเคย เลิกครับเลิก เพราะผมไม่ได้ตั้งใจจะสอบปริยัติหรือสอบเปรียญเพื่อเป็นมหา อยากรู้เท่านั้นว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร

    ท่านที่สอนก็กระไรเลยจะตอบสั้นๆ พอสังเขป พอให้เป็นแนวทางหน่อยก็ไม่ได้ อาจารย์บางท่านก็ประชดใส่หน้าผมมาเลยว่า ให้ไปหาอ่านเอาจากพระไตรปิฎกท่านว่าไว้แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ผมก็เลยท้อใจ คราวนี้หันมาสนใจพระเกจิอาจารย์ เขาว่ามีพระอาจารย์ที่ไหนดี ก็....เฮโลสาระพาตามไปนมัสการ กลับบ้านก็ได้มาแต่พระเครื่องแหละครับ แต่ยังไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรเหมือนเดิม จนกระทั่งในวันหนึ่งเพื่อนต่างวัยมีอาวุโสสูงกว่าผม เขาเอา หนังสือประวัติหลวงพ่อปานฯ วัดบางนมโค บันทึกโดย “ฤาษีลิงดำ” มาให้อ่าน ก็เลยสนใจเพราะหนังสือสนุกมาก

    แต่ผมกับเพื่อนสนใจกันคนละอย่าง เพื่อนผมเขาสนใจจะทำพระเครื่องไปให้ท่านปลุกเสก ส่วนผมสนใจว่าท่านฤาษีลิงดำท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปานฯ ซึ่งเป็นพระหมอ บางทีอาจจะช่วยรักษาขาที่พิการของผมได้ เอาละครับมีประโยชน์ร่วมกัน ได้พากันสืบเสาะออกตามหาหลวงพ่อฯ ซึ่งเสียเวลาเสียเงินค่าเดินทางกันไปไม่ใช่น้อยกว่าจะทราบว่าอยู่ที่ วัดท่าซุง ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี จึงได้หาโอกาสพามานมัสการหลวงพ่อฯ ด้วยกัน.
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ตอนที่ ๒

    อะไรทำให้ศรัทธาในตัวหลวงพ่อ

    อย่างที่เล่ามาแล้วข้างต้น เพื่อนผมเขาจะสร้างพระ โดยจะขอให้หลวงพ่อฯปลุกเสก ซึ่งผมก็ไม่ขัดศรัทธา ระหว่างเดินทางพวกเราปรึกษากันเรื่องทำพระและได้ตกลงกันว่า จะให้ผมเป็นคนพูดขอกับหลวงพ่อฯ ผมก็เออๆ คะๆ ไปตามแกนนึกในใจว่าเขาให้พูดก็จะพูด ได้หรือไม่ได้ผมไม่สนใจมาก คิดแต่เพียงว่าเมื่อไรหนอเราจะได้พบพระดีๆ สอนให้เรารู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร

    เออหนอ..ถ้าท่านมีฤทธิ์มีเดช เราก็จะขอให้ท่านช่วยรักษาขาที่พิการของเรา..ก็แค่นั้น เพราะผมนั้นเคยขนข้าวขนของดีๆไปถวายวัดหนึ่ง (ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ) มากมายก่ายกอง พยายามดักพบท่านเจ้าสำนักท่านก็ไม่ให้พบ เขียนจดหมายถามท่านระบายความจริงใจว่า ผมอยากรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรจริงๆ ท่านก็ไม่ยอมตอบ ส่งเงินไปก็หลายครั้งก็ไม่ยอมพบไม่ยอมตอบ รับแต่เงิน เสียทั้งของหมดทั้งเงิน แต่ยังเป็น “ควาย” เหมียล..เดิม (ภายหลังมารู้ว่าท่านเข้าใจไปว่าผมเป็นพวกแกล้งถามเพื่อจะลองของ ฮ่วย! ผมไม่รู้จริงๆ)

    พวกเราสามคนมาถึงวัดเวลาอะไรจำไม่ได้ รู้แต่ว่าไม่ใช่เวลารับแขกจึงไปนั่งรออยู่ที่หอกรรมฐานขาว รอเวลาที่หลวงพ่อฯจะลงมารับแขก เผอิญวันนั้นไม่มีแขกพวกเราจึงถือโอกาสงีบหลับตามอัธยาศัย เพราะยังอีกนานโขกว่าจะได้เวลา และทั้งเหนื่อยและหิว แต่ก็ยอมอดข้าวด้วยเกรงว่าจะไม่ได้พบ ครั้นแล้วเราก็ได้พบหลวงพ่อฯ เมื่อผ่านพ้นระบบทักทายและรายงานตัวกันแล้ว พวกเราก็นั่งเลิ่กลั่กไม่ทราบว่าจะสานเรื่องต่อไปประการใดดี ไหนจะดีใจที่ได้พบ ไหนจะงัวเงียเพราะเพิ่งจะตื่น

    แต่ทั้งนี้ก่อนหน้าที่เราจะได้พบกับหลวงพ่อฯ ต่างก็อาราธนาบารมีของ “หลวงปู่ปาน” และ “หลวงพ่อแดง” วัดเขาบันไดอิฐแล้วว่า ขอให้การที่คิดเอาไว้สำเร็จ หลวงพ่อฯนั้นครั้นเมื่อเห็นพวกเราเงียบไปและอึกๆอักๆ จู่ๆท่านก็พูดขึ้นมาลอยๆว่า

    “เออ..หลวงพ่อแดงนี่..ท่านเป็นพระดีนะ !”
    พวกเราสะดุ้งโหยง เพราะว่าเมื่อเหยียบย่างเข้ามาในวัดท่าซุง ไม่มีใครพูดถึงหลวงพ่อแดงเลยสักคำ เราพูดกันในรถและปรึกษาหารือกันในรถเท่านั้น หลวงพ่อฯ รู้ความประสงค์ของพวกเราได้อย่างไร แล้วท่านก็ยังพูดต่อไปอีกด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า

    “พวกคุณจะสร้างพระผงกันหรือ..มีเจตนาดีนะ จะสร้างแบบไหน..ฉันอนุญาต ?”
    ความรู้สึกของผมในตอนนั้นบอกไม่ถูก เหมือนคนเป็นหูหนาตาเร่อรู้สึกตัวชาหน้าชาแบบเห่อๆ บรรยากาศรอบตัวมันหนาวๆร้อนๆวูบๆวาบๆบอกไม่ถูก (ก็คงจะตกใจน่ะซี๊) ปากปิดสนิทแต่ในใจร้องว่า
    “อัศจรรย์จริงๆ ท่านรู้ได้ไง! แถมยังรวบรัดตัดบทเข้าเรื่องเข้าราว ไม่ต้องเยิ่นเย้อให้ทันทีเสียด้วย เก่งจริงๆ”

    แล้วก็ต่างมองหน้ากัน เข้าใจว่าทุกคนคงมีความรู้สึกแบบเดียวกันและอัศจรรย์ใจว่าหลวงพ่อฯรู้จิตใจพวกเราได้ยังไงแฮะ“ไปทำตัวอย่างมาให้ดู มีเจตนาดีอย่างนี้ ฉันอนุญาต”
    หลวงพ่อฯ พูดย้ำอีก คนหนึ่งในจำนวนพวกเราจึงกราบเรียนรับคำว่าจะรีบไปทำตัวอย่างให้สวยให้ดีมาถวายภายหลัง เพราะเราเพียงแต่เคยปรึกษากันว่าจะสร้างพระผงกันเท่านั้น ครั้นแล้วเพื่อนผมอีกสองคนก็กราบลาจะรีบกลับ เพราะเขาสมประสงค์แล้ว ผมก็จำใจเข้าไปกราบลาด้วย หลวงพ่อฯท่านเอามือตบศีรษะของผมเบาๆ พูดว่า

    “เออ..ดีๆ คุณเสียสละเพื่อประเทศชาติ พระท่านสอนว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้นเป็นธรรมดาที่เราทุกคนจะต้องประสบและมันเป็นทุกข์ ร่างกายของเราก็ดี ทรัพย์สมบัติของเราก็ดี อะไรๆ ต่างๆ ในโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และบังคับไม่ได้ ถ้าไม่ต้องเกิดก็ไม่ต้องทุกข์
    ถ้าคุณปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คุณก็จะไม่ต้องเกิดอีกไม่ต้องทุกข์อีก วิธีไม่เกิดมีอยู่หลายวิธี ไปหาหนังสืออ่านเอานะ ค่อยๆศึกษาไปนะ ถ้ามีโอกาสก็มาฝึกกรรมฐานกับฉัน ที่นี่ก็ได้ ที่บ้านสายลมก็ได้”

    เจ้าประคุณเอ๋ย.. ผมดีใจจนบอกไม่ถูก แม้ในขณะนั้นผมจะยังเข้าใจคำว่ากรรมฐานน้อยมาก แต่ในใจก็คิดว่า“เออ..เข้าเค้าๆ แล้ว มีหลัก มีเกณฑ์นี่ ไม่ใช่เอาแต่หลับหูหลับตาเป่าปู้ดๆ แล้วก็ขอตังค์ให้คนทำบุญ”
    ที่สำคัญคือท่านตอบตรงกับคำถามที่ผมสงสัยอยากจะรู้ และเป็นคำถามที่ยังอยู่ในใจยังไม่ได้พูดอะไรออกไปเลย แถมท่านยังพูดต่อไปอีกว่า

    “ที่คุณต้องพิการเท่านี้นั้นก็นับว่าดีแล้ว ที่ผ่านๆ มาคุณฆ่าเขามามาก หลวงพ่อปานฯ อาจารย์ฉันท่านเป็นพระหมอ แต่ฉันไม่ได้เรียนและไม่ได้เชี่ยวชาญในทางนี้ แต่เอาเถิดถ้ามีโอกาสฉันจะถามท่านให้ว่า ขาคุณจะรักษาหายไหม?”
    เอ้า..เอาเข้าไป ! นี่ผมถามในใจนะครับ ไม่ได้พูดอะไรออกไปซั๊กกะคำ ถ้าหลวงพ่อฯ ใช้วิธีเดาก็นับว่าเดาถูกได้อย่างน่านับถือ จากนั้นพวกเราจึงได้กราบลาพากันกลับทั้งๆ ที่ยังมึนๆ งงๆ อยู่
    สรุปว่า ผมเริ่มมีศรัทธาในตัวหลวงพ่อฯ เพราะเชื่อว่าหลวงพ่อฯท่านรู้วาระจิตนั่นเอง จากนั้นเป็นต้นมาผมก็พยายามหาโอกาสมารับการสอน มาฟังการเทศน์ของหลวงพ่อฯบ่อยๆ พยายามทำความเข้าใจจนผมหายสงสัย (จนได้เป็นบางส่วน)

    เดี๋ยวครับ..เดี๋ยว.! ขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านต่อไปอีก ที่ผมว่าจนผมหายสงสัยนั้น ไม่ได้หมายความว่าผมรู้แจ้งแทงตลอดนะครับ หายสงสัยของผมนั้น อุปมาเหมือนกับผมเป็นกบตัวเล็กๆ (เขียดหรือคางคกก็ได้..เอ้า!) ถูกกะทะเหล็กครอบอยู่แถมบนกะลา..เอ๊ย..กะทะเหล็ก !
    ที่ว่านี้ยังมีไดโนเสาร์ตัวมหึมาเหยียบทับอยู่ข้างบน แล้วหลวงพ่อฯได้ช่วยหงายกะลานั้นขึ้น ผมจึงได้มองเห็นท้องฟ้า เห็นดวงดาว แต่แหม! จักรวาลมันกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกินครับหลวงพ่อฯ! หนทางไปยังดวงดาวก็ไกล...แสนไกล ไม่รู้ว่าจะไปถึงได้อย่างไรถ้าไม่มียานวิเศษ หรือเราจะโดนไดโนเสาร์เหยียบแบนเสียก่อนก็ไม่รู้เลยนิ!

    สมัยนั้นที่หลวงพ่อฯท่านสอนกรรมฐาน ท่านจะเน้นมากเรื่องอานาปานสติเพื่อโยงจิตให้เป็นสมาธิ คำภาวนาไม่จำกัด แต่นิยมคำว่า “พุทโธ” เพ่งอะไรไม่จำกัดแต่นิยมให้เพ่งพระพุทธรูป สอนเรื่องจิต สอนเรื่องอิริยาบถ สอนให้รู้ว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิในระดับไหนแล้วมีอารมณ์ มีอาการเป็นอย่างไร จะใช้สมาธิทำอะไรได้บ้าง แต่ในตอนท้ายจะสรุปด้วยการพิจารณาทุกครั้ง บางครั้งว่ากรรมฐาน ๔๐ เป็นเดือนๆ ต่อด้วยมหาสติปัฎฐานอีกเป็นเดือนๆ แล้วมาสรุปด้วยอารมณ์ของพระอริยบุคคล วนเวียนอยู่เป็นปีๆไม่มีการเรียนลัด

    นี่ผมว่าโดยย่อนะครับ ความจริงท่านแจงละเอียดให้ความรู้ไม่มีปิดบัง ผมอยากรู้อะไรท่านก็ยินดีสอนให้ แล้วในที่สุดผมก็เลือกเอาไม่ต้องเกิดอีก และคำสอนนี้ผมเชื่อว่านั่นคือยานวิเศษที่จะนำเจ้ากบน้อยอย่างผมไปยังดวงดาวที่เฝ้ามองนั่นเอง (แต่จะไปถึงได้จริงหรือไม่จริงนั้นอยู่ที่ตัวของผมเองว่าจะเอาเท้าราอวกาศหรือจะชักใบให้ยานตก เท่านั้นเอง)

    และแม้คำสอนของหลวงพ่อฯจะทำให้ผมตาสว่างขึ้น เซ่อซ่าเดินชนกับเทวดาน้อยลงๆ แรกๆก็ยังมีที่แกล้งชนท่าน หรือท่านแกล้งชนผม จนในที่สุดไม่ว่าจะถูกแกล้งหรือไม่ ผมก็ไม่ยอมชนกับท่านและคอยหลบไม่ให้ขวางทางท่านเป็นอันขาด (จะเล่าภายหลังว่าที่ได้เคยลองชนแล้วผลเป็นอย่างไร) ระยะหลังผม (เฉพาะผมนะครับ..ขอย้ำ) ไม่กล้าเที่ยวสวรรค์ไม่กล้าที่จะลอบไปดูวิมานของใครต่อใคร กลัวว่าจะอดริษยาเขาไม่ได้ เพราะผมเป็นคนขี้อิจฉาครับ แถมขี้เบ่งติดจะแสดงอำนาจเผด็จการอีกต่างหาก

    ครูบาอาจารย์มี หลวงปู่บุญทืมฯ กับ หลวงปู่คำแสนใหญ่ฯ เป็นต้น ท่านเตือนผมเสมอๆ ว่า อย่าประมาทอย่าหลงระเริงว่ามีวิมานคอยเราอยู่บนสวรรค์ เพราะที่นรกก็มีตะแลงแกงคอยเราอยู่เหมือนกัน เหมือนกับเรามีคฤหาสน์อยู่ริมน้ำปิงที่เชียงใหม่

    แต่ระหว่างเดินทางไปยังที่นั้น เราประมาทก็อาจจะไม่ถึงที่หมายคือที่คฤหาสน์นั้น เพราะอาจจะต้องแวะไปติดคุกเสียก่อน พวกเราอย่าประมาทนะครับ นรกคอยพวกเราอยู่ด้วยใจที่จดจ่อ นรกอ้ากรงเล็บอยู่ห่างจากคอหอยของพวกเราที่ประมาทอยู่แค่องคุลีเดียว (อาจจะผ่าแปด) นรกไม่รู้เบื่อที่จะรอคอย พลาดเมื่อไร..ถูกงาบทันที !!!
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ตอนที่ ๓

    หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร หรือ พระครูสันติวรญาณ

    แห่งสำนักสงฆ์ “ถ้ำผาปล่อง” อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่



    "........ผมไม่เคยพบท่านมาก่อนหน้านั้น แต่ทราบจากการบอกเล่าของผู้อื่นว่าท่านเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จาริกมาแสวงหาความสงบวิเวกอยู่ที่ถ้ำผาปล่อง ท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสวัด “อโศการาม” อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ (ก็วัดหลวงพ่อลีฯ นั่นแหละครับ) แต่ท่านเบื่อคนจึงหนีมาอยู่ถ้ำ กระนั้นก็ยังมีผู้เสาะแสวงหาท่านจนพบ (อนุโมทนารูปภาพ - จากเว็บสันติธรรม)

    ........เขาว่าท่านเป็นพระที่มีเมตตาสูงมาก ผมเคยคิดจะไปนมัสการท่านอยู่หลายครั้งแล้ว แต่ล้มเลิกไปเพราะได้มาพบหลวงพ่อฯเสียก่อน มีอะไรให้ต้องเรียน ต้องศึกษามากมายไม่รู้จบจากหลวงพ่อฯ จึงไม่คิดจะไปหาอาจารย์องค์ไหนอีก เผอิญหลวงพ่อฯท่านชวนว่า คณะของท่านจะไปนมัสการหลวงพ่อสิมฯ และจะเลยไปนมัสการหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ด้วย
    “อ๊ะ..ได้การ แจ๋วจริงๆ”

    ผมคิดในใจ เพราะว่าหลวงปู่แหวนฯนั้น ผมก็เคยได้ยินกิตติศัพท์มาจากรุ่นพี่และเพื่อนๆพวกทหารอากาศว่าท่านศักดิ์สิทธิ์นักหนา แต่ก็ไม่เคยได้ไปนมัสการสักที ทั้งๆที่เคยทำงานอยู่แถบนั้น
    “ฮ้า..เหมาะเลย ได้นกหลายตัว”

    จึงกราบเรียนรับปากว่าจะไป แต่ไม่ไปพร้อมคณะเพราะเบื่อคนหมู่มาก ผมจะไปสมทบที่เชียงใหม่เลย ตอนนั้นผมถูกยิงแข้งขาไม่ค่อยจะดี นั่งรถนานมันปวดจึงเดินทางไปโดยเครื่อง บดท. แล้วตามไปสมทบที่น้ำตกแม่สา โดยผมช่วยราชการอยู่ที่กองอำนวยการเคลื่อนย้ายทหารจีนชาติผู้อพยพ หรือบก. ๐๔ ซึ่งมีหน่วยงานอยู่ที่เชียงใหม่ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองอำนวยการพัฒนาอาชีพผู้อพยพทหารจีนชาติ เดี๋ยวนี้คงเลิกไปแล้ว) ทหารมารับผมจากสนามบินแล้วร่วมกับขบวนลูกศิษย์ของหลวงพ่อฯแวะชมถ้ำเชียงดาว แล้วพากันขึ้นไปนมัสการหลวงพ่อสิมฯบนถ้ำ

    อันว่าทหารคนขับรถนี้ไม่ใช่คู่หูคนเดิมที่เคยขับรถให้ผมเสมอๆ แต่เขามีหน้าที่ดูแลบ้านพักของนายทหารระดับผู้ใหญ่มากๆท่านหนึ่งที่นั่น เขาว่างและอยากจะได้พระเครื่องของหลวงพ่อสิมฯ จึงได้อาสาขับรถแทนให้กับเจ้าคู่หูของผมซึ่งเผอิญเกิดความจำเป็นที่สำคัญบางประการขึ้นมาพอดี ซึ่งผมก็ไม่ขัดข้อง เพราะเห็นว่าหน่วยก้านพอไปไหว แม้จะอ้วนไปสักหน่อย เป็นทหารอากาศแต่ไม่เคยขึ้นเครื่องบินหรอกครับ อยู่ภาคพื้นดินมาโดยตลอด

    โดยผมชี้แจงว่าที่เรามานี้เรามากับคณะนักบุญซึ่งมีหลวงพ่อฯเป็นผู้นำ กำหนดจะพักค้างคืนบนถ้ำ พวกนักบุญเหล่านี้เขาไม่มีอาวุธอะไรติดตัวมา และเราซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า บริเวณดังกล่าวนั้นเป็นที่เปลี่ยวมีโจรผู้ร้ายชุกชุม เราจะต้องทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองปลอดภัยกับพวกเขาด้วยนะ ไม่ใช่ว่ามาเที่ยวอย่างเดียว เขาบอกว่าเขาเต็มใจ ตกลงเบิกเอ็ม ๑๖ ไป ๒ กระบอก นอกจากนั้นผมยังมีปืนพกส่วนตัวติดไปอีก ๑ กระบอก

    เมื่อเดินทางไปถึงเชิงเขา เวลายังไม่ทันพลบค่ำ ผมกับเขาเดินตามคณะขึ้นไปที่ถ้ำผาปล่องโดยเขาอาสาจะเอาเอ็ม ๑๖ ทั้ง ๒ กระบอกขึ้นไปด้วย โดยผมกำชับให้ห่อให้มิดชิดไม่ให้ประเจิดประเจ้อเป็นอันขาด เขารับปากแต่แล้วเขาก็ลืมเอาปืนที่ว่าขึ้นไป จึงได้ขอแก้ตัวโดยอาสาว่าเมื่อมืดแล้ว เขาจะลงมานอนเฝ้าทรัพย์สินในรถของคณะใหญ่ซึ่งจอดอยู่ที่เชิงเขา (ผมเลย O.K.)

    โดยผมรับจะดูแลด้านบนถ้ำเอง เขาได้ลงมาจากถ้ำเมื่อมืดสนิทแล้วหลังจากรับพระเครื่องมาจากหลวงปู่สิมฯ แถมยังเอาปืนพกของผมลงไปด้วยเพราะระหว่างทางลงเขาสภาพไม่น่าไว้วางใจ ผมเองก็นึกเคืองเขาอยู่เหมือนกันว่าหากเกิดเหตุอะไรขึ้นบนเขาแล้วผมจะเอาอาวุธที่ไหนไปต่อกรกับคนร้าย แต่เมื่อหารือกับบางคนทราบว่ามีเครื่องทุ่นแรงแบบเดียวกับผมอยู่บ้างก็เลยตามเลย

    ตอนดึกระหว่างคณะบนเขากำลังจะนอนพักผ่อน ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ณ บริเวณที่จอดรถ ชายฉกรรจ์ทั้งหลายพากันกรูลงไปดูเหตุการณ์พบว่า เขาถูกคนร้ายยิงที่บริเวณท้องถึงไส้ทะลัก เอาปืนของผมยิงต่อสู้ไปหลายนัดเหมือนกันดันถูกแต่ต้นกล้วย พวกนักบุญช่วยกันพาเขาไปส่งที่อนามัย ซึ่งอนามัยก็รับรักษาไม่ไหวต้องนำส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสวนดอก ผมว้าวุ่นมากไหนจะห่วงคนเจ็บ ไหนจะห่วงคนเป็น เพราะหวั่นไหวกันไปหมดด้วยเกรงภัยจากโจรร้าย

    ต่อมาตำรวจท้องที่ทราบเหตุนำตัวเขาส่งโรงพยาบาลสวนดอก ที่เชียงใหม่ ผมนั้นคิดว่าเขาไม่น่าจะรอดเพราะบาดแผลฉกรรจ์มาก ผมได้ขอให้คุณหมอชุติ เนียมสกุล ขับรถพาผมไปดูเขาที่โรงพยาบาลเพราะผมขับรถเองไม่ได้ หลังจากที่ได้นมัสการกราบเรียนให้หลวงพ่อฯทราบแล้ว และได้ติดต่อขอให้ตำรวจท้องที่มาดูแลให้ความปลอดภัยคณะใหญ่เป็นที่เรียบร้อยหมดกังวลไปเปลาะหนึ่ง

    หมอชุติฯท่านก็แสนดีคำน้อยสักคำก็ไม่ปริปากบ่น ระยะทางไม่ใช่ใกล้ๆนะครับ แถมยังคดเคี้ยวเลี้ยวลดไปตามภูเขา ขนาดคนเป็นยังแย่แล้วคนเจ็บจะเป็นอย่างไรผมไม่อยากคิด เพราะผมเองก็เคยมาแล้วเมื่อครั้งที่ถูกยิงที่ชายแดน นอกจากนั้นผมก็ยังกังวลใจว่าจะรายงานผู้บังคับบัญชาอย่างไรดี เพราะคนที่ถูกยิงไม่มีชื่ออยู่ในคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ ขอแทนกันเอง

    อุบา! ปัญหาร้อยแปดพันเก้า แต่แล้วทุกอย่างก็คลี่คลาย เขาปลอดภัย (๗ วัน ออกจากโรงพยาบาลมาเดินปร๋อเลยครับ ไม่น่าเชื่อ แถมยังคุยโม้อีกว่าถูกตัดไส้ไปวาสองวาดีเสียอีกจะได้เปลืองข้าวน้อยลง) เรื่องทางวินัยก็ไม่โดนได้อาศัยท่านโกษาป่องกรุยทางผู้บังคับบัญชาที่นั่นให้ (แถมปีนั้นได้เลื่อนขั้น ๒ ขั้น อันนี้ฝีมือผมขอให้เอง)

    ผมแก้ปัญหาจนเสร็จสรรพ จึงได้วกกลับมายังถ้ำผาปล่อง คณะใหญ่กลับไปแล้ว (เดินทางต่อไปเพื่อไปนมัสการหลวงปู่แหวนฯ) หลวงพ่อสิมฯท่านกรุณาให้ผมกับลูกน้องชุดใหม่พักผ่อนหลับนอนในถ้ำที่ท่านจำวัดอยู่ ผมจึงได้โอกาสพูดคุยกับหลวงพ่อสิมฯอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในขณะนั้นผมเองเกิดความลังเลสงสัยในตัวหลวงพ่อฯ เพราะในวันที่เกิดเหตุนั้น ก่อนเกิดเหตุหลวงพ่อฯได้พูดกับลูกศิษย์ลูกหาว่า

    "มีเทวดามาโมทนาการทำบุญของพวกเรามากมาย ท่านแม่ศรีฯ ก็มา ท่านพ่อพระอินทร์ก็มา ท่านท้าวมหาชมภูก็มา วู้ย! เยอะแยะ ไม่น่าเชื่อ...ก็จะไปให้เชื่อได้ยังไง ถ้ามีจริงมาจริง ทำไมจึงปล่อยให้ลูกน้องของผมถูกคนร้ายยิงเอาเกือบตาย ไม่จริงละมั๊ง ดูๆไม่น่าเชื่อนี่นา

    ขอเรียนให้ทราบเสียก่อนนะครับ ในสมัยที่เกิดเหตุนั้น ผมเพิ่งจะหัดภาวนา “พุทโธ” เท่านั้นเอง ลืมตาหลับตาได้แต่ภาวนาพุทโธเป็นสรณะ ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นอะไรพิสดาร แต่เอาละ ไอ้เรามันก็ชายชาตินักรบ ไม่ชอบทำอะไรคลุมเครือ เราไม่เห็นเองและไม่เชื่อ อย่ากระนั้นเลยเราถามหลวงพ่อสิมฯดีกว่า ผมตัดสินใจถามหลวงพ่อสิมฯเลยครับ ถามว่าเทวดามีจริงหรือ


    หลวงพ่อฤาษีท่านติดต่อกับเทวดาเห็นเทวดาได้จริงหรือ เทวดาเหล่านั้นเป็นใคร มีความผูกพันอย่างไรกับหลวงพ่อฤาษี ท่านแม่ศรีคือใคร ท่านท้าวมหาชมภูเป็นใคร เทวดานักรบมีจริงหรือ ใครเป็นหัวหน้า ทำไมปล่อยให้ลูกน้องผมถูกยิง เรียกว่าผมระดมคำถามแบบกระหน่ำยิงไม่เลี้ยงเลยครับ คิดในใจว่าถ้าหลวงพ่อสิมฯตอบไม่ตรงกับที่หลวงพ่อฯเคยพูด หรือแม้เพียงลังเลบิดพริ้ว ผมก็จะเลิกนับถือ “ทั้ง ๒ องค์” นั่นแหละครับ

    พ่อแม่พี่น้องรู้ไหมครับ หลวงพ่อสิมฯ มิได้ลังเลเลย ท่านตอบทันทีว่าเทวดามีจริงมาจริง ท่านแม่ศรีเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (อันนี้อาจจะคลาดเคลื่อนของชั้นไปนิดหนึ่ง) ท่านท้าวมหาชมภูเป็นใคร ใครเป็นใคร หลวงพ่อสิมฯ แจง ๑๕๐ เบี้ยเลยครับ คือแถมให้อีก ๑๔๖ เบี้ย กระเซ้าผมว่าถ้าอยากรู้เองเห็นเองให้หมั่นฝึกตามที่หลวงพ่อพระมหาวีระฯ สอนเถิด แล้วจะได้รู้ความจริงไม่ต้องถามใคร

    ส่วนเหตุที่บังเกิดนั้นเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม โยมอย่าไปโกรธ อย่าไปโทษเทวดา แน่ะ! รู้อีกแน่ะว่าผมเคืองเทวดา ก็ผมคิดเอาไว้ในใจว่าถ้าเทวดามีจริงและมาจริง ต้องถูกลงโทษเพราะดูแลรักษาพุทธบริษัทไม่ดี ปล่อยให้เกิดเหตุร้ายในพื้นที่อันเป็นเขตนิวาสสถานของพระอริยบุคคล (อย่างงี้ต้องลาออกๆ)

    เอาละครับ..หลวงพ่อสิมฯท่านเล่าไปเรื่อยๆแบบตามสบาย ท่านว่าเป็นกฎแห่งกรรม คนทำตำรวจจะจับไม่ได้ แต่เขาจะต้องเสวยผลกรรมอันนั้นไม่เกิน ๓ วัน ๗ วัน น่าสงสารเขานะ เขาติดยาเสพติด คิดว่าคณะของหลวงพ่อมหาวีระฯ มีทรัพย์มามากจึงมาขโมยของเอาไปซื้อยาเสพติด เขากำลังงัดแงะรถที่จอดอยู่ พอดีมีคนลงไปเขาก็ตกใจกระโดดหลบแอบอยู่ที่กอไม้ นายคนนั้นก็บังเอิญปวดทุกข์ ถอดเสื้อถือปืนเดินตรงไปที่เขา

    เขาคิดว่าเห็นเขา จะมาจับเขา เขาก็เลยยิงเอาแล้วหนีไป คนถูกยิงก็มีกรรมเก่า คนยิงมีกรรมใหม่หนักมาก น่าสงสารคนยิง แน่ะ! เป็นงั้นไป! แทนที่จะสงสารลูกน้องของผมคนที่ถูกยิง หลวงพ่อสิมฯกลับไปสงสารคนยิง ท่านย้ำว่าเป็นกรรมหนัก ผมถามท่านอีกว่า ตำรวจท้องที่เขาขึ้นมารายงานท่านหรือ ท่านยิ้มหัวเราะตอบว่าเปล่า ผมถามว่าแล้วหลวงพ่อฯรู้ได้อย่างไร ท่านกลับย้อนถามผมว่า แล้วโยมรู้ว่าอย่างไร ผมตอบว่า

    “จริงครับ คนของผมไปสืบมาแล้วเหตุการณ์เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตรงกับที่หลวงพ่อฯพูดทุกอย่าง แล้วหลวงพ่อฯรู้ได้อย่างไรครับ ?”

    ท่านร้องตัดบทว่า
    “เฮ่ย..รู้ก็แล้วกันน่ะ โยมน่ะมีครูดีแล้ว หลวงพ่อมหาวีระฯไม่ใช่พระธรรมดานะ สร้างบารมีปรารถนาพระโพธิสัตว์เชียวนะ แต่เลิกได้ก็ดี ลูกศิษย์เยอะแยะตามสร้างบารมีมานาน แต่นั่นและพอหัวหน้าเลิก ลูกน้องก็จะเลิกตามบ้าง โอ้โฮ ลูกน้องลูกศิษย์เยอะจริงๆ คงต้องให้ไปอยู่ที่กามาวจรสวรรค์ก่อน ลูกน้องยังตั้งตัวไม่ทัน”

    “เออ..โยม นอนเสียเถิดหลับให้สบาย ไม่ต้องกลัวอะไร เหนื่อยมามาก นอนอยู่กับหลวงพ่อนี่เย็นใจ สบายใจ เก็บปืนเสียไม่ต้องใช้ หลวงพ่อจะเจริญกรรมฐาน มีอะไรเกิดขึ้นในถ้ำนี้ไม่ใช่กิจของโยม เป็นเรื่องของอาตมา หลับเถิด หลับให้สบาย” สิ้นเสียงหลวงพ่อสิมฯ พวกผมก็หลับปุ๋ยไปโดยพลัน (ยังก๊ะ..โดนยานอนหลับ)


    ผมมาสะดุ้งตื่นตอนราวๆตีสอง ที่รู้เวลาเพราะพอตื่นปุ๊บก็ดูนาฬิกาปั๊บ มองไปไม่เห็นหลวงพ่อสิมฯที่ที่นอนของท่าน เหลือบไปอีกที โอ้โฮเฮะ! อะไรกันน่ะ มีคนเต็มถ้ำจนเรียกได้ว่าแออัด รูปร่างเหมือนคนแต่ตัวโปร่งใส แต่งตัวเหมือนพวกเล่นลิเก ทุกคนสำรวมและเคร่งขรึม หลวงพ่อสิมฯนั่งอยู่บนอาสนะกลางถ้ำ ท่าทางเหมือนกำลังเทศน์เพราะนุ่งห่มพาดสังฆาฏิเรียบร้อย

    พอผมผลุดขึ้นนั่ง คนตัวใสๆ ก็หันมามองผมเป็นตาเดียว ทุกคนที่มองมาที่ผมและมีพลังออกมาให้ผมรับรู้ว่าพวกเขากำลังไม่สบายใจ จิตของผมรับสื่อที่เขาส่งออกมาว่า เขาขอโทษผม พอผมเริ่มจะตื่นเต็มตัวและอยากลุกขึ้นมาพูดจาด้วย แต่แล้วทันใดนั้นเสียงของหลวงพ่อสิมฯก็ลอยมาอีก
    “โยม..นอนเสียเถิด นอนให้สบาย ไม่ต้องกังวล ที่นี่ปลอดภัย ไม่ต้องสงสัย ไม่ใช่กิจของโยม นอนเสียเถิด อาตมาดูแลเอง”
    ________________________________________

    หลวงพ่อสนทนากับหลวงปู่สิม

    เพื่อให้เนื้อเรื่องสอดคล้องกัน ผู้จัดทำขอน้อมนำคำสนทนาระหว่าง หลวงพ่อกับหลวงปู่สิม จากหนังสือ "ล่าพระอาจารย์" เพื่อให้ได้ครบถ้วนอยู่ในเรื่องเดียวกันนี้


    พระครูสันติวรญาณ (หลวงพ่อสิม)วัดถ้ำผาปล่อง อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่
    องค์นี้ขึ้นชื่อโด่งดังมากในภาคเหนือ
    ดร.ปริญญา นุตาลัย นำคณะไปนมัสการหลวงพ่อสิม
    ตอนบ่ายวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๗

    หลวงพ่อสิม (ส) : นิมนต์ถ้ำเลย โน่น ๆ ๆ เชิงดอย
    หลวงพ่อฤาษี (ฤ) : ครับ ๆ แหม..ที่นี่สบาย ปกติพระท่านอยู่มากไหมครับ..ที่นี่ ?
    ส. : อ๋อ..ปกติ ก็เมื่อพรรษา ๙ รูป
    ฤ. : งั้นหรือครับ..พระที่อยู่นี่ท่านมุ่งดี?
    ส. : มุ่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ฤดูแล้งนี้ขึ้น ๆ ลง ๆ
    ฤ. : ก็เป็นธรรมดา (ชี้รูปหล่อโลหะหลวงพ่อสิม) นี่ทำเมื่อไรครับ?
    ส. : นี่เขาเอามาเมื่อ ๒๔ ตุลา ดูจะใหญ่กว่าองค์จริง องค์จริงมันเล็ก แต่ดีกว่าองค์จริง ตั้งแต่มายังไม่เห็นไอสักที..เงียบ ! (หัวเราะ)
    ฤ. : หิวก็ไม่หิว เมื่อยก็ไม่เมื่อย ผมก็ว่าอย่างนั้น จับไปโยนน้ำสัก ๑๐ ปี เอาขึ้นมาก็ปกติ
    ส. : น่าน..!
    ฤ. : เอ๊ะ..ใครดีว่าใครกันแน่
    ส. : องค์นั้นแหละดี (พยักหน้าไปทางรูปหล่อ) (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ถ้าองค์จริงเน่าเสียอย่างเดียว รูปหล่อมันก็ไม่เกิด ของเน่ามันเพาะไม่ขึ้น

    (คุยกันไปมาเรื่องสถานที่)

    ส. : เมษา ร้อน ๆ ก็นิมนต์อาจารย์มาพักนาน ๆ เย็นดี
    ฤ. : ก็ดี..แต่อีตอนเหาะขึ้นเหาะลงนี่แย่ เห็นจะต้องฝึกเหาะ วันนี้มีคนมีบุญมากจริง ๆ อยู่ ๓ คน
    ส. : อ้อ..น่าน !
    ฤ. : คนที่เป็นโรคหัวใจ (เสียงหัวเราะ) ถ้าไม่ตั้งใจจริง ๆ มาไม่ถึง..เพราะเหนื่อย
    ส. : อ้อ..ขึ้นสูงไม่ค่อยได้ ขาลงก็ง่ายละ
    ฤ. : แต่ขาลงกลัวจะเบรคไม่อยู่เสียอีก (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ก็ดีเหมือนกันครับ เป็นการพิสูจน์ใจคน ถ้าเขาไม่มีศรัทธาแท้ก็มาไม่ถึง
    ส. : มาไม่ถึง
    ฤ. : มันไม่คละกันอยู่ จะให้อะไรก็ให้ง่าย สบายใจดี ไอ้ทางแบบนี้ ขึ้นบ่อย ๆ ก็หมดเรื่อง นาน ๆ ขึ้นก็แย่
    ส. : เส้นเอ็นมันรู้จักพัฒนา
    ฤ. : ครับ..ยังงี้ เขาเรียกสำนักพัฒนาเส้นเอ็น (เสียงหัวเราะ)

    (กับศิษย์) วันนี้ไม่ใช่วานซืนนะ ไม่ใช่หมู

    (กับ ส.) วานนี้ต้องคน ๆ เดียวครับ เขาจะไปพูดธรรมกัน เดิมหลวงพ่ออยู่ไหนครับ ?ส. : เดิม..อุปสมบทอยู่ขอนแก่น อยู่วัดศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น แล้วก็ย้ายไปหลายที่ มาอยู่เชียงใหม่นี่นาน ตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่น ผมขึ้นมาเชียงใหม่นี่มัน ๓๐ กว่าปีแล้ว
    ฤ. : ยังงั้นหรือครับ
    ส. : เป็นเจ้าอาวาสที่วัดแม่ริม เมืองมันใกล้เข้ามาเรื่อย ก็เลยเปลี่ยนมาสิบกว่าวัด อยู่ในป่านี่สบายดี
    ฤ. : อยู่ป่าสบายดีครับ..มันสงัด ได้ทุกอย่าง แต่ดี..อยู่ในเมืองก็ดี อยู่ในเมืองก่อนแล้วมาอยู่ในป่าไม่อยากกลับเข้าเมือง ถ้าอยู่ป่าก่อนแล้วมันอยากกลับเข้าเมือง เพราะยังไม่รู้เรื่อง เห็นเมืองดีกว่า
    สายเหนือกับสายอีสาน เข้มแข็งในทางปฏิบัติ
    ส. : อีสานเคยไปบ่อยไหม?
    ฤ. :ไม่บ่อยหรอกครับ แต่ว่าเคยไปตอนหนุ่ม ๆ ตอนแก่แล้วไม่ไหว ตอนนี้แย่หน่อย ตามข่าวนะครับ..ธรรมปฏิบัติ เอาจริงเอาจังกัน หลวงพ่ออยู่กับหลวงพ่อมั่นกี่ปีครับ ?
    ส. : อยู่ตั้งแต่แรก บวชเป็นพระ ๒๔๖๙ สมัยนั้นอยู่ภาคอีสาน ต่อมาท่านขึ้นมาทางนี้ บวชเณรอยู่ ๓ พรรษา
    (มีคนถามท่านว่าบวชมากี่พรรษา ตอบ ๔๖ พรรษา)

    ฤ. : นิดเดียว ๔๖ พรรษาเท่านั้นเอง นั่งไล่เบี้ย (เสียงหัวเราะ) ถามน่ะ..ไม่ได้คิดอะไรหรอกครับ เกรงจะเอาไปคิดเป็นหวย (เสียงฮา) ไล่ไปไล่มาชักสงสัย หมุนไปหมุนมา
    ส. : หลวงพ่อเท่าไร?
    ดำรง นุตาลัย : องค์นั้นบอกจริงไม่ได้ครับ
    ส. : ถ้าอย่างนั้น เอาหวยจากท่านไม่ได้
    ฤ. : บอกเข้าเดี๋ยวคิดเป็นเลข ก็ดี..กี่พรรษาก็ชั่งมันตัดหางออกไม่ได้

    (กับศิษย์) ดี..ยังงี้ดี ดี ไงรู้ไหม อ้าว..เราได้เปรียบไม่ต้องสร้างที่ เรามานอนสบาย หลวงพ่อเสียท่าเรา ยังมีอีกหลายองค์ไหมครับ พระที่สนใจอยู่ เท่าที่รู้จักนะครับ
    ส. : ก็พอมีอยู่บ้าง
    ฤ. : ที่สนใจ และตั้งใจดี สายเหนือ สายอีสาน ที่เข้มแข็งในการปฏิบัติ เอ๊ะ..ปริญญา ยังมีใครอีกองค์ อายุใกล้ ๆ กับหลวงพ่อแหวน
    ปริญญา : หลวงพ่อคำแสนครับ
    ฤ. : หลวงพ่อคำแสนวัดไหน ?
    ปริญญา : วัดดอนมูล สันโค้งครับ อยู่สันทราย หลวงพ่อ (สิม) รู้จักไหมครับ ?
    ส. : อ๋อ..เคยร่วมกัน อยู่คนละสาย แต่ร่วมอาจารย์กัน
    ฤ. : กำลังจะมีงานครับ อยากจะหาพระ แต่ไม่ใช่หานักบวชนะครับ
    ส. : อ๋อ..อือม์..หาพระแท้
    ฤ. : จะอาราธนาไปเป็นกรณีพิเศษครับ ไม่ต้องการให้เหนื่อยมาก หลวงพ่อแหวนเป็นผู้ใหญ่เฒ่ามาก?
    ส. : เฒ่ามาก
    ฤ. : หลวงพ่อคำแสนจะไปได้?
    ส. : พอไปได้อยู่
    ฤ. : หลวงปู่ตื้อไปเสียแล้ว เสียดายจริงครับ

    (หมายเหตุ :- หลวงปู่ตื้อเป็นพระมีชื่อเสียงอยู่ทางนครพนม และมรณภาพไปก่อนหน้านี้แล้ว บ้างก็กล่าวว่าท่านเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมทิภาญาณ มีจุดสำคัญเฉพาะตัว คือ พูดตรงชนิด "ด่าไม่เลี้ยง")

    หลวงพ่อสิมถามหลวงพ่อฤาษีลิงดำว่า เคยไปเยี่ยมหลวงปู่ตื้อหรือ ?
    ฤ. : เจอะกันครับ..ทะเลาะกัน
    (หมายเหตุ :- ระวัง ท่านไม่ได้ตอบว่าเคยไปเยี่ยม)
    ส. : ปฏิภาณโวหารมาก
    ฤ. : ดีมากครับ แหม ปฏิภาณเก่งจริง ๆ ยอดจริง ๆ นี่ได้ตัวปัญญาจริง ๆ หายากเสียดาย
    ส. : เคยถามสมัยท่านมีชีวิตว่า เอ..พระที่มีปฏิภาณโวหารนี่มีอยู่หรือในประเทศไทย ท่านตอบว่าไม่มี แต่ไอ้ปฏิภาณโวหารน่ะมันมี แต่ว่าเมื่อเพื่อนขัดคอมันมักโกรธองค์อื่นเป็นยังงั้น ไอ้ผมนะ..ขัดคอเฉยเสีย
    ฤ. : ธรรมดาท่านเก่งจริง ๆ ตอบปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างคาดไม่ถึง
    ส. : น่าน..คาดไม่ถึง
    ฤ. : ปริญญา..วันนี้หลวงพ่อขออย่าให้ถอย (เสียงหัวเราะ) วันนั้นนวดหนัก..ยั่วแก ความจริงพระเขาทำแบบนี้ ถ้าอารมณ์ยังข้องตอนไหนอยู่ก็พยายามตัด ถ้าไม่ทำแบบนั้นก็ตัดไม่ออก
    ส. : อ้อ..!
    ฤ. : เราจะตัดเขา ไอ้เรา (เอง) ตัดได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ (เสียงหัวเราะ)
    ส. : มองคนอื่นมันมองเห็น มองเราเองมองไม่เห็น..มันใกล้ไป
    ฤ. : นี่หนีเข้ามาอยู่ในถ้ำแล้วนา ไฟฟ้ายังตามเข้ามา ประปามี น้ำร้อนยังมีให้
    ส. : เขามาตาม
    ฤ. : ครับ..เราไม่ได้ไปดึงเขามา น่ากลัวจะกลิ่นแรง (เสียงหัวเราะ)
    ปริญญา : กลิ่นศีล..หลวงพ่อ !

    ฤ. : ถ้ากลิ่นอย่างอื่น อย่าว่าแต่ไฟฟ้าประปาเลย เสื่อกระจูดก็ไม่มี อย่างพระอินทร์ท่านว่า คนมาทักว่า ยกหม้อพระบังคลหนักพระพุทธเจ้าไปเทได้ยังไง เทวดาย่อมรังเกียใจมนุษย์ ห่างร้อยโยชน์ก็ไม่อยากจะมา เพราะกลิ่นมนุษย์มันเหม็น ท่านบอกว่าก็เราหอมกลิ่นศีลนี่ ไอ้กลิ่นศีลมันไปกลบกลิ่นอุจจาระหมด

    ฤ. : (ปรารภ) อือม์..ชาวบ้านนี่เขารู้จักหาดี ความจริงนะโยม ฉันว่าชาวบ้านที่มาสงเคราะห์นี่โง่ เขาต้องสงเคราะห์พระมีพัดซี เขาว่างั้นต่างหากล่ะ พวกนี้โง่จัด..ไม่อยากลงนรก ไอ้เจ้าพวกนี้โง่มาก ถ้าสงเคราะห์หนักเกินไปละ ไม่ได้ผุดได้เกิด เจ้าพวกนั้นแน่ะ (เสียงหัวเราะ)

    (กับหลวงพ่อสิม) นะครับ..ระยำไม่รู้จักดี ไงปริญญา..อย่ามาบ่อยนักนะ ต่อไปจะไม่ได้ผุดได้เกิดมาที่นี่น่ะ สมัยเด็ก ๆ เขาด่าแบบนั้นเราโกรธนะ
    (หมายเหตุ :- ท่านคงฟังออกนะครับ ไม่ผุดไม่เกิดอีก หมายถึงไปนิพพานเสียแล้ว)
    ส. : ครับ
    ฤ. : เดี๋ยวนี้ ถ้าเขาด่าแบบนั้นจริง ๆ หลวงพ่อจะว่าไงครับ
    ส. : ก็ดี !
    (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ชอบนะครับ?
    ส. : ใช่
    ฤ. : อารมณ์ไม่เท่าเด็กเสียแล้วซิ ความจริงมันแช่งผิดน่ะ มันแช่งให้เราหมดทุกข์น่ะ สำนักอาจารย์ฝั้น หลวงพ่อเคยสัมผัสมาหรือเปล่าครับ?
    ส. : อ้าว..ก็อยู่ร่วมกันมา
    ฤ. : คงไม่ไกลกัน?

    (หมายเหตุ :- ป่องสงสัยว่า คงหมายถึงว่า ท่านอาจารย์สิม ระดับคงไม่ไกลกับท่านอาจารย์ฝั้น)

    ส. : ก็…บ้านใกล้ ๆ กัน
    (อ้าว..หลบไปเสียโน่น)
    ฤ. : รุ่นนั้นมีใครบ้างครับแถวนี้ ที่พอเรียกว่าใช้ได้?
    ส. : มีอาจารย์ฝั้น อาจารย์ขาว อาจารย์ฝั้นเมื่อก่อน วันที่ ๑๒ ตุลาก็มา
    ฤ. : พระลูกศิษย์ มีสนใจทางนี้ไหมครับ
    ส. : มีบ้าง..คนสมัยนี้ไม่ค่อยสนใจ สนใจทางนอก
    ฤ. : ครับ..เขายังไม่เห็น
    ส. : นั่น ๆ เขายังไม่เห็น
    ฤ. : อีตอนนี้ซีครับ มารู้ว่าดีอีกทีหนึ่งตอนหลวงพ่อตายแล้ว ไอ้พวกนี้ เวลาอยู่ไม่ค่อยเอาหรอก…นะครับ
    ส. : เออ น่าน…น่าน !
    ฤ. : หลายองค์นะครับ..กว่าจะรู้ว่าอาจารย์ดีก็อาจารย์ตายไปเสียแล้ว
    ส. : น่าน..!
    ฤ. : พอเขาพูดว่าดีก็บอกว่า เอ๊..ฉันก็เป็นลูกศิษย์เหมือนกัน ทำไมไม่ได้ล่ะ
    ส. : ครับ
    ปริญญา : คืนนี้เอาไงดีครับหลวงพ่อ ?
    ส. : เอาหลวงพ่อใหญ่ท่านซี
    ฤ. : ผมไม่เอาครับ ผมไม่ใช่เจ้าของบ้าน เอางี้ซีครับ..เขามาเอาแล้ว หลวงพ่อต้องให้เขา

    (หมายเหตุ :- คือคณะกรุงเทพฯ จะมาเอาธรรมจากหลวงพ่อสิม)

    ส. : อ้าว..ก็ท่านอาจารย์ให้จนเต็มปรี่ยังจะเอาอีกอยู่หรือ ?ฤ. : เดี๋ยวก่อนครับ..ไอ้น้ำมันเต็มตุ่มได้ แต่ข้างตุ่มมันยังไม่สวย (เสียงหัวเราะ) มันไม่แน่นักหรอก คือว่าความชำนาญแต่ละฝ่าย สมัยเมื่อเด็ก ๆ นะครับ ผมหนุ่ม ๆ หลวงพ่อปานท่านก็สั่งเรื่อย ถ้าที่ไหนดีท่านไม่เคยกีดกันนึกว่าท่านดีกว่า ท่านบอกว่าแต่ละองค์ย่อมมีความชำนาญต่างกัน
    ส. : ครับ
    ฤ. : ลีลาต่างกัน..เพราะว่าความฉลาดทุกอย่างนี่ มีแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว
    ส. : ครับ
    ฤ. : มาที่นี่หลวงพ่อก็ต้องให้เขา (เสียงฮา) เขามาแล้วนี่
    ปริญญา : ผมขอเสนอ ๔ ธรรมมาสน์เป็นไงครับ ?
    ฤ. : หือ? ไม่ต้องหรอก อย่า…เผื่อเจอของดีเอาไปให้ได้ ไอ้ของเราเมื่อไรก็ได้สตางค์ของเรา เราใช้เมื่อไรก็ได้

    (หมายเหตุ :-มาทราบภายหลังว่าได้ประกาศไว้ว่า หลวงพ่อจากกรุงเทพจะไปเทศน์)

    ฤ. : ไม่..ไม่ควร
    ปริญญา : ไม่ควรหรือครับ
    ฤ. : มางี้..ไม่ควร เดี๋ยวพระพุทธเจ้าท่านว่าเอา
    ส. : อาจารย์ท่านฉลาด..ไปได้..ลอดไปได้ (เสียงฮา)
    ฤ. : ความจริงก็ฉลาดมาด้วยกัน ออกจากท้องแม่มาด้วยกัน เปล่า..เท่ากันแหละ ท่านสอนดีอยู่แล้ว ท่านจะไม่เอาเรื่องของท่าน แล้วยิ่งฟังหลายกระแสด้วยยิ่งไม่ดี อย่างพวกเรานี่ต่างหาก เพราะว่าพวกเราตั้งใจมา พวกเราไม่มีฝืน นอกจากจะเห็นว่าปรับปรุง ช่วยประคองให้ดีขึ้นนะ เอางี้ดีกว่านะ..กมลชัย เราจะได้นอนสบาย (เสียงฮา)

    เอางี้ก็แล้วกัน ถ้าเป็นพระที่ไม่พอใจนิดหนึ่งก็ไม่พาบริษัทมา ไอ้บ่อนี้ไม่มีน้ำเดินมาเหนื่อยเปล่า

    (หมายเหตุ :- อย่างนี้ป่องก็ต้องแปลว่าท่านรู้มาก่อนแล้วนะซี?)
    แหม..ดี จะได้เป็นเครื่องประดับ นะ เห็นว่าลีลาการปฏิบัติ มรรคผลย่อมถึงเสมอกัน แต่ว่าไอ้เกณฑ์แห่งการฉลาดหรือนัยหนึ่ง การชำนาญย่อมไม่เสมอกันนะ นี่ถ้ามีพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็ไม่ต้องไปหาใคร เพราะท่านรู้รอบ ไอ้พวกเรานี่มันได้ตะพดกันคนละอัน (เสียงหัวเราะ)

    นั่นอันโต นี่อันสั้น นั้นอันยาว ได้ไม่เสมอกัน พระพุทธเจ้าท่านมีอาวุธทุกอย่าง มันเหมาะกับใครอันไหนท่านก็จ่าย พวกเรามีอันเดียว ปล่อยดะ นี่มาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ต้องแจกตะพดเรา (เสียงหัวเราะ) จะได้สู้กับกิเลส เสียดายหลวงพ่อตื้อ หลวงพ่อตื้อไม่รูป ยังมีพิษนะครับ
    (หมายเหตุ :- คงหมายถึงว่าตายแล้วยังมีพิษ)
    ส. : อ้อ
    ฤ. : ฤทธิ์เดชมาก..ดีมาก
    ส. : บางทีเวลานี้ ท่านจะมาอยู่ที่นี่ก็ไม่รู้
    ฤ. : ฮึ..มานานแล้ว ! (เสียงฮา) ไม่ใช่จะมา..มานานแล้ว ไม่ “จะ” หรอกครับ เป็นพระที่น่ารักมาก
    ส. : ครับ
    ฤ. : ชอบในปฏิปทา คือไม่อั้นใครทั้งนั้น เรื่องตอบเลี่ยงคนไม่มี ตรงไปตรงมาหายาก
    ส. : ครับ
    ฤ. : นี่ธรรมแท้ ถ้าขืนทำละพังเลย ขืนตั้งกำแพงเมื่อไรชนพังเมื่อนั้น ดีจริงหายาก หาไม่ได้ แต่ก็ยังมีอยู่ ที่นี่ก็ยังมีองค์หนึ่ง
    ปริญญา : ใครครับหลวงพ่อ ?
    ฤ. : นี่..อยู่ตามถ้ำนี้แหละ ไม่ช้าหรอก ไม่ช้าเป็นหลวงพ่อตื้อองค์ที่สอง
    ส. : (หัวเราะ)
    ฤ. : ก็เหมือนกัน แต่จะให้ใช้เสียงเท่ากันน่ะมันไม่ได้หรอกนะ พรรค์นี้มันของเดิมมานี่ครับ ของติดเดิมมา ลีลาต่าง ๆ
    ส. : แล้วก็ถ่ายทอดหลวงปู่ตื้อให้ฟังสักเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ดี
    ฤ. : พอแล้วครับ หลวงพ่อเก็บไว้เยอะแยะ พอแล้วครับ..ผมว่าไม่ใช่ถ่ายไปจากผม ผมต้องถ่ายจากหลวงพ่อ ไม่ช้าผีหลวงปู่ตื้อสิง (เสียงหัวเราะ)

    ว่ายังงั้นนี่ครับ จวนอยู่แล้ว ไม่ช้าเผลอ ๆ พ่อสิงเต็มตัวเมื่อไรก็ไม่รู้ เอ๊ะ..วันนั้นใคร พ.ต.ท. อนุชา ที่มาวันหลวงพ่อตื้อมรณะ แล้วหลงเข้าไปวัดหลวงพ่ออะไรนะ ใครเขามาหาหลวงพ่อตื้อครับ เขาไปหากระผมที่วัดโน้น บอก เอ๊ะ..แกเที่ยวไหว้พระเปะปะทำไมวะ หลวงพ่อตื้อมีอีกองค์ รีบไป..เดี๋ยวตาย แล้วมันไปช้าอยู่กี่วันไม่ทราบ มันมาพอดีวันตายเลย
    ส. : อ้อ
    ฤ. : มันหลงทางไป มาไม่ตรงวัดหลวงพ่อตื้อ ไปวัดไหนก็ไม่ทราบ ไปเจอะหลวงอะไร พอดีหลวงพ่อองค์นั้นได้รับโทรเลขแล้วท่านก็ไม่ได้ฉีกดู พอฉีกดู อ้าว ! หลวงพ่อตื้อมรณะ ให้รีบไป เลยอาศัยรถเจ้านั่นไป ม่ายยังงั้นไม่มีรถ นี่แสดงว่าหลวงพ่อตื้อมีฤทธิ์มาก ตายแล้วยังมีเดชให้ไอ้นั่นหลงทางมาชนเอาพระที่ท่านต้องการให้เป็นเจ้าภาพ พระอะไรไม่ทราบชื่อ ท่านบอกว่าพึ่งทราบว่าหลวงพ่อตื้อมรณะ แต่ไม่มีรถไป ไอ้เจ้านั่นก็ดันหลงทางไปวัดนั้นแหละ แสดงว่าหลวงพ่อตื้อไม่เลว ตายแล้วยังมีฤทธิ์

    (กับศิษย์) อยู่นี่แหละดี..กังวลน้อย กายวิเวกดี แล้วเราจะได้จิตวิเวกง่าย ๆ เมื่อจิตวิเวกเกิดขึ้น อุปธิวิเวกมันก็เกิด อันนี้สำคัญมาก ไอ้แดนที่อยู่นี่มันต้องเลือกเหมือนกัน ต้องเลือก..ใช่ไหมครับ ?
    ส. : ครับ
    ฤ. : ถ้าไม่เลือกก็แย่ ถ้าเราไปอยู่ในส้วมก็หากลิ่นหอมไม่ได้หรอก
    ส. : น่าน…น่าน
    ฤ. : นอกจากสุนัขหรือหมู นี่มีความสำคัญ กลางคืนมีแขกรบกวนเยอะไหม ?

    (หมายเหตุ :- คงหมายถึงแขกที่ไม่ใช่มนุษย์)

    ส. : อ้า..ไม่มีเท่าไร..กำลังสบาย !
    ฤ. : แขกไม่มี ?
    ส. : แขกก็ไม่มี มีแต่คนไทย (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : เออ..ยังจะคุยกันอีกนานไหมนี่” นี่เห็นไหมหลวงปู่ตื้อมาแล้ว..บอกแล้ว ประเดี๋ยวหลวงพ่อตื้อมา อันนี้ดี..อยู่ในป่า ผีปรากฏบ่อย ?
    ส. : ก็ปรากฏบ้าง
    ฤ. : นี่จึงจะพบของจริง นี่ละแขก ระวังนะ ผีดุที่นี่ ไปนั่งจ้องซี ถ้าอยากได้หวยผีมาก็ขอหวย ถ้าให้ไม่ได้ก็อายไป เลยไม่มา
    ศิษย์หญิง. : หวยไม่อยากได้ อยากได้พระธรรม
    ฤ. : อ้อ นึกว่าอยากได้ฎีกา..หลวงพ่อมี (เสียงหัวเราะ) พระธรรมจะเกิดได้ ต้องอาศัยความดีมีอยู่ ได้ดีอย่างอื่นนอกจากฎีกาก็ไม่น่ะ (เสียงหัวเราะ) ต้องเอาฎีกาไปก่อน หาความดีให้พบจึงได้พระธรรม คุยสนุก ๆ คืนนี้ฟังธรรมะจากหลวงพ่อนะ

    เป็นอันว่าจบรายการสนทนาระหว่างหลวงพ่อทั้งสอง ส่วนในตอนค่ำเป็นการเทศน์ของหลวงพ่อสิม จะไม่นำมาลงไว้เพราะยังมีการสนทนาตอนอื่น ๆ อีก "ป่อง" ขอเสนอข้อสังเกตจากการสนทนาครั้งนี้

    ข้อแรก..หลวงพ่อสิมอาจจะสงสัยหรืออาจจะซ้อมดูว่า หลวงปู่ตื้ออยู่แถวบริเวณที่นั่งคุยกันหรือเปล่า ข้อนี้อาจเป็นไปได้ว่าหลวงพ่อสิมท่านมี “ตาทิพย์” มองเห็นอะไรต่ออะไรได้ เช่น เห็นหลวงปู่ตื้อ แต่การ “เห็น” เช่นนี้เป็นเรื่องคับอก เพราะเห็นคนเดียวจะบอกใครก็ยาก จะถามใครก็ยาก จึงทำให้มั่นใจไม่ได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ที่ท่านเห็นนั้นเห็นจริง ไม่ใช่ประสาทหลอก

    เมื่อปรารภออกมาหลวงพ่อฤาษีลิงดำก็ยืนยันให้ว่าหลวงปู่ตื้อมาแล้ว มานานแล้วด้วย คำตอบนี้คงจะเป็นเครื่องให้กำลังใจว่าการเห็นนั้นหลวงพ่อสิมเชื่อได้เต็มที่ ทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องอื่นอีกมาก หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการซ้อมดูว่าหลวงพ่อฤาษีจะมีทิพยจักขุญาณหรือไม่ก็เป็นได้
    เรื่องนี้..ในภายหลังหลวงพ่อฤาษีเล่าให้ศิษย์ฟังว่า หลวงปู่ตื้อมานานแล้ว นั่งอยู่บนยกพื้น ฉะนั้น ตอนที่หลวงพ่อสิมนิมนต์ให้หลวงพ่อนั่งยกพื้นท่านจึงไม่นั่ง บอกว่า นั่งที่นี่ (ข้างล่างเสมอ ๆ กับหลวงพ่อสิม) เหมาะแล้ว

    ข้อสอง..หลายท่านอาจจะสงสัยว่าหลวงพ่อฤาษีพูดอะไรที่ว่าหลวงปู่ตื้อจะสิงเต็มตัว ข้อนี้ต้องอธิบายว่า ใครต่อใครมักจะมา “ยืมปาก” หลวงพ่อพูดบ่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะเข้าทรง แต่เป็นลักษณะดลใจมากกว่า อย่างประโยค “เออ ยังจะคุยกันอีกนานไหมนี่” นั้นก็เป็นเรื่องที่หลวงปู่ตื้อพูด ไม่ใช่หลวงพ่อ ท่านบอกว่าเราเป็นแขก จะไปพูดยังงั้นได้รึ ถึงได้อธิบายต่อท้ายทันทีว่า เห็มไหมล่ะ บอกแล้วว่าหลวงพ่อตื้อมา (จับปากพูด)

    ข้อสาม..หลวงพ่อฤาษีลิงดำ บอกใบ้ว่าไม่ช้าคนอยู่แถวถ้ำก็จะเป็นอย่างหลวงปู่ตื้อ คือว่าหลวงพ่อสิมนั้นเองจวนจะสำเร็จกิจพระศาสนาแล้ว เรื่องนี้หลวงพ่อกระซิบกับพวกเรา ภายหลังว่าหลวงพ่อสิมยังติดนิดเดียว สงสัยว่าการมาของพวกเราคราวนี้คงเป็นการสะกิดอะไรบ้างอย่างทำให้ท่านหลุดพ้นไปได้เลย (ต่อมาภายหลังเพียงไม่กี่วันหลวงพ่อก็ตอบคำถามพวกเราว่าได้เป็นอย่างที่ท่านแจ้งไว้แล้ว คือหลวงพ่อสิม ขยับขึ้นไประดับเดียวกับหลวงปู่ตื้อแล้ว.

    ที่มา - หนังสือล่าพระอาจารย์
    ลอกเทป - ป่อง โกษา (พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์)
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ตอนที่ ๔

    ครูบาพรหมจักรสังวร

    (หรือ “พระสุพรหมยานเถระ” หรือ “ครูบาพรหมจักโก”แห่งวัด “พระพุทธบาทตากผ้า” จังหวัดลำพูน)


    ........ก่อนหน้านี้ผมพอทราบเลาๆ ว่า พระคุณเจ้าเป็นพระสงฆ์ที่สำรวมอย่างยิ่ง ท่าทางติ๋มๆหนิมๆ แต่ไม่ทราบว่าท่านดีกว่านั้นอย่างไร ก่อนที่ผมจะได้ไปพบ มีลูกศิษย์หลวงพ่อฯมาเล่าให้หลวงพ่อฯฟังว่าไปนมัสการท่าน แล้วมีคนถามท่านว่า เขารู้ว่าท่านทรงอภิญญาและจะไม่ต้องเกิดแล้ว (หมายถึงเป็นพระอรหันต์แล้ว) แต่ท่านไม่ยอมพูดด้วย

    .........หลวงพ่อฯ ของเราจึงยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ท่านวัดพระบาทตากผ้าทรงคุณธรรมอย่างนั้นจริงๆ ต่อมาเมื่อหลวงพ่อฯ ของพวกเราพาพวกเราไปนมัสการ ก็ได้มีการถามไถ่ไล่เลียงกันอย่างมีชั้นมีเชิง ใครอยากรู้ว่าท่านถามไถ่กันอย่างไรให้ไปหาอ่านเอาจากหนังสือ “ฤาษีทัศนาจร หรือ ล่าพระอาจารย์”

    .........เพราะการถามนั้น จะต้องระมัดระวังหน่อย ด้วยเคยมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ครั้งหนึ่งท่าน พล.ต.ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปเรียนถาม ท่านนรรัตน์ภิกขุ (ท่านเจ้าคุณนรฯ) ดื้อๆ ว่า ได้ข่าวว่าพระเดชพระคุณสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว และท่านได้ตอบมาสั้นๆ ว่า “บ้า”

    แต่สำหรับงานนี้ก็สรุปได้ว่าหลวงพ่อฯ ของเราก็ไม่ได้ถามตรงๆ แต่ถามอย่างมีชั้นเชิงว่างั้นเถิด ท่านก็ตอบโครมๆ ผู้ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อฯ ของเราในวันนั้น ที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ้างก็เข้าใจบ้างก็ไม่รู้เรื่องว่า ท่านทั้งสองโต้กันว่าอย่างไร แต่หลวงพ่อฯ ของเราสิครับ ถึงจะเรียกได้ว่าแน่จริง ถามประโยคหนึ่ง แล้วก็หันมาอธิบายขยายความให้ลูกศิษย์ทุกคนได้เข้าใจในทันทีทันใดนั้นเอง

    แล้วยังหันกลับไปถามท่านพระบาทตากผ้าอีกว่า จริงไหมขอรับ ถูกต้องไหมขอรับ ที่กระผมได้อรรถาธิบายให้ลูกศิษย์ของกระผมได้เข้าใจ ท่านพระบาทฯ ท่านก็คิดแล้วเอียงคอตอบว่าถูกๆ พอรับปากว่าถูกๆไปเรื่อยๆ (จนกระทั่งเรียกว่าถลำเข้ามาจนสุดตัวแล้วนั่นแหละครับจะเห็นภาพที่ชัดเจนดีกว่า) หลวงพ่อของเราก็หันขวั๊บ..กลับไปประจันหน้าทันที ถามว่า “เอ๊ะ! พระคุณก็ยอมรับสิขอรับว่า พระคุณเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว”

    คราวนี้สิขอรับ..ญาติโยมทั้งหลายเงียบกริ๊บ..! ตาจ้องมองไปที่ท่านพระบาทตากผ้าไม่กระพริบ ส่วนหูก็คอยเงี่ยฟังคำตอบ และในส่วนของท่านพระบาทตากผ้าฯปรากฎว่า มือไม้ของท่านไม่ได้หยุดอยู่นิ่งแล้ว จับโน่นจัดนี่ให้วุ่นวายไปทีเดียวเชียวขอรับ มองคนนั้นทีคนโน้นสองที ค้อนหลวงพ่อฯของเราอีกห้าที มองฟ้ามองดินอีกยี่สิบทีกว่าจะแสร้งทำเป็นครางพึมพำว่า “อือๆฮือๆ”

    แท้จริงก็เป็นการยอมรับยอมแพ้นั่นเอง แต่ต้องสงวนท่าทีเอาไว้ ของสวยของงามของมีสกุลมีศักดิ์ศรีจู่ๆจะมายอมกันง่ายๆได้ก็เสียเชิงพระสุปฏิปันโนหมด หลวงพ่อฯของเราสำทับไปอีกสองครั้ง ท่านก็ยังวางมาดร้อง “อือๆ” อยู่ในลำคออีกทั้งสองครั้ง หลวงพ่อฯของเราจึงกล่าวขอขมาว่า

    “ลูกศิษย์ของกระผมนั้นยังมีความสงสัยข้องใจว่าในยุคนี้ยังจะมีพระอรหันต์หลงเหลืออยู่อีกหรือ กระผมจึงจำเป็นที่จะต้องแสดงความจริงให้ปรากฎ”
    คราวนี้ก็ฮา..กันทั้งวงน่ะสิ ขอรับ ว่ากันงอหาย ชื่นอกชื่นใจกันไปทั้งหมด และเมื่อยอมเปิดแล้วดูท่านพระบาทตากผ้าสบายอกสบายใจเป็นอันมากสรวลเสเฮฮา เออออห่อหมกดีไปหมด หายเคร่งคลายเครียด กระผมเองนั้นก็บอกแล้วว่าเพิ่งจะภาวนาพุทโธเป็น แต่ก็รู้สึกสนุกสนานเป็นที่ยิ่งนัก ยิ่งได้เห็นพระคุณเจ้าทั้งสองกอดไม้กอดมือกันสนิทสนมกัน ผมงี้น้ำตาแทบร่วง ไอ้เรานึกว่าเรานี้เป็นคนใจอ่อนแล้ว หันกลับมาดูพี่ ป้า น้า อา โอ้โฮ.....ร้องไห้กันกระจองอแง อะไรกันหนักกันหนา เอาเถิด นี่มันเป็นปีติน่ะ

    หันกลับมาอีกที อ้าว! ท่านพระบาทตากผ้าเทศน์เสียแล้ว คราวนี้ว่าตั้งแต่ “พระโยคาวจร พระโสดาปฏิมรรค-ผล พระสกิทาคามีมรรค-ผล พระอนาคามีมรรค-ผล พระอรหัตตมรรค-ผล” พอจบแล้วยถาสัพพีทันที (มาทราบภายหลังจากท่านผู้รู้บางท่านได้ให้อรรถาธิบายว่าที่ท่านพระบาทตากผ้าท่านแสร้งทำเป็นจัดผ้าจัดผ่อนนั้นเป็นวิสัยประจำองค์ท่านอย่างหนึ่ง และก็เพื่อเป็นการลอบใช้เจโตปริยญาณตรวจสอบดูว่า สมควรหรือไม่ประการใดที่จะตอบ จะรับอะไรอย่างใดกับใครหรือกับกลุ่มบุคคลไหน ซึ่งใช้เวลาตรวจอย่างรวดเร็วเพียงแค่เอามือดึงสังฆาฏิให้เรียบร้อย ท่านก็ตรวจเสร็จแล้วและพร้อมที่จะตอบ)

    คราวนี้ก็จะขอเก็บเกร็ดจากการซักการถามบ้างเท่าที่จะพอจำได้และเห็นสำคัญนะครับ ท่านบิดาของท่านพระบาทตากผ้าท่านชื่อ “ครูบาพ่อเป็ง โพธิโก (พิมสาร)” ซึ่งได้บวชเมื่ออายุมากแล้ว ท่านแม่ชื่อ “บัวถา” ได้นุ่งขาวห่มขาวรักษาอุโบสถศีลทุกวันพระตลอดอายุท่าน มีพี่ชายบวชเป็นพระ ๑ องค์ชื่อท่าน “วัดบ่อน้ำหลวง” หรือ “ครูบาอินทรจักรรักษา” ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ “พระสุธรรมยานเถระ”

    ซึ่งเมื่อท่านได้มรณภาพไปแล้ว หลวงพ่อฯของพวกเราก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์นี้ต่อมา และท่านมีน้องชายบวชเป็นพระอีกหนึ่งองค์ ชื่อ “ครูบาคัมภีระ” หรือ “พระครูสุนทรคัมภีรญาณ” วัดพระธาตุดอยน้อย อำเภอจอมทอง (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.ดอยหล่อ) จังหวัดเชียงใหม่ และเล่ากันว่าองค์นี้ท่านเคยครองวัดมหาวันฯมาก่อนหน้านั้น (ก็วัดที่มี "พระรอดลำพูน" อันเลื่องลือไปทั้งแผ่นดินไทยนี่แหละครับ) เรียกได้ว่าครอบครัวของท่านพระบาทตากผ้าเป็นครอบครัวของท่านผู้ทรงศีลทั้งครอบครัวทีเดียว

    ต่อมาท่านวัดพระบาทตากผ้าได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระสุพรหมยานเถระ” และท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๗ ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯของเราได้ปรารภถึงท่านเอาไว้ในหนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน ดังนี้........

    ________________________________________



    ปรารภถึงท่านผู้มีความดี

    เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๐ อาจารย์ปฐม มาแจ้งให้ทราบว่า เธอมีหน้าที่จัดทำหนังสือเนื่องในงานถวายเพลิงศพหลวงพ่อวัดพระบาทตากผ้า (ขอเรียกท่านอย่างนี้เป็นปกติ) วันนั้นเป็นวันเป่ายันต์เกราะเพชร และอาตมาเองก็กำลังป่วยหนัก แต่เมื่อถึงวาระทำงานเพื่อท่านพุทธศาสนิกชนก็ทำด้วยความเต็มใจมันจะเป็นจะตายเรื่องของร่างกาย เมื่ออาจารย์ปฐมเธอมาขอให้เขียนคำปรารภ ก็ไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี แต่ก็ขอเขียนตามความรู้สึกตามที่ได้พบกับท่านมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ หรืออาจจะไม่ตรงนักเพราะนานมาแล้ว เวลานี้กำลังป่วยไม่แน่ใจเรื่อง พ.ศ. ที่จะพูดถึงในปีนั้น

    (หมายเหตุ อาจารย์ปฐม เรียมเมฆ คือ อดีตเจ้าของนิตยสาร "คนพ้นโลก")
    คุณแม้นเทพ ศุภนคร มาเป็นสรรพากรจังหวัดลำพูน อาตมามีโอกาสมาเยี่ยมเธอ ต่อมาวันรุ่งขึ้นได้ถามเธอว่าที่จังหวัดนี้มีพระที่ปฏิบัติธรรมชั้นดีพอมีไหม ขณะนั้นอาตมาเองยังเป็นเด็กที่เพิ่งจะลืมตาเห็นโลกได้ในระยะใกล้ มองไกลไม่เห็นเพราะยังต้วมเตี้ยมในธรรมปฏิบัติ จึงสนใจพระที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อขอความรู้คำแนะนำจากท่าน คุณแม้นเทพ ศุภนคร ก็บอกว่าเห็นจะมีวัดพระบาทตากผ้า

    ตามความรู้สึกว่าท่านปฏิบัติดีมาก ก็บอกเธอว่าอยากไปนมัสการท่าน ภรรยาของคุณแม้นเทพได้ยินเข้าเธอก็ค้านว่าไม่ไหวแล้ว ท่านดีแต่ท่านไม่พูด เคยเอาผ้าป่าไปถวายตั้งหมื่นบาท ท่านออกมานั่งเฉย เราพูดคำท่านก็ตอบคำไม่พูดต่อไป อาตมาก็คะนองปากพูดล้อเธอว่า ถ้าไม่พูดก็เอาไม้ทิ่มปากเสียก็แล้วกัน จะได้พูดเป็น เป็นอันว่าตกลงกันว่าวันรุ่งขึ้นไปวัดพระบาทตากผ้า

    เมื่อไปถึงแล้ว คณะที่ไปด้วยก็เข้าไปหาท่าน อาตมาก็ชมสถานที่ดูการก่อสร้างที่มีอยู่แล้ว ซึ่งคนนำทางบอกว่า ส่วนนี้ท่านครูบาศรีวิชัยท่านสร้างไว้ บ้างดูรอยเท้าที่ผู้แนะนำบอกว่าเป็นรอยพิเศษที่ท่านผู้มีฤทธิ์แสดงรอยไว้ เป็นเวลาพอดีที่คุณแม้นเทพฯ ออกมาจากที่รับแขก บอกว่ามาบอกว่านิมนต์เข้าไปได้แล้วครับ หลวงพ่อท่านออกมาแล้วครับ

    วันนี้ดีกว่าวันก่อน เพราะวันก่อนที่ผมมาผมพูดคำท่านก็ตอบคำ วันนี้ดีกว่าวันนั้นมากเพราะออกมาแล้วนั่งหลับตาปี๋เลยไม่พูดไม่จากับใครทั้งหมด อาตมาฟังแล้วก็มีความรู้สึกว่าวันนี้คงพบละครโรงใหญ่แสดงบทพิเศษแน่ ด้วยพระขนาดนั้นไม่รู้อะไรเลยไม่มี เว้นไว้แต่จะพูดหรือไม่พูดเท่านั้น

    เมื่อคุณแม้นเทพเตือนก็เดินเข้าไปและนมัสการท่านด้วยความเคารพ ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่กายเคารพแต่ใจต่อต้าน เมื่อนมัสการท่านแล้วท่านก็ทักทายปราศรัย คราวนี้พูดเก่งมาก พูดกับคนโน้นคนนี้ไม่หยุดปากเลย ขณะที่ท่านพูดอยู่ อาตมาก็คิดในใจว่า ท่านบรรลุขั้นไหน ที่คิดอย่างนี้ไม่ใช่อวดวิเศษ คิดด้วยความชื่นชอบในปฏิปทาของท่าน เมื่อคิดอย่างนั้นแล้วอารมณ์ใจที่ใช้เป็นปกติก็อยากรู้กำลังใจ

    แต่ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านเป็นเรื่องจริงที่หาได้ยากนั่นก็คือ มองใจท่านไม่เห็น มืดตื๋อไปหมด ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่ท่านมืด แต่เป็นเพราะอาตมาพบของจริงเข้า นั่นคือเด็กไม่สามารถเสมอผู้ใหญ่ได้ หรือคนตามัวไม่สามารถเห็นอณูเล็กๆได้ นั่นก็คืออาตมามีอารมณ์ใจเลวกว่าท่านมากจึงไม่สามารถเห็นอารมณ์ใจของท่านได้ ทันทีที่ต้องการรู้อารมณ์ใจของท่านท่านก็หันมาพูดทันทีว่า คนเรานี่แปลกนะ เห็นคนอื่นเขาได้ก็คิดว่าตนเองจะได้บ้าง ท่านพูดตรงกับอารมณ์ที่นึกอยู่พอดี จึงแน่ใจว่าท่านองค์นี้เป็นพระที่ควรบูชาอย่างยิ่งองค์หนึ่ง

    เมื่อลาท่านออกมาแล้ว ทุกคนต่างพูดถึงท่านด้วยความแปลกใจว่า ไม่ว่าเราจะคิดอะไรท่านจะหันมาพูดเรื่องนั้นตามที่เราคิดทันที เป็นอันว่าวันนี้ทุกคนพบของแข็ง แต่ของแข็งนี้เป็นความแข็งของเพชรน้ำหนึ่งในพระพุทธศาสนา

    ________________________________________

    คุยกันตามลำพัง

    เมื่อถึงเวลาพอสมควร ทุกคนก็อำลาท่านเพื่อกลับ ก่อนกลับก็ชมสถานที่ก่อน ตอนนั้นอาตมาขออนุญาตคุยกับท่านตามลำพัง เมื่อปลอดคนก็เรียนถามท่านว่า “ท่านปรารถนาพุทธภูมิ หรือตัดตรงไปเลย” ท่านตอบว่า “ตัดตรงไปเลยดีกว่า”

    เป็นอันทราบว่าท่านมุ่งอะไร จึงถามท่านต่อไปว่า (คำถามตอนนี้ฟังดูแล้วเหมือนถาม แต่พระที่ท่านปฏิบัติได้แล้วท่านจะทราบว่าไม่ได้ถามเพื่อต้องการศึกษา เป็นการถามถึงผลที่ได้แล้ว) ได้เรียนถามท่านถึงสังโยชน์สิบ บอกท่านว่าต้องการศึกษา ท่านยิ้มแล้วท่านก็อธิบายย่อสังโยชน์ถึงข้อห้าแล้วกลับต้นใหม่รวม ๓ รอบ ท่านบอกว่า “ผมเข้าใจจริงๆเท่านี้เองครับ”

    ฟังแล้วเมื่อเทียบกับตำราที่เคยรับทราบมา ถ้าตำราไม่โกหกก็ต้องยอมรับว่าท่านบรรลุพระอนาคามี เมื่อคิดว่าเวลานี้ท่านทรงอนาคามีและกำลังอยู่ในอรหัตมรรค (มองหน้าท่านไม่ได้พูดด้วยวาจา) ท่านมองหน้าแล้วท่านก็ยิ้ม ท่านพูดออกมาโดยที่ไม่ได้ถามว่า “ใช่แล้ว”

    เมื่อหมดความข้องใจแล้วก็คุยวิธีการปฏิบัติ ด้วยเวลานั้นอาตมาก็มีความรู้แค่งูไม่ถึงปลา ทั้งนี้หมายถึงความรู้ในด้านปฏิบัติธรรม มีความรู้กระจุ๋มกระจิ๋มจริงๆ แล้วขณะนั้นก็ไปอยู่ในสำนักของปาดที่อยู่ในถ้วยน้ำพริกครอบ จึงก้าวหน้าได้อย่างเชื่องช้าเพราะเพื่อนช่วยกันต้านทานทุกวิถีทาง แต่ก็ไปได้เรื่อยๆ เมื่อขอศึกษากับท่าน ท่านก็แนะนำสังโยชน์สิบ อธิบายสั้นแต่หมดข้อข้องใจ แล้วท่านก็บอกว่า

    “ไม่เป็นไรนะ จากนี้ไปไม่กี่ปี อาจไม่เกินสี่ปีก็เข้าใจหมดทุกอย่าง พยายามท่องจำไว้ก็แล้วกัน”
    เมื่อหมดภารกิจก็ลาท่านกลับ ก่อนจะกลับท่านจับมือสองมือไปกำแน่นแล้วท่านก็บอกว่า
    “ดีใจมากนะที่เราได้พบกันและเข้าใจในกัน อย่าลืมนะไม่เกินสี่ปีท่องจำให้ดีจะเข้าใจในสังโยชน์ทั้งสิบ” ในที่สุดก็ลาท่านกลับ

    เมื่อพบพระดี ดีทั้งปริยัติและดีทั้งปฏิบัติ ท่านมีวิริยะและอุตสาหะเป็นพิเศษ ท่านบอกว่าตั้งแต่บวชท่านธุดงค์ตลอดมา เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษาอยู่ใกล้วัดไหนก็อาศัยวัดนั้นจำพรรษา ออกพรรษาก็อำลาจากวัดนั้นอยู่ป่าอยู่เขาธุดงค์ต่อไป ต่อเมื่ออายุ ๕๕ ปี ญาติโยมอาราธนาให้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบาทตากผ้า ท่านก็สงเคราะห์พุทธศาสนิกชนตลอด

    เวลานี้ท่านมรณะแล้ว คือกายดับประสาทดับ การท่องเที่ยวคงดับด้วย ข้อนี้ช่วยกันดูด้วยนะ ท่านดับการท่องเที่ยวด้วยหรือไม่ อาตมาไม่ทราบตามที่พูดกับท่าน แต่ตามความรู้สึกทางใจคิดว่าท่านยอมแก่ด้วยประการทั้งปวงแล้ว ท่านคงขี้เกียจเที่ยวต่อไป

    อาตมาขออนุโมทนาที่ท่านทั้งหลายพบพระดี แต่ละท่านก็เก็บความดีของท่านมาใช้มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังใจที่จะพึงรับได้ ก็ต้องถือว่าทุกคนมีโชคดี ที่พบพระสุปฏิปันโนแท้ๆ ไม่ใช่ยัดไส้หรือไม่มีอะไร ปลอมไว้ภายใน เมื่อท่านพบพระดี ได้ของดีไว้ใช้ จะมากน้อยเพียงใดนั้นไม่แปลก ต้องถือว่าทุกคนมีดี จงพยายามรักษาความดีนั้นไว้อย่าให้สลายตัว สำหรับอาตมาเอง ต้องถือว่าท่านเป็นพระอาจารย์ที่ชี้ทางตรงให้และก็ตั้งใจเคารพท่านตลอดเวลา

    ขอท่านพุทธศาสนิกชนโดยถ้วนหน้าจงบูชาความดีของท่านด้วยการปฏิบัติตาม ทุกท่านจะไม่พลาดจากผลของความดี คือความสุขตลอดกาล..
    (พระสุธรรมยานเถระ)

    ________________________________________
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ขอเพิ่มเติมจากหนังสือ "ล่าพระอาจารย์"

    โดย..ป่อง โกษา (พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์)

    "...ออกมาจาก หลวงปู่แหวน เวลามีน้อยเลยต้องลัดผ่าน หลวงปู่คำแสน ไปวัดพระบาทตากผ้าเลย พระครูองค์นี้ ท่าทางเหมือนผู้หญิง มีท่าอาย ๆ เรียบร้อย แต่อย่าเชียวนา รู้ใจคนเก่งนัก รายละเอียดเรื่องรู้ใจคนนี้ หลวงพ่อฤาษีเล่าไว้ในหนังสือ “เรื่องจริงอิงนิทาน”
    ในสมัยนั้น (ประมาณ พ.ศ.๒๕๐๔) หลวงพ่อเล่าว่าท่านเทศน์ไปถึงสังโยชน์ ๕ แล้วก็เทศน์ย้อนต้นไปถึงสังโยชน์ ๕ เป็นการแสดงว่าท่านรู้ถึงแค่นั้น (อย่าลืมนะครับ ท่านที่ตัดได้ถึงสังโยชน์ ๕ คือ พระอนาคามี) จากความจริงข้อนี้ เราอาจอนุมานได้ว่า ถ้าองค์ใดเทศน์ถึงนิพพาน องค์นั้นก็ต้องถึงนิพพานแล้ว เช่นนี้น่ากลัวจะไม่ผิด

    เราจับเอาตอนสำคัญของการสนทนากันเลยทีเดียว ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง หลวงพ่อฤาษี (ฤ) เอางี้ก็แล้วกัน เวลาเช้านี่อย่ากวนหลวงพ่อมากนัก ไม่ดีขอโอวาทก็แล้วกันสักเล็กน้อยครับ ดูเหมือนว่า ท่านจะไม่คาดว่าจะถูกไม้นี้ ท่านอึ้งไปครู่หนึ่งแล้วก็ค่อย ๆ จัดแจงแต่งตัว จัดโน่นจัดนี่ให้เรียบร้อยซึ่งหลวงพ่ออธิบายในตอนหลังว่า ท่านนึกอาราธนาพระพุทธเจ้า พรหม เทวดา ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมดาของพระที่ชั้นสูง ๆ แล้ว

    ท่านพระครูพรหมฯ (พ) : ขอเจริญพร แด่ท่านคณะญาติโยมทั้งหลาย ในวันที่ได้มาประชุมกัน ณ ธรรมศาลาที่นี้ทุก ๆ ท่าน วันนี้นับว่าเป็นวันดี เป็นศิริมงคลอันสูงส่งโดยที่ท่านทั้งหลายได้สละเวลาอันมีค่าพากันเดินทางมา ได้มาถึงวัดพระพุทธบาทตากผ้า ที่นี้มีจุดประสงค์มุ่งหมายที่จะมานมัสการพระพุทธบาทและชมสถานที่ พร้อมทั้งมาขอรับโอวาทคำสอนของอาตมา อาตมารู้สึกอนุโมทนา ปีติ จึงขอต้อนรับ และขอบคุณท่านทั้งหลายไว้ ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูง

    อันดับต่อไป อาตมาขอปราศรัยเป็นสัมโมทนียกถา และให้เป็นคำสอน ที่เรียกกันว่าเป็นโอวาทของครูบาอาจารย์ เพื่อเป็นการต้อนรับ และถ่ายเทความรู้ความจำให้แก่ท่านทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจสดับ และกำหนดจดจำไว้ให้ดี แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์โสตถิผลแก่ตนเอง และคนอื่นตามสมควร

    โอวาทคำสอนที่อาตมาจะได้กล่าวในวันนี้ก็คือเป็นโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเราทั้งหลายที่เป็นนักศึกษา คงจะได้ศึกษา และสดับตรับฟังมาเป็นส่วนมากแล้ว
    โอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ท่านแสดงไว้มีอยู่ ๓ ประการ คือ
    ๑. ท่านสอนให้เว้นจากทุจริต คือ การทำผิดด้วยกาย วาจา และใจ
    ๒. ท่านสอนให้ประกอบสุจริต คือ การทำดี ทำชอบด้วยกาย วาจา และใจ
    ๓. ท่านสอนให้ทำใจให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังนี้
    เป็นธรรมดา เป็นปกติที่จิตของเรา ชาวมนุษย์ทั้งหลายทุกคนย่อมเกลียดทุกข์ และชอบความสุขความเจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราทั้งหลายจะต้องสร้างเหตุที่จะให้ห่างไกลจากความทุกข์ ความเสื่อม ความเสียหาย เราทั้งหลายควรสร้างเหตุแห่งความเจริญให้เกิดขึ้นในจิตในใจเสียก่อน เราทั้งหลายจึงจะมีความสุขความเจริญ

    เหตุแห่งความทุกข์หรือความเสื่อมที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้หรือชี้ช่องบอกทางไว้ก็มีหลายประการต่าง ๆ เหตุแห่งความทุกข์ที่จะเกิดทุกข์นั้น ก็คือความอยาก เรียกตามภาษาบาลีว่า "ตัณหา" คือ ความอยาก
    ความอยากนี้ ถ้าเป็นประจำธรรมดาสามัญชนทั้งหลายก็ค่อยยังชั่วหน่อย คือความเป็นอยาก อยากที่จะสร้างตน สร้างตัวให้เป็นคนมีหลักฐาน อยากจะทำคุณงามความดีตามวิสัยของคนประพฤติชอบ ก็ไม่เป็นความอยากที่รุนแรง ไม่ค่อยจะนำความทุกข์โทษมาให้สักเท่าไรนัก ถ้ามันรุนแรงเกินไป เข้าทำนองที่ว่า กามตัณหา ความอยากชนิดที่รุนแรงในกามคุณทั้งห้า นี่เป็นอาทิ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

    ตัณหา คือ ความอยากนี้ พุทธองค์ทรงแสดงแล้วว่าเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ นอกจากนี้ก็มีอบายมุข คือ การดื่มสุรายาเมา การเล่นพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำงาน ซึ่งเป็นทางหรือปากทางแห่งความเสื่อม ความฉิบหาย พุทธองค์ได้ตรัสเหตุแห่งความเสื่อมไว้เป็นใจความย่อ ๆ มีดังนี้

    ทุกคนปรารถนาความสุข เหตุแห่งความสุขท่านก็แสดงไว้ ความสุขก็ดี ความเจริญก็ดี จะมีได้ก็ต้องอาศัยด้วยต้นเหตุ เพราะธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิดถ้ามีเหตุก็มีผล ถ้าเหตุดับ ผลก็ดับ เป็นอย่างนี้ เหตุแห่งความสุขความเจริญนั้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงตรัสเทศนาไว้มีหลายระยะด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในสัมปรายภพ และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน

    ประโยชน์ในปัจจุบัน พุทธองค์ทรงสอนไว้ ให้ทุกคน ถ้าต้องการความสุขความเจริญในปัจจุบันทันด่วนแล้ว ก็ให้มีความขยัน ปลุกใจของตัวให้เป็นคนตื่นขึ้นทำงานตามหน้าที่ จะเป็นการศึกษาหรือประกอบกิจการงานในหน้าที่ใด ๆ ก็ตาม จงมีความขยันขันแข็ง โลกของมนุษย์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ท่านต้องการคนขยันขันแข็งทั้งนั้น คนเกียจคร้านท่านไม่ต้องการ

    เมื่อมีคนขยัน เอาใจใส่ต่อการงาน พร้อมไปในตัวทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ความสุขก็จะเกิดมีขึ้น โดยที่จะเห็นผลแห่งการหนักที่เราประกอบนั้น เช่น เราเป็นคนทำไร่ ทำนา ทำสวน เราขยันทำจริง ๆ ถึงเวลามันมีดอกออกผลมา หรือถึงเวลาเก็บเกี่ยว เราก็จะเห็นผลของงานที่เราทำไว้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ขึ้นชื่อว่าเป็นงาน ท่านทั้งหลายจงทำด้วยความขยัน ความขันแข็ง อย่าอ่อนแอ อย่าท้อถอย

    จากนั้นก็ให้รักษาการงานที่เราทำไว้ อย่าให้อากูลตกค้าง อย่าให้เสียการงาน อย่าท้อถอยอย่ารวบรัด ตลอดจนทรัพย์สมบัติที่บังเกิดจากผลงานของเรา ก็จงรักษาไว้ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในอนาคตในโอกาสต่อไป

    ข้ออื่นอีก ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงคบแต่มิตรที่ดี อย่าคบคนชั่วเป็นมิตร การคบคนดีสำคัญ เพราะมนุษย์เราเหมือนกัน นิสัยใจคออะไรทุกอย่างมันละม้ายคล้ายคลึงกัน ถ้าคบกันเข้าแล้วไม่กี่วันมันจะเป็นอย่างมิตรของเรานั้น คือคบคนดี เราก็จะเป็นคนดี คบคนชั่วก็จะเป็นคนชั่ว ไม่เฉพาะแต่มนุษย์เราทั้งหลาย แม้สัตว์เดียรัจฉาน ถ้าคบกับสัตว์ชนิดไหน มันก็เป็นไปอย่างนั้น ตลอดถึงต้นไม้เครือเถา ถ้ามันผูกพันติดต่อกับสิ่งใดก็มักจะกลายเป็นอย่างนั้นไป เป็นอย่างนี้ไป ฉะนั้น เราควรคบแต่คนดี หนีจากคนชั่ว

    ข้อต่อไปซึ่งเป็นข้อสุดท้าย ท่านทั้งหลายจงรู้จักประมาณในการใช้จ่าย ให้มีการประหยัด ใช้จ่ายเฉพาะแต่ที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นแล้วก็ต้องเว้นขาด เพื่อเป็นการประหยัดทรัพย์สมบัติของเรา จะได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และคนอื่น ตลอดจนถึงประเทศ ชาติ ศาสนา นี่คือเหตุแห่งความสุขในปัจจุบัน ท่านกล่าวว่านี่เป็นทิฐธรรมิกถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบันทันด่วน

    อันดับต่อไป ท่านทั้งหลายในฐานะที่เป็นชาวพุทธนับถือพระพุทธศาสนา มีความเชื่อ ความเข้าใจฝังแน่นอยู่ในจิตในใจแล้ว ว่า พระพุทธศาสนามีคติ เวรกรรม ถือกรรมเป็นสิ่งสำคัญ ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนเราเกิดมามีความตายเป็นที่สุด ถึงเมื่อเราตาย ถ้าเรายังไม่หมดกิเลส เราก็จะต้องเกิดอีก ทุกคนก็ย่อมปรารถนาไปเกิดที่ดี เรียกกันว่า "สวรรค์" หรือสุคติ ซึ่งเป็นโลกหน้า

    เมื่อเป็นเช่นนี้ เราทั้งหลายก็ควรทำประโยชน์ ควรทำซึ่งคุณงามความดี ที่จะเป็นประโยชน์ในปรโลก คือโลกหน้า การที่จะทำประโยชน์ไว้เพื่อโลกหน้านั้น พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเทศนาไว้
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ตอนที่ ๕

    ครูบาอินทรจักรรักษา

    (หรือพระเดชพระคุณ “พระสุธรรมยานเถระ” แห่งวัด “น้ำบ่อหลวง” อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่)



    พวกเราเสร็จจากนมัสการกราบเยี่ยมท่านพระบาทตากผ้า ก็เดินทางต่อไปยัง วัดดอนมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีความตั้งใจที่จะไปนมัสการกราบเยี่ยมพระอริยะที่จนเกือบจะที่สุด แต่ไม่เจอะเจอ “ท่านทุกขิตะ” หรือ "หลวงปู่คำแสนน้อย" พวกเราก็เลยเบนเข็มไปนอนก่อนสักวัน รุ่งขึ้นวันพรุ่งนี้จึงจะช่วยกันคิดว่าจะไปเที่ยวหรือไปนมัสการกราบเยี่ยมพระดีๆ ที่ไหนกันต่อไป

    ดังนั้น ครั้นพอเช้ามืดวันต่อมา เราก็ปลุกพลพรรคออกไปช้อปปิ้งกันก่อนไป ระหว่างที่คณะศิษย์ส่วนใหญ่กำลังช้อปปิ้งกันนั่นเอง ได้มีศิษย์บางท่านแนะนำและชักชวนหลวงพ่อว่า น่าจะลองไปเที่ยวกันที่ วัดน้ำบ่อหลวง เพราะที่วัดนี้มีพระดีอยู่อีกองค์หนึ่งคือท่าน “ครูบาอินทจักโก” ซึ่งเป็นองค์พี่ชายของท่านครูบาพรหมจักโก แต่ไม่ทราบว่าท่านจะอยู่วัดหรือไม่ เพราะไม่ได้นัดหมายกันล่วงหน้าเอาไว้ก่อน พอมีคนชวน หลวงพ่อฯก็ตกลงอนุมัติทันทีให้เดินทางไปโดยเร็ว พวกเรารีบรวบรวมพลพรรคที่ออกไปช้อปปิ้ง โดยพากันเร่งรัดเวลาแล้วรีบออกเดินทางไปวัดน้ำบ่อหลวง

    ส่วนท่านวัดน้ำบ่อหลวง พอตื่นจากจำวัดก็สั่งให้มรรคทายกจัดเตรียมศาลาและอาหาร บอกกับเหล่าทายกทายิกาว่า จะมีศรัทธาจากกรุงเทพฯ มากันมาก ไวยาวัจกรว่าไม่มีใครมาบอกอะไรไว้นะ หลวงพ่อฯท่านก็ว่า “เหอะ..เดี๋ยวจะมีมาละก็จะไม่ทัน”

    ปรากฎว่าพอเลี้ยวรถเข้าวัดถามไถ่ได้ความว่า ท่านวัดน้ำบ่อหลวงไปรอรับพวกเราอยู่ที่ศาลาแล้ว จึงได้พากันเข้าไปกราบนมัสการ แหม..! แทบไม่น่าเชื่อ สำรับอาหารคาวหวานตั้งเอาไว้พร้อมแล้วยังกับรู้ล่วงหน้า พอลงจากรถก็ได้กินได้ฉันทันเพลพอดี เมื่ออิ่มหนำสำราญกันดีแล้ว หลวงพ่อฯก็พาพวกเราเข้าไปกราบนมัสการอีกทันที สอบถามเลยว่า “ท่านรู้ได้อย่างไรว่าพวกกระผมจะพากันมาหาขอรับ” ท่านก็บอกว่า “มีคนบอก” หลวงพ่อฯ ของเราซักอีกว่า “ใครบอก” ท่านก็ไม่ยอมพูดถึงว่าใครบอก ตอบสั้นๆว่า “รู้” แล้วมองหน้าหลวงพ่อของเราพูดกันด้วยภาษาสายตา

    ที่ผมขอเดาเอาเองว่า แหม..ท่านก็รู้แล้วยังแกล้งมาทำเป็นมาถาม แกล้งทำเป็นไม่รู้ อะไรต่ออะไร มันก็เหมือนไก่เห็นไข่พญานาคา เอ๊ย..ไม่ใช่..ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่นั้นแหละ หลวงพ่อของเราจึงขออภัยนมัสการกราบเรียนว่า

    “กระผมนั้นทราบดี แต่ทว่าลูกศิษย์ที่ติดตามมา แม้ล้วนเป็นนักบุญก็จริงแต่ยังมีความสงสัย จึงเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องทำให้ข้อสงสัยข้องใจนั้นปรากฎความจริงออกมา หาได้มีจิตคิดจะลบหลู่ท่านครูบาแต่ประการใด”

    ท่านก็หัวเราะและอมยิ้ม กิริยามารยาทที่พระสุปฏิปันโนสององค์ ท่านน้อมคารวะปฏิสันถารกันอย่างน่าจดจำไว้เป็นตัวอย่าง สร้างความประทับใจให้กับเหล่าศิษยานุศิษย์ยิ่งนัก เมื่อหลวงพ่อปฏิสันถารโต้ตอบกับท่านวัดน้ำบ่อหลวง จนกระทั่งท่านยอมรับแล้วว่า สำหรับท่านนั้น สังขารมันป่วยแต่ใจไม่ป่วยแล้ว พวกเราต่างก็ชื่นอกชื่นใจ ยิ่งได้ฟังสองท่านปุจฉาวิสัชนากันจนสิ้นสงสัยก็ยิ่งชื่นอกชื่นใจ แหม..องค์ปุจฉาก็ฉลาดลึก ส่วนองค์วิสัชนาก็ฉลาดล้ำ บัวก็ไม่ช้ำ..น้ำก็ไม่ขุ่น ผู้เห็นผู้ได้ยินได้ฟังต่างบังเกิดปีติยิ่งนัก

    สำหรับผมเองนั้น นอกจากจะเฝ้ามองอย่างเป็นสุขแล้ว ก็ยังได้บังเกิดข้อคิดขึ้นมาในใจอีกว่า ผู้ใหญ่ที่มีบารมีจริงๆแล้ว ท่านกลับโอภาปราศรัยมีสัมมาคารวะดียิ่ง นอบน้อมถ่อมตนเหลือเกิน พูดง่ายๆ ว่าไม่เห็นท่านเบ่งหรืออวดเก่งทับถมกันเลย ผิดกับพวกลิ่วล้อซึ่งชอบวางโต..แต่ใจเล็กและแคบ ท่านที่เดินล่วงหน้าไปข้างหน้า ไม่ใช่ว่าท่านจะถึงก่อนเสมอไปนะครับ

    ท่านพระสารีบุตร ท่านบรรลุพระโสดาบันก่อนท่านพระโมคคัลลาน์ แต่ท่านพระโมคคัลลาน์สำเร็จพระอรหันต์ก่อนท่านพระสารีบุตรนะครับ (หรือท่านคิดว่าจะเอาอย่างความเป็นเลิศทางปัญญา เหมือนท่านพระสารีบุตรก็ตามใจเถิดนะขอรับ ปัญญาไม่ใช่สัญญานะ)

    เมื่อสนทนากันเสร็จสิ้นกระบวนความแล้ว ก็ถึงพิธีการแจกเครื่องรางของขลัง สำหรับผมเองนั้นบอกแล้วไงครับว่า สมัยนั้นน่ะอยู่หางแถวและนั่งอยู่ไกลกว่าใครเขา ไม่ว่าใครจะมาจากไหน ท่านก็แจกพระรอดให้คนละองค์ ใครตื้อดีก็ได้เพิ่มไปฝากลูกฝากหลานอีกคนละองค์สององค์ ผมนั้นตั้งจิตอธิษฐานว่าเครื่องรางของขลังนั้น กระผมอยากที่จะได้นำไปฝากพวกที่กำลังรบหนักอยู่ที่ชายแดน

    ผมจากเขามาเพราะเจ็บป่วยเนื่องจากถูกยิงเสียก่อน ทิ้งพวกทิ้งเพื่อนที่กำลังรบราติดพันอยู่ ไม่ได้อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกเขา จึงอยากจะได้เพื่อนำไปให้เพื่อช่วยเป็นกำลังใจเขา เออ..แน่ะ! ได้ผลแฮะ..พอถึงคิวที่ผมได้เข้าไปรับปุ๊บ (ก็โหล่สุดนั่นแหละครับ) พระเดชพระคุณหลวงพ่อของเราว่าให้เองปั๊บ..เลย

    “ไอ้นี่มันเป็นนักรบ อยากได้เครื่องรางของขลังไปให้กำลังใจพวกของมัน ขอให้มันเยอะๆ เถิดขอรับ พวกมันมีมาก”
    ปรากฎว่ามีพระเหลืออยู่สิบกว่าองค์ในก้นถุง ท่านก็ยกให้หมดและยังบอกว่าวันหลังมาเอาใหม่ พวกเราว่าหลวงพ่อของเราท่านรู้วาระจิตไหมขอรับ หรือเห็นว่าเป็นเรื่องบังเอิญอีก (ช่างบังเอิญได้ตรงเป๊ะ..เชียวนะครับ และก็ช่างบังเอิญได้บ่อยๆ เสียด้วย แบบนี้ต้องเรียกว่า “ประจำ” มากกว่า)

    ท่านวัดน้ำบ่อหลวงนั้น ก่อนหน้าที่พวกเราจะพากันไปกราบนมัสการ ท่านป่วยเป็นมะเร็งและเป็นมากแล้ว หมอเขาว่าตายแหงแบเบอร์ให้โยมนำกลับมาที่วัดเสีย เพราะอย่างไรก็รักษาไม่หายแล้ว เอามาไว้เสียที่วัดใกล้ญาติใกล้โยมจะได้ทำศพกันได้โดยสะดวก แล้วท่านก็ตายไปจริงๆ ตายไปกี่วันผมจำไม่ได้ ยังดีนะที่เขาไม่จับท่านฉีดยากันเน่า ไม่อย่างนั้นท่านก็คงจะต้องเน่าเพราะยา ดูเหมือนจะเป็นสามวันมั๊งที่ท่านตายไป

    พอพ้นวันที่สามท่านก็ฟื้น โชคดีอีกที่เขาไม่เอาท่านใส่โลงปิดฝา ไม่งั้นไม่ฟื้นดีกว่าครับ เพราะถึงฟื้นก็จะต้องมาตายซ้ำเพราะขาดอากาศจะหายใจ และกว่าจะขาดใจตายก็คงจะอึดอัดทุรนทุรายน่าดูเลย

    (กรุณาไปหาหนังสืออ่านเอาเองนะครับว่าตอนที่ท่านตาย ท่านไปเที่ยวที่ไหนมา ทราบว่ามี พระภิกษุท่านหมอประสาน เหตระกูล ลูกศิษย์ของท่านเขียนเล่าไว้ละเอียดแล้ว ท่านที่เคยหรือไม่เคยอ่าน ลองไปเที่ยวที่วัดน้ำบ่อหลวง แล้วแวะไปดูเจดีย์ครอบพระพุทธบาทจำลอง จะเห็นว่ามีการจำลองพระจุฬามณี นรก สวรรค์ เพียบ...ตามที่ท่านไปเห็นและจำไว้ ครั้นเมื่อกลับมาแล้วจึงได้สร้างเลียนแบบตามที่ได้ไปเห็น)
    เมื่อมีการรับรองอย่างนี้แล้ว ท่านว่านรก สวรรค์ พระจุฬามณี มีไหมครับ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจนะครับ สอนยากจริงๆ แถมดื้ออีกต่างหาก หรือพวกเราจะไปดูของจริงก็ได้นะครับ "มโนมยิทธิ" ยังไงล่ะ..พ่อคุณแม่คุณ..! อยากเห็นปุ๊บ..ได้ดูปั๊บ..หรือบางท่านอยากจะทดลองไปอยู่จริงๆ ก็ตามใจเถิดครับ แต่สำหรับเรื่องนี้ เป๋..ขอตัวก่อนครับ ธุระเยอะจริ๊ง.. (ไปไหนไปด้วย ไปนรกเห็นทีจะต้องขอป่วย แต่ถ้ากินไหนก็จะกินด้วย เที่ยวไหนก็ยินดีเที่ยวด้วย ถึงป่วยก็จะกัดฟันไปช่วยกินช่วยเที่ยว)

    พอมาวันหลังผมก็ไปหาท่านอีก ท่านก็ให้พระรอดมาถุงใหญ่ เรียกให้ไปเอาที่กุฏิได้พบได้คุยเป็นส่วนตัวอยู่นาน แหม...ไม่เห็นคุยเรื่องอื่นชมแต่หลวงพ่อของเราตลอดเวลาและตักเตือนผม ให้หมั่นปฏิบัติธรรมและดูแลหลวงพ่อฯให้ดี ท่านว่าหลวงพ่อฯของเรานั้นลาพุทธภูมิแล้ว

    และมีอยู่ครั้งหนึ่งซึ่งหลวงพ่อฯสั่งให้ผมไปขอสังฆาฏิจากท่าน ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้องให้เดินตามไปรับที่กุฏี ก่อนท่านจะมอบให้ท่านก็ยกสังฆาฏิผืนที่ดูเหมือนจะเตรียมเอาไว้ให้ขึ้นบรรจบหลับตาอธิษฐาน ผมก็ไม่ถามไม่ไถ่ ยกกล้องขึ้นถ่ายหมับ ปรากฎว่าแฟล็ชช็อตหมุบ ร้อนวาบจนต้องโยนทิ้งทั้งกล้องทั้งแฟล็ช ท่านก็ลืมตาขึ้นมาแล้วร้องดุว่า

    “เดี๋ยว...จบก่อน” พอท่านบรรจบอธิษฐานเสร็จ ท่านก็ว่า
    “เอ้า..ถ่ายได้แล้ว” ลูกน้องผมก็รายงานทันทีว่า
    “ถ่ายไม่ได้แล้วครับ” ท่านถามว่า
    “ทำไม” เรียนท่านว่า
    “พังครับ พังหมดทั้งกล้องทั้งแฟล็ช” ถามอีกว่า
    “แพงไหม?” น้ำเสียงแสดงความเป็นห่วง ผมตอบไปว่า

    “ไม่ทราบครับ” (กล้องผมขอยืมเขาไปครับ แพงหรือไม่ผมจะไปรู้เหรอขอรับหลวงปู่ฯ แต่ในใจน่ะร้องครางว่า อิ๊บอ๋าย..หลายตังค์แล้วตู สมน้ำหน้าเหลือเกินนะหมื่นไวย..ไวตะเลน) ท่านว่าอีกว่า
    “ดูใหม่ซี้” ท่านทำเสียงยานคางแถมหัวเราะหึๆ เบาๆ ผมก็เอามาลูบๆ คลำๆ ใจนั้นคิดว่าจะคลำพอเป็นพิธี เพราะก่อนที่จะรายงานว่าพังนั้นเห็นว่ามันพังแล้วจริงๆ กลไกมันติดขัดไปหมดแล้วมันจะไม่พังได้อย่างไร เอ๊ะ..พอลูบๆ คลำๆ อ้าว..ไหงไอ้บรรดากลไกต่างๆ กลับทำงานได้ตามปกติ (ตอนนั้นใช้แฟล็ชจานใส่หลอดแบบเก่าจานไหม้ไปนิดหนึ่ง ราคาไม่กี่สตางค์) เก่งจริงๆ หลวงปู่ฯนี่ ถามอีกว่า
    “ห้อยพระอะไร” ตอบท่านไปว่า

    “ห้อยลูกแก้วราหูของหลวงปู่ชุ่มฯครับ” ท่านก็ว่า“ศักดิ์สิทธิ์น๊ะ..แล้วเจ็บบ้างหรือเปล่า” เรียนท่านว่า
    “ไม่เจ็บครับ แต่มือชาไปหมด” ท่านขอดูมือเอาไปลูบคลำ ไม่เสกไม่เป่า แพล๊บเดียวก็หายเป็นปกติ
    ความจริงก่อนจะถ่ายรูปนั้นผมอวดดีไปเอง (เป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ) แม้จะระแวงอยู่แล้วว่าจะต้องเจอดีหากไม่ขออนุญาตเสียก่อน เพราะเคยฟังท่านผู้รู้เขาเล่าเขาเตือนถึงประสบการณ์แบบนี้กับพระที่ทรงอภิญญา แต่ผมขอท่านไม่ทันและใจมัน (ใจผมน่ะครับ) ก็เลยคิดง่ายๆ (มักง่ายแหละครับว่ากันตรงๆ) แบบว่าเลยตามเลยแถมอวดดีอีกต่างหาก โดยคิดว่ามีของดีอยู่กับตัวกลัวอะไร ลองซะเลย จึงแอบอธิษฐานกับลูกแก้วขอให้ช่วยคุ้มครองขณะลองดี แล้วก็เจอดีสมใจปรารถนา

    แต่ว่าก็ว่าเถิดนะครับ ถ้าตอนนั้นผมไม่ยอมเสี่ยงก็คงจะไม่มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้..จริงไหมขอรับ (น่าน..โม้อีก) สังฆาฏิผืนที่ว่านี้ยังมีเหลืออยู่ จะเอาไปสร้างพระ เก็บหอบหิ้วมาตั้ง ๑๗ ปี แล้วนะ...จะ บอกให้..!!!
    ________________________________________

    ขอเพิ่มเติมจากหนังสือ "ล่าพระอาจารย์"

    โดย..ป่อง โกษา (พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์)

    หลังเพล และอาหารเพลกลางวันของพวกเราแล้ว ก็ตัดทางจากลำพูนลัดไปสันป่าตอง โดยไม่ผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อไปนมัสการ ครูบาอินทจักร์รักษา (ซึ่งเป็นพี่แท้ ๆ ของ "ครูบาพรหม" หรือ พระครูพรหมจักรสังวร วัดพระบาทตากผ้า)
    นัยว่าเป็นพระสำคัญองค์หนึ่งมีประวัติเล่ากันว่าท่านป่วยเป็นมะเร็ง และเป็นอัมพาตไปนอนโรงพยาบาลรักษาอย่างไรก็ไม่หาย จนกระทั่งหมอบอกว่า ไม่พ้นคืนนั้นเวลาตีสอง ก็เลยนำตัวท่านกลับไป แล้วปรากฏว่าต่อมาท่านก็หายเอง ยังแข็งแรงดีจนเดี๋ยวนี้
    เมื่อเข้าไปกราบท่าน พวกเราก็ปรารภกันว่าน่าแปลก ใครมาก็มาหาพระหมอประสาน ๆ ไม่ยักมาหาหลวงพ่ออินทจักร์ (หมอประสาน คือหมอประสาน เหตระกูล เคยอยู่โรงพยาบาลกลาง ได้ยินเขาว่าว่าเป็นมะเร็งที่คอ แล้วไปรักษากับอาจารย์ที่ลาดหญ้า เกิดหายขึ้นมาก็เลยสนใจการรักษาโรคททางจิตจนได้รับความนับถือมากคนหนึ่ง ท่านผู้นี้บวชแล้วมาจำพรรษาอยู่ที่วัดน้ำบ่อหลวง แต่ไม่ได้พบกับพวกเรา)

    ครูบาอินทจักร์ (อ) พระหมอน่ะ? หมอประสาน ปริญญา ตอนนี้อยู่ที่นี่หรือครับ ?
    อ. : อยู่ที่นี่ เขามาพักผ่อน เป็นโรคหัวใจ พึ่งมา แล้วก็ยายชีอีก ๑ ชีสำลีเขาอยู่วัด อ้า…ธรรมมงคล
    (ปรากฏว่าหลวงพ่อองค์นี้ก็เป็นหวัด พอท่านบอกว่าเป็นหวัด พวกเราก็ฮากัน เพราะหลวงปู่แหวนก็หวัด ครูบาพรหมฯ วัดพระบาทตากผ้าก็หวัด มาวัดนี้ก็หวัดอีก ท่านครูบาอินทจักร์ชักทำหน้าเลิกลั่กไม่เข้าใจ)

    หลวงพ่อฤาษี (ฤ) เป็นหวัดมันกินแต่ขันธ์ ๕ หรือกินใจด้วยครับ(เห็นไหมล่ะ ป่องบอกแล้วให้คอยจ้องคำถามนี้)
    อ. : กินแต่ขันธ์ ๕
    (เสียงหัวเราะ รู้กันอยู่แล้วว่าคงได้คำตอบนี้)
    ฤ. : ไม่เป็นไรครับ
    อ. : เอ…นี่ไม่รู้จัก อยู่เป็นอาจารย์แผนกไหนนี่ ?
    ฤ. : ผมหรือครับ ? แผนกเดินไปเดินมาครับ
    (เสียงหัวเราะ)
    อ. : แผนกทัศนาจร
    (เสียงหัวเราะ)
    อ้อ อายุเท่าไร ?
    (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ผมจวนตายแล้วครับ
    อ. : อือม์
    ฤ. : จวนหรือยังครับ ?
    อ. : ยัง
    ฤ. : ยังหรือครับ อายุช่างมันเถอะครับ
    (เสียงหัวเราะ)
    (สำหรับหลวงพ่ออินทจักร์ นี่มีน่าเอ็นดูอยู่อย่างหนึ่ง คือท่านมองหน้าแล้วทำท่ากลั้นยิ้ม แล้วกลั้นไม่อยู่ต้องยิ้มออกมา ทำให้พวกเราหัวเราะทุกที ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการพูดหรือประโยคที่พูก็ไม่ได้ชวนขำอะไร)

    ฤ. : หลวงพ่ออยู่นี่นานแล้วหรือครับ ?อ. : ถามต่อไปข้างหน้า หรือถามข้างหลัง ?
    (เสียงฮา)
    ฤ. : ถามต่อไปครับ
    อ. : ต่อไปยังไม่แน่นอน
    ฤ. : เอาสัก ๓ ปี เป็นไงครับ
    อ. : ข้างหลัง ๔๐ ปีเศษ
    ฤ. : เขาถามข้างหน้าครับ
    อ. : ข้างหน้าไม่แน่
    ฤ. : ไม่แน่หรือครับ
    อ. : อ้า…ถามพระ แล้วก็ถามโยม โยมหนอ รู้จักคำพูดไหม เข้าใจไหม พูดนี่
    บริษัท : เข้าใจครับ
    (หมายเหตุ :- จะถามว่าเข้าใจความนัยที่พูดกันนี่ไหม หรือจะถามว่าเข้าใจภาษาพื้นเมืองที่พูดนี่ไหม ป้องก็ยังคงสงสัย แต่ที่ตอบไปนั้นไม่มุสาทั้งสองทาง ถ้อยคำจากเทปนี้ได้แปลงเป็นภาษากลางแล้ว)

    อ. : วัดนี้ เป็นวัดอยู่ในป่า เขาเรียกว่า วัดป่าอรัญวาสี อรัญวาสี ห่างจากหมู่บ้านหมู่บ้านใกล้ที่สุดก็ที่ทางผ่านมานี่ ทางหนี้ (ทางหลัง) ไม่มีบ้าน
    ฤ. : อ้อ ครับ ๆ
    อ. : กลางคืนเงียบ ไฟฟ้าก็ไม่มี ญาติโยมพาหลวงพี่มา เอาไฟฟ้ามาให้ด้วยซี
    (เสียงฮา)
    ฤ. : มีไฟฉายมาครับ เอาขนาดไหน
    (เสียงฮา)
    อ. : แหม ไฟฉายมันน้อยไป
    (เสียงฮา)
    ฤ. : ไฟฟ้าเหมือนกันครับ ใช้ง่ายดี
    อ. : เรื่องนี้สำคัญโยม ไฟฟ้าไม่ถึง เขากะให้หลายปี
    ฤ. : อ้อ ไฟฟ้าจะเดินเข้ามาหรือครับ ไกลไหมครับ?
    อ. : ก็ราว ๆ ๕ ก.ม. เศษมัง
    ฤ. : ซื้อเครื่องไฟฟ้า เดินสายมาดีกว่า
    อ. : ขอทางการแล้ว เขาบอกว่าจะทำให้ รอมา ๆ…
    สมศักดิ์ : หลวงพ่อครับ มีญาติโยมถามว่า เสียสักเท่าไรครับ ๕ ก.ม. นี่คับ เศษเท่าไรครับ?
    อ. : เท่าไรจำไม่ได้ เศษ
    สมศักดิ์ : จำได้แต่จำนวนเต็ม ?
    ปริญญา : พวกนั้นจะมาเอาหวย หลวงพ่ออย่าไปให้
    (เสียงฮา)
    อ. : อ๋อ (หัวเราะ)
    อัญชัน : ให้ก็ได้เจ้าค่ะ จะได้ถวายไฟฟ้า
    ฤ. : ติดสินบนพระ
    (ถึงตอนนี้ มีคนจะถ่ายรูปท่านครูบา)
    ฤ. : คุณ บอกเสียก่อนนะ วันนี้ฟิล์มเสียนะ พวกนี้เขาชอบเจริญสมณธรรมครับ เลยพาไปหาพระที่มีความสามารถด้านนี้ ดีใจครับ พบพระที่เป็นมงคลครับ หายาก โดยมากเราก็จะพบพระที่เขาไปเมากันเสียหมด เหนื่อย เลยบอกญาติโยม มาหาพระที่ไม่เมาดีกว่า
    อ. : (อ่าน) พระมหาวีระ ถาวโร วัดทุ่งสง
    (เสียงฮา)
    ฤ. : ไม่ใช่ครับ วัดท่าซุง ทุ่งสงนั่นอยู่ปักษ์ใต้ หลายกิโลครับ
    อ. : ท่าอะไร ?
    ฤ. : ท่าซุงครับ
    อ. : ท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
    ฤ. : มีพระจำพรรษามากไหมครับ หลวงพ่อ
    อ. : ประมาณ ๒๕ องค์ เณร ๒๑
    ฤ. : รวมเป็น ๔๖ พวกเรามาพบพระโรคกินแต่ขันธ์ ๕ อีกองค์แล้วนะ (ตอนนี้รวบรวมเงินที่จะบริจาค)
    อ. : จำนวนคนเท่าไรนี่ ?
    บริษัท : ๕๐ คนครับ
    ฤ. : ๕๐ คนนี่ ยถาสักคนละกี่รอบดีครับ?
    อ. : นับตัวอักษรซี
    (เสียงฮา)

    ฤ. : เราควรจะทราบว่าพระที่ถึงธรรมแล้วน่ะ อยู่ที่ไหนก็มีความฉลาดอยู่เสมอ
    (รวบรวมเงินได้ ๓,๕๐๐ บาท)
    ฤ. : ให้ระลึกว่า ธรรมใดที่หลวงพ่อเห็น ขอให้เราเห็นธรรมในชาตินี้นะ
    (ตอนนี้สังเกตให้ดีนะครับ โดยปกติเวลาทำบุญอะไร หลวงพ่อฤาษีท่านมักจะสอนศิษย์เสมอว่า ให้อธิษฐานว่าธรรมใดที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ขอให้ข้าพเจ้าตรัสรู้ธรรมนั้นด้วยเถิด และหากข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานในชาตินี้แล้ว ขึ้นชื่อว่าความขัดข้องใด ๆ ขออย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าเลย นี่ เป็นอย่างนี้ ก็ควรจะเปรียบเทียบดูได้)
    เมื่อถวายปัจจัยค่าไฟฟ้าแก่ท่านครูบาตามที่รวบรวมได้ ท่านก็ให้พร
    บริษัท : สาธุ
    อ. : มามากคนต้องให้พรยาวหน่อย
    (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ตะกี้นี้ผมนับตัวอักษรไม่ออกครับ ว่าใหม่ครับ จะได้นับ
    (เสียงหัวเราะ)
    อ. : ญาติโยมทนไม่ไหวหรอก
    (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ๓,๕๐๐ บาท ถ้วนหรือ
    อ. : (อ่าน) คณะลูกศิษย์ หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
    ฤ. ผมคิดว่าจะลงทุ่งสงเสียอีกแล้ว
    (เสียงฮา)
    อ. : ถ้าอยู่นาน ๆ ค้างสักคืนก็ได้ นี่นอนเยอะ
    ฤ. : โอกาสหน้าครับ คราวนี้โอกาส เขาทำงาน วันนี้วันจันทร์ ขาดเขาไปวันหนึ่งแล้ว โดยมากพวกนี้ทำงานที่กรุงเทพฯ ครับ พวกกรุงเทพฯ มา
    อ. : วันนี้กลับ ? พรุ่งนี้กลับ? กลับวันเดียวกันหมด?
    บริษัท : กลับพร้อมกันครับ
    ฤ. : จะกลับทีหลังสักคนมั้ง คุณหญิงเยาวมาลย์น่ะ
    (เสียงหัวเราะ)
    อ. : คนสัก ๔๐ ?
    บริษัท : ประมาณ ๕๐ ครับ
    ดร. ปริญญา : หลวงพ่อจะแจกเหรียญหรือครับ
    อ. : มีนิดหน่อย แต่ไม่ถึงหรอก ไม่ทั่วถึง
    ฤ. : ไม่เป็นไรครับ จับฉลากกัน
    (เสียงฮา)
    ผมอยู่หน้าเอา ๓ เหรียญครับ

    อ. : (หยิบถุงพระมาดู) เอ นี่พระลำพูน
    ฤ. : พระรอดมีไหนครับ ?
    อ. : (ยื่นให้) มอบเอง อาจารย์นี่เป็นผู้แจก แต่ไม่ให้เกินนะ
    (เสียงฮา)
    นี่เขาเอามาจากลำพูน เอามาให้ปลุกเสก เลิกแล้วมอบไว้ที่นี่ ไว้ชำร่วยให้ญาติโยม
    ฤ. : นี่จำนวนไม่เกินนะครับ ?
    อ. : ไม่ใช่เหมานะนี่ !
    (เสียงฮา)
    ฤ. : รับจากหลวงพ่อเป็นมงคล ให้เขาเข้ามากันเอง
    (ท่านครูบาแจกพระ หลวงพ่อฤาษีบอกว่าแจกคนละ ๒ องค์ซี ท่านก็มองหน้าแล้วว่าสองก็สอง แล้วพวกเราก็เข้าไปรับ)

    ฤ. : ไอ้อาการหมดไป สิ้นไป ความดับไม่มีเชื้อน่ะ มันดับไปหลายปีหรือยังครับ ?อ. (มองหน้า) : “ไม่ตอบ”
    (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ผมรู้ครับ
    (เสียงฮา)
    อ. (หัวเราะ) : รู้ ถามทำไม ?
    (เสียงฮา)
    ฤ. : ไม่รู้ไม่พาลูกศิษย์มาครับ
    (ตรงนี้ ต้องนึกถึงตำราคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐานที่หลวงพ่อแต่งเสียหน่อยว่า เราจะรู้ว่าใครเป็นระดับไหน เราต้องถึงระดับนั้นก่อน คนระดับต่ำกว่า จะรู้ระดับของคนที่สูงกว่าตัวไม่ได้)

    อ. : อ.เมืองอุทัย ตำบล?ฤ. : อ้า …ตำบลน้ำซึมครับ เขียนไม่ถูก ผมเขียนให้ครับ
    ดร.ปริญญา ทวนคำ : “รู้แล้วถามทำไม” แล้วหัวเราะ
    ฤ. : พระเมืองนี้ปิดเก่ง
    อ. : รู้เอง ไม่บอก
    (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : เอ พระทางเหนือนี่ไม่ค่อยพูดจาตามความจริงนะ
    ดร. ปริญญา : อยากจะกราบเรียนถามหลวงพ่อองค์นั้นว่า ทำไมถึงไล่ไปหาพระหมอประสานหรือแม่ชีครับ ทำไมหลวงพ่อมีดีแล้ว ทำไมถึงไม่ให้ เที่ยวได้ให้ไปหาคนอื่น ดีไม่เท่าหลวงพ่อ
    ฤ. : เขาอยู่เมืองเดียวกัน
    (เสียงฮา)
    ฤ. : เมืองเดียวกัน กินอาหารรสเดียวกัน ใช้ได้
    (แนะนำ พ.ต.อ.พิเศษ สมศักดิ์ สืบสงวน กับกมลชัย ตอนที่เข้าไปรับพระ)
    เที่ยวนี้โชคดีนะ ลาต่อสัก ๒ วันก็ดีหรอกนี่ หามงคล พบพระที่เป็นมงคล เราก็ได้มงคล ถ้าไปพบพระที่อัปมงคล เราก็ได้แต่อัปมงคล ไม่ดีอะไร เสียท่าอย่างเดียว พระเมืองเหนือพูดไม่จริง

    ดร. ปริญญา : หลวงพ่อครับ เปิ้นว่าอู้บ่ซื่อ(เสียงฮา)
    อ. : ยิ้ม
    (เสียงฮาอีก)
    นี่พลตำรวจตรี จรัส วงศ์สาโรจน์ครับ (รับแจกพระ) นี่ ร.ต.ท.อรรณพ หลวงพ่อสงเคราะห์ (แจกพระ) ไปสำหรับแจกทหารตำรวจที่กำลังรบที่เชียงของ และเชียงคำด้วย
    อ. : เป็นรั้วของประเทศ
    ฤ. : พวกเขาไม่ยันไว้ เราก็แย่
    อ. : ญาติโยมทุกคน วันนี้จะกลับ ?
    ฤ. : ไปเชียงใหม่ก่อนครับ ?
    อ. : ค้างเชียงใหม่ ?
    ฤ. : ไม่ค้างครับ กลับคืนนี้
    (ตอนนี้ คณะพรรค เร่ไปข้างหลังไปบูชาเหรียญ และพระ แล้วเอามาให้หลวงพ่ออินทจักร์เสก)

    อ. : ใจกุศล ใจเป็นบุญ มีความสุข ความเจริญได้ มีน้ำใจเป็นเหตุก่อน น้ำใจของมนุษย์เรา ต้องเข้มแข็ง เข้มแข็งต่อคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในศีลของตัวเอง ในข้อปฏิบัติ เป็นจริยา ความประพฤติ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ มีหิริ โอตตัปปะ
    ความงามของหิริ โอตตัปปะ เป็นคุณของเทวดา นอกจากนั้น ก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา อย่างพระ ก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เมื่อมีอยู่แล้ว สมบัติ ๗ ประการ เรียกว่า "อริยทรัพย์"
    ๑. ศรัทธาเป็นของ ๆ ตัว ๒. มีศีล ก็ของ ๆ ตัว มี "หิริ" ความละอายบาป ก็ของติดกาย มี "โอตตัปปะ" ความเกรงกลัวต่อบาป เป็นสมบัติหรือเข้าของ ข้อที่ ๔ มีการศึกษาหรือสดับตรับฟังในบทธรรมที่เป็นบาป เป็นบุญ เว้นบาป ทำบุญ ศึกษาแต่ศีล สมาธิ ปัญญา นี่สมบัติข้อที่ ๕ ข้อที่ ๖ หมั่นบริจาควัตถุภายนอก เป็นต้นว่า มีสตางค์อย่างเดียวนี่หนา บริจาคไปเป็นสมบัติ เป็นเข้าของ (บริจาคไป)
    ข้อที่ ๖ มีปัญญา เป็นข้อที่ ๗ ปัญญารู้รอบ กองบุญ กองบาป เว้นจากบาปทำแต่บุญ รู้รอบในรูปนามในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ แล้วก็สัจจธรรม ๔ ปฏิจ สมุปบาท ๑๒ มีปัญญารู้รอบ ปลงดู อนิจจัง ความไม่เที่ยงของรูปของนาม ทุกขัง ความทนอยู่ไม่ได้ของรูปของนาม อนัตตา ความไม่อยู่ในบังคับบัญชาของผู้ใด
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    แต่เรายังมีความยึดถือเป็นอุปาทานอยู่ ถ้าอุปทานหมดแล้ว ก็มีความสบาย ไม่ยึดนาม ไม่ยึดรูปเป็นของจริงจัง เป็นของอาศัยไปชั่วครั้งชั่วคราว เป็นของอาศัยไปชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วชีวิต แล้วก็ดับไปแตกสลายไปถ้าเหตุมี ก็จะได้ติดต่อก่อขึ้นใหม่อีก เป็นรูป เป็นนามใหม่อีก ถ้ามีบุญมากก็ไปสู่สุคติที่ดีมีรูปนามอันสะสวย ได้อยู่สุขสบาย ถ้ามีบาปกรรมมาก รูป นามไปเกิดชั่วร้ายได้รับแต่ทุกข์ ได้รับความไม่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ เรียกอบาย หรือเปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน

    นี่ เราทุกคนต้องทำบุญ ต้องเว้นบาป เว้นบาปกับเว้นอบาย ๔ คือ วินิบาตนรก เปตะ เปรต อสุรกาย แล้วก็เดรัจฉาน แล้วก็ทำบุญ เปิดทางไปสวรรค์ เปิดทางมนุษย์สูงสุด ก็เปิดทางถึงพระนิพพานได้ ถ้าไม่สูงสุดก็อยู่ในวงของมนุษย์ วงของสวรรค์ หรืออย่างเก่งมีฌาน มีสมาบัติ ก็อยู่ในพรหมโลก ๒๐ ชั้น ตามฐานะหรือตามกำลังของฌาน ทั้งปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน หรืออรูปฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนะฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

    คนมีฌานที่เป็นอรูปฌาน ๔ นี้ ก็เกิดเป็นพรหม ๔ ชั้น คนที่มีรูปฌานเบื้องต้นก็เกิดเป็นพรหม ๑๕–๑๖ ชั้น นี่ ที่อยู่ของบุญ ผู้มีบุญสูง ผู้มีบาปสูง ก็ไปอยู่ในนรก อเวจี นี่ทุกคน เอาหนา จำไว้หนา ขอให้ได้รับความเจริญหนา
    อาตมาขอให้ หรืออาราธนาบุญคุณของพระพุทธ ของพระธรรม ของพระสงฆ์ และศีลธรรม กรรมฐานที่อาตมาได้บำเพ็ญมาก็ดีหรือที่ญาติโยมได้บำเพ็ญมาก็ดี ขอมีพละกำลัง มีฤทธิ์มีเดช ช่วยบำรุงรักษา กาย วาจา จิตใจ ของญาติโยมทุกคน มีหลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร เป็นประธาน ขอให้มีความสุข ความเจริญให้ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา และข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ขอให้เจริญ สมบูรณ์ทุกท่าน ทุกคน เทอญ

    บริษัท : สาธุ
    อ. : หลวงพ่อ ดื่มน้ำให้อิ่ม ๆ หน่อย ญาติโยมไม่ดื่มแล้ว ?
    ฤ. : ผมดื่มแทนครับ
    อ. : ดื่มแทนคนเดียว ? หลายท้องหลายปาก
    (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ดีมากครับ แหม วันนี้บริษัทพวกนี้มีมงคลมากครับ ได้ไหว้พระดี ๆ ตลอดระยะ มาถึงหลวงพ่อนี่ ถือว่าเป็นมงคลใหญ่ นึกว่าจะไม่ทันเวลา วันนี้ ไปวัดพระบาทตากผ้ามา ทราบว่าเป็นเครือเดียวกันใช่ไหมครับ ?
    อ. : ทางร่างกาย-สายใยของโลก
    ฤ. : ไม่ใช่ครับ ลูกตถาคตเหมือนกันครับ
    อ. : อ๋อ
    (เสียงฮา)
    ฤ. : ใช่ไหมครับ
    อ. : จริง จริง
    (ตามพระไตรปิฏก พระอริยะชั้นสูงสุด ท่านนับเป็นพระพุทธบุตร)
    ฤ. : เอาละ กราบลาหลวงพ่อกันเถอะ
    อ. : วันนี้สนุกกันใหญ่ (เสียงหัวเราะ)
    (เป็นอันว่าจบการทัศนาจรครั้งที่ ๑ แต่เพียงนี้)




    การทัศนาจรครั้งที่ ๒

    สาเหตุการทัศนาจร ครั้งที่ ๒ นี้ เนื่องจาก พระอรรณพ พระอรรณพ คือ ร.ต.ท. อรรณพ กอวัฒนา(ยศสมัยนั้น) ตำรวจภูธรชายแดน ที่เคยติดตามหลวงพ่อไปทัศนาจรครั้งที่ ๑ มาแล้วนั่นเอง ต่อจากทัศนาจรแล้วท่านไปบวชอยู่กับหลวงพ่อ
    ท่านไปบรรยายถึงความลำบากยากแค้นของตำรวจทหารที่ออกไปทำหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้ายอยู่ที่แถวเชียงคำ เชียงของ ว่ามีอย่างไร ๆ ซึ่งสรุปแล้ว เขาเหล่านั้นคล้ายกับถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครสนใจ ยิ่งเมื่อถูกสงครามกลางเมืองทับถม ว่าได้ปราบปรามด้วยความทารุณ ทำกับชาวบ้านผู้ไม่มีความผิด ซึ่งเป็นเรื่องใส่ไคล้ แล้วกำลังใจของพวกเขาก็นับวันแต่จะหมดไป ๆ ด้วยคิดว่าคนที่อยู่แนวหลังไม่ได้มีเจตนาดีต่อเขาผู้พลีชีวิตพิทักษ์ชาติกันเสียเลย

    บรรดาพวกเราฆราวาสที่เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อได้ยินเช่นนี้ ก็มีจิตใจอยากจะปลอบขวัญเขาเหล่านั้นเป็นส่วนมาก แต่ผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริงจัง ริเริ่มลงมือก่อนเพื่อนได้แก่ หลวงพ่อฤาษีลิงดำของเรานี่เอง ท่านเป็นคนออกทรัพย์ส่วนตัวของท่าน (ซึ่งบรรดาศิษย์มักถวายสำหรับใช้ตามอัธยาศัย) สั่งซื้อพริก กระเทียม กุ้งแห้ง ฯลฯ สำหรับจะตำเป็นน้ำพริกส่งให้ทหารตำรวจเหล่านั้น ของเผ็ด ๆ อย่างนี้ดี เพราะใช้จิ้มผักจิ้มหญ้าจิ้มหยวกกล้วยกินได้ มีรสดีกว่าต้องกินสิ่งเหล่านั้นเปล่าๆ กุ้งแห้งก็เป็นสิ่งที่เก็บได้นาน และมีรสดีพอสมควร

    ท่านอาจจะนึกในใจว่าเป็นบรรพชิตแล้วไปยุ่งกับฆราวาสเขาทำไม เป็นเรื่องที่ผิด นี่ก็อาจจะเป็นข้อท้วงติงที่มีเหตุผล แต่ป่องก็มีคำอธิบายที่คิดว่าพอจะให้ความเข้าใจได้สักเล็กน้อย คือ

    ประการแรก ท่านถือว่าเมืองไทยเป็นเมืองของพระพุทธศาสนา เป็นเมืองที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ถึง ๕,๐๐๐ ปี ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของลูกทุกคนที่จะสืบศาสนาให้พ่อ (ท่านถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นพ่อ) หากสิ้นแผ่นดินไทย ศาสนาก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ ใครจะตำหนิว่าอะไรก็ช่างเถอะ เล็งเอาประโยชน์เป็นใหญ่

    ประการที่สอง เรื่องนี้ต้องกระซิบว่า ในอดีตชาติท่านเป็นเผ่าพันธุ์ที่ช่วยกันก่อตั้งชาติไทยมาแล้วหลายสมัย เรื่องนี้ท่านก็ไม่ได้บอกตรง ๆ คุยกันไปคุยกันมา บางทีท่านก็เผลอ พวกเราแหย่ทางโน้น แหย่ทางนี้ หลาย ๆ ปีเข้าก็พอจะปะติดปะต่อได้ว่าอะไรเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้นเรื่องป้องกันชาติไทยแล้ว ก็เป็นเรื่องอยู่ในสายเลือด เรียกตามศัพท์ตำรา ว่า เป็นวิสัยของท่านก็แล้วกัน เรื่องวิสัยนี้ หลวงพ่อฤาษีท่านบอกว่าแก้ไม่หาย ไม่มีใครแก้ได้นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวที่เปลี่ยนได้ อย่างที่ยกมาอ้างกันบ่อย ๆ ที่ว่าตอนข้ามคูน้ำ พระองค์อื่นท่านก็เดินลุยไปเรื่อย ๆ แต่ ท่านพระสารีบุตร ถกเขมรกระโดดผลุง

    เมื่อมีคนตำหนิ พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิบายว่า เป็นวิสัยของท่านพระสารีบุตรเช่นนั้นเอง เพราะเคยเกิดเป็นลิงมาหลายร้อยชาติ ไม่ได้ปฏิบัติด้วยกิเลส ด้วยคะนอง แต่เป็นไปเองด้วยความเคยชินจากอดีตชาติ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเดียว เรื่องของ ท่านพระปิลินทวัจฉะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ ทรงวิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ นั่นยังไง (ปิลินทวัจฉสูตรในพระสุตันตปิฏกขุทกนิกาย อุทาน ข้อ ๗๘)
    ท่านองค์นี้เรียกคนอื่น ๆ ด้วยสรรพนาม “คนถ่อย ๆ” เสมอ สมมติเอาว่าจะเรียกใครก็เรียก เฮ้ย..ไอ้ถ่อย มานี่หน่อยซี อะไรอย่างนี้เป็นต้น พอเป็นเครื่องเข้าใจความหมาย พระผู้ถูกเรียกก็ขัดเคืองเป็นกำลังแห่กันไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสั่งให้ไปเรียกตัวมาเฝ้า แล้วถามว่าไปเรียกเขาอย่างนั้นจริงหรือ ท่านก็รับว่าจริงพระพุทธเจ้าข้า

    พระพุทธเจ้าท่านก็คงจะสงสัยว่า ไปยังไงมายังไงกัน ก็เลยสอบประวัติด้วยพระญาณ จึงทรงทราบว่า ท่านปิลินทวัจฉะ เกิดเป็นพราหมณ์ขนานแท้และดั้งเดิมมาถึง ๕๐๐ ชาติ ไม่มีแปลกปนเลย ยามที่จะเรียกใครที่ต่ำชั้นกว่าเป็นต้องเรียกว่า "คนถ่อย" ทุกที ท่านก็เลยบอกโจทก์ว่า ท่านปิลินทวัจฉะท่านเป็นยังงี้ ๆ คำนี้น่ะใช้มาทุกชาติจนถึงชาตินี้ ไม่ได้ตั้งใจด่าใครดูถูกใครหรอก เป็นเรื่องของความเคยปาก ก็เลยเจ๊ากันไป

    "ป่อง" หวังว่าคงจะเป็นคำอธิบายที่พอไปได้ จะได้ไม่ถือเป็นข้อตำหนิ
    เมื่อหลวงพ่อฤาษีเริ่มต้นของท่านอย่างนั้น แล้วบรรดาศิษย์ก็สานต่อช่วยกันซื้อโน่นซื้อนี่คนละไม้คนละมือ ฝากเงินเขาไปซื้อกุ้งแห้งที่เมืองชลจะได้ราคาถูก ๆ หน่อย อ้าว คนที่ช่วยซื้อ กลับซื้อแถมพกพามาให้อีกตั้งเท่าตัว ประมาณดูว่าของที่เอาไปแจกนี้มูลค่าก็คงจะมากกว่า ๔ หมื่นบาท
    สำหรับที่วัดนั้น หลวงพ่อลงมือตำพริกเองทีเดียว เมื่อหัวหน้าลงมือ ลูกน้องก็ว่ากันกลุ้มไปทั้งวัด ได้ความว่าอีตอนนั้น ทั้งวัดมีแต่โป่งขาว คือเอาผ้าพันจมูกไว้ไม่ให้พริกเข้าจมูก ทำเสร็จแล้วก็ส่งทางรถยนต์บ้าง รถไฟบ้าง ไปพักรอไว้ที่บ้าน ดร.ปริญญา นุตาลัย ที่เชียงใหม่ เพื่อเอาขึ้นรถโดยสารใหญ่ไปแจกตามที่ต่าง ๆ ต่อไป

    แต่เดิมหลวงพ่อจะเอาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปแจกให้ถึงจุดต่าง ๆ ในสนามด้วยซ้ำไป แต่เขาจัดให้ไม่ได้หรือจัดไม่ทัน ก็เลยเปลี่ยนโปรแกรมเป็นว่า เรายกขบวนกันไปเชียงใหม่ด้วยรถยนต์ส่วนตัวหลาย ๆ คัน แล้ว พ.ต.อ.พิเศษ สมศักดิ์ สืบสงวน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจเป็นสปอนเซอร์ เช่ารถเมล์ใหญ่ตลอดรายการไป “ล่าพระ” บ้าง ไปแจกของขวัญ และของดีบ้าง คงทิ้งรถเล็กจอดไว้ที่บ้าน ดร.ปริญญานั่นเอง

    วันที่ ๒๖ มกราคม เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปค้างที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี วันที่ ๒๗ มกราคม ออกเดินทางตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. เพื่อจะได้ไปถึงเชียงใหม่แต่วัน ๆ เมื่อไปถึง และพักผ่อนนอนหลับพอหายง่วงหายเมื่อยแล้ว ก็พากันขับรถของตนไปยังวัดวนาราม (น้ำหลวง) อ.สันป่าตอง

    การมาครั้งนี้ เป็นการมาวาระที่ ๒ เมื่อคราวที่แล้ว คือการทัศนาจรครั้งที่ ๑ นั้น ท่านได้บิณฑบาตกระแสไฟฟ้าเข้าวัดไว้ ซึ่งหลวงพ่อก็รับคำ เมื่อกลับมาแล้ว ท่านพิจารณาว่า ควรจัดซื้อเครื่องยนต์ทำไฟฟ้าไปถวายดีกว่า เพราะได้ใช้เร็ว เงินน้อย แต่ ดร.ปริญญาแจ้งมาว่าทางไฟฟ้าเขาจะปักเสาไฟฟ้าเข้าไปแล้ว จึงรวบรวมเงินนำขึ้นไปถวาย พระครูภาวนาภิรัตน์ (หลวงปู่อินทจักร) วัดวนาราม (น้ำบ่อหลวง) วาระ ๒

    ออกจากบ้าน ดร.ปริญญา ตอนบ่าย ไปถึงวัดไม่เย็นนัก พบหลวงปู่อินทจักรพอดี เงินที่หลวงพ่อฤาษีเอาไปถวายมีจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ถึงแม้จะได้จากผู้บริจาคยังไม่ครบ หลวงพ่อก็รองจ่ายจากเงินส่วนอื่นไปก่อน

    หลวงพ่ออินทจักร (อ) : สบายดี?
    หลวงพ่อฤาษี (ฤ) : ถ้าสบายก็ดีครับ หลวงพ่อสบายดีหรือครับ
    อ. : ก็พอควร ใช้ได้
    ฤ. : เมื่อคืนนี้ฝันว่าไงครับ? (เสียงหัวเราะ) หลวงพ่อฝันหรือเปล่าครับ ?
    อ. : มี..ฝันเรื่องผู้แทน มาถึงนี่ก็ผู้แทนฝ่ายในนะ ผู้แทนของญาติโยม มีพระมากี่องค์
    ฤ. : มาด้วยกัน ๒ องค์ครับ องค์นี้นายตำรวจ คราวก่อนมาเป็นนายตำรวจครับ
    อ. : บวชเป็นพระ?
    ฤ. : เป็นพระเสียแล้วครับ หลวงพ่อทำไม่ได้พูดไปพูดมาเลยทำเขาเป็นพระไปเลย
    อ. : อือม์…
    ฤ. : สบายดีหรือครับ คราวนี้ยังดีกว่าคราวก่อน ไม่เป็นไข้
    อ. : ไข้หมด
    ฤ. : ไข้ตัวหมดแล้วครับ ไข้ใจหมดไหมครับ?
    อ. : ใจเฉย ๆ (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : เอางี้ครับ ไฟฟ้าจะเข้าวัดแล้ว ใช่ไหมครับ?
    อ. : เขากำลังเตรียมปักเสาเข้ามาแล้ว
    ฤ. : ก็เป็นอันวาไม่ต้องถวายเงิน เพราะมีแล้วนี่ครับ
    อ. : แล้วแต่ (เสียงฮา)
    ฤ. : ก็มีแล้วนี่
    อ. : ไม่มี เขากำลังนะ จะทำเสาเข้ามาแล้ว บอกให้ทางสำนักเตรียมเงิน บอกว่าไม่มีเงิน ไม่มีเงินก็ช้าหน่อยหนึ่ง เขาว่ายังงี้ให้เตรียมเงินซื้อหม้อแปลง แล้วก็ซื้อสายบำรุงเสา เขาว่ายังงั้น เวลานี้ ก็ข่าวว่าหลวงพ่อทัศนาจร จะมาเป็นเจ้าภาพ
    ฤ. : ผมไม่รู้จักเขาครับ เขาอยู่ที่ไหนครับ
    อ. : พวกไฟฟ้านี่เขายังไม่เคย…
    ฤ. : ไม่ใช่ครับ พวกทัศนาจรนี่เขาอยู่ที่ไหนไม่ทราบ
    อ. : ไม่รู้จักว่าใคร !
    ฤ. : ผมไม่รู้จักเขา ผมอยู่วัดทุ่งสง (เสียงหัวเราะ) อ้า..ทราบข่าวว่าเขามาถวายหลวงพ่อ ๗ พันแล้วใช่ไหมครับ ?
    อ. : นั่นเขามาถวายไว้ก่อน ๓ พันกว่า ทัศนาจรของหลวงพ่อรึ?
    ฤ. : ของคนอื่นน่ะครับ ที่เขามาทีหลังน่ะ มีไหม?
    อ. : ไม่มี
    ฤ. : เห็นเขาบอกว่าจะมา
    อ. : ไม่มีใครมา
    ฤ. : เงินนี่เขาต้องการประมาณเท่าใดครับ กระดาษนี่
    อ. : เขาบอกไม่แน่ บอกว่าต้องซื้อหม้อแปลง ตั้งเสาด้วย เดินสายด้วย ว่างั้นก็ไม่จำกัดมาเลย
    ฤ. : อ้อ..เขายังไม่บอกงบประมาณมา
    อ. : ก็แล้วแต่หลวงพ่อจะช่วย ให้สำเร็จไปก็แล้วกัน (เสียงฮา)
    ฤ. : อีท่านี้เขาเรียก “เหมา” (เสียงหัวเราะ) เอ..ถ้าโอนวัดนี้เมื่อไร สำเร็จเมื่อนั้นแหละครับ
    อ. : อื้อม์ สำเร็จ ไม่สำเร็จ เอาหลวงพ่อว่า
    ฤ. : ผมว่า ให้โอนวัดนี้ให้ผมครับ
    อ. : ว่ายังไง ?

    ปริญญา : ให้หลวงพ่อโอนวัดให้ครับ ไม่ใช่ – แกล้งไม่รู้เรื่อง (เสียงหัวเราะ) เอางี้ก็แล้วกัน ท่านเจ้ากรม ขอถวายอีก ๒ หมื่น สำเร็จ ไม่สำเร็จ ก็หาเอาต่อไปครับ ถ้าไม่สำเร็จก็…
    อ. : ไม่ยอมหา เอาหลวงพ่ออุปถัมภ์ (เสียงหัวเราะ)
    (ถวายเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท)
    ฤ. : ตานี้ ถ้าไม่พอก็ต้องหาเอง ถ้าหาไม่ได้จำนำศาลา จำนำโบสถ์ก็พอได้
    อ. : จำนำได้ แต่มาอยู่ด้วย (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ขอรับพรครับ
    อ. : อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สมิชัญตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณระโส ยถา มณิ โชติรโส ยถา...
    บริษัท : สาธุ

    ฤ. : อ้า..ทำบุญค่ากระแสไฟฟ้านี่ จะได้อานิสงส์เป็นยังไงครับ ญาติโยมเขาอยากทราบ
    อ. : กระแสไฟฟ้า ?
    ฤ. : ครับ ช่วยไฟฟ้าเข้าวัดนี่ แสงสว่าง
    อ. : แสงสว่าง เครื่องบำรุงปัญญา ผู้ให้แสงสว่างได้ปัญญา
    อ. : (กับคณะหนึ่ง) กลับรึ ?
    คณะ : ครับ
    อ. : ไปดี มีสุข
    ฤ. : อยู่ที่ไหนครับ
    อ. : สงขลา
    ฤ. : อ๋อ ไกลครับ ไกลกว่าผม เขาสงขลา ผมทุ่งสงครับ (เสียงหัวเราะ)
    อ. : เอ๊ะ ใกล้ ๆ กันเรอะ (เสียงฮา)
    ฤ. : วัดที่ยังไม่ได้ไปอยู่ครับ ที่หลวงพ่อตั้งให้
    อ. : วัด?
    ฤ. : ทุ่งสงครับ (เสียงหัวเราะ)
    อ. : โอ๋..!
    ฤ. : คราวก่อน เขาเขียนท่าซุง แล้วหลวงพ่ออ่านเป็นทุ่งสงครับ ผมยังไม่ได้ไปอยู่ครับ แต่หลวงพ่อตั้งให้ไปอยู่ ยังไม่ได้ไปอยู่
    อ. : อืม..ตั้งแต่เมื่อไร ?
    ฤ. : เมื่อมาเที่ยวแรกน่ะครับ เห็นอ่านไปอ่านมา ไปลงเอาทุ่งสง ไม่ใช่ท่าซุง
    อ. : ความจริงนี่ก็เข้าใจผิด
    ฤ. : ท่าซุงครับ
    อ. : จังหวัด?
    ฤ. : อุทัยธานีครับ
    อ. : ท่าซุง
    ฤ. : ครับ
    อ. : กลายเป็นทุ่งสงรึ?
    ฤ. : ครับ หลวงพ่อตั้งเป็นทุ่งสงครับ เลยไปอยู่ใกล้ ๆ สงขลา อ้อ..เดี๋ยวอธิบายอานิสงส์ทำบุญค่าไฟฟ้าครับ

    อ. : ญาติโยม ทำบุญไฟฟ้า เกิดมาชาติหน้าหรือปัจจุบันนี่ ท่านว่ามีเป็นส่วนปลาย ก็จะมีปัญญาสว่างไสว เกิดความรู้แจ้งแทงตลอด ถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ปัจจุบันนี้ ตราบถึงพระนิพพาน ดับกิเลสสังขาร ดับกองทุกข์ทั้งหลาย ถึงบรมสุขอย่างยิ่งอันประเสริฐ อันเป็นที่จบของวัฏฏสงสาร ทุกท่านทุกคนทุกตัวทุกคนทุกรูปทุกนาม จงมีความสุขตามความปรารถนาทุกประการ..เทอญ
    บริษัท : สาธุ

    ฤ. : นี่เขาเรียกให้พรครับ ไม่ใช่ให้โอวาท
    อ. : ให้พร อนุโมทนาด้วย ยินดีด้วย
    ฤ. : แล้วก็พูดถึงว่า สมมติว่าพวกนี้นะครับ เขาตั้งใจเพื่อพระนิพพานนี่น่ะ ความประสงค์มันจะได้ไหม จะเป็นไปตามความประสงค์ไหม ชาตินี้?
    อ. : เอ๊อ..ความปรารถนามีบุพกรรมอันใด ความพยายามก้าวไป ๆ ก็อาจสำเร็จวันหนึ่ง แต่กำหนดเวลาไม่ได้
    ฤ. : นั่นแน่นอนครับ แล้วผลที่จะเดินทางให้มันใกล้ แล้วง่ายที่สุดเล่าครับหลวงพ่อ?
    อ. : ก็มรรค ๘ อย่างไร
    ฤ. : มรรค ๘ เป็นยังไง ผมไม่รู้หรอกครับ
    อ. : อือ เอาใหญ่แล้ว (เสียงฮา)
    ฤ. : ไม่ใช่ครับ อยากให้เขาฟังแบบย่อ ๆ สั้น ๆ เป็นวิธีปฏิบัติง่าย ๆ ครับ หลักปฏิบัติครับ เราพูดว่ามรรค ๘ บางทีมันยาวไป เห็นว่าสรุปให้มันง่ายสำหรับฆราวาสครับ สำหรับพระเณรเรามันง่าย มันสะดวกครับ ทีนี้ฆราวาสนี่กิจการงานมันมากนะครับหาวิธีตัดแบบฆราวาสให้เข้าจุดมรรคผล แบบง่าย ๆ

    อ. : พูดตัวมรรคก่อนนะ มรรค ๘ มรรคก็ทางเดิน ทางเดินของกาย วาจา ใจ มีทางเดินประกอบด้วยองค์ ๘ ประการสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔
    สัมมาสังกัปปะ ความรำลึกชอบ คือ รำลึกจะออกจากกาม รำลึกอันไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียน
    สัมมาวาจา ความเจรจาชอบ ประกอบด้วย องค์ ๔ ประการ
    สัมมากัมมันตะ ทำงานการชอบ ประกอบด้วยองค์ ๓
    สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
    สัมมาวายามะ เพียรชอบ
    สัมมาสติ ระลึกชอบ
    สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ
    นี่องค์ประกอบมี ๘ ข้อ ย่อออกมาเป็น ๓
    ตอนสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ อยู่ในปัญญา
    ตอนสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ อยู่ในศีล
    สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อยู่ในสมาธิขันธ์
    เข้ามาย่อเป็น ๓ ย่อ เป็นในกาย ในวาจา ในใจ
    แล้วย่อออกมาเป็น ๒ รูป นาม
    ย่อออกมาเป็น ๑ คือ กองสังขาร ที่เป็นปุญญาภิสังขาร เมื่อดับสังขารแล้ว มันก็แปลใจว่าใกล้นิพพานเต็มทีแล้ว
    (เสียงหัวเราะ)

    ฤ. : ดับสังขาร ความรู้สักมันเป็นยังไงครับ
    อ. : มันสงบซี
    ฤ. : สงบหรือครับ อารมณ์สงบ ที่เรารู้สึกก็เป็นระยะในสังโยชน์ ๑๐ คือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังโยชน์ ๓ สังโยชน์ ๕ แล้วสังโยชน์ ๑๐ เฉพาะสังโยชน์ ๓ อารมณ์สงบด้านนี้ จะมีความรู้สึกไงครับ
    อ. : ความรู้สึกตอนนี้ คือ สำคัญสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส ๓ นี้ ความรู้สึก คือ ความล่วงเกิน หรือถือเป็นวัตถุ บุคคล ตัวตนเขา เรา เป็นสักกายทิฏฐิก็ถือในรูป ในนาม เป็นของตนเอง ตกเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา ไม่สงสัยในคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ และในศีลของตัวเอง สีลลัพตปรามาส ก็คือ ไม่หลวง ลูบ ๆ คลำ ๆ ของตัวศีล คือรู้จักสภาวศีล ปกติศีลที่บริสุทธิ์ รู้จักบัญญัติศีล มันก็ไปแค่นี้

    ฤ. : นี่ตามหลักครับ คราวนี้ ความรู้สึกของใจ
    อ. : ความรู้สึกของใจ
    ฤ. : ครับ ๆ อยากให้ญาติโยมเขาฟังกันครับ ไม่ใช่ผมไล่หลวงพ่อหรอกครับ เราคุยกันเพื่อมีประโยชน์กับเขา
    อ. : ดี ๆๆๆ เอ รู้ความรูสึกของใจ ความสามารถของผู้ดำเนิน
    ฤ. : พวกเข้าถึงแล้วครับ เฉพาะพวกสังโยชน์ ๓ ครับ
    อ. : พอถึงแล้ว ใจมันไม่อยากทำ ไม่อยากหลง ไม่อยากถือ
    ฤ. : ไม่อยากทำงาน หรือไม่อยากอะไรครับ
    อ. : งานทำ (หัวเราะ) มันไม่อยากยึดถือ ไม่ยึดถือรูป ไม่ยึดถือนาม ยึดถือเขา เรา บุคคล ตัวตน เป็นของจริงของจัง
    ฤ. : คือว่ามันตายแน่นะครับ
    อ. : มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมุนอยู่เรื่อย ๆ ไป
    ฤ. : นี่สังโยชน์ ๓ นะครับ

    (ตำราท่านว่าตัดสังโยชน์ ๓ ได้เป็นพระโสดาบัน หรือสกิทาคามี หากตัดได้ในส่วนละเอียดลงไป)

    ฤ. : ทีนี้ ถ้าจิตจะเข้าถึงสังโยชน์ ๕
    (ตำราว่าอีกน่ะแหละครับ ว่า ตัดสังโยชน์ ๕ เป็นพระอนาคามี)
    อ. : อ้อ..มันต้องคลายเรื่องกามราคะ แล้วผ่อนผันพยาบาท หรือดับเรื่องกามราคะ ความดำกฤษณาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็หมดจากพยาบาทหมดจากความโกรธ งดโทสะ โมหะ โทสะหมดไป
    ฤ. : อ้า…วิธีจะคลายกามราคะ มันคลายยังไงล่ะครับ
    อ. : แหม..มันก็ต้องเล็งอสุภในร่างกาย เราไม่ยึดถือในร่างกาย ปล่อยตามสภาพ ไม่ยินดีต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ใน ๕ ประการนี้ เขาเรียกว่า กามคุณ ไม่ปีติยินดีในรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะ ความถูกต้องก็ดี เฉย ๆ มันเป็นของที่หมุนเวียน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของเขา ของเรา เป็นของเกิดตามปัจจัย วนเวียนไปตามปัจจัย มีกรรม มีกิเลส มีบาป หมุน ๆ กันเรื่อย ๆ ๆ ไป
    เมื่อเราไม่ยึดถือกายแล้ว รูปนามเป็นไปตามปกติหรือตามสภาพของมันเอง แล้วก็จิตต้องเฉยปล่อยในกามคุณทุกอย่าง และความพยาบาท อาฆาต จองเวร เบียดเบียนทุกอย่าง ปล่อยต้องวางใจ ไม่ยึด เขาจะมาด่า เขาจะมาต่อยมาตี มาอย่างนั้น อดทนได้ ปล่อยได้ ตามวาสนาของ…ผู้ที่ปฏิบัติจะเป็นได้

    ฤ. : ครับ
    อ. : นี่ก็ต้องกำลังของวิริยบารมีด้วย วิริยอุปปบารมีด้วย วิริยปรมัตถบารมีด้วย
    ฤ. : เดี๋ยวก่อนครับ วิริยบารมีมันเป็นยังไงครับ
    อ. : ความเพียร ความเพียรขั้นต่ำเป็นวิริยบารมี ความเพียรขั้นกลาง เป็นวิริยอุปมารมี ความเพียรขั้นสูง เป็นวิริยปรมัตถบารมี มี ๓ ตอน
    ฤ. : ทีนี้ความรู้สึกเมื่อถึงสังโยชน์ ๕ จบสังโยชน์ แล้วความรู้สึกของอารมณ์ในมันเป็นยังไงครับ? ผมไม่ได้ไล่หลวงพ่อนะครับ
    อ. : ของพรรค์นี้ ผู้ใดเป็นผู้นั้นรู้ ผู้ใดไม่เป็นเขาไม่รู้
    ฤ. : เปรียบเทียบให้ฟังครับ เขาจะได้จับเอาไปเป็นเครื่องวัด
    อ. : เปรียบเทียบ ก็เป็นปริยัตินะ เปรียบ ๆ ปริยัติ
    ฤ. : ครับ เปรียบเทียบปริยัติ
    อ. : นี่เขาเรียกว่าเป็นปัจจัตตัง รู้สึกอยู่ในใจเฉพาะตนเอง จิตของอาตมาก็ยังงั้น ๆ ไม่เกี่ยวข้องยังงั้น ๆ บอกคนอื่นเขาไม่รู้หรอก
    ฤ. : ไม่ใช่ครับ เขาจะได้ทราบว่าวาระอันนี้ เข้าถึงจิตของเขาแล้วนะครับ เมื่อขณะเห็นรูป มีความรู้สึกยังไง
    อ. : เอ๊ย..หลวงพ่อเคยว่าให้เขาฟังแล้วนี่ (เสียงฮา)
    อ. : มาบ่อยนะ
    ฤ. : แล้ว ! หากินแบบนี้ ผมก็ขาดทุนซีครับ อยากจะให้เขาฟังหลาย ๆ อย่าง หลาย ๆ ท่านด้วยกัน จะได้ทราบว่าพระต่อพระ พระที่เข้าถึงความเป็นพระ และเคารพในพระพุทธเจ้าจริง ๆ มีความเห็นเสมอกัน มีความต้องการแบบนั้นนะครับ เวลานี้ ศาสนามันแซกเข้ามาหลายศาสนาแล้ว
    อ. : ถูก ในปริยัติมันตรงกัน แต่ว่าวาระของจิตมันก็จะให้ตรงมันยาก
    ฤ. : มันไม่ตรงกัน แต่ว่าอารมณ์จริง ๆ มันตรงนะครับ
    อ. : อารมณ์ ให้ตรงกันจริงน่ะ เขาบอกกันไม่ถูก
    ฤ. : บอกไม่ถูกครับ อันนี้ใช่ เป็นแต่เพียงว่า เกิดความเบื่อหน่าย ไม่เห็นสวย ไม่เห็นงามนะครับ
    อ. : ใช่
    ฤ. : แล้วก็อีตอนตัวท้ายล่ะครับ จะใช้อารมณ์อย่างไรจึงจะตัดอวิชชาได้ จะใช้อารมณ์อย่างไรจึงจะใกล้ ให้เขาฟังนะครับ ผมไม่ใช่มาไล่ความรู้หลวงพ่อ ไล่ก็ไม่อยู่ (เสียงหัวเราะ)
    เปล่า..ให้เขาฟัง จะได้หลาย ๆ ทัศนะ นะครับ เกิดความสะดวกของจิต การปฏิบัติน่ะ ฟังจากคนนั้นบ้าง ฟังจากคนนี้บ้าง มันก็จะเป็นผลประโยชน์สำหรับผู้ฟังไว้ไปเปรียบเทียบกันครับ ของคนนั้นอาจอธิบายได้ง่ายกว่า คนนี้อาจจะง่ายกว่า เพื่อความสะดวกของพุทธบริษัท
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    อ. : ฟังง่ายก็อวิชชานอก อวิชชาใน
    ฤ. : ครับ ๆ ดี
    อ. : อวิชชานอก เราพูดกันเรื่องสมมติ เรื่องบัญญัติ เขาก็ไม่รู้สมมติเป็นอย่างไร สมบัติเป็นอย่างไร นี่เขาก็ไม่รู้อวิชชานอก
    ฤ. : ครับ ๆ
    อ. : ว่าเป็นแผนก ๆ ก่อน อวิชชาใน ก็ไม่รู้จักกองทุกข์ ไม่รู้จักเหตุที่เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้จักอดีต อนาคต ปัจจุบัน และไม่รู้จักทั้งอดีต ทั้งอนาคต อวิชชามันก็ไม่รู้จริง ๆ อวิชชาตัวใน มันก็นึกว่าสูญ อวิชชาตัวนอกมันก็ปล่อย
    แต่บางคนไม่รู้หรอก เขาสมมติไว้อย่างไร ความจริงเป็นอย่างไร บัญญัติเขาว่ายังไง มันเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม เขาก็ไม่รู้ อวิชชานอก มันบัง อวิชชาในยิ่งบังใหญ่ เขาเรียกว่า ตัวเกิดบังตัวดับ สมมติบังวิมุตติ โลกบังธรรมงามบังผี ดีบังจริง หลักธรรมบังพระนิพพาน เขาว่างี้

    ฤ. : ครับ แหม..นี่สวยจริง ๆ ยังงี้น่าจะให้เหลือหมื่นเดียว (เสียงหัวเราะ) เพราะได้กระดาษนี่ก็สมมตินี่ครับ (เสียงหัวเราะ) อันนี้ดีมากครับ แต่เขายังไม่ได้ฟังกัน ผมยังไม่เคยพูดให้ฟังกัน
    อ. : อันที่เป็นของบัง?
    ฤ. : ครับ..ถึงของบัง อันนี้มีประโยชน์เยอะ อันนี้คนโดยมากที่มาที่นี่ก็เป็นนักปฏิบัติ แต่ว่ายังจะมากันอีกนะครับ เดือนมีนา มีนานี่เขาไม่ได้ให้สตางค์หรอก เขาจะมาดูแสงไฟฟ้า
    อ. : แล้วแต่
    ฤ. : สมมติว่า เอางี้นะครับ สมมติกันนะครับ ว่า โดยเจตนาของพุทธบริษัทที่มาคราวนี้ก็ดี ที่มาคราวก่อนก็ดี ถ้าทุกคนหวังผลพระนิพพาน หลวงพ่อเห็นว่าจะพอมีปัจจัยไหมครับ
    อ. : ปัจจัย?
    ฤ. : ที่จะเข้าถึงพระนิพพาน
    อ. : ตัวพระนิพพานเป็นอัพภูตธรรมเป็นปัจจัย เอาคำพูดตามตำรานะ ความจริงพระนิพพาน ถ้าผู้ใดถอนความยึดถือ ตัณหา อุปาทานได้ปล่อยไป ละไป พระนิพพานก็ใกล้เข้า ๆ มันก็ถึงเอง มันเป็นปัจจัยสืบต่อกัน ถึงจะละกิเลสเป็นตอน ๆ ไป ก็หมดไป ใกล้ไป ๆ เอง มี…เป็นปัจจัยส่ง เป็นด้วยปรารถนาจิตที่หวังส่ง ถูกไหม? ถูกไม่ถูก?
    ฤ. : ผมไม่รู้หรอกครับ (เสียงหัวเราะ)
    อ. : ฟังยังงี้ ไม่เข้าใจ? ไม่รู้? (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : อันนี้ถูกครับ ไม่ใช่ไม่ถูก ไอ้ที่พูดนี่ถูก แต่อยากจะให้เขาฟังกันหลาย ๆ สำนวน คือว่าธรรมประเภทนี้มักจะไม่ค่อยได้ยินนะครับ มักจะไป…ไปที่ไหนเขาก็เทศน์ รับจ้างเทศน์กันเสียหมดนะครับ ดี มาที่หลวงพ่อนี่ดี เขามาก็ชื่นชมกันด้วยความดีของหลวงพ่อนี่ เดือนสิงหา ก็ต้องไปหาผม นี่ผมมา ๒ หนแล้วนะ
    อ. : อื๊อ !

    ฤ. : ต้องไปนะครับ ผมไม่ใช่นิมนต์หรอกครับ ผมอาราธนาแล้วต้องไป (เสียงหัวเราะ) ยังตายไม่ได้ครับ ยังห้ามตาย การงานของผมไม่เสร็จเพียงใด หลวงพ่อไปโปรดพุทธบริษัทที่นั่นไม่ได้เพียงใด ถึง ๓ วาระก็ห้ามตาย
    อ. : ห้ามตาย? (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ครับ ผมมีอำนาจครับ (เสียงหัวเราะ)
    อ. : ตายอะไรไม่รู้
    ฤ. : ตายกายครับ ใจมันตายไปนานแล้วครับ หลวงพ่อ ผมรู้
    อ. : ตายกายได้
    ฤ. : ไม่ได้ครับ
    อ. : เอาอะไรมาห้าม
    ฤ. : ในเมื่อหลวงพ่อยังไม่ตายครับ (เสียงหัวเราะ) เสียท่า "ทุ่งสง" เสียแล้ว
    นี่สำหรับผู้ที่เข้าถึงธรรมแล้ว มันเป็นเหตุอัศจรรย์ เขาบอกว่าการที่หลวงพ่อป่วยหนัก เป็นอัมพาตและเป็นมะเร็งมาก่อน ใช่ไหมครับ เขาว่ายังงั้นนะครับ แล้วหลวงพ่อก็ทรงตัวขึ้นมาได้ นี่ อำนาจของธรรม ไม่ถึงเวลามันจะพังมันก็พังไม่ได้ นี่ขนาดหมอเขาบอกไปไม่ไหวแล้ว ร่างกายมันจะพัง
    ไอ้ใจน่ะ มันไม่พังหรอกครับ ใจมันพังไม่ได้ อันนี้ เอาเป็นว่ากฎของกรรมมันยังไม่เข้าถึงจุดทำลายสังขาร ทีนี้งานของผมนะครับ ถ้าหลวงพ่อไปสงเคราะห์ได้ไม่ถึง ๓ ครั้ง ผมก็ห้ามพัง นี่ผมมา ๒ แล้วนะครับ มีนามาอีกทีก็เป็น ๓ หลวงพ่อไม่ใช้หนี้ผมรึ?

    อ. : อ้าว?
    ฤ. : อ้าว?
    อ. : ค้างหนี้ด้วยนะ! (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ก็ผมเป็นเจ้าหนี้ ผมไม่ต้องการเอากระดาษไปแลกกับผมนา ผมเอาแต่ตัวไปกับธรรมไปเท่านั้นนา กระดาษผมมี ไม่เอา ต้องการเอาธรรมไปสงเคราะห์เฉย ๆ ไม่สวดมนต์ ไม่เทศน์ ใครเขามา ใครเขาพูดดีด้วยธรรมก็พูดกับเขา เขาไม่พูดด้วยธรรมก็ไม่ต้องพูด นั่งหายใจได้ ไม่ใช่เฉยเลย (เสียงหัวเราะ)
    อ. : อือ..เฉย !
    ฤ. : หายใจได้ครับ พูดได้ สงเคราะห์ด้วยจิตเจตนาสงเคราะห์ สบาย
    อ. : เอาเมตตาจิต?
    ฤ. : ครับ ๆ เมตตาจิต สงเคราะห์ เพราะว่าการสงเคราะห์ด้วยการสวดมนต์ การสงเคราะห์ด้วยการเทศน์ บนธรรมาสน์ อันนี้ผลมันน้อยครับ ผลมันน้อยเพราะอะไร เพราะว่าบางทีคนฟังไม่ตั้งใจฟัง
    อ. : เป็นพิธี
    ฤ. : ครับ เป็น พิธีกรรมเฉย ๆ แล้วก็การสวดมนต์เขาก็ไม่รู้เรื่อง มันก็เป็นบุญเหมือนกัน แต่บุญมันน้อยเกินไป ผมว่าการสงเคราะห์ด้วยเมตตาจิตจะมากกว่า ถ้าใครเขาสงสัยโดยธรรม เราก็ให้สงเคราะห์โดยธรรม นะครับ เรียกว่าให้เป็นไปตามแบบถูกต้อง ไม่ใช่ว่า ว่ากันด๊งเด๊ง ๆ มาไล่เบี้ยกัน ไอ้แบบประเภทไล่เบี้ยกัน กระผมก็ไม่ชอบ เพราะว่าไอ้พวกนั้นมันไม่หวังผลในการปฏิบัติ มันหวังผลอีตรงได้รับ
    ทีนี้ก็ งานยกช่อฟ้า แล้วก็บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หล่อรูปหลวงพ่อปานวันที่ ๖ สิงหาคม วันที่ ๖ เป็นวันตาย วันทำบุญร้อยปี แล้ววันที่ ๑๐ เป็นวันยกช่อฟ้า หล่อรูปและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วันนั้น ขออาราธนาหลวงพ่อไป แต่หลวงพ่อจะรับหรือไม่รับไม่สำคัญนะครับ ผมจะส่งรถมารับนะครับ

    อ. : จะหามขึ้นรถได้รึ ?ฤ. : ถ้าหามไม่ไหวก็ลากครับ (เสียงหัวเราะ)
    อ. : โฮ..!
    ฤ. : หายากครับ จะต้องการพบพระที่เป็นสุปฏิปันโนตามสมควรนะครับ พยายามโดยมากเราก็มักจะไปพบเอาแต่พระที่เขานิยมยศฐาบรรดาศักดิ์กันนะครับ ไอ้ยศน่ะเขาให้เรารับได้ แต่ว่าคนที่รู้จักวางยศไม่ค่อยจะมีนัก ใช่ไหมครับ
    อ. : ถูก
    ฤ. : หลวงพ่อนี่ ตัวสมมติเขาก็ให้ยศไว้ ใช่ไหมครับ
    อ. : เขาก็ให้ยังงั้น
    ฤ. : เขาสมมติมาให้ แล้วหลวงพ่อไม่ได้ติดสมมติใช่ไหมครับ หรือติด?
    อ. : เขาติดชื่อให้ (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : แหม..เข้าใจเลี่ยง ความจริงท่านอายุมากแล้ว เลี่ยงไม่เป็นก็ตายนานแล้ว เปล่าเรียนให้ทราบว่าทราบอยู่แล้ว ม่ายงั้นไม่พาบริษัทมา บ้านไกลเสียงสตางค์ก็มาก มาก็เหนื่อยเสียเวลาการงาน เสียเวลานอน เสียทรัพย์สิน ถ้าประโยชน์มันน้อยกว่าที่จะพึงได้นะครับ นี่เห็นว่าประโยชน์มันจะได้รับมากกว่าส่วนที่เสียไปจึงได้พาบริษัทมา ถึงเวลาผมจึงจะมารับหลวงพ่อไปเป็นการสงเคราะห์
    หลวงพ่อไปหรือไม่ไปผมก็หามหลวงพ่อไปสบายเลยหลวงพ่อไม่ต้องลำบาก แล้วก็มีปัจฉาสมณะ พระที่สำหรับจะปฏิบัติสักองค์-สององค์ได้นะครับ จะได้สะดวกพระ เณร ก็ได้นะครับ นี่เพื่อความสะดวก

    อ. : (หัวเราะ)ฤ. : หลวงพ่อไม่ต้องบอกรับหรอกครับ ผมถืออาการรับโดยดุษณี (เสียงฮา) ตามหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงรับด้วยอาการดุษณี (เสียงฮา)
    อ. : หลักของพระ
    ฤ. : ครับ นี่สบาย ความจริงรู้เรื่องกันพูดง่ายนะครับ
    ปริญญา : พูดคำเดียว (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : อ้าว..พูดคำเดียว ถ้าไม่ตอบละเสียท่าเรา พระพุทธเจ้าทรงรับด้วยอาการดุษณี ถ้าพระองค์ทรงปฏิเสธ ก็ปฏิเสธเลย ถ้าเงียบก็แสดงว่ารับ
    อ. : กำลัง…กำลังพิจารณา
    ฤ. : แต่ผมพิจารณาแล้วครับ (เสียงหัวเราะ) สภาลงมติครับ แต่ถ้าไม่ป่วยไม่ไข้สบายหนักนะครับ ก็ขอให้โปรดเขาหน่อย เพราะพุทธบริษัทซึ่งเป็นนักบุญมีมาก แบบนี้ก็ไกลไปสำหรับคนบางคนจะมาพร้อมกันไม่ได้ เมื่อรู้ว่ารู้ความก็อยากจะไหว้ อยากจะบูชา ไปเพื่อให้เขาไหว้เขาบูชากัน จะสวดมนต์ก็คนอื่นเขาหากินเยอะแยะไปแล้วนะครับ

    อ. : อือ..แล้วแต่วาระไปเถอะนะ
    ฤ. : ครับ..วาระก็มีว่าผมให้โอกาสอย่างเดียว ถ้าป่วยไข้ไม่สบายหนักนะครับ นี่เขาบันทึกเสียงไว้นะครับ อือม์ อันนี้รู้สึกว่าเป็นมงคลใหญ่
    อ. : ญาติโยมมาวันนี้ จะค้างที่ไหน
    ปริญญา : ค้างที่เชียงใหม่ครับ บ้านผม
    อ. : จำนวนเท่าใด
    ปริญญา : สิบกว่าคนครับ
    อ. : นอนหมดรึ บ้านใหญ่รึ
    ปริญญา : บ้านเล็กครับ แต่นอนเบียดกันครับ
    อ. : นอนที่วัดนี่ไม่ดีรึ (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : นอนที่วัดนี่ กลัวเสียเงินอีกครับ (เสียงหัวเราะ) ก็ไม่ใช่อะไรครับ แต่ว่าจะเดินทางต่อไปอีก อ้อ กระผมจะไปที่เชียงของ เชียงคำ ขอบารมีหลวงพ่อช่วยคุ้มครอง บรรดาบริษัทด้วยนะครับ
    อ. : ไปวันไหน?
    ฤ. : ไปวันที่ ๒๙ เดินทาง กว่าจะเข้าถึงเขตนั้น วันที่ ๓๐ คือว่าจะไปเยี่ยมตำรวจทหาร
    อ. : อ๋อ ไปหมู่รึ
    ฤ. : ครับไปทั้งหมด คราวนี้ยังมาน้อยคน ม่ายงั้นก็ยกทัพ กุฏิหลวงพ่อไม่พอ ตั้ง ๓-๔ เท่า เดือนมีนานี่มาอีก มีนาถ้าต้องการรับที่ศาลาแล้วครับ จะมารบหลวงพ่อใหม่ ที่ผมมานี่ ผมถือว่าผมเป็นเจ้าหนี้ มา ๑ เที่ยวผมก็เป็นเจ้าหนี้ ๑ เที่ยว เที่ยวที่ ๒ ผมก็เป็นเจ้าหนี้ ผมมาเที่ยวที่ ๓ ผมก็ถือเป็นเจ้าหนี้ หลวงพ่อต้องใช้หนี้ผมครบตามที่ผมมา แล้วหลวงพ่อจึงจะตายได้ (เสียงหัวเราะ)
    อ. : ถ้าไม่ใช้หนี้แล้วต้องตาย?
    ฤ. : ถ้าไม่ใช้หนี้ตายไม่ได้ครับ ห้ามตาย แต่ใช้หนี้เสร็จก็ยังตายไม่ได้ ถ้ายังไม่ถึงเวลา อ้าว ขันธ์ ๕ มันพังเมื่อไร เราห้ามไม่ได้ ผมก็ไม่บังคับ แต่ยัง หลวงพ่อยังอีกนาน อีกนานใช่ไหมครับ?

    อ. : ฮือ..ไม่แน่ ไม่แน่ แล้วแต่ปัจจัยของสังขาร
    ฤ. : เป็นไงก็ช่างมัน คิดว่าอีก ๓ วาระนี่ยังไม่พัง ค่อยย่างใกล้เข้า ๑๘,๑๙
    อ. : เดือนไหนล่ะ
    ฤ. : สิงหาคมครับ
    อ. : สิงหาคม?
    ฤ. : ครับ ในพรรษา แต่ไปได้ กิจนิมนต์นี่ครับ ไปตามกิจนิมนต์ ในพรรษานี่ไปได้ ๓ ประการ โดยเฉพาะอย่างกิจที่เป็นกิจเจริญศรัทธา พระพุทธเจ้าไม่ห้ามหลวงพ่อห้ามก็ฝ่าฝืนพุทธบัญญัติ (เสียงฮา) อ้าว..พูดตามแบบฉบับ นี่พูดตามวินัย ไม่ได้พูดนอกเหนือวินัย พระถ้ทำนอกเหนือวินัยถือว่าไม่ใช่พระใช่ไหม นี่เรานิมนต์ตามกิจนิมนต์ ไปเจริญศรัทธา ถ้าพระขัดศรัทธาก็แสดงว่าไม่เคารพพระพุทธเจ้า (เสียงฮา)
    อ. : หว่าน..หว่านเอา (เสียงฮา)
    ฤ. : ไม่หว่านเฉย ๆ เอาจริง ๆ ครับ
    อ. : แบบนี้เขาล้อม ๆ ๆ (เสียงฮา) เก่ง เก่ง มัดเอา หว่านล้อม มัดทางอ้อม
    ฤ. : อยู่หรือยังครับ ถ้าอยู่จะได้เลิกมัด ม่ายงั้นมัดต่อไปอีก (เสียงฮา) ดี..มาหาหลวงพ่อนี่ดี บริษัทสดชื่นครับ บันทึกเสียงไปกรุงเทพฯ เขาโอ๊ะ ! สนุกสนาน ชอบใจ นี่เขาจะแห่กันมาอีก หลวงพ่อแย่ ทีนี้ไปรับที่ศาลา ให้นอนสู้ได้ครับ เมื่อยก็นอนสู้

    อ. : อ้าว..เมื่อกี้ไม่ได้ถาม จากไหนมา?ฤ. : มาจากอุทัยครับ
    อ. : วันนี้?
    ฤ. : วันนี้ครับ ออกจากอุทัยครับเมื่อตอนเช้าตรู่ตี ๔ ครับ ไม่รู้ กุฏิหลวงพ่อนี่ก็เย็น พอหลวงพ่อรับนิมนต์ก็เย็นเฉียบเลยครับ ไฟฟ้านี่ เขายังไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะเข้าหรือครับ
    อ. : เขาบอกว่าเดือนนี้ แต่เวลานี้ เขาว่าเขากำลังเลือกผู้แทนอยู่
    ฤ. : อ๋อ..ก็ชั่วขณะหนึ่ง เขาไม่ได้ตั้งงบไว้หรือครับว่า ประมาณเท่าไร
    อ. : เขาว่าในเขตนี้ เขากะให้ ๔ แสนแล้วก็มาแยกเป็นแผนก ๆ บ้านบ้าง วัดบ้าง
    ฤ. : แล้วจากบ้านมาถึงวัดนี่
    อ. : เขายังไม่ได้บอก
    ฤ. : สี่แสนเป็นราคาเต็มหรือครับ
    อ. : เต็ม
    ฤ. : เต็มแล้ว เขาก็มีลดช่วย
    อ. : เขาทำเอง
    ฤ. : ไม่ใช่เขาลดราคาหรือครับ เขาต้องลดเหลือ ๑ ใน ๓ อะไรนี่ แบบพัฒนาหม้อแปลงเขาไม่คิด
    อ. : ตอนนี้เขาคิด เขาบอกมาแล้วหม้อแปลงต้องซื้อเอง สายเขาทำมาให้ ซื้อหม้อแปลงเอง ยังไม่รู้ราคา ราคาหลวงพ่อจะเฉียดหรือไม่เฉียดไม่รู้ (เสียงฮา)
    ฤ. : ไม่เป็นไรครับ ผมเริ่มต้น หลวงพ่อค่อย ๆ รดน้ำพรวนดิน ก็งอกงามขึ้นมาให้เณรเขียนป้ายไว้ว่ามีแล้วเท่านี้ ใครต่ออีกก็ต่อเป็นการรดน้ำต่อ

    อ. : เวลานี้เขียนไม่ได้
    ฤ. : ทำไมล่ะครับ
    อ. : คนที่เขาอยากจะให้มาก เขาจะว่ามีทุนมากแล้ว
    ฤ. : เปล่า มีทุนบ้างนิดหน่อย ยังไม่พอ ใครจะต่ออีกก็ต่อ
    อ. : อ๋อ..ศรัทธา ไปที่ไหน ๆ ก็แจ้งเขาอยู่นา พอบอกมีทุนอยู่แล้ว ก็บอกขอให้เป็นค่าน้ำมัน เดือดร้อนทุกที แต่มีก็บอกว่ามี
    ฤ. : มีบ้าง แต่จะพอหรือไม่พอก็ไม่รู้ ถ้าเหลือส่งมาให้ผมบ้างก็ได้ครับ
    อ. : พระที่มานี่บวชใหม่รึ?
    ฤ. : ครับ
    อ. : มีกี่องค์ ที่วัด
    ฤ. : เดี๋ยวนี้มีไม่ถึง ๑๐ องค์ครับ วัดเก่ากำลังโทรมไปนาน กำลังจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
    อ. : ที่กว้างขวางรึ?
    ฤ. : ไม่กว้างครับ ต้องซื้อที่ขยายไปอีก ๒ จุด ที่มันแคบ
    อ. : อือ บ้านญาติโยมอยู่ใกล้ ๆ รึ?
    ฤ. : ญาติโยมนี่อยู่ไกลครับ อยู่กรุงเทพฯ
    อ. : ห่างไกลกัน?
    บริษัท : ๒๐๐ กิโลค่ะ
    ฤ. : นิดหน่อย นึกพั๊บเดียว ไปดาวดึงส์เร็วกว่า (เสียงหัวเราะ)
    อ. : ทางรถดี? สะดวก?
    ฤ. : สะดวกครับ ไม่ต้องหลีกรถ
    ปริญญา : ทางไปดาวดึงส์หรือไงครับ
    อ. : นึกก็ถึง ไม่ต้องขี่หรอก

    (นี่องค์นี้ก็ยืนยัน ว่าไปดาวดึงส์ด้วยทางจิตได้ ช่วยเป็นพยานกันหลาย ๆ องค์)

    ฤ. : สบาย เอ๊ ผมฝันไปบอก หลวงพ่อบอก เอ๊อ ราคามันไม่มาก ขาดนิดหน่อย เอามานี่มากกว่าคงมีแล้ว
    อ. : ยังไม่ถูก (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ขาดอีกเท่าไรครับ โดยประมาณ
    อ. : เขาไม่บอกมาให้แน่
    ฤ. : กะคร่าว ๆ เผื่อมันจะตรงกับหงกับหวยบ้าง
    อ. : กะไม่ถูกหรอกฯลฯ
    ฤ. : ผมคิดจะเอาตู้มาให้หลวงพ่อ พอดี ดร.ปริญญาบอกว่าไม่ต้องการตู้ ต้องการตังค์ กระดาษ
    อ. : ถูก
    ฤ. : ทีนี้กระดาษหนังสือพิมพ์ในรถมีเยอะ
    อ. : ญาติโยมของหลวงพ่อวีระ กระดาษเยอะไป (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : กระดาษห่อหนังสือห่อของ พอมี
    อ. : กระดาษแบบนี้? (ชี้ห่อเงิน) (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : หลวงพ่อไปวัดผมนะครับ ทีหลังกระดาษมามากอีกเยอะ
    อ. : ยังงั้นไม่ถูก โลภมาก ไม่อยากไป
    ฤ. : แบบนี้หลบ ไม่มีทาง ไม่มีทาง ไอ้นี่ผมแกล้งยั่ว ดูซิว่าจะหลุดจริงหรือไม่จริง (เสียงหัวเราะ)

    (คือหลุดจากกิเลส หลุดจากทุกข์กระมัง..ป่องว่า)
    เสียท่า เสียท่าแล้ว ใช่ไหมล่ะ หลบไปหลบมา ไปโผล่ทางโน้น ไอ้นี่ ที่เขาตั้งใจคือว่าพระที่เป็นสุปฏิปันโนมีอยู่ เราพยายามจะหามาไหว้กัน ใครรู้จักไหว้พระก็ไหว้พระ ใครรู้จักไหว้ยศก็ไหว้ยศ เลือกไหว้ตามชอบใจ หามาให้แล้วนะครับ
    อ. : เขาไหว้แต่มือ ใจเขาไม่ไหว้
    ฤ. : ครับ พวกไหว้ด้วยมือ ไหว้ด้วยใจก็มี แต่เวลานี้ พวกไหว้ด้วยใจก็มี แต่เวลานี้ พวกไหว้ด้วยใจก็มีเยอะแล้วครับ ยังไม่ทันถึงหลวงพ่อ ย่อง ๆ ดูบ้างหรือเปล่า
    (ไม่ตอบ)
    ไอ้ที่นิ่งนี่ไม่ใช่ดูนาน ๆ นะ แกล้งนิ่ง
    (เสียงหัวเราะ)
    พวกนี้เขาไม่ได้ดูกันนานหรอก ดูปี๊บเขาก็รู้อยู่แล้วแกล้งนิ่ง ใคร ๆ เขาก็รู้ เขาไม่รู้เขาไม่มากันหรอกครับ
    (เสียงหัวเราะ)
    อ. : เก่ง
    ฤ. : ยัง ยังไม่เก่งเท่าหลวงพ่อครับ หลวงพ่อเก่งกว่าผม ผมต้องมาหาหลวงพ่อ
    (เสียงหัวเราะ)
    อ. : เก่งกว่า มาได้
    ฤ. : งั้นหรือครับ ผู้แล้วว่าหลวงพ่อออกท่านี้ ผมเปิดไว้ให้ครับ
    (เสียงหัวเราะ)
    กลัวจะออกไม่ได้
    อ. : พูดอย่างนี้ โยมเข้าใจรึ?
    (รับว่าเข้าใจ)
    ฤ. : พวกนี้เขาเข้าใจครับ แล้วยังอีกหลายคนที่อยากจะมา มาไม่ได้นะครับ ตั้งใจว่า เดือนมีนา ถ้าไม่มีอุปสรรคจะมากันอีก ภาษิตโบราณเขาว่าน้ำถึงไหน ปลาถึงนั่น แต่ว่าน้ำในลูกมะพร้าวก็ไม่มีปลาเหมือนกัน
    (เสียงหัวเราะ)
    คราวนี้ผมไม่เปิดให้ละครับ
    สายเหนือนี่ยังดีครับ พระยังสนใจในธรรมปฏิบัติกันมากนะครับ ถึงจะมีน้อยองค์ แต่ว่าที่ตั้งใจจริงนะครับ ยังมีอยู่ ฯลฯ

    ฤ. : ที่วัดนี่ ยังมีทายาทต่ออีกหรือเปล่าครับ ทายาทแบบหลวงพ่อ
    อ. : กำลังฝึก
    ฤ. : พอเห็นท่าจะมีไหมครับ?
    อ. : กำลัง ท่าทางจะรับไว้ได้บ้าง
    ฤ. : นั่นซีครับ ๆ ไม่ถึงกับเต็มอัตรา แต่ต่อไปอาจจะเต็มก็ได้?
    อ. : อาจจะมี
    ฤ. : อาจจะมีนะครับ ดี ทายาทแบบนี้หายาก ก็ต้องค่อย ๆ คือว่าในระหว่างที่หลวงพ่อยังไม่ทิ้งขันธ์ไป เขายังรับช่วงไว้ได้ไม่เต็มที่ ก็ยังพอได้บ้าง เป็นพื้นฐานนะครับ พอมีทางไม่ถอยหลังเขาก็ไปเอง ฯลฯ
    ฤ. : ต้องขออภัยนะครับ หลวงพ่อ เพราะอาวุโส ที่พูดนี่ ล่วงล้ำ ล่วงเกินไปบ้าง บางทีก็พูดเป็นที่ตีเสมอบ้างก็ขอประทานอภัยด้วย

    อ. : อ๋อ..พูดไปมันก็เป็นลมไป ไม่ถือ
    ฤ. : แค่นี้พอแล้วครับ หลวงพ่อเสียท่าผมแล้ว (เสียงหัวเราะ) ดีจริง ๆ หาไม่ได้ หายาก เออดี พวกเรานี่น่ะ ที่ยังไม่ตายเสียก่อน แล้วยังไม่หลงผิด ก็ยังคลานมาหาท่านเหล่านี้ได้ หลวงพ่อน่ะ ไม่พูด ผมพูดคนเดียวพอครับ ไม่ใช่หน้าที่หลวงพ่อจะพูดครับ

    อ. : ถึงพูดก็พูดไม่ถูก
    ฤ. : ครับ พูดไม่ถูก
    อ. : เป็นพระ พระไม่พูด
    ฤ. : พระพูดไม่ได้
    อ. : พระอื่น ๆ พูดได้
    ฤ. : ครับ ตัวเองไม่พูด ให้กี่แสนล้านก็ไม่พูด เหมือนคนที่รวยแล้ว ไปบอกให้บอกเองว่ารวยแล้วก็ไม่พูด
    อ. : (หัวเราะ)

    ฤ. : อย่างสุปปะพุทธะ จำได้ไหมครับ ที่เป็นขอทานโรคเรื้อน แกหาว่าพระอินทร์ถ่อย พระอินทร์หาว่าแกเป็นคนจน เป็นคนขอทาน บอกแกว่าสุปปะพุทธะ เธอจงบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ เธอพูดเพียงเท่านี้เราจะบันดาลให้เขาเป็นมหาเศรษฐี เป็นคนสวย แกเป็นโสดาบันแล้ว
    พอนึกออกนะครับ แกฟังเทศน์แล้วเป็นโสดาบัน พระโสดาบันนี่ก็รวยแล้ว แกเลยชี้หน้าพระอินทร์ว่า ถ่อย! หนอยแน่ะ หาว่าเราเป็นคนจนรึ ไอ้ทรัพย์ภายนอกของเราจนจริง แต่รามีอริยทรัพย์ รวยแล้วใช่ไหม นี่แค่พระโสดาบันนะ

    อ. : มีโลกุตตรธรรม
    ฤ. : ครับ มีโลกุตตรธรรม อริยทรัพย์ แกบอกรวยอริยทรัพย์ ไอ้สิ่งนี้ซีมันหายาก แต่ดินแดนเชียงใหม่ยังเป็นดินแดนอยู่ ดีมาก คือไม่ไปติดกระดาษ แหมไอ้ในกรุงเทพฯ ภาคกลาง มันติดกระดาษกันจริงเลย กระดาษมันเลยติดผมมาหาหลวงพ่ออีก (เสียงหัวเราะ) มันติดผมมา ผมเลยเหวี่ยงไปหาหลวงพ่ออีก

    อ. : ติดกระดาษ หรือกระดาษติด
    ฤ. : ไม่รู้ว่าใครติดใคร แต่เปล่าที่ว่าติดกระดาษ เขาติดกระดาษตราตั้งกันมากกว่า เขาติดกระดาษกันมาก ที่นี้ไอ้ส่วนลึกมันก็ไปติดอยู่แค่สมมตินะครับ ถ้าละสมมติไม่ได้วิมุตติมันก็ไม่มา ที่หลวงพ่อบอกแล้วว่าไอ้สมมติมันปิดวิมุตตินะครับ
    อ. : ปิดบัง
    ฤ. : ครับ ปิดบังวิมุตติเสีย คือว่ามันมุดไม่หลุด มันจอดไม่ไหว อ้าหลวงพ่อครับ ต้องขอพรหลวงพ่ออีกวาระหนึ่งครับ จะไปเชียงของ ญาติโยมพวกนี้จะไปด้วย ขอบารมีคุ้มครอง ช่วยส่งจิตใจตามไปด้วยนะครับ
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    อ. : ทุกคน บรรดาที่มากับหลวงพ่อทัศนาจร ได้เป็นหัวหน้า เป็นมัคคุเทศก์นำมาแล้วจะนำต่อไป จะเดินทางต่อไป ขอให้มีโชคชัย มีความชนะ คลาดแคล้วภยันตรายทุกประการ เรื่องการเดินทาง ขอให้ปลอดภัยจากยวดยาน และจากอันธพาลต่าง ๆ ขอได้รับความสว่าง ความสุขความสบาย ทางกาย ทางจิตต่อไปทุกท่านทุกคนเทอญ

    บริษัท : สาธุ..!!!



    หลวงปู่วัดน้ำบ่อหลวงเทศน์

    อ. : ๑. ให้มีศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในปฏิปทา คือ ทางปฏิบัติที่จะให้เป็นคนดี ที่จะให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นฟ้าเป็นเบื้องต้น ให้มีศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสจริง ๆ การทำคุณงามความดีทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหากศรัทธาแล้วก็เป็นไป ดังนั้นเราต้องมีศรัทธาความเชื่อปสาทะ ความเลื่อมใสเสียก่อน
    ท่านเปรียบไว้ศรัทธานี้ เสมือนกับมือของเรา เราจะจับถือเอาสิ่งใดที่ไหนก็ดี เราต้องใช้มือ ถ้าเราไม่มีมือแล้ว ก็ยากแก่การที่จะจับเอาสิ่งของอะไรที่ไหนมาใส่ตัว ใส่ปากของเรา ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อต้องการเหตุของคุณงามความดี จงปลูกศรัทธาความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ดิ่งลงในพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้งเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำไป

    ข้อต่อไป เป็นข้อ ๒ คือศีล ท่านทั้งหลายปรารถนาหาความสุข ท่านทั้งหลายจงสร้างปกติแห่งกาย วาจา และใจ ที่เรียกกันว่า ศีล คือว่าให้เกิดขึ้นในจิตในใจของตัวเอง คือ จงพยายามรักษากายของเราไว้ให้ดี สิ่งใดที่มันผิด เป็นภัยทุกชนิดด้วยทางกาย ท่านทั้งหลายจงเว้นให้เด็ดขาด อาทิ เป็นต้นว่า การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ของคนอื่น ประพฤติผิดในกาเมสุมิจฉาจาร นี่เป็นต้น

    ท่านทั้งหลายจงรักษา ยิ่งกว่านี้ก็ต้องรักษาปากของเราไว้ ปากของเรานี้สำคัญ ธรรมดาคนเรา ถ้าปิดปากไม่ได้ ก็เกรงว่าปิดประตูอบายไม่ได้ ถ้าใครไม่อยากไปตกอบายทั้งสี่จงปิดปาก นี่เป็นปากของอบาย ปิดปากไว้ให้ดี คือ สำรวมปาก พูดจาปราศรัยแต่คำดี เป็นคำสัตย์คำจริง เป็นวาจาที่อ่อนหวาน เป็นวาจาที่จะนำประโยชน์โสตถิผลมาให้แก่ตนเองและคนอื่น อย่างนี้เป็นต้น

    ยิ่งกว่านี้ ท่านทั้งหลายจงรักษาใจของตนเองไว้ให้ดี สิ่งใดที่ไหนมันจะผิดศีล มันจะผิดธรรม ถ้าท่านทั้งหลายจะนึกจะคิด จงคิดไปในทางที่ดีที่เป็นบุญเป็นกุศล ที่จะนำประโยชน์สุขมาให้แก่ตนเองและคนอื่น นี่เป็นฝ่ายศีล เลยไปถึงฝ่ายสมาธิด้วย

    อันดับต่อไป ขอให้ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้มีความเสียสละเรียกว่าจาคะ ถือความสละ ทำบุญสุนทาน ช่วยเหลือเผื่อแผ่แก่คนอื่น ช่วยเหลือเผื่อแผ่แก่ประเทศ ชาติ ศาสนา สาธารณประโยชน์ ท่านทั้งหลายจงนึกไว้ คิดไว้ให้ถูกทางตามโอกาส เวลา ตามฐานะ และตามจะเห็นสมควร อย่าเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่นจนเกินไป ตลอดถึงสละความไม่ดีที่มีในจิตใจของเรา

    เป็นต้นว่า ความโลภจัด โลภเกินไป หรือโลภไม่สม่ำเสมอ เป็นอภิชชาวิสสมะโลภะก็ดี ความโกรธ ความหึง ความหวง ทิฏฐิมานะ และความหลง หลงรัก หลงชัง หลงศักดิ์ หลงสังขาร หลงถือว่าตัวเราของเรา ตัวกูของกู นั่น ๆ นี่ ๆ ออกจากจิตจากใจนี่เป็นจาคะ คือความสละของภายนอกตัว และของในจิตในในที่เป็นกิเลสหมักหมม คือหมักดองอยู่ในสังขาร ชำระสะสางให้มันออกไปเสียให้จิตใจ ใจบริสุทธิ์

    ข้อต่อไป ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายก็คือปัญญา ปัญญาความรอบรู้ท่านทั้งหลาย ปัญญานี้ถึงจะเป็นสิ่งสุดท้ายก็ตาม แต่เป็นสิ่งสำคัญ สำคัญที่สุด เพราะปัญญาความรอบรู้นี้ เป็นเสมือนประทีปทองสำหรับส่องทางเดินของเรา ความรอบรู้เป็นยอดของธรรม ในที่นี้ก็คือให้รู้จักบาปรู้จักบุญ ว่าอะไรเป็นบาป อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ ให้รู้ รู้แล้วต้องพิจารณาสืบต่อ

    อะไรเป็นบาปจงพยายามเลิกละ หลีกเว้นให้ห่างไกล อะไรเป็นบุญจงพยายามบำเพ็ญให้เกิดขึ้น มีขึ้นในจิตใจของเรา อะไรเป็นบุญ คุณงามความดี ก็จงพยายามสร้างขึ้นในจิตของเรา อะไรเป็นโทษ ก็จงพยายามรักษากาย วาจา ใจของเราอย่าได้ไปทำสิ่งที่เป็นโทษให้มีความเกลียดเป็นที่สุด
    เรื่องโทษ เรื่องบาป เรื่องกรรม เรื่องการทำไม่ดี นี่คือปัญญา จัดว่าธรรมเหล่านี้เป็นตัวเหตุ ตัวปัจจัยที่จะบำรุงส่งเสริม ซึ่งผู้ปฏิบัติให้มีความสุข ความเจริญในโลกปัจจุบัน และสัมปรายภพที่จะต้องเกิด ต้องตายต่อไปในชาติหน้า

    ยิ่งกว่านี้ ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นนักศึกษา และนักปฏิบัติควรจะสนใจ ซึ่งธรรมะทั้งหลายให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่าสนใจแต่เฉพาะปัจจุบันทันด่วน อย่าสนใจแต่ความสุขในภพนี้ และภพหน้าอย่างเดียว ท่านทั้งหลายควรจะสนใจต่อประโยชน์สูงสุดที่หลุดพ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย หลุดพ้นจากภยันตราย ภัยพิบัติ หลุดพ้นจากกิเลสสาสวธรรมทั้งหมด ประโยชน์นั้นท่านเรียกว่า "นิพพาน"
    นิพพาน คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ แห่งกิเลส หรือกิเลสแห่งกองทุกข์ นิพพานเป็นความเย็น เพราะกิเลสและกองทุกข์เป็นความร้อน เมื่อใดดับความร้อนจากกิเลสและกองทุกข์ได้ เมื่อนั้น นับว่าผู้นั้นได้ถึงพระนิพพาน

    พระนิพพานนั้น ท่านจำแนกเป็น ๓ ประการด้วยกัน
    ประการแรก คือ ตทังคนิพพาน เป็นความสงบ ความดับ ความเย็นชั่วครั้งชั่วคราว
    ที่สอง เรียก วิขัมปนะนิพพาน เป็นความดับ เย็นตัดกิเลส และกองทุกข์ได้ตามกำลังฌานสมาบัติที่ยังผู้ปฏิบัติได้แล้วถึงแล้ว ย่อมมีความสงบ ความดับความเย็นนานกว่าตทังคนิพพาน
    อันดับที่ ๓ ซึ่งเป็นนิพพานอันสุดยอด ท่านเรียกว่า สมุจเฉทนิพพาน เป็นนิพพานที่ดับ ที่เย็น ที่สงบจากกิเลสาสวธรรม จากกองทุกข์โดยเด็ดขาด ไม่เกิดกิเลสและกองทุกข์ต่อไปอีก
    อันนี้เป็น ปรมัตถประโยชน์ คือประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ พระนิพพาน ประโยชน์ในปัจจุบันก็ดี สัมปรายภพคือชาติหน้าก็ดี ได้ประโยชน์อย่างยิ่งก็ดี จะเกิด จะเป็น จะมีขึ้นได้ก็ต้องอาศัยต้นเหตุ คือ ปัจจัตธรรมปฏิบัติ

    ฉะนั้น ท่านผู้ฟังทั้งหลาย เมื่อท่านได้ฟังแล้วจงเก็บกำใส่ใจ น้อมนำไปนึกไปคิดไปปฏิบัติตาม โดยที่เราทั้งหลายปรารถนาแต่ความสุขความเจริญ ก็จงตั้งใจประกอบเหตุแห่งความสุขความเจริญอันเป็นในปัจจุบัน ในอนาคตตลอดถึงประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพานอย่างที่กล่าวแล้ว
    อีกประการหนึ่ง ท่านทั้งหลายในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นนักศึกษา และปฏิบัติเป็นชาวพุทธผู้มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นเจ้าของศาสนา เป็นผู้ที่แน่ใจหนักแน่นในเหตุในผล ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ท่านทั้งหลายจงเก็บกำข้อธรรมะไว้ประจำจิตประจำใจ ธรรมะที่ควรตั้งไว้ในจิตในใจนั้น
    ท่านแสดงไว้ถึง ๔ ประการด้วยกัน

    ข้อ ๑. ปัญญา ความรอบรู้
    ข้อ ๒. สัจจะ ความจริงใจ คือ ประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
    ข้อ ๓. จาคะ สละสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ และ
    ข้อ ๔. อุปปสมะ สงบใจจากสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความสงบรวมเป็น ๔ ประการด้วยกัน

    ท่านทั้งหลาย ธรรมะ ๔ ประการนี้ ท่านเรียกว่า อธิษฐานธรรม คือ ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ มี ๔ อย่างตามใจความที่ได้กล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายจงเก็บกำรักษาไว้ในจิตในใจ เสมือนของดีวิเศษของตนแต่ละคน ๆ อย่าให้ตกเรี่ยเสียหาย ท่านทั้งหลายก็จะเป็นผู้ที่เรียกว่า เป็นนักบุญหรือเป็นนักศีลนักบุญ เป็นนักธรรม มีศีล มีบุญ มีธรรมะมากเก็บฝังไว้ในจิตในใจเสมอไป

    ท่านทั้งหลายจะอยู่ที่ไหน จะไปอย่างไร จะเป็นหรือตายอย่างไร ถ้าท่านทั้งหลายมีธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้ ตั้งอยู่ในจิตในใจแล้ว ท่านทั้งหลายจะได้อยู่เย็นเป็นสุข ถึงแม้จะดับจิตถึงจุดจบไป ท่านทั้งหลายก็จะได้ไปสู่สุคติที่ดี ที่นับว่าเป็นโอวาท คำสอนของพระพุทธเจ้าที่อาตมาได้จำมา นำมาถ่ายเทให้แก่ท่านทั้งหลายที่เดินทางมาแต่ไกล ต้องการสัจจะ

    อาตมาได้นำเอาโอวาทของพระพุทธเจ้า และคุณธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ ประการ มาอธิบายพอเป็นใจความให้ท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟัง ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา

    ฉะนั้น ในอวสานกาลเป็นที่สุดนี้ อาตมาขอแสดงความขอบคุณท่านทั้งหลายที่ได้ตั้งจิตตั้งใจมา ทั้งขออาราธนาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันสถิตอยู่ในสากลโลกทั้งหมดจงช่วยดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายได้นิราศ ปราศจากเสียซึ่งความทุกข์เศร้าโศก โรคภัยไข้เจ็บ อุปสรรคภยันตรายพิบัติในชีวิตทุกประการตั้งแต่บัดนี้ วันนี้เป็นต้นไป

    ขอให้ท่านทั้งหลายจงมีความสุขกายสบายจิต แม้แต่นึกคิดปรารถนาสิ่งใดที่เป็นไปโดยชอบแล้ว ขอให้ความปรารถนาของท่านทั้งหมด จงเป็นผลสำเร็จตามจุดประสงค์มุ่งหมายของท่านทั้งหลายทุก ๆ ประการ และทุก ๆ ท่าน..เทอญ

    บริษัท : สาธุ
    ไพเราะ..วิจิตร ! ท่านเคยได้ยินได้ฟังโอวาทที่จับใจอย่างนี้ไหม พึงระลึกไว้ด้วยว่าโอวาทนี้ไม่ได้แต่งได้เตรียมไว้ก่อนเลย ยังสละสลวย นุ่มนวล เยือกเย็น ผิดกับวาทะของพวกพระเดินขบวนเป็นไหน ๆ อย่างนี้ให้ "ป่อง" นั่งประดิษฐ์ถ้อยคำอยู่สัก ๓ ปี เห็นจะสวยงามไม่ถึงครึ่งของท่าน เอ๊ะ หรือว่าท่านเป็นปฏิสัมภิทาญาณด้วย ถึงเทศน์ได้เก่ง น่าจะเป็นไปได้น่ะ อย่างนี้กระมังที่เขาเรียกว่า "อาเทศนาปาฏิหาริย์"

    เมื่อมาถึงวัดนี้ สังเกตได้ว่าหลวงพ่อลิงดำท่านเปลี่ยนลีลาไปจาก ๒ วัดแรก ซึ่งท่านใช้วิธีถามตอบด้วยปฏิภาณอย่างเดียว มาถึงที่นี่เปลี่ยนเป็นขอให้ท่านสอน "ป่อง" เดาเอาว่า เนื่องจากความก่อนโน้น หลวงพ่อฤาษีท่านเล่าไว้ว่าครูบาพรหมนี้เทศน์แต่สังโยชน์ ๕ คราวนี้เลยอยากจะดูว่าเทศน์แค่ไหน ได้คำตอบมาสมความประสงค์คือเทศน์ถึงพระนิพพาน เมื่อเสร็จโอวาทแล้วคณะก็ถวายปัจจัยทำบุญ ท่านก็ให้พรอีก
    “บัดนี้..วันนี้เป็นวันมงคลอันสูงส่ง บัดนี้คณะสามัคคี จังหวัดอุทัยธานี ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งใหญ่ ทั้งเด็ก ด้วยการนำของท่านพระมหาวีระ ถาวโร วัดท่า….อะไรวะ? (เสียงฮา)

    ทั้งคณะกรุงเทพมหานคร ก็ได้มาเป็นสามัคคีกัน ได้พร้อมใจบริจาคจตุปัจจัยไทยธรรม เป็นจำนวน ๔,๑๒๐ บาทใช่ไหม? โดยที่มีจุดประสงค์มุ่งหมายจะสมทบทุนในการก่อสร้างพระอุโบสถ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ซึ่งกำลังทำอยู่นี้ บัดนี้ อาตมาภาพก็ได้รับเอาไว้แล้ว จึงขออนุโมทนาด้วยกุศลเจตนาอันดีของท่านทั้งหลายในโอกาสนี้

    โดยผลานิสงส์ที่ท่านทั้งหลายต่างก็มานมัสการ ได้สังสรรสนทนาสดับโอวาทคำสอน ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังได้บริจาคปัจจัยเงิน ๆ ทอง ๆ ซึ่งเป็นของรัก ของชอบใจ ของหวงแหนที่สุดของท่านทั้งหลาย ออกบริจาคช่วยในการก่อสร้างครั้งนี้ด้วย นับว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินตามวิสัยของนักปราชญ์ชาติบัณฑิตที่ได้ทำมาแล้ว

    ฉะนั้น จึงขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย บุญกุศลแห่งการบริจาคของท่านทั้งหลายในกาลวันนี้ จงเป็นปัจจัยค้ำจุนท่านทั้งหลายไปทุกลมหายใจเข้าออก ขอให้ท่านทั้งหลายจงมีความสุข แม้จะประกอบกิจการงานในหน้าที่ก็ดี จะทำนา จะค้าขาย จะทำไร่ ทำสวน ทำราชการหรือทำอะไร สารพัดอย่าง ตามหน้าที่ของท่านทั้งหลาย

    ขอให้มีความเจริญ มีความสุข มีกำไร เป็นคนมั่งมีขึ้นทุกวันทุกคืน ในประโยชน์ปัจจุบัน ขอให้สมดังความประสงค์ แม้ประโยชน์ชาติหน้าหรือประโยชน์อย่างยิ่ง คือ นิพพาน ก็ขอบุญกุศลอันนี้ จงเป็นปัจจัยส่งเสริมไปตลอดทุกภพ ทุกชาติ สิ้นกาลนานทุก ๆ ท่าน..เทอญ

    เห็นไหม..ไพเราะจริง ๆ หลวงพ่อฤาษีบอกว่ายั้งงี้แหละ ทีแรกออกท่าทางก่อน ต่อมาก็ค่อยๆ ขยาย ๆ ลงท้ายคุยกันสนุกไม่ยอมให้กลับ มาเที่ยวนี้ก็เช่นเดียวกัน เริ่มขยาย “วัดท่า….อะไรวะ?” ออกมาแล้ว แล้วก็เริ่มจับไม้จับมือหลวงพ่อของเรา นัยว่าชักสนุกแล้ว แต่เสียดายจะเพลอยู่แล้วก็เลยต้องนมัสการลาออกมาที่ตลาดลำพูน ถวายเพลหลวงพ่อหัวหน้าคณะ

    พูดถึงหลวงพ่อฤาษีลิงดำ หัวหน้าคณะ และอาจารย์ของเรานี้ ความจริงท่านก็มีลักษณะเหมือนท่านพระครูพรหมจักรสังวรอยู่ ในเรื่องของการพูดโดยไม่ต้องเขียนเป็นหนังสือไว้ก่อน ยกเว้นแต่หนังสือ “คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน” เล่มเดียว นอกนั้นว่าปากเปล่าโดยตลอด (หนังสือบางเล่มก็ ๒๐๐ กว่าหน้า) เรียกว่าไม่เบาเหมือนกัน สำหรับท่านองค์นี้ หลวงพ่อบอกว่าอภิญญาไวมาก..
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ตอนที่ ๖

    หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร

    แห่งวัดดอนมูล และวัดป่าดอนมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่



    องค์นี้ภายหลังหลวงพ่อฯ ของเราเปิดเผยว่า เคยเป็นพี่ชายของท่านมาหลายชาติแล้ว ท่านเป็นคนใจบุญ ได้ทรัพย์ได้สมบัติมาเท่าใดก็ไม่สะสม เทออกทำบุญจนหมดสิ้น ทำบุญจนหมดตัวเหมือนกับท่านมหาทุกขตะยังไงยังงั้น แต่จริงๆแล้วสมัยเดิมโน้น...โน้น...โน้น ท่านเคยมีชื่อว่า “ท่านทุกขิตะ หรือ ท่านทุพภิกขะ”

    เพราะฉะนั้นเมื่อประสบพบกัน ทั้งสององค์ก็คุยกันกระหนุงกระหนิง แต่โน่นแน่ะเป็นเรื่องราวสมัยพระเจ้าพรหมมหาราช มีโต้มีเถียงกันกระจุ๋มกระจิ๋มบ้างเรื่องยุทธการสมัยนั้น (แล้วพวกผมจะไปรู้เรื่องเรอะ..!)

    ตอนที่กำลังคุยรู้เรื่องกันเพียง ๒ องค์ ต่างองค์ก็แสดงทัศนะในเรื่องรายละเอียดของมหายุทธวิธีในยุคที่ว่านั้น หลวงปู่ว่าถ้าหลวงพ่อเชื่อท่าน ทำตามที่ท่านคิด เหตุการณ์จะเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อฯก็ว่าท่านมีเหตุผลที่ดีกว่านั้น ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นไปอย่างโน้น เฮ้อ ดีครับดี รู้เรื่องกันเพียง ๒ องค์ ตาเถรเณรยายชีไม่มีใครรู้เรื่อง บางตอนหลวงพ่อฯ ท่านก็หันมาถามท่าน พล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์ ที่พวกเรามักจะเรียกท่านว่า "ท่านเจ้ากรมเสริม" หรือ "ลุงเสริม" นั่นแหละ

    (ท่านที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน จะไม่มีวันทราบเลยว่าท่านเป็นนายทหารใหญ่ครองยศถึงพลอากาศโท และเป็นเชื้อพระวงศ์ถึงหม่อมราชวงศ์ เพราะท่านวางตัวเป็นกันเอง มีเมตตาต่อพวกเราทุกคนเหมือนลูกเหมือนหลาน ไม่ถือเนื้อถือตัว ให้เกียรติและยกย่องผู้อื่น ยิ่งท่านทำตัวเป็นกันเองกับพวกเราเท่าใด พวกเราก็ยิ่งให้ความเคารพท่านมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งท่านทำตัวเล็กลงเท่าใด ก็ดูเหมือนตัวท่านจะยิ่งโตใหญ่ขึ้นๆ เป็นทวีคูณ ท่านผู้นี้หลวงพ่อฯ ว่าเป็นเพื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านมาทุกยุคทุกสมัย)

    สมัยนั้นหลวงปู่ฯ ท่านกำลังหนีคนไปสร้างวัดใหม่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดเดิมซึ่งเริ่มไม่สงบ ท่านเรียกว่า “วัดป่าดอนมูล” ผมเคยท้วงติงโดยถามท่านว่าด้านหลังวัดอยู่ติดลำห้วย มีป่าโปร่งๆ อยู่นิดหน่อยกระหรอมกระแหรม ไหงหลวงปู่ตั้งชื่อเสียน่ากลัวว่า "วัดป่า"

    ท่านว่าป่าที่เอาเป็นชื่อวัดนั้นไม่ได้หมายความตามอย่างที่ผมเข้าใจ ท่านหมายถึงป่าช้าต่างหาก เพราะเดิมที่ตรงนั้นเป็นป่าช้า ไอ๊หยา! เป็นอันว่าที่ท่านตั้งชื่อว่า “ป่า” ไม่ใช่เพื่อเพิ่มความขลังให้กับสถานที่ แต่เพราะเดิมมันเป็นป่าช้า ได้ตัดคำว่า “ช้า” ออกไปเพราะเกรงว่ามันจะน่ากลัวเกินไปต่างหาก พอรู้แล้วผมก็หมดกังขาว่าเวลาวิกาล หลวงปู่ฯจะต้องได้ความสงบวิเวกอย่างเต็มที่เพราะท่านเข้าไปจำวัดอยู่ในป่าช้า คงไม่มีใครกล้าเข้าไปรบกวนหรอกครับ บรื๊อ...!

    และแล้ววันหนึ่งกรรมของผมก็มาถึง จำไม่ได้ว่าหลวงพ่อใช้ให้ไปหาเรื่องอะไร ก็ไปกันหลายคนกับรุ่นน้องๆ นี่ละครับ สมัยนั้นกำลังหนุ่มแน่น (ผมนะหนุ่มใหญ่ แต่น้องๆ เพิ่งจะสอนขัน แต่เพราะเพิ่งจะสอนขันก็เลยอยากจะขันบ่อยๆ)

    ดังนั้นแทนที่พวกเราจะรีบไปทำธุระให้หลวงพ่อ เจ้าลิงพวกนี้ก็เลยแวะโน่นแวะนี่ (ไม่เห็นเจ้าเห็นหลังคาบ้านเจ้าก็ชื่นใจแท้) เที่ยวกันจนดึกดื่น พอเลี้ยวควับเข้าเข้าไปที่วัดนอก (วัดดอนมูล) กะนอนที่วัดนอก ตายแล้วหลวงพี่ที่เราคุ้นเคยก็ไม่อยู่ หลวงปู่ก็ไปจำวัดอยู่ที่วัดป่า (ก็ที่ป่าช้านั่นแหละคุณ..!)


    ใครจะกล้าตามเข้าไป หือ..ทั้งเปลี่ยวทั้งน่ากลัว หนทางก็รกชัฎไม่มีบ้านคน หาข่าวได้มาเพิ่มเติมอีกว่า รุ่งขึ้นแต่เช้าหลวงปู่ก็จะไม่อยู่จะเข้ากรุงเทพฯ แต่เช้ามืด ทำอย่างไงดี
    เอาละวา..สู้ตาย มากันหลายคนนี่หว่าจะไปกลัวอะไร เอ็ม ๑๖ ในรถก็มีหลายกระบอก ผมเป็นหัวหน้ารับผิดชอบอยู่แล้วใครๆ ก็เชื่อมือ หลับกรนคร่อกๆ กันทุกคน (ก็คงจะเพลียนั่นแหละ) ผมก็เลี้ยวซ้ายขวาด้วยความชำนาญ ในใจนึกดูหมิ่นว่าป่าขนาดแค่นี้จะมีอะไร ไม่พอมือพอขี้ยา ป่าดงดิบแถมยังเต็มไปด้วยกับระเบิดพ่อยังฝ่ามาเสียหลายสมรภูมิ ป่าใกล้ๆ แค่นี้ไม่พอมือพอตีนลูกช้างหรอก (ขี้โม้ประจำเลยผมนี่)
    ผมขับอยู่นาน เอ๊ะ! ไหงมันนานนักไม่ถึงเสียที มันน่าจะถึงตั้งนานแล้วนี่นา??? ง่วงก็ง่วง รำคาญเสียงกรนก็รำคาญเพราะก็อยากจะนอนเต็มแก่เหมือนกัน แต่เอ๊ะๆ นั่นรอยรถบนถนนข้างหน้าทำไมมันถึงได้เหมือนกับล้อรถเราจัง จอดลงไปดูซะหน่อย ฮี่ธ่อก็จะไม่เหมือนได้ไง๊ ก็มันคือรอยล้อรถของเราเองไม่ใช่ของใครอื่น ตาย...หลงว่ะ หลงทาง รู้ไปถึงไหนอายตาย...

    ดีแล้วที่พวกน้องๆ มันยังหลับไม่รู้ว่าเราพาหลงทาง จอดรถข้างทางคว้าปืนคว้าไฟฉายลงไปดูลู่ทาง มองไปแต่ไกลเห็นหลอดไฟแดงๆสูงระดับยอดตาลอยู่ ๒ หลอดไม่ไกลนัก เออค่อยยังชั่วน่าจะเป็นอะไรๆสักอย่างที่มนุษย์ทำขึ้นเพื่อล่อแมงดาหรือไล่ค้างคาวหรือนกกลางคืนอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไปที่ตรงนั้นก็คงจะได้พบคนจะได้ถามทาง

    กลับมาขึ้นรถอีกคราวนี้ไม่ไปตามทางแล้ว สังเกตเอาทิศจับเอาทางที่เห็นหลอดไฟแดงแล้วมุ่งตรงเข้าไปหา พอเข้าไปใกล้ เอ้า! ไฟหายไปอีกแล้ว ลงจากรถอีก ไฟฉายท่านก็ไม่เป็นใจเหลือไฟอยู่ริบหรี่ นี่ขนาดเป็นไฟฉายในรถของท่านนายพลเอกในอนาคตนะ (รถขอยืมไปจากท่าน พล.อ. ชวาล กาญจนกูล สมัยนั้นท่านยังเป็น พ.อ.) เดินย่องเข้าไปสำรวจเห็นลำตาลคู่ทะมึนอยู่ตรงหน้า

    คะเนว่าต้องเป็นเสาที่เขาแขวนหลอดสีแดงที่เห็นมาก่อนหน้านั้น เดินเข้าไปจนห่างซักประมาณ ๕ วา เอาไฟฉายส่องดู ใจหายแว้บ!!! ไอ้เวร...ไม่ใช่ลำตาลนี่หว่า ดูๆ มันคล้ายกับหน้าแข้งคน ถอยห่างมาอีก ๕ ก้าว กลั้นใจส่องไฟฉายไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ โอ๊ย...กูว่าแล้ว เปรตโว๊ย..เปรต ยืนทะมึนนัยน์ตาแดงโร่คร่อมทางอยู่ตรงหน้า โกยแน่บกลับมาที่รถแหกปากร้องเรียกน้องๆ ให้ตื่น เปรตมันจะมาเหยียบกบาลพวกมึงแล้วไม่รู้หรือ..ชุลมุนกันไปหมด

    พอมีสตินึกขึ้นมาได้ยกสองมือประนมขอให้พระช่วย แล้วตัดสินใจหันหัวรถเอาไฟรถส่องดู อ้าว...หายไปแล้ว เอ๊ะ! แล้วไอ้ตรงที่เห็นว่าเป็นขาของมันยืนคร่อมอยู่นั้น แต่ถัดออกไปหน่อยคือประตูเข้าวัดป่านั่นเอง รอดตายแล้วกู..กระทืบคันเร่งเลี้ยวควั๊บ..เข้าไปเลย จอดลงตรงหน้ากุฏิ

    หลวงปู่ยืนยิ้มเผล่รอรับอยู่ที่ระเบียง ไอ้ทะโมนทั้งสี่ตัวเผ่นผลุงเข้าไปในกุฏิ จับกลุ่มนั่งกอดเข่าตัวสั่นงก ไม่พูดไม่จากว่าจะตั้งสติพอมีสตังค์ได้จึงหันไปกราบหลวงปู่ฯ ท่านทำหน้าตายถามว่าไปทำอะไรมา หนาวเหรอ ธ่อ...หลวงปู่ฯ นะหลวงปู่ฯ แกล้งทำเป็นมาถาม ไม่เห็นเร๊อะ..ขี้อยู่บนหัวขมองกันทุกคน

    คราวนี้ต่างคนก็ต่างอ้อนซิ คนโน้นก็เห็นคนนี้ก็เห็น กูเห็นมึงเห็น เห็นกันทุกคน ชิงกันเล่าน้ำไหลไฟแล่บ หลวงปู่ก็เอาแต่หัวเราะหึๆ ไล่ให้พากันไปอาบน้ำ แต่แหม..ทีนี้หยุดเล่าเงียบกริ๊บ อิดๆ เอื้อนๆ กลัวหนาวกันไปหมดไม่มีใครยอมไปอาบน้ำ (กลัวหนาวนะครับไม่ใช่กลัวผี) แถมเมื่อไม่ยอมอาบน้ำอ้างว่าหนาวและง่วงนอน แต่เมื่อจะนอน หลวงปู่ฯยังต้องยอมตกลงให้ไอ้พวกลิงทะโมนนอนเบียดสุมหัวกันในกุฏิหลวงปู่ฯ ทุกคน

    ภายหลังหลวงปู่ฯ ท่านก็เล่าให้หายสงสัยว่า ที่เห็นนั้นน่ะ..ไม่ใช่เปรต แต่เป็นยักษ์ที่เขารักษาสถานที่วัดป่าอยู่ เอาเถิดครับหลวงปู่ฯ ไม่ว่าจะเป็นเปรตหรือไม่เปรต ยังษ์หรือไม่ยักษ์ พวกผมก็ไม่อยากได้ไม่อยากเห็นทั้งสองอย่างนั่นแหละครับ โปรดเรียกให้เขาไปอยู่ที่อันควรส่วนของเขาเถิด

    ในส่วนลึกของใจผมนั้นผมคิดเอาเองนะครับว่า หลวงปู่ฯจะต้องมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจอย่างแน่นอน บางทีอาจจะเป็น “ตัวการ” ทีเดียวแหละที่ส่ง “คุณตาแดง” ตนนั้นออกไปดัดสันดานพวกผมที่อยากเอาแต่เที่ยวเอาแต่เถลไถลจนเกือบจะเสียงานของหลวงพ่อฯเป็นแน่

    เรื่องที่พวกเราเห็นนี้ หลวงปู่ฯ ท่านเตือนผมหลายครั้งหลายหน ห้ามไม่ให้เล่าให้ใครฟัง ท่านว่าเขาไม่เชื่อเราเขาจะหาว่าเราบ้า แต่ผมก็อดไม่ได้แอบเล่าให้พวกกันจริงๆ ฟังไปหลายคน โดยได้พยายามเลือกคนที่จะฟังเลือกแล้วเลือกอีก กลัวเขาจะหาว่าบ้าน่ะซิครับ !! (แค่ไม่ได้เล่าเรื่องนี้ พวกเขาก็ว่าอย่างนั้นอยู่แล้ว ก็ว่าบ้านะซีครับ..
    ถามได้)
    ________________________________________

    หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร
    (วัดป่าดอนมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่)

    นามเดิม - คำแสน เพ็งทัน เป็นบุตรของนายเป็งและนางจันทร์ตา เพ็งทัน

    เกิด - วันอังคารที่ ๓o เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ ปีมะเมีย ที่บ้านสันโค้งใหม่ ตำบลทรายมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

    บรรพชา - เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ อายุ ๑๗ ปี ที่วัดดอนมูล มีครูบาโพธิ วัดสันโค้ง เป็นพระอุปัชฌาย์

    อุปสมบท - เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ณ วัดดอนมูล โดยมีครูบาโพธิ วัดสันโค้ง เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาพิมพิสาร วัดแช่ช้าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

    อุปนิสัย - หลวงปู่คำแสนมีอุปนิสัยเยือกเย็น อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ผู้ที่ได้รับฟังธรรมจากท่านแล้วก็หายทุกข์โศก ท่านได้เสริมสร้างคุณงานความดีทั้งที่เป็นอัตประโยชน์ และปรหิตประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการ

    มรณภาพ - วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เวลา ๑๐.๑๒ น. สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี พรรษา ๖๔

    .......................................

    จากหนังสือล่าพระอาจารย์

    ผู้ลอกเทป - ป่อง โกษา (พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์)


    ........วันที่ ๒๘ มกราคม เริ่มต้นด้วยการไปนมัสการหลวงปู่คำแสนเป็นวาระแรก หลวงปู่องค์นี้ความจริง ว่า จะนมัสการท่านเมื่อครั้งมานมัสการครั้งที่ ๑ แต่ว่าตารางกำหนดเวลากระชั้นเกินไป เลยต้องข้ามรายการนี้ พึ่งจะมาได้ฤกษ์ในคราวนี้แหละ ต่อไปเป็นการสนทนาถอดจากเทป และแปลงเป็นภาษาไทยกลางแล้วละ

    หลวงปู่คำแสน (ค) : ตอนนี้มันป่วย จิตใจก็ไม่ค่อยดีจวนจะไปอยู่โรงพยาบาลอยู่แล้วละ
    หลวงพ่อฤาษี (ฤ) : เป็นยังไงครับหลวงพ่อ
    ค. : มันป่วยทางแข้งทางขา จะไปเจาะไปผ่าหมอเขาบอก ใจมันก็ไม่ค่อยสนุก เขานิมนต์ไปนั่นไปนี่ มันก็ไม่ค่อยได้ไป
    ฤ. : ตัวป่วย ใจป่วยด้วยหรือเปล่าครับ?
    ค. : ฮึ กายป่วย ใจก็ป่วยด้วย
    ฤ. : (หัวเราะ) ฮึฮึ
    ค. : กายไม่ดี จิตใจมันก็ไม่ค่อยดี บางทีก็ดีอยู่ พิจารณามันอยู่
    ฤ. : แล้วยังนึกว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเราหรือเปล่าครับ
    ค. : อือ อือ อือ ไม่เป็นหรอก มันเป็นธรรมชาติ ธรรมดาของมัน อาศัยมันอยู่
    ฤ. : ครับ ๆ ๆ ๆ ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อาศัยมันอยู่ เวลามันจะพัง ก็ซ่อมมัน
    ค. : ก็ซ่อมมัน
    ฤ. : ถ้าซ่อมไม่ไหว เอาไฟเผาเลยซิครับ
    ค. : ไฟเผามันก็เป็นเศษไปซิ (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ดีใจครับมาพบหลวงพ่อวันนี้ ติดตามาหลายวันแล้วครับ ก่อนก็มา ไม่มีโอกาส
    ค. : ฮือ หลวงพ่อได้ยินข่าวมาครั้งหนึ่ง มาหาหลวงปู่แหวนหรือไงนี่
    ฤ. : ครับ ๆ จะมาที่นี่เหมือนกัน ไม่มีเวลา
    ค. : เวลาคราวนั้นหลวงปู่ก็ไม่อยู่ ไปเชียงราย (ยังงี้แทบทุกที พวกศิษย์เขาก็ว่าหลวงพ่อรู้ละมั้งว่าไปหาก็ไม่พบ เลยสั่งให้เลยไปเสียเฉย ๆ)
    ฤ. : ไปถามหลวงพ่อสิมว่าหลวงปู่อยู่ไหม หลวงปู่แข็งแรงรึ หลวงพ่อสิมบอกว่า หลวงปู่ยังแข็งแรงครับ
    ค. : อ้าว แข็งแรง ! ก็ขามันเสีย
    ฤ. : ไม่ใช่ เห็นหลวงปู่แหวนท่านไม่ค่อยจะไหว
    อ. : เออ นั่นเขาคนขี้โรค
    ฤ. : ถามว่าหลวงปู่แข็งแรงดีหรือ บอกว่าหลวงปู่ยังแข็งแรงดีอยู่ครับ หายากครับ เวลานี้ ที่หายากก็ เพราะเขาติดกระดาษกันเสียหมด (คือกระดาษที่เป็นแบงค์) (เสียงหัวเราะ) พวกนี้เขาเบื่อพระติดกระดาษครับ หลวงปู่มาก็ไม่ติดขันธ์

    ค. : ก็ติดกระดาษเสียก่อนเน้อ (เสียงหัวเราะ)ฤ. : อ้าว ก็ธรรมดาครับ ตอนแรก ถ้าไม่เห็นโทษของกระดาษ มันก็ละไม่ได้
    ค. : อือ อาศัยกระดาษ อาศัยละกระดาษ
    ฤ. : ครับ ๆ ถ้าเราไม่มีกระดาษ เราก็ไม่รู้กระดาษมันดีหรือไม่ดี
    ค. : เอ เวลาหยิบใบลานหรือกระดาษในแสนใบล้าน มันเป็นธรรมชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องของโลก ผู้ใดทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่วนะ
    ฤ. : ครับ ๆ
    ค. : เออ ปฏิบัติจนจบศาสนาแล้ว ธรรมก็มีในเรานี่ ศีลก็มีในเรานี่ ภาวนาก็มีในเรานี่ พระพุทธ พระธรรมก็มีในเรานี่นะ
    ฤ. : ครับ ๆ
    ค. : เออ มีในเรานี่หมดแหละ ไปเอาที่ไหนอื่นไม่ได้หรอก จะอยู่กับกระดาษ อยู่กับใบลานได้ไง
    ฤ. : (หัวเราะ) ธรรมอยู่ที่ใบลาน อยู่ที่กระดาษเจ๊งเลย
    ค. : เออ
    ฤ. : แหม ดีใจครับ พระสายเหนือนี่ยังมีสุปฏิปันโน สำหรับไหว้อยู่หลายองค์ ชื่นใจ
    ค. : ฮือ (หัวเราะ)

    (บริษัท - รู้สึกว่าท่านยิ้มเก่ง..หัวเราะเก่ง..น่ารัก)

    ฤ. : ตะกี้เลยขโมยไปชมกุฏิหลวงปู่ข้างในครับ
    ค. : เออ..ที่นั่นมันแคบ อยู่องค์เดียวก็ทำเล็ก ๆ อยู่
    ฤ. : ครับ ๆ สงัดดีครับ
    ค. : เออ..คนแก่ก็งั้นแหละ อยู่ไกลไม่ได้ จะหากินอาหารไว้ใส่ปากใส่ท้องมันลำบาก
    ฤ. : แต่ว่ากลางคืนสงัดดีนะครับ กลางวันก็รู้สึกว่าจะไม่มีใคร
    อ. : อากาศดี อ้อ มาจากกรุงเทพฯ รึ?
    ฤ. : กรุงเทพฯ ครับ
    ค. : มานอนพักอยู่ไหนล่ะ
    ฤ. : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ บ้านอาจารย์ปริญญา
    ค. : ดร.ปริญญาหรือ เคยไปสวดมนต์ให้เขา ให้หลวงปู่ขึ้นไปพรมน้ำมนต์ข้างบน
    ฤ. : หลวงปู่แก่แล้ว ให้ไปพรมน้ำมนต์ก็แย่
    ค. : สวดกับหลวงพ่อสิม ๒ คน ประน้ำมนต์ทั้งข้างล่างข้างบนอ้า (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ไอ้พวกนี้มันแกล้งพระแก่
    ค. : ฮือ แก่ยิ่งใช้ใหญ่
    ฤ. : จะว่าเขาก็ไม่ได้ ยังงี้ เขาเรียกว่าของเก่า (เสียงหัวเราะ)
    ค. : เขาว่าของเก่าดีหรือ
    ฤ. : ครับ ๆ เราเก่าละลูกศิษย์แย่ เขาบอกว่าเก่าเขายิ่งใช้ใหญ่
    ค. : ส่วนมากเขาหาของเก่าน่ะ ของใหม่เขาก็ไม่ชอบ ก็เป็นธรรมชาติของเขา
    ฤ. : จะไปว่าเขาก็ไม่ได้
    ค. : หลวงพ่อสิม อาจารย์บัวว่า เอ เขาจะตายแล้ว เขาจะใช้จนตายละ
    ฤ. : เวลามันใกล้ตาย ถ้าเขาไม่ใช้เขาไม่มีโอกาสจะใช้ เพราะตายเสียแล้ว
    ค. : อื่อ มันธรรมดา
    ฤ. : เมื่อก่อนเคยพบพระ ท่านแก่จะเข้าป่าช้าแล้ว เขาก็นิมนต์ทาน นิมนต์ท่าน ท่านก็ไปไม่ไหว กลับมานอน บอก เออ เมื่อหนุ่ม ๆ จะให้นิมนต์ก็ไม่นิมนต์ แก่จะตายห่าแล้วมานิมนต์ ไม่ไปมันก็ไม่ยอม ก็เลยบอก หลวงปู่เดี๋ยวนี้เขาเล่นของเก่ากัน ก็ตอบ เออ จริงวะตอนหนุ่ม ๆ กำลังบ้ามาก มันก็เลยไม่เอา

    ค. : ตอนหนุ่ม ๆ บ้าอยู่นะ
    ฤ. : ครับ ๆ ตอนหนุ่ม ๆ มันติดกระดาษนี่ครับ ไอ้เจ้าของบ้านก็ติดกระดาษ กระดาษเขามีแล้วเขาก็เลยไม่เอา แหมที่นี่ก็เงียบ วัดนี้สร้างนานแล้วหรือยังครับ
    ค. : นานครับ กว่า ๑๐๐ ปี
    ฤ. : ก่อนหน้าหลวงปู่มา?
    ค. : อือ องค์ที่เป็นช่างก็เสียชีวิตเสียแล้ว มรณะไป เดิม อยู่ไหน ?
    ฤ. : อ้า...กระผมอยู่วัดบางนมโค อยุธยา ครับ เดิมน่ะบ้านนอก แล้วเข้ากรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้ออกมาบ้านนอกอีกครับ จังหวัดอุทัย ในกรุงเทพมันดีมากไป เลยอยู่ไม่ไหว
    ค. : อือ..มันดีเหลือเกินไป
    ฤ. : ครับ..ดีเหลือเกินไป ดีเกินดี อยู่ข้างนอกสงัดกว่า
    อ. : อาหารการกินก็กินง่าย กินผัก กินทั้งนั้น
    ฤ. : ก็กินเท่าไรก็แก่ กินเท่าไรก็ป่วย กินเท่าไรก็ตาย อาหารแบบไหนกินแล้วก็มีค่าเท่ากัน
    ค. : เออ
    ฤ. : กินเพื่อตาย ไม่ใช่กินเพื่ออยู่ ใช่ไหมครับหลวงปู่
    ค. : เออ กินแล้วก็ตายทั้งนั้น มันจะเที่ยงอะไรธรรมชาติมันเป็นยังงั้น ทำไปปฏิบัติไป ทำเงินก็เอาไปไม่ได้ เงินหมื่น ก็เอาไปไม่ได้ เงินแสนก็เอาไปไม่ได้ มันของโลก
    ฤ. : เป็นของโลก เอาเขาไปได้ที่ไหน
    ค. : อือ เป็นของโลก เอาเขาไปไม่ได้ รูปร่าง ร่างกายเอาไปไม่ได้ อาศัยปฏิบัติทำบุญทำกุศลให้ได้มรรคนิพพานดีกว่านะ
    ฤ. : เอ..ทำไงจะได้มรรคผลนิพพานล่ะครับ หลวงปู่
    ค. : ทำไปซี ปฏิบัติทางจิตให้มันไม่ดีน่ะ
    ฤ. : เอ..เดี๋ยว ๆ ๆ ทำให้ใจมันไม่ดี?
    ค. : อือ..ทำให้ใจมันไม่ดี ใจมันไม่ดี จิตมันไม่ดี
    ฤ. : เอ๊ะ !
    ค. : ทำให้มันดี
    ฤ. : อ๋อ งั้นหรอกหรือครับ คิดว่าทำให้ใจมันไม่ดี ไอ้ทำใจให้ดี ทำไงมันจะดีได้ล่ะครับ?
    ค. : สมาธิ อย่างพระคุณเจ้า...
    ฤ. : อย่างชาวบ้านล่ะครับ?
    ค. : โอ๊ะ..มันยากอยู่ ดีนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ดีอยู่ ดีไม่มากหรอก
    ฤ. : ถ้าหากวันละนิด ๆ ก็เต็มได้
    ค. : เออ..เต็มได้ อย่างฝนตกใส่ตุ่ม ตกเรื่อยไป มันก็เต็ม ก็พระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าก็ทำอย่างนี้ละ ท่านก็เป็นปุถุชนมาก่อนเหมือนกันนี่ มีกิเลสเหมือนกันนี่
    ฤ. : เอ๊ะ...นี่พระพุทธเจ้าเกิดไหมมีกิเลสไหมครับ?
    ค. : พระอริยเจ้าเขามีกิเลส เขาก็ละกิเลส พวกเราก็อย่างเดียวกัน
    ฤ. : ถ้างั้นก็กินข้าวเหมือนกัน มีกิเลสเหมือนกัน
    ค. : กินข้าวเหมือนกัน ทำการทำงานเหมือนกัน หาอาชีพเหมือนกัน
    ฤ. : ถ้างั้นเราก็ทำได้เหมือนกัน
    ค. : ทำได้เหมือน แต่ทำแต่ที่ชอบ
    ฤ. : ถ้าเราทำเหมือนเขา?
    ค. : ทำเหมือนเขา จะได้ดีเหมือนเขา
    ฤ. : ทีนี้มันเกิดไม่ทันกันซีครับ ไม่ทราบเขาทำยังไง หลวงปู่ทราบไหมครับ ทำยังไงถึงเป็นพระอริยเจ้ากันได้?
    ค. : เขาทำดี เขาทำจริง ๆ
    ฤ. : วิธีทำจริง ๆ ทำไงครับ?
    ค. : ก็ต้องปฏิบัติตาม กำหนดจิต กำหนดตัดสังโยชน์ให้ได้ โสดา สกิทา อนาคา
    ฤ. : อีตอนที่จะได้โสดาทำไงครับ?
    ค. : ละกิเลสเสียซี (เสียงฮา)
    ฤ. : อันนี้ เพื่อชาวบ้านนะครับ ชาวบ้านเขาจะได้เข้าใจว่าวิธีที่จะทำให้ถึงพระโสดาบัน เอาเฉพาะโสดาบัน ปฏิบัติยังไงจะง่ายที่สุด เอาง่าย ๆ ย่อ ๆ อย่างชาวบ้านนะครับ พวกเรามันมีเวลานะครับ ชาวบ้านเขาต้องทำมาหากิน ทำไงครับ หลวงปู่จะเหนื่อยกระมังครับ ไอ้พวกนี้ คุยธรรมะแล้วมันชอบฟังครับ ไม่ชอบดูหนังกันหรอก (เสียงหัวเราะ)

    ค. : ทำนิด ๆ พอมีความสุข มีความเพียร มีความอดทน ตามคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า ทำอย่าให้ขาด
    ฤ. : เอาจุดสั้น ๆ ครับ ถ้าหวังจะได้พระโสดาบัน จุดง่ายที่สุด ทำไงจะดี
    ค. : หลวงปู่ก็รู้แล้ว ถามหลวงปู่ซี (เสียงฮา) เขาหมู่นี้ก็รู้กันแล้ว

    (อ้าว..! หมายจะไล่ว่าโสดาน่ะ ท่านเป็นหรือยัง กลับย้อนเอาเสียได้ว่าหลวงพ่อก็รู้แล้ว พวกเราก็รู้แล้วเสียอีกน่ะ)
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ฤ. : รู้แล้วหรือครับ?
    ค. : รู้แล้ว
    ฤ. : ก็..เพื่อความมั่นใจ ขาวแล้ว ก็ขัดให้เป็นเงาขึ้นครับ แหมเจอะพระฉลาดก็หนักใจ
    ค. : หนักใจเรอะ?
    ฤ. : เจอะพระโง่สบายใจ พระฉลาดนี่หนักใจครับ นี่ซี เขาเรียกสุปฏิปันโน
    ค. : ก็สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ก็หลัก ๔ หลัก ปฏิบัติเอาซี ก็พระอริยเข้าก็เหนือนี่ไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็เหนือนี่ไม่ได้ สุปฏิปันโน ปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ อุชุปฏิปันโน ให้ซื่อ ซื่อด้วยกาย ซื่อด้วยวาจา ซื่อด้วยใจ คนอื่นทำแทนไม่ได้นะ เอ้อ..ทำแทนกันไม่ได้ มรรค ผล นิพพาน เป็นธรรมอันเดียว

    ฤ. : คือว่าของใครของมัน
    ค. : ของใครของมัน ความมีศีล ก็บริสุทธิ์คนเดียว
    ฤ. : เป็นปัจจัตตังนะครับ
    ค. : เป็นปัจจัตตัง เฉพาะคน
    ฤ. : ใครทำ ใครได้
    ค. : เออ
    ฤ. : ทีนี้หลวงปู่ได้แล้วหลวงปู่รู้แล้วนี่ หลวงปู่แจกชาวบ้านเขาบ้างซีครับ
    ค. : ก็แจกอยู่นี่ แจกแล้ว จะเอามาก จะเอาไปถึงไหนล่ะ (เสียงฮา)
    ฤ. : เอานิพพานครับ
    ค. : อันนี้ก็จะหาย อันนั้นก็จะหาย
    ฤ. : ไม่ใช่ ได้มาก ๆ กันรั่วครับ รั่วนิดหน่อย จะได้เหลือพอใช้ อันนี้ชื่นใจ
    ค. : รู้มาก ยากนาน รู้น้อยก็พลอยรำคาญ (เสียงฮา) แหม ชอบใจหลวงปู่ ยังงี้ดี
    ค. : คุยกับหลวงปู่ก็สนุก (เสียงฮา) คล้าย ๆ มาเห็นกันเดี๋ยวเดียว ก็...

    (ป่องรู้สึกว่า พระที่ไปนมัสการก็มักใช้คำอย่างนี้แหละครับ หลวงปู่มา ก็หลวงปู่ไป อาจารย์มาก ก็อาจารย์ไป หลวงพ่อมา ก็หลวงพ่อไป)

    ฤ. : เห็นแล้วก็คล้าย ๆ รู้จักกันหลายแสนชาติครับ
    ค. : คงจะเป็นนิสัย พบเจอกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : คงจะเคยทะเลาะกันนะครับ (เสียงฮา) คนอื่นเขามาหาใหม่ ๆ เขาไม่คุยแบบนี้หรอกครับ มาทำตุ๋ม ๆ ติ๋ม ๆ กันส่วนมากพวกนี้ เขาเรียกพวกหนุมานครับ หลวงปู่ครับ คณะนี้เขาเรียกคณะหนุมานครับ ไปไหนไม่เงียบ (เสียงหัวเราะ)

    ค. : ดี คนชอบธรรม ชอบธรรมะ ชอบพระสงฆ์ดี ชอบที่อื่นไม่ดีหรอก
    ฤ. : งั้นหรือครับ
    ค. : เออ..ชอบอื่นไม่ดี ชอบธรรมะดี
    ฤ. : หลวงปู่เป็นพระสงฆ์หรือเปล่าครับ?
    ค. : เป็นพระสงฆ์
    ฤ. : เป็นแล้วนะครับ?
    ค. : อือ
    ฤ. : ใช้ได้

    (เสียงฮา... หลวงปู่เสียท่า คำจำกัดความของ "พระสงฆ์" ป่องบอกไว้แล้วตอนต้นไงครับ)

    ฤ. : นี่ผมจะขอความกรุณาหลวงปู่สักหน่อยเถอะครับ หลวงปู่ครับ เดือนสิงหาคม วันที่ ๙ กับวันที่ ๑๐ จะยกช่องฟ้าอุโบสถ แล้วก็จะหล่อรูปหลวงพ่อปาน แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะอาราธนาหลวงปู่ไปสงเคราะห์ ไปนั่งเฉย ๆ ครับ ไม่ให้สวดมนต์ ไม่ให้ทำอะไรหมด ใช้ใจได้ ฉันข้าวได้ พูดได้ ใช้เมตตาจิตเฉย ๆ จะพอสงเคราะห์ได้ไหม
    ค. : ที่ไหนล่ะ?
    ฤ. : จังหวัดอุทัยธานีครับ จะให้เขาเอารถมารับ
    ค. : ไอ้ขามันไปไม่ได้
    ฤ. : ไม่เป็นไรครับ รถมีครับ
    ค. : รถมี มันไม่สบายล่ะ
    ฤ. : ถ้าหากว่ามันสบายวันนั้น (เสียงหัวเราะ) ถ้าวันใกล้ ๆ มันสบาย ผมว่าหลวงปู่สบาย วันนั้นเอางี้แล้วกันครับ ถ้าหากว่าร่างกายพอจะไปไหวนะครับ ไม่ต้องสวดมนต์นะครับ ไม่ต้องทำอะไรหมด ให้นั่งอยู่แบบสบาย ขอเมตตาจิตสงเคราะห์
    ค. : เออ.. ไปพรมน้ำมนต์ ไปนั่งปลุกเสกอยู่นั่น?
    ฤ. : ไม่พรมหรอกครับ น้ำมนต์ก็ไม่ให้พรม ใช้ใจอย่างเดียว
    ค. : อือ
    ฤ. : ปลุกเสกก็ไม่ต้องครับ
    ค. : ไปนั่งภาวนา?
    ฤ. : ภาวนาหรือไม่ภาวนาก็ไม่ว่า นั่งเฉย ๆ (เสียงหัวเราะ)
    อ. : เฉย ๆ ก็เป่า ๆ ได้
    ฤ. : ครับ ก็นั่งนึก ๆ ใครมาก็คุยไป หมายความว่าต้องการพระประเภทสุปฏิปันโนให้ประชาชนที่มีความเข้าใจถึงพระศาสนา เวลานี้นะครับ เพราะภาคกลางเราหาไม่ค่อยได้
    ค. : โฮ้ย ! ทางกรุงเทพฯ ก็ถมไป พระน่ะ
    ฤ. : ขี้เกียจครับ มันเดินขบวนกันเก่งครับ (เสียงฮา) ประเดี๋ยวไหว้เข้า พวกนี้ไปเดินขบวนกันอีกครับ
    ค. : ก็พระเดินขบวนมันเก่งดีนี่ (เสียงฮา)
    ฤ. : มันเก่งมากเกินไป ไอ้นั่นเขาเดินขบวนไปนรกครับ
    อ. : ฮึ
    ฤ. : หลวงปู่เดินขบวนไปนิพพาน เขาต้องการอย่างนี้ครับ
    ค. : เออ..เดี๋ยวเดินขบวน
    ฤ. : เอางี้ครับ หลวงปู่ครับ ถ้าหากว่าขันธ์ ๕ พอจะไปไหวนะครับ อยากจะให้พวกกรุงเทพฯ ก็มี พวกต่างจังหวัดก็มี ผมบอกเขาไว้แล้ว ว่า จะหาพระสุปฏิปันโนไปอยู่สำหรับไหว้เฉยๆ สวดมนต์ก็ไม่ให้ทำนะครับ อะไรก็ไม่ทำ นั่งสงเคราะห์แต่จิตเท่านั้น
    ค. : อือ
    ฤ. : ถ้าเขาจะถามปัญหาธรรมะ เรียกว่าถ้าควรก็ตอบ ไม่ควรก็ไม่เอา พวกเกะกะไม่เอานะครับ
    ค. : อือ
    ฤ. : คนที่เข้าถึงธรรมมีอยู่ แต่ว่าพระที่จะพอมีธรรมแจกจ่ายไม่ค่อยจะมีนัก คือว่าเขามายกมือไหว้ด้วยจิตเคารพ ผมว่า มันก็ประโยชน์เยอะแล้ว ใช่ไหมครับ ก็บวชมา สุปฏิปันโนนี่ ในฐานะที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แจกจ่ายธรรม ก็ต้องเอาธรรมไปแจก ม่ายงั้น พระพุทธเจ้าจะหาว่าอกตัญญูไม่รู้คุณครับ (เสียงฮา)

    ค. : แหม..คุยดี (เสียงฮา)
    ฤ. : ไม่ใช่ครับ มาเจอะของดี ก็เอาของดีไปใช้ อุตส่าห์บุกเบิกมามันตั้งหลายร้อยกิโลคราวก่อน ตั้งใจจะมาให้ถึง แต่บังเอิญเวลามันจำกัดนะครับ คราวนี้ยังมีอีกครับ ราว ๆ มีนานี่บริษัทจะมาอีก ห้องนี้น่ากลัวไม่พอ คือว่าเขาอยากจะรู้ว่าพระที่ไหนพอจะสักการบูชา ในกรุงเทพฯ น่ะ ยศฐาบรรดาศักดิ์มีเยอะครับ นะครับ
    อ. : ฮือ ๆ
    ฤ. : เขาไหว้พระมียศกันมาเยอะแล้ว ตานี้ก็อยากจะไหว้พระมีธรรม ที่นั่นก็ประกาศเขาไว้แล้วว่า จะพยายามหาพระที่เป็นสุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโนนะครับ เอาไปให้เป็นที่สักการะ แต่พระประเภทนี้ ไม่ให้ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ไม่ให้สวดมนต์ เพราะเกรงจะเหนื่อย ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก มันเป็นพิธีกรรมนะครับ
    ค. : ฮือ
    ฤ. : ถ้าเขาจะไหว้สักการะก็เป็นเรื่องของเขา
    ค. : อือม์
    ฤ. : ไหว้ครั้งหนึ่งก็ดีกว่าไหว้พระติดกระดาษพันครั้ง ผมว่ายังงั้นนะครับ
    ค. : ฮือ เป่าหัวมันก็จั้กกะจี้
    (เสียงฮา)
    ฤ. : อ้า... ไม่ต้องเป่าครับ เอาใจนึกเป่า แหม ภาคเหนือนี่ ยังดีอยู่เยอะ ผมนอนฝันไป ฝันไปว่าพระภาคเหนือนี่ ยังมีเป็นสุปฏิปันโนตลอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ไม่ขาดสาย ก็เลยพาลูกศิษย์หามา บอกว่าเราไปหาพระสุปฏิปันโดนกันดีกว่า

    (คำว่า "ฝันไป" นี่ป่องสงสัยว่าจะเป็นโค้ดใช้แทนคำว่ารู้ด้วยญานหรือมีเทวดามาบอกเสียงกระมัง)

    ค. : อือ
    ฤ. : ไอ้พระกระดาษปฏิปันโนน่ะเยอะ (เสียงหัวเราะ) กระดาษไปกระดาษมา เดี๋ยวเดินขบวนซะแล้ว (เสียงฮา) มันค้างกระดาษจัด ดีไม่ดี ไปนั่งวิปัสสนาอยู่โคนอโศก ไม่ใช่ไปนั่งให้หมดโศก ไปนั่งเพิ่มโศก
    ค. : อดข้าว
    ฤ. : มันไม่อดจริงน่ะซีครับ ถ้าอดจริง เราจะหากินได้คล่องกว่านั่น
    ค. : อดด้วยธรรมะมันดี
    ฤ. : ครับ ๆ ไอ้นี่มันอดด้วยธรรม มันพาชาวบ้านไปนรก
    ค. : ฮื่อ
    ฤ. : ก็เป็นอันว่าตอนนั้น ถ้าหลวงปู่ร่างกายพอไปได้ ก็ขอความกรุณานะครับ
    ค. : ฮือ
    ฤ. : เอางั้นครับ เรื่องขันธ์ ๕ นี่ เรียกว่าเราบังคับมันไม่ได้
    ค. : บังคับไม่ได้ มันจะมาเวลาไหนก็เป็นธรรมดาของมัน เวลาไปได้ก็จะไปหาเมตตาอารีของหลวงปู่นะ เวลาไปไม่ได้ ก็อนุญาตกัน
    ฤ. : ครับ ๆ อันนี้ทราบอยู่ครับ กระผมเองก็เหมือนกันครับ ไม่ใช่ว่าใครนิมนต์แล้วรับทุกราย เหมือนกันครับ...ถือว่า ถ้าไปไม่ได้นะครับ ผมเข้าใจว่าสมเด็จท่านคงกรุณา (เสียงฮา)
    อ. : เอาไปล่ำไปลือกันในเชียงใหม่
    ฤ. : ดีครับ แหม..ได้เจอหลวงปู่แล้วชื่นใจ นี่เขากลับไปกรุงเทพฯ พวกฟังบันทึกเสียงแล้วอิจฉาครับ พวกที่ไม่ได้มานี่ แล้วก็จะมากันอีก เป็นบุญจริง ๆ ครับ
    ค. : ไปหาหลวงปู่แหวนมาแล้วรึ
    ฤ. : เที่ยวนี้ยังครับ เที่ยวที่แล้วไปมาแล้ว
    ค. : ไปแล้ว? แล้วเดี๋ยวนี่จะไปไหน?
    ฤ. : จะไปพระธาตุหริภุญไชยครับ แล้วก็บางทีถ้ามีเวลาก็จะไปหาหลวงปู่แหวนครับ คราวก่อนนี้ท่านกำลังเป็นไข้หนัก สู้อุตส่าห์ออกมารับ ท่านดีเหลือเกิน ท่านก็เป็นสุปฏิปันโน
    ค. : อือ..ท่านก็เป็นเพื่อนเดียวกัน
    ฤ. : งั้นหรือครับ
    อ. : ก่อนไปอยู่จำพรรษาด้วยกัน อยู่ที่วัดป่าหลวงปู่มั่น หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่แหวน พวกนี้แหละ เวลามาครั้งแรก หลวงปู่คำแสนก็ยังหนุ่มอยู่ ยังเดินเก่ง เดี๋ยวนี้มันเดินไม่ได้ ขาหักแขนหักไปแล้ว ตาก็บอด หูก็หนวก ไปไม่ได้
    ฤ. : ใครครับ?
    ค. : ก็พ่อเฒ่านี่แหละ หูตาแขนขามันเสีย มันเดินไม่ได้
    ฤ. : ดีครับ ไม่ลงนรก ถ้าตาดี หูดี ใจดี ขาดี แขนดี มันลงนรก ตาเสีย เห็นโลกนี้มันพังหมดทั้งโลก หูเสีย เห็นเสียงนี่เป็นอนัตตา ใช่ไหม?
    ค. : ใช่
    ฤ. : ไอ้ขาเสียก็ เอ๊อ..ประโยชน์ทางเนื้อหนังมันไม่มี ไอ้แขนเสียก็แขนนี้ เป็นเพียงธาตุ น้ำ ดิน ลม ไฟ ใช้อะไรไม่ได้ ตายแล้วไปนิพพานส่งนะครับ อันนี้ดีครับ ไอ้คำว่าหูเสีย ตาเสีย ขาเสีย เรามันหายาก โดยมากมีแต่ตาดี หูดี ขาดี แขนดี ไอ้ของมันเสียเห็นว่าดี นี่มันผิด ใช่ไหมครับ หลวงปู่มีของอื่นเสียหมดแล้ว ทั้งหมดเสียหมด ใจมันก็ดีใช่ไหมครับ
    ค. : ฮื่อ
    ฤ. : เขาต้องการไหว้ใจ ดีครับ อันนี้ ทายาทที่พอจะรักษาสมบัติอันนี้ของหลวงปู่ไว้ได้ มีไหมครับ?
    ค. : มี
    ฤ. : พระที่ปฏิบัติตาม?
    ค. : ก็มีอยู่
    ฤ. : แหม ดีใจครับ
    ค. : สืบอายุศาสนา ถ้ามีพระปฏิบัติ ศาสนาตายยากนะ เวลามีพระปฏิบัติ ศาสนาอยู่ พระศาสนามีลมหายใจอยู่
    ฤ. : ครับ
    ค. : พระปฏิบัติดี ไม่มีอยู่ ศาสนาก็ตายแล้ว
    ฤ. : ครับ ๆ นี่ผมถามว่าลูกศิษย์หลวงปู่อยู่ที่นี่
    ค. : นี่ก็มีอยู่
    ฤ. : อ้อ..ดีครับ มีทายาท อันนี้สำคัญครับ ไม่ขาดสายจากทางภาคเหนือ ภาคเหนือเขาไม่ขาดสายจริง ๆ อันนี้แหละครับ เป็นบุญใหญ่
    ค. : เออ เป็นบุญใหญ่ ของปูชนียสถานก็มีมาก เชียงใหม่นี่นะ
    ฤ. : ครับ ๆ
    ค. : ของเก่า ของแก่ ของบรมโบราณ
    ฤ. : ครับ..เขารักษาไว้ได้ดี
    ค. : เขารักษาไว้ เอาไว้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนในภายหน้านะ หลวงปู่ก็ปฏิบัติมาตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี จนอายุได้ ๘๒ ปี บวช ๖ เดือนถึงเดินในป่ากับหลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่มั่น ชักชวนกันไป ติดตามกันไป
    ฤ. : หลวงปู่นี่ คงจะถึงที่สุดของทุกข์หลายปีแล้วซีครับ?
    ค. : ฮื้อ...
    ปริญญา : หลวงปู่ตื้อเคยมาคุยกับหลวงปู่บ้างหรือเปล่าครับนี่
    ค. : โอ๊ะ ก็ที่นอนที่อยู่ท่านก็วัดนี้ หลวงปู่ตื้อนะ
    ปริญญา : อ้า...วันสองวันนี้นะครับ
    ค. : เอ๊อ วัดนี้ของหลวงปู่ตื้ออยู่ชั้นแรก ศาลาหลังเก่าน่ะ นอนอยู่ที่นี่แหละ เทศน์อยู่ที่นี่แหละ หลวงปู่ตื้อ
    ปริญญา : แล้วเดี๋ยวนี้ยังมาอยู่หรือเปล่าครับ?

    (ท่านคงจำได้นะครับ ว่า ตอนนี้หลวงปู่ท่านมรณภาพไปแล้ว)

    ค. : มาอยู่ โน่น..อยู่พรหมโลกโน่น ยังไม่ไปนิพพานเลย เขายังมาอยู่
    ฤ. : มาหรือครับ?
    ค. : มา
    ฤ. : มาทำไม
    ค. : มาเยี่ยม...ตาทิพย์
    ฤ. : ดีมาก หลวงปู่ตื้อนี่ดีมาก นักเลงดีครับ พูดตรงไปตรงมา
    ค. : อ้าว หลวงปู่ตื้อเป็นคนดุมากนะ
    ฤ. : ผมว่าไม่ดุครับ ผมว่าเป็นคนดีนะ ตรงไปตรงมา
    ค. : ดุ ดุในธรรมะไง
    ฤ. : ครับ ๆ (เสียงหัวเราะ)
    ค. : ดุคนบาป ด่าบาป
    ฤ. : แหม น่ารักครับ อ้อ ผมเคยบันทึกเสียงท่านนะครับ ท่านตายแล้ว ผมนอนฝันไปเจอท่านเข้า โอ้โฮ เก่งมาก

    (ตอนนี้เทปหมด กลับเทปใหม่)

    ค. : เวลาก่อนเป็นคณะธรรมยุติ ธรรมยุตหานิกายเขาไม่ถูกกัน จะไปเยี่ยมวัดนั้น เขาก็ไม่ให้อยู่ จะไปเยี่ยมนี่เขาก็...แต่นั้นมาก็เป็นมหานิกาย ที่หลวงปู่นี่ไม่เคยสะสม เขาก็มาที่นี่แหละ มาหยุดอยู่นี่
    ฤ. : หลวงปู่เป็นมหานิกาย?
    ค. : มหานิกาย แล้วเขาธรรมยุติ...กับจะไปธรรมยุติมหานิกาย
    ฤ. : อ๋อ.. คณะเดิมนะครับ เวลานี้หลวงปู่เป็นธรรมยุติหรือมหานิกาย
    ค. : เป็นมหานิกาย ถ้าว่ากันแล้วอันเดียวกันละ ธรรมยุติ มหานิกาย พระเจ้าองค์เดียวกัน วินัยองค์เดียวกัน เอ้อ ปฏิบัติดีละก็เป็นธรรมยุติหมด เป็นมหานิกายหมด
    ฤ. : ผมไม่ใช่ ผมเป็นพุทธนิกายครับ
    ค. : เออ..ดี นี่เขาสมมติกัน เขาจะว่ายังไงก็สุดแท้แต่เขาเถอะ เขาแต่งกัน
    ฤ. : นิกายมันก็แค่ตั้งขึ้นมา แท้จริงก็ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น
    ค. : ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าทั้งนั้นละ
    ฤ. : มัวไปถือคณะ ก็ถือว่ามีมานะ แบกกิเลส
    ค. : แบกกิเลสอยู่ หากิเลสใส่ตัวอยู่ หาว่าตัวดี เขาไม่ดี ว่าไป ดีไม่ดีช่างมันเถอะ
    ฤ. : ช่างมัน แค่ตายแหละ
    ค. : ก็ตายแหละ
    ฤ. : ถ้าตายแล้วไม่กลับมาทุกข์ใหม่ ก็สบายใจนะครับ เอ้า เจ้ากรมมา…เป็นเจ้าภาพใหญ่
    ค. : เจ้าภาพไหน?
    ฤ. : เจ้ากรมสื่อสารทหารอากาศครับ
    ค. : เออ หัวหน้ารึ ทหารอากาศก็มาบ่อยนะที่นี่…เอาใส่พานแน่ะ

    (ถวายปัจจัย)
    อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ชิปปะเมวะ สมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณรโส ยถา มณิ โชติโรส ยถา อายุวัฑฒะโก ความเจริญไปในอายุ ธะนะวัฑฒะโก ความเจริญไปในทรัพย์ สิริวัฑฒะโก ความเจริญไปในศิริ ยะสะวัฑฒะโก ความเจริญไปในยศ พะละวัฑฒะโก ความเจริญไปในกำลังกายกำลังใจ วัณณะวัฑฒะโก ความเจริญไปในวรรณะ สุขะวัฑฒะโก ความสมบูรณ์ไปด้วยความสุขกายสุขใจ
    โหตุ สัพพะทา จงมีแก่ท่านในการทั้งปวง (เทปไม่ชัด) ชีวะสิทธิ ภะวันตุ เต ความสำเร็จกิจจงมีแก่ท่าน ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่านทั้งหลาย รักขันตุ สัพพะเทวตา ขอเทพเจ้าคุ้มครองท่านทั้งหลาย

    สัพพะพุทธานุภาเวนะ โดยอานุภาพพระพุทธเจ้าทั้งปวง สัพพะธัมมานุภาเวนะ โดยอานุภาพพระธรรมทั้งปวง สัพพะสังฆานุภาเวนะ โดยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง
    พุทธะระตะนัง ธัมมะระตะนัง สังฆะระตะนัง ติณณัง ระตะนานัง อานุภาเวนะ จะตุราสีติสะหัสสะธัมมักขันธานุภาเวนะ ปิฏะกัตตะยานุภาเวนะ ชินะสาวกานุภาเวนะ สัพเพ เต โรค สัพเพ เต ภะยา สัพเพ เต อันตรายา สัพเพ อุปปัทวา สัพเพ เต ทุนนิมิตตา สัพเพ เต อะวะมังคลา วินัสสันตุ …(เทปไม่ชัด)…ภวันตุ เต

    ฤ. : บรรดาบริษัททั้งหลายรวบรวมจตุปัจจัยสงเคราะห์พระสงฆ์ที่นี่ ๑,๘๐๐ บาทนะครับ
    ค. : โอ สาธุ..อนุโมทนา
    ฤ. : นี่หลวงปู่เป็นหนี้ผมแล้วนะครับ ต้องไปใช้หนี้ผม (เสียงฮา) แต่ผมไม่เอากระดาษหรอกครับ ผมเอาตัวหลวงปู่ เอากระดาษไปชำระผมไม่เอา ผมต้องการเอาบุญ
    ค. : หลวงปู่มีดีแท้ ๆ
    ฤ. : เคยรบกันมานานแล้วนี่ครับ ผมทราบว่าหลวงปู่รู้จักผมมานานแล้ว (เสียงหัวเราะ)
    ค. : มาหาหลวงปู่ พอใจดีนะ?
    ฤ. : โฮ๊..ชื่นใจครับ คราวก่อนไม่มีโอกาสมา ตั้งใจว่ามาธุระอื่น ต้องมาหาหลวงปู่ให้ได้ ตั้งใจไว้
    ค. : อ้อ ครับ ๆ ได้ยินเสียงข่าวเมื่อคราวที่แล้วครับ ไปถามหลวงปู่สิม ถามหลวงปู่สิมว่ามีองค์ไหนบ้าง หลวงปู่สิมก็ว่าองค์นั้น ๆ พอบอกชื่อหลวงปู่ก็จับใจ เอ๊ะ แต่ตามหมายกำหนดการมันมาไม่ได้ เวลาจำกัด ว่าตั้งใจจะมารบหลวงปู่ให้ได้
    ฤ. : จะตั้ง? ตั้งมาตั้งแต่กรุงเทพฯ รึ?
    ฤ. : ไม่ใช่ จะ
    ค. : คราวหน้าถ้ามีโอกาสจะไปหานะ
    ฤ. : ครับ ๆ แหม ดีครับ แต่ไม่เป็นไร ถ้าหลวงปู่ไม่ไปผมก็มา
    ค. : ที่ว่าเมื่อตะกี้น่ะ เดือน…?
    ปริญญา : เดือนสิงหาคมครับ
    ฤ. : ในพรรษา แต่ว่าต้องขออนุญาต ศรัทธา ครับ
    ค. : พรรษาหน้านี่รึ?
    ฤ. : พรรษาที่ถึงนี่แหละครับ
    ค. : ฮือ..อีกนานอยู่นะ
    ฤ. : เดือน ๘ จะขึ้นเดือน ๙ เดือน ๙ ใต้นะครับ ก็ไปวันที่ ๘ ที่ ๙ วันที่ ๙ ก็เริ่มงาน วันที่ ๑๐ นะครับ วันที่ ๑๑ กลับได้นะครับ จะให้ ดร.ปริญญาจัดรถมารับนะครับ
    ค. : ตอนนั้นเข้าพรรษา จะปลุกเสกในพรรษานะ
    ฤ. : นี่ไม่ได้ปลุกเสกอะไรครับ คือว่ายกช่อฟ้า บรรจุพระบรมธาตุ แล้วหล่อรูปหลวงพ่อปานนะครับ
    ค. : อ๋อ
    ฤ. : แล้วหลวงปู่ก็ไม่ต้องไปนั่งในพิธีอะไร อยู่ที่พักอย่างเดียวครับ ใช้จิตเมตตาเฉย ๆ ไม่ต้องไปนั่งประชุมเครียด อันนี้ไม่เอานะครับ
    ค. : แต่หลวงปู่ก็ทำซี?
    ฤ. : อีตอนนั้นหลวงปู่ต้องทำครับ (เสียงฮา) ไปนั่งเครียด มันไม่สบายครับ ผมหากินแบบสบาย ๆ อีตอนที่ไปนั่งเป๋ง เครียดนั่นมันเบื่อครับ หลวงปู่อยู่กับที่อันเดียวนะครับ สบายกว่า ผมว่าประโยชน์มันดีกว่าไปนั่งเป๋ง
    ค. : หลวงปู่สบาย เขาเหล่านั้นก็สบาย (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ก็ผมรู้มาอย่างนั้นนี่ครับ คือว่าไปถึง แต่ละองค์ก็ให้เข้าที่พักโดยเฉพาะ ไม่ใช่เดินไปเดินมากับใครเขาครับ
    ค. : อือ
    (สังเกตนิดหนึ่งนะครับ หลวงพ่อฤาษีไม่ได้เป็นผู้กำหนดเองว่าพิธีให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านใช้คำว่าผมรู้มาอย่างนั้น ทีนี้รู้มาจากไหน รับคำสั่งมาจากไหน ก็ต้องเชิญไปถามตัวท่านเอง ป่องไม่กล้าถาม)

    ฤ. : ให้อยู่กับที่เฉย ๆ เวลาเขาจะยกช่อฟ้า บรรจุพระธาตุหรือหล่อรูป เขาก็มากราบเรียนให้ทราบ
    ค. : เออ
    ฤ. : แล้วก็ใช้จิตช่วยไปเฉย ๆ ไม่ต้องเดินไปไหน
    ค. : ใช้กระแสจิตไป?
    ฤ. : เหลือแหล่ครับ
    ค. : เออ
    ฤ. : โดยมากเขามักจะนั่งเกณฑ์ไปโน่นไปนี่ มันไม่ถูกหรอกครับ ไปนั่งทรมานก็เขาจะเอาตัว ไม่ได้เอาใจนี่ นี่ต้องการใจอย่างเดียว
    ค. : ต้องการใจอย่างเดียว เอาความบริสุทธิ์อย่างเดียว
    ฤ. : ครับ ความบริสุทธิ์ จิตใจสบายกว่า ปกติเขาจะต้องเกณฑ์ว่าต้องไปนั่งตรงนั้น ต้องไปนั่งตรงนี้นะครับ
    ค. : แน่
    ฤ. : นั่นเอาตัว ไม่ได้เอาใจ ไม่ได้เอาของดี
    ค. : (หัวเราะ)
    ฤ. : แต่หลวงปู่วัดน้ำบ่อหลวงท่านหาว่านั่งเฉย ๆ หนักกว่าสวดมนต์อีก ท่านบอกว่าสวดมนต์แล้วก็เลิกกัน นั่งเฉย ๆ หนัก เลยบอกว่า อ้าว หนักหรือไม่หนักก็แล้วแต่หลวงปู่
    ค. : หลวงปู่ชุ่มวัดวังมุย หลวงปู่อินทจักรวัดน้ำบ่อหลวง หลวงปู่แสน พระครูวัดสวนดอก แก่นะ เคยนั่งปลุกเสก แล้วก็หลวงปู่ทืม นี่หลายองค์ นี่เป็นกรรมการนั่งปรก พระอื่น ๆ ก็เป็นพระสวด มีกันไปก็ไปนั่งหลับตา เอาความบริสุทธิ์ไปปลุกเสก
    ดร.ปริญญา : หลวงปู่ทืมอยู่ไหนครับ
    ค. : หา...! หลวงปู่ทืม อยู่วัดจามเทวีของครูบาศรีวิชัย อยู่วัดนั้น
    ฤ. : อ๋อ
    ค. : จามเทวีนะ วัดที่หลวงปู่ศรีวิชัยมรณภาพ เผาท่านน่ะ เป็นรองเจ้าคุณ เป็นพระแก่
    ฤ. : หลวงปู่ทืมเป็นพระสุปฏิปันโนหรือครับ?
    ค. : เออ.. เป็นพระสุปฏิปันโน พวกนี้แหละเป็นผู้ปลุกเสพระ สาม-สี่-ห้าองค์
    ฤ. : แล้วหลวงปู่คำแสนอีกองค์? เดี๋ยวผมบุกรุกอีกครับ
    ค. : ฮือ.. ถ้าไปหา ก็ไปหาหลวงปู่ทืมอีกซี
    ฤ. : หลวงปู่ทืมหรือครับ
    ค. : เออ.. หลวงปู่ทืม อยู่วัดจามเทวี ก็ลำพูนนั่นแหละ ออกจากลำพูนไปนิดเดียว
    ฤ. : รู้จักครับ
    ค. : วิหารโบสถ์นั่น ของครูบาศรีวิชัยสร้าง ตอนนี้กำลังเสื่อมโทรมอยู่
    ฤ. : แล้วก็ถนัดในด้านไหนครับ เตวิชโช ฉฬภิญโญ?
    ค. : ก็…ก็ เขาก็ได้…(ไม่ชัด) อยู่ในวัดบ้าน ไม่ได้ออกอยู่ป่า
    ฤ. : ไม่สำคัญครับ อารมณ์จิต
    ค. : ดี ดี
    ฤ. : ดีมากหรือครับ แล้วเป็นสุปฏิปันโนแล้ว?
    ค. : สุปฏิปันโน ก็อย่างนั้นแหละ เคยเจอ ๆ กันเขา…
    ฤ. : สำเร็จแล้วไม่บอก แหมดีจริง ๆ ขอบคุณครับ เดี๋ยวผมรบกวนอีก (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : เดี๋ยวผมจะบอกไปว่า หลวงปู่สั่ง (เสียงหัวเราะ)
    ก็เป็นความดีของพุทธบริษัทครับ รู้สายเป็นสาย ๆ เราไปไหว้พระทั้งที พระนักบวชน่ะ เยอะแยะ
    ค. : มี ๆ มีเยอะ
    ฤ. : นักบวชน่ะ มันเยอะครับ แต่สุปฏิปันโนมันหากันไม่ค่อยได้เจอะ ดีไม่ดีก็ชนเสียตายไปเลย ไม่รู้เรื่อง (เสียงหัวเราะ)
    ค. : เสาะหาของดีก็ต้องหาจากคนที่รู้ดี
    ฤ. : ต้องต่อกันครับ ต้องต่อ เชื่อมกันตามสายไป อ้า…หลวงปู่ทืมกับหลวงปู่อะไร…คำแสนวัดสวนดอกนี่แก่
    ค. : วัดสวนดอกนั่นแก่ อายุแก่ ๘๙
    ฤ. : อันนี้ก็เห็นจะไล่เรี่ยกันนะครับ
    ค. : ไล่เรี่ยกัน…สมโภชพระ…ของขลัง
    ฤ. : เรื่องของคลัง ไม่สำคัญครับ สำคัญใจใส ถ้าใจใสแล้วก็ขลังมากนะครับ
    ค. : เสกดี ของมันก็ดีเหมือนกัน
    ฤ. : ครับ ๆ ๆ ๆ มันมีตรงนี้แหละครับ ถ้าคนเสกไม่ดีของมันก็ดีไม่ได้ ไอ้คนขัดไม่ดี ของมันก็ไม่หายสกปรกอะไร ปริญญา?
    ปริญญา : เขาจะหาเหรียญหลวงปู่กันครับ
    ฤ. : อ๋อ.. เหรียญหลวงปู่ ก็มารวมกันทีเดียวเลยพร้อม ๆ กัน
    ค. : ให้หลวงปู่มอบให้
    ฤ. : ใช่ครับ
    ค. : เป็นสิริมงคล
    ฤ. : เอามาพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่คนละเหรียญ ๒ เหรียญ และหลวงปู่มอบรวมกันเลย ไอ้แบบนี้เคยครับ กระผมเองเหนื่อยเกือบตาย มากันทีละอัน ๒ อัน ไอ้เราก็อาน คือถ้าใช้ใจคราวเดียวละกำลังใจมันสูง พอหลาย ๆ หนเข้าชักขี้เกียจ
    ปริญญา : หลวงปู่เคยเจอหลวงพ่อมากี่ชาติแล้วครับ?
    ค. : หลายชาติแล้ว
    ฤ. : คงเป็นแสน ๆ ละมั้ง
    ปริญญา : เจอะกันได้อยู่ดีแหละครับ
    ค. : คงจะเกิดอยู่แถวไหน?
    ปริญญา : เห็นว่าเลิกแล้วครับ หลวงปู่ลองดู เห็นว่า เลิกแล้วครับ
    ค. : ฮื่อ
    ฤ. : ไม่ใช่ ถามว่าเกิดจังหวัดไหน ว่างั้น
    ค. : จังหวัดไหน
    ฤ. : กระผมหรือครับ เกิดจังหวัดสุพรรณครับ
    ค. : สุพรรณรึ อยู่แถวไหน กรุงเทพฯ รึ?
    ฤ. : อ้า..เลยกรุงเทพฯ ลงไปครับ
    ค. : เลยกรุงเทพฯ ลง
    ฤ. : ครับ เลยไปหน่อยครับ มาทางด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ ครับ
    ค. : อือ นครปฐมนี่มันอยู่ทางไหน
    ฤ. : อ้อ อยู่ใกล้ ๆ กันครับ
    ค. : ใกล้กันเรอะ เออ กาญจนบุรีใกล้กันไหม
    ฤ. : ใกล้กันครับ เขตติดต่อกันครับ กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรีติดต่อกัน
    ค. : ติดต่อกัน? อ้อ
    ปริญญา : คุ้นเคยกับหลวงพ่อดีอยู่หรือครับ หลวงปู่ (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ลองถามซี ใครเคยโกงใคร (เสียงฮา)
    ปริญญา : ใครเคยโกงใครครับ
    ค. : (หัวเราะ)
    ฤ. : ต่างคนต่างเป็นโจทก์ ต่างคนต่างเป็นจำเลย หลวงปู่เป็นคนมีบุญ มีบุญมาเรื่อย เป็นคนมีบุญมาเรื่อย
    ค. : ฮึ ๆ
    ฤ. :ไม่ต่ำกว่าใคร โกงก็เก่ง
    ค. : (หัวเราะ)
    ฤ. : โกงก็ไม่แพ้ใคร ใจดีก็ไม่แพ้ใคร ให้ทานก็ไม่แพ้ใคร สงเคราะห์ก็ไม่แพ้ใคร โกงก็ไม่แพ้ใคร มือดี มือดีเก่ง คำว่า แพ้ไม่มีในชีวิต นี่แหละจำไว้เถอะ องค์ตื้อว่าเก่งแล้ว ไม่ใช่ว่าเก่งหรอกนะ ปัดโท่ (เสียงหัวเราะ)
    ปวดกบาลครับ เดี๋ยวก็สาวไส้เก่ามาให้เขาดูจนได้
    ค. : หลวงปู่ใครว่าดีก็ยิ้มเสีย ใครว่าร้ายก็ยิ้มเสีย
    ฤ. : หมดเรื่อง ไง ๆ ก็ช่างมัน หมดเรื่องกันไป
    (กับศิษย์ นี่ เรื่องแพ้ไม่มีหรอก มือก็ไม่แพ้ใคร สมองก็ไม่แพ้

    ชาลินี : เคยทะเลาะกันหรือคะ
    ฤ. : ไม่หรอก พวกเดียวกัน ถ้าทะเลาะก็เรื่องธรรมดา ๆ ฮ่อ โกงอะไรน่ะหรือ ไม่ได้เอาเปรียบใครหรอก โกงเขาไม่ได้โกงทรัพย์โกงสิน หลวงปู่มาอยู่ที่วัดนี้นานแล้วหรือครับ
    ค. : ๖๐ พรรษา เดิมเป็นเจ้าอาวาส สร้างแล้วก็เดินธุดงค์ สร้างแล้วเดินธุดงค์จนไปไม่ไหว ก็ออกไปอยู่ที่อยู่เดี๋ยวนี้ บริกรรมภาวนา เวลาเช้า ๖ โมง ก็มาฉันข้าว ฉันเช้าแล้ว ถ้าแขกมาก็รับแขก ว่างแขกก็ออกไปอยู่วัดป่านอนพัก นอนบริกรรม นั่งสมาธิอยู่โน่น บางทีแขกก็ไปหาเยี่ยมหา ก็ดีหรอก
    ฤ. : ขอลาหลวงปู่ละครับ
    ค. : ไปลำพูนละไปหาหลวงปู่ทืมด้วยนะ ไม่ไกลหรอกโชคดี
    ฤ. : ไปแน่ครับ ขอธรรมใดที่หลวงปู่เห็นแล้วนะครับ ขอให้บริษัททั้งหมดเห็นด้วยนะครับ
    ค. : เอ้อ..เอาอนุโมทนา หลวงปู่ปฏิบัติมายังไง ให้ญาติโยมอนุโมทนาทุกผู้ทุกคน ขอให้ได้สำเร็จ โสดา สกิทา อนาคา ตามความปรารถนาทุกผู้คน เทอญ

    (ทั้งหมด) : สาธุ

    ฤ. : อ้า…หลวงปู่ครับ ไอ้กรรมใดที่เคยล่วงเกินกันมาแต่อดีตชาตินะครับ กรรมนั้น ถ้าจะมีก็ขอประทานอโหสิกรรม
    ค. : เออ...
    ฤ. : เคยล้อเลียนพี่มานานแล้ว
    ค. : เออ...
    เป็นอันว่ากราบลาหลวงปู่คำแสนออกมา ในขณะที่ขึ้นรถ เห็นหลวงพ่อคำแสนท่านนั่งอมยิ้มชะเง้อมองคล้าย ๆ มีความอาลัย จนกระทั่งเราพ้นเขตวัดออกมา ก่อนจะออกเดินทางไปที่อื่น ป่องขอเสนอข้อสังเกตนิดหนึ่ง คือ

    ๑. หลวงปู่คำแสน ซึ่งไม่เคยรู้จักกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำของเราเลย ท่านรับรองยืนยันว่าได้เจอะกันมากับหลวงพ่อของเราในอดีตชาติ นับเป็นโชคดีของเราที่ได้เป็นพยานในเหตุการณ์ครั้งนี้
    เรื่องตายแล้วเกิดอีกเรื่องระลึกอดีตชาตินี้ความจริงพวกเราก็เชื่อกันอยู่แล้ว ถึงคนอื่น ๆ ก็ออกจะเชื่อ ๆ เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยแน่ใจ ถัดออกไปก็ไปถึงคนพวกที่ไม่เชื่อเลย นั่นก็สุดแต่บุญแต่กรรมของเขา ตำราท่านบอกไว้ชัดเจนว่า ฝึกได้อตีตังสญาณก็จะรู้ได้ แต่ท่านผู้เก่งท่านว่าเรื่องยังงี้ไม่มี เป็นไปไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่กระดิกหูเลยในญาณอะไรต่อญาณอะไร แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน ก็ต้องยกให้เป็นของท่านผู้เก่งไป
    ข้างพวกเราเองนั้น ถือตามพระบรมครูว่าสิ่งใดที่เราไม่รู้ เราก็ต้องเชื่อว่าท่านผู้รู้ก่อนเพราะฉะนั้นเราก็เชื่อมาเรื่อย แต่คราวนี้ น่าชื่นใจที่ความเชื่อของเรา ปรากฏว่าเป็นจริง

    ๒. พรของหลวงปู่คำแสนนั้น ขอให้สังเกตว่าไปหยุดอยู่แค่อนาคามี เท่านั้นไม่ไปถึงอรหันต์ อันนี้เป็นเคล็ดที่หลวงพ่อฤาษีได้สอนไว้ว่าใครได้แค่ไหน เขาก็จะพูดแค่นั้น ไม่พูดเลยไปกว่านั้น เพราะเขายังไม่รู้
    พอออกมานอกวัด ก็เลยกระซิบถาม หลวงพ่อก็กระซิบตอบมา (เคราะห์ดีท่านลืมห้ามไม่ให้กระซิบต่อจึงจำเป็นถือโอกาสกระจายเสียก่อน)
    ท่านบอกว่า พอโผล่เข้าไปเจอะหน้าหลวงปู่คำแสนก็ต๊กกะใจ คนรู้จักมาก่อนนี่หนา แล้วเลยอธิบายต่อไปว่าท่านเคยเป็นพี่มาหลายชาติ ทุก ๆ ชาติก็เป็นยังงี้แหละ ช่างยิ้ม ช่างคุย แม้แต่เวลากำลังรบก็ยิ้ม ยิ้มไป ชวนคุยไปได้ท่าฟันคอขาด ถึงได้บอกว่า โกง คือโกงฟันเขาตอนเขาเผลอตัวฟังคุย
    ตานี้ ถึงคราวป่องกระซิบท่านบ้างเป็นการตอบแทน กระซิบถามท่านไป “หลวงพ่อจำได้ไหมครับตอนทัศนาจรครั้งที่ ๑ น่ะ หลวงพ่อบอกไว้ว่าสมเด็จท่านสั่งว่า ถ้าพบพระชื่อทืม ก็นิมนต์มางานได้ พระองค์นี้ใช้ได้”

    หลวงพ่อร้อง เออ..จริงซี ลืมไปสนิทนึกไม่ออกเลย ท่านบอกไว้ด้วยว่าเป็นพระไม่เอาไหน ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลยใช่ไหม ป่องก็รับว่าใช่ เรื่องนี้ป่องบันทึกไว้ แล้ว พ.ท. ศรีพันธ์ วิชชุพันธ์ ก็บันทึกไว้
    หลวงพ่อให้ความเข้าใจแก่เรา หลวงพ่อคำแสนเป็นพระอนาคามี ยังติดอยู่นิดเดียว คล้าย ๆ ว่าจะตัดไปเลยเมื่อไรก็ได้ นี่ก็ตรงกับข้อสังเกตของพวกเรา แต่เราขาดความรู้ที่ท่านไม่ใช่พระอนาคามีธรรมดา เป็นพระอนาคามีมีอภิญญาเสียด้วย มิน่าล่ะหลวงพ่อฤาษีถึงได้บอกว่าไม่แพ้หลวงปู่ตื้อ
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ฤ. : รู้แล้วหรือครับ?
    ค. : รู้แล้ว
    ฤ. : ก็..เพื่อความมั่นใจ ขาวแล้ว ก็ขัดให้เป็นเงาขึ้นครับ แหมเจอะพระฉลาดก็หนักใจ
    ค. : หนักใจเรอะ?
    ฤ. : เจอะพระโง่สบายใจ พระฉลาดนี่หนักใจครับ นี่ซี เขาเรียกสุปฏิปันโน
    ค. : ก็สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ก็หลัก ๔ หลัก ปฏิบัติเอาซี ก็พระอริยเข้าก็เหนือนี่ไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็เหนือนี่ไม่ได้ สุปฏิปันโน ปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ อุชุปฏิปันโน ให้ซื่อ ซื่อด้วยกาย ซื่อด้วยวาจา ซื่อด้วยใจ คนอื่นทำแทนไม่ได้นะ เอ้อ..ทำแทนกันไม่ได้ มรรค ผล นิพพาน เป็นธรรมอันเดียว

    ฤ. : คือว่าของใครของมัน
    ค. : ของใครของมัน ความมีศีล ก็บริสุทธิ์คนเดียว
    ฤ. : เป็นปัจจัตตังนะครับ
    ค. : เป็นปัจจัตตัง เฉพาะคน
    ฤ. : ใครทำ ใครได้
    ค. : เออ
    ฤ. : ทีนี้หลวงปู่ได้แล้วหลวงปู่รู้แล้วนี่ หลวงปู่แจกชาวบ้านเขาบ้างซีครับ
    ค. : ก็แจกอยู่นี่ แจกแล้ว จะเอามาก จะเอาไปถึงไหนล่ะ (เสียงฮา)
    ฤ. : เอานิพพานครับ
    ค. : อันนี้ก็จะหาย อันนั้นก็จะหาย
    ฤ. : ไม่ใช่ ได้มาก ๆ กันรั่วครับ รั่วนิดหน่อย จะได้เหลือพอใช้ อันนี้ชื่นใจ
    ค. : รู้มาก ยากนาน รู้น้อยก็พลอยรำคาญ (เสียงฮา) แหม ชอบใจหลวงปู่ ยังงี้ดี
    ค. : คุยกับหลวงปู่ก็สนุก (เสียงฮา) คล้าย ๆ มาเห็นกันเดี๋ยวเดียว ก็...

    (ป่องรู้สึกว่า พระที่ไปนมัสการก็มักใช้คำอย่างนี้แหละครับ หลวงปู่มา ก็หลวงปู่ไป อาจารย์มาก ก็อาจารย์ไป หลวงพ่อมา ก็หลวงพ่อไป)

    ฤ. : เห็นแล้วก็คล้าย ๆ รู้จักกันหลายแสนชาติครับ
    ค. : คงจะเป็นนิสัย พบเจอกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : คงจะเคยทะเลาะกันนะครับ (เสียงฮา) คนอื่นเขามาหาใหม่ ๆ เขาไม่คุยแบบนี้หรอกครับ มาทำตุ๋ม ๆ ติ๋ม ๆ กันส่วนมากพวกนี้ เขาเรียกพวกหนุมานครับ หลวงปู่ครับ คณะนี้เขาเรียกคณะหนุมานครับ ไปไหนไม่เงียบ (เสียงหัวเราะ)

    ค. : ดี คนชอบธรรม ชอบธรรมะ ชอบพระสงฆ์ดี ชอบที่อื่นไม่ดีหรอก
    ฤ. : งั้นหรือครับ
    ค. : เออ..ชอบอื่นไม่ดี ชอบธรรมะดี
    ฤ. : หลวงปู่เป็นพระสงฆ์หรือเปล่าครับ?
    ค. : เป็นพระสงฆ์
    ฤ. : เป็นแล้วนะครับ?
    ค. : อือ
    ฤ. : ใช้ได้

    (เสียงฮา... หลวงปู่เสียท่า คำจำกัดความของ "พระสงฆ์" ป่องบอกไว้แล้วตอนต้นไงครับ)

    ฤ. : นี่ผมจะขอความกรุณาหลวงปู่สักหน่อยเถอะครับ หลวงปู่ครับ เดือนสิงหาคม วันที่ ๙ กับวันที่ ๑๐ จะยกช่องฟ้าอุโบสถ แล้วก็จะหล่อรูปหลวงพ่อปาน แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะอาราธนาหลวงปู่ไปสงเคราะห์ ไปนั่งเฉย ๆ ครับ ไม่ให้สวดมนต์ ไม่ให้ทำอะไรหมด ใช้ใจได้ ฉันข้าวได้ พูดได้ ใช้เมตตาจิตเฉย ๆ จะพอสงเคราะห์ได้ไหม
    ค. : ที่ไหนล่ะ?
    ฤ. : จังหวัดอุทัยธานีครับ จะให้เขาเอารถมารับ
    ค. : ไอ้ขามันไปไม่ได้
    ฤ. : ไม่เป็นไรครับ รถมีครับ
    ค. : รถมี มันไม่สบายล่ะ
    ฤ. : ถ้าหากว่ามันสบายวันนั้น (เสียงหัวเราะ) ถ้าวันใกล้ ๆ มันสบาย ผมว่าหลวงปู่สบาย วันนั้นเอางี้แล้วกันครับ ถ้าหากว่าร่างกายพอจะไปไหวนะครับ ไม่ต้องสวดมนต์นะครับ ไม่ต้องทำอะไรหมด ให้นั่งอยู่แบบสบาย ขอเมตตาจิตสงเคราะห์
    ค. : เออ.. ไปพรมน้ำมนต์ ไปนั่งปลุกเสกอยู่นั่น?
    ฤ. : ไม่พรมหรอกครับ น้ำมนต์ก็ไม่ให้พรม ใช้ใจอย่างเดียว
    ค. : อือ
    ฤ. : ปลุกเสกก็ไม่ต้องครับ
    ค. : ไปนั่งภาวนา?
    ฤ. : ภาวนาหรือไม่ภาวนาก็ไม่ว่า นั่งเฉย ๆ (เสียงหัวเราะ)
    อ. : เฉย ๆ ก็เป่า ๆ ได้
    ฤ. : ครับ ก็นั่งนึก ๆ ใครมาก็คุยไป หมายความว่าต้องการพระประเภทสุปฏิปันโนให้ประชาชนที่มีความเข้าใจถึงพระศาสนา เวลานี้นะครับ เพราะภาคกลางเราหาไม่ค่อยได้
    ค. : โฮ้ย ! ทางกรุงเทพฯ ก็ถมไป พระน่ะ
    ฤ. : ขี้เกียจครับ มันเดินขบวนกันเก่งครับ (เสียงฮา) ประเดี๋ยวไหว้เข้า พวกนี้ไปเดินขบวนกันอีกครับ
    ค. : ก็พระเดินขบวนมันเก่งดีนี่ (เสียงฮา)
    ฤ. : มันเก่งมากเกินไป ไอ้นั่นเขาเดินขบวนไปนรกครับ
    อ. : ฮึ
    ฤ. : หลวงปู่เดินขบวนไปนิพพาน เขาต้องการอย่างนี้ครับ
    ค. : เออ..เดี๋ยวเดินขบวน
    ฤ. : เอางี้ครับ หลวงปู่ครับ ถ้าหากว่าขันธ์ ๕ พอจะไปไหวนะครับ อยากจะให้พวกกรุงเทพฯ ก็มี พวกต่างจังหวัดก็มี ผมบอกเขาไว้แล้ว ว่า จะหาพระสุปฏิปันโนไปอยู่สำหรับไหว้เฉยๆ สวดมนต์ก็ไม่ให้ทำนะครับ อะไรก็ไม่ทำ นั่งสงเคราะห์แต่จิตเท่านั้น
    ค. : อือ
    ฤ. : ถ้าเขาจะถามปัญหาธรรมะ เรียกว่าถ้าควรก็ตอบ ไม่ควรก็ไม่เอา พวกเกะกะไม่เอานะครับ
    ค. : อือ
    ฤ. : คนที่เข้าถึงธรรมมีอยู่ แต่ว่าพระที่จะพอมีธรรมแจกจ่ายไม่ค่อยจะมีนัก คือว่าเขามายกมือไหว้ด้วยจิตเคารพ ผมว่า มันก็ประโยชน์เยอะแล้ว ใช่ไหมครับ ก็บวชมา สุปฏิปันโนนี่ ในฐานะที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แจกจ่ายธรรม ก็ต้องเอาธรรมไปแจก ม่ายงั้น พระพุทธเจ้าจะหาว่าอกตัญญูไม่รู้คุณครับ (เสียงฮา)

    ค. : แหม..คุยดี (เสียงฮา)
    ฤ. : ไม่ใช่ครับ มาเจอะของดี ก็เอาของดีไปใช้ อุตส่าห์บุกเบิกมามันตั้งหลายร้อยกิโลคราวก่อน ตั้งใจจะมาให้ถึง แต่บังเอิญเวลามันจำกัดนะครับ คราวนี้ยังมีอีกครับ ราว ๆ มีนานี่บริษัทจะมาอีก ห้องนี้น่ากลัวไม่พอ คือว่าเขาอยากจะรู้ว่าพระที่ไหนพอจะสักการบูชา ในกรุงเทพฯ น่ะ ยศฐาบรรดาศักดิ์มีเยอะครับ นะครับ
    อ. : ฮือ ๆ
    ฤ. : เขาไหว้พระมียศกันมาเยอะแล้ว ตานี้ก็อยากจะไหว้พระมีธรรม ที่นั่นก็ประกาศเขาไว้แล้วว่า จะพยายามหาพระที่เป็นสุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโนนะครับ เอาไปให้เป็นที่สักการะ แต่พระประเภทนี้ ไม่ให้ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ไม่ให้สวดมนต์ เพราะเกรงจะเหนื่อย ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก มันเป็นพิธีกรรมนะครับ
    ค. : ฮือ
    ฤ. : ถ้าเขาจะไหว้สักการะก็เป็นเรื่องของเขา
    ค. : อือม์
    ฤ. : ไหว้ครั้งหนึ่งก็ดีกว่าไหว้พระติดกระดาษพันครั้ง ผมว่ายังงั้นนะครับ
    ค. : ฮือ เป่าหัวมันก็จั้กกะจี้
    (เสียงฮา)
    ฤ. : อ้า... ไม่ต้องเป่าครับ เอาใจนึกเป่า แหม ภาคเหนือนี่ ยังดีอยู่เยอะ ผมนอนฝันไป ฝันไปว่าพระภาคเหนือนี่ ยังมีเป็นสุปฏิปันโนตลอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ไม่ขาดสาย ก็เลยพาลูกศิษย์หามา บอกว่าเราไปหาพระสุปฏิปันโดนกันดีกว่า

    (คำว่า "ฝันไป" นี่ป่องสงสัยว่าจะเป็นโค้ดใช้แทนคำว่ารู้ด้วยญานหรือมีเทวดามาบอกเสียงกระมัง)

    ค. : อือ
    ฤ. : ไอ้พระกระดาษปฏิปันโนน่ะเยอะ (เสียงหัวเราะ) กระดาษไปกระดาษมา เดี๋ยวเดินขบวนซะแล้ว (เสียงฮา) มันค้างกระดาษจัด ดีไม่ดี ไปนั่งวิปัสสนาอยู่โคนอโศก ไม่ใช่ไปนั่งให้หมดโศก ไปนั่งเพิ่มโศก
    ค. : อดข้าว
    ฤ. : มันไม่อดจริงน่ะซีครับ ถ้าอดจริง เราจะหากินได้คล่องกว่านั่น
    ค. : อดด้วยธรรมะมันดี
    ฤ. : ครับ ๆ ไอ้นี่มันอดด้วยธรรม มันพาชาวบ้านไปนรก
    ค. : ฮื่อ
    ฤ. : ก็เป็นอันว่าตอนนั้น ถ้าหลวงปู่ร่างกายพอไปได้ ก็ขอความกรุณานะครับ
    ค. : ฮือ
    ฤ. : เอางั้นครับ เรื่องขันธ์ ๕ นี่ เรียกว่าเราบังคับมันไม่ได้
    ค. : บังคับไม่ได้ มันจะมาเวลาไหนก็เป็นธรรมดาของมัน เวลาไปได้ก็จะไปหาเมตตาอารีของหลวงปู่นะ เวลาไปไม่ได้ ก็อนุญาตกัน
    ฤ. : ครับ ๆ อันนี้ทราบอยู่ครับ กระผมเองก็เหมือนกันครับ ไม่ใช่ว่าใครนิมนต์แล้วรับทุกราย เหมือนกันครับ...ถือว่า ถ้าไปไม่ได้นะครับ ผมเข้าใจว่าสมเด็จท่านคงกรุณา (เสียงฮา)
    อ. : เอาไปล่ำไปลือกันในเชียงใหม่
    ฤ. : ดีครับ แหม..ได้เจอหลวงปู่แล้วชื่นใจ นี่เขากลับไปกรุงเทพฯ พวกฟังบันทึกเสียงแล้วอิจฉาครับ พวกที่ไม่ได้มานี่ แล้วก็จะมากันอีก เป็นบุญจริง ๆ ครับ
    ค. : ไปหาหลวงปู่แหวนมาแล้วรึ
    ฤ. : เที่ยวนี้ยังครับ เที่ยวที่แล้วไปมาแล้ว
    ค. : ไปแล้ว? แล้วเดี๋ยวนี่จะไปไหน?
    ฤ. : จะไปพระธาตุหริภุญไชยครับ แล้วก็บางทีถ้ามีเวลาก็จะไปหาหลวงปู่แหวนครับ คราวก่อนนี้ท่านกำลังเป็นไข้หนัก สู้อุตส่าห์ออกมารับ ท่านดีเหลือเกิน ท่านก็เป็นสุปฏิปันโน
    ค. : อือ..ท่านก็เป็นเพื่อนเดียวกัน
    ฤ. : งั้นหรือครับ
    อ. : ก่อนไปอยู่จำพรรษาด้วยกัน อยู่ที่วัดป่าหลวงปู่มั่น หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่แหวน พวกนี้แหละ เวลามาครั้งแรก หลวงปู่คำแสนก็ยังหนุ่มอยู่ ยังเดินเก่ง เดี๋ยวนี้มันเดินไม่ได้ ขาหักแขนหักไปแล้ว ตาก็บอด หูก็หนวก ไปไม่ได้
    ฤ. : ใครครับ?
    ค. : ก็พ่อเฒ่านี่แหละ หูตาแขนขามันเสีย มันเดินไม่ได้
    ฤ. : ดีครับ ไม่ลงนรก ถ้าตาดี หูดี ใจดี ขาดี แขนดี มันลงนรก ตาเสีย เห็นโลกนี้มันพังหมดทั้งโลก หูเสีย เห็นเสียงนี่เป็นอนัตตา ใช่ไหม?
    ค. : ใช่
    ฤ. : ไอ้ขาเสียก็ เอ๊อ..ประโยชน์ทางเนื้อหนังมันไม่มี ไอ้แขนเสียก็แขนนี้ เป็นเพียงธาตุ น้ำ ดิน ลม ไฟ ใช้อะไรไม่ได้ ตายแล้วไปนิพพานส่งนะครับ อันนี้ดีครับ ไอ้คำว่าหูเสีย ตาเสีย ขาเสีย เรามันหายาก โดยมากมีแต่ตาดี หูดี ขาดี แขนดี ไอ้ของมันเสียเห็นว่าดี นี่มันผิด ใช่ไหมครับ หลวงปู่มีของอื่นเสียหมดแล้ว ทั้งหมดเสียหมด ใจมันก็ดีใช่ไหมครับ
    ค. : ฮื่อ
    ฤ. : เขาต้องการไหว้ใจ ดีครับ อันนี้ ทายาทที่พอจะรักษาสมบัติอันนี้ของหลวงปู่ไว้ได้ มีไหมครับ?
    ค. : มี
    ฤ. : พระที่ปฏิบัติตาม?
    ค. : ก็มีอยู่
    ฤ. : แหม ดีใจครับ
    ค. : สืบอายุศาสนา ถ้ามีพระปฏิบัติ ศาสนาตายยากนะ เวลามีพระปฏิบัติ ศาสนาอยู่ พระศาสนามีลมหายใจอยู่
    ฤ. : ครับ
    ค. : พระปฏิบัติดี ไม่มีอยู่ ศาสนาก็ตายแล้ว
    ฤ. : ครับ ๆ นี่ผมถามว่าลูกศิษย์หลวงปู่อยู่ที่นี่
    ค. : นี่ก็มีอยู่
    ฤ. : อ้อ..ดีครับ มีทายาท อันนี้สำคัญครับ ไม่ขาดสายจากทางภาคเหนือ ภาคเหนือเขาไม่ขาดสายจริง ๆ อันนี้แหละครับ เป็นบุญใหญ่
    ค. : เออ เป็นบุญใหญ่ ของปูชนียสถานก็มีมาก เชียงใหม่นี่นะ
    ฤ. : ครับ ๆ
    ค. : ของเก่า ของแก่ ของบรมโบราณ
    ฤ. : ครับ..เขารักษาไว้ได้ดี
    ค. : เขารักษาไว้ เอาไว้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนในภายหน้านะ หลวงปู่ก็ปฏิบัติมาตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี จนอายุได้ ๘๒ ปี บวช ๖ เดือนถึงเดินในป่ากับหลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่มั่น ชักชวนกันไป ติดตามกันไป
    ฤ. : หลวงปู่นี่ คงจะถึงที่สุดของทุกข์หลายปีแล้วซีครับ?
    ค. : ฮื้อ...
    ปริญญา : หลวงปู่ตื้อเคยมาคุยกับหลวงปู่บ้างหรือเปล่าครับนี่
    ค. : โอ๊ะ ก็ที่นอนที่อยู่ท่านก็วัดนี้ หลวงปู่ตื้อนะ
    ปริญญา : อ้า...วันสองวันนี้นะครับ
    ค. : เอ๊อ วัดนี้ของหลวงปู่ตื้ออยู่ชั้นแรก ศาลาหลังเก่าน่ะ นอนอยู่ที่นี่แหละ เทศน์อยู่ที่นี่แหละ หลวงปู่ตื้อ
    ปริญญา : แล้วเดี๋ยวนี้ยังมาอยู่หรือเปล่าครับ?

    (ท่านคงจำได้นะครับ ว่า ตอนนี้หลวงปู่ท่านมรณภาพไปแล้ว)

    ค. : มาอยู่ โน่น..อยู่พรหมโลกโน่น ยังไม่ไปนิพพานเลย เขายังมาอยู่
    ฤ. : มาหรือครับ?
    ค. : มา
    ฤ. : มาทำไม
    ค. : มาเยี่ยม...ตาทิพย์
    ฤ. : ดีมาก หลวงปู่ตื้อนี่ดีมาก นักเลงดีครับ พูดตรงไปตรงมา
    ค. : อ้าว หลวงปู่ตื้อเป็นคนดุมากนะ
    ฤ. : ผมว่าไม่ดุครับ ผมว่าเป็นคนดีนะ ตรงไปตรงมา
    ค. : ดุ ดุในธรรมะไง
    ฤ. : ครับ ๆ (เสียงหัวเราะ)
    ค. : ดุคนบาป ด่าบาป
    ฤ. : แหม น่ารักครับ อ้อ ผมเคยบันทึกเสียงท่านนะครับ ท่านตายแล้ว ผมนอนฝันไปเจอท่านเข้า โอ้โฮ เก่งมาก

    (ตอนนี้เทปหมด กลับเทปใหม่)

    ค. : เวลาก่อนเป็นคณะธรรมยุติ ธรรมยุตหานิกายเขาไม่ถูกกัน จะไปเยี่ยมวัดนั้น เขาก็ไม่ให้อยู่ จะไปเยี่ยมนี่เขาก็...แต่นั้นมาก็เป็นมหานิกาย ที่หลวงปู่นี่ไม่เคยสะสม เขาก็มาที่นี่แหละ มาหยุดอยู่นี่
    ฤ. : หลวงปู่เป็นมหานิกาย?
    ค. : มหานิกาย แล้วเขาธรรมยุติ...กับจะไปธรรมยุติมหานิกาย
    ฤ. : อ๋อ.. คณะเดิมนะครับ เวลานี้หลวงปู่เป็นธรรมยุติหรือมหานิกาย
    ค. : เป็นมหานิกาย ถ้าว่ากันแล้วอันเดียวกันละ ธรรมยุติ มหานิกาย พระเจ้าองค์เดียวกัน วินัยองค์เดียวกัน เอ้อ ปฏิบัติดีละก็เป็นธรรมยุติหมด เป็นมหานิกายหมด
    ฤ. : ผมไม่ใช่ ผมเป็นพุทธนิกายครับ
    ค. : เออ..ดี นี่เขาสมมติกัน เขาจะว่ายังไงก็สุดแท้แต่เขาเถอะ เขาแต่งกัน
    ฤ. : นิกายมันก็แค่ตั้งขึ้นมา แท้จริงก็ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น
    ค. : ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าทั้งนั้นละ
    ฤ. : มัวไปถือคณะ ก็ถือว่ามีมานะ แบกกิเลส
    ค. : แบกกิเลสอยู่ หากิเลสใส่ตัวอยู่ หาว่าตัวดี เขาไม่ดี ว่าไป ดีไม่ดีช่างมันเถอะ
    ฤ. : ช่างมัน แค่ตายแหละ
    ค. : ก็ตายแหละ
    ฤ. : ถ้าตายแล้วไม่กลับมาทุกข์ใหม่ ก็สบายใจนะครับ เอ้า เจ้ากรมมา…เป็นเจ้าภาพใหญ่
    ค. : เจ้าภาพไหน?
    ฤ. : เจ้ากรมสื่อสารทหารอากาศครับ
    ค. : เออ หัวหน้ารึ ทหารอากาศก็มาบ่อยนะที่นี่…เอาใส่พานแน่ะ

    (ถวายปัจจัย)
    อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ชิปปะเมวะ สมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณรโส ยถา มณิ โชติโรส ยถา อายุวัฑฒะโก ความเจริญไปในอายุ ธะนะวัฑฒะโก ความเจริญไปในทรัพย์ สิริวัฑฒะโก ความเจริญไปในศิริ ยะสะวัฑฒะโก ความเจริญไปในยศ พะละวัฑฒะโก ความเจริญไปในกำลังกายกำลังใจ วัณณะวัฑฒะโก ความเจริญไปในวรรณะ สุขะวัฑฒะโก ความสมบูรณ์ไปด้วยความสุขกายสุขใจ
    โหตุ สัพพะทา จงมีแก่ท่านในการทั้งปวง (เทปไม่ชัด) ชีวะสิทธิ ภะวันตุ เต ความสำเร็จกิจจงมีแก่ท่าน ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่านทั้งหลาย รักขันตุ สัพพะเทวตา ขอเทพเจ้าคุ้มครองท่านทั้งหลาย

    สัพพะพุทธานุภาเวนะ โดยอานุภาพพระพุทธเจ้าทั้งปวง สัพพะธัมมานุภาเวนะ โดยอานุภาพพระธรรมทั้งปวง สัพพะสังฆานุภาเวนะ โดยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง
    พุทธะระตะนัง ธัมมะระตะนัง สังฆะระตะนัง ติณณัง ระตะนานัง อานุภาเวนะ จะตุราสีติสะหัสสะธัมมักขันธานุภาเวนะ ปิฏะกัตตะยานุภาเวนะ ชินะสาวกานุภาเวนะ สัพเพ เต โรค สัพเพ เต ภะยา สัพเพ เต อันตรายา สัพเพ อุปปัทวา สัพเพ เต ทุนนิมิตตา สัพเพ เต อะวะมังคลา วินัสสันตุ …(เทปไม่ชัด)…ภวันตุ เต

    ฤ. : บรรดาบริษัททั้งหลายรวบรวมจตุปัจจัยสงเคราะห์พระสงฆ์ที่นี่ ๑,๘๐๐ บาทนะครับ
    ค. : โอ สาธุ..อนุโมทนา
    ฤ. : นี่หลวงปู่เป็นหนี้ผมแล้วนะครับ ต้องไปใช้หนี้ผม (เสียงฮา) แต่ผมไม่เอากระดาษหรอกครับ ผมเอาตัวหลวงปู่ เอากระดาษไปชำระผมไม่เอา ผมต้องการเอาบุญ
    ค. : หลวงปู่มีดีแท้ ๆ
    ฤ. : เคยรบกันมานานแล้วนี่ครับ ผมทราบว่าหลวงปู่รู้จักผมมานานแล้ว (เสียงหัวเราะ)
    ค. : มาหาหลวงปู่ พอใจดีนะ?
    ฤ. : โฮ๊..ชื่นใจครับ คราวก่อนไม่มีโอกาสมา ตั้งใจว่ามาธุระอื่น ต้องมาหาหลวงปู่ให้ได้ ตั้งใจไว้
    ค. : อ้อ ครับ ๆ ได้ยินเสียงข่าวเมื่อคราวที่แล้วครับ ไปถามหลวงปู่สิม ถามหลวงปู่สิมว่ามีองค์ไหนบ้าง หลวงปู่สิมก็ว่าองค์นั้น ๆ พอบอกชื่อหลวงปู่ก็จับใจ เอ๊ะ แต่ตามหมายกำหนดการมันมาไม่ได้ เวลาจำกัด ว่าตั้งใจจะมารบหลวงปู่ให้ได้
    ฤ. : จะตั้ง? ตั้งมาตั้งแต่กรุงเทพฯ รึ?
    ฤ. : ไม่ใช่ จะ
    ค. : คราวหน้าถ้ามีโอกาสจะไปหานะ
    ฤ. : ครับ ๆ แหม ดีครับ แต่ไม่เป็นไร ถ้าหลวงปู่ไม่ไปผมก็มา
    ค. : ที่ว่าเมื่อตะกี้น่ะ เดือน…?
    ปริญญา : เดือนสิงหาคมครับ
    ฤ. : ในพรรษา แต่ว่าต้องขออนุญาต ศรัทธา ครับ
    ค. : พรรษาหน้านี่รึ?
    ฤ. : พรรษาที่ถึงนี่แหละครับ
    ค. : ฮือ..อีกนานอยู่นะ
    ฤ. : เดือน ๘ จะขึ้นเดือน ๙ เดือน ๙ ใต้นะครับ ก็ไปวันที่ ๘ ที่ ๙ วันที่ ๙ ก็เริ่มงาน วันที่ ๑๐ นะครับ วันที่ ๑๑ กลับได้นะครับ จะให้ ดร.ปริญญาจัดรถมารับนะครับ
    ค. : ตอนนั้นเข้าพรรษา จะปลุกเสกในพรรษานะ
    ฤ. : นี่ไม่ได้ปลุกเสกอะไรครับ คือว่ายกช่อฟ้า บรรจุพระบรมธาตุ แล้วหล่อรูปหลวงพ่อปานนะครับ
    ค. : อ๋อ
    ฤ. : แล้วหลวงปู่ก็ไม่ต้องไปนั่งในพิธีอะไร อยู่ที่พักอย่างเดียวครับ ใช้จิตเมตตาเฉย ๆ ไม่ต้องไปนั่งประชุมเครียด อันนี้ไม่เอานะครับ
    ค. : แต่หลวงปู่ก็ทำซี?
    ฤ. : อีตอนนั้นหลวงปู่ต้องทำครับ (เสียงฮา) ไปนั่งเครียด มันไม่สบายครับ ผมหากินแบบสบาย ๆ อีตอนที่ไปนั่งเป๋ง เครียดนั่นมันเบื่อครับ หลวงปู่อยู่กับที่อันเดียวนะครับ สบายกว่า ผมว่าประโยชน์มันดีกว่าไปนั่งเป๋ง
    ค. : หลวงปู่สบาย เขาเหล่านั้นก็สบาย (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ก็ผมรู้มาอย่างนั้นนี่ครับ คือว่าไปถึง แต่ละองค์ก็ให้เข้าที่พักโดยเฉพาะ ไม่ใช่เดินไปเดินมากับใครเขาครับ
    ค. : อือ
    (สังเกตนิดหนึ่งนะครับ หลวงพ่อฤาษีไม่ได้เป็นผู้กำหนดเองว่าพิธีให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านใช้คำว่าผมรู้มาอย่างนั้น ทีนี้รู้มาจากไหน รับคำสั่งมาจากไหน ก็ต้องเชิญไปถามตัวท่านเอง ป่องไม่กล้าถาม)

    ฤ. : ให้อยู่กับที่เฉย ๆ เวลาเขาจะยกช่อฟ้า บรรจุพระธาตุหรือหล่อรูป เขาก็มากราบเรียนให้ทราบ
    ค. : เออ
    ฤ. : แล้วก็ใช้จิตช่วยไปเฉย ๆ ไม่ต้องเดินไปไหน
    ค. : ใช้กระแสจิตไป?
    ฤ. : เหลือแหล่ครับ
    ค. : เออ
    ฤ. : โดยมากเขามักจะนั่งเกณฑ์ไปโน่นไปนี่ มันไม่ถูกหรอกครับ ไปนั่งทรมานก็เขาจะเอาตัว ไม่ได้เอาใจนี่ นี่ต้องการใจอย่างเดียว
    ค. : ต้องการใจอย่างเดียว เอาความบริสุทธิ์อย่างเดียว
    ฤ. : ครับ ความบริสุทธิ์ จิตใจสบายกว่า ปกติเขาจะต้องเกณฑ์ว่าต้องไปนั่งตรงนั้น ต้องไปนั่งตรงนี้นะครับ
    ค. : แน่
    ฤ. : นั่นเอาตัว ไม่ได้เอาใจ ไม่ได้เอาของดี
    ค. : (หัวเราะ)
    ฤ. : แต่หลวงปู่วัดน้ำบ่อหลวงท่านหาว่านั่งเฉย ๆ หนักกว่าสวดมนต์อีก ท่านบอกว่าสวดมนต์แล้วก็เลิกกัน นั่งเฉย ๆ หนัก เลยบอกว่า อ้าว หนักหรือไม่หนักก็แล้วแต่หลวงปู่
    ค. : หลวงปู่ชุ่มวัดวังมุย หลวงปู่อินทจักรวัดน้ำบ่อหลวง หลวงปู่แสน พระครูวัดสวนดอก แก่นะ เคยนั่งปลุกเสก แล้วก็หลวงปู่ทืม นี่หลายองค์ นี่เป็นกรรมการนั่งปรก พระอื่น ๆ ก็เป็นพระสวด มีกันไปก็ไปนั่งหลับตา เอาความบริสุทธิ์ไปปลุกเสก
    ดร.ปริญญา : หลวงปู่ทืมอยู่ไหนครับ
    ค. : หา...! หลวงปู่ทืม อยู่วัดจามเทวีของครูบาศรีวิชัย อยู่วัดนั้น
    ฤ. : อ๋อ
    ค. : จามเทวีนะ วัดที่หลวงปู่ศรีวิชัยมรณภาพ เผาท่านน่ะ เป็นรองเจ้าคุณ เป็นพระแก่
    ฤ. : หลวงปู่ทืมเป็นพระสุปฏิปันโนหรือครับ?
    ค. : เออ.. เป็นพระสุปฏิปันโน พวกนี้แหละเป็นผู้ปลุกเสพระ สาม-สี่-ห้าองค์
    ฤ. : แล้วหลวงปู่คำแสนอีกองค์? เดี๋ยวผมบุกรุกอีกครับ
    ค. : ฮือ.. ถ้าไปหา ก็ไปหาหลวงปู่ทืมอีกซี
    ฤ. : หลวงปู่ทืมหรือครับ
    ค. : เออ.. หลวงปู่ทืม อยู่วัดจามเทวี ก็ลำพูนนั่นแหละ ออกจากลำพูนไปนิดเดียว
    ฤ. : รู้จักครับ
    ค. : วิหารโบสถ์นั่น ของครูบาศรีวิชัยสร้าง ตอนนี้กำลังเสื่อมโทรมอยู่
    ฤ. : แล้วก็ถนัดในด้านไหนครับ เตวิชโช ฉฬภิญโญ?
    ค. : ก็…ก็ เขาก็ได้…(ไม่ชัด) อยู่ในวัดบ้าน ไม่ได้ออกอยู่ป่า
    ฤ. : ไม่สำคัญครับ อารมณ์จิต
    ค. : ดี ดี
    ฤ. : ดีมากหรือครับ แล้วเป็นสุปฏิปันโนแล้ว?
    ค. : สุปฏิปันโน ก็อย่างนั้นแหละ เคยเจอ ๆ กันเขา…
    ฤ. : สำเร็จแล้วไม่บอก แหมดีจริง ๆ ขอบคุณครับ เดี๋ยวผมรบกวนอีก (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : เดี๋ยวผมจะบอกไปว่า หลวงปู่สั่ง (เสียงหัวเราะ)
    ก็เป็นความดีของพุทธบริษัทครับ รู้สายเป็นสาย ๆ เราไปไหว้พระทั้งที พระนักบวชน่ะ เยอะแยะ
    ค. : มี ๆ มีเยอะ
    ฤ. : นักบวชน่ะ มันเยอะครับ แต่สุปฏิปันโนมันหากันไม่ค่อยได้เจอะ ดีไม่ดีก็ชนเสียตายไปเลย ไม่รู้เรื่อง (เสียงหัวเราะ)
    ค. : เสาะหาของดีก็ต้องหาจากคนที่รู้ดี
    ฤ. : ต้องต่อกันครับ ต้องต่อ เชื่อมกันตามสายไป อ้า…หลวงปู่ทืมกับหลวงปู่อะไร…คำแสนวัดสวนดอกนี่แก่
    ค. : วัดสวนดอกนั่นแก่ อายุแก่ ๘๙
    ฤ. : อันนี้ก็เห็นจะไล่เรี่ยกันนะครับ
    ค. : ไล่เรี่ยกัน…สมโภชพระ…ของขลัง
    ฤ. : เรื่องของคลัง ไม่สำคัญครับ สำคัญใจใส ถ้าใจใสแล้วก็ขลังมากนะครับ
    ค. : เสกดี ของมันก็ดีเหมือนกัน
    ฤ. : ครับ ๆ ๆ ๆ มันมีตรงนี้แหละครับ ถ้าคนเสกไม่ดีของมันก็ดีไม่ได้ ไอ้คนขัดไม่ดี ของมันก็ไม่หายสกปรกอะไร ปริญญา?
    ปริญญา : เขาจะหาเหรียญหลวงปู่กันครับ
    ฤ. : อ๋อ.. เหรียญหลวงปู่ ก็มารวมกันทีเดียวเลยพร้อม ๆ กัน
    ค. : ให้หลวงปู่มอบให้
    ฤ. : ใช่ครับ
    ค. : เป็นสิริมงคล
    ฤ. : เอามาพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่คนละเหรียญ ๒ เหรียญ และหลวงปู่มอบรวมกันเลย ไอ้แบบนี้เคยครับ กระผมเองเหนื่อยเกือบตาย มากันทีละอัน ๒ อัน ไอ้เราก็อาน คือถ้าใช้ใจคราวเดียวละกำลังใจมันสูง พอหลาย ๆ หนเข้าชักขี้เกียจ
    ปริญญา : หลวงปู่เคยเจอหลวงพ่อมากี่ชาติแล้วครับ?
    ค. : หลายชาติแล้ว
    ฤ. : คงเป็นแสน ๆ ละมั้ง
    ปริญญา : เจอะกันได้อยู่ดีแหละครับ
    ค. : คงจะเกิดอยู่แถวไหน?
    ปริญญา : เห็นว่าเลิกแล้วครับ หลวงปู่ลองดู เห็นว่า เลิกแล้วครับ
    ค. : ฮื่อ
    ฤ. : ไม่ใช่ ถามว่าเกิดจังหวัดไหน ว่างั้น
    ค. : จังหวัดไหน
    ฤ. : กระผมหรือครับ เกิดจังหวัดสุพรรณครับ
    ค. : สุพรรณรึ อยู่แถวไหน กรุงเทพฯ รึ?
    ฤ. : อ้า..เลยกรุงเทพฯ ลงไปครับ
    ค. : เลยกรุงเทพฯ ลง
    ฤ. : ครับ เลยไปหน่อยครับ มาทางด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ ครับ
    ค. : อือ นครปฐมนี่มันอยู่ทางไหน
    ฤ. : อ้อ อยู่ใกล้ ๆ กันครับ
    ค. : ใกล้กันเรอะ เออ กาญจนบุรีใกล้กันไหม
    ฤ. : ใกล้กันครับ เขตติดต่อกันครับ กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรีติดต่อกัน
    ค. : ติดต่อกัน? อ้อ
    ปริญญา : คุ้นเคยกับหลวงพ่อดีอยู่หรือครับ หลวงปู่ (เสียงหัวเราะ)
    ฤ. : ลองถามซี ใครเคยโกงใคร (เสียงฮา)
    ปริญญา : ใครเคยโกงใครครับ
    ค. : (หัวเราะ)
    ฤ. : ต่างคนต่างเป็นโจทก์ ต่างคนต่างเป็นจำเลย หลวงปู่เป็นคนมีบุญ มีบุญมาเรื่อย เป็นคนมีบุญมาเรื่อย
    ค. : ฮึ ๆ
    ฤ. :ไม่ต่ำกว่าใคร โกงก็เก่ง
    ค. : (หัวเราะ)
    ฤ. : โกงก็ไม่แพ้ใคร ใจดีก็ไม่แพ้ใคร ให้ทานก็ไม่แพ้ใคร สงเคราะห์ก็ไม่แพ้ใคร โกงก็ไม่แพ้ใคร มือดี มือดีเก่ง คำว่า แพ้ไม่มีในชีวิต นี่แหละจำไว้เถอะ องค์ตื้อว่าเก่งแล้ว ไม่ใช่ว่าเก่งหรอกนะ ปัดโท่ (เสียงหัวเราะ)
    ปวดกบาลครับ เดี๋ยวก็สาวไส้เก่ามาให้เขาดูจนได้
    ค. : หลวงปู่ใครว่าดีก็ยิ้มเสีย ใครว่าร้ายก็ยิ้มเสีย
    ฤ. : หมดเรื่อง ไง ๆ ก็ช่างมัน หมดเรื่องกันไป
    (กับศิษย์ นี่ เรื่องแพ้ไม่มีหรอก มือก็ไม่แพ้ใคร สมองก็ไม่แพ้

    ชาลินี : เคยทะเลาะกันหรือคะ
    ฤ. : ไม่หรอก พวกเดียวกัน ถ้าทะเลาะก็เรื่องธรรมดา ๆ ฮ่อ โกงอะไรน่ะหรือ ไม่ได้เอาเปรียบใครหรอก โกงเขาไม่ได้โกงทรัพย์โกงสิน หลวงปู่มาอยู่ที่วัดนี้นานแล้วหรือครับ
    ค. : ๖๐ พรรษา เดิมเป็นเจ้าอาวาส สร้างแล้วก็เดินธุดงค์ สร้างแล้วเดินธุดงค์จนไปไม่ไหว ก็ออกไปอยู่ที่อยู่เดี๋ยวนี้ บริกรรมภาวนา เวลาเช้า ๖ โมง ก็มาฉันข้าว ฉันเช้าแล้ว ถ้าแขกมาก็รับแขก ว่างแขกก็ออกไปอยู่วัดป่านอนพัก นอนบริกรรม นั่งสมาธิอยู่โน่น บางทีแขกก็ไปหาเยี่ยมหา ก็ดีหรอก
    ฤ. : ขอลาหลวงปู่ละครับ
    ค. : ไปลำพูนละไปหาหลวงปู่ทืมด้วยนะ ไม่ไกลหรอกโชคดี
    ฤ. : ไปแน่ครับ ขอธรรมใดที่หลวงปู่เห็นแล้วนะครับ ขอให้บริษัททั้งหมดเห็นด้วยนะครับ
    ค. : เอ้อ..เอาอนุโมทนา หลวงปู่ปฏิบัติมายังไง ให้ญาติโยมอนุโมทนาทุกผู้ทุกคน ขอให้ได้สำเร็จ โสดา สกิทา อนาคา ตามความปรารถนาทุกผู้คน เทอญ

    (ทั้งหมด) : สาธุ

    ฤ. : อ้า…หลวงปู่ครับ ไอ้กรรมใดที่เคยล่วงเกินกันมาแต่อดีตชาตินะครับ กรรมนั้น ถ้าจะมีก็ขอประทานอโหสิกรรม
    ค. : เออ...
    ฤ. : เคยล้อเลียนพี่มานานแล้ว
    ค. : เออ...
    เป็นอันว่ากราบลาหลวงปู่คำแสนออกมา ในขณะที่ขึ้นรถ เห็นหลวงพ่อคำแสนท่านนั่งอมยิ้มชะเง้อมองคล้าย ๆ มีความอาลัย จนกระทั่งเราพ้นเขตวัดออกมา ก่อนจะออกเดินทางไปที่อื่น ป่องขอเสนอข้อสังเกตนิดหนึ่ง คือ

    ๑. หลวงปู่คำแสน ซึ่งไม่เคยรู้จักกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำของเราเลย ท่านรับรองยืนยันว่าได้เจอะกันมากับหลวงพ่อของเราในอดีตชาติ นับเป็นโชคดีของเราที่ได้เป็นพยานในเหตุการณ์ครั้งนี้
    เรื่องตายแล้วเกิดอีกเรื่องระลึกอดีตชาตินี้ความจริงพวกเราก็เชื่อกันอยู่แล้ว ถึงคนอื่น ๆ ก็ออกจะเชื่อ ๆ เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยแน่ใจ ถัดออกไปก็ไปถึงคนพวกที่ไม่เชื่อเลย นั่นก็สุดแต่บุญแต่กรรมของเขา ตำราท่านบอกไว้ชัดเจนว่า ฝึกได้อตีตังสญาณก็จะรู้ได้ แต่ท่านผู้เก่งท่านว่าเรื่องยังงี้ไม่มี เป็นไปไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่กระดิกหูเลยในญาณอะไรต่อญาณอะไร แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน ก็ต้องยกให้เป็นของท่านผู้เก่งไป
    ข้างพวกเราเองนั้น ถือตามพระบรมครูว่าสิ่งใดที่เราไม่รู้ เราก็ต้องเชื่อว่าท่านผู้รู้ก่อนเพราะฉะนั้นเราก็เชื่อมาเรื่อย แต่คราวนี้ น่าชื่นใจที่ความเชื่อของเรา ปรากฏว่าเป็นจริง

    ๒. พรของหลวงปู่คำแสนนั้น ขอให้สังเกตว่าไปหยุดอยู่แค่อนาคามี เท่านั้นไม่ไปถึงอรหันต์ อันนี้เป็นเคล็ดที่หลวงพ่อฤาษีได้สอนไว้ว่าใครได้แค่ไหน เขาก็จะพูดแค่นั้น ไม่พูดเลยไปกว่านั้น เพราะเขายังไม่รู้
    พอออกมานอกวัด ก็เลยกระซิบถาม หลวงพ่อก็กระซิบตอบมา (เคราะห์ดีท่านลืมห้ามไม่ให้กระซิบต่อจึงจำเป็นถือโอกาสกระจายเสียก่อน)
    ท่านบอกว่า พอโผล่เข้าไปเจอะหน้าหลวงปู่คำแสนก็ต๊กกะใจ คนรู้จักมาก่อนนี่หนา แล้วเลยอธิบายต่อไปว่าท่านเคยเป็นพี่มาหลายชาติ ทุก ๆ ชาติก็เป็นยังงี้แหละ ช่างยิ้ม ช่างคุย แม้แต่เวลากำลังรบก็ยิ้ม ยิ้มไป ชวนคุยไปได้ท่าฟันคอขาด ถึงได้บอกว่า โกง คือโกงฟันเขาตอนเขาเผลอตัวฟังคุย
    ตานี้ ถึงคราวป่องกระซิบท่านบ้างเป็นการตอบแทน กระซิบถามท่านไป “หลวงพ่อจำได้ไหมครับตอนทัศนาจรครั้งที่ ๑ น่ะ หลวงพ่อบอกไว้ว่าสมเด็จท่านสั่งว่า ถ้าพบพระชื่อทืม ก็นิมนต์มางานได้ พระองค์นี้ใช้ได้”

    หลวงพ่อร้อง เออ..จริงซี ลืมไปสนิทนึกไม่ออกเลย ท่านบอกไว้ด้วยว่าเป็นพระไม่เอาไหน ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลยใช่ไหม ป่องก็รับว่าใช่ เรื่องนี้ป่องบันทึกไว้ แล้ว พ.ท. ศรีพันธ์ วิชชุพันธ์ ก็บันทึกไว้
    หลวงพ่อให้ความเข้าใจแก่เรา หลวงพ่อคำแสนเป็นพระอนาคามี ยังติดอยู่นิดเดียว คล้าย ๆ ว่าจะตัดไปเลยเมื่อไรก็ได้ นี่ก็ตรงกับข้อสังเกตของพวกเรา แต่เราขาดความรู้ที่ท่านไม่ใช่พระอนาคามีธรรมดา เป็นพระอนาคามีมีอภิญญาเสียด้วย มิน่าล่ะหลวงพ่อฤาษีถึงได้บอกว่าไม่แพ้หลวงปู่ตื้อ
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ออกมาจากวัดดอนมูล คณะก็เดินทางไปนมัสการพระธาตุหริภุญไชย ประวัติของพระธาตุนี้มีปรากฏอยู่แล้วในหนังสือ “ฤาษีทัศนาจร” สำหรับวันนี้เมื่อนมัสการเสร็จหลวงพ่อก็เดินดูบริเวณอยู่ครู่หนึ่ง ซึ่งป่องเห็นว่าความจริงเราควรที่จะรีบไป เพราะเวลามีน้อย
    วัดจามเทวีที่เราจะไปนี้ มีชื่อเสียงมาก ท่านที่เล่น พระรอดลำพูน มักจะเจาะจงเอาพระรอดกรุจามเทวี กับกรุวัดมหาวัน (หรือว่าพระรอดจากจามเทวีมาจากกระวัดมหาวันก็ไม่แน่ใจ) วันก่อนโน้น ไปที่วัดสวนดอก ปากบอนไปถามว่าไม่มีใครเขามีพระรอดกรุจามเทวีบ้างรึ

    คนแถวนั้นเขาบอกว่ามีอยู่องค์หนึ่ง เจ้าของเขาจะเอา ๖ หมื่นบาท เลยต้องบอกว่า “ไม่สน” ว่าแล้วก็เตร่มาอวดหลวงพ่อฤาษีถึงพระองค์นี้ ท่านฟังแล้วก็บอกว่า “ปลอมว่ะ” โอ้โฮ..ขนาดพระปลอมยังหกหมื่น พระแท้มิตักเข้าไปตั้งล้านรึ?
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ตอนที่ ๗

    ครูบาบุญทืม พรหมเสโน

    หรือพระปลัดบุญทืม พรหมเสโน แห่ง "วัดจามเทวี" อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน


    ด้วยกายเนื้อ..หลวงพ่อฯ เคยนำพวกเราไปพบ และนมัสการพระคุณเจ้าศิษย์ ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย องค์นี้มาแล้ว ๖ ครั้ง ครั้งแรกที่วัดจามเทวี หลังจากที่ไปนมัสการหลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร (วัดป่าดอนมูล) และได้รับคำแนะนำให้มาพบให้ได้

    "เป็นพระเฉยๆ ท่าทางไม่เอาไหน พระที่วัดก็ไม่มีใครรู้ ชาวบ้านก็ไม่รู้ แต่เป็นพระแท้ ไปหาให้พบให้ได้"

    หลวงปู่คำแสนเล่าพลางหัวเราะพลาง และหลังจากที่พวกเราได้พากันนมัสการกราบลาหลวงปู่ฯ เรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อฯ ก็รีบเดินทางพาพวกเราไปนมัสการหลวงปู่ทืมฯ ที่วัดจามเทวีในทันที โดยไม่มีการนัดหมาย

    แม้หลวงปู่คำแสนท่านเตือนมาก่อนที่จะเดินทางไปพบแล้ว ก็ยังเกิดเหตุคนชนพระตายจนได้ คือพอคณะของพวกเราไปถึงวัดจามเทวีแล้ว ไม่มีใครเคยรู้จักหลวงปู่ทืมฯ มาก่อน ขณะนั้นก็มีพระแก่ท่าทางทึมๆ ห่มผ้าสีกลักตุ่นๆ มอมแมมองค์หนึ่งเพิ่งจะเดินทางเข้ามาในวัดจามเทวีเหมือนกัน ท่าทางของท่านเหมือนกับรีบร้อนจะมาหาใครที่วัดจามเทวี มีท่าทีงกๆ เงิ่นๆ ไม่ทันที่หลวงพ่อฯ ท่านจะสั่งประการใด ศิษย์ของหลวงพ่อท่านหนึ่งก็ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมปราดเข้าไปถามพระแก่องค์นั้นทันทีว่า

    "รู้จักหลวงปู่ทืมไหมครับ" พระแก่องค์นั้นยิ้มกระตุกๆ ที่ริมฝีปากทำหน้าตาเหรอหราก่อนที่จะตอบมาอย่างเรียบๆ และสั้นๆ ว่า
    "รู้จัก"
    ศิษย์ท่านนั้นก็ถามต่อไปอีกว่า
    "แล้วหลวงปู่ท่านอยู่ที่กุฏิไหนครับ"
    พระแก่องค์นั้นก็ยิ้ม กระตุกๆ อีกเช่นเคย ตอบมาอย่างหน้าตายๆ เป็นทองไม่รู้ร้อนว่า
    "อยู่ที่กุฏินี้" พลางชี้มือไปที่กุฏิเยื้องไปหน่อยตรงหน้า
    "อย่างนั้นท่านช่วยเรียกหลวงปู่ทืมฯ ให้หน่อยซิครับ" ศิษย์คนนั้นถือโอกาสวานเรียกให้ซะเลย
    "อ้อ..ได้"
    แล้วพระแก่องค์นั้นก็ยืนนิ่งเฉยอยู่ ศิษย์ท่านนั้นก็ยืนมองตามอย่างสงสัย (อ้าวก็เมื่อรับปากว่าได้ก็น่าจะไปตามให้ แล้วไหงไม่ไปตามให้ กลับมาทำยืนเฉยอยู่อย่างนั้นยังไม่ไปตามให้อีกแน่ะ)
    "ฉันเอง..พระทืมฯ "

    ในที่สุดพระแก่องค์นั้นก็พูดเบาๆ แล้วยิ้มฟันหลอ หลังจากปล่อยให้ยืนมองอยู่พักใหญ่ เอ้อเฮอ..งานนี้หมอใหญ่ต้องลาออกเลยครับ หน้าตาเละเทะเป็นโจ๊กปั่นด้วยมูลีเนกซ์ แหลกแล้วแหลกอีก

    เรื่องนี้เล่ากันนานไม่รู้จบ แต่ก็เป็นทำนองขบขันนะครับ ไม่มีใครตำหนิหรือเยาะเย้ยใคร เพราะทราบกันดีอยู่แล้วว่าถึงแม้จะเป็นลูกศิษย์คนอื่นๆ ก็คงจะโดนหลวงปู่ฯ ล้อเล่นเอาเช่นเดียวกัน เรื่องนี้ ท่าน "โกษา ป่อง" เล่าอย่างละเอียดยิบเอาไว้แล้วในหนังสือเรื่อง ล่าพระอาจารย์ กรุณาลองไปหาอ่านเอาเองนะครับ ศัพท์หนังจีนกำลังภายในเขาใช้สำนวนว่า "วิทยายุทธสูงล้ำ แต่ครอบงำเอาไว้ได้อย่างมิดชิด หรือ วิทยายุทธสูงสุดยอด พลันกลับคืนสู่สามัญ" อะไรทำนองนี้นี่แหละครับ..พระคุณท่าน..!
    ________________________________________

    ยายเพิ้ง..ผ้าขี้ริ้วห่อทอง

    (ถึงตรงนี้กระผมขอแทรกเรื่องๆ หนึ่ง เกี่ยวกับลูกศิษย์ของหลวงพ่อฯ ท่าน คนนี้เด็ดจริงๆ ครับ ท่านคือ คุณป้าเสงี่ยม สังกรณีย์ (ที่เรียกคุณป้าเพราะท่าทางจะมีอายุมากกว่าคุณแม่ของกระผม) ท่านเป็นคนจังหวัดระยอง ท่านเล่าว่าคุณสมบูรณ์ เวสารัชชานนท์ ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากของหลวงพ่อที่จังหวัดระยอง ได้นำหนังสือ ประวัติหลวงพ่อปาน มาให้อ่าน ซึ่งชอบมาก อยากไปหาหลวงพ่อ ก็ไปบอกกับน้องคุณสมบูรณ์ว่าจะไปหาหลวงพ่อที่วัด แม้จะไม่เคยไป เธอยังถามว่าจะไปได้หรือ คุณป้าท่านก็ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ ปะๆ มือหิ้วชะลอม แต่มีปืนอยู่ในนั้นด้วย คุณป้าบอกว่า เผื่อมีใครจะทำร้ายจะได้เอาปืนยิงขึ้นฟ้า คนจะได้กรูกันมาช่วยฉัน (กระผมว่าพอคุณป้าหยิบปืนออกมา คนร้ายมันก็เผ่นแล้วละครับ)

    ตอนไปถึงวัดท่าซุง ยังไม่ได้กินข้าวกลางวัน ก็พบคุณหญิงเยาวมาลย์ บุนนาค ลูกศิษย์ของหลวงพ่อซึ่งอยู่ที่วัด ท่านเอ่ยปากชวนคุณป้าว่า "เชิญคุณป้าร่วมรับประทานอาหารด้วยกันซิ" ทำให้คุณป้าซึ้งใจมาก และว่าคุณหญิงท่านตาถึง และมีน้ำใจดีจริงๆ ทั้งๆ ที่คุณป้าแต่งตัวปอนๆ กะว่าคนจะต้องดูถูก แต่กลับได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นใจ (แต่กระผมคิดว่าเป็นคุณธรรมของคุณหญิงท่านนั่นเอง) เรื่องแปลกก็คือ คุณป้าไปเจอรูปปั้นรูปหนึ่ง พอเห็นปั๊บก็รู้สึกว่านี่คือ ขุนไกร ทั้งๆ ที่ตอนนั้นไม่ได้มีป้ายบอกไว้ และไม่ทราบด้วยว่าอดีตชาติหลวงพ่อท่านเคยเป็น ขุนแผน มาก่อน

    เมื่อได้พบหลวงพ่อ ท่านก็ถามว่ามาจากไหน คุณป้าก็บอกว่ารู้จักคุณสมบูรณ์ และโกหกท่านว่าเป็นคนรับใช้ของคุณสมบูรณ์ และขอให้ท่านเขียนใส่กระดาษว่า คุณป้าได้มาพบหลวงพ่อ เพื่อจะนำไปยืนยันกับน้องสาวของคุณสมบูรณ์ว่ามาพบหลวงพ่อจริงๆ ท่านก็เมตตาเขียนให้ และหลวงพ่อยังได้ชวนทำบุญให้ช่วยสร้างกุฏิสักหลังราคา ๒๐,๐๐๐ บาท แต่คุณป้าทำบุญไปเพียง ๒๐๐ บาทเท่านั้น คุณป้าบอกว่า ฉันแปลกใจที่ฉันไปแบบอนาถา ใช้เสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ ปะๆ ดูไม่ได้ แต่หลวงพ่อท่านมาชวนฉันสร้างกุฏิเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท แสดงว่าหลวงพ่อท่านมีตาใน

    คุณป้าได้นิมนต์หลวงพ่อไปที่บ้าน หลวงพ่อท่านก็รับนิมนต์ทันที ก็มีลูกศิษย์ของหลวงพ่อคนหนึ่ง คงจะฟังอยู่นานแล้ว เกิดความรำคาญก็พูดขึ้นว่า หลวงพ่อไปเชื่อยายเพิ้ง แล้วคณะติดตามหลวงพ่อไปถึง จะไปนอนที่ไหนกัน (คุณคนนั้นเรียกคุณป้าว่ายายเพิ้ง) คุณป้าก็หันไปพูดกับคนอื่นว่า หลวงพ่อท่านมีตาใน

    ถึงเวลาคณะของหลวงพ่อซึ่งประกอบด้วย คุณหญิง คุณนาย และมีคนใหญ่คนโต บางท่านเป็นนายพล ลูกศิษย์ทั้งคณะประมาณ ๖๐ กว่าคน คณะนี้ตอนแรกก็คิดว่าจะไปนอนที่อื่น (ก็บ้านยายเพิ้งจะนอนเข้าไปได้ยังไงตั้งกว่า ๖๐ คน) พอมาถึงบ้านของคุณป้าปรากฏว่า มีบ้านอยู่ ๓ หลัง หลังใหญ่ ๒ หลัง และหลังเล็กทำเป็นกุฏิสงฆ์ ๒ ชั้นต่างหากอีก ๑ หลัง (อยู่แหลมแม่พิมพ์ บริเวณอ่าวไข่ จ.ระยอง) นี่ต้องเรียกว่าผ้าขี้ริ้วห่อทองนะครับ เป็นอันว่าทั้งคณะก็ได้พักบ้านคุณป้ากันทั้งหมด งานนี้สงสัยหมอไม่รับเย็บเหมือนกัน เพราะยายเพิ้งกลายเป็นคหบดีขึ้นมาได้

    บ้านพักของคุณป้าท่านอยู่ติดริมชายทะเลเลย อากาศดี ลมพัดเย็นสบาย คุณป้าเล่าว่า หลวงพ่อท่านบอกคุณป้าว่า ตามหามานานแล้ว เพิ่งมาเจอ แม่พิมพิลาไลย ปัจจุบันนี้มีศาลเจ้า "แม่พิมพ์" อยู่ที่แหลมแม่พิมพ์ด้วย เมื่อนึกถึงตอนที่เห็นรูปปั้น แล้วมีความรู้สึกว่าเป็นรูปปั้นขุนไกร และภายหลังมาทราบเรื่องราวของหลวงพ่อแล้ว จึงเข้าใจแจ่มแจ้ง ก่อนที่คณะของหลวงพ่อจะกลับ ท่านได้เมตตาจารึกอักษรลงไว้ในสมุดบันทึกว่า

    "อาตมา..ในฐานะหัวหน้าคณะ ได้มีโอกาสมาพัก และได้รับอุปการะจากอดีตคุณป้า เป็นอย่างดีพิเศษ ซึ่งไม่เคยได้รับอุปการะจากสถานที่ใดอบอุ่นอย่างนี้ ด้วยความดีของคุณป้าที่รัก และเคารพ อาตมา ในฐานะพระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จงอภิบาลให้คุณป้ามีความสุขสมหวัง ทั้งชาตินี้ และสัมปรายภพเถิด"

    เป็นสิ่งที่คุณป้าภูมิใจ และเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
    หลวงพ่อได้เมตตาไปพักที่บ้านของคุณป้าเสงี่ยม เกินกว่า ๑๐ ครั้ง เพราะอากาศดีกับสุขภาพของท่าน และเพื่อโปรดโยมในอดีตให้ปรารถนาพระนิพพานในชาตินี้นั่นเอง....

    กระผมเองก็เคยมีประสบการณ์มาบ้าง เพื่อนเขาพาไปกราบ หลวงพ่อกัสสปมุนี ท่านอยู่วัดที่จังหวัดระยอง แต่ท่านมาโปรดญาติโยมแถวถนนสีลม กรุงเทพฯ ผมก็ตามเขาไปอย่างนั้นเพราะตอนนั้นพบหลวงพ่อฤาษีฯ แล้ว ถึงจะเคยอ่านหนังสือของหลวงพ่อกัสสปฯ มาแล้ว และ ระยะหลังท่านก็เข้านิโรธสมาบัติทุกปี แม้ว่าสุขภาพของท่านไม่ค่อยดีนัก ด้วยความเลวของกระผม ไปถึงก็กราบๆ ท่าน แล้วก็ไปนั่งหลังสุดเพื่อน แต่หูก็คอยฟังท่านพูดอยู่

    คำแรกท่านว่าตอนนี้นอกพรรษาไม่ได้สอนปฏิบัติธรรม คุยกันสบายๆ ก็แล้วกัน แต่หลังจากนั้นประมาณครึ่งชั่งโมง กระผมก็ค่อยๆ กระเถิบจากหลังสุด จนไปอยู่ข้างหน้าสุด เพราะคำสอน (คุยสนุกๆ สบายๆ ) ของท่านมันโดนใจจริงๆ ได้แต่นึกอยู่ในใจว่า ถ้าหลวงพ่อกัสสปฯ และ หลวงพ่อฤาษีฯ ท่านได้มีโอกาสมา ปุจฉา-วิสัชนาธรรมโปรดญาติโยม แบบสองธรรมมาสน์ คงจะเป็นสิ่งที่วิเศษสุดสำหรับกระผม แต่บัดนี้ทั้งสองท่านก็ได้ละสังขารไปหมดแล้ว เหลือแต่กระผมที่ยังโง่งมอยู่ .... )
    ________________________________________

    ต้องกราบขออภัยท่าน นอกเรื่องไปมากทำให้ท่านเสียเวลา ขอเรียนเสนอเรื่องของท่านครูบาบุญทืมฯ จากการเขียนของ "ท่านอรรณพฯ" ต่อนะครับ... (หลวงพ่อฯ และคณะศิษย์ได้พบ ท่านครูบาฯ อีกหลายครั้ง)

    ครั้งที่ ๒ ที่วัดจามเทวี หลวงปู่ทืมฯ ได้นิมนต์หลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก ศิษย์ครูบาศรีวิชัยรุ่นพี่ของท่าน ซึ่งเป็นพระสุปฏิปันโนอีกองค์หนึ่งมาคอยรับอยู่ด้วย
    ครั้งที่ ๓ ที่วัดพระธาตุจอมกิตจิ (ไม่ใช่พระธาตุจอมกิตตินะครับ เป็นดอยเล็กๆ ชาวบ้านเรียกว่า ดอยจิ) พร้อมกับหลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก (ปัจจุบันนี้ วัดพระธาตุจอมกิตจิ อยู่ในเขต อ.สันทราย จ.เชียงใหม่)
    ครั้งที่ ๔ รับนิมนต์หลวงพ่อของเรา ไปแจกพระเครื่อง และผ้ายันต์ให้กับ ตชด.ที่ค่ายดารารัศมีพร้อมกับหลวงปู่คำแสน วัดดอนมูล (พวกเรารับท่านออกมาจากโรงพยาบาล เพราะหลวงปู่ท่านอาพาธไม่ใช่น้อย แต่ท่านยืนยันว่าอยากจะมา และท่านต้องมาให้ได้)
    ครั้งที่ ๕ ไปเยี่ยมหลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก ที่วัดวังมุยพร้อมกับหลวงพ่อฯ

    ครั้งที่ ๖ หลวงพ่อฯ พาพวกเราไปเยี่ยมหลวงปู่ ที่วัดนาเลียง พระพุทธบาทห้วยต้ม ซึ่งทำให้พวกเราได้รู้จัก และใกล้ชิดกับหลวงปู่ครูบาวงษ์ฯ เป็นอย่างยิ่ง ในโอกาส และกาลต่อมา

    หลวงปู่บุญทืมฯ เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ชื่อว่าเป็น "พระสุปฏิปันโน" โดยแท้ เป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนาที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว หลวงพ่อของพวกเราเป็นองค์รับรองอย่างแข็งขัน และพระสุปฏิปันโนทุกๆ องค์ที่หลวงพ่อเคยพาพวกเราไปนมัสการมา ก็รับรองเช่นนั้น ...

    ผมนั้นทั้งรัก ทั้งสงสารท่านเป็นนักหนา เมื่อเห็นท่านป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งในตับ แต่ความโง่ที่เชื่อเอาอย่างจริงๆ จังๆ ว่า ท่านสามารถจะใช้ฌานสมาบัติของท่านข่ม หรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ผมจึงได้ใช้กลอุบายต่างๆ นานา เพื่อที่จะให้ท่านอยู่กับพวกเรานานๆ แต่แล้วก็ไม่ไหว สงสารท่าน ปล่อยให้ท่านไม่ต้องทรมานสังขารจะดีกว่า

    ที่ผมเชื่อว่าท่านมีฤทธิ์นั้น เพราะผมเคยเห็นท่านเรียก "พระรอดมหาวัน" หรือพระเครื่องสมเด็จ หรือพระเครื่องของหลวงปู่ปาน (วัดบางนมโค ปรมาจารย์ของพวกเรา) ออกมาให้ดูหลายครั้งเหมือนกับแขกเล่นกล ซึ่งความที่ผมสนิทสนมกับท่านจนบางครั้งกล้าพูดเล่นหยอกล้อกัน เมื่อท่านทำให้ดูแล้วท่านก็กำชับผมหนักหนาว่าอย่าได้ไปเล่าให้ใครฟัง เขาจะหาว่าเอ็งบ้า

    เหมือนกับเรื่องยักษ์ หรือเปรตที่วัดหลวงปู่คำแสนฯ (ท่านสามารถหาอ่านได้จากหนังสือลูกศิษย์บันทึก เล่ม ๒) ที่ท่านกำชับไม่ให้ผมเล่าให้ใครฟังเช่นเดียวกัน ว่าเขาไม่เชื่อเขาจะหาว่าเราบ้า (ผมเล่าเรื่องยักษ์ที่วัดป่าดอนมูลให้หลวงปู่ทืมฯ ฟัง พอฟังจบท่านหัวร่อคิ๊กเลย พยักหน้าพยักตายกนิ้วหัวแม่โป้งให้แล้วบอกผมว่า ลูกน้องหลวงปู่เขา)

    แต่บัดนี้เวลาก็ได้ล่วงเลยมาถึง ๑๗ ปีแล้ว ผมก็เริ่มมีอายุมากแล้วอีกทั้งสุขภาพก็ไม่ค่อยดี ผมระลึกอยู่เสมอว่าความตายนั้นไม่มีนิมิตหมาย และท่องอยู่เสมอว่าวันเวลาล่วงเลยไป บัดนี้เธอทำอะไรอยู่ ดังนั้นถ้าผมไม่บอกไม่เล่าเสียตอนนี้ ถ้าผมตายไปแล้วใครเขาจะมารู้เรื่องเหล่านี้ ทุกอย่างก็จะเลือนลบไปพร้อมชีวิตของผม (แหม.. คิดเหมือน กระผมเปี๊ยบเลย) สู้ผมเล่าให้พวกท่านฟังเสียตอนนี้ พยานบุคคลก็ยังมีตัวตน และเป็นบุคคลที่พอเอ่ยชื่อทุกคนก็เชื่อถือ ซึ่งถ้าใครอ่านแล้วยังไม่เชื่อผม ผมก็ยังสามารถเอาตัวท่านเหล่านั้นมายืนยันให้ได้ กลับมาเรื่องหลวงปู่บุญทืมฯ กันดีกว่าครับ

    เรื่องราวชีวิตของท่านก็พื้นๆ ไม่มีอะไรโลดโผนพิสดาร (แหม..แต่ธรรมที่ท่านบรรลุ.. ไม่ใช่พื้นๆ เลยนะครับ) ในวัด ท่านก็เป็นเพียงพระปลัดฯ ของท่านเจ้าคุณธรรมฯ ท่านเจ้าอาวาส นอกจากเครื่องอัฐบริขารแล้ว หลวงปู่ไม่มีอะไรเป็นสมบัติของตนเองเลยก็ว่าได้ ท่านเคยเล่าให้ผมฟัง สมัยท่านครูบาศรีวิชัยกำลังโด่งดัง หลวงปู่ท่านยังเป็นเณรอยู่ ทางภาคเหนือ เขาเรียกเณรว่า "พระน้อย" แต่เมื่อเป็นพระภิกษุแล้วกลับเรียกว่า "ตุ๊เจ้า" ถ้าเป็นที่เลื่อมใสเคารพสักการะก็เรียกว่า "ครูบา"

    สำหรับหลวงปู่ทืมฯ พวกกระเหรี่ยงนับถือกันมาก สมัยที่ยังหนุ่มแน่นท่านก็ออกจาริกธุดงค์ไปทั่ว พะม่งพม่าท่านเดินไปมาหมด ท่านเคยเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน หรือเมืองหริภุญชัย เกี่ยวกับพระนางจามเทวี มาจนถึงสมัยวัดจามเทวีเมื่อครั้ง เจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ มาบูรณะวัด เล่าถึงเชื้อสายของเจ้านายทางเหนือพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นพระภิกษุที่ทรงบุญญฤทธิ์ บอกชื่อแซ่มาเสร็จแถมให้เหรียญมา ๑ เหรียญ กับรอยขมิ้นประทับรอยเท้าบนผ้าขาวมา ๑ ผืน ไม่รู้ไปทำหายที่ไหน หรือให้ใครไปแล้วก็ไม่รู้

    ด้วยคิดว่าสักวันหนึ่งจะไปกราบนมัสการด้วยตนเอง จึงเอาสิ่งของที่ว่านั้นให้กับผู้ที่อยากได้ ด้วยเห็นว่าเขาผู้นั้นไม่มีโอกาสอย่างแน่ๆ และปรากฏว่าบัดนี้ผมเองก็อาจจะไม่มีโอกาส แถมยังจำชื่อท่านก็ไม่ได้ เชื่อว่าพี่แดงฯ (ท่าน พล.ต. ศรีพันธ์ วิชชุพันธุ์) น่าจะจำได้ เพราะท่านชอบประเภทกำลังภายในอยู่แล้วนี่ครับ พอเอ่ยถึงพี่แดงฯ ก็เลยขอเล่าเรื่องแปลกๆ (หรือมหัศจรรย์) เกี่ยวกับหลวงปู่ทืมฯ และวัดจามเทวีให้ฟังสัก ๒-๓ เรื่อง

    เพราะเมื่อครั้งที่หลวงปู่ทืมฯ ยังมีชีวิตอยู่ พี่แดงฯ ชอบเข้าไปแอบคุยกับหลวงปู่ฯ จุ๊กจิ๊กกัน ๒ คนเสมอๆ แต่พี่แดงฯ ก็ไม่ยอมบอกพวกเราว่าแอบไปคุยเรื่องอะไร งุบๆ งิบๆ กับหลวงปู่ฯ เมื่อผมพบหลวงปู่ฯ ครั้งใดท่านก็จะถามถึงพี่แดงฯ อยู่เสมอๆ (ท่านชมน่ะครับ ชมพี่แดงฯ หลายอย่างทีเดียว และท่านว่าท่านชอบที่พี่แดงฯ คุยสนุกดี ไม่เบ่งไม่ถือตัว)


    ตอนที่หลวงปู่ฯ ป่วยมากใกล้จะตาย พวกเรานิมนต์ท่านไปรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลลำพูน ซึ่งอยู่ติดกับวัดนั่นแหละ เพราะพี่ชวาลฯ (ท่าน พล.อ.ชวาล กาญจนกูล) ท่านมีพรรคพวกที่เป็นนายแพทย์หลายท่านคอยช่วยดูแลอยู่ หลวงปู่ฯ นั้นป่วยเป็นมะเร็งที่ตับ และพวกเราก็รู้อยู่ว่าท่านจะอยู่ได้ไม่นาน

    ก่อนหน้านั้น กะเหรี่ยงก็มาเอาท่านไปนอนรับการรักษาอยู่ที่ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม และท่านก็ตั้งใจจะไปตายที่นั่น แต่ผมไปกราบเรียนท่านว่า พวกเราจะทอดกฐินที่วัดจามเทวี และที่วัดดังกล่าวมีพระที่พวกเราศรัทธาอยู่เพียงองค์เดียว คือหลวงปู่ฯ นี่แหละ ถ้าหลวงปู่ฯ ไม่มารับกฐิน ศรัทธาจะมากันน้อย ท่านถึงยอมมารอรับกฐินอยู่ที่โรงพยาบาล

    ตอนนั้นท้องของท่านป่องเหมือนลูกโป่ง หรือลูกบอลลูน น้ำเต็มช่วงอกทำให้ปอดชื้นด้วย หมอเขาเอาเข็มแทงเจาะเอาน้ำออกได้วันสองวัน ก็ป่องขึ้นมาอีกเหมือนคนท้อง ๙ เดือน ท่านเคยเรียกผมเข้าไปพูดตรงๆ ว่าท่านขอตายเถิดนะ ผมไม่ยอม

    ท่านเอามือผมเข้าไปกอด พูดไปหอบไปแต่หน้ายิ้มแย้มตาใสแจ๋ว แฝงความจริงจัง ขอฝากผมเรื่องกฐินวัดจามเทวี ผมดึงมือออกจากฝ่ามือของหลวงปู่ฯ และกราบเรียนท่านว่า เสียใจหลวงปู่ฯ ถ้าหลวงปู่ฯ ตาย กฐินคงจะไม่มาแน่นอน ท่านทอดถอนใจมองหน้าผมตาแป๋ว จนผมกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ รำๆ จะใจอ่อนพูดว่า จะตายก็ตายเถิดครับ อย่าห่วงอย่าทรมานอยู่เลย

    แต่ในตอนนั้นผมยอมรับครับว่าโหดจริงๆ ผมนี่ ผมให้เอาเหรียญครูบาศรีวิชัยที่หลวงปู่ฯ แอบไปสร้างมาไว้ที่โรงพยาบาล ขอร้องพี่ชวาลฯ ว่าถ้าหลวงปู่ฯ ฝากเหรียญชุดนี้มาให้ผม ขอพี่ชวาลฯ อย่าได้รับปาก เพราะผมทราบดีว่าเป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายที่หลวงปู่ฯ สร้างเตรียมเอาไว้แจกงานกฐิน และงานศพ

    (ตอนหลังหลวงปู่ฯ เอาเหรียญชุดนี้ไปไว้ที่พระอุโบสถวัดจามเทวี ให้พระโยงสายสิญจน์มาที่เตียงที่ท่านนอนอาพาธ และปลุกเสกตลอดพรรษา เหรียญชุดนี้ตอนหลังท่านฝากพี่ชวาลฯ เอามาให้ผม โดยพี่ชวาลฯ ก็คงแกล้งทำลืม ที่ผมขอร้องดักคอหลวงปู่ฯ เอาไว้ก่อน จึงได้รับเอามาให้ผม ซึ่งผมเองก็รู้ทันพี่ชวาลฯ ว่าคงจะทนสงสารหลวงปู่ฯ ไม่ไหว ยินยอมพร้อมใจให้ท่านพ้นจากความทรมาน ทั้งที่พี่ชวาลฯ ก็เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุน ให้ผมอาราธนาหลวงปู่ฯ ให้อยู่ต่ออย่าพึ่งทิ้งขันธ์ห้าไปเสียก่อนงานกฐิน)

    หลวงปู่ฯ ท่านพูดทำนองปรึกษาหารือกับผมว่า สังขารของท่านนั้นภายในมันเน่าหมดแล้วนะ ผมถามว่าแล้วหลวงปู่ฯ ทำอย่างไร ท่านว่าธาตุไฟก็เอาเตโชมาหล่อเลี้ยง ดินก็เอาปฐวี ที่เป็นลมก็เอาวาโย วิญญานเอาอากาสะ ทุกอย่างเอากสิณมาหล่อไว้ทั้งหมด ท่านว่าทำนานไปแล้วคนเขาจะจับได้ ผมก็ย้อนถามท่านไปว่า แล้วหลวงปู่ฯ ถามพระบ้างไหมพระท่านว่าอย่างไร ท่านว่า พระว่าแล้วแต่ปู่ฯ ผมบอกว่าไม่เชื่อ หลวงปู่ฯ ขี้เกียจ หลวงปู่ฯ ว่า เปล่าไม่ได้ขี้เกียจ มันเหนื่อย กลัวบาป ผมก็เลยบอกว่า ถ้างั้นเป็นอันว่าเราปู่หลานไม่ได้พบกันจนกว่าจะถึงวันกฐิน ถ้าเสร็จรับกฐินแล้วแขกจากกรุงเทพฯ กลับหมดแล้ว นิมนต์ตายตามสบาย
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    หลวงปู่ฯ พอฟังคำนี้นอนหลับตาไปเลยไม่รับปาก แต่ก็ไม่ปฏิเสธ ผมก็กลับกรุงเทพฯ ทันทีเหมือนกัน ในใจนั้นภาวนาขอพรพระ (ผมว่าพระนี่ขอได้โปรดเข้าใจนะครับว่าผมหมายถึง พระพุทธเจ้า) ขอฉันทานุมัติสั่ง และช่วยไม่ให้หลวงปู่ฯ ตายก่อนกฐิน แต่แล้วเช้าวันหนึ่ง ขณะที่ผมอยู่ที่วัดท่าซุง หลวงพ่อของเราเรียกผมเข้าไปหา ท่านว่า ไอเป๋..ปู่เอ็งมาหาข้าฯ เมื่อคืนที่แล้ว เอาไว้ไม่ไหวจะตายวันนี้ ฟังคำหลวงพ่อผมก็งงเต็กเจ๊กตะลึง..ว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น

    โธ่..หลวงปู่ฯ ไม่น่าหักหลังกัน ผมทำอะไรไม่ถูกได้แต่ฟังข่าวว่าจะเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่นานจนเกินรอ ตอนบ่ายวันนั้นเองโทรเลขด่วนจี๋จากพี่ชวาลฯ ก็มาถึงวัดท่าซุง หลวงปู่มรณภาพแล้ว ขนาดที่ผมรู้จากปากของหลวงพ่อของเรามาก่อน ผมยังทำใจไม่ได้ ผมเศร้าสลดใจมาก และเมื่อผสมผสานกับความน้อยใจเป็นอันมาก ทำให้น้ำตาไหลรินออกมาตลอดเวลา

    (คือสามารถพูดจาเป็นปกติกับคนทั่วๆ ไปได้ ทำงานได้ แต่จะมีน้ำตาไหลออกมาตลอดเวลา โดยไม่เป็นเรื่องเป็นราวอยู่อย่างนั้นหลายวัน ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าน้อยใจท่านเรื่องอะไร และจนบัดนี้ก็ยังไม่รู้ อาการที่เป็นไม่มีการสะอึกสะอื้น กระอืดกระอือออดอ้อนแต่ประการใดนะครับ)

    ระยะหลังผมจึงเรียนรู้จากหลวงพ่อมากขึ้นๆ จนมีความรู้สึกกับความตาย เหมือนกับเดินออกจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งเท่านั้น และห้องใหม่ก็ดีกว่าห้องเก่าทุกทีไป คนที่สร้างความดีไม่เคยกลัวตาย คนกลัวตายเป็นผู้ที่ไม่แน่ใจว่าเมื่อตายแล้วจะไปไหน ไม่แน่ใจว่าเมื่อตายแล้วจะลงอเวจีมหานรก หรือไม่ ความตายนั้นสำหรับพระอรหันต์นั้น (ไม่ใช่ผมนะครับ) ท่านปรารถนาทุกลมหายใจเข้าออก ท่านไม่ได้ห่วงอะไร หลวงปู่ทืมฯ ก็เหมือนกัน

    ผมอยากจะถามทุกท่านที่ได้กรุณาอ่านข้อเขียนของผมว่า หลวงปู่ฯ ท่านห่วงกฐินหรือ ท่านห่วงวัตถุเงินทองหรือ สมมติอย่างหลวงพ่อของเรา ท่านจะเอาเงินทองไปทำอะไรส่วนตัว หรือว่าท่านอยากจะให้เราสร้างถาวรวัตถุ จะได้สร้างชื่อเสียงของท่านว่าได้สร้างวัตถุใหญ่โตมโหฬาร หะหรูหะหราเลอเลิศวิลิศสะแมนแตน ไม่น่าจะใช่หรอกนะครับ

    คือผมคิดของผมอย่างนี้นะครับ ระดับหลวงพ่อฯ หลวงปู่ฯ มีหรือท่านจะไม่รู้ว่า ไม่ว่าวัตถุอะไรในโลกนี้หรือโลกไหน มันย่อมจะอยู่ในกฎ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สมบัติใดๆ ไม่ว่าจะในโลกมนุษย์ ในสวรรค์ แม้ในชั้นพรหมก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์อันนี้ อย่างนั้นก็จะมีคนถามอีกว่ากระนั้นแล้วจะไปสร้างเอาไว้ทำไม
    ผมว่า ประการที่หนึ่งท่านต้องการให้เรารู้จักจาคะ คือ ความเสียสละ หรือ ให้รู้จัก ทานัง ทาน หรือการให้ เพื่อเอาตัวนี้ไปตัดตัวโลภะ

    ประการที่สอง การที่เสียสละเพื่อตัดความโลภ แล้วก็จะยังประโยชน์แก่ตัวของผู้บริจาค ซึ่งถ้าพลาดพลั้งเขายังไม่บรรลุอรหัตผล ของเหล่านี้ก็จะบังเกิดอยู่เป็นสวรรค์วิมานของเขา อยู่ในสุคติของเขา ในประการเดียวกันนี้ถ้าไม่ต้องบังเกิดในกามาวจรอีก ของเหล่านี้จะจรรโลงพระศาสนา ศิษย์ของพระตถาคตมีหน้าที่จรรโลงพระศาสนานี้ ไม่ว่าพระศาสดาจะเป็นพระองค์ใด ในกัล์ปนี้เป็นหน้าที่ของพระสมณโคดม แต่ไม่ว่ากัล์ปไหน พระพุทธเจ้าพระองค์ไหน เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ พวกเราควรจะจรรโลงเอาไว้หรือไม่
    ประการต่อไป มีบางท่านปรารถนาพระพุทธภูมิ ย่อมจะต้องสร้างบารมี (กรุณาค้นจากหนังสือที่หลวงพ่อฯ เขียน เกี่ยวกับบารมีสิบทัศ) เรียกว่าถ้าเชื่อหลวงพ่อฯ แล้วมีแต่ได้ประโยชน์ หลวงพ่อฯ หลวงปู่ฯ ท่านไม่มาห่วงสมบัติเหล่านี้หรอกครับ ผมว่าท่านอยากจะนำพวกเราเข้าไปเสวยโลกุตตระสมบัติให้เร็วที่สุดมากกว่าน่ะครับ

    ในที่สุดหลวงปู่ฯ ก็ถึงกาลมรณภาพ พวกเราไปดูแลไม่ได้ แต่หลวงพ่อฯ ก็ได้กรุณามอบหมายให้พี่ชวาลฯ เป็นตัวแทนของพวกเราไปดูแล เพราะพี่ชวาลฯ อยู่ทางนั้น และพวกเรากำลังมีภาระติดงานวัด ฉลองวันครบรอบ ๑๐๐ ปีเกิดของหลวงพ่อปานฯ ปรมาจารย์ของพวกเรา ครั้นงานทางวัดหลวงพ่อฯ เสร็จแล้วเราก็รวมสมัครพรรคพวกกันไปงานศพของหลวงปู่ฯ ไปทอดกฐินกันจนได้ ได้เงินเท่าใดผมไม่ทราบเพราะไม่ได้เป็นคนเก็บเงิน และในวันเผาศพของหลวงปู่ฯ ที่วัดจามเทวีฯ ก็มีทั้งพระทั้งคน ทั้งอะไรๆ ที่ตามนุษย์มองไม่เห็น มากันมากมายจนขยับตัวแทบจะไม่ได้

    "..นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
    สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา.."

    ก่อนหน้านั้นผมยอมงัดเอาพระเครื่อง สมบัติส่วนตัวของผมออกมาทำบุญ เพื่องานกฐิน และงานศพของหลวงปู่ฯ เช่น พระรอดเณรจิ๋ว หรือที่เซียนพระเขาเรียกกันว่า "พระรอดครูบาศรีวิชัย" พระชุดนี้นั้นหลวงปู่ฯ เป็นคนแกะพิมพ์เมื่อครั้งยังเป็นเณร แล้วถวายให้ครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย นำไปให้ครูบาศรีวิชัยปลุกเสก ราคาพระในตลาดตอนนั้น ประมาณองค์ละ ๕๐๐ บาท

    ผมลงทุนทำกล่องเอง แล้วมอบให้กับที่บ้านสายลม ออกให้บูชาจำนวนหลายร้อยองค์ๆ ละ ๕๐๐ บาท พรึ่บ..เดียวหมด แถมด้วยพระรอด พรหมเสโนอีกหลายพันองค์ หลายพันพรึ่บยังไม่หมด ยังเหลืออยู่ที่บ้านสายลมทุกวันนี้ (ปัจจุบันนี้น่าจะหมดไปแล้วนะครับ) ราคาเท่ากันกับที่เคยให้บูชาเมื่อ ๑๗ ปีก่อน

    บัดนี้หลวงปู่ฯ ได้มรณภาพลงแล้ว... อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีผู้ใดได้ทันเห็นใจท่านในวาระที่กายสังขารแตกดับ เพราะพวกเราต่างก็มีภาระมากมาย วุ่นวายโกลาหลกันอยู่ที่งานวัดท่าซุงฯ และระยะทางหรือก็ไกลกัน แม้จะไม่ประมาทในเรื่องของสังขารร่างกาย ว่าความตายไม่มีนิมิตหมาย แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าวาระแตกดับแห่งกายสังขารของหลวงปู่ฯ จะรวดเร็วถึงปานฉะนี้ ...

    และด้วยชันษาเพียง ๖๐ ปี เปรียบเทียบกับบรรดาพระคุณเจ้าพระสุปฏิปันโนที่พวกเราได้เคยไปนมัสการมาแล้ว นับได้ว่าหลวงปู่ฯ ชันษาเยาว์กว่าทุกองค์ ก็แล้วนี่เมื่อถึงวาระ... หลวงปู่ฯ ก็เดินทางล่วงหน้าไปสู่แดนพระนฤพานแล้วแต่เพียงองค์เดียว... ที่เหลือไว้ก็คือซากกายสังขารที่ยังรอให้พวกเราดำเนินการ และเรื่องราวแต่หนหลังอันเป็นอนุสรณ์แห่งความดี อนุสรณ์แห่งความเป็นผู้ให้ ผู้แจก แจกยัน ... แจกทั้งวัตถุ แจกทั้งบุญทั้งกุศล

    "พระอรหันต์ ไม่เอาไหน" ปากระยำของพวกเราบางคน ที่ตั้งสมญานามให้กับหลวงปู่ทืมฯ โดยไม่ได้มีเจตนาใดๆ ที่จะลบหลู่หลวงปู่ฯ หรอกครับ แต่เพราะความที่หลวงปู่ฯ ช่างเป็นผู้ให้ผู้แจกเสียจริงๆ แจกเป็นกอบๆ เป็นกำๆ เป็นถุง แต่สำหรับเรื่องลาภ เรื่องยศสักการะ ท่านกลับไม่เอาไหนสักอย่าง เกิดมาเพื่อให้ประการเดียว...
    "ทำเป็นตีหน้าเซ่อ... ที่จริงละก็ตัวร้ายกาจเชียวละ"
    "มิน่าเล่า สมเด็จฯ จึงทรงสั่งนักหนาว่า เดินทางไปทางภาคเหนือต้องไปพบพระที่ชื่อ ทิม ให้ได้" หลวงพ่อฯ เล่าพลางหัวเราะพลางอย่างขำๆ (ทิม เป็นสำเนียงทางภาคกลาง สำเนียงทางภาคเหนือออกเสียง "ทึม" หรือ "ทืม")

    ความตายแม้จะไม่มีนิมิตเครื่องหมาย แต่ก่อนหน้าที่กายสังขารของหลวงปู่ฯ จะแตกดับนั้น มีสิ่งบอกเหตุ หรือเหตุที่หลวงปู่ฯ แสดงเป็นนัยเพื่อบอกใบ้อยู่หลายประการ เพียงแต่ว่าไม่มีใครสังเกตหรือจับตาดู หรือฉุกคิด ถ้าใครสามารถจับได้ไล่ทันหลวงปู่ฯ ก็นับว่าเป็นยอดแห่งยุค พ้นจากหลวงพ่อฯ แล้วคนอื่นเห็นทีจะไล่ทันยาก ขนาดหลวงพ่อฯ ยังไล่กันเสียแทบตาย หลวงพ่อฯ เคยส่ายหน้า และพูดกับผมว่า
    "ไอ้เป๋ ปู่เอ็งนี่ ขนาดข้าฯ ยังต้องไล่เสียลิ้นห้อย"

    ทุกขเวทนาจากอาการอาพาธกำเริบหนักหนา แต่หลวงปู่ฯ ก็ไม่เคยปริปากบ่น ยิ่งเป็นระยะที่พวกเราทั้งหลายกำลังชุลมุนวุ่นวาย อยู่กับการตระเตรียมงานครบรอบร้อยปีเกิดหลวงปู่ปานฯ หลวงปู่ทืมฯ กลับแสดงอาการให้เห็นว่าไม่น่าต้องเป็นห่วง ปรากฏอาการทางร่างกายให้เห็นเป็นว่าทุเลาลงแล้ว การแสดงออกภายนอกของท่านเป็นลักษณะพิเศษประจำตัวของท่าน คือทำไม่รู้ไม่ชี้ตีหน้าตาย

    เมื่อพวกเราถามท่านว่าจะอยู่จนถึงวันรับกฐินไหม ท่านว่าจะพยายามอยู่ เมื่อเคี่ยวเข็ญให้ท่านฉันโอสถท่านก็ฉันให้ตามใจพวกเรา พวกเราว่าหลวงปู่ฯ หายนะ ท่านว่าหายก็หาย แต่พอพวกเราเผลอหลวงปู่ฯ ไม่ฉันเสียแล้ว ไม่ฉันทั้งภัตตาหารทั้งโอสถ ระหว่างอาพาธอยู่อย่างหนักทุกขเวทนากำเริบหนักถึงขั้นตรีทูต ๒ ครั้งก็ฝืนกลับมาทรงอาการอยู่ ไม่เคยร่ำร้อง ไม่เคยบ่น ไม่เคยทุรนทุรายในเมื่อทุกขเวทนากำเริบ อย่างมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นก็เพียงเอามือตบที่ท้องร้องบอกว่าอึดอัด

    พวกเรามาทราบกันภายหลังว่า อวัยวะภายในของหลวงปู่ฯ ท่าน แทบจะไม่เหลืออะไรอยู่แล้ว มันเน่าไปหมดด้วยโรคมะเร็งที่ตับ และโรคร้ายก็ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ทั่วไปหมด ศรัทธาทายกทายิกาไปเยี่ยม ท่านก็ไม่เคยแสดงอาการเบื่อหน่าย ลุกขึ้นนั่งรับได้ก็จะลุก ลุกไม่ไหวเขาไม่ยอมให้ลุกก็นอนยิ้มอยู่บนเตียง สังขารแม้อ่อนระโหยโรยแรง ร่างกายซูบซีดเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกแต่ประกายตายังคงสดใส แวววาววับ บริสุทธิ์ และเจิดจ้า ตาพระอริยะ ตาพระสุปฏิปันโนเป็นอย่างนี้นี่เอง

    "อายุขัยแห่งสังขารของหลวงปู่บุญทืมฯ หมดสิ้นลงไปนานแล้ว" หลวงปู่ครูบาธรรมชัยฯ สุปฏิปันโนอีกองค์หนึ่ง ซึ่งพวกเรารู้จักท่านดีได้พยากรณ์ไว้เมื่อตอนที่ พ.อ.ชวาลฯ ไปนิมนต์ให้ท่านรับรักษาให้หลวงปู่ทืมฯ อาการอาพาธของหลวงปู่ทืมฯ นี้หลวงปู่ครูบาธรรมชัย (ซึ่งเคยรักษาหลวงปู่ครูบาอินทจักรรักษา วัดน้ำบ่อหลวง เมื่อครั้งอาพาธเป็นมะเร็งที่กระดูกสันหลัง จนแพทย์ขอให้กลับมาตายที่วัด และหลวงปู่ครูบาธรรมชัยฯ สามารถรักษาจนหาย) กลับไม่รับรองว่าจะหาย

    และยังได้พยากรณ์เพิ่มเติมอีกว่า สำหรับหลวงปู่ทืมฯ นั้นวันเสาร์เป็นวันอุบัติเหตุ และวันอาทิตย์เป็นวันมรณะ ต่อมาในวันเสาร์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๘ หลวงปู่ทืมฯ หงายหลังศีรษะฟาดขอบเตียง และมรณภาพในวันอาทิตย์รุ่งขึ้น ตรงตามคำพยากรณ์ทุกประการ ....
    เล่ามาถึงตรงนี้น่าคิดไหมว่า ก็ในเมื่ออายุขัยท่านหมดลงนานแล้ว แต่ที่ท่านยอมทนรับทุกขเวทนาจากความอาพาธแห่งกายสังขาร รอจนมามรณภาพเอาเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๑๘ นั้น เป็นเพราะอะไรหนอ ? อยากรู้จริงเชียว
    "มันเป็นกรรมเก่าของหลวงปู่" หลวงปู่ฯ เล่าพลางยิ้มเห็นฟันหลอ มองหน้าคนนั้นทีคนนี้ที แล้วตีหน้าเหรอหราตามแบบฉบับ...



    "วัดจามเทวีนี้กษัตริย์ทรงสร้าง เป็นพระอารามหลวงรุ่งเรืองมาแต่อดีต สมัยพระนางจามเทวีปฐมบรมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย ตกมาถึงสมัยครูบาเจ้าฯ (ศรีวิชัย) หมู่ศรัทธาทายกทายิกา มี เจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนเป็นหัวหน้า ก็ได้ไปนิมนต์ครูบาเจ้าฯ (ศรีวิชัย) มาช่วยบูรณะซ่อมแซมพระวิหาร สร้างองค์พระประธาน และซ่อมกำแพงรอบวัด งานแล้ว (เสร็จ) เสี้ยง (หมด) พรรษา ครูบาเจ้าฯ (ศรีวิชัย) ป่วยก็มาป่วยอยู่นี่ หมู่ทายกทายิกามาเชิญไปบ้านปาง ตายที่นั่น มาเผาศพที่นี่ อยู่นั่นไง..อัฐิครูบา..และนี่หีบศพ"

    หลวงปู่ฯ หันไปชี้ที่หีบบรรจุศพครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่ท่านได้เก็บรักษาเอาไว้มาโดยตลอด (ส่วนไม้เท้ากับพัดขนนกนั้นหลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก เป็นผู้เก็บรักษาไว้)

    ตามบันทึกพวกเราพอจะทราบกันมาแล้วว่า วัดจามเทวีแห่งนี้ เป็นวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยรักมากที่สุด หลังจากครูบาเจ้าฯ มรณภาพแล้วได้ ๓ ปี ได้เชิญศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี เพื่อรอให้บรรดาศิษยานุศิษย์ได้มีโอกาสเดินทางมานมัสการได้อย่างทั่วถึงเป็นเวลาอีก ๔ ปี และก็ที่วัดจามเทวีแห่งนี้นี่เอง ที่ใช้เป็นสถานที่ประชุมเพลิงถวายครูบาเจ้าศรีวิชัยฯ

    "ทั้งครูบาเจ้าฯ และหมู่ทายกทายิกา ก็ได้ไว้วางใจให้ปู่เป็นผู้ดูแลวัดนี้สืบต่อมา แต่ปู่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เราเป็นพระธรรมดาๆ ยศศักดิ์หรือก็ไม่มี เขาให้เป็นรองเจ้าอาวาส ท่านเจ้าอาวาสก็ดีอยู่นะ แต่พูดไปก็พูดยาก วัดก็ยังทรุดโทรมอยู่ นี่โบสถ์ก็ยังสร้างไม่แล้ว(เสร็จ) ยังต้องใช้เงินอีกมาก หน้าบันอุโบสถเป็นไม้สักแกะลายลงรักปิดทอง ใช้ไม้หนาสามนิ้วแกะ เอาไปจ้างครูบาวงษ์ฯ ทำให้ ปู่เสี้ยง (หมด) เงินไป สองหมื่นป่าย(กว่า) ตุ๊ (พระ) วงษ์ฯ ท่าจะเสี้ยงหลาย เสี้ยงสี่หมื่นมั้ง ?"

    มุขตลกเด็ดขาดของหลวงปู่ฯ ก็คือเรื่องหน้าบันพระอุโบสถ ท่านเอาไปจ้างครูบาวงษ์ฯ แกะด้วยไม้หนาสามนิ้วลงรักปิดทอง หลวงปู่ฯ ผู้ว่าจ้างหมดเงินไปสองหมื่นบาทเศษ แต่หลวงปู่ครูบาวงษ์ฯ ผู้รับจ้าง (และท่านได้ลงมือแกะไม้ด้วยตนเอง) กลับขาดทุนไปอีกสี่หมื่นบาทเศษ

    นับตั้งแต่พบกับหลวงพ่อฯ เป็นต้นมาแล้ว หลวงปู่ฯ ดูสดใส และกำลังใจดีขึ้น งานเพิ่มขึ้น มีคนไปรบกวนมากขึ้นแต่ก็เป็นสุขมากขึ้น ที่ได้เห็นศรัทธาของบรรดาลูกหลาน ที่มีต่อพระพุทธศาสนา และต่อสาวกขององค์สมเด็จพระศาสดาฯ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะได้ยินหลวงปู่ฯ พูดถึงหลวงพ่อฯ เสมอๆ เป็นต้นว่า

    "เออนี่ ! หลวงพ่อมหาวีระนี่น่ะเป็นพระดีนะ เป็นพระแท้ๆ จะเป็นพระโพธิสัตว์ ทำบารมีมามากแล้ว บารมีล้นเหลือ มาเลิกละเสียจะไปนิพพานในชาตินี้ ลำบากมากหนักแรงเอาการ บริวารติดตามมีมาก ต้องเป็นภาระขนไปให้หมด เยอะแยะเหลือเกินยังจะมีมาอีก จะตายก็ตายไม่ได้ เป็นหนี้เขามามากจะเกาะพะรุงพะรังไปหมด สบายไม่ได้ เฮ้อ.... สงเคราะห์ให้เป็นเทวดาไปก่อนก็ยังดี ทันฟังเทศน์พระศรีอาริย์"


    "ลูกหลานทั้งนั้น เรื่องมันยาว มันเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน พูดมากก็ไม่ดี คนไม่รู้หาว่าบ้า ? ? ?" ว่าแล้วก็แหงนหน้าหัวเราะหึๆ
    "ได้มาพบกับหลวงพ่อมหาวีระ มีทายกทายิกาลูกศิษย์ลูกหามากมายนับว่าเป็นบุญเป็นกุศล พระศาสนา และวัดจามเทวีก็คงจะได้รุ่งเรืองต่อไป ศิษย์มหาวีระศรัทธาจริงๆ ศรัทธาแก่กล้า นักบุญจริงๆ " หลวงปู่ฯ เล่าด้วยประกายตาที่สดใส แต่แล้วก็พูดต่อไปเหมือนกับจะปลง หรือรำพึงกับตนเองอย่างตัดใจ ที่ไม่อาจจัดการภาระได้เสร็จสิ้น

    "สังขารมันเป็นของไม่เที่ยง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็น อนิจจัง ทุกขัง เป็นอนัตตา จะตายก็ให้มันตายไปไม่สนใจมันเสียอย่าง ตายก็ช่างมัน" น้ำเสียงของหลวงปู่ฯ ตอนนี้เด็ดเดี่ยวจนพวกเราที่ได้ยินขนลุกซู่

    -------------------------------------------------------------------------------------------------------
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    "ศิษย์หลวงพ่อมหาวีระต้องสร้างศรัทธาให้ดีๆ นะ หลวงพ่อมหาวีระอยู่ได้ด้วยอำนาจบุญอำนาจแห่งศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหา ไม่งั้นจะหนีตาย จะหนีเข้าป่าอย่าทิ้งกันนะอย่าทิ้งกัน วัดสองสามวัดนี้อย่าทิ้งกันนะ"

    ในตอนเช้าของวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๑๘ อันเป็นวันมรณภาพ หลวงปู่ฯ ได้ฉีกผ้ากาสาวพัสตร์ที่ใช้ห่มใช้ครองอยู่ออกแจกบรรดาศิษย์ และญาติโยมที่คอยเฝ้าดูแลอยู่ แต่ไม่มีผู้ใดสักคนที่จะเกิดเอะใจ หรือเฉลียวใจเพราะเมื่อก่อนหน้านี้หลวงปู่ก็ได้สละสังฆาฏิ อันเป็นผ้าที่หมู่ทายกทายิกาถวายเป็นผ้าพระกฐินปีที่แล้ว ให้มาตัดจำหน่ายจ่ายแจกในงานที่วัดท่าซุง (ตอนที่จะมอบสังฆาฏิผืนที่ว่าให้กับผม ท่านลุกขึ้นมาบรรจงเซ็นชื่อ และอธิบายว่าชื่อที่เซ็นเป็นภาษาไทยลานนา อ่านว่า "ชัยเสนภิกษุ" แล้วย้ำอย่างภาคภูมิใจว่า เป็นสมญานามของท่านที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยตั้งให้เชียวนะนี่)

    ก่อนเที่ยงของวันที่มรณภาพ พี่ชวาลฯ ซึ่งไปดูแล และให้การรักษาพยาบาลท่านเช่นเคย ได้ขอร้องให้ท่านฉันภัตตาหาร และโอสถบ้าง แต่หลวงปู่ฯ ปฏิเสธ และกลับขอให้ประคองท่านลุกขึ้นนั่งในท่าสมาธิ หลวงปู่ฯ นั่งทำสมาธิอยู่สักครู่หนึ่งร่างกายของท่านก็มีปรากฏอาการสะอึกแรง และถี่ พี่ชวาลฯ จึงค่อยๆ ประคองร่างกายของท่านลงนอนราบลงบนเตียง

    หลวงปู่ฯ ลืมตาขึ้นถามว่าเอาท่านลงนอนทำไม เมื่อได้รับคำอธิบายว่าถ้านั่งแล้วพี่ชวาลฯ เห็นว่าท่านมีอาการสะอึก ท่านก็ยิ้มแต่ไม่ว่ากระไร นอนตะแคงข้างทำสมาธิในท่าสีหไสยาสน์ และนิ่งอยู่นานร่างกายไม่มีอาการทุรนทุราย และไม่มีอาการสะอึกอีก นิ่งเงียบไปจนกระทั่งพี่ชวาลฯ เข้าใจว่า ท่านนอนหลับพักผ่อนสบายดีแล้ว จึงได้นมัสการลาเนื่องจากมีนัดหมายจะต้องรีบไปรักษาหลวงปู่แหวน ที่วัดดอยแม่ปั๋ง

    ๑๔.๔๐ น. วันนั้นเองหลวงปู่ครูบาบุญทืม พรหมเสโน หรือ "ชัยเสนภิกขุ" สาวกขององค์สมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ชนะแล้วซึ่งกิเลสทั้งสิ้นทั้งปวง ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระสุปฏิปันโนโดยแท้ ก็ได้พ้นจากอำนาจความทรมานแห่งขันธมารโดยสิ้นเชิง

    ชิตังเม..ชิตังเม ! (แปลว่า ชนะแล้วๆ ทำนองเดียวกับที่ฝรั่งร้องว่า ยูเรก้า..ยูเรก้า นั่นแหละ) หลวงปู่ฯ ชนะแล้ว ชนะอย่างขาวสะอาดเหลือเกิน เหลือแต่พวกเราลูกศิษย์หลานศิษย์ยังคง ชิแตงเม..ชิลังเล..ชิหยำเป..ชิไขว้เขว..ชิฮาเฮ..ชิกาเม..ชิบ้าเผ..ชิโปเก..และชิขาเป๋กันอยู่นั่นเอง ระวังอย่าประมาทนะจ๊ะ หลวงพ่อฯ เผ่นไปอยู่กับหลวงปู่ฯ แล้วจะไสเจียเสียใจ ว่าไม่บอก ..... (ตอนนี้ท่านก็ไปแล้ว...จริงๆ ครับ)



    จากหนังสือล่าพระอาจารย์
    ผู้ลอกเทป - ป่อง โกษา (พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์)

    หลวงพ่อทืม (หลวงพ่อบุญทืม พรหมเสโน)
    วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน

    เมื่อรถของคณะเราไปถึงวัดตามเทวีนั้น ปรากฏว่าหลวงพ่อทืมพึ่งลงจากรถพอดี ท่านไปข้างนอกมา ป่องว่าแล้วว่า หลวงพ่อฤาษีของเรายังงี้บ่อย ๆ ตะกี้นี้ใจร้อน อยากรีบมา แต่หลวงพ่อยังเดินเตร่ชมวิวเสียนี่ แล้วก็ดูซี พอเราถึงหลวงปู่ทืมก็ถึง ชอบกล ฟลุ้คหรือเปล่า?
    เราคาดกันว่าท่านองค์นี้ก็คงเป็นสุปฏิปันโนอีกนั่นแหละ ท่านคงจะผ่องใสมีราศีน่านับถือ ที่ไหนได้ ดำ หน้าเหมือนคนบ้านนอก ไม่ได้บอกว่ามีความฉลาดอะไรเลยทำท่าเหลอ ๆ ไม่รู้ไม่ชี้ ยิ้มก็ไม่ยิ้ม กุฏิก็ฝุ่นเขรอะมีโลงศพ (คงจะโลงเปล่า) อยู่โลงหนึ่งข้าง ๆ ห้องท่านเสียงวิทยุเปิดไว้เกรียวกราว จะเป็นพวกพระ พวกเณร หรือพวกลูกศิษย์วัดก็ไม่แน่ ไม่กล้าไปสำรวจ
    เอ..จะใช่รื้อ? เสียดาย ไม่มีเทปจะอัด หลวงพ่อท่านสั่งมาให้แล้ว แต่แย่งกันฟัง ฟังไปฟังมาเทปเลยปนกันจนหาไม่เจอะ จึงจำเป็นต้องแต่งขึ้นเองความทรงจำ ถ้าผิดพลาดก็ต้องขอขมากรรมต่อหลวงพ่อทั้งสอง และขออภัยท่านผู้อ่านด้วย

    หลวงพ่อทืม (ท) : ท่านบอกว่าท่านพึ่งหายจากไข้หวัด
    หลวงพ่อฤาษี (ฤ) : ความเจ็บไข้นี่มันกินกายหรือกินใจครับ?
    ท. : ไหน? มันก็กินทั้งกาย กินทั้งใจน่ะแหละ (ว่าแล้วตีหน้าเหลอ)
    คณะพรรคทำหน้าเหย น่ากลัวผิดตัวซะแล้ว เอ้า..ไหน ๆ ผิดตัวก็เลยพาลขอพระเสียเลย เผื่อจะได้พระดี

    เสริม : หลวงพ่อครับ เขาว่าวัดนี้มีพระศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่หรือครับ
    ท. : ก็มี แต่เทวาดท่านไม่ให้
    (เออ..ค่อยใจชื้นขึ้นมาหน่อย พูดว่ามีเทวดายังงี้พอพูดกันได้) ก็มีคนเอามาเอาไปได้เหมือนกัน แต่เอาไว้ไม่ได้ ต้องเอามาคืน คืนแล้วก็มีคนมาเอาไปอีก แล้วก็เอามาคืนอีก (อีตอนนี้ เกือบถามว่าเขามาคืนไว้ตรงไหน จะได้คิดอ่านขออนุญาตเทวดาเสียก่อน แต่เกรงจะเสียชื่ออาจารย์ว่าพาลูกศิษย์โลภมากไปหา)
    อึกอักกันไป..อึกอักกันมา ใครจะนึกว่าท่านท่าไหนหรือไง ท่านก็ลุกขึ้นไปหยิบกุญแจมาไขตู้ เอาพระรอดที่ท่านสร้างมาออกแจกคนละ ๓ องค์ องค์ละสี และพอทราบว่าหลวงพ่อจะไปแจกของทหาร ก็เลยถวายมาอีกถุงหนึ่ง
    เสร็จแล้ว..ก็ยังออกท่าไม่ถูก ดร.ปริญญากลุ้มใจเต็มที โวยวายออกมาว่า “ยังงี้เดินชนตายเปล่า”
    (ลืมหรือยังครับ ที่ป่องบอกว่า พระอรหันต์น่ะมี ไม่ใช่ไม่มี ชั่วแต่ว่าเราไม่รู้ว่าองค์ไหนเป็นพระอรหันต์ จะเดินชนท่านตายไปเสียหลายองค์แล้วก็ไม่รู้!)
    หลวงพ่อฤาษีเลยออกอุบาย “ฝัน” ต่อไปว่า “ผมฝันไปครับว่าได้มาพบพระดีพระสุปฏิปันโนที่นี่ ตะกี้นี้ ไปนมัสการหลวงปู่คำแสนวัดป่าดอนมูลมาก ท่านก็บอกให้มาหาหลวงพ่อที่นี่ บอกมาหลายองค์แต่กำชับให้มาที่นี่ก่อน”
    โดนไม้ “ฝัน” เข้าก็เป็นอันรู้กันว่าอะไรเป็นอะไร พวกเราคล้าย ๆ เห็นว่าท่านขาวขึ้นกว่าเดิม และมีอาการยิ้มแย้ม ไม่เหมือนเดิมซึ่งทำหน้าตายเรื่อย (ถึงกระนั้นพวกเราบางคนก็ยังแอบเห็นท่าน “ยิ้มด้วยตา” อยู่ตั้งแต่แรก)

    ท. : นี่มาจากไหน?ฤ. : มาจากอุทัยธานีครับ
    ท. : เอ อุทัยธานีนี่ไม่เคยไป
    (หลวงพ่อเราเห็นโอกาสเปิด ก็เลยนิมนต์ไปงานยกช่อฟ้า ซึ่งท่านก็รับคำโดยไม่เกี่ยงงอน คำถามสุดท้ายก่อนจะนมัสการลาออกมา)

    ฤ. : หลวงพ่อกับขันธ์ ๕ นี่เป็นศัตรูกันกี่ปีแล้วครับ?
    (นั่น ถามกันตรง ๆ เลย รู้แล้วรู้รอดไป)
    ท. : ก็…ก็หลายปีแล้ว
    เมื่อกลับออกมาแล้ว หลวงพ่อเล่าว่าโยมของท่านบอกว่าองค์นี้เคยเป็นลุง มิน่าล่ะหลวงปู่คำแสนพี่ชายถึงสั่งสองหนสามหนให้มาแวะ ท่านผู้นี้เป็นผู้มากด้วยกตัญญู โลงศพที่เห็นอยู่ในห้อง ก็เป็นเครื่องระลึกถึงท่านครูบาศรีวิชัยที่มรณภาพไปแล้วนั่นเอง (คือเป็นโลกที่เคยบรรจุท่านครูบา)
    ออกจากวัดจามเทวีก็เย็นแล้ว จึงกลับบ้าน ดร.ปริญญา ปรากฏว่า หลวงพ่อสิมเดินทางจากวัดถ้าผาปล่องมาคอยอยู่แล้ว เพื่อจะสมทบไปโปรดทหาร ตำรวจด้วยกัน
    ๒๙ มกราคม ออกเดินทางหลังอาหารเช้า ถึงเชียงรายบ่าย แล้วเลยไปบวงสรวง พระธาตุจอมกิตติ และหลวงพ่อฤาษีก็เลยทำพิธีบวงสรวง พระธาตุดอยตุง ไปด้วย เพื่อฝากให้เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุทหารอากาศนำไปสักการะในภายหลัง กลับจากการบวงสรวง มาพบกับคนที่ พ.ต.อ. ชวาล มอบหมายให้จัดที่พัก ปรากฏว่าเขาจัดไว้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้พักโรงแรม อีกส่วนหนึ่งที่เป็นพระ ให้พักที่วัด
    พวกเรามีความเคยชินอย่างหนึ่งคือ มันชอบนอนอยู่ใกล้ ๆ หลวงพ่อ จึงเลยถามไปดูที่วัดเม็งรายมหาราช เจ้าอาวาสวัดเม็งรายมหาราชชื่อจันทร์ ได้เคยพบกับหลวงพ่อฤาษีมาแล้วที่วัดถ้ำผาปล่อง เมื่อคราวทัศนาจรครั้งที่ ๑ เป็นพระที่อัธยาศัยดี โอภาปราศรัยดีมาก เราก็เลยรบกวนขอพักที่ศาลาซึ่งมีที่ว่างเหลือเฟือ ท่านก็ไม่ขัดข้อง หากว่าพวกเราจะสละเลือดเลี้ยงยุงสักเล็กน้อย เนื่องจากมุ้งไม่มี พวกเราก็ตกลง

    ถึงตอนกลางคืน บางส่วนของพวกเราก็ไปเรียนหารือหลวงพ่อฤาษี ว่า มีกิจจะไปเอาดินที่แม่สายมาทำพิธีบางอย่าง เราจะไปเองดีหรือไม่ ถ้าดีจะได้ไปเอาเสียแต่คืนนี้เพื่อทุ่นเวลา หลวงพ่อบอกว่าหลวงพ่อจะต้องไปด้วย ดังนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรในคืนนี้ แล้วก็คิดเปลี่ยนโปรแกรมกันใหม่
    คือรีบออกเดินทางไปเสียแต่มืดและอาหารเช้าที่อำเภอเทิง แล้วจึงไปเชียงคำทำกิจที่ต้องการมาเสียให้เสร็จ แล้ว “ตี” กลับไปเชียงใหม่เสียเลย จะได้ทุ่นเวลาไปวันหนึ่ง เมื่อตกลงแล้วก็นำปัจจัยไปถวายหลวงพ่อจันทร์ พร้อมกับนมัสการลาไว้ล่วงหน้าเสียแต่ตอนนี้เลย คืนนั้น เสียท่าไม่ได้เลี้ยงยุง เพราะอากาศหนาวมาก ยุงก็คงจะคลุมโปงเหมือนกัน

    ๓๐ มกราคม ออกเดินทางทางแต่เช้ามืดแวะกินอาหารเช้าที่ อำเภอเทิง แล้วเดินทางต่อไปยังกองร้อย ๓ ตชด. ที่เชียงคำ หลวงพ่อทั้งสองช่วยกันแจกของดีป้องกันภัย และแจกของขวัญ พร้อมกับให้โอวาท
    ต่อจากนั้นไปทำอย่างเดียวกันที่ บก. พล. ๔ ส่วนหน้า พอ.ยงยุทธิ์ ศิษย์บรรจง รอง ผช.พล. ถวายอาหารเพล ส่วนพวกเราล่วงหน้าไปกินอาหารกลางวันที่ อำเภอเทิง เพื่อรอให้ท่านไปสมทบ
    ออกจากอำเภอเทิง เดินทางเลยไปแม่สายเพื่อเอาดินปรากฏว่าพอถึงแม่สาย หลวงพ่อฤาษีเดินข้ามไปฝั่งโน้น เดินหาซื้อมีดพับ หาไปหามาหาไม่ได้ ท่านก็บอกว่า เขาให้ใช้มีดไทย ตกลงเปลี่ยนไปหาซื้อตุ๊กตาชายหญิงมา ๒ ตัว ได้แล้วย่องเข้าไปที่ลับตา ตัดคอตุ๊กตา แล้วขีดอะไรวง ๆ ที่ดิน เสร็จแล้วให้ผู้ติดตามตักดินมา ต่อจากนั้นก็เดินทางกลับเชียงใหม่

    ท่านบอกว่าไม่รู้เรื่องดินนี้มาก่อน อีตอนที่รถใกล้จะถึงแม่สาย “ท่าน” ก็มาบอกให้ทำยังงั้นๆ ก็ทำไปตามที่ “ท่าน” บอก ตอนทำพิธีเห็นคนแต่งแดงมาบอกว่า “วังสีทองเป็นเรื่องของท่าน ฝั่งนี้เป็นเรื่องของผม”
    เรื่องจะไปยังไงมายังไงก็ต้องดู ๆ กันไป น่ากลัวจะเกี่ยว ๆ กันกับเรื่องฝ้ายเลื่อนที่ท่านเล่าไว้ใน “ฤาษีทัศนาจร” กระมัง
    ในตอนกลางคืน เมื่อรถถึงลำปาง หลวงพ่อสิมก็แยกจากคณะเพื่อจับรถที่นั่นลงมากรุงเทพฯ เดินทางต่อไปภาคอีสานตามที่รับนิมนต์ไว้ ส่วนที่เหลือเดินทางกลับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ๓๑ มกราคม บ่ายสองโมง พระอรรณพ พาคณะไปเยี่ยมค่ายดารารัศมี เพื่อหลวงพ่อจะได้แจกของป้องกันตัว และของขวัญ เมื่อเสร็จแล้วยังมีเวลาเหลือ จึงพากันหาครูบาคำแสน ที่วัดสวนดอก
    ________________________________________
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ครูบาอภิชัย (ขาวปี)

    วัดพระพุทธบาทผาหนาม อ.ลี้ จ.ลำพูน

    "ขาวทั้งนอกทั้งใน"

    (โดย..พระชัยวัฒน์ อชิโต)

    เมื่อประมาณปี 2518 หลวงปู่บุญทืม ถึงแก่มรณภาพ หลังจากได้พบกับหลวงพ่อฯ และคณะศิษย์เพียงไม่นาน ท่านก็ต้องละสังขารไปตามกาลเวลา ณ โอกาสครั้งสุดท้ายนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้นำคณะศิษย์ไปร่วมงานฌาปนกิจศพ ณ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน
    ในวันนั้นผู้เขียนยังได้ภาพเก่าๆ ได้ดีว่า หลวงพ่อนั่งอยู่ในวิหารหลังหนึ่งภายในวัดจามเทวี โดยมีคณะศิษย์ที่ติดตามและที่อยู่ทางภาคเหนือ ต่างก็เข้าไปกราบไหว้หลวงพ่อกันเต็มไปหมด ผู้เขียนจึงได้เดินออกไปจากวิหาร ในขณะที่เดินผ่านไปนั้น มองเข้าไปในวิหารอีกหลังหนึ่งที่อยู่ติดกัน เห็นผู้คนแวดล้อมเต็มไปหมด

    ด้วยความแปลกใจ จึงเดินเข้าไปเป็นไทยมุงด้วยอีกคน แต่ไม่ใช่เป็นชาวบ้านธรรมดามุงนะ ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาชาวกะเหรี่ยงทั้งนั้น ต่างก็เข้าไปถวายวัตถุสิ่งของให้ชายชราผู้หนึ่ง แต่ไม่ได้นุ่งห่มสีกรักเหมือนกับพระภิกษุทั่วไป ท่านกลับนุ่งห่มอยู่ในชุดตาผ้าขาว
    ผู้เขียนเห็นอัศจรรย์เช่นนั้น ด้วยไม่คิดว่าเขาจะเลื่อมใสบุคคลผู้อยู่ในชุดขาวถึงขนาดนั้น จึงเดินเข้าไปกราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ว่าบุคคลที่อยู่ในชุดขาวนั้นเป็นใคร?
    พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ตอบทันที ทั้งๆ ที่หลวงพ่อมิได้ลุกออกไปข้างนอกแต่อย่างใด ท่านบอกสั้นๆ เพียงคำเดียวเท่านั้น แต่เข้าใจแจ่มแจ้งดีแท้ๆ ว่า...

    "...องค์นั้นนะ ขาวทั้งนอกทั้งในนะ..."
    พรรคพวกที่ได้ยินดังนั้น ต่างก็ลุกออกไปที่วิหารหลังนั้นทันที แล้วเข้าไปกราบไหว้บูชา ไม่ได้มีแค่ "ชาวเขา" ชาวกะเหรี่ยงแล้วละ ตอนนี้มี "ชาวเรา" ต่างก็เข้าไปแวดล้อมกันเต็มไปหมด.
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,966
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ตอนที่ ๘

    ครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย จังหวัดลำพูน

    พวกเราได้พบกับ หลวงปู่ครูบาชุ่มฯ ก็เพราะครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงพ่อฯ พาพวกเราไปนมัสการหลวงปู่ทืมฯ แต่แล้วปรากฎว่า หลวงปู่ทืมฯ ยังได้ไปนิมนต์หลวงปู่ชุ่มฯ มารอรับพวกเราด้วย เห็นไหมครับปฏิปทาพระสุปฏิปันโนไม่มีหวงลูกศิษย์ ไม่กลัวว่าจะถูกแย่งลาภสักการะ

    อะไร ๆ ที่คิดว่าดี ท่านจะสรรหามาให้ลูกศิษย์ แตกต่างจากปุถุชนคนธรรมดามากทีเดียว เพราะปุถุชนกลัวถูกแบ่งลาภแบ่งความดีความชอบ ขี้งก ขี้ตืด และหวงแหนในลาภสักการะ เผลอไม่ได้ โกงตะพืด แถมแม้ไม่เผลอก็ยังโกงหน้าตาเฉย

    (ผมอยากให้ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ไม่ว่าหลวงปู่ฯ องค์ไหนเมื่อได้พบกับหลวงพ่อฯ แล้ว ก็มักจะโยงกันพาเอาหลวงพ่อ หลวงปู่ฯ องค์อื่น ๆ ที่เราท่านต่างก็ยอมรับกันว่า เป็นพระสุปฏิปันโนออกมาจากที่หลบซ่อนมาหาหลวงพ่อฯ กันเป็นทอด ๆ เป็นทิวแถวไปเลย)

    หลวงปู่ชุ่มฯ ท่านเป็นศิษย์ครูบาศรีวิชัยฯ รุ่นพี่ของหลวงปู่ทืมฯ เมื่อสิ้นบุญครูบาศรีวิชัยฯ แล้ว หลวงปู่ทืมฯ ได้โลงศพ หลวงปู่ชุ่มฯ ได้ไม้เท้ากับพัดขนนก ท่านเดินตามรอยเท้าของครูบาอาจารย์มาโดยตลอด ถนนทางขึ้น พระธาตุดอยตุง สมัยโน้นเป็นทางเท้า หลวงปู่ชุ่มฯ นี่แหละที่ไปนั่งหนัก (คือไปนั่งปักหลักคอยให้ศีลให้พรให้กำลังใจ) ระดมเอาทั้งไม่ว่าจะคนเมืองคนดอย ชาวเราชาวเขา มาช่วยกันกรุยถนนจนเป็นทางรถยนต์ขึ้นได้ถึงยอดดอย โดยรัฐบาลไม่ต้องออกสตางค์สักบาทหนึ่ง

    เมื่อขึ้นไปอยู่บนยอดเขาบริเวณที่ตั้งเจดีย์ครอบพระธาตุแล้ว มองไปด้านหลังจะเป็นหน้าผาสูงชันแบ่งเขตไทยกับคู่ต่อสู้สมัยเก่าดึกดำบรรพ์ (ก็พม่านั่นไงล่ะ) หลวงพ่อฯ ของเราเคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหาทุนให้กรมศิลปากรเปลี่ยนฉัตรทองยอดพระธาตุ ซึ่งเดิมชำรุดเสียใหม่ และท่านก็ไปทำพิธีบวงสรวงให้ด้วย เหนือ-ใต้-ออก-ตก การใดเพื่อชาติ การใดเพื่อพระพุทธศาสนา การใดเพื่อพระมหากษัตริย์ หลวงพ่อของเราด้นดั้นฝ่าฟันไปมาหมด บางครั้งก็หลายรอบหลายครั้งเชียวครับกว่าภาระจะเสร็จสิ้น

    นิวาสถานบ้านเดิมของหลวงปู่ชุ่มฯ ท่านอยู่ที่บ้านวังมุย อันคำว่า “มุย” นั้น เป็นภาษาทางเหนือแปลว่า ขวาน ส่วน “วัง” นั้น แปลว่า ชุม หรือ แหล่ง เมื่อรวมกันแล้วไม่ทราบว่าจะแปลว่าอย่างไรดี จะแปลว่าบ้านที่มีขวานขายเยอะก็แปลได้ เพราะอาจจะเป็นหมู่บ้านที่ประชาชนทำขวานขายมากมายก็อาจจะเป็นได้ดูเข้าท่า เพราะถ้าแปลว่า "ชุม" ก็น่าจะแปลว่าเป็น "หมู่บ้านขวานชุม" ซึ่งตรงและใกล้เคียงกับคำแปลในตอนแรก

    แต่เมื่อสอบถามหลวงปู่แล้ว ท่านว่าไม่ใช่หรอก สมัยก่อนผู้คนในละแวกหมู่บ้านท่านดุมาก มีทั้งนักเลงและไม่นักเลงแต่เป็นอันธพาล แต่ไม่ว่านักเลงหรือไม่นักเลง ไม่ว่าอันธพาลหรือไม่อันธพาลก็เป็นคนดุทุกคน ทั้งหมู่บ้านชอบทำขวานและชอบพบขวานเป็นอาวุธ และใช้ในการเข้าต่อสู้ตะลุมบอนกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวต่อตัวหรือหลายตัวต่อหลายตัว หรือหลายตัวต่อตัว เขาถึงเรียกว่าหมู่บ้านวังมุย

    ท่านยังเล่าให้ผมฟังด้วยนะครับว่า ผู้หญิงบ้านวังมุยสวยกว่าผู้หญิงบ้านอื่น ๆ ในละแวกใกล้และไกล สมัยที่พวกเราไป คนบ้านวังมุยไม่ดุแล้วครับ โดยหลวงปู่ฯ ท่านเล่าว่า เขาเลิกดุก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะท่านเสกเครื่องรางของขลังให้พวกเขาใช้ เขาตีเขาฟันกันเท่าไร ๆ ก็ไม่ยักกะถึงตาย หนักเข้าก็เบื่อละซีครับ
    ตีกันฟันกันแล้วไม่มีใครตายมันก็เหนื่อยมากซิครับ ไม่รู้จักจบจักสิ้น พอเลิกตีกันฟันกันแล้ว มันก็มีเวลามากขึ้น เริ่มได้คิดจึงเข้าหาวัด หลวงปู่ฯ ก็ได้โอกาสเทศน์สั่งสอน เมื่อได้ฟังธรรมะบ่อย ๆ เข้า จิตใจก็อ่อนโยนเยือกเย็นลง ๆ จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ คนที่บ้านวังมุยกลับสงบเสงี่ยมเรียบร้อยกว่าคนที่อื่น ๆ
    ________________________________________

    หลวงปู่เข้านิโรธสมาบัติ

    ทีแรกผมก็ไม่เชื่อหลวงปู่ฯ หรอกครับ แต่เมื่อครั้งที่เอา ต.ช.ด. ไปดูแลไม่ให้ใครไปรบกวน ในคราวที่หลวงปู่ฯ เข้านิโรธสมาบัติ ตามคำอาราธนาของหลวงพ่อของเรา และผมได้ไปอาศัยนอนอยู่ที่วัดเสียหลายวันหลายคืน จึงมีโอกาสไปพูดไปคุยหาข่าวจากคนเฒ่าคนแก่ ก็เห็นจริงตามนั้น

    พอพูดถึงคำว่า “นิโรธสมาบัติ” แล้ว เชื่อว่ามีคนสนใจอยากจะรู้เรื่องราวว่าเป็นมาอย่างไร เอาละ..จะเล่าให้ฟังเฉพาะที่เกี่ยวกับหลวงปู่ชุ่มฯ นะครับ

    ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ (ประมาณ ๑๐ กว่าปีเท่านั้นเอง) หลวงพ่อฯ ท่านเทศน์ถึงอำนาจแห่งบุญที่พวกเราจะได้รับ หากได้ทำบุญกับพระอริยบุคคลที่เพิ่งจะออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ ๆ ว่าจะมีอานิสงส์เพียงใด ท่านจึงได้อาราธนานิมนต์หลวงปู่ฯ ให้ทำตามนั้น และในวันที่หลวงปู่ฯ ออกจากนิโรธสมาบัติ หลวงพ่อของเราท่านก็ได้นัดหมายให้พวกเราพากันไปทำบุญ

    การไปทำบุญกับหลวงปู่ชุ่มฯ ในครั้งนั้น ได้รสชาติทุกอย่างเหมือนภาพยนตร์ไทยในสมัยนี้ คือครบทุกรส ทั้งสุขทั้งโศกตลกเศร้าเคล้าน้ำตาเฮฮาพาเพลินเจริญใจในที่สุด การที่ผมนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังถึงอุปสรรคและความเป็นไปต่างๆ นั้น ไม่ใช่เพื่อกล่าวโทษท่านผู้ใด แต่เพื่อเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจพวกเราลูกศิษย์รุ่นหลัง (ต้องขออภัยที่ต้องใช้คำว่ารุ่นหลัง เพราะเป้าหมายของผมอยู่ที่รุ่นหลังของผม) เพื่อจักได้รู้รักสามัคคี

    เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ ผมเองไม่อยากจะกล่าวแก้ตัวว่า การต้อนรับหรือการนัดหมายเวลาต่าง ๆ มันคลาดเคลื่อนและขลุกขลักไปหมด เนื่องจากเชื่อมือกันมากไปในส่วนของผู้ที่เตรียมการรับ และในส่วนของผู้ที่จะมาก็ขาดความเชื่อถือผู้ที่ให้การต้อนรับ ขาดวินัย และเห็นแก่บุญจนเป็นบาปไป

    เพราะถ้ามีศรัทธาและเชื่อถือไว้วางใจกันและกันมากกว่านี้ ทุกอย่างจะเรียบร้อยดีมาก เพราะฝ่ายต้อนรับเตรียมการไว้อย่างดีที่สุด เตรียมไว้ทั้งแผนหลักและแผนรอง ตั้งข้อสมมติฐานเอาไว้เผื่ออุปสรรคทุกข้อ เพื่อจะแก้ไขหากเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดอย่างพร้อมมูล เรื่องบนบานศาลกล่าวนั้นเอาไว้เป็นกรณีสุดท้าย

    แต่เราลืมไปข้อหนึ่งว่า ลูกหลานที่ไปในวันนั้น ในปัจจุบันชาติมิได้เป็นทหารและตำรวจแล้วเป็นส่วนใหญ่ แม้จะดูเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าคนอื่นเขา แต่ก็ขาดการฝึกฝนให้มีวินัยมานาน พอแตกตื่นเข้า ก็เหมือนเจ๊กตื่นไฟ พอคนแตกตื่น อะไรก็ขวางไม่ได้ แสดงออกมาหมด อะไร ๆ ที่ซ่อนเอาไว้ไหลเลอะเปรอะเปื้อนออกมาหมด นี่ดีแต่ว่า..ยังเคยได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาจากหลวงพ่อของเราแล้วบ้าง และด้วยบารมีของทั้งหลวงพ่อฯ และหลวงปู่ฯ ร่วมกัน จึงได้ผ่านพ้นกลียุคนั้นมาได้ด้วยความเรียบร้อย

    ผมน่ะเก็บอะไรไว้ในใจมาเกือบ ๒๐ ปี และที่นำมาพูดในวันนี้นั้น ไม่ใช่เพราะต้องการแก้ตัว หรือเคืองแค้น แต่เพื่อเป็นอุทธาหรณ์สำหรับน้องๆ ที่จะต้องรับภาระในวันหน้าต่อไปนะครับ..



    ........ใครที่ได้รับการฝึกการอบรมอย่างทหารและตำรวจ อย่าเอาระเบียบวินัยที่ตนได้รับการฝึกฝนมาไปใช้กับผู้ที่ไม่ได้รับการฝึก ผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกก็กรุณาให้อภัย หากผู้ที่นำกลุ่มอยู่อาจจะเฉียบไปบ้าง เพราะเขาเคยได้รับการฝึกและฝึกคนมาอย่างนั้น เรียกว่า..ควรจะประนีประนอมยอมให้อภัยกันบ้าง ผู้หลักผู้ใหญ่จะได้ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องออกมาแก้เกมส์ให้บ่อย ๆ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

    และไม่ว่าอะไรที่มีมาก มีบ่อย ๆ ไม่ช้าคนไทยก็จะเบื่อหน่ายอีก เมื่อถูกเบื่อหน่ายเสียแล้วสิ่งนั้นก็จะหมดความสำคัญไม่อาจนำมาใช้แก้ปัญหาได้อีกต่อไป เกิดความเสียหาย ที่ว่าอย่างนี้นั้นก็เพราะเมื่อหมดยุคของพวกพี่ ๆ แล้ว ต่อไปก็จะเป็นยุคของน้อง ๆ ที่จะต้องทำและนำคนแทน

    พวกพี่ก็จะได้อาศัยความรู้ความสามารถของน้อง ๆ ที่นำเอาประสบการณ์จากพี่ไปเป็นข้อสมมติฐานใช้แก้ปัญหาในกาลต่อไป แล้วจะผิดพลาดน้อยลงเรื่อย ๆ จนไม่ผิดพลาดเลยได้ในที่สุด พี่ ๆ ก็จะได้เดินตามน้อง ๆ ได้อย่างสบายอกสบายใจว่า น้องจะไม่พาพี่ไปลงเหวลงห้วยขาแข้งหัก

    นอกจากนั้น ในการนำคน จะต้องคำนึงทั้งความถูกต้องและความถูกใจ ไม่อาจเลือกเอาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นสุดโต่งไปด้านเดียว ต้องคำนึงถึงหลักจิตวิทยา ต้องขยันอธิบายทำความเข้าใจกับคนทุกระดับ อย่าเพิกเฉยไม่นำพาปล่อยปละละเลยคิดว่าไม่สำคัญ

    ช้างม้าวัวควายแม้มีประโยชน์กับเรามากฉันใด แต่ถ้าไม่สบอารมณ์ มันก็อาจจะทำอันตรายเราได้ฉันนั้น ต้องรู้เป้าประสงค์ ต้องรู้เกมส์ ต้องรู้วิธีการ ต้องรู้มนุษยสัมพันธ์ รู้จักใช้จิตวิทยา ฯลฯ
    เพราะมนุษย์ที่มีสมองเป็นเลิศแต่มีความอดทนน้อย สอนง่ายแต่นำยาก อย่าไปคิดว่าคนอื่นโง่กว่าเรา หรือฉลาดกว่าเรา หรือฉลาดเท่าเรา ต้องดำรงใจไว้ให้มั่นในพรหมวิหาร ๔ และต้องแน่วแน่มั่นคง บัวจึงจะไม่ช้ำ และน้ำก็จะไม่ขุ่น

    นอกจากนั้น ก็จะต้องให้ความเคารพในระบบเก่า ๆ ประเพณีเก่า ๆ ที่ดีงามตามโบราณกาล แต่ไม่ใช่ว่า ถ้าโบราณไม่ได้ว่าไว้อย่างนั้นแล้วจะต้องเป็นผิดเป็นโทษเป็นภัยไปเสียหมด น่าจะต้องเปิดใจยอมรับฟังในเรื่องใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ ไม่ใช่ตะบึงตะบันเอาแต่ที่ใจเรานิยม เราคิดแต่เฉพาะเรา กลุ่มของพวกเราว่าดีว่างามเพียงอย่างเดียว พวกเดียว เหล่าเดียว จนต้องโดดเดี่ยวและเดียวดายไปตามหนทางที่เลือกเองนั่นแหละอย่าไปโทษใคร

    และสำหรับคนที่ยึดมั่นในการกระทำดี แน่วแน่ในการรักษาคุณงามความดี แต่ความดียังไม่สนองตอบก็อย่าเพิ่งท้อใจ เรื่องที่เสียใจน่ะธรรมดา เรายังเป็นปุถุชน แต่ควรมีสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เอาแต่หลับตาแล้วมัวแต่สงสารตัวเอง จงลืมตาขึ้นแล้วเดินไปข้างหน้า ความสำเร็จอาจจะอยู่แค่คืบแค่ศอกข้างหน้าเรานั้นนั่นเอง

    ส่วนพวกที่คิดว่าตนนั้นล้มผู้อื่นได้แล้ว เป็นผู้ชนะแล้ว ก็เอาแต่เหยียบย่ำซ้ำเติมไม่เลิกไม่ราไม่หยุดเสียที ลองคิดดูซิว่าถ้าต้องไปนำคนหมู่มากร้อยพ่อพันแม่ต่างจิตต่างใจ แถมระดับความรู้ความเข้าใจความเป็นอยู่ ฐานะหรือก็ต่างกัน ตนจะทำได้ดีขนาดไหน ให้อภัยกันบ้างเถิดครับ

    ในโลกนี้ไม่มีอะไรผิดอะไรถูก มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนี้ แต่จิตของเราซิครับ เราซักเราฟอกของเราดีแล้วหรือ จึงได้ไปเพ่งโทษเอากับผู้อื่น ไปตัดสินว่าเขาดีเขาไม่ดี เราด่าว่าซ้ำเติมกลุ่มคนที่เขาต้องปกครองพวกเราจำนวนถึง ๕๗ ล้านคน แต่ไม่ถูกใจเรา

    ถ้าเราลองมามองดูในครอบครัวของเราบ้างซึ่งมีไม่กี่คนเลยว่า เราปกครองให้คนในครอบครัวแค่หยิบมือ โดยสามารถให้เขาเหล่านั้นพึงพอใจเราถ้วนทั่วทุกตัวคนได้บ้างหรือไม่ ถ้าได้นั้น เพราะความรัก ความเข้าใจ ความเชื่อถือศรัทธา หรือว่าอำนาจ หรือว่า ทั้งสองอย่างผสมผสานสอดคล้องกันอย่างพอเหมาะพอเจาะพอดี และพอควร จนส่วนใหญ่นั้นพอใจ

    เหตุการณ์ในครั้งกระนั้น เรา หมายถึง ผมกับพี่ชวาล ฯ ทราบดีครับว่าถ้าฝนตกหนัก ขบวนจะเข้าไปลำบากเพราะรถใหญ่ รถมาก และถนนแคบ ถ้าคันหน้าแม้แต่คันเดียวเกิดติดอยู่ คันหลังทั้งหมดก็จะติดอยู่ตรงนั้น ถนนไม่ได้แคบอย่างเดียว ขอบถนนหรือก็สูงชัน ด้านหนึ่งเป็นตลิ่งบก แถ..ลงไปก็เจอบ้านคนหรือตอไม้

    อีกด้านหนึ่งก็เป็นตลิ่งน้ำ ถลาลงไปก็มิดหลังคารถแน่ ๆ แถมน้ำยังไหลเชี่ยวดูราวกับน้ำมันพรายเดือดอยู่ปุด ๆ เมื่อบวกกับความลื่นด้วยแล้ว ลองนึกดูซิว่าน่ากลัวอันตรายขนาดไหน

    และแล้วในคืนก่อนที่พวกเราจะเข้าไปทำบุญ ฝนก็ตกหนัก เรามีแผนแก้ว่า ถ้าเช่นนั้นเราจะหยุดขบวนเอาไว้ด้านนอกทั้งหมด เมื่อขบวนมารออยู่พร้อมกันแล้ว พี่ชวาล ฯ ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นถึง ผบ. นพค. เชียงใหม่และเชียงราย ๒ ตำแหน่งควบไปเลย มีเครื่องมือและทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถแก้ไขได้ เราจะเอารถขนหินซึ่งนำหน้าด้วยรถเกรดและตามด้วยรถเกรดอีก เทกันใหม่ ๆ สด ๆ ซิง ๆ เดี๋ยวนั้น เพราะถ้าทิ้งไว้นานก็จะลื่นอีก

    เราขอความร่วมมือจากชาวบ้านตลอดเส้นทางว่า ในวันนั้นจะไม่นำรถออกมาวิ่งบนถนนเส้นนี้ ก่อนที่คณะของพวกเราจะเข้าไปเรียบร้อยแล้ว และจนกว่างานบุญจะเสร็จสิ้น ซึ่งพวกเขาก็รับปากจะให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ ตีสามครึ่งฝนปรอยมาอีกระลอกและหยุดปรอยเมื่อราวตีสี่ เรายังไม่เทหินเพราะไม่รู้ว่าจะตกซ้ำหรือไม่ เรารอเวลา

    แต่อนิจจาเอ๋ย.. เพียงตีสี่ครึ่ง พวกเราที่มาเองไม่ยอมร่วมมากับหมู่คณะก็มาถึงเป็นระลอก ๆ ผมยืนอธิบายทั้งขอร้องจนคอแหบคอแห้ง เพื่อให้รอรวมและร่วมไปพร้อมกับคณะใหญ่ ตามที่ได้กำหนดเวลาเอาไว้ แต่ก็ไม่มีใครยอมฟังกัน หาว่ากีดกันบ้างละ เข้าได้น่าไม่มีปัญหาบ้างละ บางพวกไม่เอารถของตัวเองเข้า แต่ไปว่าจ้างรถของชาวบ้านแถวนั้น ทุ่มเงินเข้าไป ชาวบ้านที่เคยรับปากกับผมไว้ แต่ไม่ใช่ชาวบ้านวังมุย เป็นพวกอยู่ปากทาง เห็นเงินก้อนใหญ่ก็ลืมสัญญา มนุษย์นี่ครับ

    คนที่ไปก็อยากจะได้ลาภจากการทำบุญ พวกเขาก็อยากได้ลาภจากคนที่ไปทำบุญ ความอยากมันตรงกัน ความมีวินัยก็หายไป มึงจะไป กูจะไป ใครจะทำไม มึงน่ะใหญ่แค่ไหน กูน่ะตราตั้งนะเฟ้ย เป็นอย่างนี้ทุกคนไม่ว่าจะแต่งตัวสวยขนาดไหน แล้วไอ้เป๋ ฯ เป็นใคร ก็เป็นแค่ลูกศิษย์หางแถวเท่านั้น ห้ามเขาไม่ฟังจะยิงทิ้งเขาเรอะ เขาจะไปทำบุญนี่ ไม่ใช่ภาวะสงคราม

    ในที่สุดก็เละตุ้มเป๊ะ..ไปหมดทั้งคนทั้งถนน เพราะพวกที่ไม่มาตามเวลานัดหมาย และเอาแต่ใจตนทำเอาถนนเป็นโจ๊กไปแล้ว ผมเห็นท่าไม่ดีจึงพยายามใช้การติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุ แต่บริเวณนั้นเป็นที่ลุ่ม การติดต่อสื่อสารกระทำได้โดยยาก ผมกับพวกบางส่วนจึงต้องเดินลุยโคลนไปหาโคกกลางทุ่งไกลออกไปจากถนน เพื่อติดต่อสื่อสารรายงานเหตุการณ์ให้พี่ชวาล ฯ และผู้ที่ได้รับมอบหมายทราบ แต่แล้วการติดต่อสื่อสารก็ไม่เป็นผล เพราะอากาศแปรปรวน

    เวลาเดียวกันนั่นเอง ขบวนของหลวงพ่อ ฯ ก็มาถึง ผมส่องกล้องมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่เหาะไม่เป็น เดินก็ช้าครับ เพราะโคนลึกและขาก็เป๋ กว่าผมจะเดินไปถึงรถใหญ่ หลวงพ่อ ฯ ก็กลับไปแล้ว ทราบว่าได้ลองเขยิบเข้าไปแต่รถเกือบตกถนน ก็แน่นอนแหละครับ เพราะด้านหนึ่งของถนนมันเป็นคลองธรรมชาติ ถนนคือลูกรังที่เอามาถมทำเป็นคันคลองชลประทานนั่นเอง แล้วก็ยังมีรถที่คนขับดื้อแล้วไปติดขวางอยู่บนถนนแคบ ๆ นี้อีกหลายคัน

    รถลูกรังกับรถหินที่พี่ชวาล ฯ สั่งให้มาแก้ปัญหาก็เข้าไปไม่ได้ ผมก็เซ็งและหัวหมุนอยู่ตรงนั้นเพราะติดต่อกับคณะใหญ่ไม่ได้ คณะที่มาเองก็เข้าไปยังสถานที่นัดหมายอยู่เรื่อย ๆ แบบตัวใครตัวมันและตามอำเภอใจ (ที่จริงอยากจะใช้คำว่า มือใครยาวสาวได้สาวเอานะเนี่ย....)
    ครั้นพอเราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เสร็จ ถนนโล่งและรถสามารถเข้าได้แล้ว ผมก็ต้องรีบเดินทางกลับเข้าไปที่หลวงปู่ ฯ เพราะไม่ต้องการให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ ไหน ๆ ก็ต้องถูกด่าแล้ว ก็อย่าให้ต้องถูกด่าทั้งม้วนเลย เอาแค่สักครึ่งม้วนก็ยังดี

    เข้าไปนมัสการกราบเรียนเหตุการณ์ให้หลวงปู่ ฯ ท่านทราบ ท่านก็นั่งอมยิ้มเฉยอยู่ เลยนิมนต์อาราธนาให้ท่านรออยู่ในเพิงก่อน อย่าเพิ่งออกมา เจ้ากะเหรี่ยงก็จะไม่ฟังเสียง พูดไทยก็ไม่ได้ไม่ยอมเข้าใจกัน เชิญแคร่หามเข้ามารอ ทั้งฆ้องทั้งกลอง พากันตีเสียง มุ่ย..มง ๆ อยู่ระงมเซ็งแซ่ บ้างก็แถถาเข้ามาใกล้ จะอุ้มเอาตัวหลวงปู่ ฯ ไป พูดจากันหรือก็เข้าใจยาก เพราะว่ากันคนละภาษา ถึงตอนนี้เองที่ไอ้เป๋ ฯ ก็จำต้องใช้กลอุบายแสดงบทโหดระห่ำ แกล้งร้องตะโกนสั่งลูกน้องคู่ใจทันที

    “เฮ้ย...พวกมึงฟังกู ไม่ว่าไอ้หรืออีตัวไหนมันล้ำเส้นที่กูขีดเอาไว้นี้ มึงยิงได้ทันที”
    แล้วผมก็ทำทีเดินตึงตังก้มหน้าก้มตาเอาดาบปลายปืนขีดเป็นวงรอบเพิงที่หลวงปู่ ฯ เข้านิโรธสมาบัติ แถมทำตาเหล่ ๆ ปากเบี้ยวนิด ๆ โดยเอาแบบผู้ร้ายในหนังไทย แล้วตะคอกย้ำไปอีกหนหนึ่งว่า
    “พวกมึงพูดกับกะเหรี่ยงให้เข้าใจภาษาคน ส่วนกูจะไปพูดกับกะหร่าง เอ๊ย ! กับไทยให้เข้าใจภาษาของกู ใครขัดขืนยิงแม่งเลย เรื่องจะติดคุกติดตะรางหรือลงนรก กูรับผิดชอบเอง นรกกูไม่กลัวหรอกเว๊ย กูเคยลงบ่อยไป เฮ้ย ! ไอ้น้อง ต่อไปนี้มึงฟังกูร้อยเอกคนเดียว นายพลนายพันกูไม่สน ใครขัดขืน เฮ้ย..ยิงแม่งให้เหมือนหมา”

    ผมตวาดและแผดเสียงร้องที่คิดว่าตัวเองสามารถเลียนแบบพญาคชสารตกมันได้เหมือนเสียเหลือเกิน (ความจริงเหมือนหมาบ้าเห่า แถมสำรากขี้ออกไปมากกว่า ฮ่า ๆ)
    เมื่อระเบิดตูมตามออกไปดังนั้นแล้ว ก็ให้นึกเศร้าเสียใจเป็นกำลัง ด้วยพยายามรักษาน้ำใจกันมาโดยตลอด กลั้นน้ำตาที่ปริ่ม ๆ จะไหลออกมาเสียให้ได้ ด้วยเสียดายในไมตรีจิตที่ไม่อาจจะถนอมเอาไว้ได้อีกต่อไป ลูกน้องของผมทุกคนรู้ใจแกล้งกระชากลูกเลื่อนปืนพร้อมกันทันทีทุกกระบอก เสียงดังคร๊อกแคร๊กแทบจะเป็นเสียงเดียวกัน ผมถมึงและเขม้นตาซ้ำเติมเข้าไปอีก
     

แชร์หน้านี้

Loading...