พวกเราจะไปนิพพานใช่ไหม ? มั่นใจหรือยัง ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 30 กรกฎาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,129
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,506
    ค่าพลัง:
    +26,341
    IMG_1241.jpeg

    พวกเราจะไปนิพพานใช่ไหม ? มั่นใจหรือยัง ? จะไปแน่นอนแล้วนะ ? แล้วนิพพานอยู่ที่ไหน ? ไม่รู้จักไปไม่ได้นะจ๊ะ

    ถ้าเขาบอกให้ไปอำเภอแม่ลาน มีใครรู้บ้าง อำเภอแม่ลานอยู่ที่ไหน ? ถ้าไม่รู้จักก็ไปแม่ลานไม่ถูก ถ้าไม่รู้จักนิพพานก็ไปนิพพานไม่ถูก อำเภอแม่ลานอยู่จังหวัดสงขลา

    อันดับแรก เราต้องรู้เป้าหมายก่อน เป้าหมายคือนิพพาน เมื่อกำหนดเป้าหมายได้ชัดเจนแล้ว ก็ต้องรู้ด้วยว่าทางไปคืออะไร ? คราวนี้ทางไปพระพุทธเจ้าบอกไว้ชัดแล้ว ก็คือ มรรคแปด ย่อลงมาเหลือศีล สมาธิ ปัญญา

    คราวนี้ไม่ต้องย่อ ลองเอาเต็ม ๆ ดูซิ..มรรคแปดประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง เห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ เห็นว่าโลกนี้เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรที่เป็นที่น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ สัมมาสังกัปปะ คิดได้ถูกต้อง เช่น คิดไม่พยาบาท คิดไม่เบียดเบียนเขา คิดออกจากกาม คิดจะหลุดพ้นไปนิพพาน

    สัมมาวาจา พูดได้ถูก อย่างเช่นว่า ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดวาจาเพ้อเจ้อ สัมมากัมมันตะ ปฏิบัติได้ถูก ก็คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย เป็นต้น สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตได้ถูก คือ ทำมาหากินได้ถูกต้องทั้งกฎหมายและศีลธรรม ไม่เบียดเบียน ลักขโมย ช่วงชิง ฉ้อโกงใครเขามา

    สัมมาวายามะ เพียรพยายามได้ถูก คราวนี้เริ่มยากแล้ว ถามว่าเพียรอะไร ? เพียรในการละความชั่วในใจของเรา เพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในใจของเรา ก็คือ ตัดความชั่วออกไปให้ได้ แล้วระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นมาอีก เพียรสร้างความดีให้เกิดขึ้นในใจของเรา และเพียรรักษาความดีให้อยู่ในใจของเราไว้ อันนี้ก็คือ ทำดีให้ได้ แล้วรักษาดีให้อยู่

    เริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วนะ

    ต่อไปก็ สัมมาสติ ตั้งสติไว้ถูกต้อง ก็คือ มีความรู้ตัวอยู่เสมอ เช่น รู้ตัวว่าเราจะต้องตาย ตายแล้วเราจะไปไหน โดยเฉพาะท่านให้ตั้งสติไว้ในสติปัฏฐานทั้งสี่ คือ กำหนดรู้กายทั้งภายในและภายนอก กำหนดรู้เท่าทันเวทนาทั้งสุขและทุกข์ ทั้งไม่สุขและไม่ทุกข์ กำหนดรู้จิตในจิต สิ่งต่าง ๆ ที่คำนึงครุ่นคิดอยู่ จะดีหรือชั่ว ต้องกำหนดรู้เท่าทันทั้งหมด และกำหนดรู้ธรรมในธรรม คือ ธรรมารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจของตน เช่น นิวรณ์ ๕ เป็นต้น

    สิ่งทั้งหลายทั้งหมดนี้ กำหนดรู้เท่าทัน รู้แล้วปล่อยวาง ไม่ใช่รู้แล้วแบกเอาไว้ ท้ายสุด สัมมาสมาธิ ตั้งสมาธิไว้ถูกต้อง ก็คือ สมาธิที่เราทรงในระดับฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ถ้าหากยังไม่ถึง ก็ไม่จัดเป็นสัมมาสมาธิ เพราะไม่สามารถใช้ในการตัดกิเลสได้

    คราวนี้มีปัญหามาอีกตรงที่ว่า กิเลสหน้าตาเป็นอย่างไร ? ตายแล้ว..เตรียมอาวุธไว้เต็มที่เลย แล้วจะไปตีกับใคร มีใครรู้บ้าง กิเลสมีกี่อย่าง ? ตอบได้ไหม ?

    กิเลสมีอยู่ ๓ อย่าง หรือ ๓ ระดับด้วยกัน อันดับแรกเขาเรียกว่า วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสที่เราล่วงละเมิดแล้วเกิดความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจาของเรา อย่างเช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การดื่มสุราเมรัย การพูดโกหก ถ้าล่วงละเมิดอย่างนี้เมื่อไร เรียกว่า วีติกกมกิเลส

    อย่างที่สอง เป็นกิเลสที่คุกรุ่นอยู่ในใจของเรา เหมือนภูเขาไฟรอวันระเบิด เรียกว่า ปริยุฏฐานกิเลส อย่างเช่นนิวรณ์ ๕ มี กามฉันทะ ครุ่นคิดถึงในกาม พยาบาท โกรธเกลียดอาฆาตแค้นคนอื่น ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติ อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่าน รำคาญ หงุดหงิด ท้ายสุด วิจิกิจฉา ลังเลสงสัยว่าผลการปฏิบัติจะมีจริงหรือไม่จริง ? พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีจริงหรือเปล่า ?

    ถ้าหากเราไม่สามารถจะหยุดปริยุฏฐานกิเลสนี้อยู่ ไม่สามารถจะห้ามเอาไว้ได้ได้ พอล้นออกมาเมื่อไรก็จะเป็นวีติกกมกิเลส ก็คือจะทำผิดศีลทันที

    ตัวสุดท้ายเรียกว่าอนุสัยกิเลส จะเป็นเรื่องของรัก โลภ โกรธ หลง ก็คือ กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจของเรา เหมือนตะกอน
    น้ำที่นอนก้นอยู่

    ปกติเราเห็นว่าน้ำใส แต่เกิดจากการที่ยังไม่มีสิ่งที่มากระทบ ถ้ามีสิ่งที่มากระทบเมื่อไร น้ำนั้นจะขุ่นขึ้นมาทันที แบบเดียวกับลูกศิษย์หลวงปู่สด วัดปากน้ำ ลูกศิษย์คนนี้เป็นเศรษฐีนี รวยมาก ทำมาหากินก็เครียดตามปกติ ได้ยินว่าหลวงปู่สดเก่งมาก สามารถแก้ไขปัญหาทั้งทางโลกและทางธรรมได้ ก็ไปกราบหลวงปู่ หลวงปู่ก็สอนให้ภาวนาสัมมาอะระหัง กำหนดตั้งแต่ดวงปฐมมรรคไล่ไปเรื่อย

    จนตัวเองปฏิบัติก้าวหน้าดี จากคนที่อารมณ์ร้ายชนิดที่คนใช้ในบ้านทำอะไรผิด ก็โดนด่าไปสามวันสามคืน วันนั้นคนใช้ทำแก้วเจียระไนตกแตกทั้งชุดเลย ปรากฏว่าแกเฉย แกก็แปลกใจตัวเองว่าทำไมเป็นอย่างนี้ จึงไปเล่าให้หลวงปู่สดฟังว่า "ดิฉันหมดกิเลสแล้วค่ะ วันนี้คนใช้ทำแก้วเจียระไนที่รักมาก ตกแตกทั้งชุด ดิฉันยังไม่มีความโกรธเลย"

    หลวงปู่สดบอกว่า "อย่าเพิ่งไว้ใจนะ"
    "จริง ๆ เจ้าค่ะ จนป่านนี้ก็ยังไม่โกรธเลย"

    "อย่าเพิ่งไว้ใจ เพราะอาจจะกำเริบอีกเมื่อไรก็ได้"
    "ไม่กำเริบแน่นอนค่ะ จนป่านนี้ดิฉันยังไม่มีความรู้สึกเลย"

    "อีตอแหล..พูดขนาดนี้ยังไม่รู้จักฟัง..!"
    "อ้าว..ทำไมท่านพูดอย่างนี้ละเจ้าคะ นี่ท่านด่าดิฉันแล้วนะคะ..!"

    หลวงปู่ท่านถามยิ้ม ๆ ว่า "คราวนี้เป็นอย่างไร ? กำเริบแล้วใช่ไหม ?"

    กิเลสที่นอนนิ่งอยู่ เพราะโดนอำนาจของสมาธิกดเอาไว้ ถ้าไปกวนไม่ถูกจุดก็ยังไม่เกิดขึ้น

    เมื่อเรารู้ว่าคู่ต่อสู้ของเราหน้าตาเป็นอย่างไร วีติกกมกิเลส ที่ล่วงละเมิดออกมาทางกายและวาจา เราก็ใช้ศีลเป็นเครื่องตีกรอบบังคับไว้ ใจเราอยากฆ่าสัตว์ ก็ต้องตัดใจอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ไม่ฆ่า ยอมตายดีกว่าศีลขาด อยากลักขโมยจนใจจะขาด นั่งเหงื่อตกอยากได้ของเขาก็ไม่ขโมย มีโอกาสล่วงละเมิดลูกเขาเมียใคร ก็ฝืนใจ อดใจเอาไว้ มีโอกาสที่จะโกหกหลอกลวงใคร ก็ห้ามใจตัวเองไว้ อยากจะดื่มสุราเมรัยก็หักห้ามใจตัวเองเอาไว้

    ถ้าทำอย่างนี้ได้ ก็แปลว่า กิเลสชั้นแรกที่เป็นของหยาบ เราพอที่จะสู้ได้แล้ว แต่กิเลสนั้นยังไม่ตาย เราแค่ล้อมคอกกันเอาไว้ได้เท่านั้น เท่ากับว่าอันดับแรก เราล้อมคอกกันตัวกิเลสหยาบไว้ได้แล้ว

    ไปต่อก็ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสที่กรุ่นอยู่ในใจของเรา ทำอย่างไรที่จะเอาให้อยู่ ? คำตอบง่ายมากเลย ก็คือใช้กำลังของสมาธิเข้าข่มเอาไว้ อย่างที่คุณนายท่านนั้นเขาทำ พอทำไปทำมา เหยียบกิเลสแบนอยู่ใต้ตีน แต่ก็ยังไม่ตาย เพียงแค่นิ่งสงบไปชั่วคราวเท่านั้น เผลอหลุดเมื่อไรมาใหม่แน่ ตรงนี้ต้องใช้กำลังของสมาธิช่วยเป็นอย่างมาก

    พอท้ายสุดคือ อนุสัยกิเลส ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาให้เห็นว่า กิเลสเหล่านี้นั้นเป็นทุกข์เป็นโทษอย่างไร จะได้เบื่อหน่าย สลัดทิ้งไปเสียที

    กามราคานุสัย อนุสัยเกี่ยวกับกามราคะ พาเราสร้างโลก สร้างกิเลส สร้างตัณหาทุกประการให้แก่เรา เป็นอย่างนี้มาชาติแล้วชาติเล่าจนนับชาติไม่ถ้วน ควรที่จะพอ ควรที่จะเข็ดหรือยัง ? ควรที่จะละ จะเลิกหรือยัง ?

    อวิชชานุสัย ความโง่ที่สิงใจของเราอยู่ ยังเห็นว่าการเกิดนี้ดี ยังเห็นว่าโลกนี้ดี ยังเห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งดี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอะไรแล้วยังมีความรู้สึกชอบ ยังมีความรู้สึกพอใจ ถ้าเป็นแบบนี้เราเสร็จเขาแน่ ๆ

    เพราะฉะนั้น..ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นรากเหง้าใหญ่ที่จะพาให้เราทุกข์ ต้องเกิดมาไม่รู้จบ เราควรที่จะเลิกคบกันเสียที ก็ตั้งหน้าตั้งตาใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยร่างกายนี้เป็นคูหาคือที่อาศัย

    ถ้าปราศจากร่างกายนี้อย่างเดียว กิเลสก็ไม่มีอะไรที่จะอาศัยอยู่ได้ ก็จะไปเข้าจุดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อนัตตา ความไม่มีตัวตน ถ้าไม่มีตัวแล้วกิเลสจะมาทำอะไรเราได้หรือเปล่า ? ก็ทำไม่ได้

    สมมติว่ากิเลสจะผูกเรา เรามีมือ กิเลสก็ผูกเราได้..ใช่ไหม ? แต่ถ้าเราไม่มีมือเล่า ? กิเลสจะเอาอะไรมาผูก ? ฟังดี ๆ นะ..นิดเดียวแค่นั้น วันนี้ถ้าหากใครทำได้หลุดพ้นเลย ทั้งหมดก็มาลงตรงนี้ อนัตตา

    แต่คนเรามาถึงก็ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาถึงความไร้ตัวตน เมื่อครู่ที่ถามในตอนแรกว่ารู้จักนิพพานไหม ? ถ้าเราไม่รู้จักแล้วจะไปอย่างไร ? ตรงนี้เราต้องมองย้อนกลับ ในเมื่อเป็นอนัตตาก็เลยทุกขัง คือ ไม่มีตัวตนแต่เราไปยึดถือว่ามีเราก็ทุกข์ และ ในเมื่อไม่มีตัวตนเราไปยึดถือว่ามีก็เลยอนิจจัง ไม่เที่ยง

    เราลองมาคิดดูว่า ถ้าเป็นอัตตาเล่า ? ก็ต้องสุขขัง แล้วก็ต้องนิจจัง ก็คือ ถ้าเป็นตัวตนที่มั่นคงก็ต้องมีแต่ความสุข ก็จะต้องมีแต่ความเที่ยง นี่แหละนิพพาน..!

    เราวิ่งมาถึงนี่ คือตัวที่ต้องตัดทิ้ง (อนิจจัง --> ทุกขัง ---> อนัตตา) แต่ถ้าเราวิ่งย้อนกลับมาเมื่อไร ก็คือ สภาพสภาวะนิพพานที่เราต้องไปถึง (อัตตา ---> สุขขัง ---> นิจจัง) แต่คราวนี้ทำอย่างไรที่เราจะไม่พลาดไปยึดเป็นอัตตา เพราะว่าอัตตาตรงนี้เป็นปรมัตถ์สัจจะ ไม่ใช่สมมติสัจจะ

    ถึงจะเป็นปรมัตถ์สัจจะ แต่ถ้าเราไปบอกว่าเป็นอัตตา คนอื่นก็จะเถียงว่าเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าท่านจึงอธิบายว่านิพพานเป็นสถานที่พิเศษ พระองค์ท่านตรัสว่า

    "ดูก่อน..ภิกขุทั้งหลาย อายตนะ (นิพพาน) นั้นมีอยู่ ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่พระอาทิตย์ ไม่ใช่พระจันทร์ ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ.."

    ในเมื่อไม่ใช่สิ่งสมมติทั้งหลายเหล่านี้ จึงไม่ใช่อัตตาและไม่ใช่อนัตตา เพราะถ้ากล่าวเป็นอัตตาก็ต้องเป็นอนัตตา ก็จะค้านกับคำสอนของพระองค์ท่านเอง

    เพราะฉะนั้น..ตรงจุดนี้ถ้าเรามองย้อนกลับเพื่อจะได้รู้จักพระนิพพาน เราจะต้องเข้าใจนะว่าเป็นคนละระดับกัน คือ เป็นระดับของปรมัตถธรรม ไม่ใช่สมมติสัจจะทั่ว ๆ ไป

    ในเมื่อเราย้อนกลับ ถ้าเป็นอนัตตาก็ไม่มีอะไรผูกพันเราได้ พอรอดพ้นไป เราก็จะเข้าถึงอัตตาที่แท้จริงคือนิพพาน แต่ตรงนี้ท่านไม่ใช้คำว่าอัตตานิพพาน ท่านใช้คำว่าพระนิพพาน ตรงจุดนี้เราจะต้องมีสัมมาทิฏฐิที่ชัดเจนที่สุด ถ้าสัมมาทิฏฐิไม่ชัดเจนเมื่อไร เราจะติดอยู่ตรงนี้ทันทีเลย ขอเปรียบเทียบหน่อยนะ..

    เรามีมือใช่ไหม ? ..ใช่ครับ.. แล้วลิงมีมือไหม ? ..มีครับ..

    ถ้ามีมือ..เราโดนผูกมือได้ ลิงมีมือ..ลิงก็โดนผูกมือได้เหมือนกัน..ใช่ไหม ? ..ครับ.. ถูกต้องไหม ? ..ถูกต้องครับ.. แน่ใจนะ ? ..แน่ใจครับ..

    ลิงเป็นสัตว์สี่เท้าใช่ไหม ? ..อ้าว..?? แล้วลิงจะเอามือที่ไหนมา ? ลิงมีแต่ขาสี่ข้าง แล้วเราจะไปผูกมือลิงได้อย่างไร ?

    นี่คือสิ่งที่จะเปรียบเทียบให้ฟังว่า ตัวมิจฉาทิฏฐินั้น ถ้าเข้าใจผิดแม้เพียงนิดเดียว ก็จะทำให้เรามุ่งไปผิดเป้าได้ ลิงเป็นสัตว์สี่เท้า ไม่มีมือ แล้วเราจะเอาอะไรไปผูกมือลิงได้ ลิงมีแต่ขาหน้ากับขาหลัง

    ถ้าเราเข้าใจว่าลิงไม่มีมือ นี่คือสัมมาทิฏฐิ แต่ตอนที่เราเข้าใจว่าลิงมีมือ ก็คือมิจฉาทิฏฐิ ต่างกันอยู่แค่นี้เอง

    ในเมื่อเรามีสัมมาทิฏฐิ เห็นว่าสภาพร่างกายนี้โดยจริงแท้แล้วไม่มีอะไร เป็นเพียงดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น ในเมื่อไม่มีอะไร แล้วรัก โลภ โกรธ หลงที่ไหนจะมาร้อยรัดเราได้เล่า ?

    ก็ทั้งหมดเป็นเพียงสมบัติของร่างกาย รัก โลภ โกรธ หลง จะมีอยู่ได้ก็เพราะอาศัยร่างกายนี้ เมื่ออยากจะมีก็มีไปสิ อยากจะอยู่ก็อยู่ไปสิ เพราะนั่นเป็นเรื่องของร่างกาย ไม่ใช่เรื่องของเรา เราอย่าเอาใจไปยุ่งด้วยก็พอ เพราะว่าแท้จริงแล้วไม่ได้มีอะไรเป็นของเราเลย

    ในเมื่อใจเราไม่ไปยุ่งด้วย เรารู้ชัดว่าร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นของเราแม้แต่น้อย แล้วกิเลสอะไรจะมาร้อยรัดมัดเราได้ ? ต่อให้เป็นต้นตระกูลของกิเลส ๑๘ ชั่วโคตรก็มัดเราไม่อยู่หรอก..!

    ดูท่าของขวัญปีใหม่นี้จะยากจัง แต่ความจริงแค่มองเห็นชัดนิดเดียวเท่านั้น..นิดเดียวแค่ที่เราเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริง ๆ รัก โลภ โกรธ หลง ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราด้วย ดีชั่วทั้งหมดก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราด้วย

    แต่ที่เราสร้างความดีเพราะเขาสมมติว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี ทุกคนนิยมกันเราถึงทำ ที่เราละชั่วเพราะว่าทุกคนไม่พึงปรารถนาในความชั่วเราถึงละ เราทำดีเพราะรู้ว่าดีถึงทำ เราละชั่วเพราะรู้ว่าชั่วถึงละ แต่เราไม่เกาะทั้งดีทั้งชั่ว เพราะไม่มีอะไรให้เกาะแล้ว แม้แต่สภาพตัวตนก็ไม่มี แล้วเราจะไปเกาะอะไรได้

    ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะจบไหม ? ก็น่าจะจบนะ สรุปจบปิดบทสุดท้ายได้เลย วิทยานิพนธ์ผ่านแน่นอน

    ตรงที่เปรียบเทียบมิจฉาทิฏฐิกับสัมมาทิฏฐิ หลวงพ่อสมนึก (ท่านพระครูสุธรรมนาถ วัดปลักไม้ลาย) ท่านอธิบายให้ฟัง อาตมาโดนท่านหลอกมาเหมือนกัน ถึงเวลาผูกมือเราก็เลยผูกมือลิงไปด้วย ตรงนี้เป็นความรู้และเป็นความดีอย่างยิ่งของท่าน ที่ชี้ให้เห็นว่ามิจฉาทิฏฐิกับสัมมาทิฏฐินั้นต่างกันนิดเดียว

    เพราะฉะนั้น..เรารู้แล้วว่านิพพานอยู่ที่ไหน รู้โดยที่ไม่ต้องไปฝึกอภิญญาด้วย เราแค่ย้อนทวน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กลับไปเป็น นิจจัง สุขขัง อัตตา ก็เป็นนิพพานแล้ว แต่อย่าลืมว่าเป็นอัตตาในปรมัตถ์ธรรมนะ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะไปยืนยันว่านิพพานเป็นอัตตาในระดับสมมติ จะกลายเป็นว่า ไปเถียงพระพุทธเจ้าเข้าเสียอีก..!

    พวกเราเพียงแต่ขาดปัญญาอยู่นิดเดียว คือปัญญาที่เห็นแล้วตัดได้ ละวางได้ ก็แปลว่าในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เราต้องไปเร่งเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้ปัญญาของเราพอ จะได้ก้าวพ้นกิเลสกันเสียที

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...