ประวัติย่อ หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส สายธรรมหลวงปู่มั่น วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย แดนโลกธาตุ, 2 กันยายน 2006.

  1. แดนโลกธาตุ

    แดนโลกธาตุ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กันยายน 2006
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    7
    ค่าพลัง:
    +23,976
    ประวัติย่อหลวงปู่พระรัชมงคลนายก หรือหลวงปู่คำดี ปญโญภาโส (สายธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต )
    แห่งวัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

    หลวงปู่คำดี ปญโญภาโส หรือพระรัชมงคลนายก เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ.) เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ที่บ้านหนองหอย หมู่ 4 ต.กุสุมาลย์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร อายุ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 21 ก.ย. พ.ศ. 2488 อยู่วัดโพธาราม อ.กุสุมาลย์ อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ท่านได้ศึกษาปริยัติธรรมที่วัดโพธาราม และวัดพระธาตุเชิงชุมวรมหาวิหาร

    จากนั้นในปี พ.ศ. 2492 ได้ออกไปจำพรรษา ณ วัดป่าธาตุนาเวง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร ขณะนั้นหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นประธานสงฆ์ ศึกษาปริยัติธรรมยู่ 4 ปี กลางพรรษาในช่วงนี้ได้เดินธุดงค์อยู่ในป่าช้า ป่าเขา ป่าช้าง ดงเสือ ครั้งละ 3-6 เดือน แต่ด้วยเดชอำนาจแห่งเมตตาธรรม ทำให้ปลอดภัยและอยู่เป็นสุขทุกครั้ง

    พ.ศ. 2488-2536 ได้ตระเวนไปปฏิบัติธรรมตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จากนั้นได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

    พ.ศ. 2508 ได้เลื่อนสมณศักดิ์สัญญาบัตรที่ พระครูพิศาลปัญโญภาส

    พ.ศ. 2538 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ.)

    พ.ศ. 2539 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระรัชมงคลนายก

    พ.ศ. 2539 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

    หลวงปู่คำดีได้อาพาธ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ด้วยโรคความดันโลหิต โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน คณะศิษย์ได้ส่งตัวไปรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กทม. เมื่อแพทย์เห็นว่าอาการดีขึ้น จึงให้กลับมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสกลนคร

    ต่อมาหลวงปู่คำดีได้มีอาการทรุดหนักลง และมรณภาพด้วยอาการอันสงบ ณ โรงพยาบาลสกลนคร เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เวลา 09.09 น. สร้างความเศร้าโศกแก่คณะศิษย์เป็นอย่างยิ่ง สิริรวมอายุ 79 พรรษา 60

    หลวงปู่คำดีเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นลูกศิษย์ที่เดินตามรอยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มีพระปฏิปทาสูงส่งและมีวัตรปฏิบัติที่งดงาม เป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ



    หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส ศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

    "พระรัชมงคลนายก" หรือ หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร อดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) เป็นพระสายปฏิบัติธรรมที่ได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ

    ทำให้มีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาเป็นจำนวนมาก

    อัตโนประวัติ พระรัชมงคลนายก มีนามเดิมว่า ดี ใบหะสีห์ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2471 เกิดที่บ้านหนองหอย หมู่ที่ 4 ต.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายถาและนางตา ใบหะสีห์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 12 คน ท่านเป็นคนที่ 3

    ในวัยเด็ก เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบ้านอีกุด ต.กุสุมาลย์ จบชั้นประถมปีที่ 4 ต้องลาออกออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา

    กระทั่งอายุ 18 ปี ได้ขอลาบวชเป็นสามเณร ที่วัดโพธาราม ต.กุสุมาลย์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2488 โดยมีเจ้าอธิการโท วรปัญโญ เป็นพระอุปัชฌาย์

    ด้วยความตั้งใจครั้งแรก คิดจะบวชเพียง 7 วันเท่านั้น แต่ปรากฏว่า เมื่อได้ศึกษาพระธรรมอย่างถ่องแท้ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงไม่ยอมสึก

    พ.ศ.2489 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี

    เมื่ออายุครบบวช จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2490 โดยมีพระอธิการโท วรปัญโญ เป็นพระอุปัชฌาย์

    ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดแห่งเดิม พร้อมศึกษาพระปริยัติธรรมต่อ

    พ.ศ.2491 ได้ย้ายไปอยู่สำนักวัดสะพานคำ ตัวเมืองสกลนคร และได้ทราบว่าที่สำนักวัดป่าธาตุนาเวง ตั้งอยู่ที่บ้านธาตุนาเวง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่าภูธรพิทักษ์ มีการฉันอาหารมื้อเดียว ฉันสำรวมในบาตร

    จึงเดินทางไปที่สำนักวัดป่าธาตุนาเวง พบเห็นที่อยู่เป็นป่าสะอาดสะอ้านรู้สึกประทับใจ และได้เข้าไปนมัสการหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เจ้าอาวาสผู้เป็นหัวหน้าสำนัก เกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรมที่ท่านได้อธิบายให้ฟังเข้าใจอย่างง่ายๆ

    ท่านได้ตัดสินใจขอฝากตัวเป็นศิษย์ และได้อยู่ศึกษาในปี พ.ศ.2492 และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้ทำพิธีญัติกรรมสวดญัตติใหม่ คือ การเปลี่ยนจากพระสายมหานิกายมาเป็นธรรมยุต เสมือนการบวชใหม่ จึงเริ่มนับพรรษาใหม่

    ในการนี้ มีพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโก) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระราชสุทธาจารย์ วัดเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม (พรมมา โชติโก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

    ก่อนเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าธาตุนาเวง และศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในสำนักแห่งนี้

    เมื่อสิ้นปี พ.ศ.2495 ท่านจึงเดินทางออกแสวงหาที่เงียบสงบปฏิบัติธรรมโดยการเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรปลีกวิเวก

    หลวงปู่คำดี เคยเดินธุดงค์และจำพรรษา ดังนี้ พ.ศ.2492-2495 วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร พ.ศ.2496-2497 ดงยางระโหงและที่วัดเขาแก้ว อ.ท่าไหม่ จ.จันทบุรี พ.ศ.2498-2500 ภูเขาป่ายางนาคและสำนักสงฆ์น้ำริน ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

    พ.ศ.2502-2504 วัดป่าศรัทธาราม ต.หัวทะเล จ.นครราชสีมา และ พ.ศ.2505 กลับไปที่สำนักสงฆ์น้ำริน ต.ขี้เหล็ก จ.เชียงใหม่

    พ.ศ.2506-2507 สำนักสงฆ์สันติวาสวดี อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร พ.ศ.2508-2512 วัดป่าศรัทธาราม วัดป่าสาละวัน จ.นครราชสีมา พ.ศ.2513-2517 วัดป่าน้ำริน ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พ.ศ.2518-2523 วัดป่าธาตุนาเวง อ.เมืองสกลนคร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม พ.ศ.2524-2525 สำนักสงฆ์ถ้ำขาม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

    พ.ศ.2526-2532 วัดอรัญญิกาวาส อ.เมือง จ.นครพนม พ.ศ.2533 สำนักสงฆ์ผาเด่น อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, พ.ศ.2534-2536 วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมืองสกลนคร

    ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2538 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร พร้อมกับได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ.) และ พ.ศ.2539 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

    พ.ศ.2548 หลวงปู่คำดี อาพาธด้วยโรคความดันโลหิต โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน คณะศิษย์ได้ส่งตัวไปรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพฯ เมื่อคณะแพทย์เห็นว่า อาการดีขึ้น จึงให้กลับมาพักรักษาตัวที่ ร.พ.สกลนคร

    วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 หลวงปู่คำดี ได้มีอาการทรุดหนักลงและมรณภาพด้วยอาการอันสงบ สิริอายุ 79 พรรษา 60

    หลวงปู่คำดีเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นลูกศิษย์ที่เดินตามรอยพระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนา มีปฏิปทาสูงส่งและมีวัตรปฏิบัติที่งดงาม เป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ

    การมรณภาพของหลวงปู่คำดี ถือเป็นการสูญเสียพระเถระที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง



    ............................................................

    ที่มา :: นสพ.ข่าวสด หน้า 31
    คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6
    วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5743
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 551.jpg
      551.jpg
      ขนาดไฟล์:
      9.5 KB
      เปิดดู:
      4,084

แชร์หน้านี้

Loading...