รวบรวมและจัดหมวดหมู่ ข้อสงสัยในการเจริญพระกรรมฐาน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Xorce, 24 กรกฎาคม 2010.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. Xorce

    Xorce เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,369
    ค่าพลัง:
    +4,400
    เนื่องด้วยกระทู้ "รับตอบข้อสงสัยในการเจริญพระกรรมฐาน"

    มีข้อมูลเนื้อหากำลังจะถึงร้อยหน้า มีข้อมูลเยอะมาก

    เป็นเรื่องยากต่อการค้นหา คำตอบของข้อติดขัด ข้อสงสัยที่ท่านทั้งหลายมี

    ซึ่งแต่ละท่านได้ถามคำถามเข้ามาหลากหลาย ตามจริตนิสัยของตัวเอง

    บางครั้งคำถามเหล่านี้ก็ซ้ำกันหรือมีคำตอบในลักษณะเดียวกัน

    คำถามบางคำถามนั้น ได้มีการตอบไปเกินกว่า20ครั้งแล้ว

    และยังคงมีคำถามในลักษณะเดียวกันปรากฏอยู่เรื่อยๆ

    ผมจึงจะถือโอกาสนี้ รวบรวมประสบการณ์ที่ได้จากคำถามซึ่งมีการถามไปแล้ว

    มาจัด ข้อติดขัด ให้เป็นประเภทต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่ เป็นระบบระเบียบเรียบร้อย

    และมีหน้าสารบัญ ให้ท่านสามารถตรงเข้าไปอ่านข้อติดขัดได้ในทันที เช่น ทำสมาธิแล้วเครียด อยู่หน้าที่2 โพสต์ที่3 เป็นต้น

    ไม่ต้องเสียเวลาอ่านไปทีละหน้าจนกว่าจะเจอ หรือต้องรอหลายวันกว่าผมจะมาตอบ

    โดยกระทู้นี้ผมจะขอลงเนื้อหาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบตามที่เห็นสมควร

    แล้วจึงจะเปิดกระทู้ให้ทุกๆท่านได้เข้ามาถามข้อติดขัด

    ชนิดที่เป็นรายละเอียดตามแต่ละจริตของท่านทั้งหลาย


    ขอให้ทุกๆท่านที่มีข้อสงสัย ข้อติดขัดประการใด

    พึงได้รับประโยชน์ และแก้ข้อติดขัดของท่านทั้งหลายได้จากการอ่านกระทู้นี้

    มีพระนิพพานเป็นที่สุดได้ในชาติปัจจุบัน หรือในอนาคตกาลเบื้องหน้านี้โดยเร็วไวด้วยเทอญ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 24 กรกฎาคม 2010
  2. Xorce

    Xorce เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,369
    ค่าพลัง:
    +4,400
    สารบัญ







    ..
     
  3. Xorce

    Xorce เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,369
    ค่าพลัง:
    +4,400
    ในลำดับแรกนั้น จะเป็นการแก้ข้อสงสัยข้อติดขัดพื้นฐาน ที่หลายๆท่านมักจะเจอกัน

    โดยผมจะเริ่มจาก "อารมณ์หนัก เพราะวิริยะมากเกินไป" เสียก่อน

    อารมณ์หนักคืออะไร อาการของอารมณ์หนักคืออะไร เมื่อเกิดแล้วจะส่งผลอย่างไรบ้าง

    อารมณ์หนัก คือ สภาวะของจิต ที่มีความเครียด เกร็ง อึดอัด หนัก ไม่เหมาะแก่การเจริญสมาธิ

    บุคคลผู้มีอารมณ์จิตหนักนั้น จะเจริญสมาธิอีกสิบปี ก็ย่อมไม่ต้องหวังมรรคผลประการใด

    เพราะมันไม่มีทางได้

    ไม่มีทางได้เพราะมันเครียดเกินไป สุดโต่งเกินไป

    ทางบาลีเขาเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

    ซึ่งแปลว่า การปฏิบัติที่สุดโต่งไปในทางทรมานตัวเอง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

    แน่นอนว่าการปฏิบัติที่สุดโต่งไปย่อมไม่ใช่ทางสายกลาง

    เมื่อไม่ใช่ทางสายกลาง ก็ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน เป็นอะไรที่เกินจากคำสอนของพระพุทธเจ้า

    เมื่อเกินจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ได้มรรคผลอะไร

    เพราะถือว่า ฝ่าฝืนและละเมิด ในคำสอนของพระองค์

    อาการของอารมณ์หนัก การปฏิบัติที่สุดโต่งนี้คืออะไร มีอะไรเป็นให้เราจับผิดตัวเองว่าเราทำแบบนี้หรือไม่

    อารมณ์หนักนี้มักจะเกิดเวลาที่เราทำสมาธิ

    ถ้าเราอารมณ์หนักปุ้ป เวลาทำสมาธิ คิ้วจะขมวด จิตจะเครียด ซํกพักจะปวดหัว ปวดคิ้ว

    หายใจไม่สะดวก ติดขัด

    หาลมหายใจไม่เจอ ไม่ใช่ไม่เจอเพราะจิตเป็นสมาธินะ แต่ไม่เจอเพราะเครียดไป

    พอเลิกทำสมาธิจะปวดหัวค้าง เครียดค้าง ตึงปวดหน้าผากค้าง

    จิตจะมืด อึดอัด หดหู่ แน่นหนัก บางครั้งเหนื่อย หอบ หายใจแรง มึนๆ เวียนศรีษะ

    เป็นอาการที่เกิดจากการมีความเพียร วิริยะ มากเกินพอดี มากเกินไป

    เราตั้งใจมากไป อยากจะบรรลุเร็วๆ อยากจะก้าวหน้าเร็วๆ อยากได้นู่นได้นี่เร็วๆ

    พอเราคิดแบบนี้ อยากบรรลุไวๆ พอมานั่งสมาธิเท่านั้นแหละ

    เครียดเลย หน้านิ่วคิ้วขมวด หน้าดำหน้าแดงคร่ำแคร่ง

    จะบรรลุๆๆ จะต้องได้ฌาณ4เดี้ยวนี้ จะต้องได้อภิญญาภายในวันนี้

    ถ้าคิดแบบนี้นะ ล้มพับตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

    วันนั้นท่านจะไม่ได้อะไรหรอก ได้อารมณ์หนักอย่างเดียวเท่านั้น

    เพราะอะไร

    ในอินทรีย์5 ท่านจับวิริยะ เอาไว้เป็นคู่ตรงข้ามกับสมาธิ จัดปัญญาเอาไว้คู่ตรงข้ามกับศรัทธา และจัดสติเอาไว้ เป็นกลาง

    คือถ้ามีสติซะอย่าง อินทรีย์ที่เหลืออีก4จะถูกหนุนขึ้นมาหมด

    แต่ถ้าวิริยะมากไปแล้ว สมาธิจะหายหมด หดหมดเกลี้ยง ไม่เหลือเลย

    จิตจะฟุ้งซ่าน นั่งภาวนาก็จะคิดแต่ จะบรรลุไหม จะได้ฌาณ4ไหม จะได้อภิญญาไหม

    ท่านจะไม่ได้ซักอย่าง เพราะวิริยะมันเกินพอดี
    อะไรที่เกินพอดี ถือเป็นอัตตกิลมถานุโยค

    กลายเป็นการทรมานตนด้วยความเพียร หรือมีความเพียรมากเกินไปจนตัวทรมาน

    ถ้าในโพชฌงค์7

    ท่านจัด วิริยะ ธัมมวิจยะ และปีติ เอาไว้ในหมวดเดียวกัน

    ท่านจัด สมาธิ อุเบกขา และปัสสัทธิ เอาไว้ในหมดเดียวกัน

    มีสติ เป็นกลาง คอยควบคุม และสนับสนุนอีก6ตัวที่เหลือ


    บางท่านปฏิบัติธรรมมา 10ปี เครียดไป 10ปี เพราะอะไร

    พอเริ่มปฏิบัติ ผมจะบรรลุเดียวนี้ ผมจะไปพระนิพพานเดี้ยวนี้

    นั่งสมาธิหน้าดำคร่ำเคร่ง พอเลิกมา

    วันนี้ไม่ได้พรุ่งนี้ต้องเอาใหม่

    มาถึงพรุ่งนี้นั่งเครียดแบบเดิม ไม่ได้อีก อีกวันเอาอีก

    ทำแบบนี้จนครบสิบปี

    แล้วก็มาบ่น มาท้อแท้ มารำพึง มาหดหู่ว่า

    โอย เรานี่บุญวาสนาบารมีน้อย ทำมาสิบปี ยังไม่ค่อยได้อะไร คนอื่นเขาไปกันไกลแล้ว

    มันจะได้อะไรเล่า คุณ!

    ปฏิบัติไม่ถูก ก็ไม่เกิดผลสิ

    ปฏิบัติถูกหนึ่งครั้ง มีผลมากกว่าสิบปีที่ทำไม่ถูก

    ก็คุณเล่นปฏิบัติ แบบวิริยะเกินเหตุนี่ มันจะได้อะไร

    พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติในทางสายกลาง

    ทางสายกลางคืออะไร

    ธรรมทุกอย่างมีคู่ วิริยะมากไปสมาธิไม่มี จิตก็ฟุ้งซ่าน สมาธิมากไปวิริยะไม่มี จิตก็ง่วงหลับ เคลิ้มตกภวังค์

    ธรรมะคือ ธรรมชาติ เป็นเรื่องของความสมดุล

    อุปมาเหมือนบุคคลพายเรือ ในมหาสมุทร

    ถ้าเรือเอียงซ้ายก็จม เรือเอียงขวาก็จม ถ้าเรอสมดุล ไม่เอียงซ้ายขวา จึงแล่นจนถึงฝั่งได้

    หรือเราขี่จักรยาน ถ้าน้ำหนักไม่สมดุล ก็ล้มไม่เป็นท่า

    แล้วอะไรเล่าที่ทำให้น้ำหนักสมดุล

    มันคือ สติ ถ้าเรามีสติเรือมันล่มไม่ได้ จักรยานมันล้มไมได้

    สติคืออะไร สติคือ การรู้ตัว รู้ระลึก รู้ประคอง รู้รักษา รู้เหตุ รู้ผล รู้ถูก รู้ผิด รู้ดี รู้ชั่ว รู้พิจารณา

    รู้ระลึก คือ คอยระลึกรู้ในสิ่งที่ตัวเอง ได้กระทำ กำลังกระทำ และกำลังจะทำอยู่เสมอ

    รู้ประคอง คือ เมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ให้เรารู้ที่จะประคองในสิ่งที่ตัวเองทำจนตลอดลอดฝั่ง ไม่ใชเดี้ยวทำเดี้ยวเลิก หรือประคองไม่ได้

    นั่งสมาธิไป5นาทีหลับนี่ แปลว่าไม่รู้จักการประคอง

    รู้รักษา คือ รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังประทำอยู่นี้ เราจะรักษาในความดีที่เราได้เข้าถึงแล้ว

    ให้มันอยู่กับเราตลอดไปเนี่ย มันจะต้องทำยังไง จะต้องใช้คุณธรรมข้อไหนเข้ามาเกื้อหนุน

    รู้ในกิจแห่งการรักษาสิ่งนั้นไม่ให้แตกสลายไป

    รู้เหตุ รู้ผล คือ เราต้องคิดว่าสิ่งที่เราต้องการนี้ ย่อมเกิดมาจากเหตุ

    ถ้าทำเหตุให้สมบูรณ์ย่อมให้ผลตามนั้น

    ผลทุกอย่างก็เกิดมาจากเหตุ

    เราอยากจะบรรลุธรรม อยากจะได้อภิญญา

    เคยศึกษาไหมว่าจะบรรลุมันบรรลุกันยังไง จะได้อภิญญามันได้กันยังไง ฌาณ4มันได้กันยังไง

    ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย นั่งสมาธิดะดะไป นั่งสมาธิไปเรื่อยๆ หวังว่ามันจะได้

    พอไม่ได้ก็มาเครียด นี่เราต้องโทษตัวเอง

    โทษว่าอะไร โทษว่าไม่ยอมศึกษาให้ดี แล้วพอมาทำไม่ได้ ก็ดูถูกบารมีตัวเอง

    ทุกๆอย่างมันมีหลัก มีแนวทาง

    อย่างความเพียรเกินพอดีไป ทำให้สมาธิหาย เพราะจิตเครียด กังวล ฟุ้งซ่าน

    นี่ถ้าเรารู้ก่อนคงจะไม่ทำไปตะพึดซะขนาดนั้น มันต้องทางสายกลางนะครับ

    ถ้าความเพียรมันเกินเหตุไป ทำไงมันก็ไม่ได้

    ถ้าจะได้ก็ต้องไปบัญญัติวิธีใหม่ขึ้นมา เพราะไม่มีในพระพุทธศาสนา

    รู้ถูก รู้ผิด รู้ดี รู้ชั่ว คือ เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ มันถูกทางรึเปล่า หรือมันผิดทาง

    แล้วที่ถูกมันคืออะไร ที่ผิดคืออะไร ถูกมันถูกเพราะอะไร ผิดมันผิดเพราะอะไร

    ดีมันดีเพราะอะไร ไม่ดีมันไม่ดีเพราะอะไร อย่าทำสักแต่ว่าทำ ท่านจะไม่ได้อะไร

    หรือเราอารมณ์หนักไป แล้วเราเกิดรู้ขึ้นมาว่า ที่ความเพียรเยอะไปมันไม่ได้เพราะอะไร

    เพราะว่าจิตจะฟุ้งซ่าน มุ่งเอาแต่ผล มันเลยไม่ได้อะไร

    นี่แค่เรารู้แค่นี้ ก็ถือว่าได้ความรู้มากกว่าเดิมแล้ว

    การรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิด มันผิดเพราะอะไร นี่คือธรรมะ

    มันเป็นธรรมชาติ ทำผิดก็ย่อมไม่ได้อะไร ทำถูกก็ย่อมเกิดผล

    ทุกๆอย่างเป็นเหตุเป็นผล เหตุดี ผลก็ดี เหตุชั่ว ผลก็ชั่ว

    กฏธรรมชาติตายตัว

    สุดท้ายรู้พิจารณา คือ ให้เราพิจารณาด้วยสติอยู่เสมอ เป็นตัวสรุปทุกอย่าง

    เป็นเรื่องของปัญญาว่าเรากำลังจะทำอะไร ทำด้วยวิธีไหน ทำแล้วมันจะได้อะไร

    มันถูกหรือผิด ผิดหรือถูก

    ผิดเพราะอะไร ถูกเพราะอะไร ต้องตอบตัวเองได้

    ถ้าตอบตัวเองไม่ได้อย่าพึ่งทำ เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าเรากำลังจะทำอะไร

    ทำไปเพื่อะไร ทำไปแล้วมันจะได้อะไร

    เราเอาแต่ทำสักแต่ว่าทำ ใครเขาว่าแบบนี้ เราก็ทำๆไป

    แบบนี้คือหลง คือเราขาดสติ

    ใครเขาจะจูงเราไปทางไหนเราก็ไป นี่มันไม่ถูก

    เขาจะจูงเราเป็นสิทธิ์ของเขา แต่เราจะไปหรือไม่เป็นสิทธิ์ของเรา

    เป็นเรื่องของสติของเรา พิจารณาเสมอ แล้วจึงเดิน

    เพราบุคคลในสังสารวัฏนั้นอุปมาเหมือนเดินอยู่ในถ้ำมืด

    เราจะเดินไปทางไหน จะก้าวอย่างไร ต้องคิด คิดเยอะ คิดก่อนทุกครั้ง

    คิดก่อนจะทำนี่คือมีสติ ถ้ามีสติมันก็ก้าวถูก

    ถ้าขาดสติก็คือ ไม่คิดก่อนทำ ใครเขาว่าอะไรมา เราก็กระโจนไป

    แบบนี้จะตกเหวตายได้ง่ายๆ

    ผู้มีสติย่อมพิจารณาโดยแยบคายซ้ำไปซ้ำมาหลายๆรอบ ก่อนจะกระทำสิ่งใด

    หากเขาตอบคำถามที่ตัวเองคาใจไมได้ ย่อมไม่เดิน นี่คือสติ


    เมื่อเราใช้สติคุม ความเพียรย่อมไม่มากเกินไป

    เวลาเราทำสมาธิไป เอ้ยเริ่มเครียด เอ้ยอารมณ์เริ่มหนัก เอ้ยเราหวังสูงไปจากการนั่งครั้งเดียว

    เราหยุดก่อน คิดก่อน เปลี่ยนวิธี นี่คือมีสติ ใช้สตินำ

    เมื่อมีสตินำ วิริยะตามหลัง วิริยะมันก็พอดีสมส่วน สมาธิก็เกิดขึ้น

    จิตใจก็สงบ

    ถ้ารู้ตัวว่าอารมณ์หนักไป เอ้ยไมได้ ต้องผ่อนอารมณ์ รู้ถูกรู้ผิด

    รู้วิธีคลายอารมณ์ตัวเอง

    ครูบาอาจารย์บางท่าน ท่านให้หายใจยาวๆ ซักสองสามครั้ง เมื่อรู้ว่าตัวเองอารมร์หนักไป

    หรือบางท่านบอกให้เลิกเลย ไม่ต้องทำสมาธิ จะไปดูทีวี ไปฟังเพลงก็ไป

    เอาให้หายเครียด เพราะถึงจะนั่งสมาธิไป ด้วยความที่เครียดมันก็ไม่ได้อะไร

    เขาบอกว่าไม่เอาถ่าน เพราะถ่านมันก็ไม่ได้ ไม่ต้องไปหวังแก้วเลย

    ถ้าปวดหัว เครียด อึดอัด หายใจไม่ออก อยากจะก้าวหน้าไวๆ อยากได้อภิญญาเกินเหตุ

    นี่ขาดสติแล้ว เพราะคนมีสติ เขาไม่ปล่อยให้ตัวเองเพียรโดยไร้จุดหมาย ไร้เหตุผล

    คนมีสติเขาเพียร ในสิ่งที่ควรเพียร เมื่อควรจะเพียร

    คนขาดสติความเพียรดะ เพียรมันทุกเรื่อง

    อะไรไม่เป็นเรื่องก็เพียรเข้าไป อะไรเป็นเรื่องไม่เคยเพียร

    แล้วก็เที่ยวไปโฆษนาให้ผู้อื่นฟัง ตัวผมนี่บารมีแก่กล้า ความเพียรเยอะ ทำมันดะทุกอย่าง

    เจอถามกลับคำเดียว คุณทำดะแล้วได้อะไรบ้างแล้วครับตอนนี้

    เขาก็ตอบกลับว่า ยังไม่ได้อะไร

    ไม่ได้อะไรเพราะทำผิดทำถูก หรือทำมันทั้งผิด ทำมันทั้งถูก

    เดี้ยวจุดไฟเผาตัวเอง เดี้ยวก็อาบน้ำเย็น เผลอๆเดี้ยวก็จุดไฟเผาหัวตัวเองใหม่

    มันจะได้อะไร

    นี่เขาเรียกว่าขาดสติ

    คนมีสติดีนี่ เขาเลือก เรื่องที่จะเพียร เพียรเฉพาะเรื่อง เป็นเรื่องๆไป เพียรอย่างมีเหตุผล เพียรในสิ่งที่ควรเพียร เพียรอย่างมีหลักการและเหตุผล


    ดังนั้นขอให้ทุกๆท่านทราบว่า

    อารมณ์หนักนั้น เกิดจากการไม่มีสติกำกับในความเพียรของตัวเองก็ดี

    การตั้งเป้าเอาไว้สูงและเร่งรัดเกินไปก็ดี การปฏิบัติผิดแนวทางผิดวิธีก็ดี

    แต่เป็นเรื่องแก้ได้ไม่อยาก

    ขอเพียงท่านตั้งสติได้ ว่าท่านหนักไปแล้วนะ เครียดไปแล้วนะ มันเกินไปแล้วนะ

    แล้วปรับอารมณ์ของท่านให้เข้าที่เข้าทาง ย่อมจะแก้อารมณ์ที่หนักนั้นได้ ด้วยสติ เมื่อมีสติย่อมมีปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ

    เมื่อมีปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ ย่อมหาสาเหตุที่ตนเครียด หนักเกินไปได้

    เมื่อรู้เหตุแล้ว ก็ย่อมปรับตัวเองให้เข้าที่เข้าทางได้

    ยังมีอารมณ์หนักจากการปฏิบัติผิดวิธีอีก ซึ่งผมจะลงเป็นเรื่องต่อไป
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 24 กรกฎาคม 2010
  4. Xorce

    Xorce เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,369
    ค่าพลัง:
    +4,400
    วันนี้จะมาต่อกันในเรื่องของวิธีทำให้เกิดสุขจากสมาธิ และการจัดการกับนิวรณ์5

    ก่อนอื่นนั้นจะขอพูดถึง อารมณ์หนัก ซึ่งเป็นคำถามที่มีคนถามกันเข้ามาเยอะที่สุด

    ไม่รู้จะหนักจะเครียด อะไรกันขนาดนั้น

    เวลาฝึกสมาธิทีไร ชอบเครียดกันทุกคน

    เครียดน้อย เครียดกลาง เครียดมาก

    แต่ถ้าเครียดเมื่อไหร่วันนั้นท่านพึงไม่ต้องหวังผลในการปฏิบัติกัน

    เพราะสมาธิเป็นเรื่องของความสุข

    เป็นสุขทางกาย และทางใจ

    สุขจากสมาธินั้นเป็นอย่างไร

    สุขจากสมาธินั้นเป็นอารมณ์เย็น เย็นก็มีสามแบบ

    เย็นหยาบ เย็นกลาง เย็นละเอียด

    เย็นหยาบนั้นได้แก่ปีติ ในองค์ของฌาณที่ 1 2

    เย็นกลางได้แก่สุข ในองค์ของฌาณที่ 1 2 3

    เย็นละเอียด ได้แก่ อุเบกขา ในองค์ของฌาณที่ 4

    อารมณ์เย็นที่ว่า มันเย็นจริงๆ เป็นความเย็นที่ปรากฏทั้งทางร่างกายและจิตใจ

    ถ้าจะถามว่ามันเย็นเหมือนอะไร คงต้องตอบว่ามันเย็นกว่าน้ำ

    คล้ายเป็นบ่อน้ำทิพย์กลางใจ ยิ่งดิ่มกิน ก็ยิ่งมีความสุข แช่มชื่น เบิกบาน ผิวกายผ่องใส

    ช่างเป็นสุขที่ละเอียดประณีตยิ่งนัก

    ถ้าฝึกสมาธิถูกจะต้องเกิดความสุข

    พอเกิดความสุขมันก็ไม่เครียด

    หรือว่าอีกอย่าง ถ้าเครียดมันก็ไม่เกิดความสุข

    ถ้าเครียดมันก็เกิดสมาธิไม่ได้

    คราวนี้คำถามเด็ด

    จะทำยังไงให้เกิดสุขที่ว่า

    อันดับแรกก่อนจะขึ้นสมาธิอะไรก็ตาม

    ตั้งสติให้ดีเสียก่อน แล้วตั้งยังไงล่ะสติ

    อันดับแรกเราก็มาคิดก่อน ใช้คำว่าคิดนะ

    คิดว่า เอ ตอนนี้เรากำลังจะทำสมาธิถูกไหม

    เรากำลังจะหาความสุข เรากำลังจะพักจิตพักใจของเรา

    ดังนั้นเรื่องอื่นช่างมันก่อน

    สมาธินี่เป็นเรื่องของการพักใจ ไม่ใช่จะเอาฤทธิ์เอาเดชกัน

    วางเอาไว้ก่อน ฤทธิ์เดชนี่มันเป็นผล ผลจากความสุขสงบของจิต

    เหตุให้เกิดฤทธิ์คือ สมาธิ ถ้ามีสมาธิแล้วเดี้ยวมันก็ได้อะไรๆของมันเอง

    หรือไปต่อยอดเองได้

    แต่ทีนี้ถ้าเราไม่ได้สมาธิ

    มาถึงนั่งสมาธิครั้งแรก จะไปสวรรค์ จะเอาอภิญญา จะเอานู่นเอานี่

    มันก็ไม่ได้อะไรทั้งนั้น มันจะได้ก็แต่ความเครียด

    เครียดน้อย เครียดกลาง เครียดมาก เลือกเอา

    อยากน้อยเครียดน้อย อยากมากเครียดมาก ให้ทำใจกลางๆ

    คือเรามาหาความสุขกัน ถือเอาความสุข ความเย็นเป็นสำคัญ

    จะได้ของแถมหรือไม่เป็นเรื่องรอง

    พอเราตั้งสติแล้ว ว่าเราจะมาฝึกเพื่อให้เกิดความสุขกัน

    ทีนี้มันก็ง่าย เพราะไม่เครียด จะสุขน้อยสุขมาก แล้วแต่กำลังที่เรามี

    แต่ถ้าเราไม่หาเรื่องให้ตัวเองเครียด มันก็สุขแน่นอน

    สุขแล้วมันก็เกิดผล

    วันพรุ่งนี้ก็อยากทำสมาธิอีก

    แต่ถ้าทำแล้วมันเครียด วันรุ่งขึ้นก็ไม่เอาแล้ว

    หรือไม่ ก็ตะบี้ตะบันเครียดไป จนเป็นโรคประสาท นี่มันใช้ไม่ได้

    พอเราตั้งใจจะมีความสุขแล้ว ทีนี้

    พระพุทธเจ้าทรงตรัส เกี่ยวกับเสี้ยนหนามของสมาธิเอาไว้

    เรียกว่านิวรณ์5

    นิวรณ์แปลว่าเครื่องรบกวนจิตใจ

    ผมจะเรียกมันว่าเป็นเสี้ยนหนามของความสุข สุขจากสมาธิ

    คนจะมีความสุขก็มีไม่ได้ ต้องโดนขัดขวางโดยนิวรณ์5ประการอยู่เสมอ

    การทำสมาธิ คือการทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์5

    ถ้ามันไม่มีนิวรณ์5มันก็เป็นสมาธิ มันก็มีความสุข และเข้าสมาธิลึกๆได้ในทันที

    ทีนี้ถ้ามันมีนิวรณ์5 มันก็เข้าสมาธิไม่ได้ เข้าไปก็กระท่อนกระแท่นไม่ได้สมาธิอะไร

    นิวรณ์ 5 มีอะไรบ้าง

    1.กามฉันทะ นึกถึงความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกาย
    2.พยาบาท นึกถึงความโกรธ หรือเรื่องที่ทำให้โกรธ
    3.ถีนมิทธะ นึกถึงอารมณ์ที่ง่วงหงาวหาวนอน หดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง
    4.อุทธัจจ กุกกุจจะ นึกถึงเรื่องที่ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน กังวลใจ วุ่นวาย
    5.วิจิกิจฉา นึกถึงเรื่องที่ทำให้สงสัย ลังเล สับสน ไม่แน่ใจ

    จะยกตัวอย่างในข้อกามฉันทะ

    รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกาย พอจะทำสมาธิเท่านั้นแหละ

    มันดันแว้บเข้ามา ก่อนหน้านี้ทั้งวันนี่ไม่เคยคิด

    พอจะทำสมาธิเป็นได้เรื่อง เดี้ยวหน้าคนนู้น เดี้ยวรสอาหารแบบนี้ เดี้ยวเสียงเพลงเพราะๆ
    มันเข้ามาเต็มไปหมด ทีนี้ทำไงดี

    คิดๆ สิ่งเหล่านี้ ตอนนี้มันไม่มีอยู่จริง

    มันเกิดจากสัญญา ความจำ ที่เราเคยสัมผัสมา

    มันย้อนกลับมาหลอกหลอนเราอีกครั้งเวลาทำสมาธิ

    ทีตอนอื่นนะไม่มีมา

    ไอ้เจ้ากามคุณ5เหล่านี้ มันจับต้องไม่ได้ และมันก็ไม่มีอยู่จริง

    รูป มันก็รูป ไม่มีสวย ไม่มีน่าเกลียด เราไปปรุงของเราเอง ว่ามันดีอย่างนู้นอย่างนี้

    เสียงมันก็เสียง ไม่มีดีชั่ว ไม่มีเพราะ ไม่เพราะ เราไปปรุงของเราเอง

    กามคุณ5 มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

    เมื่อมันผ่านเลยไปแล้วก็ปล่อยมันไป อย่าไปนึกถึงมันอีก

    นี่วันทั้งวันเราคลุกอยู่กับแต่สิ่งเหล่านี้ ตอนนี้ เราขอพักจากมันซักชั่วครู่ชั่วคราว

    กามคุณ5เอ้ย ขอหยุดคิดถึงแกซักพักนึงเถอะ

    เรายังเลิกติดมันไม่ได้

    การตัดนิวรณ์5ไม่ใช่การเลิกติดในนิวรณ์5 หรือทำลายนิวรณื5ให้สิ้นซากไป

    เพราะการทำลายนิวรณ์อย่างถาวร นั่นคือเรื่องของวิปัสสนา

    นี่ตอนนี้เรากำลังทำสมถะ เป้นการไม่นึกถึง ไม่สนใจ เพิกจิตจากนิวรณ์5ชั่วคราว

    การจัดการกับนิวรณ์5นั้น ท่านให้ไม่สนใจ และไม่ให้ไปคิดถึงมัน

    ถ้าไม่คิดถึงมันก็ไม่มา ก็ต่อเมื่อเราไปคิดถึง มันจึงจะมา

    ทีนี้จิตของเราจะไม่คิด จะให้หยุดคิด

    มันก็ไม่ได้ เพราะจิตมีธรรมชาติของมันคือการคิด การรับรู้อารมณ์

    ไม่ต้องหวังจะเลิกคิด

    วิธีการก็คือ ให้คิดในอารมณ์สมาธิที่เราต้องการ

    เช่นคิดในพุทโธ ถูกไหม ก็คิดถึงพุทโธ คิดถึงพุทธคุณ9ประการ

    มีอรหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น

    หรือคิดอยู่ในอารมณ์ของลมหายใจ

    เราก็ใช้จิตตามระลึกถึงลมหายใจก็ได้

    พอจิตสงบเข้าก็เอาจิตมาตั้งไว้ที่ฐาน มาคิดลงที่ฐานของลมหายใจได้แก่ จมูก อก ท้อง

    คิดกับรู้สึกนี่เรื่องเดียวกัน จิตมีธรรมชาติที่จะต้องจับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง คิด หรือรู้สึกในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอยู่เป็นปรกติ

    ดังนั้น การทำสมาธิ ไม่ใช่การเลิกคิด

    จะเลิกคิด เลิกรับอารมณ์ต้องนู่น เข้านิโรธ

    ไม่อย่างนั้นก็เลิกคิด เลิกรู้สึก เลิกรับรู้อารมณ์ไม่ได้

    จิตเป็น ฌาณ 1 2 3 4 มันก็ยังรู้อารมณ์ ยังคิด แต่คิดในอารมณ์ของฌาณนั้นๆ

    ดังนั้นอย่าไปนั่งสมาธิ โดยไม่จับอารมณ์อะไรเลย

    ประเภทนั่งหลับตา แล้วปล่อยให้มันสงบเอง อันนี้ยาก และเนิ่นช้า จะเกิดผลน้อย

    ให้เราจับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเอาไว้เสมอ

    ถ้าจิตจับอยู่ในอารมณ์นั้น นิวรณ์5 ก็ไม่มี ก็เข้าไม่ได้

    พอนิวรณ์5เข้าไม่ได้ จิตก็มีความสุข ความชุ่มเย็น

    ในเบื้องต้นความเย็นที่ว่านี่มันคือปีติ

    ถ้าจิตคิด หรือรับรู้ ในอารมณ์ของพระกรรมฐาน กองที่เราเลือกนั้นเอาไว้ได้ซักระยะ

    จิตก็จะเกิดความสุข ความเย็น เป็นปีติ เป็นสุข ขึ้นมา

    ยกตัวอย่างเช่น เราตั้งฐานของจิตเอาไว้ที่ จมูก

    การตั้งฐานมันก็จัดเป็นการคิดอย่างหนึ่ง การรับรู้อารมณ์อย่างหนึ่งถูกไหม

    ทีนี้การประคองจิตเอาไว้ ที่จมูก มันก็ต้องใช้สติถูกไหม

    ถ้าไม่มีสติ จิตก็จะเคลื่อนจากจมูก จากการรับรู้การกระทบลมหายใจ ไปคิดเรื่องอื่น

    พอสติกลับมา จิตก็จับอยู่ที่บริเวณจมูกได้ดังเดิม

    อุปกรณ์ในการทำกรรมฐาน มีสามอย่าง

    หนึ่ง จิตของเราเอง สอง สติ สาม อารมณ์ของกรรมฐานกองนั้น

    ถ้ามีครบสามอย่างมันก็เป็นสมาธิ

    พอตั้งจิตเอาไว้ที่จมูกแล้ว

    สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ จะรู้สึกถึงความเย็น ปลอดโปร่งของลมหายใจ ที่กระทบจมูกของเรา

    ความเย็นที่เกิดขึ้นจัดเป็นปีติขั้นหยาบ มันจะเย็นแบบสัมผัสกับลมเย็นๆ จึงถือว่าหยาบ

    ต่อมา เราก็ตั้งฐานของจิตเอาไว้สองจุด คือคิด คือรู้สึกมันสองจุด จมูก และอก

    ทีนี้ความเย็นที่เกิดขึ้นจะมาบังเกิดบริเวณอกแทน

    โดยจะเป็นความเย็น ที่มีอาการเสียดแทง น้อยกว่า ในตอนแรก

    ถือเป็นปีติขั้นกลาง มันจะสุขกว่าปีติหยาบๆเยอะ

    เย็นกว่า ละมุนละไมกว่า เสียดแทงน้อยกว่า ชุ่มชื่น เบิกบานใจมากกว่า

    ต่อมา เราก็ รู้สึกมันสามจุด จมูก อก ท้อง

    ทีนี้แหละ ความเย็นที่เกิดขึ้น จะละมุนละไม มันจะเสียดแทงน้อยกว่าเดิม

    คือปีติขั้นกลาง มันยังเป็นความเย็นที่เย็นเกินไป

    พอเรารู้ในสามจุดได้ จมูก อก ท้อง จะเกิดเป็นปีติละเอียด

    มันจะเย็นกว่า เบิกบานใจกว่า อิ่มเอิบใจกว่า สุขเย็นกว่า

    พอถึงจุดนี้ องค์ฌาณ5ประการมันจะครบ

    วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกคตา

    อย่างวิตก วิจาร ในกรณีนี้ ก็คือ การสัมผัสการกระทบของลมหายใจ ที่ฐานทั้งสาม
    และการที่จิตตามลมหายใจไป

    ปีติ สุข ก็คือ ความเย็น แช่มชื่น เบิกบานที่เกิดขึ้น

    เอกคตา คือความตั้งมั่นของจิต ก้พอจิตมีความสุขแล้ว มันก็ตั้งมั่น

    ตั้งมั่นคืออะไร ตั้งมั่นคือ มันคิดอยู่ในอารมณ์เดียว

    มันก็คิด มันก็รับรู้อยู่แค่ ฐานที่ จมูก อก และ ท้อง ความสุขเย็นที่เกิดขึ้น และการกระทบของลมหายใจ

    จุดนี้เขาเรียกว่าปฐมฌาณ

    นิวรณ์5มันไม่มีและเข้าไม่ได้ เพราะเราคิด เรารู้สึก อยู่ในอารมณ์ที่มีความสุข

    พอมีความสุข มันก็ไม่อยากไปคิดเรื่องที่มันทำให้ทุกข์

    พอไม่คิดเรื่องที่ทำให้ทุกข์ จิตมันก็เป็นฌาณ เป็นสมาธิ

    การที่จิตประคองตัวเองให้คิดอยู่ในอารมณ์เดียวได้ นี่มันก็คือสติ

    ถ้าไม่มีสติมันก็ประคองไม่ได้ ตั้งฐานสองฐาน ได้แปปเดียว มันก็กลับไปคิดในนิวรณ์5ใหม่

    จิต มีสติ ประคองอารมณ์ของกรรมฐานเอาไว้ได้ ก็เกิดเป็นสมาธิ

    ต่อมาเราก็จะเข้าฌาณสอง

    ฌาณสองนี่ทำไง

    เขาบอกให้ตัดวิตกวิจาร คือการที่จิตยังรับรู้การกระเพื่อมการกระทบของลมหายใจมันยังเป็นทุกข์

    คือมันยังเสียดแทง มันยังเป็นเครื่องขวางกั้นความสุขที่มากกว่านี้

    แล้วไอ้การตัดวิตกวิจารนี่มันทำยังไง

    ก็อย่างที่ทำเหมือนตอนนิวรณ์5 คือไม่สนใจมัน

    แล้วอยู่ๆให้ไม่สนใจมัน เราจะทำได้เหรอ

    ก็ทำงี้สิ หันมาสนใจ ปีติ สุข ความเย็นที่เกิดขึ้นโดยส่วนเดียว

    ลมหายใจไม่ต้องสน ฐานของจิต ก็หันมาจับแค่ปีติ

    เอาปีติ เอาความเย็นที่ เกิดขึ้น เป็นฐานของจิต

    พอเรากำหนดฐานของจิตใหม่ เป็นควาเมย็น ความสุข ที่เกิดขึ้น

    ใช้จิต ใช้สติ รู้อยู่ในอารมณ์เดี้ยว คือความสุข ความเย็นที่เกิดขึ้น

    ลมหายใจช่างมัน สนอยู่แต่ความเย็น ความสุข

    พอจิตตั้งมั่น คือ รู้อยู่แต่ในความเย็นของปีติได้ จิตก็เป็นฌาณ2

    ทีนี้นะเหลือแต่สุข เหลือแต่ความเย็น ฌาณ2นี่มันสุขจริงๆ ยิ่งกว่าเปิดแอร์ซักสิบเครื่อง

    แต่คราวนี้พอตากแอร์ไปตากแอร์มา มันชักเป็นเรื่องละสิ

    คือมันเย็นเกินไป มันยังมีอาการเสียดแทง พอนานเข้าๆ มันชักเย็นเกินพอดีไป

    ตอนนี้เราก็จะเข้าฌาณ3 เพื่อให้ความเย็นมันเสียดแทงน้อยลง

    ฌาณ3 ก็มีแต่สุข กับเอกคตา ทำไงล่ะ

    ไม่ต้องทำอย่างไรมาก เราเสวยสุข ความเย็นที่อยู่ในฌาณ2ไปเรื่อยๆ

    พอเราเริ่มรู้สึกว่า มันชักจะเย็นมากไป จนเสียดแทงแล้ว

    ทีนี้ให้เราตั้งใจว่า จะขอเพิก ปีติที่เกิดขึ้น ให้เหลือแต่สุข

    ซึ่งเป็นความสุข ความเย็น ที่ละเอียดมากกว่า อิ่มเอิบ เบิกบานใจมากกว่า แต่เสียดแทงน้อยกว่าแทน

    พอเราตั้งใจเท่านี้ ก็คือมันเย็นเกินไปจนเสียดแทง ขออะไรที่มันเย็นแต่เสียดแทงน้อยกว่านี้หน่อย

    จิตก็จะเข้าสู่ฌาณ3 ความเย็นของปีติจะหายไป เหลือแต่ความเย็นของสุข

    มันเป็นอะไรที่เสียดแทงน้อยกว่า

    ถ้าฌาณ2มีแอร์ซักสิบเครื่อง พอมาฌาณ3นี่ จะลดลงเหลือซักสามเครื่อง

    มันเย็นละเอียดละมุนละไม แต่ไม่เสียดแทง สุขดีจริงๆจังๆ

    จิต มีสติ จับอยู่ที่ความเย็น ขององค์ฌาณที่เรียกว่าสุขนี้

    จิตไม่เคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น คือไม่ถอยกลับไปจับปีติ ของฌาณ2

    ก็ถือว่าจิตเป็นเอกคตา มีอารมณ์ตั้งมั่น ในสุข

    มาจนถึงฌาณ4 เป็นปลายทางในเบื้องต้น

    ฌาณ4นี่ เหลือแต่อุเบกขา และเอกคตา

    อุเบกขานี่ เหมือนดับแอร์ จนเหลือเครื่องเดียว

    จิตมันจะเย็น กำลังสบาย คล้ายเย็นแบบแช่น้ำที่ความเย็นพอดีๆ กำลังได้ที่

    วิธีการเข้าก็เหมือนเดิม

    พิจารณาว่า ฌาณ3 มันเย็นเกินไป ยังเสียดแทงไม่เป็นที่ต้องการ

    ขอเข้าฌาณ4ให้มันเย็นแบบพอดีๆหน่อย

    ฌาณ4นี่เหมือน มีคนรู้ใจคอยโบกพัดให้ มันจะเย็นได้ที่ ไม่มากไป ไม่น้อยไป

    เย็น อย่างละเอียด

    มันเป็นความสุขขั้นละเอียด บางท่านเรียกอทุกขมสุขเวทนา เป็นความรู้สึกที่ไม่สุข ไม่ทุกข์

    มันสุขอย่างไม่สุขไม่ทุกข์

    สรุปว่ามันก็เป็นความสุขแล้วกัน แต่ละเอียด ประณีตกว่าสุขธรรมดา

    ที่ท่านเรียกว่าไม่สุข ไม่ทุกข์ ก็เพราะ เมื่อมีสุข ย่อมมีความทุกข์อยู่คู่กัน

    อย่างฌาณ 1 2 3 มันเย็นก็จริง แต่มันก็มีอาการเสียดแทง เย็นเกินไปจนไม่ปรารถนา

    แต่ฌาณ4นี่ มันเย็นพอดีๆ ท่านเลยจัดเป็นอทุกขมสุขเวทนา มันอยู่ตรงกลาง

    เป็นทางสายกลาง

    ไม่เร่าร้อนด้วยความทุกข์ และไม่เย็นจนเกินไปด้วยความสุข

    เย็นกลางๆ เย็นพอดีๆ

    ฌาณ4นี้ ท่านว่าไม่มีลมหายใจ

    ความจริง คือ ร่างกายยังมีลมหายใจ แต่จิตแยกจากกายจนไม่รับรู้ถึงลมหายใจ

    หรือลมหายใจเบาลงไปมาก จนสัมผัสไม่ได้ แต่ยังมีอยู่

    เพราะถ้าร่างกายไม่มีลมหายใจร่างกายจะตาย แตกสลายไป

    ดังนั้นฌาณ4 ไม่ใช่การหยุดหายใจ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการทำให้ร่างกายหยุดหายใจ

    เพียงแต่ว่า จิตแยกจากกายถึงที่สุด จึงไม่รู้สึกถึงลมหายใจ

    ฌาณ4นี้ ถ้าเราจะตีความหมายของคำว่า "คิด" ว่า การรู้สึก การรับรู้อารมณ์

    ก็ต้องถือว่า จิตยังคิดอยู่ ยังรับรู้อารมณ์อยู่

    อารมณ์ที่รับรู้ก็คือ อุเบกขาเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา หรือ ความเย็นที่เย็นแบบพอดีๆนั่นเอง

    สรุปรวมความว่า

    ท่านใดที่ทำสมาธิ แล้วเครียด แล้วหนัก แล้วทุกข์ ท่านไปผิดทางแน่นอน

    ถ้าทำถูกแค่เริ่มทำก็สุขแล้ว เพราะสมาธิคือการพักจิต พักจากการคิดถึงนิวรณ์5

    เมื่อพักจากนิวรณ์5เพียงเริ่มทำก็ต้องสุข ก็ต้องเกิดความเย็นขั้นหยาบ กลาง ละเอียดตามลำดับไป

    และการทำสมาธินั้น อย่าไปหวังว่าจะไม่คิด

    การไม่คิดนั้น เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้สำหรับปุถุชน

    ถ้าจะเลิกคิด ชนิดเลิกคิดจริงๆนั้น ต้องพระอนาคามี พระอรหันต์จึงจะทำได้

    ดังนั้นการทำสมาธิ ท่านต้องคิด คิดในอารมณ์ที่เป็นกุศล คิดในอารมณ์ของกรรมฐานกองนั้น

    การที่ท่านประจิตให้คิดถึงแต่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆได้ ก็คือการมีสติ และถือเป็นการตัดนิวรณ์

    เมื่อมีสติใช้สติเป็น ก็ตัดนิวรณ์ได้ เพราะการตัดนิวรณ์ก็เพียงไม่คิดถึงมัน หาอารมณ์ของกรรมฐานมาคิดแทน

    พอคิดถึงกรรมฐาน นิวรณ์ก็ดับ ทุกข์ก็ดับ ความร้อนก็ดับ

    พอความร้อนดับไป ความเย็นก็เข้ามา ความสุขก็เกิดขึ้น

    ดังนั้นเวลาทำสมาธิในเบื้องต้น อย่าไปหวังฤทธิ์หวังเดช หวังตาทิพย์หูทิพย์

    ให้ท่านพึงหวังความพักจิตพักใจ พักจากการคิดถึงความทุกข์

    พอพักแล้วมันก็สุข มันก็เป็นสมาธิ ฤทธิ์เดชอะไรๆ มันก็ตามมาเป็นผลในภายหลังเอง

    กิจของท่านคือหาสุขจากสมาธิให้เจอ

    และหมั่นคิดถึงสุขของสมาธินั้นอยู่เนืองๆ

    ตราบใดที่ท่านยังคิดถึงสุขของสมาธิอยู่

    จิตของท่านยังเป็นสมาธิอยู่

    ตราบใดที่ท่านยังคิดถึงสุขของสมาธิได้ จิตท่านก็ยังมีความคล่องแคล่วในการเข้าออกสมาธิอยู่ตราบนั้น

    ถ้านึกจะ นึกถึงความเย็นจากปีติ สุข และ อุเบกขา เมื่อไหร่ก็นึกได้

    อันนี้แปลว่าท่านเป็นผู้ทรงฌาณ มีความชำนาญเบื้องต้นในการเข้าออกฌาณได้ดั่งใจ

    นึกถึงอารมณ์เย็นของสมาธิ ให้ได้ทุกครั้งที่ท่านปรารถนา

    นี่แหละคือกิจเบื้องต้นที่ผู้ฝึกหัดสมาธิควรจะทำให้ได้
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...