หนังสือมุนีนาถทีปนี6 การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย saksit5455, 3 กันยายน 2011.

แท็ก: แก้ไข
  1. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    พระบารมี ๓๐ ถ้วน

    พระพุทธกรณธรรมที่กล่าวมาแล้วนี้ มีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า โพธิปริปาจนธรรม = ธรรมสำหรับบ่มพระพุทธภูมิ หมายความว่า เป็นธรรมอันจำเป็นอย่างยิ่ง ที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ผู้ปรารถนาซึี่งพระพุทธภูมิ จะต้องพยายามบำเพ็ญเนืองนิตย์ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลอันประเสริฐ กล่าวคืออบรมบ่มให้พระพุทธภูมิถึงความแก่สุกรอบ แล้วจึงจะได้ตรัสรู้ นอกจากนั้นแล้ว พระพุทธกรณธรรมนี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึี่ง ซึีงเป็นคำคุ้นหูในหมู่พุทธบริษัทว่า บารมี = ธรรมที่นำไปให้ถึงฝั่งนั้น กล่าวคือพระนิพพาน หมายความว่า เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเฝ้าบำเพ็ญธรรมเหล่านี้ จนครบบริบูรณ์เต็มที่แล้ว ธรรมเหล่านี้ก็จะเป็นสารถีนำพระองค์ท่านให้บรรลุถึงฝั่งโน้น คือได้ตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ฉะนั้น ต่อจากนี้ไป เพื่อความเข้าใจง่ายๆ จะเรียกธรรมเหล่านี้ว่ พระบารมีธรรม

    ก็พระบารมีธรรมนี้ เมื่อว่าโดยองค์ธรรมจริงๆ แล้วก็มีอยู่ ๑๐ ประการ มีท่านเป็นต้น มีอุเบกขาเป็นปริโยสาน ตามที่พรรณนามาแล้ว แต่ทีนี้ สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแต่ละพระองค์ กว่าจะทรงยังพระบารมีเหล่านี้ให้บริบูรณ์เต็มที่ จนกระทั่งได้ตรัสเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่ว่าจะทรงสร้างพระบารมีเป็นเวลาเล็กน้อย เพียง ๑๐-๒๐ ชาติเท่านั้น โดยที่แท้ ต้องทรงสร้างพระบารมีอยูนานนักหนา นับเวลาเป็นอสงไขยเป็นมหากัป นับพระชาติที่เกิดไม่ถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาพระบารมีที่สร้างแต่ละพระชาติจึงไม่เท่ากันคือ บางพระชาติก็สร้างธรรมดาเป็นปกติ แต่บางพระชาติก็สร้างอย่างอุกฤษฐ์สูงสุดหนักหนา ฉะนั้น จึงจำแนกพระบารมีเหล่านี้ออกเป็นตรียางค์ คือเป็นองค์สาม โดยจัดเป็นพระบารมีอย่างต่ำประเภทหนึี่ง พระบารมีอย่างมัชฌิมปานกลางประเภทหนึี่ง และพระบารมีอย่างสูงสุดอุกฤษฐ์ประเภทหนึ่ง ยกตัวอย่าง เช่น พระบารมีธรรมอันดับแรกคือ ทาน เมื่อจำแนกออกเป็นตรียางค์ ก็กำหนดเอาโดยประเภทของทานดังต่อไปนี้
    ๑. ทานที่บำเพ็ญโดยสถานประมาณเป็นปกติธรรมดาบริจาคธนสารทรัพย์สมบัติน้อยใหญ่ ถึงแม้จะมากมายเพียงใดก็ดี จัดเป็นบารมีประเภทต่ำธรรมดา เรียกชื่อว่า ทานบารมี
    ๒. ทานที่บำเพ็ญยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือ ถึงกับบริจาคอวัยวะเลือดเนื้อในร่างกาย จัดเป็นพระบารมีประเภทมัชฌิมาปานกลาง เรียกชื่อว่า ทานอุปบารมี
    ๓. ทานที่บำเพ็ญยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก คือถึงกับต้องบริจาคชีวิตให้เป็นทาน นับว่าเป็นการบริจาคอย่างใหญ่หลวงอุกฤษฐ์ อย่างนี้จัดเป็นพระบารมีประเภทสูงสุดอย่างยิ่ง เรียกชื่อว่า ทานปรมัตถบารมี
    แม้พระบารมีธรรมที่บำเพ็ญข้ออื่นๆ ก็จำแนกออกเป็นพระบารมีละ ๓ ประเภท เช่นเดียวกับทานที่ยกเป็นตัวอย่างนั่นเอง ทีนี้ พระบารมีที่เป็นองค์ธรรมมีอยู่ ๑๐ ประการ เมื่อจำแนกออกเป็นองค์ละ ๓ พระบารมีจึงรวมเป็นพระสมติงสบารมี คือพระบารมี ๓๐ ถ้วนพอดี เพื่อที่จักให้เห็นได้ง่ายๆ จะขอจำแนกออกไปตามรายชื่อพระบารมี ดังต่อไปนี้
    ๑. ทานบารมี
    ๒. ศีลบารมี
    ๓. เนกขัมมบารมี
    ๔. ปัญญาบารมี
    ๕. วิริยบารมี
    ๖. ขันติบารมี
    ๗. สัจจบารมี
    ๘. อธิษฐานบารมี
    ๙. เมตตาบารมี
    ๑๐. อุเบกขาบารมี
    ๑๑. ทานอุปบารมี
    ๑๒. ศีลอุปบารมี
    ๑๓. เนกขัมมอุปบารมี
    ๑๔.ปัญญาอุปบารมี
    ๑๕. วิริยอุปบารมี
    ๑๖. ขันติอุปบารมี
    ๑๗. สัจจอุปบารมี
    ๑๘. อธิษฐานอุปบารมี
    ๑๙. เมตตาอุปบารมี
    ๒๐. อุเบกขาอุปบารมี
    ๒๑. ทานปรมัตถบารมี
    ๒๒. ศีลปรมัตถบารมี
    ๒๓. เนกขัมมปรมัตถบารมี
    ๒๔. ปัญญาปรมัตถบารมี
    ๒๕. วิริยปรมัตถบารมี
    ๒๖. ขันติปรมัตถบารมี
    ๒๗. สัจจปรมัตถบารมี
    ๒๘. อธิษฐานปรมัตถบารมี
    ๒๙. เมตตาปรมัตถบารมี
    ๓๐. อุเบกขาปรมัตถบารมี
    สิริรวมเป็นพระบารมีธรรม ที่ท่านผู้ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักต้องบำเพ็ญให้ครบบริบูรณ์เต็มที่ ๓๐ ถ้วนพอดี ฉะนั้น จึงเรียกเป็นศัพท์ว่า พระสมติงสบารมี ด้วยประการฉะนี้

    อานิสงส์พระบารมี

    มีข้อที่ควรทราบไว้อีกอย่างหนึี่ง ก็คือว่า นับตั้งแต่ได้ทรงก่อสร้างพระกฤษฏาภินิหารมา จนกระทั่งได้ลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ ผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในอนาคตกาล ในขณะที่ทรงก่อสร้างอบรมบ่มพระบารมีอยู่ ต้องทรงสังสรณาการ ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนับด้วยแสนโกฏิชาติ เป็นประมาณหรือมากยิ่งกว่านั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ผู้เที่ยงที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณทั้งหลาย ย่อมได้รับอานิสงส์แห่งพระบารมีที่บำเพ็ญอยู่เรื่อยๆ รวมเป็น ๑๘ ประการคือ
    ๑. เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมไม่เป็นคนมีจักษุบอดมาแต่กำเนิด
    ๒. ไม่เป็นคนหูหนวกแต่กำเนิด
    ๓. ไม่เป็นคนบ้า
    ๔. ไม่เป็นคนใบ้
    ๕. ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย
    ๖. ไม่เกิดในมิลักขประเทศ คือประเทศป่าเถื่อน
    ๗. ไม่เกิดในท้องนางทาสี
    ๘. ไม่เป็นนิยตมิจฉาทิฐิ
    ๙. ไม่เป็นสตรีเพศ
    ๑๐. ไม่ทำอนันตริยกรรม
    ๑๑. ไม่เป็นโรคเรื้อน
    ๑๒. เมื่อเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรฉาน ย่อมเป็นสัตว์อยุ่ในประเภทที่มีกายไม่เล็กกว่านกกระจาบ และไม่ใหญ่กว่าช้าง
    ๑๓. ไม่เกิดในกำเนิดขุปปิปาสิกเปรต นิชฌานตัณหิกเปรตและกาลกัญจิกาสุรกาย
    ๑๔. ไม่เกิดในอเวจีมหานรกและโลกันตนรก
    ๑๕. เมื่อเกิดเป็นเทวดาในกามาพจรสวรรค์ ก็ไม่เกิดเป็นเทวดาผู้นับเข้าในเทวดาจำพวกหมู่มาร
    ๑๖. เมื่อเกิดในองค์พระพรหม ณ รูปาพจรพรหมโลกก็ไม่เกิดในปัญจสุทธาวาสพรหมโลก และอสัญญสัตตาภูมิพรหมโลก
    ๑๗. ไม่เกิดในอรูปพรหมโลก
    ๑๘. ไม่ไปเกิดในจักรวาลอื่น
    สิริรวมเป็นอานิสงส์พระบารมี ๑๘ ประการ ที่ท่านผู้ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์ จักต้องได้รับอย่างแน่นอน ในขณะที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเพื่ออบรมบ่มพระบารมีญาณ

    อนึ่ง ในขณะที่อบรมบ่มพระบารมีญาณอยู่นั้น พระนิยตโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า หากคราวใดท่านได้มีโอกาสมาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมมีใจผ่องแผ้วยินดีในการที่จะบรรพชา และบำเพ็ญประพฤติในพระจริยามีญาตัดถจริยาความประพฤติเป็นประโยชน์แก่หมู่ญาติเป็นอาทิอยู่เป็นนิตย์ ทั้งสู้อุทิศชีวิตของพระองค์ทั้งสิ้นให้หมดไปด้วยการสั่งสมพระบารมี ๓๐ ซึ่งมีทานบารมีเป็นต้นและมีอุเบกขาปรมัตถบารมีเป็นปริโยสาน จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พวกเราชาวพุทธบริษัททั้งหลายผู้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาในชาตินี้ จักมีใจยินดีเลื่อมใสในรพะคุณอันเป็นอนันต์แห่งองค์สมเด็จพระภควันต์จอมมุนี

    อธิมุตตกาลกิริยา

    กาลเมื่อสมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์ ยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเพื่ออบรมบ่มพระบารมีญาณอยู่นั้น ครั้นว่าพระองค์ได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ ณ เบื้องสวรค์เทวโลกชั้นใดชั้นหนึี่งเช่นสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นต้น ซึ่งมีอายุยืนนานกว่ามนุษยโลกมากมายนักแล้วองค์พระโพธิสัตว์เจ้าจะได้หลงใหลเพลิดเพลินเสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่ในสวรรค์เทวโลกจนตราบเท่าสิ้นอายุแห่งเทพยดานั้นก็หามิได้ เพราะว่าแท้จริง สันดานแห่งพระนิยตบรมโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้จักได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้านั้น กอรปด้วยพระมหากรุณาแก่เหล่าประชาสัตว์เป็นอันมาก ยิ่งกว่าการที่จะรักตนเอง สันดานที่รักตนเองเห็นประโยชน์ชีวิตตนเองนั้นเบาบางหนักหนา

    ฉะนั้น คราเมื่อพระองค์เสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่พอควรแก่กาลแล้ว ย่อมจะพิจารณาเห็นว่า เทวโลกมิได้เป็นที่อันเหมาะสมที่จะก่อสร้างอบรมบ่มพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเหมือนเช่นมนุษยโลก ครั้นทรงพิจารณาเห็นเช่นนี้แล้ว องค์พระนิยตโพธิสัตว์เจ้าก็มีพระทัยเฝ้าเบื่อหน่ายในการที่จะอยู่ในสวรรค์เทวโลก ให้อึึดอัดรำคาญเป็นกำลัง คราวครั้งหนึ่ง จึงเสด็จเข้าในทิพยวิมานแต่ลำพังพระองค์เดียว แล้วทรงกระทำอธิมุตตกาลกิริยา คือหลับพระเนตรทั้งสองลงแล้วก็อธิษฐานว่า

    อิโต อุทฺธํ เม ชีวิตํ นปฺปตฺตตุ
    ชีวิตของเรานี้ จงอย่าได้ประพฤติสืบต่อไป เบื้องหน้าแต่นี้

    เมื่อพระองค์อธิษฐานในพระทัยฉะนี้แล้ว ด้วยอำนาจกำลังอธิษฐานพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าพระองค์นั้น ก็ปวัตตนาการจุติจากสวรรค์เทวโลกในฉับพลันนั้นเอง เสด็จลงมาอุบัติเกิดในมนุษยโลกเรานี้ เพื่อที่จักได้มีโอกาสเสริมสร้างอบรมบ่มพระบารมีให้ภิญโญภาพยิ่งขึ้นไป ในกรณีที่พระองค์พระนิยตโพธิสัตว์เจ้าทรงอธิษฐานในพระทัยแล้ว และจุติจากสวรรค์ลงมาบังเกิดในมนุษยโลก ซึี่งเรียกว่าอธิมุตตกาลกิริยานี้ นับเป็นกรณีพิเศษอย่างหนึี่ง ซึี่งปรากฎมีแก่ท่านผู้มีมนัสมั่นมุ่งหมายพระโพธิญาณด้วยว่า บรรดาสัตว์โลกผู้ยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ถึงแม้จะมีมหิธาศักดานุภาพสักเพียงไหน เป็นเทพบุตรอินทร์พรหมอื่นใดก็ดี ก็มิอาจที่จะกระทำอธิมุตตกาลนี้ได้ง่ายๆ ซึ่งผู้ที่สามารถจะกระทำการพิเศษคืออธิมุตตกาลกิริยานี้ได้ง่ายดายตามใจปรารถนา ก็มีแต่เฉพาะพระนิยตโพธิสัตว์ผู้เที่ยงที่จักต้องได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูจอมมุนีเท่านั้น

    การที่สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์ สามารถที่จะกระทำอธิมุตตกาลกิริยาเป็นกรณีพิเศษได้โดยง่ายนี้ ก็เพราะพระองค์ท่านทรงมีสันดานพิเศษ เหตุว่าพระบารมีธรรมทั้งปวงที่พระองค์สั่งสมมาแล้วนั้น มีปริมาณมากมายนักหนา ถึงซึ่งความแก่กล้าบริบูรณ์เป็นอุกฤษฐ์ พระอธิฐานบารมีจึงกล้าหาญเป็นอัศจรรย์ เมื่อพระองค์ท่านจะอธิษฐานสิ่งไร ในขณะที่เป็นเทพบุตรโพธิสัตว์นี้ ก็ได้สำเร็จทุกสิ่งทุกประการ และสมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์นี้ ย่อมมีความชำนาญในการอธิษฐานนัก หากจะเปรียบก็อุปมาดุจจิตรกรนายช่างเขียนผู้มีฝีมือเอก ซึ่งชำนาญในการที่จะวาดเขียน เมื่อช่างเขียนนั้น ปรารถนาที่จะเขียนสิ่งใดก็อาจจะเขียนสิ่งนั้นได้สำเร็จดังมโนรถความปรารถนา มิได้ข้องขัดประการใด สำเร็จตามมโนภาพแห่งตนที่นึกคิดว่ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าผู้ชำนาญในพระอธิษฐานบารมีนั้น ก็ชำนิชำนาญยิ่งนัก พระองค์ท่านอธิษฐานให้เป็นอย่างไร ก็ได้สำเร็จสมมโนรถความปรารถนามิได้ขัดข้อง เพราะเหตุนี้ พระนิยตโพธิสัตว์จึงสามารถจะกระทำอธิมุตตกาลกิริยาได้ ด้วยอำนาจพระอธิษฐานบารมี เพื่อที่จะลงมาบังเกิดในมนุษยโลกนี้ แล้วขวนขวายก่อสร้างอบรมบ่มพระโพธิญาณสืบต่อไป

    มุนีนาถทีปนี : ศาสตร์ว่าด้วยการเป็นพระพุทธเจ้า



    ปัฏฐนฐปนคาถา

    หันทะ มะยัง ปัฏฐะนะ ฐะปะนะ คาถาโย ภะณามะ เสฯ

    ยันทานิเม กะตัง ปุญญัง เตนาเนนุททิเสนะ จะ,
    ขิปปัง สัจฉิกะเรยยาหัง ธัมเม โลกุตตะเร นะวะ,

    บุญใดที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้, เพราะบุญนั้นและการอุทิศแผ่ส่วนบุญนั้น,

    ขอให้ข้าพเจ้าทำให้แจ้งโลกุตตรธรรมเก้าในทันที;

    สะเจ ตาวะ อะภัพโพหัง สังสาเร ปะนะ สังสะรัง,

    ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้อาภัพอยู่ ยังต้องท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร;

    นิยะโต โพธิสัตโตวะ สัมพุทเธนะ วิยากะโต,
    นาฏฐาระสะปิ อาภัพพะ ฐานานะ ปาปุเณยยะหัง,

    ขอให้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้
    ได้รับพยากรณ์แต่พระพุทธเจ้าแล้ว ; ไม่ถึงฐานะแห่งความอาภัพ ๑๘ อย่าง ;

    ปัญจะเวรานิ วัชเชยยัง ระเมยมัง สีละรักขะเน,
    ปัญจะกาโม อะลัคโคหัง วัชเชยยัง กามะปังกะโต,

    ข้าพเจ้าพึงเว้นจากเวรทั้งห้า; พึงยินดีในการรักษาศีล;
    ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้งห้า; พึงเว้นจากเปือกตมกล่าวคือกาม;

    ทุททิฏฐิยา นะ ยุชเชยยัง สังยุชเชยยัง สุทิฏฐิยา,
    ปาเป มิตเต นะ เสเวยยัง เสเวยยัง ปัณฑิเต สะทา,

    ขอให้ข้าพเจ้าไม่พึงประกอบด้วยทิฏฐิชั่ว; พึงประกอบด้วยทิฏฐิที่ดีงาม;
    ไม่พึงคบมิตรชั่ว; พึงคบแต่บัณฑิตทุกเมื่อ;

    สัทธาสะติหิโรตตัปปา ตาปักขันติคุณากะโร,
    อัปปะสัยโห วะ สัตตูหิ เหยยัง อะมันทะมุยหะโก,

    ขอให้ข้าพเจ้าเป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณ, คือ
    ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ ความเพียรและขันติ ;
    พึงเป็นผู้ที่ศัตรูครอบงำไม่ได้; ไม่เป็นคนเขลา คนหลงงมงาย ;

    สัพพายาปายุปาเยสุ เฉโก ธัมมัตถะโกวิโท,
    เญยเย วัตตัตวะสัชชัง เม ญาณัง อะเฆวะ มาละโต,

    ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในอุบายเแห่งความเสื่อมและความเจริญ ;
    เป็นผู้เฉียบแหลมในอรรถและธรรม ;
    ขอให้ญาณของข้าพเจ้าเป็นไปไม่ข้องขัดในธรรมที่ควรรู้ ;
    ดุจลมพัดไปในอากาศ ฉะนั้น ;

    ยา กาจิ กุสะลา มยาสา สุเขนะ สิชฌะตัง สะทา,
    เอวัง วุตตา คุณา สัพเพ โหนตุ มัยหัง ภะเว ภะเว,

    ความปรารถนาใดๆ ของข้าพเจ้าที่เป็นกุศล, ขอให้สำเร็จโดยง่ายทุกเมื่อ;
    คุณที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วทั้งปวงนี้, จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกๆ ภพ;

    ยะทา อุปปัชชะติ โลเก สัมพุทโธ โมกขะเทสะโก,
    ตะทา มุตโต กุกัมเมหิ ลัทโธกาโส ภะเวยยะหัง,

    เมื่อใด,
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แสดงธรรมเครื่องพ้นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วในโลก ;
    เมื่อนั้น ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากกรรมอันชั่วช้าทั้งหลาย
    เป็นผู้ได้โอกาสแห่งการบรรลุธรรม;

    มะนุสสัตตัญจะ ลิงคัญจะ ปัพพัชชัญจะปะสัมปะทัง,
    ละภิตวา เปสะโล สีลี ธาเรยยัง สัตถสาสะนัง,

    ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้ความเป็นมนุษย์; ได้เพศบริสุทธิ์;
    ได้บรรพชา อุปสมบทแล้ว ; เป็นคนรักศีล; มีศีล;
    ทรงไว้ซึี่งพระศาสนาของพระศาสดา;

    สุขะปะฏิปะโท ขิปปา ภิญโญ สัจฉิกะเรยยะหัง
    อะระหัตตัปผะลัง อัคคัง วิชชาทิคุณะลังกะตัง

    ขอให้เป็นผู้มีการปฏิบัติโดยสะดวก, ตรัสรู้ได้พลัน ;
    กระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผลอันเลิศ, อันประดับด้วยธรรม มีวิชชา เป็นต้น;

    ยะทิ นุปปัชชะติ พุทโธ กัมมัง ปะริปูรัญจะ เม,
    เอวัง สันโต ละเภยยาหัง ปัจเจกะโพธิมุตตะมัน ติ.

    ถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่บังเกิดขึ้น ,
    แต่กุศลกรรมของข้าพเจ้าเต็มเปี่ยมแล้ว ;
    เมื่อเป็นเช่นนั้น
    ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้ญาณเป็นเครื่องรู้เฉพาะตนอันสูงสุดเทอญ.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 กันยายน 2011

แชร์หน้านี้

Loading...