พระโสดาบันและพระสกิทาคามี

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 23 มิถุนายน 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444

    [​IMG]


    พระโสดาบันและพระสกิทาคามี
    เพื่อนพระโยคาวจรทั้งหลาย วันนี้มาฟังถึงหมวดพระอริยเจ้า หมวดนี้ให้นามว่า หมวดพระอริยเจ้า จะพูดถึงความเป็นอริยเจ้าโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติพระกรรมฐาน ถ้าผู้สอนฉลาดในการสอน หรือว่าผู้ปฏิบัติฉลาดในการปฏิบัติก็ควรที่จะเริ่มตั้งแต่หมวดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าการปฏิบัติ เราหวังผล นั่นคือ พระนิพพานหรืออย่างน้อยเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้น
    ที่บรรดาท่านทั้งหลาย หลายท่าน จดหมายมาที่วัดบอกว่าปฏิบัติพระกรรมฐานมา 20 ปีเศษ ไม่มีอะไรคืบหน้า ก็เลยสงสัยเหมือนกันว่าการปฏิบัติของท่านปฏิบัติแบบไหน การจะเป็นพระอริยเจ้าหรือว่าการตัดกิเลส จะเป็นพระอริยะต้องตัดกิเลส 10 อย่าง หรือ ตัดกิเลสเพื่อความเป็นพระอริยะมี 10 อย่าง ท่านเรียกว่า สังโยชน์ คำว่าสังโยชน์แปลว่ากิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด รัดใจจนกระทั่งเราต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มี 10 อย่างด้วยกันคือ
    1. สักกายทิฏฐิ
    2. วิจิกิจฉา
    3. สีลัพพตปรามาส
    ละสามข้อนี่เป็น พระโสดาบัน ก็ได้ พระสกิทาคามี ก็ได้
    4. กามฉันทะ
    5. ปฏิฆะ
    ละสองข้อหลังนี่ต่อมาต้องได้ 1 2 3 ด้วยนะ แล้วต่อ 4 5 ถ้าได้ 4 5 มานี่ก็จะได้เป็น พระอนาคามี ต่อไปจะได้เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องตัด
    6. รูปราคะ
    7. อรูปราคะ
    8. มานะ
    9. อุทธัจจะ
    10. อวิชชา
    ที่พูดอยู่นี่กำลังป่วย ก็จะเผลอไปบ้างผิดไปบ้างเป็นของธรรมดา เสียงก็ยังไม่ลงตัว กระแอมไอ ก็ขอนำสังโยชน์ 10 มาพูดกัน
    คำว่า สักกายทิฏฐิ ในพระโสดาบัน สักกายทิฏฐินี่จริง ๆ เป็นตัวกิเลสที่ตัดโดยเฉพาะ ตามที่พระสารีบุตรท่านแนะนำพระสงฆ์ ที่พระสงฆ์ไปลาพระพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าทรงให้ไปลาพระสารีบุตรเพื่อจะเข้าป่า
    พระได้ถามพระสารีบุตรว่า พวกผมยังเป็นปุถุชน ถ้าต้องการปฏิบัติให้เป็นพระอริยเจ้าเพื่อเป็นพระโสดาบันจะทำยังไงขอรับ พระสารีบุตรก็บอกว่า เธอจงปฏิบัติตามนี้ คือ มีความรู้สึกว่าร่างกาย ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง 5 ประการนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ถ้าเธอคิดอย่างนี้ได้อันดับต่ำ มีความทรงตัวอันดับต่ำ เธอก็จะเป็นพระโสดาบัน
    พระก็ถามต่อไปว่า ถ้าพวกผมเป็นพระโสดาบันแล้ว ต้องการเป็นพระสกิทาคามี จะมีความรู้สึกอย่างไร ต้องปฏิบัติแบบไหน พระสารีบุตรก็บอกว่า ข้อเดียวกันแหละ ถ้าเธอมีความรู้สึกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา จิตละเอียดลง ปัญญาเกิดมากขึ้น เธอก็เป็นพระสกิทาคามี
    พระก็ถามว่า ถ้าผมเป็นพระสกาทามีแล้ว ต้องการเป็นพระอนาคามีจะทำยังไง ท่านก็บอกเหมือนกัน จะทำยังไง ท่านก็บอกข้อเดียวกัน ก็รวมความว่าให้ พิจารณาขันธ์ 5 ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา
    ตอนนี้ถ้าพูดเร็วก็ขอโทษ มันป่วย ป่วยและคอไม่ดี บรรดาท่านทั้งหลายฟังข้อนี้แล้ว ท่านอาจจะคิดว่าความเป็นพระอริยเจ้านี่เป็นของไม่ยาก แต่ความจริงมันก็ไม่ยาก แต่ว่าทั้งนี้ก็อย่าไปนึกว่าคนพูดเป็นพระอริยเจ้าไปด้วยก็แล้วกัน ว่ากันตามตำราของท่าน ไม่ยากจริง ๆ
    ทีนี้เพื่อความเข้าใจง่ายไปกว่านั้น หวนกลับมาจับอารมณ์ ของพระโสดาบันใหม่ ว่า คนที่จะเป็นพระโสดาบันจริง ๆ จะต้องมีอารมณ์เยือกเย็นจริง ๆ สามารถตัดกิเลส ได้จะทำยังไง ก็ต้องไปดูบาลีจุดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระโสดาบันก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี ทั้ง 2 ประการนี้มีศีลบริสุทธิ์ และก็มีปัญญาเล็กน้อย มีสมาธิเล็กน้อย
    ถ้าว่ากันตามนี้ ก็จะเห็นว่าพระโสดาบันเป็นไม่ยากนัก ท่านบอกว่า ใช้สมาธิไม่มาก ไม่ต้องเครียด มีสมาธิเล็กน้อยขั้น ปฐมฌาน ก็พอ และมีปัญญาเล็กน้อยไม่มากนัก คำว่าปัญญาเล็กน้อยนี่มีความสำคัญ ต้องหวนกลับมาว่าปัญญาเล็กน้อยมีความรู้สึกยังไง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สักกายทิฏฐิ มีความสำคัญมาก สักกายทิฏฐิ ท่านแปลว่า มีความรู้สึกว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา
    ตอนนี้ก็มาตั้งจุดแค่เล็ก ๆ อันดับแรกที่เราจะทำ แรกที่สุดหาทางรู้จักหน้า นิวรณ์ 5 ประการเสียก่อน ว่านิวรณ์ 5 ประการนี่มีอะไรบ้าง อย่าให้มันกวนใจตลอดวัน ยังไง ๆ มันก็กวนใจแน่ ขั้นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี นี่หลีกนิวรณ์ไม่พ้น และก็หาทางยับยั้งมัน วิธีหาทางยับยั้งก็คือว่า ไม่ต้องรู้จักหน้ามันเลย ใช้เวลาประเดี๋ยวเดียวสักครู่เดียว นั่นคือ ว่าอันดับแรกก่อนจะทำอะไรทั้งหมด (หมวดนี้มีความสำคัญนะ) จิตนึกถึงพรหมวิหาร 4 ก่อน พรหมวิหาร 4 นี่ ถ้าท่านมีกันแล้วนะเป็นประจำทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ตาม ทรงตัวหมด การตัดกิเลสก็เป็นของง่าย
    พรหมวิหาร 4 มีอะไรบ้าง คือ
    1.เมตตา ความรัก มีความรู้สึกจากการตื่นนอน ก็ตั้งใจเสียทีเดียวว่า วันนี้เราจะรักตัวเดียว คำว่าเกลียด ไม่มีในใจของเรา เราจะมีความรักในตัวเราเองด้วย มีความรักในบุคคลอื่นด้วย มีความรักในวัตถุด้วย ความรักในที่นี้ไม่ได้หมายถึงกามารมณ์ หมายถึง เมตตา ตัวรักในฐานะเป็นเพื่อน ในฐานะเป็นมิตรที่ดี เรารักตัวเราคือเราไม่ทำลายตัวเรา เรารักคนอื่นคือ เราไม่ทำลายคนอื่น เรารักสัตว์ เราไม่ทำลายสัตว์ เรารักวัตถุ เราไม่ทำลายวัตถุ ทำจิตรักเป็นอันดับแรกว่า เราจะเป็นมิตรที่ดีหรือรักคนทั้งโลก รักสัตว์ทั้งโลกเหมือนกัน รักวัตถุที่เขาใช้ ของใช้ของหวงแหนของแต่ละบุคคล ของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี เราจะรัก ไม่ทำลายไม่ยื้อแย่งของเขา ตั้งใจตามนี้นะ เช้ามืดเริ่มตอนนี้เลย และต่อมาเมื่ออารมณ์ทรงตัวดีแล้ว เราก็คิดว่าความรักก็ดี กฎ 4 ข้อก็ตาม จะประจำใจเราตั้งแต่ตื่นขึ้นจนกว่าจะหลับ
    2. อารมณ์สงสาร เราไม่ทำร้ายใคร ไม่ทำร้ายร่างกายเรา ไม่ทำร้ายบุคคลอื่น ไม่ทำร้ายสัตว์ ไม่ทำร้ายวัตถู ไม่ทำอันตรายกับเขาเพราะความสงสาร มีความปรารถนา จะเกื้อกูลให้ทุกคนมีความสุข เห็นใครมีทุกข์ อยากจะมีสุข ถ้าช่วยได้ไม่เกินวิสัย เราจะช่วย และต่อมาคือ
    3. มุทิตา จิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร เห็นคนอื่นได้ดี พลอยยินดีด้วย ตั้งใจไว้ตามนี้ อย่าไปแย่งความดีของเขา เขาทำความดีแบบไหน เราตั้งใจทำแบบนั้นเพื่อมีความดีเสมอเขาหรือดีกว่าเขา แต่ว่าอย่าให้เป็นมานะทิฏฐิ ถ้าเธอทำได้ดีแค่นี้นะรึ ฉันทำได้ดีกว่า กลายเป็นมานะทิฏฐิ นี่ไม่ถูกต้อง อย่างนี้ผิด ไปอบายภูมิจิตหมอง ต้องคิดว่าความดีมีอยู่ เราต้องทำความดีอย่างเขา แต่เผอิญมันจะดีกว่า เขาได้ก็เป็นปลื้มใจของเรา ไม่เหยียดหยามเขา
    4. อุเบกขา วางเฉย นั่นหมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเกินวิสัยที่เราจะช่วยได้ จะเป็นคนก็ตาม จะเป็นสัตว์ก็ตาม เราจะไม่ซ้ำเติม เราจะช่วยเขาให้มีความสุข ถ้าเกินวิสัยที่เราจะพึงช่วยได้ ก็เฉยไว้ก่อน ไม่ซ้ำเติมเขา พร้อมที่จะช่วยเหลือ
    อารมณ์อย่างนี้ต้องมีประจำใจของทุกท่าน ตั้งแต่ลืมตาใหม่ ๆ จนกว่าจะหลับตานอนหลับไปเลย นี่เป็นอันดับที่ 1 ที่เราจะเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า และก็อันดับนี้คือ พรหมวิหาร 4 การกั้นนิวรณ์ เราจะทรงตลอดไป มันก็เผลอบ้างอะไรบ้างเป็นของธรรมดาใหม่ ๆ แต่ถ้าเป็นพระอริยะจริง ๆ ไม่มีคำว่าเผลอ พรหมวิหาร 4 นี่พระอริยเจ้าไม่เผลอ ยิ่งเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูงขึ้นไป พรหมวิหาร 4 ยิ่งหนักต้องประจำใจเพื่อประโยชน์ในความเป็นพระอนาคามี และพระอรหันต์
    ต่อมาก็อารมณ์ ที่ต้องการ คือ อานาปานุสสติ การรู้ลมหายใจเข้าออก พอตื่นนอนปั๊บ จับลมหายใจเข้าออกทันที พร้อมกับคิดถึงเรื่องพรหมวิหาร 4 อย่าลืมว่าพระอริยเจ้ามีอารมณ์เยือกเย็น ถ้าพระโสดาบันมี 2 ขั้น สัตตักขัตตุง โกลังโกละ เอกพีชี มีความเย็นเหนือขึ้นไปเป็นลำดับ พระสกิทาคามีก็เย็นกว่าพระโสดาบัน อนาคามีก็เย็นกว่าพระสกิทาคามี อรหันต์เย็นที่สุด
    ก็รวมความว่า เราต้องมีจิตเยือกเย็น อารมณ์เยือกเย็นจะมีได้ก็เพราะ พรหมวิหาร 4 พรหมวิหาร 4 จะทรงตัวได้ก็เพราะอานาปานุสสติ จำให้ดี เมื่อทรงอานาปานุสสติแล้ว จิตเราก็ยอมรับนับถือ นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็น พุทธานุสสติ นึกถึงพระธรรมด้วยความเคารพด้วยกันทั้งหมดนะ เป็น ธัมมานุสสติ นึกถึงพระอริยสงฆ์ด้วยความเคารพ เป็น สังฆานุสสติ อย่างนี้เป็นการละวิจิกิจฉา ตัดความสงสัยในคุณพระรัตนตรัย
    มาถึงสักกายทิฏฐิ ทางด้านร่างกาย ขอย้อนกลับนิดหนึ่ง สักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกาย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา อย่างนี้กำลังจะหนักเกินไปสำหรับพระโสดาบัน อารมณ์อย่างนี้ถ้าทรงตัว ละเอียดจริงๆ ต้องเป็นพระอรหันต์ แต่การมีความรู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราต้องมีอาการทรงตัว ถ้าจะคิดให้ง่ายลงมา เพราะว่าท่านบอกว่าใช้ปัญญาเล็กน้อย พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ถ้าไปล่อขนาดไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราเข้าจะกลุ้ม แต่ว่าทำคล่องตัวก็ดี ทำ ถ้าถนัดควรทำ เพราะมีความสำคัญมาก
    ถ้ากำลังจิตยังอ่อนอยู่ ก็คิดตามนี้ว่าร่างกายมันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ มีความเสื่อมเป็นปกติ ไอ้เรื่องความเสื่อมเป็นยังไง หาเอาเองก็แล้วกันนะอย่าให้อธิบายเลยจะเกินพอดีไป การไม่รู้ว่าตัวแก่ ไม่รู้ว่าร่างกายทรุดโทรมนี่ไม่ควรจะเข้ามาเป็นพระอริยเจ้า ไม่ต้องปฏิบัติกับเขา เวียนว่ายตายเกิดไปตามเรื่องก็แล้วกัน ร่างกายมันเกิดมาแล้วก็มีความเสื่อม จากเด็กเล็กเป็นเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว จากหนุ่มสาวเป็นวัยกลางคน จากวัยกลางคนเป็นคนแก่ จากคนแก่เป็นคนตาย นี่มันไม่เที่ยง
    ขณะที่ทรงร่างกายอยู่ก็ทุกข์ ทุกข์อะไรบ้าง ย้อนกลับฟังอนุสสติ และในที่สุดเป็นอนัตตา คือ สลายตัว
    ไหวมั๊ย ถ้าจะคิดว่าไม่ไหว จะให้ต่ำลงมาอีกนิดหนึ่งเป็นพระโสดาบันขั้นต้นคือ สัตตักขัตตุง มีความรู้สึกว่าร่างกายนี้มันต้องตาย ตายกับอนัตตานี่มันตัวเดียวกัน อาจจะมีบางคนบอก คำว่าตายนี่มันเป็นมรณานุสสติเป็นสมถภาวนา ก็ต้องขอตอบว่า ถ้าไม่โง่ซะอย่าง มันก็เหมือนกัน
    อย่าติดในศัพท์มากเกินไป ใช้ปัญญาด้วย ปัญญามีอยู่ ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ รู้จักใช้จะเบา ให้มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตายก็ได้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเราก็ได้ ให้นึกเอาตามชอบ มีความรู้สึกอย่างนี้ตั้งแต่เช้ามืด ต่อไปก็ยึดอารมณ์ให้มันแน่นอน จริง ๆ และอย่าปล่อยนะ นึกแต่เช้าจนหลับ
    และต่อไปก็นั่งดศีล 5 ก็ดี กรรมบถ 10 ก็ดี เราครบถ้วนมั้ย พระโสดาบันนี้จะมีแต่ศีล 5 ไม่ได้ สังเกตดูปาก ปากพระโสดาบันไม่ใช่ปากชั่ว เป็นปากดี จะเห็นว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดี นางวิสาขาก็ดี ทุกท่านก็ตามที่เป็นพระโสดาบัน ท่านรักษาปากด้วยกรรมบถ 10 (ปากดีไม่ใช่ปากเลว ปากเลวถือว่าเป็นปากหมาก็ไม่ได้ ปากเลวกว่าปากหมา เพราะ หมาด่าคนไม่ได้ คนไม่รู้เรื่อง ไม่กลุ้ม ถ้าคนด่าคนนี่คนมันรู้เรื่อง มันกลุ้มในด้านปาก ) ก็คือว่า
    หนึ่งไม่พูดปด สองไม่พูดคำหยาบ สามไม่นินทาชาวบ้าน พูดส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน สี่เพ้อเจ้อ เหลวไหล นี่ทางวาจา ทางใจก็ หนึ่ง ไม่นึกอยากจะได้ทรัพย์สมบัติของใครมาครอบครองโดยไม่ชอบธรรม สอง ไม่คิดประทุษร้ายใคร คือ ความโกรธยังมีอยู่ แต่การจองล้างจองผลาญไม่มีแล้ว สาม ทางใจมีความไม่ค้านคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ คือพระพุทธเจ้าตรัสมา ใช้ปัญญา พิจารณาตามแล้วปฏิบัติตามด้วย ในที่สุดก็เห็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสถูก มีความสุข หลังจากนั้นถ้าหากปฏิบัติ นี่เป็นอันว่าครบแล้ว ครบการเป็นพระโสดาบัน ขอย่ออีกครั้งหนึ่ง
    อันดับแรก ตั้งอารมณ์ไว้ในด้านกัน เรียกว่า นิวรณ์ 5 ประการ นิวรณ์ 5 ประการจะกันได้ชั่วคราว ประเดี๋ยวเดียว แล้วก็เข้ามาทับใหม่ก็ช่างมัน มันเผลอเราก็เอาใหม่
    ประการที่สอง ทรงพรหมวิหาร 4
    ประการที่สาม เห็นว่าร่างกายนี้ตาย เห็นว่าร่างกายเป็นอนิจจัง อนัตตา เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ใช้ได้และ
    ประการต่อไป ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ตัดวิจิกิจฉา
    และก็ต่อมา รักษาศีล 5 กรรมบถ 10 ครบ ได้แก่ หนึ่ง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เอาศีล 5 เข้ามาบวก ไม่ดื่มสุราและเมรัย ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดนินทาชาวบ้าน ไม่เพ้อเจ้อเหลวไหลไร้ประโยชน์ และก็ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สินของใคร ไม่คิดจองล้างจองผลาญใคร มีความเห็นตรงที่พระพุทธเจ้าสอน เราไม่ฝืน
    อย่างนี้ครบองค์พระโสดาบันกับสกิทาคามี คือ ตัดสังโยชน์ 3 ได้ แต่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็น นักปฏิบัติต้องสังเกตตามนี้ ขณะที่ทำไป ขณะใดที่จิตทรงสมาธิ หรือว่าจิตทรงอารมณ์ทรงตัว เวลาที่ปฏิบัติอยู่ในตอนต้น อารมณ์จับพระนิพพานรู้สึกว่ามันยาก การนึกถึงพระนิพพานเป็นของยาก แต่ว่าพอจิตเข้ามาถึงใกล้ความเป็นพระโสดาบัน ท่านเรียกว่า โคตรภูฌาน ในตอนต้นนี่บรรดาท่านทั้งหลาย จิตจะรักพระนิพพานเป็นกรณีพิเศษ จิตมีความต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน อย่างอื่นความต้องการของเราไม่มี เมื่อจิตมีความหน่วงเหนี่ยวพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นปกติอย่างนี้ ท่านเรียกว่า โคตรภูฌาน คือ จะถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นส่วนละวาง
    ต่อมาถ้าจิตเลือกขึ้นเป็นพระโสดาบันจริง ๆ ตอนนี้ อารมณ์ธรรมดา จะเกิด คำว่า ธรรมดานั้น หมายความว่าในตอนก่อนจากนี้ ความรุนแรงของจิตยังมีอยู่ ยกตัวอย่างเฉพาะ โทสะ สังเกตง่าย ใครพูดอะไรมาไม่ถูกใจอาจจะโกรธ อาจจะฉุนเฉียวง่าย แต่พอมาถึงความเป็นพระโสดาบันเกิดขึ้น อารมณ์ธรรมดาย่อมเข้ามาถึงใจง่ายขึ้น นั่นคือใครด่า ใครเขาว่า ใครเขานินทา อย่าลืมพระโสดาบันยังรู้สึกโกรธ สกิทาคามีก็ยังรู้สึกโกรธ แต่ความโกรธของพระโสดาบัน ไม่รุนแรงเท่าปุถุชน ความไม่พอใจของพระสกิทาคามี มีนิดหน่อย น้อยกว่าพระโสดาบันมาก
    ก็รวมความว่าพระโสดาบันยังมีความโกรธ แต่ความโกรธของท่านมันเบา แพล็บเดียวก็หายไป การจองล้างจองผลาญ จองเวรจองกรรม จะแก้มือ ไม่มีในพระโสดาบัน คนที่จะเป็นพระโสดาบันได้ต้องคิดตามนี้นะ นี่คือ ความธรรมดา ความธรรมดาเกิดขึ้นในบางขณะ รู้สึกโกรธบ้าง แต่มันหายเร็ว ถือว่าการถูกด่า ถูกว่า ถูกนินทา เป็นของธรรมดา
    ความอยากรวยมีในพระโสดาบัน ทว่าการอยากรวยก็ไม่ลักขโมย ไม่ยื้อแย่ง คดโกงใคร ทำมาหากินจนรวย ดูตัวอย่างนางวิสาขา หรือ ท่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี 2 คนนี้รวยมาก แต่ก็ยังทำมาหากินอยู่ ยังมีคนงาน ฉะนั้น ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายอย่าเมาเกินไป จงอย่าคิดว่าเป็นพระอริยเจ้าแล้วไม่ต้องทำมาหากินอย่างนี้อดตาย ยังไม่เต็มขั้นยังต้องทำมาหากิน จะทำมาหากินอย่างมีความซื่อสัตย์สุจริต สิ่งใดที่ต้องจ่ายก็จ่าย สิ่งใดควรรับก็รับ จ่ายคือ ค่าแรงงานก็ดี ค่าวัตถุก่อสร้าง ค่าวัตถุทำมาหากินหรือการค้าก็ตาม ภาษีอากร เราก็จ่ายไปตามปกติ ไม่เบียดไม่บังไม่คดไม่โกงใคร อย่างนี้เป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน
    ทีนี้พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ยังไม่จำจัดเขต นั่นหมายความว่า พระโสดาบันยังมีความรักในระหว่างเพศ ทีนี้คนที่มีความรักในระหว่างเพศ จะมีความรู้สึกว่า ร่างกายไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา มันไม่ได้แน่นอน ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้ ความรักมันก็ไม่มี ความรักในระหว่างเพศมันก็ไม่มี แต่พระโสดาบันก็ยังมีความรักอยู่ อย่าง นางวิสาขาท่านเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ปี พออายุ 16 ปีท่านก็แต่งงาน ภรรยาของพรานกุกกุฏมิตร เป็นลูกของมหาเศรษฐี เพียงแค่อายุ 16 ปี เห็นนายพรานมาขายเนื้อ เป็นคู่เก่าในชาติก่อน เกิดมีความรัก นั่นไม่ใช่ผู้ชายพาผู้หญิง ผู้หญิงไปดักทางผู้ชาย ไปมีสามี ทิ้งความเป็นมหาเศรษฐี
    ความจริงพระโสดาบันนั้นยังเป็นแบบนี้ อย่าไปด่ากัน ก็รวมความว่าพระโสดาบันยังมีการแต่งงาน พระสกิทาคามีก็เหมือนกัน คนที่แต่งงานแล้วก็ไม่ต้องเลิกการแต่งงาน อยู่ในฐานะสามีภรรยาตามปกติ คนที่ยังไม่มีสามี ไม่มีภรรยา ก็แต่งงานได้ แต่ว่าจิตใจในครอบครัวมันเยือกเย็น มีความรักเฉพาะคู่ตัวผัวเมีย ไม่นอกใจซึ่งกันและกัน เกิดความสุขได้ ก็รวมความว่า พระโสดาบันยังมีความรัก และมีความอยากรวยต้องไม่เรียกว่า โลภ ถ้าโลภคืออยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่น ถ้าอยากรวยไม่ใช่โลภ คือ ทำมาหากินให้มันรวย พระโสดาบันยังมีความโกรธ พระโสดาบันยังมีความหลง ก็ยังมีการแต่งตัวให้สวย ยังรักคนอื่น แต่ก็อยู่ในขอบเขตของธรรมะ ขอบเขตของศีล รวมความว่าอยู่ในขอบเขตของศีลและกรรมบท 10
    ก็รวมความว่าท่านทั้งหลาย วันนี้เราก็พูดจบแค่พระโสดาบัน ตอนนี้ตอนที่ 1 เป็นอันว่าพระโสดาบันนี้ควบพระสกิทาคามี ถ้าเป็นพระโสดาบันเบื้องต้น ความรุนแรงของจิตจะมีนิดหน่อย ความโกรธมี อาจจะแรงแต่หายเร็ว คำว่าพระโสดาบันขนาดโกลังโกละเบาลงไป ถ้าเอกพีชีพระโสดาบันละเอียด ความรัก ความโลภ ความหลง มันมีเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยเกิด คนที่อยู่ระหว่างคู่ผัวตัวเมีย ระหว่างสามีภรรยาจะเฉยต่อกันมาก ในด้านของความรัก
    พอถึงพระสกิทาคามีละเอียด สังเกตได้ด้วย ตอนนี้เอา 2 อย่างติดกันไป พอถึงพระสกิทาคามีละเอียด ให้สังเกตตัวว่าอารมณ์ของเราจริง ๆ มันเฉยหมด ความรักในระหว่างเพศมันก็เฉย ความอยากรวยมันก็เฉย ความโกรธมันก็เฉย ความหลงมันก็เฉย มันเฉยซีด ๆ ไม่มีความรู้สึกในเรื่องนี้ทั้งหมด แต่ว่าในขณะบางครั้งจะแสดงอารมณ์ออก บางครั้งซึ่งไม่มีอะไรสัมผัสกัน ต่อหน้านี่ไม่มีความรู้สึกในความรัก แต่ว่าวัตถุทั้งหลายไม่ว่าจะดีแสนดีแค่ไหน เป็นเพชร เป็นทอง เป็นพลอยก็ตาม เจอเข้าไม่มีความรู้สึก แต่ทว่าอารมณ์สงัดมันโผล่หน้าเข้ามานิดหนึ่ง ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีวัตถุประจันหน้ากัน มันมีความรู้สึกว่าความรักนี่อาจจะดีนะ นึกถึงคนนั้นนิดหนึ่งนึกถึงคนนี้หน่อย มันจะตั้งอยู่เวลาอย่างนานไม่เกินสองนาที ก็สลายตัว จิตก็มีแต่ความเยือกเย็นเป็นปกติ
    ฉะนั้นพระสกิทาคามี ในระหว่างที่อยู่กับสามีภรรยา ก็คงจะอยู่กัน อย่างคนอยู่กับพระพุทธรูป หรือคนอยู่กับตุ๊กตา ความรักระหว่าเพศมันไม่มีเลย เกิดขึ้นมาไม่ได้ อารมณ์นี้เคยมีคนมาบ่นว่า ความรู้สึกเป็นอย่างนี้ แต่ภรรยาเขาต้องการ อันนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เรามีภรรยาก็ต้องเป็นอย่างงั้น ทางที่ดีก็หาคนใหม่ให้เขาก็แล้วกัน เราไม่ไหวก็
    ก็รวมความวันนี้พูดกันจบแค่พระโสดาบันกับสกิทาคามี เวลามันก็เหลือน้อยไม่ถึง 1 นาทีก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่ท่านบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้ฟังทุกท่าน สวัสดี


     

แชร์หน้านี้

Loading...