กรุงเทพฯ ประชากรไม่หนาแน่น แต่แออัด ยังไม่จำเป็นต้องขยายกรุงเทพฯ แต่ต้องจัดระเบียบใหม่

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 7 สิงหาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    กรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่ว่างอีกมาก แต่กลับมีความพยายามของบางคนให้ขยายกรุงเทพฯออกไป ทั้งๆ ที่ยังสามารถใช้พื้นที่ของกรุงเทพฯ ให้เป็นประโยชน์ได้อีกมากมาย คนที่บอกว่ากรุงเทพฯ มีคนมากไป ต้องไปดูว่ากรุงโตเกียวมีคนมากกว่ากรุงเทพฯ ใช่ไหม แล้วทำไมโตเกียวไม่มีปัญหาเหมือนกรุงเทพฯ

    ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนากับ รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในอีกตำแหน่งคือนายกสมาคมนักผังเมืองไทย

    0b89ee0b8af-e0b89be0b8a3e0b8b0e0b88ae0b8b2e0b881e0b8a3e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b899e0b8b2e0b981.jpg

    l อาจารย์ครับ กรุงเทพฯ และประเทศไทยมีผังเมืองไหมครับ ทำไมกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ ของไทยจึงมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นสะเปสะปะ ไม่เป็นระบบระเบียบเหมือนมหานครอื่นๆ ที่มีการวางผังเมืองอย่างดีครับ

    รศ.ดร.พนิต : บ้านเรามีกฎหมายผังเมือง และกฎหมายนี้ก็เทียบเคียงได้กับของประเทศที่เจริญแล้วครับ แต่ปัญหาของเราคือเราใช้กฎหมายผังเมืองไม่ครบถ้วน และใช้ไม่ถูกต้อง โดยหลักการของผังเมืองนั้นกำหนดไว้ว่าการพัฒนาพื้นที่ในระบบตามกายภาพ เช่น การสร้างถนนและระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งหมดต้องทำตามผังเมือง เพราะผังเมืองจะบ่งบอกว่าจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากที่ดินอย่างไร และยังเป็นแม่บทในการพัฒนาเมือง ผังเมืองจะบอกว่าต้องมีถนน ไฟฟ้า ประปา ระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดอย่างไรจึงจะเพียงพอเหมาะสมกับประชากร ผังเมืองจะบอกถึงการใช้ประโยชน์จากที่ดินและบอกระดับความหนาแน่นของประชากรได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐจะรู้ว่าจะมีคนอยู่อาศัยจำนวนเท่าไร ต้องมีถนน ไฟฟ้า ประปา หรือระบบขนส่งมวลชนแบบราง ผังเมืองเป็นเสมือนตัวกลางหรือแม่บทที่ทุกคนจะมาใช้ร่วมกันอย่างถูกต้อง แต่ปัญหาของเราที่เห็นประจำคือการปลูกสร้างนอกผังเมือง มีคนถามเสมอว่าทำไมจึงเกิดชุมชนตรงนี้ขึ้นมา ทั้งที่อยู่นอกเขตผังเมือง คำถามที่ตามมาคือมีคนไปสร้างชุมชนอยู่นอกผังเมืองแล้วทำไมมีไฟฟ้า ประปา เลขที่บ้านได้ นี่คือคำถามที่หาคำตอบไม่ค่อยได้ ย้ำว่าคำว่าอยู่นอกผังเมืองคือไม่ได้อยู่ในเขตของผังเมือง เวลาวางผังเมืองเราจะเขียนเฉพาะในเขตที่เป็นพื้นที่เมือง ส่วนนอกเหนือจะไม่เข้าไปยุ่งด้วย ในเขตผังเมืองต้องมีโครงสร้างต่างๆ ที่ได้มาตรฐาน และต้องการมีการจ่ายค่าบริการต่างๆ เพราะทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย เช่นค่าเดินเสาไฟ วางสายไฟ ค่าวางท่อประปา ค่าทำถนน ค่าระบบบำบัดน้ำเสียและขยะ เป็นต้น ยกตัวอย่างกรณีโรงงานหมิงตี้ที่เพิ่งเกิดระเบิดไปเมื่อไม่นาน โรงงานสร้างมาตั้งแต่ปี 2532 ส่วนผังเมืองสมุทรปราการฉบับแรกออกมาปี 2537 โรงงานอยู่มาก่อนผังเมืองก็จริง แต่หากคุณขัดกับผังเมืองก็ต้องทำให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงใดๆ ต่อชุมชน แต่การจะให้โรงงานต้องทำตามผังเมืองก็ต้องชดเชยให้กับโรงงานด้วย ดังนั้นใครที่ได้ประโยชน์จากการใช้ผังเมืองก็ต้องเป็นผู้จ่าย เช่น ผู้ที่พัฒนาพื้นที่แล้วขายในเชิงพาณิชย์ก็ต้องจ่ายเงินส่วนดังกล่าวให้โรงงาน แต่ปัญหาคือบ้านเราไม่เคยปฏิบัติในเรื่องนี้นี่คือการใช้กฎหมายไม่ครบ

    89ee0b8af-e0b89be0b8a3e0b8b0e0b88ae0b8b2e0b881e0b8a3e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b899e0b8b2e0b981-1.jpg

    l อะไรคือตัวการทำให้ใช้กฎหมายไม่ครบ เป็นอิทธิพลหรือความมักง่าย หรือผลประโยชน์ของใครครับ

    รศ.ดร.พนิต : กฎหมายผังเมืองมันคือ Zero Sum Game คนได้ประโยชน์ต้องชดเชยให้คนเสียประโยชน์ อันเกิดจากการที่คุณได้ประโยชน์ ลองคิดดูง่ายๆ กรณีโรงงานหมิงตี้พอเปิดกฎหมายพบว่าต้องชดเชยให้เขา คำถามคือใครจะชดเชย บางคนบอกว่าเอาภาษีไปชดเชย ก็จะมีเสียงบอกว่าผมอยู่เชียงใหม่ ผมไม่เกี่ยวกับพื้นที่นี้ ผมไม่ได้ประโยชน์อะไร จะเอาภาษีผมไปจ่ายได้อย่างไร ส่วนคนที่เป็นผู้พัฒนาที่ดินที่ได้ประโยชน์ก็ไม่ยอมจ่าย เช่น หมู่บ้านจัดสรรรอบ ๆโรงงานก็ไม่ยอมจ่าย เพราะมันทำให้ราคาบ้านที่เขาขายต้องถูกบวกค่าชดเชยเข้าไป ราคาบ้านก็จะแพงขึ้น เขาก็ขายไม่ได้ เขาก็ไม่ยอมจ่าย อีกประเด็นคือสังคมมักลืมว่าอุบัติเหตุจากโรงงานมันเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นห้ามของผังเมืองมีเกณฑ์สี่ข้อ คือหนึ่งห้ามใช้ระบบคมนาคมขนส่งเกินกว่ากำหนดไว้ เช่นกำหนดว่ามีถนนสองช่องทางจราจร แต่ถ้าโรงงานต้องใช้รถ 18 ล้อ แบบนี้ก็ไม่ได้แล้ว สองคือการใช้ไฟฟ้า ประปาเกินกว่าที่เตรียมไว้ให้หากใช้เมื่อไรส่งผลให้บ้านรอบๆ โรงงานไฟตกน้ำไม่ไหล ก็ไม่ได้เช่นกัน สามคือกิจการตามปกติของคุณก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนจนเขาอยู่ไม่ได้ เช่น เสียงดัง ส่งกลิ่นเหม็น ปล่อยก๊าซพิษ นี่ก็ไม่ได้อีก ส่วนข้อสี่คือ เราต้องคิดเสมอว่ากิจการใดๆก็ตาม ในวันหนึ่งอาจต้องเกิดภัยพิบัติร้ายแรง ต่อให้คุณป้องกันดีแค่ไหนก็ตาม มันก็เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น กรณีตึก World Trade ในนิวยอร์กที่ถูกโจมตีในเหตุการณ์ 9/11 หรือโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่เสียหายเพราะแผ่นดินไหวจากเหตุสึนามิ หรือกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล รัสเซียระเบิด เป็นต้น นี่คือสิ่งที่ผังเมืองต้องคิดเผื่อไว้ แต่เรื่องนี้คนส่วนมากไม่ยอมรับ เพราะไม่ต้องการจ่ายต้นทุนที่แพงมาก นี่คือสิ่งที่นักผังเมืองประสบปัญหาและถูกโจมตีมาตลอด เมื่อแตะปัญหาเหล่านี้ บางคนด่าว่าผังเมืองถ่วงความเจริญ แต่เมื่อเกิดปัญหาก็โยนความผิดให้นักผังเมืองอีก

    89ee0b8af-e0b89be0b8a3e0b8b0e0b88ae0b8b2e0b881e0b8a3e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b899e0b8b2e0b981-2.jpg

    l ผมเชื่อว่าคนไทยอยากเห็นกรุงเทพฯเชียงใหม่ เชียงราย และเมืองใหญ่ๆ ของเราสวยงามเหมือนมหานครใหญ่ของโลก เช่น โตเกียว ปารีส นิวยอร์ก อัมสเตอร์ดัม เป็นต้นเรามีโอกาสไหมครับ

    รศ.ดร.พนิต : ผมจะเล่าให้ฟังนะครับ สถาปนิกและนักผังเมืองของไทยเมื่อ 40 ปีก่อนไปช่วยสร้างเมืองสิงคโปร์ ฮ่องกง นะครับ นั่นคือผมจะบอกว่าเรามีคนมีฝีมือครับ แต่ปัญหาของเราคือเราไม่ทำตามหลักการสำคัญของผังเมืองคือ ทุกคนที่อยากได้เมืองดีๆ สวยๆ เป็นระเบียบ ต้องช่วยกันจ่ายเพื่อสร้างเมืองดีๆ ขึ้นมา ตัวอย่างปัญหาของบ้านเรา กรุงเทพฯ มีถนนเราน้อยมาก จึงเกิดปัญหารถติดมากมาหลายสิบปี เรามีถนนเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ แต่มาตรฐานของเมืองในโลกต้องมีถนน 25 เปอร์เซ็นต์ เราได้แต่เชื่อนักการเมืองที่พูดลอยๆ ว่าไม่ต้องตัดถนนเพิ่ม แต่จะหาเทคโนโลยีมาช่วย ถามว่าเทคโนโลยีอะไรครับในเมื่อมาตรฐานของพื้นที่ถนนเราน้อยกว่าความเป็นจริง เราไม่ยอมเสียที่ดินเพื่อทำถนน เราไม่ยอมจ่าย ดังนั้นทุกคนก็เจอปัญหารถติดเหมือนๆกันเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว เราต้องยอมเสียสละที่ดินเพื่อให้มีถนน เพื่อให้ถนนอยู่ใกล้บ้าน เวลาเกิดปัญหาใดๆ รถดับเพลิง รถพยาบาลก็เข้าถึงบ้านได้ทันที ท่อระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ประปา ระบบบำบัดน้ำเสียก็จะได้มาตรฐาน ท่อระบายน้ำก็จะได้มาตรฐาน น้ำไม่ท่วม นี่คือเมืองที่ดี ถ้าเราอยากได้เมืองดี เราต้องยอมจ่ายเพื่อให้ได้มา แต่บ้านเรานั้นทุกหน่วยงานและทุกคนห่วงที่ดิน ไม่ยอมเสียสละที่ดินเพื่อส่วนรวม เมืองอื่นๆ ที่เราเห็นว่าเขาสวยงามนั้น เขามีผังเมืองดี และเขาใช้ผังเมืองอย่างเคร่งครัดทั้งนั้น

    89ee0b8af-e0b89be0b8a3e0b8b0e0b88ae0b8b2e0b881e0b8a3e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b899e0b8b2e0b981-3.jpg

    l เราจะแก้ปัญหานี้ได้ไหม แก้อย่างไรครับ

    รศ.ดร.พนิต : หลักการอำนาจของผังเมืองมี 2 แบบ แบบที่หนึ่งคือผังเมืองไปอยู่กับหน่วยงานที่ผู้กำหนดนโยบายโดยตรง เช่นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถสั่งการไปยังทุกกระทรวงได้ หรือให้อยู่ใต้อำนาจของนายกเทศมนตรีนคร เช่น โตเกียว ส่วนอีกแบบคือในยุโรป ผังเมืองก็เป็นหน่วยงานที่มีระดับเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ แต่ทุกหน่วยงานเขาฟังความเห็นของผังเมือง ตัวอย่างเช่นมหานครแฟรงค์เฟิร์ตที่ผังเมืองได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกหน่วยงานเมืองของเขาจึงแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีระบบ สำหรับบ้านเรานะครับ ผมไม่ได้คิดว่าเราจะก้าวกระโดดไปเป็นเหมือนมหานครเหล่านั้น แต่ผมคิดว่าอย่างแรกที่เราต้องทำคือสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา ระบบจัดเก็บขยะ บำบัดน้ำเสียระบบจัดการกับภัยพิบัติต่างๆ ให้เพียงพอก่อน และต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยให้มากกว่าเดิมเมื่อเรื่องเหล่านี้พร้อมตามแผนแม่บทแล้ววันข้างหน้าเราก็จะสามารถสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเหมือนมหานครที่เราอยากเห็นได้ คุณทราบไหมว่าผังเมืองกรุงเทพฯ ปี 2556 รองรับประชากรได้สามสิบล้านคน เพราะต้องพัฒนาที่ดินในกรุงเทพฯ ให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่มากกว่าเดิม เรายังไม่ต้องขยายกรุงเทพฯ หรอก ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่สามารถใช้พื้นที่ได้ประโยชน์สูงสุดเสียก่อนดีกว่า ดีกว่าปล่อยให้คนไปบุกรุกคลอง พื้นที่เพาะปลูก พื้นที่รับน้ำเพื่อป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ของเมืองทำสภาพแวดล้อมให้ดี จัดโซนเมืองให้ดีก่อน นี่คือสิ่งที่เราต้องทำก่อนโดยเร็ว

    89ee0b8af-e0b89be0b8a3e0b8b0e0b88ae0b8b2e0b881e0b8a3e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b899e0b8b2e0b981-4.jpg

    l มีผู้วิจารณ์ว่ากรุงเทพฯ มีคนเยอะมากไป แก้ปัญหาไม่ได้แล้ว จริงไหมครับ

    รศ.ดร.พนิต : กรุงเทพฯเป็นมหานครที่มีความหนาแน่นน้อยของคนน้อยมากเมื่อเทียบกับมหานครอื่นๆ ในโลกนี้ แต่เราสบสนระหว่างหนาแน่นกับแออัด มหานครดีๆ ของโลกนี้ไม่แออัด แต่มีประชากรหนาแน่น เขาหนาแน่นกว่าเรามากหลายเท่า แต่เขาไม่แออัด เขาวางผังเมืองดี แล้วทำตามผังเมืองเคร่งครัดมาก ยกตัวอย่างเขตราชเทวีของเรามีการปลูกสร้างอาคารบนที่ดินโดยเฉลี่ยเท่ากับมีตึก 5 ชั้นเท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบกับนิวยอร์ก หรือโตเกียว เขาใช้ที่ดินได้มากกว่าเรา 25-30 เท่า เขามีคนเยอะกว่าเราแต่เขาไม่แออัด ทั้งๆ ที่เขามีความหนาแน่นสูงมาก เมืองที่ดีต้องมีความหนาแน่นสูงแต่ไม่แออัดครับ ยิ่งหนาแน่นมาก จะยิ่งใช้โครงสร้างพื้นฐานได้ประโยชน์สูงสุด เพราะต้นทุนโดยเฉลี่ยจะต่ำลงมา กรุงเทพฯ ของเรามีคนโดยเฉลี่ย 8 คนต่อหนึ่งไร่เท่านั้น ซึ่งเราต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้ดีครับ หากเราจะพัฒนาเมืองของเราให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินให้สูงสุดโดยที่มีประชากรหนาแน่นแต่ไม่แออัด แต่ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับโควิด-19ผมว่าเมืองจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่อีกมาก หลังโควิด-19 ผ่านไป เราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองในแง่มุมที่ผิดไปจากเดิม โควิด-19 ทำให้คนส่วนหนึ่งรู้ว่าเราทำงานที่ไหนก็ได้ หากมีระบบ WIFI ดีมากพอ แต่ปัญหาอื่นๆคือ โรงเรียนดีๆ สำหรับลูก โรงพยาบาลที่เราต้องใช้ กระจายไปยังที่ต่างๆ ทั่วถึงหรือยัง ระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานกระจายทั่วถึงหรือยังถ้ายัง ก็หมายความว่าคนอาจจะยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยจากเดิม เพราะมันจะส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตประจำวันของพวกเขา

    89ee0b8af-e0b89be0b8a3e0b8b0e0b88ae0b8b2e0b881e0b8a3e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b899e0b8b2e0b981-5.jpg


    คุณจะได้พบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ รายการ ไลฟ์ วาไรตี ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี


    ขอบคุณที่มา

    https://www.naewna.com/lady/593199
     

แชร์หน้านี้

Loading...