การปฏิบัติสมถภาวนากับวิปัสสนาญาณ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 16 พฤษภาคม 2008.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,171
    [​IMG]



    ถาม : ...................

    ตอบ : ถ้าหากว่าเราภาวนาแรก ๆ นี่มันเป็นสมถภาวนาอยู่แล้ว เมื่อไปถึงจนกำลังใจเต็มมันจะถอนออกเองโดยอัตโนมัติ มันเหมือนเราเดินชนที่ตันไปต่อไม่ได้ ตอนมันถอนออกมานี่แหละถ้าเราไม่ควบคุมให้มันคิดโดยการใช้ปัญญาอย่างที่เรียกว่าวิปัสสนา คือ คิดให้รู้เห็นตามความเป็นจริงมันก็จะไปฟุ้งซ่านหารัก โลภ โกรธ หลง ของมัน

    คราวนี้วิธีคิดมีหลายวิธี วิธีแรกดูตามไตรลักษณ์คือลักษณะความเป็นจริงสามอย่างว่าสภาพของเราก็ดี คน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของทุกอย่างก็ดี มันเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด มันเป็นทุกข์ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนก็ต้องมีสภาพจะทนอยู่เสมอ มันเป็นอนัตตาคือบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นตามใจของเราไม่ได้

    มันเป็นสภาพที่แท้จริงของมัน เขาเรียกว่าไตรลักษณ์ ลักษณะความเป็นจริง ๓ อย่าง ดูให้เห็นให้จิตยอมรับให้ได้ วิธีที่ ๒ เรียกว่าดูตามอริยสัจ คือ ความเป็นจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จริง ๆ แล้วเขาให้เราดูทุกข์กับสมุทัยเท่านั้นเพราะว่าสมุทัยคือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ว่าเราทุกข์อยู่นี่เกิดขึ้นเพราะอะไร

    อย่างเช่นว่า ตอนนี้เราเมื่อย เมื่อยเกิดจากอะไร เมื่อยเพราะเรานั่ง ถ้าเราเปลี่ยนอิริยาบถเสียมันก็หายเมื่อย อย่างนี้เป็นต้น คราวนี้ว่าเขาดูไป ๆ จนกระทั่งเห็นชัดว่าสาเหตุที่เราทุกข์อยู่ทุกวันนี้เพราะว่าเราเกิดมาตัวเดียว ถ้าเราไม่เกิดอีกความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีอีก

    ดังนั้นเราจะดับต้นเหตุก็คือว่าต้องไม่เกิดอีกนะ จริง ๆ แล้วดูทุกอย่างรอบตัวของเราว่าเป็นทุกข์มันก็พอแล้วเพราะอะไร แต่ว่าถ้าหากขยันหน่อยขยับไปหาเหตุมันซะนิดหนึ่งว่ามันทุกข์เพราะอะไร แล้วก็ดับตรงจุดนั้นเขารียกว่าดูตามอริยสัจ

    วิธีต่อไปเรียกว่าดูตามวิปัสสนาญาณ ๙ อย่างในวิสุทธิมรรค เขาแยกไปชัดเจนเลย ตั้งแต่อุทยัพยานุปัสสนาญาณ เห็นการเกิดและดับของทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ภังคานุปัสสนาญาณเห็นว่าทุกอย่างต้องดับหมดทั้งสิ้น สลายหมดทั้งสิ้น ภยตูปัฏฐานญาณ

    เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของที่น่ากลัวกระทั่งร่างกายของเรานี่ก็น่ากลัว มันเหมือนกับเลี้ยงเสือเอาไว้ถึงเวลาเดี๋ยวมันก็หิว เดี๋ยวมันก็กระหาย เดี๋ยวมันร้อน เดี๋ยวมันหนาว เดี๋ยวมันก็เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องคอยหาให้มันกิน หาให้มันดื่ม ต้องไปถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ต้องรักษาพยาบาล เป็นต้น ต้องหาน้ำให้มันอาบ หาผ้าให้มันห่ม เหมือนกับเลี้ยงเสือไว้เผลอเมื่อไหร่ มันกัดเรา

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องหัดคิดให้เป็น พิจารณาให้เป็น พอเราพิจารณาไปเรื่อย ๆ จนสภาพจิตมันยอมรับ หรือว่าไม่ยอมรับแต่กำลังดำเนินไป ตามปัญญาและสติเฉพาะหน้านั้นก็ตาม มันจะค่อย ๆ เป็นสมาธิโดยไม่รู้ตัว พอมันเป็นสมาธิมันทรงตัวเต็มที่ถ้ามันอยากเป็นสมาธิก็ให้มันเป็นสมาธิทรงตัวไปเลย พอมันทรงตัวเต็มที่เดี๋ยวมันคลายออกมาอีกเราก็ต้อนเข้ามาหาวิธีการคิดเหล่านี้อีกสลับกันไปเรื่อย

    สมถภาวนาคือการทำใจให้สงบ วิปัสสนาคือการสร้างความรู้จริงเห็นจริงให้เกิดขึ้นในใจของเรา มันเหมือนอย่างกับคนผูกขาติดกันนะต้องสลับกันเดิน เราจะไปสมถะอย่างเดียวคือการภาวนาอย่างเดียวพอไปเต็มที่แล้วมันโดนกระตุกกลับมันไปต่อไม่ได้ มันจะโดนกระตุกกลับคือมันคลายตัวกลับมา

    เราต้องใช้วิปัสสนาญาณคือต้องคิดต่อเท่ากับว่าก้าวต่อไป พอคิดจนเต็มที่แล้วมันจะทรงเป็นสมาธิภาวนาต่อไปคือ เป็นสมถะต่อเราก็ก้าวทางด้านนี้ต่อ ต้องสลับกันไปถึงจะก้าวหน้า การกระทำทั้งสองอย่างนี้ถ้าเป็นวิปัสสนามันจะได้เปรียบตรงที่ว่ามันภาวนาไปแล้ว พอพิจารณาไปแล้วมันจะเป็นภาวนาไปด้วย แต่ว่าสมถภาวนาถ้าทำอย่างเดียวทำไปแล้วไม่ถอนกำลังใจออกมาเพื่อคิด ถึงเวลาแล้วมันจะฟุ้งซ่าน สองอย่างต้องทำรวมกันแต่ว่าถ้าทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เลือกทำวิปัสสนากำลังใจให้ทรงตัว

    ถาม : จะทำวิปัสสนาต่อเมื่อจิตสงบหรือครับ ?

    ตอบ : ก็พอมันเต็มที่ของมันน่ะ จะใช้คำว่านิ่งบางคนมันก็ยังไม่นิ่งดีหรอก

    ถาม : คือ...ไม่รับรู้ ได้ยินเสียงแต่ไม่เขว ?

    ตอบ : อาการเหล่านั้นมันเป็นขั้นตอนแรก ๆ ของการปฎิบัติเท่านั้น บางคนก็สามารถเข้าไปถึงขนาดที่เรียกว่าฟ้าผ่าข้างหูก็ไม่ได้ยิน แล้วถึงเวลามันคลายตัวออกมาก็มาใช้วิปัสสนาญาณพิจารณาต่อ

    ถาม : การออกจากวิปัสสนาแล้ว ทำไมกินของแล้วไม่รู้สึกอะไร ?

    ตอบ : ลักษณะนั้นบางทีเป็นกำลังของสมาธิมันคุมอยู่ เป็นลักษณะของกำลังฌานยังคุมอยู่ เมื่อกำลังฌานยังคุมอยู่จิตกับประสาทมันจะแยกกันเป็นคนละส่วนกัน ที่ว่าตาเห็นแต่ไม่ค่อยอยากจะสนใจ หูได้ยินก็เบาลงขาดความสนใจในมัน นี่ลิ้นได้รส ในเมื่อจิตกับประสาทแยกจากกันมันก็ไม่ค่อยรู้สึกรู้สาอะไรประเภทเดินตากแดดก็ไม่ร้อน เดินตามลมก็ไม่หนาว ลักษณะนั้นถ้าทำได้ให้ประคับประคองรักษาอารมณ์นั้นเอาไว้

    ส่วนใหญ่พวกเราทำไปแล้วพอถึงเวลาเลิกแล้วเลิกเลย ปฎิบัติมันจะไม่ก้าวหน้าเพราะเราเลิกแล้วทิ้งเลย เหมื่อนกับว่าเราว่ายน้ำทวนน้ำมา พอถึงเวลาก็ปล่อยมือให้มันลอยตามน้ำไปอีก ถึงเวลาว่ายน้ำใหม่มันก็ได้แต่งาน ผลงานมันไม่ได้มีเพิ่มขึ้น ต้องรู้จักรักษาอารมณ์ที่เราทำได้ให้อยู่กับเรานานที่สุดเพื่อความสุขความเย็นใจของเราให้มากที่สุด

    แล้วพอความเคยชินของการรักษาอารมณ์มันจะทำให้เรารักษาได้ยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา เมื่อยาวนานขึ้นเรื่อยจนกระทั่งบางทีติดต่อกันเป็นเดือนเป็นปี นี่กำลังจิตมันทรงตัวตลอด กิเลสต่าง ๆ มันก็เหมือนหญ้าที่ถูกหินทับเอาไว้ พอทับนาน ๆ ไม่ได้อากาศไม่ได้แสงแดดมันก็เฉาตายไปเอง

    ถาม : ................................

    ตอบ : อย่าเพิ่งเชื่อมันสิ ต้องฝืนมันบ้าง แต่ว่าบางคนถนัดในการนอนภาวนา ยืน เดิน นั่ง นอน ๔ อิริยาบถนี้ อิริยาบถไหนก็ภาวนาได้ แต่อิริยาบถนอนต้องฝึกให้ชินก่อนถ้าไม่ชินขาดสติปุ๊บมันจะตัดหลับไปเลย

    เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามันอยากจะนอนทั้ง ๆ ที่เรานั่งอยู่ให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นตัวนิวรณ์ คือ ถีนมิทธะนิวรณ์มากวน ตัวนี้มันชวนให้ง่วงนอนแล้วก็ขี้เกียจ ต้องลองฝืนมันดูถ้าเราไม่ได้ทำงานเหนื่อยมาทั้งวันมาถึงเวลาปุ๊บแล้วมาชวนนอนเลย อย่างนั้นให้ถือว่าตัวนิวรณ์ตัวนี้มันกำลังรังแกเราอยู่ ให้ฝืนใจเอาไว้ทำต่ออีกหน่อยเดียวพอก้าวข้ามตรงจุดนี้ไปมันก็จะสว่างโพลงอยู่แล้วก็จะไม่อยากนอนอีก

    บางคนภาวนาไป พอถึงระดับจิตมันโพรงตื่นอยู่ตลอดเวลา จะไปบังคับให้มันหลับแทบจะคลุ้มคลั่งบังคับกันทั้งคืนมันก็ไม่หลับ ตอนนั้นให้รับรู้อาการไว้เฉย ๆ นะตัวมันนอนมันได้รับการพักผ่อนอยู่แล้ว

    สภาพจิตจริง ๆ นี่ถ้าผ่องใสจริง ๆ นี่เขาไม่นอนหรอก เขาจะตื่นอยู่ตลอดเวลาทั้งหลับทั้งตื่นจิตจะดำเนินไปในลักษณะของการระมัดระวังไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นแล้วเราภาวนาเฉพาะตอนตื่นสติสมบูรณ์รู้อยู่เราสู้กิเลสได้ระวังกิเลสทัน แต่ว่าถ้าหากเผลอหลับ หลับเมื่อไหร่มันก็เอาทั้งหลับ ๆ นั่นแหละ

    บางคนนี่ดิ้นรอบห้องเลยบังคับตัวเองไม่ได้ บางคนก็ฝันว่าไล่ตีไล่ฆ่าเขาไปซะไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่...สนุกสนานกัน ถ้าหากว่าจิตมันตื่นอยู่ ทั้งหลับทั้งตื่นเราจะควบคุมได้ ระวังไม่ให้กิเลสเกิดกับเราได้ สภาพของจิตจริง ๆ แล้วมันตื่นพอเราไปทำมันตื่นขึ้นมาปุ๊บจะไปบังคับให้มันหลับบังคับเท่าไหร่ก็ไม่หลับ

    บางคนลุกขึ้นมากินยานอนหลับหน้าตาเฉย ความจริงมันนอนอยู่แล้ว มันได้รับการพักผ่อนพออยู่แล้ว ถ้ารู้จักสังเกตจะเห็นว่าถึงจะรู้สึกว่าไม่ได้หลับเลยแต่ตื่นขึ้นมาแล้วมันไม่เพลียก็ว่าซะเต็มที่แล้ว บางทีได้ยินเสียงของตัวเองกรนซะด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าจิตมันตื่นอยู่ก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้หลับ

    ถาม : อรูปฌานน่ะครับ เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราทำได้แล้ว ?

    ตอบ : ต้องทรงกสิณให้คล่องตัวเลย คล่องตัวนี่มันต้องให้ผลของกสิณได้ถ้าหากว่าไม่สามารถใช้ผลของกสิณได้คล่องตัวอรูปฌานไปไม่รอด เพราะอรูปฌานต้องตั้งต้นด้วยกสิณ ตั้งภาพกสิณกองใดกองหนึ่งขึ้นมาแล้วก็กำหนดใจเพิกภาพกสิณนั้นเสียให้เห็นว่าแม้แต่ภาพกสิณมันยังเป็นส่วนหยาบ มันยังมีรูปอยู่ เราไม่ต้องการรูปนี้เราต้องการความว่างเปล่าของอากาศ กำหนดใจจับความว่างของอากาศไปเรื่อย จนกระทั่งเป็นวงสว่างแจ่มใสอยู่ตรงหน้าใหญ่ก็ได้เล็กก็ได้กำหนดความว่างของอากาศไป

    พอมันเต็มที่เสร็จแล้วคลายอารมณ์ขึ้นมาแล้วก็ว่าอรูปฌานที่ ๒ ต่อว่าตั้งภาพนิมิตของอากาสานัญจายตนขึ้นมา

    กำหนดแล้วว่าถึงมันจะเป็นอากาศแต่มันก็ยังมีความหยาบอยู่ จับความว่างไม่มีขอบเขตของวิญญาณแทน เพราะฉะนั้นต้องเริ่มด้วยกสิณก่อนถ้ากสิณไม่คล่องทำอรูปฌานไม่รอด

    ถาม : แล้วอย่าง มโนมยิทธิถือเป็นการใช้ผลของกสิณไหมครับ ?

    ตอบ : มโนมยิทธิถือเป็นผลของกสิณอยู่แล้ว เพราะว่ากสิณ ๓ กอง คือ อาโลกกสิณการกำหนดแสงสว่าง โอทาตกสิณ การกำหนดสีขาว เตโซกสิณการกำหนดไฟ เหล่านี้ ผลของมันจะทำให้เกิดทิพจักขุญาณแล้วขณะเดียวกันถ้าหากว่าเป็นมโนมยิทธิเต็มกำลังก็เป็นอภิญญาด้วยเพราะว่าสามารถถอดจิตไปได้ อันนี้เป็นการใช้ผลของกสิณอยู่แล้ว

    ถาม : ถ้าอย่างนั้นทรงมโนมยิทธิก็ได้เหมือนกัน ?

    ตอบ : ได้อยู่ แต่ว่ากติกาของอรูปฌานต้องตั้งรูปขึ้นมาก่อน ถ้าจะทรงมโนมยิทธิก็ต้องกำหนดรูปที่เราถนัดขึ้นมาก่อนเช่นว่าภาพพระก็ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือว่าจะเล่นอรูปฌานนี่ต้องได้ฌาน ๔ ก่อน

    ถาม : วิธีการปฎิบัติมหาสติปัฏฐานเป็นอย่างไรครับ ?

    ตอบ : วิธีการปฎิบัติมันหนักอยู่อันเดียว สติปัฏฐาน ๔ หนักอยู่อันเดียว บรรพแรกก็คืออานาปานสติเพราะว่าอันอื่นเป็นการคิดการพิจารณาซะส่วนมาก โดยเฉพาะอันท้าย ๆ นี่จะละเอียดมากคือ พิจารณาเห็นจิตในจิต ธรรมในธรรม จิตในจิตคืออารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ ธรรมในธรรมก็คือว่าดูความงอกงามของอารมณ์ทั้งกำลังการปฎิบัติของเราทั้งดีและทั้งชั่วอะไรเหล่านี้เป็นต้น

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็จะเป็นการอาศัยกำลังของอานาปานสติ คือ การภาวนา จับบรรพ คือตอนแรกมาใช้ ถ้าสามารถทำตอนแรกได้คล่องตัวตอนอื่นก็ง่าย ถ้าตอนแรกไม่ผ่านตอนอื่นก็ยากหน่อย

    ถาม : วิปัสสนาคือช่วงตอนไหนครับ ?

    ตอบ : วิปัสสนานี่จริง ๆ แล้วท่านจะต่อท้ายไว้ทุกบรรพ คือ ทุกตอน บางทีเราก็ไม่ได้พิจารณา ท่านบอกว่า นะ จะ กิญจิ โลเก อุปาทิยะติ เราอย่าได้ยึดติดอะไร ๆ ในโลกนี้ นั่นน่ะวิปัสสนาญาณชัด ๆ เลยเพียงแต่ว่าท่านแทรกเอาไว้บางทีเราขาดการพิจารณาอ่านแล้วเผลอลืมไป มองข้ามไป

    ถาม : ถ้าวิปัสสนาเรายังไม่ไปถึงไหนแล้วเราไปเพ่งกสิณนี่ถือว่าเป็นการข้ามขั้นตอนไหมครับ ?

    ตอบ : ไม่ถือว่าเป็นการข้ามขั้นเพราะว่ากสิณนี่นับเป็นเริ่มต้นก็ได้ คือเรากำหนดภาพพร้อมกับลมหายใจเข้าออกอยู่แล้ว การกำหนดภาพพร้อมลมหายใจเข้าออกพอภาพพระติดตาติดใจนี่ก็เท่ากับอุปจารสมาธิ พอภาพเริ่มเปลี่ยนสีเริ่มอะไรก็เท่ากับว่าเป็นฌานจนกระทั่งภาพสว่างเจิดจ้าเต็มที่บังคับให้ใหญ่ได้เล็กได้ ให้มาได้ให้หายได้

    นั่นเท่ากับเป็นฌาน ๔ เท่ากับว่าเราค่อย ๆ ฝึกกำลังสมาธิของอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกเหมือนกันเเพียงแต่เพิ่มตัวกสิณเข้ามาประกอบแล้วใช้คำภาวนาเฉพาะเท่านั้นเอง





    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนกรกฏาคม ๒๕๔๔
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ



    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 30 กันยายน 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...