การฝึกอรูปฌาณ 4

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Wisdom, 21 สิงหาคม 2005.

  1. Wisdom

    Wisdom ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    1,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +26,542
    วิธีจะทำสมาบัติ 8 ให้เกิดขึ้น ความจริงทำง่าย ทำไม่ยาก เราก็จับกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราชอบ หรือว่า จะจับรูปพระพุทธเจ้าเป็นพุทธานุสสติกสิณก็ได้ จับรูปพระพุทธเจ้า จำรูปพระพุทธเจ้าก็พอ จำพระพุทธรูปให้ได้แล้วหลับตาลงไปนึกถึงรูปพระพุทธรูป จะเดินไปที่ไหน จะไปบิณฑบาต จะไปทำงานทำการที่ไหน นึกถึงภาพพระพุทธรูปตลอดเวลา จนกระทั่งภาพพระพุทธรูปปรากฎในอารมณ์นึกของเรา นึกคิดตลอดอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ทรงฌานในพุทธานุสสติกรรมฐาน เมื่อทรงฌานในภาพพระพุทธรูปได้ มีอารมณ์ทรงตัวกำหนดเวลาสัก 5 นาที หรือ 10 นาที ให้ทรงอยู่ ถ้านานยิ่งกว่านี้ได้ก็ยิ่งดี ความจริงถ้านานไม่ได้ก็เอาเวลาสัก 5 นาที เห็นภาพพระพุทธรูป ตอนนี้ความจริงจะเล่นอภิญญาด้านทิพย์จักขุญาณก็ง่าย
    ตอนนี้ผมพูดเรื่องสมาบัติ 8 สมาบัติ 8 เมื่อทรงอารมณ์ภาพพระพุทธรูปได้แล้ว จิตมั่นคงยิ่งขึ้น เมื่อจิตมั่นคงยิ่งขึ้น ภาพพระพุทธรูปที่เรานึกเห็น ก็จะค่อย ๆใสขึ้นมาทุกที ๆ ใสจนกระทั่งเราก็คิดว่า เอ๊ะ นึกขึ้นมาทีใด เหมือนภาพพระลอยอยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะมันมีรูปปรากฏแจ่มใส ปรากฏชัดตามอารมณ์ที่นึก นึกขึ้นมาเมื่อใด ภาพพระใสทรงตัว แล้วจิตเราจะทรงนานแสนนานอย่างใดก็ได้ ใจสบายมีอารมณ์เป็นสุข จนกระทั่ง ขณะที่นึกเห็นภาพพระพุทธรูปนั้น มีเห็นอารมณ์ใส ใจก็ปรากฏมีอารมณ์สงัด ลมหายใจไม่ปรากฏแก่ตน นี้เป็นอารมณ์ของฌาน 4
    เมื่อทรงภาพพระพุทธรูปถึงฌาน 4 ได้แล้ว แล้วก็ทรงให้ชิน ทรงให้ชิน ต่อแต่นั้นไปก็คิดว่า ขอภาพพระพุทธรูปนี้จงหายไป ตอนนี้เล่นสมบัติ 8 ให้เห็นภาพพระพุทธรูปนี้จงหายไป นึกถึงภาพของอากาศ ภาพของอากาศก็จะปรากฏ คิดว่าอากาศนี้เวิ้งว้างว่างเปล่า หาที่สุดมิได้ฉันใด ชีวิตของเราก็ฉันนั้น เรามีร่างกายอยู่อย่างนี้ก็เพราะว่า มันอาศัยการติดรูปเป็นสำคัญ ทุกข์ทั้งหลายที่ปรากฏกับเรามีความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ความป่วยไข้ไม่สบาย ความแก่ ความกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจ แล้วความตาย ความทุกขเวทนาจึงพึงมี ก็เพราะอาศัยเราติดรูป จากนั้นรูปเราไม่ต้องการ เราต้องการสภาพของสภาวะจิตให้มันว่างเหมือนกับอากาศ ไม่ต้องการอะไรทั้งหมด ขึ้นชื่อว่าขันธ์ 5 คือ รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรทอ ขันธ์ร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ 4 ต่อไปนี้จะไม่มีสำหรับเรา
    อารมณ์ก็จับภาพอากาศที่เวิ้งว้างว่างเปล่าหาที่สุดไม่ได้ ไอ้รูปกายก็คิดว่ารูปกายของเราอย่างนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังต้องการในมัน มันก็เกิดอย่างนี้ ทุกข์อย่างนี้หาที่สุดไม่ได้ แต่ความจริงมันเลียบเคียงเข้าไปหาวิปัสสนาญาณ จนกระทั่งมีใจเบิกบานมีอารมณ์ทรงอยู่ในฌาน 4 เห็นสภาพ นึกถึงภาพเมื่อไร คิดนึกถึงคน นึกถึงกาย นึกถึงเขา นึกถึงวัตถุ บ้านเรือนสิ่งก่อสร้างทั้งหมด เห็นว่าโลกนี้มันไม่มีอะไร มันมีสภาพว่าง ไม่ช้าก็พัง เราไม่ต้องการมันอีก ผมว่านี่ผมพูดมันควบวิปัสสนานะครับ ถ้าได้คิดจริง ๆ อย่างนี้จะเป็นสมาบัติ 8 เฉย ๆ จะดันเป็นอรหันต์ไปด้วยเอ้าเป็นก็เป็นไป
    เมื่อพูดอย่างเดียวมันจะไปดีอะไรน้อ สมถะกับวิปัสสนาควบกันมาต้องควบกัน จะทำอย่างเดียวก็โง่เต็มที จะยอมเสียเปรียบก็ เวลานี้เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระชินศรี เรายอมจะให้เวลานาทีทองของเราเลื่อนลอยไปไม่ได้ เมื่อจิตใจเราไม่ติดอยู่ในภาพ ติดใจในอากาศ แล้วเอาภาพในอากาศมาเทียบกับกายว่า ไม่ช้ากายของคนและสัตว์มันก็ตาย มันก็มีสภาพว่างเปล่าเหมือนอากาศ ในเมื่อจิตทรงตัว นึกถึงขึ้นมาทีไร จิตว่างสบายก็มีอาการโล่ง ไม่ผูกพันในร่างกาย จิตใจเป็นสุขทรงฌาน 4 ได้เป็นปกติอย่างนี้เรียกว่า อากาสานัญจายตนะ เป็นอรูปฌาน 1
    ความจริงนะจับภาพพระพุทธรูปถึงฌาน 4 น่ะเรียกว่า สมาบัติ 4 ในอรูปฌานตั้งแต่ อากาสานัญจายตนะ ถ้ามีอารมณ์คล่องดีแล้ว เราก็ไปจับวิญญาณความรู้สึกว่า ไอ้ความรู้สึกนึกคิดที่เกาะกับขันธ์ 5 นี่มันเป็นโทษเป็นทุกข์ เราไม่เอาความรู้สึก ความคิด ความอ่าน แบบนี้มันไม่มีอะไรดี มันสร้างแต่ความเร่าร้อนอยู่เสมอ ถ้านึกดีมันก็เป็นสุข นึกไม่ดีมันก็เป็นทุกข์ ได้อาการนึกดีที่เราเห็นว่าเป็นสุขนี่มันไม่เป็นสุขจริง ๆ นึกรักหญิงสักคน ชายสักคน พอเรานึกรักขึ้นมา อารมณ์มันเริ่มเป็นสุข แต่ทันทีทันใดมันก็เริ่มเป็นทุกข์ คิดว่าเขาจะมารักเราหรือเปล่าหนอ ทำยังไงเขาจึงจะรักเรา เอาเข้ามาแล้วนี่มันทุกข์แล้วเกิดอารมณ์ทุกข์
    พอเกิดมีอารมณ์รักกันขึ้นมาแล้ว มันเริ่มระแวง สงสัยว่าคนรักของเรานี้เขาจะรักเราจริง ๆ หรือ ไม่จริง เอาละสมมุติว่ารักจริง รักจริงต่างคนต่างเริ่มเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร เพราะว่าเกรงว่าจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน บิดามารดาเขาจะห้ำหั่นแตกแยก คือไม่ยกยอปอปั้นให้ เอาละซิยุ่งอีกแล้ว พอเขาให้กันมาแล้ว มาอยู่ร่วมกันก็เริ่มทุกข์ต่อไป ในการทำมาหากินความเป็นอยู่ ต้องประคับประคองใจซึ่งกันและกัน
    ในที่สุดถ้ามีลูกมีเต้า มันก็เปิดกันใหม่ เตลิดเปิดเปิงมีทุกข์หาที่สุดไม่ได้ เป็นอันว่าความรู้สึกนึกคิดนี่มันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการมีความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดจะมีมาได้ ก็เพราะอาศัยจิตเกาะกาย เป็นอันนับตั้งแต่บัดนี้ต่อไป เราไม่ต้องการจะเกาะกายอีกต่อไปแล้ว ไม่ต้องการความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ทำอารมณ์ให้เป็นอุเบกขารมณ์ อารมณ์จิตเข้าถึงฌาน 4 มันก็เป็นของง่าย มันไม่ใช่ยาก ในที่สุดจิตก็ปล่อยสภาวะอากาศ จับสภาวะวิญญาณ
    พอวิญญาณัญจายตนะฌาน วิญญาณคือสภาพที่ล่องลอยแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่ต้องการมันอีก ไอ้ตัวนึกนี่มันเป็นทุกข์ คุณอย่าลืมนะถ้าเล่นแบบนี้มันเป็นอรหันต์นา ผมบวกทั้งสมถะและวิปัสสนา ผมพูดเดี่ยว ๆ ไม่เป็น ถ้าพูดเป็นผมก็ไม่พูด จะต้องทำงานอย่างเดียวมันควรจะควบกันได้ไปทำงานสองคราว มันประโยชน์อะไร พอเล่น วิญญาณัญจายตนะฌาน สบาย ๆ มีอารมณ์จิตเป็นสุขนึกขึ้นมาเมื่อไรวิญญาณมันไม่เป็นเรื่อง การมีขันธ์ 5 ไม่เป็นเรื่อง เปลืองความเป็นอยู่ สู้ปฏิบัติตามแนวขององค์สมเด็จพระบรมครู ไม่มีขันธ์ 5 วิญญาณมันก็ไม่มี ถ้ามีขันธ์ 5 มันก็มีวิญญาณ อย่าลืมนาตัวนี้เป็นอารมณ์พระอรหันต์
    ต่อมาเมื่อเล่นวิญญาณเพลิน ๆ มีจิตเป็นสุข อารมณ์มันแจ่มใสเยือกเย็นดีกว่า อากาสานัญจายตนะ ต่อไปก็มาคิดอีกทีหนึ่ง มันไม่มีอะไรเหลือ โลกนี้มีอะไรแน่นอนทรงตัวแน่นอนบ้าง ที่เกิดตั้งมาแล้วมันไม่เสื่อม มันไม่พังมีไหม ไม่มี ต้นไม้ใหญ่ ๆ ก็ลืม ตึกใหญ่ ๆ ก็พัง เมื่อสมัยก่อนเขาสร้างอาคารบ้านเรือนด้วยศิลาแลง มันก็พัง ไม่มีอะไรเหลือ คนที่มีประวัติที่มีความสำคัญในอดีตกาลหาตัวหาตนไม่ได้ ชื่อเสียงที่ลืมไปแล้วมากกว่าหลายแสนเท่า แล้วบ้านเรือนที่เขาบอกว่าใหญ่โตมโหฬารสมัยใดสมัยหนึ่ง เวลานี้เดินไปก็ไม่มี
    เป็นอันว่าชีวิตอินทรีย์ของคนทั้งหมด มันก็สลายหมด มันเป็นอันว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ ในเมื่อมันไม่มีอะไรเหลือเราจะเกาะอะไร เกาะร่างกาย ร่างกายมันก็พัง เกาะคนรักคนรักก็พัง เกาะทรัพย์สิน ทรัพย์สินก็พัง เกาะเกียรติยศศักดิ์ศรี เกียรติยศศักดิ์ศรีก็พัง เกาะอะไรไม่เกาะเลย ไม่ต้องการอะไรมันเลย ในโลกนี้ร่างกายเราร่างกายเขา วัตถุธาตุทั้งหมดโยนทิ้งไปจากใจ ต้องการอย่างเดียว ใจว่างสบายไม่มีที่ยึด ทรงได้อย่างนี้เรียกว่า อากิญจัญญายตนะ
    ตอนนี้ได้ อากิญจัญญายตนะ แล้ว เราก็มาตั้งต้นเป็นต้นไม้ทำตนเป็นตอไม้จุดสำคัญในเมื่อเราไม่ต้องการ ไม่ต้องการร่างกาย ไม่ต้องการอารมณ์ ไม่ต้องการความรู้สึกนึกคิด ไม่ต้องการอะไรทั้งหมด เราก็มากำหนดจิตให้ทรงอยู่ใน เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทำความรู้สึกว่ามีคน ไอ้คำว่าสัญญานี่นะแปลว่า ความจำ เมื่อมีความจำได้ว่านั่นเพื่อน นั่นพี่ นั่นน้อง นั่นพ่อ นั่นแม่ นี่ทรัพย์สินของกู นั่นพี่น้องของกู บ้านของกู เรือนของกู โยนทิ้งไปให้หมด มีสัญญาคือมีความจำ ทำเหมือนว่าไม่มีความจำ จำอะไร จำร่างกาย จำสุข จำทุกข์ จำไม่เอาทั้งนั้น นายจะมายังไงก็ช่างนาย แต่ว่า ไม่ใช่คนใจร้ายไม่พูดกับใครนะ คือ มีอารมณ์ไม่ติด ไม่ติดอะไรเป็นเราเป็นของเราทั้งหมด ร่างกายของเราก็ไม่เอา ร่างกายของคนอื่นก็ไม่เอา วัตถุธาตุต่าง ๆก็ไม่เอา เป็นอันว่าทำใจมีอารมณ์ว่างทุกอย่าง ความหนาวมันจะมายังไงก็ช่างมัน ร้อนจะมายังไงก็ช่างมัน มันจะป่วยไข้ไม่สบายก็ช่างมัน รักษาหายก็หาย ไม่หายจะตายแลก็ช่างมัน ไม่มีความสำคัญ ตายเมื่อไรมีความสุขเมื่อนั้น ไม่รบไม่กวนใครทั้งหมด
    จิตได้อย่างนี้เมื่อไรเรียกว่าได้ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นผู้ทรงสมาบัติ 8 อภิญญาก็ไม่ต้องพูดกัน แต่ว่าอภิญญา 8 นี่ ท่านสราทดาบส ท่านทำนะท่านก็ทำเฉพาะจุด แต่หากว่าท่านทั้งหลายทำตามที่ผมพูด ไม่ใช่สมาบัติ 8 ธรรมดา กลายเป็น อรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณไป"

    อุปจารสมาธิที่แก่กล้าจริงๆ คือปรากฏเป็นแสงสว่างจ้า และในที่สุดก็ใสแจ๋ว จะขยายให้เล็กหรือใหญ่ก็ได้ จะกำหนดให้เป็นรูปหยาบหรือละเอียดได้ตามกำลังของอุปจารสมาธิ(ความพิศดารเกิดขึ้นได้มากมายก็อยู่ในช่วงอุปจารสมาธินี้แหละครับ) แต่จิตมีความศรัทธามากนำหน้าสามาธิจึงหยุดอยู่ระดับนั้น จะไม่ลงสู่อัปปนาสมาธิ (การศรัทธาที่มากมายนำหน้าก็ทำให้สมาธิระดับฌานเกิดขึ้นไม่ได้) แต่จิตนั้นจะแนบแน่นเป็นหนึ่งเฉียดฌาน ไม่ไปรับรู้ทางร่างกาย จึงไม่รู้สึกที่รางกายแม้แต่ลมหายใจ ทั้งที่ยังหายใจอยู่ (ผู้ที่ผ่าน ฌาน สูงๆ ไปแล้ว จะสังเกตุเห็นตรงนี้ได้ดี เมื่อกลับมาทรงอยู่ในองค์ฌาน หรือ อุปจารสมาธิ ในนี้เป็นความเห็นส่วนตัว)
    ยกเว้นเมื่อเปลี่ยนกรรมฐาน เอากสินแสงสว่าง(หรือกสินอื่น)เป็นบาทแทนจึงสามารถจะทำสมาธิให้สูงขึ้นได้ ถึงอัปปนาสมาธิ

    คัดลอกจากพระโอวาท (โดย หลวงพ่อ.................)
    หากมีประโยชน์ ขอมอบความดีให้กับท่านเจ้าของพระโอวาท
    หากมีโทษ ข้าพเจ้าขอรับแต่เพียงผู้เดียว
    ที่ทำเพราะหวังเป็นธรรมทานเพียงเท่านั้น
    ขออโหสิกรรมจากทุกท่านด้วยนะครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...