การเพิ่มคุณภาพจิตโดยการแผ่เมตตา

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย pump - อภิเตโช, 4 พฤษภาคม 2011.

  1. pump - อภิเตโช

    pump - อภิเตโช เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    1,202
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +6,803
    การเพิ่มคุณภาพจิตโดยการแผ่เมตตา
    โดย หลวงปู่ทิวา ศิษย์หลวงปู่หลุยส์ สายพระอาจารย์มั่น
    ---------------------------------
    จิตที่มีคุณภาพสูงเป็นจิตที่มีความสุขมากกว่าปกติเป็นจิตที่ประกอบไปด้วยกุศล ไม่คิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ปรารถนาความสุขให้แก่ตนเองและผู้อื่น ตรงกันข้ามกับจิตที่มีคุณภาพต่ำ เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยอกุศลเป็นส่วนมาก ทำตนเองให้เป็นทุกข์ แล้วก็แผ่กระจายความทุกข์นั้นไปให้ผู้อื่น ทั้งที่โดยเจตนาและไม่เจตนาก็ตาม
    พระอริยเจ้าทุกพระองค์ นับตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จิตของท่านมีคุณภาพสูงกว่าจิตของปุถุชน เพราะท่านมีความเมตตาเป็นวิหารธรรม คือ เป็นเครื่องอยู่ ฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้มีความสุขมากกว่าปุถุชนธรรมดา พวกเราถึงแม้ว่ายังเป็นปุถุชนอยู่ แต่ถ้าเจริญเมตตาพรหมวิหารเป็นประจำ เราก็จะเป็นผู้ที่มีความสุขมากกว่าปกติ ต่างกันแต่ว่าพระอริยเจ้าท่านมีเมตตาเป็นอัตโนมัติเกิดขึ้นเป็นประจำไม่มีการเสื่อม สำหรับปุถุชนต้องพยายามทำให้เกิดขึ้นทำให้มีขึ้นและต้องพยายามรักษาไว้ไม่ให้เสื่อมด้วย
    เมตตาพรหมวิหารนี้ ถ้าเกิดขึ้นแล้ว ความเป็นผู้มีศีล คือไม่คิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น คิดปรารถนาความสุขให้แก่ตนเองและผู้อื่นก็เกิดขึ้นด้วย อยู่ที่ใดไปที่ใดก็มีแต่ความเยือกเย็นเป็นสุข
    เมตตาพรหมวิหารนี้ ถ้าทำให้มากเจริญให้มาก ย่อมแก้กรรมได้ กรรมที่ทำแล้วถ้าหนักก็อาจจะเบาบางลงได้ ถ้ากรรมนั้นพอประมาณก็อาจจะจางหายไปได้ ผู้ที่จะบำเพ็ญความดีจนบรรลุถึงความเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จำเป็นต้องสร้างบารมี คือ ทำคุณสมบัติ ๑๐ ประการให้เกิดขึ้นให้มีขึ้นกับตนเองก่อน คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา
    เมตตาเป็นบารมีอันหนึ่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องสร้างให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้นกับตน การเจริญเมตตาพรหมวิหาร ทำให้เมตตาบารมีของเราเพิ่มขึ้น...... เพิ่มขึ้น
    เมตตาพรหมวิหารแก้ Side Effect คือ ผลเสียบางอย่างของการภาวนาได้ การทำสมาธิภาวนาในระบบใดก็ตาม จะใช้อะไรเป็นกรรมฐานก็ตาม จะมีอยู่อีกจุดหนึ่งที่จิตของเราสงบ ต้องการความสงบและอยากอยู่ในที่สงบ แต่สิ่งแวดล้อมก็เป็นไปตามปกติของเขา เช่น เราอยู่ในบ้าน แต่ก่อนเรายังไม่ภาวนา คนในครอบครัวทำเสียงดัง เราก็รู้สึกเป็นของธรรมดา แต่เมื่อเราภาวนา ถึงจุดที่มีความสงบ ต้องการความสงบ และอยากอยู่ในที่สงบแล้ว บางครั้งเราอาจจะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญเสียง แล้วไปโทษสิ่งแวดล้อมว่าทำให้เกิดความไม่สงบ แต่ถ้าเราเจริญเมตตาพรหมวิหารแล้ว เราจะไม่ไปโทษสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่จะรู้สึกเมตตาทุกคนเสมอกันหมด และสามารถปรับความรู้สึกของเราให้เป็นปกติได้ ไม่ยากนัก เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก สังคมที่ขาดเมตตา คือ สังคมของสัตว์ป่า สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก สัตว์ที่แข็งแรงเบียดเบียนสัตว์ที่อ่อนแอ มีแต่ความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา ตัวเรา ครอบครัวและในสังคมส่วนย่อย ถ้าปราศจากเมตตาไปแล้วก็จะเดือดร้อน เป็นทุกข์หวาดระแวง เช่นเดียวกันถ้ามนุษย์เราขาดเมตตา สังคมมนุษย์ต้องแย่ยิ่งกว่าสังคมของสัตว์เสียอีก เพราะมนุษย์ทุกวันนี้มีอำนาจในทางวัตถุมาก ถ้าเอาอำนาจนี้มาใช้ในทางเบียดเบียนกัน ทำลายกันโลกก็คงอยู่ไม่ได้แน่ ที่โลกยังอยู่ได้เพราะมนุษย์เรายังมีเมตตาต่อกัน แม้จะอยู่ในวงจำกัดก็ตาม
    ถ้ามนุษย์เรามีเมตตาแผ่กว้างไปมากเท่าไร โลกก็จะน่าอยู่มากขึ้น สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมตตาจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ค้ำจุนโลกให้คงอยู่ได้ ฉะนั้นโบราณจารย์ท่านจึงให้แผ่เมตตาทุกค่ำเช้า หลังจากไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้ว

    อานิสงส์ของการเจริญเมตตามีดังนี้
    ๑. ตื่นก็เป็นสุข
    ๒. หลับก็เป็นสุข
    ๓. ไม่ฝันร้าย
    ๔. เป็นที่รักของมนุษย์
    ๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ อมนุษย์นี่หมายถึง เทวดา ผี และสัตว์ทั้งหลายด้วย
    ๖. เทวดารักษา ผู้ใดที่เทวดารักษา ผู้นั้นเจริญรุ่งเรืองไม่ตกต่ำ
    ๗. ไม่เป็นอันตรายด้วยไฟ ยาพิษ และศาสตรา
    ๘. จิตจะเป็นสมาธิอย่างรวดเร็ว ถ้าเราแผ่เมตตาแล้วทำสมาธิต่อ จิตจะเป็นสมาธิเร็วกว่าปกติ
    ๙. สีหน้าจะผ่องใส ดีกว่า Make up ด้วยเครื่องสำอาง
    ๑๐. ก่อนจะตายจะมีสติไม่หลงตาย การหลงตายคือ เพ้อ หรือโกรธ จิตเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ทุกข์คติ จึงเป็นไปในเบื้องหน้า
    ๑๑. เมื่อไม่บรรลุนิพพาน ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก

    ต่อไปนี้เป็นแบบฝึกการทำสมาธิภาวนา เมตตาพรหมวิหาร
    นั่งขัดสมาธิ หลับตา นึกคิดตามคำพูดของอาตมา......... ก่อนอื่น...... เราจะต้องแผ่เมตตาให้กับตนเองซะก่อน คิดในใจให้ซึ้งในใจเลยทีเดียว......
    ขอข้าพเจ้าจงอย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ ขอข้าพเจ้าจงมีความสุขเป็นการปรารถนาความสุขให้กับตนเอง ทุกคน....ถึงแม้ว่าจะมีความทุกข์มากที่สุดเท่าใดก็ตาม ก็ย่อมมีความปรารถนาจะให้ตัวเองมีความสุข ความปรารถนาความสุขอันนั้น ทำให้เกิดขึ้นให้มีขึ้น ในจิตในใจของเรา ขอข้าพเจ้าจงอย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ ขอข้าพเจ้าจงมีความสุข......
    อันดับต่อไป แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย คิดในใจให้ซึ้งอีกเหมือนกัน ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงอย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข การแผ่เมตตาคือการปรารถนาความสุขให้กับตนเองและผู้อื่นเท่าเทียมกันเสมอกัน นี่เป็นหัวใจเป็นหลักสำคัญของการแผ่เมตตา
    ......อันดับต่อไป ทำความสม่ำเสมอในบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งตัวเราเองด้วย โดยการคิดถึงบุคคล ๔ คน คือ
    ๑. ตัวเราเอง ๒. คนที่เรารัก
    ๓. คนที่ไม่รักไม่ชังคนทั่ว ๆ ไป ๔. คนที่เราไม่ชอบ คนที่เราเกลียด
    แผ่เมตตา คือ ปรารถนาความสุขให้บุคคลทั้ง ๔ คนนี้ เท่าเทียมกัน เสมอกัน ข้อนี้ทำได้ยากซักหน่อย แต่ถ้าหากว่าเราทำแผ่เมตตาเป็นประจำทุกวัน ๆ เราจะหาคนที่เกลียดไม่พบ ทุกคนจะเสมือนเป็นมิตรสหาย เป็นญาติ เป็นพี่น้อง หรือเป็นลูก เป็นหลาน มีความปรารถนาดี เท่าเทียมกันเสมอกัน แสดงว่า การแผ่เมตตาของเราได้รับผลดี
    ......คิดถึงบุคคล ๔ คน ๑. ตัวเราเอง ๒. คนที่เรารัก ๓. คนที่ไม่รักไม่ชัง ๔. คนที่เราไม่ชอบ คนที่เราเกลียด แผ่เมตตาคือ ปรารถนาความสุขให้บุคคลทั้ง ๔ คนนี้ เท่าเทียมกันเสมอกัน.......
    อันดับต่อไป แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วจักรวาล แผ่เมตตาคือ ปรารถนาความสุขไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วจักรวาล นับตั้งแต่พรหม ลงมาเทวดา มนุษย์ เปรต เปรตนี่มีความหิวโหย อสุรกาย อสุรกายนี่ มีกาย วิกลวิกาล มีความทุกข์ทรมานทางกายดิรัจฉาน สัตว์นรก ขอให้มีความสุข
    อันดับต่อไป แผ่เมตตาไปยังทิศต่าง ๆ แผ่เมตตาคือปรารถนาความสุข ไปยังทิศข้างหน้า ตรงหน้าเราเลยทีเดียว ทิศหลัง ข้างหลังของเรา ทิศขวา-ขวามือ ทิศซ้าย-ซ้ายมือ เฉียงข้างหน้าทางขวา ครึ่งหนึ่งระหว่างทิศข้างหน้ากับทางขวา เฉียงข้างหน้าทางซ้าย เฉียงข้างหลังทางขวา เฉียงข้างหลังทางซ้าย ทิศบน บนหัว ทิศล่าง ดิ่งลงไปที่เรานั่ง สมมุติว่าตัวเรานี่คล้าย ๆ หลอดไฟฟ้า แผ่รัศมี ไม่ใช่แสงสว่าง แต่เป็นรัศมีแห่งความสุข ด้วยการปรารถนาความสุขแผ่ไปรอบตัวเรา
    สรุป ขอข้าพเจ้าจงมีความสุข ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข นึกแผ่ความสุขนี้ออกไปรอบตัวเราไม่มีขอบเขตของความสุข เป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความสุข แล้วเราก็อยู่ในบรรยากาศนั้น นี่คืออารมณ์ของเมตตาพรหมวิหาร พยายามรักษาอารมณ์นี้ไว้ให้ได้ซักพักหนึ่ง โดยการคิดซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ขอข้าพเจ้าจงมีความสุข ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข แล้วก็นึกแผ่ความสุขนี้ออกไปรอบตัวเราไม่มีขอบเขตแห่งความสุข.



    การรักษาคุณภาพจิต โดยการทำสมาธิภาวนา

    ขออำนวยพรญาติโยมทุกคน เรื่องที่จะพูดต่อไปนี้คือ การรักษาคุณภาพจิต โดยวิธีทำสมาธิภาวนา มนุษย์ทุกคนรวมทั้งตัวเราเอง ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ ทุกวันนี้คนส่วนมากจะเอาใจใส่เฉพาะการระวังรักษากาย มีวิธีการออกกำลังกายหลายแบบ เช่น การเดิน การวิ่ง รำมวยจีน โยคะ การบริหาร และ Aerobic dance เป็นต้น
    ในกรุงเทพฯ ยามเช้า ตามสวนสาธารณะบางแห่ง เราจะเห็นคนออกกำลังกายกันมาก บางคนพิสดารไปกว่านั้น เมื่อออกกำลังกายแล้ว ก็บำรุงด้วยอาหารแปลก ๆ ซึ่งอ้างว่าทำให้มีสุขภาพดีอายุยืน รวมความว่าพวกเราส่วนมาก เป็นห่วงกังวลอยู่กับการบำรุงรักษาร่างกายเท่านั้น แต่ลืมเรื่องจะระวังรักษาจิตใจ และลืมด้วยว่าคนเรานั้นมีจิตใจ และจิตใจนั้นต้องการการระวังรักษาให้ถูกต้องด้วยเหมือนกัน
    คนที่มีสุขภาพจิตเสียนั้นสังเกตได้ไม่ยาก ตื่นเช้าขึ้นมาจะรู้สึกใจคอหงุดหงิด บางครั้งก็โกรธโดยไม่มีเหตุผล เห็นหน้าคนในครอบครัวซึ่งเป็นที่รักกลับโกรธ บางคนเป็นเอามาก เห็นอะไรขวางหน้าเป็นไม่พอใจทั้งนั้น แม้แต่เห็นนกบินในอากาศก็ยังโกรธ คนที่มีสุขภาพจิตเสียเหล่านี้ เป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย เรียกว่า เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่ค่อยมีเหตุมีผล ไม่ค่อยยอมรับความเป็นจริงในชีวิต คนที่มีสุขภาพจิตเสีย นอกจากตัวของตัวเองจะมีความรู้สึกไม่สบายแล้ว ส่วนมากจะทำให้ผู้อยู่ใกล้เคียงเดือดร้อนตามไปด้วย เราจะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ผิดปกติของพวกที่มีสุขภาพจิตเสียมากมาย คนเหล่านี้เราจะพบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน ลูกน้องหรือญาติพี่น้องของเราก็ได้ แม้แต่ตัวของเราเอง ถ้าปล่อยปละละเลย ไม่ระวังรักษาสุขภาพจิต บางครั้งอยู่ในเหตุการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีเป็นเวลานานสุขภาพจิตก็เสียได้
    สังคมทุกวันนี้พัฒนาในทางวัตถุอย่างรวดเร็วมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความต้องการในด้านวัตถุมีมากขึ้น การแข่งขันในชีวิตประจำวันรุนแรงขึ้น ความเครียดของจิตมีมากขึ้น ฉะนั้น สุขภาพจิตของคนทุกวันนี้จึงเสื่อมทรามลงเป็นอันมาก และอาการวิกฤตทางจิตนี้ สามารถติดต่อหรือส่งผลกระทบไปยังบุคคลที่อยู่ข้างเคียงอย่างง่ายดาย
    มีโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกายหลายอย่าง ที่มีสาเหตุมาจากอาการทางจิตที่ไม่ปกติ ซึ่งทางแพทย์เรียกว่า Psychosomatic disease เช่น ปวดหัว โรคกระเพาะ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคประสาท เป็นต้น ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นสำหรับทุกคนที่จะต้องระวังรักษาสุขภาพจิตของตนให้ดี
    การทำสมาธิภาวนา เป็นวิธีการรักษาสุขภาพจิตได้อย่างดี การทำสมาธิมีหลายแบบหลายวิธี แต่ละวิธีมีวัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน บางวิธีเหมาะสำหรับพักจิตเท่านั้น บางวิธีเหมาะสำหรับให้เกิดอิทธิฤทธิ์ แต่ละแบบล้วนแต่มีผลข้างเคียง คือ Side effect ที่เป็นอันตรายหลายอย่างที่มีการทำสมาธิ ที่ใช้คำบริกรรมอย่างเดียว สมาธิอย่างนี้เหมาะสำหรับพักจิตอย่างเดียว ทำง่ายและในขณะที่ทำ จิตจะมีความสบาย แต่ถ้าทำมากเกินไปจะมี Side effect เช่น การพักผ่อนนอนหลับเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายก็จริงอยู่ แต่ถ้าเราเอาแต่พักผ่อนนอนหลับอยู่ตลอดเวลา หรือมากเกินกว่าปกติ ร่งกายของเราจะอ่อนแอลง ระบบการต่อต้านภัยของร่างกาย คือ Immune system จะอ่อนแอลงไป โรคภัยไข้เจ็บจะทำอันตรายต่อเราได้ง่าย จิตใจของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเอาแต่พักจิตมากเกินไป เราจะรู้สึกสบายในเวลาทำสมาธิ แต่เมื่อเราออกไปอยู่กับโลก เราจะรู้สึกไม่สบาย หงุดหงิดผิดปกติ ที่เป็นเช่นนี้เปรียบเหมือนเราอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นประจำจนเคยชิน เมื่อเราอยู่ในห้องจะรู้สึกสบาย แต่เมื่อเราออกจากห้อง เราจะรู้สึกไม่สบาย แล้วก็จะเจ็บไข้ได้ป่วยง่ายกว่าปกติ เพราะอากาศข้างนอกเป็นอากาศธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งก็ร้อนจัด หนาวจัด มีลม มีฝน มีแดด มีฝุ่น เป็นธรรมดา แต่ร่างกายของเราไม่เคยชิน จึงไม่สบายหรือเจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย
    เรื่องราวในชีวิตประจำวันหรือเรื่องของโลกก็เช่นเดียวกัน โดยปกติตามธรรมชาติก็เต็มไปด้วยกิเลส โลภ โกรธ หลง มีอารมณ์ภายนอกที่พอใจบ้างไม่พอใจบ้างมากระทบจิตของเราตลอดเวลา แต่ถ้าสุขภาพจิตของเราดี ระบบการควบคุมจิตของเราดีแล้ว เราก็สามารถทนได้ เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าสุขภาพจิตของเราไม่ดี เราจะไปโทษโลก โทษสังคม หรือไปโทษผู้อื่นว่าไม่ดีอย่างโน้นว่าไม่ดีอย่างนี้เป็นต้นเหตุ ทำให้เราไม่สบาย ถ้าอาการนี้มีมากจะหงุดหงิด ผิดปกติ แล้วหลบตัวจากสังคมประฌามสังคมว่ามีแต่คนเลว
    ฤาษีจะต้องปลีกตัวออกจากสังคมไปอยู่ในที่โดดเดี่ยว แต่พระภิกษุในพุทธศาสนาต้องอยู่กับสังคม ต้องขอปัจจัย ๔ มีอาหาร เป็นต้น จากสังคม
    การภาวนาแบบฟังเทป ใช้เสียงเป็นเครื่องเกาะของจิต ก็อยู่ในประเภทพักจิตเหมือนกัน ทำน้อย ๆ ไม่เป็นไร ถ้าทำมากเกินไปวันละหลาย ๆ ชั่วโมง จะเกิดอาการเช่นนี้เหมือนกัน ยกเว้นการฟังเทศน์แบบพิจารณาเนื้อความ เป็นปัญญา
    ส่วนการทำสมาธิภาวนาบางระบบ ที่ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์นั้น Side effect มีมาก ทำให้เกิดการหลงผิด วิปลาส Perversion ได้ง่าย บางครั้งกลับมีกิเลสมากกว่าปกติ ก่อนที่เราจะปฏิบัติสมาธิภาวนา จะต้องมีจุดหมายที่แน่นอนก่อน แล้วจึงเลือกวิธีการภาวนาให้ถูกต้อง เหมาะสมกับวัตถุประสงค์นั้น มิฉะนั้นเราจะได้รับความลำบาก เกิดปัญหาต่าง ๆ มาก คล้ายกับว่าเราต้องการจะไปเชียงใหม่ แต่ขึ้นรถผิดไปสงขลา กว่าจะรู้ตัวแก้ไขได้ก็ลำบากมาก
    นักจิตวิทยาสมัยใหม่ ได้ทำการทดลองวิธีการภาวนาหลายวิธีทั้งของพุทธและของฮินดู ปรากฏว่าวิธีการที่ดีที่สุด ที่ทำให้สุขภาพจิตดี คือ การกำหนดลมหายใจ หรือ อานาปานสติ
    การทำสมาธิภาวนาโดยวิธีกำหนดลมหายใจ มีข้อดีคือ จิตจะได้พักพอสมควร และเป็นระบบที่ฝึกการควบคุมจิตได้เป็นอย่างดี จิตของเรานอกจากจะต้องการพักผ่อนแล้ว ยังต้องมีการฝึกให้อยู่ในควบคุมด้วย เพราะมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ ทั้งที่พอใจและไม่พอใจ เราก็สามารถจะควบคุมจิตของเราให้เป็นปกติได้
    ทำไมเราจึงต้องออกกำลังกาย เช่น วิ่งหรือเดิน ก็เพราะว่า เราต้องการให้ร่างกายของเรามีสุขภาพดี สามารถต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ดี ในขณะที่ออกกำลังกาย เช่น วิ่ง เราจะรู้สึกเหนื่อย บางครั้งเราต้องบังคับตัวเองให้วิ่งต่อไป แต่ผลที่ได้รับก็คือ เราจะมีร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี
    จิตใจก็เช่นเดียวกัน นอกจากการพักผ่อนแล้ว เราจะต้องฝึกการควบคุมตัวเองด้วย ในขณะที่เราต้องการควบคุมตัวเอง ขณะที่นั่งทำสมาธิภาวนา บางครั้งเราจะรู้สึกเหนื่อย แต่ผลที่ได้ คือ เราจะมีสุขภาพจิตดี สามารถจะเผชิญโลกต่อชีวิตประจำวันได้อย่างดี
    ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพจิตดี กล่าวโดยย่อ ๆ ก็คือ นับตั้งแต่ตื่นนอน เราจะรู้สึกว่ามีความสุข มองธรรมชาติและบุคคลโดยรอบในแง่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรค และช่วยเหลือผู้อื่น สามารถที่จะทำงานด้วยจิตที่มีสมรรถภาพสูง ข้อสำคัญเกี่ยวกับการทำสมาธิภาวนาก็คือ ต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเช้าเย็น ก่อนอาหาร ครั้งละประมาณ ๓๐ นาที หรืออย่างน้อยที่สุดวันละ ๓๐ นาที
    ถ้าหากนาน ๆ ทำครั้ง จะไม่ได้ผลตามต้องการ การทำสมาธิภาวนาโดยวิธีกำหนดลมหายใจนี้ เป็นระบบควบคุมจิต ทำมากก็ไม่เป็นอันตรายนอกจากบางครั้งจะเหนื่อยมากหน่อย

    ต่อไปนี้เป็นแบบฝึกหัดเบื้องต้นของการทำภาวนาแบบกำหนดลมหายใจ
    นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หลับตาตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น คือนึกถึงกายที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ ตั้งแต่เท้าจรดหัว หัวจรดเท้า นึกถึงขาก่อน ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นึกถึงกายท่อนล่างที่สัมผัสกับพื้น นึกเรื่อยขึ้นมาจนกระทั่งถึงท่ามกลางหน้าอก ถึงคอ ถึงหัว กลับลงไปจากหัวลงไปคอ ลงไปท่ามกลางหน้าอก ลงไปกายท่อนล่าง ถึงมือ มือขวาทับมือซ้าย ถึงขา ขาขวาทับขาซ้าย แล้วก็กลับไปกลับมา ภาษาบาลีท่านเรียกว่า เป็นอนุโลมปฏิโลม ทำเช่นนี้อยู่ประมาณ ๒-๓ นาที ทำความรู้สึกทางกายให้ชัด
    จากนั้นเราก็ตั้งต้นมาใหม่ นึกถึงขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย กายท่อนล้างที่สัมผัสกับพื้น นึกเรื่อยขึ้นมาจนกระทั่งถึงท่ามกลางหน้าอก ถึงคอ ถึงหัว ต่อไปก็นึกถึงบริเวณใบหน้า นึกถึงบริเวณปลายช่องจมูก สมมุติว่าลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกบริเวณปลายช่องจมูก หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ไม่ต้องตามลมหายใจออกเวลาเราหายใจออก ไม่ต้องตามลมหายใจเข้าเวลาเราหายใจเข้า เฝ้าดูเฉพาะปลายช่องจมูก ทำความรู้สึก ๓ อย่างให้ชัด
    ๑. บริเวณปลายช่องจมูกให้ชัด
    ๒. ลมหายใจเข้า – หายใจออก
    ๓. หายใจเข้าพุท – หายใจออกโธ
    ดูความปกติของจิต จิตที่เป็นปกติเวลานี้ คือจิตจะต้องอยู่ที่ลมหายใจ เข้าออกบริเวณปลายช่องจมูก เข้าพุท – ออกโธ ทำไปประมาณ ๑๕ นาที ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาที จิตที่ปกติจะต้องอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก บริเวณปลายช่องจมูก เข้าพุท ออกโธ ทีนี้ถ้ามันไม่ปกติ มันก็จะฟุ้งซ่านออกไปข้างนอก เราก็ดึงมันกลับมาให้อยู่ที่บริเวณปลายช่องจมูก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ อย่างเก่า ทีนี้ถ้ามันไปบ่อย ๆ ไปมากขึ้น เราก็ต้องใช้คำบริกรรมบังคับมันโดยใช้คำบริกรรมถี่ ๆ หายใจเข้าพุทโธ ๆ หายใจออกพุทโธ ๆ จนกระทั่งมันไม่มีช่องว่างที่จะออกไป จิตก็จะกลับเข้ามาเป็นปกติ เราก็หายใจเข้าพุธ หายใจออกโธเป็นปกติ ทีนี้บางครั้งจิตมันก็เคลิ้มหลับไป เมื่อเรารู้สึกตัวขึ้นมาเราก็หายใจลึก ๆ ยาว ๆ ซักพักหนึ่ง จนกระทั่งความรู้สึกเราชัดขึ้นมา เราก็หายใจเข้าเป็นปกติ หายใจออกเป็นปกติเวลานี้เราให้จิตมันทำงาน ถ้าจิตเป็นปกติมันก็ต้องอยู่กับงาน งานของเราคือ หายใจเข้า หายใจออก บริเวณปลายช่องจมูก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำไปจนกระทั่งหมดเวลา ข้อสำคัญคือ ต้องมีความรู้สึกในลมหายใจอยู่ตลอดเวลา อย่าให้ฟุ้งซ่าน อย่าให้เคลิ้มหลับ.
    -------------------------------
    ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน
    ผลบุญ
     

แชร์หน้านี้

Loading...