ขีดสุดพิบัติภัย “โขงใส” ไม่เคยเป็น

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 7 ธันวาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    0b989e0b8b3e0b982e0b882e0b887e0b8aae0b8b5e0b884e0b8a3e0b8b2e0b8a1-e0b89be0b8a3e0b8b2e0b881e0b88f.jpg
    ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – ปรากฏการณ์ “แม่น้ำโขง” ที่ไหลผ่านพื้นที่หลายจังหวัดในประเทศไทย “เปลี่ยนสี” จากโขงสีปูนขุ่นมัวเปลี่ยนเป็นสีครามน้ำใสจนเห็นผิวทรายใต้น้ำ สวยงามสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็น แท้ที่จริงแล้วคือ “หายนะ” คือ “สัญญาณอันตราย” ซึ่งบ่งชี้ว่าระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงกำลังถูกทำลายสิ้นเชิง

    นี่ไม่นับรวมถึงระดับของแม่น้ำโขงที่ “แห้งขอดขั้นวิกฤต” และว่ากันว่าหนักสุดในรอบ 100 ปี โดยระดับน้ำต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร ทำให้แก่งหินโผล่ขึ้นกลางแม่น้ำ เกิดหาดทราย สันดอนทรายกลางแม่น้ำโขงเป็นบริเวณกว้าง

    แน่นอนว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบมากมายต่อสิ่งมีชีวิตในลำน้ำนานาชาติสายใหญ่สายนี้

    ทั้งนี้ วิกฤตแม่น้ำโขงแห้งขอดโดยเฉพาะพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสาน จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี โดยเฉพาะเขตพื้นที่ อ.เชียงคาน อ.ปากชม ของจังหวัดเลย การลดลงของน้ำอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ป่าสองฝั่งโขงที่เป็นพืชธรรมชาติของสัตว์น้ำตายอย่างรวดเร็ว สัตว์น้ำเล็กและตัวอ่อนตายเกลื่อนเพราะไม่สามารถหนีได้ทัน ส่วนปลาใหญ่ที่หนีลงแหล่งน้ำใหญ่ก็ถูกชาวบ้านจับหมด กระทบผู้คนริมฝั่งแม่น้ำโขง ความมั่นคงทางอาหาร อาชีพดั้งเดิมของชุมชน รวมทั้ง จะกระทบต่อการทำการเกษตรโดยเฉพาะการทำนา นับเป็นจุดวิกฤตของระบบนิเวศน์

    สำหรับกรณีแม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีฟ้าคราม น้ำใสจนมองเห็นผิวทรายด้านล่าง ในเชิงวิชาการเป็นปรากฏการณ์ที่เรียก “Hungry Water Effect” หรือ “น้ำหิว” เป็นภัยพิบัติทางนิเวศครั้งร้ายแรงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากเขื่อนสำหรับผลิตกระแสไฟ ทั้งใน สปป.ลาว และอีกหลายต่อหลายเขื่อนในประเทศจีน ที่สร้างเหนือลุ่มแม่น้ำโขงแห่งนี้

    สำหรับปรากฏการณ์ “น้ำหิว” คือน้ำที่ถูกกักมาหลังเขื่อนและไหลช้าในฤดูนี้ ตะกอนจะตกอยู่ในอ่างเก็บน้ำท้ายเขื่อนหมด ที่นี้ น้ำที่ปล่อยออกมาจะเป็นน้ำใสไม่มีตะกอน น้ำพวกนี้หิวตะกอน ผ่านตลิ่งผ่านท้องน้ำตรงไหนก็ดึงเอาตลิ่งตรงนั้นออกมา เกิดการกัดเซาะตลิ่งและพื้นท้องน้ำมากกว่าปกติ

    นายจิรศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่าแม่น้ำโขงช่วงเขต อ.เชียงของ จ.เชียงราย เริ่มเปลี่ยนสี โดยมีลักษณะใสขึ้นอย่างผิดสังเกตตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ น้ำที่เปลี่ยนสีสอดคล้องกับระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ยกตัวสูงขึ้นเป็นระยะ แม้จะเข้าสู่ฤดูแล้งที่ระดับน้ำแม่น้ำโขงควรลดลง

    “จากสภาพการณ์ดังกล่าวชี้ชัดเจนว่าสภาพน้ำแม่น้ำโขงที่ใสผิดปกติ เป็นน้ำที่เพิ่งปล่อยออกมาจากเขื่อนในประเทศจีน เพื่อยกระดับน้ำในแม่น้ำโขง ให้เรือสินค้าจีนสามารถเดินเรือค้าขายในแม่น้ำโขงได้ในช่วงฤดูแล้ง” นายจิรศักดิ์ กล่าว

    ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า “สีของน้ำในแม่น้ำโขงที่เป็นสีครามเกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงใส ไร้ตะกอนในน้ำ และการใสไร้ตะกอน ผิวน้ำจึงเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนแสงของท้องฟ้ากลายเป็นสีคราม แต่หากลงไปดูดีๆ น้ำในแม่น้ำโขงใสมาก ทางวิชาการเรียกภาวะแบบนี้ว่า Hungry river แปลว่า ภาวะไร้ตะกอน แต่จะให้เข้าใจเลยก็คือเกิดภาวะสายน้ำที่หิวโหย

    “ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานับแต่แม่น้ำโขงเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตก แม่น้ำโขงจะได้รับฉายาจากผู้สื่อข่าว นักทำสารคดี นักเขียนว่า Mighty Mekong สายน้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์ สีของสายน้ำนี้จะเป็นสีปูน เพราะมีตะกอนที่เกิดจากการกษัยการ (หรือการพังทลาย) ของหินและดินหอบมากับสายน้ำ ตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำโขง เมื่อน้ำโขงไหลไปตามสายน้ำ และมีแม่น้ำสาขาไหลลงมาบรรจบก็จะทำให้เกิดแม่น้ำสองสีในแทบทุกที่ เช่น ที่ปากมูลก็เกิดแม่น้ำสองสี โขงสีปูน มูลสีครามคือน้ำสาขาจะมีสีคราม แต่น้ำโขงมีสีปูน อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้แม่น้ำโขงไม่ได้เป็น Mighty Mekong อีกแล้ว กลายเป็น Hungry Mekong”

    ดร.ไชยณรงค์ สะท้อนข้อเท็จจริงว่ามีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าเหนือ “เขื่อนไซยะบุรี” มีน้ำเต็มและนิ่ง ขณะที่ท้ายเขื่อนน้ำแห้ง หลายแห่งที่เคยมีน้ำมองดูราวกับทะเลทรายเหลือแต่น้ำในร่องน้ำลึกที่ยังไหล ถ้าน้ำโขงกว้างก็จะไหลเอื่อย หากแคบมีแก่งน้ำก็พอยังจะเชี่ยว แต่ไม่ได้ไหลแรงตามธรรมชาติ โดยเขื่อนจะปล่อยน้ำในช่วงผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเรียกง่ายๆ ว่าตอนนี้เขื่อนได้ควบคุมน้ำโขงไว้ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “น้ำโขงถูกล่ามโซ่”

    “เมื่อน้ำโขงถูกควบคุม น้ำเหนือเขื่อนที่ลึกและนิ่ง ทำให้ตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำเหนือเขื่อนและอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน การปล่อยน้ำผ่านเทอร์ไบน์ต้องมีระดับน้ำที่ต่างกัน ซึ่งเรียกว่า head เขื่อนไหนๆ ก็มี เขื่อนไซยะบุรีที่เรียกว่าเขื่อนน้ำไหลผ่าน (run-off river dam) ก็ต้องมี head และ head ที่นี่ก็หลายสิบเมตร น้ำที่ไหลผ่านเทอร์ไบน์ลงท้ายเขื่อนจึงเป็นน้ำที่ไม่มีตะกอน

    กรณีแม่น้ำโขง นอกจากตะกอนทับถมเหนือเขื่อนแล้ว ทางท้ายเขื่อน เมื่อน้ำไม่ไหลเชี่ยวเหมือนเดิมนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา บริเวณที่เป็นหาดทราย แก่งหิน และป่าน้ำท่วม (ป่าไคร้) เช่น ที่พันโขดแสนไคร้ น้ำที่เคยไหลเอื่อยก็แทบไม่ไหล และบ่อยครั้งที่น้ำลดจนแห้งราวขอด บริเวณที่น้ำไหลเอื่อยๆ ตามธรรมชาตินี่แหละที่ทำให้หาดทราย ป่าไคร้ เป็นบ้านของสัตว์น้ำเล็กๆ ทั้งหอย ปู ปลา กุ้ง ที่อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำที่ไหลมาจากข้างบน

    การที่น้ำโขงแห้งเพราะถูกล่ามโซ่ นอกจากทำให้ต้นไม้ตายเพราะไม่จมอยู่ใต้น้ำตามวัฏจักรแล้ว สัตว์น้ำจำนวนมากก็ตายด้วย และยังทำให้ตะกอนที่พอจะเหลือจากที่ถูกกักไว้เหนือเขื่อนเกิดการตะกอนอีกครั้ง ป่าไคร้ที่พันโขดแสนไคร้จึงมีตะกอนทับถมสูง บางจุดตะกอนทับถมเหลือแต่ปลายต้นไคร้ บางจุดสูงมากกว่า 2 เมตรเมื่อตะกอนถูกกักไว้เหนือเขื่อนและยังตกตะกอนบริเวณที่เคยเป็นหาดทรายและป่าน้ำท่วม ยิ่งไกลจากท้ายเขื่อนน้ำก็ยิ่งใสราวกระจก และเมื่อสะท้อนแสงจากท้องฟ้าก็ยิ่งกลายเป็นสีคราม แต่คือสัญญาณอันตรายของแม่น้ำสายนี้”

    อนึ่ง ความสำคัญของตะกอน คือธาตุอาหารที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของพืชน้ำ เมื่อสายน้ำโขงเกิดภาวะไร้ตะกอน ความอุมดสมบูรณ์ของพืชน้ำก็ลดตามลง แม่น้ำโขงบริเวณที่เคยมี ตะไคร่น้ำ หรือเรียกว่า เทา หรือ ไก เวลานี้ไม่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งบริเวณที่เกิดตะไคร่น้ำจะมีปลามาเล่นน้ำเป็นแหล่งอาหารและผสมพันธุ์ แต่ปัจจุบันวัฏจักรเหล่านี้หายไป

    “แม่น้ำโขงในภาวะไร้ตะกอนจะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง เพราะการขาดธาตุอาหารที่ไหลมากับน้ำจะส่งผลกระทบต่อสาหร่าย พันธุ์พืชขนาดเล็กๆ ไปจนถึงพันธุ์พืชขนาดใหญ่ ซึ่งอาจรวมไปถึงป่าน้ำท่วมแถบสตึงเตร็งในกัมพูชา” ดร.ไชยณรงค์ ระบุชัด

    คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่าหากมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มรูปแบบตามที่ได้วางแผนไว้ในลุ่มน้ำโขง จะก่อให้เกิดการลดลงของการพัดพาตะกอนในแม่น้ำอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในเขตประเทศเวียดนาม โดยผลการศึกษาคาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 ตะกอนแม่น้ำโขงจะหายไปจากระดับปกติราว 67 % และหากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเลขการหายไปของตะกอนจะเพิ่มขึ้นเป็น 97 % ในปี 2583

    ทั้งนี้ การสูญเสียตะกอนปริมาณมหาศาลจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ธรณีสัณฐานริมตลิ่งตลอดทั้งลำน้ำ และความอยู่รอดของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

    ขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/daily/detail/9620000116887
     
  2. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    รายงานพิเศษ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 7-8 ธ.ค. 62



    ***********************************



    ไม่กี่วันมานี้คนไทยฮือฮาเกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำโขงเปลี่ยนสีใสราวกับท้องทะเลสีคราม ผู้คนพากันไปถ่ายภาพโพสต์ลงสังคมออนไลน์กลายเป็นเรื่องความหรรษาพาเพลิน ตรงกันข้ามกับผู้เชี่ยวชาญมากมายที่ออกมาชี้ตรงกันว่านี่คือสัญญาณอันตราย!


    ไม่นานมานี้มีคำกล่าวจากทางยูเอ็นว่า “เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทุกสัปดาห์” อาจแปลได้ว่าไม่ว่าจะรุนแรงหรือเล็กน้อย แต่ละครั้งล้วนไม่ปกติ และอาจส่งผลให้โลกไม่เหมือนเดิมอีก ดังนั้นเราควรตั้งรับกันเสียตั้งแต่วันนี้ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกแล้ว


    อย่างกับปรากฏการณ์ “น้ำโขงใส” แบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเลวร้ายยังไง ในทางความเชื่อของชาวบ้านพื้นถิ่นเองก็อดไมได้ที่จะโจษขานกันว่าไม่ธรรมดา!





    สายธารชีวิต


    เราเห็นกันแล้วกับบรรดารูปที่เผยแพร่ทางสังคมออนไลน์โดยเฉพาะจากเฟซบุ๊ก Nakhonphanom Update ที่เผยภาพของแม่นำ้โขใสแจ๋ว สวยงาม เห็นผิวทรายใต้น้ำ


    ที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุดคือบริเวณจุดชมวิวแม่น้ำสองสีภายในวัดโขงเจียม ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม ที่มีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดมาชมทัศนียภาพจุดชมวิวแม่น้ำสองสี ต่างตะลึงและพากันเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก



    5gh96a59bh9je9dbabkbc.jpg

    จากเฟซบุ๊ก Nakhonphanom Update ที่เผยภาพของแม่นำ้โขใสแจ๋ว สวยงาม เห็นผิวทรายใต้น้ำ



    นอกจากนี้ยังมีผู้พบเห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้จากอำเภอด้านเหนือขึ้นไป ทั้งจาก อ.เขมราฐ อ.นาตาล และอ.โพธิ์ไทร


    แต่นี่คือความไม่ปกติ! เพราะแม่โขงนั้นมีสีปูนดั้งเดิม ไม่เคยเป็นสีอื่น ดังที่มีคำเรียกว่า “โขงสีปูนมูลสีคราม” จากลักษณะของแม่น้ำสองสีระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลอันเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำสองสาย ณ บริเวณ ดอนด่านปากแม่น้ำมูล บ้านเวินบึก ตำบลโขงเจียม จ.อุบลราชธานี


    ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.mekong.org กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย พื้นที่ลุ่มน้ำโขงเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลกในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะความหลากหลายของพันธุ์ปลา เป็นรองก็เพียงแม่น้ำอเมซอนเท่านั้น


    ผู้คนสองฝั่งได้อาศัยน้ำโขงเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ทําประมงและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตข้าวที่สําคัญของโลก


    พูดได้ว่าแม่น้ำโขงสร้างคุณประโยชน์นานัปการให้แก่ประชากรมหาศาลล้านคนที่อาศัยอยู่รอบๆ จะมีระดับน้ำที่เพิ่มบ้างลดบ้างตามฤดูกาล




    ภัยคุกคาม



    อย่างไรก็ดีช่วงหลังมานี้เราได้ยินข่าวคราวโขงแล้งหนักขึ้นทุกวัน พร้อมๆ กับที่มีการประท้วงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดยคนลุ่มน้ำโขงทางฝั่งไทยและรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม


    สำหรับเขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก สร้างกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว กลางปีที่ผ่านมา “องค์กรแม่น้ำนานาชาติ” มีการโพสต์เฟซบุ๊กระบุสาเหตุที่แม่น้ำโขงแล้งว่ามาจาก 3 สาเหตุหลักดังนี้


    1.ปริมาณน้ำฝนที่น้อยทั้งภูมิภาค ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงน้อยลง ทั้งที่เป็นช่วงฤดูมรสุม 2.เขื่อนจิงหง ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนบนในยูนนาน ลดการระบายน้ำเหลือเพียง 500 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยอ้างว่าเพื่อซ่อมแซมระบบสายส่งไฟฟ้า และ 3.เขื่อนไซยะบุรี ที่เวลานั้นการสร้างมีความคืบหน้า 99.3% อยู่ในขั้นตอนทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดทั้งหมด 7 เครื่อง




    65ikij97heh5kb9k7bkb8.jpg

    แม่น้ำโขงตอนบน จีนได้ให้สัมปทานแม่น้ำ และก่อสร้างเขื่อนในยูนนาน เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2536 lร้างเสร็จไปแล้ว 11 เขื่อน

    จากที่วางแผนไว้ทั้งหมด 28 โครงการ ภาพจากเฟซบุ๊ก Pai Deetes




    ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้แม่น้ำโขงลดระดับอย่างรวดเร็ว กุ้งหอย ปูปลา หนีน้ำลงไม่ทัน ติดค้างตายตามหาด/แก่ง


    วันนั้นองค์กรแม่น้ำนานาชาติกล่าวว่า นี่แค่ปฐมบทเพราะวันนี้ยังอีกหลายเดือนกว่าที่จะถึงวันผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของเขื่อนไซยะบุรี ในเดือนตุลาคม 2562 และจะเป็นไปอย่างนั้นอีก 29 ปี ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA ถึงวันนั้นที่เริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เขื่อนไซยะบุรี จะต้องกักเก็บ/ยกระดับน้ำ-ระบายน้ำ รายวัน แล้วผลกระทบจะรุนแรงกว่านี้อีกแค่ไหน?


    แต่ที่แน่ๆ นี่คือวิกฤติที่ต้องดำเนินการแก้ไขทันที และไม่ควรเกิดซ้ำอีก ทุกข์ยากเพราะสถานการณ์ภัยแล้งในภูมิภาคประชาชนยังอาจจะพอรับได้ สามารถทนได้ แต่ความทุกข์ยาก ถูกซ้ำจากเขื่อน ทั้งเขื่อนจีน เขื่อนไทย/ลาว


    ถึงเวลาที่ควรหันมาดูแลระบบนิเวศกันก่อน




    สวยซ่อนร้าย


    ดูเหมือนว่าปรากฏการณ์ “โขงใสไม่เคยเป็น” อาจเป็นคำเตือนแรกๆ ของผลพวงอันน่ากลัวจากการสร้างเขื่อน อย่างน้อยโลกออนไลน์ก็ทำให้เรารู้สึกว่านี่มัน “ใกล้ตัว” ขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเพิกเฉยเพราะชีวิตไม่ได้ข้องเกี่ยวกับน้ำโขง


    แถมเมื่อได้รับรู้ถึงความอันตรายจากปรากฏการณ์ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ อธิบายไว้ก็ยิ่งขนลุก


    เช่นบทความจาก www.internationalrivers.org/dams-and-geology ของ Partick McCully เจ้าของหนังสือ Silenced Rivers มีเนื้อหาที่ระบุว่าปรากฏนี้เรียกว่าการ “หิวตะกอน” หรือ hungry water effect



    ckgb6k9ajdb85g98djiai.jpg

    โขงใสภาพจากเฟซบุ๊ก Nakhonphanom Update




    กล่าวคือเมื่อแม่น้ำทุกสายต่างนำพาตะกอนดินและหินจากที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน แต่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ กักเก็บตะกอนเหล่านี้ไว้ส่วนหนึ่ง ทำให้แม่น้ำทางตอนล่างของเขื่อนมีอาการ “หิว” ตะกอน ก็จะพยายามดึงตะกอนเพื่อเข้ามาเติมเต็ม ก็บรรดาตะกอนจากตลิ่งสองฝั่งน้ำและจากท้องน้ำนั่นแหละ ผลคือจะทำให้เกิดการกัดเซาะท้องน้ำและตลิ่ง และอาจจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้นทางท้ายน้ำลงไปเรื่อยๆ


    และเมื่อท้องน้ำเปลี่ยนไปปราศจากก้อนกรวดเล็กๆ ซึ่งเป็นที่วางไข่และหากินของปลาสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะปลาที่อาศัยอยู่บริเวณท้องน้ำ รวมทั้งหอยและสัตว์น้ำเปลือกแข็งชนิดต่างๆ ซึ่งสัตว์หน้าดินเหล่านี้เป็นอาหารสำคัญของปลาและบรรดานกน้ำ ฯลฯ บอกเลยนี่คือหายนภัยชัดๆ




    djehbdfe5ibhjbdi8a5b7.jpg

    แม่น้ำโขงสีปูนดั้งเดิมที่เป็นมาช้านาน




    สอดคล้องกับข้อมูลของนักวิชาการกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขงบ้านเรา ที่ระบุว่าการที่ระดับน้ำโขงที่เป็นสีฟ้าครามคล้ายน้ำทะเล เพราะแม่น้ำโขงปริมาณต่ำ ทำให้น้ำนิ่งจนเกิดการตกตะกอนใส บวกกับการทำปฏิกิริยาระหว่างหินทราย ทำให้มองเห็นเป็นสีฟ้าครามสวยงาม


    แต่ข่าวรายงานว่า อาทิตย์ พนาศูนย์ ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สาเหตุไม่เฉพาะจากการสร้างเขื่อนของจีนและลาวเสียทีเดียวทั้งหมด แต่ยังเพราะภาวะโลกร้อนที่ทำให้ธรรมชาติถูกทำลายอีกด้วย




    ความเชื่อ ความจริง


    มาถึงในมิติวัฒนธรรมความเชื่อกันบ้าง วันนี้ปรากฏการณ์โขงใสทำให้ชาวบ้านอดคิดถึงตำนานพญานาคไม่ได้


    อย่างที่รู้กันว่าพื้นที่ลุ่มน้ำโขงมีตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาเรื่อง ‘พญานาค’ ว่ามีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณนี้ โดยเป็นดินแดนที่เชื่อว่าเป็น ‘วังบาดาล’ ช่วงหนึ่งที่ข่าวคราวโขงแห้งจากการสร้างเขื่อนก็มีผู้คนตั้งข้อสังเกตว่าวังบาดาลจะเป็นอย่างไรเมื่อน้ำแห้งเหือดหายไป


    สำหรับความเชื่อตำนานพญานาคนั้นมีมานานในหลากหลายมิติ เช่น เรามีตำนานความเชื่อเรื่องนาคให้น้ำ อันเป็นเกณฑ์ที่ชาวบ้านใช้วัดในแต่ละปี เช่นจำนวนนาคให้น้ำมีไม่เกิน 7 ตัว ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า “นาคให้น้ำ 1 ตัว” แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น “มีนาคให้น้ำ 7 ตัว” จะวัดกลับกันกับจำนวนนาคก็คือที่น้ำหายไปเกิดความแห้งแล้งก็เพราะพญานาคเกี่ยงกันให้น้ำ แต่ละตัวจึงกลืนน้ำไว้ในท้องไม่ยอมพ่นน้ำลงมา


    หรือเรามักเห็นสัญลักษณ์นาคตามงานจิตรกรรม ประติมากรรม หัตถกรรม อาคารสถานที่ ฯลฯ หรือตำนานพญานาค “มุจลินท์” ที่แผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าจากลมฝน ตลอดจนเรื่องนาคแปลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวช ฯลฯ




    j7baga8kfi8aa6kg6fgai.jpg

    งาน “กฐินน้ำบูชาพญานาค” ที่แม่น้ำโขง จ.มุกดาหาร บูชาพญานาค 9 ตน




    มาวันนี้ มื่อโขงใสแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ชาวบ้านบางกลุ่มเห็นแล้วก็นึกถึง “สระมรกต” ในเมืองบาดาล ด้วยความเชื่อว่าบนโลกมีจุดเชื่อมระหว่าง “โลกมนุษย์” และ “เมืองบาดาล” โลกใต้พิภพซึ่งเป็นที่อยู่ของพญานาค


    และการที่น้ำโขงใสประหลาดหนนี้ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างน้อยก็ชั่วอายุคนคนหนึ่ง ย่อมมีความเกี่ยวข้องกันทางใดทางหนึ่งแน่นอน


    แต่หลายเสียงจากโลกออนไลน์ก็หวังว่าจะไม่ร้ายแรงขนาดผู้รู้ว่ากันไว้ นี่ยังช่วยทำให้ท่องเที่ยวริมโขงคึกคักขึ้นมาบ้างก็ยังดี


    ที่แน่ๆ “ปรากฏการณ์น้ำหิว” (hungry water effect) ฟังชื่อแล้วน่ากลัวยังไง ถ้าเรื่องจริงที่ตามมาหลังจากนั้นถึงขั้นระบบนิเวศ “พัง” ก็คงน่ากลัวสุดๆ ไปเลย


    *******************************




    ข่าวเกี่ยวข้องในเครือ

    แม่น้ำโขง โขงเปลี่ยนสี ภัยธรรมชาติ แม่โขงแห้ง รายงานพิเศษ เจาะประเด็นร้อน พญานาค
    Shares :
    b894e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4e0b8a0e0b8b1e0b8a2-e0b982e0b882e0b887e0b983e0b8aa-e0b984.png

    ข่าวเกี่ยวข้อง


    ขอบคุณที่มา
    https://www.komchadluek.net/news/scoop/403184
     
  3. หนุมาน ผู้นำสาร

    หนุมาน ผู้นำสาร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    13,671
    ค่าพลัง:
    +51,946
    *** น้ำในโลกมากขึ้น ****

    น้ำจากหิมาลัย
    ไหลลงทะเลสองทาง
    ทั้งบนดินและใต้ติน
    ถ้ากั้นข้างบนมาก
    ก็ไหลข้างล่างมากขึ้น
    เส้นทางใต้ดินก็เปลี่ยนแปลง
    สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น

    - " หนุมาน ผู้นำสาร"
     

แชร์หน้านี้

Loading...