ดวงพระชะตาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในห้อง 'ดูดวง และ ทำนายฝัน' ตั้งกระทู้โดย thanan, 20 มกราคม 2005.

  1. thanan

    thanan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,668
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +5,216
    <u>เรียบเรียงโดยพลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์</u>


    ผมเป็นผู้หนึ่งที่มีความสนใจในพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอย่างยิ่ง ได้ติดตามอ่านศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของ พระองค์ท่านจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ พงศาวดาร จดหมายเหตุต่างๆมาโดยตลอด หนังสือฉบับ ล่าสุดที่ผมอ่าน และเห็นว่า มีรายละเอียด เนื้อหาสาระเป็นประโยชน์ได้มาก ได้แก่ หนังสือชื่อ "การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี" ค้นคว้าและเขียนโดยคุณนิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งช่วยทำให้ผม จินตนาการเห็นภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัย พระเจ้าตากสินมหาราชได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ตามข้อเขียนของคุณนิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นอย่างมาก

    ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้เขียนถึงวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านในลักษณะที่ไม่แน่ชัดว่า พระองค์ท่านประสูติวันใดในปีพุทธศักราช ๒๒๗๗ เนื่องจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สามารถอ้างอิงได้บางฉบับขัดแย้งกัน ในฐานะที่ผมเป็นผู้ที่สนใจศึกษา ค้นคว้าวิชาการโหราศาสตร์ดวงดาวด้วยตนเองทั้งแบบไทย ฮินดู และตะวันตกมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี จึงเห็นว่า วิชาการแขนงนี้จะมีส่วนช่วยในการค้นหาเวลาย้อนหลังกลับไปในอดีตได้

    เนื่องในโอกาสที่กองทัพเรือได้ร่วมกับสมาคมภริยาทหารเรือดำเนินโครงการบูรณะโบราณสถานในบริเวณพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ผมจึงตกลงใจที่จะนำเอาวิทยาการซึ่งผมได้ศึกษามานานมาประยุกต์ค้นหาดู ถึงแม้ว่า ผลการค้นคว้าของผมนี้อาจจะมีประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ไม่มากนัก แต่ผมเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า วิชาการโหราศาสตร์ดวงดาวนี้เป็นวิชาการที่ไม่หลอกลวง เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ได้ในอนาคต หากได้มีการศึกษาอย่างลึกซึ้งจริงจัง

    ผมต้องขอออกตัวไว้ล่วงหน้าว่า คำพยากรณ์ที่ผมจะเขียนต่อไปนี้อาจจะไม่ตรงหรือขัดแย้งกับหลักวิชาที่ท่านโหราจารย์ชื่อดังหลายท่านในยุคสมัยนี้ได้ศึกษามา แต่ผมรับรองว่า ทุกบททุกตอนที่เขียนไว้ บทความนี้มีที่มาจากตำราซึ่งเขียนโดยปรมาจารย์วิชาโหราศาสตร์ทั้งไทย และเทศ ซึ่งผมไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ในบทความนี้ซึ่งเขียนขึ้นสำหรับผู้อ่าน ทั่วไปได้

    หากคำพยากรณ์ที่ผมเขียนนี้ มีความเป็นไปได้ ใกล้เคียงความจริง เป็นประโยชน์ต่อวิชาการประวัติศาสตร์ และโหราศาสตร์ในอนาคต อันเป็นกุศล ผมขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และขอมอบให้แด่ท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ที่ล่วงลับไปแล้ว หากมีข้อความตอนใดที่จะเป็นการหมิ่นพระบรม เดชานุภาพของบุรพมหากษัตราธิราชไทยพระองค์หนึ่งพระองค์ใด ถ้าดวงพระวิญญาณมีจริง ขอได้โปรดพระราชทานอภัยโทษแก่ผมซึ่งมีความบริสุทธิ์ใจที่จะศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้โดยมิได้มีเจตนาจะลบหลู่แต่ประการใดด้วย

    เกี่ยวกับปีพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ฯ กล่าวอ้างอิงถึงวันสวรรคต และพระชนมายุจนถึงวันสวรรคตกล่าวไว้แตกต่างกัน เป็นนัยดังนี้

    ๑. จดหมายเหตุโหรกล่าวว่า วันสวรรคตของพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ (จดหมายเหตุโหร ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๘) หลังจากวันที่เจ้าพระยาจักรีกลับมาถึงเมืองธนบุรีได้เพียง ๔ วัน และความในพระราชพงศาวดาร (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ) ได้กล่าวว่า หากวันที่เสด็จกลับมาถึงกรุงธนบุรีเป็นวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ วันสวรรคตของพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะเป็นวันที่ ๑๐ เมษายนในปีนั้น

    ๒. ได้ปรากฏหลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสที่เขียนขึ้นตามคำเล่าลือหลังจากเหตุการณ์ประมาณ ๙ เดือนว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ (จดหมายเหตุคณะบาทหลวงในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙)

    ๓. ได้มีหลักฐานไทยกล่าวว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ โดยกล่าวไว้ว่า

    "...เมื่อกองทัพของพระยาจักรีมาถึงธนบุรีในตอนเช้า (วันที่ ๖ เมษายนฯ) พรรคพวกบริวารก็ได้เตรียมการต้อนรับแล้วแห่แหนกันจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกเข้าประทับอยู่ที่ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒาจารย์ราชกุลเฝ้าพร้อมกัน (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๖ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ) และในที่ประชุมขุนนางนั้นก็ได้มีการปรึกษาโทษของพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ กระทรวงธรรมการ)..."

    "...จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ....ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย จึงรีบสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม โรงพิมพ์หมอบรัดเล)

    การตรวจสอบวันพระราชสมภพได้คิดคำนวณย้อนกลับจากวันที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตวันใดวันหนึ่ง โดยถือตามจดหมายเหตุโหรที่กล่าวว่า เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ ๔๘ ปี กับ ๑๕ วัน (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๘ จดหมายเหตุโหร) ซึ่งปรากฏแน่ชัดว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชสมภพในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๗ แน่นอน

    อย่างไรก็ตาม ได้มีการกล่าวไว้ในเอกสารอื่นๆว่า วันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ (หนังสือ "อภินิหารบรรพบุรุษ") บ้าง วันที่ ๑๗ เมษายนบ้าง (หนังสือ "ราชวงศ์จักรีวงศ์และราชสกุลพระเจ้าตากสินมหาราช") วันที่ ๗ เมษายนบ้าง ("SOMDEJ PHRA CHAO TAK SIN MAHARAT" โดย de FELS , JACOUELINE)

    สำหรับประเด็นหลังๆนี้ สามารถตัดออกได้เลยเนื่องจากผมได้ทดลองคำนวณดูแล้วปรากฏว่า วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปี พ.ศ. ๒๒๗๗ ตรงกับวันที่ ๔ เมษายนปีเดียวกัน ดังนั้นเมื่อคิดคำนวณพระชนมายุจนถึงวันเสด็จสวรรคตแล้วจะไม่ถึง ๔๘ ปี ๑๕ วัน ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุโหรซึ่งเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อมากที่สุดฉบับหนึ่ง อนึ่ง ในช่วงเวลาเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ ดาวศุกร์ได้โคจรถอยหลังจากราศีเมษไปสถิตอยู่ราศีมีน ซึ่งส่งอิทธิพลสำคัญอย่างหนึ่งแก่เจ้าชะตาดังกล่าวต่อไป

    ดังนั้น หากใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อว่า อาจจะเป็นวันเสด็จสวรรคตที่กล่าวเป็นนัยไว้รวม ๓ ประการ คือ วันที่ ๖ เมษายน หรือ วันที่ ๗ เมษายน หรือ วันที่ ๑๐ เมษายนซึ่งตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ มาคิดคำนวณตามพระชนมายุตามที่ระบุไว้ในจดหมายเหตุโหรจะได้ผลดังนี้

    หากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตในวันที่ ๖ เมษายน พระองค์ท่านจะทรงพระราชสมภพในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๗ และถ้าเสด็จสวรรคตในวันที่ ๗ เมษายน จะทรงพระราชสมภพในวันที่ ๒๓ มีนาคม ส่วนที่ว่าเสด็จสวรรคตในวันที่ ๑๐ เมษายนนั้น วันพระราชสมภพจะตรงกับวันที่ ๒๖ มีนาคม

    เมื่อได้ทำการคำนวณย้อนหลังทางโหราศาสตร์ดวงดาวกลับไปยังในวันที่กล่าวถึงทั้งสามวันแล้ว จุดที่ตั้งของดาวพระเคราะห์ใหญ่จะสถิตอยู่ในราศีเดียวกัน แตกตางกันที่เชิงมุมไม่มากนัก ส่วนดาวพระเคราะห์รองซึ่งได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคารจะอยู่แตกต่างกันทั้งราศีที่สถิต และเชิงมุมองศามากยิ่งขึ้น ข้อแตกต่างของดาวพระเคราะห์กลุ่มนี้ในวันที่ ๒๒ และ ๒๓ มีนาคมจึงมีน้อยมาก ข้อแตกต่างที่เห็นเด่นชัดกันระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ มีนาคม กับวันที่ ๒๖ มีนาคม ได้แก่ จุดที่ตั้งของดาวศุกร์ในวันที่ ๒๒-๒๓ มีนาคมได้สถิตอยู่ที่ราศีเมษ ทำมุม ๑ องศา ๒๖ ลิปดา และ ๑ องศา ๕ ลิปดาตามลำดับ (ดาวศุกร์เดินถอยหลัง) ส่วนในวันที่ ๒๖ มีนาคมนั้น ดาวศุกร์ได้ย้ายไปสถิตในราศีมีน ทำมุม ๒๙ องศา ๕๐ ลิปดาแล้ว (เช่นเดียวกับในช่วงเดือนเมษายนปีเดียวกันที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น)

    จากตำราโหราศาสตร์ที่โบราณจารย์ได้เขียนกล่าวไว้ว่า "ศุกร์ในราศีเมษเป็นคนสนิทกับท่านผู้มียศศักดิ์" (แนวทางศึกษาโหราศาสตร์น็น็นเขียนโดย อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร)

    ถึงแม้ว่า ดาวศุกร์ที่สถิตอยู่ในราศีมีนจะเป็นมหาอุจให้คุณแก่เจ้าของชะตาก็ตาม แต่เมื่อตรวจสอบตามพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชดังจะได้กล่าวต่อไปแล้วมีเหตุผลที่น่าเชื่อว่า ในพระดวงชะตา ไม่น่าจะมีดาวศุกร์อยู่ในราศีมีนนี้

    อนึ่ง โดยเหตุผลทางการเมือง เมื่อมีการปราบดาภิเษกเกิดขึ้น และมีความจำเป็นต้องปลงพระชนมชีพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจริง ผู้ที่คิดอ่านเรื่องนี้จะต้องหาทางรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งหลายชั้นหลายตอน หากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน อาจเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงเปลี่ยนพระทัยได้

    ทั้งเหตุผลทางการเมือง และทางโหราศาสตร์จึงน่าเชื่อว่า สมเด็จพระจ้าตากสินมหาราชมิได้ทรงพระราชสมภพในวันที่ ๒๖ มีนาคม

    เหตุผลทางพงศาวดารที่สนับสนุนเรื่อง จุดที่ตั้งของดาวศุกร์ในราศีเมษก็คือ

    นายสินและนายบุนนาค (สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท สมเด็จพระอนุชาธิราชของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ล้วนเคยเป็นมหาดเล็กใน รัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์อยู่เวรศักดิ์...(เอกสาร...มหามุขมาตยานุกูลว่าด้วยลำดับวงศ์ตระกูลขุนนางทั้งสิ้นในกรุงสยาม)

    การที่นายสินซึ่งเป็นคนไทยลูกจีนพ่อค้าโดยกำเนิดได้มีโอกาสเข้าไปปฏิบัติหน้าที่มหาดเล็กใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินจึงน่าจะเป็นเพราะอิทธิพลของดาวศุกร์ที่สถิตราศีเมษ

    อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ได้เคยเล่าให้ผมฟังว่า แม้แต่ในรัชกาลปัจจุบันก็มี เจ้าของดวงชะตาที่ถือกำเนิดในสกุลชาติธรรมดา และมีดาวศุกร์สถิตในราศีเมษได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดยุคลบาทอยู่หลายท่านด้วยกัน

    เมื่อประเด็นวันพระราชสมภพเป็นวันที่ ๒๖ มีนาคมอ่อนลง จึงยังคงเหลือวันที่ ๒๒ และวันที่ ๒๓ มีนาคม ซึ่งเมื่อพิจารณาจุดที่ตั้งของดาวพระเคราะห์ในราศีต่างๆ แล้ว จะแตกต่างกันเฉพาะเชิงมุมองศาของดาวจันทร์เท่านั้น

    หากวันพระราชสมภพเป็นวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๗ วันที่เสด็จสวรรคตจะเป็นวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ และถ้าวันพระราชสมภพเป็นวันที่ ๒๓ มีนาคม วันที่เสด็จสวรรคตก็คือ วันที่ ๗ เมษายน

    ได้มีหลักฐานระบุไว้ในพระราชพงศาวดารว่า ทัพของเจ้าพระยาจักรีมาถึงเมืองธนบุรี ในวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ) ซึ่งตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เวลารุ่งอรุณ

    ในวันนี้ ผมมีความเห็นเช่นสามัญชนว่า ถึงแม้ว่า ที่ประชุมขุนนางจะมีความเห็นเป็นส่วนใหญ่ว่า ให้ประหารชีวิตพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าคงจะไม่รับสั่งให้นำตัวไปประหารชีวิตทันที เพราะถึงแม้ว่าจะเสด็จมาถึงเมื่อตอนเช้า เมื่อเสด็จถึงแล้วคงจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งซึ่งเป็นการส่วนพระองค์ก่อน การเรียกประชุมขุนนางน่าจะกระทำในตอนบ่าย หรือเย็น เมื่อได้มีการพิพากษาโทษพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว การประหารชีวิตจึงน่าจะยกไปกระทำในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ ๗ เมษายน ไม่ทราบว่า ความเห็นของผมในประเด็นนี้จะผิดหรือถูกประการใด จึงใคร่ขอฟังความคิดเห็นจากท่านผู้รู้และสนใจท่านอื่นๆด้วย

    ดังนั้น ผมจึงขอตัดประเด็นวันพระราชสมภพที่ตรงกับวันที่ ๒๒ มีนาคมออกไป จึงเหลือวันที่ ๒๓ มีนาคมซึ่งตรงกับจดหมายเหตุคณะบาทหลวง (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙)

    จากการศึกษาคำนวณจุดที่ตั้งและกำลังดาวพระเคราะห์ในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๗ นี้ เพื่อให้ได้รายละเอียดเพิ่มเติมจากโหราศาสตร์เป็นการสนับสนุน จำเป็นต้องมีการคำนวณหาเวลาพระราชสมภพ (วางพระราชลัคนา) ซึ่งเมื่อได้มีการคำนวณเลือกหาเวลาที่เหมาะสมโดยการนำเอาพระราชประวัติ พระราชอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งแต่ต้นจนตลอดพระชนม์ชีพเท่าที่จะหาได้ในเอกสารประวัติศาสตร์พงศาวดาร ในที่สุดจึงได้เวลา ๐๕.๔๕ นาฬิกาของวันอังคารที่ ๒๓ มีนาคม (ทางโหราศาสตร์ไทยเรายังถือว่า เป็นวันจันทร์ที่ ๒๒ มีนาคม เนื่องจากยังไม่ถึงเวลารุ่งอรุณของวันนั้นคือ เวลา 06 นาฬิกา 20 นาที) พระราชลัคนาจึงสถิตในราศีมีน ตรียางศ์ที่ ๑ นวางศ์ที่ ๑ ต่อจากนั้นได้นำเอาจุดที่ตั้งและกำลังดาวพระเคราะห์ต่างๆในดวงพระชะตามาคำนวณตรวจสอบความเป็นไปได้ประกอบแล้วปรากฏผลเป็นที่น่าเชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูง

    อย่างไรก็ตาม การที่จะนำรายละเอียดของดาวพระเคราะห์ทุกดวงในดวงพระชะตา พร้อมกับคำพยากรณ์ที่ปรมาจารย์วิชาการโหราศาสตร์ทั้งไทย ฮินดู และตะวันตกได้สั่งสอนไว้มาชี้แจงประกอบจะทำให้ท่านที่ไม่มีความรู้ทางโหราศาสตร์มาก่อนอ่านไม่รู้เรื่อง และจะต้องใช้หน้ากระดาษมากทีเดียว ผมจึงจะขอยกตัวอย่างการพิสูจน์ความเป็นไปได้มา ณ ที่นี้สักหนึ่งตัวอย่าง ดังนี้

    ตามตำราโหราศาสตร์ ลัคนาเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งที่ช่วยระบุรูปร่างลักษณะของเจ้าชะตาได้ (ลัคนาไม่ใช่ดาวพระเคราะห์ แต่เป็นจุดตัดระหว่างระวิมรรค หรือเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์กับเส้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกตามเวลาตกฟาก หรือเวลาเกิดของเจ้าชะตา)

    ดังนั้น ตามเวลาพระราชสมภพที่ผมคำนวณไว้ พระราชลัคนาจึงสถิตราศีมีน เกาะตรียางศ์ที่ ๑ นวางศ์ที่ ๑ ซึ่งมีดาวจันทร์เป็นเจ้านวางศ์ จึงพยากรณ์ได้ว่า เจ้าชะตาจะเป็นคนรูปร่างเล็ก ผิวขาวเหลือง ประเด็นนี้คงไม่มีใครขัดแย้งเพราะตามประวัติศาสตร์ได้ระบุชัดว่าพระองค์ท่านทรงเป็นคนไทยลูกจีนจึงมีพระฉวีสีขาวเหลือง ส่วนรูปรางนั้นจะเล็กจริงตามคำพยากรณ์หรือไม่เพียงไรนั้น ได้ปรากฏหลักฐานเขียนโดยนักธรรมชาติวิทยาชาวเดนมาร์กผู้เคยพบเห็นพระองค์ท่านกล่าวไว้ว่า "... บัดนี้ เราได้ติดตามชีวประวัติของชายร่างเล็กคนหนึ่งนับตั้งแต่เกิดจนถึงเวลาที่กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ทั้งของสังคมไทยและตัวเขาเอง กลายเป็นเรื่องราวที่เล่าขานสืบมา เพราะความยิ่งใหญ่ของทั้งบุคคล และสิ่งที่ได้กระทำขึ้น...." (A HISTORY OF MODERN THAILAND โดย B.J. TERWIEL)

    อนึ่ง การวางพระราชลัคนาไว้ ณ ราศีมีนนี้ เป็นราศีเดียวกับที่ดาวอาทิตย์สถิตอยู่ นอกจากจะพยากรณ์ได้ว่า เป็นผู้ที่ทำบุญคุณคนไม่ขึ้น (ดาวอาทิตย์อยู่ในราศีมีนซึ่งเป็นธาตุน้ำ เรียกว่า "อาทิตย์ตกน้ำ" ) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากดาวอาทิตย์สลับเรือนอุจกับดาวศุกร์ซึ่งสถิตอยู่ในราศีเมษและกุมพระราชลัคนาอยู่ด้วยจึงส่งผลให้ยังคงกำลังซึ่งจะแสดงออกถึงคุณลักษณะเด่นประจำพระองค์ประการหนึ่งคือ การเป็นผู้นำที่ดี

    เมื่อได้กล่าวถึงรูปร่างลักษณะของพระองค์ท่านไปแล้ว ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ประจำวันที่ ๒๘ ธันวาคมปีที่แล้วได้อัญเชิญพระบรมสาทิศลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จำลองมาจากภาพเขียน ซึ่งได้มีผู้ไปพบในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศแห่งหนึ่งมาลง แต่ต่อมาได้มีผู้เขียนมาแย้งว่า น่าจะเป็นรูปขุนนางไทยคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งแต่ไม่มีโอกาสที่จะแสดงความเห็นขัดแย้งในขณะนั้น จึงขอถือโอกาสนี้ แสดงความเห็นว่า ขุนนางไทยในยุคสมัยนั้นไม่ว่าจะอยู่ในระดับสูงเพียงใดจะไม่มีโอกาสได้แต่งกายด้วยเสื้อและเครื่องประดับที่มีค่าสวยงามได้เช่นนี้ เพราะสภาวะเศรษฐกิจของบ้านเมืองไทยที่เพิ่งฟื้นตัวหลังจาก การกู้ชาติในขณะนั้นยังไม่อำนวย จะมีก็แต่พระมหากษัตราธิราชเพื่อการแต่งพระองค์เป็นการเฉลิมพระเกียรติเท่านั้น หากรูปภาพนี้เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์จริง ย่อมเป็นการพิสูจน์สนับสนุนผลการคำนวณทางโหราศาสตร์ดวงดาวที่ผมได้คิดและนำมาผูกเป็นพระชะตาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้อีกส่วนหนึ่ง

    สรุปว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชสมภพในวันที่ ๒๓ มีนาคม (โหราศาสตร์ตะวันออกยังถือว่า เป็นวันที่ ๒๒ มีนาคม) พุทธศักราช ๒๒๗๗ จุลศักราช ๑๐๗๖ ซึ่งตรงกับวันอังคาร (โหราศาสตร์ตะวันออกยังถือว่าเป็นวันจันทร์) แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล เวลา ๕ นาฬิกา ๔๕ นาที ณ กรุงศรีอยุธยา
     
  2. casy99

    casy99 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    310
    ค่าพลัง:
    +449
    ดีมาก
     
  3. ploy

    ploy เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มกราคม 2005
    โพสต์:
    137
    ค่าพลัง:
    +113
    เคยแต่เรียนในหนังสือที่อาจารย์สอน ได้ความรู้ดีค่ะ
     
  4. 9nat

    9nat สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 มกราคม 2005
    โพสต์:
    9
    ค่าพลัง:
    +9
    อ่านเพลินดีครับ สนุกๆ
     
  5. แคท

    แคท เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2005
    โพสต์:
    616
    ค่าพลัง:
    +1,666
    ทุกอย่าง ล้วน ฟ้ากำหนด
     
  6. poramase

    poramase เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กุมภาพันธ์ 2005
    โพสต์:
    141
    ค่าพลัง:
    +592
    ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าการปลงพระชนม์ เป็นเพียงอุบายเพื่อการออกบวชของพระองค์ท่านเท่านั้น ขอย้ำความเชื่อส่วนตัวครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...