ทำไมลูกจึงไม่ "กตัญญู"

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย PalmPalmnaraks, 23 มกราคม 2005.

  1. PalmPalmnaraks

    PalmPalmnaraks บุคคลทั่วไป

    ค่าพลัง:
    +0
    ทำไมลูกจึงไม่ "กตัญญู"
    โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มติชนรายวัน วันที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9707

    นักวิชาการหลายสาขาได้พยายามอธิบายปรากฏการณ์ของการเฉยเมย ไม่สนใจติดต่อ รับใช้ แวะมาหาพ่อแม่หรือที่ขอเรียกว่าการ "อกตัญญู" หรือ "กตัญญูน้อยไป" ของลูกหลานมานานพอควร แต่เพิ่งมีนักวิชาการได้ใช้เศรษฐศาสตร์อธิบายเมื่อไม่นานมานี้

    John Ermisch แห่งมหาวิทยาลัย Essex นอกจากจะพยายามอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวจากแง่มุมเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังมีข้อเสนอให้แก่พ่อแม่เพื่อแก้ไขอีกด้วย

    งานวิจัยของ Ermisch ยืนยันความสงสัยของพ่อแม่ที่มีมานานว่า ความ "อกตัญญู" นั้นโยงใยอย่างสำคัญกับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของลูกๆ เขาใช้ข้อมูลจาก British House Hold Panel Survey เพื่อหาคำอธิบายปรากฏการณ์ของการขาดความ "กตัญญู" และพบว่าพ่อแม่ที่มีฐานะดี มีทางโน้มสูงกว่าครอบครัวธรรมดาที่จะให้เงินทองแก่ลูก เช่น ให้การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย(ลูกไม่ต้องต่อสู้ทำงานหาเงิน หรือกู้ยืมมาเรียน) ให้เงินทองเพื่อตั้งตัว ถนอมกล่อมเกลาเลี้ยงดูลูก ฯลฯ

    แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม คนที่ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัย(ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดาสำหรับสังคมตะวันตก ที่ลูกเรียนมหาวิทยาลัย เพราะถึงไม่ต้องเรียนก็มีงานทำ และมีเงินใช้ ซึ่งต่างจากสังคมไทย ปัจจุบันที่การเรียนจบปริญญาตรีมีความคล้ายคลึงกับการจบชั้นมัธยมศึกษาในสมัยโบราณ) มีทางโน้มที่จะโทรศัพท์ถึงพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอน้อยกว่าคนที่ไม่มีปริญญาร้อยละ 20 และมีทางโน้มที่จะไม่ไปหาพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอสูงกว่าคนที่ไม่มีปริญญาร้อยละ 50

    เหตุใดคนเหล่านี้ซึ่งเป็นลูกคนมีฐานะจึงประพฤติเช่นนี้ เขาไม่กลัวการไม่ได้รับเงินหรือมรดกจากพ่อแม่หรืออย่างไร(ลูกคนรวยเหล่านี้มักมีปู่หรือตาที่มีฐานะด้วย และถ่ายทอดความมีฐานะสู่ลูก ซึ่งก็คือพ่อหรือแม่ของเขา และผ่านมายังตัวเขา

    คำตอบอาจอยู่ในเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ดังต่อไปนี้

    ประการแรก เมื่อรายได้ของเขาเหล่านี้สูงขึ้นหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย และบ่อยครั้งที่ได้รับเงินทองให้ตั้งตัวและส่วนหนึ่งของมรดกจากพ่อแม่ ต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้น(Marginal Cost) จากการติดต่อมีความผูกพันกับพ่อแม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกซึ่งความ "กตัญญู" เพิ่มขึ้น

    ขอยกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้น ในยามที่เรียนหนังสือ ยังไม่มีงานทำ และไม่มีรายได้ การกลับบ้านพักผ่อนกับพ่อแม่ หรือติดต่อสัมพันธ์กันสม่ำเสมอ ทำให้เขาเกิดต้นทุนหรือค่าเสียโอกาสที่ไม่สูง เพราะการมาหาพ่อแม่ไม่ได้ทำให้เขาเสียรายได้ แต่อย่างใด อย่างดีก็เสียโอกาสที่จะได้อยู่กับแฟนเท่านั้น

    แต่เมื่อเขามีรายได้ มีเงินทองและอาจมีธุรกิจซึ่งพ่อแม่มอบให้เขาจะต้องดูแล เพราะเป็นผลประโยชน์ของเขา การมาพักกับพ่อแม่ ติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิด ทำให้เขาขาดรายได้ไป หรือเสียโอกาสทางธุรกิจไม่ได้ ดังนั้น Marginal Cost ของความสัมพันธ์จึงสูงขึ้น

    พูดง่ายๆ ว่า แต่ละการมาพบปะพ่อแม่ ก่อให้เกิด Marginal Cost ที่แตกต่างกันในสองกรณี คือตอนไม่มีงานทำ(ยังไม่รวย) กับมีงานทำ(รวยแล้ว) ยิ่งรวยเท่าใดก็ยิ่งมี Marginal Cost สูงเพียงนั้น

    ไม่ต้องดูไกลถึงเศรษฐีอังกฤษก็ได้ แรงงานบ้านเราที่อพยพมาทำงานในกรุงเทพฯ ก็เข้าอีหรอบเดียวกัน ถ้ามาทำงานได้เงินดี ความถี่ของการกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้านก็ต่ำ(เพราะการกลับไปแต่ละครั้งต้องเสียสละเงินก้อนโต ดังนั้น ยิ่งทำมาหากินได้ดีในกรุงเทพฯเท่าใด ความห่างเหินในลักษณะการกลับไปพบปะหรือติดต่อกัน(ลักษณะหนึ่งของการมีความ "กตัญญู") ก็ยิ่งมีมากขึ้น

    ในสังคมตะวันตก ความร่ำรวยมีทางโน้มที่จะทำให้เกิดความห่างเหิน ระหว่างพ่อแม่และลูกยิ่งมีมากขึ้น การโทรศัพท์ติดต่อถึงกันสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เมื่อความสัมพันธ์เหินห่าง เพราะความมั่งคั่งเป็นสาเหตุ การโทรศัพท์ถึงกันก็ย่อมห่างไปด้วย

    เข้าทำนองฝรั่งที่ว่า Out of Sight,Out of Mind(เมื่อห่างจากสายตา ก็ห่างจากใจไปด้วย)

    ประการที่สอง มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ผู้คนไม่ค่อยได้ยินคือ Strategic Bequest Theory(ทฤษฎีการได้มรดก) ทฤษฎีนี้พยากรณ์ว่าลูกหลานผู้ปรารถนามรดกจะ "รับใช้" (แสดงและให้ความรัก ช่วยเหลือ ดูแลห่วงใยให้บริการรับใช้) ในระดับที่เพียงพอหนึ่งเท่านั้น ที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า จะได้รับมรดกมูลค่าหนึ่งที่เรียกว่ามากพอควรสำหรับเขา และจุดนี้จะมาถึงเร็วขึ้น สำหรับผู้ที่มีเพียงพี่น้องคนเดียวที่จะแข่งขันด้วย และหากไม่มีคู่แข่งเลย จุดนี้ก็จะยิ่งมาถึงเร็วขึ้น

    พูดเป็นภาษาธรรมดาว่า ถ้ามีลูกหลานเพียงคนเดียวที่จะรับมรดก เขาก็จะยิ่ง "รับใช้" เจ้ามรดกในระดับน้อยกว่า หากแม้นว่ามีลูกหลานที่จะแข่งขันกันรับมรดกหลายคน ใครไม่เชื่อทฤษฎีนี้ก็ลองดูละครน้ำเน่าไทย ซึ่งสะท้อนสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยก็ได้

    สำหรับครอบครัวที่ร่ำรวยมากซึ่งมักมีสมาชิกลูกหลานน้อย ก็จะเกิดการแข่งขันที่น้อยไปด้วย และเจ้ามรดกจะได้รับการ "รับใช้" ที่น้อยกว่าระดับที่เหมาะสม เพราะแค่ "รับใช้" ระดับหนึ่งก็เพียงพอจะทำให้เขาแน่ใจว่าจะได้รับมรดกในระดับมูลค่าที่เขาคิดว่าพอสมควรแล้ว (แปลว่ามากเพราะเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยมาก) และเมื่อมีคนแข่งขันน้อยลง จุดนี้ก็จะมาถึงเร็วขึ้น ซึ่งหมายถึงว่าเจ้ามรดกจะได้การ "รับใช้" ทั้งในปริมาณที่น้อย และถูก "ทอดทิ้ง" ก่อนตายนานขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับครอบครัวที่ร่ำรวยพอควรและมีลูกหลานหลายคน

    ข้อแนะนำของ Ermisch ก็คือให้ครอบครัวเศรษฐีมีลูกมากขึ้น หรือแสดงให้ลูกหลานทราบว่ากำลังสนใจในการบริจาค ให้องค์กรการกุศล หรือสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นแต่ยังวัยเด็ก และติดต่อถึงกันตลอดเวลา แต่ที่ดีที่สุดก็คือ อย่าเพิ่งให้เงินสดแก่ลูกหลานแต่แรกๆ (ให้มันรอกันบ้างจนใกล้ตาย)

    ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นการมองมนุษย์ในแง่ของการเป็นสัตว์เศรษฐกิจตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่มองคนในแง่ร้าย แต่เชื่อว่าอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจริงส่วนใหญ่ โดยไม่พยายามเอาความงดงามของศีลธรรมจรรยา ของลูกหลานประเภทหนึ่ง ที่เป็นคนยกเว้นมาเกี่ยวพันในคำอธิบายด้วย

    คำแนะนำของคนที่ไม่ใช่เศรษฐี แต่คิดว่าถ้าเป็นเศรษฐีจะมอบให้แก่ลูก ก็คือการสอนคุณค่า(Value) ที่ช่วยกำกับให้การมีทรัพย์มรดกนั้น มีความหมายต่อสังคม และโลก ไม่ให้คิดถึงแต่แค่สิ่งที่ตนเอง และลูกหลานต่อไปในวันข้าง จะได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินเหล่านี้เท่านั้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...