ท้าวเวสสุวรรณ และ พระยายม คือใคร?

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย Wannachai001, 11 เมษายน 2024.

  1. Wannachai001

    Wannachai001 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    8,804
    กระทู้เรื่องเด่น:
    80
    ค่าพลัง:
    +225,521
    03 - Copy 11.jpg

    ท้าวเวสสุวรรณ และ พระยายม คือใคร?

    ผู้ถาม : ที่นี้มีอีกอย่างนะคะที่หนูสงสัย คือเวลาที่หนูสวดมนต์บูชาพระแล้วก็อุทิศส่วนกุศลไปยังสัตว์โลกทั้งหลาย แต่มีเพื่อนคนหนึ่งมาบอกว่า ให้อุทิศส่วนกุศลให้ท่านท้าวเวสสุวรรณด้วยเพื่อให้ท่านเป็นพยาน ท้าวเวสสุวรรณคือใครคะ..?

    หลวงพ่อ : ท้าวเวสสุวรรณก็คือท้าวมหาราชองค์หนึ่ง มี 4 องค์ด้วยกัน คือเท้าธตรฏ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรุปักษ์ และท้าวเวสสุวรรณ

    เวลาอุทิศส่วนกุศลแล้วบอกให้ท่านเป็นพยานอันนี้ดี เมื่อก่อนฉันนึกว่าเขาพูดเล่น คิดว่าเขาพูดเพ้อ ฝากเทวดาให้เป็นพยาน ว่าก็ว่าไม่น่าเชื่อ ต่อมาพอมีประสบการณ์จริงจังจึงเชื่อ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงมีหลายคน พวกที่บอกฝากนี่นะ เวลาที่แกตายบางทีกำลังใจแกอ่อน คือสมถวิปัสสนานี้แกไม่เอา เอาแต่ทำบุญธรรมดา เวลาจะตายจิตก็เฝือหน่อย ห่วงนั่นนิด ห่วงนี่หน่อย นั่นเขาเรียกว่าจิตเฝือ ก็ต้องลงไปที่สำนักพญายมก่อน

    เวลาไปอยู่สำนักพญายม เวลาท่านสอบสวน บางทีกรรมบางอย่างมันปกปิด ถามเรื่องบุญมันนึกไม่ออก ถ้าเขานึกถึงบุญไม่ออกก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปล่อยให้ลงนรก หากถาม 3 เที่ยวนึกไม่ออก ท่านก็จะได้ประกาศว่า เขาเคยบอกฉันไว้ เวลาเขาทำบุญให้ฉันเป็นพยาน แล้วท่านก็ประกาศกุศลนั้น ก็ได้ไปสวรรค์

    อันนี้ดีนะ แต่จะหาว่าท่านเล่นพรรคเล่นพวกไม่ได้นะ ท่านไม่ได้จำกัด

    ผู้ถาม : แล้วพระยายมล่ะคะ

    หลวงพ่อ : พระยายมนี่เป็นตำแหน่ง ความจริงท่านเป็นพรหม และสำนักพระยายมก็อยู่ในเขตของจาตุมหาราช ไม่ใช่เขตนรก เวลาเราไปที่สำนักพระยายม เราจะเห็นมีวิมานสวยสดงดงาม แล้วก็เป็นทุ่งโล่งเตียนมีสวนดอกไม้สวยสดงดงาม เวลาจะมองดูนรกต้องมองไปทางตะวันออกไกลมาก จะเห็นแสงเพลิงมันสว่างพลุ่งขึ้นบนอากาศ เป็นลานกว้างมาก

    ที่นี่โดยมากคนเข้าใจว่า พญายมเป็นพวกของนรก ความจริงท่านไปนั่งกันมีให้ลงนรกนะ

    ผู้ถาม : ยังงั้นให้ท่านพระยายมเป็นพยานองค์เดียวก็ได้ใช่ไหมคะ?

    หลวงพ่อ : องค์นั้นองค์เดียวพอ เพราะถ้าท่านไม่กั้นล่ะก็..ป๋อง

    ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ แล้วอย่างพวกอสูรที่เป็นพวกยักษ์หรือว่าเทวดาครับ?

    หลวงพ่อ : อสูรเป็นเทวดาพวกหนึ่ง อสูรเขาแปลว่า ไม่กล้า ยักษ์เขาแปลว่า บุคคลที่ควรบูชา ถ้าแปลอีกคำหนึ่ง แปลให้ตรงศัพท์เขาแปลว่า เทวดา แต่เราไปตีความหมายเขาผิด
    ถ้ายักษ์ละก็รูปร่างน่ากลัว แต่ไอ้ยักษ์ที่น่ากลัวก็มียักษ์เดียว คือ "ยักยอก" ยักนี้มันไม่มีเขี้ยว มีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เผลอเมื่อไรเป็นเอาหมดเลย

    ฉันเคยไปเทศน์และถูกคนถาม เขาถามว่า "อสูรมีวิมานอยู่เหมือนกัน แต่มีหน้ายุ่ง เขาทำบุญด้วยอะไร"

    ตอบเขาไม่ได้ เลยบอก "เดี๋ยวไปฟังเวลาขึ้นธรรมาสน์" เราก็นึก "เราขึ้นธรรมาสน์เราไม่พูดเสียอย่างก็หมดเรื่อง"

    ทีนี้เวลาจะเทศน์นี่เขาต้องสรงน้ำพระก่อน แล้วเอาผ้าไตรถวาย อีตอนที่ถวายผ้าไตรหรือทรงน้ำนี่ จิตมันต้องเป็นฌาน เพื่อให้เป็นกุศล มิฉะนั้นกุศลเขาได้น้อย

    ทีนี้พอเดินจะไปสรงน้ำจิตยังไม่เป็นฌาน เห็นพระมาบอกว่า "นักเทศน์จะต้องรู้ทุกอย่าง"
    ก็เลยบอกว่า "ตำราไม่มีจะให้รู้ยังไง ถ้าจะให้รู้ก็ขอให้บอก"

    ท่านก็บอก "คนที่จะเป็นอสูรได้เพราะทำบุญผสมโทสะ"
    หมายความว่าเวลาจะทำบุญมีคนมาพูดนิดๆหน่อยๆมันเกิดโมโห พอจะรับศีลก็มีคนมาสะกิดแขนอีกแล้ว ก็โมโห ฉะนั้นหน้าก็ยุ่งไปนิด แต่ว่าไม่ยุ่งอย่างกับภาพที่เขาเขียนหรอกนะ ถ้าหน้าแบบนั้นนางฟ้าหนีหมด หน้าเขาสวยน้อยกว่าเทวดานิดเดียว และเขาก็มีวิมานเหมือนกัน

    ผู้ถาม : แล้วที่หลวงพ่อบอกว่ายักษ์เป็นบุคคลที่ควรบูชา นี่หมายความว่า เดิมไม่มีใครบูชา จึงต้องเรียกให้เชิญชวนเหรอคะ?

    หลวงพ่อ : ไม่ใช่หรอก คือเทวดานี่เขาเรียกว่ายักษ์ แต่เราเข้าใจผิดน่ะ ไปคิดว่าเป็นยักษ์ทศกัณฐ์ ยักษ์จริงๆก็คือเทวดา

    อย่างพระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่า "ยักขะ" หรือ "บรรดายักขะทั้งหลาย"

    ผู้ถาม : ที่จริงคนก็รู้เหมือนกัน แต่ทำไมไม่แก้ภาพพจน์ยักษ์คะ?

    หลวงพ่อ : ไอ้แก้ภาพพจน์น่ะพอได้ แต่ไปแก้ผ้ายักษ์นะไม่ได้นะ

    ผู้ถาม : (หัวเราะ)

    หลวงพ่อ : คือมันอย่างนี้ คนรู้น่ะพวกหนึ่ง คนเขียนน่ะพวกหนึ่ง แล้วประการที่สอง โรคอุปาทานมันมีอยู่ เชื่อว่ายักษ์ต้องเป็นอย่างนี้ เทวดาต้องเป็นอย่างนี้

    อย่างเรื่องรามเกียรติ์นี่นะ ถ้าเราไปที่อินเดียจะเห็นว่าเวลาตรุษสงกรานต์เขาจะแสดงภาพ มีพระลักษณ์พระราม แล้วก็ภาพทศกัณฐ์ยืนอยู่กลางสนาม พอวันสุดท้ายเขาจะแผลงศรเผา แต่ว่าถ้าไปที่ลังกาจะเห็นว่าทศกัณฐ์เป็นตัวพระเอกแต่เขาก็ไม่มีเขี้ยวนะ ความจริงยักษ์ก็คือ เทวดา และก็ไม่มีเขี้ยว


    (จากธัมมวิโมกข์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 2524 หน้า 76-79)
     

แชร์หน้านี้

Loading...