ธรรมพเนจร กับหลวงปู่จันทา ตอน ญัตติเป็นธรรมยุต

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 22 กรกฎาคม 2015.

แท็ก: แก้ไข
  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,440
    ธรรมพเนจร กับหลวงปู่จันทา ตอน ญัตติเป็นธรรมยุต
    [​IMG]
    ครั้นต่อมา ปี ๒๔๙๓ ได้ญัตติเป็นธรรมยุต แล้วไปอยู่กับหลวงปู่ทับ (เขมโก) เจ้าอาวาสวัดป่าแพงศรี อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ วัดนั้นเป็นวัดป่าช้า ปีนั้นก็ตั้งใจทำความเพียรอย่างเต็มที่ อยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ คือ เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น เพราะอยากรู้ธรรม เห็นธรรม ไปศึกษาหลวงปู่ทับ ท่านก็ว่า

    “ถ้าทำความเพียรอ่อน ก็ไม่เป็นไป เพราะกิเลสกับธาตุขันธ์นั้นมันเหนียวแน่น ผูกมัดรัดรึงดวงจิตไว้ พร้อมทั้งกรรมชั่วช้าลามกนั้น ฉะนั้นจึงต้องทำความเพียรชนิดเอาตายเข้าว่า อย่างอุกฤษฏ์ ไม่ห่วงใยในชีวิตสังขาร เห็นว่า สังขารร่างกายนี้นั้น เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสรพิษตัวร้ายกาจ ขบกัดให้เป็นทุกข์อยู่ทุกกาลสมัย นับตั้งแต่วันเกิดเป็นต้นมา”

    “อสรพิษใหญ่นั้นคือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี่แหละอสรพิษใหญ่ตัวร้ายกาจ ทีนี้จงทำความเพียรเผาจิตให้เร่าร้อนทั้งวันคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เพื่อว่าจะเผากิเลสให้มันเร่าร้อน จะนำดวงจิตเข้าสู่สมาธิธรรมได้ เมื่อจิตเข้าสู่สมาธิธรรมได้แล้วนั้น แสงสว่างแห่งธรรมจะเกิดขึ้นแล้วจะได้เปลื้องตนออกจากอสรพิษใหญ่ และจิตจะได้บรรลุธรรม นอกนั้นไม่มี ไม่เป็นไป”

    เมื่อหลวงปู่ทับว่าอย่างนั้นแล้ว ก็พอใจ เร่งทำความเพียรในปีแรก (๒๔๙๓) ตลอดไตรมาส ๓ เดือน ไม่นอน เดิน ยืน นั่ง เอาอิริยาบถ ๓ เท่านั้นแหละ ข้าง ก็ ๒ - ๓ วัน ฉันครั้งหนึ่ง ฉันก็ฉันน้อย พอยังชีวิตให้เป็นไปเท่านั้น เดินจงกรม บางวันมันเหนื่อยล้า ก็ยืนภาวนา มันจะหลับ หรืออย่างไรไม่ทราบ ปัสสาวะไหลออกมาไม่รู้ตัวนะ นี่แหละ การทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ไม่หวั่นไหว พอออกเดินไป รู้สึกว่าผ้าเปียก กำผ้ามาดม จึงรู้ว่าเป็นกลิ่นปัสสาวะ นั่นแหละ การทำความเพียรเป็นอย่างนั้น

    เดือนที่ ๑ ผ่านไป เดือนที่ ๒ ก็ผ่านไป พอเดือนที่ ๓ จวนจะผ่านไป จิตจึงสงบ เพราะการทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน เผาร่างกายให้เร่าร้อนอ่อนเพลียละเหี่ยใจ อาหารของธาตุขันธ์ คือ กิน กับ นอน นั้นไม่มี มีแต่ทำความเพียรอย่างนั้น ทีนี้บางคืน เดินแล้วก็ยืน ยืนนั่น หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ ผ่อนลมหายใจเข้าออกให้น้อยลง กายสังขารคือลม (เครื่องปรุงกาย) อานาปานสติ คือ ลม (สติกำหนดลม) นั่นแหละ ต่อแต่นั้นมา จิตก็อ่อนลง ๆ ละเอียดลงไปทุกที สติกับจิต กับลมหายใจเข้าออกมันละเอียดเข้าทุกที บางทีจิตก็สงบ ก่อนที่จิตจะสงบนั้น จิตก็วงพุทโธ พอวางพับ จิตก็รวมพับลงถึงขั้น ขณิกสมาธิ (จิตสงบเล็กน้อย) พอถึงขั้นนั้น ความอ่อนเพลียละเหี่ยใจ หิวโหยเหนื่อยล้าของร่างกายก็หายไปหมด รู้สึกสดชื่นแข็งแรงขึ้น นั่นแหละ อำนาจของความสงบเป็นอย่างนั้น เป็นของอัศจรรย์เลิศประเสริฐสุด แล้วศรัทธาก็เกิดขึ้นพร้อม วิริยะเกิดขึ้นพร้อม สติปัญญาเกิดขึ้นพร้อม เกิดความเห็นชอบว่า

    “โอ๋..วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ นั้นจริงแท้ ผู้มีความเพียร จะต้องมีทุกข์ ทุกฺขมจฺเจติ ความทุกข์นั้นมันเผาธาตุขันธ์แล้วก็เผาใจด้วย นั่นแหละ จะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร เห็นธรรมได้ก็เพราะความเพียร นอกนั้นไม่มี”

    นั่นแหละ แน่นอนเป็นของดีเลิศประเสริฐอย่างนั้น รสชาติของความสงบนั้นแสนอร่อยลึกซึ้ง จึงสมกับนามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

    “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ฯ ความสุขอื่น เสมอด้วยจิตสงบ ไม่มี”

    ต่อแต่นั้น จิตก็ไม่หวั่นไหวในโลก ธาตุขันธ์นี้จะแปรปรวนอย่างไรก็ไม่หวั่นไหว เพราะอาหารของจิต เกิดขึ้นแล้ว ในขณะนั้นก็เพ่ง เพ่งกายนั้น เพ่งอนิจจตา ไม่เที่ยง มันเป็นอย่างไร คือ มันแก่ ทุกขตา เป็นทุกข์ มันเป็นอย่างไร คือมันเจ็บ อนัตตตา เป็นอย่างไร คือ มันตาย นี่เพ่งอนุโลม ปฏิโลม เดินหน้า ถอยหลัง กลับขึ้นกลับลงอยู่อย่างนั้น นั่นแหละ แต่แล้วก็ยังไม่เห็นมรณะ อสุภะ เพราอินทรีย์อ่อน ก็เร่งกันอยู่อย่างนั้น

    ทีนี้ก็ได้ยินเสียงพูดกัน เสียงร้องครางก็มี มองไปข้างหน้าโน้น เห็นผีทั้งหลายยืนอยู่เป็นกลุ่ม ๆ บางตัวก็คอขาด หัวไม่มี มีตาอยู่ที่หน้าอก บางตัวก็มีตาแหกขึ้นข้างบน น่ากลัวนะ แต่เห็นแล้วก็ไม่กลัวทั้งนั้น เพราะอำนาจจิตสงบ ไม่กลัวใครทั้งนั้น ร้อน หิว หนาว ไม่มี ไม่กลัวทั้งนั้น อยากให้ทุกข์เกิดขึ้น เพราะได้เห็นผลของความสงบเยือกเย็นนั้นเกิดจากทุกข์ ถ้าความเพียรมีทุกข์แล้ว ก็ต้องมีผล คือสุขนั้น จะนำธรรมแปลก ๆ มาให้รู้ให้เห็น ถ้าความเพียรอ่อน ติดสุขแล้ว ไม่เห็น ไม่เป็นไป นี่ข้อสำคัญนะ

    จากนั้น ก็กำหนดถามผีเหล่านั้นว่า “พวกท่าน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ?”

    “โอ๋...ท่านเอ๋ย พวกข้าพเจ้าสมัยเมื่อเป็นมนุษย์นั้น วัดไม่เข้า พระเจ้าไม่นบ (ไหว้) ทาน ศีล ภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ ไม่มี ถือศาสนาก็ถือตามเพื่อนบ้านลอยลมไปอย่างนั้น หาขอบเขตความจริงไม่ได้ ข้องดเว้นอย่างจริงจังก็ไม่มี รับพระไตรสรณคมน์ และศีล ๕ ต่อหน้าพระ พอให้หลังก็กินเหล้า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไปเลยตามธรรมดา อยู่กินหลับนอนเหมือนกับวัวกับควายนั่นแหละความดีไม่ห่วงใยอาลัยทั้งนั้น ก็ทำไปตามธรรมดาของโลกที่เขาทำกันอย่างนั้น อ๋อ...โทษที่ไม่มีคอนั้น ก็เพราะไปตัดคอเขา นั่นแหละเป็นเปรต ทั้งหญิงชายก็เป็นอย่างนั้น”

    ถามแล้วก็ได้ความว่า เป็นผี เป็นเปรต มาตั้งแต่เริ่มตั้ง อ.กมลาไสย อยากจะพ้นจากเวรกรรมทุกข์ยากนี้ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร

    นั้นแหละ เมื่อเป็นธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ก็เกิดความสังเวชสลดใจ แล้วก็น้อมมาเป็นเรื่องของตน เขาเป็นอย่างไรก็เพราะความไม่ดีด้วยกาย วาจา จิต นั่นแหละ จึงได้รับผลเป็นอย่างนั้น

    กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์

    กิเลส เป็นเหตุให้ทำกรรมชั่วช้าลามก ด้วยกาย วาจา ใจ ต่อไป กรรมวัฏฏ์ ก็ได้กระทำกรรมชั่วช้านั้น และ วิปากวัฏฏ์ ก็ได้เสวยวิบากแห่งกรรมอย่างนั้น

    ก็น้อมมาเป็นเรื่องของเรา เขาเป็นฉันใด เราก็เป็นฉันนั้น เพราะเหตุใด เพราะแต่ชาติปางก่อนโน้น เราก็คงเป็นอย่างนี้ หรือในชาตินี้ เราประมาทอยู่อีกต่อไป ภพเบื้องหน้าของเราโน้น ถ้าเรายังตัดกระแสของวัฏฏสงสารไม่ได้เมื่อไร จะต้องเป็นเปรตในวัฏฏสงสารอย่างเขานี่

    เปโต แปลว่า เปรต หมายถึง เป็นผู้ต้องเวียนเกิดดับในภพน้อยภพใหญ่ และได้เสวยวิบากอย่างนี้ บางทีก็โชคไม่ดี ไปพบพาลสันดานหยาบ ชักพาให้ทำความชั่วช้าด้วยกาย วาจา ใจ ผิดศีลธรรม เป็นเปรตอย่างนี้ ไม่ได้ตามใจหวังทั้งนั้น อันนี้ข้อสำคัญ สอนตนอย่างนั้น ก็เลยเร่งรีบทำความดีอย่างไม่ลดละ

    พอรุ่งขึ้นตอนกลางวัน ก็ไปศึกษากับ หลวงปู่ทับว่า “ผมจิตสงบเมื่อคืนนี้ ผมทำความเพียรมา ๒ เดือน พอเดือนที่ ๓ นี่จวนจะหมดแล้ว จิตจึงสงบ เมื่อจิตสงบแล้ว เห็นฝูงเปรตทั้งหลาย หญิงชายเต็มไปหมด ผมเองก็ไม่กลัวนะ น้อมมาเป็นพี่เป็นน้องทั้งนั้น แล้วก็ศึกษาเป็นธรรมะสอนผมเองว่า ต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้ หรือที่ผ่านมา อาจจะเคยเป็นอย่างนี้มาแล้ว นั่นแหละ เห็นอย่างนั้นแล้วจะให้ทำอย่างไร”

    หลวงปู่ท่านก็บอกว่า “เห็นแล้ว ก็ให้ซักไซ้ไต่ถามเขา ให้ได้ความสังเวชสลดใจ โอ้...หนอ อนิจจา น่าสังเวช สัตว์บก สัตว์น้ำทุกถ้วนหน้าที่อยู่ในโลกทั้งสาม (กามโลก รูปโลก อรูปโลก) นี่แหละ เพราะทำความชั่วช้าลามกใส่ตนแล้ว ก็ลงสู่อบาย หาความสุขความเจริญไม่มี ก็จะเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วจะได้ไม่ประมาท เร่งรีบสะสมคุณงามความดีใส่ตน ให้รอดพ้นไปจากวัฏฏทุกข์เสีย ถึงแม้ไม่ได้ธรรมขั้นสูง ก็ขอให้ได้ตัดกระแสของวัฏฏสงสาร คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ตัดได้ ๓ อย่างนี้ก็พอแล้ว แปลว่าตัดสงสารได้แล้ว ตัดวัฏฏทุกข์ขั้นต้นได้แล้วแน่นอน อบายไม่ได้ไป ไฟนรกไม่ได้ไหม้ จิตสูง จิตเด่น จิตเลิศประเสริฐแท้ในขั้นนี้” ท่านว่าอย่างนั้น

    นั่นแหละ เป็นเหตุจะได้เป้าหมาย คือ พระนิพพานต่อไปในเบื้องหน้า อบายอย่างเขาไม่มี

    จากนั้น ท่านก็บอกว่า “จงเมตตาเขา ให้เขามารับพระไตรสรณคมน์ และ ศีล ๕ แล้วก็แบ่งส่วนบุญให้เขา เขาจะได้พ้นจากกำเนิดเป็นเปรต แปลว่าเราเป็นผู้มีเมตตาธรรม สงสารให้ส่วนบุญเขา เราก็จะได้อีก คือ ได้สติปัญญา”

    นั่นแหละ ทำความเพียร ขยำกันอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่นั้นมา จิตใจที่กล้าแข็ง ก็อ่อนโยนลง เพราะเห็นสัตว์อื่น มวลมนุษย์ นาค ครุฑ ที่ประพฤติไม่ดีแล้วได้รับผลอย่างนั้น นั่นแหละ จิตนั้นก็ใฝ่ฝันขยันในการทำความเพียร ไม่ลดละ จนกระทั่งออกพรรษา
    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     

แชร์หน้านี้

Loading...