นบพระนวรัฐ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 7 มกราคม 2014.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    พระปฏิมามงคลแผ่นดินพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีจัด นบพระนวรัฐ พระปฏิมามงคลพิเศษ 9 พระองค์ 9 แผ่นดิน มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์



    ที่นี่ร่วมสมัย

    เนติ โชติช่วงนิธิ











    นบพระนวรัฐ
    พระปฏิมามงคลแผ่นดิน


    ทุกปีของช่วงส่งท้ายพุทธศักราช ต่อเนื่องเข้าศักราชใหม่ พุทธศาสนิกชนไทยเดินสายไปตามวัดวาอารามต่างๆ ทำบุญ ไหว้พระเพื่อขอพรสวัสดิมงคลชีวิต

    บางท่านตั้งมั่นเดินสายไหว้พระ 9 วัด ไหว้พระธาตุ 9 องค์

    ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีจัด นบพระนวรัฐ พระปฏิมามงคลพิเศษ 9 พระองค์ 9 แผ่นดิน มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (วังหน้า) กรุงเทพฯ (ตรงข้ามสนามหลวง) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไหว้พระวังหน้า วันนี้ไปจนถึง 26 มกราคม 2557 (9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นของทุกวัน) ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบนมัสการ สวัสดิมงคลชีวิตแก่ตนเองและครอบครัว

    พระปฏิมามงคลพิเศษ 9 พระองค์ 9 แผ่นดิน สร้างด้วยวัตถุมงคล มีรูปแบบศิลปกรรมงดงามต่างกันไปของแต่ละองค์แต่ละยุคสมัย ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์มีการหมุนเวียนจากปีที่แล้ว ที่ยังคงหลักๆ 5 องค์ พระพุทธสิหิงค์ (ศิลปะสุโขทัย) พระไภษัชยคุรุ (ศิลปะลพบุรี) พระหายโศก(ศิลปะล้านนา) พระพุทธรูปมารวิชัย (ศิลปะอยุธยา) พระหยกรัสเซีย (รัตนโกสินทร์) ซึ่งในปีใหม่นี้มี 4 องค์ที่ยังมิได้นำมาให้พุทธศาสนิกชนได้กราบนมัสการ ขอนำเสนอสังเขปนี้โดยข้อมูลภัณฑารักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ



    พระพุทธรูปยืนแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) ศิลปะอินเดียแบบอมราวดีตอนปลาย หรือศิลปะลังกา สมัยอนุราธปุระตอนปลาย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 ประวัติ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้มาจากเมืองนครราชสีมา

    พระปฏิมาองค์นี้สร้างขึ้น ใช้ขจัดความหวาดกลัวและปกป้องคุ้มครองภัยแก่ผู้สักการะ ซึ่งในสมัยก่อน พ่อค้า ชาวเรือ หรือนักบวชได้นำติดตัวจากอินเดียหรือลังกามายังดินแดนสุวรรณภูมิ เพื่อคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ในการเดินทาง (เด่นดาว ศิลปานนท์)



    พระพุทธรูปประทานธรรม ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 ประวัติ ขุดพบในเจดีย์องค์ใหญ่ วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (15 ก.พ. 2475)
    ในสมัยทวารวดี พระพุทธรูปปางประทานธรรมหรือแสดงวิตรรกมุทรา เป็นสัญลักษณ์ของคาถาอริยสัจ “เย ธมฺมาฯ” ถือเป็นคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา มีเนื้อความว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณติ ฯ แปลว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ (หมายถึง ทุกข์ ผลที่เกิดมาจากเหตุ)

    พุทธศาสนิกชนจึงนับถือกันว่า พระคาถาเย ธมฺมาฯ เป็นธรรมอันวิเศษ จึงนิยมจารึกไว้เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาให้เผยแพร่ออกไป ในสมัยทวารวดีมักพบคาถานี้ปรากฏอยู่บนพุทธเจดีย์ต่างๆ ดังเช่น พระพิมพ์ ธรรมจักร พระสถูป เป็นต้น

    การบูชาพระพุทธรูปปางนี้ จึงเปรียบเสมือนการได้สดับพระธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาจากพระพุทธองค์ ถือเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต (อลงกรณ์ จารุธีรนาท)



    พระธยานิพุทธไวโรจนพุทธะ ศิลปะศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 14 – 15 ประวัติพบที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มณฑลนครราชสีมา ขุนภูมิพยัคเขต นายอำเภอ มอบให้เมื่อ พ.ศ. 2470
    พระนาม “ไวโรจนะ” หรือ “วิโรจนะ” แปลว่า ผู้รุ่งโรจน์ หมายถึง ดวงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่ชาวโลก เปรียบดังผู้มีธรรมะเป็นประทีปส่องสว่างแก่โลกนั่นเอง

    พระธยานิพุทธไวโรจนะ ทรงเป็นในพระธยานิพุทธพระองค์แรกในกลุ่มพระธยานิพุทธทั้ง 5 ของศาสนาพุทธแบบมหายาน ซึ่งประทับอยู่ ณ พุทธเกษตรหรือดินแดนแห่งพระพุทธเจ้า ตามทิศต่างๆ

    มนตร์บทสำคัญที่ใช้บูชาพระธยานิพุทธไวโรจนะ คือ มนตร์แห่งแสงสว่าง ช่วยขจัดปัดเป่าความมืดบอดทางปัญญา และช่วยให้สัตว์โลกหลุดพ้นจากสังสารวัฏ “โอม อโมฆะ ไวโรจนะ มหามุทรา มณิปัทมะ ชวาละ ประวรรตตยา หูม” (ศุภวรรณ นงนุช)



    พระชัยเมืองนครราชสีมา ศิลปะอู่ทอง พุทธศตวรรษที่ 19 – 20 ประวัติ ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย
    พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งสมาธิราบบนฐานเตี้ย มีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี รูปแบบอักษรประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 ที่องค์พระโดยรอบ

    คำว่า จะ ภะ กะ สะ โบราณเรียกว่า คาถากาสลัก ในคัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะ แต่งโดยท่านรัตนปัญญาเถระ ให้ความหมายไว้ว่า กำเนิดจาก พุทธธรรมมงคลสูงสุด 38 ประการ อักษรแต่ละตัว ย่อจากพุทธสุภาษิต ด้านหลังตามแนวสังฆาฏิ ตั้งแต่พระอังสากุฎด้านซ้ายลงมา จารึกอักษร 5 ตัว คือ น โม พุทฺ ธา ย

    คำว่า “นโม พุทฺธาย” นั้น เป็นคาถาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ จารึกย่อนามพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ที่ทรงอุบัติในภัทรกัลป์นี้

    การที่ใช้นามของพระพุทธเจ้าเขียนเป็นพระคาถาในยันต์ของพระเกจิอาจารย์แต่ละองค์จึงนิยมคำว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” มาใช้เป็นพระคาถาและเรียกว่า คาถาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ หรือ แม่ธาตุใหญ่ มีพุทธคุณเหนือยันต์ทั้งปวง รวมทั้งมีความเชื่อสืบต่อกันว่า ผู้ใดที่ท่องหรือบริกรรมพระคาถาบทนี้ด้วยจิตอันสงบและมั่นคงแล้ว จะมีพุทธคุณคุ้มครองครอบจักรวาล

    พระชัย หรือ พระไชย เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่บรรพกาล ปรากฏในพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นต้นมา

    พระชัย มีความหมายว่า ชัยชนะ เนื่องด้วยแต่เดิมมีความมุ่งหมายเพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อชัยชนะ สร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีความหมายว่าปราบมารได้ชัยชนะ ต่อมาพระชัยยังได้อัญเชิญใช้ในพิธีกรรม เรียกว่าพระชัยพิธี สำหรับขจัดมาร อุปสรรค อำนวยให้พิธีกรรมสำเร็จผล (ดิษพงษ์ เนตรล้อมวงศ์)

    นบพระนวรัฐ พระปฏิมามงคลพิเศษ
    ข่าวพระปฏิมามงคลแผ่นดิน | Siamrath.co.th
     

แชร์หน้านี้

Loading...