บทความให้กำลังใจ(ความคิดที่ต้องเปลี่ยนแปลง)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    คนสมัยนี้ก็เหมือนกัน โดยเฉพาะเด็กสมัยนี้แทบไม่รู้อะไรเลยว่า อาหารหรือปัจจัย ๔ที่ตนเองใช้บริโภคนั้นสัมพันธ์หรือผูกโยงกับธรรมชาติอย่างไร ถ้าเราเปิดใจหรือไตร่ตรองสักนิดก็จะพบว่า ธรรมชาติมีคุณค่ากับเรามากมาย มีคุณค่าขนาดที่ว่าเรายังไม่ทันได้ใช้ ไม่ทันได้สัมผัส ไม่ทันได้ใส่ปาก เราก็ได้ประโยชน์จากธรรมชาติแล้ว ประโยชน์ของธรรมชาตินั้นมีหลายระดับ
    เริ่มตั้งแต่ ด้านสุขภาพ มีการศึกษาวิจัยพบว่า มนุษย์เราจะมีสุขภาพดีขึ้นเพียงแค่ได้เห็นธรรมชาติ
    มีงานวิจัยศึกษาเปรียบเทียบคนไข้ที่ผ่านการผ่าตัดใหญ่ เขาพบว่าคนไข้เหล่านี้เมื่อพักฟื้นที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านก็ดี ถ้าได้เห็นธรรมชาติจากทางหน้าต่าง จะหายเร็วขึ้น กินยาแก้ปวดน้อยลง ขณะที่คนไข้ที่ผ่าตัดแล้วอยู่ในห้องที่มีกำแพงสี่ด้าน ไม่เห็นธรรมชาติเลย แผลผ่าตัดจะหายช้า และกินยาแก้ปวดมากกว่า
    มีการศึกษานักโทษที่มีความเจ็บป่วยเพราะความเครียด นักโทษอยู่ในที่แออัดจะเครียดและป่วยง่าย การศึกษาพบว่าถ้านักโทษมีโอกาสได้เห็นธรรมชาติ อย่างที่เราเห็นตรงนี้ แม้จะเป็นธรรมชาติที่ผ่านการปรุงแต่งของมนุษย์มาแล้ว เขาก็จะมีความเครียดน้อยลง หายจากความเจ็บป่วยเพราะโรคเครียด
    เคยมีการทดลองให้คนทั่วไปดูภาพที่น่ากลัว เช่น ภาพอุบัติเหตุ ภาพคนตาย ภาพสยดสยอง เขาพบว่า คนที่เห็นภาพนี้จะตื่นตกใจ มีความเครียด ลมหายใจเปลี่ยนไป กล้ามเนื้อเกร็ง แต่พอเปลี่ยนให้เขาดู VDO ที่เป็นภาพป่า ภาพธรรมชาติ ความเครียดของคนเหล่านั้นจะหายอย่างรวดเร็ว ลมหายใจจะกลับมาเป็นปกติอย่างรวดเร็ว อันนี้แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติมีคุณูปการต่อจิตใจและสุขภาพของเรามาก

    ความสัมพันธ์ของธรรมชาติและสุขภาพเป็นเรื่องที่รู้กันมานาน โดยที่ยังไม่ต้องกินผัก กินสมุนไพร เพียงแค่ได้เห็นจิตใจก็สบาย สุขภาพดีขึ้น เพราะฉะนั้น คนป่วยก็ดี คนที่มีความเครียดก็ดีมีความจำเป็นมากที่จะได้อยู่ใกล้หรือได้เห็นธรรมชาติ
    น่าเสียดายปัจจุบันเราไม่ค่อยมีธรรมชาติให้เห็นมากนักในเมือง ถ้าช่วยกันฟื้นฟูให้เมืองมีสีเขียวมากขึ้น คนจะมีความสุขมากขึ้น เครียดน้อยลง ทะเลาะเบาะแว้งกันน้อยลง สิ่งแวดล้อมมีส่วนในการกล่อมเกลา จิตใจของเราให้สงบ เมื่อใจสงบแล้ว ก็น้อมไปในทางทำความดีได้ง่ายขึ้น

    มนุษย์กับธรรมชาติแยกจากกันไม่ออก เพราะเรามีความผูกพันกับธรรมชาติมาตลอดจนเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้ ถ้าเราไกลธรรมชาติเมื่อไหร่ เราจะโหยหาธรรมชาติ อาจเป็นเพราะว่ามนุษย์เรามีความเป็นมาผูกพันกับธรรมชาติมาช้านานตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการเลยก็ได้ เคยมีการวิจัยศึกษาผู้คนในวัฒนธรรมต่างๆ ตั้งแต่อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ไปจนถึงแอฟริกา และเอเซีย สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ ภาพที่สะดุดใจหรือดึงดูดใจของคนทุกวัฒนธรรมก็คือภาพธรรมชาติ โดยเฉพาะภาพทุ่งหญ้าโล่ง มีต้นไม้ประปราย มีลำห้วย ลำธารไหลผ่าน ที่น่าคิดก็คือภาพดังกล่าว คล้ายๆ กับทุ่งหญ้าสะวันนา ในแอฟริกา อาจเป็นเพราะมนุษย์เรากำเนิดมาจากที่นั่น มนุษย์สมัยใหม่เกิดที่แอฟริกาเมื่อหลายหมื่นปีก่อน แล้วเดินทางข้ามทวีป มาจนถึงตะวันออกไกล ตอนหลังมาจนถึงอเมริกา ความที่เราถือกำเนิดมาท่ามกลางธรรมชาติ เราจึงมีความผูกพัน กับธรรมชาติ เป็นความผูกพันที่ฝังอยู่ในยีน เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนในวัฒนธรรมไหนก็รักธรรมชาติ

    ปัจจุบันธรรมชาติกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเพราะว่า ธรรมชาติกำลังเหลือน้อยลงเนื่องจากถูกทำลายมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย การที่ผู้คนกลัวภัยพิบัติในปี 2012 ก็เป็นผลจากการที่เราเราทำลายธรรมชาติกันมาช้านาน อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่ควรทำก็คือช่วยกันทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเฉพาะสิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูธรรมชาติ นั่นคือการเอาทุนที่ได้จากการทอดผ้าป่า ไปเป็นทุนปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูป่าใน 12 พื้นที่ ถึงแม้ว่าต้นไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นยา แต่ก็ไม่ใช่ประเภทไม้พุ่ม ไม้เลื้อย แต่เป็นไม้ยืนต้น ซึ่งจะก่อให้เกิดอานิสงส์มากมาย นอกจากเป็นยาแล้ว ยังให้น้ำให้อากาศ ให้ความสุขเมื่อเราได้มองเห็น ให้ความสงบเย็นเมื่อเราได้อยู่ในร่มไม้

    คุณประโยชน์ของยา เป็นส่วนหนึ่งที่ได้จากธรรมชาติ ถ้าจะว่าไปแล้วไม่มีต้นไม้ไหนเลยที่ไม่เป็นยา อันนี้คนโบราณเขารู้กันมานานแล้ว มีเกร็ดสมัยพุทธกาลว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นหมอประจำตัวของพระพุทธเจ้า ตอนฝึกเป็นหมอยา อาจารย์ให้ไปในป่า แล้วให้ดูว่าต้นไม้ต้นไหนที่ไม่ใช่ยา เมื่อท่านไปดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็พบว่าไม่มีต้นไหนเลยที่ไม่เป็นยา แม้กระทั่งวัชพืช ก็เป็นยาเหมือนกัน แม้ต้นไม้ที่มีพิษก็เป็นยาถ้ารู้จักใช้ อันนี้เป็นเป็นเกร็ดจากพุทธประวัติที่ชี้ให้เห็นว่า ต้นไม้ทุกต้น ต้นไม้ทุกชนิดมีประโยชน์ทางเภสัช มีความเป็นยาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นี่ขนาดเรายังมีความรู้ไม่มาก เรายังสามารถบอกได้ว่าต้นไม้นับพันชนิดเป็นยา ถ้าเรามีความรู้มากขึ้น ถึงระดับยีนของพืชพันธุ์ต่าง ๆ เราก็จะยิ่งพบความอัศจรรย์ของต้นไม้ ต้นไม้บางชนิดหรือบางส่วนที่ไม่น่าจะมีคุณสมบัติในทางเภสัชเลย แต่ว่ายีนของมันมีประโยชน์ในการรักษาโรคได้ เชื่อว่า แม้แต่โรคมะเร็ง หรือเอดส์ ต้นไม้บางชนิดก็สามารถทำเป็นยารักษาได้ เพียงแต่ว่าตอนนี้ความรู้ของเรายังมีไม่พอว่าเป็นต้นไม้ หรือส่วนของต้นไม้ชนิดใดบ้างที่รักษาโรคเหล่านี้ได้

    เพราะฉะนั้นไม่มีวิธีใดดีกว่าการอนุรักษ์ต้นไม้เอาไว้ อย่าให้สูญพันธุ์ ที่ใดที่เคยเป็นป่าและเสื่อมสภาพไป ก็ช่วยกันปลูกให้มีมากขึ้น รวมทั้งปลูกที่บ้านของเราด้วย ถ้าพวกเราร่วมกันคนละไม้ คนละมือ รักษาป่าไว้ ก็จะเป็นการรักษาขุมทรัพย์ให้เป็นประโยชน์กับลูกหลาน ปัจจุบันนี้ความหลากหลายทางชีวภาพ กลาย เป็นสินทรัพย์ที่หาค่ามิได้ ไม้บางชนิดที่คนไทยมองข้ามไป สามารถผลิตเป็นยาให้รายได้เป็นพันล้านหมื่นล้านก็มี เช่น ต้นเปล้าน้อย ที่ญี่ปุ่นทำเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร มันก็มีคุณค่าวัดเป็นตัวเงินได้นับพันล้านหมื่นล้าน แต่ต้นไม้เหล่านี้เราไม่เห็นประโยชน์จนกระทั่งต่างประเทศมาทำเงินมหาศาลจากมัน ยังมีอีกมากมายที่เรา ยังไม่เห็นค่า มองข้ามหรือไม่มีความรู้ แต่ถ้าคนรุ่นหลังเขาเกิดมีความรู้ เห็นคุณค่าขึ้นมา และพบว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีการอนุรักษ์ไว้ในบ้านเมืองของเรา ในป่าผืนต่างๆ ของเรา เขาจะขอบคุณคนรุ่นเรา ที่ช่วยอนุรักษ์สมบัติอันมีค่าเหล่านี้ไว้ให้เขาได้ใช้ประโยชน์ ใครจะไปรู้ว่าต่อไปมันอาจมีประโยชน์มีค่า คิดเป็นตัวเงินมากกว่าน้ำมันก็ได้

    ดังนั้นขอให้เราร่วมกันอนุโมทนาบุญในการทอดผ้าป่าครั้งนี้
    :- https://visalo.org/article/NaturePhaPa55.htm

     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เปลี่ยนวิธีคิด พลิกวิกฤตสิ่งแวดล้อม
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อเรามองท้องฟ้ายามค่ำคืนอันเงียบสงัด ดวงดาวที่ส่องแสงระยิบระยับเต็มฟ้า ไม่เพียงน้อมใจให้สงบ หากเรายังได้สัมผัสกับความงามอันลึกล้ำของธรรมชาติ ในยามนั้นเราอาจตระหนักถึงความเล็กกระจิดริดของตัวเราเอง เพราะความมโหฬารของจักรวาลได้ปรากฏต่อหน้าเราอย่างเต็มตา ขณะที่อายุขัยของเรากลับมีค่าเพียงชั่วกะพริบตาเมื่อเทียบกับกาลเวลากว่าหมื่นล้านปีของเอกภพ เพียงแค่ระยะห่างนับล้านปีแสงของดาวบางดวงที่เราเห็น ก็ทำให้ประวัติศาสตร์แค่พันปีของชาติเรากลายเป็นเศษเสี้ยวของจักรวาลไปในทันที

    แต่ธรรมชาติไม่ว่าจะยิ่งใหญ่มโหฬารเพียงใด ก็ยังเล็กกว่าสิ่ง ๆ หนึ่ง นั่นคือความรู้สึกว่าเป็น “ของฉัน” ความรู้สึกว่าเป็น “ของฉัน” นั้นไม่เคยมีขอบเขต มันสามารถแผ่ไปครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ได้ ไม่เว้นแม้แต่ตัวจักรวาลเอง ไม่สำคัญว่าเราจะเคยไปเดินเหินบนดาวดวงไหนหรือไม่ ทันทีที่เราเห็นบนพื้นโลก หรือจากกล้องโทรทัศน์ เราก็ทึกทักว่ามันเป็น “ของฉัน”ทันที ด้วยเหตุนี้ สุริยจักรวาลจึงเป็นของฉัน ดาราจักร(galaxy)จึงเป็นของฉัน ทางช้างเผือกจึงเป็นของฉัน ไม่มีอะไรในจักรวาลนี้ที่ใหญ่จนความรู้สึกว่า “ของฉัน”คลุมไปไม่ถึง


    ด้วยเหตุนี้มนุษย์เราจึงถือสิทธิที่จะเข้าไปทำอะไรก็ได้กับทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ นี้คือทัศนคติสำคัญที่ขับเคลื่อนมนุษยชาติตลอดมา โดยเฉพาะในช่วง ๔ ศตวรรษที่แล้ว จริงอยู่เมื่อมนุษย์ยังมีอำนาจน้อย เราย่อมหวาดกลัวธรรมชาติ จนเกิดศาสนาขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งและปกป้องมนุษย์จากภัยนานาชนิดในธรรมชาติ แต่เมื่อเรามีความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น ก็เริ่มเชื่อมั่นในอำนาจของตนเองขึ้นมา จนไม่เพียงเอาชนะสัตว์ร้ายรอบตัวเท่านั้น หากยังเหิมเกริมถึงขั้นที่จะเป็นนายเหนือธรรมชาติ และนี้คือจุดมุ่งหมายของศาสตร์ต่าง ๆ ในตะวันตกนับแต่ศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา ดังเดส์กาตส์ บิดาแห่งปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ได้เคยกล่าวว่า “เมื่อรู้จักธรรมชาติและพฤติกรรมของไฟ น้ำ อากาศ ดวงดาว สวรรค์ และสิ่งรอบตัว....เราย่อมสามารถใช้ความรู้เหล่านี้เพื่อเป้าหมายอเนกอนันต์ ดังนั้นจึงทำให้เราเป็นนายและผู้ครอบครองธรรมชาติ” แต่ฟรานซิส เบคอน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ร่วมสมัยเดียวกับเดส์กาตส์ พูดชัดเจนกว่านั้นอีกว่า ความรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องแสวงหาและเพิ่มพูน ทั้งนี้เพื่อกดธรรมชาติให้เป็น “ทาส” และ “รับใช้”มนุษย์ รวมทั้งเพื่อ “ทรมาน” และ “ไล่ล่าไม่หยุดหย่อน”เพื่อให้ธรรมชาติเปิดเผยความจริงออกมาให้มากที่สุด

    นับแต่นั้นมาการผลาญทำลายธรรมชาติจึงเกิดขึ้นอย่างมโหฬาร ไม้ถูกตัด สัตว์ถูกฆ่า ป่าถูกทำลายแทบทุกหนแห่ง อย่างไม่เคยมีมาก่อน หญิงแก่ชาวอินเดียนแดงเผ่าวินตูในแคลิฟอร์เนียได้พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อชาวอเมริกันเข้ามาทำลายแผ่นดินของเธอเพื่อทำเหมืองทอง

    “คนขาวไม่เคยเอาใจใส่แผ่นดิน กวาง หรือหมีเลย เวลาเราชาวอินเดียนฆ่าสัตว์ เราจะกินเนื้อให้หมด เวลาเราขุดเอาราก เราจะขุดดินเป็นหลุมเล็ก ๆ เวลาเราสร้างบ้าน เราจะทำช่องเล็ก ๆ เวลาเราเผาหญ้า เราจะไม่ทำลายจนพินาศ เราจะเขย่าต้นไม้เมื่อต้องการลูกโอ๊กและลูกสน แต่จะไม่โค่นทั้งต้น เราใช้แต่ไม้ที่ตายแล้ว แต่คนขาวจะขุดดินเป็นหลุมใหญ่ โค่นไม้ทั้งต้น ฆ่าทุกอย่าง ต้นไม้บอกว่า “อย่า ฉันเจ็บ อย่าทำร้ายฉัน” แต่พวกเขาก็ยังโค่นและตัดต้นไม้ วิญญาณของแผ่นดินเกลียดพวกเขา พวกเขาห้ำหั่นต้นไม้และถอนทั้งรากทั้งโคน พวกเขาเลื่อยต้นไม้เป็นแผ่น ๆ การทำเช่นนั้นเป็นการทำร้ายต้นไม้ ชาวอินเดียนไม่เคยทำร้ายสิ่งใด แต่คนขาวทำลายทุกอย่าง พวกเขาระเบิดหินจนกระจายไปทั่วผืนดิน ก้อนหินพูด “อย่า เธอกำลังทำร้ายฉัน” แต่คนขาวไม่สนใจ ...ทุกแห่งที่คนขาวไปถึงมีแต่ความเจ็บปวด”

    ทัศนคติและพฤติกรรมดังกล่าว ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่มนุษย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวได้ว่าอารยธรรมสมัยใหม่ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยวัตถุเกิดขึ้นจากทัศนคติที่มุ่งครอบครองและเป็นนายเหนือธรรมชาติ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือธรรมชาติถูกพร่าทำลายอย่างยับเยิน จนกระทั่งส่งผลเสียต่อมนุษย์ เช่น เกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง มลพิษ และทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลน ถึงตอนนี้จึงเริ่มมีการพูดถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ถึงแม้ธรรมชาติจะได้รับการดูแลมากขึ้น ศูนย์กลางก็ยังอยู่ที่มนุษย์เหมือนเดิม ดังนักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้หนึ่งให้นิยามว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติ คือ “การดูแล ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อป้องกันมิให้ร่อยหรอ สูญเปล่าหรือถูกทำลาย เพื่อว่ามนุษย์จะสามารถใช้มันได้ในยามต้องการตลอดกาลนาน” ภายใต้แนวความคิดดังกล่าว การอนุรักษ์จึงมีความหมายรวมถึงการดัดแปลง ตกแต่ง หรือ “พัฒนา” ธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เอง

    แนวความคิดดังกล่าว พูดอย่างสรุปก็คือมองว่า ธรรมชาตินั้นเป็น “ของฉัน” จึงต้องควบคุมโดยฉัน และเพื่อฉัน แต่ลืมมองความจริงอีกด้านหนึ่งว่า มนุษย์เรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ตั้งแต่เกิดจนตาย เราไม่สามารถแยกตัวออกจากธรรมชาติได้เลย เราทำอย่างไรกับธรรมชาติ ในที่สุดก็ส่งผลย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง หากเราย่ำยีธรรมชาติ นอกจากส่งผลกระเทือนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเราแล้ว ยังก่อผลร้ายต่อจิตใจของเราเอง กล่าวคือทำให้เราเห็นแก่ตัวมากขึ้น จิตใจหยาบกระด้างยิ่งกว่าเดิม ใช่หรือไม่ว่าวันนี้เราทำลายต้นไม้และสิงสาราสัตว์ พรุ่งนี้ก็อดไม่ได้ที่จะต้องทำลายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คำกล่าวของหญิงอินเดียนแดงข้างต้น สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงจิตนิสัยของคนที่ไม่เห็นคุณค่าของธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็เหมือนจะบอกต่อไปว่า หลังจากที่คนขาวทำลายธรรมชาติที่ขวางหน้าแล้ว เหยื่อรายต่อไปก็คือชาวอินเดียนแดง

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ค้นพบใหม่ในชั่วไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เราเริ่มตระหนักว่า มนุษย์และทุกชีวิตอยู่ได้ก็เพราะการพึ่งพาอาศัยกัน นอกจากอากาศที่เราหายใจทุกเวลานาทีจะได้มาจากต้นไม้และมหาสมุทรแล้ว พลังงานที่หล่อเลี้ยงทุกเซลล์ในตัวเรายังได้มาจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่อยู่ในร่างกายของเรามาตั้งแต่เกิด คือไมโตคอนเดรีย จะว่าไปในแต่ละเซลล์ของเรายังมีชีวิตอื่นอีกหลายชนิดที่ผสานแนบแน่นจนไม่อาจแยกจากเราได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ ขณะเดียวกันระบบนิเวศน์ก็อยู่ในตัวเราด้วย ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กับภูเขา ป่าไม้ หมู่เมฆ ลำธาร มหาสมุทร ไปจนถึงดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ มนุษย์กับธรรมชาติเชื่อมโยงสัมพันธ์แนบแน่น จน
    เราไม่อาจขีดเส้นแบ่งระหว่างเรากับธรรมชาติได้ การถือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง โดยมีธรรมชาติคอยรับใช้เรานั้น นอกจากจะสะท้อนความเห็นแก่ตัวแล้ว ยังเป็นทัศนคติที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอีกด้วย

    จักรวาลนั้นเป็นเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์อันซับซ้อน ความสัมพันธ์ดังกล่าวเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าหากัน และทำให้ชีวิตของเรามิอาจแยกจากธรรมชาติหรือสรรพสิ่งในจักรวาลได้ ติช นัท ฮันห์ ได้กล่าวถึงสหสัมพันธ์ของสรรพสิ่งได้อย่างงดงามว่า

    “เมื่อคุณมองเก้าอี้ตัวนี้ คุณเห็นป่าไม้อันเป็นที่มาของไม้ที่ใช้ทำเก้าอี้ตัวนี้ไหม คุณเห็นดวงอาทิตย์ซึ่งสาดส่องป่าไม้ และหมู่เมฆซึ่งโปรยฝนบำรุงเลี้ยงป่าไหม คุณเห็นคนตัดไม้และครอบครัวของเขาไหม และข้าวที่เลี้ยงชีวิตของพวกเขาล่ะ คุณเห็นทั้งหมดนี้ในเก้าอี้ตัวนี้ไหม เก้าอี้ประกอบด้วยสรรพสิ่งที่มิใช่เก้าอี้ คุณเห็นดวงอาทิตย์ในหัวใจของคุณไหม เห็นบรรยากาศในปอดของคุณไหม สรรพสิ่งล้วนดำรงอยู่ในสภาพที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และต่างเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน”

    เมื่อมองโลกด้วยความตระหนักถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับสรรพชีวิตและสรรพสิ่ง เราจะเห็นผู้คนและชีวิตต่าง ๆ รวมทั้งธรรมชาติด้วยสายตาที่เป็นมิตรมากขึ้น มีความอ่อนโยนและเมตตากรุณายิ่งกว่าเดิม การดำเนินชีวิตของเราจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง ด้วยความรู้สึกอ่อนไหวต่อความทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้อื่นหรือชีวิตอื่น เราจะไม่ถือเอาความสะดวกสบายหรือความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุเป็นพระเจ้าอีกต่อไป เพราะรู้ดีว่าการกระทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งรอบตัวอย่างไรบ้าง การนึกถึงผู้อื่นและชีวิตอื่นมากขึ้น จะทำให้ตัวตนของเราเล็กลง และมีจิตใจที่โปร่งเบามากขึ้น ถึงตอนนั้นจะพบว่าความสุขนั้นเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอิงวัตถุหรือสิ่งเสพแม้ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายก็มีความสุขได้ เพราะถึงที่สุดแล้วสุขแท้นั้นอยู่ที่ใจเราแล้ว นี้คือธรรมชาติอีกด้านหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไป จนทำให้ผู้คนหมกมุ่นกับการแสวงหาความสุขจากนอกตัว ส่งผลให้เกิดการเบียดเบียนธรรมชาติและผู้คนไม่รู้จบ

    ธรรมชาติภายนอกกับธรรมชาติภายในนั้นมิอาจแยกจากกัน ธรรมชาติภายนอกที่สงบสงัดร่มรื่น ย่อมก่อให้เกิดความรื่นรมย์สงบสุขแก่ธรรมชาติภายใน เมื่อใดที่ได้สัมผัสกับประสบการณ์ดังกล่าว เราจะเห็นคุณค่าของธรรมชาติภายนอก และไม่ถือตัวอย่างยโสโอหังว่าธรรมชาติภายนอกคือข้าทาสที่ต้องรองรับความปรารถนาของเรา
    วิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่ามลภาวะที่แพร่ระบาด ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ รวมถึงปัญหาโลกร้อน ซึ่งกำลังแสดงตัวเด่นชัดขึ้นทุกที โดยเนื้อแท้แล้วเป็นวิกฤตการณ์ด้านจิตวิญญาณ ที่เกิดจากทัศนคติที่ผิดพลาดในการมองโลกและชีวิต การเปลี่ยนแปลงทัศนคติดังกล่าว จนเห็นสหสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติ และเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติภายนอกกับธรรมชาติภายใน คือกุญแจสำคัญที่จะนำมนุษย์ออกจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้อย่างแท้จริง หากมนุษยชาติไปไม่ถึงจุดนั้น อนาคตก็ดูมืดมนเต็มที
    :- https://visalo.org/article/NaturePleanvitikid.htm





     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เสียของ – ของเสีย
    พระไพศาล วิสาโล
    เมืองไทยสมัยก่อน วัดวาอารามมีให้เห็นทุกมุมเมือง แต่เวลานี้ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนของเมืองสิ่งที่เห็นจนเจนตา ย่อมได้แก่ศูนย์การค้าอย่างไม่ต้องสงสัย มิใช่แต่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่ศูนย์การค้าได้กลายเป็นตัวกำหนดภูมิทัศน์ของเมืองไปแล้ว แม้เมืองใหญ่น้อยทั้งหลายในอีก ๗๕ จังหวัดก็เห็นจะขาดสิ่งนี้เสียไม่ได้แล้ว แม้บางเมืองจะไม่มีกำลังสร้างอาคารทันสมัยหรือตึกสูงหลายชั้นติดแอร์เย็นฉ่ำ แต่ก็ต้องหาทางเนรมิตตึกแถวในตลาดให้กลายเป็นศูนย์การค้าให้ได้ โดยเรียกอย่างโก้หรูว่า “อาเขต” เพื่อไม่ให้น้อยหน้าที่อื่น

    พร้อมๆ กับศูนย์การค้า ร้านค้าอย่างใหม่ก็กำลังไล่ตามมาในรูปร้านมินิมาร์ท เชนสโตร์ แม้แต่ร้านชำก็เปลี่ยนรูปแปลงโฉมให้เป็นคอนวีเนียนท์สโตร์ เสียจนทั่วกรุง แต่นอกจากร้านค้าแล้ว มีใครเคยนึกไหมว่าร้านอาหารก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีอยู่เกลื่อนเมือง จนกระทั่งเวลานี้แม้แต่ในหมู่บ้านหลายแห่งก็เปิดร้านอาหารกันแล้วทั้งๆ ที่มีคนอยู่ไม่ถึงร้อยครัวเรือน กรุงเทพฯ เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ตลาดโต้รุ่งมีไม่กี่แห่ง แต่ปัจจุบันอย่าว่าแต่กรุงเทพฯ เลย มีมุมไหนของหัวเมืองใดบ้างที่ปลอดร้านอาหารโต้รุ่ง

    มักพูดกันว่าคนไทยนั้นไม่ค่อยจริงจังกับอะไรเท่าไร ข้อนี้เห็นจะต้องเถียง เพราะอย่างน้อยก็มีอย่างหนึ่งที่คนไทยเอาจริงเอาจังอย่างยิ่ง นั่นคือการกินและจับจ่ายใช้สอย แม้จะดึกดื่นเพียงใดเราก็ยังแบกสังขารไปร้านอาหารหรือเสพสุรากันได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่คนต่างชาติเวลามาเมืองไทยย่อมอดสะดุดใจไม่ได้ที่คนไทยช่างมีความสุขกับการกินและการช็อปปิ้งเหลือเกิน

    ไม่ว่าคณะกรรมการเอกลักษณ์ไทยจะมีทัศนะอย่างไร แต่ถึงวันนี้เห็นจะต้องยอมรับว่าการใฝ่เสพใฝ่บริโภคได้กลายเป็นลักษณะประจำชาติไทยไปแล้ว กระนั้นก็ตามเอกลักษณ์ดังกล่าวหาใช่นิสัยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณอย่างที่มักเข้าใจกันไม่ เมื่อนิโคลาส์แชรแวสมาเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์เขาประทับใจอย่างมากกับความสมถะของคนไทย ดังได้บันทึกว่า “ไม่มีชนชาติใดที่จะบริโภคอาหารอดออมเท่าคนสยาม สามัญชนดื่มแค่น้ำเท่านั้น แล้วก็กินข้าวหุง ผลไม้ ปลาแห้งเล็กน้อย แล้วยังกินไม่ค่อยจะอิ่มท้องเสียด้วย ชนชั้นสูงก็มิได้บริโภคดีไปกว่านี้ ทั้งที่สามารถจะซื้อหามาบริโภคได้ตามปรารถนา”

    ชาวตะวันตกคนอื่นๆ ก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน การที่คนไทยมัธยัสถ์เช่นนั้นมิใช่เพราะอาหารมีน้อย แท้ที่จริงกลับตรงข้าม แชรแวสบรรยายว่า “ปลานั้นชุกชุมมากเหลือเกิน จับชั่วโมงหนึ่งพอกินได้ไปหลายวัน” แต่แล้วคนไทยกลับพอใจที่จะกินปลาแห้งและปลาร้ายิ่งกว่าปลาสดทั้งๆ ที่หาได้ง่ายมาก ความข้อนี้สอดคล้องกับบันทึกของลาลูแบร์ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยกับแชรแวส “แม่น้ำลำคลองก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา ส่วนใหญ่เป็นปลาไหลตัวงามๆ แต่ชาวสยามไม่สู้จะนิยมบริโภคปลาสดกันนัก” บาทหลวงเดอชัวซีย์ ซึ่งมาเจริญทางพระราชไมตรีสมัยพระนายราณ์ก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า “(ปลา)มีอยู่เป็นอันมากในแม่น้ำ เวลาลงอาบน้ำมักว่ายมาชนแข้งชนขาเรา นี่เป็นความจริงอย่างยิ่งทีเดียว”

    นอกจากปลาแล้ว สัตว์ชนิดอื่นก็มีอยู่มาก แต่คนไทยก็หาได้ไล่ล่ามาเป็นอาหารไม่ ดัง
    ลาลูแบร์บันทึกว่า “ในกรุงสยาม มีสัตว์ป่าที่จะเป็นอาหารอยู่เป็นอันมากและสัตว์เลี้ยงที่เป็นอาหารได้ก็มีอยู่มาก เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่และนก แต่ชาวสยามไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์อื่นใดนอกจากปลา” แม้หลังจากนั้นถึง ๒๐๐ ปี ในสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คาร์ล ซิมเมอร์แมนก็ประสบพบเห็นสิ่งเดียวกัน ภายหลังการสำรวจสภาพชนบทกว่า ๓๐ จังหวัดในเวลา ๑ ปี เขาตั้งข้อสังเกตว่า “แม้ในที่ต่างๆ มีอาหารหลายอย่างบริบูรณ์ หรือในที่ซึ่งชาวจีนฆ่าสัตว์ขาย ราษฎรก็ไม่สู้นิยมอาหารเนื้อนัก และยังคงใช้ข้าวเป็นอาหารประจำวันตามเคย โดยมากเป็ดไก่และเนื้อสดบริโภคกันเฉพาะวันหยุดงานและในเวลาทำบุญเท่านั้น”

    คนสมัยนี้มักเข้าใจว่าความประหยัดมัธยัสถ์นั้นเป็นคุณค่าที่เกิดจากความจำเป็นบีบบังคับ เช่นอาหารมีน้อย ทรัพยากรขาดแคลน เป็นเพราะทุกวันนี้ฝนฟ้าแปรปรวน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ขยะกำลังจะล้นเมือง เราจึงหันมาเรียกร้องให้ช่วยกันประหยัดน้ำไม่ใช้ไฟอย่างฟุ่มเฟือย และลดการใช้ถุงพลาสติก แต่สำหรับคนสมัยก่อนความประหยัดมัธยัสถ์เป็นคุณธรรมโดยตัวมันเอง แม้ปลาจะมีอยู่มากมาย ลงไปหว่านแหเมื่อไร ก็ได้ปลามากินเมื่อนั้น แต่เขาก็กินเท่าที่จำเป็นและใช้ประโยชน์จากทุกอย่างที่หามาได้ ด้วยเหตุนี้ปลาที่จับมาได้ ถ้ากินไม่หมดก็ไม่ทิ้งให้เสียของ หากเอามาหมักหรือตากแห้งไว้กินต่อ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนแต่ก่อนจะกินปลาแห้งหมักมากกว่าปลาสด

    สมัยก่อนไม้ในป่ามีอยู่มากมายมหาศาล แต่บ้านของคนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นแค่เรือนฝากระดาน หรือเรือนขัดแตะมุงหลังคาจาก มิได้สร้างอย่างใหญ่โตด้วยได้แผ่นหนาและเสาต้นอวบ โดยที่ไม้แต่ละต้นที่ตัดมาก็ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทุกส่วน เช่นเดียวกับสัตว์ป่าหากล่ามาได้ แม้แต่กระดูกก็ไม่ทิ้งให้เสียเปล่า ทั้งๆ ที่ป่าเกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์นานาชนิด เวลาเข้าป่าหาหน่อไม้และสมุนไพร ก็ตัดแต่พอกินพอใช้เท่านั้น
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    นิสัยการบริโภคของคนไทยแต่ก่อนนับว่าผิดจากสมัยนี้แทบจะสิ้นเชิง อะไรที่มีมากหาได้ง่ายก็ตักตวงมาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายแทบจะล้างผลาญกันเลยทีเดียว ป่าจึงหมดอย่างรวดเร็ว สัตว์นานาชนิดจึงสูญพันธุ์ ปลาที่ถูกทิ้งลงทะเลเพราะเอาไปขายไม่ได้ ใครรู้ว่าบ้างว่าปีหนึ่งๆ รวมกันแล้วมีกี่พันกี่หมื่นตัน ขณะเดียวกันน้ำก็เน่าขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกระดาษและถุงพลาสติกก็กลายเป็นขยะเกลื่อนเมือง แม้แต่ในชนบทการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยก็กำลังระบาดเข้าไปอย่างรวดเร็ว เศษไม้ตามหัวไร่ปลายนาและในป่าถูกทิ้งเกลื่อนกลาด เพราะสนใจแต่ตัวเสาและขื่อคาไม้กระดานเท่านั้น
    น่าศึกษาว่าคนไทยเริ่มตีตัวหนีห่างจากความประหยัดมัธยัสถ์ตั้งแต่เมื่อไร ในหนังสือเรื่อง เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต ฉัตรทิพย์ นาถสุภาชี้ว่า ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ หรือเมื่อร้อยปีที่แล้ว ก็เริ่มพบแล้วว่าคนไทยในภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาใช้เงินมือเติมขึ้น เงินที่หาได้จากการขายข้าวนอกจากจะหมดไปการกับซื้อเสื้อผ้าและอาหาร เช่น ปลาทูเค็ม ปูเค็ม หมากพลู ยาสูบ พริก หอม กระเทียมแล้ว ยังใช้ไปกับการจัดงานบวชอย่างใหญ่โต รวมทั้งงานแต่งงาน ขนาดต้องล้มวัวล้มควาย(ผลที่ตามมาคือสูญเสียที่ดินมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นหนี้สิน) โดยที่เราต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านั้นขึ้นไป ชาวบ้านล้วนทอผ้าหรือจับปลากินเองรวมถึงการปลูกพืชสวนครัวเองด้วย เช่นเดียวกับที่ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ใหญ่กันเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะสำนึกในเรื่องบาปบุญยังมีอิทธิพลอยู่มาก

    ที่ชาวบ้านใช้เงินมือเติบนี้ เข้าใจว่าเป็นเพราะเพิ่งมีเงินเป็นกอบเป็นกำนั่นเอง และที่เงินสะพัดเข้าไปในหมู่บ้านได้ก็เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจระบบตลาด ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา ชาวนาในภาคกลางก็เปลี่ยนจากการปลูกข้าวไว้กินเอง มาเป็นการปลูกข้าวเพื่อขาย การทอผ้าเริ่มลดลงเช่นเดียวกับการปลูกพืชรอง ชาวบ้านต้องพึ่งตลาดมากขึ้นสำหรับสิ่งของที่จำเป็นแก่การยังชีพ จึงนับเป็นครั้งแรกในประวัติสาสตร์ที่ชาวบ้านได้กลายเป็น “ผู้บริโภค”

    ในเศรษฐกิจระบบตลาด เงินตราคืออำนาจ แต่ก็ดังที่ลอร์ดแอกตัน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ “อำนาจมักทำให้เสื่อมถอย” เงินตราที่ได้มา ได้กัดกร่อนนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ในหมู่คนไทยลงไปเรื่อยๆ อำนาจในการจับจ่ายซื้อหาสินค้าถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อและไม่รู้ประมาณ ความสุขจากการบริโภคได้กลายเป็นสิ่งเสพติด มิหนำซ้ำคุณค่าแห่งความสันโดษยังถูกทำลายอย่างเป็นระบบในสมัยจอมพลสฤษดิ์(พระทั่วประเทศถึงกับถูกกำชับไม่ให้สอนคุณธรรมข้อนี้ ด้วยถือว่าขัดขวางการพัฒนา) ผลก็คือคนไทยในยุคนี้ได้กลายเป็นนักช็อปปิ้งหรือ“เซียมตือ” (หมูสยาม) ซึ่งลือชื่อไปทั่วโลก

    จะว่าไปแล้ว วัฒนธรรมบริโภคนิยมมาระบาดอย่างจริงจังในเมืองไทยก็ระยะ ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้เองเห็นจะได้ คนที่มีอายุ ๓๐-๔๐ ปีขึ้นไปเมื่อตอนเด็กๆ อาจจะคุ้นกับคำสอนของพ่อแม่ว่าให้กินข้าวเกลี้ยงจาน หาไม่จะ ”เสียของ” สิ่งของต่างๆ แม้แต่น้ำประปา เราถูกสอนให้ใช่เท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้เสียของ คำว่า “เสียของ” ได้กลายเป็นคำที่เด็กแต่ก่อนคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่เดี๋ยวนี้คำๆ นี้แทบจะเลือนหายไปแล้วจากชีวิตสมัยใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบัน “ของเสีย” จึงเกิดขึ้นมากมายจนกลายเป็นปัญหาไปทั่ว

    ปัญหาของเสียและมลภาวะทั้งหลายไม่อาจจะแก้ได้เลย หากเราไม่สำนึกเรื่อง “เสียของ” ในด้านหนึ่งสำนึกดังกล่าวหมายถึงการบริโภคอย่างประหยัดมัธยัสถ์รู้จักประมาณเพื่อไม่ให้มีส่วนเกินส่วนเหลือโดยใช่เหตุ แต่อีกด้านหนึ่งหมายถึงการใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ อย่างคุ้มค่า สิ่งที่หมดประโยชน์ใช้สอยในด้านหนึ่งมักมีประโยชน์ในอีกด้านหนึ่งเสมอ กระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองด้านแม้จะเอามาขีดเขียนไม่ได้อีก ก็ยังสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้และเครื่องประดับได้มากมาย น้ำล้างจานมิใช่ของไร้ค่า เพราะสามารถรดน้ำต้นไม้ได้ ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระอานนท์ได้รับจีวรผืนใหม่มา จีวรผืนเดิมที่เก่าคร่ำคร่า ก็มิได้ทิ้ง หากทำเป็นผ้าห่มส่วนผ้าห่มผืนเดิมก็เปลี่ยนเป็นผ้านุ่ง ขณะที่ผ้านุ่งผืนเก่าแปรสภาพเป็นผ้าปูนอน เช่นเดียวกับผ้าปูนอนผืนเดิม ทำเป็นผ้าปูพื้นและผ้าปูพื้นผืนเดิมถูกใช้เป็นผ้าเช็ดเท้า และแม้แต่ผ้าเช็ดเท้าผืนเดิมที่ทำอะไรแทบไม่ได้แล้ว ก็ยังมีประโยชน์โดยเอามาสับแล้วผสมกับดินเหนียวทาเป็นผนังกุฏิได้อีก โดยนัยนี้จึงไม่มีของเสียแม้แต่น้อย เพราะทุกอย่างถูกใช้อย่างไม่ให้เสียของ ไม่เกินไปเลยที่จะกล่าวว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าของเสียในสังคมที่รู้จักมัธยัสถ์ใฝ่สันโดษ

    จริงอยู่สมัยก่อนจีวรเป็นของหายาก จึงต้องใช้อย่างมัธยัสถ์ที่สุด แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าเมื่อคนยุคนี้สามารถผลิตผ้าได้มากมาย เราจึงสมควรใช้อย่างฟุ่มเฟือย ถ้าเห็นด้วยกับตรรกะนี้ ก็สมควรส่งเสริมให้พระฉันอาหารได้หลายมื้อเหมือนกับโยมเพราะสมัยนี้เราสามารถผลิตอาหารได้มากมายก่ายกองอย่างที่ไม่เคยมีในสมัยพุทธกาล แท้ที่จริงความสันโดษเรียบง่ายนั้นมีคุณค่าในตัวมันเอง เพราะนอกจากจะเอื้อให้มนุษย์ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อความเจริญงอกงามในทางจิตใจแล้ว ยังอำนวยให้บุคคลได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเต็มกำลังความสามารถอีกทั้งยังส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์อย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ ยิ่งกว่าที่จะเบียดเบียนเพื่อปรนเปรอความสุขทางกายอย่างหาความพอดีไม่ได้

    ความก้าวหน้าของยุคสมัยไม่น่าจะวัดกันที่สมรรถนะในการผลิตสินค้าอาหารและบริการเท่านั้น หากควรดูที่ความสามารถในการเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งต่างๆ มากที่สุดโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ต่อเมื่อคนยุคนี้สามารถแปรสารพิษจากควันโรงงานต่างๆ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะปล่อยทิ้งให้กลายเป็นมลพิษในอากาศ เราจึงจะบอกได้ว่ายุคนี้ก้าวหน้ากว่ายุคก่อนในทางเทคโนโลยี นิมิตดีก็ตรงที่เวลานี้สิ่งที่เคยเป็นของเสียจากโรงงาน สามารถหมุนเวียนมาเป็นประโยชน์ได้ใหม่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากพัฒนาการในทางเทคโนโลยีนานาประเภท อย่างไนก็ตามความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจและแรงกดดันจากรัฐรวมทั้งผู้บริโภค พัฒนาการขั้นต่อไปก็คือการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยสำนึกในความประหยัด มัธยัสถ์และสันโดษ

    แต่สำนึกดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อระบบการผลิตได้ ก็ต่อเมื่อสังคมยอมให้สำนึกเช่นนี้หยั่งรากลึก จุดเริ่มจึงอยู่ที่ประชาชน แม้จะปฏิเสธความเป็นผู้บริโภคได้ยาก แต่การเป็นผู้บริโภคที่ดี ก็มิได้หมายความว่า นิยมซื้อหาแต่สินค้าปลอดสารพิษ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้สัตว์เป็นเครื่องทดลองเท่านั้น หากน่าจะไปถึงขั้นที่รู้จักประมาณ คือบริโภคเท่าที่จำเป็น รู้จักสันโดษคือพึงพอใจในสิ่งที่ตนมี มิใช่คอยแสวงหาความสุขจากการซื้อและการเสพเท่านั้น บ่อยครั้งการไม่ซื้ออะไรเลยนั้นสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าการเลือกซื้อสินค้าสีเขียวเสียอีก ใช่แต่เท่านั้นการรู้จักใช้สิ่งต่างๆ อย่างคุ้มค่าไม่ให้เสียของ ยังช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วยโดยไม่สิ้นเปลืองเงินทองแต่อย่างใด

    :- https://visalo.org/article/chaladsue_4.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เมื่อความสะดวกสบายกลายเป็นพระเจ้า
    พระไพศาล วิสาโล
    สวนสนริมทางหลวงช่วงจอมทอง-ฮอดงดงามนัก แม้จะไม่ใช่ผลงานของธรรมชาติล้วนๆ แต่ลำต้นที่สูงใหญ่เรียงรายเป็นแนวแถวท่ามกลางร่มเงาคลุมครึ้มให้ความรู้สึกโปร่งโล่งเย็นใจอย่างยิ่ง ส่วนสนามหญ้าใต้คาคบเล่าก็เขียวขจีราบเรียบดังผืนพรม ใครเห็นเป็นต้องนึกอยากลงจากรถมาพักผ่อนเอนกาย คณะของเราก็เช่นกันเผอิญเป็นช่วงใกล้เพลพอดีจึงแวะลงข้างทาง เมื่อเลือกได้ร่มเงาที่พอใจ ก็ตั้งวงอาหารก่อนจะเดินทางต่อไป

    ชายหนุ่มที่ร่วมเดินทางมาด้วยเปรยขึ้นมาว่า น่าจะมาจัดค่ายเยาวชนกันที่นี่ เพราะบรรยากาศดีเหลือเกิน อีกคนก็แย้งขึ้นมาว่า จะมาทำให้ที่นี่สกปรกเพิ่มขึ้นหรือไง พลางมองไปที่พงหญ้าไม่ใกล้ไม่ไกล ซึ่งเกลื่อนกลาดไปด้วยถุงพลาสติก ขวดเบียร์และเศษขยะอีกมากมาย ชายคนแรกตอบกลับไปว่า จัดค่ายก็เพื่อจะให้เด็กมาช่วยเก็บขยะไงล่ะ ว่าแล้วก็จัดอาหารถวายพระ

    ใช้เวลาไม่นานอาหารมื้อเพลก็แล้วเสร็จ เศษอาหารนั้นมีหมาสองตัวคอยเก็บกวาดอยู่แล้ว ส่วนถุงพลาสติกนั้นต้องกลายเป็นขยะสถานเดียว ชายหนุ่มเก็บถุงพลาสติกอย่างคล่องแคล่วเผลอแวบเดียวเขาก็ไปอยู่ที่พงหญ้าแล้วโยนถุงพลาสติกไปสมทบกับกองขยะ ทั้งๆ ที่เมื่อไม่กี่นาทีมานี้เขาเองเป็นคนเสนอให้พาเด็กมาเก็บกวาดขยะที่สวนสนแห่งนี้

    เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย หลายคนก็คงประสบด้วยตนเองมาแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ที่ทางของถุงพลาสติกเหล่านี้ควรจะอยู่ตรงไหน แต่แล้วคนเป็นอันมากกลับเอาไปสุมกองไว้ในพงหญ้ากลางสวนสนอันงดงาม แม้กระทั่งชายหนุ่มผู้มีหัวคิดดีในเรื่องการแก้ปัญหาขยะในสวนสนแห่งนี้ ก็ยังกระทำไม่ต่างจากคนอื่น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบก็คือ เพราะความสะดวกสบายนั่นเอง การโยนเศษขยะเข้าพงหญ้านั้นสะดวกและสบายกว่าการเก็บขึ้นรถเพื่อเอาไปทิ้งในที่ที่สมควรทิ้งเป็นไหนๆ

    สมัยนี้ความสะดวกสบายกลายเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าอะไรก็ตาม แม้จะก่อปัญหาแก่สิ่งแวดล้อม เบียดเบียนผู้คนแต่หากก่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ตนเสียแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น ตรงกันข้ามสิ่งใดก็ตามแม้จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิต สังคม และธรรมชาติ แต่หากไม่ให้ความสะดวกสบายแก่เราแล้วก็เมินได้เลย การเปิดไฟจำเพาะเวลาที่เราต้องการใช้ นอกจากประหยัดเงินแล้วยังไม่ผลาญทรัพยากรสูญเปล่า แต่เป็นเพราะการกระทำเช่นนั้นไม่สะดวกสบายเท่าใดนัก ผู้คนจึงพากันเปิดไฟทิ้งแช่ไว้กันทั้งเมือง แม้จะรณรงค์ให้ประหยัดไฟเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนจะทำไม่ขึ้น รู้ทั้งรู้ว่าโฟมนั้นเป็นภัยต่อบรรยากาศและก่อปัญหาขยะแต่ในเมื่อกล่องโฟมนั้นให้ความสะดวกมากกว่าถุงพลาสติก เราจึงไม่รู้สึกอะไรเวลากินอาหารบรรจุกล่องโฟม

    น้ำดื่มบรรจุขวดนับวันจะก่อปัญหาแก่สิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที แต่เป็นเพราะสินค้าชนิดนี้ให้ความสะดวกสบายกว่า ผิดกับการนำกระติกน้ำติดตัวไปด้วย ซึ่งต้องคอยรินน้ำและคอยล้างกระติกอยู่เสมอ ผลก็คือขวดพลาสติกกลายเป็นขยะเกลื่อนกลาดไปทั่วทุกหนแห่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งบนยอดเขา ริมทะเลและกลางป่าลึก เช่นเดียวกับขวดน้ำอัดลม ซึ่งเดี๋ยวนี้ซื้อแล้วก็ไม่ต้องห่วงว่าจะต้องคืนขวด จะทิ้งเรี่ยราดที่ไหนก็ได้ ภาระจึงตกหนักอยู่กับสิ่งแวดล้อมและเทศบาล แต่ใครเล่าจะอินังขังขอบ เพราะรู้ๆ อยู่ว่าวิธีนี้ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ซื้อ(และผู้ผลิต) เป็นอย่างมาก

    เป็นเพราะหลงใหลคลั่งไคล้ในความสะดวกสบาย เราจึงตกเป็นเหยื่อของลัทธิบริโภคนิยมไปโดยไม่รู้ตัว สินค้าต่างๆ พากันเรียงหน้าเข้ามาในนามของความสะดวกสบาย กาแฟสำเร็จรูปมีเสน่ห์ยวนใจเรา ไม่ใช่เพียงเพราะรสชาติที่จับจิตเท่านั้น หากยังเพราะเราสามารถเข้าถึงความสุขดังกล่าวได้ อย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องบด ไม่ต้องกรอง และไม่ต้องคอยให้ยุ่งยากอีกต่อไปเพียงแค่ได้ยินคำโฆษณาว่า ผงซักฟอกชนิดนี้ผสมสารพิเศษที่ทำให้เราขยี้น้อยลง ใจเราก็จดจ่ออยู่กับผงซักฟอกชนิดนั้นทันทีโดยไม่ถามต่อไปว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และด้วยเหตุผลเดียวกันเราจึงยินดีจ่ายเงินซื้อผ้าอ้อมชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย เพราะไม่ต้องเสียเวลาซักให้เมื่อย ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาแพง เช่น โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุค ซึ่งสามารถสะกดผู้คนให้หลงได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมันสัญญาว่าจะให้ความสะดวกสบายแก่เรานั่นเอง
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ที่พูดนี้มิได้ชักชวนให้เราปฏิเสธความสะดวกสบาย แต่เพียงอยากจะชี้ว่า ไม่มียุคใดที่ถือเอาความสะดวกสบายเป็นสรณะสูงสุดเท่ายุคนี้ จริงอยู่คนยุคไหนก็ปรารถนาความสะดวกสบายด้วยกันทั้งนั้น แต่อย่างน้อยคนแต่ก่อนก็ไม่ถือเอาความสะดวกสบาย เป็นคุณค่าสูงสุดอย่างปัจจุบัน จะทำอะไรก็ไม่ได้คำนึงความสะดวกสบายอย่างเดียว หากยังคำนึงถึงสิ่งอื่น ซึ่งมักถือว่าสำคัญกว่าความสะดวกสบายส่วนตน สิ่งนั้นอาจจะได้แก่ ความเจริญงอกงามในจิตใจ ความปกติสุขในสังคม ประโยชน์เกื้อกูลต่อธรรมชาติแวดล้อม รวมถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งสูงสุด เวลาเข้าป่าหาเห็ด แทนที่จะเก็บจนหมดหรือเก็บให้มากเท่าที่จะมากได้ จะได้ไม่ต้องกลับมาหาใหม่ให้เหนื่อยยาก กลับเก็บแต่พอกิน เพื่อเหลือ
    ให้คนอื่นได้เก็บบ้าง เวลาใช้น้ำ ทั้งๆ ที่ไม่ได้กันดารแร้นแค้นอะไร แต่น้ำถังหนึ่งๆ กลับใช้หลายครั้ง หลายหน เช่น ล้างผัก ถูบ้าน เสร็จแล้วแทนที่จะทิ้ง ก็รดต้นไม้ เช่นเดียวกับปลา แม้จะมีเต็มแม่น้ำ แต่แทนที่จะเลือกกินเฉพาะที่เอร็ดอร่อยแล้วทิ้งส่วนที่เหลือ กลับใช้ประโยชน์ทุกส่วน ถ้าเหลือก็เอามาหมักหรือแช่เกลือ แม้รสชาติจะไม่อร่อยเท่าของสด แถมยังต้องยุ่งยากเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะความตระหนี่ หากเป็นผลจากการเคารพและสำนึกในคุณค่าของธรรมชาติต่างหาก

    ความสะดวกสบายจะมีคุณค่าอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเป็น มรรค ไม่ใช่เป็น ผล หรือจุดหมายในตัวมันเอง ในทางพระพุทธศาสนา “สัปปายะ” (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “สบาย” ) ถือเป็นธรรมฝ่ายกุศลที่สำคัญ แต่ “ความสบาย” ดังกล่าวมิใช่จุดหมายสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นความสบายทางด้านที่อยู่อาศัย (อาวาสสัปปายะ) ความสบายทางด้านอาหาร (โภชนสัปปายะ) ความสายทางด้านดินฟ้าอากาศ (อุตุสัปปายะ) ตลอดจนความสบายอีก ๔ ประการ ที่เหลือนั้นล้วนมีประโยชน์ตรงที่เป็นปัจจัยเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่การทำคุณงามความดี เพื่อให้ชีวิตจิตใจเจริญงอกงาม(เรียกสั้นๆว่า “การปฏิบัติธรรม”) หากมีความสะดวกสบายในด้านที่พักและอาหารแล้ว ไม่ใช้โอกาสอันเกื้อกูลนี้ทำกุศลเพื่อให้เกิดประโยชน์ตนประโยชน์ท่านกลับเพลิดเพลินในความสุข จนไม่ทำงานการ แถมเกิดความโลภ อยากได้ความสะดวกสบายมาปรนเปรอตนยิ่งขึ้น นั้นก็แสดงว่า ความสะดวกสบายกลายเป็นพิษภัยทิ่มแทงชีวิตแล้ว

    เนื่องจากความสะดวกสบายมิได้เป็นจุดหมายในตัวมันเอง หากเป็นเพียงอุปกรณ์และเงื่อนไขไปสู่สิ่งที่ดีงามกว่า ดังนั้นจึงต้องมีขอบเขต กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราพึงรู้จักพอหรือรู้จักประมาณในความสะดวกสบาย การหมกมุ่นอยู่ในความสะดวกสบาย จนเห็นเป็นพระเจ้าที่อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นการ ”ใช้” หรือเกี่ยวข้องกับความสะดวกสบายอย่างไม่ถูกต้อง ผลจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเป็นโทษแก่ตนเองและผู้อื่น

    โทษภัยของความสะดวกสบายที่ไร้ขอบเขตได้ปรากฏให้เห็นแล้วไม่เว้นแต่ละวัน การกินอย่างไม่รู้จักพอเพราะคิดถึงแต่ความเอร็ดอร่อยและสะดวกปากเป็นเกณฑ์ ตลอดจนวิถีชีวิตที่แวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกจนใช้มือไม้ไม่เป็น แลไม่รู้จักออกกำลังกาย กำลังทำให้โรคหัวใจกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนยุคนี้ ขณะเดียวกันการบริโภคสิ่งของแบบชั่วครู่ชั่วยาม ไม่เพียงแต่จะผลาญทรัพยากรธรรมชาติให้หมดลงไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น หากยังก่อปัญหาขยะและมลภาวะไปทั่ว ซึ่งยังแก้กันไม่ได้จนทุกวันนี้แม้เทคโนโลยีจะมีมากมายเพียงใดก็ตาม ใช่แต่เท่านั้นความสะดวกสบายอย่างไม่รู้จักพอยังทำให้คนในสังคมแตกแยกกันเพราะแย่งชิงทรัพยากรเป็นเหตุ

    เพียงแค่การประหยัดไฟ หากทำกันทั้งประเทศ โดยยอมสูญเสียความสะดวกสบายเสียหน่อยเท่านั้นจะทุ่นไฟได้นับพันเมกะวัตต์ นั่นหมายถึงการไม่ต้องสร้างเขื่อนนับสิบๆ เขื่อน เท่ากับลดการทำลายป่าและลดความขัดแย้งของคนในชาติไปในตัว หากเรายอมเสียเวลาซักผ้าเช็ดหน้ากันบ้าง ก็จะลดการผลิตทิชชูไปได้มหาศาล และหากโรงเรียนทั่วประเทศหันมาใช้ถุงผ้าบรรจุข้อสอบแทนที่จะใช้ถุงกระดาษ ซึ่งใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย น่าคิดว่าจะลดการตัดต้นไม้และลดปริมาณขยะในเมืองได้มากมายเพียงใด ยังไม่ต้องพูดถึงการใช้ปิ่นโตแทนถุงพลาสติก แม้จะต้องเสียเวลาล้างแต่ก็ก่อผลดีแก่สิ่งแวดล้อมมาก

    นักเศรษฐศาสตร์อาจจะบอกว่าการล้างผ้าเช็ดหน้า ถุงผ้า และปิ่นโตนั้นเป็นการสิ้นเปลือง เปลืองทั้งสบู่หรือผงซักฟอก เปลืองทั้งค่าแรง(กรณีที่ต้องจ้างคน) สู้ใช้แล้วทิ้งเลยไม่ได้ แต่นั้นเป็นการมองเพียงด้านเดียว จริงอยู่ถึงแม้คนใช้ถุงกระดาษถุงพลาสติกจะไม่ต้องจ่ายค่าทำความสะอาด แต่ในที่สุดแล้วสังคมทั้งสังคมก็ต้องเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายเสียเอง ทั้งในด้านกำจัดขยะและการบำบัดมลพิษ นี้ก็ทำนองเดียวกับโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำย่อมจ่ายต้นทุนน้อยกว่าโรงงานที่บำบัดน้ำเสียด้วยตนเอง แต่เมื่อเอาความเสียหายจากมลภาวะในแม่น้ำมารวมต้นทุนในการผลิตแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมากกว่าโรงงานประเภทหลังสักเพียงใด

    ไม่มีความสะดวกสบายใดๆ ที่ได้มาเปล่าๆ หากจะต้องมีราคาค่างวดติดตามมาเสมอ การรู้จักประมาณในความสะดวกสบายจึงควรเป็นหลักการสำคัญในการดำเนินชีวิตและบริโภค แม้จะพึงพอใจในความสะดวกสบาย แต่ก็ไม่พึงให้สิ่งนั้นขึ้นมาเป็นใหญ่จนกลายเป็นพระเจ้าของเรา วันใดก็ตามที่ความสะดวกสบายกลายเป็นคุณค่าระดับรองๆ ไม่เพียงแต่ชีวิตของเราจะเปลี่ยนเท่านั้น แม้สังคมทั้งสังคมก็เปลี่ยนไปด้วย ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ ของเราหากว่าคนนับล้านๆ หันมาขี่จักรยานแทนที่จะนิยมนั่งรถเก๋ง จะว่าไปแล้ว ไม่ต้องถึงขั้นขี่จักรยานเพียงแค่หันมาใช้บริการขนส่งมวลชนกันให้ทั่วกรุง กรุงเทพฯ ก็จะเปลี่ยนโฉมไปทันที

    เป็นเพราะใครๆ ก็หวังความสะดวกสบายเฉพาะตน จึงพากันซื้อรถเก๋งกันทั้งเมือง ผลก็คือจราจรกลายเป็นจลาจลจนเข้าขั้นวิกฤต มลพิษระบาดทั้งเมือง นี้จะเรียกว่าอะไรหากไม่ใช่ราคาของความสะดวกสบายที่กลายเป็นพระเจ้าของเราไปแล้ว
    :- https://visalo.org/article/chaladsue_8.htm
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ปรับตน เปลี่ยนสังคม
    พระไพศาล วิสาโล
    “ลูกใครหว่า” พูดสั้นๆเพียงเท่านี้ บางคนอาจนึกไม่ออกว่ากำลังหมายถึงอะไร
    แต่ถ้าแพลมออกมาว่า “พี่ขาอย่าทับหนู” หลายคนคงร้องอ๋อ

    คนกรุงเทพฯ น้อยคนที่ไม่เคยเห็นป้ายรณรงค์แก้วิกฤตจราจร ที่ตั้งอยู่ริมถนนแทบทุกสายทั่วกรุงในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา ถ้อยคำสวิงสวาย และสีสันเด่นสะดุดตา ย่อมทำให้ป้ายเหล่านี้กลายเป็นจุดสนใจของผู้คนสมใจผู้จัดทำ แต่อันที่จริงแล้ว ถ้อยคำพาดหัวตัวใหญ่เหล่านี้ไม่ใช่หัวใจของป้ายดังกล่าว สาระสำคัญนั้นอยู่ที่เนื้อความในวงเล็บถัดลงมาซึ่งดูเป็นจริงเป็นจังด้วยภาษาการจราจร เช่น “ไม่หยุดตรงทางร่วมแยก” หรือ “ไม่เบียดแทรกช่องทาง” เป็นต้น และที่ทำให้ดูขึงขังดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นก็คือการกำกับตัวเลขให้เห็นชัดว่า ถ้าทำตามข้อความในวงเล็บนั้นแล้ว จะช่วยแก้ปัญหารถติดไปได้ ๑๐ %

    อ่านดูแล้ว ไม่ต้องไตร่ตรองอะไรมาก ก็น่าจะเห็นจริงตามนั้น เพราะทุกวันนี้ใครต่อใครก็ล้วนบ่นกันทั้งนั้นว่าคนไทยไม่มีวินัยในการใช้รถใช้ถนนเอาเสียเลย กรุงเทพฯไม่เพียงแต่เต็มไปด้วย “มนุษย์ปาด” เท่านั้น หากยังมี “ลูกช่างปีน” ให้เห็นมากมายตามรั้วบนเกาะกลางถนน ถ้าหากเราทำตามกฎจราจรกันอย่างจริงจังแล้ว จจราจรกรุงเทพฯจะดีขึ้นอีกเยอะ

    แต่มีใครเคยตั้งคำถามไหมว่า ถ้าคนกรุงเทพฯ หันมาบำเพ็ญตนตามคำชี้แนะในป้ายรณรงค์เหล่านี้แล้ว จะแก้ปัญหาจราจรตามคำชี้ชวนดังกล่าวได้จริง ถ้าลองนับป้ายเหล่านี้ดู จะพบว่ามีอยู่ ๑๐ ชนิด แต่ละชนิดก็พูดถึงพฤติกรรม ๑๐ แบบที่ควรจะมีในการใช้รถใช้ถนน และยังบอกด้วยว่าพฤติกรรมแต่ละแบบนั้น หากทำได้จะลดปัญหาจราจรได้ ๑๐ % นั่นก็หมายความว่า ถ้าคนกรุงเทพฯทุกคนพร้อมใจกันมีวินัยในการใช้รถใช้ถนน โดยหันมาปฏิบัติตัว ๑๐ ประการดังกล่าว ก็จะแก้ปัญหาจราจรได้ ๑๐๐ % พูดอีกนัยหนึ่งก็คือถ้าทำได้ดังว่าจะไม่มีรถติดอีกเลยในกรุงเทพฯ

    ฟังดูก็เพลินดี แต่ถ้าหยุดคิดสักหน่อย ก็คงอดสงสัยไม่ได้ จะเป็นไปได้หรือ ที่ตั้งคำถามเช่นนี้ มิใช่เพราะเห็นว่าเมืองที่ปลอดปัญหารถติดนั้นไม่มีในโลก เมืองที่ว่านั้นมีอยู่จริงและมีมาแล้ว แต่สำหรับกรณีกรุงเทพมหานครของเรานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว จะโดยจงใจหรือไม่ได้จงใจก็ตาม ผู้จัดทำป้ายรณรงค์ดังกล่าวกำลังจะบอกเราว่าปัญหาจราจรในกรุงเทพฯนั้น มีสาเหตุมาจากการขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนนโดยแท้ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงระบบขนส่งมวลชนก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น และหากจะรื้อโครงการรถไฟฟ้ามหานครทิ้งไป ก็คงไม่เสียหายอะไร เพียงแต่หันมาข้ามถนนตรงทางม้าลาย ไม่หยุดรถตามสัญญาณแยก ฯลฯ เรื่องปวดเศียรเวียนเกล้าสำหรับนักขับรถในกรุงเทพฯ ก็จะหมดไป แต่สามัญสำนึกบอกเราว่า เรื่องคงไม่ง่ายอย่างนั้น ตราบใดที่ยังมีรถยนต์เพิ่มขึ้นบนท้องถนนวันละเกือบ ๑,๕๐๐ คัน (ไม่นับรถจักรยานยนต์) ขณะที่ผิวถนนมีจำกัด ถึงแม้ทุกคนจะปฏิบัติตัวให้ดีเพียงใด ปัญหาจราจรก็ยังตามมาหลอกหลอนเราอยู่นั่นเอง

    วินัยในการจราจรเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ข้อนี้ไม่มีใครเถียง แต่ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯเป็นเรื่องที่ใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าที่จะแก้ด้วยการปรับปรุงพฤติกรรมส่วนบุคคล โดยพื้นฐานแล้วนี้ปัญหาทางโครงสร้าง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเกี่ยวพันกับการวางผังเมืองเท่านั้น หากยังเป็นผลจากระบบคมนาคม ที่ให้อภิสิทธิ์รถส่วนตัวอย่างเต็มที่ โดยไม่เปิดโอกาสให้ระบบขนส่งมวลชนได้เติบโต เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป ทั้งยังกีดกันพาหนะอื่นๆ เช่น รถจักรยานหรือแม้แต่เรือ (ในขณะที่ประเทศอื่นหันไปใช้นโยบายตรงกันข้ามกันมากขึ้นแล้ว กล่าวคืออุดหนุนชนิดพาหนะอื่นๆ แต่เข้มงวดกับรถส่วนตัว เช่น ห้ามใช้รถเก๋งในตัวเมืองชั้นใน ขึ้นภาษีและค่าจอดรถ ควบคุมการนำเข้า) ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาจราจรในกรุงเทพฯยังเชื่อมโยงกับนโยบายการพัฒนาประเทศที่รวบอำนาจและทรัพยากรเข้าสู่ศูนย์กลาง จนทำให้กรุงเทพฯขยายตัวอย่างเทอะทะและน่าเกลียด ตราบใดที่โครงสร้างแห่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่ถูกแตะต้อง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคลก็เพียงแต่ชะลอปัญหา ไม่ให้ลุกลามไปรวดเร็วเท่านั้นเอง

    รถติดมิใช่เป็นปัญหาที่เพิ่งเกิด หากส่อเค้าแสดงอาการมาตั้งแต่ ๓๐ ปีก่อน แต่มิได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แม้ถนนจะถูกตัดเพิ่ม วงเวียนจะถูกทุบเพื่อเปลี่ยนเป็นสี่แยก คอมพิวเตอร์จะถูกนำมาใช้กับสัญญาณจราจร แต่ก็เป็นเพียงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางเทคนิคและปริมาณ ขณะที่ผังเมืองถูกขีดฆ่าตามอำนาจเงิน ไม่มีนักการเมืองคนใดกล้าท้าทายรถยนต์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และกรุงเทพฯก็ยังถูกปล่อยให้โตเอาๆผลก็คือเดี๋ยวนี้เด็กๆต้องตื่นแต่ตี ๔ เพื่อเดินทางจากบางนาไปเรียนหนังสือที่บางรัก ครอบครัวรวมตัวกันไม่ติด เพราะแตกฉานซ่านเซ็นตั้งแต่เช้ามืด กว่าจะโผเผกลับบ้านก็ดึกดื่น ถ้าคำนวณเฉพาะความเสียหายทางเศรษฐกิจ เวลานี้เราสูญเสียไปถึง ๙๖,๐๐๐ บาทต่อปี นี้คือผลพวงของการปล่อยปัญหาให้หมักหมมนานกว่า ๓๐ ปี

    ปัญหาจราจรแม้จะยังแก้ไม่ได้ในวันพรุ่งนี้ แต่ความทุกข์และความเสียหายจากปัญหานี้อย่างน้อยก็น่าจะมีคุณประโยชน์อยู่บ้าง ตรงที่กระตุ้นเตือนให้เห็นโทษของความประมาทและการขาดความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาขณะที่ยังมีโอกาสอยู่ ทุกวันนี้ปัญหาหนึ่งซึ่งกำลังซ้ำรอยปัญหาจราจรก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหานี้เริ่มแสดงอาการอย่างเด่นชัดเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นป่ามีถึง ๓๐ % ของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ฝนแล้งน้ำท่วมก็เริ่มถี่ขึ้น และนับวันจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ๒ ปีก่อนฝนแล้งกินอาณาบริเวณกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน มาปีที่แล้วน้ำก็เกิดท่วมอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันปัญหาน้ำเน่าก็หนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ และลามไปถึงสายน้ำลำคลองในหัวเมืองไกลๆ จากเชียงใหม่ถึงนราธิวาส ส่วนเจ้าพระยานั้นกำลังจะวิกฤต ไล่ตามปัญหาจราจรในกรุงเทพฯอย่างกระชั้นชิด เพราะกลายเป็นทางระบายขยะไปแล้ว
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 มกราคม 2025 at 01:29
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)

    ขยะกำลังเป็นปัญหาในทุกจังหวัดเพราะที่ฝังกลบหายากขึ้นเนื่องจากชุมชนขยายตัวทำให้ที่ดินราคาแพง ในเมืองใหญ่ๆมลพิษในอากาศกำลังเป็นเรื่องธรรมดา ในกรุงเทพฯ มีคนถึง ๑ ล้านคน (จากจำนวน ๘ ล้านคน) ที่ต้องพึ่งโรงพยาบาลของรัฐ เพราะโรคทางเดินหายใจ ๒๗ % ของเด็กกรุงเทพฯที่สำรวจมาพบว่ามีสารตะกั่วในเลือดสูงกว่ามาตรฐาน

    ปัจจัยในการดำรงชีวิตของผู้คนกำลังเสื่อมคุณภาพ นอกจากน้ำและอากาศแล้ว ผืนดินก็เสื่อมโทรมลงไปทุกที ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ถึง ๑๐๐ ล้านไร่ หรือ ๓๑% ของพิ้นที่ทั้งประเทศ เนื่องจากสาเหตุนานัปการเช่น ดินเปรี้ยว หน้าดินถูกกัดเซาะ เพราะป่าถูกทำลายจนบัดนี้เหลือเพียง ๒๕% เท่านั้น ที่เรายังไม่รู้ก็คือมีพรรณพืชและสัตว์กี่ชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วบ้าง และจะมีผลกระทบต่อห่วงโซ่ทางนิเวศวิทยาเพียงใด ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

    เช่นเดียวกับปัญหาจราจร ปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวมิใช่เพิ่งเกิด หากส่อเค้าแสดงอาการมานานแล้ว แต่การแก้ไขก็ยังไล่ไม่ทันกับตัวปัญหาสักที แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งกล่าวอ้างกันว่าก้าวหน้ามากที่สุดในเอเชีย แต่หลังจากออกมาได้ ๓ ปีก็ยอมรับกันว่า ยังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้มากเท่าไหร่ หลายคนชี้นิ้วไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ยังไม่เข้มแข็งและขาดความรู้เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ จึงยังไม่กล้าดำเนินคดีกับผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโรงงานและธุรกิจขนาดใหญ่

    เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีเสียงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้มงวดกวดขันโรงงานใหญ่ๆมากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับกระแสรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมเช่น ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง หมั่นแยกขยะ หันมาใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว ตรวจสภาพรถยนต์อยู่เสมอ ไม่ลักลอบฆ่าสัตว์ป่าสงวน ไม่ใช้อวนที่มีความถี่เกินกว่ากฎหมายกำหนด หมั่นปลูกต้นไม้ปีละหลายๆต้น ฯลฯ

    แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เช่นเดียวกับปัญหาจราจร ตรงที่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ลำพังการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนบุคคลดังว่า แม้จะทำกันอย่างแพร่หลายและทั่วถึง ก็ไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ก็เพราะเหตุปัจจัยทางด้านโครงสร้างที่เป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม ยังดำรงคงอยู่อย่างมั่นคง ที่สำคัญก็คือโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังเน้นการเจริญเติบโตอย่างไม่มีขีดจำกัดและปราศจากการจำแนกแยกแยะ การถือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นคุณค่าสูงสุดทำให้ป่าธรรมชาติถูกทำลาย เพื่อเปิดทางให้แก่สวนยูคาลิปตัส ซึ่งให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินได้มากกว่า และหากจะต้องให้น้ำท่วมป่าอุดม เพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าให้แก่เมืองและโรงงาน ก็ไม่เห็นเสียหายอะไร แม้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช จะทำให้ดินเสื่อมน้ำเป็นพิษ แต่ในเมื่อทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตเร็วขึ้นก็สมควรสนับสนุน

    ลำพังการถือเอาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสรณะสูงสุด ก็หนักพอแรงแล้ว แนวทางการสร้างความเจริญดังกล่าวยังเป็นตัวปัญหาอีกชั้นหนึ่ง การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและบริการยิ่งกว่าภาคเกษตรกรรมหมายถึงการสนับสนุนให้โรงงานและนิคมอุตสาหกรรมกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งในที่สุดก็คือ การกระจายมลพิษสู่ชนบท จนทำไร่ทำนากันไม่ได้ การกดราคาวัตถุดิบทางเกษตรกรรมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศยังหมายถึงการทำให้ชาวนาชาวไร่ยากจนลง จนต้องขายที่และไปบุกเบิกใหม่ในเขตป่า เป็นเหตุให้ป่าถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว (แต่ที่หลายคนนึกไม่ถึงก็คือรีสอร์ตและสนามกอล์ฟนั้นทำลายป่ามากกว่าการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาเสียอีก)

    เท่านั้นยังไม่พอ ครั้นเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มพูนขึ้นแล้ว โภคทรัพย์เหล่านั้นยังถูกแบ่งอย่างไม่เป็นธรรม โดยไปกระจุกอยู่ที่คนกลุ่มน้อย ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ประชาชน ๑ ใน ๕ ของประเทศที่มีรายได้ต่ำสุดมีรายได้รวมกัน ๖% ของรายได้ทั้งประเทศ ขณะที่ประชาชนอีก ๑ ใน ๕ ที่มีรายได้สูงสุดมีทรัพย์สินรวมกัน ๔๙% (หรือมากเป็น ๘ เท่า) แต่ปัจจุบันรายได้ของประชาชนกลุ่มแรกรวมกันแล้วลดลงเหลือ ๓.๔% ขณะที่กลุ่มที่สองมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น ๖๓% (มากเกือบ ๒๐เท่า) อำนาจทางเศรษฐกิจที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ประชาชนกลุ่มหลังสามารถเข้าไปครอบงำทรัพยากรธรรมชาติที่ประชาชนกลุ่มแรกเคยพึ่งพาอาศัย หรืออาจถึงกับแย่งชิงมาได้มากขึ้นซึ่งก็มักจะลงเอยด้วยการทำให้ทรัพยากรดังกล่าวหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นป่า น้ำ ดิน และปลา

    โครงสร้างทางเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นตัวการสำคัญทำให้สิ่งแวดล้อมเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ การไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำก็ดี การไม่ไล่ล่าค้าสัตว์ป่าก็ดี การปลูกต้นไม้ให้ร่มครึ้มก็ดี แม้จะมีอานิสงส์มากและถึงจะทำทุกตัวคน แต่ก็ไม่สามารถฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เป็นปกติได้ ชั้นแต่จะสกัดยับยั้งไม่ให้สิ่งแวดล้อมเลวร้ายลงกว่าเดิม ก็ทำได้ยากเสียแล้ว เพราะพลังในการทำลายล้างนั้นมีมากกว่า เว้นเสียแต่ว่าจะช่วยกันเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยติดยึดกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลง และกระจายผลพวงของความเจริญเติบโตดังกล่าวให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งก็หมายความถึงการกระจายอำนาจทางการเมืองให้มากขึ้นด้วย

    อันที่จริงการปรับปรุงพฤติกรรมส่วนบุคคล หากทำอย่างลึกซึ้งจนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและหากทำกันอย่างแพร่หลายทั่วถึง ก็จะมีผลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างขนานใหญ่ ปัจจุบันแนวทางการบริโภคที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากก็คือ “การบริโภคสีเขียว” หรือการบริโภคโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แต่ดูเหมือนว่า เวลาพูดถึงการบริโภคสีเขียว คนเป็นอันมากมักนึกถึงการซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่คุกคามต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สเปรย์ที่ไม่ใช้สารซีเอฟซี ผงซักฟอกที่ไม่ก่อมลพิษแก่แม่น้ำลำคลอง เครื่องสำอางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทารุณสัตว์ หรือผักปลอดสารพิษ เป็นต้น แต่ที่มักมองข้ามไปก็คือ การซื้อของน้อยลง หรือการบริโภคอย่างประหยัด ซึ่งช่วยลดปัญหาขยะและลดการผลาญพร่าทรัพยากร โดยสิ้นเปลืองเงินทองและเทคโนโลยีน้อยที่สุด

    การบริโภคสีเขียวจะมีความหมายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงต้องเริ่มต้นด้วยหลักการข้อแรกคือ บริโภคน้อยลง รู้จักประมาณมากขึ้น รู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นต่อชีวิต ต่อเมื่อถึงคราวจะต้องจับจ่ายใช้สอย จึงใช้หลักการข้อที่สองคือซื้อผลิตภัณฑ์ที่ก่อผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด การบริโภคสีเขียวโดยนัยนี้แหละ หากปฏิบัติอย่างแพร่หลายจึงจะช่วยให้สิ่งแวดล้อมมีอนาคตยั่งยืนถึงลูกหลาน แต่พฤติกรรมดังกล่าวจะแพร่หลายไป จนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนทั้งสังคมได้ ก็ต่อเมื่อโครงสร้างปัจจุบันปลอดพ้นจากอิทธิพลของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ไม่กระตุ้นเร้ามอมเมาให้ผู้คนใฝ่เสพใฝ่ครอบครอง พร้อมกันก็สนับสนุนการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเหตุนี้เองลำพังการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนบุคคลจึงยังไม่เพียงพอแต่เรายังต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมให้งดงามและเกื้อกูลกัน

    :- https://visalo.org/article/chaladsue_11.htm

     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ความคิดที่ต้องเปลี่ยนแปลง
    พระไพศาล วิสาโล
    เหตุการณ์ต่อไปนี้สมมติว่าเกิดขึ้นในประเทศเผด็จการ

    คุณกับเพื่อนบังเอิญถูกตำรวจจับพร้อมกับใบปลิวต่อต้านรัฐบาล แต่แทนที่คุณกับเพื่อนจะถูกขังรวมอยู่ในห้องเดียวกันกลับถูกแยก คุณสังหรณ์ใจว่าตำรวจคงรู้เบาะแสเกี่ยวกับคดีอีกคดีหนึ่งของคุณและเพื่อน ซึ่งร้ายแรงยิ่งกว่าการทำใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเสียอีก คุณเดาไม่ผิดเลย ตำรวจเรียกคุณเข้าไปพบเพื่อสอบสวนอีกคดีหนึ่ง ตำรวจไม่มีหลักฐานจะปรักปรำคุณจึงยื่นเงื่อนไขให้คุณว่า หากคุณยอมเปิดเผยว่าเพื่อนของคุณทำความผิดในกรณีดังกล่าวจริง ตำรวจจะไม่เอาผิดกับคุณในกรณีใบปลิว คุณแน่ใจว่าตำรวจเสนอเงื่อนไขเดียวกันนี้ให้กับเพื่อนของคุณตรงนี้ทำให้คุณคิดหนัก


    หากคุณกับเพื่อนปิดปากสนิท คุณทั้งสองก็โดนคดีใบปลิวคดีเดียว ซึ่งเป็นคดีที่เบากว่าอีกคดีหนึ่ง กรณีนี้นับว่าไม่เลวแต่หากคุณกับเพื่อนยอมเปิดปาก คุณกับเพื่อนก็ต้องเข้าซังเตด้วยข้อหาที่ร้ายแรง กรณีนี้นับว่าแย่มากๆ ดังนั้นคุณจึงคิดจะเลือกปิดปาก แต่แล้วคุณก็นึกขึ้นมาได้ว่าหากคุณเงียบคนเดียว แต่เพื่อนคุณกับพูด อะไรจะเกิดขึ้น คำตอบคือคุณจะต้องโดนทั้งสองคดีขณะที่เพื่อนของคุณพ้นผิด คุณกลับมาทบทวนอีกที ถ้าคุณนิ่งเงียบ คุณอาจเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่ถ้าคุณเกิดพูดล่ะ คุณอาจโชคดีก็ได้ เพราะในกรณีที่เพื่อนคุณเป็นฝ่ายปิดปาก คุณก็เป็นอิสระ หากเพื่อนของคุณเปิดปากเช่นเดียวกับคุณ อย่างน้อยคุณก็หลุดคดีใบปลิว ไม่ว่ากรณีใดอย่างมากที่สุดคุณก็โดนคดีเดียว

    แล้วคุณก็เปิดปาก แน่นอนว่า เพื่อนของคุณก็คิดแบบเดียวกับคุณ ผลก็คือคุณกับเพื่อนคุณถูกรวบตัวด้วยข้อหาที่หนักกว่าการแจกใบปลิวต่อต้านรัฐบาล

    นิทานเรื่องนี้สอนว่าถ้าเราแต่ละคนคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน ผลก็คือลำบากกันทุกฝ่าย ในกรณีสมมติดังกล่าว ถ้าคุณกับเพื่อนไม่คิดเอาแต่ได้ หากยอมเป็นฝ่ายที่อาจจะเสียเปรียบด้วยการนิ่งเงียบ คุณกับเพื่อนก็จะประสบผลดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ใครล่ะจะยอมเป็นฝ่ายนิ่งเงียบ ในเมื่อทุกคนมักคิดเสมอว่าถึงฉันไม่พูด คนอื่นก็ต้องพูด ใครล่ะจะยอมให้อีกฝ่ายสบาย ขณะที่ตนเองกลับลำบาก เป็นเพราะทุกคนคิดกันอย่างนี้ ในที่สุดก็เลยเดือดร้อนกันทุกฝ่าย

    จะว่าเป็นเรื่องเศร้าสำหรับมนุษย์เราก็ได้ ราวกับต้องคำสาป แม้รู้หนทางที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย แต่เรากลับเลือกหนทางอื่นซึ่งทำให้ต้องทนทุกข์กันไปหมด ปัญหาไม่น้อยในสังคมปัจจุบันเกิดขึ้นและแก้ไขไม่ได้เพราะต่างคนต่างคิดว่า “ถึงฉันไม่ทำคนอื่นก็ทำ” เพราะฉะนั้นก็ทำมันเสียเลย(น่าสังเกตว่าข้ออ้างดังกล่าวเราเอามาใช้เป็นเหตุเป็นผลในการกระทำอะไรบางอย่าง ต่อเมื่อเป็นการกระทำที่ไม่สู้ดี แต่หากถึงคราวที่สมควรจะทำความดีเรากลับนำคำพูดดังกล่าว มาเป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงไม่กระทำสิ่งนั้น เพราะคิดกันเช่นนี้ เวลามีคนประสบอุบัติเหตุกลางถนนจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยสักคน)

    การฉ้อราษฎร์บังหลวงกลายเป็นมะเร็งร้ายในสังคมไทย ก็เพราะทุกคนคิดเหมือนกันว่า ถึงฉันไม่โกง คนอื่นก็โกง จะมีสักกี่คนที่ไม่โกง ทั้งๆ ที่มีโอกาส ชาวบ้านหลายแห่งก็คิดไม่ต่างจากข้าราชการส่วนใหญ่ น้อยคนนักที่หักห้ามใจไม่ตัดไม้ในป่า คนส่วนใหญ่แม้รู้ดีว่าป่าเป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์แต่ก็คิดอย่างเดียวกันหมดว่าถึงฉันไม่ตัด คนอื่นก็ตัด ผลคือป่าถูกตัดถางจนเตียนเกิดความเดือดร้อนกันในทุกหย่อมหญ้า(รัฐมนตรีก็คิดแบบนี้ถึงสนับสนุนให้สร้างเขื่อนโดยอ้างว่าถึงอย่างไรป่าก็ต้องถูกทำลายวันยังค่ำ)

    ไม่ต้องดูอื่นไกล สาเหตุที่การจราจรในกรุงเทพฯ วิกฤตส่วนหนึ่งก็เพราะคิดกันแบบนี้ รู้กันทั่วไปว่าหากกรุงเทพฯ มีรถเก๋งน้อยลง การจราจรจะคล่องตัวมากกว่านี้ แต่ทุกวันนี้ ใครที่สามารถซื้อรถได้หากไม่ซื้อ ดูจะเป็นคนแปลก เพราะใครต่อใครต่างคิดกันว่าถึงฉันไม่ซื้อ คนอื่นก็ซื้อ ถึงฉันไม่ขับรถเก๋งไปทำงานคนอื่นก็ยังทำอยู่ เพราะฉะนั้นก็เลยพากันซื้อรถขับรถไปออกันบนถนนจนติดเป็นแพ

    มีคนเปรียบเทียบสถานการณ์ดังกล่าวว่าเหมือนกับกลุ่มคนที่ดูกีฬา หากทุกคนพร้อมใจกันนั่งก็เห็นกีฬาได้ชัด หากทุกคนพากันยืนขึ้นหมดจะมีกี่คนที่เห็นได้ชัดเจน แต่แน่ล่ะเรามักคิดว่าหากเรานั่งดู ก็เท่ากับเสียเปรียบคนยืนดู และเราก็คิดต่อไปด้วยว่าถึงเราไม่ยืน คนอื่นก็ยืน แต่เรามักลืมไปว่าการที่เราลุกขึ้นยืนก็เท่ากับกระตุ้นชักชวนให้คนอื่นยืนดูเช่นกัน เป็นอันว่าไม่มีใครได้ประโยชน์จากการยืนของตนเลย

    การแสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยให้เหตุผลว่า ถึงฉันไม่ทำคนอื่นก็ทำนั้น จะเรียกว่า เป็นการกระทำแบบตัวใครตัวมันก็ได้ แต่รากเหง้าของมันมีมากกว่าความเห็นแก่ตัว คนที่คิดและทำแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะโดยส่วนลึกแล้วไม่เชื่อว่า หากตนเลือกทำในสิ่งที่ถูกที่ควรแล้วจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ มีสักกี่คนที่คิดว่าหากตนไม่ขับรถเก๋งไปทำงานแล้วการจราจรในกรุงเทพฯ จะหายวิกฤต หากตนไม่ตัดไม้แล้วป่าจะคงสภาพเขียวครึ้มเหมือนเดิม และถ้าตนไม่กินนอกกินในแล้วการฉ้อราษฎร์บังหลวงจะยุติ ความคิดเช่นนี้มีส่วนถูกแต่ไม่ทั้งหมด

     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปัญหาต่างๆ ในสังคมจะแก้ไขได้ต่อเมื่อทุกคนให้ความร่วมมือ แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทุกคนเริ่มที่ตัวเองก่อน จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันแต่เริ่มที่หมายเลข ๑ คนทุกวันนี้แม้จะมีสติปัญญาและเทคโนโลยีที่ทรงพลัง แต่รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าตนนั้นไร้พลัง จึงไม่เชื่อว่าการกระทำของตนเองจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เราลืมไปแล้วหรือว่าเลข ๑ แม้จะดูน้อยแต่ก็มีความหมายมากกว่า ๐ หลายเท่าจนนับไม่ถ้วนอย่างที่นักคณิตศาสตร์เรียกว่าเป็น อนันต์ (infinity)
    ความคิดที่ว่า “ถ้าฉันทำไปแล้วจะเกิดผลดีอะไรขึ้นมา” หากแพร่หลายทั่วทั้งสังคม ความปั่นป่วนย่อมเกิดขึ้นทุกหัวระแหงเดชะบุญที่ผู้คนไม่ได้คิดไปอย่างนี้เสียทั้งหมด ภาษีที่เราเสียให้แก่รัฐนั้น ว่าที่จริงก็เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่รัฐต้องการปีละหลายแสนล้านบาท หากคุณคิดว่าเงินเพียงไม่กี่ร้อยกี่พันบาทจะมีผลอะไรต่อชาติบ้านเมือง ประเทศไทยคงล้มละลายเป็นแน่แท้ เป็นเคราะห์ดีสำหรับประเทศที่เราไม่คิดว่าเงินของเราไร้ความหมาย เวลาเราลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เราเคยถามตัวเองหรือไม่ว่าเพียงเสียงเดียวของเราจะมีความหมายอะไรในเมื่อคนจะได้เป็น ส.ส. หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องได้รับคะแนนเสียงนับแสนๆ เสียง ถ้าเราถามตัวเองอย่างนั้น เราคงไม่ไปคูหาเลือกตั้งเป็นแน่ แต่ที่เราไปก็เพราะลึกๆ เราเชื่อว่าเสียงของเราแม้เพียงเสียงเดียวก็มีความหมายต่อสังคม
    ความคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นทั่วสังคม ว่าที่จริงแล้วปัจจุบันเราทุกคนต่างลงคะแนนเสียงกันแทบทุกวันวันละหลายๆ ครั้ง จริงอยู่เราอาจไม่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ทุกครั้งที่เราไปซื้อของหรือซื้อบริการจากใคร เราก็ได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนสินค้านั้นๆ บริการนั้นๆ แล้ว ถ้าเราซื้อผลิตภัณฑ์ก่อมลภาวะนั่นเท่ากับว่า เราลงคะแนนสนับสนุนการทำลายสภาพแวดล้อมโดยผลิตภัณฑ์นั้นๆ นอกจากนั้น การซื้อของเรายังเท่ากับเป็นการเพิ่มคะแนนนิยมในสินค้าและเจ้าของผลิตภัณฑ์อีกด้วย
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ในฐานะผู้บริโภค เราจึงมิได้เป็นฝ่ายสนองที่คอยถูกกำหนดชี้นำจากผู้ผลิตแต่ฝ่ายเดียว หากเรายังเป็นผู้สนับสนุนและกำหนดชี้นำผู้ผลิตอีกด้วย เราจึงมิใช่ผู้ไร้พลัง แต่ปัญหาของเราในฐานะผู้บริโภคอยู่ตรงที่ว่า เรามักนึกว่า ตัวเองไร้พลังและพลังที่เราสำแดงด้วยการซื้อสินค้านั้นมักถูกใช้ไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่บ่อยครั้งกับเป็นโทษแก่สังคมเราและสภาพแวดล้อม

    มีคนเป็นจำนวนไม่น้อย ที่เริ่มตระหนักว่า ในฐานะผู้บริโภคตนก็มีพลังอยู่เหมือนกัน แต่ก็เข้าใจไปว่าพลังของผู้บริโภคนั้นอยู่ที่การเรียกร้องรัฐบาลให้ควบคุมกวดขันราคาและคุณภาพสินค้า เช่น มิให้แพงเกินไปหรือเป็นโทษต่อสุขภาพ แต่มักลืมกันไปว่า พลังที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่านั้นของผู้บริโภค
    อยู่ที่การก่อผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรืออุตสาหกรรมทั้งหมด รัฐบาลอาจจะสนใจคะแนนเสียงจากเรา แต่ผู้ผลิตนั้นอยู่ได้ด้วยเงินของเรา เงินของเราจึงไม่ต่างจากคะแนนเสียงที่เราลงให้ทุกครั้งที่เราซื้อของ

    ในภาวะที่สินค้านานาชนิดกำลังเกลื่อนเต็มตลาด ภาพและเสียงโฆษณา ถูกระดมใส่เต็มตาและหูเรา สติและปัญญาของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่าแต่ก่อน ยุคสารสนเทศมิได้เสนอแต่ข้อมูลเพียงอย่างเดียวแต่ยังเปิดช่องให้อวิชชาและตัณหาแพร่ระบาดเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้การมีสติและปัญญาเสือกสรรสิ่งดีงามที่เป็นคุณต่อชีวิตสังคมและธรรมชาติจึงเป็นคุณธรรมสำคัญของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

    สติปัญญานั้นมีพลังเสมอ และจะมีพลังอย่างยิ่งในสังคมบริโภคหากว่าแต่ละคนหันมาตระหนักว่าการซื้อและการไม่ซื้อของเรามีความหมายต่อผู้ผลิตโดยตรง และต่อสังคมตลอดจนธรรมชาติโดยอ้อม

    สินค้าและบริการบางอย่างไม่ควรที่จะได้รับความใส่ใจจากเรา ทุกครั้งที่เราเมินเฉยสินค้าหรือบริการนั้น นั่นมิใช่เป็นเพียงแค่การส่งสัญญาณคัดค้านไปยังผู้ผลิตเท่านั้น หากยังเป็นการท้าทายต่อสู้กับความคิดอันบั่นทอนสังคมที่ว่า “ถ้าฉันทำไปแล้วจะเกิดผลดีอะไรขึ้นมา”

    แน่นอนว่า หากเราทำคนเดียวอาจไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่ถ้าทุกคนพากันทำโดยไม่ยี่หระกับความคิดดังกล่าวการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    :- https://visalo.org/article/chaladsue_1.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...