บทความให้กำลังใจ(เลิกพิธีกรรมเสียทีดีไหม ?)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,466
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    รักษาใจ คลายความปวด
    พระไพศาล วิสาโล
    ความเจ็บปวดนั้นเป็นปัญหาที่คนทั้งโลกต้องประสบ ไม่ว่าเราจะมีความเจริญก้าวหน้าในทางวิทยาการแค่ไหน เราก็ไม่สามารถหลีกพ้นจากความเจ็บปวดไปได้ และในปัจจุบันความเจ็บปวดก็เป็นปัญหาสำคัญมาก เรียกว่าเป็นพรมแดนที่การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะเข้าใจอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังจัดการได้ยากเช่นเดียวกับความเครียด สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้มันเป็นเรื่องท้าทายก็เพราะว่ามันสัมพันธ์กับระบบซึ่งถือว่าซับซ้อนที่สุดในร่างกายของมนุษย์หรือในโลกก็ว่าได้ นั่นคือสมองและระบบประสาท

    ทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าสมองเป็นพรมแดนที่ทุกวันนี้เรายังมีความรู้น้อยมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ซับซ้อนทางโครงสร้างอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้น สมองยังเป็นอวัยวะที่สัมพันธ์กับสิ่งที่เรารู้จักน้อยมากคือจิตใจ ซึ่งทุกวันนี้ผู้รู้ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจิตใจอยู่ที่ไหนแน่ สัมพันธ์กับสมองอย่างไร หรือเป็นคนละส่วนกัน

    ความเจ็บปวดคือประเด็นที่เป็นจุดบรรจบกันระหว่างสองสิ่งที่เป็นเรื่องยาก คือสมองและจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายวงการแพทย์และวงการวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง ขณะเดียวกันอาตมาคิดว่าในเรื่องนี้แนวคิดและประสบการณ์ทางด้านศาสนามีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่อยู่ในวงการแพทย์และวงการวิทยาศาสตร์ด้วย

    ความเจ็บปวดก็เช่นเดียวกับความเจ็บป่วยในร่างกายของเรา คือมันไม่ใช่เป็นเรื่องทางกายภาพล้วน ๆ ความเจ็บป่วยทุกอย่างจะมีมิติทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอไม่มากก็น้อย เมื่อคนหนึ่งเจ็บป่วยหรือเจ็บปวด ไม่ใช่กายของเขาเท่านั้นที่ป่วยหรือปวด แต่ว่าจิตใจของเขาก็พลอยป่วยหรือปวดตามไปด้วย อันนี้เป็นธรรมดาของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นในการทำความเข้าใจความเจ็บป่วย ถ้าเราจำกัดความสนใจของเราอยู่ที่ร่างกายเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่อาจเข้าใจความจริงอย่างครบถ้วน อาจทำให้การจัดการความเจ็บป่วยนั้นไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจมิติความสัมพันธ์ทางจิตใจกับความเจ็บป่วยด้วย

    อาจารย์ประเวศ วะสี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโลหิตวิทยา เคยเล่าถึงประสบการณ์ของท่านตอนหนึ่งเมื่อครั้งทำงานที่โรงพยาบาลศิริราชว่า วันหนึ่งมีคนไข้ชายวัยกลางคน ตัวซีด ไม่มีเรี่ยวแรง จนต้องนอนเปลมาให้ท่านรักษา อาจารย์ประเวศซักถามอาการคนไข้สักพัก ก็หันไปพูดกับแพทย์ประจำบ้าน ว่า คนไข้คนนี้ไม่เป็นอะไรมาก ตัวซีดเพราะมีพยาธิปากขอทำให้เลือดจาง ได้กินเหล็กจะดีวันดีคืน พูดเสร็จท่านก็หันไปหาคนไข้ ปรากฏว่าคนไข้ลุกขึ้นจากเปลเลย แล้วบอกหมอว่า “ถ้ามันหายง่ายอย่างนี้ ผมก็ไม่ต้องใช้ไอ้เปลนี้แล้วล่ะ” ว่าแล้วก็เข็นเปลออกไปติดฝา

    ทำไมคนไข้ถึงมีเรี่ยวแรงทั้งๆ ที่ยังไม่ทันได้กินยาเลย ที่จริงต้องถามใหม่ว่า ในเมื่อเป็นแค่พยาธิปากขอ แต่ทำไมตอนแรกเขาถึงไม่มีเรี่ยวแรง จนต้องนอนเปลมา คำตอบก็คือ เป็นเพราะความวิตกกังวลและความกลัว เขาอาจคิดว่าเขากำลังเป็นมะเร็งหรือเป็นโรคร้ายถึงตาย พอคิดอย่างนี้ ก็เลยไม่มีแรงจนต้องนอนเปลมาให้หมอรักษา แต่พอหมอวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นอะไร เป็นแค่พยาธิปากขอเท่านั้นเอง ความวิตกกังวลก็หายไป เรี่ยวแรงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

    เพียงแค่ความวิตกกังวลหรือความทุกข์ใจก็สามารถทำให้ร่างกายทรุดหนักยิ่งกว่าโรคภัยไข้เจ็บหรือความเจ็บป่วยทางกายด้วยซ้ำ คนที่เป็นทุกข์เมื่อเจ็บป่วย อาตมาคิดว่าประมาณ ๑ ใน ๓ ของความทุกข์เกิดจากความเจ็บป่วยทางกาย ที่เหลือเป็นเพราะความทุกข์ใจ (อันนี้เป็นประมาณการของอาตมาเอง ไม่ใช่ข้อสรุปทางวิชาการ) ที่ยโสธร มีคุณป้าคนหนึ่งเทียวเข้าเทียวออกโรงพยาบาลหลายครั้ง โดยไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร แล้ววันหนึ่งหมอก็บอกคนไข้ว่า “ป้าเป็นมะเร็งนะ อยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน” แกตกใจ ทำใจไม่ได้ ปรากฏว่าอยู่ได้แค่ ๑๒ วันก็ตาย คำถามคือที่แกตายเร็วกว่าที่หมอคาดการณ์เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะก้อนมะเร็งหรือเปล่า หรือเป็นเพราะจิตใจที่วิตกกังวลหดหู่หมดหวัง ก้อนมะเร็งไม่ทันปลิดชีวิตแกเลย แต่ว่าใจที่ท้อแท้หดหู่หรือหวาดวิตกก็ทำให้แกตายเร็วทั้ง ๆ ยังสามารถอยู่ได้นานกว่านั้นมาก

    มองในแง่นี้ก็เห็นได้ว่าความเจ็บป่วยทางจิตเกิดขึ้นควบคู่กับความเจ็บป่วยทางกาย และบางครั้งมันเป็นตัวการที่ทำให้ความเจ็บป่วยหรืออาการทางกายรุนแรงขึ้น แทนที่จะอยู่ได้ ๓ เดือนหรือเกินกว่านั้น เพราะบางคนอยู่ได้เกินกว่าที่หมอวินิจฉัย แต่ว่าในกรณีนี้กลับอยู่ได้แค่ ๑๒ วัน นี่เป็นอิทธิพลของจิตใจซึ่งทำให้ความเจ็บป่วยทางกายเพิ่มขึ้น อาจจะคูณสองคูณสามเลยก็ได้ มีการวิจัยพบว่า คนที่กลัวเข็มฉีดยา เวลาถูกเข็มแทง ความเจ็บจะเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่าของคนที่ไม่กลัว เรียกว่าคูณสามเลย ความเจ็บ ๑ ส่วนเกิดเพราะเข็ม อีก ๒ ส่วนเกิดจากความกลัว

    ความทุกข์ใจไม่เพียงทำให้ความเจ็บป่วยทางกายรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้คนที่ไม่ป่วยกลับกลายเป็นคนป่วย มีคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยโดยที่ไม่มีความผิดปกติทางกายเลย แต่เป็นเพราะมีปัญหาทางจิตใจ มีผู้หญิงคนหนึ่งยังสาวอยู่ แต่เป็นโรคปวดหัวปวดท้องเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง เป็นมาหลายปีแล้วไปหาหมอครั้งแล้วครั้งเล่าอาการก็ไม่ดีขึ้น หมอก็แปลกใจ เพราะว่าตรวจเช็คทุกอย่างแล้วไม่มีความผิดปกติทางกายเลย หมอก็เกือบจะถอดใจแล้ว แต่แล้ววันหนึ่งก็ฉุกคิดขึ้นมา จึงขอให้คนไข้เล่าประวัติให้ฟัง เธอเล่าว่าเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เสียตั้งแต่เล็ก อยู่กับพี่สาวสองคน พอคนไข้เล่าถึงพี่สาว แกก็มีอารมณ์เกิดขึ้น หมอเห็นได้ชัดเลยว่า เธอโกรธพี่สาวสองคนที่ทอดทิ้ง ปล่อยให้เธอเผชิญปัญหาตามลำพัง ทั้งน้อยใจทั้งโกรธเพราะมีความคาดหวังกับพี่สาว แต่พี่สาวไม่สนใจใยดีเลย หมอเชื่อว่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอมีอาการอย่างนี้ จึงแนะนำให้เธออภัยพี่สาวทั้งสองคน แต่คนไข้ไม่เชื่อ หลังจากนั้นก็หายไปเลย หนึ่งปีต่อมาหมอได้รับจดหมายจากคนไข้คนนี้ เธอเขียนมาบอกว่าตอนนี้หายดีแล้ว เพราะได้ทำตามที่หมอแนะนำคือให้อภัยพี่สาว

    เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความโกรธความเกลียด ความน้อยเนื้อต่ำใจก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ทั้งที่ไม่มีความผิดปกติทางกายเลย เป็นเพราะสาเหตุทางใจล้วนๆ เพราะฉะนั้นความเจ็บปวดจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องทางกายอย่างเดียว แต่มักมีสาเหตุทางใจประกอบด้วย และบางทีก็เป็นส่วนสำคัญหรือเป็นสาเหตุหลักด้วยซ้ำ เฮอร์เบิร์ต เฮนสัน แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับความเจ็บป่วยมานานมาก ได้สรุปว่าความเจ็บป่วยของผู้ที่ไปหาหมอร้อยละ ๖๐-๙๐ เป็นเรื่องกายจิตสัมพันธ์ (psychosomatic) และเกี่ยวข้องกับความเครียด

    มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ประการแรกคือความโกรธอย่างที่อาตมาได้พูดแล้ว ประการที่สองคือความกลัว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งไปในทางร้าย อย่างเช่นคนไข้ที่หมอบอกว่าอยู่ได้ ๓ เดือน แต่อยู่ได้เพียง ๑๒ วันเท่านั้นก็ตาย ที่ตายเร็วนั้นเป็นเพราะถูกความกลัวรุมเร้า ซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งล่วงหน้าว่าใครจะดูแลฉัน ถ้าใกล้ตายฉันจะเจ็บปวดแค่ไหน จะต้องทุกข์ทรมานอย่างโน้นอย่างนี้ สร้างภาพหรือตีตนไปก่อนไข้ ก็ทำให้ความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดเพิ่มพูนขึ้น

    คุณหมออมรา มะลิลาเล่าถึงการทดลองแห่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก เขาเชิญชวนนักโทษมาเป็นอาสาสมัคร ใครมาร่วมหรือผ่านการทดลองนี้จะลดหย่อนผ่อนโทษให้ การทดลองนี้แบ่งอาสาสมัครออกเป็น ๒ กลุ่ม บอกกลุ่มแรกว่า จะทดลองใช้น้ำกรดมาหยดตรงกลางหลังเพื่อศึกษาถึงความสามารถในการทนต่อความเจ็บปวดของอาสาสมัคร โดยน้ำกรดนี้จะละลายเนื้อบริเวณนั้นให้เป็นวุ้น และสามารถซึมเข้าไปละลายกระดูกได้ด้วย ส่วนกลุ่มที่สอง ผู้ทดลองบอกว่าน้ำที่หยดกลางหลังนั้นเป็นน้ำกลั่น ทั้งนี้เพื่อทดสอบว่าผิวหนังจะมีปฏิกิริยาแบบภูมิแพ้อย่างไร

    มีการจัดให้อาสาสมัครนอนโดยมีม่านกั้นแต่ละคน แล้วเขาก็ส่งน้ำมาตามท่อเพื่อให้หยดตรงกลางหลัง ที่จริงไม่ใช่น้ำกรดแต่เป็นน้ำกลั่นที่มาจากถังเดียวกัน ปรากฏว่าผ่านไปแค่ไม่กี่นาทีก็มีคนร้องโวยวายบอกว่าปวดมากเลยจะตายอยู่แล้ว ปวดสุด ๆ จนต้องหยุด เพราะว่าคนนั้นถึงขั้นช็อคและหัวใจหยุดเต้นเสียชีวิต ที่เหลือ ๘๕ เปอร์เซ็นต์ มีตุ่มแบบลมพิษใหญ่บ้างน้อยบ้าง อีก ๑๕ เปอร์เซ็นต์มีผื่นอยู่กลางหลัง คนที่มีอาการคล้ายลมพิษนั้นบอกว่ารู้สึกว่าเจ็บปวด คำถามก็คือ อาการอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อน้ำที่หยดลงไปเป็นแค่น้ำกลั่น

    ความกลัวที่เกิดจากความปรุงแต่งว่ากำลังถูกน้ำกรดหยดกลางหลัง ทำให้เกิดอาการตอบสนองทางกายทันที ที่น่าสนใจคือเมื่อเขาผ่าผิวหนังที่เป็นตะปุ่มตะป่ำเหมือนลูกมะกรูดของคนตายไปส่องกล้องจุลทรรศน์ ปรากฏว่ามันมีอาการคล้ายกับโรคภูมิแพ้เวลามีแมลงสัตว์กัดต่อย ส่วนอวัยวะอย่างอื่นปกติ มันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร นี่เป็นผลของจิตใจที่ทำให้เกิดการตอบสนองทางกายเหมือนกับเจอน้ำกรดจริง ๆ

    นอกจากความโกรธและความกลัวแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อความเจ็บปวดและความเจ็บป่วยทางกาย ก็คือความห่วงกังวล เรื่องความห่วงกังวลนี้ เห็นได้ชัดเจนกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย แพทย์พยาบาลหลายคนพบว่ามีผู้ป่วยบางคนที่เมื่อให้ยาระงับปวดแล้วสามารถลดอาการปวดได้เพียง ๑๐-๑๕ นาทีเท่านั้น จากนั้นผู้ป่วยก็กลับมาทุรนทุรายใหม่

    คุณหมอผู้หนึ่งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล่าว่าได้ไปดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งมีอาการหนักจนต้องเข้าห้องไอซียู มีสายระโยงระยาง สื่อสารได้ลำบาก ตลอดเวลาที่อยู่ห้องไอซียูแกมีอาการทุรนทุราย หมอนึกว่าแกปวด จึงให้ยาบรรเทาปวด แต่แกสงบได้แค่ ๑๕ นาที จากนั้นก็กระสับกระส่ายใหม่ หมอสงสัยว่าแกคงมีอะไรค้างคาใจ จึงพยายามถามว่าแกเป็นห่วงอะไรหรือไม่ แกก็ทำปากขมุบขมิบ ฟังไม่ชัดเจน หมอจับความได้ว่า แกต้องการพูดคำว่า “เชียงใหม่” หมอไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ถามลูก ลูกก็ตอบไม่ได้ แต่ลูกเล่าว่า พ่อซึ่งเป็นคนกำแพงเพชร เคยไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชที่เชียงใหม่ และได้อุทิศร่างกายให้แก่ที่นั่น แกคงเป็นห่วงว่าจะไม่ได้ทำตามที่ตั้งใจไว้เพราะมาป่วยที่จุฬา ฯ เมื่อหมอทราบเช่นนี้ก็พูดกับคนไข้ว่า ลุงไม่ต้องกังวล หากเป็นอะไรไปหมอจะจัดการเรื่องร่างกายของลุงให้ ปรากฏว่าตรงกับที่แกเป็นห่วง พอได้ยินเช่นนั้น อาการทุรนทุรายก็หายไป

    อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย มีอาการกระสับกระส่าย ได้รับยาระงับปวดแล้วก็สงบได้ไม่ถึง ๒๐ นาที แล้วก็ทุรนทุรายอีก พยาบาลสงสัยว่า ผู้ป่วยคงมีความห่วงกังวลในจิตใจ จึงคุยกับลูก ได้ความว่า ผู้ป่วยเป็นหมอพราหมณ์ และยังไม่มีใครสืบทอดวิชานี้ พยาบาลเดาว่าคงเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง แกถึงกระสับกระส่าย ก็เลยถามลูกชายว่า พ่อว่ามีใครที่เป็นลูกศิษย์บ้างไหม ก็ได้ทราบว่ามีญาติคนหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ จึงแนะให้ญาติคนนี้ทำพิธีสืบทอดวิชา โดยให้ทำกันเดี๋ยวนั้นเลย พอทำพิธีเสร็จ ก็บอกให้คนป่วยทราบว่ามีคนสืบทอดวิชาแล้ว ปรากฏว่าคนไข้อาการดีขึ้น หายกระสับกระส่าย

    ความห่วงกังวลเมื่อเกิดกับใครย่อมทำให้ทุกข์ใจ หากเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็มักมีอาการทุรนทุรายกระสับกระส่าย เป็นอาการทางใจล้วนๆ แต่ทำให้มีปฏิกิริยาทางกายเกิดขึ้น แม้แต่ยาระงับปวดก็เอาไม่อยู่ แต่พอเขารู้สึกสบายใจ หมดความห่วงกังวล อาการทางกายก็ดีขึ้น แสดงให้เห็นว่ามิติทางใจเป็นเรื่องสำคัญมาก
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,466
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    (ต่อ)
    มีอีกเรื่องหนึ่ง พระซึ่งเป็นเพื่อนของอาตมาไปดูแลอาจารย์ของอาตมาที่ตึกสงฆ์ รพ.จุฬาฯ แต่ก็มีผู้ป่วยที่เป็นฆราวาสอยู่ในตึกนี้ด้วย ประมาณตีสองก็มีคนมานิมนต์ท่านให้ไปช่วยรับสังฆทานจากแม่ของเขาซึ่งกำลังจะเสียชีวิต ท่านก็ไปรับสังฆทาน ระหว่างที่รับก็สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกอยู่ตลอดเวลา สัญญาณชีพที่จอมอนิเตอร์ขึ้นลงเร็วมาก จึงอยากช่วยให้ท่านไปอย่างสงบ สอบถามลูกได้ความว่า ผู้ป่วยชอบใส่บาตรวันพระ และไปไหว้หลวงพ่อทองที่วัดไตรมิตรเป็นประจำ ท่านจึงพูดกับคนไข้ว่า “โยม วันนี้วันพระนะ (ที่จริงไม่ใช่วันพระหรอก แต่ท่านอยากให้แกนึกถึงวันพระ) โยมคดข้าวใส่ขันนะ เตรียมดอกไม้ธูปเทียนเอาไว้ จะไปใส่บาตรพระกัน” พอพูดถึงเรื่องใส่บาตร คุณยายซึ่งไม่ค่อยรู้สึกตัวแล้วก็มีอาการตอบสนอง คือพนมมือ อาการกระตุกลดลง เสร็จแล้วท่านก็พูดต่อว่า “โยม ไปหน้าบ้านกัน เอาเก้าอี้ไปด้วย” สักพักก็พูดต่อว่า “ทางซ้ายมีพระมาไหม” แกส่ายหัว “แล้ว ทางขวาล่ะ” ทีนี้แกพยักหน้า เพราะปกติพระมาบิณฑบาตจากทางขวาเป็นประจำตอนที่คุณป้ายังปกติดีอยู่ แล้วท่านก็พูดนำต่อว่า “ พระมาแล้ว โยมตักข้าวใส่บาตร ถวายกับข้าว และดอกไม้ธูปเทียน” พูดนำทีละรูป ทีละรูป จนครบ ๖ รูป ถึงตอนนี้แกไม่มีอาการกระตุกแล้ว สัญญาณชีพก็สวิงน้อยลง ทีนี้ท่านก็บอกว่า “โยมไปวัดไตรมิตรกัน ไปกราบหลวงพ่อทอง” กราบหนึ่ง กราบสอง กราบสามเสร็จ ก็ชวนผู้ป่วยทำสมาธิ หายใจเข้านึกถึง “พุธ” หายใจออกนึกถึง “โธ” คุณยายก็ทำตาม ตอนนี้สัญญาณชีพค่อย ๆ เคลื่อนช้าลง จนในที่สุดก็แบนราบ แสดงว่าสิ้นลมแล้ว อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าเมื่อคนไข้นึกถึงบุญกุศลหรือสิ่งดีงาม ความกลัว ความทุกข์ ความกังวลก็บรรเทาเบาบาลง ทำให้ใจสงบ ไม่มีอาการกระสับกระส่ายอีกต่อไป

    อาตมาคิดว่าการเยียวยารักษาความเจ็บป่วดด้วยวิธีการทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรมองข้าม โดยควรทำควบคู่ไปกับการดูแลทางกายภาพหรือการให้ยา ถ้าจะสรุปว่ามีวิธีการอะไรบ้างที่ช่วยลดความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดลงได้ อาตมาอยากเริ่มต้นที่กรณีของน้องโย

    น้องโยเป็นเด็กผู้ชายอายุ ๗ ขวบ วันหนึ่งป้าชวนน้องโยซ้อนรถจักรยานยนต์เข้าไปในเมือง นครปฐม ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุถูกรถชน ป้าแขนหัก น้องโยขาเละข้างหนึ่ง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล ตลอดทางป้าร้องโอดโอย แต่น้องโยไม่ร้องเลย จนถึงห้องผ่าตัดน้องโยก็ไม่ร้อง พอผ่าตัดเสร็จหมอก็ถามน้องโยว่า ทำไมน้องโยไม่ร้องเลย น้องโยพูดว่า “ผมกลัวป้าเสียใจครับ” น้องโยเป็นห่วงป้า ไม่อยากให้ป้าทุกข์กว่านี้ เพราะป้าเองทก็ทุกข์มากพอแล้วที่นอกจากแขนจะหักแล้วยังรู้สึกผิดที่ทำให้หลานต้องมาเจอเคราะห์กรรมอย่างนี้ ความเป็นห่วงป้า ทำให้น้องโยอดกลั้นต่อความเจ็บปวดอย่างไม่น่าเชื่อ กรณีน้องโยเป็นตัวอย่างว่าการนึกถึงผู้อื่น ทำให้ความเจ็บปวดของตัวเองเป็นเรื่องเล็กน้อย

    นี่เป็นประเด็นสำคัญประการแรก การที่เรานึกถึงสิ่งอื่นนอกจากตัวเอง โดยเฉพาะเวลานึกคนที่เรารัก เราห่วงใย มันทำให้เรามีความสามารถในการอดทนอดกลั้นต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น เพราะความเจ็บปวดของเรากลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่น

    ประการที่สองซึ่งก็เชื่อมโยงกับประการแรกก็คือ การมองในแง่ดี อาตมาเคยอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบที่วัดโคกนาว อำเภอหาดใหญ่ วันสุดท้ายของการอบรมได้พาอาสาสมัครไปเยี่ยมคนไข้ที่วัดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัย อาสาสมัครได้พบเด็กคนหนึ่งอายุ ๑๔ ปี ผมร่วงหมดทั้งหัว เพราะป่วยเป็นโรคมะเร็งสมอง ต้องฉายแสง อาสาสมัครแปลกใจมากที่เด็กหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกับอาสาสมัครซึ่งเป็นคนแปลกหน้าได้อย่างเป็นกันเองมาก แถมยังมีอารมณ์วาดภาพซึ่งเป็นกิจกรรมที่เธอชอบ

    ระหว่างที่คุยกัน เด็กก็บอกว่า “หนูโชคดีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะมีญาติคนหนึ่งเป็นมะเร็งปากมดลูกและปวดมาก” แล้วเธอก็พูดต่อว่า “หนูโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง” นี่เป็นมุมมองที่ทำให้เธอไม่ทุกข์ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็งสมอง เธอมองในเชิงบวกว่า ยังดีที่ฉันไม่เจอหนักกว่านี้

    ประการที่สามคือการให้อภัย การให้อภัยนี้สำคัญ อาตมาได้เล่าแล้วถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่เจ็บปวดเรื้อรังเพราะความโกรธแค้นพี่สาว แต่เมื่อเธอให้อภัยพี่สาว ความเจ็บปวดก็หายเป็นปลิดทิ้ง มีอีกกรณีหนึ่ง เป็นผู้หญิงเช่นกัน ตอนอายุ ๒๐ ปี เพื่อนชายพาเธอไปส่งบ้าน เสร็จแล้วก็ข่มขืนเธอ ต่อมาผู้ชายคนนั้นติดคุก แต่ความเจ็บแค้นไม่จางหายไปจากจิตใจของเธอเลย จากความเจ็บแค้นกลายเป็นความเกรี้ยวกราดต่อคนรอบตัว สุดท้ายความเกรี้ยวกราดนั้นก็ส่งผลกลับมาที่ตัวเอง ทำให้ใจสั่น ปวดหัว และปวดท้องมาก แถมเธอยังปวดข้อต่อขากรรไกร เพราะเธอกัดฟันมากเวลานอน เป็นอย่างนี้มานานจนทนไม่ไหว ในที่สุดเธอก็พบว่า เป็นเพราะความแค้นต่อผู้ชายคนนั้น เธอคิดว่าถ้าไม่ให้อภัยเขา เธอคงอยู่ไม่ไหวแน่ๆ ในที่สุดเธอก็เรียนรู้ที่จะให้อภัย เลิกจมปลักอยู่กับอดีต และก็มองไปข้างหน้า เมื่อสามารถให้อภัยคนๆ นั้น เธอก็สามารถมองไปข้างหน้าและเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ เมื่อก่อนทุกเช้าต้องตื่นขึ้นมาด้วยความโกรธ แต่พอให้อภัยได้สุขภาพก็ดีขึ้น ชีวิตก็มีความสุข เพราะฉะนั้นการให้อภัยจึงสำคัญมากในการบรรเทาความเจ็บปวด

    เมื่อประมาณ ๖-๗ ปีก่อน ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา มีโครงการเรียกว่า โครงการเยียวยาด้วยการให้อภัย (Stanford Forgiveness Project)โดยให้คนที่มีความทุกข์จากการถูกทำร้าย มีความเจ็บปวดในจิตใจเพราะว่าถูกกระทำ มาฝึกการให้อภัย ซึ่งมีหลายแบบ ทุกคนเข้าอบรม ๖ วัน ๆ ละ ๕๐ นาที จากนั้นก็ติดตามอาการของผู้ที่เข้าโครงการนี้ ซึ่งมีจำนวนเกือบ ๓๐๐ คน มีการติดตามนานถึง ๑๘ เดือนหลังจากเข้าโครงการ สิ่งที่เขาพบก็คือ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีความเคียดแค้นลดลง นอกจากนั้นอาการอื่น ๆ เช่น ความเครียด อาการปวดท้อง ปวดหัว ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อก็ลดลงด้วย ต่อมาเขาเอาวิธีการนี้ไปใช้กับผู้หญิงที่สูญเสียลูกและสามีในไอร์แลนด์เหนือ เพราะในไอร์แลนด์เหนือมีการฆ่าฟันกันมากระหว่างชาวคาทอลิกกับโปรแตสแตนท์ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งมาเข้าคอร์สนี้ มาฝึกการให้อภัยวันละ ๒ ชั่วโมง ทำทุกวันตลอดหนึ่งอาทิตย์ ก็ปรากฏว่าอาการเจ็บปวด ความซึมเศร้าความเครียดลดลง เดี๋ยวนี้ก็มีการเอาวิธีการนี้ไปใช้ในบริษัทใหญ่ๆ เช่น อเมริกันเอ็กเพรส เป็นต้น วิธีนี้ไม่ได้ใช้กับคนที่ถูกกระทำเท่านั้น คนที่มีความเกลียดชังผู้คนรอบตัว ก็รู้สึกดีขึ้นเมื่อให้อภัยผู้อื่น

    การช่วยให้ผู้คนรู้จักให้อภัย เป็นวิธีการที่ได้ผล อาตมาเรียกการให้อภัยว่า “ยาสามัญประจำใจ” คนเราถ้าไม่มียาประเภทนี้ จิตใจจะมีความทุกข์ ความเครียด กดดัน ความดันโลหิตสูง ทุกคนจึงควรมียาสามัญชนิดนี้ไว้เยียวยาจิตใจ ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกายด้วย

    ประการที่สี่ คือศรัทธาหรือความเชื่อมั่น เราคงทราบดีอยู่แล้วว่าศรัทธา เช่นศรัทธาหมอ ศรัทธาพยาบาล หรือศรัทธาต่อยา มีผลต่อการรักษา วิลเลียม เฮนรี เวลช์ ผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ซึ่งมีชื่อเสียงมากในอเมริกา พูดถึงพ่อของเขาซึ่งเป็นแพทย์เหมือนกันว่า “ทันทีที่ท่านเข้าห้องผู้ป่วย คนป่วยจะรู้สึกดีขึ้นทันที บ่อยครั้งมิใช่เพราะการรักษาของท่าน แต่เป็นเพราะการปรากฏตัวของท่านต่างหากที่รักษาผู้ปวยให้หายได้” อันนี้ชี้ให้เห็นว่าศรัทธาในตัวแพทย์ และเมตตากรุณาของแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความหวัง เกิดกำลังใจ เกิดความอบอุ่นใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเจ็บปวดและความเจ็บป่วยทุเลาลง

    วงการแพทย์ทราบดีว่ายาหลอก (Placebo) นั้นมีอิทธิพลต่อคนไข้มาก มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่คิดเอาเองหรืออุปาทานเท่านั้น แต่มันมีผลต่อระบบประสาท และสารเคมีในสมอง เคยมีการทดลองที่น่าสนใจมาก โดยแบ่งอาสาสมัครเป็น ๒ กลุ่ม ผู้ทดลองบอกทั้ง ๒ กลุ่มว่า ต้องการทดสอบประสิทธิภาพของยาแก้ปวดชนิดหนึ่ง กลุ่มแรกได้รับการบอกว่ายาระงับปวดเม็ดนี้ราคา ๒ เหรียญ ๕๐ อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ายาระงับปวดราคา ๑๐ เซ็นต์ ก่อนที่จะให้ยา ก็เอาไฟฟ้าช็อตที่ฝ่ามือ แล้วให้อาสาสมัครให้คะแนนความปวด จากนั้นก็ให้ยาระงับปวด ปรากฏว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มแรกที่ได้ยาราคาแพง บอกว่าความเจ็บปวดลดลง ส่วนกลุ่มที่สองที่ได้รับยาราคาถูก ความเจ็บปวดลดลง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่อาสาสมัครเหล่านี้ไม่รู้ก็คือความจริงแล้วยาที่ให้แก่ทั้งสองกลุ่มนั้นเป็นยาตัวเดียวกัน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ที่จริงมันไม่ใช่ยาแก้ปวด แต่เป็นวิตามินต่างหาก การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้ามีความเชื่อมั่นว่าเป็นยาระงับปวด ความเจ็บปวดก็จะลดลง และจะลดลงมากหากเชื่อว่าเป็นยาราคาแพง แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นยาราคาถูก ความเจ็บปวดก็จะลดลงได้ไม่มากเท่ายาราคาแพง

    การทดลองนี้ชี้ว่าความเชื่อมั่นนั้นสำคัญมาก ไม่ใช่แค่ช่วยบรรเทาความรู้สึกปวดเท่านั้น แม้กระทั่งความรู้สึกว่าอร่อย รสชาติดี ก็สัมพันธ์กับเรื่องราคาด้วยเหมือนกัน มีการทดลองให้อาสาสมัครมา ๒๐ คนมากินไวน์ ๕ แก้ว เขาได้รับการบอกเล่าว่า ๕ แก้วนี้เป็นไวน์ ๕ ชนิด แต่ที่จริงมี ๓ ชนิดเท่านั้น อีก ๒ แก้วเป็นไวน์ชนิดเดียวกันกับ ๓ แก้วแรก ทุกคนได้รับการบอกเล่าว่าไวน์ ๕ แก้วมีราคาตั้งแต่ ๕ เหรียญ ถึง ๙๐ เหรียญต่อขวด เสร็จแล้วก็ให้ชิมไวน์ คนที่ชิมไวน์ ๕ เหรียญจะรู้สึกว่ารสชาติดีน้อยกว่าไวน์ราคา ๙๐ เหรียญทั้งๆ ที่เป็นไวน์ชนิดเดียวกัน ที่น่าสนใจคือมันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น เพราะเมื่อเขาทำการสแกนสมองด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ ก็พบว่าสมองส่วนที่รับความรู้สึกสบายหรือสุขเวทนา ที่เรียกว่า prefrontal cortex มีปฏิกิริยาตอบสนองในทางเดียวกัน นั่นคือ เมื่อกินไวน์ ๕ เหรียญ อาการของสมองส่วน prefrontal cortex ก็จะสว่างนิดหน่อย แต่เมื่อได้ชิมไวน์ที่เขาคิดว่าราคา ๙๐ เหรียญ สมองส่วนนี้ก็จะสว่างมากขึ้น และไม่ได้เกิดกับคนกินไวน์สมัครเล่นเท่านั้น แม้กระทั่งคนที่เป็นเซียนกินไวน์ เมื่อทำการทดลองแบบนี้ ก็ได้ผลคล้ายกัน

    การทดลองนี้ชี้ว่าความเชื่อนั้นสัมพันธ์กับความรู้สึก ถ้าเชื่อว่าเป็นของแพง ก็รู้สึกว่ามีรสชาติดี แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นของถูก ก็รู้สึกว่ารสชาติไม่ดี ทั้ง ๆ ที่ไวน์ทั้งสองแก้วนั้นมาจากขวดเดียวกัน

    ประการที่ห้า คือสมาธิ สมาธินั้นสามารถที่จะช่วยเยียวยาความเจ็บปวดได้ คุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเสียชีวิตแล้ว ท่านเคยดูแลคนไข้คนหนึ่ง เธอ ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี อาการหนักจนกระทั่งไตวายตั้งแต่เด็ก ต้องไปฟอกเลือดเป็นประจำ เธอเคยถูกเจาะไขสันหลังแล้วเจ็บมาก จึงเกลียดหมอและกลัวเข็มฉีดยาอย่างที่สุด เวลาถูกเข็มแทง เธอจะด่าหมอและร้องกรี๊ดจนชัก บางทีก็เกร็งจนหมดสติไป
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,466
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    (ต่อ)
    คุณหมอสุมาลีพยายามพูดคุยกับเด็กคนนี้ว่า เธอกลัวอะไร โกรธใคร มีเรื่องเครียดหรือเปล่า อะไร คุณหมอแนะนำให้เด็กทำความเข้าใจกับความกลัวของตัวเอง รวมทั้งหันมาดูความกลัวของตน จนกระทั่งความกลัวลดลง ต่อมาคุณหมอชวนเด็กคนนี้ไปเข้าคอร์สรรมฐาน ฝึกสมาธิติด้วยการเดินจงกรม การตามลมหายใจ ปรากฏว่าเด็กเข้าใจและทำได้ ต่อมาก็หายกลัวเข็ม สามารถมองเข็มขนาดใหญ่แทงเข้าเนื้อตัวเองได้ จุดสำคัญอยู่ที่วันที่ผ่าตัดเปลี่ยนไต เธอแพ้ยาฉีดแก้ปวด จนอาเจียนแผลระบมมาก หมอไม่รู้จะทำอย่างไร แต่เด็กตั้งสติได้ดีมาก บอกว่าขอพาราเซตามอลเม็ดเดียว พอกินยาเสร็จเธอก็ตามลมหายใจเข้าออก แล้วก็หลับไป จากนั้นหมอก็ผ่าตัดจนสำเร็จเรียบร้อย โดยไม่มีเสียงร้องเจ็บจากเธอเลย นี่เป็นเรื่องที่อัศจรรย์มาก ต่อมาก็กลายเป็นกรณีศึกษาของแพทย์ที่นั่นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งก็อธิบายได้ด้วยสมาธิล้วนๆ

    มีอีกกรณีหนึ่ง คุณหมออมรา มะลิลาเล่าว่า เคยไปเยี่ยมอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งซึ่งมะเร็งลามไปถึงกระดูก คนไข้เจ็บปวดมาก ยาก็เอาไม่อยู่ นอนไม่ได้ ต้องนั่งตัวงอ ตัวซีด มีเหงื่อเม็ดโต ๆคุณหมออมราจึงชวนคนไข้ทำสมาธิ ด้วยการตามลมหายใจ หายใจเข้าก็บริกรรมว่า “พุท” หายใจออกบริกรรมว่า “โธ” ทีแรกนึกว่าคนไข้จะทำได้แค่ ๕ นาที เพราะไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน แต่ปรากฏว่าคนไข้ทำได้นานถึง ๕๐ นาที ระหว่างที่ทำนั้น ความเจ็บปวดทุเลาลงมากจนสามารถนั่งหลังตรงได้ ทำเสร็จก็รู้สึกดีขึ้นมาก ปากเป็นสีชมพู ผิวพรรณมีน้ำมีนวล เหงื่อหายไปหมด คุณหมออมราแปลกใจมากว่า ทำไมถึงนั่งได้นานอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน ก็ได้คำตอบว่า เป็นเพราะเวลาทำงานเขาจะมีสมาธิกับงานมาก พอเอาสมาธินั้นมาใช้กับการตามลมหายใจ จึงสามารถทำได้ไม่ยาก นี้เป็นตัวอย่างว่าสมาธินั้นช่วยบรรเทาปวดได้มาก

    ประการที่หก เป็นวิธีการที่ยากขึ้นอีกหน่อย แต่ก็ใช้ได้ดีก็คือการมีสติ รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น โดยไม่ถูกความรู้สึกนึกคิดครอบงำใจ เช่น เมื่อมีความกลัว ก็เห็นความกลัว แต่ไม่จมอยู่ในความกลัว เมื่อมีความปวด ก็เห็นความปวด ไม่ถลำเข้าไปในความปวดนั้น สตินั้นต่างจากสมาธิ สมาธินั้นบรรเทาปวดเพราะช่วยให้จิตไปจดจ่อสิ่งอื่น ทำให้ลืมความปวด หรือละเลยความปวด เช่น ปวดท้อง แต่จิตไปจดจ่อที่ลมหายใจ พูดอีกอย่างหนึ่งคือสมาธิเป็นการเอาจิตออกจากความปวดหรือออกจากร่างกายส่วนที่กำลังเจ็บปวด นี่เป็นประสบการณ์ที่เราเคยพบมาแล้ว เช่นคนที่เล่นไพ่นานๆ ข้ามวันข้ามคืนโดยไม่รู้สึกปวดหรือเมื่อยเลย แต่พอนั่งพับเพียบฟังพระเทศน์แค่ ๑๕ นาทีก็ปวดเมื่อยต้องขยับขาแล้ว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะตอนที่เล่นไพ่นั้น จิตจดจ่ออยู่ที่ไพ่ จึงไม่รับรู้ความปวดเมื่อย เลิกเล่นเมื่อไหร่ถึงรู้สึกปวดเมื่อย ตรงข้ามกับเวลาฟังพระเทศน์ ใจไม่มีสมาธิจึงรับรู้ความปวดเมื่อยที่ขาได้ง่าย

    สมาธินั้นช่วยพาจิตออกจากความเจ็บปวด แต่สติทำงานอีกแบบหนึ่ง คือไปรับรู้ความปวด โดยไม่ยึดติดความปวดนั้น รู้ว่ากายปวด แต่ใจไม่ปวด เพราะเห็นความปวดเฉย ๆ โดยไม่ยึดว่าความปวดเป็น “ตัวกูของกู” ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยากสักหน่อยแต่สามารถทำได้ คุณหมออมราเล่าถึงคนไข้คนหนึ่ง เป็นมะเร็งลำไส้ ปวดทรมานมาก ยาก็เอาไม่อยู่ แต่เนื่องจากเขาเคยเจริญสติมาก่อน จึงเอาสติมาใช้งาน คนไข้คนนี้พูดตามสำนวนของเขาว่า สติเอาจิตมาตั้งที่หัวไหล่ แล้วดูกายที่เจ็บปวด ปรากฏว่า ความทุกข์ทรมานหายใจ จิตเป็นปกติ สงบเย็น แต่พอเผลอสติ จิตไปรวมกับกาย ก็ทุกข์มากเหมือนกับโลกจะแตก จนเมื่อมีสติกลับมา ใจก็แยกออกจากกาย เห็นความปวดกายแต่ใจไม่ทุกข์

    การมีสติช่วยให้เกิดการรับรู้แบบผู้สังเกต ผู้เห็น ไม่ใช่ผู้เป็น เมื่อมีสติ จิตก็รับรู้ความปวดหรือทุกขเวทนา แต่จิตไม่ปวดด้วย เพราะไม่ได้ยึดมันว่าเป็นของเรา พูดอีกอย่างคือ เห็นความปวด แต่ไม่มีผู้ปวด กายปวด แต่จิตไม่ปวด มีแต่ทุกขเวทนา แต่ไม่มีความทุกข์ทรมาน ทุกขเวทนากับทุกข์ทรมาน สองอย่างนี้ต่างกัน ทุกขเวทนาเป็นเรื่องกาย แต่ทุกข์ทรมานเป็นเรื่องใจ ทุกขเวทนาเป็นของจริง แต่ทุกข์ทรมานเกิดจากการปรุงแต่งของใจ เมื่อใจไม่มีสติก็ไปยึดความเจ็บปวดว่าเป็นตัวกูของกู มีตัวกูผู้ปวดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง มีแต่ความปวด ไม่มีผู้ปวด ตัวกูผู้ปวดนั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเมื่อไม่มีสติ

    ความกลัวก็เช่นกัน ถ้ามีสติเห็นความกลัว ความกลัวก็ทำอะไรให้ทุกข์ใจไม่ได้ คุณหมอวิธาน ฐานวุฒ ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ เล่าว่า เวลาทำการผ่าตัดเล็ก เช่นผ่าไฝ คนไข้บางคนจะกลัวมาก กลัวแม้กระทั่งเข็มฉีดยาชา ต้องให้ยานอนหลับก่อนจึงจะฉีดยาชาได้ แต่บางทีก็ไม่ได้ผล เพราะยานอนหลับออกฤทธิ์ตอนที่กลับบ้านแล้ว หมอถามคนไข้ว่าที่กลัวนี่กลัวอะไร คนไข้บอกกลัวเจ็บ พอฉีดยาชาให้ก็ถามว่ากลัวอีกหรือเปล่า คนไข้ก็ยังกลัว ถามว่ากลัวอะไร ฉีดยาชาแล้วไม่มีอะไรน่ากลัว แต่คนไข้ก็ยังกลัวอยู่ ความกลัวมันก็ทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น ทั้งที่ฉีดยาชาเข้าไป คุณหมอก็พยายามอธิบายว่ามันไม่น่ากลัวนะ ฉีดยาชาไม่เจ็บหรอกแต่ก็ไม่สำเร็จ แม้อธิบายว่ามันไม่อันตรายหรอกผ่าตัดเล็กแค่นี้ คนไข้ก็ยังรู้สึกกลัวอยู่นั่นเอง

    สุดท้ายก็ใช้วิธีให้คนไข้สังเกตดูความกลัว แต่ก่อนพอคนไข้บอกว่ากลัว หมอก็บอกว่าไม่ต้องกลัวหรอก แต่ตอนหลังพอคนไข้บอกว่ากลัว หมอก็เปลี่ยนคำพูดใหม่บอกว่า กลัวก็ดีแล้วอย่าพยายามไม่กลัว แต่ให้สังเกตความกลัวของตัว ลองดูว่ากลัวเท่าไรถ้าคะแนนเต็ม ๑๐ จะให้คะแนนความกลัวเท่าไหร่ แล้วก็ให้สังเกตกายของคุณด้วย ว่าปฏิกิริยาทางกายเป็นอย่างไร หัวใจเต้นอย่างไร ลมหายใจเป็นอย่างไร หลังจากสังเกตแล้วต่อมาก็ให้ยอมรับความกลัว ศิโรราบต่อมัน ไม่พยายามผลักไสหรือกดข่มมัน ให้รู้สึกเหมือนว่าคุณไปนั่งอยู่ตรงใจกลางความกลัวเลย หมอวิธานเล่าว่าเมื่อใช้วิธีนี้ ความกลัวของคนไข้ลดลงจาก ๘-๙ เป็น ๔-๕ เลย

    นี้เป็นการใช้สติในการจัดการกับความกลัว คือรับรู้เฉย ๆ โดยไม่หนี หรือเอาใจออกห่างจากความกลัวหรือสิ่งที่เรากลัว เป็นการดูความกลัวโดยไม่เป็นผู้กลัว และยอมรับมันโดยไม่ผลักไสมัน เวลาเราพยายามผลักไสหรือกดข่มอะไรก็ตาม มันจะหายไปชั่วขณะ แล้วก็จะผุดโผล่มา ยิ่งผลักไสความโกรธความเกลียดความปวด ก็จะยิ่งโกรธ ยิ่งเกลียด ยิ่งปวดมากขึ้น แต่เมื่อเรายอมรับมัน ใจก็สงบ และช่วยให้กายสงบด้วย ไม่ใช่สงบต่อความปวดเท่านั้น หากยังช่วยให้เราสงบเมื่อเผชิญกับความตายได้ด้วย

    มีหลายคนที่เมื่อยอมรับความตายได้ ใจก็สงบนิ่ง มีเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เคยไปว่ายน้ำที่สมุยแล้วจู่ ๆ โดนกระแสน้ำซัดออกนอกฝั่งไปเรื่อยๆ เธอกลัวมาก พยายามว่ายเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งถูกกระแสน้ำพัดออก ยิ่งว่ายก็ยิ่งเหนื่อย เพื่อนเห็นก็เข้าไปช่วยไม่ได้เพราะกลัวถูกกระแสน้ำซัดออกไปด้วย ทีแรกเธอตกใจมาก แต่ตอนหลังพอรู้แน่ว่าจะต้องตายก็ทำใจได้ ตายก็ตาย พอทำใจได้อย่างนั้นใจก็สงบ ไม่ดิ้นรน ลอยคออยู่นิ่ง ๆ ไม่กระเสือกกระสนอีกต่อไป ปรากฏว่าถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่าคลื่นค่อย ๆ ซัดเข้าหาฝั่งเอง เพื่อนก็เลยว่ายมาช่วยเธอ พาเข้าฝั่ง เธอเล่าว่าการที่เธอยอมรับความตายได้ทำให้รอดชีวิตมาได้ ถ้าไม่พร้อมที่จะตาย เธอจะต้องพยายามว่ายเข้าหาฝั่ง ซึ่งในที่สุดก็จะหมดแรง มีหลายคนที่ตายเพราะพยายามว่ายเข้าฝั่งจนหมดแรงในที่สุด

    คนเราเมื่อกลัวตายก็พยายามขัดขืน แต่เมื่อยอมรับมัน ใจก็สงบได้ นี่คือประโยชน์ของสติอาตมาคิดว่าการเผชิญความเจ็บปวดด้วยวิธีนี้ คือการยอมรับความเจ็บปวด และศิโรราบต่อมัน จะทำให้ใจทุกข์ทรมานเพราะความเจ็บปวดน้อยลง ความทุกข์หรือความเจ็บปวดอาจจะหารสองหารสาม ตรงกันข้ามถ้าเราขัดขืน พยายามปฏิเสธ ผลักไสมัน ความทุกข์หรือความเจ็บปวดก็จะคูณสองคูณสาม ความพยายามผลักไสต่อสู้ทำให้ใจทุกข์เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเวลามีความเจ็บปวดเท่านั้น แต่รวมถึงเวลาของหาย อกหัก สูญเสียคนรักด้วย มันเป็นเรื่องเดียวกัน คือยิ่งต่อสู้ยิ่งปฏิเสธก็ยิ่งทุกข์ ความทุกข์คูณสองคูณสามทันที เหมือนกรณีที่อาตมาเล่าถึงความกลัวเวลาถูกจีดยา ถ้ากลัวเข็ม พอเข็มแทงความเจ็บจะเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่าของคนที่ไม่กลัว แต่ถ้ามีสติเห็นความกลัว รู้ว่าความกลัวเกิดขึ้นโดยไม่ผลักไส ความกลัวก็จะคลายลง ใจก็จะนิ่ง ทำให้ความเจ็บจากการถูกเข็มแทงลดลงด้วย

    ประการที่เจ็ด ที่อาตมาอยากจะเพิ่มคือการสวดมนต์ การสวดมนต์เป็นวิธีการที่ช่วยให้เกิดสมาธิ หรือจะเรียกว่าทำให้จิตเบี่ยงเบนออกจากความเจ็บปวด มารับรู้สิ่งที่ดีงามหรือสิ่งที่ศรัทธา ทำให้ใจสงบได้ อาจจะมีเอ็นโดรฟินหลั่งมา ช่วยให้ความเจ็บปวดทุเลาลง ถ้าเรามีความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธ์ สวดมนต์อยู่เสมอ ก็จะช่วยบรรเทาความปวดได้ ถึงแม้ไม่ได้สวดมนต์เอง แต่ให้คนอื่นสวดให้ ความปวดก็ลดลงได้เช่นกัน

    มีการทดลองซึ่งมีชื่อมาก คือการให้คนจากศาสนาต่างๆ กัน ยิว พุทธ คริสต์ โปรแตสแตนท์ สวดมนต์ให้แก่คนไข้ โดยรู้ว่าคนไข้เป็นใครชื่ออะไร อยู่ที่ไหน แต่ไม่รู้จักกัน แล้วก็น้อมจิตส่งใจไปให้ ปรากฏว่าคนไข้เหล่านี้อาการดีขึ้น เขาแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกเยียวยาด้วยการบำบัดรักษาทางกาย กลุ่มที่สองบำบัดด้วยเสียงเพลง แล้วก็การสร้างจินตภาพถึงสิ่งที่ดีงาม และกลุ่มที่สามโดยการสวดมนต์ให้แก่คนไข้ พบว่ากลุ่มที่สามมีการตอบสนองที่ดีขึ้นกว่าสองกลุ่มแรกด้วยซ้ำ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไปว่าเป็นเพราะเหตุใด

    ทั้งหมดนี้การแพทย์ยังสงสัยอยู่ว่าเป็นไปได้อย่างไร ทำงานอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะแม้กระทั่งยานอนหลับ หรือยาสลบ ทุกวันนี้เราก็ยังรู้ไม่ชัดว่ามันทำงานได้อย่างไร มียาหลายตัวมากที่เราไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร แต่มันสามารถเยียวยาและรักษาให้หายได้ ทำนองเดียวกันกับวิธีการทางจิตใจ หรือบางครั้งเรียกว่าวิธีการทางจิตวิญญาณ วิธีการทางศาสนา ทุกวันนี้มีหลายกรณีที่เราไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร ต่อระบบประสาท ต่อร่างกายของเรา แต่ที่แน่ๆ คือมันได้ผล สามารถช่วยลดความเจ็บปวดได้

    วิธีการทางจิตใจที่อาตมาประมวลมาข้างต้น ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดความเจ็บปวดได้ หลายวิธีการก็เป็นสิ่งที่ทุกท่านอาจจะได้ยินได้ฟังจากการบรรยายที่ผ่านมา ได้ประสบพบเห็นกับตัวเองแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีอะไรใหม่ อาตมาเพียงแต่ประมวลเพื่อให้เห็นภาพได้กว้างขึ้น เรื่องการบำบัดหรือเยียวยาความปวดนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของหมอ ของยา หรือของเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของตัวผู้ป่วยเองด้วย ซึ่งหากวางจิตวางใจให้ถูกต้อง มีการเจริญสติ การทำสมาธิ การสวดมนต์ การรู้จักให้อภัยหรือว่าการมองโลกในแง่ดี ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด ก็ช่วยให้ความปวดบรรเทาลงได้

    อาตมาใช้เวลาพอสมควรแล้วก็ขอยุติเพียงเท่านี้

    คำถาม

    เป็นผู้พยายามปฏิบัติระยะเริ่มต้น ก็เคยปฏิบัติบ้าง อาศัยฟังจากครูบาอาจารย์บ้าง จากซีดีบ้างก็มีพระอาจารย์บางท่านพยายามสอนว่าเวลานั่งสมาธิแล้วเจ็บปวด เราก็ให้ทนไป แล้วถึงจุดหนึ่งแล้วก็ให้แยกจิตออกมาดูกายแล้วก็จะคลายเจ็บ แล้วก็พยายามทำ ในชีวิตเคยประสบอย่างนั้นครั้งเดียว ว่าเรานั่งจนเจ็บมากๆ แต่ก็ไม่ลุก แล้วก็หลุดจากความเจ็บไปแป๊บนึง แล้วพอมันหลุดไปแป๊บหนึ่งเราก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างที่อาจารย์บอกเลย พอคิดได้อย่างนี้ก็กลับมาเจ็บเหมือนเดิม ครั้งสองครั้งในชีวิต ผมก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยากมาก ที่อาจารย์ว่ามีคนปวดมากแล้วก็เอาจิตมาไว้ที่ไหล่แล้วก็หายปวด อาจารย์ครับในฐานะที่เราเป็นแพทย์แล้วมีเวลาไม่มาก เรามีวิธีแยกกายดูจิตอย่างไร ?

    พระไพศาล วิธีดูจิตหรือการการเจริญสติเป็นเรื่องไม่ง่าย ถ้าไม่ได้ฝึกฝนมาก่อน จะทำได้ยาก อาตมาจึงพูดเป็นเรื่องท้าย ๆ ในเบื้องต้น สิ่งที่น่าทำก่อนก็คือ การให้กำลังใจเขา ทำให้เขารู้สึกดี เช่น ให้ความรักความเมตตาแก่เขา ความมีน้ำใจของเราเป็นสิ่งแรกที่ผู้ป่วยสามารถสัมผัสได้ ถ้าเริ่มต้นตรงนี้ก่อน ก็จะช่วยให้เขาคลายความกังวล จากนั้นก็ควรแนะนำให้เขาลองสังเกตความเจ็บความปวดดู แต่ไม่ต้องถึงกับแยกกายแยกจิตออกมา เพราะศัพท์นี้อาจทำให้ดูเป็นเรื่องยาก แต่ให้เขาสังเกตดูกาย ดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับกาย เช่น ลมหายใจ กาเรต้นของหัวใจ รวมทั้งสังเกตดูอารมณ์ความรู้สึกของตน ทีแรก เขาอาจจะยังทำได้ไม่ต่อเนื่อง หรือทำไม่ค่อยได้ เช่น ทำไปสักพักก็ไปปักตรึงอยู่กับความเจ็บปวดนั้น แต่หากบ่อยๆ ก็จะทำได้คล่องขึ้น อย่างไรก็ตามอาตมาคิดว่าต้องใช้หลายวิธี อย่างคนบางคน เขามีความโกรธเกลียดกังวล เขามีความทุกข์ใจ เราก็ต้องช่วยเขาหาด้วยว่าเขามีอะไรอยู่ในใจหรือเปล่า เพราะถ้ามีความกังวล ความเครียด ก็จะทุกข์มากขึ้น ปวดมากขึ้น

    เดี๋ยวนี้คนมีความเครียดความกังวลมาก ทำให้เกิดอาการอย่างหนึ่ง คือใจสั่น หายใจไม่เต็มที่ หนึ่งในสี่ของคนที่ไปหาหมอ จะมีอาการพวกนี้มาก เกิดจากความกังวลเรื่องหนี้สิน เรื่องลูก เรื่องสามี ถ้าเราเข้าใจและพยายามคุยกับเขา คุยกับเขาไม่ใช่แต่เรื่องอาการทางกาย แต่คุยเรื่องอื่นด้วย เหมือนกับที่อาตมาเล่าถึงหมอที่ขอให้คนไข้พูดเรื่องชีวิตของเขา แทนที่จะพูดแต่เรื่องอาการ บางทีชีวิตเขาอาจมีปมบางอย่าง ซึ่งทำให้เจ็บปวดมากขึ้น เป็นความเจ็บปวดเพราะปัจจัยที่เรียกว่า psychosocial ไม่ใช่ physical เลยก็ได้ ตรงนี้ถ้าเราทำให้เขาคลายความรู้สึกดังกล่าวก็จะช่วยได้มาก คือมันมีหลายวิธี แต่อยากจะแนะว่าการดูความเจ็บปวดก็ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนไป อย่างที่คุณหมอวิธานแนะนำคนไข้ เริ่มจากการให้คะแนนความกลัว วิธีนี้ทำให้จิตคอยสังเกตความกลัว ไม่จมอยู่กับความกลัว แต่เราเป็นผู้ดูมัน แล้วก็ลองยอมรับมัน วิธีนี้ใช้กับความปวดได้ด้วย แต่ความปวดจะยากกว่า การดูความกลัวกับการดูความปวดนั้นต่างกัน ดูความกลัวอาจจะง่ายกว่าดูความปวด เพราะความปวดมีแรงดึงดูดมากกว่า

    ทราบมาว่าความกลัวกับความโกรธเป็นอารมณ์ที่ค่อนข้างจะลำบากในการดูแล ซึ่งเมื่อครู่นี้ ท่านก็ได้อธิบายเพิ่มเติมแล้ว แต่ทีนี้บางทีเราเจอผู้ป่วยที่มีปัญหาคาใจเรื่องการให้อภัย แล้วตัวเราเองมีเวลาเจอกับผู้ป่วยไม่มาก ด้วยเทคนิคง่ายๆ พระคุณเจ้าจะให้คำแนะนำอย่างไร ในเรื่องการให้อภัยผู้อื่นเพื่อลดปัญหาทางกายหรือว่าอาการปวดที่ตัวเองมี ?

    พระไพศาล ควรแนะให้เขาลองแผ่เมตตา การแผ่เมตตาควรเริ่มจากคนที่เรารักก่อนเพราะทำได้ง่าย จากนั้นก็แผ่เมตตาให้แก่คนที่ห่างออกไปหน่อย หรือแผ่เมตตาแก่คนที่เรารู้สึกเฉยๆ แล้วค่อยแผ่เมตตาให้แก่คนที่เรารู้สึกลบ แล้วให้เขาสังเกตว่า เวลานึกถึงคนที่รัก ความรู้สึกเป็นอย่างไร เวลานึกถึงคนที่โกรธ ความรู้สึกเป็นอย่างไร ไม่นานเขาจะรู้เลยว่าความโกรธความเกลียดมันเป็นโทษต่อเขา ถ้าเขาไม่อยากเป็นทุกข์ เขาก็ควรปล่อยวางความโกรธความเกลียด เราอาจช่วยเขาด้วย คือช่วยให้เขาเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณโกรธเกลียดใครสักคน อยากจะทำร้ายใครสักคน คนที่ถูกทำร้ายเป็นคนแรกคือคุณ ทันทีที่คุณแช่งใครว่าขอให้แกไปตกนรก คนที่ตกนรกคนแรกคือเรา พอเขาเห็นอย่างนี้ ก็อยากอยากบรรเทาความโกรธเกลียด เกิดแรงจูงใจที่จะให้อภัย หลายคนบอกว่าที่ฉันให้อภัยเพราะฉันรู้ว่าฉันโกรธต่อไปไม่ได้แล้ว ไม่อย่างนั้นฉันจะแย่ ไม่ได้ให้อภัยเพราะว่ารักเขานะ แต่ให้อภัยเพราะตัวเองทุกข์จนทนไม่ไหวแล้ว ก็เลยให้อภัย ต้องเป็นขั้นตอนอย่างนี้ หากให้เขานึกถึงตัวเองก่อน เอาประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง อาตมาคิดว่าการให้อภัยก็จะทำได้ง่ายขึ้น
    :- https://visalo.org/article/D_dhammachatBumbud10.html
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,466
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    BuddhaSunrise.jpg
    ความคิดที่อันตราย

    พระไพศาล วิสาโล
    ในการบรรยายคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับคำถามจากแพทย์หญิงท่านหนึ่งว่า หากผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต เธอควรทำอย่างไร เนื่องจากมีผู้เตือนว่า หากเธอช่วยเหลือเขา จะเป็นการแทรกแซงกรรมของเขา การกระทำของเธอนั้นแม้เป็นบุญ ก็เป็น “บุญสีดำ” ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อเธอ

    แม้ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเรื่อง “บุญสีดำ”มาก่อน (คุ้นแต่คำว่า กรรมดำ กรรมขาว) แต่ไม่รู้สึกแปลกใจกับความเห็นดังกล่าว เนื่องจากระยะหลังได้ยินบ่อยขึ้น ก่อนหน้านี้ก็ได้ยินอาจารย์พยาบาลท่านหนึ่งพูดว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นอาจทำให้ “เจ้ากรรมนายเวร”ของเขาไม่พอใจ และมาทำร้ายเราได้ เธอมีความเห็นว่า คนใกล้ตายนั้นกำลังชดใช้กรรม ดังนั้นจึงควรปล่อยให้เขารับกรรมไป เธอคงหมายความต่อไปว่า หากเขายังไม่หมดบุญหมดกรรม ก็คงยังไม่ตายง่าย ๆ

    ความคิดที่ว่า คนใกล้ตายนั้นกำลังชดใช้กรรม ดังนั้นเราจึงควรปล่อยเขาไป (ตามบุญตามกรรม) ไม่ควรยื่นมือไปช่วยเหลือเขา เป็นความคิดที่อันตรายมาก เพราะถ้าเห็นด้วยกับความคิดนี้ ต่อไปเมื่อเห็นใครกำลังจมน้ำตาย เราก็ไม่ควรไปช่วยเขา เห็นคนประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน นอนรอความตาย ก็ไม่ควรพาเขาส่งโรงพยาบาล เห็นใครที่กำลังตายเพราะน้ำท่วมไฟไหม้ ก็ต้องปล่อยเขาไป ถือเสียว่าเป็นกรรมของสัตว์

    ถ้าคิดต่อไปตามตรรกะของความเชื่อดังกล่าว ก็หมายความว่า ใครที่กำลังประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนแม้จะยังไม่ใกล้ตาย เราก็ไม่ควรช่วยเขา เพราะเขากำลังใช้กรรม(ที่อาจทำไว้ในอดีตชาติ) หากเห็นผู้หญิงกำลังถูกฉุดคร่าอนาจารหรือกระทำชำเรา ก็ควรนิ่งเฉยหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เห็นคนหิวโหย หรือประสบภัยพิบัติ ก็ต้องปล่อยเขาให้เขาเผชิญทุกข์ตามลำพัง ความคิดดังกล่าวถ้ามองให้สุดสาย ก็เห็นได้ไม่ยากว่า ถ้าคนไทยคิดแบบนี้กันหมด เมืองไทยก็เป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นดินแดนอนารยะสมบูรณ์แบบ เพราะผู้คนอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไม่มีความเมตตาปรานีต่อกันเลย

    แม้จะไม่มีความรู้ทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะเรื่องกฎแห่งกรรมเลย ก็น่าจะเห็นได้ไม่ยากว่าความคิดดังกล่าวมีจุดอ่อนอย่างมาก ใครก็ตามที่มีความคิดดังกล่าว ลองนึกภาพว่าหากลูกสาว หรือน้องสาวของตน ถูกฉุดคร่าอนาจารหรือทำร้าย ถ้ามีคนเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา คุณอยากให้คนเหล่านั้นนิ่งเฉยหรือไม่ และหากเขานิ่งดูดาย โดยให้เหตุผลว่า ลูกสาวหรือน้องสาวของคุณกำลังใช้กรรม จึงไม่อยากแทรกแซงกรรม คุณจะรู้สึกกับคนเหล่านั้นอย่างไร จะว่าไปแล้วไม่ต้องคิดให้ไกลตัว คนที่มีความคิดดังกล่าว หากเห็นลูกของตนกำลังถูกทำร้ายอยู่ต่อหน้า คุณจะอยู่นิ่งเฉยเพราะเห็นว่าลูกกำลังชดใช้กรรมหรือไม่

    ถ้าคุณไม่ยอมนิ่งเฉย อีกทั้งไม่อยากให้ใครนิ่งเฉยปล่อยให้ลูกของคุณถูกทำร้ายด้วยเหตุผล ดังกล่าว ควรหรือไม่ที่คุณจะนิ่งเฉยเวลาเห็นลูกของคนอื่นเดือดร้อนหรือกำลังจะตายด้วยเหตุผลเดียวกัน

    ความคิดดังกล่าวนอกจากจะทำให้ผู้คนไม่อยากเป็นพลเมืองดีแล้ว ยังทำให้คนไทยไม่อยากทำหน้าที่ของตนให้ถึงที่สุดด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ช่วยชีวิตผู้อื่น เช่น หมอ พยาบาล ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากความคิดเช่นนี้แพร่หลายในหมู่หมอและพยาบาล อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย (ที่จริงอาจต้องถามต่อไปว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับอาชีพหมอและพยาบาล เพราะในเมื่อเป็นอาชีพที่ต้อง “เสี่ยง”กับการถูกเจ้ากรรมนายเวรหรือ “บุญสีดำ”เล่นงาน จะมีอาชีพนี้ทำไม สู้ไปเป็นวิศวกร ทนายความ หรือนักร้องนักแสดงไม่ดีกว่าหรือ)

    ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความคิดดังกล่าวถูกขยายความให้ครอบคลุมไปถึงความพยายามทุกอย่างที่เป็นการช่วยชีวิตผู้คน แม้จะไม่ใช่การลงมือช่วยด้วยตัวเอง แต่เป็นการช่วยในเชิงนโยบาย ก็ถือว่าเป็นการแทรกแซงกรรม ที่ส่งผลให้ผู้ช่วยเหลือเดือดร้อนด้วย เมื่อสามปีที่แล้ว แพทย์ใหญ่ท่านหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก็มีการพูดกันในหมู่แพทย์จำนวนหนึ่งว่าเป็นเพราะท่านผลักดันนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรคจนสำเร็จ ทำให้ผู้คนจำนวนมากรอดตาย เจ้ากรรมนายเวรของคนเหล่านั้นจึงหันมาทำร้ายท่านแทน

    ทุกวันนี้ “เจ้ากรรมนายเวร” เป็นสิ่งที่คนไทยสะพรึงกลัวกันมาก และถูกมองว่าเป็นต้นเหตุแห่งความวิบัตินานาประการของผู้คน แต่ไม่เคยมียุคใดที่ฤทธานุภาพของเจ้ากรรมนายเวรจะขยายขอบเขตกว้างขวางอย่างทุกวันนี้ จนสามารถทำร้ายคนดีที่ช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีพฤติกรรมไม่ต่างจากเจ้าพ่อหรือนักเลงที่หากแก้แค้นศัตรูของตนไม่ได้ ก็หันมาเล่นงานคนที่ช่วยเหลือศัตรูของตน

    ความคิดแบบนี้จัดว่าเป็นของใหม่ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง และไม่สอดคล้องกับหลักการของพุทธศาสนา จริงอยู่พุทธศาสนาสอนว่า ความชั่วเมื่อได้ทำลงไป ย่อมส่งผลให้ประสบความทุกข์ร้อน หากทำร้ายใครก็ย่อมประสบผลร้ายในเวลาต่อมา ในชาดกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผู้เคยมีเวรมีกรรมหรือถูกกระทำในชาติก่อน แล้วมาแก้แค้นกันในชาติถัดมา นั่นคือที่มาของคำว่า เจ้ากรรมนายเวร แต่เจ้ากรรมนายเวรในแง่นี้มิใช่อำนาจมืดที่ทรงฤทธานุภาพและเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวพร้อมจะทำร้ายใครก็ตามที่ขัดขวางการแก้แค้นของตนอย่างที่เข้าใจในคนบางกลุ่มเวลานี้

    แนวคิดเรื่องเจ้ากรรมนายเวร หากเชื่อแล้วทำให้คนกลัวบาป ไม่กล้าเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเชื่อแล้วทำให้นิ่งดูดาย หรือไม่กล้าช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ ย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่ง อีกทั้งยังขัดกับคำสอนทางพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องเมตตากรุณา และการทำความดี เพราะ “ทำดีย่อมได้ดี” หากทำความดี อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ได้รับผลตอบแทนคือประสบเคราะห์จากกรรมนั้น ก็เท่ากับขัดแย้งกับพุทธพจน์ที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

    การช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบความทุกข์ยากนั้น หาใช่การแทรกแซงกรรมหรือกฎแห่งกรรมไม่ เพราะถึงอย่างไรกฎแห่งกรรมก็ไม่มีใครสามารถแทรกแซงหรือขัดขวางได้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นกฎธรรมชาติที่แน่นอนตายตัว จริงอยู่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัย แต่ก็ไม่สมควรที่เราจะเหมารวมว่า ใครก็ตามที่ประสบความทุกข์ร้อน นั่นเป็นเพราะเขาเคยทำความไม่ดีในอดีตชาติ ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้เขารับกรรมไป ใครที่มีความเชื่อเช่นนั้น ก็แสดงว่ากำลังสมาทานลัทธินอกพุทธศาสนาที่ชื่อ “ลัทธิกรรมเก่า” (คือความเชื่อที่ว่า สิ่งใดก็ตามที่ประสบ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน)

    คนไทยจำนวนมากสมาทานลัทธิกรรมเก่า (ปุพเพกตเหตุวาท) โดยสำคัญผิดว่าเป็นคำสอนทางพุทธศาสนา ดังหลายคนเชื่อว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นผลแห่งกรรมในอดีตชาติ (ทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าคนเราเจ็บป่วยด้วยหลายสาเหตุ ไม่ใช่เพราะกรรมอย่างเดียว) แต่น่าแปลกก็ตรงที่ว่าคนที่มีความเชื่อแบบนี้ เวลาล้มป่วยแทนที่จะอยู่นิ่งเฉย กลับแสวงหาการรักษาพยาบาล หรือไม่ก็พยายามเยียวยาตนเอง โดยไม่คิดว่าเป็นการแทรกแซงกรรมแม้แต่น้อย แต่เหตุใดเวลาคนอื่นประสบความทุกข์ยาก จึงกลับวางเฉย ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการแทรกแซงกรรมของเขา

    เมื่อเห็นคนประสบความทุกข์ยาก ปุถุชนอย่างเราย่อมไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขากำลังรับผลกรรมจากอดีตชาติหรือไม่ แต่ถึงรู้ก็สมควรที่เราจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ เพราะนั่นเป็นคุณธรรมและหน้าที่ที่มนุษย์พึงมีต่อกัน มองอย่างเห็นแก่ตัว หากเราไม่ทำ นั่นก็แสดงว่าเรากำลังสร้างกรรมใหม่ที่เป็นอกุศลกรรมให้แก่ตนเอง ใครจะไปรู้ว่าในวันหน้าหากเราประสบเหตุร้ายแบบเดียวกัน คนอื่นอาจเมินเฉยอย่างเดียวกับที่เราเคยทำกับผู้อื่น หากเราไม่ปรารถนาให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา ก็ไม่ควรทำสิ่งเดียวกันนี้กับผู้อื่น

    จริงอยู่ผู้ประสบเภทภัยหรือผู้ป่วยใกล้ตาย อาจกำลังรับผลแห่งกรรมหนักที่เคยทำไว้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราควรจะนิ่งดูดาย แต่หากทำเต็มที่แล้ว ไม่สามารถเยียวยารักษาหรือช่วยเหลือได้ ก็ต้องทำใจปล่อยวาง ถึงตอนนั้นจะบอกว่าเป็นกรรมของเขา เราไม่อาจฝืนกรรมของเขาได้ ก็มิใช่เรื่องเสียหาย ดีกว่าที่จะวางเฉยแต่แรกโดยอ้างว่าเป็นกรรมของสัตว์

    พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเมตตากรุณา กฎแห่งกรรมคือความจริงที่พระพุทธองค์นำมาสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทำความดี หนีความชั่ว หมั่นสร้างบุญกุศล และเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น รวมทั้งฝึกฝนจิตใจเพื่อให้ลดละความเห็นแก่ตัว จนหลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในตัวตน ทำให้มีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ นับวันกฎแห่งกรรมถูกใช้เพื่อส่งเสริมความเห็นแก่ตัว อยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ขณะที่บุญกุศลถูกตีความเพื่อส่งเสริมความโลภ (เช่น ทำบุญเพื่อให้ถูกหวยรวยพนัน หรือถวาย ๑๐๐ บาทแต่หวังรวยเป็นล้าน) มุ่งเอาเข้าตัวยิ่งกว่าจะเผื่อแผ่ผู้อื่น

    ทัศนคติดังกล่าวลุกลามไปจนถึงขั้นมีความเชื่อในคนบางกลุ่มว่า เราไม่ควรแผ่ส่วนบุญให้ใครมากนัก เพราะจะทำให้บุญของเราเหลือน้อยลง (คนที่คิดเช่นนี้ไม่เข้าใจแม้กระทั่งคำสอนพื้นฐานเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ปัตติทานมัย หรือการทำบุญด้วยการการแผ่ส่วนบุญให้ผู้อื่น ซึ่งหมายความว่ายิ่งแผ่ส่วนบุญให้ผู้อื่น เราก็ยิ่งได้บุญมากขึ้น)

    สัตว์ที่กำลังรอถูกเชือด หากเราช่วยไถ่ชีวิตเขาออกมาได้ ย่อมถือว่าเป็นบุญฉันใด การช่วยเหลือผู้ใกล้ตายให้มีชีวิตรอด หรือจากไปอย่างสงบ ก็ถือว่าเป็นกุศลฉันนั้น ชาวพุทธไม่มีความคิดว่าการไถ่ชีวิตสัตว์เป็นการแทรกแซงกรรมฉันใด ก็ไม่ควรมองว่าการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์เป็นการขัดขวางกฎแห่งกรรมฉันนั้น
    :- https://visalo.org/article/matichon255311.htm
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,466
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    เลิกพิธีกรรมเสียทีดีไหม ?
    พระไพศาล วิสาโล
    เจ้าอาวาสท่านหนึ่งพูดไว้น่าคิดว่า “เวลาจะทำดี ทำไมต้องมีพิธีกรรมเยอะแยะ เวลาคนที่ทำชั่วไม่เห็นจะต้องมีพิธีกรรมอะไรเลย”

    หลายคนพอได้ยินก็นึกถึงการทำบุญขึ้นมาทันที เพราะเวลาจะถวายของให้วัดแต่ละครั้ง ก็ต้องผ่านพิธีกรรมหลายอย่าง ถ้าไม่มีการรับศีล อย่างน้อยก็ต้องกล่าวคำถวายทั้งภาษาบาลีและไทย เสร็จแล้วก็ต้องกรวดน้ำรับพร แต่เวลาคนจะขโมยของวัด กลับทำโดยไม่ต้องสนใจพิธีรีตองใด ๆ

    อันที่จริงคำพูดของท่านเจ้าอาวาสคงไม่ได้เจาะจงเฉพาะพิธีกรรมในวัดเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงวงการอื่นด้วย เช่นในวงราชการก็มักจะมีเสียงบ่นว่าเวลาจะทำประโยชน์แก่ประชาชนทำไมจึงช่างยุ่งยากนัก ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย มีระเบียบหยุมหยิมเต็มไปหมด แต่เวลาจะคอร์รัปชั่น กลับทำได้สะดวกดายนัก

    เดี๋ยวนี้พิธีกรรมเฟ้อไปทุกหนแห่ง จะประชุมก็ต้องมีพิธีเปิด-ปิด แม้กระทั่งจะปลูกป่าก็หนีพิธีกรรมไม่พ้น การที่มีพิธีกรรมเกิดขึ้นมากมายจนรุงรังนั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคนสมัยนี้ไม่รู้จักพิธีกรรมกันแล้ว คือเข้าใจว่าพิธีกรรมเป็นสิ่งที่ต้องมีต้องทำเพื่อให้ครบถ้วนกระบวนการเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่ามันมีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายอะไร ดังนั้นจึงมักทำสักแต่ว่าให้เสร็จหรือผ่านไป ให้ได้ชื่อว่าทำ จนเกิดสำนวนว่า “ทำพอเป็นพิธี” ซึ่งอาจจัดว่าเป็นความติดยึดที่เกิดจากความหลงอย่างหนึ่ง ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า “สีลัพพตุปาทาน”

    บางคนอาจสงสัยขึ้นมาว่า ในเมื่อพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับการการติดยึดในพิธีกรรม เหตุใดจึงมีพิธีกรรมมากมายในพุทธศาสนา

    ตอบอย่างสั้นที่สุดก็คือ เพื่อให้ผู้กระทำได้รับประโยชน์ครบถ้วนสมบูรณ์นั้นเอง แต่ก่อนจะขยายความก็ต้องอธิบายในที่นี้ว่าพุทธศาสนาไม่ได้มองว่าพิธีกรรมเป็นสิ่งที่ “ต้อง”ทำ ยิ่งเวลาจะทำความดีด้วย แล้วพิธีกรรมก็หาใช่สิ่งจำเป็นไม่ เช่นเดียวกับการหาฤกษ์หายาม แต่สาเหตุที่มีพิธีกรรมขึ้นมาก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการทำความดีนั้นให้เกิดผลเต็มที่ หรือเพื่อให้ผู้ทำความดีนั้นได้รับผลแห่งความดีของตนอย่างครบถ้วน

    ยกตัวอย่างเวลาจะทำบุญด้วยการถวายของให้วัด เช่น จีวร อาหาร หรือเครื่องใช้ไม้สอย ทางพุทธศาสนาถือว่า นอกจากประโยชน์ในทางกายหรือทางวัตถุแล้ว ควรมีประโยชน์อย่างอื่นเกิดขึ้นจากการบำเพ็ญบุญดังกล่าวด้วย ได้แก่ประโยชน์ทางจิตใจ คือ ความสงบ ความปราโมทย์ แช่มชื่นเบิกบาน รวมทั้งมีปัญญาเพิ่มพูนขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกำหนดพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อน้อมนำจิตใจของผู้ถวายให้บังเกิดความสงบเป็นเบื้องต้น เช่น มีการบูชาคุณพระรัตนตรัย ตั้งนโม ๓ จบ เป็นต้น

    ลองนึกถึงคนที่เพิ่งเสร็จจากการกระวีกระวาดจัดเตรียมของถวายพระ ตอนนั้นจิตอาจยังวุ่นอยู่ ไม่มีสมาธิ ยิ่งมากันเป็นกลุ่ม ก็มักส่งเสียงดัง หาความสงบได้ยาก แต่พอมีคนขึ้น “อรหัง สัมมา สัมพุทโธ” ก็เท่ากับเป็นอาณัติสัญญาณให้ทุกคนสงบเสียง บรรยากาศที่สงบช่วยน้อมใจทุกคนให้มีสมาธิ เมื่อมีสมาธิหรือความสงบใจแล้ว ความแช่มชื่นเบิกบาน รวมทั้งความปีติอันเนื่องจากการทำความดีนั้น ก็บังเกิดขึ้นโดยง่าย

    และเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางใจเพิ่มพูนขึ้น พระท่านจึงนอกจากจะกล่าวอนุโมทนาให้ผู้ถวายมีความแช่มชื่นในบุญกุศลที่บำเพ็ญแล้ว ยังให้ข้อคิดเพื่อเป็นคติในการดำเนินชีวิตที่ดีงามและผาสุก เป็นการเพิ่มพูนสัมมาทิฏฐิ หรือพัฒนาปัญญา

    นอกจากผลทางจิตใจดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าพิธีกรรมยังช่วยในการสร้างความพร้อมเพรียงแก่หมู่คณะ ก่อให้เกิดความสามัคคีและกระชับความสัมพันธ์ เรียกว่าเกิดประโยชน์ในทางสังคม ยังไม่ต้องพูดถึงการสมาทานศีล ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้บุคคลมีพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงาม ไม่ก่อปัญหาแก่ผู้อื่นและชุมชน

    หากพิจารณาให้รอบด้านแล้ว จะเห็นว่าพิธีกรรมทางพุทธศาสนามุ่งประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านเสมอ ได้แก่ ด้านวัตถุหรือความเป็นอยู่ ด้านสังคม (ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมและความสัมพันธ์) ด้านจิต และด้านปัญญา ทั้ง ๔ ด้านล้วนมีคุณค่าต่อคุณภาพชีวิตและสังคม อันไม่อาจขาดด้านใดด้านหนึ่งไปได้ พูดง่าย ๆ คือพิธีกรรมทางพุทธศาสนามุ่งให้เกิดประโยชน์ครบถ้วนอย่างเป็นองค์รวม

    ไม่ว่าพิธีกรรมในงานถวายผ้าป่า ผ้ากฐิน การทำบุญบ้าน หรืองานศพ ล้วนคำนึงถึงประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านเสมอ คือนอกจากจะมีการถวายปัจจัย (ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์แต่พระเท่านั้น หากยังส่งผลถึงชุมชนด้วย) ยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านมาทำงานและรื่นเริงร่วมกัน (เช่น เตรียมของถวาย ทำอาหารหรือจัดสถานที่ด้วยกัน) ตลอดจนมีพิธีกรรมเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่สงบ ปีติ (หรือผ่อนคลายจากทุกข์โศก) รวมทั้งการเทศนาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในชีวิต

    ประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านนี้เรายังเห็นได้จากประเพณีพิธีกรรมของชุมชน เช่น ลอยกระทง บุญบั้งไฟ กล่าวคือ ไม่เพียงแต่มีจุดมุ่งหมายอนุรักษ์ลำน้ำหรือเพื่อให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่โดยตรงเท่านั้น ยังเอื้อให้เกิดความสนิทสนมกลมเกลียวในชุมชน และมีกิจกรรมทางศาสนาเพื่อให้เกิดความมั่นใจในชีวิต รวมทั้งมีการปลูกฝังตอกย้ำทัศนคติที่เคารพธรรมชาติ และจิตสำนึกต่อชุมชน ซึ่งล้วนเป็นคติที่สำคัญในการดำเนินชีวิต

    อย่างไรก็ตามประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านของพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ถูกมองข้ามไปมากในปัจจุบัน ผู้คนพาติดยึดกับรูปแบบ ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จนรูปแบบของพิธีกรรมไม่สามารถส่งเสริมประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านได้ครบถ้วน ผลก็คือ บ่อยครั้งพิธีกรรมกลับกลายเป็นโทษแทนที่จะเป็นคุณ เช่น พิธีแห่เทียนเข้าพรรษา แทนที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน กลับส่งเสริมธุรกิจของนายทุนในเมือง ขณะที่ชาวบ้านมีความเป็นอยู่แย่ลง ประเพณีทอดผ้าป่าบ่อยครั้งก็ลงเอยด้วยการทะเลาะวิวาทเพราะเมาสุราอาละวาด ในขณะที่พิธีในงานศพก็หาได้ช่วยให้ผู้ร่วมงานเกิดอนุสติหรือคติชีวิตไม่ เพราะไม่มีการแสดงธรรมที่สื่อกับผู้คน โดยที่ประโยชน์ในทางวัตถุ ก็หาได้เกิดขึ้นกับชุมชน (โดยผ่านวัด)ไม่ เพราะเงินถ่ายเทไปเข้ากระเป๋าพ่อค้าแม่ขายในกิจการงานศพแทน

    พิธีกรรมไม่ใช่สิ่งที่ควรเลิก หากควรปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัย โดยมุ่งประโยชน์ทั้ง ๔ ประการดังที่กล่าวมา เช่น ปรับปรุงพิธีรับศีลเพื่อให้ผู้คนตระหนักว่าศีลมีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมอย่างไร หรือประยุกต์พิธีทำบุญในโอกาสต่าง ๆ เพื่อช่วยน้อมจิตของสาธุชนให้มีความสงบมากขึ้น และยิ่งดีมากขึ้นหากสามารถส่งเสริมให้หมู่คณะเกิดสามัคคี เช่น มีการทำกิจกรรมร่วมกัน (มิใช่มาร่วมพิธีเพียงแค่พนมมือทื่อ ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน)

    คงไม่มีพิธีกรรมใดในเวลานี้ที่สมควรจะปรับปรุงยิ่งกว่าพิธีศพโดยเฉพาะในเมือง อย่างแรกที่ควรทำคือทำให้พิธีต่าง ๆ สื่อกับผู้คนมากขึ้น เช่น นอกจากการนิมนต์พระมาเทศน์แล้ว ควรนึกถึงการจัดบรรยายหรือเสวนาในงานศพด้วย จะเป็นเรื่องธรรมะล้วน ๆ เรื่องสุขภาพ หรือคติชีวิตจากประวัติของผู้ตาย ก็ล้วนเป็นประโยชน์และน่าจะได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงานศพ แทนที่จะคิดมาสังสันทน์พูดคุยกันเท่านั้น และที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการทำให้งานศพเป็นโอกาสในการทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น การบริจาคเงินในนามของผู้ตายเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือผู้ยากไร้ สนับสนุนการศึกษาของสงฆ์ หรือสนับสนุนพระสงฆ์ที่ทำงานสงเคราะห์ชุมชน เป็นต้น

    บุญกุศลนั้นมิใช่สิ่งที่เป็นนามธรรมซึ่งคอยเราอยู่ในภพหน้าเท่านั้น หากยังปรากฏอยู่ในภพนี้และแสดงตัวอยู่ในหลายรูปลักษณ์ ทั้งที่จับต้องหรือใช้สอยได้ สามารถสัมผัสได้ด้วยใจ และยึดเหนี่ยวผู้คนให้กลมเกลียวกัน พิธีกรรมที่กอปรด้วยปัญญาคือบ่อเกิดแห่งบุญกุศลดังกล่าว ดังนั้นจึงควรที่เราจะช่วยกันรักษาและสร้างสรรค์พิธีกรรมดังกล่าวให้ยั่งยืนและเพิ่มพูนสืบไปอย่างสมสมัย
    :- https://visalo.org/article/matichon254404.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...