บทสร้างนิสัย บทที่ ๕

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( พิมพ์ ธมฺมธโร)[/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร[/SIZE]</td> </tr> </tbody></table>

    <center> บทสร้างนิสัย </center>
    <center> บทที่ ๕ </center>

    นิสัยแบบอย่าง - บรรดาคณาทา รกย่อมนิยมมาน
    ผู้ใหญ่จะกอปรการ กิจชั่วและดีใด
    - เด็กยลก็โดยแยบ ดุจแบบระเบียบใน
    นั้นเนื่องนิสัยไป ตลอดชีพบ่เว้นวาง
    (จากธรรมจริยา)

    ท่านสาธุชนผู้รักแบบอย่างทั้งหลาย
    ตัวอย่างที่ควรยกมาอ้างเป็นบรรทัดฐานให้เห็นคุณและโทษของบุคคลหรือสิ่งต่างๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนเราอยู่ ๒ ประการ คือส่วนดีและส่วนเลว เรียกว่า “แบบอย่าง” อันแบบอย่างทั้งส่วนดีและส่วนเลวนั้นย่อมเป็นครูสอนดีที่สุด แม้เพียงแต่มีไว้ให้คนได้พบเห็นอยู่เสมอ โดยเราไม่ต้องใช้ปากสั่งสอนเลย ก็จะก่อให้เกิดความเคยชินในทางดีเลวตามแบบอย่างจนติดตาจับใจอยู่ได้ตลอดชั่ว ชีวิต
    เราชาวโลกทั้งชายหญิง จะดีย่อมอยู่ที่แบบอย่างดี แม้จะเลวก็อยู่ที่แบบอย่างเลว จริงอยู่คำสั่งสอนของนักปราชญ์นั้นดีแสนดี แต่อาศัยเสียงที่สั่งสอนอย่างเดียวโดยไม่มีแบบอย่างไว้ให้แลเห็นด้วย ก็ไม่สู้จะมีอำนาจทำประโยชน์ให้ได้มากนัก ตรงกับคำโบราณว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ”
    สิบรู้ไป่เปรียบได้ ชำนาญ หนึ่งนา
    เห็นหนึ่งสิบข่าวสาร ไป่แม้น
    สิบตาเพ่งดูการ ห่อนแน่ นอนเฮย
    มือหนึ่งจับแน่นแฟ้น ยิ่งรู้สมประสงค์
    จริงทีเดียว คนเรามักเรียนจากตามากกว่าจากหู สิ่งที่ปรากฎเห็นด้วยตาย่อมจับใจแม่นกว่าอ่านพบหรือได้ยินเขาเล่าบอก คนเราที่อยู่ในวัยเด็กต้องอาศัยตาเป็นทางนำความรู้เข้ามามากกว่าประสาทอื่นๆ เรามักจะเห็นเด็กทำตามผู้ใหญ่อยู่เสมอ เช่นเมื่อผู้ใหญ่ยกมือไหว้หรือก้มลงกราบพระ เด็กก็พลอยทำตามอย่างที่ผู้ใหญ่ทำ คนผู้ครองชีพชอบทำ แม้จะไม่พูดแนะนำใครเลย ก็อาจเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้ดีกว่าผู้พูดดีแต่ประพฤติชั่วหลายเท่า
    ดังนั้น ผู้สอนที่ดีชั้นเยี่ยม จึงนิยมการให้แบบอย่างมากกว่าการบอกเล่ากล่าวสอน ถือว่าส่วนดีที่สุดแห่งการให้แบบอย่าง อยู่ที่เมื่อตนให้แบบอย่างแล้ว ตนต้องลงมือทำตามแบบอย่างของตนเอง เพื่อเป็นอุบายจูงใจ ให้ผู้เอาอย่างเกิดฉันทะสมัครทำตาม เพราะว่าแบบอย่างที่แสดงออกมาให้เห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นครูสอนดีที่สุด ซึ่งแม้จะไม่มีปากสั่งสอนก็ยังไม่มีครูอื่นใดสู้ได้
    แบบอย่างที่เข้าถึงนิสัยแล้ว จัดเป็นจิตเลขา คือเขียนฝากไว้ในจิตใจ เหมือนหล่อเป็นตัวอักษรในแผ่นทองเก็บไว้อย่างถาวร ย่อมมีผลศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าคำพูด ได้ในคำโบราณว่า “หนึ่งเฟื้องของการทำให้เป็นแบบอย่าง มีค่าเท่ากับหนึ่งหาบของการสั่งสอนด้วยปาก” นี่คือความจริงอันขุดจากความจริง เพราะสิ่งที่เราทำพูดดังกว่าสิ่งที่เราพูด คำพูดเสมือนหนึ่งใบไม้ การทำเสมือนหนึ่งผลไม้ ซึ่งแสดงความหมายลึกซึ้งกว่ากัน
    อย่าเชื่อเลยว่า “คนจะดีต้องดีเอง เหมือนหนามแหลมเอง” แต่จงเชื่อว่าคนจะดีมีบุญวาสนาสามารถดำรงวงศ์สกุล และช่วยชาติบ้านเมืองให้เจริญได้นั้น อยู่ที่การได้รับแบบอย่างอันดีมาแต่เบื้องต้นจนเป็นนิสัย ผู้รับแบบอย่างที่ดีมาอบรมตนจนเป็นนิสัยแล้ว ชื่อว่ามีทุนไว้ให้อุ่นใจได้ว่า ต้องเป็นคนดีไปตลอดชั่วชีวิต ถึงจะมีแบบอย่างที่เลวแทรกแซงเข้ามาทีหลัง นิสัยแบบอย่างที่ดีนั้น ก็จะมีกำลังเข้มแข็งยิ่งกว่า
    ตามกฎสังคมว่า “ลักษณะอาการของคนเราทุกๆอย่าง ย่อมแตกออกจากบ้านก่อน แล้วแผ่ซ่านออกไปเป็นวงกว้างทั่วประเทศและทั่วโลก เพราะบ้านเรือนเป็นบ่อเกิดแห่งนิสัยของคนเรา เป็นรากเง่าของสังคมทั้งหลาย เป็นหัวใจของนิสัยสันดานแห่งชาติหรือเป็นดวงวิญญาณแห่งชาติ เมื่อเราถือว่าเยาวชนเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเราเอง ควรให้การศึกษาอบรมแก่เขา พึงทราบว่า การให้การศึกษาอบรมที่ดีที่สุดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการให้แบบอย่างที่ดี จนเป็นนิสัยมาแต่ภายในบ้าน เราทุกคนจึงควรเป็นแบบอย่างแก่เยาวชน แต่ในทางที่สุจริตและยุติธรรม
    จำไว้เถิดว่า “ความเป็นเด็กย่อมแสดงความเป็นผู้ใหญ่ เหมือนเวลาเช้าแสดงเวลากลางวัน นิสัยที่ติดใจเด็กมาแต่บ้านนั้น คือนิสัยของผู้ใหญ่ในภายหน้า และแบบอย่างที่ปรากฎอยู่ในบ้าน ย่อมเป็นเครื่องปลูกฝังพืชพันธุ์ขึ้นในเด็ก แม้จะเล็กน้อยไม่สู้สำคัญก็มีน้ำหนักมาก สามารถก่อกำเนิดแก่วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมระเบียบการงานและจารีตประเพณีนิยมของชาติ”
    บุคคลแบบอย่าง หมายเอาผู้ให้อย่างและผู้เอาอย่าง คือผู้ใหญ่ชั้นพ่อแม่ครูอาจารย์และหัวหน้า ชื่อว่าบุคคลผู้ให้อย่าง ผู้น้อยชั้นบุตรธิดาศิษย์และคนในปกครอง ชื่อว่าบุคคลผู้เอาอย่าง ผู้ให้อย่างเหมือนกระจกเงาหรือแม่พิมพ์ ผู้เอาอย่างประหนึ่งเงาในกระจกหรือรูปจากแม่พิมพ์ ถ้ากระจกชัดเจนดี คนมองก็เห็นเงาเป็นรูปดี หรือแม่พิมพ์ชัดเจนดี การพิมพ์ลงไปก็ได้รูปดี แม้คนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ให้อย่างมีกิริยาวาจาอัชฌาสัยเป็นเช่นใด ผู้เอาอย่างย่อมถ่ายแบบออกมาเป็นเช่นนั้น โดยแบบอย่างที่ดีหรือชั่วของผู้ให้อย่างจะปรากฎออกมาให้เห็นทางกิริยาวาจา ของผู้เอาอย่าง แบบอย่างที่ดีเป็นรากฐานแห่งความสุข แต่แบบอย่างที่เลวเป็นรากฐานแห่งความทุกข์ เมื่อเรารักความสุขจึงควรรักษาแบบอย่างที่ดีให้ยิ่งกว่า แม้เมื่อเราเกลียดความทุกข์ก็ควรเกลียดแบบอย่างที่เลวให้มากกว่า
    ผู้ให้อย่างคือผู้นำ ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ผู้เอาอย่างคือผู้ตาม เมื่อผู้นำไปตรงผู้ตามย่อมไปตรง แต่ถ้าผู้นำไปคด ผู้ตามก็ไปคดเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าทรงเปรียบด้วยฝูงโคที่กำลังข้ามฟากไปอยู่ว่า “ถ้าโคตัวนำฝูงไปคด โคทั้งฝูงก็ไปคดตามกัน ถ้าโคนำฝูงไปตรง โคทั้งฝูงนั้นก็ไปตรงด้วย” โดยนัยนี้จะเห็นได้ว่า “ผู้ให้อย่างเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ อาจนำผู้เอาอย่างขึ้นสวรรค์หรือลงนรกก็ได้” และก็สิ่งแวดล้อมนั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ วัตถุกับบุคคล ซึ่งมีบทบาทสำคัญแก่ชีวิตของคนเรา ในทางนำให้เลวลงหรือทำให้ดีขึ้นตามกำลัง
    สิ่งแวดล้อมคือวัตถุ หมายถึงสถานที่ หรือดินฟ้าอากาศและอาหาร ที่อยู่และอาหารย่อมเปลี่ยนแปลงนิสัยของคนได้ส่วนหนึ่ง คือที่อยู่ดีอาหารดีอาจทำให้จิตใจปลอดโปร่งสดชื่นดีขึ้น คนผู้อยู่ผู้กินชื่อว่าอยู่ดีกินดี ที่อยู่ไม่ดีอาหารไม่ดีขึ้น อาจทำให้นิสัยจิตใจต่ำทรามลง คนผู้อยู่ผู้กิน ชื่อว่าอยู่ไม่ดีกินไม่ดี เพราะที่อยู่สกปรกโสโครกอากาศถ่ายเทไม่ได้ ย่อมทำให้ผู้อยู่มีสมองมึนงงและความคิดเสื่อมทราม ทางพระศาสนาสอนให้หาที่อยู่เป็นที่สบาย ถ้าสกปรกแนะให้ชำระให้สะอาด ถ้าที่นั้นอากาศถ่ายเทไม่ได้ แนะให้ดัดแปลงแก้ไขให้อากาศถ่ายเทเข้าออกได้ แม้อาหารที่ไม่ดีก็จะทำให้กำลังกายทรุดโทรมและกำลังใจอ่อนแอ ห้ามกินอาหารที่ไร้ประโยชน์ สอนให้กินอาหารที่มีประโยชน์ และให้กินแต่พอสมควรไม่มากไม่น้อย แต่สิ่งแวดล้อมคือวัตถุนี้ยังไม่สำคัญเท่าสิ่งแวดล้อมคือบุคคล
    ส่วนสิ่งแวดล้อมคือบุคคล สำคัญกว่าสิ่งแวดล้อมคือวัตถุ พึงเห็นคนบางคนที่อยู่ดีกินดีมีชาติสกุลสูง แต่มีคนพาลสันดานหยาบเป็นสิ่งแวดล้อม ย่อมจะกลายเป็นคนมีนิสัยพาลได้ ข้อนี้มีภาษิตในหิโตปเทศเป็นหลักว่า “ถ้าท่านมีคนใช้เพียงคนเดียว แต่ท่านให้คนใช้เลี้ยงลูกของท่านแล้ว ต่อไปท่านจะมีคนใช้ถึง ๒ คน” และภาษิตฝรั่งว่า “ถ้าท่านไปอยู่ในฝูงสุนัขจิ้งจอก ต่อไปท่านจะหอนได้เหมือนสุนัขจิ้งจอก” เมื่อผู้ให้อย่างคือพ่อแม่ครูอาจารย์และหัวหน้า ทราบว่าตนเป็นสิ่งแวดล้อม อันจะให้อย่างแก่ผู้เอาอย่างแล้ว ควรแก้ไขปรับปรุงที่ตัวเองให้ดี เพราะหลักมีอยู่ว่า “เมื่อคนแก่ไม่ดีแล้ว คนหนุ่มสาวจะดีได้อย่างไร” พึงทราบลักษณะของผู้ให้อย่าง ๓ ประเภทนั้น ดังนี้
    ๑. พ่อแม่เป็นผู้ให้แบบอย่างแก่ลูก พึงถือว่าแบบอย่างเป็นเครื่องปั้นชีวิตลูก แบบอย่างคือเบ้าหล่อชีวิตลูก ลูกดีเพราะแบบอย่างดี ลูกเลวเพราะแบบอย่างเลว ลูกดีเองเลวเองหามีไม่ แต่แบบอย่างดีเลวนั้นมีอยู่ เมื่อพ่อแม่มีบทบามอันสำคัญในการให้แบบอย่างแก่ลูก จึงควรปฏิบัติชอบในระหว่างกันและกัน เช่นซื่อตรงต่อกัน รักใคร่กัน นับถือกัน เป็นคู่ชีวิตร่วมสุขร่วมทุกข์กัน โน้มน้อมเข้าหากัน ให้รู้สึกร่วมใจกัน เอาใจกัน เชื่อกัน ถนอมรักษาน้ำใจกัน อดกลั้นบรรเทาความกระวนกระวายต่างๆ ให้เกิดความสนิทสนมกลมกลืนชื่นชมทั่วกัน ตั้งใจประพฤติดีเป็นแบบอย่างแก่ลูกที่รัก
    เมื่อพ่อแม่ดีแล้ว เลือดเนื้อเชื้อไขคือลูก จะได้ถือเป็นแบบอย่างประพฤติดี และเขาจะรู้สึกภูมิใจว่า “เรามีพ่อดีแม่ดี” แต่อย่าประพฤติให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกในสิ่งที่ตนเห็นว่าชั่ว แม้คนอื่นก็เห็นว่าไม่ดี อันจะเป็นสื่อนำให้ลูกเป็นคนเลว และลงโทษให้เขารู้สึกอับอายขายหน้าว่า “มีพ่อไม่ดีแม่ไม่ดี” เมื่อลูกรับแบบอย่างที่เลวไว้เป็นนิสัยแต่แรกแล้ว ครั้นจะมาแก้ไขให้กลับคืนดีภายหลังนั้น ยากนักหนา ดังคำโบราณว่า “ตัดอื่นพอตัดได้ ตัดนิสัยสันดานนี้ตัดยาก”
    บรรดาลูกหญิงชาย ย่อมมุ่งหมายนิยมตาม
    พ่อแม่จะกอบความ ผิดถูกชั่วและดีใด
    ลูกยลก็สนจิต ทุกชนิดเข้าติดใจ
    สืบเนื่องนิสัยไป ตลอดชีพบ่เว้นวาง
    อันที่จริง พ่อหรือแม่คนเดียวมีค่าเท่ากับครูตั้งร้อยคน เพราะในหลังคาเรือนหนึ่งมีพ่อแม่เท่านั้น เป็นเหมือนแม่เหล็กสำหรับดึงดูดคนทุกคนในบ้านนั้น เมื่อพ่อแม่ให้แบบอย่างที่ดีแก่ลูกของตน ชื่อว่าเป็นเจ้าบุญนายคุณของลูก แม้ลูกเดินตามแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ก็นับเป็นลูกหนี้ที่ซื่อสัตย์ของเจ้า บุญนายคุณ
    ดังนั้น เชิญเถิด เชิญพ่อแม่ทุกท่านมาเริ่มให้แบบอย่างที่ดีแก่ลูกที่รัก คือ “พากันสร้างกิริยาแบบอย่างที่ดีงามเรียบร้อย สร้างวาจาแบบอย่างที่น่ารักนุ่มนวลชวนฟัง สร้างอัธยาศัยน้ำใจแบบอย่างที่อ่อนละมุน” ให้มีขึ้นในตนและนำออกใช้ให้ลูกได้พบเห็น เมื่อลูกได้พบเห็นบ่อยๆจะพลอยเกิดอุตสาหะมีแก่ใจสมัครรับเอาเป็นแบบอย่าง แต่ขอที “อย่าแสดงกิริยาเหี้ยมโหดดุร้าย ทะเลาะวิวาททุบต่อยตบดีกันให้ลูกเห็น และอย่าพูดหยาบคายด่าว่ากันด้วยถ้อยคำอันจะเขียนเป็นตัวอักษรไม่ได้ให้ลูก ฟัง มิฉะนั้น ลูกของท่านจะพลอยมีกิริยาโหดร้าย และมีวาจาหยาบคายไปด้วย
    นี่สุภาษิตในโลกนิติที่โบราณกล่าวไว้ว่า “ลูกที่มีแม่ดี วาจาอยู่ข้างดี ลูกที่มีพ่อดี กิริยาอยู่ข้างเรียบร้อย พ่อแม่ดีทั้งสอง ลูกทั้งมีวาจาดี ทั้งมีกิริยาเรียบร้อย ลูกที่มีแม่เลว ปากอยู่ข้างร้าย ลูกที่มีพ่อเลว กิริยาอยู่ข้างหยาบคาย พ่อแม่เลวทั้งสอง ลูกทั้งปากร้าย ทั้งกิริยาหยาบ” นี่แสดงว่า “ลูกดีอยู่ที่พ่อแม่ดี ลูกเลวอยู่ที่พ่อแม่เลว และลูกที่เลวย่อมเผาหัวอกของพ่อแม่ให้กรุ่นอยู่ด้วยความโศก ดังไฟแกลบคุอยู่ในภายในอุระประเทศ ทำลายตักของพ่อแม่ให้ว่างเปล่าดังคลังที่อาภัพไร้ทรัพย์สิน และทุบหัวอกของพ่อแม่ให้ตกอยู่ในความชอกช้ำระทมทุกข์ ดังนั้นโบราณจึงเตือนว่า “จะดูช้างให้ดูหาง จะดูนางให้ดูแม่ จะดูให้แน่ให้ดูถึงตายาย”
    ทุกท่านจงสำนึกว่า “พ่อแม่คือแม่พิมพ์” แล้วสร้างแม่พิมพ์ให้ดีไว้เป็นมาตรฐานจึงนำออกใช้ให้เป็นสิ่งแวดล้อมของลูก เพราะลูกเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกับท่าน และแวดล้อมอยู่ด้วยท่านเสมอเป็นนิตย์ ถ้าท่านผู้แวดล้อมเป็นแบบอย่างดี ลูกก็จะมีนิสัยดีได้ง่าย เสกคาถานี้บ่อยๆ ท่านจะเป็นพ่อแม่ตัวอย่างที่ดีเลิศว่า “โอมนิยม มหานิยม การมีลมหายใจคืออายุวัฒนะของเรา กิริยาวาจาเรียบร้อยคือชีวิตเด่นของเรา ซึ่งเป็นที่นิยมยิ่งนักของคนทั้งหลาย โอมจัญไร มหาจัญไร การหยุดลมหายใจเป็นหลุมฝังศพของคนตาย แต่กิริยาวาจาไม่เรียบร้อย คือหลุมฝังศพของคนเป็น ซึ่งเป็นที่น่าเกลียดยิ่งนักของคนทั้งหลาย”
    พ่อแม่ทั้งสองรา เมื่อต่ำช้ามีราคี
    ลูกต้องพลอยหมองศรี ทั้งกิริยาและวาจา
    พ่อแม่ทั้งสองดี ประเสริฐศรีศักดิ์นา
    แม้นลูกบังเกิดมา ก็ดีล้วนสมส่วนกัน
    ๒. ครูอาจารย์เป็นผู้ให้แบบอย่างแก่ศิษย์ พึงสำนึกในศักดิ์ศรีของตนว่าคำว่า “ครู” เป็นคำศักดิ์สิทธิ์เป็นคำที่สองรองจากคำว่า “พ่อแม่” อันศิษย์รู้จักดี และเป็นคำที่ศิษย์รักเคารพเหมือนคำว่า “พ่อแม่” ก็ปานกัน จนมีภาษิตเฉลิมเกียรติว่า “บุคคลที่ควรเคารพถัดจากพ่อแม่ของเรามา คือ ครูอาจารย์ และครูอาจารย์ผู้สั่งสอนวิชาการย่อมเป็นพ่อแม่คนที่สองของเรา”
    และครูพึงสำนึกในหน้าที่ของตนว่า ครูเป็นผู้ก่อกำเนิดพลเมืองดี คือชุบพลเมืองให้เป็นนักรู้ นักงาน นักพูด นักคิด นักประดิษฐ์ นักตำรา นักค้นคว้าเหตุผล นักปราชญ์ และนักศีลธรรม เมื่อสำนึกในศักดิ์ศรีและหน้าที่อย่างนี้แล้ว พึงทราบว่าศิลปะแห่งการสอน คือศิลปะแห่งการปลุกความอยากรู้อยากเห็น อันเป็นธรรมชาติในจิตใจของศิษย์ให้ตื่นขึ้น และศิลปะแห่งการปลุกนั้นก็คือแบบอย่าง จึงควรตั้งใจสร้างแบบอย่างแห่งวิชา แบบอย่างแห่งอนามัย และแบบอย่างแห่งจรรยา ให้มีขึ้นในตนและแล้วนำออกใช้ให้เป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ต่อไป
    ครูผู้ให้แบบอย่างแห่งวิชาการงาน อนามัย และจรรยาแก่ศิษย์นั้น ควรดูเยี่ยงทะเลซึ่งอยู่ต่ำกว่าลำธาร และได้รับน้ำจากลำธารบนหุบเขา แต่กลับเป็นเจ้าอยู่เหนือลำธาร หรือไม้ซีกไม่ควรเอางัดไม้ซุง แต่ไม้ซุงต้องเอาไม้ซีกนั้นแหละงัด แล้วควรน้อมตนลงหาศิษย์ ทำความสนิทสนมให้เป็นกันเอง และมีขันติเมตตาหล่อเลี้ยงใจให้ชุ่มเย็น รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่ตึงไม่หย่อน ไม่ร้อนถึงกับไหม้ ไม่เย็นถึงกับบูด ถือว่า “ตัวของครูมิใช่สำหรับลูกในใส้ แต่สำหรับลูกในความหวังคือศิษย์” ทำใจดีในท่ามกลางศิษย์ผู้รบกวน อ่อนโยนในท่ามกลางศิษย์ผู้ดุร้าย รักษาอารมณ์ให้อยู่ในลักษณะสงบเสงี่ยม มีริมฝีปากปราศจากการดุด่าว่าร้าย เผยแต่ถ้อยคำที่ดีน่าชื่นใจ เอาอกเอาใจศิษย์และดุศิษย์ด้วยอัธยาศัยไมตรี แสดงออกซึ่งลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส มีนัยน์ตาชื่นบานหรรษา เจรจาไพเราะอ่อนหวาน เป็นเสน่ห์ยวนตาและยวนใจ
    เมื่อศิษย์ผู้เอาแบบอย่างได้ประสบพบเห็นกิริยาแบบอย่าง วาจาแบบอย่าง และน้ำใจแบบอย่างที่ดีงามอยู่เสมอแล้ว ก็จะพากันถือเป็นแบบฉบับกระทำตาม อบรมตมให้เป็นผู้รู้วิชา รู้การงาน รู้อนามัย รู้จรรยาตามอย่างครู จนเป็นคนช่างรู้ ช่างคิด ช่างทำ ช่างพูด ให้ภูมิรู้ในทางที่ถูก ทำการงานด้วยความขยันขันแข็ง มีกำลังกายกำลังใจแข็งแรง ประพฤติกิริยาวาจาใจดีงาม จนปรากฎเป็นผู้มีวิชาดี มีการงานดี มีอนามัยดี มีจรรยาดี เป็นแบบฉบับประดับตัวให้สง่างาม
    ครูพึงทราบว่า “ครูคือกระจกเงา ศิษย์คือเงาในกระจก เมื่อครูเป็นกระจกเงาแบบอย่างที่เรียบราบ หากครูเป็นกระจกเงาแบบอย่างที่บิดพลิ้วไซร้ ก็มีหวังว่าศิษย์ของท่านจะมีลักษณะบิดเบี้ยวน่าเกลียดน่ากลัวพิลึก”
    ครูจงเป็นแบบอย่างที่ดีเถิด เพราะ “ความสามารถของครูในการกระตุ้นเตือนศิษย์ให้กระตือรือร้นในการศึกษาและการ ปฏิบัตินั้น คือแบบอย่างมิใช่คำสอน แบบอย่างนั้นเป็นสมบัติที่มีราคาใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด อันจะนำให้ศิษย์เกิดเลื่อมใส โค้งคำนับครูด้วยความบริสุทธิ์ใจ พร้อมทั้งนิยมสมพรให้เกียรติแก่ท่านว่า “ภายในเครื่องแบบแห่งครูอาจารย์ของเรานั้น คือนิสัยแบบอย่างที่เราพึงจงรักภักดีและเคารพอย่างสูง”
    ครูจงประหยัด คอยระมัดขจัดหมอง
    เลิกชั่วละคนอง รักษาเรียบระเบียบดี
    ให้แบบนิสัยเกื้อ แก่ศิษย์เพื่อจะได้มี
    กิจชอบประกอบดี เป็นนิสัยสืบไปนาน
    ๓. หัวหน้าเป็นผู้ให้แบบอย่างแก่คนในปกครอง ต้องอย่าลืมว่า “หมู่คณะใดบูชาคนสุจริต ชังคนทุจริต ยกย่องคนขยันขันแข็ง เชิดชูคนกล้า หมู่คณะนั้นจักพลันวัฒนา แต่หมู่คณะใดดูหมิ่นคนสุจริต นิยมคนทุจริต ยกย่องคนขี้เกียจเสมอคนขยันขันแข็ง เชิดชูคนขี้ขลาดเท่าคนกล้า หมู่คณะนั้นจะพลันพินาศ” และแล้ว “จงถือการเชิดชูผู้ที่ถูกเหยียบย่ำ ปราบปรามผู้ประหัตประหาร ให้การอารักขาคุ้มครองแก่ผู้อยู่ในศีลธรรม นำความอัปยศอดสูไปสู่ผู้เบียดเบียน ว่าเป็นวิธีการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง นำหมู่คณะขึ้นสู่ที่หมายคืออารยะ”
    หัวหน้างานทุกชนิดซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชะตากรรมของประเทศ ชาติ เมื่อปรารถนาจะให้แบบอย่างหวังให้ผู้อยู่ในบังคับบัญชาดำเนินตาม ย่อมระมัดระวังตัวให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม พยายามทำดีทุกสิ่งให้เป็นแบบอย่างแก่เขา บำเพ็ญตนให้บริสุทธิ์ไม่ให้บกพร่องในหน้าที่ ประพฤติแต่สิ่งที่ดี ไม่มีราคีมัวหมองในตัว พูดอย่างใดทำอย่างนั้น ถือศีลถือสัตย์ถือความถูกตรงยุติธรรมเป็นการงาน ไม่ถืออำนาจป่าเถื่อนเป็นการงาน เมื่อสั่งสอนเขา ตนเองต้องทำได้ก่อน คำพูดเป็นคำพูด คำสั่งเป็นคำสั่ง ต้องไม่ดีแต่พูด แม้ทำก็ดีด้วย นี่คือหัวหน้าที่ดีเป็นจงรักภักดีและเคารพนับถือของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
    หัวหน้าที่ดีเช่นนี้ จะบำเพ็ญจะเว้นอะไรอย่างไร ย่อมยึดความเที่ยงธรรมเป็นหลักการ ใช้นิคคหะเป็นอุบายขู่ขนาบผู้ทำผิดเพื่อให้ไม่ให้ทำผิดอีก ใช้ปัคคหะเป็นอุบายสนับสนุนผู้ทำดี เพื่อเพิ่มกำลังใจแก่เขาให้ทำความดีต่อไป และใช้ทิฏฐานุคติ ไม่ใช้กโลบายเล่ห์กระเท่ห์ ปราศจากลูกไม้ ไม่จะกละลามกโลภโมโทสันในทางผิด ตั้งใจเพียรทำดี แม้การทุจริตจะเล็กน้อยก็ไม่คิดตรึกตรองที่จะทำ
    เมื่อหัวหน้าประพฤติตนให้ถูกแบบฉบับของคนมีศีลมีสัตย์อย่างนี้ ปวงประชาย่อมยกขึ้นเป็นเทพเจ้าแห่งคุณงามความดี แม้คนในบังคับบัญชาก็ยึดเป็นที่พึ่งอุ่นอกเย็นใจของตน เมื่อเขาทำผิดพลาดก็ร่วมรับผิด ไม่คิดสลัดเอาตัวรอด แม้เมื่อเขาทำชอบก็รับสนับสนุนไม่ปิดบัง ทำอะไรยึดถือศีลธรรมเป็นหลัก สมัครใจอดทนมากกว่ายอมทุจริตดำเนินชีวิตให้ชอบด้วยทำนองคลองธรรม ถือว่า “หัวอกของหัวหน้ามิใช่สำหรับญาติในสายโลหิต สำหรับในสายชาติ”
    เมื่อผู้น้อยได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของหัวหน้าที่ดีเช่นนี้ก็เย็นใจ นอนตาหลับ ถือเป็นแบบฉบับเจริญรอยตาม พลอยเป็นคนดีมีศีลธรรมและอยู่เป็นสันติสุขตามกัน แต่หากหัวหน้าเป็นคนเลวทรามไร้ศีลธรรม ซึ่งน่าจะยื่นมือเข้ากำจัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาราษฎร ก็กลับพยายามกอบโกยทรัพย์ของชาติและของเขาเข้ากระเป๋าด้วยกโลบายกระทืบส่ง ผู้อยู่ในปกครองก็เดือดเนื้อร้อนใจนอนตาไม่หลับ และจะได้ช่องเข้าสวมรอยกระทำตาม ซึ่งจะต้องพลอยตกทุกข์ได้ยากไปด้วย เพราะความไร้ศีลธรรมเช่นนี้ หากมีขึ้นมาก ก็คือมูลเหตุแห่งการจลาจล โจรกรรม ปล้นสะดมและการทุจริตร้อยแปด แล้วจะต้องถูกปราบด้วยอำนาจเป็นธรรมบ้างไม่เป็นธรรมบ้าง
    “หัวหน้าคือผู้นำ แต่พึงทราบว่า ผู้นำที่ดีในโลกนี้ คือผู้นำที่เล็งสุขเลิศ ไม่แลกเอาความสุขของตนด้วยความทุกข์ของประชาราษฎร ย่อมสละสุขพอประมาณเสีย เมื่อผู้นำตั้งตัวให้เที่ยงตรงแล้ว ผู้อยู่ในปกครองจะพากันทำการตามหน้าที่ โดยมิพักต้องขอร้องออกปาก ถ้าผู้นำไม่ตั้งตัวให้เที่ยงตรงแล้ว แม้จะออกปากขอร้องสักเท่าไรๆ ผู้อยู่ในปกครองก็ไมเชื่อฟัง ถึงจะทำก็ทำด้วยความจำใจ ผู้นำที่ดีคือผู้นำที่นิยมการข่มตนเองเป็นหลักเกณฑ์ ทำให้ผู้อยู่ในความคุ้มครองเป็นสุขสำราญ เป็นที่ต้องตาต้องใจของเขาทั่วไป” และเขาก็ว่าง่ายสอนง่าย ทำตามคำบังคับบัญชาของผู้นำด้วยน้ำใสใจจริง
    “มิใช่การปกครองที่นานเป็นเหตุให้ประเทศต้องพินาศ แต่เป็นเพราะผู้นำให้แบบอย่างที่ผิด เราจะมีประเทศชาติที่ดีไม่ได้ หากคนทุกคนในประเทศชาตินั้น พากันรับเอาแบบอย่างที่ผิด ขอให้หัวหน้าทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายเถิด ประชาชนจะปฏิบัติตามท่านเอง เมื่อหัวหน้าปฏิบัติตามกฎหมาย และประชาชนปฏิบัติตามหัวหน้าอยู่ตราบใดแล้ว บ้านเมืองก็ยังตั้งอยู่ยั่งยืนตราบนั้น
    ยามฝูงโคข้ามฟาก นที โคโจกนำตรงดี ไป่เลี้ยว
    ปวงโคอื่นตามรี่ รุดค่าม ทั้งหมดไม่คดเคี้ยว ไต่เต้าตามกัน
    อันสุภาษิตนี้ เตือนใจ แห่งผู้ที่เป็นใหญ่ ยิ่งผู้
    มีหน้าที่นำใคร ใครนั่น ก็ดี จำจะต้องรอบรู้ จักแท้ทางตรง
    ประมวลความว่า “เมื่อผู้ใหญ่คือพ่อแม่ ครูอาจารย์ และหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ให้อย่าง ตั้งอยู่บนสุจริตและยุติธรรม พยายามสร้างกิริยาแบบอย่างที่ดี สร้างวาจาแบบอย่างที่ดี สร้างน้ำใจแบบอย่างที่ดี แล้วนำออกแจกจ่ายแก่ผู้น้อย ส่วนผู้น้อยคือบุตรธิดาศิษย์และคนในปกครอง ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เอาอย่าง ก็ตั้งใจรับเอาแบบอย่างที่ดีมาปฏิบัติ จนให้เกิดผลเป็นแบบอย่างที่ดีขึ้นที่กิริยาวาจาใจ หากได้เช่นนี้ ผู้ใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่แบบอย่างที่ดี แม้ผู้น้อยก็จะเป็นผู้น้อยแบบอย่างที่ดี
    อันการให้อย่างกับการเอาอย่างนั้น เป็นประหนึ่งโรคติดต่อ เพราะเกิดขึ้นติดต่อกันได้ง่าย เมื่อผู้ให้อย่างแสดงฝีไม้ลายมือไว้ให้เห็นเป็นแบบอย่าง ก็นำให้ผู้เห็นยึดเป็นธง น้อมจิตลงรับเอาเป็นแบบอย่างได้ แม้ผู้เอาอย่างจะมีใครมาบังคับ แต่อาศัยได้เห็นแบบอย่างอยู่บ่อยๆ ก็จะคล้อยตามเยี่ยงอย่างด้วยตนเอง
    นี่คือธรรมดาสัญชาตญาณของคนและสัตว์ที่อยู่กันเป็นหมู่ใหญ่ มักจะมีอำนาจอยู่เหนือความคิด ดูเถิดฝูงโคที่ขังคอกไว้จำนวนมาก ถ้าตัวหนึ่งกระโดดข้ามคอกออกไปโดยทางไหน ตัวอื่นก็กระโดดตามออกไปโดยทางนั้น แม้คนเราในครอบครัวหนึ่งๆก็เช่นกัน หากผู้ใหญ่ทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีมีกิริยาวาจาสุภาพ ถือระเบียบวินัยเคร่งครัด มีอัธยาศัยอารีอารอบ ตั้งใจประกอบกิจศาสนา มีถือศีลห้า รักษาศีลแปดตามกาลสมัยเป็นต้น คนในครอบครัวนั้นจะพากันดำเนินตาม
    พึงทราบวิสัยของผู้น้อยอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมักคล้อยตามผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่เป็นอย่างใด ผู้น้อยจะต้องถ่ายแบบเป็นอย่างนั้น เช่นผู้ใหญ่ห้ามสิ่งที่ไม่ชอบให้ผลเป็นทุกข์ แต่ตัวกลับไปทำเสียเอง หรือสอนเขาให้ทำสิ่งที่ชอบอำนวยผลเป็นสุข แต่ตัวเองหาได้ทำไม่ หรือดีแต่ติเขา ส่วนตัวกลับทำอย่างที่ตนติเขาเช่นนี้ ผู้น้อยย่อมแลเห็นและรู้เท่าทันจะไม่ทำตามที่สอน แต่จะทำตามอย่างที่ผู้ใหญ่ทำ ท่านผู้ให้อย่างพึงระลึกเสมอว่า “ชีวิตแบบอย่างที่ดี ย่อมเตือนอนุชนให้บำเพ็ญความดีตาม แม้ชีวิตนั้นจะแตกดับแล้ว ก็ยังทิ้งรอยไว้ให้อนุชนเจริญรอยตามอยู่ชั่วกัลปาวสาน”
    ผู้รับเอาแบบอย่างที่ดี ชื่อว่าเชิญเทวดาเข้ามาเฝ้าบ้าน แต่ผู้รับเอาแบบอย่างที่เลว เท่ากับนำปีศาจเข้ามาในบ้าน นี่ก็อยู่ที่ผู้ให้อย่าง ตามปกติคนเราจะเป็นคนหรือลิงนั้น ย่อมแล้วแต้กิริยามรรยาทของเขาเอง “ถ้าผู้ให้อย่างมีมรรยาทเป็นคน ผู้เอาอย่างก็มีมรรยาทเป็นคน แต่เมื่อผู้ให้อย่างมีลักษณะเป็นลิง ย่อมมีหวังว่าผู้เอาอย่างต้องมีลักษณะเป็นลิงด้วย”
    เมื่อท่านผู้ให้อย่างมุ่งจะชักจูงเอาอย่างให้ทำดี อย่าลืมว่าหากความประพฤติเลวทรามอยู่ในตัว จงกลับตัวประพฤติดี ปรับปรุงตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี และทำดีตามที่ตนชักจูงเขาแล้วเขาจะพอใจสมัครทำดีตามเอง ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า “ถ้าท่านรักชาติเคารพศาสนาจริงแล้ว ขออย่านำปีศาจเข้ามาในบ้าน แต่จงเชิญเทวดาเข้ามาเฝ้าบ้านเถิด”
    “เข้าฝูงหงส์เป็นหงส์ เข้าฝูงกาเป็นกา” นี่ก็คำขำท่านผู้ให้อย่างควรสร้างแบบอย่างที่ดีขึ้นในตัว ให้เป็นกิริยาแบบอย่าง วาจาแบบอย่าง และน้ำใจแบบอย่างแก่ผู้น้อยคอบรับเอาอย่างอยู่พร้อมแล้ว จนปรากฎแก่สังคมว่า “พ่อตัวอย่าง แม่ตัวอย่าง ครูตัวอย่าง หัวหน้าตัวอย่าง” จึงจะนำผู้น้อยเข้าถึงตำราที่ว่า “เข้าฝูงหงส์เป็นหงส์” แต่ระวังอย่างทำแบบอย่างที่เลวไว้ อันเป็นการผลักใสไล่ส่งเขาไปหา ทำนองที่ว่า “เข้าฝูงกาเป็นกา” เพราะเขาชอบกิริยาแบบอย่าง ชอบวาจาแบบอย่าง และชอบน้ำใจแบบอย่างมากกว่าคำสั่งสอน
    คบกากาโหดให้ เสียพงษ์
    พาตระกูลเหมหงส์ แหลกด้วย
    คบคนชั่วจักปลง ปลดชอบ เสียนา
    ตราบลูกหลานเหลนม้วย ไม่พ้นนินทา
    (โลกนิติ)
    เมื่อเรามีแบบอย่างที่ดี ชื่อว่ามีสมบัติไว้สำหรับแจกจ่ายให้แก่กันและกัน จัดว่าได้ฝากต้นฉบับไว้ให้อนุชนเจริญรอยตาม แต่เมื่อเรามีแบบอย่างที่เลว ชื่อว่ามีตัวโรคติดต่อไว้สำหรับแจกจ่ายแก่ผู้เอาอย่างให้ต้องเป็นโรคสืบมรดก กันต่อไปโดยลำดับ เพราะว่าความประพฤติของผู้เอาอย่างได้ขึ้นอยู่กับความประพฤติของผู้เอาอย่าง เมื่อผู้ให้อย่างทำแบบอย่างไว้อย่างไร แบบอย่างนั้นย่อมเชื่อมสายสัมพันธ์ถึงกันโดยชักโยงผู้ให้อย่างกับผู้เอา อย่าง ให้ส่วนความดีหรือความเลวถึงกันและกัน
    ดังนั้น ท่านผู้อยู่ในฐานะเป็นผู้ให้อย่างพึงทราบว่า “แบบอย่างย่อมชนะทุกสิ่งทุกอย่าง” และแบบอย่างย่อมมีเสน่ห์ดึงดูดดวงใจของคนทุกคน เหมือนแม่เหล็กดึงดูดชิ้นเหล็ก แล้วจงสร้างกิริยาแบบอย่างที่ดี วาจาแบบอย่างที่ดี และน้ำใจแบบอย่างที่ดีขึ้นในตัว ให้เป็น “พ่อตัวอย่าง แม่ตัวอย่าง ครูตัวอย่าง หัวหน้าตัวอย่าง และปู่ตัวอย่าง ย่าตัวอย่าง ยายตัวอย่าง ตาตัวอย่าง เพื่อเป็นเสน่ห์ดึงดูดดวงใจของอนุชนให้เขาได้รับเอาแบบอย่างที่ดี เป็นลูกตัวอย่าง ศิษย์ตัวอย่าง คนในปกครองตัวอย่าง” สืบมรดกประดับชาติศาสนาต่อไป
    ผู้ใหญ่เมื่อใคร่ดี ทำหน้าที่ให้อย่างดู
    ควรกอบระบอบมู ลฐานเรียบระเบียบงาม
    อย่าหยาบสุภาพพร้อม อ่อนละม่อมทวารสาม
    ผู้น้อยจะคล้อยตาม ด้วยชื่นชมนิยมใน
    แบบอย่างอันดีจริง บ่มีสิ่งจะเหลวไหล
    ล้วนมุ่งแต่จูงใจ ประพฤติชอบประกอบดี
     

แชร์หน้านี้

Loading...