ประวัติหลวงปู่ลี ธัมมธโร โดยย่อ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย bankamo, 18 เมษายน 2006.

  1. bankamo

    bankamo Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 เมษายน 2005
    โพสต์:
    31
    ค่าพลัง:
    +86
    หลวงปู่ลี ธัมมธโร
    วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

    ชาติกำเนิด ชีวิตปฐมวัย
    พระอาจารย์ลี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เวลา 21.00 น. เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีมะเมีย
    ตรงกับวันที่ 31 มกราคม 2449 บ้านเกิดคือ บ้านหนองสองห้อง ตำบลยางโยภาพ อำเภอ
    ม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านนี้มีบ้านประมาณ 80 หลังคาเรือน แบ่งออกเป็น
    3 คุ้ม คือหมู่บ้านน้อยหนึ่ง หมู่บ้านในหนึ่ง และหมู่บ้านนอกหนึ่ง ที่หมู่บ้านนอกนี้มีวัดตั้งอยู่
    พระอาจารย์ลีได้เกิดในหมู่บ้านที่มีวัดตั้งอยู่ บ้านทั้ง 3 คุ้มนี้มีหนองน้ำอยู่ตรงกลาง 3 หนอง
    บริเวณรอบๆ หมู่บ้านมีต้นยางใหญ่ขึ้นอยู่ล้อมรอบนับสิบๆ ต้น ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน
    มีเนินบ้านเก่า
    นามเดิมของพระอาจารย์ลี คือ นายชาลี เป็นบุตของนายปาว นางพ่วย นารีวงศ์ ปู่ชื่อจันทารี
    ย่าชื่อนางสีดา ตาชื่อนันทะเสน ยายชื่อนางดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน รวม 9 คน
    เป็นชาย 5 คน เป็นหญิง 4 คน เมื่อเกิดมาได้ 9 วัน เกิดมีอาการรบกวนพ่อแม่เป็นการใหญ่
    เช่น ร้องไห้เสมอๆ ถึงกับโยมทั้งสองได้แตกจากกันไปหลายวัน เมื่อโยมผู้หญิงออกไฟได้
    3 วัน ตัวเองกิดโรคป่วย ไม่กินไม่นอนเป็นเวลาหลายวัน เลี้ยงยากที่สุด พ่อกับแม่ไม่มีใคร
    สามารถจะเลี้ยงให้ถูกใจได้
    ต่อมาอายุ 11 ปี มารดาถึงแก่กรรม ยังมีน้องเล็กๆ คนหนึ่งเป็นผู้หญิงได้เลี้ยงดูกันมา ส่วน
    คนอื่นๆ เขาโตแล้วต่างก็พากันไปทำมาหากิน ยังเหลืออีก 2-3 คน พ่อลูกพากันทำนาเป็นอาชีพ
    พออายุได้ราว 12 ปี ได้เรียนหนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้ สอบชั้นประถมก็ตกเสียอีก ช่างมัน
    แต่จะเรียนไปจนหมดเวลา พอดีอายุ 17 ปี จึงได้ออกจากโรงเรียน ต่อจากนั้นมาก็คิดหาแต่เงิน
    กันเท่านั้นในระหว่างนี้เกิดมีการขัดอกขัดใจกับโยมผู้ชายบ่อยๆ คือ โยมต้องการให้ทำการค้า
    ขายของที่ไม่ชอบ เช่น ไปหาซื้อหมูมาขาย ซื้อวัวมาขาย เป็นต้น ถึงเวลาอยากจะไปทำบุญก็คอย
    ขัด การงานก็คอยขัดคอเสมอ บางทีต้องการไปทำบุญกับเขา ก็หายอมให้ไปไม่ กลับบอกให้ไป
    ทำไร่ทำนาเสีย บางวันน้อยใจนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวกลางทุ่งนา นึกแต่ในใจว่าเราจักไม่อยู่ใน
    หมู่บ้านนี้ แต่ก็ต้องอดทนอยู่ไปก่อน ต่อมาบิดาได้ภรรยาใหม่คนหนึ่ง ชื่อแม่ทิพย์ ตอนนี้ค่อย
    สบายใจขึ้นหน่อย
    ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
    พอดีอายุครบ ๒๐ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๖๘ โยมมารดาเลี้ยงถึงแก่ความตาย ขณะนั้นได้ไปอยู่กับ
    ญาติที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม พอปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้กลับขึ้นไปบ้านโยมบิดา
    ก็แนะนำให้บวช วันนั้นเงินติดตัวอยู่ประมาณ ๑๖๐ บาท เมื่อไปถึงบ้านใหม่ๆ พี่ชาย พี่เขย
    พี่สาว ฯลฯ ก็พากันมากลุ้มรุมเยี่ยมเยียนถามข่าวคราวต่างๆ แล้วขอกู้เงินยืมเงินไปซื้อควาย
    บ้าง ซื้อที่นาบ้าง ค้าขายบ้าง ก็ยินยอมให้เงินเขาไปตามต้องการ เพราะตัวเองคิดจะบวช ตกลง
    เงิน ๑๖๐ บาท ที่มีอยู่คงเหลือเพียง ๔๐ บาท
    ถึงเวลาเทศกาลบวชนาค โยมบิดาก็จัดแจงให้บวชจนสำเร็จ ได้ทำการบวช เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ
    เดือน ๖ มีเพื่อนบวชด้วยกันในวันนั้นรวม ๙ รูป พอล่วงถึงพรรษาที่ ๒ จึงตั้งใจอธิฐานว่า
    "เวลานี้ข้าพเจ้ายังมุ่งดีหวังดีต่อพระศาสนาอยู่ในกาลต่อไปนี้ ขอจงให้พบครูบาอาจารย์
    ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบภายใน ๓ เดือน
    ต่อมาเดือนพฤศจิกายนข้างแรม ได้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดบ้านโนนรังใหญ่ ตำบลยางโยภาพ
    อำเภอม่วงสามสิบ พอดีไปพบพระกรรมฐานรูปหนึ่งกำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์รู้สึกเกิดแปลก
    ประหลาดในจิตขึ้นโดยโอหารของธรรมะน่าเลื่อมใส จึงได้ไต่ถามญาติโยมว่าท่านองค์นั้นคือใคร
    มาจากไหน ได้รับตอบว่า "เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ชื่ออาจารย์บท" ท่านได้พักอยุ่ในป่ายาง
    ใหญ่ใกล้บ้านราว ๒๐ เส้น พองานมหาชาติเสร็จก็ได้ติดตามไปดู ได้เห็นปฏิปทาความประพฤติ
    ของท่านเป็นที่พอใจ จึงถามท่านว่าใครเป็นอาจารย์ของท่าน ท่านตอบว่า"พระอาจารย์มั่น
    พระอาจารย์เสาร์ เวลานี้พระอาจารย์มั่นได้ออกเดินทางจากจังหวัดสกลนครไปพักอยู่ที่วัดบูรพา
    จังหวัดอุบลราชธานี" พอได้ความเช่นนั้นก็รีบเดินทางกลับบ้าน นึกแต่ในใจว่า "เราสมหวัง
    แน่" อยู่มาไม่กี่วันจึงได้ลาโยมผู้ชาย ลาพระอุปัชฌาย์ ท่านทั้งสองนี้ก็พูดจาขัดขวางทุกด้าน
    ทุกมุม แต่ได้ตัดสินใจเด็ดขาดว่า "เราต้องไปจากบ้านนี้โดยเด็ดขาด จะให้สึกก็ต้องไป จะให้
    อยู่เป็นพระก็ต้องไป พระอุปัชฌาย์และโยมผู้ชายไม่มีสิทธิ์ใดๆ ทั้งหมด ถ้าขืนก้าวก่ายในตัวเรา
    นาทีใด ต้องลุกหนีไปนาทีนั้น" ได้พูดกับโยมผู้ชายอย่างนี้ ในที่สุดโยมผู้ชายและพระอุปัชฌาย์
    ก็ยอม
    เดือนอ้ายข้างแรม เวลาเพลแล้ว ประมาณ ๑๓.๐๐ น. ได้ออกเดินทางพร้อมด้วยบริขารโดยลำพัง
    รูปเดียว โยมผู้ชายได้ติดตามออกไปส่งถึงกลางทุ่งนา เมื่อได้ร่ำลากันแล้วต่างคนก็ต่างไป วันนั้น
    เดินทางผ่านอำเภอม่วงสามสิบมุ่งไปสู่จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ ๑๐ กิโลเมตรเศษ พอดีพระ
    บริคุตฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอม่วงสามสิบถูกปลดออกจากราชการขี่รถยนต์ผ่านมาพบ
    เรากำลังเดินทางอยู่คนเดียว ท่านผู้นี้ได้นิมนต์ขึ้นรถขนย้ายครอบครัวของท่าน ไปส่งถึงสนาม
    บินจังหวัดอุบลฯ ทางไปบ้านกุดลาด บัดนี้ก็ยังระลึกถึงบุญคุณของท่านผู้นี้อยู่ ทั้งๆ ที่ไม่รู้จัก
    กันเลย ประมาณ ๕ โมงเย็นเดินทางถึงสำนักวัดป่าบ้านกุดลาด แต่ได้ทราบว่าพระอาจารย์มั่น
    กลับมาพักอยู่วัดบูรพา
    รุ่งเช้าเมื่อฉันอาหารแล้วได้เดินเท้ากลับมาจังหวัดอุบลฯ ได้ไปนมัสการกราบเรียนความประสงค์
    ของตนต่อพระอาจารย์มั่น ท่านก็ได้ช่วยแนะนำสงเคราะห์เป็นที่พอใจสอนคำภาวนาให้ว่า
    "พุทโธฯ" เพียงคำเดียวเท่านี้ พอดีท่านกำลังอาพาธ ท่านได้แนะนำให้ไปพักอยู่บ้านท่าวังหิน
    ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงัดวิเวกดี ที่นั่นมีพระอาจารย์สิงห์ พระมหาปิ่น มีพระภิกษุสามเณรราว ๔๐
    กว่ารูปพักอยู่ ได้เข้าไปฟังธรรมเทศนาของท่านทุกคืนรู้สึกว่ามีผลเกิดขึ้นในใจ ๒ อย่างคือ เมื่อ
    นึกถึงเรื่องเก่าๆ ของตนที่เป็นมาก็ร้อนใจ เมื่อนึกถึงเรื่องใหม่ๆ ที่กำลังประสบอยู่ก็เย็นใจ ทั้ง ๒
    อารมณ์นี้ติดตนอยู่เสมอ พอดีได้พบเพื่อนหวังดี ๒ รูป ได้ร่วมอยู่ ร่วมฉัน ร่วมศึกษาสนทนากัน
    ตลอดมา เพื่อน ๒ รูปนั้นคืด พระอาจารย์กงมาและพระอาจารย์สาม ได้พากเพียรพยายามภาวนา
    อยู่เสมอทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ได้ชวนพระอาจารย์กงมาออกเดิน
    ทางไปเรื่อยๆ ไปพักตามศาลเจ้าผีปู่ตาของหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ แล้วได้เดินทางกลับไปถึงบ้าน
    เดิม เพื่อบอกข่าวกุศลให้โยมผู้ชายทราบว่าได้พบพระอาจารย์มั่นเป็นที่พอใจในชีวิตแล้ว อาตมา
    จักไม่กลับมาตายบ้านนี้ต่อไป คือได้นึกเป็นคติในใจอยู่ว่า "เราเกิดมาเป็นคน ต้องพยายาม
    ไต่ขึ้นอยู่บนหัวคน เราบวชเป็นพระ ต้องพยายามให้อยู่บนหัวพระที่เราเคยพบผ่านมา"
    ตอนนี้รู้สึกว่าเกิดสมหวังในความคิดฉะนั้น จึงกลับบอกเล่าให้โยมฟังว่า "ฉันลาไม่กลับ เงินทอง
    ข้าวของใช้ส่วนตัวมอบเสร็จ ทรัพย์สินเงินทองของโยม จักไม่เกี่ยวข้องตลอดชีวิต" โยมป้า
    ได้ทราบเรื่องก็มาพูดต่อว่า ว่า "ท่านจะเกินไปละกระมัง" จึงได้ตอบไปว่า "ถ้าฉันสึกมา ถ้าฉันมาขอ
    ข้าวป้ากินขอให้ป้าเรียกฉันว่าสุนัขก็แล้วกัน" เมื่อได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วเช่นนี้ก็ได้สั่งกับโยม
    ผู้ชายว่า "โยมอย่าเป็นห่วงอาตมาจะบวชอยู่ได้ก็ตาม จะสึกออกมาก็ช่าง อาตมาพอใจแล้วที่ได้
    สมบัติของโยม ได้ทรัพย์วิเศษจากโยม คือ ตา ๒ ข้าง หู ๒ ข้าง จมูก ปาก ครบอาการ ๓๒ จัดเป็น
    ก้อนทรัพย์อย่างสำคัญแม้โยมจะให้ทรัพย์อย่างอื่น อาตมาก็ไม่อิ่มใจ" เมื่อได้สั่งโยมผู้ชายเสร็จ
    แล้ว ก็ลาโยมผู้ชายเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางไปถึงหมู่บ้านวังถ้ำ ก็ได้พบพระ
    อาจารย์มั่นพักอยู่ในป่าจึงได้เข้าไปพักอาศัยอบรมอยู่กับท่านเป็นเวลาหลายวัน
    ต่อจากนั้นก็ได้ดำริว่า "เราต้องสวดญัตติใหม่ ล้างบาปเก่าเสียที" เมื่อได้หารือพระอาจารย์มั่น
    แล้วท่านเห็นดีเห็นชอบด้วย จึงได้ทำการหัดขานนาค เมื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ติดตามท่าน
    ไปเที่ยวในตำบลต่างๆ ได้รู้สึกมีความเลื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้รับความอัศจรรย์จาก
    ท่านหลายอย่าง อาทิเช่น บางเรื่องคิดอยู่ในใจของเราไม่เคยแสดงให้ท่านทราบเลย ท่านกลับ
    ทักทายถูกต้อง ก็ยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสยิ่งขึ้นทุกที การทำสมาธิก็หนักแน่นหมดความ
    ห่วงใยอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่าง ได้อบรมอยู่กับท่านเป็นเวลา ๔ เดือน ท่านก็ได้นัดหมายไป
    สวดญัตติใหม่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ มีพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) วัดสระปทุม จังหวัด
    พระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เพ็ง วัดใต้ จังหวัดอุบลฯ เป็นกรรมวาจาจารย์
    พระอาจารย์มั่นเป็นผู้บรรพชาให้เป็นสามเณร ได้อุปสมบทใหม่ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.
    ๒๔๗๐ อุปสมบทเสร็จแล้ว ๑ วัน ก็ได้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดคือฉันมื้อเดียวได้พักอยู่วัดบูรพา
    คืนเดียวก็ได้ออกไปอยู่ป่าบ้านท่าวังหินตามเคย
    เที่ยวจาริกสัญจร ไปในระหว่างเวลาออกพรรษาทุกปี การทำเช่นนี้ ก็เพราะได้คิดเห็นว่าการที่จะ
    อยู่ประจำวัดเฉยๆ ก็เปรียบเหมือนรถไฟที่จอดนิ่งอยู่ที่สถานีหัวลำโพง ประโยชน์ของรถไฟที่
    จอดนิ่งอยู่กับที่มีอะไรบ้าง ทุกคนคงตอบได้ ฉะนั้น ตัวเราเองจะมานั่งอยู่ที่เดียวนั้น เป็นไป
    ไม่ได้ จำเป็นจะต้องออกสัญจรอยู่อย่างนี้ตลอดชาติในภาวะที่ยังบวชอยู่
    การประพฤติเช่นนี้ บางครั้งหมู่คณะก็ตำหนิโทษ บางคราวก็ได้รับคำชมเชย แต่ตนเองเห็นว่า
    ได้ผลทั้งนั้น เพราะได้รู้จักภูมิประเทศเหตุการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของพระศาสนาใน
    ที่ต่างๆ บางอย่างบางชนิดเราอาจโง่กว่าเขา บางอย่าง บางหมู่คณะ บางสถานที่เขาอาจดีกว่า
    เรา เราก็เป็นอาจารย์ให้เขา หมู่ไหนฉลาดกว่าเรา เราก็ยอมตนเป็นศิษย์เขา ฉะนั้น การสัญจร
    ไปมาจึงไม่เสียประโยชน์ อีกประการหนึ่งที่เราชอบไปอยู่ตามป่าตามดงนั้น ได้เกิดความคิด
    หลายอย่างคือ
    (๑) ให้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร แสดงตนเป็นผู้ขอ แต่พระองค์ไม่ให้แสดงตนเป็นคน
    ยากจน เช่น เขาให้เท่าไร ก็ยินดีเท่านั้น
    (๒) พระองค์ทรงสอนให้ไปอยู่ในที่สงัด ที่เรียกว่า "รุกขมูลเสนาสนะ" มีบ้านร้าง สุญญคาร
    หิมมิยัง เงื้อมผา คูหาถ้ำ สถานที่ต่างๆ เหล่านี้ มีปัญหาว่าพระองค์ทรงเห็นประโยชน์อะไรหรือ
    จึงได้สอนเช่นนั้น แต่ตัวเองยังนึกเชื่ออยู่ในใจว่า ถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ พระองค์คงไม่
    สอน หรือกระนั้นก็ยังมีความรู้สึกลังเลใจอยู่ จนเป็นเหตุให้สนใจในเรื่องนี้
    (๓) พระองค์สอนให้ถือผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องใช้สอย ตลอดจนให้ถือเอาผ้าพันผีตายมาใช้นุ่งห่ม
    ก็เป็นเหตุให้นึกถึงเรื่องตายว่าการนุ่งห่มผ้าพันผีตายมีประโยชน์อะไรบ้าง ข้อนี้พอได้ความง่ายๆ
    ติดดูโดยหลักธรรมดาก็จะเห็นได้ว่า ของตายนั้นไม่มีใครต้องการ อีกอย่างหนึ่งก็คือของตายเป็น
    ของไม่มีพิษไม่มีโทษในข้อนี้พอจะน้อมนึกตรึกตรองได้อยู่บ้าง ว่าพระองค์ได้สอนไม่ให้เป็นผู้
    ทะนงตัวในปัจจัยลาภ
    (๔) พระองค์สอนให้บริโภคยารักษาโรคที่หาได้อย่างง่ายๆ เช่น ให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
    คำสอนต่างๆ ของพระองค์ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ เมื่อเราได้รับฟังเข้าแล้วเป็นเหตุให้เกิดความ
    สนใจ แต่เมื่อสรุปแล้วจะได้รับผลหรือไม่ได้รับผลก็ตาม แต่เรามีความเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่ง
    ว่าพระองค์ไม่ใช่บุคคลที่งมงาย เรื่องใดที่ไม่มีเหตุผลพระองค์คงไม่ทรงสั่งสอนเป็นอันขาด
    ฉะนั้น จึงได้มาระลึกนึกคิดว่า ถ้าเราไม่เชื่อในคำสอนของพระองค์ เราก็ควรยอมรับถือตาม
    โอวาท หรือถ้าเราไม่เชื่อความสามารถของผู้สอนเรา เราก็ควรทำตามไปก่อนโดยฐานะ
    ที่ทดลองดูเพื่อเป็นการรักษาสังฆประเพณี ระเบียบแบบแผนของผู้ที่เราเคารพนับถือกราบ
    ไหว้เอาไว้ก่อนอีกประการหนึ่ง ได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นผู้ถือเคร่งครัด
    ในธุดงค์ เช่น ถือการอยู่ป่า ฉันอาหารแต่มือเดียว ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ท่านได้ขอปฏิบัติ
    ตัวของท่านอย่างนี้ตลอดชีพ ในเรื่องนี้พระองค์ได้ทรงซักถามพระมหากัสสปะว่า "ท่านเป็น
    ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ท่านขวนขวายเพื่อเหตุอะไร" พระมหากัสสปะตอบว่า "ข้าพระองค์มุ่งประโยชน์
    ของกุลบุตรผู้จะเกิดตามสุดท้ายภายหลัง ไม่ได้มุ่งประโยชน์ส่วนตัว เมื่อข้าพระองค์ไม่ทำ
    จะเอาใครเป็นตัวอย่าง เพราะการสอนคนนั้นถ้ามีตัวอย่างสอนได้ง่าย เปรียบเสมือนการสอน
    ภาษาหนังสือเขาทำแบบหรือรูปภาพประกอบการสอน เป็นเหตุให้ผู้เรียน เรียนได้สะดวกขึ้น
    อีกมาก ข้าพระองค์ประพฤติเช่นนี้ฉันใด ก็ฉันนั้น"
    เมื่อได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งได้ทูลตอบพระบรมศาสดาเช่นนี้ ก็สงสารพระ
    มหากัสสปะ ท่านอุตสาห์ตรากตรำทรมาน ถ้าเปรียบในทางโลกท่านก็เป็นถึงมหาเศรษฐี
    ควรได้นอนที่นอนที่ดีๆ กินอาหารที่ประณีต ตรงกันข้าม ท่านกลับสู้อุตส่าห์มาทนลำบาก
    นอนกาลางดินกินกลางหญ้า ฉันอาหารก็ไม่ประณีต เปรียบเทียบตัวเราเสมอเพียงแค่นี้ จะมา
    หาแต่ความสุขใส่ตัวแค่อามิส ก็บังเกิดความละอายใจ สำหรับพระมหากัสสปะ เวลานั้นท่าน
    จะบริโภคอาหาร นั่ง นอน ในที่สวยงามเท่าไรก็ตาม ย่อมไม่มีปัญหาใดๆ ที่จะเป็นไปเพื่อ
    อาสวะกิเลสเสียแล้ว แต่ว่าเป็นของไม่แปลก ท่านกลับเห็นประโยชน์ที่จะเกิดบรรดาสานุศิษย์
    ฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นข้อสะกิดใจเรามานับตั้งแต่เริ่มบวชในครั้งแรก
    เมื่อพูดถึงเรื่องการอยู่ป่า ก็เป็นของแปลกประหลาดเตือนใจเราอยู่มาก เช่น บางคราวได้มอง
    เห็นความตายอย่างใกล้ชิด และได้รับคำเตือนใจหลายอย่าง บางคราวเกิดจากคนในป่า บาง
    คราวก็ได้เห็นพฤติการณ์ของสัตว์ในป่า สมัยหนึ่ง มีตาแก่ยายแก่สองคนผัวเมียพากันไป
    ตัดน้ำมันยางในกลางดงใหญ่ เผอิญไปพบหมีใหญ่ตัวหนึ่ง ได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น เมียหนีขึ้น
    ต้นไม้ทัน แล้วร้องตะโกนบอกผัวว่า "ถ้าสู้มันไม่ไหว ให้นอนหงายนิ่งๆ ทำเหมือนคนตาย
    อย่ากระดุกกระดิก ฝ่ายผัวพอได้ยินเมียร้องบอกดังนั้นก็ได้สติ แกจึงแกล้งล้มนอนแผ่ลงกลาง
    พื้นดิน และนอนนิ่งๆ ไม่ไหวตัว เมื่อหมีเห็นดังนั้นก็ขึ้นคร่อมตัวตาแก่ไว้ ปล่อยมือปล่อยตีน
    ไม่ตะปบตาแก่อีก เป็นแต่มองดูตาแก่ที่กำลังนอนหงายอยู่นั้น ตาแก่ก็ได้แต่นอนบริกรรม
    ภาวนาได้คำเดียวว่า "พุทโธ พุทโธ" พร้อมทั้งนึกในใจว่า "เราไม่ตาย" หมีก็ดึงขา ดึงศีรษะ
    แก แล้วใช้ปากดันตัวแกทางซ้ายทางขวา แกก็ทำเป็นนอนตัวอ่อนไปอ่อนมาไม่ยอมฟื้น หมี
    เห็นดังนั้นก็คิดว่าตาแก่คงตายแล้ว มันจึงหนีไป ต่อจากนั้นสักครู่หนึ่งแกก็ลุกขึ้น เดินกลับบ้าน
    กับเมีย บาดแผลที่แกได้รับคือหัวถลอกปอกเปิกแต่ไม่ตาย แกก็สรุปให้ฟังว่า "สัตว์ป่าต้อง
    เป็นอย่างนี้ ถ้าเราเห็นว่าจะสู้ไม่ไหว ต้องทำตัวเหมือนคนตาย"
    เมื่อเราได้ฟังแกเล่าแล้ว ก็ได้ความรู้ขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า คนตายไม่มีใครต้องการเราอยู่ในป่า
    เราก็ควรทำตนเหมือนคนตาย ฉะนั้นใครจะว่าดีหรือชั่วประการใด เราต้องนิ่งสงบกาย วาจา
    ใจ จึงจะรอดตาย เป็นอุทาหรณ์เตือนใจได้อีกอย่างหนึ่งในทางธรรมะว่า "คนที่จะพ้นตาย
    ต้องทำตนเหมือนคนตาย" ก็เป็นมรณัสสติเตือนใจได้เป็นอย่างดี
    อีกครั้งหนึ่ง ได้ไปพักอยู่ในดงใหญ่แห่งหนึ่ง วันหนึ่งเวลาเช้าสายๆ ได้พาลูกศิษย์ออกบิณฑบาต
    พอเดินผ่านดงไป ได้ยินเสียงแม่ไก่ร้อง "กระต๊ากๆ" ฟังเสียงดูเป็นเสียงไก่แม่ลูกอ่อน
    เพราะเมื่อส่งเสียงร้องแล้ว ไม่ยอมบิน จึงให้ลูกศิษย์วิ่งไปดูแม่ไก่ตกใจก็บินข้ามต้นไมสูงหนีไป
    เห็นลูกไก่วิ่งอยู่หลายตัว มันพากันวิ่งหนีเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในกองใบไม้ร่วง แล้วทุกตัวก็นิ่ง
    เงียบ ไม่ยอมไหวตัวไม่ยอมกระดุกกระดิก แม้จะเอาไม้คุ้ยเขี่ยดู ก็ไม่ยอมกระดุกกระดิก เด็กลูกศิษย์
    ไปหาอยู่พักหนึ่ง ไม่ได้พบลูกไก่เลยแม้แต่ตัวเดียว แต่เรานึกในใจว่ามันไม่ได้หนีไปไหนแต่มัน
    ทำตัวเหมือนใบไม้ร่วง ในที่สุดลูกไก่ตัวนิดๆ จับไม่ได้สักตัวเดียว เรื่องนี้เป็นเหตุให้นึกถึง
    สัญชาติญาณการป้องกันภัยของสัตว์ ว่ามันก็มีวิธีการที่ฉลาด มันทำตัวของมันให้สงบ ไม่มี
    เสียงในกอใบไม้ร่วง จึงได้เกิดการนึกเปรียบเทียบขึ้นในใจตนเองว่า "ถ้าเราอยู่ในป่า ทำจิต
    ให้สงบไม่ไหวตัวเช่นเดียวกับลูกไก่ เราก็ต้องได้รับความปลอดภัย พ้นความตายแน่นอน"
    ก็เป็นคติเตือนใจได้อีกเรื่องหนึ่ง
    นอกจากนี้ เมื่อนึกถึงธรรมชาติอื่นๆ เช่น ต้นไม้ เถาวัลย์ สัตว์ป่า แต่ละอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นเครื่อง
    ปลุกใจได้เป็นอย่างดี เช่น เถาวัลย์บางชนิดพันต้นไม้ไม่มีเลี้ยวไปทางทิศทางอื่น ต้องพันเลี้ยว
    ไปทางทักษิณาวัตรเสมอ สังเกตเห็นเช่นนี้ก็มาระลึกถึงตัว หากเราจะทำจิตให้ก้าวไปสู่ความดีอัน
    ยิ่งยวด เราต้องเอาอย่างเถาวัลย์คือเดินทางทักษิณาวัตร เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า
    "กายกัมมัง วจีกัมมัง มโนกัมมัง ปทักขิณัง" ฉะนั้น เราต้องทักษิณาวัตร คือเวียนไป
    ทางทักษิณเสมอ นั่นคือเราต้องทำตนให้เหนือกิเลสที่จะลุกลามใจมิฉะนั้น เราก็สู้เถาวัลย์ไม่ได้
    ต้นไม้บางชนิดแสดงความสงบให้เราเห็นด้วยตา ที่เราเรียกกันว่า "ต้นไม้นอน" ถึงเวลา
    กลางคืนมันหุบใบ หุบก้าน เมื่อเราไปนอนอยู่ใต้ร่มไม้ตันนั้น จะมองเห็นดาวเดือนอย่าถนัดใน
    เวลากลางคืน แต่พอถึงเวลากลางวันแผ่ก้านแผ่ใบมึดทึบอย่างนี้ก็มี เรื่องเหล่านี้ก็ล้วนเป็นคติ
    เตือนใจว่า ขณะเรานั่งสมาธิหลับตาภาวนานั้น ก็ให้หลับแต่ตา ส่วนใจเราต้องให้สว่างไสว เหมือน
    ต้นไม้นอนในเวลากลางคืน ซึ่งใบไม้ปิดตาเรา เมื่อระลึกนึกคิดได้อย่างนี้ ก็ได้แลเห็นประโยชน์
    ของการอยู่ป่า จิตใจก็เกิดความห้าวหาญธรรมะธรรโมที่ได้เรียนมาหรือที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ก็ได้ผุด
    มีขึ้น เพราะธรรมชาติเหมือนวิทยาศาสตร์นั่นเอง เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็หมดห่วงในเรื่องการเรียน
    แล้วมาระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ล้วนแต่ได้เรียนสำเร็จจากหลักธรรมชาติ
    ทั้งนั้นไม่ปรากฎว่าเคยมีตำรับตำรามาก่อน
    ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ตัวเราจึงยอมโง่ทางแบบ และตำรา ต้นไม้บางชนิด
    มันนอนกลางวันแต่ตื่นเวลากลางคืน บางชนิดก็นอนกลางวันแต่ตื่นกลางคืน สัตว์ป่าก็เช่นเดียว
    กัน นอกจากนั้นยังได้ความรู้จากพฤกษชาติ ซึ่งมันคลายรสในตัวของมันออก บางชนิดก็เป็น
    ประโยชน์แก่ร่างกาย บางชนิดก็เป็นโทษแก่ร่างกาย อาทิเช่น บางคราวเราเป็นไข้เมื่อเข้าไปอยู่
    ใต้ต้นไม้บางชนิด อาการไข้ก็หาย บางคราวเราสบายดี แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด ธาตุก็
    เกิดการแปรปรวน บางคราวเราหิวข้าวหิวน้ำ แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด อาการหิวเหล่า
    นั้นก็หายไป การได้ความรู้ต่างๆ จากพฤกษชาติเช่นนี้ เป็นเหตุให้นึกถึงแพทย์แผนโบราณ
    ซึ่งนิยมสร้างรูปฤาษีไว้เป็นที่เคารพบูชา ฤาษีนั้นไม่เคยได้เรียนตำรายามาแต่ก่อน แต่มีความ
    สามารถสอนแพทย์แผนโบราณให้รู้จักยารักษาโรคได้ โดยวิธีการเรียนธรรมชาติโดยทางจิต
    เหมือนอย่างตัวเรานี้เอง น้ำ พื้นแผ่นดินหรืออากาศธาตุก็เช่นเดียวกัน
    ฉะนั้น เมื่อทราบเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ เราก็ไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องยารักษาโรค คือเห็นว่ามันมี
    อยู่ทั่วไป ส่วนที่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ อันนั้นเป็นเรื่องของตัวเราเอง นอกจากนั้นยังมีคุณความดี
    อย่างอื่นที่จะต้องบริหารตัวเอง นั่นคืออำนาจแห่งดวงจิตที่สามารถทำให้สงบระงับลงตัวเท่าไร
    ก็ยิ่งมีคุณภาพสูงขึ้นไปยิ่งกว่านี้อีกหลายสิบเท่า ซึ่งเรียกว่า "ธรรมโอสถ"
    สรุปแล้ว คุณประโยชน์ที่ได้รับเรื่องการอยู่ป่าที่สงัดเพื่อปฏิบัติทางจิตนี้ เห็นจริงตัดข้อสงสัย
    ในคำสอนของพระตถาคตได้เป็นข้อๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงยอมปฏิบัติตนเพื่อ "วิปัสสนาธุระ"
    ตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
    ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเนื่องในการได้ปฏิบัติทางจิตนี้ ถ้าจะนำมาพรรณนาก็มีอยู่มากมาย แต่จะ
    ขอกล่าวแต่เพียงสั้นๆ เสมอเพียงเท่านี้
    ธรรมโอวาท
    - คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย
    - คนกลัวตายจะต้องตายอีก
    - ผู้ที่จะพ้นจากภพก็ต้องเข้าไปอยู่ในภพ ผู้ที่จะพ้นจากชาติต้องรู้เรื่องของตัว จึงจะเป็นไปได้
    - ถ้าทุกคนมีความคิดเห็นถูกต้อง การปฏิบัตินั้นเป็นเหตุไม่เหลือวิสัย
    - ขณะเรานั่งสมาธิหลับตาภาวนานั้น ก็ให้หลับแต่ตา ส่วนใจเราต้องให้สว่างไสว
    ผู้จะต้องถึงมรรคผลนิพพานได้นั้น จะต้องทำทางใจ ถ้าไม่ทำทางนี้แล้ว จะทำการกุศลสักเท่าไร
    ก็ถึงมรรคผลนิพพานไม่ได้ นิพพานนี้จะต้องถึงด้วยข้อปฏิบัติทางใจเท่านั้น ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ
    ปัญญา ศีลเป็นเหตุแห่งสมาธิ สมาธิเป็นเหตุแห่งปัญญา ปัญญาเป็นเหตุแห่งวิมุตติ สมาธิ เป็น
    สิ่งสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาและญาณ อันเป็นองค์สำคัญของมรรค แต่จะขาดสมาธิไม่ได้
    ถ้าขาดแล้วก็ได้แต่จะคิดๆ นึกๆ เอา ฟุ้งซ่านไปต่างๆ ปราศจากหลักฐานสำคัญ
    สมาธิเปรียบเหมือนตะปู ปัญญาเปรียบเหมือนค้อนที่ตอกตะปู ถ้าตะปูเอียงไปค้อนก็ตีผิดๆ ถูกๆ
    ตะปูนั้นก็ไม่ทะลุกระดานนี้ฉันใด ใจเราจะบรรจุธรรมชั้นสูงทะลุโลกได้จะต้องมีสมาธิเป็นหลักก่อน
    แล้วจึงเกิดญาณ ญาณนี้จะได้แต่คนทำสมาธิเท่านั้น ส่วนปัญญาย่อมมีอยู่ทั่วไปแก่คนทั้งหลาย
    แต่ไม่พ้นจากโลกได้เพราะขาดญาณ ฉะนั้นท่านทั้งหลายควรสนใจ อันเป็นทางพ้นทุกข์ถึงสุข
    อันไพบูลย์
    ปัจฉิมบท
    ฉะนั้น ชีวิตความเป็นมาของคน ก็ได้คิดมุ่งอยู่อย่างนี้เรื่อยมา นับตั้งแต่ได้ออกปฏิบัติในทาง
    วิปัสสนากรรมฐานมาแต่ พ.ศ.๒๔๖๙ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๒ นี้ได้อบรมสั่งสอนหมู่คณะสานุศิษย์
    ในจังหวัดต่างๆ ได้สร้างสำนักให้ความสะดวกแก่พุทธบริษัท เช่น จังหวัดจันทรบุรีมี ๑๑ สำนัก
    การสร้างสำนักนี้มีอยู่ ๒ ทางคือ
    ๑. เมื่อลูกศิษย์ได้ก่อสร้างตัวขึ้น ยังไม่สมบูรณ์ก็ช่วยเป็นกำลังสนับสนุน
    ๒. เมื่อเพื่อนฝูงได้ดำริสร้างขึ้นยังไม่สำเร็จ บางแห่งก็ขาดพระ ก็ได้ส่งพระที่เป็นศิษย์ไปอยู่ประจำ
    ต่อไป มีบางสำนักครูบาอาจารย์ได้ไปผ่านและสร้างขึ้นไว้แต่กาลก่อน ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมและ
    อบรมหมู่คณะเรื่อยมา จนบัดนี้ จังหวัดจันทบุรีมี ๑๑ แห่ง นครราชสีมามีสำนักปฏิบัติ ๒-๓ แห่ง
    ศรีษะเกษ ๑ แห่ง สุรินทร์ก็มีเป็นเพื่อนกรรมฐานทั้งนั้น อุบลราชธานีมีหลายแห่ง นครพนม
    สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี ระยอง ตราด ลพบุรี ชัยนาท ตาก
    นครสวรรค์ พิษณุโลก เป็นวัดที่ผ่านไปอบรมชั่วคราว ไม่มีสำนัก สระบุรีมี ๑ แห่ง อุตรดิษถ์ก็เป็น
    จุดผ่านไปอบรม ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ นครนายก นครปฐม ได้ผ่านไปอบรมชั่วคราวยัง
    ไม่มีสำนัก ราชบุรีได้ผ่านไปอบรมยังไม่มีสำนัก เพชรบุรี มีพระเณรเพื่อนฝูงตั้งสำนักไว้บ้าง ที่
    ประจวบคีรีขันธ์ได้เริ่มสร้างสำนักที่อำเภอหัวหิน ชุมพร มีสำนักอยู่ ๒-๓ แห่ง สุราษฎร์ธานีผ่าน
    ไปอบรมชั่วคราวไม่มีสำนัก สงขลามีสำนักที่วิเวกหลายแห่ง ยะลา มีศิษย์ไปเริ่มอบรมไว้เป็นพื้น
    และได้เคยอบรม ๒ ครั้ง
    ระหว่างออกพรรษาได้สัญจรไปเยี่ยมศิษย์เก่าๆ ของครูบาอาจารย์ที่เคยไปพักผ่อนมาแล้ว ก็ได้ไป
    อยู่เสมอมิได้ขาด บางคราวก็ได้หลบหลีกไปบำเพ็ญประโยชน์ส่วนตัวบ้าง นับตั้งแต่ได้อุปสมบท
    มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่มาสวดญัตติใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จำเดิมแต่นั้นมาปีแรกที่ได้สวด
    ญัตติแล้วได้อยู่จำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ๖ พรรษา มาจำพรรษาที่วัดสระปทุมพระนคร
    ๓ พรรษา ไปจำพรรษาอยู่ที่เชียงใหม่ ๒ พรรษา จำพรรษาที่จังหวัดนครราชสีมา ๒ พรรษา
    จังหวัดปราจีนบุรี ๑ พรรษา มาสร้างสำนักที่จัทบุรี จำพรรษาอยู่ ๑๔ พรรษา ต่อจากประเทศ
    อินเดียผ่านประเทศพม่า ไปจำพรรษาที่วัดควนมีด จังหวัดสงขลา ๑ พรรษา จากนั้นได้จำพรรษา
    ที่วัดบรมนิวาส ๓ พรรษา สมเด็จพระมหาวีรวงส์ (อ้วน) มรณภาพแล้วได้ออกไปจำพรรษาอยู่
    วัดอโศการาม ๔ พรรษา พรรษาที่ ๔ นี้ตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หลวงพ่อเริ่มอาพาธหนัก ตั้งแต่
    วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๒ กระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านจึงถึงแก่มรณภาพในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๔
    รวมอายุ ๕๔ ปี ๓ เดือน
     

แชร์หน้านี้

Loading...