พิจารณากาย พิจารณาใจ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 6 กันยายน 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    พิจารณากาย พิจารณาใจ
    หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

    พวกเราจงพิจารณาดูตัวเรากับรอบ ๆ ตัวเรา มันมีอะไร ตามภูตามเขามีดินมีหิน นั่นเป็นธาตุดิน มีห้วยมีธาร นั่นเป็นธาตุน้ำ มีฟ้าอากาศ นั่นเป็นธาตุลม มีความร้อนมีไฟ นั่นคือธาตุไฟ ดูเอาซี่ธาตุดินเขาเป็นอะไร ธาตุน้ำเขาเป็นอะไร ธาตุลมเขาเป็นอะไร ธาตุไฟเขาเป็นอะไร เขาเจ็บเขาปวดเขาร้อนอะไร นี่แนะไฟเห็นไหมล่ะ ธาตุไฟที่เผาอาหารให้ย่อย เผาร่างกายให้ชำรุดทรุดโทรมไป หรือให้อุ่นตามสรรพางค์กาย นี่เรียกว่าธาตุไฟ เรามาอาศัยธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟนี้ประชุมกันเข้า เรียกว่าเป็นตัวเป็นตน


    เมื่อเราจำแนกแจกธาตุแล้วมันก็ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรซักอย่าง มีแต่ธาตุ รวมลงเป็นรูป รูปกายได้แก่ธาตุสี่นี้ นามกายได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งเหล่านี้เขาเป็นอะไรละ ให้พิจารณาขันธ์ล้วนแต่ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง สัญญาก็ไม่เที่ยง สังขารก็ไม่เที่ยง วิญญาณก็ไม่เที่ยง มันเป็นยังงั้น


    นี่แหละเรามาพิจารณาให้ลงอย่างนี้ เราอย่าถือว่าเป็นคน อย่าถือว่าเป็นตัวเป็นตน เข้าใจไหมล่ะข้อนี้ ต่างคนต่างเพ่งพิจารณา แล้วโรคภัยมันก็ไม่มี สมเด็จสังฆนายกแต่ก่อนท่านนอนไม่หลับ ได้ไปเทศนาข้อนี้ให้ พอเทศน์แล้วจิตท่านก็สงบ ท่านก็นอนได้ หมอทั้งสองหมอประคองอยู่ พอค่ำท่านนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย พอเช้าก็มักเป็นลม นั่นแหละสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส ท่านลาพักไปอุบล อาตมาไปอุบลก็เลยเทศนาอย่างนี้แหละ ท่านถามว่า ฉันจะตลอดพรรษาไหม พระเดชพระคุณ อย่างนี้ก็ไม่ตลอดซี ใครจะทนได้ กลางคืนไม่ได้นอนตลอด กระสับกระส่ายยังงั้น พอเทศนาแล้วจิตท่านสงบ ท่านก็นอนได้สบาย โรคท่านก็เลยหาย อยู่ได้อีกสี่ปี ห้าปี


    นี่แหละเราก็ควรพิจารณาอย่างงั้น สิ่งเหล่านั้นมันเป็นธาตุ ธาตุดินธาตุน้ำธาตุลมธาตุไฟ สิ่งเหล่านั้นมันเป็นตัวเวทนา เป็นตัวสัญญา เป็นตัวสังขาร เป็นตัววิญญาณ เราเห็นสิ่งทั้งหลายนั้นไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตนอยู่ที่ไหนเล่าทีนี้ ?


    โอปนะยิโก เราต้องน้อมเข้า ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตนเท่านั้น ใครเป็นผู้รู้เวทนา ใครเป็นผู้รู้สัญญา ใครเป็นผู้รู้สังขาร ใครเป็นผู้รู้วิญญาณ เราก็ต้องน้อมเข้ามา ใครว่าธาตุดิน ใครว่าธาตุน้ำ ใครว่าธาตุลมและธาตุไฟ ผู้ไม่ได้เป็นพุทธะก็ไม่รู้อะไร เราจำแนกแจกออกไปแล้วก็เหลือแต่พุทธะคือผู้รู้ ดังนี้เราจึงจับตัวมันได้ ที่ไม่รู้จักอันใดนั้นเพราะมันคลุมเครือกันอยู่ ไม่รู้จะเอาอันใดเป็นสุข ไม่รู้จะเอาอันใดเป็นทุกข์ จะเอาอันใดดีจะเอาอันใดชั่ว มืดอยู่ยังงั้น นี่เรา นี่เราจำแนกแล้ว ส่วนใดเป็นธาตุดินมันก็เป็นดินไปแล้ว ส่วนใดเป็นธาตุน้ำมันก็เป็นน้ำลงไปแล้ว ส่วนใดเป็นลมก็เป็นลมไปแล้ว ส่วนใดเป็นไฟก็เห็นว่าเป็นไฟไปหมด ไฟเขาเป็นอะไร ดินเขาอะไร เขาหลับเขานอนไหมล่ะ เขาเจ็บเขาปวดเขาเหนื่อยเขาหิวไหมล่ะ สิ่งเหล่านี้เราก็พิจารณาให้มันรู้ เพื่อกำจัดภัยกำจัดเวรกำจัดกิเลส ตัณหา ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เราจึงจะไม่ยึดไม่ถือ


    เมื่อเห็นแล้วจิตของเรามันก็วางก็ละน่ะซิ ให้ดูซิ น้ำเขาเป็นอะไรล่ะ ดินเขาเป็นอะไรล่ะ เขาเจ็บเขาปวดไหมล่ะ เขาหมุนเขาเวียนไหมล่ะ เขาไม่ได้ว่าอะไร เขาอยู่เฉย ๆ ยังงั้น นี่หล่ะก้อนขี้ดินหล่ะ นั่งอยู่คนละก้อน ก็มัวถือว่าเป็นคน ว่าเป็นตัว ว่าเป็นตน มันก็ทุกข์ล่ะซี เกิดวุ่นวายเกิดเดือดร้อนซี่ ไปสมสุติเอาว่าเราเป็นโรคว่าเราเป็นภัย ว่าเราเป็นโน่น ว่าเราเป็นนี่


    เรื่องสมมุตินี่สัตว์ทั้งหลายจมอยู่ในมหาสมุทร จมอยู่ที่สมมุติเป็นนั่นเป็นนี่ หากเราจำแนกแจกออกแล้วมันก็ไม่มี จิตมันก็สงบน่ะซี พอจิตสงบแล้วมันก็หายหมดภัยหมดเวรทั้งหลาย เหลือแต่กรรม เหตุนั้นจึงพากันดูให้รู้ อายตนะเป็นบ่อเกิดของสิ่งทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ตาเขาเป็นอะไร หูเขาเป็นอะไร จมูกเขาเป็นอะไร ลิ้นเขาเป็นอะไร กายเขาเป็นอะไร เขาไม่ได้เป็นอะไรซักอย่าง ตาสำหรับดู หูสำหรับฟัง จมูกสำหรับดม เท่านั้นไม่ใช่เรอะ ลิ้นก็สำหรับรับรสอาหาร กายก็สำหรับสัมผัส ใจเป็นธรรมารมณ์ นี่แหละให้พิจารณา นี่เป็นบ่อเกิดแห่งสุขและทุกข์ เขาว่าเห็นอย่างโน้นเห็นอย่างนี้ เราต้องน้อมเข้าไป เราไม่ว่าแล้วมีอะไรไหมล่ะ นี่จึงพาให้กันพิจารณา


    จงเพ่งพิจารณาให้มันรู้มันเห็นซิ พอเราจำแนกแจกสิ่งเหล่านั้นแล้วจิตของเราก็เป็นหนึ่งอยู่ มันไม่มีคน ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีผู้ ไม่มีคน ไม่มีบ้าน ไม่มีเมือง ไม่มีอะไรซักอย่าง จิตมันก็วางหมดละ พอจิตมันว่างหมดแล้วก็ไม่มีอะไร ไม่มีภัย ไม่มีเวร


    นี่เราไปก่อกรรมก่อเวร สมมติเป็นอันโน้น สมมติเป็นอันนี้ มันก็หลงสมมตินี่ซิ สัตว์ทั้งหลายคาอยู่ที่นี่ จมในมหาสมุทรนี่ ข้ามไม่ได้ ต้องพ้นจากสมมติซิ ถามดูซิ เจ้าเป็นภูเขาไหมล่ะ เจ้าเป็นกก (ต้น) ขามไหมล่ะ เขาไม่ได้ว่าไม่ใช่เหรอ หรือว่าไงถามดู เป็นกกขามไหม มิด (เงียบ) แน่ะ เขาไม่ได้ว่าอะไร เราไปว่าเขา เขาก็อยู่เฉย ๆ เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นกกขาม ต้นขามเขาก็ไม่ได้ว่า ถามว่าเจ้าเป็นดินไหม แน่ะ มันก็ไม่ได้ว่าอะไรซักอย่าง เจ้าเป็นน้ำไหม เจ้าเป็นลมเป็นไฟไหม เขาไม่ได้ว่าอะไร เราไปหลงเอาเฉย ๆ นี่แหละ ต้องจำแนกแจกออกไปเพื่อไม่ให้หลง


    พุทโธให้มันรู้ซิ จิตของเราสงบ มีความเบิกบาน พุทโธเป็นผู้เบิกบาน พุทโธสว่างไสว พุทโธเป็นผู้รู้ สิ่งใดเกิดขึ้นรู้ได้หมด ให้เรารู้เท่าสังขาร รู้เท่าวิญญาณ สังขารไม่เที่ยง วิญญาณมันก็ไม่เที่ยงทั้งหมด เราไม่ควรไปยึดไปถือเอาเป็นตัวเป็นตน ถ้าไม่ยึด จิตของเรามันก็พ้นทุกข์น่ะซิ เราไม่ไปสมมติมันก็พ้นน่ะซิ จิตของเราพ้นจากทุกข์ ถ้าเราไม่ว่าทุกข์ละก้อทุกข์มีไหมล่ะ อย่าไปว่าซิ อย่าไปสมมติ แท้ที่จริงเขาไม่มีทุกข์มียากอะไร สังขารร่างกายนี้เห็นไหมล่ะ ตายแล้วนิมนต์พระไปชักบังสุกุล ว่าชักให้คนตาย แท้ที่จริงน่ะชักให้พวกเราดู แต่ก่อนเขาก็เป็นเหมือนอย่างเรานี่แหละ ห่วงนั่นห่วงนี่ คานั่นคานี่ มาเดี๋ยวนี้ตายแล้วเป็นอย่างไรล่ะ ไม่คาอะไรซักอย่าง เคยว่าเจ็บว่าปวด ยุงกัดก็ตี ปวดนั่นปวดนี่ ไปสุม (เผา) แล้วไม่ว่าอะไรเลย แข้งขาหูตาจมูกเขาก็มีครบหมด ดูซีพวกเราทั้งหลาย นี่แหละให้พิจารณากรรมฐาน ให้พิจารณาบังสุกุล ให้พิจารณาธรรมสังเวช ท่านให้พิจารณาตนเสียก่อน


    อยัง อัตตะภะโว ภวะ ความเกิดมาแล้ว ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อสุจิ อสุภัง มีแต่น้ำเน่าน้ำหนองเหมือนกันม๊ด อิมัง กัมมัฏฐานัง ภเวติ ให้พิจารณากรรมฐานให้เห็นอย่างนั้น


    ท่านให้พิจารณาตนให้เห็นเป็นอย่างนั้น อันนี้ อนิจจา วตะ สังขารา สังขารทั้งหลายเป็นอย่างนี้ มันไม่เที่ยงทั้งหมด เราไม่ควรจะหลง ให้พิจารณาให้มันรู้มันเห็น เราไม่ข้องอะไร ไม่คาอะไร ข้องลูก ข้องหลาน ข้องบ้านข้องเมือง ไม่มีข้องล่ะผู้นี้ ยศมันก็ไม่คา อะไรมันก็ไม่คาซักอย่าง อะไรมันก็ไม่ข้องซักอย่าง เห็นไหมล่ะ เราก็เพ่งดูให้มันรู้มันเห็นซิ นี่คนจะมีสุขเพราะเหตุใด ผู้ระงับสังขารน่ะหล่ะ วูปสโม สุโข มีความสุขเพราะระงับสังขาร สัพเพ สัตตา มรัญติจะ มริงสุจะ มริสสเร ตเถวาหัง มริสสามิ นัตถิ เม เอถะ สังสโย ไม่ต้องสงสัย เราทั้งหลายก็ต้องเป็นอย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมตายมาแล้ว ที่อยู่ในปัจจุบันนี้ก็จะต้องเป็นเหมือนกัน เราไม่ต้องสงสัย จะสงสัยอะไรอีกเล่า มันจะได้อะไรที่ไหนแม้สักอย่าง แต่ก่อนเขาก็ห่วงนั่นห่วงนี่ ไปไหนก็ไม่ได้ มีแต่ข้องแต่คา กลัวอด กลัวหิว กลัวทุกข์ กลัวยาก มาบัดนี้เขาไม่กลัวอะไรสักอย่าง… เอาไฟสุมก็ไม่เห็น “อุ๊ย” สักคำเดียว เราก็พิจารณาให้มันรู้มันเห็นอย่างนั้นซี่ มันจะได้ไม่หลง นี่พระเทศนา คนเป็นก็ไม่ฟัง ชักบังสุกุลก็ว่าชักให้คนตาย ได้ไปสวรรค์นิพพาน เฮ่ย มันจะรู้จักที่ไหน


    คนเรานั้นเมื่อมันจะตายมันก็เย็นแต่เท้าขึ้นมา ทางแขนทางมือก็เย็นขึ้นมา ศรีษะก็เย็นลงไป มาประชุมกันที่หัวใจ ถ้าผู้นั้นมีกุศล สร้างกุศลมา กุศลมันก็ไปเกิดแล้ว จะมาอยู่อะไรนั่น จะมาอยู่อะไรในหีบนั้น ถ้ามันอยู่มันก็ติง (กระดุกกระดิก) เป็นซี่ มันก็พูดได้ซี่ จะมานิ่ง จะต่อภพอยู่ทำไม ถ้าบาปมีมันก็เสวยทุกข์แล้ว พอจะดับขันธ์มันก็เริ่มมีแล้ว ภวา ภเว สัมภวันติ มันยังกระสับกระส่าย เพราะมันยังไม่มีที่เกาะ ยังไม่มีที่ไป พอมันเห็นแล้วก็แพล๊บเดียวเท่านั้นไปแล้ว เหมือนกะถ่ายรูปติดน่ะแหละ จะมาอยู่ยังไง ไม่ใช่ว่าชักบังสุกุลให้ผู้นั้นไปสวรรค์นิพพาน ชักให้คนที่ยังอยู่นี่ดูตังหาก ท่านให้ดู ให้พิจารณาว่าข้องนั่นข้องนี่แล้ว มันได้อะไร มันมีอะไร


    นี่ พวกเรากรรมฐานต้องพิจารณา ห่วงนั่นห่วงนี่ คานั่นคานี่เป็นตัวของเรา ก็ไม่ได้อะไรสักอย่าง ท่านชี้ให้เห็นอย่างนั้นดอก ถ้าเห็นแล้วจิตมันก็ถอนอุปาทานขันธ์ มันก็ไม่วุ่นไม่วายไม่เดือดไม่ร้อน ไม่ยุ่งไม่เหยิง ไม่ข้องไม่คาซี่ เห็นแล้วมันก็เลิกก็ละ ก็วางได้ซี่ แน่ะ จิตมันก็พ้นทุกข์ได้ซี่ ที่ไม่พ้นทุกข์ก็เพราะมันข้องมันคาอยู่ พิจารณาดูซิ ชักบังสุกุลให้คนดีคนเป็นนั่นแหละฟัง ไม่ใช่ชักคนตายให้ไปสวรรค์ คนตายนั้นไปแล้ว จะอยู่ทำไม นั่น ถ้ายังอยู่มันก็ติง (เคลื่อนไหว) เป็นแล้วไม่ใช่เรอะ เอาไฟเผามันก็ต้องอุ๊ย นี่ไฟไหม้แล้วมันก็ยังเฉยอยู่นั่น ถ้ายังอยู่มันก็ต้องร้องโอ๊ย ๆ ว่ามันยังอยู่ กามาวจรัง กุสลัง จิตตัง รูปารัมณัง วา สัททารัมณัง วา คันธารัมณา วา รสารัมณัง วา โผฏฐัพพารัมณัง วา ธัมมารัมณัง วา จะเอาธรรมอันใดเป็นอารมณ์ เอารูป เอาเสียง เอากลิ่นเอารสเป็นอารมณ์ ตายไปแล้วจะไปอยู่ยังไง พอดับแป๊บนี่ขาดปั๊บ ติดเกาะใหม่แล้ว ไม่อยู่แล้ว ยังงั้นดอก ให้มันรู้ยังงั้น


    เรื่องชักบังสุกุลนี่แต่ก่อนมีนิทานอยู่ ในพระสูตรท่านว่า มีนางสิริมา รูปสวยรูปงาม พระภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ พอเห็นนางสวยงามกระนั้นก็รักก็ใคร่ชอบใจยินดี จนไปบิณฑบาตไม่ได้ แน่ะ เพราะรักใคร่ชอบใจในรูปอันนั้น อยู่มานางนั้นตายไป ดับขันธ์ลงไป พระพุทธองค์ทรงออกอุบายให้คนไปนิมนต์พระเหล่านั้นมาพิจารณา อย่างที่อธิบายมาแล้วนั่นแหละ


    ภโวภวัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเกิดนั้นไม่เที่ยงทั้งหมด มีแต่น้ำเน่าน้ำเหลืองไหลยังงี้แหละ


    อิมัง กัมมัฏฐานัง ภเวติ กรรมฐานต้องพิจารณาดู นี่ใครจะเอาบ้างล่ะรูปอย่างนี้ ไม่ต้องซื้อต้องหาก็ใครจะเอาล่ะ ให้เปล่า ๆ ก็เถอะ พอพระเหล่านั้นไปเห็นแล้ว มีความสังเวชสลดใจ จิตของท่านก็สงบ ได้สำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมด แน่ะ เป็นยังงั้น


    เพราะฉะนั้นการพิจารณาศพมีผลานิสงส์มาก จึงได้นิมนต์พระไปบังสุกุล ทีนี้พระรับนิมนต์ไปบังสุกุลกลับไปเพ่งเอาเงินเอาทองเขา มันก็ใช้ไม่ได้น่ะซิ ฮึ่ มันเป็นเสียยังงั้น ท่านให้ปลงกรรมฐาน ให้พิจารณาเพื่อจะได้ผลานิสงส์มาก ผู้ที่เห็นอย่างนั้นแล้วจิตมันไม่ข้องจิตมันไม่คาอะไรซักอย่าง จิตมันละมันวางโม๊ด มันไม่มีอะไรข้องไม่มีอะไรคา คือกัน (เหมือนกัน) กับผู้ที่ดับขันธ์ไปแล้ว มีลูก ลูกจะร้อง แม่จะไป พ่อจะไป ขอให้พ่ออยู่นำ (กับ) ลูกกับเต้าก็ไม่ได้ ลูกจะไป ก็ขอให้อยู่นำพ่อนำแม่ก็ไม่ได้ ภรรยาจะไป ขออยู่นำสามีก่อนก็ไม่ได้ แน่ะ ขอกันไม่ได้เลย เอาแต่ของใครของมัน นี่ มันเห็นเช่นนี้แล้ว มันก็ไม่หลงยังงั้นดอก เดี๋ยวนี้เราหลงวุ่นวายเดือดร้อนกันอยู่นี่แหละ หลงสมมติ ว่านี่ก็ของตัวนั่นก็ของตัว นี่ก็ของกู นั่นก็ของกู เขาต่อนกเขาน่ะ ของกู๊ ของกู๊ ของกู๊ ไปโม๊ด ตัวของกูไม่มีใครกู้ เอาไม่ได้สักอย่าง ของกู๊ ของกู๊ นั่นเด้อ จงดูแม่ออก (ผู้หญิง) นั่นเป็นต้น ของกูที่ไหนเล่า แม่ออกเป็นลม ว่าเป็นตัวตนของเราก็ลองบอกมันอย่าให้เป็นลมซี่ มันฟังไหม นี่แหละความหลงละ เข้าใจไหมล่ะ อธิบายให้ฟัง เขาชักบังสุกุลไม่ได้ชักให้คนตายไปสวรรค์ ชักให้คนที่อยู่ดี ๆ นี่แหละเห็น เห็นแล้วจะได้มีศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส จะได้ให้ทาน รักษาศีล ภาวนาต่อไป


    เมื่อพิจารณาแล้ว ปลงธรรมสังเวชแล้ว บางคนก็ได้สำเร็จ นั่นคือน้อมเข้ามาหาตน พิจารณาให้เห็นว่ามันไม่ได้อะไรจริงสักอย่าง ได้ยศก็มียศอยู่ที่ไหน ได้ทรัพย์สมบัติก็ได้ที่ไหน ได้ลูกได้หลานได้ที่ไหน ได้บ้านได้ช่องได้ที่ไหน ไม่ได้อะไรจริงสักอย่าง นั่นแหละข้อสำคัญคือทิ้งให้โม๊ด เข้าใจไหมล่ะอธิบายให้ฟัง


    เอ้า ต่อไปนี้ให้นั่งเข้าที่พิจารณาให้มันเห็น เทศน์ให้ฟังแล้ว เพ่งพิจารณาให้มันรู้ให้มันเห็นว่าจริงหรือไม่จริง นั่งทำจิตให้มันสงบ อย่าส่งไปข้างหน้ามาข้างหลัง นั่งให้สบาย อยากร่ำอยากรวย พิจารณาให้มันเห็นว่าใจของเราเป็นอยู่ยังไง มียังไงอธิบายให้ฟังแล้ว เรามาอาศัยธาตุทั้งสี่ ดินน้ำลมไฟมาประชุมกันเข้า เราถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นที่ไหนเล่า เพ่งดูซิ เราห่วงอะไร เราคาอะไร เราข้องอะไร ให้เพ่งพิจารณา


    เมื่อกายเราสบายแล้วบริกรรมภาวนา หรือนึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว รวมเอา พุทโธ พุทโธ คำเดียว อย่าส่งใจไปข้างหน้ามาข้างหลัง ทั้งซ้ายทั้งขวา ข้างบนข้างล่าง ตั้งไว้เฉพาะท่ามกลางตรงที่รู้ พุทโธ พุทโธ อยู่นั้น อย่าส่งใจไปอื่น หลับตางับปากแล้วก็เพ่ง ทำใจให้สงบ เราอยากสุขอยากสบาย อย่าไปนึกทุกข์นึกยาก สิ่งไรทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวเรา อย่าส่งใจไป ตั้งไว้เฉพาะส่วนที่รู้ ความรู้นี่แหละสำคัญ มันไม่เป็นของแตกของทำลายของฉิบหาย เป็นผู้รู้อยู่ภายใน เพ่งดูให้รู้ว่ามีอยู่จำเพาะตนของตน สุขทุกข์ ดีชั่ว เป็นความสมมติทั้งนั้น สุขก็ว่าเอาเอง ทุกข์ก็ว่าเอาเอง ดีก็ว่าเอาเอง ชั่วก็ว่าเอาเอง อย่าไปว่าอะไรซี่ เย็นร้อนเราก็ว่าเอาเองทั้งหมด อย่าไปว่า วางใจให้สบายเท่านั้นแหละ เรื่องจึงจะดี


    เมื่อจิตเป็นกุศล จิตมันว่างหมด จิตมันสบาย จิตดีมีความสุขความสบาย ที่เรามานี้ต้องการความสุข ความสบาย ต้องการความพ้นทุกข์เท่านั้น เราจะเอาอะไรสุขสบายล่ะนอกจากใจของเราสงบ


    เมื่อใจของเราสงบแล้ว ความสุขความสบายก็เกิดที่นั่น ไม่ได้เกิดที่อื่น ไม่ได้สุขสบายเพราะวัตถุข้าวของทั้งหลายต่าง ๆ ใจเราสบายเท่านั้นแหละ ความสุข เมื่อใจเราสบายแล้ว ทำอะไรก็สบาย ทำมาหากิน ค้าขาย การอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็สุขก็สบาย ธรรมนั้นก็นำความสุขความสบายให้ ไปในชาติใดภพใดธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าจิตเราไม่ดี ทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อน หนักหน่วงง่วงเหงาหาวนอน เดือดร้อนฟุ้งซ่านรำคาญ นั่น ธรรมนั้นก็นำสัตว์ทั้งหลายตกทุกข์ได้ยาก แม้เรานั่งอยู่อย่างนี้ก็เป็นทุกข์ได้ ไม่ใช่อื่นไกล ธรรมนั้นเองนำความทุกข์ยากให้เรา เราจึงต้องเลิกต้องละ อย่าไปยึดเอาซี่ สิ่งที่ทุกข์ที่ยาก วางให้หมดละให้หมดซี่


    ต่อไปนี้จะไม่อธิบาย ต่างคนต่างเพ่ง วางใจให้สบาย ๆ ได้ยินเสียงอะไรก็ตามให้รู้ไว้สัญญาไว้ว่าสิ่งนั้นไม่มีอันตรายแล้ว เราก็ไม่ต้องเดือดร้อน วางใจให้สบาย สบาย………. (นั่งสงบ)


    ทำจิตให้สบาย อยากสุขอยากสบายอย่าสำคัญมั่นหมาย ต้องการหายโรคหายภัยก็อธิษฐานเอา ตั้งสัจจะบารมีของเรา นี่แหละ จะตัดบาปตัดกรรม ไม่มีวิธีอื่น เราต้องทำจิตให้สงบ ถ้าจิตเราไม่สงบแล้ว มันก็ไปก่อกรรมก่อภัยก่อเวร พอจิตเราสงบแล้วมันก็ไม่มีกรรม ความชั่วทั้งหลายไม่มี มีแต่ความสุข ความสบาย เราต้องการความสุขความสบายจะไปหากับทรัพย์สมบัติไม่มีหรอก มีแต่ที่ใจเราสงบ พอใจเราสงบแล้วมันได้รับความสุขความสบาย ก็หายโรคหายภัยหายกิเลสจัญไรหมดน่ะซี่ เคราะห์ทั้งหลายมันก็หายหมด ต่อไปนี้หมั่นทำนะนี่น่ะ ได้ยินไหมล่ะ ถ้าเราหัวใจยังอ่อน เราก็ตั้งมันให้แข็งขึ้น ตั้งหลักตั้งฐานขึ้น มันแล้วกับใจของเรา สำเร็จกับใจของเรา สิ่งทั้งหลายทั้งหมดใจถึงก่อน ใจเป็นรากฐาน ใจเป็นประธาน มันไม่ได้เป็นเพราะอื่น เราปล่อยใจมันอ่อน มันก็อ่อน ต่อไปอย่าให้มันอ่อนนะ ทำใจให้เข้มแข็ง พิจารณาให้หมดที่ได้อธิบายให้ฟังแล้ว สังขารร่างกายอันนี้ไม่ใช่เป็นตัวของเรา ถ้าเป็นตัวของเรามันก็ไม่เป็นไปเพื่อโรคเพื่อภัยน่ะซิ เราอยากหายโรคหายภัยก็ต้องทำใจให้สงบ ถ้าใจเราสงบ โรคภัยทั้งหลายมันก็หายไป เรื่องมันเป็นยังงั้น ถ้าใจไม่สงบแล้ว มันไปก่อกรรมก่อเวรอยู่งั้น ก่อภัยอยู่ยังงั้น มันก็ไม่หมดซักที ความจะหมดภัยเกิดเพราะจิตของเราไม่มีภัย จะหมดกรรมเพราะจิตของเราไม่มีกรรม จะหมดความชั่วก็เพราะใจของเราไม่มีความชั่ว จะหมดทุกข์ก็เพราะจิตเราไม่ทุกข์ แน่ะ เป็นยังงั้น มันหมดตรงนี้ คือจิตของเราไม่ทุกข์แล้วจะเอาอะไรมาทุกข์ล่ะ จิตของเราไม่ชั่วจะเอาความชั่วมาจากไหนล่ะ มันก็ไม่มีน่ะซี่


    ต่อไปต่างคนต่างทำ พิจารณาให้มันรู้มันเห็น อย่างนี้จึงเรียกว่าฟังธรรม ธรรมทั้งหลายทั้งหมดใครเป็นผู้ทำให้เรา ไม่มีใครทำให้ เราทำเอง นี่เรามาอยู่อย่างนี้เป็นที่วิเวกที่สงบภัยทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงต้องฟังดู ไม่มีใครเรียกร้องเราไปเอาซักอย่าง เขาไม่ได้บอกให้เราไปทำอะไรซักอย่าง บาปกรรมทั้งหลาย สุขทุกข์ทั้งหลาย ความดีความชั่วทั้งหลาย เราเป็นผู้ทำเอาเอง


    นี่แหละพิจารณาดู เราว่ามาไกลจากบ้านจากเมืองนั้นคิดดูแล้วมันไม่ไกล มันอยู่แค่ดวงใจของเรานี่เอง บ้านก็ดีเมืองก็ดี อะไร ๆ ก็ดีมันอยู่ในใจของเรานี่แหละ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนให้มาแก้ที่ดวงใจทั้งหมด เมื่อดวงใจไม่มีอะไรแล้ว สิ่งทั้งหลายมันก็หมดไป ข้อนี้แหละให้หมั่นพิจารณา ที่พึ่งของเรา ที่อยู่ของเรา ที่อาศัยของเราอยู่ที่ไหน ทำไมเราจึงทุกข์จึงยากต้องพากันบ่น สิ่งทั้งหลายเขาไม่ได้ทุกข์ไม่ได้ยาก มันยากที่หัวใจเท่านี้ ว่ามันจน สิ่งทั้งหลายไม่ได้จน มันจนที่ดวงใจเท่านี้ ไม่ได้จนที่อื่น


    พอดวงใจจนแล้วละก็จนหมด ทรัพย์สมบัติทั้งหลายมันก็เป็นอย่างนั้น


    ถ้าดวงใจเราไม่จนก็ไม่มีอะไรจน ถ้าดวงใจไม่ทุกข์ก็ไม่มีอะไรทุกข์ ถ้าดวงใจไม่ยากก็ไม่มีอะไรยาก เรื่องมันเป็นยังงั้น สิ่งทั้งหลายเขายากอะไร๊ เขาไม่ได้ว่าอะไร เขาไม่ทุกข์ไม่ยากอะไรซักอย่าง เขาเฉย ๆ อยู่หมด เงินทองเขาก็ไม่ได้บอกเราไปเอาเขา เขาไม่ได้บอกเราไปเที่ยวหา ข้าวน้ำโภชนาหารเขาก็ไม่ได้บอกให้เรารับประทาน เขาบอกไหมล่ะ ข้าวน่ะ เขาว่าหรือว่าพวกเธอไม่รับประทานฉัน ฉันจะไปตีปากนะ ข้าวเขาเฉย ๆ ไม่ใช่เรอะ เงินนี่เขาบอกหรือว่าเธอไม่เก็บฉันจะตีมือนะ เขาไม่ได้ว่า เขาอยู่เฉย ๆ ทิ้งตากแดดตากฝนเขาก็อยู่อย่างนั้นแหละ เรื่องมันเป็นยังงั้น แต่เราอยากได้มันเองหรอก อยากได้เราก็เป็นผู้หมั่นผู้ขยันซี่ ใจมีความสุข ใจมีความสบายซี่


    เมื่อใจมีความสุขความสบาย สิ่งทั้งหลายมันก็สบายนะ เรื่องสำคัญมันเป็นอย่างงั้น หายเมื่อยหรือยังล่ะ จะนอนก็นอนเพ่งดูหัวใจจนหลับ ใจมีพุทโธแล้วเป็นใหญ่กว่าเขาหมด ใหญ่กว่าพระอินทร์พระพรหม เทวบุตร เทวดา ยักษ์ กุมพน กุมภัณฑ์ พญาครุฑ พญานาค พุทโธนี่ของเล็กน้อยเมื่อไหร่ล่ะ ใจเราเป็นใหญ่กว่าทั้งหมดล่ะนะ เรื่องเป็นอย่างนั้น เข้าใจไหมล่ะ เอ้าเลิกกันได้


    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_phun/lp-phun_02.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...