มงคลยอดชีวิตข้อ ๕ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา - ความมีบุญบารมีมาก่อน

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( พิมพ์ ธมฺมธโร)[/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร[/SIZE]</td> </tr> </tbody></table>

    <center> มงคลยอดชีวิตข้อ ๕ </center>
    <center> ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา - ความมีบุญบารมีมาก่อน </center> เชิญดูอัตภาพมนุษย์เถิด เมื่อเราดูแล้วจะเห็นส่วนสมประกอบ และส่วนไม่สมประกอบ นี่ส่วนสมประกอบ ที่เป็นผลของบุญบารมีในอดีต นั่นส่วนไม่สมประกอบ ซึ่งเป็นผลของบาปกรรมในอดีต ดูอีกทีท่าน แม้ส่วนที่สมประกอบแล้ว ก็ยังมีส่วนดีเลวกว่ากัน นั่นอยู่ที่การบำเพ็ญบุญบารมียิ่งหย่อนกว่ากัน
    ความมีบุญบารมีมาก่อนนี้ เรียกตามภาษาบาลีว่า "ปุพฺเพ กตปุญฺญตา" โดยพยัญชนะว่า"ความมีบุญได้ทำไว้ก่อน" โดยอรรถว่า "ความมีบุญบารมีมาก่อน" มาเถิด เรามาทำความเข้าใจในระยะกาลก่อน ซึ่งมีอยู่ ๒ ระยะ คือกาลก่อนระยะใกล้ กับกาลก่อนระยะไกล
    วันเดือนปีเกิดของแต่ละคนในชาติปัจจุบัน ที่ล่วงมาจนถึงวันวานนี้ จัดเป็นกาลก่อนระยะใกล้ ผู้เกิดมาแต่ละคนพอรู้เดียงสาก็เริ่มทำความดี เช่นเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย เชื่อถ้อยฟังคำของพ่อแม่ มีกตัญญูรู้คุณของท่าน และตั้งใจบำเพ็ญทานรักษาศีลเจริญภาวนา ถือปฏิบัติเป็นอาจิณวัตรมาจนถึง วันวานนี้ นี่ชื่อว่าผู้มีบุญบารมีมาก่อนในชาติปัจจุบัน
    วันเดือนปีเกิดในชาติอดีต นับแต่ปีเกิดในชาติปัจจุบันถอยหลังกลับไป จัดเป็นกาลก่อนระยะไกล ผู้บำเพ็ญบุญบารมีไว้ในชาติอดีต มาหลายชาติหรือแม้เพียงหนึ่งชาติ นี่ชื่อว่าผู้มีบุญบารมีมาก่อน ในชาติอดีตและบุญบารมีนี้มิใช่อะไรอื่น ก็คือบารมีนั่นเอง ดูเถิด เจ้าชายสิทธัตถะโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญบารมีมาหลายชาติเมื่อลุถึงชาติสุดท้ายอาศัยบารมีที่แก่กล้าเข้า สนับสนุน จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมบัญญัติพระวินัยและตั้งพระศาสนาไว้ให้เราปฏิบัติกันอยู่ทุก วันนี้ นี่ก็คือ พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีมาก่อนนั่นเอง เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นในมงคลข้อนี้ จะตั้งประเด็นให้ศึกษา ๓ ประการ คือ
    - บุญบารมี
    - บำเพ็ญบุญบารมี
    - อานิสงฆ์ของบุญบารมี
    - บุญบารมี ก่อนอื่นเราควรทราบต้นเหตุเกิดของบุญบารมีและบาปดังต่อไปนี้ ตามทรรศนะทางศาสนาว่า มีธาตุกายสิทธิ์ชนิดหนึ่งสิงอยู่ในตัวเราทุกคน ซึ่งมีลักษณะพิเศษรู้อยู่ในตัวเอง เรียกว่า มโนธาตุแปลว่าธาตุรู้ และธาตุรู้นั้นสามารถนึกคิดได้ จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่าจิต แปลว่าผู้คิด คิดทั้งดี คิดทั้งชั่ว จิตนี่เองคือต้นเหตุเกิดของบุญบารมีและบาป
    จิตที่มีกิเลสเป็นแรงส่งอยู่ เมื่อร่างกายแตกสลายแล้ว ได้ออกจากร่างเก่าเข้าสู่ร่างใหม่ ท่านเรียกอาการที่จิตท่องเที่ยวไปสู่ร่างใหม่นั้นว่า "สงสาร" แปลว่า "ท่องเที่ยวไป" ซึ่งเราใช้พูดกันว่าวัฏฏสงสาร มีคำพระยืนยันการท่องเที่ยว หรือเวียนว่ายตายเกิดของจิตอยู่มาก เช่นคำว่า "อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ คหการํ คเวสนฺโต" แปลว่า "เมื่อเรา(คือจิต)ยังไม่พบญาณ มัวแสวงหาเจ้าตัณหา นายช่างทำเรือนอยู่ ต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดนับชาติไม่ถ้วน"
    เมื่อจิตคิดดีคิดชั่วมากเข้า ย่อมมุ่งหมายจะให้ปรากฎพฤติกรรมขึ้นทางกิริยาวาจา จึงสั่งกาย วาจาให้ทำให้พูด ปรากฎผลดีชั่วขึ้นตามที่จิตคิด และจิตเป็นผู้เก็บดีเก็บชั่วไว้ในตัวเอง เหมือนเม็ด มะม่วงเก็บรากลำต้นกิ่งและใบไว้ในเม็ดมันเอง ความดีของกายวาจาและจิตที่จิตเก็บสะสมไว้ เรียกว่า บุญความดีของกายวาจาและจิตที่สามารถดับทุกข์ในสังสารวัฏ ให้สงบระงับจนหมดเชื้อสิ้นไป และส่ง ให้ผู้บำเพ็ญได้เสวยมนุษยสมบัติสวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ จัดเป็นบารมี ส่วนความชั่วของกายวาจาและจิตที่จิตเก็บสะสมไว้นั้น เรียกว่าบาป บุญและบารมีนี้ แม้จะต่างกันโดยรูปศัพท์ แต่ก็เป็นอย่างเดียวกันโดยใจความ จึงรวมเรียกว่าบุญบารมี
    - บำเพ็ญบุญบารมี พึงทราบว่า บุญบารมีนี้ก็คือบารมี ๑๐ ประการนั่นเอง ในอรรถกถา จริยาปิฎกตอนท้าย ท่านจำแนกกฎเกณฑ์แห่งบารมี ๑๐ ไว้แต่ละประการเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นสามัญ เรียกว่าบารมีชั้นกลางเรียกว่าอุปบารมี ชั้นสูงเรียกว่าปรมัตถบารมี รวมเป็นบารมีสามสิบทัศ ใน บารมี ๓ ชั้นนั้น ท่านแสดงมติไว้หลายมติ แต่จะถือนัยแห่งมติบางมติมาบรรยาย พอให้เป็นแนวทาง ปฏิบัติดังต่อไปนี้
    ๑. ทาน เจตนาเสียสละ ส่งเสริมให้ผู้บำเพ็ญมีอัธยาศัยกว้างใหญ่ ดุจจับหม้อเต็มด้วยน้ำคว่ำปากลงให้น้ำไหลออกไปโดยไม่เหลือ ด้วยตั้งใจสละทรัพย์สินของตน ให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ไม่ เห็นแก่ตัวจนเกินส่วน รู้จักสละในคราวควรสละ เพื่อยึดเหนี่ยวไมตรีจิตมิตรภาพ และความสามัคคี ระหว่างหมู่คณะให้มั่นคงตลอดถึงช่วยชาติศาสนาตามกำลังของตน เรียกว่าทาน แบ่งทานออกตาม เจตนาเสียสละเป็น ๓ ชั้น
    ก. ทานบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย อบรมเจตนาเสียสละให้แก่กล้าขึ้น ถึงขนาดที่เมื่อคนต้องการทรัพย์สินก็ยินดีสละ ไม่เห็นแก่คนที่รักจะขัดขวาง หรือทรัพย์สินจะสิ้นเปลือง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เขา หรือ เพื่อปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากทุกข์ พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ครั้งเป็นพราหมณ์มหาโควินท์ ว่า
    "ฉันจะเกลียดชังทรัพย์สินและข้าวเปลือกก็หาไม่ และฉันจะไม่มีการสั่งสมก็หาไม่ แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของฉัน ดังนั้น ฉันจึงให้ทานอย่างดี"
    ข. ทานอุปบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าร่างกายของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย อบรมเจตนาเสียสละให้แก่กล้าขึ้น ถึงขนาดที่เมื่อมีผู้ต้องการเลือดในร่างกายของตนไปเพิ่มเลือดคนไข้ หรือเนื้อบางส่วนและแม้ดวงตา ไปเปลี่ยนเนื้อหรือดวงตาคนไข้ที่เสียให้กลับดีดังเดิม ก็ยินดีสละให้เป็นประโยชน์แก่เขา หรือปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากทุกข์ พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่า อดีตจริยา ครั้งเป็นพระเจ้าสีวิราช ว่า
    "ดวงตาทั้งสองของฉัน หาเป็นสิ่งน่าเกลียดชังไม่ แม้ตนของฉันก็หาเป็นสิ่งน่าเกลียดชังมิได้ แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของฉัน ดังนั้นฉันจึงให้ดวงตา (แก่ผู้ต้องการ)"
    ค. ทานปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย อบรมเจตนาเสียสละให้แก่กล้าขึ้น ถึงขนาดที่เมื่อหากผู้มีต้องการชีวิตของตนแล้ว ก็ยินดีสละให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เขา หรือปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากทุกข์ พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ครั้งเป็นกระต่ายบัณฑิต ว่า
    "ฉันได้ให้สกลกายทั้งผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก หัวใจ และ ไส้พุงแก่พราหมณ์
    ๒. ศีล เจตนางดเว้น สนับสนุนผู้บำเพ็ญให้มีอัธยาศัยชอบทำแก่คนอื่น เหมือนกับตนต้องการให้เขาทำแก่ตน ตั้งใจงดเว้นโทษน้อยใหญ่ มุ่งมั่นรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เหมือนจามรีรักษาขนหางให้ไม่ ขาดไปแม้แต่เพียงเส้นเดียว เรียกว่าศีล แบ่งศีลออกตามเจตนางดเว้นเป็น ๓ ชั้น คือ
    ก. ศีลบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย อบรมเจตนางดเว้นให้แก่กล้าขึ้น ถึงขนาดที่ไม่ยอมล่วงศีล เพราะเห็นแก่คนที่รัก และทรัพย์สินคอยระวังโทษน้อยใหญ่ให้ไม่มากล้ำกรายตน พึงเห็นในโบราณภาษิตว่า
    "ผู้รักษาศีลต้องรักศีลอย่างจริงใจ มีความเคารพในศีลทุกเมื่อ เหมือนนกต้อยตีวิดรักษาไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหาง เหมือนมารดารักษาลูกที่รัก หรือประดุจคนตาบอดข้างหนึ่งรักษานัยน์ตา ข้างที่ยังดีอยู่
    ข. ศีลอุปบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย อบรมเจตนางดเว้นให้แก่กล้าขึ้น ถึงขนาดที่ไม่ยอมล่วงศีล เพราะเห็นแก่ร่างกายของตน คอยระวังโทษน้อยใหญ่ไม่ให้มากล้ำกรายตน พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ครั้งเป็นพระยานาคจัมเปยยกะว่า
    "ร่างกายของฉันจงแตกกระจัดกระจายอยู่ในที่นี้ เหมือนแกลบ ที่เขาโปรยกระจัดกระจายอยู่ก็ตามที แต่ฉันจะไม่ทำลายศีลเลย
    ค. ศีลปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย อบรมเจตนางดเว้นให้แก่กล้าขึ้น ถึงขนาดที่แม้การรักษาศีลจะมีอันตรายแก่ชีวิตก็ไม่ยอมล่วงศีลเพราะเห็นแก่ ชีวิต ยึดมั่นธรรมภาษิตว่า
    "คนพึงสละทรัพย์สินเพื่อรักษาอวัยวะที่ยังดี เมื่อจะรักษาชีวิต พึงสละอวัยวะเสีย เมื่อนึกถึงธรรมะพึงสละทุกอย่าง ทั้งอวัยวะทรัพย์ สินและแม้ชีวิต"
    ๓. เนกขัมมะ เจตนาที่ปลีกตนออกจากกาม มุ่งต่อกายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก นำให้ผู้ปฏิบัติชอบสงัดจากกิเลสกามและวัตถุกาม มุ่งต่อความหลุดพ้นจากภพเป็นสำคัญ เหมือนนักโทษที่ทนทุกข์ทรมานอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานาน หวังแต่จะพ้นไปถ่ายเดียว เรียกว่า เนกขัมมะ
    กล่าวโดยทั่วไป เนกขัมมะนี้ก็คือสัมมาปฏิบัติ ตั้งแต่ต้นจนถึงพระนิพพาน ดังธรรมภาษิตว่า "บรรพชาปฐมฌาน นิพพาน วิปัสสนาปัญญา และกุศลธรรมทั้งหมด ท่านเรียกว่าเนกขัมมะ" แบ่งเนกขัมมะออกตามเจตนาเป็น ๓ ชั้น คือ
    ก. เนกขัมมบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย พยายามตัดห่วงใยในคนที่รักและทรัพย์สินเสีย ปลีกตนออกหลีกเร้นอบรม กายวิเวกให้สงัดจากกิเลสกามและวัตถุกามเป็นครั้งคราว หรือละเพศออกบวชเป็นบรรพชิต พึงเห็นใน คำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยาครั้งเป็นเจ้าชายโสมนัส ว่า
    "ฉันออกบวชเป็นบรรพชิต จะเกลียดชังราชสมบัติที่ใหญ่ยิ่งก็ หาไม่และจะเกลียดชังกามโภคสมบัติก็หามิได้ แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักยิ่งของฉัน ดังนั้น ฉันจึงสละราชสมบัติ (ออกบวช) เสีย"
    ข. เนกขัมมอุปบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย พยายามตัดห่วงใยในอวัยวะร่างกายของตนเสีย ปลีกตนออกหลีกเว้น อบรมจิตตวิเวกให้สงัดจากกิเลสกามและวัตถุกาม ด้วยอำนาจรูปฌานและอรูปฌาน หรือละเพศออกบวชเป็นบรรพชิต พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ครั้งเป็นเจ้าชายยุธัญชัย ว่า
    "ฉันสละราชสมบัติในแผ่นดิน หมู่ญาติบริวาร และยศศักดิ์ได้ทั้งสิ้นไม่คิดถึงเลย ฉันจะเกลียดชังพระมารดาและพระบิดาก็หาไม่ และจะเกลียดชังยศศักดิ์ที่ใหญ่ยิ่งก็หามิได้ แต่อยู่ที่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของ ฉันดังนั้น ฉันจึงสละราชสมบัติ (ออกบวช)"
    ค. เนกขัมมปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย พยายามตัดห่วงใยในชีวิตของตนเสีย ปลีกตนออกหลีกเร้นอบรมอุปธิวิเวก ให้จิตใจสงัดจากอาสวกิเลส ด้วยอำนาจแห่งอริยมรรคญาณ หรือละเพศออกบวชเป็นบรรพชิต พึงเห็นใน คำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ครั้งเป็นพระเจ้าสุตโสม ว่า
    "ผมหงอกบนเศียรของฉัน ฉันเป็นคนแก่แล้ว ขอลาชาวเมือง มิตรสหายและบริวารออกบวช เพราะชีวิตที่ถูกชราจับไปเป็นของยังน้อย ดุจน้ำน้อยเทลงในโคลน เมื่อชีวิตเป็นของน้อยเช่นนี้ จะประมาทเหมือนจะไม่แก่ไม่ตาย จมอยู่ในโคลนคือกามคุณ ดุจสุกรจมอยู่ในโคลนคือมูตรคูถ เมื่อประมาทแล้วจะบังเกิดในนรก กำเนิดดิรัจฉานหรือเปรตวิสัย เป็นผู้เนื่องด้วยเครื่องผูกคือตัณหา จะบังเกิดในกำเนิดอสุรกาย ฉันจึงสละราชสมบัติออกบวช ทรงกาสาวพัสตร์ไปแต่ผู้เดียว"
    ๔. ปัญญา คุณสมบัติให้อยากรู้อยากเห็นในเหตุผล รบเร้าให้ใฝ่ฝันที่จะไต่ถามผู้รู้อยู่ทุกโอกาสกระตุ้นให้ฝึกฝนอบรมตนเป็นผู้ ตื่น เกิดความรู้เท่าถึงเหตุเจริญเหตุเสื่อม หยั่งรู้เห็นอุบายนำตน และคนอื่นให้เจริญก้าวหน้า และให้หลีกจากทางเสื่อมทางงมงาย เรียกว่าปัญญา แบ่งปัญญาออกตาม เจตนาเป็น ๓ ชั้น คือ
    ก. ปัญญาบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย เป็นผู้หนักในเหตุผล จะทำอะไรต้องขจัดความเห็นแก่ตัวหรือเข้าข้างตัว ถอน ความห่วงใยในคนที่รักและทรัพย์สิน ตั้งหน้าทำประโยชน์ใหญ่ พิจารณาเหตุการณ์หรืออรรถคดีที่เกิดขึ้น ค้นหาเหตุผลข้อเท็จจริงโดยรอบคอบ ช่วยคนอื่นให้ได้รับประโยชน์ตามส่วนที่ควรได้ และปลด เปลื้องเขาให้พ้นจากโทษทุกข์
    ข. ปัญญาอุปบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย เป็นผู้หนักในเหตุผล จะทำอะไรต้องขจัดความเห็นแก่ตัวหรือเข้าข้างตัว ถอนความห่วงใยในอวัยวะร่างกายของตน ตั้งหน้าทำประโยชน์ใหญ่ พิจารณาเหตุการณ์หรืออรรถคดีที่เกิด ขึ้นค้นหาเหตุผลข้อเท็จจริงโดยรอบคอบ ช่วยคนอื่นให้ได้รับประโยชน์ตามส่วนที่ควรได้ และปลด เปลื้องเขาให้พ้นจากโทษทุกข์
    ค. ปัญญาปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย เป็นผู้หนักในเหตุผล จะทำอะไรต้องขจัดความเห็นแก่ตัวหรือเข้าข้างตัว ถอนความห่วงใยในชีวิตของตน ตั้งหน้าทำประโยชน์ใหญ่ พิจารณาเหตุการณ์หรืออรรถคดีที่เกิดขึ้น ค้นหาเหตุผลข้อเท็จจริงโดยรอบคอบ ช่วยคนอื่นให้ได้รับประโยชน์ตามส่วนที่ควรได้ และปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากโทษทุกข์ พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยาว่า
    "ปัญญาในภพที่ฉันเป็นวิธูรบัณฑิต และสุริยพราหมณ์มาตังคะนั้น เป็นปัญญาบารมี ปัญญาในภพที่ฉันเป็นมโหสถ ผู้เป็นทรัพย์ของรัฐนั้น เป็นปัญญาอุปบารมี ปัญญาในภพที่ฉันเป็นพระราชา ผู้มีศีลมีความเพียร เป็นผู้ก่อให้เกิดสัตตุภัสตชาดกนั้น เป็นปัญญาปรมัตถบารมี"
    ๕. วิริยะ คุณสมบัติที่ทำให้กล้า กล้าระวังความชั่วไม่ให้เข้ามากล้ำกรายตน กล้าสละละทิ้งความชั่วเก่าในตัวให้หมดสิ้น กล้าทำความดีใหม่ที่ยังไม่มีให้มีขึ้น และกล้ารักษาความดีเก่าไว้เหมือนเกลือรักษาความเค็ม เรียกว่าวิริยะ แบ่งวิริยะออกตามเจตนาเป็น ๓ ชั้น คือ
    ก. วิริยบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยกล้าได้กล้าเสียกล้าตัดความห่วงใยในคนที่รักและทรัพย์สิน ตั้งอุตสาหะบากบั่นมั่นคงทำการที่ยากที่หนักที่ใหญ่ พยายามหาอุบายเพียรระวังความชั่ว เพียรสละละทิ้งความชั่ว เพียรทำความดี และเพียรรักษาความดีไว้ ไม่ย่อหย่อนกับการทำ ไม่อ่อนแอกับความลำบาก ไม่ท้อแท้ กับความยากที่ติดขัด
    วิริยบารมีเป็นคุณสมบัติ ให้ผู้บำเพ็ญบรรลุผลได้สมประสงค์จำนงหมาย พึงเห็นในมหากปิชาดก ซึ่งท่านพรรณนาคุณแห่งวิริยบารมีของพญากระบี่ว่า สามารถช่วยพราหมณ์ผู้ตกเหว ให้พ้นจากการทรมานในเหว
    ข. วิริยอุปบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายแห่งตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยกล้าได้กล้าเสีย กล้าตัดความห่วงใยในอวัยวะร่างกายของตน ตั้งอุตสาหะบากบั่นทำการที่ยากที่หนักที่ใหญ่ พยายามหาอุบายเพียรระวังความขั่ว เพียรสละละทิ้งความชั่ว เพียรทำความดี และเพียรรักษาความดีไว้ ไม่ย่อหย่อนกับการทำ ไม่อ่อนแอกับความลำบาก ไม่ท้อ ถอยกับความยากที่ติดขัด
    วิริยอุปบารมีนี้ เป็นคุณสมบัติให้ผู้บำเพ็ญบรรลุผลได้สมประสงค์จำนงหมาย พึงเห็นในมหาสีลวชาดก ที่ท่านพรรณนาคุณแห่งวิริยอุปบารมีของพระเจ้ามหาสีลวราชว่า สามารถช่วยท้าวเธอและหมู่อำมาตย์ให้รอดชีวิตกลับมา ได้รับราชสมบัติและความสุขตามเดิมทุกประการ
    ค. วิริยปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยกล้าได้กล้าเสีย กล้าตัดความห่วงใยในชีวิตของตน ตั้งอุตสาหะบากบั่นมั่น คงทำการที่ยากที่หนักที่ใหญ่ พยายามหาอุบายเพียรระวังความชั่ว เพียรสละละทิ้งความชั่ว เพียรทำความดี และเพียรรักษาความดีไว้ ไม่ย่อหย่อนกับการทำ ไม่อ่อนแอกับความลำบาก ไม่ท้อถอยกับ ความยากที่ติดขัด
    วิริยปรมัตถบารมีนี้ เป็นคุณสมบัติให้ผู้บำเพ็ญบรรลุผลได้สมประสงค์จำนงหมาย พึงเห็นในมหาชนกชาดก ที่ท่านพรรณนาคุณแห่งวิริยปรมัตถบารมีของพระเจ้ามหาชนกว่า สามารถช่วยกู้ท้าวเธอขึ้นจากทะเลหลวง และให้ได้ราชสมบัติ ตลอดถึงทรงบรรพชา บรรลุสมาบัติ ซึ่งนับว่าเป็นผลชั้นสูง
    ๖. ขันติ คุณสมบัติคือความเป็นนักต่อสู้ หันหน้าเข้าต่อต้านเหตุการณ์ ทั้งภายในและภายนอก ที่จะเป็นอันตรายแก่การบำเพ็ญ แม้นจะยากจะหนักจะใหญ่โตขนาดไหน ก็สู้อดสู้ทนไม่ยอมถอยหลังล้มเลิก คงยืนหยัดยึดมั่นความทนทานเป็นชีวิตจิตใจ เรียกว่าขันติ แบ่งขันติออกตามเจตนาเป็น ๓ ชั้น คือ
    ก. ขันติบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยเป็นนักสู้ เมื่อมีคนเบียดเบียนคนที่รักหรือทรัพย์สิน ซึ่งอาจทำให้การบำเพ็ญ ชะงักงันได้ ก็สู้อดสู้ทนแก้ไขด้วยขันติวิธี ไม่ยอมวู่วามให้ความโกรธขัดเคืองเคียดแค้นเข้าครองใจ คงมีขันติโสรัจจะเป็นกำลังบำรุงน้ำใจให้ชื่นแช่มแจ่มใสอยู่ตามเดิม อดีตจริยาเกี่ยวกับการบำเพ็ญขันติ บารมีนี้ พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าว่า "ขันติในภพที่ฉันเป็นธรรมปาลกุมาร เป็นขันติบารมี"
    ข. ขันติอุปบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยเป็นนักสู้ เมื่อมีคนมาเบียดเบียนอวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ชึ่งอาจทำให้การบำเพ็ญชะงักงันได้ ก็สู้อดสู้ทนแก้ไขด้วยขันติวิธี ไม่ยอมล้มเลิกและไม่โกรธขัดเคืองเคียด แค้นโต้ตอบ คงมีขันติโสรัจจะเป็นกำลังบำรุงน้ำใจให้ชื่นแช่มแจ่มใสอยู่ตามเดิม อดีตจริยาเกี่ยวกับ การบำเพ็ญขันติอุปบารมีนี้ พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าว่า "ขันติในภพที่ฉันเป็นธรรมิกเทพบุตร ทำสงครามกับอธรรมิกเทพบุตรเป็นขันติอุปบารมี"
    ค. ขันติปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยเป็นนักสู้ แม้นเมื่อมีคนมาเบียดเบียนชีวิตของตน ก็ไม่สะดุ้งหวาดกลัว และไม่โกรธขุ่นเคืองเคียดแค้นต่อเขา คงมีขันติโสรัจจะเป็นกำลังบำรุงน้ำใจให้ชื่นแช่มแจ่มใสอยู่ตามเดิม อดีตจริยาเกี่ยวกับการบำเพ็ญขันติปรมัตถบารมีนี้ พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าว่า "ขันติในภพที่ฉันเป็น ขันติวาทีดาบส แสวงหาพุทธภูมิด้วยการบำเพ็ญขันติบารมี ทำกรรมที่ทำได้ยากไว้เป็นอันมาก เป็น ขันติปรมัตถบารมี"
    ๗. สัจจะ คุณสมบัติที่ทำให้เป็นคนจริงเด็ดเดี่ยว จริงอย่างคงเส้นคงวา ไม่กลับกลอกโลเล ตกลงใจแล้วไม่เลิก ลงมือทำแล้วไม่ทอดทิ้ง พูดแล้วไม่คืนคำ นับเป็นอาการไม่เพลี่ยงพล้ำในพฤติการณ์ทุกอย่าง ดุจดาวประจำรุ่งไม่คลาดจากวิถี เที่ยงตรงคงที่อยู่ทุกสมัยและฤดูกาล เรียกว่าสัจจะ แบ่งสัจจะออกตามเจตนาเป็น๓ ชั้น คือ
    ก. สัจจบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย แม้นจะมีอันตรายมาเบียดเบียนคนที่รักหรือทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจพา ให้ใช้กโลบายเล่ห์กะเท่ และเงื่อนงำอำพราง ถึงกับต้องเสียสัตย์ได้ ก็ไม่ยอมเสียสัตย์เพราะเห็นแก่คน ที่รักหรือทรัพย์สิน พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ครั้งเป็นพญาปลาว่า
    "ฉันอยู่ในสระใหญ่น้ำแห้งขอด เพราะแสงแดดเผาในฤดูร้อน ฝูงกาและนกมารอคอยจับกินปลา ฉันกับหมู่ญาติถูกบีบคั้น จึงได้ทำสัจจกิริยาว่า ตั้งแต่ฉันรู้ความมาจนบัดนี้ ไม่รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียน สัตว์เลย ด้วยสัจจวาจานี้ขอฝนห่าใหญ่จงตก จงเปล่งสายฟ้าคำรามให้ฝนตก ทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศ ให้กาต้องเดือดร้อนด้วยความโศกปลดเปลื้องฝูงปลาจากความโศกเถิด พร้อมกับฉันทำสัจจกิริยานี่เอง เมฆส่งเสียงสนั่นครั่นครื้นยัง ฝนให้ตกลงครู่เดียว เต็มเปี่ยมทั้งที่ลุ่มและที่ดอน เมื่อฉันทำความสัตย์ อาศัยอานุภาพของความสัตย์เห็นปานนี้ จึงยังฝนให้ตกห่าใหญ่ ผู้เสมอฉันด้วยความสัตย์เป็นไม่มี นี่คือสัจจบารมีของฉัน
    ข. สัจจอุปบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน มุ่งต่อ พระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยหนักแน่นมั่นคง แม้นจะมีอันตรายมาเบียดเบียนอวัยวะร่างกาย ส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจชักให้ใช้กโลบายเล่ห์กะเท่ และเงื่อนงำอำพราง ถึงกับเสียสัตย์ได้ ก็ไม่ยอม เสียสัตย์เพราะเห็นแก่อวัยวะร่างกายของตน พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ว่า
    "ครั้งฉันเป็นพญาวานร อยู่ที่ซอกเขาใกล้ฝั่งแม่น้ำ ถูกจระเข้เบียดเบียนไปไม่ได้ จระเข้มาอยู่ที่ที่ฉันเคยยืนอยู่ โดดจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้น มันบอกฉันว่ามาซิ แม้ฉันก็บอกมันว่าจะไปและโดดลงเหยียบ ศีรษะมัน แล้วโดดไปยืนอยู่ที่ฝั่งโน้น ฉันไม่ทำตามคำหลอกลวงของมันหามิได้ ผู้เสมอฉันด้วยความสัตย์เป็นไม่มี นี่คือสัจจ(อุป)บารมี ของฉัน"
    ค. สัจจปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยหนักแน่นแน่นอน แม้นจะมีอันตรายเกิดขึ้นแก่ชีวิต ซึ่งอาจนำให้ใช้กโลบาย เล่ห์กะเท่และเงื่อนงำอำพราง ถึงกับจะทำลายสัตย์ได้ ก็ไม่ยอมเสียสัตย์เพราะเห็นแก่ชีวิต ถือว่าเสียชีพ ดีกว่าเสียสัตย์ ยอมเอาชีวิตแบกความสัตย์เข้าเผชิญกับมรณภัย พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ครั้งเป็นพระเจ้าสุตโสมถูกจับ ว่า
    "ฉันยอมรักษาสัจจวาจา ยอมสละชีวิต เข้าไปหาพระยาโปริสาท ผู้เสมอฉันด้วยความสัตย์เป็นไม่มี นี่คือสัจจปรมัตถบารมี ของฉัน"
    ๘. อธิษฐาน คุณสมบัติที่ทำให้ใจตั้งมั่น ยึดเอาการทำความดีเป็นจุดแน่นอน เมื่อลงมือทำกรณียกิจอันใด จะยากง่ายหนักเบาหรือใหญ่น้อย ไม่ยอมให้ล้มเลิกลงกลางคัน มุ่งความสำเร็จแห่งกรณียกิจนั้นเป็นสำคัญ มั่นคงดุจภูเขาหินแท่งทึบ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในฐานของมัน ไม่โยกคลอนหรือ สะเทือนด้วยลมกล้า นี่เรียกว่าอธิษฐาน แบ่งอธิษฐานออกตามเจตนาเป็น ๓ ชั้น คือ
    ก. อธิษฐานบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยมั่นคง หากจะมีอันตรายเกิดขึ้นแก่คนที่รักหรือทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ถอนความตั้งใจเสีย ก็ไม่ยอมถอนคงยึดมั่นในความดีที่ตั้งใจบำเพ็ญนั้น เป็นอันว่าอธิษฐานบารมีนี้สนับสนุนผู้บำเพ็ญให้มั่นในความดีที่ทำ อย่างไม่มีการล้มเลิกเพิกถอนได้เลย
    ข. อธิษฐานอุปบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยมั่นคง แม้นจะมีอันตรายเกิดขึ้นแก่อวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ถอนความตั้งใจได้ ก็ไม่ยอมถอน คงยึดมั่นในความดีที่ตั้งใจบำเพ็ญนั้น พึงทราบว่า อธิษฐานบารมีในภพที่พระพุทธองค์เป็นมาตังคชฎิลและช้างมาตังคะ เป็นอธิษฐานอุปบารมี
    ค. อธิษฐานปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีนิสัยมั่นคง แม้นจะมีอันตรายแก่ชีวิต ก็ยอมสละชีวิต ไม่ยอมถอนความตั้งใจ คงยึดมั่นในความดีที่ตั้งใจบำเพ็ญนั้น พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ครั้งเป็นเจ้าชายเตมิยะ ว่า
    "ฉันถูกคุกคามให้ทำลายอธิษฐานที่ตั้งไว้ ด้วยอุบายต่างๆ ถึงต้องจะขุดหลุมฝังฉันเสียในแผ่นดิน แต่ฉันก็ไม่ยอมทำลายอธิษฐาน ที่ตั้งไว้นั้น ฉันจะเกลียดชังพระมารดาและพระบิดาก็หาไม่ และฉันเกลียดชังตัวเองก็หาไม่ แต่ว่าพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของฉัน ฉันจึงทำเป็นคนใบ้คนหนวกและง่อยเปลี้ยอยู่ถึง ๑๖ ปี ผู้เสมอฉันด้วยอธิษฐานเป็นไม่มี นี่คืออธิษฐานปรมัตถบารมีของฉัน
    ๙. เมตตา คุณสมบัติเครื่องหล่อเลี้ยงน้ำใจ ให้หวังดีต่อคนอื่น ปรารถนาความสุขความเจริญแก่คนอื่นโดยสม่ำเสมอ แม้เขาจะเป็นผู้เกื้อกูลแก่ตนหรือไม่ก็ตาม ตั้งตนไว้ประหนึ่งน้ำใสเย็นสะอาด ซึ่งคนดีคนชั่วใช้อาบและดื่มได้ทั่วกัน นี่เรียกว่าเมตตา แบ่งเมตตาออกตามเจตนาเป็น ๓ ชั้น คือ
    ก. เมตตาบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีเมตตาเป็นปุเรจาริก คือมีเมตตานำหน้า หากจะมีคนมาเบียดเบียนคนที่รัก หรือทรัพย์สินก็ไม่ถือโทษโกรธเขา หาอุบายแก้ไขด้วยเมตตาวิธี คงมีเมตตาเปี่ยมอยู่ในใจ ถือหลักว่า เมื่อแรงถือโทษโกรธเขาไม่มี แรงเบียดเบียนของเขาก็จะผ่อนเบาลง ไม่มีอำนาจสู้กับแรงเมตตาได้
    ข. เมตตาอุปบารมี ผู้บำเพ็ญ่รักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีเมตตาเป็นปุเรจาริก หากจะมีคนมาทำร้ายร่างกายตน ก็ไม่ถือโทษโกรธเขา คงมีเมตตาเปี่ยมอยู่ในใจ และหาอุบายแก้ไขด้วยเมตตาวิธี ไม่ต้องผูกพยาบาทจองเวรเขา ถือหลักว่า เมื่อแรงถือโทษโกรธตอบเขาไม่มี แรงการทำร้ายของเขาก็จะอ่อนลง ไม่มีอำนาจสู้กับแรงเมตตาได้
    ค. เมตตาปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีเมตตาเป็นปุรจาริก แม้จะมีผู้มุ่งร้ายหมายปลิดชีวิต ก็ไม่สะดุ้งหวาดกลัวและไม่มุ่งร้ายตอบ คงมีเมตตาเปี่ยมอยู่ในใจ ยอมพลีชีวิตเพื่อการบำเพ็ญความดี และเพื่อให้เขามีชีวิตอยู่เป็นสุข พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ครั้งเป็นสุวรรณสามดาบส ว่า
    "ฉันอยู่กับราชสีห์และเสือโคร่งในป่าใหญ่ได้ด้วยเมตตา แต่ละฝ่ายต่างน้อมเมตตาเข้าหากัน บรรดาสัตว์ไรๆคือราชสีห์เสือโคร่งเสือเหลืองหมีกระบือกวางดาวและหมู อยู่ในป่ามิได้สะดุ้งกลัวฉัน แม้ฉันก็มิได้สะดุ้งหวาดกลัวสัตว์เหล่านั้น เพราะฉันมีกำลังเมตตาค้ำจุน จึงยินดีร่าเริงอยู่เป็นเพื่อนกับหมู่สัตว์ในป่านั้นได้
    ๑๐. อุเบกขา คุณสมบัติทำใจให้มัธยัสถ์ คือตั้งอยู่ในท่ามกลางเพิกเฉยคงที่ในสุขและทุกข์ ไม่ยินดียินร้ายเพราะคำชมและคำติของใครๆ วางตนเป็นเหมือนแผ่นดิน ที่คนเทของสะอาดและของ โสโครกลงรด มุ่งปรารภกรรมของเขาเป็นอารมณ์ นี่เรียกว่าอุเบกขา แบ่งอุเบกขาออกตามเจตนาเป็น ๓ ชั้น คือ
    ก. อุเบกขาบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีใจมัธยัสถ์ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา เมื่อมีผู้เกื้อกูลหรือตัดรอนคนที่รักหรือทรัพย์สิน ก็คงมีใจมัธยัสถ์อยู่ตามเดิม ไม่ยินดีหรือยินร้ายต่อการกระทำของเขา ใช้อุบายส่งใจไปพิจารณากรรมดีและกรรมชั่วของเขา แทนยินดีและยินร้ายต่อการกระทำนั้นเสีย
    ข. อุเบกขาอุปบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีใจมัธยัสถ์ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา เมื่อมีผู้เกื้อกูลหรือทำร้ายต่อร่างกายตน ก็คงมีใจมัธยัสถ์อยู่ตามเดิม ไม่ยินดีหรือยินร้ายต่อการกระทำของเขา ใช้อุบายส่งใจไปพิจารณากรรม ดีและกรรมชั่วของเขาแทนยินดีและยินร้ายต่อการกระทำนั้นเสีย
    ค. อุเบกขาปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน มุ่งต่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีใจมัธยัสถ์ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา แม้เมื่อมีผู้เกื้อกูลหรือทำร้ายต่อชีวิต ก็คงมีใจมัธยัสถ์อยู่ตามเดิม ไม่ยินดีหรือยินร้ายต่อพฤติกรรมของเขา ใช้อุบายส่งใจไปพิจารณากรรมดีและกรรมชั่วของเขา แทนยินดีและยินร้ายต่อพฤติกรรมนั้นเสีย พึงเห็นในคำพระที่ตรัสเล่าอดีตจริยา ครั้ง เป็นมหาโลมหังสบัณฑิต ว่า
    "พวกใดให้ทุกข์แก่ฉัน และพวกใดให้สุขแก่ฉัน ฉันมีจิตใจ เสมอในเขาทั้งหมดเหล่านั้น ฉันไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความโกรธ ฉันมีจิตใจมัธยัสถ์ในสุขและทุกข์ ในยศ เสื่อมยศ และชมหรือติ เป็นผู้มีจิตใจสม่ำเสมอในสิ่งทั้งปวง นี่คืออุเบกขาบารมีของฉัน
    บารมี ๑๐ ซึ่งแต่ละประการแบ่งออกเป็น บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี รวมเป็นบารมีสามสิบทัศเหล่านี้เอง เรียกว่าบุญบารมี ชายและหญิงผู้เกิดมาในชาติปัจจุบัน พอรู้ความก็ได้เริ่มบำเพ็ญบารมี ทั้งนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือคุณความดีอย่างอื่นๆ ด้วยความอุตสาหะบากบั่นมาจนถึงวันวานนี้ก็ดี ผู้ได้บำเพ็ญบารมีเหล่านี้หรือคุณความดีอย่างอื่นอีก มาแต่ชาติอดีตหลายชาติหรือแม้เพียงหนึ่งชาติ กระทั่งถึงปีเกิดในชาติปัจจุบันก็ดี ชื่อว่าผู้มีบุญบารมีมาก่อน
    - อานิสงส์ของบุญบารมี ผลของบุญบารมีที่หลั่งไหลไปรวมอยู่ที่ผู้บำเพ็ญ เหมือนแม่น้ำน้อยใหญ่ทั้งหลายไหลลงไปรวมอยู่ในมหาสมุทร เรียกอานิสงส์ของบุญบารมี มีลักษณะอยู่ ๔ อย่าง คือ
    ก. อานุภาพ บุญฤทธิ์ที่ส่งเสริมผู้บำเพ็ญบุญบารมี ให้เป็นที่นิยมนับถือของมวลชน โดยจูงใจ มวลชนเมื่อได้พบเห็นผู้มีบุญบารมีให้เกิดความชื่นบานหรรษาและนิยมนับถือ เรียกว่าอานุภาพ จริงทีเดียว ผู้มีบุญบารมีจะไปมาในถิ่นใดๆ บุญฤทธิ์ย่อมบันดาลให้มวลชนในถิ่นนั้นๆยินดีต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรี พึงเห็นในคำพระที่ตรัสปรารภนายนันทิยะว่า "บุญย่อมยินดีรับรองผู้ทำบุญ เช่นเดียวกับญาติ มิตรสหายยินดีรับรองญาติที่อยู่แรมนานมาแต่ไกลโดยความสวัสดี"
    ข. อภินิหาร อำนาจของบุญบารมีที่เชิดชูผู้บำเพ็ญขึ้นเป็นอัจฉริยบุคคล บันดาลให้มีผู้คนปรบมือให้หรือยกนิ้วให้ว่า เป็นคนมีน้ำหนัก น่าเคารพยำเกรง สมควรแก่การบูชายกย่อง เรียกว่าอภินิหาร อำนาจของบุญบารมีหรือบุญญาภินิหารนี้ นับเป็นอิทธิพลจูงใจคนให้สมัครเข้าอยู่ภายใต้ร่มเงา และโน้มน้าวให้ยินดีเต็มใจทำตามผู้มีบุญบารมี ด้วยความจงรักภักดี พึงเห็นในคำพระที่ตรัสปรารภ จิต-คฤหบดีว่า "บุคคลมีศรัทธาสมบูรณ์ด้วยศีล เอิบอิ่มด้วยยศ และโภคสมบัติ จะไปในถิ่นใดๆย่อมมีผู้ เคารพบูชาในถิ่นนั้นๆ"
    ค. ศิริสมบัติ สมบัติคือมิ่งขวัญสง่าราศีดีเด่นเป็นพิเศษ ที่เกิดแต่บุญบารมี เป็นเสน่ห์ดึงดูดจิตใจคนให้เข้าหาผู้มีบุญ เรียกว่าศิริสมบัติ และศิริสมบัตินี้คอยสนับสนุนผู้มีบุญให้เป็นขุมทรัพย์ คือเป็นที่ ไหลมาเทมาแห่งทรัพย์ จากทางบกทางน้ำและทางอากาศ พึงเห็นในคำพระว่า "ศิริคือมิ่งขวัญ เป็นที่ มานอนแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย"
    ตรงกันข้าม ผู้ไม่มีบุญรวบรวมทรัพย์ไว้ หรือได้รับส่วนแบ่งจากพ่อแม่หรือคนอื่น ก็ไม่อาจรักษาไว้ได้ ศิริสมบัติจะพาทรัพย์นั้นหนีจากเขาไปรวมอยู่ที่ผู้มีบุญ พึงเห็นในคำพระว่า "คนไม่มีบุญ จะมีศิลปะหรือไม่ก็ตาม ขวนขวายรวบรวมทรัพย์ไว้มากมาย แต่ตนเองไม่ได้ใช้สอย คนมีบุญเท่านั้นจะได้ ใช้สอยทรัพย์เหล่านั้นโภคทรัพย์ละทิ้งคนไม่มีบุญเสีย เกิดขึ้นแก่คนมีบุญในที่ทุกสถาน อนึ่ง โภค ทรัพย์เกิดขึ้นแก่คนมีบุญได้ แม้ในที่มิใช่บ่อเกิดเลย"
    ฆ. วาสนา กิริยาที่จิตใจอยู่แรมนานกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนคุ้นเคยติดสันดานสืบต่อมา เรียกว่า วาสนาส่วนกิริยาที่จิตใจอยู่แรมนานกับความดี จนคุ้นเคยติดสันดานสืบต่อมา เรียกว่าบุญวาสนา และกิริยาที่จิตใจอยู่แรมนานกับความชั่ว จนคุ้นเคยติดสันดานชั่วสืบต่อมา เรียกว่าบาปวาสนา แต่วาสนาในที่นี้เป็นบุญวาสนา คนมีบุญบารมีแม้เกิดในถิ่นที่ไม่เจริญ บุญวาสนาก็จะช่วยส่งให้ไปอยู่ในถิ่นที่เจริญ เหมือนคำโบราณว่า "ช้างเผือกเกิดในป่า ต้องจากป่าเข้าไปเป็นราชพาหนะอยู่ในเมืองหลวง"
    ดูเถิด ดูเรื่องในอดีต มีเด็กหญิงสามา ชาวเมืองภัททวดีเป็นตัวอย่าง พ่อแม่พาไปเมืองโกสัมพี บังเอิญพ่อแม่ทั้งสองตาย ตกเป็นกำพร้าเที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิต แต่บุญวาสนาส่งให้มิตรกฎุมพีรับเลี้ยงเป็นลูก หนูเป็นคนฉลาดทำรั้วกั้นโรงทาน ให้มีช่องเข้าทางออกทาง จึงได้รับสมญาว่าสามาวดี เมื่อโฆสกเศรษฐีทราบว่าหนูเป็นคนดี ก็รับเอาเป็นลูกของตน ต่อมาบุญวาสนาส่งขึ้นเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน นี่คือบุญพาวาสนาส่ง หรือบุญนำกรรมแต่ง
    ดูในปัจจุบันนี้อีกที คนผู้มีบุญบารมี แม้จะพลัดไปเกิดเป็นลูกทุ่งไร่นา ไล่ควายย่ำโคลนอยู่กับเพื่อนๆแต่บุญวาสนาเปิดโอกาสให้เขาได้เข้าไปศึกษาอยู่ ในเมือง เมื่อศึกษาสำเร็จแล้ว ก็มีช่องทางให้มีงานมีการทำเป็นล่ำเป็นสัน ถึงกับได้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นใหญ่เป็นโต ละทิ้งเพื่อนๆไว้ให้คงย่ำโคลนอยู่ตามเพลง เขาเป็นเหมือนม้าฝีเท้าดี ทิ้งม้าฝีเท้าเลวไปเสีย นี่คืออานิสงส์ของบุญบารมี เราจะแข่งอะไรแข่งได้ แข่งไม่ได้ก็แต่บุญวาสนา
    ประมวลความ คนมีบุญบารมีชื่อว่าภัพพบุคคล เมื่อเกิดมามีอานิสงส์ได้อัตตสมบัติ มีตา หู จมูก ลิ้นปาก คิ้ว คาง ผิวพรรณ มือและเท้า ล้วนแต่ประณีตสะอาดงดงามน่าทัศนา มีปัญญาสมบัติ เฉลียวฉลาดอาจหาญ มีอายุสมบัติและโภคสมบัติสมบูรณ์ เมื่อบุญเก่าให้กำลังแก่บุญใหม่ อาจให้ สำเร็จมรรคผลนิพพานได้
    ส่วนคนไม่มีบุญบารมี เกิดมาขาดอัตตสมบัติ เป็นคนไม่สมประกอบ มีตา หู แขน ขา มือ และเท้าเป็นต้นพิการ เกิดโรคเรื้อรัง มีโรคกุฎฐังเป็นต้น ขาดปัญญาสมบัติเป็นใบ้บ้าเสียสติ ขาดอายุ สมบัติเกิดมาไม่กี่วันก็ตาย ขาดโภคสมบัติยากจนถึงกับขอทานเขากิน ทำนาข้าวกล้าแห้งตาย ค้าขาย ก็ขาดทุน จะพึ่งบุญผู้มีบุญเล่า เขาก็เบือนหน้าหนี นับเป็นคนอาภัพตลอดชาติ
    อานิสงส์ของบุญบารมี คืออัตตสมบัติ ปัญญาสมบัติ อายุสมบัติ โภคสมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ซึ่งมีลักษณะเป็น อานุภาพ อภินิหาร ศิริสมบัติ และบุญวาสนา ทั้งนี้ย่อมสงเคราะห์ เข้าเป็นบุญสมบัติในนิธิกัณฑสูตร ดังนี้
    สุวณฺณตา มีผิวพรรณงาม
    สุสรตา มีเสียงไพเราะ
    สุสณฺฐานํ มีทรวดทรงสมส่วน
    สุรูปตา มีรูปร่างดี
    อาธิปจฺจํ ความเป็นใหญ๋ยิ่ง
    ปริวาโร มีคนห้อมล้อมเป็นบริวาร
    ปเทสรชฺชํ เป็นพระราชาในประเทศ
    อิสฺสริยํ ความเป็นอิสระ
    จกฺกวตฺติสุขํ สุขของพระเจ้าจักรพรรดิ
    เทวรชฺชํ เป็นเทวราชในทวยเทพ
    มนุสฺสสมฺปตฺติ สมบัติในมนุษย์
    สคฺคสมฺปตฺติ สมบัติในสวรรค์
    นิพฺพานสมฺปตฺติ สมบัติคือนิพพาน
    วิชฺชาวิมุตฺติวสีภาโว ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
    ปฏิสมฺภิทา ความแตกฉาน
    วิโมกฺขา ความหลุดพ้น
    สาวกปารมี บารมีให้สำเร็จสาวกภูมิ
    ปจฺเจกโพธิ พระโพธิญาณให้สำเร็จปัจเจกภูมิ
    พุทฺธภูมิ พระสัพพัญญุตญาณให้สำเร็จพุทธภูมิ
    อานิสงส์ของบุญบารมีทั้งปวงนี้ รวมเรียกว่าบุญสมบัติ ซึ่งมีอานุภาพ อภินิหาร ศิริสมบัติ และ บุญวาสนา เป็นลักษณะอยู่ในตัวเอง เมื่อเราชายหญิงได้ฝังขุมทอง คือกองบุญบารมีไว้แล้ว หวังจะมีอานุภาพ มีอภินิหาร มีศิริสมบัติ และมีบุญวาสนา ก็จะมีได้สมความปรารถนา เป็นประหนึ่งว่าเราก่อไฟให้ติดเชื้อเพลิงเกิดแสงสว่างไสวขึ้น ให้เราเห็นสิ่งที่เป็นวิสัยแห่งจักษุได้ทุกอย่าง
    ดังนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ความมีบุญบารมีที่ได้ทำมาก่อนนั้นเป็นมงคลยอดชีวิต เพราะบุญบารมีเป็นเหตุเกิดแห่งอานิสงส์ อำนวยให้ผู้บำเพ็ญสำเร็จมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ได้สมประสงค์จำนงหมาย ดังบรรยายมาทุกประการ

    <table border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="500"> <tbody><tr> <td align="center">*********</td> </tr> </tbody></table>
     

แชร์หน้านี้

Loading...