มาฝึกตน ให้พ้นภัย

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย aprin, 25 กุมภาพันธ์ 2008.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    หลวงปู่คำพอง ติสโส

    วันนี้เป็นครั้งที่ ๒ หรือครั้งที่ ๓ ก็ไม่ทราบ อาตมภาพมาก็นานแล้วจนเกือบลืม จึงมาว่าปฐมฤกษ์แห่งปาฐกถาธรรมซะ เหมือนกับเราเวลาร้อน เราก็หาน้ำมาใส่ หาผ้ามาห่ม เพื่อกันร้อนแต่เมื่อร้อนหายไปแล้วคนนั้นลืมกิริยาของร้อน เมื่อลืมกิริยาของร้อนก็ไม่ได้สอนคน จิตใจก็ไม่ได้อยู่ในความร้อนนั้น เมื่อจิตใจไม่ได้อยู่ในความร้อนนั้น ก็ไม่กลัวต่อความร้อนนั้น

    ปุคคลัญญู

    เพราะฉะนั้นหลักการของพระสัจจธรรมทั้งปวงนั้น เรามาพิจารณาในประวัติของศาสนาพุทธของเราว่า ปุคคลัญญู คือ รู้จักบุคคล รู้จักพระพุทธเจ้า ท่านเป็นคนมีวาสนาบารมี สร้างคนให้อยู่ในสังคมของคนแล้วก็เกิดความจงรักภักดีกับคน ไม่เบียดเบียนคน ไม่ให้ร้ายคน ไม่รักผูกพันในสิ่งที่ให้เกิดกิเลสจากคน อันนี้เรียกว่า ปุคคลลัญญู

    เมื่อพระพุทธเจ้ารู้ความปรารถนาบางสิ่งบางอย่างของคนมนุษย์ ร้องไห้ หัวเราะอยู่ในสากลโลกนี้เหมือนกับอยู่ในที่คุมขัง ที่ผูกมัดรัดรึงหานโยบายจะแก้ไขไม่ด้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมีใครล่ะ จะมาแก้เปลาะแก้โซ่แก้ตรวน แก้ความเห็นเหล่านั้นให้หมดไปได้ ถ้าไม่มีใครแก้เสียแล้วมนุษย์ของเราก็เอาความเห็นของตัวเองสร้างศาสตราวุธสำหรับห้ำหั่นฟาดฟันตัวเอง จนเกิดความท้อแท้อดอยาก ขาดความอดทนก็เพราะตัวเองเป็นคนสร้างให้ขาด ขาดปัญญาแห่งความรอบรู้

    ก็เพราะเราเป็นผู้สร้างให้ขาด ขาดวาสนา บารมี คุณความดีไม่เกิดขึ้น ในการประพฤติปฏิบัติฝึกหัดไม่ว่าอยู่ที่ไหน ความสงสัยก็ลังเลไม่แน่นอนที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องปุคคลัญญูเช่นเดียวกัน

    เมื่อพระพุทธเจ้ารู้ความเป็นอยู่ของสัตว์ รู้ความเป็นอยู่ของตนแล้วก็มาพิจารณาเรื่องวาสนาบารมีของสัตว์ นิสัย อุปนิสัย วาสนา ความสามารถของสัตว์เหล่านั้น เมื่อรู้แจ้งในสิ่งแล้วก็จึงได้ให้ธรรมะแก่ทุกคนผู้มีวาสนาบารมี คนที่ยังไม่มีก็อบรมสั่งสอนให้เขามี เพื่อเขาจะได้พึ่งตนเองขึ้น จึงได้มีบทบาทอย่างที่เราได้เรียนอยู่ทุกวัน

    ผู้ภาวนา ผู้คิด ผู้นึก ผู้อบรมอาจจะเห็นได้ว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าปล่อยทิ้งไว้ให้ตกอยู่ในสภาพของดินฟ้าอากาศ ผู้ไม่ประมาทนั้นต้องพิจารณาตน อย่างทุกคนที่มองกันอยู่เดี๋ยวนี้ เราได้มาเพราะตนไม่ว่ากิริยามารยาท ไม่ว่าบุญกุศลความนึกคิด ขันติ สัจจะ วิริยะ ทาน ศีล ภาวนา ก็ได้มาเพราะตน ไม่มีผู้อื่นสร้างให้ ผู้อื่นนั้นมีตั้งแต่บอก แนะนำสั่งสอน เช่นพระบรมศาสดาก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้ให้มนุษย์ของเรานั้นได้ร่ำรวยมั้งมีศรีสุขด้วยสมบัติของคนอื่นเป็นความมุ่งมั่นปั้นมือ เป็นความปรารถนาของตนทั้งนั้น

    ฝึกตน

    คนในประเทศหรือสัตว์ในโลกเทพเจ้าเหล่าเทวาผู้ศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกก็ดีแม่น้ำลำคลอง ดินฟ้า อากาศ เจ้าที่เจ้าทาง พระภูมิทุกระบบ ไม่มีใครสร้างมนุษย์ได้ นอกจากมนุษย์สร้างมนุษย์คือตัวเองเป็นผู้สร้าง เมื่อเห็นตัวเองเป็นผู้สร้าง มันขาดตกบกพร่องอะไร ก็ตัวเองเป็นผู้เก็บเอาใส่ ตัวเองเป็นผู้ดำรงงานเช่น วันนี้มันขาดไปชั่วโมงไหนชั่วโมงหนึ่งว่า ตั้งแต่เช้ามานี่ ศีลตัวไหนขาดบ้าง แล้วความรู้ทั้งหมดที่เราเลื่อมใสศรัทธานั้นยังมั่นคงไหม ตอนเช้าเราฝึกฝนอบรมตอนนี้ในฐานะผู้กำลังรับฝึกฝนว่า เมื่อเรานึกขึ้นมา เราจะนึกถึงอะไรก่อน

    อันนี้ก็เป็นพิธีฝึก คือเราจะระลึกทั้งครอบครัวตัวเรือนหรือจะนึกถึงศีล สมาธิ ปัญญา หรือคนผู้เรียกธรรมะ เรียกฟ้าลม เรียกเหตุผลนั้น จะต้องเชื่อเรื่องนโยบายความเป็นอยู่ของตัวเองได้ เช่นเราจะลุกเวลาเท่าไร ? จะฝึกไหม ? เช่น เราจะลุกเมื่อตี ๓ เราลุกขึ้นมาแล้วพิจารณาอะไร ? สิ่งไหนที่มนุษย์ของเราจะให้เกิดคุณธรรมขึ้นมา มีประโยชน์ได้ เช่น พิจารณาตน เมตตาตน เมตตาสัตว์ ถ้าเราจะเมตตาตนก่อนนี้จะไปสอนอะไรให้แก่ใครที่ไหน ผู้ที่จะรับเมตตาจากเราคือตัวเรานั้น เขาจะมีความประสงค์อะไร


    ถ้าเรามองเห็นตัวของเราซิว่า ผ่านมานั้นเราไม่เคยเมตตาตน เมตตาเรา แต่เราตั้งสัจจะไปตั้งแต่วินาทีนี้ไปจนกว่าเราจะหมดชีวิตจิตใจในที่นี้แล้ว เราควรจะเมตตาตนก่อนหรือเมตตาสัตว์ก่อน แล้วก็ค่อยตั้งสัจจะลงทีหลัง เพื่อไม่ให้ความประมาทเกิดขึ้นในการเมตตาตนและเมตตาสัตว์ก่อน แล้วก็ค่อยตั้งสัจจะลงทีหลัง เพื่อไม่ให้ความประมาทเกิดขึ้นในการเมตตาตนและเมตตาสัตว์นั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องการฝึกเหมือนกัน

    ประการที่ ๒ เรื่องธรรมะนั้นเราจะพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก่อนหรือจะเมตตาสัตว์ก่อน เรามาเทียบกันดูว่า การที่คนมนุษย์ทุกวันนี้จะเวียนตายเวียนเกิดก็ดี บางทีก็ดี บางทีก็ชั่ว บางทีก็เจ็บ บางทีก็ไม่เจ็บ บางทีก็สวย บางทีก็ขี้ริ้ว ขี้เหร่ อะไรก็แล้วแต่ก็ว่ากันไป และถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว มนุษย์ของเรา เราจะทำอย่างไรจึงจะพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่า ไตรลักษณ์ กี่ชั่วโมงแล้วจะลุกขึ้นมาชั่วโมงเท่าไร ชั่วโมงไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องของการฝึก

    ในเรื่องศาสนาเช่นเดียวกัน ถ้ายังไม่ฝึกในเรื่องอย่างนี้แล้ว ถือว่าผู้นั้นไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ตนและผู้อื่น คือสร้างความประมาทไว้พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญเยินยอ เราเหล่าท่านที่ได้ฟังก็คงรู้อยู่แล้ว วันนี้เหมือนหลวงตาที่มาบรรยายธรรมะนี่เอามะพร้าวมาขายสวน รู้สึกท้อแท้ไม่ใช่เล่นเหมือนกัน แต่ก็จำเป็นที่ต้องนำมาพูดบ้างพอหอมปากหอมคอตามความรู้ความสามารถของพระบ้านนอก

    วังวนแห่งชีวิต

    เพราะฉะนั้นหลักการนี่ เราคิดว่าการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่จะพิจารณาสักกี่ชั่วโมง เวลาเท่าไรแล้วหลุดจากนั้นเราจะทำวิธีอะไร วิธีการที่เราพิจารณาทุกขัง อนิจจัง อนัตตาเรียกว่าไตรลักษณ์นั้น ก็ถือว่าขัดเกลาเผากิเลสไม่ให้มนุษย์ของเรานี่ร้องไห้ หัวเราะหรือเกิดแก่เจ็บตายวนเวียนอยู่เป็นวัฏฏะ วนดังที่เราสวดกันว่า อวิชชา ปัจจยสังขารา สังขารา ปัจจยวิญญานัง วิญญาณัง ปัจจยนามรูปัง นามรูปัง ปัจจยสฬายตนัง สฬายตนัง ปัจจยผัสส ผัสส ปัจจยเวทนา เวทนส ปัจจยตัณหา ตัณหา ปัจจยอุปรานัง อุปรานัง ปัจจยภาโว ภาโว

    ภาวะคือชาติแห่งความเกิด ถ้าเกิดมาแล้วเอาอะไรมาล่ะ ทีนี้เมื่อพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือดับเกิดนั่นเอง ไม่ปรารถนาอยากจะเกิด เพราะเห็นว่าเกิดแล้วก็แล้วต้องมีขา มีปากมันเจ็บปาก มีเนื้อมันเจ็บเนื้อ มีฟันเจ็บฟัน ไม่มีฟันเป็นทุกข์เดือดร้อน ไม่ได้เกิดมามันก็จะเกิด เพราะมันยังต้องเกิด เพราะมันมีเชื้อพาเกิด มันมีเหตุพาให้เกิดเพราะฉะนั้นหลักการนี่ เราคิดว่าการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่จะพิจารณาสักกี่ชั่วโมง เวลาเท่าไรแล้วหลุดจากนั้นเราจะทำวิธีอะไร วิธีการที่เราพิจารณาทุกขัง อนิจจัง อนัตตาเรียกว่าไตรลักษณ์นั้น ก็ถือว่าขัดเกลาเผากิเลสไม่ให้มนุษย์ของเรานี่ร้องไห้ หัวเราะหรือเกิดแก่เจ็บตายวนเวียนอยู่เป็นวัฏฏะ วนดังที่เราสวดกันว่า อวิชชา ปัจจยสังขารา สังขารา ปัจจยวิญญานัง วิญญาณัง ปัจจยนามรูปัง นามรูปัง ปัจจยสฬายตนัง สฬายตนัง ปัจจยผัสส ผัสส ปัจจยเวทนา เวทนส ปัจจยตัณหา ตัณหา ปัจจยอุปรานัง อุปรานัง ปัจจยภาโว ภาโว

    ภาวะคือชาติแห่งความเกิด ถ้าเกิดมาแล้วเอาอะไรมาล่ะ ทีนี้เมื่อพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือดับเกิดนั่นเอง ไม่ปรารถนาอยากจะเกิด เพราะเห็นว่าเกิดแล้วก็ต้องมีขา มันเจ็บขา มีปากมันเจ็บปาก มีเนื้อเจ็บเนื้อ มีหนังเจ็บหนัง มีฟันเจ็บฟัน ไม่มีฟันเป็นทุกข์เดือดร้อน ไม่มีหนังเป็นทุกข์เดือดร้อน ไม่ได้เกิดมามันก็จะเกิด เพราะมันยังจะต้องเกิด เพราะมันมีเชื้อพาเกิด มันมีเหตุพาให้เกิด
    เขาจึงสอนว่าให้เรานั้นพิจารณาตนซะก่อน เมื่อพิจารณาไปแล้วว่าสัตว์ในโลกของเรา ไม่ว่าสัตว์น้ำ สัตว์บก นรก เปรต อสุรกาย เทพเจ้าเหล่าเทวาดังได้พิจารณามาแล้ว่า ไม่มีใครสร้างมนุษย์ได้ บิดามารดาก็ให้กำเนิด ไม่ได้สร้างวาสนาบารมีความมั่งมีศรีสุข ร่ำรวย สติปัญญา วิชาความรู้ เป็นเรื่องของบุคคลผุ้เกิดจะต้องสร้าง สร้างมาน้อยวาสนาน้อยไม่สามารถที่จะรู้ ประพฤติปฏิบัติอย่างไร

    เพียรเฝ้าเอาความตาย

    อย่างที่ว่ากันอยู่เดี๋ยวนี้ว่า เราเมตตาตนหรือเมตตาสัตว์ พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจะพิจารณาอะไรต่อไปนั้นก็เป็นเรื่องของคนคนนั้นจะต้องฝึกตั้งสติสัมปชัญญะขาดสติแล้วทำงานไม่ได้ พิจารณาก็ไม่มั่นคงดังนี้ บางบ้านบางบุคคลพอนั่งไป ๆ พิจารณาไป ทีแรกมันก็ขยะแขยง เห็นรูปอันนั้นอันนี้เห็นตายทั้งหมด ผ้านุ่งห่มอยู่มันก็ตาย เสื่อมันก็ตาย หมอนหนุนก็ตาย มุ้งม่านก็ตาย อาหารใหม่อาหารเก่าที่รับเข้าไปเคี้ยวเข้าไป น้ำมูกก็ตาย น้ำลายก็ตาย น้ำเหลืองก็ตาย น้ำตาก็ตาย ตกลงเราก็มานั่งเฝ้าเอาความตาย

    เมื่อพิจารณาถึงเรื่องความตายแล้ว ก็สมควรไหมที่ถามตัวเองว่าเราต้องนั่งเฝ้าเอาความตายไปทำอะรต้องถามเราเองว่าเราโง่หรือเราฉลาด เมื่อเฝ้าเอาความตาย

    ถ้าเฝ้าเอาความเป็นมันก็พอจะรับใช้รับสอย ตักน้ำล้างหน้า ล้างขาล้างเท้าเราบ้าง แต่ไปนั่งเอาความตายมา เอามาทำอะไรความตาย

    ถามเจ้าของไปอย่างนี้ก็ถือว่าเหมือนพระพุทธเจ้าของเราว่า ทีแรกก็พบเทวทูตทั้ง ๔ ที่ว่า คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนเข้าไปยาก นักบวชเหล่านี้เป็นต้น
    ถ้าเราฝึกมรรคผลนิพพาน ฝึกละกิเลส ฝึกฟอกฝนกิเลส หรือฝึกทำให้จิตใจร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส ถ้าไม่ฝึกจิตอย่างนี้แล้ว จะมีทางอื่นหรือเปล่า ถ้ามองดูอย่างที่พูดข้างต้นว่าปุคคลัญญู รู้จักบุคคล รู้ว่าคนในโลกของเราน่ะ ประเทศไทยของเราก็มีหกสิบกว่าล้าน ท่านเหล่านั้นได้สร้างวาสนา ขันติ สัจจะ วิริยะให้แก่เราไหม ก็เรานะเป็นคนสร้าง จะโงกเหงาหาวนอนหรือ ถีนมิทธะ เข้าไปครอบงำก็เป็นเรื่องของเราจะต้องแก้ ถ้าเราไม่แก้วันนี้ก็ง่วงนอน วันพรุ่งนี้ก็สัปหงกมะรืนก็ไปสับหงก

    คอยทีความมีโชค

    คำว่า ภควา แปลว่า ผู้มีโชค
    ก็เลยไม่มีโชคแห่งความแสงสว่าง ไม่ได้มีโชคแห่งความรื่นเริงด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไปมีโชคตั้งแต่กิเลสซะ มันก็เลยทำให้มนุษย์ของเรานี่ต้องเสียเวลาไปอีกตั้งนาน นานปี นานเดือน นานวัน นานคืนเข้าอีก เหล่านี้จะได้ชื่อว่าคนคนนั้นน่ะ จะเป็นผู้ฉลาด ปราชญ์เปรื่องไหม ? ในทางละกิเลสอาสวะธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทฑเจ้า อันนี้ก็เป็นการฝึก
    ฝึกประการที่สอง สาม สี่ ห้าลงไปอีก เช่นว่า ตอนเรารับประทานอาหารเราคิดอย่างไร

    เราจะรับประทานอาหารนั้นเป็นของอะไรที่รับประทานเข้าไป มนุษย์ของเราคิดอย่างไร ถ้าพูดถึงลักษณะแล้วไม่ว่าจะเป็นน้ำลายคนอื่นเป็นน้ำลายตัวเอง เราถ่มออกจากปากก็ยากแสนสาหัส พวกเราจะกลับกลืนเข้ามากินในปากอีกได้

    อาหารที่เรารับประทานเข้าไปแล้วก็เหมือนกัน เกลือกกลั้วด้วยน้ำลายแล้วเราก็กลืนลงไป แต่ส่วนกลืนนั่นเราไม่เห็นด้วยตา แต่พิจารณาด้วยปัญญาอาจจะรู้ ใช่ว่ามันมีสีมีสสันสวยงาม ไม่ใช่ว่าน่ารัก น่าปรารถนา ถ้าไม่เชื่อผู้บรรยายจะลองกลืนแล้วก็ถ่มออกมาสัก ๒-๓ ฟองลองดูซิ แล้วอาหารที่เราถ่มออกมาจะมีสีอย่างไร มีลักษณะอย่างไร เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์จะไม่ปรารถนาแล้ว

    แต่ที่เรามอง ๆ ดูตอนที่เราไปซื้อมาจากท้องตลาดล่ะ เป็เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้ออะไรก็แล้วแต่ เราพลิกแล้วพลิกอีก ดูเนื้อ ดูน้ำ ดูลักษณะท่าทางว่าสวยงามไหมเนื้อดีไหม มีโรคภัยไข้ เจ็บไหม ดูกันเสียจนหลง แต่เมื่อมาแกงมาต้ม หรือมารับประทานเข้าไปนี่ พอกลืนเข้าไป พออมเข้าไปถึงปากแล้วนี่ อสุภะไม่รู้มาจากไหน มันเป็นสิ่งที่น่าเกลียด แม้แต่เราคนเคี้ยวแล้วจะคายให้คนอื่นเขากินก็รู้สึกขยะแขยงเหมือนกัน ถ้าเป็นอย่างนี้มนุษย์ก็มีอะไร บ้างอยู่ในปากน่ะ ในปากก็มีของสกปรก มีกลิ่นที่เหม็นสาบสางไปด้วยลักษณะที่มนุษย์ของเราไม่ชอบอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องการฝึกในเวลากิน
     
  2. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    รู้แล้ว
     
  3. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ทุกฺขโต ทุกฺขฐานํ

    การเห็นทุกข์นี่ใครอยากจะสร้างบ้างล่ะ ทุกข์นี่หลักการอันหนึ่ง หลักการอันสองในศาสนาพุทธนี่มี ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ประกาศสอนมนุษย์ทั่ว ๆ ไปในโลกของเรา อย่างอื่นเอาอะไร ศีลก็คือหมายว่าข้อแรกนี่ มีอานิสงส์มั้ย คนรักษาศีลนี่ ข้อแรกตัวปาณาติบาต ถ้าเราจะพูดถึงหลักการล่ะหลักการทรมารหลักการจนทำให้เขาถึงตาย ทำยังไง

    หลักการทรมานก็คือ มีเด็กเลี้ยงความ ๗ คนไปปิดรูเหี้ยเอาไว้ว่าพรุ่งนี้จึงจะเอาไปต้ม แต่มันไม่ได้เอาออก ๗ วัน นึกขึ้นได้ไปเปิดรูเหี้ยออกมา แล้วเป็นอย่างไรล่ะเหี้ย อดอาหารการบริโภคมันก็ผอมแห้งแรงน้อย อยู่มา ๆ ในศาสนาของเรา เด็กที่ไปปิดรูเหี้ยไว้ไปบวชเป็นพระ แบกกลดสะพายบาตรแล้วก็จะไปหาที่ภาวนา เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถ้ำลั่น ๗ วัน ๗ คืน กรรมที่ไปปิดรูเหี้ยไว้ ๗ วัน ๗ คืน นี่กรรมมันตอบแทนมา

    ทีนี้เราล่ะ ตัวแรกนี่ตัวศีล ๕ ประการนี้แล้ว ตัวต้นมันนี่ปาณาติปาตา เว ตามันเวจากศีลธรรม ด้วยปาณาเว ใจก็เว ตาก็เว ไม่ได้มองดูเกิด ดูแก่ ดูเจ็บ ดูตาย ดูเนื้อ ดูหนัง ดูตัว ดูตน ดูหัว ดูขา ดูป้า ดูลุง ดูเพื่อน ดูฝูง ดูพี่ ดูน้อง ดูเจ็บ ดูปวด ไปดูแต่เปาบุ้นจิ้น ไม่ดูตนเอง ตกลงทุกข์สมุทัย ก็ไม่ดับ เกิดแก่เจ็บตายก็ยังผูกคออยู่ ยังไม่ลด ไม่ละ ไม่หนีไปไหน ยังเหลืออยู่

    ถ้าเป็นอย่างนี้ใครล่ะขอบบ้างไหม ? เจ็บปวดตายเกิดนี่มีใครกลัวบ้างไหม ? ใครต้องการบ้างไหม ? ความตายนี่ถามดุคนนั่งอยู่เหลือกี่คน มีคนต้องการตาย เจ็บปวดรวดร้าวบ้างไหม ไม่มีหรอกในโลกนี้ เจ็บขาก็ไม่อยากเจ็บ เจ็บหู เจ็บตา เจ็บปาก ก็ไม่อยากเจ็บ แต่มนุษย์ที่ไร้ศีลธรรมนี่ซิไปทำให้ปากเขาเจ็บ ไปทำให้เนื้อเขาเจ็บ ทำให้เขาเจ็บเขาปวดล่ะ แล้วเจ็บปวดนี่ตามมาเหมือนกับเด็กไปปิดรูเหี้ยไว้ได้ไหม อาจจะเป็นได้

    พระสิวลีนี่นะเป็นนายทหารเอก ไปปิดข้าศึกไว้ตั้ง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ๗ คืน เมื่อพระสิวลีไปอยู่ในครรภ์ พระมารดาก็ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ๗ คืน จึงคลอด นั่นกรรมตามมาทัน เขาจึงบอก กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปฏิสรณา ยัง กัมมัง กริสสันติ กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา มันมีกรรมแล้วไปพรากลูกพรากหลาน ใครอยากจะพรากบ้างล่ะ ?

    เราเอาลูกเขาหนีไปขาย หนีไปต้ม เอาลูกเขาหนีไปซุปไปยำนี่ พ่อแม่เขาจะอยู่อย่างไร เขาก็อยากอยู่บ้าน อยู่เรือน เขาก็อยากอาบน้ำ กินข้าว เขาก็อยากมีความสุข แต่เราเอาเขาไปขังไว้ในตุ่มในยางนู่น ผูกขึ้นรถ ขึ้นเรือ ตากแดด ตากฝนไปไม่รู้กี่อำเภอ เห็นแก่ตัวรึเปล่ามนุษย์เรา ? การเห็นแก่ตัวนี่ผิดศีลธรรม ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงเขา เป็นธรรมไหมล่ะ ? ไม่เป็นธรรม

    นี่ล่ะพระพุทธเจ้าถึงไม่ให้ทำ มันผูกกรรมผูกเวรเข้า พาลูกพาเต้าหนีไปจากพ่อจากแม่ พาเนื้อพาหนังเขาไปต้มไปแกงโดยไม่คิดถึงใจเขา คิดถึงพวกเราบ้างซิ พวกเราได้อยู่ร่วมกันกับลูกกับหลานลุกขึ้นมาเห็นลูกอยู่ในอกแล้วดีใจ ถ้าลุกขึ้นมาค่ำมา ตาไม่อยู่บ้านแล้วทำไง ? ไหนลองว่ามาซิ

    พ่ออีหนู แม่อีหนูนี่ล่ะ ถึงเวลาเมียไปทำงาน สามีไปทำงาน ค่ำ ๆ มาไม่เห็น โอ้โฮ มารู้ว่าถูกอุบัติเหตุหรือเป็นอะไร ? เที่ยวโทรศัพท์เที่ยววิ่งเต้นถามหน้าถามหลัง เห็นพ่ออีหนูฉันไหม ? เห็นแม่อีหนูฉันไหม ? อะไรต่าง ๆ เพราะว่ากลัวอุบัติเหตุแล้วเป็นห่วงด้วยกันไหมล่ะ ?

    แล้วสัตว์ทั้งหลายเขาเคยอยู่ร่วมกันมา เคยอยู่ เคยกิน เคยไปมาหาสู่กันนี่ แล้วเราพูดกันทำไมที่ว่า สพฺเพสตฺตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ว่ากันไปทำไม่ ถ้าว่าแล้วยังไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ยังไปแยกลูกแยกหลานจากที่ไร่ที่นาของเขา ไปกดขี่ข่มเหงเขาแล้วบาปไหมล่ะ ?

    สิ่งเหล่านี้ นี่แหละบาป บาปเป็นอย่างไร สัพพะปากปัสสะ อะกะระณัง กุสะละสูปะสัมปะทา ท่านให้ละบาปบำเพ็ญบุญ ว่ากันง่าย ๆ แต่เมื่อเราก็ได้คิดถึงตัวเราวันหนึ่ง ๆ คิดถึงไม่กี่หน อยากจะรักษาศีลภาวนาก็ไม่อยากจะละ ไปถึงบ้านอาบน้ำอาบท่ารับประทานอาหาร แล้วลืมซ้ำ ไม่อยากไหว้พระ สวดมนต์ รักษาศีล ภาวนาอะไร แล้วจะเอาอะไรล่ะทีน้ำไม่ไหว้พระสวดมนต์แล้วทำอะไร ไม่ทำบุญให้ทานแล้วทำอะไรถึงจะเกิดประโยชน์ ไม่มีประโยชน์

    พลีใจให้เขาหลอก

    เพราะฉะนั้น น่าจะทำจริง ๆ เรื่องพรรค์นี้ ถ้าเราไม่อบรมศีลธรรมไว้กิเลสมันหลอก มันหลอกให้นั่ง มันหลอกให้แก่ มันทำให้เจ็บมันทำให้ปวด มันไม่เมตตาคน กิเลสนี่ อย่าไปเสียดายตายอยากว่างั้นเถอะ มันจะหนีก็ให้มันหนี มันจะหมดก็ให้มันหมด อย่าไปหวงไว้ ก็เวลานั่งนาน ๆ เข้าโอยเจ็บหลังล่ะ มองไปมองมา มองไปมองมาเห็นแต่เสื่อกับหมอนนอนซะดีกว่า ก็เพราะเลี้ยงกิเลสไว้ใช่ไหม ? ไม่อยากให้กิเลสหนี

    หิวข้าวหน่อยหนึ่ง บอกฉันหิวแล้ว มีข้าวไหม ? มีกับไหม ? ไม่มีก็โน่นที่แม่ค้าเขาตั้งขายอยู่โน่น กลัวเจ้าของหิว มันหิวน้อยเดียวก็ไม่ได้กลัวแต่มันจะหิว เอาแต่กิเลส กิเลสนี่พาหิว เลี้ยงกิเลสไว้ไม่อยากให้กิเลสตาย กิเลสหิวน้อยเดียว เอาข้าวให้กิเลสกินไปแล้ว ทุกวันมันอยู่ใต้อำนาจเขา ศีลธรรมยังไม่มีเลย เขาบอกให้เจ็บตรงไหนก็เจ็บ เขาบอกให้ปวดตรงไหนก็ปวด เขาบอกให้เกิดก็เกิด เขาบอกให้แก่ก็แก่ เขาบอกให้ตายก็ตาย เราไม่รู้อยู่โลกไหนกันทุกวันนี้ยังเอาชัยชนะเขาไม่ได้ ไม่รู้กี่ชาติ กี่ภพมาแล้ว

    ตกลงมาเป็นทาสของเขา ภารา หะเว ปัญจักขันธา ภาราหาโร จะปุคคะโล ภาราทานัง ทุกขัง โลเก เป็นทุกข์ในโลก หนักของอื่น หนักคาบ หนังค้อน หนักอยู่ หนักกิน หนักบ้าน หนักช่อง หนักก้อนหิน หนักภูเขาเลากา ก็ก้อนใหญ่ ยกไม่ได้เราก็ไม่ยกยกเสียแต่ก้อนเล็ก ๆ นั่น มันก็ไม่หนักถึงไหน หนักกิเลสตัณหาอวิชชา หนักขันธ์ ๕ หนักไม่รู้นี่ซิ ไปปล่อยให้ใครล่ะ ใครจะรับ ๆ ออกได้บ้าง แล้วจะทำอย่างไรล่ะ นี่ข้อหนึ่ง ข้อที่ว่ามนุษย์ทุกคนไม่อยากเจ็บอยากปวดไม่อยากพรากพี่พรากน้อง

    ข้อ ๒ อทินนาทาน คือที่ลักขโมยขโจรเขา ทุกคนหามาด้วยหยาดเหงื่อน้ำตา เงินสักบาทสองบาท ไม่ว่ารถจักรยานยนต์ ที่ดินที่ดอน กว่าจะได้มาเป็นสิทธิของตัวเอง กว่าจะได้ น.ส. ๓ กว่าจะได้โฉนด โอ้โฮ ! ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานโน่นจึงจะได้ แล้วได้มาแล้วล่ะทำไม มันก็หายาก แต่ตัวตนของมนุษย์นี่ล่ะ สัตว์ทั้งหลายที่เขาเป็นเปรต อสุรกาย เขาอยากจะเป็นไหม ? มนุษย์อย่างเราน่ะ หมู หมา แมว เขาอยากจะรักษาศีล ภาวนาอย่างเราไหมล่ะ ? อยากบวชเป็นพระเป็นเจ้า อยากจะมานั่งฟังธรรมเทศนาตามร่มไม้ของวัดสังฆทานนี้ไหม ? เขาก็อยากจะมาแต่เขาไม่มีวาสนา เพราะมาไม่ได้

    พวกเรานี่อยากจะสำเร็จมรรคผลนิพพานพรุ่งนี้ มะรืนนี้ นั่งภาวนาไปแต่สำเร็จไม่ได้ วาสนามันน้อย แล้วเราจะปล่อยให้วาสนานี้มันน้อยอยู่ ไม่ทำให้มันมากขึ้นสักทีหรอกรึ ก็ควรจะทำให้มันมากขึ้น นี่อทินนาทานไปฉ้อ ไปโกง ไปขโมยของเขาเป็นธรรมไหมล่ะ ? ไม่มีหรอกไม่เป็นธรรม

    ต่อมาเป็นกาเมสุมิจฉาจารบาปมหันต์เหมือนกัน พ่ออีหนู แม่อีหนูทุกคนอยู่ในบ้าน ถ้าเห็นแม่อีหนูไปคุยกับบ่าวต่างชาติ หรือบ่าวต่างบ้านต่างช่อง ๔-๕ วันพาบ่าวนั้นมานอนในบ้านของเราสัก ๔-๕ หนนี่ พ่ออีหนูอดได้ไหม อดเห็นภรรยาของเราทำอย่างนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้ ไม่ปืนยิงหัวก็ฟันคอขาด บาปกรรมไหมล่ะ แล้วพ่ออีหนูก็เหมือนกัน เห็นใครปากแดง ๆ เดินตามหลังพ่ออีหนูไป กินไหนนอนนั่นด้วยกันสัก ๔-๕ วัน สักเดือน สองเดือน แม่อีหนูทนได้ไหมล่ะ นี่กาเมสุมิจฉาจาร

    ลูกเต้าเหล่าหลานใครเกิดความเสียหายพอใจไหม มันไม่ใช่ลูกสัตว์ไม่ใช่ลูกเปรต ไม่ใช่ลูกใคร ลูกมนุษย์จะแต่งงานหรือจะรักจะใคร่ ให้มันมีขื่อมีหลักฐาน ไปมาตามตรอกออกตามประตูไป อันนี้ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี เราไม่มีลูกไม่มีเมียของใคร ไม่มีผัวของใคร มันไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน ไปทำเข้าก็ผิดขนบธรรมเนียมประเพณี ผิดธรรมะ แล้วเป็นธรรมไหม เป็นธรรมไปไม่ได้
    มุสาวาทา ก็เช่นเดียวกัน ข้อที่ ๔ โกหกพกลม พูดให้เขาบ่ายเบี่ยงให้เขาเสียงานเสียการ เสียศีลธรรมหลอกลวงต้มตุ๋นหมู่นี้ ไม่น่าทำ ถูกใครให้ก็ไม่อยากทำ นั่นแหละของไม่เป็นธรรม

    ข้อสุดท้าย ศีล ๕ ประการ คือ ข้อสุราเม มันเมาลูก เมาหลาน เมาเพื่อน เมาฝูง เมาอยู่ เมากิน เมาหลับ เมานอน เมาทุกข์ เมาร้อน เมาเฒ่า เมาแก่ เมายาก เมาจน เมากิเลส เมาตัณหา เมาอวิชชา เมาโกรธ เมาโลภ เมาหลง เมาเกียรติ เมายศ เมาสรรเสริญ นี่ก็เมามากมายแล้ว ยังไปเมาเอาเหล้าเข้าอีก แต่เมาที่ว่าไม่รู้กี่รถสิบล้อไปแล้วไปเมาเหล้าเข้าอีกจะสักกี่ร้อยรถล่ะ มันเป็นเวรเป็นกรรมมหันต์ตกนรกหมกไหม้ ขาดสติสัมปชัญญะ ขาดจรรยา ขาดความสวยงาม ขาดความเป็นคน อันนี้นี่เป็นศีล ๕ ประการที่เล่ามาย่อ ๆ

    เพราะฉะนั้นวันนี้มาฝึกให้พวกเรานำไปฝึกว่า รับประทานอาการเข้าไปแต่ละคำมันจึงจะอิ่ม ถ้าคนเกิดโงกเหงาหาวนอน ขี้คร้านหลังยาวเหล่านี้เป็นต้น วันนี้ ๕ ช้อนแล้วไปนั่งภาวนาลองดู พิจารณาถึงเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพิจารณาถึงเรื่องร่างกายมนุษย์นี่ปลอดโปร่งไหม ? จิตใจร่าเริงไหม ? แจ่มใสไหม ?

    ถ้าร่างกายยังมีเหนื่อยมากจนเกินไป จิตใจอ่อนเพลีย เราก็เพิ่มขึ้นไป ๙ ช้อนได้ไหม ? พอถึง ๙ ช้อนสบายใจสัก ๓ เดือนจะได้ไหม รับประทานอยู่อย่างนี้ล่ะ แล้วภาวนาไปเรื่อย ๆ ถ้ามันไม่ดีเราลดไปช้อนหนึ่ง ได้ไหม ? นี่เป็นการฝึก
    ถ้าเราผินหัวไปทิศตะวันตกพิจารณาไม่ดีสวดมนต์ผินหัวไปทางตะวันออก วันหลังพิจารณาตั้งแต่ฝ่าเท้าถึงหน้าแข้งถึงหัวเข่าเท่านั้น ไม่ให้มันเลยขึ้นมาถึงต้นขากลับไปกลัลมาอยู่อย่างนั้น หรือพิจารณาตั้งแต่ฝ่ามือขึ้นมาถึงศอก ไม่ให้เลยขึ้นมาถึงต้นแขน พิจารณาอยู่เท่านั้นพิจารณาไปถึงไหน รู้สึกตัวไปถึงนั่นนี่เรียกว่าการฝึก

    ก่อนจะพิจารณา นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วตั้งใจทำสติให้ดี ๆ แล้วพิจารณาปเรื่อย ๆ อันนี้เก็เป็นการฝึก เราอย่าปล่อยให้มันพิจารณาจนเลิมเปิมไปไม่รู้ว่าพิจารณาไปถึงไหน จะเอาอะไรก็เอาสักอย่าง อย่าเอาหลายอย่าง ถ้าไปเอาหลายอย่างแล้วจิตใจก็รวนเร ไม่เกิดผลประโยชน์
    อุปมาเหมือนเรากินข้าว ข้าวกับแกงราดหน้าอิ่มไหม รับประทานแล้วสบายไหม ถ้ามันสบายก็เอาเท่านั้นเอาแค่แกงราดหน้า พอแล้วไม่ต้องเอาหลายอย่างเดี๋ยวผู้นั้นมาสอนเรื่องพระพุทธเจ้า เดี๋ยวคนนั้นมาสอนพุทโธ ก็เอาพุทโธเด๋ยวองค์นั้นมาสอน พิจารณาความตายก็เอาความตายเลยทั้งความตายทั้งความเกิด ทั้งความเจ็บ ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา มากจนเกินไป เลยไม่รู้เอาอะไรเป็นแก่นเป็นสารสักที มันไม่แน่นอน ไม่มี สัจธรรม

    ตั้งให้มันเป็นสัจธรรมลงเสียอย่างของไหนที่มันได้ ของที่ไหนมันเหมาะกับบางคน การที่เราอยู่ในโลกนี่มันไม่แน่นอน บางทีไปเห็นสัตว์ตาย อาจพิจารณา โอ สัตว์ก็จายเหมือนกับตัวเรานี่เนาะ เพราะเราก็ตายเหมือนกัน เขาก็ตายเหมือนกัน จากเนื้อจากหนังเมื่อไรเขาจะเกิดกัน ได้เนื้อได้หนังทีไม่ใช่ได้มาง่าย ๆ ไปหาซื้อตามตลาดในโลกก็ไม่มีใครขาย ได้มาด้วยบุญวาสนาจริง ๆ

    สัตว์ก็เหมือนกับมนุษย์เรา กว่าจะได้เกิดมา บางทีทุกวันนี้ยิ่งเกิดยากกว่าจะได้เนื้อ ได้หู ได้ตา มาหลับมาลืมแต่ละทีไม่ใช่เล่น ไม่ใช่ตายวันนี้ไปเกิดวันพรุ่ง มะรืน ไม่ใช่เกิดได้ง่าย ๆ แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ การอยากทำบุญเพื่อจะเกิด เกิดมาสร้างบารมี

    ต่อไปคนจะใจอำมหิตเหี้ยมเกรียมชิงดีชิงเด่น ทะเลาะเบาะแว้งแข่งดีตีกบาลกัน ผลที่สุดพวกเข้าวัดก็ยังอิจฉาพวกไม่เข้าวัด พวกไม่เข้าวัดอิจฉาพวกเข้าวัด หาไปเถอะไปรักษาศีลไปภาวนาไปฟังพระเทศน์อยู่วัดสังฆทาน มันไม่ได้เหาะเหินเดินอากาศได้หรอก สู้เราไม่ได้ เราไปกินเหล้าเมายา ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตดีกว่า อ้าว ! เข้าใจผิดคิดไม่ชอบ กระทบกระเทือนจิตใจกันตกลงก็ไม่เป็นเพื่อนเป็นฝูงเป็นพี่เป็นน้อยเป็นมิตรสหายกันสักที เอาแต่เอาเปรียบเอารัด เอาแต่กดขี่ข่มเหง เห็นแก่ตัวกันอยู่ตลอดวัน จะไปได้ดิบได้ดีมาแต่ไหน จะเป็นไปก็โดยยาก
    เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ให้พิจารณาลองดู เอาอะไรมันจะดี กระดูกเป็นสียังไง เลือดเป็นสียังไง เนื้อเป็นสีอย่างไร น้ำตาเป็นสีอย่างไร เป็นกลิ่นอย่างไร น้ำมูกเป็นกลิ่นอย่างไร น้ำลายเป็นกลิ่นอย่างไร มีสีอย่างไร แล้วก็พิจารณาว่า กายานุปัสสนาก็จะนำมาแห่งความสุขความเจริญ

    ปาฐกถาธรรมนำมาเป็นปฐมฤกษ์อันหนึ่งซึ่งพระบ้านนอกขอบอกว่าความรู้เท่าหางกบ ความสงบนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่พอที่จะเอามะพร้าวมาขายสวน ส่วนไหนที่มันไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ส่วนไหนที่มันไม่ไพเราะเพราะพริ้งกับหู ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์โปรดเอามาใส่ย่ามหลวงตา วันนี้ก็จะไปพังงา ไปเทลงที่ทะเลหัวหินหรือประจวบคีรีขันธ์ ไปปันกับพวกปลาฉลาม ปลาอะไร มีอาหารการบริโภคก็จะเป็นโชคกับพวกปลา ถ้าสิ่งไหนเป็นประโยชน์โปรดเอาไปพิจารณาเป็นการบ้านในยามว่าง

    หลวงปู่คำพอง ติสโส
    ที่มา : ธรรมะสว่างใจ
     
  4. อดุลย์ เมธีกุล

    อดุลย์ เมธีกุล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กันยายน 2007
    โพสต์:
    7,363
    ค่าพลัง:
    +11,795
    ข้อธรรมที่ดีๆอย่างนี้ ผู้นำไปปฏิบัติตามย่อมเกิดมงคลแก่ตัวครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...