วิธีฝึกสมาธิเริ่มต้น 10 นาที หลักสูตร ดับตัวตน ค้นธรรม โดย พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jetrockman, 17 กุมภาพันธ์ 2020.

  1. jetrockman

    jetrockman สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 เมษายน 2011
    โพสต์:
    11
    ค่าพลัง:
    +21
    องค์พระพุทธ ดับตัวตนค้นธรรม.jpg ที่มา หลักสูตร ดับตัวตน ค้นธรรม โดย พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร เมตตาสอนโยคี ใน โครงการอบรมกรรมฐาน ณ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
    ในวันที่ 11 ก.พ.2556



    วิธีฝึกนั่งสมาธิเริ่มต้น ตามหลักวิปัสสนากรรมฐาน แนวสติปัฏฐานสี่
    การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป้าหมายสำคัญคือ การกำหนดรู้อารมณ์ปัจจุบัน มีสติรู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน เพื่อรู้เท่าทันในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และอารมณ์ปัจจุบันที่เราต้องกำหนดรู้ในขณะที่เราปฏิบัตินั้นมีหลายอย่าง อารมณ์หลัก ๆ ก็มีอยู่ ๔ อย่าง อย่างที่เราเข้าใจกันคือ การดูกายในกาย ดูเวทนาในเวทนา ดูจิตในจิต และ ดูธรรมในธรรม อันนี้เป็นอารมณ์หลัก ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่เรานั่งเจริญกรรมฐานอยู่ เพราะฉะนั้น อารมณ์หลักที่เกิดขึ้นนี่ อารมณ์ไหนที่ปรากฏ “ชัด” แก่จิตหรือแก่ความรู้สึกของเรา ตรงนั้นจะเป็น “อารมณ์ปัจจุบัน”
    อย่างเช่น เรานั่งหลับตาพิจารณากำหนดรู้อาการพองยุบ หายใจเข้าท้องพองออก หายใจออกท้องยุบลง ถ้าขณะนั้นอาการพองยุบชัด อารมณ์หลักก็คืออาการพองยุบ แต่ถ้าขณะที่เรานั่ง อาการกระเพื่อมไหวที่ท้องไม่ชัด แต่ชัดที่บริเวณอื่น อย่างเช่น ส่วนบริเวณหทยวัตถุมีอาการกระเพื่อมเกิดขึ้น ตรงนั้นล่ะคืออารมณ์หลักที่เราต้องตามกำหนดรู้ ก็คือ “การดูกายในกาย” แล้วอีกอย่างหนึ่ง เวลาเราเจริญกรรมฐานแบบนี้ อีกอารมณ์ก็คือ “เวทนา” เมื่อเรานั่งแล้วมีเวทนาปรากฏขึ้นมา ไม่ว่าจะเกิดเวทนาส่วนไหนของร่างกายก็ตาม ถ้าเวทนาชัดกว่าอาการพองยุบ อารมณ์ปัจจุบันของเราก็คือเวทนา นั่นเป็นอารมณ์ที่เราต้องตามกำหนดรู้
    นอกจากเวทนา ก็คือ “ความคิด” ที่ปรากฏขึ้นมา ขณะที่เราเจริญกรรมฐาน พอนั่งไปมีความคิดเยอะแยะมากมาย ลมหายใจหรืออาการพองยุบไม่ชัด เวทนาไม่มี มีแต่ความคิดอย่างเดียว ขณะนั้นความคิดก็คืออารมณ์ปัจจุบัน เขาเรียกว่า “ดูจิตในจิต” แต่คำว่า “จิตในจิต” นี่ หนึ่ง รู้ว่าคิดอะไร ? สอง รู้ว่าสภาพจิตใจเราเป็นอย่างไร ? รู้สึกสงบ รู้สึกโล่ง รู้สึกโปร่ง รู้สึกเบา รู้สึกว่าง ๆ รู้สึกมีความสุข นั่นคือลักษณะของจิตเช่นกัน
    และอีกอย่างหนึ่งที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก แม้แต่ “จิตที่ทำหน้าที่รู้” เองก็เป็นสภาวะอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่เราต้องกำหนดรู้ว่า จิตที่ทำหน้าที่รู้หรือตัวสติที่ทำหน้าที่รู้ เขามีอาการอย่างไร ? มีการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดดับหรือไม่ ? อันนี้คือ “การดูจิตในจิต” หนึ่ง รู้ว่าคิดอะไร ? สอง รู้ว่าสภาพจิตใจเป็นอย่างไร ? สาม แม้แต่จิตที่ทำหน้าที่รู้ เราก็ต้องรู้ว่าเขามีการเกิดดับหรือไม่ ? อันนี้คือละเอียดขึ้น
    สี่ ก็คือสภาวะที่บอกว่า “ดูธรรมในธรรม” สภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมาในขณะที่เราเจริญกรรมฐานนั้นเป็นอย่างไร ? สภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมาในขณะที่เราเจริญกรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นอาการพองยุบ อาการของเวทนา อาการของความคิด อันนี้คือสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นให้เราได้รับรู้ ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบันจริง ๆ หรือมีอาการเกิดดับที่ปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้า มีแล้วหมดไป มีอาการกระเพื่อมไหว มีอาการแตกกระจาย หรือแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นมา ที่เรียกว่า “โอภาส” หรืออาการอื่น ๆ ที่สติเรารับรู้ ตรงนั้นจัดเป็นสภาวธรรมทั้งหมด รวมแล้วสภาวธรรมก็คืออาการของรูปนามนั่นเอง
    ทีนี้ ในขณะที่เรากำหนดรู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน สิ่งที่เราต้องตามรู้คืออะไร ? รู้ถึงอาการพองยุบ รู้ถึงอาการของเวทนา รู้ถึงอาการของความคิด รู้ถึงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น และที่เราต้องสนใจกำหนดรู้จริง ๆ ควรจะรู้อะไร ? สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาก็คือ การกำหนดรู้อาการเกิดดับของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้อาการเกิดดับของรูปนามที่ปรากฏขึ้น รู้อาการเกิดดับของอาการพองยุบ รู้อาการเกิดดับของเวทนา รู้อาการเกิดดับของความคิด รู้อาการเกิดดับของสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้าเรา เขาเรียก “ตามกำหนดรู้อาการพระไตรลักษณ์” คือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
    เพราะฉะนั้น เวลาเราตามกำหนดรู้อาการ จึงต้องมี “เจตนา” ที่จะรู้ว่าอาการนี้ “เกิด” ในลักษณะอย่างไร ? “ดับ”ในลักษณะอย่างไร ? อย่างเช่น เราตามดูลมหายใจ หรือตามรู้อาการพองยุบ สังเกต เวลาเราหายใจเข้าไปนี่ ท้องพองออก พองออกแล้วมีอาการหยุดหรือหายไปก่อนไหม ก่อนที่จะยุบเข้าไป ? ยุบเข้าไปสุด มีอาการหยุด หายไปก่อนไหม ก่อนที่จะพองออกมา ? และการพิจารณาให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น แม้แต่ในขณะที่เขากำลังพองออก... เป็นเส้น หรือเป็นคลื่น หรือเป็นขณะ ขณะ ขณะ ? ต้องมี “เจตนา” ที่จะสังเกตอาการเกิดดับของพองยุบ ตรงนี้จะทำให้สติเรารู้อยู่กับปัจจุบันได้ต่อเนื่อง
    และสิ่งที่เราต้องรู้ต้องสังเกตก็คือว่า อาการเกิดดับของพองยุบเรา “เปลี่ยนไป” ในลักษณะอย่างไร ? ยังคงเดิม หรือเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เร็วบ้าง ช้าบ้าง ? นี่คือสิ่งที่ต้องรู้ เขาเรียก “รู้ความไม่เที่ยง” ดูการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ใช่รู้แค่ว่า พองแล้วก็ยุบ พองแล้วก็ยุบ... หรือ ยุบแล้วก็พอง... ต้องมีเจตนาที่จะรู้ถึงอาการเกิดดับของพองยุบ เวทนาก็เช่นเดียวกัน การดูจิต ดูความคิด ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีเวทนาเกิดขึ้น เราเข้าไปรู้เวทนาที่ปรากฏขึ้นมานั้น มีอาการอย่างไร ? ไม่ใช่แค่ปวดมากปวดน้อย เวทนานั้นมี “การเปลี่ยนแปลง” อย่างไร ? อันนี้คืออารมณ์หลัก ๆ ที่เราต้องมีเจตนาที่จะรู้
    ทีนี้ การกำหนดรู้อารมณ์หลัก ๆ เหล่านี้ เรารู้แล้วว่าขณะที่เรานั่ง อารมณ์อะไรที่ปรากฏชัดที่สุดสำหรับเรา อารมณ์หลักของแต่ละคนไม่เหมือนกันในการนั่งกรรมฐานแต่ละครั้ง บางคนนั่งแล้วอาการพองยุบชัดเจน บางคนนั่งแล้วความคิดมาก่อน แสดงว่าอารมณ์หลักของแต่ละคน ในแต่ละขณะ ก็อาจจะไม่เหมือนกัน เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ทุกครั้งเวลาเราปฏิบัติ ในแต่ละบัลลังก์ จุดเริ่มต้นสภาวะ อาจจะไม่ได้เริ่มด้วยพองยุบเสมอไป บางครั้งหลับตาความคิดมาก่อนแล้ว บางครั้งหลับตาลงก็เริ่มจากพองยุบ นั่งไปแป๊บหนึ่ง มีเวทนาขึ้นมา พองยุบไม่ชัดเจน นี่คือสภาวะที่ปรากฏขึ้นมา
    เพราะฉะนั้น โยคีต้องสังเกตสภาวะของตัวเองว่า ขณะนี้มีอารมณ์อันไหนที่ปรากฏชัดสำหรับเรา สติเราจะได้รู้อยู่กับปัจจุบัน ถ้าเราพยายามเลือกอารมณ์ อย่างเช่น พอเรานั่งกรรมฐานทุกครั้ง พอเริ่มนั่ง เราก็พยายามยึดพองยุบอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นมีความคิดปรากฏชัดกว่าพองยุบ เราก็พยายามบังคับจิตให้อยู่ที่พองยุบ ตรงนั้นมันจะเป็นสองอารมณ์ สังเกตว่าพอเป็นสองอารมณ์ อารมณ์ไหนมีกำลังมากกว่า จิตก็จะไปรับรู้อารมณ์นั้น นั่นคืออารมณ์ปัจจุบัน

    เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าให้มีสติอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน เราต้องเข้าใจว่าขณะนั้นอารมณ์ปัจจุบันของเราคืออะไร แสดงว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ความคิดมีกำลังมากกว่า จิตเราเข้าไปรับรู้ความคิด ความคิดก็คืออารมณ์ปัจจุบัน ถ้าเป็นอย่างนั้น ให้มีสติกำหนดรู้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของความคิด การกำหนดรู้อย่างนี้ต้องมีเจตนา ไม่ใช่ไปพยายามบังคับให้มันดับ หรือไม่ให้คิด เข้าไป “รู้” ความคิดที่เกิดขึ้นดับอย่างไร ? เข้ามาแล้วหายแบบไหน ? จางหาย หรือว่าแวบหายไป หรือแตกกระจายไป ? อันนี้คือการกำหนดรู้อาการเกิดดับของความคิดที่เข้ามา
    อีกอย่าง การมีสติกำหนดรู้ ไม่ใช่เฉพาะขณะที่เรานั่ง อิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง แล้วก็นอน ให้มีสติกำหนดรู้ในทุก ๆ อิริยาบถ ถามว่า อิริยาบถ “ยืน” เรากำหนดอะไร ? “เดิน” กำหนดรู้อะไร ? “นั่ง” เราพอเข้าใจแล้ว เวลาเรานั่งกำหนดอะไร อย่างที่พูดไปเมื่อกี้ “นอน” ก็ไม่ต่างกับนั่ง เพราะอยู่ในอิริยาบถที่เรานิ่ง “ยืน” ก็ไม่ต่างกับอิริยาบถนั่ง เพราะเราหยุดนิ่ง
    “เดิน” คือการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้น การที่เราก้าวเท้าซ้ายขวา ไม่ว่าจะเป็น ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้สติเราอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด จะใช้คำบริกรรมหรือไม่ก็ได้ (ขวาย่างหนอ.. ซ้ายย่างหนอ.. อันนี้เขาเรียก “คำบริกรรม”) หรือให้รู้ชัดไปกับอาการเคลื่อนไหวไปเลย ให้มีสติเกาะติดไปกับอาการ ก้าวขวา รู้ชัด ก้าวซ้าย รู้ชัด พร้อมกับสังเกตในลักษณะเดียวกันว่า ในขณะที่เราก้าวเท้าแต่ละข้าง มีอาการอย่างไร ? เป็นเส้น หรือมีอาการสะดุด มีการเกิดดับเป็นขณะ ๆ ไป ? อันนี้คือวิธีสังเกตอาการเกิดดับในขณะที่เราเดินจงกรมอีกอย่างหนึ่ง นอกจากการกำหนดรู้อาการเกิดดับของอารมณ์ต่าง ๆ สังเกตไหม เป้าหมายของการปฏิบัติของเราคืออะไร ? ดับทุกข์ ทำจิตให้ว่าง มีความสุข แม้ที่สุดแล้วก็เพื่อมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น ขณะที่เราปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นขณะยืนเดินนั่งนอน หรืออิริยาบถย่อยก็ตาม ขอให้เราทำจริง ๆ เจตนาใส่ใจในการกำหนดรู้จริง ๆ การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำจริง แม้ใช้เวลาเพียงสั้น ๆ สภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมาก็อาจจะยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะคิดได้ ทำจริง ๆ แล้วเราจะพบกับธรรมะที่พิเศษสำหรับเรา ขอให้เราตั้งใจกัน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 มีนาคม 2020

แชร์หน้านี้

Loading...