วิธีฝึกสมาธิในชีวิตประจำวัน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 13 กันยายน 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    คนเราทุกคนนี้เป็นอยู่ด้วยการทำงาน เราจะทำงานทั้งเวลาหลับ ทั้งเวลาตื่น เวลาตื่นเราทำงานทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจ แต่เวลานอนหลับเราทำงานโดยอัตโนมัติ จิตของเราก็ยังต้องคิด หัวใจก็ยังเต้น ปอดก็ยังสูดลมหายใจ อันนี้คือการทำงาน เพราะฉะนั้น ชีวิตก็คือการทำงาน งานก็คือชีวิต และสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าเรามาพูดถึงว่า สิ่งเหล่านั้นคือธรรม และเป็นธรรมได้อย่างไร

    ในข้อที่ว่า ธรรมะ คือ ชีวิต ชีวิตก็คือธรรมะ อะไรทำนองนี้ ที่เรียกว่าธรรมะ ก็เพราะเหตุว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ มันเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ และเป็นพื้นฐานที่เป็นเหตุให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้ มันมีอยู่ มีความเปลี่ยนแปลงและแสดงความจริงให้ปรากฏตลอดเวลา แม้แต่ลมหายใจของเรานี้มันก็แสดงความจริงให้ปรากฏอยู่ตลอดเวลา คือ การสูดลมออก สูดลมเข้า ความจริงมันก็ปรากฏคือ เราต้องมีชีวิตอยู่ ถ้าเราหยุดหายใจเมื่อไร หยุดสูดลมออก ลมเข้าเมื่อไร เมื่อนั้นก็หมายถึงความสิ้นสูญแห่งชีวิต คือ ตายนั่นเอง เพราะฉะนั้นในคำตอบปัญหาข้อที่ว่า ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือชีวิต นี้ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ผิดแน่นอน

    อีกนัยหนึ่ง การที่เรามาศึกษาธรรมะนี้ ชื่อว่าศึกษาให้รู้ความจริงของชีวิต เราควรจะได้ทราบคำว่า สภาวธรรม สภาวธรรมคือ สิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ ตั้งแต่อณู ปรมาณู หรือมวลสารที่เกาะกุมกันเป็นก้อนใหญ่โตหาประมาณมิได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือ ธรรมะด้านสภาวธรรม ธรรมะด้านสภาวธรรมนี้ ก็ย่อมมีปรากฏการณ์แสดงความจริงให้เรารู้อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเราสามารถกำหนดรู้ทันหรือเปล่า เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีปรากฏการณ์ขึ้น ทรงตัวอยู่ แล้วก็สลายตัว อันนี้คือกฎธรรมชาติที่เราจะต้องศึกษาให้รู้

    ภายในตัวของเรานี้ เราก็มีกายกับใจ กายกับใจนี้ ในเมื่อมีความสัมพันธ์อยู่ตราบใด เราก็ยังมีชีวิตเป็นอยู่ตราบนั้น เมื่อมีกาย มีใจแล้ว เราต้องมีส่วนประกอบคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ บางครั้ง พระพุทธเจ้าท่านก็ว่า อินทรีย์ 6 บางทีก็ว่า ประตู (ทวาร) ซึ่งสุดแล้วแต่โวหารของพระองค์ท่านจะรับสั่งมาเป็นประการใด ทีนี้ถ้ามุ่งถึงความเป็นใหญ่ก็เรียกว่า อินทรีย์ 6 มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ต่างมีความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของเขาแต่ละอย่างๆ จะก้าวก่ายกันไม่ได้ ไม่เหมือนมนุษย์เราธรรมดาๆ ซึ่งบางทีอาจจะก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกันได้

    ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เขามีหน้าที่เฉพาะตัว ถ้าหูจะอุตริไปดูแทนตา เชิญเลย ไม่มีทาง ทีนี้ตาจะทำหน้าที่อุตริมาทำแทนหู ก็ไม่มีทางทำได้ เพราะอาศัยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงสมมติบัญญัติว่า อันนี้ อินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่เฉพาะตัว ในบางครั้งท่านก็กล่าวว่ามันก็เป็นประตู ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นประตู ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่เรียกว่าประตู เพราะมีสิ่งผ่านออก ผ่านเข้า รูปผ่านเข้ามาทางตา เสียงผ่านเข้ามาทางหู กลิ่นผ่านเข้ามาทางจมูก รสผ่านเข้ามาทางลิ้น สัมผัสผ่านเข้ามาทางกาย ธรรมารมณ์ผ่านเข้ามาทางจิตใจ

    สิ่งทั้งหลายที่ผ่านเข้ามานี้ ถ้าเรากำหนดให้มันดีๆ แล้ว ทีนี้เรารู้ว่ามันผ่านออก ผ่านเข้าอยู่นี้ ใครเป็นผู้รู้ ก็จิตใจของเรานั่นเองแหละเป็นผู้รู้ สิ่งที่รู้ทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นสภาวธรรม กาย ใจ เป็นสภาวธรรม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็เป็นสภาวธรรม สิ่งที่ผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็เป็นสภาวธรรม ในที่สุดแม้ว่าใจผู้รู้ก็เป็นสภาวธรรมอีก สิ่งที่เป็นสภาวธรรมนั้น หมายถึงสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ดังที่ปรากฏให้เรารู้เห็นกันอยู่นี้

    เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ นักปฏิบัติธรรม นักศึกษาธรรมเอาใจมารู้กับสิ่งเหล่านี้ ทำสติกับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา เราก็ได้ชื่อว่ามีการปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา มาตอนนี้ มาพูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม อยากจะขอตัดเรื่องราววิธีการปฏิบัติธรรม ซึ่งเราเคยได้ยินได้ฟังมามากต่อมากแล้ว เช่น บริกรรมภาวนาบ้าง หรือการพิจารณาอะไรซึ่งเกี่ยวกับร่างกาย สังขารบ้างซึ่งเป็นส่วนภายใน อยากจะตีความหมายแห่งสภาวธรรมให้มันกว้างๆ ออกไป เพื่อที่เราจะได้มีทางปฏิบัติธรรมให้กว้างขวางออกไปยิ่งกว่าที่เราได้เคยได้ยิน ได้ฟังมา เข้าใจว่าสิ่งใดที่เราสามารถรู้ด้วยจิต หรือสิ่งใดที่เราสัมผัสด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เข้าใจว่าจะเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ควรจะนำเอาเป็นอารมณ์ปฏิบัติกรรมฐานได้

    ถ้าอย่างสมมติว่า ใครสักท่านหนึ่งอาจจะถามขึ้นมาว่า ข้าพเจ้าเรียนมาทางหมอ มีความรู้ทางแพทย์ จะเอาวิชาทางแพทย์มาเป็นอารมณ์ภาวนากรรมฐานนี้ ไม่ต้องเอาพุทโธ หรือ ยุบหนอ พองหนอ จะใช้ได้ไหม คำตอบก็คือ ได้ ทำไมจึงต้องได้ เพราะวิชาหมอ วิลชาแพทย์ที่เราเรียนมานั้น มันผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในเมื่อความรู้อันใดที่ผานเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ กาย และใจ เป็นสภาวธรรม สิ่งที่กายรู้ ใจรู้ หรือสัมผัสรู้นั้น ก็เป็นสภาวธรรม มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องวิตก เอามาเป็นอารมณ์ ปฏิบัติกรรมฐานได้ แม้ว่าใครจะเรียนมาในศาสตร์ไหน อย่างไรมาก็ตาม จะเป็นวิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือศาสตร์อะไรก็แล้วแต่ เรานึกวิตกเอาหัวข้อวิชาการที่เราเรียนมานั้น แล้วเอามาเป็นเครื่องพิจารณาของจิต ซึ่งเป็นวิชาที่เราเรียนมารู้มาก่อนแล้วมันคล่องตัวง่ายดี เช่น อย่างเราอาจจะนึกว่าวิชาแพทย์คืออะไร มีความสำคัญกับชีวิตของเราอย่างไร เวลาเราจะรักษาคนไข้ จะรักษาอย่างไร วางแผนอย่างไร อะไรทำนองนี้ ซึ่งเรายกเป็นหัวข้อมาตั้งเป็นปัญหาแล้วคิด คิดด้วยความมีสติสัมปชัญญะ คิดจนกระทั่งจิตของเรามันสงบ เพราะการคิดอันนั้น จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ เราบริกรรมภาวนา พุทโธๆ ๆ พุทโธคือความคิดเหมือนกัน ยุบหนอ พองหนอ คือความคิดเหมือนกัน สัมมาอรหังคือความคิดเหมือนกัน แต่ถาเราจะเอาเรื่องความคิดที่เราเรียนมานี้ เอาวิชาที่เราเรียนมาทุกอย่างมาเป็นความคิดนี้ มันก็เป็นความคิด ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นความคิด สิ่งนั้นก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ทำไมเราจะเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานไม่ได้ บางทีท่านอาจจะสงสัยว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีคำว่า ธรรมะ เจือปนอยู่เลย แล้วเราจะเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานได้อย่างไร

    ในสมัยที่อาตมาเป็นสามเณรน้อย เรียนธรรมบทแปลภาษาบาลี เคยแปลพบเรื่องหนึ่งว่า ช่างไม้นั่งถากไม้อยู่ อาการถากไม้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้สำเร็จพระอรหันต์เหมือนกัน การถากไม้มีคำว่า ธรรมะ เจือปนอยู่ด้วยไหม

    มีอีกคนหนึ่งนั่งทอหูกอยู่ ก็มาพิจารณาชีวิตัวเองเปรียบเทียบกับการทอหูก การทอหูกนี้มันหดสั้นเข้าไปเรื่อยฉันใด ชีวิตของเราก็สั้นเข้าไปทุกทีๆ แล้วก็ได้ความสลดสังเวชได้สำเร็จพระอรหันต์ การทอหูกมีคำว่า ธรรมะ หรือเปล่า

    มีท่านผู้หนึ่งเดินทางไปเห็นพยับแดดเดือนเมษามันร้อน มองเห็นพยับแดดเกิดความระยิบระยับขึ้นมา ก็ไปปลงปัญญาว่า อ๋อ พยับแดดนี้มันก็เปลี่ยนแปลงอย่างนี้นะ จิตก็ได้ความสังเวช ก็สำเร็จพระอรหันต์ พยับแดดมีคำว่า ธรรมะ เจือปนอยู่ด้วยหรือเปล่า

    ที่นำเรื่องต่างๆ มาเล่าให้ท่านทั่งหลายฟังนี้ อาตมาภาพอยากจะแก้ไขข้อสงสัยข้องใจบรรดานักศึกษาธรรมะทั้งหลาย เช่น อย่างบางทีว่า สมถะ กับ วิปัสสนา นี้มีนัยต่างกันอย่างไร เมื่อตะกี้นี้ก็ได้ยินคำถาม คำตอบในเทป คำว่าสมถะ กับวิปัสสนา มีความแตกต่างกันอย่างไร ถ้าจะให้ความตอบตรงตามความหมายกันจริงๆ สมถะ และวิปัสสนา ต่างกันแต่วิธีการ แต่จุดมุ่งหมายก็คือความสงบ ท่านจะสังเกตดูข้อเท็จจริง เท่าที่ท่านปฏิบัติผ่านมาก็ได้ ถ้าอยากจะรู้ข้อเท็จจริงที่เราไม่ต้องสงสัย ให้สลัดแบบทิ้งเอาไว้ก่อน การปฏิบัติสมถกรรมฐานตามความเข้าใจโดยทั่วไปคือ บริกรรมภาวนาและการเพ่งกสิณ หรือนึกอยู่สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียว หรือนึกถึงลมหายใจ หรือนึกถึงโครงกระดูกเป็นต้น แล้วเป็นการนึกอยู่เฉพาะในวงจำกัด เฉพาะสิ่งหนึ่งๆ เช่น อย่างนึกพุทโธๆ ๆ ก็นึกอยู่ที่พุทโธ อันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติแบบสมถะ แต่ถ้าท่านผู้ใดมีความคิดมาก สามารถที่จะคิดมากๆ วิตกถึงวิชาความรู้ที่เรียนมา อย่างที่เสนอแนะไปแล้วเมื่อสักครู่นี้ เช่น อย่างเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มา ก็มานึกถึงหัวข้อวิชาวิทยาศาสตร์แล้วก็ตั้งคำถามตัวเอง ตอบตัวเองไปเรื่อยว่า วิทยาศาสตร์คืออะไร ในเมื่อตอบไปได้แล้ว ก็เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์อย่างไร ตอบไปข้อไหน เพราะอะไรๆ ๆ ถามตัวเอง ตอบตัวเองเรื่อยไป หรือเราจะนึกน้อมเอาร่างกายของเรามาวิตกขึ้นมาว่า ร่างกายของเรานี้ ประกอบด้วย ขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็มาใช้ความคิดว่า รูปํ รูป ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกี่ยวกับเรื่อง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรื่อยไป การปฏิบัติแบบใช้ความคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญาเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน หรือปฏิบัติแบบวิปัสสนากรรมฐาน

    ถ้าจะจำกัดความให้มันเข้าใจอย่างชัดเจนก็คือว่า

    บริกรรมภาวนา คือ ปฏิบัติแบบสมถะ

    การปฏิบัติด้วยการใช้ปัญญาค้นคิดพิจารณาเป็นเรื่อง เป็นราว เพื่อเป็นอุบายให้จิตสงบ เป็นการปฏิบัติแบบวิปัสสนา

    ทั้งสองอย่างนี้แหละ การนึกอยู่สิ่งๆ เดียวก็ดี หรือการพิจารณาเป็นเรื่องเป็นราวก็ดี มุ่งสู่จุดแห่งความสงบ ตั้งมั่นของจิตในแนวแห่งสมาธิ เพราะทั้งสองอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติแล้วจะทำให้จิตสงบเหมือนกัน ไม่เชื่อทดลองดูก็ได้ เพราะฉะนั้น ข้อแตกต่างกันนี้ แตกต่างกันเฉพาะวิธีการ

    แต่ถ้าจะถามว่า การปฏิบัติด้วยบริกรรมภาวนานี้ กับการใช้สติปัญญาพิจารณา เมื่อผลเกิดขึ้นแล้วจะมีนัยแตกต่างกันบ้างไหม อันนี้มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง การบริกรรมภาวนา บางทีจิตสงบลงไปแล้ว ก็ไปนิ่งติดอยู่ที่สมถกรรมฐาน ที่ท่านว่าบริกรรมภาวนานี้ได้แค่สมถกรรมฐาน ถูกต้องตามที่ท่านว่า ส่วนมากจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าหากว่าผู้ที่ใช้สติปัญญาเริ่มต้นพิจารณาเป็นเรื่องเป็นราวไม่ต้องบริกรรมภาวนา เมื่อจิตสงบลงทำให้เกิดมีปีติ มีความสุข และมีสมาธิอย่างเดียวกับบริกรรมภาวนา ผู้ที่ใช้ความคิดนั้นในเมื่อมีสมาธิเกิดขึ้นแล้ว จิตจะเดินวิปัสสนาได้เร็วกว่าผู้ที่บริกรรมภาวนา เพราะฉะนั้น 2 อย่างนี้อย่าข้องใจ ใครจะบริกรรมภาวนาก็ได้ จะใช้สติปัญญาพิจารณาก็ได้ แต่ว่าขอเตือนเอาไว้อีกอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นประสบการณ์ ออกจะเป็นเรื่องนอกตำราสักหน่อยหนึ่ง

    การทำสมาธิ การปฏิบัติสมาธิต้องพยายามให้สัมพันธ์กับงานและชีวิตประจำวันที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน เช่น อย่างสมมติว่าท่านขับรถภาวนา พุทโธ ในขณะที่ขับรถภาวนา พุทโธ ถ้าต่างว่าจิตสงบลงไป แล้วมันไปอยู่กับพุทโธ ไม่สนใจกับการขับรถ ท่านลองหลับตานึกดูซิว่า อะไรจะเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ต้องขับรถไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง ถ้าร้ายไปหน่อยรถสวนมากๆ บางทีอาจจะชนเกิดอุบัติเหตุ อันนี้ลองพิจารณาดู เป็นประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟัง และเคยได้พบเห็นมาแล้วด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นการทำสมาธินี้ ถ้าพยายามทำสมาธิ ฝึกสมาธิให้มันมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม อันเป็นเรื่องจริงของชีวิตประจำวันได้จะดีที่สุด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างก็ได้กล่าวแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นสภาวธรรม เป็นเครื่องรู้ของจิต การปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้ เราทำสติรู้อย่างเดียว เรื่องพิธีรีตองนั้นตัดออกไว้เสียก่อน ถ้าเราจะทำให้เป็นพิธีนั้น เอาไว้ทำตอนเช้า ตอนเย็นที่เรามีไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน แต่ถ้าเราจะทำในขณะนี้ ขณะนี้ท่านฟังเทศน์ ท่านอาจจะทำสติกับการฟังเทศน์ เอาเสียงเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ถ้าท่านกำหนดจดจ่อฟังอยู่ แม้ว่าท่านจะจำคำพูดไม่ได้ทุกคำ ท่านอาจจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นมาว่า เสียงนี้มันก็มีสูงๆ ต่ำๆ มีหนัก มีเบา แล้วมีสั้นมียาว ประเดี๋ยวท่านก็รู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขึ้นมาด้วยการกำหนดรู้ปัจจุบัน หรือแม้ในที่สุดท่านอาจจะกำหนดรู้ความเป็นอยู่ในปัจจุบันของท่าน ท่านนั่งนานๆ แล้วมันปวดหลัง นั่งนานๆ แล้วมันเมื่อย นั่งนานๆ แล้วมันง่วง ในเมื่อรู้สึกตัวขึ้นมามีสติแล้ว ท่านอาจจะได้รู้ธรรมขึ้นมาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่ตลอดเวลา พอเข้ามาในห้องนี้ตอนแรกก็อากาศเย็นเฉียบเพราะฤทธิ์ของแอร์ หนักๆ เข้าความอบอ้าวมันเกิดขึ้น จากกลิ่นไอของกันและกัน บางทีอาจจะเกิดความร้อน

    ทีนี้บางทีพระที่พูดที่เทศน์อยู่นี้ ตอนแรกก็ความรู้สึกว่าน่าฟัง ฟังไป ฟังมา มันเหน็ดเหนื่อย อาจจะเกิดรำคาญขึ้นมาก็ได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือเหตุการณ์ปัจจุบันที่มันจะเกิดขึ้นส่อแสดงให้เรารู้ธรรมะ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำสมาธิให้มีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ให้มันใกล้ที่สุด อย่าให้มันห่างกัน

    ในมหาสติปัฏฐาน ท่านก็ให้กำหนด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด และคิด ทำสติอย่างเดียว ทีนี้ ในสิ่งอื่นๆ ที่เราทำอยู่ เวลาเราต้องการใช้ความคิดเกี่ยวกับงาน เราก็เอาเรื่องงานมาคิด ทำสติคิดให้มันจดจ่อลงให้มันชัดๆ เวลาทำๆ สติอยู่กับงาน เวลาเขียนหนังสือก็ทำสติอยู่กับสิ่งนั้น ทำอะไรก็ทำสติกับสิ่งนั้น ทำสติอย่างเดียว อันนี้คือการปฏิบัติสมาธิเพื่อให้เกิดพลังจิตมีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันกับงานที่เราทำอยู่ โดยเอาเรื่องของชีวิตประจำวันเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ

    เพราะฉะนั้น จึงใคร่ที่จะขอประมวลหลักการที่จะพึงยึดเป็นแบบฉบับในการปฏิบัติไว้ 3 อย่าง

    1. บริกรรมภาวนา อย่างนี้เราปฏิบัติมาแล้ว อะไรก็ได้

    2. การใช้สติปัญญาพิจารณา โดยวิตกเอาความรู้ที่เราเรียนมา หรือถ้าหากใครรู้เรื่องกาย เรื่องใจมากๆ เรื่องอภิธรรมมากๆ จะวิตกเอาอภิธรรมมาเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติก็ได้ ถ้าท่านผู้ใดไม่คล่องต่อเรื่องของธรรมะ ก็เอาวิชาการที่เราเรียนมา ที่เรารู้มาที่คล่องๆ แล้วนั้น มาเป็นอารมณ์พิจารณาในเบื้องต้น มันจะช่วยให้การพิจารณาของเราคล่องตัวขึ้น อันนี้เป็นขั้นแห่งการพิจารณา จะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ก็ได้

    3. การกำหนดรู้โดยที่เราตั้งใจกำหนดรู้ลงที่จิต ทำจิตให้ว่างอยู่ชั่วขณะหนึ่ง โดยธรรมดาของจิตเมื่อเราตั้งใจกำหนดลง เราจะเกิดความว่าง ในเวลาเมื่อเกิดความว่างขึ้นมาแล้ว เราก็กำหนดดูที่ความว่าง ในเมื่อจิตว่างอยู่สักพักหนึ่งความคิดย่อมเกิดขึ้น เมื่อความคิดเกิดขึ้น ทำสติตามรู้ความคิดนั้น เพียงแต่สักว่ารู้ อย่าไปช่วยมันคิด ความคิดอะไรเกิดขึ้นกำหนดรู้ ความคิดอะไรเกิดขึ้นกำหนดรู้ ยกตัวอย่างเช่น คิดถึงสีแดง ก็เพียงรู้ว่าสีแดง ไม่ต้องไปคิดว่าสีแดงคืออะไร ถ้าหากว่าจิตมันคิดไปโดยอัตโนมัติของมัน เราทำสติตามรู้อยู่ทุกระยะ อย่าเผลอ ในทำนองนี้ จะเป็นอุบายทำให้จิตของเรารู้เท่าทันอารมณ์ สติตัวนี้จะกลายเป็นมหาสติ

    ถ้าสติมันกลายเป็นมหาสติ จะสามารถประคับประคองจิตให้ดำรงอยู่ในสภาพปกติไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้ง่าย เมื่อสติตัวนี้เป็นมหาสติแล้ว เพิ่มพลังขึ้นด้วยการฝึกฝนอบรม กลายเป็นสตินนทรีย์ เมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสตินนทรีย์แล้ว พอกระทบอะไรขึ้นมา จิตจะค้นคว้าพิจารณาไปเองโดยอัตโนมัติโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ

    เมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสตินนทรีย์ เป็นใหญ่ในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับว่า จิตของเราสามารถเหนี่ยวเอาอารมณ์มาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ หรือเอากิเลสมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ เพราะ สติตัวนี้เป็นใหญ่ย่อมมีอำนาจเหนืออารมณ์ และสามารถใช้อารมณ์ให้เกิดประโยชน์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สติตัวนี้จะกลายเป็น สติวินโย ในเมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสติวินโย สมาธิสติปัญญาของผู้ปฏิบัติมีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น ท่านผู้นั้นจะไม่มีการหลับ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด และคิดตลอด 24 ชั่วโมง สติสัมปชัญญะเป็นสายสัมพันธ์สืบต่อกันตลอดเวลา แม้หลับลงไปแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองนอนไม่หลับ เพราะสติไม่ขาดตอน สติตัวรู้หรือสติตัวรู้สำนึก หรือสติเป็นตัวการ ซึ่งเป็นสติวินโยนี้ มันจะคอยจดจ่ออยู่ที่จิตตลอดเวลา พออะไรเข้ามาพลั๊บมันจะฉกเหมือนงูเห่าฉกเหยื่ออย่างนั้น ถ้าสิ่งใดที่มันยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง มันจะยึดเอามาแล้วก็พิจาณา ค้นคว้าจนรู้ความจริง ถ้ามันรู้แล้วก็สัมผัสรู้แล้วมันนิ่ง เวลาเราจะทำงานทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด สติตัวนี้มันจะคล้ายๆ ว่าตัวรู้ปรากฏอยู่ในท่ามกลางแห่งทรวงอก ส่วนที่ส่งกระแสออกไปทำงาน มันก็ทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราสามารถจะเอาพลังแห่งสมาธิไปใช้ในงานทุกประเภทได้

    การทำสมาธิอันใดทำให้ท่านเบื่อต่อโลก ต่อครอบครัว มันยังไม่ถูกต้องหรอก ถ้าทำสมาธิมีสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงดีแล้ว ต้องสามารถเอาพลังของสมาธิไปสนับสนุนงานการที่เราทำอยู่ได้ นักศึกษาก็ต้องเอาพลังแห่งสมาธิไปสนับสนุนการศึกษา เคยให้คำแนะนำแก่นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ ว่าวันแต่ละวันๆ ไปเรียนหนังสือ วันนี้อาจารย์ท่านสอนอะไรมา พอกลับมาถึงที่พัก พอเสร็จธุระแล้ว ให้วิตกถึงวิชาที่เราเรียนมาในวันนั้น มาคิดทบทวน เป็นการทบทวนความจำ คิดไป คิดมา นึกไป นึกมา อยู่อย่างนั้นด้วยความตั้งใจ ผลปรากฏว่า ทำให้นักศึกษาทั้งหลายที่มีความสนใจปฏิบัติอย่างนี้มีสมาธิแล้วก็สามารถเรียนหนังสือเก่งสามารถที่จะเอาสมาธิไปสนับสนุนการศึกษาและงานการที่เราทำอยู่ บางท่านถึงกับเอาพลังสมาธิไปช่วยสร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขึ้นมาก็ได้ อันนี้ถ้าหากมีนักศึกษามาฟังอยู่นี้ ลองพิจารณาดู ลองปฏิบัติดู วันหนึ่งไปเรียนอะไรมา วิตกถึงความรู้อันนั้น ค้นคว้าพิจารณาเป็นการทวนความจำ

    ทีนี้ อย่างพ่อบ้านแม่เรือนทั้งหลาย ถ้าท่านผู้ใดเกิดมีปัญหาครอบครัว เช่น อย่างพ่อบ้านแม่บ้านไม่ค่อยจะลงรอยกัน มีมติขัดแย้งอยู่ ก็ให้พยายามตั้งปัญหาถามตัวเองว่า เรามีความบกพร่องอะไร ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งท่านอาจจะเผลอไปเที่ยวดึกดื่นเที่ยงคืน กลับมาแม่บ้านโมโหบิดหูเอา ท่านอย่าเพิ่งไปโกรธ ให้ตั้งปัญหาถามตัวเองก่อนว่าเราผิดอะไร ถ้าเรามีสติยับยั้งถามตัวเองสักพักหนึ่ง เราจะได้ความรู้ ด้วยความรู้สึกว่าเราผิด เพราะเราไปเที่ยวดึกเกินไป อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหาครอบครัวและชีวิตประจำวัน การปฏิบัติธรรมนี้ มิใช่ว่าเราต้องากรความรู้ความเห็นมาคุยอวดกันให้เสียเวลา เราต้องการธรรมะอันที่สามารถจะมาแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้ สามารถแก้ปัญหาหัวใจได้ สามารถแก้ไขปัญหางานการได้ สามารถใช้พลังสมาธิไปสนับสนุนกิจการงานที่เราทำอยู่ได้ทุกประเภท จึงจะชื่อว่าเป็นการฝึกสมาธิแล้วได้ผลคุ้มค่าแก่การเสียเวลา

    สัมมาสมาธิ
    พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
    วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
    Home Main Page
     

แชร์หน้านี้

Loading...