วิธีเข้าฌาณ-ออกฌาณ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย ขอนไม้แห้ง, 18 มกราคม 2014.

  1. ขอนไม้แห้ง

    ขอนไม้แห้ง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    228
    ค่าพลัง:
    +1,618
    [​IMG]

    ๑. บริกรรมนิมิต ได้แก่ข้อกัมมัฏฐานที่นำมาเป็นข้ออบรมจิต ปรากฏอยู่ในห้วงนึกคิดของบุคคลเป็นเวลาชั่วขณะจิตหนึ่งแล้วเคลื่อนไป ต้องตั้งใหม่เป็นพักๆ ไป อย่างนี้แลเรียกว่า บริกรรมนิมิต จิตในขณะนี้เป็นสมาธิเพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง จึงเรียกว่า ขณิกสมาธิ.

    ๒. อุคคหนิมิต ได้แก่ข้อกัมมัฏฐานนั้นเหมือนกัน ปรากฏอยู่ในห้วงความนึกคิดของบุคคลอย่างชัดเจนขึ้น ด้วยอำนาจกำลังของสติสัมปชัญญะควบคุม และดำรงอยู่นานเกินกว่าขณะจิตหนึ่งจิตไม่ตกภวังค์ง่าย องค์ของฌานปรากฏขึ้นในจิตเกือบครบถ้วนแล้ว อย่างนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต จิตในขณะนั้นเป็นสมาธิใกล้ต่อความเป็นฌานแล้ว เรียกว่า อุปจารสมาธิ ถ้าจะพูดให้ชัดอีกก็ว่า เข้าเขตฌานนั่นเอง.

    ๓. ปฏิภาคนิมิต ได้แก่ข้อกัมมัฏฐานที่นำมาอบรมจิตนั่นเอง เข้าไปปรากฏอยู่ในห้วงนึกคิดของบุคคลแจ่มแจ้งชัดเจน ถ้าเป็นรูปธรรมก็เป็นภาพชัดเจนและผ่องใสสวยสดงดงามกว่าสภาพเดิมของมัน ถ้าเป็นอรูปธรรมก็จะปรากฏเหตุผลชัดแจ้งแก่ใจพร้อมทั้งอุปมาอุปไมยหลายหลาก จะเห็นเหตุผลที่ไม่เคยเห็น และจะทราบอุปมาที่ไม่เคยทราบอย่างแปลกประหลาด อย่างนี้แลเรียกว่าปฏิภาคนิมิต จิตใจในขณะนั้นจะดำรงมั่นคง มีองค์ฌานครบถ้วน ๕ ประการเกิดขึ้นในจิต บำรุงเลี้ยงจิตให้สงบสุขแช่มชื่นอย่างยิ่ง จึงเรียกว่า อัปปนาสมาธิ จัดเป็นฌานชั้นต้นที่แท้จริง จิตจะดำรงอยู่ในฌานนานหลายขณะจิต จึงจะเคลื่อนจากฌานตกลงสู่ภวังค์ คือจิตปกติธรรมดา.

    นิมิตทั้ง ๓ เป็นเครื่องกำหนดหมายของสมาธิทั้ง ๓ ชั้น ดังกล่าวมานั้น ท่านจึงเรียกชื่อเช่นนั้น ผู้ปฏิบัติพึงสำเหนียกไว้เป็นข้อสังเกตขีดขั้นของสมาธิสำหรับตนเองต่อไป.

    ทีนี้จะได้เริ่มกล่าวถึงวิธีเจริญฌานที่แท้จริงสืบไป เมื่อผู้ปฏิบัติทำการอบรมจิตมาจนถึงได้สมาธิ คือความเป็นหนึ่งของจิตขั้นที่ ๓ ที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิแล้ว ชื่อว่าเข้าขั้นของฌาน เป็นฌายีบุคคล แล้วในขั้นต่อไป มีแต่จะทำการเจริญฌานนั้นให้ช่ำชองยิ่งขึ้นโดยลำดับขั้นทั้ง ๕ ดังต่อไปนี้

    ๑. ขั้นนึกอารมณ์

    ฝึกหัดนึกอารมณ์ที่ใช้เป็นเครื่องอบรมจิตจนได้ฌานนั้นโดยช้าๆ ก่อน เหมือนเมื่อได้ครั้งแรก ต้องนึกคิดและอ่านอารมณ์ตั้งนานๆ ใจจึงจะเห็นเหตุผลและหยั่งลงสู่ความสงบได้ แล้วค่อยหัดนึกอารมณ์นั้นไว้เข้าโดยลำดับๆ จนสามารถพอนึกอารมณ์นั้นใจก็สงบทันที เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการนึกอารมณ์ ที่ท่านเรียกว่า อาวัชชนวสี = ชำนาญในการนึก.

    ๒. ขั้นเข้าฌาน

    ฝึกหัดเข้าฌานโดยวิธีเข้าช้าๆ คือ ค่อยๆ เคลื่อนความสงบของจิต ไปสู่ความสงบยิ่งขึ้นอย่างเชื่องช้า คอยสังเกตความรู้สึกของจิต ตามระยะที่เคลื่อนเข้าไปนั้น พร้อมกับอารมณ์ที่ให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นไปด้วย แล้วหัดเข้าให้ไวขึ้นทุกทีๆ จนสามารถเข้าได้ทันใจ ผ่านระยะรวดเร็วเข้าถึงจุดสงบที่เราต้องการเข้าทันที เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการเข้าฌาน ที่ท่านเรียกว่า สมาปัชชนวสี = ชำนาญในการเข้า.

    ๓. ขั้นดำรงฌาน

    ฝึกหัดดำรงฌานโดยวิธีกำหนดใจดำรงอยู่ในฌานเพียงระยะสั้นๆ ให้ชำนาญดีเสียก่อน แล้วจึงกำหนดให้ยั้งอยู่นานยิ่งขึ้นทีละน้อยๆ จนสามารถดำรงฌานไว้ได้ตั้งหลายๆ ชั่วโมง ตั้งวัน จนถึง๗ วัน เมื่อการกำหนดฌานเป็นไปตามที่กำหนดทุกครั้งไม่เคลื่อนคลาดแล้ว ชื่อว่ามีอำนาจในการดำรงฌาน ที่ท่านเรียกว่า อธิษฐานวสี = ชำนาญในการอธิษฐาน.

    ๔. ขั้นออกฌาน

    ฝึกหัดออกฌาน โดยวิธีถอนจิตออกจากความสงบอย่างช้าๆ ก่อน คือ พอดำรงอยู่ในฌานได้ตามกำหนดที่ตั้งใจไว้แล้ว พึงนึกขึ้นว่า ออก เท่านั้นจิตก็เริ่มไหวตัว และเคลื่อนออกจากจุดสงบที่เข้าไปยับยั้งอยู่นั้น พึงหัดเคลื่อนออกมาตามระยะโดยทำนองเข้าฌานที่กล่าวแล้ว และพึงสังเกตความรู้สึกตามระยะนั้นๆ ไว้ด้วย จนมาถึงความรู้สึกอย่างปกติธรรมดา ชื่อว่าออกฌาน ในครั้งต่อๆไปพึงหัดออกให้ว่องไวขึ้นทีละน้อยๆ จนถึงสามารถออกทันทีที่นึกว่าออก คือ พอนึกก็ออกได้ทันทีโดยไม่มีการกระเทือนต่อวิถีประสาทแต่ประการใด เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการออกฌาน ที่ท่านเรียกว่า วุฏฐานวสี = ชำนาญในการออก.

    ๕. ขั้นพิจารณาฌาน

    ฝึกหัดพิจารณาฌาน โดยวิธีเมื่อถอยจิตออกจากฌาน มาถึงขั้นความรู้สึกปกติธรรมดาแล้วแทนที่จะลุกโดยเร็วออกจากที่ หรือหันไปสนใจเรื่องอื่น ก็หันมาสนใจอยู่กับฌานอีกที นึกทวนดูลักษณะฌานพร้อมทั้งองค์ประกอบของฌานนั้น แต่ละลักษณะให้แจ่มใสขึ้นอีกครั้ง โดยความสุขุมไม่รีบร้อน ครั้งต่อไปจึงหัดพิจารณาให้รวดเร็วขึ้นทีละน้อยๆ จนสามารถพอนึกก็ทราบทั่วไปในฌานทันที เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการพิจารณาฌาน ที่ท่านเรียกว่า ปัจจเวกขณวสี = ชำนาญในการพิจารณา.

    ในขั้นต่อไปก็มีแต่ขั้นของ การเลื่อนฌาน คือก้าวหน้าไปสู่ฌานชั้นสูงกว่า ถ้าท่านผู้ปฏิบัติไม่ใจร้อนเกินไป เมื่อฝึกโดยขั้นทั้ง ๕ ในฌานขั้นหนึ่งๆ ชำนาญแล้ว การก้าวไปสู่ฌานชั้นสูงกว่าจะไม่ลำบากเลย และไม่ค่อยผิดพลาดด้วย ขอให้ถือหลักของโบราณว่า “ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ”ไว้เป็นคติเตือนใจเสมอๆ.

    วิธีการที่จะเลื่อนฌานได้สะดวกดังใจนั้น อยู่ที่กำหนดหัวเลี้ยวหัวต่อของฌานไว้ให้ดี คือ ขั้นต่อไปจะต้องละองค์ฌานที่เท่าไร และองค์ฌานนั้นมีลักษณะอย่างไร ดำรงอยู่ได้ด้วยอะไร ดังที่ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้แล้วในตอนว่าด้วยลักษณะฌานทั้ง ๔ นั้น เมื่อกำหนดรู้แจ่มชัดแล้ว พึงกำหนดใจไว้ด้วยองค์ที่เป็นปฏิปักษ์กับองค์ที่ต้องละนั้นให้มาก เพียงเท่านี้จิตก็เลื่อนขึ้นสู่ฌานชั้นสูงกว่าได้ทันที เมื่อเข้าถึงขีดชั้นของฌานชั้นนั้นแล้ว พึงทำการฝึกหัดตามขั้นทั้ง ๕ ให้ชำนาญ แล้วจึงเลื่อนสู่ชั้นที่สูงกว่าขึ้นไป โดยนัยนี้ ตลอดทั้ง ๔ ฌาน.

    เพื่อสะดวกแก่การกำหนดหัวต่อ ของฌานดังกล่าวแล้วแก่ผู้ปฏิบัติ จึงขอชี้ “หนาม” ของฌานให้เห็นชัด โดยอาศัยพระพุทธภาษิตเป็นหลัก ดังต่อไปนี้

    พระบรมศาสดาตรัสชี้หนามของฌานไว้ว่า เสียง เป็นหนามของปฐมฌาน, วิตก =ความคิด วิจาร = ความอ่าน เป็นหนามของทุติยฌาน, ปีติ = ความชุ่มชื่น เป็นหนามของตติย-ฌาน, ลมหายใจ เป็นหนามของจตุตถฌาน ดังนี้.

    ในขั้นปฐมฌาน จิตยังสังโยคกับอารมณ์อยู่ อายตนะภายในยังพร้อมที่จะรับสัมผัสอายตนะภายนอกได้อยู่ฉะนั้น เสียง จึงสามารถเสียดแทรกเข้าไปทางโสตประสาทสู่จุดรวมคือใจ แล้วทำใจให้กระเทือนเคลื่อนจากอารมณ์ที่กำลังคิดอ่านอยู่ บรรดาอายตนะภายนอกที่สามารถเสียดแทรกทำความกระเทือนใจในเวลาทำฌานนั้น เสียงนับว่าเป็นเยี่ยมกว่าเพื่อน ยิ่งเป็นเสียงที่กระแทกแรงๆ โดยกะทันหัน ยิ่งเป็นหนามที่แหลมที่สุด สามารถกระชากจิตจากฌานทันทีทันใด แต่ถ้าดื่มด่ำในอารมณ์ของฌานให้มากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณแล้ว เสียงก็จะทำอะไรใจเราไม่ได้ ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน ไม่กระเทือนถึงใจนั่นเลย.

    ในขั้นทุติยฌาน ความคิดความอ่าน จะกลายเป็นหนามตำจิตขึ้นมาในทันที คือ เมื่อไรดิ่งลงสู่ความสงบเงียบโดยไม่คิดอ่านอะไรเลยนั้น ใจก็จะผ่องแผ้วอยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย ภาพนิมิตในขณะนั้นคือ จิตจะใสแจ๋วเหมือนน้ำใสนิ่งๆ ฉะนั้น แต่ครั้นแล้วเพราะความเคยชิน คือ จิตเคยท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์มานาน หรืออารมณ์เคยคลอเคลียอยู่กับจิตมานาน เมื่อมาพรากกันเช่นนี้ก็จะพรากกันนานไม่ได้ ต้องมาเยือนบ่อยๆ จะค่อยๆ ปุดขึ้นในจิตเหมือนปุดฟองน้ำ ที่ปรากฏขึ้นมาจากส่วนใต้สุดของพื้นน้ำในเมื่อน้ำเริ่มใสใหม่ๆ ฉะนั้น เมื่อความคิดอ่านปุดโผล่ขึ้นในจิต จิตก็ไหวฉะนั้นท่านจึงว่าเป็นหนามของฌานชั้นนี้ วิธีแก้ก็คือ ไม่เอาใจใส่เสียเลย เอาสติกุมใจให้นิ่งๆ ไว้เหมือนแขกมาเยือน เหมือนเราไม่เอาใจใส่ต้อนรับ แขกก็จะเก้อกลับไป และไม่มาอีกบ่อยนักหรือไม่มาอีกเลยฉะนั้น.

    ในขั้นตติยฌาน ปีติ = ความชุ่มชื่น ซึ่งเป็นทิพยาหารในฌานที่ ๑-๒ นั้น จะเกิดเป็นหนามของฌานชั้นนี้ทันที จะคอยทำให้จิตใจฟองฟูอยู่บ่อยๆ เหตุผลก็เหมือนในขั้นทุติยฌานนั่นเอง คือปีติเคยเป็นทิพยาหารของใจมานานแล้ว เมื่อมาพรากไปเสียเช่นนี้ ก็อดจะคิดถึงและมาเยือนไม่ได้วิธีแก้ก็ต้องใช้สติกุมใจให้วางเฉย ไม่เอาใจใส่ถึงอีกเลย มันก็จะหายหน้าไป ถ้าไม่เรียก มันก็จะไม่มาอีก.

    ในขั้นจตุตถฌาน ลมหายใจ ซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งกายสืบต่อชีวิตนั้น เป็นที่ตั้งของสุขทุกข์และโสมนัสโทมนัส เมื่อมาปรากฏในความรับรู้ของจิตอยู่ตราบใด สุขโสมนัส และทุกขโทมนัส ซึ่งอาศัยอยู่กับมัน ก็จะปรากฏทำการรบกวนจิตอยู่ตราบนั้น เพราะลมหายใจเป็นพาหนะของมัน ลมหายใจมีอยู่ได้โดยธรรมดาเอง แม้จิตไม่เข้าไปเป็นเจ้าการ ก็คงมีอยู่เหมือนเวลานอนหลับ แต่ในความรู้สึกของคนตื่นอยู่ คล้ายกะว่ามันเป็นอันเดียวกันกับจิต จนไม่อยากวางธุระในมัน เข้าไปเป็นเจ้าการกับมันอยู่เรื่อยไป ผู้เข้าฌานไม่เหมือนคนหลับ ตรงกันข้ามเป็นคนตื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ลมหายใจจึงคอยแหลมเข้าไปหาจิตบ่อยๆ เมื่อแหลมเข้าไปเมื่อไรจิตใจก็มักจะสัมปยุตต์กับมัน หรือมิฉะนั้นก็สะเทือน จึงชื่อว่าเป็นหนามของจตุตถฌาน วิธีการแก้ก็คือ เอาสติกุมจิตให้วางเฉยที่สุดไม่ใส่ใจถึงส่วนหนึ่งส่วนใดของกายอีกเลย ลมหายใจก็ไม่ปรากฏในความรับรู้ของจิต ทั้งจะกลายเป็นลมละเอียดนิ่งเต็มตัว ไม่มีอาการเคลื่อนไหวไปมา และเวลานั้นจะรู้สึกประหนึ่งว่า ตนนั่งอยู่ในกลุ่มอากาศใสๆ สงบนิ่งแน่อยู่ เหมือนนั่งเอาผ้าขาวสะอาดโปร่งบางคลุมตัวตลอดศีรษะฉะนั้น.

    ผู้ปฏิบัติพึงสำเหนียกต่อไปอีกว่า การเจริญฌานนั้น เปรียบเหมือนการสำรวจภูมิประเทศซึ่งจำต้องเดินสำรวจกลับไปกลับมา เที่ยวแล้วเที่ยวเล่าจนช่ำชอง มองเห็นภูมิประเทศในห้วงนึกอย่างทะลุปรุโปร่งฉะนั้น เพราะฉะนั้น ต้องเดินฌานที่ตนได้แล้ว ตั้งแต่ปลายจนต้น เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า เป็นเหตุให้เกิดความช่ำชองในฌานทะลุปรุโปร่ง.
     

แชร์หน้านี้

Loading...