ศิลปะแห่งการรู้ซื่อ ๆ หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 22 มีนาคม 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ศิลปะแห่งการรู้ซื่อ ๆ

    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ


    ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย กราบคารวะแด่ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูป เจริญในธรรม แด่ญาติ โยม สาธุชนทุก ๆ คน



    เราก็มาฟังพูด ถ้าฟังแล้วจำเอา มันก็ได้ของปลอม ๆ ไป แต่การพูดการสอนนี้ ก็จำเป็น การพูดให้รู้ ให้จำมันง่าย สอนให้รู้นี่มันง่าย มีผู้สอนทั่วบ้านทั่วเมือง ที่เรานั่งอยู่นี้ก็มี แต่คนที่มีความรู้ทั้งนั้น รู้ดีรู้ชั่ว รู้ผิดรู้ถูก ทุกคนก็รู้อยู่ เช่นความโกรธ มันไม่ดี ความทุกข์ มันไม่ดี เราก็รู้อยู่ แต่เราก็ยังมีทุกข์ มีโกรธ ทีนี้ การสอนให้เป็นนี่ เราต้อง สอนตัวเราเอง สอนให้รู้เรียนจากคนอื่นได้ สอนให้จำง่าย สอนให้เป็น ต้องสอนตัวเอง


    การพูดวันนี้ ก็ให้เป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตรกันกับ พวกเราทุกคน แม้แต่ในเทศกาลนี้ โอกาสนี้ พวกเราก็มาเป็น กัลยาณมิตรกัน เพื่อที่จะร่วมกันทำ พากันกระทำ นี่เป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง การสอนให้เป็นนี้ เราต้องสอนตัวเอง แม้แต่การฟัง การพูด ก็เป็นการกระทำอยู่ในตัวมันเอง เช่น เราเจริญสติ การเจริญสตินี้ ก็ขออย่าให้มีแนวร่วมอย่างอื่น ให้มีสติ บริสุทธิ์ มีสติซื่อ ๆ ตรง ๆ ให้มีความรู้สึกตัว ซื่อ ๆ ตรง ๆ รู้สึกที่กาย ซื่อ ๆ ตรง ๆ ให้มีสติเต็มที่ อย่าให้มีอะไรเป็น เบื้องหน้าเบื้องหลัง นั่นเรียกว่าสอนให้เป็น ให้สติมันท่องเที่ยว อยู่กับกาย กับรูป ให้สติมันเห็นจิตเห็นใจ เวลาที่มันคิดอย่า ให้มีอะไรมาขวางกั้น ให้โอกาสแก่สติเต็มที่ เกี่ยวกับกายนี้ รู้ซื่อ ๆ ตรง ๆ รู้บริสุทธิ์ วิธีใดที่เราจะมีความรู้ตัวอยู่ภายใน กาย เราก็หาโอกาสนั้น ให้มันซื่อ ๆ ตรง ๆ รู้ซื่อ ๆ แต่บาง คนไม่ใช่ บางคนและอาตมาหรือหลวงพ่อนี่ก็เหมือนกัน สมัยก่อน มันไม่รู้ซื่อ ๆ ตรง ๆ มันเผื่อมันก็ไปรู้อะไรอยู่ มันก็คิดไป ทำไมจึงทำอย่างนี้ มันเอาผิดเอาถูกเอาเหตุเอาผล ไปร่วมด้วย ทำอย่างนี้มันดี มันชอบมันไม่ชอบ ทำไมจึงทำ อย่างนี้ ถ้ารู้แล้วมันจะเป็นอย่างไร เช่น เรามีสติอยู่ เอ้..เรามี สติหรือเปล่า อันนี้เป็นสติหรือเปล่า อันรู้อยู่นี้เป็นสติหรือ ความคิดกันแน่ บางทีมันก็คิดไป ไม่รู้ว่าตัวสติมันคืออะไร มันก็เลยถูกแบ่งถูกแยกตลอดเวลา เอาเหตุเอาผลไปร่วม เอาผิดเอาถูกไปร่วมกับการกระทำ มันก็เลยไม่เต็มที่


    รู้ รู้ รู้ รู้ รู้ รู้สึกตัว


    ทำใหม่ ๆ นี้ อย่าเพิ่งไปเอาเหตุเอาผล ไปเอาผิดเอา ถูกจากความคิด อย่าไปเอาอย่างนั้น วิธีใดที่จะมีสติรู้กาย วิธีใดที่จะมีสติรู้จิตใจ ให้ตรงเข้าไป ตรงเข้าไป อย่าเพิ่งไป เอาผิดเอาถูก ถูกก่อนถูก ผิดก่อนผิด เป็นก่อนเป็น เห็นก่อนเห็น ไม่ใช่ มันจะผิดต่อเมื่อมันผิด มันจะถูกต่อเมื่อมันถูก มันจะเป็นต่อเมื่อมันเป็น มันจะเห็นต่อเมื่อมันเห็น ให้มีสติซื่อๆ อย่าเพิ่งไปเอาเหตุเอาผล อย่าเพิ่งไปคิด ต่อไปมันไม่ต้องคิดดอก เมื่อมีสติเห็นกาย มีสติเห็นจิตใจอยู่นาน ๆ มันจะเห็นเอง เขาไม่เรียกว่าคิดดอก เขาเรียกว่าธรรมวิจย เรียกว่า โยนิโสมนสิกการ มันแยกมันแยะ มันเกิดญาณ เกิดปัญญา ขึ้นเอง นี่เรียกว่าทำซื่อ ๆ เช่น เรายกมือ พลิกมือ ก็ให้รู้ซื่อ ๆ ไปก่อน ให้รู้สึกว่ายกมือขึ้น รู้สึกว่าพลิกมือขึ้น รู้สึกว่า ไหวไปไหวมา ที่จริงวิธีที่เราทำอยู่นี้ แต่ก่อนเขามีรูปแบบ แบบหนึ่ง เขาไม่ได้ทำเหมือนกับเราทุกวันนี้ ต่อมา หลวงพ่อเทียนได้มาประยุกต์ขึ้น สมัยก่อนเรียกว่า วิธีไหว-นิ่ง เช่น เอามือวางไว้บนเข่า พลิกมือขึ้น ก็ว่า ไหว-นิ่ง ไหว-นิ่ง ไหว-นิ่ง เขาบริกรรมไปด้วย มีคำบริกรรมมันไม่ซื่อ ๆ มันไม่ตรงมันยังมีคำบริกรรมมาขวางกั้นอยู่ หลวงปู่เทียน ก็เลยมาพัฒนาให้ไม่ต้องบริกรรม ให้รู้สึกเฉย ๆ รู้สึกตัวรู้สึก ก็ไม่ต้องว่านะ ให้รู้สึกเฉย ๆ รู้สึก ที่จริงมันก็รู้รู้ มันรู้ ลักษณะของความรู้สึกนี่มันรู้เฉพาะ มันไม่ใช่รู้จี้นะ มัน รู้ รู้ รู้ (หลวงพ่อยกมือทำตัวอย่างประกอบ) รู้ รู้ รู้อย่างนี้นะ ไม่ใช่จี้นะ แต่บางคนรู้จี้ไป รู้จี้ไป จี้ไป ตามไป ตามไป มันยาว ถ้าอย่างนั้นมันจะกลายเป็นสมถะไป บางทีก็อึดอัดขัดเคือง บางทีก็แน่น บางที่ก็ง่วง บางทีก็เครียดไปเลย รู้ซื่อ ๆ นี่ รู้อย่างยิ้มแย้มแจ่มใสนะ รู้ รู้ ถ้าจะนับ ดูก็มี หนึ่งรู้ สองรู้ สามรู้ สี่รู้ ห้ารู้ หกรู้ เจ็ดรู้ แปดรู้ เก้ารู้ สิบรู้ สิบเอ็ดรู้ สิบสองรู้ สิบสามรู้ สิบสี่รู้ มันรู้ เป็นรู้ เป็นรู้ นี่เป็นรู้อย่างบริสุทธิ์ อย่ามีอะไรเป็นแยก เป็นแยะ ให้ตัวรู้สัมผัสกับตัวกายจริง ๆ ให้สัมผัสกันจริง ๆ เมื่อมันรู้อย่างนี้มันจะชำนาญ มันจะต้อง ชำนาญแน่นอน ถ้ามันสัมผัส สัมผัส สัมผัส เหมือนกับมือที่เรา สัมผัสกับอะไรบ่อย ๆ มันก็ต้องชำนาญอย่างแน่นอน


    ศิลปะศิลปิน หลวงพ่อเป็นศิลปะศิลปินในการดนตรีอยู่บ้าง เวลาเราเอานิ้วมือสัมผัสกับรูแคนรูขลุ่ย สัมผัสกับค้อน ที่ตีระนาด การสัมผัสจริง ๆ นี้ มันมีศิลปะของมันอยู่ในตัว เช่น นิ้วมือที่ไปสัมผัสรูแคนรูขลุ่ยนี้มันจะได้เสียงที่ไพเราะที่สุด ถ้าเรามีความกดกลึงเข้าไป มันจะจี้ เสียงมันจะไม่เพราะ ถ้าเราไปนับรูแคนนี้ มันจะย้อน ๆ หน่อยหนึ่ง นับรูขลุ่ย มัน จะย้อน ๆ หน่อยหนึ่ง ระหว่างนิ้วที่มันดีดพอดี ๆ กับเสียงที่เรา ต้องการพอดี ระหว่างค้อนที่มันไปถูกระนาดพอดี ๆ แทนที่จะตีเป็ง อย่างนี้ มันมีเสียงตรึง..ง เสียงมันเพราะ การมีสติสัมผัสกายซื่อ ๆ ตรง ๆ มันจะมีศิลปะของมัน ไม่ต้อง ไปหาเหตุหาผล มันจะรู้แบบบริสุทธิ์ รู้แบบสุขุม รู้แบบชัดเจน ถ้ามันได้สัมผัสกับความรู้สึกจริง ๆ มันจะเป็นศิลปะ มันจะ ชำนิชำนาญ มันจะรู้ที่ชัดเจนเข้าไป การสัมผัสกับกาย การมีความรู้สึกอยู่กับกายจริง ๆ นี้ มันไม่ใช้รู้เฉย ๆ มันก็เป็น งานพัฒนาของมันอยู่ในตัว หรืออุปมาเหมือนกับเรา ทำมาหากิน ถ้า เรารู้ไม่บริสุทธิ์ มันจะสิ้นเปลืองพลังงานมากนะ รู้แบบเอาเหตุเอาผล รู้แบบจี้ รู้แบบบังคับนั่น มันจะสิ้นเปลือง พลังงาน บางคนทำความเพียร เดินจงกรม ก็ดี นั่งสร้างจัง หวะก็ดี รู้สึกว่าหน้าตาบูดบึ้ง คร่ำเครียด มันหนักเกินไป ถ้าเรา ทำถูก ทำถูกมันไม่หนัก มันสดชื่น มันเบา มันสบาย มันลืม ลืมเวลา แต่บางคนนี้โอย.. พลิกแล้วพลิกอีกมันไปอยู่กับอะไร มันบังคับเกินไปมันไม่ซื่อ มันไม่ตรง มันจะเป็นสุข มันจะเป็น ธรรมตั้งแต่แรกแล้ว ความรู้สึกตัวนี่นะ มันจะจัดสรรของมันเอง ทำให้รู้สึกระลึกได้ชัดเจนไปตามลำดับ


    อยู่ตรงกลาง ดูนอกดูใน ไม่เข้าไม่ออก


    คนโบราณ เขาทำมาหากิน หลวงพ่อเคยไปกับโยมแม่ สมัยเด็ก ไปปลูกแตง ปลูกถั่ว เวลาฝนตกใหม่ ๆ เวลาโยมแม่่เอาเม็ดแตงเม็ดถั่วปลูกลงไป แม่จะพูดออกไปว่า “ คนกินเป็น บุญ นกกินเป็นทาน นกกินเป็นทาน คนกินเป็นบุญ ” มันสบาย ดี แต่ถ้าเราไม่รู้นะ ทำอะไรลงไป เราก็อาจจะคิดไป คิดไป จะได้ผล จะขาดทุน จะกำไร จะเสียหายอย่างไร มันสิ้นเปลือง พลังงาน บางทีก็นับวันเวลาไป เออ.. เรามาเท่านั้นเท่านี้วัน ยังไม่รู้ ไม่รู้ เป็นผู้ไม่รู้ไปแล้ว บางคนก็เป็นผู้รู้ไปแล้ว เข้าไปเป็นง่าย ๆ ถลำเข้าไปในความคิด ไปปรุงแต่ง ผลที่สุด ตัวสังขารมันปฏิบัติธรรม ตัวหลงมันปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอยู่ก็ยังหลงอยู่ รู้แล้วไม่รู้แล้ว อยู่กับความรู้ อยู่กับความไม่รู้ อยู่กับความผิด อยู่กับความถูก ถ้าเข้าไปอยู่ มันจะเห็นได้อย่างไร มันก็เลยอยู่ในถ้ำ หลวงปู่เทียนท่านสอนพวกเรา สมัยที่หลวงพ่อปฏิบัติใหม่ๆ หลวงปู่เทียนท่านให้เข้าไป ในกุฏิหลวงปู่เทียนก็บอกว่า เอ้า.. ปิดประตู ปิดประตู หลวงพ่อ ก็ปิดประตู ท่านก็ถาม เห็นข้าง นอกไหม เห็นข้างนอกไหม ไม่เห็นครับ ทำอย่างไร จึงจะเห็น ข้างนอกและข้างใน เปิด ประตูหลวงพ่อ เอ้า..เปิดประตูซิ ก็เปิด ประตูออกมายืน อยู่ตรง กลางประตู ระหว่างกลางประตู หลวงปู่เทียนก็ถามว่า เห็นข้าง นอกไหม เราก็บอกว่าเห็น เห็นข้างในไหม เห็น ทำอย่าง นี้นะ ให้ทำอย่างนี้นะ ว่าแล้วท่านก็หนีไป มันคืออะไร ก็คือ ให้รู้ซื่อ ๆ นี่แหละ อย่าเข้าไปอยู่ อย่าไปเอา อย่าไปเป็น เป็นผู้ผิด เป็นผู้ถูก เป็นผู้ได้ เป็นผู้ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นมัน ก็เหมือนกับมีม่านมาขวางกั้น มันไม่ซื่อมันไม่ตรง มันไม่เปิด ออก มันไม่เปิดเผย ไม่เปิดเผย


    สติล้วน ๆ ไม่เอา ไม่เป็น


    ลองทำดูซิ ให้รู้ซื่อ ๆ ก้าวไปทีละก้าว ก็รู้ซื่อ ๆ อย่าไป เอาผิดเอาถูก อย่าไปเอาได้ อย่าไปเอาเสีย ไม่มีเสีย ไม่มีได้ ไม่มีผิด ไม่มีถูก ถ้าเป็นสติล้วน ๆ นะ มันไม่มีถูก ไม่มีผิด มันไม่รู้ มันไม่มีไม่รู้ มันจะมีแต่สติล้วน ๆ ให้สติมีโอกาส เต็มที่ เหมือนกับเราปลูกข้าว ถ้าปลูกไม่เป็น มันก็ไม่ค่อยขึ้น เหมือนกันนะ ถ้าปลูกข้าว ปลูกพริก ปลูกมะเขือ ปลูกผล หมากรากไม้ นี้ถ้าปลูกไม่เป็นมันก็ขึ้นยาก รากมันก็ไม่ค่อย งอกง่าย ถ้าเราปลูกเป็นนี้มันเหมาะ มันเหมาะเจาะ มันเหมาะ สม มันสมดุล มันก็ออกราก ตั้งต้นดี ถ้าเราปลูกไม่เป็น มันก็ขาด พอจะแตกรากออกมา เดี๋ยวก็รากขาด ลมพัดง่อนแง่น คลอนแคลนอยู่เรื่อย ตั้งต้นใหม่ ตั้งต้นใหม่อยู่เสมอ ผลที่สุด ก็ไม่งอกงาม นี่ให้เราทำดู นี่สอนให้ทำ ไม่ใช่สอนให้รู้ สอนให้ทำนะ พวกเรามาอยู่กันที่นี่ ต้องพยายามทำ ทำซื่อ ๆ ตรง ๆ มีตัวอย่าง สมัยหนึ่ง หลวงพ่อกลับจากสิงคโปร์ มาแวะที่หาดใหญ่ก็มีคนนำฝรั่งคนหนึ่งเข้าไปหา ฝรั่งคนนั้นก็บอกกับ หลวงพ่อเลยว่า อย่าสอนผมนะ หลวงพ่ออย่าสอนผมนะ หลวงพ่อสั่งให้ผมทำดีกว่า ผมรู้มามากแล้ว อย่าสอนผม ให้ผม ทำดีกว่า ดูซิ ฝรั่งเขาพูด หลวงพ่อก็รู้สึกว่า โอ..ดี เหมือนกัน ก็บอกเขา ให้เขาเริ่มต้นแบบนี้แหละ กรรม กรรมคือการกระทำ ให้รู้สึก พลิกมือขึ้นรู้ไหม รู้ ยกมือขึ้น รู้ไหม รู้ รู้นะ รู้ ก็ให้เขา ทำอยู่นั่นราว 30 นาที ต่อจากนั้นก็พาเขาเดิน เดินก้าวไปให้ รู้นะ เขาก้าวไปทีใด หลวงพ่อก็เอามือเคาะแขนเขา รู้อย่างนี้นะ รู้อย่างนี้นะ ก้าวไป ก็ให้รู้อย่างนี้นะ รู้ รู้ รู้สึก ให้เดินดูสัก 30 นาที ก็เรียกเขามานั่ง ให้เขายกมือสร้างจังหวะอีก เขาได้สัมผัส กับความรู้สึก ตัวสัมผัสกับสติอยู่กับกาย ก็ถามเขาว่า เมื่อกี้นี้คุณมีสติอยู่กับกาย จิตใจของคุณคิดไปทางอื่นไหม ไม่คิด อยู่ตรงนี้ รู้ตรงนี้ รู้ตรงนี้ ถ้ารู้อย่างนี้ คุณเคยรู้อยู่อย่าง นี้นาน ๆ ไหม 1 วันเคยไหม ไม่เคย ชั่วโมงหนึ่งเคยรู้ไหม ไม่รู้ ก็เพิ่งมารู้เดี๋ยวนี้ หลวงพ่อสอน นี่ จุดนี้เป็นจุดที่เราบก พร่องกันอยู่ ในหมู่พุทธบริษัท จุดอื่นไม่บกพร่องกันหรอก มันบกพร่องจุดนี้แหละ พุทธศาสนาเกิดขึ้นตรงนี้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็เกิดขึ้นตรงนี้ คือ คุณนั่นแหละ คือคุณธรรม ต้องให้กำเนิด ให้กำเนิดตรงนี้ ตรงนี้เป็นที่เกิด ของพุทธภาวะคือภาวะที่รู้ รู้เข้าไป อย่าทำลาย อย่าทำลายภาวะ อันนี้


    เราจึงสมควรที่จะมีโอกาสอย่างนี้ มีสถานที่อย่างนี้ ไม่ใช่เราทำเป็นแฟชั่น ไม่ใช่เราโฆษณา จะทำอย่างอื่นมัน ไม่ถูก พิธีรีตอง ทำบุญ ทำทาน เข้าปริวาสอะไรต่าง ๆ มันไม่ถูก วิธีที่จะให้มันถูกกับความรู้สึกจริง ๆ มันต้องทำ ทำอย่างนี้ ต้องชวนกันมาทำอย่างนี้ ต้องมาอยู่อย่างนี้ เรียกว่า กิจกรรมของ พระศาสนาต้องเริ่มด้วยวิธีนี้ เราปฏิเสธวิธีนี้ไม่ได้ ต้องมีสถานที่ ต้องมีสิ่งแวดล้อม ต้องชวนกันมา ต้องมาทำอย่างนี้ ตอนเช้า ตอนเย็น ก็พูดประกอบ มีการพูดประกอบ มีการกระทำ ประกอบ เพื่อให้มันได้สิ่งแวดล้อมที่ดี ๆ นี่ เราจึงพากันมา ทำแบบนี้ แม้แต่หลวงพ่อพูดอยู่เดี๋ยวนี้ ก็ไม่ใช่ฟังแล้วจำ แต่ให้ฟังแล้วทำ ฟังแล้วกระทำ ทำอยู่ในกายในใจของเรา สัมผัสอยู่กับตัวเรา พอหลวงพ่อพูดว่าสติ เราก็รู้ โอ.. รู้สึก รู้สึกไปกับการได้ยิน สิ่งที่หลวงพ่อพูด ก็มีอยู่กับเรา อยู่กับตัวเรา ทุกคน มันมีอยู่กับเรา คล้ายกับว่า ยิ่งหลวงพ่อพูดเรา ก็ยิ่งเห็น ตัวเรา เห็นอะไร เห็น เห็นในสิ่งที่หลวงพ่อพูด เช่น ความรู้สึก เราก็มีความรู้สึก อยู่เฉยๆ ก็มีความรู้สึก ถ้าเราชำนาญนะ อาจจะไม่ต้องยกมือเคลื่อนไหวก็ได้ นั่งอยู่เฉย ๆ ก็มีความรู้สึก กระพริบตาก็รู้สึกได้ หายใจก็รู้สึกได้ ตัวรู้ที่ไปรู้การกระพริบ ตาก็เป็นความรู้สึก คือสติ ตัวรู้ที่ไปรู้ลมหายใจ ก็เป็นความรู้สึก คือสติ ความรู้ที่กระดิกนิ้วมือ ก็เป็นความรู้สึก คือสติ อยู่เฉยๆ ก็เป็นสติ อยู่ที่ไหนก็เป็นสติ แม้แต่อยู่เฉย ๆ นั่งอยู่เฉย ๆ ก็เป็น ความรู้สึกตัว


    กัลยาณมิตร บัณฑิตภายใน นำไปสู่มรรค สู่ผล


    นี่ การที่หลวงพ่อพูดนี่ ขอให้เสียงนี้เป็นกัลยาณมิตรกับเรา สติก็เป็นกัลยาณมิตรกับตัวเรา ให้คบ คบกับสิ่งเหล่านี้ คบ บัณฑิต คบบัณฑิต ก็ไม่ใช่คบกับคนนั้นคนนี้ อันนั้นก็ดี เป็น บัณฑิตภายนอก แต่บัณฑิตภายในจริง ๆ ก็คือ ความรู้สึกตัวนี้ เราพยายามคบดูสิ สัก 7 วัน เราก็คบมาหลายวันแล้ว เรียกว่า คบบัณฑิตรู้ซื่อ ๆ รู้ตรง ๆ เห็นไหม ตอนที่พระพุทธองค์ แสดง ธรรมปฐมเทศนาให้ปัญจวัคคีย์ฟัง โกณฑัญญะพราหมณ์เห็นธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้มาเป็นพระสงฆ์รูปแรก สองสาม วันต่อมา วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ก็ได้ดวงตา เห็นธรรม พอพระพุทธเจ้าแสดงธรรมปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ชี้ ก็พูดเรื่องทางกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค เป็นทางสุดโต่งไม่ควรเดิน มัชฌิมาปฏิปทา คือทาง ทางเดินของใจ ทางเดินทางใจเรียกว่า มรรค มรรคก็คือความ รู้สึกตัวนี้ ความรู้สึกตัว ตัวดู ตัวเห็น ตัวรู้อยู่นี่ เรียกว่ามรรค ผู้ใดมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ ผู้นั้นกำลังเดินทาง ทางใจกำลัง เป็นมรรค หรือเป็นยาน ก็กำลังนั่งอยู่บนยาน กำลังพาไป ยาน ก็คือมรรค พอพูดเรื่องนี้ไป โกณฑัญญะพราหมณ์ก็ทำไปด้วย รู้ไปด้วย ในที่สุดก็แสดงถึงอนัตตลักขณสูตร รูปนี้เที่ยงไหม ไม่เที่ยงสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็น ทุกข์ควรหรือที่จะไปยึดไปถือเอา มันไม่ใช่บอกหรอกมันเห็น สอนให้เห็น ว่าโดยความเป็นจริงก็คือ ตัวเรานั่นแหละสอน ตัวเรา สอนตัวเรา สอนให้เป็น สอนให้รู้นั้นคนอื่นสอนให้ แต่สอนให้เป็นตัวเราต้องสอนตัวเราเอง เป็นแล้วหรือยัง มีความรู้สึกไปในกายเป็นหรือยัง หัดมันไหม เราเดินอยู่รู้สึก รู้สึก บางทีมันคิดไป พอมันคิดไปเราทำอย่างไร ก็มีสติ ให้มีสติ กำหนด รู้กายที่มันเคลื่อนไหวอยู่นี้ เวลามันมีสติมันยังคิดอยู่ หรือ มันแก้ได้ไหม มันเปลี่ยนได้ไหม มันเปลี่ยนได้ พอมีสติทีใด ความคิดมันก็หยุด ก็มารู้ที่กายเคลื่อนไหวอยู่นี้ นี่ มันเป็น มันคิดไปทีหนึ่งก็รู้มาทีหนึ่ง พอรู้ นั่นก็คือการสอนตัวเรา ถูก สอนบ่อย ๆ มันคิดเท่าไรก็ยิ่งดี แต่บางคนไปเอาถูกเอาผิดกับ ความคิด พอมันคิดไป ก็ผิดแล้ว ถ้าอย่างนั้นไม่ถูก พอมันคิด เห็นมันคิด ไม่ใช่ผิดไม่ใช่ถูก มีแต่เห็น เห็นมันคิด รู้ว่ามันคิด พอรู้สึกว่ามันคิด เรื่องทุกอย่างมันก็จบ ต่อรู้ว่ามันคิด มันก็ ชำนาญขึ้น


    ภาวะที่รู้ว่ามันคิดนี้ เห็นอยู่บ่อย ๆ เห็นอยู่บ่อย ๆ มันจะมี ศิลปะ เหมือนกับเราเห็นหน้าเห็นตากัน เห็นกันครั้งหนึ่ง อาจ จะลืมๆหลงๆไป ให้เห็นหลายครั้งหลายคราว หลายหน มัน ก็รู้กันหละ คุ้นเคยกัน รู้กัน ไม่ใช่รู้เฉย ๆ นะ รู้น้ำใจ รู้นิสัย เป็นเพื่อนเป็น มิตรกัน อย่างไรควรคบ ควรไม่คบอย่างไร นี่..ความรู้สึกตัวนี้เช่น บางคนเห็นความคิด ก็เข้าใจว่าตัวเองผิด พอมันคิดไป ผิดแล้ว อันนั้น เป็น เป็นผู้ผิด มันไม่ถูก เหมือน หลวงพ่อสมัยไปปฏิบัติใหม่ ๆ อยู่วัดภูเขา บ้านบุโฮม บ้านหลวงปู่เทียน สมัยนั้นหลวงปู่เทียนท่านให้ไปอยู่ที่นั่น มีผู้ปฏิบัติหลาย ๆ คน มีพระองค์หนึ่ง เดินจงกรมอยู่ด้วยกัน เดินไป มันเป็นภูเขา หลวงพ่อรูปนั้นเดินต่ำกว่า หลวงพ่อ ที่นั่งอยู่นี่ หลวงพ่อรูปนั้นเดินเหนื่อยก็เลยนั่ง หลวงพ่อ ก็เห็นท่านนั่ง แต่หลวงพ่อยังเดินอยู่ หลวงพ่อได้ยินเสียงแป๊ะ แป๊บ เอารองเท้ามาตีหัวตัวเอง นั่งอยู่เอารองเท้าแตะมา ตีหัวเองดัง แป๊ะ โป๊ก ก็เดินไปหา ถามว่า หลวงพ่อทำอะไร หลวงพ่อรูปนั้นก็พูดว่ามันคิดอะไร ไม่รู้ว่ามันคิดอะไรนักหนา ไอ้บ้านี่ ไอ้ห่านี่ เอารองเท้ามาตีหัวตัวเอง นั่นมันไม่ใช่เห็นแล้ว มันเป็นไปแล้ว เอาผิดกับตัวเอง ทำเท่าไรก็ไม่รู้นะ ถ้าทำอย่าง นั้นนะ มันจะไปอยู่กับอะไร พลัดถิ่นอยู่เรื่อย ๆ เหมือนกับปลูก ข้าวแล้วถอนอยู่เรื่อย ๆ รากมันก็ไม่งอก เราปลูกข้าวที่มันลอย น้ำขึ้นมา เพื่อนเขาถอดหางไก่เขียว งามดีแล้ว ( ข้าวถอด หางไก่ = ข้าวที่ปักดำแล้วถอดยอดใหม่ ) นี่ยังเหลืองจ๋องอยู่ มันก็ไม่เป็นผล เพราะฉะนั้นเวลามันคิด อย่าไปเอาผิดเอาถูก ให้เห็นซื่อ ๆ ความคิด ก็เป็นประโยชน์ เราจะได้เห็นมัน มันไม่ใช่ผิดอะไรดอก ความคิดเกิดขึ้นแล้ว ดี เราจะได้เห็น ภาวะรู้สึก นี่ อือ..ม์ รู้สดชื่น เห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ ก็ อือ..ม์ เห็นมันร้อนก็ อือ..ม์ เห็นมันหนาว ก็อือ..ม์ นี่เป็นวิปัสสนาน้อย ๆ วิปัสสนาน้อย ๆ กำลังเกิดขึ้น


    อย่างนี้ไม่ใช่นักกรรมฐาน


    ถ้าเป็นผู้ผิด เป็นผู้ถูก มันเป็นภพเป็นชาติอยู่ มันยังหลง ถ้าจะว่าแล้ว มันยังหลงอยู่ไม่ใช่รู้ ตัวรู้นี่นะมันจะเป็นกลางที่สุด ไปประกอบกับอะไรก็ได้ มันจะเป็นกลางที่สุด เป็นธรรมที่สุด ใช้กับอะไรก็ได้ ไม่ใช่จะไปเอาผิด ผิดไม่ชอบ ถูกเราจึงชอบ รู้เราจึงชอบ ไม่รู้เราไม่ชอบ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ถ้าเป็นอย่างนั้น ตัวรู้ไม่เจริญ ถูกตัดถูกแบ่ง ถูกแยกอยู่เสมอ ตัวรู้มันไม่เจริญ เข้าใจไหมโยม ที่หลวงพ่อพูดนี่ เป็นไหม เป็นไหมโยม ที่หลวงพ่อพูดอยู่นี้ เวลามันรู้เราก็พอใจใช่ไหม เวลามันไม่รู้ ก็หน้าเง้าหน้างอ ไม่สบายใจ เวลาใดมันผิด ก็อือ..ม์ ไม่สบายใจ เวลาใดมันถูกอือ..ม์อย่างนี้ดี หลวงพ่อเคยไปถาม ไปสอบอารมณ์ สมัยก่อน ที่อยู่ป่าสุคะโต มีคนไปปฏิบัติมาก ไปถามผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นอย่างไรหนู ฮือ..วันนี้หนูแย่ ไม่รู้ว่ามันคิดอะไร มันเครียดไปหมดเลย ไม่เหมือนเมื่อวานนี้ วันนี้หนูไม่ไหว ๆ ๆ หลวงพ่อก็บอกว่า เอ้ย..พูดอย่างนี้ไม่ ใช่นักกรรมฐานหรอก พูดใหม่ดูซิ เขาก็คิด ก็พูดใหม่ว่า อือ..วันนี้หนูเห็นมันคิด เห็นมันคร่ำเครียด เออ..ถ้าพูดอย่าง นี้ใช้ได้ หนูเห็นมัน ประโยคก่อน เขาเป็น เขาก็ฉลาดขึ้นมา เขาเห็น เห็นอะไร เห็นมันเครียดเห็นมันคิด คำว่าเห็นนี่ใช้ได้ คำว่าเป็นนี่ใช้ไม่ได้ เข้าใจไหมโยม เข้าใจบ้อ..


    พวกเราเป็นหรือว่าเห็น แยกตรงนี้นะ วิปัสสนาจะแยก ตรงนี้ กำลังถลุงแล้ว กำลัง ย่อยออก กำลังสลาย ย่อยออก สลายออก เป็นสุญญตา จนทำให้ไม่มีตัวไม่มีตน วิธี ที่เราจะเข้าสู่มรรค ผล ต้องไปทางนี้นะ มันมีอยู่ในตัวเรา มันบอกเส้นทางเรา มรรคก็แน่นอนอยู่แล้ว มรรค ก็คือดู คือเห็นนั่นแหละโยม มันมาให้เราดู มาให้เราเห็น เห็นไหม สิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย ทางกายก็มี ทางใจก็มี เรื่องทางใจที่มัน มาให้เราดู เยอะแยะมันยินดี มีไหม ห้าหกวันนี้ เคยเห็นความยินดีไหม มีสุขเคยเห็นไหม มันทุกข์เคยเห็นไหม มันมาให้เรา เห็น เห็นไหม พอใจ มีไหม ไม่พอใจ มีไหม เห็นไหม นี่ มรรค ถ้าเห็นเป็นมรรค ไม่ใช่มักนะ ( มัก = ภาษาอีสาน เพี้ยนเสียง หมายถึง ชอบ รัก พอใจ ) ถ้าเห็น จึงจะเป็นมรรค นั่นแหละมรรค มรรค มัชฌิมาปฏิปทา ทางไปสู่มรรค ผล ก็คือตรงนี้แหละ ตรงเห็นอย่าเป็น มันมาให้เราเห็น บางคนอาจ จะเครียด เห็นไหม เห็นความเครียด บางคนอาจจะเห็นความง่วง เห็นไหม บางคนอาจจะเห็นความคิด เห็นไหม


    เรื่องจิตนี่เอาไม่ได้ มีแต่เห็น เห็น


    ภาวะที่ดู ภาวะที่เห็นนี่นะ ให้เจริญให้มาก เจริญตัวเห็น ให้มาก ให้เห็นกายมันเคลื่อนไหวอยู่นั่น ยกมือขึ้นเห็น เอามือลงเห็น รู้เห็น รู้เห็นอยู่ เวลาใดที่เราไม่ต้องการ มันมา ให้เราเห็นอีก นอกจากที่เราเจตนา เช่น ความคิด ไม่ได้เจตนา มันก็คิดขึ้นมา เมื่อเราเห็นความคิดก็หมดไป เรามากำหนด ตัวรู้นี้แทนที่มันจะเสีย มันไม่เสีย ดี มันคิดขึ้นมา ดีเสียด้วยเรา จะได้เห็นมัน เห็นมันคิด บางที่มันรู้นะมันรู้อะไรต่อมิอะไร เยอะแยะ บางทีมันก็สุข อมยิ้ม อย่าไปเอา อย่าไปเป็น ยืนอยู่บน ความเห็นเอกลักษณ์ของนักปฏิบัติ อยู่ที่ตัวเห็นตัวดูนี่ ไม่เป็น ไม่ผิด ไม่เสียเวลา แต่ถ้าบางคนเป็น ก็เสียไปอีกหละ เป็นปิติ เป็นปัสสัทธิ เป็นนิมิต เป็นวิปัสสนู เป็นจินตญาณ รู้อะไร เยอะแยะไปหมดเลย ไปตกแหล่งความรู้ ก็รู้เอา รู้โน่นรู้นี่ เป็นผู้รู้เสียเวลาไปอีกแล้ว ไม่ต้องรู้ ก็ได้ แต่ให้เห็นมัน เห็นมันรู้ เห็นมันไม่รู้ เหมือนกับเรานั่งรถจากโน่น จากจังหวัดชัยภูมิ พอมาถึงวัดป่าเขาคงคา พอมาถึงที่นี่แล้วไม่ต้องสอน เรื่องที่ผ่าน มา ไม่ต้องสอน มันเห็นแล้วเพราะผ่านมา แต่บางคนพอไปเจอ ต้นไม้ใหญ่ร่มเย็นสบาย บางทีก็พักอยู่ที่นั่นเสียเลย บางคนไป เจอแดด เจอร้อนหน้าดำหน้าแดงมา ไปเป็นเอากับภาวะนั้น ให้เราผ่านมาเสียก่อนอย่าโลภ บางคนก็โลภเอา เอาผิดเอาถูก ก็เป็นความโลภ จะเอา จะเอา เอาอย่างนั้น มันไม่ถูก โดยเฉพาะ เรื่องจิตใจนี่เอาไม่ได้ มีแต่เห็น เห็นนี่


    ถึงคราวจนเข้ามาจริง ๆ จะมีค่า


    บางคนอาจจะฟังไม่เข้าใจ พูดไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นไร ก็พูดเอา ไว้อย่างนี้แหละ ถ้ามันจนมา มันอาจจะคว้าหา อาจจะเป็น ประโยชน์ในช่วงนั้น เมื่อวานนี้ก็ได้พูดกับหลวงพ่อเจริญ หลวงพ่อจรัลว่า ผมพูดนี้ ผมไม่ได้ทำให้คนรู้เดี๋ยวนี้ อาจจะเป็น ไปไม่ได้ อาจจะ 20-30 ปีโน่น คำพูดนี้อาจจะพิสูจน์ได้ หรือ บางทีเราจน เราจนตรอกมา เพราะเราเคยได้ยินมา อาจจะคว้า หาเอามาทำให้มันมีขึ้นมา เช่น หลวงพ่อพูดว่า อย่าไปอยู่ ให้ดู บางทีเราจนเจียนเข้ามา มันทุกข์ มันเจ็บมันปวด อาจจะระลึก ได้ว่าหลวงพ่อเคยพูด ดูดูมัน ก็มาดูมัน ภาวะที่ดูอาจจะช่วย ช่วยแก้ปัญหาได้ ภาวะที่ดู พอเราสัมผัสกับภาวะที่ดูนี่ มันก็อาจจะหลุดจะพ้น จะปล่อยจะวางอะไรก็ได้ ใครจะช่วยเราเดี๋ยวนี้ เราอาจจะมีตาเต้นอยู่เยอะแยะ อาจจะเอาโน่นเอานี่ ยังไม่จน ถึงคราวจนเข้ามาจริง ๆ จะมีค่า จะมีค่า เพราะฉะนั้น พูดเอาไว้ อย่างนี้แหละให้ได้ยินได้ฟังกันเอาไว้ รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม แต่ว่า ไม่ใช่เหลือวิสัยของเรา เราจึงมาทำกรรมฐานกัน กรรม เป็นสิ่งจำแนกสัตว์ มาเริ่มต้นที่ตรงนี้กัน พวกเรามาดูกาย ความรู้สึก ให้มันสัมผัสกับกายจริง ๆ บางที่เราดูกายอยู่ สิ่งที่มันมา รบกวน มาแยกให้เราหลง ชวนให้เราหลง เช่นความคิด ความ ง่วง นิวรณ์ธรรมต่าง ๆ เราก็จะได้เห็นมัน จะได้เห็นสิ่งที่มันผิด จะได้เห็นสิ่งที่มันถูก เห็นผิด เห็นทั้งผิด เห็นทั้งถูก นี่เรียกว่า มรรคแล้ว สิ่งที่มันทำให้เราหลง เช่น นิวรณ์ธรรม สังขาร ความคิดปรุงแต่ง เราก็จะได้เห็น บางคนก็เป็นไปกับมัน ไม่ใช่มันไม่มีค่า บทเรียนที่มีค่า ก็คือ เวลาใดที่มันหลงมันก็สอน แต่บางคนเอาความหลงมาลงโทษ เอาผิด ทำให้งานล้มเหลว มันไม่ใช่ เวลาใดที่มันหลง เรารู้ขึ้นมา มันมีค่าเป็นบทเรียนที่ ี่มีค่า เป็นบทเรียนที่ให้ประสบการณ์ ขณะที่มันหลง หลงทีหนึ่ง ประสบการณ์ทีหนึ่ง มีค่าทีหนึ่ง ยิ่งมันคิดหลายที ที่มันชวน ให้หลง ความง่วงเหงาหาวนอน ที่มันชวนให้ ก็รู้ มันเกี่ยวข้อง กับมันถูกก็มีค่า เหมือนกับเราเรียนหนังสือ ครูสอนหนังสือ เวลานักเรียนทำผิด ครูสอนให้เขียน ก ไก่ นักเรียนไปเขียน ป ปลา ครูเห็นทำผิด ก็สอนบอกนักเรียนให้แก้ไข ขณะนักเรียน ทำผิด นักเรียนได้แก้ไขขณะทำผิดนั้น มันก็มีค่า แต่เวลาใด ที่นักเรียนทำผิด ครูไม่ได้สอน มันไม่มีค่า มันเป็นบาปของ นักเรียนไป ตัวของเราเองก็เหมือนกันเวลาใดที่มันผิด เราเป็น ผู้ผิดก็เป็นบาปของเราไปเสียแล้ว แต่เวลาใดที่เราผิด เราเห็น ผิดก็แก้ไข มันก็เป็นบุญแล้ว ความผิดเป็นครู แต่ความผิด เพราะคนอื่นบอก มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่นี่ ที่เราทำอยู่นี้ เรารู้ของเราเอง เวลาเราเห็นผิด เราเปลี่ยนเป็นถูก เวลาใด เห็นทุกข์ เราเปลี่ยนเป็นความไม่ทุกข์ เวลาใดเห็นมันโกรธ เราเปลี่ยนเป็นไม่โกรธ จุดนี้เป็นกรรมของเรา คนอื่นช่วยไม่ได้ ้หรอก ความคิด เวลาใดที่เราคิด คนอื่นมาเห็นกับเราไม่ได้ เราเห็นเอง ความโกรธ คนอื่นก็ไม่เห็น เราต้องเห็นเอง ความ โลภ ความหลง กิเลส ตัณหาราคะ ความง่วงเหงาหาวนอน คนอื่นไม่เห็น เราเห็น คนอื่นอาจจะเห็นบ้าง จากลักษณะภาย นอก แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราเห็นขึ้นมา เราก็แก้ได้ ก็ลองแก้ลองดู อย่าเพิ่งไปหมดตัวกับมัน พอมันง่วงก็หลับ ตาปี๋เข้าไป หาว อ้าปาก ก็เรียกว่าร่วมกับมัน เป็นแนวร่วมไปกับ มัน มันก็ง่วงง่าย เราหาวิธีดูซิ พอมันง่วงทำอย่างไร อย่าเพิ่งไป ยอมแพ้มัน สู้มันสักหน่อย อาจจะไปมองท้องฟ้า มองยอดไม้ ดูวัน ดูเวลา ดูทิศ ดูทาง เอาความรู้สึกออกไปไกล ๆ มองก้อน เมฆ ท้องฟ้า ทำความเห็นว่า เวลานี้เป็นกลางวัน ไม่ใช่เวลา นอน เป็นเวลาทำงาน กลางคืนจึงจะเป็นเวลานอน มองไป ถ้ามันไม่หาย ก็เดินไปเอาน้ำล้างหน้า อาบน้ำ สู้มันสักหน่อย อย่าไปนั่งสัปหงก ถ้าไปนั่งสัปหงก โอย ไม่ไหวแล้ว นั่น มันเข้าไปลึกแล้ว ถ้าถึงกับนั่งสัปหงก ก็เข้าไปลึกแล้ว ต้องตื่น! ลืมตาทำความรู้สึก มันก็สู้ได้ มันเปลี่ยนได้ มันแก้ได้


    ภาวนา คือ ทำความดีให้มาก


    นี่.. ปฏิบัติ ปฏิ คือกลับ คือแก้ ไม่ใช่เดินจงกรมทั้งวัน นั่งอยู่ทั้งวัน แต่ว่าไม่เคยแก้ นั่นไม่ใช่ เวลามันครุ่นคิดก็ครุ่นคิด ไปเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง ก็นั่งคิดอยู่นั่นแล้ว ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่ ปรารภความเพียร เป็นความเกียจคร้าน นักปฏิบัติคือ เปลี่ยน เปลี่ยนผิดให้เป็นถูกเปลี่ยนหลงให้เป็นไม่หลง เวลาใดมันหลง เปลี่ยนทันทีมันจะมีค่า เวลาใดมันผิด เปลี่ยน รู้ทันที ปฏิบัติ ปฏิ คือเปลี่ยน ภาวนา คือทำความดีให้มาก ทำความร้ายให้กลาย เป็นความดี เขาเรียกว่าภาวนา ความดีคืออะไร ความดี ก็คือ ความรู้สึกตัวที่เรามาทำกันอยู่นี้ ทำให้มาก ๆ ทำความดีอันนี้ เรียกว่าภาวนาบริกรรม ก็คือ นึกเป็นคำพูดไว้ในใจ พุทโธ สัมมา อรหัง ๆ นะ มะ พะ ทะ ๆ อย่างบริกรรมคาถา สมัยก่อน หลวงพ่อ เรียนคาถา ต้องบริกรรม เช่นคาถาหนังเหนียว ต้องบริกรรม ถ้าบริกรรมไม่ได้ มันก็ไม่อยู่ยงคงกระพัน ต้องบริกรรม บริกรรมถ้าตัวไม่ใหญ่คับห้องก็เรียกว่าบริกรรมไม่ได้ อันนั้นเรียกว่าบริกรรม บางทีเราใช้ศัพท์ผิด บางทีเราว่าพุทโธ ๆ เป็นภาวนา นั่นไม่ใช่ พุทโธ ๆ เป็นบริกรรม สัมมาอรหัง ๆ เป็นบริกรรม คำว่าภาวนานี้ ตัดออก คือทำความรู้สึกเฉย ๆ เช่น มีสติเคลื่อนไหวไปมาอยู่รู้สึก รู้สึก นี่เรียกว่าภาวนา ภาวนา ไม่ใช่บริกรรม ภาวนาคือ ทำความดีให้มาก ทำเอา บัดนี้ทำเอา บอกให้แล้ว รู้แล้ว รู้วิธีแล้ว เอาไปทำบัดนี้ ให้มีการกระทำ ที่เกิดขึ้น รู้ที่อื่นไม่เอา หัดใหม่ ๆ นี้ รู้ที่กาย ให้รู้ที่กาย รู้ที่อื่น ไม่เอา เอากายนี้แหละเป็นนิมิต เอากายนี้แหละเป็นวัสดุ อุปกรณ์ผลิตความรู้สึกตัวออกมา เพราะว่ากายนี้เป็นธรรมชาติ ถ้าเห็นกายก็ต้องเห็นจิตใจ เรื่องของคน ก็คือมีกายมีจิตมีใจ ให้สติมีความชำนาญอยู่ตรงนี้ นี่..ถ้าสติมันเห็น ชำนาญ อยู่ที่กายที่ใจ มันก็จะเรียนรู้ที่นี่ นี่แหละ คือตู้พระไตรปิฎก มรรค ผล นิพพาน ก็อยู่ตรงนี้ นรก เปรต อสุรกายก็อยู่ตรงนี้ ให้รู้แจ้งซะ ให้รู้แจ้งซะ อย่าให้มันมาหลอกได้ อย่าให้กายมัน หลอก อย่าให้ใจมันหลอก


    เรื่องจิตใจ พัฒนาได้ถึงที่สุด สิ้นทุกข์


    ตัวสตินี่ เป็นตัวศึกษา เป็นนักศึกษา ตัวสติ ตัวรู้สึกตัว จะชำนาญอยู่ในเรื่องกายเรื่องใจ จะเรียนจบก็อยู่ที่ตรงนี้ เหมือน กับนักศึกษา เข้าเรียนในสถาบันต่าง ๆ เรียนจบจาก สถาบันนั้น ๆ เขาเรียกว่าปริญญา จบจากที่ไหน สาขาวิชาอะไร แต่ว่า สติความรู้สึกตัวนี้ จะเป็นศึกษา คำว่าศึกษา ก็คือถลุง จะไป เห็นศีลเห็นสมาธิ เห็นปัญญาออกมา สติตัวนี้แหละ ศึกษาเข้าไป เรื่องกายเรื่องใจถลุงออกไป จนชำนิชำนาญ เราจะเรียกว่า ปริญญาก็ได้ อย่างที่พูดเมื่อเช้าวานนี้ ญาตปริญญา กำหนด รู้ด้วยการรู้ ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการแจกแจง อันนั้นเป็น รูป อันนี้เป็นนาม อันนั้นเป็นรูปทุกข์ นามทุกข์ เป็นรูปโรค นามโรค เป็นสมมุติ เป็นบัญญัติ เป็นปรมัตถ์ อยู่ในรูปในนาม ปหานปริญญาละได้ โดยเฉพาะเรื่องจิตใจนี่ ละได้เด็ดขาด เปลี่ยนได้หมดทุกอย่าง เรื่องของใจนะ มันพัฒนาได้ อย่าไปจน ต่อมัน อย่างที่หลวงพ่อพูดแล้ว คนโกรธคือคนจน ถ้าไม่จน ไม่เป็นไร ปรกติ ภาวะที่ดูเป็นปรกติ ความปรกติ เป็นมรดกทาง จิตวิญญาณ ปรกติอย่างยิ่งจนไม่เปลี่ยนแปลง จนมันได้ที่ นี่ภาวะอันนี้เข้าให้ถึงพวกเรามีสิทธิ์เต็มที่


    สิ่งที่นำไปสู่ความปรกติ ก็คือภาวะที่ดู ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เป็น ค่อย ๆ ปรกติ จิตก็บริสุทธิ์ จิตที่บริสุทธิ์ไม่ถูก ปรุงแต่ง ก็เป็นพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ ไม่ใช่หัวโล้น ห่มผ้าขาว ผ้าเหลือง ประพฤติพรหมจรรย์คือนี่ คือความรู้สึกตัว รู้มากรู้ รู้บ่อย ๆ รู้สึกตัวบ่อย ๆ รู้มากรู้ จิตมันก็ค่อย ๆ บริสุทธิ์ เมื่อจิตมันบริสุทธิ์ เวลามันลักคิดขึ้นมา มันไม่เอา มันผิด ยิ่งมัน โกรธ ก็ยิ่งไม่เอามันผิด มันฟุ้งซ่านเศร้าหมอง มันวิตกกังวลมัน ไม่ใช่ มันไม่ใช่อย่างนั้น จิตเป็นอย่างนั้น มันไม่ถูกมันก็ไม่เอา เห็น มันก็แก้ เห็นมันก็ไม่เอา แต่บางคนไม่รู้ มันเอา เอาตะพึดตะพือ สุขก็เอา หลงก็เอา ยินดียินร้าย ไปเป็นทุกสิ่ง ทุกอย่าง จิตอย่างเดียวนี้ ไปเป็นได้ร้อยเรื่องพันอย่าง กิเลสพันห้าตัณหา ร้อยแปด มันก็อยู่ตรงนี้ เราก็เลยไม่มีอิสระ ไม่เป็นพรหมจรรย์ ไม่บริสุทธิ์ ไม่ปรกติ วิธีที่เราทำอยู่นี่แหละไม่เปลี่ยนแปลงแน่ นอน 2500 กว่าปี ยังทนทานต่อการพิสูจน์ เป็นวิทยาศาสตร์ ทนต่อการพิสูจน์ได้


    ศาสนาจะนำโลกต่อไป คือ พุทธศาสนา


    เดี๋ยวนี้ นักวิชาการเขาพูดกันว่า ศาสนาจะนำโลกต่อไป คือศาสนาพุทธ ผู้หญิงจะเป็นผู้นำสังคม ผู้ชายจะเป็นช้าง เท้าหลังก็ได้ ต่อไปผู้หญิงอาจจะเป็นช้างเท้าหน้า ศาสนาพุทธ จะเป็นศาสนาที่นำ โดยเฉพาะวิธีที่เราสร้างจังหวะเคลื่อน ไหวกาย อย่างที่เราทำอยู่นี้ กำลังเป็นที่นิยมของปัญญาชนทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะมันสัมผัสได้ เพราะเรา เอาของจริงไปสอนเขา รู้ ดูซิ ยกมือขึ้น ดูซิ รู้สึกไหม รู้ นี่ เป็นวิธีที่ท้าทาย พิสูจน์ให้ผลได้ ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย จะเป็นชาติใดภาษาใดก็ตาม ใช้ได้อยู่ สัมผัสได้อยู่ นี่ เป็นวิธีที่ สากลที่สุด โชคดีของพวกเรา 30 ปีมานี้ในยุคสมัยนี้ หลวง ปู่เทียนเท่านั้นแหละที่นำยุคนำสมัย เหมาะสมที่สุดกับทุกเพศ ทุกวัย อย่างที่หลวงพ่อพูดว่า อย่าเอาความเฒ่าความแก่ อย่าเอา ความเป็นหนุ่มเป็นสาว มาเป็นอุปสรรคขัดข้อง จะเป็นเฒ่าเป็น แก่ ความรู้สึกก็อันเดียวกัน จะเป็นหนุ่มเป็นสาว ความรู้สึกก็อัน เดียวกัน นี่จึงว่ามันเหมาะมันสม มันเป็นสากล จะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย จะมีความรู้หรือไม่มีความรู้ ก็ไม่เป็นไร ขอให้ มีความรู้สึกตัวเป็นใช้ได้ทั้งนั้น นี่ เดี๋ยวนี้กำลังเป็นที่นิยม ของคนทั่วๆไป หลวงพ่อก็เคยไปสอนหลายประเทศ เอาไปให้ ้เขาพิสูจน์ดู พิสูจน์ดู ทุกคนก็ยอมรับ เป็นวิทยาศาสตร์มันจริง มีกายจริง มีจิตจริง มีสติจริง ถ้ามีสติเข้าไปรู้กายเข้าไปรู้ใจ เรื่องทั้งหลายก็หยุดลง ก็หยุดลงก็เชื่อง นี่อานิสงส์ การมีสติเข้า ไปรู้กายรู้ใจ นี่เป็นการพัฒนาชีวิตที่ครบวงจรที่สุด ความทุกข์ทั้ง หลายก็หมดไป สุขภาพดี เศรษฐกิจก็ดี


    ตกกระได พลอยกระโจน


    ก่อนหน้านี้ ไปพูดที่มุกดาหาร ไปสอนที่นั่นก็ไปพูด เรื่องนี้แหละ อาจารย์สมศักดิ์ก็พูดอย่างที่ท่านพูด นั่นแหละ ก็ได้ตะกร้าหมากมาหลายใบหลายห่อ ที่นี่ยังไม่มี คงจะเลิกกัน ได้แล้ว บริสุทธิ์กันแล้วนะ เลิกได้เศรษฐกิจก็ดี เป็นการพัฒนา ชีวิตที่ครบวงจรที่สุด ขออภัย ไม่ใช่อวด ตั้งแต่หลวงพ่อศึกษา เรื่องนี้มา ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย สุขภาพดีจริง ๆ เพราะมันได้ที่ การพัฒนาชีวิตมันได้ที่ของมัน สิ่งใดที่มันได้ที่ มันก็อยู่ของมัน มันมีเจ้าของ มันมีผู้ดูแลรักษา ธรรมนี่แหละจะคุ้มครอง ธรรม ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ฉะนั้น ไม่ผิดอย่าไปลังเลสงสัย อยู่เลย พวกเรา พวกเราพยายามทำความรู้สึกตัว มันไม่มีเปิด มันไม่มีปิดหรอก* (หมายถึง เปิด-ปิด โครงการอบรม 20-28 ม.ค. 2538 ) พยายามเรียนรู้ สัมผัสกับความรู้สึกตัว กลับไปบ้าน กวาดบ้านซักผ้า ล้างถ้วยล้างชาม ดู ดูตัวเองไป เตรียมเอาไว้ บางทีมันอาจจะเป็นประโยชน์ ตกกระไดพลอยกระโจน มันอาจจะเป็นศิลปะขึ้นมา เดี๋ยวนี้ เรายังไม่ตกกระได ยังไม่ใช้วิชานี้ ก็เรียนรู้เอาไว้ บางที เมื่อถึงเวลาขึ้นมาก็เอาวิชา นี้ออก มาใช้ มันจะไม่หัวร้างข้างแตก อาจจะเป็นกีฬาขึ้นมาก็ได้ หลวง ปู่เทียนเคยพูดเอาไว้ มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ชีวิตของเราช่วง นี้ยังมีลมหายใจ ยังไปไหนมาไหนได้ แต่ถ้าถึงเวลาเข้าจริงๆ แล้ว มันอาจจะฟื้นเอาวิชานี้ขึ้นมาคู่ชีวิตของเราก็ได้ หลวง ปู่เทียนท่านพูดไว้ว่า ถึงแม้นว่าเราทำอยู่นี้ มันยังไม่รู้ แต่ก่อนจะตายสัก 10-20 นาที มันอาจจะทำได้ มันอาจจะเป็น ประโยชน์ เมื่อพรรษาที่ผ่านมา ญาติผู้ใหญ่ของหลวงพ่อตาย พี่ชายแม่ ก่อนที่จะตาย ก็ไปนั่งพูดด้วย ท่านก็เป็นนัก ปฏิบัติ ธรรม ปฏิบัติธรรมจนวาระสุดท้าย ท่านบอกว่าถ้าตอนนี้ มันก็ไม่เป็นไร มันบังคับคุ้มครองได้อยู่ มันคุ้มครองได้อยู่ ถามท่านก็รู้ทุกขณะ แต่ถ้ามันคุ้มครองไม่ได้ มันอาจจะเป็น อย่างไรก็อย่าพากันเสียใจนะ อย่าพากันร้องห่มร้องไห้ อย่าพากันคิดไปอย่างอื่น เดี๋ยวนี้ก็อยู่ตรงนี้ ตรงที่มันไม่เป็น อะไร กำลังดูมันอยู่ แต่ถ้าควบคุมไม่ได้ มันอาจจะตาเหลือก ตาหลน มันจะเป็นอะไรขึ้นมา ก็เรื่องของมัน พวกลูกพวกเต้า ก็อย่าพากันตกอกตกใจ ดูเฉย ๆ ดูมันเฉย ๆ เดี๋ยวนี้พ่อกำลังดูมัน ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครแก่ ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครตาย นี่ มันคว้า เอามา มันจับเอามา มันปลอดภัย มีแต่เห็นไป แต่บางคนไม่ ศึกษาเห็นไหม ที่หลวงพ่อพูดว่า ยายแก่ตกเบ็ดจนตาย ลูกมาจับ แขนไว้ ก็เอาไม่อยู่ ในที่สุดลูกหลานก็ต้องปล่อย ให้แม่ตก เบ็ดไปจนตาย มันก็เป็น เปรต เป็นสัตว์นรกไปแล้วเป็นอย่างนั้น ก็น่าเสียดายชีวิตที่เกิดมาเป็นชีวิตที่โมฆะ


    เท็จจริง พิสูจน์เอา


    เดี๋ยวนี้ เราอยู่ตรงไหนกัน 5 วัน 6 วันมาแล้ว เราอยู่ตรงไหน กัน บางคนอาจจะไปอยู่กับลูกกับหลาน ไปโกรธคนนั้นคนนี้ อย่าไป ให้มาอยู่ตรงนี้ อยู่กับมือเคลื่อนไหวนี่แหละ เดี๋ยวจะไปตกเบ็ดนะ เตรียมตัวเตรียมอันนี้เอาไว้ เมื่อถึงเวลาต้องให้มันสงบ นั่นเขาเรียกว่าวิญญาณ เดี๋ยวนี้ เราจะติดอยู่กับอันนี้มัน รู้อยู่ มันกำลังท่องเที่ยวอยู่ ให้มาอยู่ตรงนี้ให้เกิดความชำนาญ ชำนิชำนาญ มันจะติด มันจะรู้อยู่ ภาวะที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็คืออันนี้แหละ ไม่ใช่บ้านไหน เมืองไหน เริ่มจาก ภาวะที่รู้สึกตัวเข้าไปตัวนี้แหละ มันจะนำเราไปสู่ความปลอดภัย ที่สุด ถึงมรรค ถึงผล อยู่ในนี้ เริ่มจากก้าวนี้ไป รู้สึก นี่ก็ก้าวไป กำลังท่องเที่ยวไป รู้สึก รู้สึก รู้มาก รู้เข้าไป บุญก็อยู่ตรงนี้ ศีลก็อยู่ตรงนี้ ทานก็อยู่ตรงนี้ ความหลุดความพ้น ก็อยู่ตรงนี้ ความรู้สึกตัวมันตัดอะไรไปบ้างแล้วโยม พอเรามารู้สึกตัว มันผ่านอะไรไปมันผ่านบาป ผ่านเวรไป ไม่มีความอาฆาต ไม่มีความพยาบาท ไม่มี ความรัก ไม่มีความชัง มาสัมผัสกับ ความรู้สึกตัวนี้ เห็นไหม เห็นไหม มันผ่านอะไรไป มันรู้ไป รู้ไป รู้ไป มันก็สิ้นเวร สิ้นภัย เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง นี่ของจริงแท้ๆ แหละของจริงแท้ ๆ อย่าให้เขามาหลอก เดี๋ยวนี้พวกเราถูก หลอกเยอะแยะ เอานรกมาขู่ เอาสวรรค์มาหลอก นอกตัวเราไป นี่ให้พิสูจน์ร่วมกันดู ก็อย่ามาเชื่อหลวงพ่อ ให้ทุกคนพิสูจน์เอา เราสัมผัสกับความรู้สึกตัว มันจริง มันเท็จอย่างไรก็พิสูจน์เอา


    นี่ ก็พูดเพื่อแสดงออกถึงความเป็นไปได้ เป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมต่อกัน จะผิดจะถูกจะเป็นอย่างไร ทุกคนต้องช่วย ตัวเอง วันนี้ต้องเอา ต้องสร้างจังหวะ รักเดียวใจเดียว เอาให้สุด หัวใจ จะเดินอยู่ ทางเดินจงกรม จะนั่งอยู่ใต้ต้นไม้สร้างจังหวะ พยายามปลูกสติ รู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เข้าไป จนให้รู้มากขึ้น นี่แหละ มรดกของเรา อริยทรัพย์ของเรา สร้างเอา สร้างเอา ยังมีลมหาย ใจอยู่ อย่ารอให้ตายไปเลย สร้างเอาเดี๋ยวนี้ !


    เอาหละ ที่พูดมาก็พูดจากสภาวธรรม ไม่ได้จำใครมา สิ่งที่หลวงพ่อพูดนี้ ก็มีอยู่กับทุกคนที่นั่งฟังอยู่นี้ ก็ด้วยความ ปรารถนาดีกับทุกคนทุกรูปทุกนาม ที่ได้ตั้งจิตไว้ดีแล้ว ขอให้คุณความดีทั้งหลายและความดีที่เราได้ร่วมทำกันมา จงเป็นตบะเป็นเดชะ ค้ำจุนหนุนส่ง ให้ทุกรูปทุกนามเข้าถึง สภาวธรรม เป็นธรรมอันเกษม เป็นธรรมอมตะ ที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายในวันนี้กันทุกคนเทอญ

    คัดลอกจาก ประตูธรรม
    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp-kumkean/lp-kumkean_01.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 มีนาคม 2011
  2. โชแปง

    โชแปง Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    851
    ค่าพลัง:
    +63
    รู้ รู้ รู้ รู้ รู้ รู้สึกตัว รู้ซื่อ ๆ ตรง ๆ

    เหมือนลมพัดผ่าน ลมร้อน ลมเย็น ลมเหนือ ลมใต้ พัดผ่านมาแล้วผ่านไป
    จับก็ไม่ได้ มองก็ไม่เห็น ชิมก็ไม่รู้รส เพราะไม่ไหลตามจึงรู้สึกตัว
     

แชร์หน้านี้

Loading...