สวดอาการวัฏฏสูตรเป็นการเร่งเจ้ากรรมนายเวรจริงหรือเปล่า ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 6 สิงหาคม 2008.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,171
    ถาม : มีคนเขาบอกว่า การสวดอาการวัฏฏสูตรเป็นการเร่งเจ้ากรรมนายเวรจริงหรือเปล่าครับ ?

    ตอบ : อันนี้ไม่ทราบเหมือนกันนะ เรื่องของเจ้ากรรมนายเวรนี่ โอกาสที่คุณจะไปเร่งรัดไปอะไรมันไม่มีทั้งนั้น เรื่องของกรรมมันแบ่งออกเป็น ๓ หมวด ๑๒ ประเภท ให้ผลตามวาระ ให้ผลตามลักษณะ ให้ผลตามเวลา จะแบ่งกันออกไปเป็นระยะๆ อันนี้มาอันโน้นไปอะไรอย่างนี้ของเขาก็จะจัดลำดับกันตามหนักเบาของเขากันเอง คุณไม่ีมีสิทธิ์จะไปนั่งเร่งเขาหรอก ยกเว้นอย่างเดียวเร่งความดี เพื่อหนีให้เยอะๆ ถ้ามีบทสวดประเภทชุมนุมเจ้ากรรมนายเวรได้ก็ดีนะ ว่าอะไรนะ อาการวัฏฏสูตรใช่มั้ย ? ถ้าเป็นไปได้ก็ดี จะได้ตกลงกันไปเสียทีเดียวเลย แน่จริงก็ทวงไปซิให้มันตายๆ ไป จะได้หมดเรื่องไม่ต้องเสียเวลามาทนอยู่

    เขาว่าพยายามเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือของหลวงพ่อเข้าไปจับซิ สิ่งต่างๆ ที่อยู่ตามพระไตรปิฎกนั่นก็คือหลักเลย ตามหลักการนั่นแต่ว่าส่วนใหญ่พวกเรามันขี้เกียจค้นคว้าใช่มั้ย ? มันก็เดือดร้อนพระ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ให้ผลในปัจจุบัน แบ่งออกเป็นครุกรรมฝ่ายกุศลคือฝ่ายดี กับครุกรรมฝ่ายอกุศลคือฝ่ายชั่ว อุึปปัชชเวทนียกรรมให้ผลในชาติที่ ๒ อปราปรเวทนียกรรม ให้ผลในชาติที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ มันไล่ไปเรื่อย จนท้ายๆ อโหสิกรรมเลิกแล้วต่อกัน

    ฉะนั้นวาระเวลาของการให้ผลมันมีอยู่ จะไปเร่งรัดอะไรของเขาไม่ได้ทั้งนั้น ต้องเป็นไปตามหนักเบาของการกระทำ แต่อัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่ง กรรมที่เรารู้สึกว่าหนัก ให้ผลแล้วๆ กัน แต่กรรมที่เรารู้สึกว่าเบา ให้ผลแล้วให้ไปเรื่อย ตลกดี

    แต่ว่าสมมติว่าครุกรรมฝ่ายกุศลเราได้ถวายทานกับพระที่ออกนิโรธสมาบัติเราจะรวยวันนั้นเลย แต่ว่าได้ตอนนั้นทีเดียวได้แล้วเลิกกันเลยไม่มีผลต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากว่าคุณถวายสังฆทานมันไม่หนักเท่านั้น แต่ว่าชาตินี้คุณรวย ชาติต่อไปคุณรวย เป็นพระเจ้ามหาจักรพรรดิ เป็นมหากษัตริย์ เป็นมหาเศรษฐีตามหลังยาวไปเรื่อย กลายเป็นว่าของหนักให้ผลครั้งเดียว

    ถ้าเปรียบเหมือนกับพวกพืชผัก ให้ผลเร็วมากแต่เก็บทีเดียวหมด แต่ขณะเดียวกันถ้าเจอผลไม้ยืนต้นนี่มันให้ผลช้า อาจจะชาติที่ ๒ ๓ ๔ ๕ แต่ถ้าให้ผลมันให้ยาวไปเรื่อยๆ เหมือนกับผลไม้ยืนต้น ผลของกรรมนี่ต้องศึกษายถากัมมุตาญาณให้ดี แล้วถึงเวลาแล้วจะรู้ว่ามันน่ากลัวขนาดไหน ประมาทไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เราจะไปคิดว่าความชั่วมันนิดเดียวแล้วทำพลาดเมื่อไหร่เดี้ยงเมื่อนั้น ขนาดความดีความชั่วเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียกว่า กตัตตากรรมคือกรรมที่ทำโดยไม่เจตนา

    ขนาดพระพุทธเจ้ามันยังสนองเลย วาระสุดท้าย หลังจากปลงอายุสังขารแล้ว พระองค์เดินจากปาวาลเจดีย์ไปยังกุสินารา ระหว่างทางเกิดเหน็ดเหนื่อยกระหายน้ำขึ้นมา ก็บอกพระอานนท์ ให้ปูผ้าสังฆาฏิใต้ต้นไม้แล้วไปตักน้ำมา พระอานนท์ก็เพิ่งเดินผ่านลำธารไปอยู่ก็รู้ๆ อยู่ว่าใกล้แค่นั้นเองก็ย้อนกลับไปตัก ปรากฏว่าเกวียน ๕๐๐ เล่มเพิ่งจะลุยผ่านไป ขุ่นคลั่กเลยกรองยังไงก็ไม่ใส เดินกลับมารายงานพระพุทธเจ้าว่า ไม่มีน้ำเพราะเกวียนเพิ่งจะลุยผ่านไป พระพุทธเจ้าบอกกลับไปเถอะ ตถาคตกระหายน้ำๆ นั่นมีอยู่ พระอานนท์สงสัย แต่ว่าด้วยความเชื่อมั่นก็ย้อนกลับไปอีกทีปรากฏว่าน้ำใส

    เกิดจากกรรมนิดเดียวว่า ในสมัยชาติหนึ่งท่านเกิดเป็นเด็กชาวนา ถึงเวลาปลดวัวออกจากไถก็รีบเอาไปกินน้ำ วัวมันหิวมาทัุ้้งวันนี่ ถึงเวลาก็พรวดพราดไปกินน้ำ มันไม่ได้สังเกต แต่ว่าพระพุทธเจ้าชาตินั้นท่านสังเกตเห็นแล้วว่า วัวมันจะกินน้ำขุ่นก็สงสารมันว่าน้ำมันขุ่นอย่ากินเลย ก็ดึงมันมาย้ายมากินน้ำใส ใกล้กันอยู่นิดเดียวนั่น กรรมที่ทำโดยเจตนาดี แล้วก็ไม่ได้มีเจตนาจะกลั่นแกล้งอะไรแท้ๆ วาระสุดท้ายยังตามมาสนอง ขนาดพระพุทธเจ้ายังเล่นขนาดนั้น ของเรานั่นรอดยาก

    ยิ่งศึกษาไปจะยิ่งเห็นความน่ากลัวของมัน ตราบใดที่ยังมีกรรมคือการกระทำตราบนั้นการเวียนตายเวียนเกิดยังมีอยู่ จนกว่าเราจะหยุดการกระทำนั่นลงได้อย่างสิ้นเชิง เป็นอรหันต์ถึงจะหยุดการเวียนตายเวียนเกิดได้ กรรมมันน่ากลัว พระพุทธเจ้าท่านถึงได้บอกว่า อย่าประมาทว่าเห็นความชั่วเพียงเล็กน้อยแล้วทำ แล้วอย่าประมาทว่าเห็นความดีเพียงเล็กน้อยแล้วไม่ทำ ทุกอย่างที่ทำให้ผลทั้งนั้น ต้องการหรือไม่ต้องการ ผลนั่นก็เกิด เราลงมือเมื่อไหร่ได้เรื่องเมื่อนั้น ฉะนั้นเราก็ต้องหยุดให้ได้

    ของพระอรหันต์จะเห็นได้ว่าท่านก็มีการกระทำ แล้กระแสกรรมมันขาดอย่างไร ? ชักมึนเรื่องไกล ท่านเป็นการกระทำที่เหลือเพียงกิริยาเท่านั้น ตัวมายาไม่มี ขนาดศีลของพระ พระพุทธเจ้าท่านยังให้สติวินัยกับพระอรหันต์ว่าเป็นปาปมุึติ คือพ้นจากบาปแล้ว เจตนาที่จะล่วงศีลใหญ่ของท่านไม่มี แต่จริยาเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความเคยชินเดิมของท่านมีอยู่ ก็เลยต้องให้สงฆ์สวดประกาศกับผู้เป็นอรหันต์ว่า ให้เป็นผู้ทรงสติวินัย จะได้ไม่ต้องให้ใครไปโจทก์ว่าท่านต้องอาบัติ ทำโดยกิริยาเฉยๆ ตัวจิตที่จะปรุงแต่งให้เป็นทุกข์เป็นโทษเป็นบุญเป็นบาปมันไม่มีแล้ว มันเหนือบุญเหนือบาปไปแล้ว ฟังดูเหมือนเข้าใจมั้ย ? ถึงเวลาไปคลำเองหาไม่เจอหรอก




    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ




    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 2 ตุลาคม 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...