อยากได้อภิญญาเพื่อเอาไปช่วยเหลือคนอื่นจะต้องทำอย่างไร ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 25 เมษายน 2008.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,171

    [​IMG]




    ถาม : อยากจะทราบว่าเวลาฝึกสมาธิน่ะค่ะ แล้วสร้างพลังในตัว ให้สามารถนำไปใช้เป็นญานที่สามารถช่วยคนอื่นได้ ?

    ตอบ : ไปช่วยคนอื่นได้ก็เอาอภิญญา ๕ เป็นอย่างน้อยล่ะลูก

    ถาม : ต้องทำยังไงเจ้าคะ ?
    ตอบ : เริ่มด้วยกสิณกองใดกองหนึ่ง รู้จักกสิณมั้ยจ้ะ ? มี ๑๐ กอง จะมีที่เป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสี ๔ อย่าง คือ ขาว เขียว แดง เหลือง แล้วก็เป็นอากาศกสิณ คือ ความว่าง กับ อาโลกกสิณ คือ แสงสว่าง รวมแล้ว ๑๐ กอง เราชอบอันไหนอันหนึ่งจับอันนั้นขึ้นมาฝึกให้ได้ก่อน

    กสิณทั้ง ๑๐ กองจะยากอยู่เฉพาะกองแรกเท่านั้น พอได้กองแรกแล้วกองอื่นกำลังเท่ากัน เพียงแต่ว่าเปลี่ยนนิมิตเท่านั้นเอง เปลี่ยนสิ่งที่มาเป็นนิมิต เช่นว่าจากดินก็ไปเพ่งน้ำแทน จากน้ำก็ไปเพ่งลมแทน จากลมไปเพ่งไฟแทน เหล่านี้เป้นต้น พอได้อันดับแรกแล้วอันอื่นง่ายหมด ยากอันดับแรกอันเดียว พอได้ขึ้นมาพอครบกสิณ ๑๐ พยายามฝึกให้คล่อง อธิษฐานใช้ให้คล่อง คราวนี้จะช่วยคนอย่างไรก็เชิญจ้ะ ชนิดตายแล้วจะให้กลับเป็นใหม่ก็ยังไหว


    ถาม : แล้วจะได้กองแรกต้องทำยังไงเจ้าคะ ?

    ตอบ : หาคู่มือปฏิบัติกรรมฐานของหลวงพ่อวัดท่าซุงดีกว่า ตั้งใจบูชาหน้าหิ้งพระแล้วก็อธิษฐานว่ากสิณกองใดที่ข้าพเจ้าเคยได้มาในชาติก่อน ขอให้อ่านแล้วชอบกองนั้นมากที่สุด ถ้าชอบหลายกองให้อธิษฐานใหม่อีกรอบหนึ่งว่า ถ้าหากว่ากองไหนที่ทำแล้วจะได้ง่ายและคล่องตัวมากที่สุดขอให้ชอบกองนั้นมากกว่าใคร

    เสร็จแล้วก็เริ่มหาอุปกรณ์มาทำ อุปกรณ์ของกสิณอย่างเช่นว่า ถ้าเป็นกสิณดินก็ต้องหาดินมาเลย โบราณท่านเรียกว่าดินสีอรุณ คือสีออกค่อนข้างจะเป็นเหลืองอ่อนหรือสีออกสีส้ม เอามาในขนาดที่เราเรียกว่าใช้จับภาพได้ง่าย จะปั้นเป็นก้อนกลมหรือจะทำเป็นสี่เหลี่ยม ๆ ก็ได้ แต่ว่าโบราณท่านใช้ผ้าขึงแล้วก็เอาดินละเลงเป็นวงกลมกว้างประมาณ ๒ คืบขึ้นไป คือให้เห็นชัด ๆ เสร็จแล้วเวลาจะภาวนาก็นั่งให้ห่างในระยะที่เห็นก้อนดินได้พอดี ๆ หรือว่าเห็นดวงกสิณนั้นได้ ไม่ก้มเกินไป ไม่เงยเกินไป อยู่ในลักษณะที่ไม่ใหญ่เกินไป ไม่เล็กเกิน แล้วก็ลืมตาจำภาพกสิณพร้อมกับภาวนา หลับตาลงนึกถึงภาพนั้นไว้พร้อมกับคำภาวนา


    [​IMG][​IMG][​IMG][​IMG]


    พอภาพหายไปลืมตาดูใหม่ แล้วหลับตาลงจำเอาไว้พร้อมกับคำภาวนา หายไปลืมตาดูใหม่ ทำแบบนี้เป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง แล้วภาพนั้นก็จะเริ่มติดตาไปนาน คือ ตอนแรกพอเรามองแล้วหลับตาลงจะนึกได้แป๊บหนึ่ง แล้วพอหายไปก็ลืมตาดูภาพใหม่ แล้วก็หลับตานึกถึงอีกพร้อมกับคำภาวนา คำภาวนาแต่ละกอง ใช้ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นว่าเพ่งดินก็ใช้ปฐวีกสิณัง ปฐวีกสิณังพร้อมกับลมหายใจเข้า
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • R4328-1.jpg
      R4328-1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      44.3 KB
      เปิดดู:
      2,552
  2. Khunkik

    Khunkik เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กันยายน 2006
    โพสต์:
    2,150
    ค่าพลัง:
    +18,072
    <CENTER>การฝึกอภิญญา ตอนที่ ๑
    </CENTER>

    <CENTER>( ๑๘ ก.พ. ๒๕๒๘ )
    </CENTER>
    [​IMG]

    การที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ตั้งใจจะมาฝึกพระกรรมฐาน พระกรรมฐานที่บรรดาท่านฝึกอยู่นี่ เป็นการเตรียมตัวเพื่อ " อภิญญาหก " คือ มันสูงกว่าวิชชาสาม กรรมฐานนี่ความจริงถ้าเราจะฝึกกันจริง ๆ ตามแบบ มันก็มีหลายพันแบบด้วยกัน แต่ว่าทุกแบบต้องมาลงใน ๔๐ แบบ ที่เรียกว่า " กรรมฐาน ๔๐ "
    กรรมฐาน ๔๐ นี่เป็นต้นแบบใหญ่ อย่าลืมว่ากรรมฐานไม่ได้มีแบบเดียวนะ แล้วแต่ละ ๔๐ แบบ แยกเอาการฝึกออกไปเป็นข้อปลีกย่อยได้เป็นพัน ๆ จะเป็นการฝึกข้อปลีกย่อยกี่พันแบบ หรือต้นฐาน ๔๐ แบบก็ตาม ก็ย่อเป็นกรรมฐาน ๔ หมวด ต้องเข้าหมวดใดหมวดหนึ่งให้ได้ ถ้าเข้าหมวดใดหมวดหนึ่งไม่ได้ นั่นคือ ไม่ใช่กรรมฐานของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้


    หมวดที่ ๑ เรียกว่า " สุกขวิปัสสโก " บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายฝึกกันเป็นปกติ หมวดนี้ไม่มีความเป็นทิพย์ของจิต ไม่สามารถเห็นสวรรค์ เห็นเทวดา เห็นพรหมโลกได้ ไม่สามารถจะไปได้ แต่ว่ามีฌานสมาบัติได้ เป็นพระอริยเจ้าได้ ไปนิพพานได้
    หมวดที่ ๒ เรียกว่า " เตวิชโช " หมวดนี้พอจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิแล้ว แล้วก็ฝึก ทิพจักขุญาณ เมื่อฝึกทิพจักขุญาณได้แล้ว ต้องเข้าไปฝึก ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติได้ เมื่อได้ทั้ง ๒ ประการแล้ว ใช้กำลังญาณทั้ง ๒ ประการเข้าช่วยวิปัสสนาญาณเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ เรียกว่า " พระวิชชาสาม " หมวดนี้สามารถเห็นสวรรค์ นรก เห็นพรหมโลก หรืออะไรก็ได้ทั้งหมด แต่ไปไม่ได้ ได้แต่เห็นอย่างเดียว นั่งตรงนี้คุยกับเทวดาหรือพรหมก็ได้ นั่งตรงนี้คุยกับสัตว์นรกก็ได้ อย่างนี้เรียกว่า " วิชชาสาม "
    หมวดที่ ๓ ที่บรรดาท่านพุทธบริษัทปฏิบัติกันอยู่นี่ เป็นหมวด" อภิญญาหก " อภิญญาหกนี่เราไปไหนไปได้ตามใจชอบ จะไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ไปนิพพาน ไปนรก เปรต อสุรกาย ไปได้หมด ประเทศต่าง ๆ ไกลแสนไกลแค่ไหน ประเทศในมนุษยโลกนี่มันไม่ไกลหรอก เราสามารถไปได้ ดวงดาวต่าง ๆ ที่ฝรั่งจะไปเราก็ไปได้ไม่ต้องลงทุน อย่างนี้เป็น " อภิญญาหก "
    สำหรับ หมวดที่ ๔ " ปฏิสัมภิทาญาณ " นี่มีความรู้ฉลาดมาก ปฏิสัมภิทาญาณมีความสามารถคลุมหมด คลุมสุกขวิปัสสโกด้วยเอาไว้ในตัว เอาวิชชาสามเข้าไว้ด้วย แล้วเอาอภิญญาหกเข้าไว้ด้วย แล้วก็ฉลาดมาก คือว่า ฉลาดในธรรมะขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่าง เรียกว่า " ปฏิสัมภิทาญาณ "
    สำหรับในตอนนี้ขอนำเรื่องของ " อภิญญาหก " มาแนะนำแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท คือว่า ทุกคนเวลานี้เป็นการเตรียมตัวเพื่ออภิญญาหก " มโนมยิทธิ " นี่เขาถือว่าเตรียมตัวเพื่ออภิญญาหก เหมือนกับนักเรียนเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย เตรียมตัวไว้ก่อนซ้อมไว้

    <CENTER>อภิญญาหกจริง ๆ บรรดาท่านพุทธบริษัท อาจจะทำได้จนเป็นสาธารณะ ต่อเมื่อถึง " พ.ศ. ๒๕๔๓ "

    </CENTER>ตอนนั้นถ้าคนไม่ขี้เกียจ จะสามารถทำอภิญญาหกได้ เวลานี้จะได้เป็นบุคคลบางคน อย่างนักเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เวลานี้เธอสามารถใช้กำลังอภิญญาหกได้บางส่วน คือ ไปไหนก็ไปทั้งตัว จะไปนรก ไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ก็ยกตัวร่างกายไปเลย แต่ว่ากำลังของอภิญญาหกจริง ๆ ยังใช้หมดไม่ได้ ใช้ได้เฉพาะไปแค่รู้

    <CENTER>เพราะกำลังจริง ๆ จะเข้ามาถึง " พ.ศ. ๒๕๔๓ " ถ้าถึง " พ.ศ. ๒๕๔๕ อันนี้เป็นสาธารณะจริง ๆ
    </CENTER>สำหรับอภิญญาหก บรรดาท่านพุทธบริษัท ก็เราก็ไปกันอย่างที่เราฝึกนี่แหละ! เราสามารถแสดงฤทธิ์แสดงเดชได้ ต้องการจะทำอะไร แค่นึกมันก็เกิดขึ้นทันที ถ้าเราเป็นคนแก่ อยากจะให้คนอื่นเห็นเป็นคนหนุ่มสาว นึกว่าให้เห็นอย่างคนขนาดนั้น อายุแบบนั้น รูปร่างแบบนี้มันก็เป็นทันที เอากันแค่นึก ...
    อภิญญาหกนี่เขาใช้แค่นึกเท่านั้นนะ ไม่ใช่ไปนั่งเข้าสมาธิเสียเวลา ๑ นาที อันนี้ใช้ไม่ได้ แค่นึกปั๊บมันจะเป็นทันที นึกอยากจะไปไหนร่างกายถึงทันทีทันใด มันเร็วกว่าลัดนิ้วมือหนึ่ง จะไปสวรรค์ จะไปนรก จะไปประเทศไหนก็ตาม พอนึกปั๊บมันจะไปถึงเลย นี่เป็นกำลังของอภิญญาหกส่วนหนึ่ง
    วันนี้ก็ขอแนะนำบรรดาท่านพุทธบริษัท ในด้านการเตรียมตัวก่อน การเตรียมตัวเวลานี้เราใช้กำลังของมโนมยิทธิยังไม่เต็มกำลัง ที่ใช้เวลานี้เป็นกำลังส่วนหน้า ส่วนหน้าที่ขึ้นเป็นกำลังของวิชชาสาม ถ้าใช้กำลังของอภิญญาจริง ๆ เราไปกันไม่ได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ลดกำลังส่วนหน้าลง คือ ใช้กันแค่ " อุปจารสมาธิ "

    <CENTER>ถ้าเป็นกำลังของอภิญญาจริง ๆ ต้องใช้กำลังของ " ฌาน ๔ " เป็นพื้นฐาน
    </CENTER>แต่ว่าถึงแม้จะได้ครึ่งกำลังก็ถือว่าเป็นการเตรียมตัวเหมือนนักเรียนเตรียมปีแรก ต่อไประหว่างพรรษานี้จะเริ่มฝึกเต็มกำลัง ใครทำได้ก็ได้ ไม่ได้ก็แล้วไป ครูมีหน้าที่สอนเป็นเรื่องความฉลาดของคน ใครโง่มากก็ไม่ได้เลย โง่น้อยก็ได้บ้าง ถ้าไม่โง่เลยได้ทั้งหมด ถ้าหากว่าฝึกเต็มกำลังได้ นี่ถือว่ากำลังจิตของเราได้ครึ่งหนึ่งของอภิญญาหก พอหลังจากนั้นก็ไปฝึกฝนอภิญญาหกต่อไป ค่อย ๆ ฝึก
    สำหรับเบื้องต้น บรรดาท่านพุทธบริษัทที่ได้แล้วก็ดี เพิ่งจะฝึกก็ดี หรือตั้งใจจะมาฝึกก็ดี ให้ใช้กำลังใจตามนี้ไว้ก่อน รักษาความดีไว้ คือ :-
    ๑. พยายามไม่สนใจในจริยาของบุคคลอื่น ใครเขาจะดีใครเขาจะเลวแบบไหน มันเรื่องของเขา เราสนใจเฉพาะกำลังใจของเราเอง กำลังใจของเรามันดีหรือมันเลว ถ้าเรายังสนใจในจริยาของบุคคลอื่น แสดงว่าเรายังเลวมาก เพราะเราไมได้ห่วงตัวเอง เราไปห่วงคนอื่นเขาประโยชน์อะไรจะเกิดกับเรา คนอื่นเขาเลวก็เป็นเรื่องของเขา คนอื่นเขาดีก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเราไปสนใจเขา เราก็ทิ้งความดีไปหาความเลว
    อันดับแรก ให้ห่วงใจตัวเอง ว่าเวลานี้กิจที่เราจะพึงทำน่ะมันพร้อมแล้วหรือยังที่จะรักษาความดี คือ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา คำว่ามีศรัทธาในพระพุทธศาสนานี่ ความเชื่อในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ของเราพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าวันไหนมีความสงสัยขึ้นมาให้ชื่อว่าเราเลวเสียแล้ว...
    การกำจัดความชั่วด้านความโลภ คือ การคิดอยากได้ในทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นเขามาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม และจิตไม่คิดในการเผื่อแผ่มันเกิดขึ้นกับใจของเรา ถ้ามีก็เตือนใจบอกเราเลวไปแล้ว คือ กำลังใจของเรามี ให้คิดว่า ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สมบัติของใครก็ตามที เราไม่สามารถจะได้มาโดยชอบธรรมเราไม่เอา แล้วกำลังใจเป็น " จาคานุสสติ " คิดว่าถ้าใครเขามีทุกข์ ถ้าไม่เกินวิสัยที่เราจะช่วย เราจะช่วย ถ้ากำลังใจทั้ง ๒ ประการนี้ยังอยู่ประจำใจเสียแล้ว แสดงว่าความดีด้านโลภะ การกำจัดโลภะของเรามีในใจ โลภะ ความโลภมันก็ออกจากใจ นี่ดีมาก ทั้งหมดนี้เป็นข้อที่ ๑
    ๒.การคิดประทุษร้ายบุคคลอื่นมีไหม อยากจะคิดให้คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ อยากจะคิดเข่นฆ่า อยากจะคิดทรมานเขามีไหม ถ้ามันมีถือว่าใช้ไม่ได้ เลว! ต้องคิดว่า คนเกิดมา คนก็ดี สัตว์ก็ดี เกิดมามันต้องตายกันหมด ถ้าเราจะทรมานเขาให้ลำบากก็ไม่ต้องไปทรมาน มันลำบากอยู่แล้ว ทุกคนมีความหิว ทุกคนมีความร้อน มีความกระหาย มีการป่วยไข้ไม่สบาย ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ มีการงานที่จะต้องทำ มีความแก่ลงไปทุกวัน มีความตายในที่สุด เขาถูกทรมานอยู่แล้ว ไม่ต้องไปช่วยเขา ถ้าไปช่วยเขาเราจะเลวมากขึ้น คิดอย่างเดียวว่าเราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั้งโลก แต่ก็เผลอบ้างอะไรบ้างเป็นของธรรมดา ถ้าจิตยังไม่ถึงที่สุด คิดไว้อย่างนี้ชื่อว่าความดีเข้าถึงใจเรา เป็นการทำลายความโกรธ
    ๓. ทำลายความหลง เราเมาในร่างกายเกินไปไหม เมาในทรัพย์สินเกินไปไหม ชีวิตที่เกิดมานี่มันต้องตาย จิตเราเคยคิดถึงความตายไหม ถ้ายังไม่คิดถึงความตายนี่มันเลวที่สุด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว สมบัติที่จะพึงได้คือ แก่ทุกวัน ไอ้กำลังความแก่มีอยู่ ไอ้ความแก่ของเรานี่มันจะแก่ถึงไหนก็ไม่แน่ จะไปคิดว่าอายุ ๖๐ - ๗๐ - ๘๐ ตายน่ะไม่แน่! ให้คิดว่าความตายจะมาถึงเราในวันนี้ไว้ก่อน มันแก่มาแค่นี้ถือว่าแก่นานแล้ว แต่วันนี้อาจจะตายก็ได้ ให้กำลังใจพร้อมไว้ คือ ไม่เมาในชีวิต
    อย่างนี้องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรกล่าวว่า " เป็นผู้ทำลายความหลงในจิต " เอากันอย่างย่อนะ
    ถ้าเราคิดว่าความตาย ตื่นขึ้นมาตอนเช้าคิดว่าความตายอาจจะมีกับเราในวันนี้ เราทำอย่างไร เราอยากจะสวรรค์ หรือ เราอยากจะไปพรหมโลกเวลาตาย หรืออยากจะไปนิพพาน
    แต่ว่าสมาคมนี้ไม่ต้องการสวรรค์ ไม่ต้องการพรหมโลก ต้องการ " นิพพาน "
    ถ้าเราต้องการนิพพานก็ทบทวนความดีของเรา ที่เราฝึกกรรมฐานน่ะ วิมานของเราที่นิพพานมีหรือเปล่า .. ถ้าวิมานของเรามีที่นิพพานน่ะ! บารมีเราเต็มแล้ว เราก็ไม่ควรจะสละสิทธิ์ เพราะว่าคนที่มีบารมีเต็ม มีวิมานที่นิพพานน่ะ คนนั้นมีสิทธิ์จะไปนิพพานในชาตินี้ แต่ว่าที่ไม่ไปกันก็มีเยอะ มัวเมาในชีวิตเกินไป สละสิทธิ์นิพพานไปชาติต่อไป อันนี้โง่มาก...
    ถ้าเราคิดว่าวิมานที่นิพพานของเรามี เวลาเช้ามืดตื่นขึ้นมา ร่างกายเรามันเพลียไม่อยากนั่งก็ไม่ต้องนั่ง นอนแบบนั้นแหละ รวบรวมกำลังใจ ตัดสินใจว่าร่างกายอย่างนี้ไม่ต้องการมันอีก ความเป็นมนุษย์มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ ไม่ต้องการมันอีก เราต้องการจุดเดียวคือ " นิพพาน " เพียงเท่านี้พุ่งใจไปนิพพานทันที ไปนั่งอยู่ข้างหน้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยก็ดี เข้าวิมานของเราก็ได้ ถ้าเข้าในวิมานของเราถ้าเราไม่เห็นพระพุทธเจ้า พอนึกถึงท่านปั๊บท่านจะมาทันที เราก็ตัดสินใจว่า ถ้าร่างกายมันตายวันนี้หรือเมื่อไรก็ตาม ขอมาที่นี่จุดเดียว แค่นี้บรรดาท่านพุทธบริษัท ก่อนจะตายวันนั้นท่านต้องเป็นพระอรหันต์ก่อน เป็นยังไง มันเป็นเอง ไม่ต้องห่วงหรอก ทำจิตอย่างนี้กันทุกวันเป็นอรหันต์เอง แค่นี้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ต้องทำให้ได้!
    ต่อนี้ไปก็จะพูดถึงการปฏิบัติที่บรรดาพุทธบริษัทเข้ามาใหม่ ๆ อันดับแรก ทุกคนต้องมี " ศรัทธา " ไว้ก่อน เรื่องของพระพุทธศาสนานี่ไม่มีศรัทธาความเชื่อนี่ ไม่มีผลเลย
    ประการที่สอง ฝึกตัดกังวล ขณะที่มาอยู่ที่วัดนี่ไม่ห่วงอะไรเลยที่บ้าน ถ้าคนฉลาดนี่เขาไม่ห่วง ไอ้คนห่วงน่ะคนโง่ ใช้ปัญญาคิดนิดหนึ่งว่า เรานั่งอยู่ตรงนี้ทางบ้านมันมีอะไรเกิดขึ้น เราเห็นไหม เรารู้ไหม เรารู้ไม่ได้ เห็นไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราได้มโนมยิทธิ ถ้าเราห่วงเราย่องไปประเดี๋ยวหนึ่งก็ได้ และเวลานี้ต้องตัดความห่วงให้หมด ถ้าความกังวลคือ ความห่วงไม่มี จิตมันก็เริ่มเป็นสมาธิ หรือว่านิวรณ์ไม่กวนใจ
    หลังจากนั้นทุกคนคุมศีลให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนกว่าจะถึงวันตาย ไม่ใช่เฉพาะวันนี้และไม่ใช่อยู่ที่วัด ถ้าหากว่าคุมศีลไม่ได้วันไหน ฌานมันก็หล่น ปฏิบัติอย่างนี้คือ :-
    ๑. จะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง
    ๒. จะไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นทำลายศีล
    ๓. จะไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว

    หลังจากนั้น ถ้าเรายังไม่เป็นพระอนาคามี นิวรณ์มันยังตัดไม่ได้ เอาแค่ระงับชั่วคราวคือ :-
    ๑. กามฉันทะ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และในเพศตรงกันข้าม ยามปกติต้องมีและก็ต้องใช้ ก่อนจะทำกรรมฐานมันก็มีแล้วก็ใช้ เลิกกรรมฐานแล้วก็มีแล้วก็ใช้ อันนี้ไม่มีใครเขาว่า แต่ว่าเวลาที่เราจะเริ่มทำจิตเป็นสมาธิ ตัดกำลังนี้ออกจากใจไปชั่วคราว เราเวลานี้เราไม่ต้องการอะไรทั้งหมด
    ๒. ความไม่พอใจ อย่าให้มี
    ๓. ไอ้ความง่วงนี้ ถ้าเราโง่มันก็ง่วง ไม่โง่ก็ไม่ง่วง แล้วเวลาจะทำอย่าให้ดึกเกินไป ใช้เวลาหัวค่ำ กลางวันเวลาไหนก็ได้ เวลาทำต้องเป็นคนไม่มีเวลาแน่นอน เวลาไหนเราก็ทำได้ เวลาที่มันง่วงเพลียจัด เราก็อย่าไปทำมันซิ ไม่ให้มีความง่วง
    ๔. ควบคุมกำลังใจว่า เวลานี้ฉันจะภาวนา เวลานี้ฉันจะพิจารณา เวลานี้ฉันจะรู้ลมหายใจเข้าออก อย่างอื่นอย่าเข้ามายุ่งกับฉัน
    ๕. เราจะไม่สงสัยในผลของการปฏิบัติ
    หลังจากนั้นสมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ ให้ฝึกตื่นขึ้นมาเช้าคิดไว้เสมอว่า วันนี้เราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั่วไป บุคคลใดมีความทุกข์ เราจะเกื้อกูลให้มีความสุข ถ้าหากว่าถ้ามีใครเพลี่ยงพล้ำเราจะไม่ซ้ำเติม
    แค่นี้แหละ บรรดาท่านพุทธบริษัท กำลังใจทรงแค่นี้ เราถือว่าเป็น " ผู้ทรงฌาน " ถ้ารักษาอารมณ์อย่างนี้ไว้ได้ ฌานทุกอย่างจะไม่มีเสื่อม มีแต่ก้าวหน้า[​IMG]
    ต่อไปเป็นการรักษากำลังใจ นี่เป็นเรื่องเบื้องต้นของมโนมยิทธิ จะไม่อธิบายถึงผล ผลต่าง ๆ ก็คือ ครูฝึกให้แล้ว ถ้าทรงกำลังได้อย่างนี้ คำว่าเสื่อม คำว่าถอยหลัง ไม่มี ต่อไปที่บอกไว้ในเบื้องต้นว่า การฝึกแบบนี้เป็นการเตรียมตัวเพื่ออภิญญาหก ทีนี้คำว่า " อภิญญาหก " นี่มันต้องมี อาสวักขยญาณ คือ ตัดกิเลส ถ้าตัดกิเลสไม่ได้ เขาเรียกว่า " อภิญญาห้า " อภิญญาห้านี่! เราจะฝึกกันทำไม ฝึกกันเท่าไรมันก็ยังคงลงนรกอยู่ อย่าง พระเทวทัต ได้อภิญญาห้าเหาะลงนรกไปเลย มันต้องเป็นอภิญญาหก คือ ตัดกิเลสให้ได้ ตัดกิเลสนี่มี ๓ ตอน คือ " สังโยชน์ ๑๐ " มีการตัดจริง ๆ ๓ ตอน ทีแรกตัดตอนต้นให้ได้
    ตอนต้น คือ อารมณ์ของพระโสดาบันและสกิทาคามี ถ้าคนที่มีวิมานที่นิพพานแล้วถ้าทำไม่ได้อย่างนี้ ภาษาจะพูด ภาษาไม่หยาบก็จะไม่พูดแต่จะพูดให้ฟังที่ว่าอยากจะพูดว่า เลวกกว่าหมานี่ นี่ไม่ได้พูดหรอก บอกให้ฟัง คือว่า ถ้ามีวิมานอยู่ที่นิพพานนี่กำลังใจของเรา บารมีมันถึงนิพพานแล้ว สังโยชน์ ๓ ตัดไม่ได้ก็เลวเต็มที สังโยชน์ ๓ มีอะไรบ้าง กำลังของพระโสดาบันกับสกิทาคามีนี่ต้องได้ กำลังของพระโสดาบัน สกิทาคามี เขามีความรู้สึกอย่างไร เอาความรู้สึกที่มีอยู่ประจำตัว คือ :-
    ๑. มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้มันต้องตาย จะตายเมื่อไรก็ช่าง คิดว่าอาจจะต้องตายวันนี้ไว้เสมอ คุมความดีไว้ แค่นี้คิดไม่ได้ก็เลวเต็มที
    ๒. ใช้ปัญญาพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ว่าเราควรเคารพนับถือไหม แค่นี้ถ้ายังสงสัยก็เลวอีกแล้ว
    ๓. ทรงศีลให้บริสุทธิ์ตามฐานะของตัว ฆราวาสนี่แค่ ศีล ๕ พอ พระก็ ๒๒๗ และก็มากกว่านั้นนะ คือ อภิสมาจารนี่มีอีกเยอะ ธรรมะนี่มีอีกเยอะ สามเณรนี่ศีล ๑๐ พร้อมกับเสขิยวัตร ๗๕ เฉพาะฆราวาสนี่แค่ศีล ๕ ทรงให้ได้ ถ้าทรงศีล ๘ ได้ก็ดี ถามว่าทรงตอนไหน ทรงตั้งแต่เวลานี้ไปจนกว่าจะหมดลมหายใจเข้าออก อารมณ์ของพระโสดาบัน สกิทาคามี มีแค่นี้เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ตัดกิเลสเบื้องต้นได้แล้ว ถ้าได้อภิญญาคือ เป็นอภิญญาหกอีก ๒ จุด จะไม่พูดถึง ไม่จำเป็น เอาแค่นี้ให้ได้ก่อน หลังจากนั้นเป็นการซักซ้อมไว้เพื่ออภิญญา
    ฉะนั้น การฝึกอภิญญานี่มันมี ๒ แบบ
    คนที่ไม่เคยได้มาในชาติก่อน เราฝึกอีกแบบหนึ่ง
    คนที่เคยได้แล้วในชาติก่อน เราก็ฝึกอีกแบบหนึ่ง

    วันนี้จะพูดเฉพาะคนที่ได้แล้วในชาติก่อน และคนที่ได้มโนมยิทธิมาแล้ว ทุกคนมันเคยได้มาแล้วทั้งนั้น ถ้ากาลเวลามาถึงทำไม่ได้ แสดงว่าคบความโง่ไว้มากกว่าความฉลาด เพราะเคยได้มาแล้วนี่ก็ต้องเอาของเก่ามาใช้ให้ได้ เวลานี้ " มโนมยิทธิ " ที่ฝึกได้แล้วต้องทำให้เข้มข้น อย่าปล่อย เพราะมันเป็นก้าวแรกที่จะเข้าสู่ .. " อภิญญา "
    วิธีปฏิบัติเบื้องต้น มีความสำคัญต้องทำ ให้ทรงกำลังใจตามนี้ คือ ไม่ต้องไปไล่หน้ากสิณ ทีแรกคิดว่าจะไล่กสิณเล่นโก้ ๆ พระท่านบอก
    " ไม่จำเป็น! คนพวกนี้ไม่จำเป็นต้องไปไล่กสิณ เพียงแค่กำลังใจเข้าถึงฌานเท่านั้นแหละ คือ เข้าถึงเต็มกำลัง อภิญญาเก่าจะเข้าทันทีใช้ได้หมดเลย... "
    แต่ว่าต้องเป็น " พ.ศ. ๒๕๔๓ " ขึ้นไป ให้เริ่มใช้ตั้งแต่เวลานี้ เริ่มใช้ตั้งแต่เวลานี้จิตจะได้ทรงตัว ถ้าคนก็จะเป็นคนดี ถ้าพระก็จะเป็นพระดี ไอ้พระเลว ๆ ที่มันเลวมันไม่ได้ทำ ถ้าพระวัดนี้พระองค์ไหนเลวไม่พลาด " อเวจี " หรือ " โลกันตนรก "

    อย่าลืมนะ! นี่วิธีปฏิบัติกำลังใจเพื่ออภิญญา
    เมื่อตอนที่ " องค์ปฐม " ท่านมา ท่านบอกใช้อย่างนี้ ให้จับภาพพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ให้จิตทรงกำลังฌาน ๔ เป็นปกติ ไอ้ทรงฌาน ๔ เป็นปกติ ฌาน ๔ นี่เวลาเราออกจากร่างกายนี่เราเป็นฌาน ๔ แล้ว แต่นั้นเป็นฌาน ๔ เบื้องต้นที่มีกำลังอ่อน ต้องใช้ให้มีกำลังเข้มข้น นั่นก็คือ นึกถึงภาพพระพุทธเจ้าเมื่อไหร่ นึกปั๊บเห็นทันที นึกจับพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ชัดเจนแจ่มใส ตามกำลังให้ได้ทุกวัน ทุกวันและทุกเวลาที่เราต้องการ ไม่ใช่นั่งรอเวลาเงียบสงัด ไม่ใช่อย่างนั้น เดินไปเดินมา ทำงานอยู่นึกปั๊บให้เห็นเลย เห็นแล้วอธิษฐานพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงโตขึ้น ใหญ่ขึ้น สว่างกว่านี้ เล็กลง อยู่ข้างบน สูงมาก สูงน้อย เราทำอย่างนั้น อย่าคิดว่าเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ไม่ใช่ นี่อาตมาแนะนำเอง
    ขอให้ทรงกำลังใจอย่างนี้ให้เป็นปกติ เพราะการเดินไปเดินมา พระก็ตาม เวลาเดินไปบิณฑบาต เดินไปทำงานทำอะไรอยู่ก็ตาม ให้เห็นภาพพระพุทธเจ้าเป็นปกติที่ต้องการจะเห็น ถ้าอย่างนี้ทุกคนจะอยู่ในเกณฑ์สำรวม ความวุ่นวายจะไม่มีอยู่ในจิต ความเลวของคนของพระจะไม่มี ญาติโยมสังเกตไว้นะ!
    ถ้าพระองค์ไหนมันเลว มันไม่ทำแบบนี้หรอก ถ้าจับแบบนี้อารมณ์เลวไม่มี แล้วงานจะต้องเป็นไปตามปกติ นักเจริญกรรมฐานนี่เขาเคร่งครัดในการงาน เพราะต้องเป็นคนเคร่งครัดในกาลเวลา ถ้าไม่เคร่งครัดในกาลเวลามันทำไม่ได้ แม้แต่ในกรรมฐานเบื้องต้นเขาก็เคร่งครัดในกาลเวลาหรือการงาน
    รวมความว่า ถ้าจับภาพพระให้เป็นปกติ สำหรับเรื่องกสิณไม่ใช่ของแปลก และจะลองเล่นกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งไว้เป็นอดิเรก อย่าใจร้อน..
    อันดับแรก จับภาพพระพุทธเจ้าให้ชัดเจน ต้องฝึกตัวนี้ก่อน เดินไปเดินมานึกเมาอไรเห็นปั๊บทันที นอนหลับตื่นก็เห็นชัด ต้องอย่างนี้อภิญญา ไม่ใช่มานั่งทำ เขาเดินทำ เขาวิ่งทำกัน การทรงกำลังของสมาธิ เมื่อได้ทุกขณะแล้วอย่าใจร้อน เมื่อได้ตามความต้องการนึกเมื่อไรเห็นชัด ต่อจากนั้นไปก็เอากสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมาเล่นเป็นงานอดิเรก กสิณลมนี่มันเล่นยาก ความจริงอยากจะให้เล่นกสิณลม กสิณลมนี่มันเหาะได้นะ โก้ดี แต่มันเล่นยาก ถ้าไม่ฉลาดนี่มันเล่นยาก เอาง่าย ๆ ดีกว่า เอาปฐวีกสิณก็ได้ หรือ อาโปกสิณก็ได้ เอาง่าย ๆ ..
    ถ้าปฐวีกสิณ ก็จับดินขึ้นมา เอาดินสีอรุณขึงไว้ทำวงกลมให้โตพอที่ตามองเห็น แล้วไม่เห็นขอบวงกลม จับภาพให้ทรงตัว แต่ก็ไม่สะดวกอีก ต้องอาโปกสิณดีกว่า
    อาโปกสิณ เล่นง่าย ถ้ามันทำได้อย่างใดอย่างหนึ่งมันได้หมด ถ้าอาโปกสิณเอาน้ำมาใส่แก้วหรือใส่ขัน จับภาพพระพุทธเจ้า เดินไปเดินมาก็เห็นชัด นั่งก็เห็นชัด พอจับภาพพระพุทธเจ้าเห็นชัดเจนแจ่มใส แพรวพราวเป็นระยับเป็นฌาน ๔ ทรงตัว ขอพระองค์โตขึ้น เล็กลง อย่างนี้สะดวกมากได้แน่นอน จิตไม่วอกแวกตามกำลัง ตั้งเวลาไว้ ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ให้ทรงตัวให้ได้ ถ้า ๓๐ นาทีมันไหลไป อย่างนี้จิตใช้ไม่ได้แล้ว ยังเล่นกสิณไม่ได้ ถ้ามันทรงตัวได้จริง ๆ ภาพทรงตัว เวลานั้นก็เอาน้ำมาตั้ง จับภาพพระพุทธเจ้าให้ชัดเจนแจ่มใสเต็มกำลังของฌาน ๔ คือ แพรวพราวเป็นระยับของฌาน ๔
    หลังจากนั้นถอยหลังมา ขอกำลังบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า น้ำในแก้วหรือในขันนี้ขอให้แข็ง จิ้มไปตรงไหนตรงนั้นแข็ง แล้วเข้าฌาน ๔ ใหม่ จับภาพพระพุทธเจ้าใหม่ทำใจเฉยไว้ ถอยหลังมาอีกทีทรงจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ อธิษฐานว่าน้ำนี้จงแข็ง แล้วจิ้มปั๊บมันแข็งหรือยัง ยังไม่แข็งก็แล้วไป เพราะเวลามันยังไม่ถึง ซ้อมไว้จนกว่าจะถึง " พ.ศ. ๒๕๔๓ " ทำไปทุกวัน ๆ เล่นแบบนี้ เล่นเป็นปกติ ไม่ช้าก็จะมีการทรงตัว พออธิษฐานไปอธิษฐานมา น้ำเกิดแข็งมาตามความชอบใจ เราต้องใช้เวลาอยู่ ยังเป็นกำลังของอภิญญาไม่ได้ ยังอ่อนมากไป
    ถ้าจะเป็นกำลังของอภิญญาจริง ๆ ก็จับน้ำมา น้ำที่ไหนก็ตาม น้ำในแม่น้ำ น้ำในคลอง น้ำในบ่อก็ตาม นึกว่าน้ำที่จับไปจงแข็ง แหย่ปั๊บทันที แข็งทันที อย่างนี้เป็นตัวอภิญญาแน่ หลังจากนั้นก็ใช้กำลังของกสิณให้พอใจ กำลังของกสิณก็คือ :-
    ๑. ปฐวีกสิณ อธิษฐานของอ่อนให้เป็นของแข็ง อยากจะเดินบนน้ำก็อธิษฐานว่า เท้าที่เราก้าวไปตรงไหนให้น้ำแข็งเหมือนดิน เฉพาะที่เท้าก้าวนะ อย่าไปเสือกอธิษฐานให้หมดทั้งคลองนะ! มันไม่ถูก..การจราจรเขาเสีย อย่างนี้ก้าวไปได้สบาย อยากจะเดินไปในอากาศ อธิษฐานว่าเท้าที่ข้าพเจ้าก้าวไปในอากาศ เหยียบตรงไหนให้แข็งเหมือนดิน เดินได้สบาย...
    ๒. อาโปกสิณ ทำของแข็งให้เป็นของอ่อน หินมันแข็งทำให้เป็นของอ่อน เหล็กมันแข็งให้มันอ่อน แล้วฝนไม่ตกทำให้ฝนตกได้ทุกอย่าง
    ๓. เตโชกสิณ ไฟนี่! ถ้ามันหนาวเกินไป อธิษฐานเตโชกสิณ ให้มีความอุ่นแค่นั้นแค่นี้ ต้องการให้ไฟลุกล้อมใครเสียก็ได้ ใครพูดไม่ดีอธิษฐานให้ไฟล้อม มันเดินไม่ได้อยู่ตรงนั้นแหละ ถ้ามันไม่ขอขมาก็ไม่เลิกกัน อย่าไปเล่นแบบนี้นะ ถ้าไปเล่นแบบนี้กสิณเสื่อม หรือบางทีความมืดก็ใช้เตโชกสิณช่วยให้แสงเกิด
    ๔. วาโยกสิณ กสิณเหาะ! นึกอยากจะให้เราไปไหน นึกแป๊บเดียวมันจะไปถึงทันที นึกอยากจะให้ใครมาหาเรา ก็คิดถึงวาโยกสิณปั๊บหอบคนนั้นมา มันจะมานั่งปุ๊บนั่งข้างหน้าเลย เอาแค่นึกไม่ใช่ตั้งท่านะ ตั้งท่าใช้ไม่ได้
    ๕. ปีตกสิณ ถ้าของสีดำ สีแดงก็ตาม ต้องการคิดให้เป็นสีเหลือง สีทอง และแผ่นดินนี่ต้องการให้เป็นสีทองเมื่อไหร่ มันจะเป็นทองได้ทันที ไอ้บ้านหลังนี้ถ้าเป็นตึกเป็นไม้ เราคิดจะให้เป็นสีเหลือง สีทอง มันก็เป็น...
    ๖. โอทาตกสิณ โอทาตกสิณนี่ถ้าของมันขาว มันเขียว มันแดงนี่ ต้องการให้มันขาว นึกให้มันขาวมันจะขาวเลย
    แต่ก็มีกสิณอีกเยอะ! รวมความว่ากำลังของกสิณทั้งหมดเป็นเรื่องเล็ก ๆ ถ้าเราทำเบื้องต้นได้
    ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเตรียมฝึกเพื่ออภิญญา เวลานี้จะเตรียมใช้กำลังใหญ่ไว้ได้เลย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าทำอย่างนี้มโนมยิทธิของทุกคนจะไม่มีคำว่าเสื่อม จะมีความทรงตัวแล้วจะเข้มแข็งขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังที่จะตัด " สังโยชน์ ๓ " ต้องทำให้ได้ อันนี้ไม่ใช่คำขอร้อง เป็น " คำสั่ง " ว่าคนที่ต้องการความดีถึง " นิพพาน " หรือ " อภิญญา " ก็ตาม ต้องทำ " สังโยชน์ ๓ " ให้ได้ คือ :-
    ๑. มีความรู้สึกไว้ทุกวัน เวลาตื่นเช้าว่าชีวิตนี้มันต้องตาย ถ้าตายแล้วเราไม่ยอมไปอบายภูมิ
    ๒. เราจะยึดพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นกำลังใจของเราด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
    ๓. จะทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์
    เท่านี้แหละ! แล้วหลังจากนั้นก็ใช้กำลังใจของพระอรหันต์ไว้ประจำใจ คือ ขึ้นชื่อว่ามนุษยโลกมันเป็นทุกข์เราไม่ต้องการมันอีก พรหมโลกกับเทวโลกสุขจริง แต่ไม่นาน ไม่ต้องการมันอีก เราต้องการจุดเดียวคือ .. " นิพพาน " อย่างนี้เป็นอารมณ์พระอรหันต์ รักษากำลังใจตามนี้ไว้ เมื่อถึงอายุขัยเมื่อไร ก่อนจะตายจะเป็นอรหันต์เมื่อนั้น เมื่อตายเมื่อไรก็ไปนิพพาน ...

    ถ้ายังไม่ไปนิพพานเพียงใด ถ้าโอกาสมี ถ้าเราสามารถใช้อภิญญาได้ แต่ว่าการใช้อภิญญานี่ต้องใช้ให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านห้ามพระ ถ้าไม่มีคนเห็นใช้ได้ ถ้ามีคนเห็นใช้ไม่ได้ แล้วก็มีประโยชน์มาก
    สำหรับคำแนะนำการฝึกอภิญญาหก ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ สวัสดี
     
  3. Khunkik

    Khunkik เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กันยายน 2006
    โพสต์:
    2,150
    ค่าพลัง:
    +18,072
    <CENTER>อภิญญาปฏิบัติ
    </CENTER>


    " อภิญญา ๕ "
    ๑. อิทธิฤทธิญาณ มีความรู้ในการแสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ
    ๒. ทิพโสตญาณมีความรู้เหมือนหูทิพย์
    ๓. เจโตปริยญาณรู้วาระจิตของคนและสัตว์
    ๔. จุตูปปาตญาณรู้ว่าสัตว์ที่ตายแล้วไปเกิด ณ ที่ใด
    ๕. ปุพเพนิวาสนุสสติญาณระลึกชาติหนหลังได้

    ๕ ข้อข้างบนนี้ ท่านรวมเรียกว่า "อภิญญา" เพราะมีความรู้เกินกว่าสามัญชนจะพึงทำได้ อภิญญาทั้ง ๕ นี้เป็นโลกียวิสัย โลกียชนสามารถจะปฏิบัติ หรือฝึกหัดจิตของตนให้ได้ ให้ถึงได้ทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกวาสนาบารมี แต่เลือกเอาเฉพาะผู้ทำถูก ทำจริง และทำดี ถ้าทำจริง ทำถูก และทำแต่พอดีแล้ว ได้เหมือนกันหมด เว้นเสียแต่ท่านผู้รู้นอกลู่นอกทางเท่านั้น ที่จะทำไม่พบไม่ถึง ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า เมื่ออภิญญานี้เป็นของคนทุกชั้นทุกวรรณะแล้ว ทำไมนักปฏิบัติกรรมฐานสมัยนี้มีดื่น สำนักกรรมฐานก็ก่อตั้งกันขึ้นเหมือนดอกเห็ด ทำไมเขาเหล่านั้นไม่มีใครได้อภิญญา? ถ้าท่านถามอย่างนี้ ก็ขอตอบว่า ที่เขาได้เขาถึงในปัจจุบันนี้ก็มีมาก แต่เขาไม่กล้าแสดงตนให้ท่านทราบ เพราะดีไม่ดีท่านนั่นแหละจะหาว่าเขาบ้า ๆ บอ ๆ เสียก็ได้ ที่ปฏิบัติกันเกือบล้มเกือบตายไม่ได้ผลอะไรเลยแม้แต่ปฐมฌานก็มี ที่ไม่ปรากฏผลก็เพราะเขาปฏิบัติไม่ถูก
    บางสำนักไม่แต่เพียงปฏิบัติไม่ถูกอย่างเดียว ยังแถมสร้างแบบสร้างแผนปฏิบัติเป็นของตนเอง แล้วแอบอ้างว่าเป็นของพระพุทธเจ้า ทำการโฆษณาคุณภาพแล้วก็สอนกันไปตามอารมณ์ ตามความคิดความนึกของตัว พอทำกันไปไม่กี่วันก็มีการสอบเลื่อนชั้นเลื่อนลำดับ แล้วออกใบประกาศรับรองว่าคนนั้นได้ชั้นนั้น คนนี้ได้ชั้นนี้ ครั้นพิสูจน์กันเข้าจริง ๆ ปรากฎว่าไม่ได้อะไรเลย แม้แต่อุปจารฌานก็ไม่ได้ แล้วยังแถมมีจิตคิดผิด หลงผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิไปเสียอีก กรรมหนักแท้ ๆ
    ในบางสำนักก็ให้ชื่อสำนักของตนเป็นสำนักวิปัสสนา แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาสอนไปตามลัทธิของตน ถูกหรือผิดไม่รู้ แล้วแถมยังคุยเขื่องอีกว่าพวกฉันเป็นพวกวิปัสสนา ฉันไม่ใช่สมถะ พวกสมถะต่ำ ไปนิพพานยังไม่ได้ ส่วนวิปัสสนาของฉันเป็นทางลัดไปนิพพานโดยตรงเลย น่าสงสารแท้ ๆ ช่างไม่รู้เก้ารู้สิบเอาเสียเลย ความรู้เรื่องไปนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้ชัดเจน ไม่ได้ปิดบังอำพรางแต่ประการใด ท่านสอนว่า ผู้ที่มุ่งพระนิพพานนั้น ในขั้นต้นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต ที่เรียกว่า "อธิศีลสิกขา"
    เมื่อปรับปรุงศีลอันเป็นเครื่องระงับความชั่วทางกาย วาจาได้แล้ว ก็ให้เข้ามาปรับปรุงใจ ใจนั้นมีสภาพดิ้นรนกลับกลอก ไม่อยู่นิ่ง คล้ายลิง ให้ผูกใจมัดใจให้มีสภาพคงที่มั่นคงเสียก่อน โดยหาอุบายฝึกใจให้จับอยู่ในอารมณ์เดียว คือ คิดอะไรก็ให้อยู่ในวัตถุนั้น ไม่สอดส่ายไปในวัตถุอื่น ที่เรียกว่า "สมาธิ" หรือเรียกตามชื่อของกรรมฐานว่า "สมถะกรรมฐาน" เป็นอุบายสงบใจ การทำใจให้สงบนี้ จะโดยวิธีใดก็ตาม เรียกว่า สมถะทั้งนั้น อุบายที่ทำให้ให้สงบระงับไม่ดิ้นรนนี้ พระพุทธเจ้าทรงวางแบบไว้ถึง ๔๐ แบบ จัดเป็นกลุ่มได้ ๗ กลุ่ม
    กลุ่มที่ ๑ เอาไว้ปราบพวกรักสวยรักงาม เรียกว่า "ราคะจริต"
    กลุ่มที่ ๒ เอาไว้ปราบพวกใจร้ายอำมหิต เรียกว่า "โทสะจริต"
    กลุ่มที่ ๓ เอาไว้ปราบพวกหลงงมงาน เรียกว่า "โมหะจริต"
    กลุ่มที่ ๔ เอาไว้ปราบพวกเชื่อง่ายไม่มีเหตุผล เรียกว่า "ศรัทธาจริต"
    กลุ่มที่ ๕ เอาไว้ปราบพวกช่างคิดช่างนึก ตัดสินใจไม่เด็ดขาด เรียกว่า "วิตกจริต"
    กลุ่มที่ ๖ เอาไว้ปราบพวกฉลาดเฉียบแหลม เรียกว่า พุทธจริต
    กลุ่มที่ ๗ เป็นกรรมฐานกลาง ปฏิบัติได้ทุกพวก
    [​IMG]

    เมื่อสามารถระงับใจให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน ๆ พอจะใช้งานด้านวิปัสสนาได้ ที่เรียกว่า ได้ฌานที่ ๑ - ๒ - ๓ - ๔ ตามลำดับอย่างนี้เรียกว่า "อธิจิตสิกขา" เป็นการเตรียมการณ์ลำดับที่ ๒ แล้วจึงเอาจิตที่มีสมาธิตั้งมั่นจนถึงลำดับฌานแล้วนี่แหละไปวิจัยด้านวิปัสสนา


    คำว่า "วิปัสสนา" นั้นแปลว่า รู้แจ้งเห็นจริง หรือ ถ้าจะพูดตามภาษานิยมก็เรียกว่า ยอมรับนับถือตามความเป็นจริง ไม่ฝืนกฎธรรมดานั่นเอง แล้วก็พวกวิปัสสนาลัดทุ่งลัดป่า ที่ไม่ยอมปรับปรุงศีล ไม่ปรับปรุงสมาธิที่เรียกว่าสมถะ แล้วเอาอะไรมาเป็นวิปัสสนา เห็นสำเร็จมรรคผล ซื้อไร่ซื้อนา รับจำนำจำนองกันให้ยุ่งไปหมด อย่างนี้เรียกว่าถึงมรรคถึงผลแล้วหรือ น่าขายขี้หน้าชาวต่างชาติต่างศาสนา เขามาประเดี๋ยวเดียวเขาก็คว้าเอาของดีไปหมด เราอยู่ในเมืองพระพุทธศาสนา มัวทำตนเป็นปีศาจอย่างนี้ ในที่สุดก็ไปทำให้พระยายมมีงานมากขึ้น


    <CENTER>ฝึกอภิญญาปฏิบัติ
    </CENTER>เพื่อย่นเวลาอ่านให้สั้นเข้า จึงใคร่จะให้ท่านผู้อ่านได้รู้ได้เห็นวิธีฝึกใจเพื่อได้อภิญญาเสียเลย แล้วจึงจะได้เขียนถึงวิธีเตรียมการณ์ไว้ท้ายบท
    อภิญญาที่ ๑ อิทธิฤทธิญาณ อภิญญาที่ ๑ นี้ ผู้ประสงค์จะฝึกท่านให้เรียนกสิณ ๑๐ ให้ชำนาญจากอาจารย์ผู้สอนเสียก่อน ถามวิธีฝึกและข้อเคล็ดลับต่าง ๆ ให้เข้าใจ เมื่อขณะฝึกนั้นถ้ามีอะไรสงสัยให้รีบหารืออาจารย์ อย่าตัดสินเองเป็นอันขาด ข้อสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อจะเรียนนั้นดูอาจารย์เสียก่อนว่าได้แล้วหรือเปล่า ถ้าอาจารย์ไม่ได้ก็จงอย่าไปขอเรียนเลย เคยเห็นพาลูกศิษย์ลูกหาไปผิดลู่ผิดทาง เลอะเทอะกันมาแล้ว เมื่อเห็นอาจารย์ได้จริงแล้วก็เรียนเถิด ท่านคงไม่พาเข้ารกเข้าป่า
    เมื่อทำกสิณได้ชำนาญทั้ง ๑๐ อย่างแล้ว ท่านให้พยายามเข้าฌานตามลำดับฌาน แล้วเข้าฌานตามลำดับกสิณ แล้วเข้าฌานสลับฌาน แล้วเข้าฌานสลับกสิณ ทำให้คล่องนึกจะเข้าเมื่อไรเข้าฌานได้ทันที นอนหลับพอรู้สึกตัวก็เข้าฌานได้ทันที กำลังเดิน กำลังทำงาน กำลังพูด อ่านหนังสือ ดูมหรสพ หรือในกิจต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ เมื่อคิดว่าเราจะเข้าฌานละก็เข้าได้ทันที อย่างนี้เรียกว่าได้อภิญญาที่ ๑ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ตามความพอใจ
    อภิญญาที่ ๒ ทิพโสตญาณ ญาณหูทิพย์นี้ ท่านให้เข้าฌานในกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ได้ เป็นกรรมฐานที่มีอภิญญาเป็นบาท คือ กรรมฐานกองนี้ทรงคุณถึงฌานที่ ๔ ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ทำไมกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ทรงคุณไม่เสมอกันหรืออย่างไร ขอตอบว่ากำลังของกรรมฐานทั้ง ๔๐ ไม่เท่ากัน เช่น อนุสสติ ๓ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นต้น ทรงกำลังได้เพียงอุปจารฌาน กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ จตุธาตุ ๔ เป็นต้น ทรงกำลังได้ถึงฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้เป็นฌานที่มีอภิญญาเป็นบาท เพราะทรงอภิญญาไว้ได้
    กำลังของกรรมฐานไม่เท่ากันอย่างนี้ ท่านจึงให้เลือกกรรมฐานเข้าฌาน เข้าให้ถึงฌานที่ ๔ แล้วถอยจิตออกจากฌานให้ตั้งอยู่เพียงอุปจารฌาน แล้วคิดคำนึงถึงเสียงที่ได้ยินมาแล้วในเวลาก่อน ๆ ในระยะแรกให้คำนึงถึงเสียงที่ดังมาก ๆ เช่น เสียงกลอง เสียงระฆัง เสียงหวูดรถไฟ เรือยนต์ แล้วค่อยคำนึงถึงเสียงที่เบาลงมาเป็นลำดับ จนถึงเสียงกระซิบ และเสียงมดปลวก ซึ่งปกติเราจะไม่ได้ยินเสียง คำนึงด้วยจิตในสมาธิ จนเสียงนั้น ๆ ก้องอยู่ คล้ายกับเสียงนั้นปรากฏอยู่เฉพาะหน้า และใกล้หู ต่อไปก็คำนึงถึงเสียงที่อยู่ไกล ข้ามบ้าน ข้ามตำบล อำเภอ จังหวัด และเสียงที่บุคคลอื่นพูดแล้วในเวลาที่ล่วงเลยมาแล้ว เมื่อเสียงนั้น ๆ ปรากฏชัดแล้ว เป็นอันว่าได้ ทิพโสตญาณ หูทิพย์ในอภิญญาที่ ๒
    อภิญญาที่ ๓ เจโตปริยญาณ ญาณนี้รู้ใจคนและสัตว์ รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ในขณะนี้หรือก่อน หรือในวันต่อไป เจโตปริยญาณ ก็ดี จุตูปปาตญาณ ก็ดี ทั้ง ๒ อย่างนี้ ล้วนเป็นกิ่งก้านของทิพจักขุญาณ เมื่อท่านเจริญทิพจักขุญาณ คือ ญาณที่มีความรู้เหมือนตาทิพย์ได้แล้ว ทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้เจโตและจุตูปปาตญานเอง ทำทิพจักขุญาณนั้นเป็นญาณที่สร้างให้ได้ก่อนญาณอื่น เพราะเจริญกรรมฐานให้ได้เพียงอุปจารฌาน
    คือ เจริญอาโลกกสิณ โอทาตกสิณ หรือ เตโชกสิณ ใน ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้อุปจารฌาน แล้วกำหนดจิตว่าต้องการเห็นนรก ก็ถอนจิตจากนิมิตกสิณนั้นเสีย แล้วกำหนดใจดูนรก ภาพนรกก็จะปรากฏ เมื่อประสงค์จะเห็นสวรรค์และอย่างอื่น ๆ ก็ได้เหมือนกัน การเห็นนั้นจะมัวหรือชัดเจนขึ้นอยู่กับนิมิต
    เมื่อเพ่งนิมิตคือ รูปกสิณ ถ้าเห็นรูปกสิณชัดเท่าใด ภาพนรกสวรรค์หรืออย่างอื่นที่เราปรารถนาจะรู้ก็ชัดเจนแจ่มใสเท่านั้น เมื่อท่านเจริญกสิณกองใดกองหนึ่งใน ๓ กองนี้จนได้อุปจารฌานแล้ว ฝึกทิพจักขุญาณได้แล้ว ให้พยายามทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๑ - ๒ - ๓ - ๔ โดยลำดับ ท่านจะได้ภาพที่เห็นชัดเจนขึ้น และสามารถเจรจากับพวกพรหมเทวดา และภูตผีปีศาจได้เท่า ๆ กับมนุษย์ เมื่อทำจติให้ตั้งมั่นจนถึงฌานที่ ๔ แล้ว ก็จะรู้วาระจิตของคนอื่น ว่าคนนี้มีกิเลสอะไรเป็นตัวนำ ขณะนี้เขากำลังคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ เรียกว่า "เจโตปริยญาณ"
    และรู้ต่อไปว่าสัตว์ตัวนี้หรือคน ๆ นี้ ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์หรือคนที่เกิดใหม่นั้นมาจากไหน อย่างนี้เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ"
    และรู้ต่อไปว่าสัตว์หรือคนที่มาเกิดนี้เพราะกรรมอะไรที่เป็นบุญหรือเป็นบาปบันดาลให้มาเกิด เขาตายไปแล้วไปตกนรกเพราะกรรมอะไร ไปเกิดบนสวรรค์เพราะกรรมอะไร อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่า "ยถากัมมุตาญาณ"
    สามารถรู้เรื่องในอดีตคือที่ล่วงมาแล้วมาก ๆ เรียกว่า "อตีตังสญาณ" รู้เรื่องในอนาคตได้มาก ๆ เรียกว่า "อนาคตังสญาณ" และเมื่อปรารถนาจะรู้เรื่องถอยหลังไปถึงชาติก่อน ๆ นี้ก็รู้ได้ เรียกว่า "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ"
    รวมความแล้วเมื่อเจริญกรรมฐานในกสิณ ๓ อย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จนถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้ญาณรวมกันทั้งหมด ๗ อย่าง เป็นกรรมฐานที่ได้กำไรมาก


    <CENTER>ปรับพื้นใจ
    </CENTER>ไม่ว่าอะไร จะเป็นบ้าน ตึก เรือน โรง หรือถนนหนทางก็ตามทีก่อนจะสร้างให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็ต้องปรับพื้น ตอกหลัก ปักเข็มกันทรุดเสียก่อน แม้การเจริญอภิญญาปฏิบัติก็เหมือนกัน อยู่ ๆ จะมาปฏิบัติเพื่อทำให้ได้แบบชุบมือเปิบนั้น ไม่มีทางสำเร็จแน่ ต้องปรับปรุงกาย วาจา ใจ ให้เข้ามาตรฐานเสียก่อน ถ้ายังรู้จักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นชู้ลูกเมียคนอื่น โกหกตอแหล ดื่มเหล้าเมาสุรา หรือยังรู้จักอิจฉาริษยาชาวบ้านชาวเมือง สะสมกอบโกย กลั่นแกล้ง ตระหนี่ขี้เหนียวอยู่แล้ว อย่าคิดอย่าฝันเลยว่าจะพบอภิญญากับเขา


    <CENTER>อภิญญารักคนดี เกลียดคนชั่ว
    </CENTER>ฉะนั้น สมัยนี้พวกนักต่าง ๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ หรือนักศาสตร์อื่น ๆ จนกระทั่งนักศาสตร์ขี้เหล้าเมายา ก็พากันวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนรกสวรรค์ อยากจะรู้อยากจะเห็นด้วยตาตนเอง ถ้าอยากรู้อยากเห็นจริงแล้ว เชิญทดลองปฏิบัติได้เลย ขออย่างเดียวทำตนให้เข้ากับหลักสูตรให้ได้เสียก่อน ถ้าทำตนของท่านให้เข้ากับหลักสูตรไม่ได้แล้ว ก็ควรเลิกฝอย เสียเวลาเปล่า ไม่ว่านักเรียนนักศึกษาหรือนักอะไรทั้งนั้น ถ้าความประพฤติไม่ดีไม่เหมาะสมแล้ว โรงเรียนหรือสถานที่นั้น ๆ เขาก็คงไม่ต้องการ เรื่องความรู้หรือค่าแรงงานก็เป็นอันไม่ได้รับ อภิญญานี้ก็เหมือนกัน ขอให้ทำตนให้เหมาะสมเสียก่อน แล้วจึงเข้ามาปฏิบัติ คำว่าทำตนให้เหมาะสมนี้ ท่านอย่าคิดนะว่า ถ้าได้โกนหัวห่มเหลืองแล้วจะใช้ได้ ชนิดโกนหัวห่มเหลืองนี้ ที่เป็นหนอนบ่อนไชพระพุทธศาสนาก็ไม่น้อย บวชแล้วแทนที่จะช่วยกันบำรุงพระศาสนา แต่กลับไปติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญเยินยอ ประกาศพระศาสนาแข่งกับพระพุทธเจ้า โปรดสังเกตดูเถอะหาไม่ยาก ฉะนั้น การทำตนให้เหมาะสมจึงไม่ใช่จะต้องบวช เอาเพียงประพฤติให้ถูกเท่านั้น เป็นพอดีแล้ว

    <CENTER>
    อภิญญาปฏิบัติ
    </CENTER>


    [​IMG]แวะคุยกันก่อน
    เป็นอย่างไรท่านที่รัก ท่านเห็นแล้วหรือยังว่า ความรู้เรื่องพุทธศาสตร์นั้นต่างจากศาสตร์อื่น ๆ ที่ท่านเรียนท่านศึกษามา เรื่องของศาสตร์หนึ่งจะเอาไปบวกกับอีกศาสตร์หนึ่งนั้นไม่ได้ ท่านศึกษาวิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ แล้วท่านจะให้รู้ให้เข้าใจในพุทธศาสตร์ด้วยนั้นมันจะได้อย่างไร หรือโดยเฉพาะคณะนักคุยศาสตร์ นักโม้ศาสตร์ ขี้เมาศาสตร์ด้วยก็ยิ่งแล้วกันใหญ่ ไม่มีทางจะรู้จะเข้าใจเรื่องพุทธศาสตร์ได้เลย เพราะแต่ละศาสตร์ก็มีความมุ่งหมายไปคนละทาง ศาสตร์ทุกศาสตร์ทางโลกนั้น เป็นหลักสูตรที่มีความมุ่งหมายให้กว้างขวางไกลออกไปจากตน
    ส่วนพุทธศาสตร์นั้นเรียนเข้าหาตน แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ศาสตร์ทางโลกมุ่งวัตถุเป็นสำคัญ ส่วนพุทธศาสตร์มุ่งนามเป็นสำคัญ ศาสตร์ทางโลกมุ่งสัญญา คือ ความจดจำเป็นสำคัญ ส่วนปัญญานั้นใช้บ้างในส่วนวิจัยตามสูตร และมุ่งวิจัยวัตถุ ส่วนพุทธศาสตร์นั้นหนักไปในทางปัญญา ส่วนสัญญานั้นใช้บ้าง แต่ถือว่าไม่สำคัญนัก เพียงอาศัยเป็นเครื่องเกาะไปเพื่อช่วยพยุงปัญญาเท่านั้น เพราะเมื่อขณะใดนักปฏิบัติทางพุทธศาสตร์ยังอาศัยสัญญาเป็นกำลังอยู่ ก็ชื่อว่าเขาผู้นั้นยังเข้าไม่ถึงพุทธศาสตร์อย่างแท้จริง สัญญาให้ผลเพียงแต่โลกียวิสัย ผลที่ได้ทางโลกีย์นี้ จะเป็นฌานหรืออภิญญาก็ตาม ย่อมยังอยู่ในเขตที่จะเสื่อมสูญได้ เพราะเป็นส่วนที่หยาบและยังไม่เข้าถึงจุดอิ่มของศาสตร์
    ต่อเมื่อไรเขาผู้นั้นได้มีโอกาสใช้ปัญญาพิจารณาตามกฎของความเป็นจริง ในส่วนที่เป็นรูปและนาม คือ รู้ชัดรู้แจ้งตามความเป็นจริงในขันธ์ ๕ เห็นว่าขันธ์ ๕ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา จนจิตของตนไม่ยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่งทุกอย่างในโลกแล้วนั่นแหละ เขาผู้นั้นชื่อว่าถึงจุดอิ่มของพุทธศาสตร์ จะทรงความดีไว้ได้โดยไม่กลับเลื่อนถอยหลัง ข้อเท็จจริงในพุทธศาสตร์เป็นอย่างนี้ ขอท่านผู้สนใจในพุทธศาสตร์โปรดทำความเข้าใจเสียใหม่ มิใช่ว่าท่านนั่งนึกนอนนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ปรารภเรื่องสวรรค์ นรก หรือตายแล้วไปไหน เกิดใหม่หรือไม่เกิด โลกหน้ามีจริงหรือไม่มี ทำอย่างไรจึงจะได้รู้ได้เห็นโลกใหม่ คนและสัตว์ตายแล้วไปไหน นรกมีจริงหรือไม่ สวรรค์มีจริงหรือไม่
    เรื่องอย่างนี้ถ้าท่านเพียงสนใจแต่นึกคิดหรืออ่านตำรับตำรา ต่อให้ท่านอ่านพระไตรปิฎกขาดเป็นพัน ๆ ชุด ท่านก็ไม่มีทางจะรู้ได้เลย เพราะการนึกคิดและค้นคว้าแต่เพียงอ่านตำรานั้น ก็ไม่แตกต่างอะไรกับแม่ครัวที่ซื้อตำรากับข้าวมาดูมาอ่านแล้วอ่านอีก จนตำราขาด แม้แต่ต้มยำ ต้มน้ำปลาซึ่งเป็นอาหารหญ้าปากคอกก็ไม่ได้กิน นั่งหิวนั่งอยากจนน้ำลายไหลอีกอยู่นั่นเอง ผลที่จะได้กินอาหารนั้นต้องลองทำ ทำตามตำรานั่นแหละ และก็ระวังอย่าฝืนตำรา ในตำราเขาบอกว่าอยากจะกินรสเปรี้ยวให้ใส่ส้ม อยากกินรสเค็มให้ใส่เกลือหรือน้ำปลา อยากกินรสหวานให้ใส่น้ำตาล ถ้าเราฝืนตำราตรัสรู้เอาเอง อยากกินรสเค็มแอบเอาส้มไปใส่ อยากกินเปรี้ยวแอบเอาเกลือไปใส่ อยากกินหวานแอบเอาเกลือหรือส้มไปใส่ ลองหลับตานึกดูเถอะว่ารสอาหารมันจะเป็นอย่างไร ในที่สุดก็เหนื่อยเปล่า ของก็เสีย เวลาก็เสีย กินก็ไม่ได้ ในที่สุดก็เททิ้ง เสียหมดทั้งเวลาและทรัพย์สมบัติ ถ้าปรุงอาหารรับแขกด้วย ก็เลยพาลเสียชื่อเสียเสียงอีกด้วย เสียกันใหญ่ใช้อะไรไม่ได้
    เรื่องศาสตร์ทางพระศาสนาก็เหมือนกัน เมื่อท่านประสงค์จะเรียนรู้ปฏิบัตให้ถึงแล้ว ต้องเลือกตำราให้ถูกต้อง ถ้าจะเรียนกับครูบาอาจารย์ ก็ควรเรียนกับครูบาอาจารย์ชนิดที่เขาทำได้ผลมาแล้ว อย่าไปหลงลิ้นหลงลมพวกเถรตำรา หรือพวกสร้างสำนักตักลาภตักผล เมื่อท่านเข้าไปสำนักใดเพื่อมอบกายถวายชีวิต จะมอบตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหา ขอให้เฝ้าสังเกตตรวจตราเสียให้แน่นอนเสียก่อน ถ้าเอาอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ไม่ได้ ก็เอาอุทุมพริกสูตรหรือวิสุทธิมรรคเป็นปรอทสำหรับวัด
    ดูองค์อาจารย์เสียก่อนว่า ยังรู้จักอิจฉาริษยาชาวบ้านไหม ยังชอบสะสมทรัพย์สมบัติไหม ยังมีจิตพยาบาทคนอื่นไหม เจรจาโดยธรรมหรือไม่ มีความเมตตาปรานีคนและสัตว์หรือไม่ แล้วถามเรื่องกรรมฐานว่าท่านมีกรรมฐานกี่แบบ การให้กรรมฐานท่านให้เหมือนกันหมดทุกคนหรือให้กรรมฐานตามอุปนิสัย ถ้ามีแต่เพียงกรรมฐานอย่างเดียว กี่คน ๆ ให้เหมือนกัน ไม่แยกกรรมฐานตามจริตหรือยังรู้จักอิจฉาริษยา ยังโลภโมโทสันสะสมทรัพย์สมบัติ ขาดเมตตาปรานีแล้ว รีบถอยหลังเถอะ อย่าอยู่ช้าเลย ท่านหนีเสือไปพบจระเข้เข้าแล้ว ดีไม่ดีอ้ายด่างเกยชัยมันจะตะครุบเอาตาย
    และก็ผลที่จะรู้โลกอื่นก็เหมือนกัน สมมติว่าท่านได้อาจารย์ที่ดีแล้ว ท่านก็ต้องปฏิบัตดีปฏิบัติชอบตามคำแนะนำของอาจารย์ ถ้าทำได้ตามนัยนั้น หมายถึงการเตรียมตัวตามอุทุมพริกสูตร เว้นในส่วนที่พระพุทธเจ้าให้เว้น ทำตามในส่วนที่พระองค์แนะนำให้ทำ อย่าให้ขาดตกบกพร่อง เพียง ๙๐ วันเท่านั้น มีหวังที่ท่านจะพบกับทิพจักขุญารเบื้องต้น แล้วท่านไม่ละวิริยะอุตสาหะ อภิญญาจะเป็นของท่านทั้งหมดภายใน ๓ ปี ต่อจากนั้นท่านก็ศึกษาวิปัสสนาญาณต่อไป แล้วอาศัยอภิญญาเป็นเพื่อนช่วยวิจัยด้านวิปัสสนา อย่างช้า ๗ ปี ท่านจะจบกิจในพระศาสนาคือถึงพระนิพพาน ขอให้ทำจริงเถอะ อย่าจริงแต่พูด อย่ามัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แล้วจะพบของจริง ถ้าท่านดีแต่พูด ดีแต่วิจารณ์ มันก็ไม่ต่างอะไรกับสุนัขเห็นข้าวเปลือก
    ความจริงทิพจักขุญาณนี้ มิใช่ว่าจะต้องปฏิบัติตามแบบกสิณอย่างเดียวถึงจะได้ จะปฏิบัติในกรรมฐาน ๔๐ กองใดกองหนึ่งก็ได้ แต่ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติต้องฉลาด หรือมีอาจารย์ผู้แนะนำที่ถูกต้อง เมื่อได้กรรมฐานถึงอุปจารสมาธิแล้วให้ฝึกในสายทิพจักขุญาณเลย ภายใน ๑ เดือนก็จะใช้งานได้บาง ถึงแม้ยังไม่ถึงที่สุด ก็พอแก้ความสงสัยเสียได้

    <CENTER>[​IMG]
    </CENTER>กรรมฐาน ๔๐ ตามจริต
    ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า กรรมฐาน ๔๐ ทัศนี้ แบ่งออกเป็น ๗ กอง เพื่อปราบกิเลสที่เข้ามารบกวนใจแต่ละอย่างตามความสามารถของกรรมฐานนั้น ๆ ต่อไปนี้จะได้บอกชื่อและอาการของจริตนั้น ๆ ดังต่อไปนี้
    ๑. ราคะจริต จริตนี้ถ้าสิงใจใครแล้ว ทำให้เขาผู้นั้นรักสวยรักงาม ไม่ว่าอะไรต้องสวยต้องสะอาดทั้งนั้น เลอะเทอะมอมแมมไม่ได้ แม้แต่เขาจะไปทำงานทำการ ซึ่งไม่ใช่เวลาอวดสวยอวดงาม แต่พวกมีราคะจริตสิงใจนี้ก็ต้องหวีผมให้เรียบ รีดเสื้อผ้าให้เรียบร้อย รองเท้าต้องขัดให้เป็นมัน แต่งหน้าด้วยแป้งหอมน้ำมันหอมไปทำงาน อาการเขาเป็นอย่างนี้ เมื่อจิตใจชอบอย่างนี้มันเป็นกิเลสเครื่องผูกเครื่องเกาะ กีดกันความดี ท่านให้หากรรมฐานที่มีกำลังพอจะปราบจริตนี้ด้วยกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภทั้ง ๑๐ อย่าง และ แถมกายคตานุสสติ อีก ๑ รวมเป็น ๑๑ อย่าง
    ๒. โทสะจริต จริตนี้เมื่อสิงใจแล้ว จะกลายเป็นคนพื้นเสียเสมอ ๆ โกรธกริ้วคิ้วขมวด ใจคอหงุดหงิด อะไรนิดก็โกรธ อะไรหน่อยก็โกรธ เป็นคนเจ้าอารมณ์ ทำงานทำการหยาบ เอาละเอียดถี่ถ้วนไม่ได้ เดินแรงพูดเสียงดัง ท่านให้ปราบกิเลสประเภทโทสะนี้ด้วย พรหมวิหาร ๔ และ วรรณกสิณ ๔ รวมเป็น ๘ อย่าง
    ๓. โมหะจริต มีอาการหลงใหลใฝ่ฝัน ขี้หลงขี้ลืม หวงแหน เก็บเล็กเก็บน้อย หยุม ๆ หยิม ๆ แม้แต่เศษกระดาษหรือฝอยไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เก็บ เรื่องข้าวของแล้วช่างจดช่างจำ มีความเสียดมเสียดาย เป็นเจ้าเรือนผ้าขี้ริ้วหายไปผืนเดียวบ่นได้ ๓ วัน ๓ คืน
    ๔. วิตกจริต เป็นคนช่างตริช่างตรอง ช่างคิดช่างนึก มีเรื่องอะไรสักนิดก็คิดก็นึก พูดแล้วพูดอีกจนชาวบ้านรำคาญ ไม่กล้าตัดสินใจ คนประเภทนี้ถ้าเป็นหมอ คนไข้ตายหมด เพราะไม่แน่ใจว่าจะวางยาอะไรดี มัวคิดมัวนึกเสียจนสายเกินควร ถ้าเป็นหัวหน้าฝ่ายดับเพลิงไฟก็ไหม้หมดโลก เพราะถ้าได้ข่าวว่าไฟไหม้ก็จะมัวกะการ วางแผนเสียจนไฟโทรมไปเอง เชื่องช้าไม่ปราดเปรียว ใครได้ไว้เป็นสามีหรือภรรยา ก็ต้องเป็นคนอารมณ์เย็นจริง ๆ มิฉะนั้นแล้วมีหวังแยกทางกันเดิน จริตทั้ง ๒ นี้ ท่านให้แก้ด้วย อานาปานุสสติกรรมฐาน
    ๕. ศรัทธาจริต จริตนี้เมื่อเข้าสิงใจใคร คนนั้นจะกลายเป็นคนเชื่อง่าย เชื่อไม่มีเหตุมีผล มีลักษณะตรงกันข้ามกับ วิตกจริต รายนั้นไม่ใคร่เชื่อใคร แต่รายนี้เชื่อไม่มีหูรูด ใครพูดให้ฟังเป็นเชื่อทั้งนั้น เชื่อโดยปราศจากเหตุผล ที่ถูกหลอกถูกต้มก็คนแบบนี้แหละ จริตนี้ท่านให้เจริญ อนุสสติ ๖ ประการ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และ เทวตานุสสติ รวม ๖ ประการด้วยกัน
    ๖. พุทธจริต จริตนี้ทำจิตใจให้ฉลาดเฉียบแหลม เพียงใครพูดอะไรก็ตามหรือครูอธิบายในวิทยาการเพียงแต่หัวข้อ คนที่มีจริตนี้ก็เข้าใจความได้เลย สามารถอธิบายความพิศดารในหัวข้อนั้นได้ โดยมิต้องอาศัยตำรับตำรา จริตนี้ท่านให้เจริญ มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน ๔
    เหลือกรรมฐานอีก ๑๐ อย่าง คือ อรูป ๔ ภูตกสิณ ๔ อาโปกสิณ ๑ และ อากาศกสิณ ๑ รวมเป็น ๑๐ เหมาะแก่จริตทุกจริต ไม่เลือกคน ใครจะเจริญ คือ นำไปปฏิบัติก็ได้ มีหวังสำเร็จทั้งนั้น ที่เขียนถึงเรื่องจริต และกรรมฐานที่เหมาะแก่จริตมานี้ ยังไม่ได้คิดจะให้รู้ละเอียด ประสงค์เพียงให้รู้ไว้เป็นเครื่องมือวัดอาจารย์ หรือสำนักที่จะเข้าไปศึกษา ถ้าเขามีความรู้ตามนี้และสามารถให้กรรมฐานได้ถูกต้องตามนี้ก็เรียนกับเขาได้
    ถ้าถามเรื่องจริตไม่รู้ กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตก็ไม่เข้าใจ มีกรรมฐานอย่างเดียว ใครจะมีจริตอะไรก็ตาม ให้กรรมฐานอย่างเดียว แต่ถ้าเขาให้กรรมฐานเป็นกรรมฐานกลางก็พอใช้ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะให้กรรมฐานกลางได้ แต่ไม่เข้าใจแก้อารมณืของใจตามอำนาจจริตแล้ว ก็อย่าไปเรียนเลยเสียเวลาเปล่า ต่อให้เรียนอยู่ด้วยสักหมื่นชาติก็จะไม่ได้ดีอะไร นอกจากเสียเวลาเปล่า ดีไม่ดีจะพาให้เป็นมิจฉาทิฏฐิเลยลงนรกไปก็ได้ ตัวอย่างในปัจจุบันนี้มีเถอะ ลองสอบถามดูเถอะจะพบไม่น้อยทีเดียว


    <CENTER>กสิณ ๓ เป็นบาทของทิพจักขุญาณ
    </CENTER>ต่อไปนี้จะได้แนะถึงวิธีปฏิบัติในกสิณ ๓ อย่าง คือ เตโชกสิณ โอทาตกสิณ อาโลกกสิณ ๓ อย่างนี้แต่เพียงพอเป็นทางปฏิบัติ เพื่อบำเพ็ญเพื่อได้ทิพจักขุญาณ แต่ท่านอย่าลืมนะว่าการปฏิบัติกรรมฐานจะต้องหาครูผู้สอน ถ้าทำเองโดยไม่มีใครแนะนำและควบคุมแล้ว ดีไม่ดีจะเกิดสำเร็จเร็วกว่าความเป็นจริง ตัวอย่างในปัจจุบันมีไม่น้อย พอเห็นอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็คิดว่าสำเร็จเสียแล้วเลยไม่พบดีกัน
    ขณะที่เขียนหนังสือนี้อยู่ มีนักปฏิบัติกลุ่มหนึ่งมาถามว่า "ฉันได้ไปสอบกับครูผู้สอน คุณครูบอกว่าได้องค์ธรรมแล้ว ท่านช่วยตรวจด้วยเถอะว่าฉันได้แค่ไหนแล้ว?" ทำเอาข้าพเจ้างงงันคอแข็งไปเลย ไม่มีแบบมีแผนที่ไหนที่ผู้ปฏิบัติถึงธรรมแล้ว กลับไม่รู้ว่าตัวได้ แปลกมาก ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นปัจจัตตัง เมื่อได้แล้วต้องรู้เอง ไม่ใช่ไปขอร้องให้คนอื่นช่วยบอก แล้วครูเอาอะไรเป็นเครื่องวัดว่าลูกศิษย์ได้ดวงธรรม ในเมื่อเจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวสักนิด ข้าพเจ้าได้วินิจฉัยดูเห็นว่า ก. ข. ยังไม่กระดิกหูเลย จึงย้อนถามว่าใครเป็นครู ท่านกลุ่มนั้นก็บอกครูและสำนัก ถามถึงระเบียบการสอนก็บอกให้ทราบ ดูแล้วช่างไม่ถูกไม่ตรงเสียแล้ว เสียดายธรรมของพระพุทธเจ้า สงสารพระพุทธเจ้า อุตส่าห์พร่ำสอนเสียเป็นวรรคเป็นเวร เกือบล้มเกือบตาย แต่ลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้เชื่อฟัง กลับเอาลัทธิหลอกลวงมาใช้ แล้วแอบอ้างเอาพระนามของพระองค์มารับรอง น่าสงสารแท้ ๆ ธรรมที่ว่าสอบได้นั้น เขาบอกว่า เห็นดวงเล็กบ้างใหญ่บ้าง เห็นพระบ้าง โธ่! น่าสงสาร ของเท่านี้ยังไกลต่อคำว่าได้อีกหลายล้านเท่า ท่านระวังไว้นะ! ดีไม่ดีจะไปพบครูจระเข้แบบนี้เข้าจะลำบาก
    ทิพจักขุญาณนี้ ความจริงแล้วอาจจะได้จากกรรมฐานกองอื่นก็ได้ ไม่เฉพาะกสิณ ๓ อย่างนี้ เมื่อทำสมาธิถึงแล้ว และรู้จักวิธีปฏิบัติแม้กรรมฐานกองอื่นก็ทำทิพจักขุญาณให้บังเกิดได้ แต่ที่แนะนำไว้ในที่นี้ว่าให้ปฏิบัติในกสิณ ๓ ก็เพราะว่ากสิณ ๓ นี้เป็นบาทของทิพจักขุญาณโดยตรง แนะตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านว่าไว้อย่างนี้ ก็เขียนไปตามท่าน แต่ถ้าใครตามได้คนนั้นก็ได้ทิพจักขุญาณจริง
    อาโลกกสิณ กสิณกองนี้ ตามในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า เป็นกสิณที่เหมาะแก่ทิพจักขุญาณที่สุด มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้ ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ ผู้ใดที่เคยเจริญ อาโลกกสิณ มาแต่ชาติก่อน ชาตินี้แม้เพียงแลดูแสงจันทร์หรือแสงอาทิตย์ที่ส่องลอดช่องฝามาเท่านั้น ก็สำเร็จ"อุคคหนิมิต" ( คือรูปนั้นติดตาแม้หลับแล้วก็ยังเห็นภาพนั้นติดตาติดตาอยู่ เรียกว่า "อุคคหนิมิต" ) และ "ปฏิภาคนิมิต" ( คือ เห็นแสงนั้นสว่างไสวคล้ายแสงดาวประกายพรึก สว่างจ้าเหมือนลืมตาเห็นดวงอาทิตย์ ) ได้ง่ายดาย สำหรับผู้ที่ฝึกหัดใหม่นั้นท่านให้เพ่งดูแสงจันทร์และแสงอาทิตย์ ที่ส่องลงมาตามช่องฝาเป็นแสงกลม ลืมตามองดูแล้วตั้งใจจดจำไว้ว่า แสงที่ส่องลงานั้นเป็นอย่างไร มีรูปคือลักษณะช่องกลมอย่างไร แล้วบริกรรมว่า โอภาโส ๆ หรือจะภาวนาว่า อาโลโก ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ จนกว่าภาพนั้นจะติดตา คือ ภาวนาไปด้วย นึกถึงภาพนั้นไปด้วย เมื่อภาพนั้นติดตาแล้วก็ให้กำหนดใจว่าขอภาพนั้นจงใหญ่ขึ้น เมื่อภาพนั้นใหญ่ขึ้น ก็นึกให้เล็กลง ภาพนั้นก็เล็กลง นึกว่าภาพนี้จงสูงขึ้น ภาพนั้นก็สูงขึ้น นึกว่าขอภาพนี้จงต่ำลง ภาพนั้นก็ต่ำลง อย่างนี้เรียกว่าได้ "อุคคหนิมิต" เป็นอุปจารสมาธิ ถึงอุปจารฌาน ต้องให้ได้จริง ๆ นึกขึ้นมาเมื่อไรต้องเห็นอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น แม้ไม่มีแสงให้ดูภาพนั้นก็ยังติดตาติดใจอยู่

    [​IMG]
    และเมื่อต้องการจะเห็นภาพนั้นเมื่อไร คือ เมื่อกำลังง่วงต้องการเห็นต้องการบังคับ ก็เห็นได้บังคับได้ เมื่อกำลังเหนื่อย เมื่อหิว เมื่อตื่นนอนใหม่ ๆ เห็นได้บังคับได้ทุกขณะทุกเวลา จึงชื่อว่า ได้อุคคหนิมิตที่แท้ ต่อไปให้ฝึกอย่างนั้นจนชำนาญ จนได้ "ปฏิภาคนิมิต" คือ เห็นแสงสว่างผ่องใสเป็นแท่งหนาทึบ คล้ายแสงมากองรวมกันอยู่ คล้ายดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ที่มองเห็นในขณะลืมตา อย่างนี้เรียกว่า "ปฏิภาคนิมิต"


    เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้วก็ชื่อว่าจิตสมควรแก่การที่จะได้ "ทิพจักขุญาณ" เมื่อประสงค์จะเห็นอะไร ให้เพ่งนิมิตนั้นก่อน เมื่อเห็นนิมิตชัดเจนแล้ว ให้กำหนดจิตว่า ขอภาพนิมิตจงหายไป ภาพที่ต้องการจงปรากฏขึ้น เพียงเท่านี้ภาพที่ต้องการก็ปรากฏขึ้น จะเป็นภาพนรก สวรรค์ พรหมโลก หรือ ญาติที่ตายไป และจะเป็นอะไรก็ได้ เมื่อได้แล้วให้ฝึกไว้เสมอ ๆ จะได้ชำนาญและคล่องแคล่วใช้งานได้ทุกขณะ
    สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะหัดให้คล่องทั้งลืมตาและหลับตา เพราะจะเป็นประโยชน์มาก เพื่อว่าถ้าเราอยากจะรู้อะไร ในขณะที่คุยกับเพื่อนหรือไปในระหว่างคนมาก ถ้ามัวไปหลับตาอยู่ เขาจะคิดว่าเรานี่ท่าทางคงจะไม่ใคร่ตรง ดีไม่ดีพวกจะพาส่งโรงพยาบาลบ้าเสียก็ได้ เพราะฉะนั้น ควรฝึกให้คล่องเสียทั้งสองอย่าง ทั้งลืมตาและหลับตา
    เอาละนะ! แนะนำไว้แบบเดียวก็พอจะได้ไม่ยุ่ง ทิพจักขุญาณนี้มีประโยชน์มาก เหมาะแก่การพิสูจน์ประวัติต่าง ๆ เช่น พระพุทธบาท ปฐมเจดีย์ หรือเรื่องราวเก่า ๆ ที่สงสัย ถ้าปรารถนาจะรู้แล้วจะรู้ได้เลย ภาพเก่า ๆ จะปรากฏคล้ายดูภาพยนตร์ พร้อมทั้งรู้เรื่องรู้ชื่อคน ชื่อสถานที่ไปในตัวเสร็จ แต่ระวังใช้ให้ถูกทาง อย่านำไปใช้ในทางลามก ถ้าทำอย่างนั้นจะเสื่อมเร็ว
    ขอความสุขสวัสดีจงมีแต่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ...สวัสดี*
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...