เรื่องเด่น อย่าเพิ่งวางใจ! ดร.สมิทธ เตือน 2 รอยเลื่อนเสี่ยงแผ่นดินไหว เขื่อนแตก

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 3 มกราคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    ถือเป็นเรื่องระทึกช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2562 สำหรับเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 4.9 ที่บริเวณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่ละติจูดที่ 14.90 องศาเหนือ ลองจิจูด 99.14 องศาตะวันออก ซึ่งเหตุปฐพีสะเทือนครั้งนี้ทำให้คนหลายจังหวัดใกล้เคียงรู้สึกได้

    แผ่นดินไหวทุกครั้งหลายคนจะแสดงความเป็นห่วงเขื่อนต่างๆ ว่าจะได้รับผลกระทบแตกหรือร้าวหรือไม่ ซึ่งต่อมา ฝ่ายบำรุงรักษาโยธา ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งดูแลเขื่อนวชิราลงกรณ ได้แถลงการณ์ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบกับทุกเขื่อนของ กฟผ. ก็ตาม

    ทั้งนี้ การเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนอะไรหรือไม่ จะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวและส่งผลกระทบกับเขื่อนเพียงใด ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถาม ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมกล่าวเตือนไปยังทุกคนให้เฝ้าระวังภัย

    b89ee0b8b4e0b988e0b887e0b8a7e0b8b2e0b887e0b983e0b888-e0b894e0b8a3-e0b8aae0b8a1e0b8b4e0b897e0b898.jpg
    แผ่นดินไหว ที่กาญจนบุรี มีสาเหตุจากรอยเลื่อน


    ดร.สมิทธ กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้น่าจะมาจากรอยเลื่อน ซึ่งที่ จ.กาญจนบุรี มีรอยเลื่อนอยู่หลายแห่ง เช่น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ หรือ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งอยู่ใกล้กับเขื่อนศรีนครินทร์ และวชิราลงกรณ

    “รอยเลื่อนตรงนี้คือรอยเลื่อนเก่า ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งพอมีการสะสมพลังงานมากๆ ก็จะมีการขยับตัว แต่ที่เป็นห่วงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คือ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเมียนมา ใกล้เมืองย่างกุ้ง ซึ่งมันส่งผลให้รอยเลื่อนของเราขยับเขยื้อน”

    จากสถิติพบมีการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนหลายแห่งที่ยังเคลื่อนตัวอยู่ เช่น รอยเลื่อนเชียงแสน รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนเถิน ส่วนรอยเลื่อนที่มีผลกระทบกับเขื่อนศรีนครินทร์ และวชิราลงกรณ โดยตรง คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ กับรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งอยู่ใต้เขื่อน

    9ee0b8b4e0b988e0b887e0b8a7e0b8b2e0b887e0b983e0b888-e0b894e0b8a3-e0b8aae0b8a1e0b8b4e0b897e0b898-1.jpg
    เผยสถิติแผ่นดินไหว 2 รอยเลื่อนใกล้เขื่อน รุนแรงสุด ปฐพีสะเทือนขนาด 7.6


    ดร.สมิทธ ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่ผ่านมา ทั้ง 2 รอยเลื่อนเคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว โดย 2 ครั้งที่หนักที่สุด คือ

    เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2480 รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งกินพื้นที่ยาว 250 กิโลเมตร ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงถึงขนาด 7.6 ซึ่งรอยเลื่อนดังกล่าว อยู่ในพื้นที่แถวแม่น้ำแควน้อย ไปจนถึงชายแดนพม่า

    ต่อมา 22 เม.ย.2526 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 5.9 ที่รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ซึ่งมีความยาวประมาณ 500 กิโลเมตร โดยวางตัวอยู่ในแนวร่องน้ำแม่กลองและแควใหญ่ ไปจนถึงชายแดนพม่า

    “เมื่อมีรอยเลื่อนใดรอยเลื่อนหนึ่งขยับ จะส่งผลไปยังรอยเลื่อนข้างเคียง ยกตัวอย่าง คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ขยับ อาจจะส่งผลไปยังรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ หรือคลองมะรุ่ย ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 5.6”

    9ee0b8b4e0b988e0b887e0b8a7e0b8b2e0b887e0b983e0b888-e0b894e0b8a3-e0b8aae0b8a1e0b8b4e0b897e0b898-2.jpg
    กลุ่มรอยเลื่อนที่มีพลังพาดผ่านประเทศไทย
    แผ่นดินไหว 5.5 ถึง 7.6 แมกนิจูด อาจสร้างรอยแตกร้าวให้เขื่อน


    เมื่อถามว่า จะต้องแผ่นดินไหวขนาดไหน ถึงจะส่งผลกระทบกับเขื่อนได้ ดร.สมิทธ บอกว่า ถ้าเกิดรุนแรงตั้งแต่ 5.5 – 7.6 แมกนิจูด ก็อาจจะทำให้เขื่อนร้าว หรือแตกได้ ซึ่งตรงนี้เคยบอกกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปแล้ว ซึ่งทางการไฟฟ้าฯ เขามีการติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวไว้ที่สันเขื่อน และได้เตรียมความพร้อมในการรับมือ

    “ที่เป็นห่วงที่สุด คือ เคยมีแผ่นดินไหวรุนแรงที่พม่า ซึ่งมีผลกระทบกับรอยเลื่อนในประเทศไทย ซึ่งกรุงเทพมหานครนั้น มีชั้นดินเหนียวมีสภาพดินอ่อน หากเกิดแผ่นดินไหวแรงๆ ชั้นดินเหนียวสามารถขยายความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่…หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง บริเวณเขื่อน จ.กาญจนบุรี ส่งผลให้เขื่อนแตก อาจจะเกิดน้ำท่วมหลายจังหวัด..

    ที่ผ่านมา กฟผ. เคยทำภาพจำลองไว้ หากเขื่อนศรีนครินทร์เกิดแตก น้ำจะท่วมสูงประมาณ 25 เมตร ที่ จ.กาญจนบุรี จากนั้นน้ำจะไหลไปที่ อ.บ้านโป่ง 7.5 เมตร จากนั้นจะไปที่ เมืองราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม แต่กรุงเทพฯ จะไม่ได้รับผลกระทบนัก เพราะน้ำจะไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งการไหลของน้ำจะมีเวลา 6 – 20 ชั่วโมง ในการไหลไปในพื้นที่ต่างๆ

    9ee0b8b4e0b988e0b887e0b8a7e0b8b2e0b887e0b983e0b888-e0b894e0b8a3-e0b8aae0b8a1e0b8b4e0b897e0b898-3.jpg
    อย่าเพิ่งวางใจ แผ่นดินไหวต่างแดน อาจส่งผลถึงรอยเลื่อน แผ่นดินไหวใต้เขื่อนก็มีโอกาสเขื่อนแตก


    ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาการสร้างเขื่อนทับรอยเลื่อนนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วและเป็นประวัติศาสตร์โลก ที่ผ่านมา เคยเกิดแผ่นดินไหวและเขื่อนแตกมาแล้ว ประเทศไทยก็มี 2 เขื่อนดังกล่าวที่ตั้งทับรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ สิ่งที่ต้องระวัง คือ หากพลังงานถูกสะสมไว้นานๆ มันก็จะเกิดแผ่นดินไหวได้ ดังนั้น เราต้องศึกษาสถิติที่เคยเกิดขึ้น

    เมื่อถามว่า การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ไปแล้ว จะทำให้พลังสะสมอ่อนลง หรือทำให้เกิดเบาลงในครั้งต่อไปหรือไม่ ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่…พลังงานก็จะมีการสะสมไปเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวเลย แล้วมาเกิด แบบนี้จะรุนแรงกว่า เพราะมีพลังงานสะสมไว้มาก

    “ที่สำคัญ คือ การเตรียมการป้องกันเอาไว้ ซึ่งที่ผ่านมาผมเคยไปบรรยายเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งทาง กฟผ. เองก็ได้เตรียมความพร้อม โดยมีการจำลองอพยพคน หากเกิดเขื่อนแตกร้าวก็ให้อพยพคนขึ้นที่สูง เพราะเวลาเขื่อนแตกนั้น จะไม่แตกทันที มันอาจจะค่อยๆ ร้าว ดังนั้นจะยังมีเวลาหนีอยู่พอสมควร ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขื่อนเองจะทราบ

    ดร.สมิทธ เน้นย้ำว่า การมีรอยเลื่อนที่ใต้เขื่อนทั้ง 2 เขื่อนถือเป็นเรื่องที่เราต้องเตือนกับประชาชน เพราะโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวใต้เขื่อนและส่งผลกระทบกับเขื่อนนั้นมีมาก อย่าเพิ่งวางใจ ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่เกิด แต่ในอนาคต หากมีการสะสมพลังงานมากๆ ก็อาจจะเกิดได้ เพราะหากมีแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ในประเทศรอบข้าง เช่น ที่อินโดนีเซีย ก็จะเกิดผลกระทบกับรอยเลื่อน โดยเฉพาะถ้า 2 รอยเลื่อนใต้เขื่อนนี้ขยับก็จำเป็นต้องมีระบบเตือนภัยให้ประชาชนด้วย

    9ee0b8b4e0b988e0b887e0b8a7e0b8b2e0b887e0b983e0b888-e0b894e0b8a3-e0b8aae0b8a1e0b8b4e0b897e0b898-4.jpg
    ดร.สมิทธ ธรรมสโรช
    สถิติแผ่นดินไหว ที่มีผลกระทบกับประเทศไทย และชาวกรุงรู้สึกได้


    ทั้งนี้ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการเกิดแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งสิ้น 30 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2557 – 2561 โดยมีอยู่ 3 ครั้ง ที่เกิดแผ่นดินไหวแล้วชาวกรุงเทพฯ สามารถรู้สึกได้ คือ

    21 มีนาคม 2557 ได้เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ที่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ถนน อาคารและบ้านเรือน บริเวณใกล้จุดศูนย์กลางได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิต 1 คน เกิดโคลนผุด รู้สึกสั่นไหวหลายจังหวัด คือ เชียงราย แพร่ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เชียงใหม่ และตึกสูงในกรุงเทพมหานคร

    6 ธันวาคม 2557 แผ่นดินไหว ขนาด 5.9 ยูนนาน ประเทศจีน รู้สึกสั่นไหวที่ ตึกสูง จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร

    24 สิงหาคม 2559 เวลา 17.34 น. ได้เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.8 ที่ประเทศพม่า รู้สึกสั่นไหว ที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ และ กรุงเทพมหานคร

    ทั้งหมดนี้คือสถิติที่เคยเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี อยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมความพร้อมในการรับมือให้ดี เพราะหากมีการป้องกันที่ดีก็สามารถลดการสูญเสียได้

    ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

    ขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/content/1459108
     

แชร์หน้านี้

Loading...