อุบาสิกา สุปปิยา ถวายเนื้อขา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย thepkere, 11 ธันวาคม 2012.

  1. thepkere

    thepkere เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    1,018
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,449
    PHP:
    (นางสุปปิยาอุบาสิกา เลิศกว่าพวกอุบาสิกาสาวิกาของเราผู้เป็นคิลานุปัฏฐาก ฯ)

    อุบาสิกาสุปปิยาถวายเนื้อขา
    [๕๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์
    แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครพาราณสี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ
    ถึงพระนครพาราณสีแล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ อิสิปตนะมฤคทายวันเขตพระนคร
    พาราณสีนั้น สมัยนั้น อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา ๒ คน เป็นผู้เลื่อมใส เป็นทายก
    กัปปิยการก บำรุงพระสงฆ์อยู่ในพระนครพาราณสี
    วันหนึ่ง อุบาสิกาสุปปิยาไปสู่อาราม เที่ยว
    เยี่ยมวิหารและบริเวณทั่วทุกแห่ง แล้วเรียนถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุรูปไรอาพาธ ภิกษุรูปไร
    โปรดให้ดิฉันนำอะไรมาถวาย เจ้าข้า.

    ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาถ่ายและได้บอกอุบาสิกาสุปปิยาว่า ดูกรน้องหญิง อาตมา
    ดื่มยาถ่าย อาตมาต้องการน้ำเนื้อต้ม

    อุบาสิกาสุปปิยารับคำว่า ดิฉันจักนำมาถวายเป็นพิเศษ เจ้าข้า แล้วไปเรือนสั่งชายคน
    รับใช้ว่า
    เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาขายมา

    ชายคนรับใช้รับคำอุบาสิกาสุปปิยาว่า ขอรับกระผม แล้วเที่ยวหาซื้อทั่วพระนครพาราณสี
    ก็มิได้พบเนื้อสัตว์ที่เขาขาย จึงได้กลับไปหาอุบาสิกาสุปปิยาแล้วเรียนว่า เนื้อสัตว์ที่เขาขายไม่มี
    ขอรับ เพราะวันนี้ห้ามฆ่าสัตว์


    จึงอุบาสิกาสุปปิยาได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุอาพาธรูปนั้นแล เมื่อไม่ได้ฉันน้ำเนื้อต้ม
    อาพาธจักมากขึ้นหรือจักถึงมรณภาพ การที่เรารับคำแล้วไม่จัดหาไปถวายนั้น เป็นการไม่สมควร
    แก่เราเลย ดังนี้ แล้วได้หยิบมีดหั่นเนื้อมาเชือดเนื้อขาส่งให้หญิงคนรับใช้สั่งว่า แม่สาวใช้
    ผิฉะนั้น แม่จงต้มเนื้อนี้แล้วนำไปถวายภิกษุรูปที่อาพาธอยู่ในวิหารหลังโน้น อนึ่ง ผู้ใดถามถึงฉัน
    จงบอกว่าป่วย แล้วเอาผ้าห่มพันขา เข้าห้องนอนบนเตียง.

    ครั้งนั้น อุบาสิกาสุปปิยะไปเรือนแล้วถามหญิงคนรับใช้ว่า แม่สุปปิยาไปไหน?
    หญิงคนรับใช้ตอบว่า คุณนายนอนในห้อง เจ้าข้า.
    จึงอุบาสกสุปปิยะเข้าไปหาอุบาสิกสุปปิยาถึงในห้องนอน แล้วได้ถามว่า เธอนอนทำไม
    อุบาสิกา.
    ดิฉันไม่สบายค่ะ อุบาสก.
    เธอป่วยเป็นอะไร.
    ทีนั้น อุบาสิกาสุปปิยาจึงเล่าเรื่องนั้นให้อุบาสกสุปปิยะทราบ
    ขณะนั้น อุบาสกสุปปิยะร่าเริงดีใจว่า อัศจรรย์นักชาวเราไม่เคยมีเลยชาวเรา แม่สุปปิยา
    นี้มีศรัทธาเลื่อมใสถึงแก่สละเนื้อของตนเอง สิ่งไรอื่นทำไมนางจักให้ไม่ได้เล่า แล้วเข้าไปเฝ้า
    พระผู้มีพระภาค. ถวายบังคมนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อุบาสกสุปปิยะนั่งเรียบร้อยแล้ว
    ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์
    จงทรงกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าในวันพรุ่งนี้เพื่อเจริญมหากุศล และปิติปราโมทย์
    แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นอุบาสกสุปปิยะ
    ทราบการรับนิมนต์ของพระผู้มีพระภาคแล้วลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
    แล้วกลับไป และสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้คนไป
    กราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว.

    ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรจีวรเสด็จไปสู่
    นิเวศน์ของอุบาสกสุปปิยะ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วย
    พระสงฆ์ จึงอุบาสกสุปปิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน
    ข้างหนึ่ง
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอุบาสกสุปปิยะผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า อุบาสิกา
    สุปปิยาไปไหน?

    อุ. นางป่วย พระพุทธเจ้าข้า
    พ. ถ้าเช่นนั้น เชิญอุบาสิกาสุปปิยามา
    อุ. นางไม่สามารถ พระพุทธเจ้าข้า
    พ. ถ้าเช่นนั้น พวกเธอช่วยกันพยุงพามา

    ขณะนั้น อุบาสกสุปปิยะได้พยุงอุบาสิกาสุปปิยามาเฝ้า พร้อมกันนางได้เห็นพระผู้มี
    พระภาค แผลใหญ่เพียงนั้นได้งอกเต็ม มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติทันที จึงอุบาสกสุปปิยะ
    และอุบาสิกาสุปปิยา พากันร่าเริงยินดีว่า อัศจรรย์นักชาวเรา ไม่เคยมีเลยชาวเรา พระตถาคต
    ทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีพระอานุภาพมาก เพราะพอเห็นพระองค์เท่านั้น แผลใหญ่โตยังงอกขึ้น
    เต็มทันที มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติ แล้วอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
    ด้วยชาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสด็จแล้ว ทรงนำ
    พระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
    พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา เห็นแจ้ง สมาทาน
    อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
    ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
    [๕๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น
    ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปไหน
    ขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปปิยา.
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว ภิกษุรูปนั้นได้ทูลรับต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระ-
    พุทธเจ้า ได้ขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปปิยา พระพุทธเจ้าข้า

    พ. เขานำมาถวายแล้วหรือ ภิกษุ
    ภิ. เขานำมาถวายแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
    พ. เธอฉันแล้วหรือ ภิกษุ
    ภิ. ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
    พ. เธอพิจารณาหรือเปล่า ภิกษุ
    ภิ. มิได้พิจารณา พระพุทธเจ้าข้า

    ทรงติเตียน
    พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงไม่ได้พิจารณา แล้วฉัน
    เนื้อเล่า เธอฉันเนื้อมนุษย์แล้ว การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน
    ที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อมนุษย์
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ เขาสละเนื้อของเขาถวายก็ได้
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังมิได้
    พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อช้าง
    [๖๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ช้างหลวงล้มลงหลายเชือก สมัยอัตคัตอาหาร ประชาชน
    พากันบริโภคเนื้อช้าง และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อช้าง
    ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉัน
    เนื้อช้างเล่า เพราะช้างเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบคงไม่ทรงเลื่อมใสต่อพระสมณะ
    เหล่านั้นเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
    ห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อม้า
    สมัยต่อมา ม้าหลวงตายมาก สมัยอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อม้า และ
    ถวายแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อม้า ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
    ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อม้าเล่า เพราะม้าเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัว
    ทรงทราบ คงไม่เลื่อมใสต่อพระสมณะเหล่านั้นเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี
    พระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉัน
    เนื้อม้า รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อสุนัข
    สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อสุนัข และถวายแก่พวก
    ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อสุนัข ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
    ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อสุนัขเล่า เพราะสุนัขเป็นสัตว์น่าเกลียด น่าชัง
    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลาย
    ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้องู
    สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้องู และถวายแก่พวกภิกษุ
    ผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้องู ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน
    พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้องูเล่า เพราะงูเป็นสัตว์น่าเกลียดน่าชัง แม้พระยานาค
    ชื่อสุปัสสะก็เข้าไปในพุทธสำนักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง
    ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บรรดาที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสมีอยู่
    มันคงเบียดเบียนพวกภิกษุจำนวนน้อยบ้าง ของประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระ-
    คุณเจ้าทั้งหลายโปรดกรุณาอย่าฉันเนื้องู ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระยานาคสุปัสสะ
    เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นพระยานาคสุปัสสะอันพระผู้มีพระภาค
    ทรงให้เห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำ
    ประทักษิณกลับไป
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
    แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้องู รูปใดฉัน
    ต้องอาบัติทุกกฏ.
    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อราชสีห์
    สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าราชสีห์แล้วบริโภคเนื้อราชสีห์ และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว
    บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อราชสีห์แล้วอยู่ในป่า ฝูงราชสีห์ฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อ
    ราชสีห์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุ
    ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อราชสีห์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง
    สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือโคร่งแล้วบริโภคเนื้อเสือโคร่งและถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว
    บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเสือโคร่งแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือโคร่งฆ่าพวกภิกษุเสียเพราะได้กลิ่นเนื้อ
    เสือโคร่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้าม
    ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือโคร่ง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
    สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือเหลือง แล้วบริโภคเนื้อเสือเหลืองและถวายแก่พวกภิกษุ
    ผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือเหลืองแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือเหลืองฆ่าพวกภิกษุเสีย
    เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือเหลือง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
    ทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือเหลือง รูปใดฉัน
    ต้องอาบัติทุกกฏ.
    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อหมี
    สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าหมีแล้วบริโภคเนื้อหมี และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
    พวกภิกษุฉันหมีแล้วอยู่ในป่าเหล่าหมีฆ่าพวกภิกษุเสียเพราะได้กลิ่นเนื้อหมี ภิกษุทั้งหลายกราบทูล
    เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อหมี รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือดาว
    สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือดาวแล้วบริโภคเนื้อเสือดาว และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว
    บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือดาวฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่น
    เนื้อเสือดาว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติ
    ห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.


    สุปปิยภาณวาร ที่ ๒ จบ.
    _________________
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๕
    พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
    หน้าที่ ๕๕/๒๗๘ ข้อที่ ๕๘ - ๖๐


    นางสุปปิยาอุบาสิกา เลิศกว่าพวกอุบาสิกาสาวิกาของเราผู้เป็นคิลานุปัฏฐาก ฯ

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐
    พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
    หน้าที่ ๒๗/๒๙๐ ข้อที่ ๑๕๒
     

แชร์หน้านี้

Loading...