อุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ 10 อย่าง

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย WebSnow, 23 สิงหาคม 2005.

  1. WebSnow

    WebSnow ผู้ก่อตั้งเว็บพลังจิต ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 เมษายน 2003
    โพสต์:
    8,695
    กระทู้เรื่องเด่น:
    129
    ค่าพลัง:
    +64,019
    อารมณ์สมถะละเอียด 10 อย่างที่ควรระวัง ซึ่งไม่ใช่วิปัสสนาญาณแท้ เป็นเพียงญาณโลกีย์ ต่อเมื่อนักปฏิบัติยกจิตเป็นพระอริยเจ้าอย่างต่ำชั้นพระโสดาบันแล้ว อาการ 10 อย่างนี้จะเปลี่ยน โลกุตตรญาณ คือ ความรู้ยิ่งกว่าทางโลก ควรระมัดระวังไม่ให้หลงว่าท่านได้มรรคผล อุปกิเลส 10 อย่าง มีดังนี้
    1) โอภาส จิตกำลังพิจารณาวิปัสสนาญาณอยู่ระดับอุปจารสมาธิ ย่อมเกิดแสงสว่างมาก จงอย่าพึงพอใจว่าได้มรรคผล อย่าสนใจแสงสว่าง ให้ปฏิบัติต่อไป
    2) ญาณ ความรู้เช่นทิพจักขุญาณ จากจิตที่เป็นสมาธิภาวนา สามารถเห็นนรก สวรรค์ พรหมโลก รู้อดีต อนาคต ปัจจุบัน ได้ตามสมควร เลิกทำต่อไป หลงผิดคิดว่าได้ บรรลุมรรคผล ไม่ใช่อารมณ์วิปัสสนาญาณ ควรระมัดระวังไม่ให้หลงผิด
    3) ปีติ ความอิ่มใจ ปลาบปลื้ม เบิกบาน มีขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหล กายลอย กายเบา โปร่งสบาย สมาธิแนบแน่น เป็นผลของสมถะ ยังไม่ใช่มรรคผล
    4) ปัสสัทธิ ความสงบระงับด้วยฌานสมาธิ ความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง คล้ายจะไปสิ้น ท่านว่าเป็นอุเบกขาฌานในจตุตฌาน อย่าเพิ่งหลงผิดว่า บรรลุมรรคผล
    5) สุข ความสบายกายใจ เมื่ออยู่ในสมาธิ อุปจารฌานระดับสูง หรือ ฌาน 1-ฌาน4 มีความสุขกาย จิต อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในชีวิต เป็นผลของภาวนา ไม่ใช่มรรคผล
    6) อธิโมกข์ อารมณ์น้อมใจเชื่อโดยไม่มีเหตุผล ไม่ได้พิจารณาถ่องแท้ เป็นอาการศรัทธา ไม่ใช่มรรคผล
    7) ปัคคาหะ ความเพียรพยายามแรงกล้าไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรค อย่าเพิ่งเข้าใจว่าบรรลุมรรคผลเสียก่อน เป็นการหลงผิด
    8) อุปัฎฐาน มีอารมณ์เป็นสมาธิ สงัด เยือกเย็น แม้แต่เสียงก็ไม่ได้ยิน อารมณ์ที่กายกับจิตแยกกันเด็ดขาด เป็นปัจจัยให้นักปฏิบัติคิดว่าบรรลุมรรคผล
    9) อุเบกขา ความวางเฉย เป็นอารมณ์ในสมาธิฌาน 4 ต้องระวังอย่าคิดว่าวางเฉยเป็นมรรคผล
    10) นิกันติ แปลว่าความใคร่ไม่อาจมีความรู้สึกได้เป็นอารมณ์ของตัณหา สงบไม่ใช่ตัดได้เด็ดขาด อย่าพึ่งเข้าใจว่าบรรลุมรรคผล กิเลสยังไม่หมดเพียงแต่ฌานกดไว้
    การปฏิบัติกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่เราปฏิบัติ ก็เพื่อจะกำจัดกิเลส เครื่องร้อยรัดในจิตใจ ให้คนสัตว์ต้องจมอยู่ในวงกลมของการเวียนว่ายตายเกิดนี้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ทุกคนกำจัดสังโยชน์ กิเลสที่ทำให้จิตไม่สะอาด 10 อย่าง มีดังนี้
    1. สักกายทิฏฐิ มีความเห็นผิดว่าร่างกายเป็นของเรา ร่างกายขันธ์ 5 มีในจิตและจิตคือขันธ์ 5 เป็นความเห็นไม่ถูกต้อง ทำให้จิตมีความหลงไม่ฉลาด
    2. วิจิกิจฉา มีความลังเล สงสัย ในคำสอนของพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ โดยคิดว่าไม่ใช่หนทางบรรลุมรรคผล เพื่อความสุขในพระนิพพานจริงบางท่านคิดว่าพระนิพพานสูญสลายไปเลย หรือบาป บุญ ไม่มี นรก สวรรค์ นิพพาน ไม่มี เป็นความเข้าใจผิด อย่างนี้เป็นกิเลส ทำให้เวียนว่ายตายเกิดต่อไป
    3. สีลัพพตปรามาส ไม่รักษาศีลจริงจัง ศีล 5 ไม่ครบ ขาดตกบกพร่อง
    4. กามฉันทะ มีจิตยินดี พอใจในรูป รส กลิ่นเสียง สัมผัสที่อ่อนนุ่ม รสอร่อย รูปงาม กลิ่นหอม เสียงไพเราะ
    5. พยาบาท-ปฏิฆะ มีอารมณ์ผูกโกรธ จองล้างจองผลาญเป็นปกติ ไม่พอใจหรือหงุดหงิดรำคาญ มีอารมณ์ไม่ฉลาด ไม่สะอาด
    6. รูปราคะ ยึดถือว่ารูปฌาน เป็นคุณธรรมพิเศษสูงสุด เป็นความเห็นผิด
    7. อรูปราคะ ยึดมั่นในฌานที่ไม่มีรูป โดยคิดว่าเป็นคุณพิเศษที่ทำให้หลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิด
    8. มานะ มีอารมณ์ถือตัว ถือตน ถือชั้นวรรณะ ถือว่าว่าดีกว่าเขา เลวกว่าเขา เสมอเขา
    9. อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน คิดวิตกกังวล นอกลู่นอกทางพระนิพพาน
    10. อวิชชา มีความคิดว่า โลก และสมบัติของโลกดีน่าอยู่ น่ารักใคร่ พอใจ มีความห่วงใยในร่างชีวิต ร่างกาย มนุษย์ สวรรค์ พรหม เป็นของดีมีสุข เป็นความรู้ไม่จริง เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน เป็นอนัตตา สูญสลายในที่สุด คนเกิดมาเท่าไรตายหมดเท่านั้น คิดว่าเกิดเป็นคนดี สวรรค์ดี มีความสุข
    การที่จะกำจัดเครื่องร้อยรัดสังโยชน์กิเลส 10 อย่างนี้ เคล็ดลับในการปฏิบัติอย่างง่ายที่สุด ถ้าท่านไปเปิดในขรรธวรรค พระไตรปิฏก ที่พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายได้รวบรวมไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาว่า พระพุทธองค์ทรงสอนไว้มีมากมาย ชอบใจแบบไหน ก็ปฏิบัติแบบที่ถูกนิสัยของท่าน มีคนถามปัญหาพระพุทธเจ้าว่า กิเลสร้อยแปดพันเก้าทั้งหลายนั้น จะตัดกิเลสทั้งหมดออกจากจิตใจ ตัดด้วยอะไร พระพุทธองค์ตอบว่า ตัดจุดเดียว คือ ขันธ์ 5 รูป ร่างกาย ให้พิจารณาว่า 1. รูปร่างกาย คือ ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ 2. เวทนา ความรู้สึก สุข ทุกข์ หนาว ร้อน 3. สัญญา คือ ความจำได้ หมายรู้ 4. สังขาร คือ ความคิดดีคิดชั่ว คิดเฉย ๆ 5. วิญญาณ ระบบประสาททั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความเจ็บ ปวดทางประสาท สมอง ไขสันหลัง ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเขา ไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่ใช่ขันธ์ 5 เราคือ จิตที่มาอาศัยขันธ์ 5 ชั่วคราว ถ้าจิตไม่ผูกพันในขันธ์ 5 อารมณ์นั้นเมื่อไร จิตก็จะพ้นจากกิเลส สังโยชน์ 10 เป็นพระอริยเจ้าทันที ท่านกล่าวว่า ไม่มีอะไรยาก พระอรหันต์ทุกพระองค์ ท่านมีจุดตัดอย่างเดียว คือ ขันธ์ 5 เท่านั้น ที่สอนมากก็เพื่อป้องกันคนชอบสงสัย
    สังโยชน์ 10 อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านย้ำให้นักปฏิบัติสนใจให้มาก เพราะ เป็นสิ่งวัดจิตใจว่าสะอาดมากน้อยเพียงใด
    ถ้ากำจัดกิเลสได้ตั้งแต่ข้อ 1 ถึง 3 ท่านว่า ผู้นั้นบรรลุพระโสดาบันและพระสกิทาคามี ถ้าตัดได้ 5 ข้อ คือข้อ 1 ถึงข้อ 5 ท่านผู้นั้นบรรลุพระอนาคามี ถ้าตัดได้เด็ดขาดหมดทั้ง 10 ข้อ ท่านผู้นั้นได้บรรลุอรหัตตผล การที่จะบรรลุหรือสำเร็จความมุ่งหมายให้พ้นทุกข์แท้จริง ท่านควรจะรู้จุดมุ่งหมายที่ กำจัดออกจากใจ มีอะไรเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางเสียก่อน ไม่ใช่เดาสุ่ม ไม่รู้จุดของกิเลส ท่านให้ตัดง่าย ๆ เป็นข้อ ๆ ไปตั้งแต่ ข้อ 1 สักกายทิฏฐิ นั้น พระโสดาบันมีปัญญาแค่ไม่ลืมความตาย พระสกิทาคามี ก็รู้ตัวว่าชีวิตนี้ตายแน่ มีจุดมุ่งหมายคือพระนิพพาน สักกายทิฏฐิ ของท่านที่เป็นพระอนาคามี คือ เห็นว่าร่างกายเป็นส้วมหรือซากศพเคลื่อนที่ จิตมาอาศัยอยู่ในร่างกายเหม็นเน่าชั่วคราว พระอรหันต์ท่านตัดสักกายทิฏฐิเด็ดขาด คิดว่าร่างกายกับจิตคนละส่วนกัน จิตไม่ใช่ขันธ์ 5 ขันธ์ 5 เป็นสมบัติของตัณหา กิเลส อวิชชา อุปาทาน พระอรหันต์ท่านมีความเห็นว่า ร่างกายไม่มีในเรา เราไม่ใช่ร่างกาย (เราในที่นี้หมายถึง จิต หรืออาทิสมานกาย หรือกายในกาย) ท่านแบ่งแยกเป็นคนละส่วน ไม่มีจิตใยดีในขันธ์ 5 อีกต่อไป จิตเป็นสุขอย่างยิ่ง แม้ยังไม่ตาย ท่านเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน คือ ขันธ์ 5 ยังมีชีวิตอยู่ แต่จิตเห็นว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ 5 แยกกันเด็ดขาด ถ้าขันธ์ 5 พระอรหันต์เสื่อมสลายตายไปจิตท่านก็จะพุ่งตรงเสวยวิมุตติสุขแดนอมตะนิพพาน ท่านเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน
    จะขอกล่าวถึงอวิชชาเล็กน้อยสำหรับท่านที่ข้องใจ วิชชาแปลว่า ความรู้ อวิชชาหมายถึงความไม่รู้ อะไรคืออวิชชา
    คำถามอะไรคือความไม่รู้
    ตอบว่า การเห็นว่าร่างกายและโลกนี้น่าอยู่เป็นสุขนี่แหละคือ ความไม่รู้ความจริงของชีวิตว่า ชีวิตร่างกายเต็มไปด้วยความเหนื่อยยาก ต้องทุกข์ทนมีภาระสารพัด จะต้องเอาใจใส่ดูแล
    คำถามที่ว่า ใครบ้างหนอที่มีอวิชชา
    ตอบว่า ใครก็ตามที่มีความพอใจในความเป็นอยู่ของชีวิต และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก มีความพอใจในลาภยศ สรรเสริญ เจริญสุขในทรัพย์สมบัติของโลก มีความรักใคร่ชีวิตตนเอง ครอบครัว อุปาทาน หลงทึกทักเอาว่าเป็นชื่อของเรา ตัวเรา ทรัพย์สมบัติของเราจริง มีจิตผูกพันในชีวิต สิ่งของรอบข้างเป็นของเราตลอดกาล ชื่อว่าท่านมีฉันทะ พอใจ ราคะ มีความกำหนัดยินดีในสมบัติของท่าน เรียกว่าความไม่รู้ หรือความไม่ฉลาด
    คำถาม สุญญตา หมายถึงอะไร
    ตอบว่า สุญญตา หมายถึงความไม่มีอะไรเหลือเลย เป็นศูนย์ ไม่มีค่าสูญสิ้นหมด สุญญตาเป็นธรรมชาติ เกิดขึ้นเอง แล้วเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สลายไปในที่สุด ขันธ์ 5 รูปร่างกาย เวทนา ความรู้สึกทุกข์ สังขาร ความคิดทั้งหลาย สัญญา ความจำทั้งหลาย วิญญาณ ความรู้สึกระบบประสาททั้งหลายในกาย คือ สุญญตา ไม่มีอะไรเหลือ แตกสลายหายไปเป็นสูญ พระอรหันต์ท่านสามารถแยกจิตบริสุทธิ์ ออกจากขันธ์ 5 ได้เด็ดขาด ขันธ์ 5 นั้นก็สูญสลายไปจากจิตบริสุทธิ์ของท่าน พร้อมด้วยตัณหา ความอยาก อุปาทาน ความยึดหมายว่า มีตัวตนเป็นนั่นเป็นนี่(อัตตา) กิเลส ความเศร้าหมองของจิต อวิชชา ความไม่ฉลาดรอบรู้ธรรมชาติของสุญญตา อกุศลกรรม การผิดศีล ดังนี้สมบัติของขันธ์ 5 คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน อวิชชา อกุศล ก็พลอยหายไป จิตเป็นพุทธะ สะอาด สว่าง ฉลาด เป็นผู้รู้ เป็นผู้เบิกบานตลอดกาล ได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพาน
    </FONT>

    </FONT>
     

แชร์หน้านี้

Loading...