เมื่อหลวงปู่หลุยปลงสังขาร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 14 มกราคม 2008.

แท็ก: แก้ไข
  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    แสงตะวันลำสุดท้าย
    พ.ศ. ๒๕๒๖ และ ๒๕๒๘ จำพรรษา วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) กิ่ง อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย
    พ.ศ. ๒๕๒๗ และ ๒๕๓๒ จำพรรษา ที่พักสงฆ์ ก.ม.๒๗ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
    พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๑ จำพรรษา ทีพักสงฆ์เย็นสุดใจ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

    จากพรรษา ๕๙ ถึงพรรษา ๖๕ จัดได้ว่าเป็นช่วงปัจฉิมกาลของหลวงปู่จริง ๆท่านมีอายุยืนยาวมาถึงกว่า ๘๐ ปี อายุ ๘๒ - ๘๘ พรรษา เมื่อสมเด็จพระบรมครู...สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปลงพระชนมายุสังขาร เสด็จเข้าสู่มหาปรินิพพานนั้นก็มีพระชนม์เพียง ๘๐ พรรษาเท่านั้น หรือแม้แต่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตบูรพาจารย์ของท่านก็ละสังขารไปเมื่ออายุ ๘๐ ปีพอดี องค์ท่านมีอายุเกินกว่าแปดสิบมาหลายปีแล้ว แต่หลวงปู่ก็ยังเมตตา นำพระ เณร อุบาสก อุบาสิกา สวดมนต์ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น ตลอดจนเทศนาอบรมสั่งสอนและนำภาวนามิได้ขาด โดยการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น หลวงปู่ได้มีแบบฉบับของหลวงปู่เอง ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว โดยหลวงปู่จะน้อมนำให้ระลึกถึง คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างน่าซาบซึ้งก่อนแล้วจึงให้สวดบาลีต่อไป
    ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะเจริญด้วยวัยอันสูงยิ่ง และมีสภาพสังขารดังที่หลวงปู่บันทึกไว้ว่า “...คำนวณชีวิตเห็นจะไม่ยั่งยืน ร่างกายบอกมาเช่นนั้น ทำให้เวียนศีรษะเรื่อย ๆ แต่มีติระวังอย่าให้ล้ม มีคนอื่นพยุงเมื่อ.... ” และ “....ธาตุขันธ์ทำให้วิงเวียนอยู่เรื่อย ๆ คอยแต่จะล้ม ต้องระวังหน้า ระวังหลัง..... ” ท่านก็ยังมีเมตตาไปโปรดเยี่ยมลูกศิษย์ตามที่ต่าง ๆ บ่อยครั้ง โดยทุกครั้งจะไปวันละหลาย ๆ บ้าน และทุก ๆ บ้านท่านมักจะอบรมเทศน์เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
    นึกถึงวัย นึกถึงสังขาร ผู้ที่มีอายุปานนั้นแล้ว ควรจะพักผ่อนได้แล้วแต่กลับมาเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง ท่านไม่น่าจะปฏิบัติภารกิจเช่นนี้ได้ไหว แต่หลวงปู่ก็ยังคงมีเมตตาอยู่เช่นนั้นเสมอมา บำเพ็ญตนดุจเหล็กไหล ไปมาคล่องแคล่วว่องไวแทนที่ลูกศิษย์จะเป็นฝ่ายมากราบนมัสการเยี่ยมท่าน ท่านกลับไปเยี่ยมลูกศิษย์เสียเอง.....
    เมื่อดูจากภายนอก ท่านเป็นเสมือนบุรุษเหล็ก แต่จากบันทึกที่ค้นพบปรากฏว่า องค์ท่านเองกลับเหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก ดังที่ว่า
    “....เราสละชีวิตให้ญาติโยมมาดูดกินเนื้อเลือดของเรา....”
    มีอยู่หลายครั้งที่ท่านสารภาพว่า การเทศน์ก็ดี การอบรมก็ดี ดูดกินกำลังของท่านไปหมด จนแน่นหน้าอกแทบหายใจไม่ออก แต่ท่านก็อดทนทำ ด้วยว่าเป็นกิจของศาสนา....ตามที่ท่านว่า
    <TABLE id=table3 align=left border=0><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    ปี ๒๘ ท่านรับผ้ากฐินของวัดด้วย

    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    ในปีพรรษา ๕๙ (พ.ศ. ๒๕๒๖) และพรรษา ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๒๘) หลวงปู่เมตตาไปโปรดญาติโยมทางจังหวัดหนองคาย โดยไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) และโดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นั้น ท่านได้กรุณารับผ้ากฐินของวัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) ด้วย
    ความจริงที่ภูทอกนี้ ท่านได้เคยไปวิเวกพักผ่อนแล้วหลายครั้ง แต่ปี ๒๕๒๑ เป็นต้นมา เช่น มาร่วมในงานกฐินบ้าง ผ้าป่าบ้าง ปี ๒๕๒๕ ท่านมาในงานกฐินรับผ้าป่า แล้วท่านบันทึกไว้ว่า
    “ภูทอก” ซึ่งมาอยู่ใหม่ ๆ วันที่ ๒๒ ต.ค. ๒๕
    ภาวนามีชีวิตต่อดี เป็นสถานที่เป็นมงคล ภาวนาอวัยวะปรุโปร่งดี สงัดวิเวกดี...มีเทพศักดิ์สิทธิ์ประทับอยู่ บุคคลยังภาวนา ยังไม่เป็นไป ยุ่งอยู่กับการงานค่าครองชีพ ยังไม่เห็นอานิสงส์ของศาสนาเต็มที่ ขาดครึ่ง ๆ กลาง ๆ การก่อสร้างถาวรมาก เทียบกับวัดเอราวัณ ถ้ำผาปู่ ถ้ำขาม ถ้ำผาบิ้ง
    “สร้างถาวรมั่นคงรุ่งเรืองดี ทันสมัยนิยม แม้...สิ้นเงินเป็นล้าน ๆทีเดียว เราเทศน์ไปดูเหมือนไม่เข้าใจเท่าไร”
    “ต่ออนาคตจะเป็นเจดีย์ที่สำคัญของประเทศไทย เป็นที่อัศจรรย์แห่งหนึ่งของประเทศไทย ทัศนาจรของคนต่างจังหวัด จะหาสมภารเหมือนท่านอาจารย์จวนยากนัก เพราะพุทธศาสนิกชนเลื่อมใสท่านมากหาเงินก่อสร้างและปกครองพระภิกษุ เณร ได้ดียิ่งกว่าเรา”
    “ภาวนาข้างบน (บนภูเขา....ผู้เขียน) ดี ข่าวล่างภาวนาไม่ค่อยดี ที่เราได้ผ่านมาแล้ว ปรากฏเป็นอัศจรรย์”
    “ถ้ำผาปู่ ๑ ถ้ำขาม ๑ ภูทอก ๑ ถ้ำเอราวัณ ๑ ถ้ำผาบิ้ง๑ ถ้ำมโหฬาร ๑ ทุ่มเทเงินการก่อสร้างมากมาย ของประเทศไทยน่าอัศจรรย์เป็นหลักวัดป่าที่วิเวกของประเทศไทย เป็นขวัญตาขวัญใจของประเทศไทยชาวพุทธศาสนิกชนทัศนาการ ต้องคัดเลือกอาจารย์ที่สำคัญอยู่ จึงสมกับฐานะของถ้ำที่เป็นมงคล”
    “ภูทอก เป็นสถานทัศนาจรหลายแห่งมีสถานที่ใกล้ ๆ กัน สะดวกแก่พระโยคาวจรเจ้าเจริญภาวนา ล้วนแต่บุคคลเป็นเศรษฐีการก่อสร้างทั้งนั้น”
    เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่มาพบบันทึกของท่าน ที่บันทึกไว้แต่ปี ๒๕๒๕ ว่า “ต่ออนาคตจะเป็นเจดีย์ที่สำคัญของประเทศไทย เป็นที่อัศจรรย์แห่งหนึ่งของประเทศไทย“
    ขณะนั้น เดือนตุลาคม ๒๕๒๕ ความคิดที่จะสร้างเจดีย์โดยเสด็จพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังเพิ่งเริ่มต้น ยังมิได้มีการหาทุนมาเพื่อสร้างเลย เพราะบรรดาศิษย์กำลังกังวลเรื่องจะช่วยจัดสร้างเจดีย์ถวายหลวงปู่ฝั้นให้เสร็จสิ้นก่อนและเราก็มีความคิดสั้น ๆ เพียงว่า จะทำเจดีย์เพียงแค่ ๓-๔ ล้านบาท และความจริงเงิน ๓-๔ ล้านบาท สำหรับเราในปี ๒๕๒๕ นั้น ก็ยังฟังเป็นเรื่องเกินฝันอยู่เหลือเกิน
    ไม่มีใครคิดว่า สุดท้ายเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ จะใช้ทุนในการก่อสร้างไปถึง ๑๗ ล้านบาท มีความสูงจากพื้นดินเดิมถึงยอดเจดีย์ถึง ๓๗ เมตร... !
    และหลวงปู่ท่านเขียนไว้แต่ครั้งนั้น ..!
    คงต้องขอยืมคำของท่านที่ท่านกล่าวบ่อย ๆ นั่นเอง มารำพึงในวันนี้....
    น่าอัศจรรย์นัก..... .!
    <TABLE id=table1 align=right border=0><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    หลวงปู่จำพรรษาที่ภูทอก

    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    ที่ภูทอกเป็นสถานที่ซึ่งสงบสงัด เส้นทางที่เข้าไปสู่ภูทอกค่อนข้างลำบาก อีกทั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐๐ กว่ากิโลเมตร ในขณะนั้นหลวงปู่มีอายุ๘๔ ปีแล้ว ท่านก็ยังแสดงพระธรรมเทศนาเกือบทุกวัน อบรมพระเณร ตลอดจนผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้าที่ได้ติดตามท่านไปด้วย ท่านได้นำพระเณรขึ้นไปบำเพ็ญภาวนาอยู่บนวิหารยอดเขาภูทอก ชั้นที่ ๕ เป็นเวลากว่าเดือน ในระยะนั้นธรรมะของหลวงปู่มีมาก ซึ่งท่านก็ได้บันทึกไว้ แต่เป็นการยากยิ่งที่จะนำธรรมะของหลวงปู่มารวมพิมพ์ไว้ได้ทั้งหมด คงจะสามารถคัดลอกและนำมาพอเป็นตัวอย่างบ้าง ดังนี้
    “เร่งความเพียรเข้าไป เส้นเอ็น กระตุก ปีติไล่กิเลสออกจากดวงจิต อำนาจวิปัสสนาฟอกหัวใจให้สะอาด”
    “อุบายกิเลสมีนานาประการ มรรคทำให้มาก ให้รู้เท่าทันกับกิเลส ไตรลักษณ์ตัดกระแสกิเลสทั้งหลายให้ขาดจากดวงจิต หัวใจเปลี่ยนแปลงอวิชชาให้เป็นวิชชา เรื่องนี้ควรสนใจ เพราะมันเดินถูกมรรค”
    “ชอบสวยงาม พิจารณาให้เป็น อสุภะ- ไม่งาม ของอวัยวะทุกส่วน ดำเนินเข้าไปดู จักเห็นความเป็นจริงของอริยสัจ”
    “รู้แจ้งอวัยวะของร่างกายยิ่งกว่าเก่า ละเอียดกว่าเก่า ด้วยไตรลักษณ์ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ขยายธรรมะรู้ทั่วไป ระงับนิวรณ์ได้ รู้เองเห็นเองเป็นปัจจัตตังปฏิภาคและวิปัสสนาผสมกัน แต่วิปัสสนามากกว่าสมถะ”
    “พิจารณาการตาย เกิดสะกิดใจว่าจะต้องตายง่าย อายุไม่ยืนนานบอกมาเรื่อย ๆ เริ่มความเพียรมากก่อนตาย เพื่อให้ชำนิชำนาญ เพื่อเข้าจิตสู้การตาย ข้อนี้สำคัญมากกว่าอย่างอื่น”
    “ทำวิปัสสนามากกว่าทำปฏิภาคนิมิต ให้จิตรู้เองเห็นเองไม่มีความอาลัยในชีวิต พิจารณาความตายอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ชำนาญเข้าสู่อารมณ์แห่งความตาย”
    <TABLE id=table2 width=164 align=left border=0><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    ท่านแสดงพระธรรมเทศนาเกือบทุกวัน ระหว่างจำพรรษาที่ภูทอก

    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    เทศน์ของหลวงปู่ บ่อยครั้งจะกล่าวถึงการให้ “ทาน” ซึ่งไม่เฉพาะแต่คำเทศน์เท่านั้น ท่านยังปฏิบัติเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระ เณร อุบาสก อุบาสิกาอีกด้วย ท่านกล่าวว่า อานิสงส์ของการให้ทานนั้น จะมีผลให้ผู้บริจาคทานมีฐานะร่ำรวย คือ พระเวสสันดรในพระไตรปิฎก และจะอุดหนุนให้ตัวเราสบาย ซึ่งย่อมเห็นอานิสงส์นี้ได้ในชาติปัจจุบัน ดังที่ท่านได้รับอยู่...ตามบันทึกของท่านที่ว่า....
    “....เงินฝากธนาคาร ช่วยอาหารพระเณรวัดป่าที่กันดารนั้น ยิ่งปลื้มใจ หาที่สุดมิได้ มีตบะความเพียรอย่างยิ่ง และมีศาลาเกิดขึ้นทุกวันนี้ก็เพราะอนุเคราะห์หมู่เพื่อนสหธรรมิกนั่นเองก็ด้วยอานิสงส์อันนี้แหละอดหนุน จึงมีชีวิตประทังตัวอยู่ทุกวันนี้.... ”
    เงินในที่นี้ได้มาจากไหน....ก็ได้มาจากปัจจัยที่เหล่าญาติโยม ลูกศิษย์ถวายท่านนั่นแหละ โดยอัธยาศัยของหลวงปู่แล้ว เป็นผู้มัธยัสถ์ ประหยัดมาก ด้วยท่านชอบธุดงควัตร จึงฝึกหัดให้มีชีวิตอยู่อย่างประหยัด อย่างไม่กังวลต่อความอัตคัดขัดสนดังมีเรื่องเล่าที่ว่า น้ำปลาขวดเดียว เป็นอาหารที่ท่านฉันได้ทั้งพรรษา ดังนั้น ปัจจัยที่เหล่าญาติโยมและลูกศิษย์ถวายท่านนั้น จึงเกิดอานิสงส์ผลบุญถึง ๒ ชั้น คือ บุญที่เกิดจากการถวายปัจจัยหลวงปู่ชั้นหนึ่ง และบุญที่เกิดจากหลวงปู่นำปัจจัยนั้นไปเพื่อการสงเคราะห์พระเณรในป่ากันดารอีกชั้นหนึ่ง ท่านได้จัดตั้งมูลนิธิจันทะสาโรขึ้นให้นำดอกผลส่งไปช่วยเป็นค่าอาหารสำหรับวัดป่าที่อยู่ในที่ทุรกันดารและขาดแคลน
    นอกจากจะช่วยเพื่อนสหธรรมิกในด้านปัจจัยแล้ว การช่วยเหลือในลักษณะอื่น ๆ ก็ถือว่าเป็น “ทาน” อีกชนิดหนึ่ง ดังบันทึกของท่านที่ว่า.....
    “เราได้แลกโวหารเทศนาหาเงินช่วยการก่อสร้างช่วยเพื่อนสหธรรมิก นี้ก็เห็นอานิสงส์เหมือนกัน การให้ทานร่ำรวยเหมือนพระเวสสันดรมีอานิสงส์ตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก”
    หลวงปู่มักจะมีเรื่องต่าง ๆ เล่าให้ญาติโยมและลูกศิษย์ฟังเสมอ ๆ ประกอบกับคำสั่งสอนอบรมของท่าน และเรื่องหนึ่งที่ท่านมักจะกล่าวถึงก็คือ คำสรรเสริญเพื่อนสหธรรมิกของท่าน.....หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ผู้ที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีธรรมคมในฝัก สันโดษ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของพระโยคาวจรเจ้าในสมัยปัจจุบัน ดังเรื่องเล่าที่ท่านยกขึ้นมาว่า ในสมัยหนึ่ง หลวงปู่ชอบธุดงค์เข้าไปในป่าทึบ ทางเดินนั้นเป็นทางเปลี่ยว หนทางนั้นมีเสือกินคนหลายรายแล้ว กลางคืนนั้นท่านเดินเข้าไปคนเดียว แม้ญาติโยมจะห้ามปรามหรือทัดทานอย่างไร ท่านก็ดื้อไป แล้วท่านก็พบเสือใหญ่ลายพาดกลอน ร้องขึ้นขนทางข้างหน้าท่าน ๑ ตัว ข้างหลังอีก ๑ ตัว หลวงปู่ชอบจึงเข้าสมาธิอยู่ ณ ที่นั้นราว ๑ ชั่วโมง รู้สึกตัวแล้วก็เดินทางต่อไป ตอนเช้าท่านออกบิณฑบาต ญาติโยมทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ ที่ท่านเดินทางกลางคืนในป่า โดยที่เสือไม่กินท่าน
    ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ของหลวงปู่ชอบ เป็นเรื่องที่หลวงปู่มักนำมากล่าวสรรเสริญให้ญาติโยม ลูกศิษย์ได้ยิน ได้ฟังดำเนินรอยตาม เหล่านี้เป็นการยืนยันถึงอุปนิสัยการถ่อมองค์ของหลวงปู่ ที่มักจะเล่าและยกย่องผู้อื่นมากกว่ากล่าวถึงตนเอง
    พรรษา ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๒๗) หลวงปู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง กรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าจะมีเสียงเครื่องบินรบกวนบ้าง หลวงปู่ก็หาได้ทิ้งเรื่องการภาวนาไม่ กลับมุ่งหน้าเข้าหาการภาวนาย่างจริงจัง ดังความตามบันทึกส่วนหนึ่งว่า
    “การภาวนา เมื่อว่างเครื่องบินแล้ว สงัดดี วิเวกดี พิจารณาร่างกาย แจ่มแจ้งดี ของอวัยวะร่างกายตั้งแต่ขาต่อไปถึงหน้า สละชีวิตโดยเฉพาะเอกเทศอย่างหนึ่ง พยายามให้สละซากความเป็นความตาย ณ ที่นั้นให้ชำนิชำนาญ ทำให้มากจะเกิดปาฏิหาริย์ใหญ่ เห็นธรรมเป็นอัศจรรย์อย่างใดอย่างหนึ่ง สละกิเลสทั้งหยาบ ทั้งอย่างกลาง อย่างละเอียด มีในนั้นเสร็จ กลั่นเอาความไม่ตายจากที่นั้นเป็นตัวนิพพาน เมื่อก่อนไม่เที่ยงเช่นนั้น จะเห็นตอนที่ไม่ตาย อมตธรรมอย่างสุขุมลุ่มลึกไปเป็นลำดับ”
    “เร่งความเพียร นอนไม่หลับ เพราะมีปีติล่อใจ รักใคร่ภาวนาเรื่อย ๆ ลืมมืดลืมค่ำ แต่มีการอ่อนเพลีย การนอนไม่หลับ แต่ความรู้ความฉลาดก้าวหน้า ใคร่ในวิปัสสนาวิธี นิสัยย่อมเป็นไปเข่นนั้น นอนดึก ๆ ทุกคืน ทำให้เพลินทางธรรมมาก”
    “เจริญภาวนาสะดวก ม้างกายให้เห็นทั่วด้วยวิปัสสนาอย่างเดียว สมถะมีการทำน้อยไป เพราะที่อยู่ไม่วิเวก”
    ในระหว่างระยะเวลาเหล่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หลวงปู่ก็พักอยู่ที่สำนักสงฆ์หัวหิน เช่นกัน ท่านบันทึกไว้ว่า
    อยู่หัวหิน อยู่ใกล้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว มักจะเกิดธรรมแปลก ๆ เป็นอัศจรรย์เป็นเพราะ ทั้งสองพระองค์ทรงมีพรหมวิหารอยู่ในน้ำพระทัยของพระองค์ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีที่เพียบพร้อมทุกอย่าง ไม่ทรงทิ้งธรรม เป็นคนมีบุญเสด็จอวตารมาจากสวรรค์มาเกิด มาบริหารชาติ มาทำนุบำรุงศาสนาให้เจริญ ประเทศไทยไม่สิ้นจากคนดี นี้เป็นอัศจรรย์ประการหนึ่งของประเทศไทย
    ท่านมักจะอบรมบรรดาลูกศิษย์ ทั้งพระ เณร อุบาสก อุบาสิกาเสมอให้รู้สึกระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอยู่เสมอ โดยองค์ท่านเองก็เขียนไว้ในบันทึกว่า
    “สมเด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขอให้พระองค์มีพระปรีชาญาณปราดเปรียว ปกครองชาวประเทศไทย ให้เป็นสุขทั่วกัน พร้อมทั้ง ๗๔ จังหวัด ประชาชนนับถือพระองค์ดุจบิดามารดาของชาวไทย ทั้งหญิงทั้งชาย เหตุนั้นชาวไทย อุบาสก อุบาสิกา ท่านทั้งหลาย บำเพ็ญทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ขอกุศลอันใหญ่มหาศาล อุทิศบุญกุศลอันนี้ จงดลบันดาลให้ความสนับสนุนถวายสมเด็จในหลวงและองค์ราชดินี *พึงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ สิ้นกาลนานเทอญ (ตรงตามโบราณาจารย์ท่านทั้งหลายกล่าวไว้ ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เป็นสุขทั่วหน้ากัน)”
    *ราชดินี เป็นคำเฉพาะที่หลวงปู่ชอบใช้เมื่อจะกล่าวถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
    พ.ศ.๒๕๒๙ - ๒๕๓๑ หลวงปู่จำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์เย็นสุดใจ อำเภอหัวหิน และ พ.ศ. ๒๕๓๒ อยู่ ณ ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง ถึงแม้วัยของท่านจะสูงยิ่ง แต่หน้าที่อย่างหนึ่งซึ่งท่านไม่ยอมทิ้ง แต่จะปฏิบัติเป็นประจำก็คือ อบรมสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านว่า นี้เป็นหน้าที่ของพระเถระที่จะต้องดำเนินงานของศาสนา ไม่ว่าคืนนั้นท่านจะเพลิดเพลินทางธรรมภาวนาจนตลอดถึงรุ่งเช้าก็ตาม สังขารเหนื่อย หายใจหอบอย่างไรก็ตาม แต่เช้าของวันถัดมาท่านก็จะถือเอาหน้าที่การอบรมสั่งสอนมาปฏิบัติอยู่เสมอมิได้ขาด ท่านเขียนไว้ว่า
    “เรามีหน้าที่แผ่เมตตาจิตอย่างเต็มที่ อย่างสุขุม เพื่อให้เขาเห็นอานิสงส์ และเราได้สละชีวิตแผ่เมตตาสะท้อนให้เขาภาวนาดียิ่งขึ้นไป พ้นจากอบายภูมิทั้งสี่..... ”
    ณ ที่สำนักสงฆ์หัวหิน ท่านปรารภว่า “มาอยู่หัวหินในข่วงสุดท้ายของชีวิตนี้มีความสุขบริบูรณ์ทุกอย่างพรั่งพร้อมทั้งพระ เณรที่ดูแลอุปัฏฐาก ตลอดจนญาติโยมทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต จากทั้งทางใกล้และทางไกล ก็ได้มาเยี่ยมนมัสการเสมอ ๆ ไม่ขาดระยะ” แม้กระทั่งพระเถระผู้ใหญ่ อย่างหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ก็ได้มาเยี่ยมท่านด้วย แต่การมาเยี่ยมของท่านพระอาจารย์ทั้งสององค์นั้น เป็นการมาอย่าง “พิเศษ” ซึ่งหลวงปู่ได้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า
    “...ฝันเห็นท่านอาจารย์เทสก์กับท่านมหาบัวมาเยี่ยมเรา ท่านทั้งสองถามธรรมกันอย่างไพเราะ คล้ายๆ สอบเรา เราดีใจอยู่ในท่ามกลางท่านทั้งสอง ปรากฏท่านทั้งสองชมเชยเราดังนี้ นี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง.....”
    “พิจารณาการตาย เกิดสะกิดใจว่าจะต้องตายง่าย อายุไม่ยืนนาน บอกมาเรื่อยๆ เร่งความเพียรมากก่อนตาย เพื่อให้ชำนิชำนาญ เพื่อเข้าจิตสู้การตาย ข้อนี้สำคัญกว่าอย่างอื่น”
    ในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๒ ท่านรำพึงไว้ระหว่างพักอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง ความว่า
    “แก่ ชรา มานานเท่าไร พึงภาวนาให้คุ้นเคยกับความตาย เพราะจะต้องตายอยู่แล้ว เตรียมตัวไว้ก่อนตาย รอรถ รอเรือ ที่จะต้องขึ้นไปสวรรค์พระนิพพาน หูยิ่งหนวกหนักเข้าทุกวัน ตายิ่งไม่เห็นหน ตีนเท้าอ่อนเพลีย หันไปหาความตายเสมอไป ถือภาวนาในไตรลักษณ์ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา มีเกิดแล้วย่อมมีตาย เพราะโลกไม่เที่ยงอยู่แล้ว แปรปรวนไปต่างๆ สังขารเราบอกเช่นนั้น เที่ยงแต่พระนิพพานอย่างเดียว
    “สมถะกับวิปัสสนา เป็นธรรมมีอุปการะแก่พระเถระ และพระขีณาสวเจ้า แต่ต้นจนวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ ต้องอาศัยสมถะและวิปัสสนา เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ระหว่างขันธ์และจิตที่อาศัยกันอยู่ จนกว่าขันธ์อันเป็นสมมติ และจิตอันวิสุทธิและวิมุตติจะเลิกลาจากกัน.....”
    ซึ่ง “ขันธ์” และ “จิต” ของหลวงปู่ ก็ใกล้จะเลิกลาจากกันไปจริง ๆ...!
    แสงตะวันที่กำลังจะอัสดงลับเหลี่ยมขุนเขา แมกไม้ หรือผืนน้ำ ย่อมจะเจิดจ้า ทอแสงจับขอบฟ้า เปล่งเป็นรังสีสะท้อนเป็นสีจ้าจับตา ดูงดงามยิ่งนัก บารมีธรรมในระยะเวลาช่วงหลัง ๆ นี้ของหลวงปู่ ก็เป็นประดุจ “แสงตะวันลำสุดท้าย” ที่ใกล้จะอัสดงเช่นกัน...ให้ความอบอุ่นทางจิตใจ ให้แสงสว่างในทางธรรมแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนทุกถ้วนหน้า ด้วยเมตตาธรรมอันสูงส่งของท่านอย่างมิมีประมาณ
    ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-14.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...