เห็นจิตตามความเป็นจริง...พระอาจารย์ชา สุภทโท

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย paang, 9 พฤษภาคม 2007.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    [​IMG]

    จงหายใจเข้า..... หายใจออก....... อยู่อย่างนี้แหละ อย่าใส่ใจกับอะไรทั้งนั้น อยู่แต่กับลมหายใจเข้า -- ออก ให้ความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ..... ไม่ไปเอาอะไรอื่น ไม่ต้องคิดว่าจะเอานั่นเอานี่ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ให้รู้จักแต่ลมเข้า.....ลมออก.....ลมเข้า..... ลมออก.....พุท.......เข้า......โธ.....ออก อยู่กับลมหายใจอย่างนี้แหละ เอาอันนี้เป็นอารมณ์.....

    ลมเข้าก็รู้จัก..... ลมออกก็รู้จัก..... ให้รู้จักอยู่อย่างนี้จนจิตสงบหมดความรำคาญ ไม่ฟุ้งซ่านไปไหนทั้งนั้น..... ให้มีแต่ลมออก...... ลมเข้า...... ลมออก.....ลมเข้า..... อยู่เท่านั้น ให้มันเป็นอยู่อย่างนี้..... ยังไม่ต้องมีจุดหมายอะไร นี่แหละเบื้องแรกของการปฏิบัติ

    ถ้ามันสบาย ถ้ามันสงบ มันก็จะรู้จักของมันเอง ทำไปเรื่อย ๆ ลมก็จะน้อยลง..... อ่อนลง..... กายก็อ่อน..... จิตก็อ่อน..... มันเป็นไปตามเรื่องของมันเอง นั่นก็สบาย ไม่ง่วง ไม่โงก ไม่หาวนอน จะเป็นอย่างใด..... ดูมันคล่องของมันเองไปทุกอย่าง นิ่ง..... สงบ

    สิ่งที่ติดตามเราเรียกว่า สติ..... ความระลึกได้ สัมปชัญญะ..... ความรู้ตัว เราจะพูดอะไร..... จะทำอะไร..... ก็ให้รู้จักเรื่องของมัน ให้มีสติอยู่เสมอ เดินจงกรมมันก็เหมือนกับทำสมาธิ ให้กำหนดความรู้สึกขึ้นในใจว่า "บัดนี้.....เราจะทำความเพียร..... จะทำจิตให้สงบ..... มีสติสัมปชัญญะให้กล้า"

    การกำหนดก็แล้วแต่แต่ละคน..... ตามใจ..... บางคนออกเดินก่อน ก็แผ่เมตตาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง..... สารพัดอย่าง..... แล้วก็ก้าวเท้าขวาออกก่อนให้พอดี..... พอดี ให้นึก "พุทโธ พุทโธ" ตามก้าวเดินนั้น ให้มีความรู้ในอารมณ์นั้นไปเรื่อย..... (พุทโธ)

    ถ้าใจเกิดฟุ้งซ่าน..... หยุด..... ให้มันสงบ..... ก้าวเดินใหม่ ให้มีความรู้ตัวอยู่เรื่อย.....

    นี่เป็นวิธีทำ..... กำหนดเดินจงกรม เดินจงกรมก็คือเดินกลับไป...... กลับมา..... เดินจงกรมไม่ใช่ของง่ายนะ บางคนเห็นเดินกลับไป - กลับมา..... เหมือนคนบ้า แต่หารู้ไม่ว่า การเดินจงกรมนี้..... ทำให้เกิดปัญญานักละ

    เดินกลับไป......กลับมา ถ้าเหนื่อยก็หยุด กำหนดจิตให้นิ่ง กำหนดลมหายใจให้สบาย เมื่อสบายพอควรแล้ว ก็ทำความรู้สึกกำหนดการเดินอีก แล้วอิริยาบถมันก็เปลี่ยนไปเองหรอก การยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันเปลี่ยน คนเราจะนั่งรวดเดียวไม่ได้ ยืนอย่างเดียวไม่ได้ นอนอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันจะต้องอยู่ตามอิริยาบถเหล่านี้ ทำอิริยบถทั้งสี่นี้ให้มีประโยชน์ให้มีความรู้สึกตัวอยู่อย่างนี้..... นี่คือ..... การทำ..... ทำไป..... ทำไป.....

    มันก็จะคิดของมันไปตามเรื่อง ใครจะว่าอะไรก็ช่าง ยกอยู่อย่างนั้นสองนาทีนะอย่าเผลอ ไม่ใช่ห้านาที พอสองนาทีก็เอามาตั้งไว้นี่ กำหนดอยู่อย่างนี้.....นี่เป็นเรื่องของการกระทำ จะดูลมหายใจเข้า - - - ออกก็เหมือนกัน ให้นั่งขาขวาทับขาซ้าย ให้ตัวตรง สูดลมเข้าไปให้เต็มที่ ให้หายลงไปให้หมดในท้อง สูดเข้าให้เต็ม แล้วปล่อยออกให้หมดปอด อย่าไปบังคับมัน ลมจะยาวแค่ไหน จะสั้นแค่ไหน จะค่อยแค่ไหนก็ช่างมันให้มันพอดี พอดีกับเรา

    นั่งดูลมเข้า...... ลมออก ให้สบายอยู่อย่างนั้น อย่าให้มันหลง ถ้าหลง..... หยุดดูว่ามันจะไปไหน..... มันจึงไม่ตามลม ให้หามันกลับมา..... ให้มันมาเล่นตามลมอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็จะพบของดีสักว้นหนึ่งหรอก ให้ทำอยู่อย่างนั้น..... ทำเหมือนกับว่า..... จะไม่ได้อะไร..... ไม่เกิดอะไร.....ไม่รู้ว่าใครมาทำ..... แต่ก็ทำอยู่เช่นนั้น

    นั่งเฉย ๆ บางครั้งก็จะนึกว่า "จะนั่งเฝ้าดูมันทำไมนะ..... ลมนี่น่ะ..... ถึงไม่เฝ้ามัน มันก็ออก..... ก็เข้า..... ของมันอยู่แล้ว" มันก็หาเรื่องคิดไปเรื่อย และมันเป็นความเห็นของคนเรียกว่า "อาการของจิต" ..... ก็ช่างมัน พยายามทำไป..... ทำไป..... ให้มันสงบ เมื่อสงบแล้ว ลมจะน้อยลง ร่างกายก็อ่อนลง จิตก็อ่อนลง มันจะอยู่พอดีของมัน จนกระทั่งว่า นั่งอยู่เฉย ๆ เหมือนไม่มีลมหายใจเข้า ไม่มีลมหายใจออก แต่มันก็ยังอยู่ได้

    ถึงตอนนี้ อย่าตื่น อย่าวิ่งหนี เพราะคิดว่า เราหยุดหายใจแล้ว..... นั่นแหละ..... มันสงบแล้ว ไม่ต้องทำอะไร..... นั่งเฉย ๆ ดูมันไปอย่างนั้นแหละ ของเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม บางคนแถมยังทำให้เกิดกิเลสเพิ่มมากขึ้นอีกเสียด้วย คือถือว่าตนเองเป็นผู้วิเศษที่สามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้ เลยไม่ยอมกราบไหว้ใครทั้งนั้น จนกลายเป็นสัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์ ปิดกั้นทางมรรค ทางผล ทางนิพพานไปโดยปริยาย ความเห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความเห็นที่ผิดจากหลักของศาสนา

    ส่วนความเห็นที่ถูกนั้น คือ การเห็นจิตตามความเป็นจริง เห็นกายตามความเป็นจริง คือ เห็นธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ของตนและของคนอื่นสักแต่ว่าเป็นธาตุไม่ใข่สัตว์ บุคคล ตนตัวเราเขา และเห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราสามารถเห็นได้แบบนี้แล้ว เรียกว่า
    "เห็นกายตามความเป็นจริง"

    ส่วนที่ว่าเห็นจิตตามความเป็นจริงนั้น ท่านถือสภาพรู้เป็นตัว ไม่ได้ถือเวทนา 3 เป็นตัว เวทนา 3 ก็คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา (ความไม่สุขไม่ทุกข์คือเป็นกลาง) สิ่งเหล่านี้ก็จะต้องเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีตนไม่มีตัวในเวทนา 3 ถือแต่ความรู้เป็นตัว ถ้าเราสามารถเห็นได้แบบนี้แล้ว เรียกว่า "เห็นจิตตามความเป็นจริง"

    ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย สิ่งที่ได้พูดมาในวันนี้ก็อยากจะเน้นเรื่องนิมิตเป็นใหญ่เพราะในสมัยนี้มีลัทธิที่สอนกันผิด ๆ อีกมาก ขอให้ผู้ปฏิบัติจงนำไปพิจารณาและปฏิบัติตามนี้ ก็จะสมความมุ่งหวังทุกประการ ถึงแม้ว่าบุคคลใดจะทำสมาธิได้ดี จะได้รับความสุขขนาดไหนก็ตาม หรือจะได้อภิญญาเพียงใดก็ตาม
    ถ้าไตรลักษณ์ญาณยังไม่เกิดแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ยังผิด ยังอยู่ในวงเขตที่ผิด

    เมื่อพิจารณาขันธ์ 5 ธาตุ 4 เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วจนเกิดญาณความรู้พิเศษ เมื่อเกิดความรู้พิเศษแล้ว วิปัสสนูปกิเลสหรือวิปลาสก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อสิ่งใดหรือความรู้ใดเกิดขึ้นก็จะเอาไตรลักษณ์เป็นเครื่องตัดสิน

    การพิจารณา ให้ถือเอารู้รูปกายตามความเป็นจริง รู้เวทนาตามความเป็นจริง รู้จิตตามความเป็นจริง ให้ยึดถือความรู้นี้เป็นหลัก

    ความรู้อย่างอื่นไม่สำคัญ ถึงจะเกิดอภิญญารู้ในเหตุผลต่าง ๆ ครั้งแรก ๆ ก็อาจเป็นจริง แต่ถ้าเรายึดถือในสิ่งเหล่านี้ต่อไป ก็จะกลายเป็นเรื่องหลอกลวงเราท่านจึงห้ามไม่ให้ถือเอานิมิตเป็นสิ่งสำคัญ


    ธรรมเทศนา จากหนังสือมรรคปฏิปทา
    งานบำเพ็ญกุศล ครบรอบวันมรณภาพปีที่ 44
    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมมธโร)
    วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2548 ​


     

แชร์หน้านี้

Loading...