บทความให้กำลังใจ(ปล่อยวางชีวิตเก่า)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    เตรียมใจยอมรับทุกสิ่ง
    พระไพศาล วิสาโล
    การดำรงชีวิตเปรียบเหมือนกับการเดินทาง ส่วนเส้นทางชีวิตของคนเราก็เปรียบเหมือนกับถนน แต่เป็นถนนที่ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ผิดกับถนนจากกรุงเทพฯ มาชัยภูมิ ราบเรียบตลอดทาง บางช่วงก็ลาดยาง บางช่วงก็เทปูน เป็นถนน 4 เลนบ้าง 8 เลนบ้าง แต่เส้นทางชีวิตคนเราไม่ได้ราบเรียบตลอดทางอย่างนั้น บางครั้งมีหลุมบ่อ บางครั้งก็เป็นป่ารก ถ้าเราคาดหวังว่าชีวิตจะราบเรียบแบบถนน 4 เลน 8 เลน ก็จะผิดหวังได้ง่าย

    ชีวิตคนเรามีทั้งสุขและทุกข์ ไม่มีชีวิตใดที่ผาสุก ราบรื่นไปได้ตลอด ความทุกข์สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา ฉะนั้น คนที่ไม่ประมาทก็จะตระเตรียมป้องกัน เช่น ดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เป็นการป้องกันทุกข์ที่ชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งเก็บหอมรอมริบเพื่อไม่ให้เกิดความยากลำบากเวลาเจ็บป่วยหรือแก่เฒ่า เวลาเราสร้างบ้านก็มีประตูหน้าต่างที่แน่นหนา บางคนก็สร้างกำแพงล้อมรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินถูกขโมย

    เราพยายามศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ แม้เรียนจบแล้วเราก็ยังศึกษาพัฒนาทักษะเกี่ยวกับอาชีพของเราต่อไป แม้ไม่ใช่ความรู้ที่เกี่ยวกับอาชีพของเราโดยตรงก็ศึกษาเผื่อไว้หากต้องเปลี่ยนงาน หากความรู้และทักษะที่มีอยู่ล้าสมัยแล้ว เราก็จะได้ปรับตัวเพื่อทำอาชีพใหม่ หรือมีช่องทางทำมาหากินใหม่ ๆ เหล่านี้คือสิ่งที่เราควรทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความยากลำบากในวันข้างหน้า อันนี้เรียกรวม ๆ ว่าทำกิจ

    แต่ไม่ว่าเราจะเตรียมตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้นเพียงใด มันก็เกิดขึ้นได้ในที่สุด

    นี่เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาของชีวิต

    เราดูแลสุขภาพดีอย่างไร สักวันหนึ่งก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย อาจจะถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ ดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายเพียงใด ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ป่วย ดูแลรักษาทรัพย์สินเงินทองอย่างไรสุดท้ายก็ต้องมีการสูญเสีย อาจจะมีคนมาลักขโมยหรือโกงเอาเงินทองไป มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ว่าเราจะเตรียมตัวป้องกันอย่างไร ดูแลลูกอย่างดีไม่ให้เจ็บป่วยแต่สุดท้ายลูกก็เจ็บป่วย อยู่ที่ว่าจะน้อยหรือมาก



    เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันเราต้องทำใจ

    ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วทั้ง ๆ ที่ป้องกันอย่างดีเราจะทำอย่างไร

    เราก็ต้องหาทางบรรเทา เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องรักษา หากเงินหายหรือถูกโกง ก็ต้องหาทางติดตามกลับมา แต่ก่อนที่จะถึงตรงนั้น สิ่งแรกที่ควรทำคือทำจิต

    เราทำกิจเพื่อป้องกันแล้ว แต่ป้องกันอย่างไรทุกข์ก็ยังเกิดวันยังค่ำ ทุกข์บางอย่างเราทำอะไรไม่ได้ นอกจากทำใจ หรือเรียกว่าทำจิต บางอย่างบรรเทาได้ แต่ว่าก่อนที่จะบรรเทา ควรทำจิตเบื้องต้น

    ทำจิตหรือทำใจ ทำอย่างไร

    อย่างแรกที่สุดคือการยอมรับ ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราไม่ยอมรับ ก็จะกลายเป็นการซ้ำเติมตัวเอง แทนที่จะเสียแค่เงิน ใจก็เสียด้วย บางทีถึงกับเสียศูนย์ไปเลย เสียเงินยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเสียศูนย์จะหนักมาก แทนที่จะป่วยแค่กาย ใจก็ป่วยด้วย และหนักกว่าป่วยกายอีก นั่นเป็นเพราะไม่รู้จักทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น

    มีเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกใจเราเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น ใครที่อยู่ในเมืองก็ต้องเจอรถติด สังเกตไหมว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นขณะรถติด เกิดจากอะไร เป็นความทุกข์ชนิดใด มันไม่ใช่ทุกข์กายแต่เป็นทุกข์ใจ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในรถติดแอร์ เปิดเพลง มีขนมกินด้วยซ้ำ ไม่มีความทุกข์กาย แต่ทำไมคนจึงไม่ชอบรถติด นั่นเพราะมีความทุกข์ใจ ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่า ทุกข์ใจไม่ได้เกิดจากรถติด แต่เกิดจากการไม่ยอมรับ จิตมันบ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย แต่ทันทีที่เรายอมรับได้ ใจสงบเลย

    เพื่อนคนหนึ่งเรียกรถแท็กซี่ไปวัดพระแก้วเพื่อจะไปทำบุญ เช้าวันนั้นรถติดมาก เขาต้องโทรศัพท์บอกพี่สาวหลายครั้งว่าจะไปสาย เขาหงุดหงิดรุ่มร้อน แต่สังเกตเห็นว่าคนขับรถแท็กซี่ไม่มีอาการรุ่มร้อนเลย เปิดวิทยุแถมฮัมเพลงไปด้วยอย่างมีความสุข เขาจึงถามคนขับรถว่าพี่ไม่หงุดหงิดเหรอ คนขับรถตอบดี เขาตอบว่า “ผมไม่รู้จะหงุดหงิดไปทำไมครับ หงุดหงิดแล้วมันก็ติดเท่าเดิม”
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    เขายังพูดต่ออีกว่า แต่ก่อนเขาทำงานบริษัท ตอนหลังเบื่อเลยลาออกมาขับแท็กซี่ มันอิสระดี ที่น่าสนใจคือเขาพูดว่า “ผมรู้ว่าผมเลือกทำอาชีพอะไร แล้วจะต้องเจอกับอะไร ถ้าเลือกขับแท็กซี่ก็ต้องยอมรับได้ว่าต้องเจอรถติด”

    คนขับแท็กซี่ไม่หงุดหงิดเวลารถติดเพราะเขายอมรับมันได้ ส่วนคนที่ทุกข์ใจก็เพราะยอมรับมันไม่ได้ แถมยังคิดปรุงแต่งต่อไปว่าถ้ารถติดหนักกว่านี้จะไปทำงานสาย จะไปส่งลูกไม่ทัน จะตกเครื่องบิน ก็เลยกระสับกระส่าย

    ไม่ว่าเจอทุกข์อะไรก็ตาม ถ้าเรายอมรับไม่ได้ ใจจะเป็นทุกข์มาก เป็นทุกข์ยิ่งกว่าความทุกข์อันแรกที่เจอ

    หญิงผู้หนึ่งพูดไว้ดีว่า “มะเร็งไม่ได้ทำให้ยิ้มคุณหายไป ทุกข์ในใจต่างหากเป็นตัวทำ” ถามว่าทุกข์ใจเพราะอะไร คำตอบคือยอมรับความจริงไม่ได้ สิ่งที่เธอพูดนั้นเป็นสัจธรรมมาก เธอพูดว่า “ในขณะที่เราคิดว่าความจริงมันโหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงนั้นโหดร้ายกว่า เพราะมันเปรียบเหมือนคุกที่ขังใจเราไว้”

    ประโยคข้างต้นเธอพูดจากประสบการณ์ของตัวเอง เธอเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะตอนอายุ 30 ปี ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ หมอเองทีแรกก็ยังไม่เชื่อ เพราะมะเร็งที่เกิดกับเธอนั้นมักเกิดขึ้นผู้สูงอายุหรือสูบบุหรี่จัด แต่เธอไม่เคยสูบบุหรี่ ตอนที่เธอรู้ว่าเป็นมะเร็ง เธอรู้สึกทุกข์มาก ทุกข์กายไม่เท่าไหร่แต่ทุกข์ใจมากเธอเอาแต่คร่ำครวญว่า ว่าทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมต้องเป็นมะเร็งชนิดนี้ มันไม่น่าจะเกิดกับฉัน ฉันอายุแค่ 30 ปีเท่านั้น พอเธอไม่ยอมรับความจริงนี้ ก็เครียด จนเหวี่ยงวีนใส่หมอ เหวี่ยงวีนแม้กระทั่งกับคนที่บ้าน

    ภายหลังเธอหันมาสนใจการปฏิบัติธรรม เจริญสติ เมื่อสังเกตจิตใจของตนก็พบว่า สาเหตุของความทุกข์ใจคือการไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับโรคมะเร็ง แต่พอเธอยอมรับมันได้ ใจก็สงบ แม้ว่ามะเร็งจะลามไปเยอะแล้ว

    คนเรามักจะมองข้ามความจริงว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราไม่ร้ายเท่ากับการไม่ยอมรับความทุกข์นั้น สิ่งที่เรากลัวเราเกลียด ไม่ร้ายเท่ากับความกลัวความเกลียดสิ่งนั้น ลองพิจารณาดูให้ดีว่า คนที่เป็นปัญหากับเรา ยังไม่ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับความรู้สึกเกลียดชังหรือโกรธคนนั้น มะเร็งก็เหมือนกัน มันไม่ร้ายเท่ากับความกลัวความเกลียดและการไม่ยอมรับมะเร็ง



    เหตุผลที่เราควรยอมรับความทุกข์

    ประการแรก เราควรยอมรับมันก่อนอื่นใด ก็เพราะมันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถปฏิเสธ ผลักไสไปได้

    ประการที่สอง ให้ตระหนักว่า ยิ่งผลักไสก็ยิ่งทุกข์ เป็นการซ้ำเติมตัวเอง อย่างที่คนขับแท็กซี่พูด “ผมไม่รู้จะหงุดหงิดไปทำไม หงุดหงิดแล้วรถมันก็ติดเท่าเดิม” ความหงุดหงิดทำให้จิตใจรุ่มร้อน ส่วนปัญหาหรือความทุกข์เดิมก็ไม่ได้หายไปไหน

    มีคนเปรียบเทียบชีวิตไว้ดีว่า เหมือนกับการเล่นไพ่ บางครั้งเราก็จั่วได้ไพ่ที่ไม่ดี แต่ป่วยการที่จะบ่น ตีโพยตีพายว่า ทำไมได้ไพ่ใบนี้ คนที่เล่นไพ่เก่งเขาไม่บ่นโวยวายอย่างนั้น แต่เขาจะพยายามใช้ปัญญาเพื่อเล่นให้ดีที่สุด บางครั้งเขาก็ชนะทั้งที่ไพ่ในมือเขาไม่ดีเลย ถ้าเขาโวยวาย ก็หัวเสีย ปัญญาก็ไม่เกิด สู้ตั้งสติให้ดีว่าจะใช้ไพ่ที่มีในมือให้เกิดประโยชน์อย่างไร

    แม่ครัวซึ่งได้เครื่องเคราไม่ครบ เขาไม่มัวหัวเสียบ่นปอดแปดว่าว่าทำไมเครื่องไม่ครบ เขาจะคิดเพียงว่าทำอย่างไรจะปรุงอาหารให้อร่อยหรือดีที่สุดเท่าที่อุปกรณ์มีอยู่ ไม่มีเนื้อ มีแต่ผักก็ไม่เป็นไร ไม่มีน้ำตาล เอาอย่างอื่นแทนได้ไหม ในขณะที่แม่ครัวที่มีเครื่องครบแต่อาจปรุงอาหารไม่อร่อยก็ได้ มันไม่ได้อยู่ที่ว่าในมือมีอะไร แต่อยู่ที่ว่าเราจะใช้ของที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์แค่ไหน แต่เราไม่สามารถใช้สิ่งที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์ได้ดีที่สุดหากเรายังหัวเสียหงุดหงิด ไม่ยอมรับกับข้อจำกัดที่เกิดขึ้น

    ผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่งกล่าวถึง พอทำใจยอมรับได้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว นอกจากเธอจะยิ้มได้แล้ว เธอยังมีสติปัญญาที่จะเยียวยาตัวเองต่อไป แต่ถ้าหัวเสียหงุดหงิด ก็คิดอะไรไม่ออก แทนที่จะทุกข์จะบรรเทาทุกข์กลายเป็นทุกข์หนักขึ้น ป่วยการที่จะบ่นโวยวายว่า ทำไมต้องเป็นฉัน มันไม่ยุติธรรม ฉันอายุแค่ 30 ปี เอง ไม่เคยสูบบุหรี่ ทำไมฉันต้องเป็นมะเร็งปอด ฉันทำดีตลอดชีวิต ทำไมฉันต้องมาป่วย ทำไมต้องเสียลูกตั้งแต่ยังเล็ก ๆ หรือฉันออกกำลังกายเป็นปีทำไมต้องมาป่วย คิดแบบนี้เป็นการทำร้ายตัวเอง

    ผู้หญิงคนหนึ่ง ดูแลสุขภาพดีมาก กินอาหารชีวจิต อาหารแมคโครไบโอติก อาหารเสริมที่ใครบอกว่าช่วยป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจเธอหามากินหมด อาหารเสริมใดที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ รวมทั้งสไปรูไลนา ใบแปะก๊วย โคคิวเท็น แพงแค่ไหนเธอก็หามา ออกกำลังกายเธอก็ทำเป็นประจำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้อายุยืน มีสุขภาพดี แล้ววันหนึ่งเธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เธอทำใจไม่ได้ โกรธมาก รู้สึกว่าถูกโกหก ถูกหลอกลวง ตลอดเวลาที่ป่วยเธอไม่มีความสุขทั้งกายทั้งใจ กราดเกรี้ยวใส่คนรอบข้าง จนกระทั่งวาระสุดท้ายก็ตายไม่สงบ ในขณะที่คนบางคนเจอโรคร้าย แต่เขารู้จักทำใจ จึงไม่ทุกข์มาก

    หมอคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยชายวัยกลางคนคนหนึ่ง เมื่อเธอดูประวัติแล้วก็รู้สึกหนักใจ ชายคนนี้เป็นมะเร็งที่ใบหน้า แผลใหญ่กินตั้งแต่แก้มไปถึงจมูกและริมฝีปาก หมอรู้ดีว่าคนที่เป็นมะเร็งชนิดนี้จะเจ็บปวดมาก ไม่แค่เฉพาะปวดกาย แต่อาจเจ็บปวดที่ใจด้วย เพราะส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเป็นที่รังเกียจ เนื่องจากแผลที่ใบหน้าเห็นชัด จนอยากเก็บตัวลบลี้หนีหน้าผู้คน และอันที่จริงโรคนี้ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยออกไปนอกบ้านเพราะถ้าโดนแสงแดดจะเจ็บปวดมาก จำเป็นต้องเก็บตัวในบ้าน แถมต้องมีม่านพรางแสงด้วย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยทั้งหดหู่ ซึมเศร้า และเครียดมาก ในประเทศสหรัฐอเมริกา คนที่เป็นมะเร็งใบหน้า ฆ่าตัวตายถึง 1 ใน 4

    หมอเองรู้สึกหนักใจที่จะไปเยี่ยมผู้ป่วยคนนี้ เพราะกลัวว่าจะเจออารมณ์กราดเกรี้ยวของเขา แต่พอเจอเข้าจริง ๆ หมอก็แปลกใจ เพราะเขาโอภาปราศรัยดี คุยอย่างคนปกติ ไม่มีความก้าวร้าวอะไรเลย

    คนไข้เล่าว่า ตอนหนุ่ม ๆ เขาชอบกินเหล้าสูบบุหรี่มาก เมาหัวราน้ำ การงานก็ทำได้ไม่ดี มีครอบครัวก็ต้องเลิกกัน เมียทนไม่ได้ที่เขาเอาแต่กินเหล้า สูบบุหรี่ ลูกก็ต้องไปอยู่กับเมีย เขาเล่าเหมือนกับยอมรับ ว่าที่เขาเป็นมะเร็งก็เพราะมีพฤติกรรมเสี่ยงแบบนี้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เขาสงบ ไม่มีอาการหงุดหงิดทุรนทุราย

    เขาเล่าว่าทุกวันเขาไม่มีอะไรทำ นอกจากวาดรูปและเปิดโทรทัศน์ ช่องที่ดูประจำคือ CNN ซึ่งมีข่าว 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นข่าวเกี่ยวกับการก่อการร้าย อุบัติเหตุ สงคราม ความอดอยากหิวโหย ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว ไฟไหม้ น้ำท่วม เขาดู ๆ ไปไม่นานก็ได้คิดว่า คนเราไม่ว่ารวยหรือจน ชาติใด ภาษาใด นับถือศาสนาใด ก็หนีความทุกข์ไม่พ้น ความทุกข์เป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษยชาติ พอคิดได้แบบนี้เขาก็มองมาที่ตัวเอง แล้วได้คิดว่า ความเจ็บป่วยของเรา ก็เป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดกับมนุษย์ทั้งโลก

    พูดง่าย ๆ ว่า เขามองว่าความทุกข์ที่เกิดกับตัวเองเป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกคน พอมองอย่างนี้ได้เขาก็ยอมรับมะเร็งได้ ไม่ปฏิเสธ ผลักไสมันอีกต่อไป ใจจึงสงบ

    เขายังบอกอีกว่า ตอนนี้เขาพยายามดูแลสุขภาพให้ดีเพื่อจะได้มีชีวิตยืนยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาเขาแทบไม่ได้อยู่กับลูกเลย ตอนนี้อยากจะอยู่กับลูกให้นานที่สุด

    หมอเจ้าของไข้บอกเขาว่า เขาจะอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน แต่ชายคนนี้อยู่ได้ปีกว่า ช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ ก็ไม่ได้ทุกข์ทรมาน เหมือนผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ ตอนตายก็ตายอย่างสงบ

    ชายคนนี้แม้จะมีความทุกข์กายมาก แต่ใจเขาไม่ค่อยทุกข์เท่าไหร่ ทั้งนี้เพราะเขายอมรับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น

    การยอมรับช่วยให้ใจสงบ เป็นทุกข์น้อยลง นี้คือเหตุผลหนึ่งที่เราควรยอมรับเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาในรูปใด เช่น ความเจ็บป่วย ความสูญเสีย
    :- https://visalo.org/article/dhammamata14_3.html
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    ปล่อยวางตัวตน
    พระไพศาล วิสาโล
    มีแม่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอมีลูกสาวอายุประมาณ ๑๒ ขวบ วันหนึ่งลูกขอเงินแม่ไปซื้อไมโครโฟนของเล่น พอกดสวิตช์แล้วจะมีเสียงเพลงต่างๆ ดังขึ้น เหมือนกับว่าเจ้าตัวกำลังร้องเพลง แม่ถามว่าราคาเท่าไหร่ ลูกตอบว่า ๔๐๐ บาท แม่ก็ตกใจว่าโรงเรียนอนุญาตให้เอาของเล่นแพงๆ มาขายในโรงเรียนได้ยังไง แต่ลูกสาวรบเร้าจะเอาให้ได้ แม่เห็นว่าของเล่นแพงไป แต่ก็ไม่อยากปฏิเสธลูก จึงบอกลูกว่าถ้าลูกอยากได้แม่ก็จะให้ซื้อ แต่มีเงื่อนไขสองข้อ ข้อหนึ่ง แม่จะหักค่าขนมของลูกครึ่งหนึ่งเก็บใส่กระปุกจนกว่าจะครบ ๔๐๐ บาท ข้อสอง ทุกเย็นเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ ให้ลูกไปดูของชิ้นนั้นที่ร้านก่อนกลับบ้าน แล้วให้สังเกตด้วยว่าพอเห็นของแล้ว ใจหนูรู้สึกอย่างไร ชอบมันมากเหมือนเดิมทุกวันไหม ผ่านไปสี่วันเท่านั้น ลูกก็มาบอกแม่ว่าไม่อยากได้แล้ว แม่ถามว่าทำไม ลูกตอบว่า “เบื่อ” ลูกพูดต่อว่า ดูนาน ๆ ก็เบื่อเอง เพราะไม่เห็นมีอะไรเลย เก็บเงิน ๔๐๐ บาท ไว้ทำอย่างอื่นดีกว่า

    การที่แม่ให้ลูกไปดูของเล่นที่อยากได้ และให้ดูใจของตัวไปด้วย ทำให้ลูกเห็นความอยาก พอเห็นมันบ่อย ๆ ความอยากก็ค่อย ๆ ลดลง หรือไม่ก็เบื่อไปเลย แต่ส่วนใหญ่เรามักจะซื้อของทันทีที่อยากได้ ขอให้สังเกตว่า ของที่เห็นใหม่ ๆ มักจะมีเสน่ห์เสมอ แต่พอเราเห็นมันบ่อย ๆ ครั้งแรก ๆ ยังชอบอยู่ แต่พอครั้งที่ห้า ครั้งที่หก มันก็เริ่มหมดเสน่ห์แล้ว เพราะว่ามันไม่ใช่ของใหม่แล้ว เป็นธรรมดา ของใหม่มักมีเสน่ห์ดึงดูดใจ แต่พอเป็นของเก่า มันก็จะหมดเสน่ห์


    สังเกตไหม เรามีของกี่ชิ้น กี่ชิ้น แต่ก็ไม่เคยพอใจจนหยุดซื้อสักที เช่น เสื้อผ้า หรือโทรศัพท์มือถือ เพราะว่าพอเราซื้อมาได้ไม่กี่วันไม่กี่เดือนมันก็กลายเป็นของเก่าและหมดเสน่ห์ไปแล้ว เราจะไปติดตาต้องใจกับของใหม่ และอยากได้มันมาแทนของเดิม เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ไม่หยุดหย่อน เวลาเราซื้อของใหม่ทันที่ที่เห็นหรือเกิดความอยาก เราจะทำตามความอยากโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่ทันเห็นความอยาก แต่ถ้าเราลองตั้งกติกาว่ายังไม่ซื้อของชิ้นนั้นจนกว่าจะดูมันสักสามสี่ครั้ง แล้วลองดูใจของตัวไปด้วย เราจะเห็นความอยากของตัวเองชัดขึ้น แต่ถ้าเราทำตามมันเลยเราจะไม่เห็นความอยาก ตรงกันข้ามพอเราไม่ทำตามความอยากทันที เพราะมีกติกาว่าจะยังไม่ซื้อจนกว่าจะเห็นของชิ้นนั้นหลายๆ ครั้ง เราก็จะเห็นความอยาก พอเห็นความอยาก ความอยากก็จะค่อย ๆ ลดลง จนอาจไม่อยากซื้อเลยก็ได้ อย่างเด็กคนเมื่อกี้ แม่เขาสอนลูกได้ดี แม่ไม่ได้ตามใจลูก แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธลูก แม่ใช้โอกาสนี้สอนให้ลูกได้เห็นว่าความอยากมันเป็นสิ่งไม่เที่ยง อย่าไปเอาจริงเอาจังกับความอยากมากนัก

    คนเราเวลาโกรธแล้วเปิดโอกาสให้สติได้ทำงาน ก็จะปล่อยวางความโกรธได้ แต่บางครั้งเราไม่สามารถจะมีสติด้วยตัวเอง ก็ต้องอาศัยคนอื่นช่วย อย่างเด็กคนนี้มีสติได้ก็เพราะมีแม่ช่วยตั้งกติกาให้ ผู้ใหญ่บางทีก็ต้องมีคนช่วยเตือนสติเหมือนกัน เคยมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในโรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพฯ ทุกเย็นพอถึงเวลาเลิกเรียน จะมีรถผู้ปกครองมารับเด็กจนแน่นขนัด จนไม่มีที่จอดรถ ผู้ปกครองจึงต้องหาทางแย่งชิงที่จอดรถกัน มีผู้ปกครองคนหนึ่งเป็นทหารยศนายพล ขับรถฝ่าระเบียบที่ให้ขับวันเวย์ พอได้ที่จอดรถแกก็รีบลงจากรถทันที ผู้ปกครองอีกคนโมโหที่ถูกแย่งที่จอดรถ จึงออกไปต่อว่า ทหารคนนั้นจึงพูดขึ้นว่า “รู้ไหมว่าอั๊วเป็นใคร” อีกฝ่ายตอบว่า “ผมไม่สนใจว่าคุณเป็นใคร แต่คุณทำผิดกฎจราจร” โต้เถียงสักพัก นายพลก็ทำท่าไม่สนใจ เดินจากไป อีกฝ่ายจึงรีบกลับไปที่รถ แล้วคว้าปืนออกมา แล้วเดินตามนายพลคนนั้น หมายจะยิงให้หายแค้น เผอิญมีพนักงานขับรถคนหนึ่งอยู่ใกล้ ๆ พอดี จึงตรงไปจับมือผู้ปกครองอารมณ์ร้อน และพูดว่า “คุณมารับลูกไม่ใช่หรือครับ ?” ปรากฏว่าเขาได้สติทันที จึงเก็บปืนแล้วเดินไปหาลูกที่กำลังรออยู่

    พนักงานขับรถพลเมืองดีคนนั้นฉลาดมาก สังเกตว่าแกไม่ได้ห้ามเลย ว่า “อย่าทำ ๆ” เพียงแต่พูดเตือนสติให้นึกถึงลูก คนเราพอนึกถึงลูกขึ้นมา ก็มักจะหายวู่วาม คำพูดของพนักงานขับรถทำให้เขาได้สติและรู้ว่าถ้าไปยิงคนอื่นเข้าแล้วจะเกิดเรื่องราวใหญ่โต ลูกก็จะเดือดร้อนไปด้วย

     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)

    ถ้าเรามีสติ ใจก็หลุดจากอารมณ์ หายหลง หันมาทำสิ่งที่ถูกต้อง รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูก อะไรผิด ขณะเดียวกันใจก็โปร่งเบาขึ้น ไม่มีความโกรธ ไม่มีความเครียด หรือความเศร้าเสียใจมารบกวน นี่แหละคือความสุขความสงบใจ ถึงแม้ว่าเสียงภายนอกจะดัง ผู้คนจะวุ่นวาย แดดจะร้อน แต่พอมีสติ เห็นความหงุดหงิด รู้ทันมัน ก็ปล่อยวางมันได้ ใจก็เย็นลง นี่คืออานิสงส์ที่สำคัญมากของสติ


    แต่ว่าสติยังมีอานิสงส์อีกประการหนึ่งที่เป็นจุดหมายสำคัญของพระพุทธศาสนาคือ ทำให้เราเห็นความจริงของตัวเรา หรือพูดให้พูดต้องคือเห็นความจริงของกายและใจ เมื่อมีสติดูกายดูใจ เห็นกายเห็นใจอยู่เรื่อยๆ ก็เห็นธรรมชาติของกาย เห็นธรรมชาติของใจ โดยไม่ต้องใช้ความคิด มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้ความคิด ที่จริงถ้าเรามีสติดูกายดูใจในขณะที่สร้างจังหวะเดินจงกรม ก็จะเห็นว่าตัวที่ยกมือขึ้นเคลื่อนไหวไปมานั้นคือกาย และตัวที่รู้สึกนึกคิดนึกนั้นคือใจ แต่ก่อนเราจะคิดว่าฉันยกมือ ฉันเดิน ฉันคิด ฉันโกรธ ฉันโมโห แต่เมื่อเรามีสติเป็นกายเห็นใจเนือง ๆ ก็จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวฉันที่โกรธ แต่เห็นความโกรธเกิดขึ้นที่ใจต่างหาก แทนที่จะรู้สึกว่าฉันเครียด คือเห็นความเครียดเกิดขึ้นที่ใจ ความโกรธ ความเครียดเป็นเรื่องของใจไม่ใช่เรื่องของฉัน ที่เดินนั้นเป็นรูปเดิน ไม่ใช่ฉันเดิน ที่คิดนั้นเป็นใจคิด ไม่ใช่ฉันคิด ตัวฉันจะค่อยๆ หายไปๆ ความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูก็จะลดลงไปด้วย

    ปกติคนเราเวลาทำอะไรก็จะมีตัวฉันนำหน้าอยู่เสมอ เช่น ฉันคิด ฉันทำ ฉันโกรธ ฉันโมโห ฉันเจ็บ ฉันปวด อันนี้คือความหลงอย่างหนึ่ง เพราะที่จริงตัวฉันมันไม่มี มันมีแต่รูปและนาม มีแต่กายและใจ รูปเคลื่อนไหว ส่วนใจคิดนึก แต่เราหลงไปปรุงให้มีตัวฉัน ว่าฉันเป็นโน่น ฉันเป็นนี่ เลยไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าตัวฉันมีจริงๆ แล้วก็เลยเป็นทุกข์เพราะตัวฉันนี้เอง ได้ยินใครต่อว่าก็จะปรุงขึ้นมาทันทีว่าฉันถูกต่อว่า ฉัน ถูกตำหนิ ทันทีที่คิดแบบนี้ก็จะทุกข์แล้วก็พร้อมจะตอบโต้ เพราะไปสำคัญมั่นหมายว่ากูถูกกระทบกระแทก ก็ต้องกระทุ้งกลับไป ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะไปปรุงตัวฉัน หรือตัวกูของกูขึ้นมา ที่ปรุงอย่างนั้นก็เพราะไม่มีสติเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง

    ถ้าเรามีสติ ดูกาย ดูใจอยู่เรื่อยๆ จะเห็นความจริงข้อนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญญาขึ้นมาว่า รูปและนามมันไม่ใช่ตัวฉัน กายและใจไม่ใช่ตัวฉัน มันไม่มีตัวฉัน มีแต่กายและใจ รูปและนาม พอเห็นความจริงอย่างนี้ ความยึดติดว่าเป็นตัวกูมันก็จะเบาบางลงไป ถ้าเห็นถึงขั้นเกิดปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ เรียกว่าเกิดปัญญา ก็จะทำให้หลุดพ้นถึงขั้นเป็นอริยบุคคลได้

    ถึงที่สุดแล้วความทุกข์ของคนเราเกิดจากความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู ทำไมเงินหายถึงทำให้เป็นทุกข์ ก็เพราะว่าเราไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าเงินของฉันหาย ถ้าเป็นเงินคนอื่นหายเราจะทุกข์ไหม ไม่ทุกข์หรอก แต่พอเงินของฉันหาย จึงเป็นทุกข์ มีคนบาดเจ็บล้มตายเราทุกข์ไหม เราจะทุกข์ก็ต่อเมื่อคนที่ล้มตายนั้นเพื่อนของฉัน พ่อแม่ของฉัน ญาติของฉัน น้องของฉัน คนเรายึดติดในตัวกูของกูอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับทรัพย์สมบัติจะชัดเจนมาก เราไม่ได้ยึดติดทรัพย์สมบัติเวลามันอยู่กับเราเท่านั้น เวลามันหายไปเราก็ยังยึดว่าเป็นของเราอยู่ ไม่ยอมปล่อยวาง แม้กระทั่งเวลาเราให้ของใครไป ก็ยังอดยึดติดไม่ได้ว่ามันยังเป็นของฉันอยู่ เช่น ทำอาหารถวายพระ ก็คอยดูว่าหลวงพ่อจะฉันอาหารของฉันไหม ขนาดถวายให้ท่านไปแล้วก็ยังยึดว่าเป็นของฉันอยู่ ก็เลยไม่สบายใจที่หลวงพ่อไม่ฉันอาหารของฉัน

    ในทำนองเดียวกันเวลาเราให้เงินใครไป ให้ไปแล้วก็ยังยึดว่าเป็นเงินของฉัน เลยคาดหวังว่าเขาจะสำนึกในบุญคุณของฉัน ถ้าเขาไม่ตอบแทนให้เราได้ดั่งใจ เราก็จะไม่พอใจ หาว่าเขาไม่สำนึกในบุญคุณของเรา หลายคนเป็นทุกข์เพราะเหตุนี้กันมาก เลยทำให้ผิดใจกันระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ถึงแม้ว่าผู้รับจะสำนึกในบุญคุณ แต่พอผู้ให้รู้สึกว่าได้รับการตอบแทนไม่ถึงขนาด ก็จะไม่พอใจ มีการทวงบุญคุณกัน ก็เลยทะเลาะกัน ถึงกับไม่มองหน้ากันก็มี อันนี้เป็นเพราะให้เงินเขาไปแล้วก็ยังยึดติดว่าเป็นเงินของฉัน รวมทั้งยึดติดคาดหวังให้เขาสำนึกในบุญคุณของเราไม่จบไม่สิ้น

    ถ้ายึดติดแบบนี้เราก็พร้อมจะทุกข์ตลอดเวลา แม้ทำดีก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะคิดว่าเขาไม่สำนึกในบุญคุณของเรา หรือทุกข์ที่ไม่มีคนเห็นความดีของเรา ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่ตัวกูของกูนั้นเป็นสิ่งสมมติที่ปรุงแต่งขึ้นมาทั้งนั้น

     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)

    พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโชเคยเล่าว่า ตอนท่านอายุเจ็ดขวบ เล่นวิ่งไล่จับกับเพื่อน มีกติกาว่าใครที่ถูกแตะตัวคนนั้นแพ้ ต้องกลายเป็นผู้ไล่ ที่เหลือก็ต้องวิ่งหนี ไม่ให้เขาแตะตัวได้ มีคราวหนึ่งท่านเป็นฝ่ายหนี เพื่อนก็วิ่งมาแตะที่มือท่าน แล้วก็บอกว่าแตะตัวได้แล้ว ท่านบอกแตะตัวที่ไหน แตะมือต่างหาก เพื่อนก็เลยยอมแพ้ท่านวิ่งหนีต่อ เพื่อนก็วิ่งมาไล่มาแตะที่หลัง เพื่อนบอกแตะตัวได้แล้ว ท่านก็แย้งว่าแตะตัวที่ไหนแตะหลังต่างหาก แล้วท่านก็วิ่งหนีต่อ คราวนี้เพื่อนก็วิ่งมาแตะเอว เพื่อนบอกแตะตัวได้แล้ว ท่านบอกไม่ใช่ แตะเอวต่างหาก ตกลงว่าแตะเท่าไหร่ก็ไม่เคยถูกตัวสักที เพราะแตะถูกมือบ้าง ถูกหลังบ้าง เอวบ้าง ทั้งนั้น


    เห็นไหมว่ามีตัวเราที่ไหนกัน แตะตรงนี้ก็แขน แตะตรงนี้ก็ไหล่ แตะตรงนี้ก็หัว ไม่มีตัวเรา ตัวเป็นสมมุติ เราเรียกอวัยวะต่าง ๆ ที่มารวมกันว่า “ตัวเรา” เหมือนกับเรียกล้อ พวงมาลัย หม้อน้ำ หลังคา และชิ้นส่วนต่าง ๆ อีกนับร้อยที่มารวมกันว่า “รถ” แต่ตัวรถจริง ๆ ไม่มี แตะตรงนี้ก็เบาะ ตรงนี้ก็หลังคา ตรงนี้ก็ท่อไอเสีย สมมุติเป็นของมีประโยชน์ถ้ารู้จักใช้ แต่พอยึดว่ามันเป็นของจริงก็เตรียมทุกข์ได้เลย เช่น เวลามีดบาดนิ้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดให้คิดว่า เวลามีดบาดนิ้ว ถ้าคิดว่ามีดบาดฉัน จะรู้สึกเจ็บมาก แต่ถ้ามองว่ามีดบาดนิ้ว ความเจ็บก็จะลดลง “มีดบาดฉัน”กับ “มีดบาดนิ้ว” มันให้ความรู้สึกต่างกัน

    ตัวฉันไม่มีจริงแต่พอไปยึดว่ามันมีจริง ๆ แล้วหลงไปกับมัน ไปคิดว่าจะควบคุมบัญชาให้เป็นไปตามใจได้ ก็เลยทุกข์เวลาล้มเจ็บ หรือเวลาผิวหนังเหี่ยวย่น ผมหงอก หย่อนยาน ไม่มีเรี่ยวมีแรงเหมือนแต่ก่อน ป่วยก็ทุกข์ ไม่ได้แค่ทุกข์กาย แต่ทุกข์ใจด้วย ไม่สวยไม่งาม แก่ชรา ก็ทุกข์เพราะมันสวนทางกับความยึดติดถือมั่น แต่ถ้าไม่ยึดติดถือมั่นว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถึงจะแก่ จะเจ็บ จะป่วย ก็ไม่ทุกข์ ทุกข์แค่กาย แต่ไม่ทุกข์ใจ

    ร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สมบัติทั้งหลาย รวมทั้งคนรัก ลูกหลาน ไม่มีอะไรที่จะอยู่ในอำนาจของเราได้เลย ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ อันนี้เรียกว่า “อนัตตา” ร่างกายนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเราเพราะว่าเราไม่สามารถจะควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้ สั่งมันไม่ได้ อะไรที่เป็นของเรา เราต้องสั่งได้ใช่ไหม แต่เราสั่งไม่ได้เลยสักอย่าง อะไรที่เป็นตัวตนมันก็ต้องคงทนยั่งยืน แต่นี่มันก็แปรสภาพเปลี่ยนสภาพไปเรื่อย อย่างเช่น ดอกไม้ถ้ามันมีตัวตนก็ต้องเป็นดอกไม้วันยังค่ำ แต่ถ้าเด็ดมาปักในแจกันไม่กี่ชั่วโมงก็เหี่ยว แล้วก็กลายเป็นขยะ ถ้ามันมีตัวตนที่แท้จริงมันก็ต้องเป็นดอกไม้ไปตลอด แต่ทำไมกลายเป็นขยะไปเสียแล้ว และอีกไม่นานก็สลายกลายเป็นดิน

    ถ้าเราเจริญสติเราก็จะเห็นของจริง เห็นความจริง เห็นสัจธรรมเกี่ยวกับตัวเรา เห็นความจริงเกี่ยวกับกายและใจ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เห็นอย่างนี้แล้วก็จะปล่อยวาง เพราะรู้ว่ายึดไม่ได้ และไม่น่ายึด เพราะมันเป็นทุกข์ แปรเปลี่ยนอยู่เสมอ นี้คือปัญญาที่เกิดจากการเห็นกายเห็นใจอยู่เสมอ ปัญญาทำให้ใจสว่าง ทีแรกจะทำให้เกิดความสงบ แต่ในที่สุดก็ทำให้เกิดความสว่าง ส่วนความสงบนั้นถือว่าเป็นเรื่องสมถะ สมถกรรมฐานคือการฝึกใจให้เกิดความสงบ แต่การทำให้ใจสว่างเป็นเรื่องของวิปัสสนา สว่างคือเกิดปัญญาแล้วปล่อยวางได้ ปล่อยวางความยึดติดถือมั่นใน ตัวกูของกู นี้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธเราควรจะเข้าใจ ถึงแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ว่ามันช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง เพราะว่าความทุกข์ถึงที่สุดแล้วเกิดจากความยึดติดว่าเป็นตัวกูของกู ยึดติดร่างกาย ยึดติดจิตใจว่าเป็นตัวกูของกู หลงคิดว่า ใจนี้บังคับได้ ร่างกายนี้บังคับได้ พอไม่เป็นไปอย่างที่คิดหวังก็ทุกข์ โมโห โกรธกายกับใจ บางทีก็โมโหใจที่มันเอาแต่โกรธเอาแต่อยาก ทำไมไม่ยอมสงบเสียที นี่ก็เพราะความยึดติด เพราะความไม่รู้ว่าใจไม่ใช่ของเรา

    การเจริญสติทำให้เราเกิดปัญญา ไม่ใช่แค่ปล่อยวางอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ที่สำคัญคือปล่อยวางความยึดติดถือมั่นในตัวตน ซึ่งเป็นรากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวง เป็นเพราะยึดติดอย่างนี้แหละที่ทำให้แก่ก็เป็นทุกข์ เจ็บก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าหากวางความยึดติดถือมั่นได้ ไม่มีตัวกูของกูอีกต่อไป อะไรจะเกิดขึ้นก็เห็นเป็นธรรมดา แก่ก็เป็นธรรมดาไม่ใช่ทุกข์ เจ็บก็เป็นธรรมดาไม่ใช่ทุกข์ ตายก็เป็นธรรมดาไม่ใช่ทุกข์ โกรธก็เกิดขึ้นได้แต่ไม่เอา

    เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ ของหลวงปู่มั่น ผู้คนเชื่อว่าท่านเป็นพระอริยะ วันหนึ่งมีคนถามว่าหลวงปู่มีความโกรธไหม ท่านตอบว่า “มีแต่ไม่เอา” เรามาคิดต่อซิว่าทำไมถึงไม่เอา ก็เพราะมันไม่มีตัวกูจะไปยึดเอาความโกรธนั้นมาเป็นของกู มันไม่มีตัวกูเป็นผู้โกรธ มีนักปฏิบัติธรรมบางคนเล่าว่าเคยถูกคนด่าต่อหน้า เห็นความโกรธมันพุ่งขึ้นมาเลย แต่พอมันขึ้นมาแล้วก็วูบดับลง เหมือนกับว่าพุ่งขึ้นมาแล้วก็หายไป ทำไมถึงหาย ก็เพราะไม่มีตัวกูเข้าไปฉวยเอาความโกรธนั้น คนธรรมดาพอมีความโกรธเกิดขึ้น ก็ปรุงตัวกูเข้าไปฉวยเอาความโกรธมาเป็นของกู แต่เมื่อไม่มีตัวกู ความโกรธเกิดขึ้นก็วูบหายไป

    คนธรรมดาเวลาถูกด่า มันเหมือนกับมีก้อนหินตกลงมาถูกกระจก เกิดอะไรขึ้นกับกระจก ถ้าไม่ร้าวก็แตก แต่ถ้าไม่มีกระจกล่ะ ก้อนหินตกลงมาจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านเว่ยหล่างซึ่งเป็นสังฆปริณายกของลัทธิเซนในจีน ตอนที่ท่านยังหนุ่ม มีลูกศิษย์รุ่นพี่เขียนโศลกว่า “กายคือต้นโพธิ์ ใจเหมือนกระจกใส ต้องหมั่นเช็ดถูกเพื่อไม่ให้มีฝุ่นจับ” ท่านเว่ยหลางมาเห็นก็แอบเขียนใกล้ ๆ กันว่า “ต้นโพธิ์หามีไม่ ทั้งไม่มีกระจกใส แล้วฝุ่นจะจับอะไร”

    ท่านเว่ยหล่างมีปัญญาเห็นชัดว่า ถ้ายังมีตัวกู ก็เหมือนกระจกที่ต้องเช็ดต้องถูไม่ให้ฝุ่นมาเกาะ ต้องคอยระวังไม่ให้หินมาตกใส่ เพราะถ้าตกใส่เมื่อไร กระจกก็แตก อันนี้อาตมาเสริมต่อ แต่ถ้าไม่มีตัวกู ก็เปรียบเสมือนว่าไม่มีกระจก ก็ไม่ต้องห่วงว่าฝุ่นจะจับ ไม่ต้องห่วงว่าก้อนหินจะตก ก้อนหินตกลงมาก็ไม่มีปัญหา เพราะไม่มีกระจกตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เรียกว่าตัวกูไม่มี หรือไม่ปรุงให้มีตัวกู อะไรจะเกิดก็ไม่เป็นปัญหา คือไม่เป็นทุกข์ นี้แหละคือความพ้นทุกข์ในพุทธศาสนา ไม่ได้แปลว่าไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แต่หมายความว่าไม่มีฉันผู้แก่ ฉันผู้เจ็บ หรือฉันผู้ตายอีกต่อไป จึงเป็นอิสระจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นความสุขอย่างยิ่ง

    ดังนั้นจึงขอให้ตระหนักว่า เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความสงบอย่างเดียว แต่จุดหมายปลายทางอยู่ไกลกว่านั้น คือเกิดปัญญาเห็นความจริงจนปล่อยวางความยึดมั่นว่ามีตัวตนได้ เมื่อเรารู้แบบนี้แล้วก็ขอให้มีความเพียรในการปฏิบัติ แต่อย่าใจร้อน อย่ากระเหี้ยนกระหือรือ หนทางอันยาวไกลต้องใช้ความอดทนในการเดินทาง ทางแม้จะไกลแค่ไหน ให้ระลึกว่าจุดหมายอยู่ที่ปลายเท้า ทางจะไกลแค่ไหนก็ต้องเดินทีละก้าว จะใจร้อนไม่ได้ เราต้องเดินทีละก้าว แล้วก็พอใจในแต่ละก้าวที่เดิน ถ้าเดินไม่หยุด สักวันก็ต้องถึงเอง อย่าไปรีบร้อน แต่ให้รู้ว่าจุดหมายปลายทางอยู่ตรงไหนเราจะได้ไปถูก แต่อย่าไปกังวลกับจุดหมายปลายทาง หาไม่เราจะเป็นทุกข์กับการเดิน เป็นทุกข์ที่ยังไปไม่ถึง อย่าทำอย่างนั้น ให้ใส่ใจกับการเดินทีละก้าว ไม่ถึงก็ไม่ถึง แต่เราก็มีความสุขทุกก้าวที่เดิน ให้การปฏิบัติของเราเป็นอย่างนี้คือให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปอยู่กับจุดหมายปลายทางมาก มันเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เป็นอนาคตที่ไม่ควรยึดติด

    :- https://visalo.org/article/dhammamata4_03.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    แก้ทุกข์ที่ใจ
    พระไพศาล วิสาโล

    เมื่อเช้าบิณฑบาตผ่านบ้านโยมคนหนึ่ง มีเด็กน้อยถือไม้ทำเป็นปืนยาวเล็งมาที่พระ พอพระเดินผ่านก็เล็งอย่างบรรจงแล้วยิงปุ้งๆ คงหวังจะให้พระล้มไปทีละรูปสองรูป อาตมาเห็นก็หัวเราะ เสร็จแล้วอดไม่ได้ที่จะคิดต่อไปอีกว่าเวลามีคนมาด่าว่าเรา พูดจาไม่ดีกับเรา หรือยิ่งกว่านั้นก็คือ เอาปืนหรือก้อนหินมาทำร้าย ถ้าเรารู้สึกขำขันหรือไม่ถือสาแบบนั้นบ้าง เราก็คงจะมีความสุขนะ ที่จริงพระพุทธองค์ก็ทรงแนะนำให้เรามีท่าทีอย่างนั้นเวลามีคนมาต่อว่าหรือทำร้าย มีคราวหนึ่งตรัสว่า “ถ้ามีใครทำร้ายเธอด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้ หรือด้วยศาสตรา เธอพึงตระหนักอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ เราจักเป็นผู้มีความเอ็นดูเกื้อกูล มีเมตตาจิต ไม่มีโทษอยู่ภายใน” แม้กระทั่งเวลามีโจรมาทำร้ายด้วยการเลื่อยร่างกายหรืออวัยวะของเรา พระองค์ก็ทรงแนะให้พระสาวกทำใจอย่างนั้นเช่นกัน พระองค์ถึงกับตรัสว่าหากใครมีจิตคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระองค์


    อันที่จริงอย่าว่าแต่มาทำร้ายเราเลย เพียงแค่เขาทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามกับเรา หรือแสดงความไม่เคารพเรา แล้วเราสามารถหัวเราะหรือนึกขำอยู่ในใจ เหมือนกับที่เราหัวเราะเด็กคนนั้น ก็ดีไม่น้อย แต่แม้เพียงแค่นั้น หลายคนก็ยังทำไม่ได้ อย่างบางคนถ้าเห็นเด็กทำท่าเล็งปืนมาที่ตัวเองอย่างนั้น เขาอาจไม่พอใจ ถ้าถือตัวถือตนหน่อยเขาก็อาจคิดขึ้นมาในใจว่า ทำไมเด็กคนนี้ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ทำอย่างนี้กับเราซึ่งเป็นพระได้ยังไง เห็นเราเป็นตัวตลกหรือยังไง บางทีถึงกับไม่พอใจไปถึงพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของเด็กว่า ทำไมไม่สั่งสอนลูกหลานของตัวบ้าง ถ้าใครคิดแบบนี้รับรองเป็นทุกข์ทันที เพราะโดนความโกรธเล่นงาน พอโกรธแล้วก็ต้องด่าว่าเด็กคนนั้น แล้วตำหนิเลยไปถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเขา ทางโน้นก็คงไม่พอใจ ตอบโต้กลับมา กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้ง่ายๆ

    ในกรณีแบบนี้ความทุกข์เกิดขึ้นได้เพราะอะไร มันเกิดขึ้นเพราะเด็กทำท่าทำทางอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่ใช่หรอก แต่เป็นเพราะความคิดความปรุงแต่งของคนๆ นั้นต่างหาก เช่นปรุงแต่งไปว่าเด็กคนนี้ไม่เคารพเราเด็กคนนี้นิสัยหยาบกร้าน นอกจากไม่ไหว้เราแล้วยังจะเอาปืนมายิงเราอีก เป็นเด็กเป็นเล็กทำอย่างนี้ได้ยังไง ถ้าคิดแบบนี้ก็ต้องทุกข์สถานเดียว ขอให้สังเกตว่าที่ปรุงแต่งมาทั้งหมดนี้มันมี ‘เรา’ หรือตัวฉันเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้นเลย ไม่ได้เกี่ยวข้องธรรมดา แต่เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวที่ปรุงแต่ง คือเป็นเราที่ไม่ได้รับการเคารพ เป็นเราที่ถูกเด็กกระทำ นั่นก็คือมีตัวฉันเป็นผู้รับแรงกระทบ ฉันก็เลยกระเทือน พูดอีกอย่างคือมีการปรุงแต่งตัวตนเข้ามารับแรงกระทบนั้น ความทุกข์ก็เลยเกิดขึ้นตามมา ตัวตนที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมานั้นเราเรียกว่าเกิดภพชาติขึ้นมา ทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมายว่ากูเป็นพระ มึงเป็นเด็ก มึงไม่เคารพกู เมื่อมีตัวกูขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดขึ้นคือมีตัวกูเป็นผู้ทุกข์

    ขอให้พิจารณาดูให้ดี การกระทำของเด็กไม่ใช่เป็นตัวการให้เกิดทุกข์ แต่ความคิดปรุงแต่งหรือปฏิกิริยาของเราเมื่อเห็นการกระทำของเด็กต่างหากที่ทำให้เกิดทุกข์ ถ้าเราคิดหรือมีมองไปอีกแบบหนึ่ง เช่น มองว่าเด็กเขาเล่นไปตามประสาของเด็ก เด็กกำลังเห่อของเล่นชิ้นใหม่ เด็กยังไม่ประสีประสา ฯลฯ ถ้าเรามองแบบนี้ก็คงอดยิ้มไม่ได้ในความไร้เดียงสาของเด็ก จะเห็นได้ว่าภาพอย่างเดียวกัน การกระทำอย่างเดียวกัน สามารถนำไปสู่ผลที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เห็น สามารถกระตุ้นให้โกรธหรือเรียกร้อยยิ้มก็ได้ทั้งนั้น สุขหรือทุกข์จึงไม่ได้มาจากไหน แต่อยู่ที่การคิดหรือการปรุงแต่งในใจเรา หรือขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาในใจเราเมื่อเห็น เมื่อได้ยิน หรือรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น เรียกรวมๆ ว่าขึ้นอยู่กับท่าทีของเราก็ได้

    มันก็เหมือนกับเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่เข้ามาในร่างกาย มีหลายชนิดที่ไม่มีพิษร้ายอะไร แต่ภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดมีปฏิกิริยาแบบตื่นเต้นตูมตามมากเกินไปจนทำให้เจ้าของร่างกายช็อคได้ ที่เขาช็อคไม่ใช่เป็นเพราะพิษของแบคทีเรียหรือไวรัส แต่เป็นเพราะภูมิคุ้มกันของเขาไปมีปฏิกิริยาเกินเหตุ เช่น ไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หรือทำให้กล้ามเนื้อบีบรัดมากขึ้น หรือทำให้มีการอักเสบมากขึ้น ตัวการที่ทำให้ช็อคล้วนเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายเราล้วนๆ มันตั้งใจที่จะกำจัดแบคทีเรียหรือไวรัส แต่มันทำเกินเหตุ ปฏิกิริยาจากภูมิคุ้มกันในร่างกายบางครั้งก็รุนแรงขนาดไปทำลายเนื้อเยื่อตามอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด จนทำให้เจ้าตัวล้มป่วยถึงตายก็มี ตัวเชื้อโรคจริงๆ ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายขนาดนั้น

    เปรียบไปก็เหมือนกับวัยรุ่นบางคนที่เป็นสิว สิวไม่ได้เป็นอันตรายกับตัวเขาเลย แต่เป็นเพราะเขาไม่ชอบสิว ทนเห็นสิวบนหน้าตัวเองไม่ได้ บางคนมีสิวไม่กี่เม็ดก็กลุ้มอกกลุ้มใจจนฆ่าตัวตาย ถามว่าสิวเป็นตัวการที่ทำให้ทุกข์หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ สิ่งที่ทำให้ทุกข์จริงๆ ก็คือความรู้สึกรังเกียจสิว เห็นสิวเป็นตัวเลวร้ายน่ารังเกียจที่ทำให้ตัวเองกลายเป็นคนขี้เหร่ หรือเป็นขี้ปากของเพื่อนๆ ทั้งหมดนี้ก็คือการปรุงแต่งในใจนั่นเอง พอปรุงแต่งแล้วก็ไปเอาจริงกับมัน ไปไหนมาไหน ก็คิดเป็นตุเป็นตะว่าผู้คนกำลังจับจ้องมองสิวบนหน้าตัวเอง ทั้งที่คนเหล่นั้นไม่ได้คิดอะไรอย่างนั้นเลย แต่เจ้าตัวไปคิดเอาเองว่าฉันขี้ริ้วขี้เหร่ เป็นที่เพ่งเล็งของคนต่างๆ รอบข้าง ก็เกิดความรู้สึกอับอาย น้อยเนื้อต่ำใจ หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับเรื่องนี้จนทนไม่ไหว เลยคิดสั้น นี่เป็นเพราะใจเรามีปฏิกิริยาเกินเหตุ จะไปโทษเม็ดสิวไม่ได้ มันก็เป็นแค่เหตุปัจจัยเล็กๆ เรื่องอย่างนี้เราไม่ค่อยไตร่ตรองเท่าไร ชอบไปโทษสิ่งภายนอกว่าเป็นสาเหตุ แล้วคิดจะไปจัดการกับสิ่งภายนอก แต่กลับลืมดูใจของตนเอง ความทุกข์มันก็เลยเล่นงานเรา เพราะไม่ได้จัดการกับสาเหตุที่แท้จริง ได้แก่การปรุงแต่งในใจ

    การพยายามแก้ทุกข์ด้วยการไปจัดการกับสิ่งภายนอก นอกจากจะแก้ทุกข์ไม่ได้จริงแล้ว ยังอาจเพิ่มทุกข์ขึ้นอีก เหมือนกับคนที่คิดว่าตัวเองอ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน เป็นทุกข์กับมันมาก ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้อ้วนเท่าไร แต่พอคิดว่าฉันอ้วนๆ ก็เลยทนตัวเองไม่ได้ ทีนี้ก็ไปแก้ปัญหาด้วยการกินยาลดความอ้วน แต่กินยาผิดขนาน นอกจากความอ้วนจะไม่ลดแล้ว ร่างกายกลับย่ำแย่กว่าเดิม บางทีจิตใจก็แปรปรวนเพราะยามันไปรบกวนการทำงานของสมอง กลายเป็นว่าความทุกข์กลับเพิ่มขึ้น มีบางคนที่ถึงกับฆ่าตัวตายเพราะอาการประสาทกำเริบ

    บ่อยครั้งวิธีที่เราใช้แก้ปัญหามันกลับทำให้ปัญหาหนักกว่าเดิม หรือกลายเป็นปัญหาใหม่ที่ร้ายแรงกว่าปัญหาเดิม อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเล่าเรื่องเด็กกลืนสตางค์แดงติดคอ แม่รู้เข้าก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก พอดีแม่นึกขึ้นมาได้ว่าน้ำกรดมันกัดโลหะได้ ก็เลยไปเอาน้ำกรดมากรอกปากเด็ก สตางค์ติดคอเด็กคือตัวปัญหา ถามว่า การเอาน้ำกรดกรอกปากเด็กแก้ปัญหาสตางค์ติดคอได้ไหม แก้ได้ แต่มันกลับทำให้เด็กอาการหนักกว่าเดิม สตางค์หลุดเข้าไปในคอก็จริง แต่ว่าเด็กกลับตายเพราะน้ำกรด เวลาเราเจอปัญหา ถ้าเราไม่ระวัง วิธีการที่เราใช้แก้ปัญหากลับกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง หรือสร้างปัญหาที่หนักกว่าเดิม

    บางคนเป็นโรคนิดๆ หน่อยๆ แต่ไปกินยาหรือใช้วิธีรักษาบางอย่าง ซึ่งแม้จะรักษาโรคนั้นได้ แต่กลับทำให้เป็นโรคใหม่ที่หนักกว่าเดิม บางคนเป็นมะเร็ง ก็ทุกข์มากอยู่แล้ว แต่พอไปรักษาด้วยวิธีการบางอย่าง เช่น ฉายแสงบ้าง เคมีบำบัดบ้าง กลับมีผลข้างเคียงที่ทำให้อาการย่ำแย่กว่าเดิมก็มี จนน่าสงสัยว่าอะไรคือตัวปัญหามากกว่ากัน ระหว่างก้อนมะเร็งกับวิธีการรักษา บางคนทุกข์หนักกว่าเดิมเพราะวิธีการรักษา โรคมะเร็งถ้าหากวางใจให้เป็น เกี่ยวข้องกับมันให้ถูก ก็อยู่กับมันได้ ไม่ทุกข์ร้อนมากนัก มีเพื่อนหลายคนที่บอกว่าอยู่ร่วมกับมันได้อย่างสันติ ก้อนมะเร็งยังมีอยู่แต่มันระงับไปชั่วคราว ไม่ใช่เพราะเคมีบำบัดหรือฉายแสง แต่เป็นเพราะว่ากินอาหารอย่างได้สมดุล ออกกำลังกาย และรักษาใจไม่ให้เครียด ทำให้เกิดสมดุลระหว่างกายกับใจ มะเร็งก็ไม่ลุกลาม มันยังอยู่ในร่างกายแต่เจ้าตัวไม่ทุกข์ร้อนอะไร ถือว่าต่างคนต่างอยู่ก็แล้วกัน มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไป ยอมรับมันได้

    ถ้ายอมรับมันไม่ได้ก็เกิดความวิตกกังวล กลุ้มอกกลุ้มใจ จนกระทั่งทำอะไรไม่ถูก ถึงกับกินไม่ได้นอน ไม่หลับ ซึมเศร้าทั้งวัน ถามว่าอาการซึมเศร้า กินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นผลจากก้อนมะเร็งในตัวหรือเปล่า หรือเป็นเพราะจิตใจเราที่วิตกกังวลเกินเหตุ ปรุงแต่งต่างๆ นานา ว่าฉันต้องตายแน่ แล้วใครจะดูแลลูกของฉัน แล้วกิจการของฉันล่ะ แล้วถ้าฉันป่วยหนักใครจะมาดูแลฉัน ฉันจะต้องตายคนเดียวหรือเปล่า พอคิดปรุงแต่งตีตนไปก่อนไข้อย่างนี้ ก็ต้องทุกข์แน่นอน อาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลจากก้อนมะเร็ง แต่เกิดจากจิตใจของเจ้าตัวเอง นี่เป็นเรื่องที่ต้องแยกแยะกันให้ได้

     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)

    พระพุทธองค์ตรัสว่า “เมื่อมือไม่มีแผล บุคคลย่อมจับต้องยาพิษได้ ยาพิษไม่สามารถทำอันตรายได้” แต่ถ้ามือมีแผล จับต้องยาพิษเมื่อใดก็อาจเป็นอันตรายถึงตาย หมายความว่าสิ่งภายนอกทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าหากเราเองไม่เปิดช่องให้มัน ดังนั้นจะไปโทษปัจจัยภายนอกไม่ได้ แต่ต้องดูที่ตัวเราเองด้วย ปัจจัยภายนอกอาจหมายถึง เพื่อนร่วมงาน ดินฟ้าอากาศ ทรัพย์สินเงินทอง ไปจนถึงโรคภัยไข้เจ็บก็ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราทุกข์หรือไม่ขึ้นอยู่ที่ใจของเราว่าเปิดช่องให้มันหรือเปล่า หรือไปซ้ำเติมผสมโรงให้เป็นทุกข์หนักกว่าเดิมหรือเปล่า


    ที่จริงต้องขยายเพิ่มเติมด้วยว่า อย่าว่าแต่ยาพิษเลย แม้สิ่งที่ไม่มีพิษมีภัยอะไร แต่ถ้าเราเองตื่นเต้นตูมตามหรือมีปฏิกิริยาเกินเหตุ ก็ทำให้เราทุกข์หนักได้เหมือนกัน อย่างคนบางคนเจอเกสรดอกไม้ เจอฝุ่นธรรมดา ก็ป่วยแล้ว ที่ป่วยไม่ใช่เพราะเกสรหรือฝุ่น เพราะมันไม่มีพิษภัยอะไร แต่เป็นเพราะปฏิกิริยาในร่ากายของเรามันตื่นตัวเกินเหตุ เลยเกิดอาการแพ้ จนล้มป่วย ก็เหมือนกับตัวอย่างเมื่อกี้ สิวจะทำให้เราทุกข์จนกินไม่ได้นอนไม่หลับหรือไม่ อยู่ที่ใจของเรา ไม่ได้อยู่ที่เม็ดสิว การที่เราปฏิเสธ ไม่พอใจ หมกมุ่นครุ่นคิดกับมัน ก็คือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์

    อย่าว่าแต่ยาพิษ หรือสิ่งที่ไม่มีพิษมีภัยอะไร แม้แต่สิ่งดีๆ ที่ใครๆ ก็อยากได้ เช่น เงินทอง โชคลาภ ชื่อเสียง ความสะดวกสบาย ถ้าเราเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็นก็กลายเป็นโทษได้ เช่น เพลิดเพลินกับมันจนลืมตัว กลายเป็นคนหยิบโหย่ง ประมาทมัวเมา หรือหลงใหลในอบายมุข จนเสียผู้เสียคน อย่างที่เรามักเห็นได้จากคนที่รวยเพราะขายที่ได้หรือเพราะถูกรางวัลที่ ๑ หรือที่ใครๆ เรียกว่า ‘สามล้อถูกหวย’ แม้กระทั่งนักกีฬาที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกหลายคนได้เงินเป็นสิบ ๆ ล้านบาท แต่สุดท้ายก็กลับเป็นหนี้เป็นสิน เสียผู้เสียคนไป

    จะว่าไปแล้ว แม้แต่สิ่งที่ประเสริฐ เช่นชีวิตพรหมจรรย์ หรือสมณเพศ ก็อาจกลายเป็นโทษได้หากเราวางใจไม่ถูก มีพุทธพจน์ว่า “หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือฉันใด ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดีย่อมฉุดลงนรกได้ฉันนั้น” ที่ฉุดลงนรกก็เพราะไปเพลิดเพลินกับลาภสักการะ ก็เลยใช้เพศสมณะในทางหลอกลวงต้มตุ๋นผู้คน อวดอ้างคุณวิเศษที่เรียกว่าอุตตริมนุสสธรรมโดยไม่มีในตนบ้าง เอาไสยศาสตร์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาล่อให้คนหลงบ้าง คนที่ทำเช่นนี้ถ้าเป็นสมณะย่อมได้รับโทษหนัก ที่จริงไม่ต้องถึงกับไปต้มตุ๋นผู้คนก็ได้ เพียงแค่ไปยึดติดกับข้อวัตรหรือระเบียบวินัยจนเป็นทุกข์ เพราะทำอะไรก็รู้สึกผิดไปหมด มีราคะเกิดขึ้นในใจ ก็เป็นทุกข์ว่าเป็นพระทำไมถึงคิดอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่มันเป็นธรรมดาของจิตที่เป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้น ก็รู้ว่ามันเกิด แต่อย่าไปเพลินกับมัน และไม่ต้องไปตีอกชกหัวตัวเอง ขืนทำอย่างนั้นใจก็เหมือนกับตกนรกแล้ว

    ขนาดชีวิตที่สูงส่ง เช่น สมณเพศ หรือชีวิตพรหมจรรย์ ถ้าเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็นก็ลงนรกหรือรุ่มร้อนใจได้ นับประสาอะไรกับเงินทอง หรือความสะดวกสบาย ถ้าเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็นก็เดือดร้อน มีพุทธพจน์ตรัสอีกว่า “โภคทรัพย์เป็นของเผ็ดร้อน ย่อมทำลายผู้มีปัญญาทราม แต่ทำอะไรผู้ที่มีปัญญาไม่ได้” ผู้ที่มีปัญญาคือผู้ที่รู้เท่าทันหรือเห็นโทษของโภคทรัพย์ จึงไม่ประมาทเวลาเกี่ยวข้องกับมัน ก็เปรียบเสมือนมือที่ไม่มีแผล จับต้องยาพิษได้โดยไม่เป็นอันตราย โภคทรัพย์บางทีก็ไม่ต่างจากยาพิษ แม้จะมีโทษ แต่เราก็จับต้องมันได้หากมือไม่มีแผล หมายถึงใจมีสติและปัญญาเป็นเครื่องรักษา

    หลวงพ่อท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่าลิงมีนิสัยอย่างหนึ่งเกลียดกะปิมาก ใครเอากะปิไปถูกตัวมันหรือหลอกให้มันจับกะปิ มันจะเอามือถูกับพื้น ถูแล้วถูอีก แล้วก็เอามือมาดมว่ากะปิหายไปแล้วยัง ถ้าไม่หายก็ถูต่อ ถูจนเลือดไหลซิบๆ แต่ก็ไม่หยุดถูหากกลิ่นกะปิยังมีอยู่ ดูแล้วน่าสงสาร ถามว่าที่เลือดไหลเป็นเพราะกะปิหรือเป็นเพราะความเกลียดกะปิของลิง กะปิมีกลิ่นแรงก็จริง แต่ก็ไม่มีทางทำให้ใครเลือดไหลได้ ที่ลิงเลือดไหลก็เพราะเอามือไปถูกับพื้นต่างหาก และที่ถูก็เพราะเกลียดกะปินั่นเอง เห็นไหมว่า ความเกลียดกะปิมันทำให้ลิงเป็นทุกข์ยิ่งกว่ากะปิด้วยซ้ำ พูดอีกอย่างคือกะปิไม่ทำให้ทุกข์มากเท่ากับใจที่เกลียดกะปิ ยิ่งเอามือไปถูมันจนเลือดไหล ก็เท่ากับชี้ว่า วิธีแก้ปัญหาบางครั้งก็เลวร้ายกว่าตัวปัญหาเสียอีก

    กะปิไม่ใช่ปัญหา ความเกลียดกะปิต่างหากที่เป็นปัญหา ในทำนองเดียวกัน คำตำหนิ ความเจ็บป่วย ความสูญเสียพลัดพราก ก็ไม่ใช่ตัวปัญหา แต่ใจที่ไม่ยอมรับความจริง ปฏิเสธ ต่อต้านขัดขืนสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นตัวปัญหา เราสังเกตอีกไหมว่า ทั้งๆ ที่ลิงเกลียดกะปิมาก แต่พอเอามือถูพื้นแล้ว มันอดไม่ได้ที่จะดมกะปิที่มือ ยิ่งเกลียด ก็ยิ่งดม อย่างนี้เรียกว่าติดยึด เราไม่ได้ติดยึดกับสิ่งที่ชอบเท่านั้น สิ่งที่ไม่ชอบเราก็ติดยึดและไม่ยอมวางเช่นกัน

    ความชังก็เป็นความติดยึดแบบหนึ่ง เราชังสิ่งใดเราก็ชอบครุ่นคิดถึงสิ่งนั้น เราโกรธใครก็ชอบคิดถึงคนนั้น ยิ่งเกลียด ก็ยิ่งนึกถึงเขา กินก็คิด นอนก็คิด ใครมาบอกให้ลืมก็ไม่ยอม ใครมาบอกให้ให้อภัย ก็ไม่ยอม ทั้งๆ ที่ใจก็อยากจะผลักไสออก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเอามาครุ่นคิด จนกระทั่งกินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นการติดยึดที่รุนแรงยิ่งกว่าการยึดติดคนรักหรือของที่ถูกใจเราเสียอีก ของที่เราชอบเราไม่ค่อยเก็บเอามาคิดทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ของที่เราเกลียดเรากลับผูกจิตไว้กับมันอย่างแนบแน่นไม่วางไม่คลาย ความยึดติดนี้พุทธศาสนาเรียกว่าอุปาทาน เป็นตัวการแห่งทุกข์ นำไปสู่ความทุกข์ และเป็นตัวทุกข์ด้วย

    คำว่าทุกข์ในพุทธศาสนา บางทีก็แปลว่าความไม่สบายกายไม่สบายใจ บางทีก็หมายถึงสภาวะทุกข์ สภาวะที่ขัดแย้ง หรืออยู่ภายใต้การบีบคั้น อย่างที่ในบทสวดมนต์มีตอนหนึ่งว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ หมายความว่าขันธ์ ๕ นั้นตัวมันเองเป็นทุกข์ อยู่ในภาวะที่ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นอกจากไม่เที่ยงและเสื่อมแล้ว ยังนำไปสู่ความทุกข์ด้วยหากเราไปยึดติดมัน อุปาทานนั้นทำให้จิตเราไม่ยอมรับความเป็นจริง แต่จะพยายามเข้าไปบงการสิ่งต่างๆ ถ้าชอบก็อยากได้ไว้ในครอบครอง ถ้าไม่ชอบก็อยากผลักไส ทำลายมัน แต่ถ้ามันยังอยู่ดี สบายดี เราก็ยิ่งโมโห เกิดโทสะ และเป็นทุกข์ พยายามครุ่นคิดหาทางผลักไสมันให้หนักขึ้น ก็เลยทุกข์หนักกว่าเดิม

    เพราะฉะนั้นเวลาเรามีความทุกข์ แทนที่จะไปโทษสิ่งนอกตัว เราควรย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเป็นเพราะเราไปยึดติดกับมัน จนทำให้เกิดปฏิกิริยาเกินเหตุหรือเปล่า เพื่อนร่วมงานอาจพูดถึงเราด้วยความรู้สึกธรรมดา แต่เราไปคิดปรุงแต่งว่าเขาไม่พอใจเรา เขาไม่ทักเรา เราก็ไปคิดว่าเขาโกรธเรา ทั้งๆ ที่เขาอาจมองไม่เห็นเราก็ได้ หรือเขาอาจกำลังมีความทุกข์อยู่ในใจก็ได้ ถ้าเราหันมามองตัวเองบ้าง เราก็อาจพบว่าปัญหาอยู่ที่ใจของเราเองที่ปรุงแต่งเกินเหตุ

    คนที่แพ้เกสรดอกไม้ หรือแพ้ฝุ่นละอง วิธีแก้ก็คือกินยาเพื่อกดภูมิคุ้มกัน หรือทำให้มันปราดเปรียวว่องไวน้อยลง หรือทำให้ประสาทตื่นตัวช้าลง นั่นเป็นเรื่องของกาย แต่ในเรื่องของจิตใจ สิ่งที่ทำให้ใจหายตื่นเต้นตูมตามหรือมีปฏิกิริยาเกินเหตุก็คือสติ เราแพ้อะไร เรากลัวอะไร เราไปติดยึดกับอะไรจนเกินเหตุ ก็ต้องจัดการด้วยการมีสติให้มากๆ ไม่มีอะไรที่จะดีกว่าสติ สติช่วยให้ใจนิ่งลง ปล่อยวางได้มากขึ้น ไม่วิตกกับสิ่ง
    ต่างๆ จนเกินเหตุ แม้จะเกิดโทสะ แต่เมื่อมีสติ ก็จะวางมันลงได้ แทนที่จะปรุงแต่งไปในทางที่ทิ่มแทงทำร้ายตัวเอง ก็วางใจเป็นกลาง ๆ เห็นมันเป็นธรรมดา หรือเป็นเช่นนั้นเอง ใครตำหนิ แทนที่จะโกรธ สติก็ช่วยให้ใจไม่โกรธง่ายๆ ปล่อยวางได้เร็วขึ้น นอกจากทำให้ใจนิ่งได้แล้ว ยังช่วยให้มองในทางบวกได้ด้วย เช่น มองว่าที่เขาตำหนิก็ดีนะ ทำให้เราเห็นในสิ่งที่มองข้ามไป มีคนบอกว่าปรปักษ์หรือศัตรูมีประโยชน์ตรงที่ช่วยให้เราเห็นความจริงอีกด้านหนึ่งของเราที่เพื่อนๆ ไม่เคยบอกเรา มองแง่นี้เราก็ได้ประโยชน์จากศัตรู จึงไม่ควรรังเกียจ ผลักไส หรือปิดหูปิดใจไม่รับฟังเขา
    :- https://visalo.org/article/dhammamata02.htm


     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    เอาชนะความกลัว
    พระไพศาล วิสาโล
    สิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะผู้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส ก็คือความเบื่อ ความเบื่อเป็นอารมณ์ที่นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากประสบ และทำให้เกิดความท้อแท้ในการปฏิบัติ ความเบื่อเกิดขึ้นเพราะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จำเจ หรือถึงแม้ว่าจะไม่จำเจเพราะเพิ่งมาได้แค่ ๑-๒ วัน แต่ต้องอยู่ในอิริยาบถเดิม ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ที่สำคัญก็คือไม่มีสิ่งเร้า ไม่มีอารมณ์ใหม่ ๆ ที่จะให้เสพ เพราะถ้าไม่ปฏิบัติก็คงจะไปเที่ยว ไปพูดคุย หรือสมัยนี้ถึงแม้จะอยู่คนเดียวก็สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนผ่านอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก หรือเล่นเกมเพื่อเพิ่มความสนุก ความตื่นเต้น ความแปลกใหม่ให้กับชีวิต

    คนสมัยนี้เบื่อง่าย และรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับความเบื่อมาก ยิ่งมาปฏิบัติ อยู่กับอิริยาบถเดิม ๆ สถานที่เดิม ๆ บางทีแค่ ๑๕ นาทีก็เบื่อแล้ว เพราะว่าสิ่งเสพ สิ่งกระตุ้น เดี๋ยวนี้มันมาทุก ๑๐ วินาที ทุก ๓๐ วินาที แม้กระทั่งดูโทรทัศน์เดี๋ยวนี้ก็มีการเปลี่ยนภาพ เปลี่ยนช็อตอยู่ทุก ๕ วินาที ไม่ค่อยมีภาพที่แช่นานถึง ๑๐ วินาที ภาพมันเปลี่ยนเร็วมาก ไม่ว่าหนังหรือโฆษณา เราจึงคุ้น จนกระทั่งติดกับภาพและเสียงที่แปรเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ พอมาปฏิบัติ ไม่ว่าในวัดหรือในสำนักก็ตาม พอเจออารมณ์เดิม ๆ อิริยาบถเดิม ๆ แค่ ๑๕ นาทีก็กระสับกระส่ายแล้ว

    ที่จริงแล้วถ้ามองให้ดี ความเบื่อนั้นมีประโยชน์ เป็นของดี เพราะมันแสดงว่าชีวิตเราในเวลานั้นไม่มีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น เพราะถ้าหากมีคนมาต่อว่าด่าทอเรา เราก็คงจะไม่รู้สึกเบื่ออีกต่อไป เราจะมีแต่ความโกรธมาแทน หรือถ้าเกิดของหาย เงินหาย โทรศัพท์หาย ก็จะไม่มีความเบื่อแล้ว แต่จะมีความเสียใจหรือความเสียดายมาแทน หนักกว่านั้นถ้าเกิดคนที่เรารักจากไป ไม่ต้องถึงกับจากตาย แค่จากเป็น เช่น คนรักทิ้งเราไป ถามว่าเราจะเบื่ออีกหรือไม่ เราไม่เบื่อแล้ว แต่เราจะเศร้าโศกเสียใจ อกหัก คับแค้น ยิ่งถ้าคนรักจากตายด้วยแล้ว คือหายไปจากโลกนี้เลย ความโศกเศร้าก็จะท่วมท้นใจ

    เห็นไหมว่า ความเบื่อนั้นเป็นเรื่องดี มันแสดงว่าชีวิตเราราบเรียบ ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีความสูญเสียให้ต้องเศร้าใจ ไม่มีใครต่อว่าด่าทอให้ต้องโกรธแค้น ไม่มีความเจ็บความป่วยให้ต้องกังวล ไม่มีความหิวโหยให้ต้องดิ้นรน กระสับกระส่าย ความเบื่อเป็นสัญญาณว่าชีวิตเราราบรื่น ไม่มีเหตุร้าย แต่คนเรามักจะไม่มองอย่างนั้น เพราะมัวคิดถึงแต่ความสนุกสนาน ความตื่นเต้น พอมีความเบื่อเกิดขึ้นก็ไม่เอาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ความเบื่อนี่แหละเป็นสัญญาณว่าชีวิตเรา ราบรื่น ปกติ ปัญหามีอยู่แค่ว่ามันราบรื่นนานไปหน่อย เลยไม่น่าตื่นเต้น แต่ก็ยังดีกว่ามีความโกรธ มีความเสียใจ หรือความเศร้าเกิดขึ้นแทน เราอยากจะได้แบบนั้นหรือไม่ ถ้าไม่เอาความเบื่อแต่เจอความเศร้า ความเสียใจ ความคับแค้น ความเครียด ความหงุดหงิด เราจะเอาไหม

    ดังนั้นความเบื่อจึงถือว่าแย่น้อยที่สุดแล้วในบรรดาอารมณ์แย่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเรา ยิ่งกว่านั้น มองให้ดีความเบื่อเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ทำไมถึงพูดเช่นนั้น ก็เพราะความเบื่อเกิดจากการทำอะไรซ้ำ ๆ ชีวิตเราต้องทำซ้ำ ๆ ถึงจะเกิดการเรียนรู้ เกิดการพัฒนา การที่เราเขียนหนังสือเป็นตัว ก็เพราะเราถูกสอน ถูกบังคับ หรือถูกเคี่ยวเข็ญให้ต้องเขียนเป็นพัน เป็นหมื่นครั้ง กว่าจะเขียนได้คล่องและสวย และสามารถประสมเป็นคำ เป็นประโยคได้ ภาษาต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน การที่เรามีความรู้ มีทักษะ ก็เพราะเราทำอะไรซ้ำ ๆ กัน แค่คำคำเดียวก็ท่องแล้วท่องอีก จนกระทั่งจำขึ้นใจ แม้กระทั่งในฝันก็ยังนึกหรือพูดเป็นภาษาอังกฤษได้ หรือสามารถฟังฝรั่งพูดได้อย่างเข้าใจแม้กระทั่งในความฝัน นั่นเป็นเพราะเราทำอะไรซ้ำ ๆ

    ที่จริงถ้าหัวใจเราไม่เต้นซ้ำ ๆ กัน เราก็ตายไปแล้ว เราหายใจเข้า หายใจออก วันละไม่รู้กี่หมื่นครั้ง ซ้ำไปซ้ำมา เราเป็นหนี้ของการทำอะไรซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ความรู้ หรือความเจริญก้าวหน้าทางธรรมะ ก็ต้องอาศัยการทำซ้ำ ๆ กัน ซึ่งอาจจะมีความเบื่อเกิดขึ้นแต่ก็ชั่วคราว พอเราทำคล่องแล้วก็จะเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำให้ชีวิตเราเจริญงอกงามเพราะฉะนั้น ใครที่เจอความเบื่อในการปฏิบัติธรรม ขอให้ตระหนักว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ที่จริงแล้วมีอารมณ์ที่น่ากลัว หรือสร้างปัญหาให้กับเรามากกว่าความเบื่อมากมาย นอกจากความโศกเศร้าเสียใจ ความโกรธ ความพยาบาทแล้ว อีกอารมณ์หนึ่งที่ยิ่งกว่าความเบื่อก็คือความกลัว

    ความกลัวนั้นเมื่อครอบงำใจ เราถึงจะรู้ว่าเบื่อดีกว่า ความกลัวทำให้คนเราไม่ยอมพัฒนาตน ไม่ยอมเจอสิ่งใหม่ ๆ ยอมที่จะอยู่กับสิ่งซ้ำ ๆ จำเจที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยมั่นคง หลายคนอยากไปสัมผัสธรรมชาติ อยากเห็นภูเขา ทะเล แม่น้ำ หรือเห็นต้นน้ำบนภูเขาสูง แต่พอนึกขึ้นได้ว่าจะต้องไปนอนกลางดิน กินกลางทราย กลัวลำบาก ก็เลยไม่ไป อยู่บ้านดีกว่า คนสมัยนี้กลัวลำบากกันมาก เจอความลำบากนิดหน่อยก็ยอมแพ้ ไม่เอาแล้ว จึงขาดโอกาสที่จะได้สัมผัสกับสิ่งที่เป็นความแปลกใหม่ แต่มีประโยชน์ จึงปล่อยให้ชีวิตจำเจลงร่อง ความจำเจโดยตัวมันเองไม่เป็นปัญหาเท่าไร เป็นปัญหาต่อเมื่อทำให้ขาดการเรียนรู้ ขาดประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยเปิดหูเปิดตาของเรา

    บางคนอยากมาปฏิบัติธรรม แต่พอรู้ว่าต้องมาอยู่ในป่าที่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ และต้องอยู่ท่ามกลางความมืด อาจจะเจอตุ๊กแก ยุง หรือแมลง ก็ถอยกรูดไปเลย เพราะอะไร เพราะกลัวลำบาก กลัวตุ๊กแก กลัวแมลง กลัวความมืด กลัวสารพัด สุดท้ายก็เลยไม่มีโอกาสที่จะได้ทำสิ่งที่ดี ๆ หรือได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่า

    นักธุรกิจหลายคนอยากจะทำอะไรที่แปลกใหม่ แต่กลัวล้มเหลว จึงจำยอมต้องทำสิ่งซ้ำ ๆ เดิม ๆ ทั้ง ๆ ที่เบื่อก็เบื่อ แต่เนื่องจากกลัวความล้มเหลว จึงไม่กล้าทำอะไรใหม่ บางคนอยากเป็นศิลปิน แต่กลัวว่าจะเป็นศิลปินไส้แห้ง ก็เลยเลือกเรียนวิชาที่สามารถหาเงินได้ง่าย เอาความมั่นคงทางด้านวัตถุไว้ก่อนเพราะกลัวลำบาก จึงไม่ได้ทำสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันของตัว จะเห็นได้ว่าคนเรานั้นสร้างกรอบจำกัดตัวเอง หรือสร้างคุกขังตัวเองในนามของความกลัว ความกลัวที่กลายเป็นกรอบขังเราเอาไว้ ทำให้เราไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะใส่ใจมากกว่า ไม่ใช่ความเบื่อ แต่ได้แก่ความกลัว ซึ่งเป็นตัวอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถจะพัฒนาตนให้เจริญก้าวหน้าได้

    เรื่องแบบนี้ ผู้ใหญ่สู้เด็กไม่ได้ เด็กจะไม่ค่อยกลัว แม้ยังเดินไม่เป็น ยืนไม่ได้ แต่เขาก็พยายามยืน พยายามเดิน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ายืนแล้วก็จะล้ม แต่เขาก็ไม่กลัว ไม่เข็ด เขาพยายามยืนขึ้นมาให้ได้ แล้วก็พยายามเดิน ล้มแล้วก็ลุก ทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งเดินเป็น ถ้าเด็กกลัวก็จะไม่มีทางพัฒนาจากการคลาน เป็นการยืน และเดินได้ แต่เด็กไม่กลัว เมื่อไม่กลัวก็กล้าเสี่ยง เมื่อเสี่ยงก็ทำให้เด็กสามารถเดินได้ เด็กเหล่านั้นก็คือเราในวันนี้นั่นเอง แต่ความกล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ กล้าที่จะลองผิดลองถูก พอโตขึ้นก็จะค่อย ๆ หายไป เมื่อจะมาปฏิบัติธรรมก็เลยกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะติดอยู่กับความสะดวกสบาย ชีวิตจึงยากที่จะพัฒนาได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัญหามากกว่าคือความกลัว สิ่งที่เราต้องจัดการให้ได้ก็คือความกลัว
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    ที่จริงแล้วสิ่งที่เรากลัวมันไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัว ฟังดูงงหรือไม่ สิ่งที่เรากลัวคืออะไร เช่น บางคนกลัวความมืด แต่ความมืดมันก็ไม่ได้น่ากลัวเท่ากับความกลัวมืด ถ้าเรายังกลัวความมืดอยู่เราก็จะไม่กล้านอนคนเดียว ถ้านอนคนเดียวก็จะคิดปรุงแต่งในทางเลวร้ายน่ากลัว ทั้ง ๆ ที่ความมืดนั้นไม่มีอันตรายอย่างใดเลย ความมืดส่วนใหญ่จะปลอดภัย โดยเฉพาะความมืดที่วัด แต่เพราะกลัวความกลัวเราจึงนอนกระสับกระส่าย กิ่งไม้ตกก็ตกใจ ได้ยินเสียงตุ๊กแกร้องก็ผวา หนูเดินรอบกุฏิก็กลัวจนนอนไม่หลับ บางทีก็ปรุงแต่งไปนึกถึงผีขึ้นมา ความกลัวมืดนั้นเองทำให้เรานอนไม่หลับ ไม่ใช่ความมืด

    โรคภัยไข้เจ็บก็เช่นกัน มะเร็งไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวมะเร็ง หลายคนเป็นมะเร็งแต่ก็มีความสุข ใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ถ้ากลัวมะเร็งเสียแล้ว แม้จะยังไม่เป็นมะเร็งก็ทุกข์แล้ว บางคนไปหาหมอ หมอบอกว่าขอตรวจชิ้นเนื้อหน่อย พอได้ยินหมอพูดอย่างนี้ เขาก็ผวาแล้ว ยิ่งหมอบอกว่าอีก ๓ วันมาฟังผล กลับบ้านไปก็นอนไม่หลับเลย กระสับกระส่าย ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นอาจจะไม่เป็นมะเร็งด้วยซ้ำ แต่พอกลัวมะเร็งแล้วก็มีอาการเพียบหนักยิ่งกว่าคนเป็นมะเร็งเสียอีก ดังนั้น ๓ วันที่รอคำตอบจากหมอจึงเหมือนตกนรก ต่อเมื่อหมอบอกว่าคุณไม่เป็นอะไร จึงโล่งอก

    มีนักธุรกิจคนหนึ่ง เล่นเทนนิสเป็นประจำ วันหนึ่งไปตรวจสุขภาพประจำปี หมอบอกว่าคุณหัวใจรั่วนะ เขาตกใจมาก เพราะในความเข้าใจของเขา หัวใจรั่วคือหัวใจเป็นรูรั่ว เวลาหัวใจเต้นเลือดก็จะพุ่งออกมา แบบนี้ก็ต้องตายนะสิ ที่จริงหมอตั้งใจจะบอกว่าเขามีลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งก็ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ยังเล่นกีฬาได้ เพียงแต่ต้องรักษา ไม่ถึงกับว่าจะต้องตายสถานเดียว แต่พอเขาวาดภาพในใจ หรือปรุงแต่งในทางลบว่าเป็นหัวใจรั่ว ต้องตายแน่ ๆ ใจก็ทรุด ผ่านไป ๒ วันเท่านั้นเขาก็ต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่กี่วันก็ต้องเข้าห้องไอซียู แล้วก็เสียชีวิตในที่สุด ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เป็นอะไรมาก เพียงแค่ลิ้นหัวใจรั่ว แต่ด้วยความกลัวตาย แถมมีการปรุงแต่งในทางลบ จึงทำให้ร่างกายทรุด ยิ่งไม่ยอมปล่อยวาง ร่างกายก็ทรุดหนักจนตาย มีหลายคน พอหมอบอกว่าคุณเป็นมะเร็งนะ แค่นี้ก็ทรุดเลย ทั้ง ๆ ที่อาจไม่ได้เป็นอะไรเลย หมออาจจะวินิจฉัยผิด เขาไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่ความที่กลัวมะเร็งและกลัวตาย ก็ทำให้อาการทรุดทันที เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรกลัวนั้นไม่ใช่อะไรเลย แต่คือความกลัวในใจเรานั่นเอง นี้ต่างหากเป็นสิ่งที่เราควรจัดการ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกตัว

    ทีนี้จะจัดการกับความกลัวได้อย่างไร วิธีที่จะจัดการกับความกลัวนั้นไม่ใช่การคิดเอา ไม่ใช่การใช้เหตุผลว่าไม่มีอะไรน่ากลัว เหตุผลมักจะช่วยไม่ค่อยได้ สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือการเผชิญกับสิ่งที่เรากลัว เรากลัวอะไร ต้องเข้าไปเผชิญกับสิ่งนั้น ถ้าเรากลัวความมืดก็ต้องเข้าไปเผชิญกับความมืด ถึงจะหายกลัว พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าในสมัยที่พระองค์ยังทำความเพียรเพื่อการพ้นทุกข์ พระองค์มีความกลัวมากเมื่ออยู่ป่า กลัวจนขนลุกชูชัน ท่านทำอย่างไรเพื่อระงับความกลัว ท่านพบว่าถ้ากลัวตรงไหนให้ไปตรงนั้น กลัวในอิริยาบถไหนก็ให้อยู่ในอิริยาบถนั้น เช่น กลัวเวลานั่ง ก็ให้นั่ง กลัวเวลายืน ก็ให้ยืน ถ้ากลัวขณะที่เดิน ก็ให้เดิน กลัวตรงไหนไปตรงนั้น เรียกว่าเผชิญหน้ากับมัน พระองค์พบว่านี่เป็นวิธีจัดการกับความกลัวได้ดีที่สุด

    พอไปอยู่ตรงที่ที่เรากลัว ก็จะพบว่ามันไม่มีอะไรน่ากลัวเลย เมื่อกลัวเวลานั่ง ก็ลองนั่งดู ก็จะพบว่ามันไม่มีอะไรที่น่ากลัว ความกลัวนั้นเกิดจากใจที่ปรุงแต่งไปเอง แต่พอเจอของจริงเข้า ก็พบว่ามันไม่ได้น่ากลัวหรือเลวร้ายอย่างที่นึก ความกลัวก็หายไปเพราะมีปัญญาเห็นความจริงว่ามันไม่ได้มีอะไรที่น่ากลัว เรื่องนี้ตรงกับที่มารี คูรี นักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์ที่มีชื่อเสียงและเก่งมาก ได้รับรางวัลโนเบลถึง ๒ ครั้ง เธอบอกว่า “ในชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่น่ากลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ” คือพอเข้าใจแล้วก็จะหายกลัว ความเข้าใจนั้นไม่ได้เกิดจากการคิดเอา แต่เกิดจากการได้สัมผัสหรือประสบด้วยตัวเอง จึงจะรู้ว่ามันไม่ได้น่ากลัว

    มีบางคนเป็นนักธุรกิจ แต่กลัวที่จะทำอะไรใหม่ ๆ เพราะกลัวล้มเหลว ก็เลยไปลงทุนเฉพาะกิจการที่มีความมั่นคง ซึ่งเขาไม่ได้รู้สึกสนุกแต่อย่างใด เพียงแต่แน่ใจว่าจะไม่ขาดทุน แต่จะมีธุรกิจไหนที่มีความมั่นคง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีหรอก ปรากฏว่าในที่สุดก็เจอดี ธุรกิจที่ตัวเองคิดว่ามั่นคงที่สุดก็ยังล้มเหลว ขาดทุน แทบจะต้องล้มเลิกกิจการไปเลย สิ่งที่เขากลัวว่าจะเกิดก็เกิดขึ้นจริง แต่พบว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตนเคยคิด โลกไม่ได้ถล่ม ฟ้าไม่ได้ทะลาย พอได้สัมผัสกับความล้มเหลวและรู้ว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เขาก็ไม่กลัวความล้มเหลวอีกต่อไป ตอนหลังเขาจึงกล้าเสี่ยงทำอะไรใหม่ ๆ กล้าลงทุนในกิจการที่ยังไม่มีใครทำ กลายเป็นว่าการทำธุรกิจกลายเป็นเรื่องสนุก มีชีวิตชีวา และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นหัวใจของการจัดการกับความกลัว ก็คือต้องกล้าเผชิญหรือทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่เรากลัว
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    เช่นเดียวกับความตายซึ่งคนส่วนใหญ่กลัวมาก ผู้คนมากมายไม่อยากนึกถึงความตาย จึงมีชีวิตเหมือนคนลืมตาย คือพยายามทำตัวให้วุ่น ทำใจไม่ให้ว่าง เวลาใครพูดถึงความตายขึ้นมาก็ผวา ไม่อยากให้พูด เมื่อกลัวตายก็เลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้หรือทำความรู้จักกับความตาย กลัวตายอยู่นั่นแหละ พอรู้ว่าตัวเองเป็นโรคร้าย เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ก็เลยมีชีวิตเหมือนคนตายทั้งเป็น อยู่แบบตายทั้งเป็น มีลมหายใจก็จริงแต่ไม่มีชีวิตชีวา ทั้ง ๆ ที่อาจจะเป็นมะเร็งแค่ระยะที่ ๑ หรือ ๒ เท่านั้นเอง แต่เหมือนคนตายไปแล้ว นี่ไม่ใช่เพราะมะเร็ง แต่เป็นเพราะความกลัวมะเร็งและความกลัวตาย

    มีภาษิตว่า “คนกล้าตายครั้งเดียว คนขลาดตายหลายครั้ง” คนขลาดหากเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย นึกถึงความตายเมื่อไรก็ทุกข์ทรมานเหมือนกับตายไปแล้ว วันหนึ่ง ๆ จึงตายหลายครั้ง คืออยู่เหมือนตาย และถ้าตายจริง ๆ เมื่อไรก็ตายด้วยความทุรนทุราย คนเราทุกคนต้องตาย หนีความตายไม่พ้น ดังนั้นจึงควรพยายามทำความคุ้นชินกับความตาย เมื่อวาระสุดท้าย จะได้ไม่ตื่นตกใจ

    อย่างที่พูดไว้ข้างต้น กลัวอะไรก็ตาม ต้องเข้าไปเจอสิ่งนั้น ถึงจะหายกลัว กลัวความมืดต้องเข้าไปเจอความมืด กลัวความล้มเหลวต้องยอมเจอความล้มเหลวบ้าง กลัวลำบากก็ต้องไปเจอความลำบากบ้าง แล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่คิด ในทำนองเดียวกัน ถ้ากลัวความตาย ก็ควรพยายามเจอหรือทำใจให้คุ้นชินกับมันบ้าง นี่คือเหตุผลที่พระพุทธเจ้าแนะนำให้เราเจริญมรณสติอยู่เสมอ การเจริญมรณสติคือการระลึกถึงความตายว่าสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา แม้ว่ามรณสติเป็นเพียงการคิดถึงความตาย ยังไม่ได้เจอเอง แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะคนเราตายครั้งเดียว ก่อนที่จะตายก็จะต้องซ้อมตายเอาไว้ก่อน

    นอกจากการเจริญมรณสติแล้ว เราควรมีโอกาสใกล้ชิดความตายได้ เช่น ไปเยี่ยมคนที่กำลังจะตาย เป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาล ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยให้เรากลัวตายน้อยลง และเราจะพบว่าบางคนตายอย่างสงบเพราะเขาปล่อยวางได้ แต่บางคนตายไม่สงบ เพราะไม่ได้เตรียมตัวรับความตาย ไม่เคยเจริญมรณสติ การระลึกถึงความตายหรือการซ้อมตายอยู่เสมอ จึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้เราก้าวพ้นความกลัวตายได้ คนเราถ้าไม่กลัวตายแล้วชีวิตจะเป็นอิสระได้มาก เพราะความกลัวตายเป็นโซ่ที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้เราทำอะไรต่ออะไรที่มีประโยชน์ ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างหดหู่เศร้าหมอง แต่พอไม่กลัวตายแล้วก็จะรู้สึกว่าจิตใจปลอดโปร่ง โล่ง สดใสมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เจ้าคุณศาสนาโสภณท่านหนึ่งจึงเขียนเป็นกลอนว่า “ระลึกถึงความตาย สบายนัก มันตัดรักหักหลงในสงสาร บรรเทามืดโมหันต์อันธการ ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ”

    การระลึกถึงความตายยังช่วยให้เราปล่อยวางจากความทุกข์ ความกลัดกลุ้มใจได้ สตีฟ จ๊อบ เคยแสดงปาฐกถาราว ๆ ๕-๖ ปีก่อนตาย เป็นปาฐกถาที่มีชื่อเสียงมาก ตอนหนึ่งเขาพูดว่า “การคิดว่าคนเราอาจจะตายวันตายพรุ่ง เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จัก ช่วยให้ผมตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ ในชีวิตได้ เพราะแทบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของคนอื่น ชื่อเสียงเกียรติยศ ความกลัวที่จะต้องอับอายขายหน้าหรือล้มเหลว จะหมดความหมายไปโดยปริยายเมื่อความตายมาถึง เหลือไว้ก็แต่เพียงสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงเท่านั้น”

    เมื่อเรานึกถึงความตาย ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงจะกลายเป็นเรื่องเล็กไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเสียหน้า การถูกต่อว่าด่าทอ งานการล้มเหลว เงินหาย เรื่องเหล่านี้ผู้คนมักคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โต แต่มันกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันทีเมื่อเทียบกับความตาย คนส่วนใหญ่เป็นทุกข์กับเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่ค่อยได้คิดว่าตัวเองจะต้องตายไม่วันใดก็วันหนึ่ง หน้าตาหรือศักดิ์ศรีที่หวงแหน พอจะตาย มันช่วยอะไรไม่ได้เลย กลับทำให้เป็นทุกข์ด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับทรัพย์สินเงินทอง มีมากมายแค่ไหน หวงแหนเพียงใด ก็ไม่ได้ช่วยให้ตายอย่างสงบได้เลย มิหนำซ้ำ อาจทำให้เป็นทุกข์ เพราะหวงแหนหรือห่วงกังวล

    จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผู้คนไล่ล่า พยายามหามาสะสม ถึงขนาดฆ่ากันเพื่อมีอำนาจและเงินทองมากขึ้น สิ่งเหล่านี้แทบจะสูญเปล่า ไร้คุณค่า เมื่อถึงวันที่จะต้องตายจากโลกนี้ไป สิ่งที่เราควรทำก็คือเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับความตายอยู่เสมอ ซึ่งหมายถึงการหมั่นทำความดี ฝึกใจปล่อยวางอยู่เสมอ เพื่อไปอย่างสงบเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องระลึกถึงความตายอยู่เสมอ จะได้ไม่ประมาทกับชีวิต

    การระลึกถึงความตายมีประโยชน์อย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยห้เราคุ้นชินกับความตาย กลัวตายน้อยลงแล้ว ยังทำให้เราใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท และรู้ว่าอะไรคือคุณค่า สาระที่แท้ของชีวิต ไม่มัวทุ่มเทหรือหลงงมงายกับบรรดาลาภ ยศ อำนาจ จนกระทั่งลืมคุณงามความดี ลืมธรรมะ ลืมการสร้างบุญสร้างกุศล ซึ่งมีอานิสงส์มากกว่า เพราะทำให้ใจสงบ และสามารถตามติดไปในภพหน้าได้ ส่วนเงินทองนั้นไม่สามารถเอาไปในภพหน้าได้เลย เช่นเดียวกับอำนาจ หรือบริษัท บริวาร อีกทั้งไม่ได้ช่วยให้เราตายอย่างสงบหรือมีความสุขได้เลย ตรงข้ามกับความดีและบุญกุศลนั้น นึกถึงทีไรก็มีแต่ความสุข ตอนทำก็มีความสุข ทำไปแล้วนึกถึงเมื่อใดก็มีความสุข เมื่อใกล้ตาย นึกถึงความดีและบุญกุศลก็มีแต่ความสุข ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บุญย่อมทำให้เกิดสุขในเวลาสิ้นชีวิต” คือในเวลาที่สิ้นชีวิต หากนึกถึงความดีที่ได้ทำ นึกถึงบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญ ก็จะเกิดความปีติ เกิดความภาคภูมิใจ มั่นใจในชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ตายสงบ ไม่กลัวปรโลก เพราะมั่นใจว่าได้ไปสุคติแน่ แต่ถ้าคิดถึงเงิน คิดถึงอำนาจตอนใกล้ตาย กลับตายยากเพราะว่าเสียดาย ห่วงหา อาลัย ถ้าตายด้วยความรู้สึกแบบนั้น ก็ไปไม่ดี

    ในสมัยพุทธกาลมีพระองค์หนึ่งได้จีวรใหม่มาจากพี่สาว เป็นจีวรอย่างดี ในสมัยก่อนจีวรเป็นสิ่งที่หายากมาก พระส่วนใหญ่ต้องไปเก็บจากผ้าห่อศพ แต่พระรูปไหนที่ได้จีวรใหม่มา ถือว่าได้ของที่มีค่า ท่านก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน แต่ว่าไม่ทันจะได้ใช้ก็มรณภาพ จิตสุดท้ายก่อนมรณภาพท่านนึกถึงจีวร จะเป็นเพราะนึกเสียดายที่ไม่ได้ครองจีวร หรือเสียดายที่ไม่ได้สนองศรัทธาของพี่สาว เพื่อให้พี่สาวได้บุญ ก็แล้วแต่ ปรากฏว่าพอสิ้นใจก็ไปเป็นเล็นอยู่ในจีวร ไม่ได้ไปดี จนกระทั่งครบ ๗ วัน ครบอายุของเล็น ตายไปจึงได้ไปสวรรค์ด้วยอานิสงส์แห่งบุญกุศลที่ท่านได้ทำตอนมีชีวิตอยู่

    หากนึกถึงแต่ทรัพย์สินเงินทองแล้วมักจะไปไม่ดี แต่ถ้านึกถึงบุญจะไปดี เพราะฉะนั้น การสร้างบุญสร้างกุศลจึงเป็นการเตรียมตัวตายที่ดีมาก แต่คนสมัยนี้เห็นคุณค่าของการสร้างบุญสร้างกุศลน้อย มัวหลงใหลในเงินทอง อำนาจวาสนาเสียมาก ชีวิตก็เลยไม่มีความสุข สุคติจึงเป็นที่หวังได้ยาก แต่ถ้าอยากไปดี มีชีวิตที่ผาสุก ก็ควรหมั่นทำความดี ถ้าหลงใหลในความสนุกสนานเมื่อไร ก็ขอให้ระลึกถึงความตาย จะได้ไม่เพลินในความสุขเหล่านั้น

    :- https://visalo.org/article/dhammamata8_1.htm
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    เวลาเหลือน้อย
    พระไพศาล วิสาโล
    “ไม่มีเวลา” เป็นคำบ่นที่เรามักได้ยินเป็นประจำ บ่อยครั้งก็ออกจากปากของเราเองด้วยซ้ำ น่าสังเกตว่าสังคมยิ่งเจริญ เศรษฐกิจยิ่งพัฒนา ผู้คนก็ยิ่งรู้สึกว่าไม่มีเวลา ทั้ง ๆ ที่มีอุปกรณ์ทุ่นแรงและทุ่นเวลามากมาย ที่น่าจะช่วยให้มีเวลามากขึ้น ตรงกันข้ามกับคนชนบทซึ่งไม่ค่อยเป็นทุกข์เพราะเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่ทำอะไรแต่ละอย่างก็ใช้เวลามากกว่าคนในเมืองทั้งสิ้นเนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์อำนวยความสะดวก

    หากเจาะลึกก็จะพบอีกว่า คนยิ่งรวย รายได้ยิ่งสูง ก็ยิ่งไม่มีเวลา อาจเป็นเพราะมีเงินเท่าไรก็ยังไม่พอ จึงหาเงินไม่หยุดหย่อน ที่สำคัญก็คือสำหรับคนกลุ่มนี้ “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” ถ้าอยู่เฉย ๆ ไม่ทำงาน ก็เหมือนกับปล่อยให้เงินก้อนใหญ่หลุดมือไป มีการสำรวจในหลายประเทศพบว่า คนยิ่งมีรายได้สูงมากเท่าไร ยิ่งทำงานหนักมากเท่านั้น แม้เกษียณแล้วก็ยังไม่หยุดทำงาน

    จริงอยู่มีคนรวยจำนวนไม่น้อยที่อยู่สบายโดยไม่ต้องทำมาหากิน อยู่บ้านก็มีบริวารทำงานให้ทุกอย่าง แต่เขาก็ยังบ่นว่าไม่มีเวลาอยู่นั่นเอง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะยิ่งรวยก็ยิ่งมีทางเลือกมากมายที่อยากทำ เช่น ช็อปปิ้ง ดูคอนเสิร์ต สังสรรค์กับเพื่อนฝูง เที่ยวเมืองนอก หาซื้อที่สร้างบ้านหลังที่ ๔ หรือ ๕ ฯลฯ แต่เนื่องจากวันหนึ่งมีแค่ ๒๔ ชั่วโมง ไม่สามารถทำทุกอย่างได้ตามใจหวัง จึงรู้สึกเป็นทุกข์ที่ไม่มีเวลาพอ

    ในบรรดาผู้คนที่พากันบ่นว่าไม่มีเวลานั้น น่าสงสัยว่ากี่คนที่ตระหนักว่า เวลาของตนกำลังเหลือน้อยลงทุกที เช่นเดียวกับเวลาที่คนรักทั้งหลายจะอยู่กับตน ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะหากผู้คนเฉลียวใจในความจริงดังกล่าว การใช้ชีวิตและเวลาของเขาจะเปลี่ยนไป ไม่มัวแต่ทำมาหาเงิน หรือทำอะไรต่ออะไรมากมาย รวมทั้งวางแผนจะทำอีกสารพัดอย่าง ราวกับว่าจะไม่มีวันตาย

    ใครก็ตามที่ตระหนักว่า พ่อแม่มีเวลาเหลือน้อยลงทุกที เขาจะไม่มัวทำมาหาเงินหรือเที่ยวเตร่สนุกสนานจนลืมพ่อแม่

    ใครก็ตามที่ตระหนักว่า เวลาที่ลูกจะอยู่กับเขานั้นเหลือน้อยลงทุกที อีกไม่นานเขาก็จะแยกไปมีชีวิตของตน เขาก็จะไม่มัววุ่นวายกับเรื่องนอกบ้าน จนทิ้งลูกไว้กับโทรทัศน์หรือเกมออนไลน์

    ถ้าเขาตระหนักว่า เวลาที่ตา หู แขน ขา มือ และ เท้า ของเขาจะทำงานได้เป็นปกติ เหลือน้อยลงทุกที เขาก็จะไม่เอาแต่ใช้มันอย่างสมบุกสมบัน หรือใช้ในเรื่องไร้สาระ แต่จะทะนุถนอมดูแล และใช้มันให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

    ถ้าเขาตระหนักว่า เวลาของเขาในโลกนี้เหลือน้อยลงทุกที เขาจะไม่ปล่อยเวลาให้หมดไปกับการทำงานหาเงินหรือแม้แต่การเสพสุขสนุกสนาน จนละเลยสิ่งสำคัญในชีวิต ที่ควรทำให้แล้วเสร็จก่อนจะไม่มีโอกาส

    เวลาของเราเหลือน้อยลงทุกที แต่ละนาทีจึงมีค่ามาก จึงควรใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ กล่าวคือแทนที่จะเอาแต่ทำงานหาเงินอย่างเดียว ควรใช้เวลาในการสร้างอริยทรัพย์ คือ ทำความดี สร้างบุญกุศล ปลูกธรรมให้เจริญงอกงามในใจ ขณะเดียวกันก็เร่งทำหน้าที่ที่สำคัญให้แล้วเสร็จ ไม่ให้คั่งค้าง ไม่ว่าหน้าที่ต่อคนรัก พ่อแม่ ลูกหลาน สามีภรรยา และหน้าที่ต่อส่วนรวม เช่น ต่อพระศาสนา

    การเกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ควรถือเป็นโชคอันประเสริฐ ดังนั้นเมื่อได้ครองความเป็นมนุษย์ จึงควรได้รับประโยชน์สูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ นั้นคือ อิสรภาพและความสงบเย็น อันเป็นสุขอย่างยิ่ง ทั้งนี้ด้วยการภาวนาให้จิตและปัญญาเจริญงอกงาม เพื่อให้ศักยภาพภายใน อันได้แก่ “อริยโลกุตตรธรรม” ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทรัพย์ประจำตัวของทุกคน เบ่งบานฉายฉานเต็มที่ หากไม่รู้จักหรือไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากทรัพย์ดังกล่าว ก็นับว่า “เสียของ”อย่างยิ่ง
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    เมื่อตระหนักว่าเวลาเหลือน้อย เราจะเห็นความจำเป็นของการลำดับความสำคัญของกิจต่าง ๆ อะไรที่สำคัญต่อชีวิต ก็รีบทำก่อน ส่วนอะไรไม่สำคัญก็ทำทีหลัง หรืองดไปเลย หลายคนพบเมื่อทำเช่นนี้แล้ว ชีวิตวุ่นน้อยลง มีเวลาว่างมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่มีเหตุให้ต้องรู้สึกผิดหรือเสียใจภายหลัง อย่างที่หลายคนต้องประสบเพราะมัวผัดผ่อน รีรอ หรือละเลยสิ่งที่ควรทำกับคนรักในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่

    อย่างไรก็ตามเมื่อรู้ว่าเวลาเหลือน้อยและต้องรีบทำสิ่งสำคัญ ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องทำแต่สิ่งสำคัญ และละเลยสิ่งไม่สำคัญ หรือทำทุกอย่างด้วยความร้อนรน ไม่ว่าเวลาจะเหลือน้อยเพียงใด เมื่อทำอะไร ใจก็พึงอยู่กับสิ่งนั้น ไม่พึงกังวลหรือคิดถึงงานอื่นที่อยู่ข้างหน้า แม้จะเป็นงานสำคัญ เช่น การภาวนา เพราะไม่ว่าทำอะไรก็ตาม จะเป็นการล้างจาน ซักผ้า กวาดบ้าน หากทำอย่างมีสติ ใจอยู่กับปัจจุบัน หรือตามดูรู้ทันใจของตน นั่นก็เป็นการภาวนาแล้ว

    คนที่ตระหนักว่าเวลาเหลือน้อยลง และหันมาปรับเปลี่ยนชีวิต เริ่มต้นด้วยจัดลำดับความสำคัญของกิจต่าง ๆ เสียใหม่ รวมทั้งน้อมใจอยู่กับปัจจุบันสม่ำเสมอ ในที่สุดจะพบว่า “ไม่มีเวลา” มิใช่ปัญหาอีกต่อไป
    :- https://visalo.org/article/secret255709.htm
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    จะเลือกสุข หรือ เลือกทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล

    ขณะที่กำลังกินอาหารเช้าด้วยความเร่งรีบ ลูกสาววัย ๑๐ ขวบเผลอทำแก้วตกแตก นมนองพื้น พ่อจึงต่อว่าลูกอย่างรุนแรง ลูกสาวถึงกับหน้าเสีย แก้ตัวได้ไม่กี่คำก็ร้องไห้เมื่อถูกพ่อโต้กลับมา แม่เห็นเช่นนั้นจึงต่อว่าสามีว่าทำไมใช้อารมณ์กับลูก สามีจึงหันมาโต้เถียงกับภรรยา ปะทะคารมพักใหญ่ก็นึกได้ว่าสายแล้ว สามีรีบไปเอากระเป๋าเอกสารจากห้องทำงาน แล้วพาลูกขึ้นรถไปด้วยกัน


    เป็นเพราะเขาออกจากบ้านช้ากว่าปกติ จึงเจอรถติดเป็นแพยาวเหยียด ผลก็คือไปส่งลูกสาวสาย ส่วนเขาเองก็ถึงที่ทำงานช้า ร้ายกว่านั้นก็คือในการประชุมนัดสำคัญเช้านั้น เขาลืมหยิบเอกสารชิ้นสำคัญใส่กระเป๋าตอนออกจากบ้าน การเจรจากับลูกค้าจึงไม่ประสบผล เขาถูกเจ้านายต่อว่า จึงหัวเสียและหงุดหงิดใส่เพื่อนตลอดวัน ด้วยความที่อารมณ์ค้างมาจากที่ทำงาน จึงขับรถเฉี่ยวชนขณะกลับบ้าน เสียเวลาไปอีกร่วมชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน พอเห็นหน้าภรรยากับลูกสาวเขาก็โวยวายใส่ทั้งสองคนว่าเป็นสาเหตุทำให้เขาไปทำงานสายจนเสียงานเสียการ คืนนั้นเขากับภรรยาจึงโต้เถียงกันต่อ ส่วนลูกสาวก็เก็บตัวอยู่แต่ในห้องด้วยความรู้สึกกดดัน กว่าความสงบจะกลับคืนมาสู่บ้านนี้ก็ดึกแล้ว แต่ใจของทั้งสามคนยังคงร้อนรุ่มตลอดทั้งคืน

    ใครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ด้วยตนเองอดไม่ได้ที่จะคิดว่าวันนั้นเป็นวันที่เขา “ซวย” อย่างยิ่ง แต่ถ้าพิจารณาให้ดีมันไม่ใช่เป็นเรื่องของคราวเคราะห์แต่อย่างใด เหตุการณ์ย่ำแย่ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวันนั้นเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่โดยมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์บนโต๊ะอาหารเช้านั้น ดูเหมือนว่าการที่ลูกสาวทำแก้วตกแตกด้วยความเผอเรอนั้นคือจุดปะทุที่ทำให้สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ตามมามากมาย แต่ความจริงแล้วจุดสำคัญอยู่ตรงที่พ่อคุมอารมณ์ไม่อยู่ต่างหากจนเผลอตัวพูดรุนแรงใส่ลูก

    พ่ออดไม่ได้ที่จะโทษความซุ่มซ่ามของลูกสาวว่าเป็นสาเหตุของความ “ซวย”ทั้งมวลที่เกิดกับเขาในวันนั้น แต่ที่จริงหากพ่อไม่โมโหใส่ลูก เหตุการณ์ต่าง ๆ ในวันนั้นก็จะไม่เป็นอย่างที่ได้พรรณนาข้างต้น เราลองย้อนกลับไปยังเหตุการณ์บนโต๊ะอาหารอีกครั้ง เมื่อลูกทำแก้วน้ำแตก ถ้าหากว่าพ่อตั้งสติได้ทัน ก็จะคุมอารมณ์และคำพูดได้อยู่ แทนที่จะด่าว่าลูก ก็สอนให้ลูกระมัดระวังมากขึ้น การโต้เถียงกับภรรยาก็จะไม่เกิดขึ้น ทำให้มีเวลาเตรียมตัวไปทำงาน โดยไม่ลืมหยิบเอกสารสำคัญใส่กระเป๋าไปด้วย เนื่องจากเขาออกจากบ้านตรงเวลา จึงไม่เจอรถติด สามารถส่งลูกและถึงที่ทำงานตามเวลา เมื่อเข้าประชุมเขาก็มีเอกสารมาแสดงครบครัน การประชุมนัดสำคัญจึงจบลงด้วยดี เขาได้รับคำชมจากเจ้านาย วันนั้นเขาจึงทำงานด้วยความสบายใจ รู้สึกโปร่งโล่ง งานจึงออกมาดี เย็นนั้นเขาขับรถถึงบ้านอย่างราบรื่น เจอหน้าภรรยากับลูกสาวก็พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน คืนนั้นทุกคนเข้านอนอย่างมีความสุข

     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)

    เห็นได้ว่าปฏิกิริยาของพ่อเมื่อเห็นลูกทำแก้วแตก สามารถจะนำไปสู่เหตุการณ์สองแบบที่ตรงข้ามกัน เหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่ปัญหาและความทุกข์ อีกเหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่ความราบรื่นและความสุข จุดที่เป็นขั้วต่อหรือทางแยกนั้นก็คือ ภาวะจิตใจของพ่อเมื่อเห็นแก้วแตก กล่าวคือเป็นภาวะที่มีสติหรือถูกอารมณ์ครอบงำ


    ตัวอย่างดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แม้ประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ แต่มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า เรามีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นั้นอย่างไร หากเราตอบโต้หรือแสดงออกอย่างมีสติ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ชักนำไป ก็จะลงเอยด้วยดี และเป็นปัจจัยไปสู่สิ่งดี ๆ ตามมาอีกมากมาย ในทางตรงข้ามหากเราขาดสติ กระทำด้วยความวู่วามฉุนเฉียว ก็อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ตามมาเป็นทอด ๆ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเพราะเรา “โชคร้าย” หรือวันนั้นฤกษ์ไม่ดี แต่เป็นผลจากการกระทำของเราเอง

    เหตุร้ายในชีวิตบางครั้งก็มีจุดเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ในที่สุด จุดเล็ก ๆ นั้นก็คือการกระทำที่ขาดสติของเรานั้นเอง แต่หากเรามีสติเสียแต่ตอนนั้น ก็จะนำไปสู่เหตุการณ์ที่ดีงาม และสร้างความสุขให้แก่เรา

    ที่จริงหากมองย้อนกลับไปอีกหน่อย ก็อาจจะพบว่าสาเหตุที่พ่อขาดสติ ฉุนเฉียวง่ายก็เพราะพ่อมีอารมณ์ขุ่นมัวมาก่อนหน้านั้นแล้วจากการที่ได้ดูข่าวโทรทัศน์ตั้งแต่เช้า แต่หากพ่อนั่งสมาธิสักครู่หลังจากตื่นนอน แล้วก็อาบน้ำแต่งตัวอย่างมีสติ พ่อก็จะไม่เผลออาละวาดเมื่อเห็นลูกทำแก้วแตก

    กล่าวได้ว่าแต่ละวันจะเป็นวันดีหรือวันร้าย อยู่ที่ว่าเราเริ่มต้นวันนั้นอย่างไร เริ่มต้นด้วยการเติมสติให้แก่จิตใจ หรือเอาเรื่องหม่นหมองมาใส่ตน หากเริ่มต้นด้วยดี เราก็สามารถรับมือกับเหตุการณ์ร้าย ๆ ได้ด้วยใจที่ปกติ ซึ่งพาไปสู่สิ่งดี ๆ อีกเป็นทอด ๆ

    วันดีหรือวันร้าย สุขหรือทุกข์ จึงเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ ถ้าเลือกวันดีหรือความสุข ก็พึงมีสตินำหน้าเมื่อมีสิ่งต่าง ๆ มากระทบ แต่ถ้าอยากเลือกวันร้ายหรือความทุกข์ ก็ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำใจ แล้วปล่อยตัวไปตามเหตุการณ์ต่าง ๆ สุดแท้แต่มันจะพาไป
    :- https://visalo.org/article/secret255411.htm

     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    ความดีที่ผันแปร
    พระไพศาล วิสาโล
    กุมภ์เมลาเป็นพิธีที่สำคัญและยิ่งใหญ่มากสำหรับชาวฮินดูในอินเดีย ครั้งล่าสุดจัดที่เมืองอัลลาฮาบาดมีผู้คนมาร่วมงานถึง ๗๐ ล้านคน ไม่มีการชุมนุมทางศาสนาใดในโลกที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว

    ตลอดช่วง ๕๖ วันของพิธีดังกล่าวผู้คนหลายสิบล้านได้มาก่อกระโจมริมแม่น้ำคงคาเพื่อทำพิธีอาบน้ำชำระบาป ลองนึกภาพว่าผู้คนจำนวนหลายเท่าตัวของประชากรลาวทั้งประเทศมากระจุกรวมกันอยู่ในพื้นที่เล็กขนาดแค่อำเภอเดียว ความแน่นขนัดจะมากมายเพียงใด ความโกลาหลวุ่นวายน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

    แต่แล้วก่อนที่พิธีนี้จะยุติได้เกิดโศกนาฏกรรมที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งในเมืองนั้น ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ผู้คนมหาศาลพากันเบียดเสียดยัดเยียดจนเหยียบกันตายถึง ๓๖ คน บาดเจ็บอีกมากมาย คนเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่เพิ่งเสร็จการจาริกแสวงบุญทั้งสิ้น

    น่าคิดก็ตรงที่ว่า ช่วงที่อยู่ในพิธีกุมภ์เมลานั้น ผู้คนล้วนอยู่กันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หญิงผู้หนึ่งพูดถึงบรรยากาศในพิธีดังกล่าวว่า “ผู้คนจะห่วงใยคุณ ปฏิบัติต่อคุณอย่างสุภาพ (เช่นพูดว่า) คุณแม่มานี่เลย เชิญตามสบายเลย” แต่พอถามถึงเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟ หญิงคนเดียวกันนี้พูดว่า “ผู้คนคิดว่าพวกเขาแข็งแรงกว่าคุณ นึกอยากจะผลักคุณไปไหนก็ได้”

    คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ผู้คนที่ผลักใครต่อใครเพื่อแย่งขึ้นรถไฟ ที่จริงก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่เอื้ออาทรนักจาริกแสวงบุญด้วยกัน แต่อะไรทำให้เขาเหล่านั้นมีพฤติกรรมตรงข้ามกันราวกับคนละคน

    ใช่หรือไม่ว่าความสุภาพและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อเรามีสำนึกว่าตนเองเป็นนักจาริกแสวงบุญหรือผู้ใฝ่ธรรม ในภาวะเช่นนั้นเราจะมีหิริโอตตัปปะและความอดทนอดกลั้นได้มากกว่า จะว่าไปแล้วสิ่งแวดล้อมไม่ว่าผู้คน พิธีกรรม และบรรยากาศล้วนมีส่วนช่วยสร้างสำนึกดังกล่าวให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนหลายสิบล้านที่นั่น เพราะตลอด ๒๔ ชั่วโมงมีเสียงดนตรีและการแสดงธรรมดังก้องทุกหนแห่ง อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับสำนึกดังกล่าวก็คือความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของมหาชนที่นั่น เป็นความรู้สึกที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน

    แต่พอออกจากพิธีดังกล่าวเพื่อเดินทางกลับบ้าน ทันทีที่ถึงสถานีรถไฟ สำนึกว่าฉันเป็นนักจาริกแสวงบุญก็เลือนหายไป มีสำนึกใหม่มาแทนที่คือ ความเป็นผู้โดยสาร ที่ไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับใคร แต่ละคนมีแต่ความปรารถนาที่จะเดินทางกลับบ้านให้เร็วที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงคิดถึงแต่ตัวเอง เห็นผู้อื่นเป็นคู่แข่งที่ต้องเอาชนะเพื่อขึ้นรถไฟก่อนใคร ๆ ผลก็คือแย่งชิงผลักไสกันจนเหยียบกันตายอย่างน่าเศร้าสลด

    พฤติกรรมของคนเรานั้นจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสำนึกว่าเราเป็นใคร แต่สำนึกว่าเราเป็นใครนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวเราอย่างเดียว หากยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทั้งบุคคลและวัตถุด้วย ตอนอยู่วัดหรือเข้าคอร์สกรรมฐาน เราอาจมีสำนึกว่าตนเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่พอกลับบ้านหรือกลับมาทำงาน สำนึกอย่างอื่นมักจะมาแทนที่ เช่น ความเป็นนักธุรกิจ ความเป็นพ่อแม่ หรือความเป็นลูก ซึ่งอาจทำให้เรามีพฤติกรรมแตกต่างไปจากตอนอยู่วัด ที่เคยอดกลั้นต่ออารมณ์ ก็กลับมาหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ที่เคยชนะใจตนเองได้ ก็กลับมาพ่ายแพ้ต่อกิเลส ที่เคยมีน้ำใจไมตรี ก็กลับมาคิดถึงแต่ผลประโยชน์

    จะว่าคนเรามีหลายตัวตนก็ได้ ตัวตนใดจะโดดเด่นครองใจเราได้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมมิใช่น้อย บ่อยครั้งมันถูกปลุกเร้าได้ง่ายมากอย่างที่เราไม่ทันรู้ตัว เคยมีการทดลองโดยแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม โดยมีภารกิจเหมือนกันคือเรียบเรียงคำต่าง ๆ ที่สลับกันให้เป็นประโยคขึ้นมา กลุ่มแรกได้ประโยคที่มีความหมายกลาง ๆ (เช่น “ข้างนอกอากาศหนาว”) ส่วนกลุ่มที่สอง ได้ประโยคที่เกี่ยวกับเงิน ( เช่น “ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น”) จากนั้นให้ทั้งสองกลุ่มทำภารกิจอย่างที่สอง เช่น ไขปริศนาที่ค่อนข้างยาก

     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คนที่เรียงประโยคที่เกี่ยวกับเงิน มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนอื่นน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ดำเนินการทดลองในการกรอกข้อมูล หรือการช่วยเหลือ “คนแปลกหน้า” (ที่จริงเป็นผู้ดำเนินการทดลองที่ปลอมตัวเข้ามา)ที่ทำกล่องดินสอหล่น “โดยบังเอิญ” ในขณะที่กลุ่มแรกนั้นมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนอื่นมากกว่า

    การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า เพียงแค่ถูกกระตุ้นให้คิดถึงเรื่องเงิน คนเราก็มีแนวโน้มจะเห็นแก่ตัวมากขึ้น ช่วยเหลือเกื้อกูลน้อยลง แต่หากถูกกระตุ้นให้คิดหรือรู้สึกในทางอื่น เช่น เห็นคนที่ทุกข์ยาก หรือเด็กที่กำลังยิ้ม ความเห็นใจหรือเอื้อเฟื้อก็อาจมาแทนที่ได้ ดังมีการทดลองพบว่า กระเป๋าสตางค์ที่มีรูปทารกแย้มยิ้มนั้น หากทำตกหล่นในที่สาธารณะ เจ้าของมีโอกาสได้คืนมากที่สุด (เช่น มีโอกาสได้คืนถึงร้อยละ ๘๘ ส่วนกระเป๋าที่ไม่ใส่รูปอะไรเลย มีโอกาสได้คืนแค่ร้อยละ ๑๕) พูดง่าย ๆ ก็คือ คนเรามีทั้งต่อมคุณธรรมและต่อมเห็นแก่ตัว เราจะมีพฤติกรรมอย่างใดก็ขึ้นอยู่กับว่าต่อมใดถูกกระตุ้นเร้ามากกว่า

    ทั้งหมดนี้ช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมนักปฏิบัติธรรมบางคนเมื่อกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมเดิม ๆ จึงมีนิสัยไม่น่ารักดังเดิมหรือยังพ่ายแพ้กิเลสเช่นเคย อย่างไรก็ตามหากเรารู้เท่าทันอิทธิพลของสิ่งเร้าภายนอก รวมทั้งรู้เท่าทันสำนึกในตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถรักษาใจไม่ให้ความเห็นแก่ตัวครอบงำ และหันกลับมาทำสิ่งที่ดีงามได้
    :- https://visalo.org/article/secret255705.htm
    . . EndLineMoving.gif

     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    เมื่อสิ่งสามัญกลายเป็นความอัศจรรย์
    พระไพศาล วิสาโล
    ภิกษุฟับดัง ธรรมาจารย์แห่งหมู่บ้านพลัม ไม่คาดคิดมาก่อนว่าตนจะเป็นมะเร็ง จนกระทั่งวันหนึ่งหมอยืนยันว่า นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับท่าน ยิ่งไปกว่านั้นมะเร็งได้ลุกลามถึงระยะที่สามแล้ว หากท่านไม่รับเคมีบำบัด ก็อาจมรณภาพในสามเดือน

    ทีแรกนั้นท่านตกใจมาก รู้สึกกลัวขึ้นมา แต่ก็มีสติรู้ทันความกลัวนั้น แล้วใจก็สงบลง นับแต่นั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นกับท่าน ท่านรู้สึกถึงมหัศจรรย์ของชีวิตและรับรู้ได้ถึงความงดงามของธรรมชาติรอบตัว ไม่ว่าท้องฟ้าหรือดอกไม้

    “เมื่อรู้ว่าความตายใกล้เข้ามา ฉันให้ความสนใจอย่างมากต่อผีเสื้อ ฉันเบิกบานกับการเฝ้ามองผีเสื้อเพราะนี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันจะได้เห็นผีเสื้อ”

    สำหรับคนจำนวนไม่น้อย คำวินิจฉัยของแพทย์ดังกล่าวเป็นเสมือนคำตัดสินประหารชีวิตที่ทำให้จิตใจตกต่ำย่ำแย่ราวกับตายทั้งเป็น แต่สำหรับท่านฟับดัง มันกลับทำให้ท่านซาบซึ้งในคุณค่าของชีวิตและสรรพสิ่งที่ประสบพบเห็น ทุกสัมผัสที่ดูเหมือนดาษดื่นกลับกลายเป็นสิ่งงดงามและมหัศจรรย์ ทั้งนี้ก็เพราะอาจไม่มีโอกาสได้เห็นหรือได้รับรู้อีก

    นี้เป็นความรู้สึกทำนองเดียวกับวิลโก้ จอนสัน นักดนตรีชื่อดังชาวอังกฤษ ทันทีที่รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็ง แทนที่จะรู้สึกแย่ เขากลับเดินออกจากโรงพยาบาลด้วยความรู้สึกตัวเบา ใจฟู “จู่ ๆ ก็รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมา คุณมองต้นไม้ ท้องฟ้า มองทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วรู้สึกว่า “วิเศษ”จริง ๆ”

    เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “สิ่งเล็ก ๆ ทุกอย่างที่เห็น ลมเย็นทุกสายที่สัมผัสใบหน้า อิฐทุกก้อนบนถนน (มันทำให้)คุณรู้สึกเลยว่า ฉันมีชีวิต ฉันมีชีวิต” ก่อนหน้านั้นเขาเป็นโรคซึมเศร้า แต่พอรู้ว่าความตายกำลังรออยู่ไม่ไกล “ผมรู้สึกเหมือนขนนกที่ปลิวไหวไปตามสายลม และลมก็พัดมากระทบผมอย่างเดียวกัน แต่ในใจผมก็ยังรู้สึกถึงความอิสระเสรี เป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมาก”

    ความตายนั้นหมายถึงการสูญเสียพลัดพรากอย่างสิ้นเชิง ใครที่คิดถึงแต่ในแง่นั้น ย่อมอดเศร้าโศกเสียใจไม่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้เราเห็นคุณค่าของทุกสิ่งที่เรามีหรือสัมผัสรับรู้ มันจะไม่ใช่สิ่งดาษดื่นในความรู้สึกของเราอีกต่อไปเมื่อนึกถึงวันที่เราจะต้องสูญเสียมันไป

    ใช่หรือไม่ว่า คนเราไม่ค่อยซาบซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งที่ตนมี ต่อเมื่อสูญเสียมันไปแล้วจึงกลับมาเห็นคุณค่าของมัน ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ มิตรภาพ หรือแม้แต่คนรัก ผู้คนจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงความจริงข้อนี้เมื่อสายไปแล้ว ข่าวดีก็คือ เราไม่จำต้องรอให้ความสูญเสียเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยเห็นความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ที่เรามี ความตายเป็นเครื่องเตือนใจอย่างดีให้เราหันมาซาบซึ้งชื่นชมสิ่งเหล่านั้นก่อนที่จะสายเกินไป แม้แต่สิ่งที่ดูธรรมดาสามัญ เช่น ต้นไม้ ท้องฟ้า และสายลม จะกลายเป็นความวิเศษมหัศจรรย์ทันทีเมื่อเราตระหนักว่าอาจจะได้เห็นและสัมผัสมันเป็นครั้งสุดท้าย

    ผู้ป่วยด้วยโรคร้าย(รวมทั้งญาติมิตร)จำนวนมากจมปลักอยู่ในความโศกเศร้าหดหู่ เพราะมัวคิดถึงแต่วันที่จะต้องสูญเสียคนรักและสิ่งทั้งปวงที่มี จนลืมไปว่าวันนี้ชั่วโมงนี้คนรักและของรักทั้งหลายยังอยู่กับเรา ไม่ได้หายไปไหน แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับภาพอนาคตอันเลวร้าย หากหันมาใส่ใจกับปัจจุบัน เขาจะทุกข์น้อยลง และมีความสุขมากขึ้น เพราะนอกจากจิตใจจะซาบซึ้งชื่นชมกับทุกสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว เขายังสามารถใช้เวลาที่มีอยู่อย่างมีคุณค่า รวมทั้งปฏิบัติกับทุกคนและทุกสิ่งอย่างดีที่สุด แทนที่คนป่วย(หรือญาติ)จะวิตกกังวลว่าเขาจะอยู่อย่างไร ก็หันมาใส่ใจทำสิ่งดีที่สุดให้กับเขา หรือมีความสุขร่วมกับเขาเสียแต่วันนี้ ไม่ปล่อยให้โอกาสทองผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
    โรคร้ายหรือความตายนั้น ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่นำความหดหู่เศร้าหมองมาให้แก่เราเสมอไป มันสามารถกระตุ้นเตือนใจให้เราเห็นถึงความอัศจรรย์ของชีวิตและความงดงามของสรรพสิ่งได้ ถ้าวางใจเป็น โรคร้ายหรือความตายก็มีประโยชน์อย่างยิ่ง
    :- https://visalo.org/article/secret255707.htm

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 เมษายน 2024
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    เติมเต็มชีวิตในเวลาน้อยนิด
    พระไพศาล วิสาโล
    อาจารย์วิษณุเป็นคุรุชาวอินเดียที่มีลูกศิษย์ลูกหามาก วันหนึ่งอาจารย์เรียกศิษย์สองคนที่ใกล้ชิดมาหาแล้วพาไปยังห้องเปล่าสองห้อง ให้เงินคนละ ๑ รูปีแล้วสั่งว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ห้องเต็ม ไชยารีบวิ่งไปที่ตลาดทันทีและพยายามหาของที่สามารถซื้อมาใส่ห้องให้เต็มด้วยเงิน ๑ รูปี แต่หาเท่าไรก็ไม่เจอ เพราะ ๑ รูปีนั้นน้อยเกินไป สุดท้ายเขาก็คิดออก เขาไปหาคนเก็บขยะ ใช้เวลาเจรจาไม่นาน เขาก็ขนขยะกองใหญ่ไปใส่ในห้องของตนจนเต็มด้วยความภาคภูมิใจที่ทำงานสำเร็จ

    ส่วนจิตรนั้นเมื่อได้รับคำสั่งจากอาจารย์ ก็นั่งสมาธิ ทำจิตสงบอยู่ในห้องพักใหญ่ จากนั้นก็เดินไปที่ตลาด ซื้อไม้ขีดไฟ ธูป และประทีป เมื่อกลับมายังห้องของตน เขาก็จุดธูปและประทีป ไม่นานห้องก็อบอวลด้วยกลิ่นหอมและเต็มไปด้วยแสงสว่าง

    เมื่ออาจารย์วิษณุมาตรวจงานของลูกศิษย์ทั้งสอง เขาเบือนหน้าหนีทันทีที่ย่างเท้าเข้าห้องของไชยาเพราะกลิ่นเหม็นโชยมาอย่างแรงจากกองขยะ แต่อาจารย์กลับแย้มยิ้มเมื่อเดินเข้าไปในห้องของจิตร ซึ่งสว่างไสวและอบอวลด้วยกลิ่นมะลิและไม้จันทน์

    นิทานเรื่องนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความแตกต่างทางสติปัญญาของศิษย์ทั้งสองเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นมุมมองหรือทัศนคติที่แตกต่างกันด้วย ไชยานั้นให้ความสำคัญกับวัตถุหรือสิ่งที่จับต้องได้ เขาจึงนึกถึงแต่การหาวัตถุสิ่งของมาใส่ห้องให้เต็ม แต่ในเมื่อเงิน ๑ รูปีนั้นซื้ออะไรได้ไม่มาก เขาจึงลงเอยด้วยการซื้อกองขยะ กล่าวอีกนัยหนึ่งเขาวัดความสำเร็จด้วยปริมาณ

    ตรงข้ามกับจิตร เขาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่เน้นที่ปริมาณ แต่มุ่งที่คุณภาพ เมื่อต้องหาอะไรมาใส่ในห้องให้เต็ม เขาจึงนึกถึงแสงสว่างและกลิ่นหอม ซึ่งให้ความสุขและรื่นรมย์ใจแก่เจ้าบ้านและผู้มาเยือน

    มองให้ลึก เรื่องของไชยาและจิตร มิใช่อะไรอื่น หากคือภาพสะท้อนของผู้คนในโลกนี้ ห้องนั้นคืออุปมาของชีวิต ส่วนเงิน ๑ รูปีนั้นหมายถึงเวลาอันน้อยนิดที่เรามีอยู่ในโลกนี้ ผู้คนทั้งหลายปรารถนาที่จะเห็นชีวิตของตนได้รับการเติมเต็ม แต่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเติมเต็มชีวิตของตนด้วยวัตถุ ดังนั้นจึงทุ่มเทเวลาทั้งหมดที่มีเพื่อแสวงหาเงินทองและสะสมทรัพย์สมบัติให้มากที่สุด คนเหล่านั้นรู้สึกว่าชีวิตตนจะมีคุณค่าได้ต่อเมื่อมีวัตถุประดับประดา ใช้รถหรูราคาแพง หรือใช้สินค้าแบรนด์เนม อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งสิ่งที่หามานั้นมีสภาพไม่ต่างจากกองขยะ คือนอกจากไม่ได้ใช้แล้ว ยังรกบ้าน เป็นภาระแก่จิตใจ ยิ่งทรัพย์สมบัติที่ได้มาจากการคดโกงหรือการผิดศีลด้วยแล้ว ก็เป็นขยะดี ๆ นี้เอง เพราะเต็มไปด้วยโทษและส่งกลิ่นเหม็นประจานเจ้าของ

    แท้จริงแล้วมีสิ่งอื่นที่ดีกว่าที่ช่วยเติมเต็มชีวิตของเรา นั่นคือ บุญกุศล ความดีงาม รวมทั้งความสงบเย็นในจิตใจ อันเกิดจากคุณธรรมและความเข้าใจชีวิต ใครที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในจิตใจ จะไม่รู้สึกพร่อง กลับรู้สึกเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา คนแวดล้อมก็มีความสุข ตรงข้ามกับคนที่พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ หากไร้สิ่งเหล่านี้ในจิตใจ จะรู้สึกพร่องอยู่ตลอดเวลา จึงดิ้นรนตักตวงไม่หยุดหย่อน แต่ได้เท่าไหร่ก็ไม่เคยรู้จักพอ ขณะเดียวกันคนแวดล้อมก็อยู่อย่างไม่เป็นสุข เพราะกลายเป็นที่ระบายความทุกข์ของคนเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา

    เราทุกคนล้วนมีเวลาเพียงน้อยนิดในโลกนี้ เราไม่สามารถใช้เวลาทั้งหมดที่มีเพื่อหาวัตถุสิ่งเสพมาสนองความปรารถนาจนเต็มอิ่มได้ แต่เวลาน้อยนิดที่เรามีอยู่นั้นมากพอที่จะแสวงหาความดีงามมาเติมเต็มจิตใจจนอิ่มเอมได้
    :- https://visalo.org/article/secret255909.html
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    บุญที่ถูกมองข้าม
    พระไพศาล วิสาโล
    สังเวชนียสถาน ๔ แห่งในประเทศอินเดีย เป็นจุดหมายที่ชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อยนิยมไปเยือน เพราะถือว่าเป็นการจาริกที่ได้บุญมาก หลายคนนอกจากตั้งใจไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาเคยประทับและบำเพ็ญศาสนกิจแล้ว ยังเตรียมเงินไปทำบุญตามรายทาง เช่น ทอดผ้าป่าถวายวัดไทย ถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ และที่ขาดไม่ได้คือ บริจาคเงินแก่ขอทาน ซึ่งต่างนิยมชมชื่นชาวไทยมาก เพราะมีกิตติศัพท์ว่าใจบุญสุนทาน เวลาเจอคณะชาวไทยก็จะพากันรุมล้อม โดยเฉพาะอุบาสิกา ที่มีอายุสักหน่อย วณิพกอินเดียจะเรียกว่า “มหารานี”เลยทีเดียว

    หญิงไทยสูงวัยผู้หนึ่ง ก็เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมคณะ เมื่อเห็นขอทานมารุมล้อม ก็ยื่นเงินรูปีให้คนละ ๑๐ รูปีบ้าง ๒๐ รูปีบ้างด้วยความยินดี อย่างไม่คิดเสียดายเงิน จากนั้นก็เข้าไปสักการะพระเจดีย์พุทธคยาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ เสร็จแล้วก็ออกมาซื้อของที่ระลึก ซึ่งแม่ค้าพากันเอามาขาย ของแต่ละชิ้น ราคาไม่แพง แต่เธอก็ไม่ยอมซื้อง่าย ๆ ต่อแล้วต่ออีก แม้ราคาที่แม่ค้าบอกขายจะต่างจากราคาที่เธอต่อรองเพียงแค่ ๑๐ รูปีเธอก็ไม่ยอม มีโอกาสเมื่อใด เธอจะกดราคาให้ต่ำเท่าที่จะต่ำได้

    พระรูปหนึ่งซึ่งร่วมคณะเดียวกับเธอ สงสารแม่ค้า จึงพูดเตือนสติหญิงไทยผู้นี้ว่า “โยม เวลาเจอขอทาน โยมควักเงินให้เขาทันที แต่พอมีแม่ค้าเอาของมาขาย โยมกลับกดราคาเขา จนเขาแทบไม่ได้กำไรเลย โยมรู้ไหมถ้าเขาเจอแบบนี้บ่อย ๆ เขาคงอยากไปเป็นขอทานมากกว่า เพราะได้เงินง่ายโดยไม่ต้องเหนื่อย”

    คำทักท้วงของพระรูปนี้ไม่ได้เตือนสติหญิงสูงวัยผู้นี้คนเดียว แต่เตือนใจคนไทยที่ไปแสวงบุญที่อินเดียได้เป็นอย่างดี ข้อที่น่าคิดก็คือ ทำไมอุบาสิกาท่านนี้ใจดีกับขอทาน แต่ตระหนี่กับแม่ค้า ทั้ง ๆ ที่สารรูปของทั้ง ๒ คนก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไร ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะอุบาสิกาท่านนี้เห็นว่าการให้เงินแก่ขอทาน เป็นการทำบุญ ซึ่งจะมีอานิสงส์ให้ตนประสบโชคลาภ หรือมีความสุขความเจริญในภายภาคหน้า ดังนั้นจึงยินดีให้โดยไม่คิดมาก ส่วนการจ่ายเงินให้แม่ค้านั้น เธอมองว่าเป็นเรื่องการซื้อขายแลกเปลี่ยน จึงคิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจะเสียเงินให้น้อยที่สุด โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่า การทำเช่นนั้นคือการผลักไสให้คนเหล่านั้นไปเป็นขอทาน

    อันที่จริงถ้าตั้งใจจะทำบุญจริง ๆ การซื้อของจากแม่ค้าในราคาที่สมเหตุสมผล ให้เขาได้กำไรพอสมควร ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งได้เช่นกัน คนที่ควรได้รับเมตตาจากเราไม่ใช่มีแค่ขอทานเท่านั้น พ่อค้าแม่ค้าก็สมควรได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนที่ยากจน มีฐานะต่ำต้อยกว่าเรา

    พฤติกรรมของหญิงไทยผู้นี้ สะท้อนทัศนะของชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อย ที่มองว่า การทำบุญหมายถึงการให้เงินแก่พระสงฆ์หรือขอทานเท่านั้น ส่วนการช่วยเหลือคนในรูปแบบอื่น เช่น ซื้อสินค้าในราคาที่ช่วยให้เขาอยู่ได้ สามารถประกอบสัมมาอาชีวะได้ต่อไป ไม่ใช่การทำบุญ

    แรงจูงใจอย่างหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการทำบุญของชาวพุทธจำนวนไม่น้อย ก็คือ อยากได้รับอานิสงส์ที่เป็นความสุขความเจริญ หรือโชคลาภในภายภาคหน้า ดังนั้นเวลาทำบุญ จึงไม่เสียดายเงิน เพราะถือว่าเป็น “การลงทุน”อย่างหนึ่ง แต่หากจ่ายเงินแล้วไม่มีอานิสงส์ดังว่ากลับคืนมา ก็จะคิดแล้วคิดอีก หรือจ่ายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหญิงไทยผู้นี้จึงต่อแล้วต่ออีก แม้แต่ ๑๐ รูปีก็ไม่อยากจ่ายเพิ่ม

    การทำบุญนั้นจุดหมายสำคัญก็เพื่อลดความตระหนี่ บรรเทาความเห็นแก่ตัว หรือลดความยึดติดถือมั่น หากเราทำบุญเพื่อจะได้นั่นได้นี่เพื่อตัวเอง โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางวัตถุ ความโลภหรือความเห็นแก่ตัวจะลดลงได้อย่างไร การทำเพราะนึกถึงผู้อื่น อยากช่วยเหลือผู้อื่น โดยนึกถึงตัวเองแต่น้อย หรือไม่นึกถึงเลยต่างหาก เป็นการทำบุญอย่างแท้จริง

    นี้คือบุญที่เราควรทำอย่างยิ่งเมื่อไปจาริกแสวงบุญไม่ว่าที่สังเวชนียสถานหรือที่ใดก็ตาม และหากทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน ก็ยิ่งน่าอนุโมทนา
    :- https://visalo.org/article/secret256009.html
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,213
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    ความปรารถนาที่ถูกมองข้าม
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อพบว่าคนรักป่วยด้วยโรคร้าย อาการลุกลามจนอยู่ในระยะสุดท้าย สุดวิสัยที่จะเยียวยาให้หายได้ สิ่งเดียวที่ผู้คนส่วนใหญ่นึกออก คือ ทำทุกอย่างเพื่อยืดชีวิตของเขาให้ยืนยาวที่สุด อะไรที่ช่วยให้เขาอยู่ได้นานขึ้น ก็ดิ้นรนไปหามาให้เขา และเมื่อเขาเพียบหนัก ความหวังสุดท้ายคือหมอและโรงพยาบาล วลีที่หมอได้ยินจากญาติผู้ป่วยคนแล้วคนเล่าก็คือ “ทำทุกอย่างเลยนะหมอ” ผลก็คือ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนไม่น้อยถูกนำมาที่ห้องไอซียู โดยมีท่อสอดใส่ทั่วร่างกาย และถูกกำกับด้วยเครื่องนานาชนิด หลายคนสิ้นชีวิตในสภาพดังกล่าว

    การยืดชีวิตของผู้ป่วยให้นานที่สุดเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในความรู้สึกของลูกหลานและญาติ แต่นั่นอาจไม่ใช่ความต้องการสูงสุดในความนึกคิดของผู้ป่วยก็ได้ ความปรารถนาอันดับต้น ๆ ของผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ก็คือ เจ็บปวดให้น้อยที่สุด อยากอยู่ใกล้คนรัก ไม่เป็นภาระของลูกหลาน อยากมีสติรู้ตัวจนสิ้นลม และอยากตายสงบ

    อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งที่ความปรารถนาดังกล่าวของผู้ป่วยไม่เป็นที่รับรู้เลย สาเหตุสำคัญก็เพราะญาติมักคิดแทนผู้ป่วย หาไม่ก็เอาความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ ทนไม่ได้ที่จะเห็นคนรักจากไปทั้ง ๆ ที่มีโอกาสยืดชีวิตต่อไปได้ จึงตัดสินใจแทนผู้ป่วยด้วยความหวังดี ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ป่วยนอนทุกข์ทรมานอยู่ในห้องไอซียู แม้จะมีลมหายใจยืนยาวขึ้น แต่คุณภาพชีวิตกลับถดถอย หลายคนส่งสายตาวิงวอนขอกลับบ้าน หรือขอให้ถอดท่อช่วยหายใจ แต่ลูกหลานก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรอให้ผู้ป่วยสิ้นลมไปเอง

    มีกรณีมากมายที่ชี้ชัดว่า การทำทุกอย่างเพื่อยืดชีวิตผู้ป่วยนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขาเลย มีวิธีอื่นที่ดีกว่านั้น เช่น การช่วยให้เขาสุขสบายมากที่สุด เจ็บปวดน้อยที่สุด โดยไม่เน้นการยืดชีวิตให้ยืนยาว ดังนั้นแทนที่จะระดมเทคโนโลยีนานาชนิดมาใช้กับผู้ป่วยจนอยู่ในสภาพทุกข์ทรมาน ก็ช่วยประคับประคองให้ เขาได้ทำสิ่งที่อยากทำมากที่สุดในวาระสุดท้าย ขณะเดียวกันแทนที่จะมุ่งแทรกแซงร่างกายของเขาด้วยวิธีการที่รุนแรง ก็หันมาดูแลจิตใจของเขาควบคู่กับการลดความทุกข์ทรมานทางกาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ช่วยประคองคุณภาพชีวิตของเขาให้อยู่ในสภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

    วิธีการหลังนั้นให้ทางเลือกแก่ผู้ป่วย แทนที่จะอยู่ห้องไอซียูจนสิ้นลม ก็อาจกลับมาอยู่บ้าน หรืออยู่โรงพยาบาลก็ได้ ในหลายประเทศมีการสร้างสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (hospice) ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล แม้ใช้เทคโนโลยีไม่มาก ทุนรอนก็น้อยกว่า แต่ปรากฏว่าผู้ป่วยที่เลือกวิธีการหลังได้รับผลดีอย่างเห็นได้ชัด

    ในสหรัฐอเมริกามีการวิจัยพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ เครื่องกระตุ้นหัวใจ ถูกปั๊มหัวใจ หรืออยู่ในห้องไอซียูนั้น คุณภาพชีวิตของเขาในอาทิตย์สุดท้ายย่ำแย่กว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยวิธีการดังกล่าวเลย ยิ่งกว่านั้นยังพบว่า ผู้ป่วยที่เลือกมาอยู่ในสถานดูแลระยะท้าย มีความทุกข์ทรมานน้อยกว่า ช่วยตัวเองได้มากกว่า สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดีกว่าและยืนยาวกว่า

    ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ การวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะท้ายจำนวน ๑๕๑ คนที่โรงพยาบาลแมสสาชูเสทได้จัดทำขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๓ พบว่า ผู้ป่วยที่เลิกรับเคมีบำบัด (คือไม่คิดยื้อชีวิตให้ยืนยาวขึ้น) แล้วหันมาใช้วิธีแบบประคับประคองในสถานดูแลระยะท้าย นอกจากจะมีความทุกข์ทรมานน้อยกว่าผู้ป่วยที่ใช้เคมีบำบัดแล้ว ยังกลับมีชีวิตยืนยาวกว่าคนกลุ่มหลังถึงร้อยละ ๒๕ ด้วย

    ในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะระยะสุดท้าย เราจะคำนึงแต่การเยียวยาทางกายหาได้ไม่ การดูแลจิตใจก็สำคัญอย่างยิ่ง การยื้ออวัยวะต่าง ๆ ให้อยู่นานขึ้น ยืดลมหายใจให้ยืนยาวขึ้น ไม่ควรเป็นจุดหมายสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สิ่งสำคัญกว่าก็คือการช่วยให้เขาสุขสบายทั้งกายและใจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่พึงคำนึงถึงแต่ปริมาณหรือตัวเลขของสัญญาณชีพ แต่ควรให้ความสำคัญแก่คุณภาพชีวิตของเขาด้วย

    ใช่หรือไม่ว่าประการหลังคือสิ่งดีที่สุดที่เราควรมอบให้แก่คนรักก่อนที่เขาจะสิ้นลม
    :- https://visalo.org/article/secret255805.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...