บทความให้กำลังใจ(มีแต่ไม่เอา)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    วางลงบ้าง
    พระไพศาล วิสาโล
    “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”

    นี้เป็นพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ชาวพุทธไทยคุ้นหูมาก น่าสนใจก็ตรงที่พระพุทธองค์มิได้ตรัสภาษิตนี้ด้วยเหตุที่ฆราวาสอาฆาตพยาบาทต่อกันเท่านั้น หากยังทรงปรารภเหตุมาจากการที่ภิกษุสงฆ์ทะเลาะเบาะแว้งกันด้วย ดังมีปรากฏในโกสัมพิยชาดก อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภิกษุกรุงโกสัมพีที่แตกแยกกันเป็นฝักฝ่ายในสมัยพุทธกาล

    เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งพระธรรมกถึก (ผู้แสดงธรรม)ซึ่งมีลูกศิษย์หลายร้อย ได้เข้าไปปลดทุกข์ในส้วม เมื่อเสร็จกิจแล้วเหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะ ต่อมาพระวินัยธร (ผู้ชำนาญวินัย) ซึ่งมีลูกศิษย์หลายร้อยเช่นกัน เข้าไปใช้ส้วมนั้น ครั้นเห็นน้ำชำระนั้น ก็ออกมาถามพระธรรมกถึกว่า “ท่านไม่รู้หรือว่าการเหลือน้ำทิ้งไว้นั้นเป็นอาบัติ” เมื่อพระธรรมกถึกยอมรับว่าไม่ทราบ และขอปลงอาบัติ แต่พระวินัยธรตอบว่า “ในเมื่อท่านไม่ได้ตั้งใจ ก็ไม่เป็นอาบัติ”

    เรื่องน่าจะจบเพียงเท่านี้ แต่หลังจากนั้นพระวินัยธรได้กล่าวกับศิษย์ของตนทำนองตำหนิพระธรรมกถึกว่า แม้ต้องอาบัติก็ยังไม่รู้ ศิษย์พระวินัยธรจึงเอาคำพูดดังกล่าวไปพูดเยาะเย้ยให้ศิษย์พระธรรมกถึกฟัง เมื่อรู้ถึงหูพระธรรมกถึก ก็ไม่พอใจ พูดขึ้นมาว่า “พระวินัยธรรูปนี้ เมื่อก่อนบอกว่า ไม่เป็นอาบัติ แต่ตอนนี้บอกว่าเป็นอาบัติแล้ว อย่างนี้ก็พูดมุสาสิ” เมื่อได้ยินเช่นนี้ศิษย์ของพระธรรมกถึกก็ไปพูดข่มศิษย์พระวินัยธร ว่า “อาจารย์ของพวกท่านพูดมุสา” ผลก็คือเกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างศิษย์ของสองอาจารย์ ลามไปถึงครูบาอาจารย์ กลายเป็นปฏิปักษ์กัน เท่านั้นยังไม่พอ ญาติโยมและอุปัฏฐากของทั้งสองท่านก็แตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ต่างทุ่มเถียงกล่าวโทษกันจนเสียงอื้ออึง พระไตรปิฎกบรรยายว่า แม้กระทั่งเทวดาอารักขาทั้งสองฝ่ายก็แตกกันเป็นสองพวกไปจนถึงพรหมโลก

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบความ ก็เสด็จไปเตือนสติภิกษุทั้งสองฝ่าย ทรงชี้ให้เห็นโทษของความแตกสามัคคี และชักชวนให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกัน ทรงแสดงอานิสงส์ของความสามัคคี พร้อมกับชี้แจงแสดงเหตุผลนานัปการ รวมทั้งนำชาดกต่าง ๆ มาเล่าเป็นคติเตือนใจ

    แม้กระนั้นภิกษุทั้งสองฝ่ายก็ยังดื้อรั้น ไม่ยอมฟังคำของพระองค์แม้แต่น้อย กลับกราบทูลพระองค์ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่าได้มายุ่งเกี่ยวให้ลำบากพระองค์เลย โปรดอยู่สบายแต่พระองค์เดียวเถิด ปล่อยให้พวกข้าพระองค์ทะเลาะวิวาทกันต่อไปเถิด”

    เมื่อเป็นเช่นนี้ วันรุ่งขึ้นพระองค์ได้เสด็จไปบิณฑบาตเพียงพระองค์เดียว กลับจากบิณฑบาต ทรงเก็บเสนาสนะ ก่อนเสด็จออกจากกรุงโกสัมพี ได้ตรัสคาถา ตอนหนึ่งมีความว่า “ชนเหล่าใดเข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่อาจระงับได้ ... แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้ เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร แต่ยอมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า”

    จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปยังป่าปาลิเลยกะ และจำพรรษาที่นั่น ฝ่ายชาวโกสัมพีเมื่อไม่เห็นพระองค์ และรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ก็ไม่กราบไหว้ ไม่ถวายภัตตาหารแก่ภิกษุเหล่านั้น จนซูบผอมเพราะขาดอาหาร ในที่สุดภิกษุทั้งสองฝ่ายสำนึกตัวว่าผิด ยอมสามัคคีกัน และไปขอขมาโทษต่อพระพุทธองค์

    เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า คนที่ดื้อรั้นไม่ฟังคำสอนของพระพุทธองค์นั้น บางครั้งไม่ใช่คนที่ไกลวัดไกลธรรมหากได้แก่ภิกษุผู้อยู่ใกล้พระพุทธองค์นั้นเอง อีกทั้งไม่ใช่พระอลัชชีที่ติดในลาภสักการะ ไม่ใส่ใจในพระธรรมวินัย หากเป็นถึงครูบาอาจารย์ เป็นผู้มีความรู้มีการศึกษาทางธรรมวินัย มีลูกศิษย์และญาติโยมให้ความเคารพนับถือมากมาย อีกทั้งยังมีเทวดาอารักขาอีกด้วย หากไม่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าว ท่านเหล่านั้นสามารถเรียกว่าเป็น “พระดี”ได้ด้วยซ้ำไป
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    คำถามก็คือ อะไรทำให้ท่านเหล่านั้นดื้อรั้นจนทำผิดพลาดได้ถึงขนาดนั้น คำตอบก็คือ ความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน ซึ่งทำให้ปักใจเชื่อว่าอีกฝ่ายผิดเต็มที่ เมื่อหมกมุนอยู่กับความเชื่อว่าฉันถูก แกผิด ใจก็ปิดสนิท ไม่ยอมรับฟังความเห็นของใครทั้งนั้นที่ต่างไปจากตน ไม่เว้นแม้กระทั่งคำสอนของพระศาสดา เดาได้ไม่ยากว่าขณะที่พระองค์แสดงธรรมให้ภิกษุโกสัมพีฟัง ในใจของท่านเหล่านั้นอื้ออึงดังระงมด้วยคำกล่าวโทษอีกฝ่าย และปรารถนาให้ฝ่ายตรงข้ามมาขอโทษตนเอง แม้หูจะฟังแต่ก็ไม่ได้ยินคำสอนของพระพุทธองค์ กลับจะรู้สึกรำคาญด้วยซ้ำ ถึงกับทูลขอให้พระองค์ทรง “อยู่เฉย ๆ”

    ใช่แต่เท่านั้นความเชื่อมั่นว่าตนเองถูกเต็มร้อย ยังทำให้ไม่สามารถมองเห็นความผิดของตน หรือยอมรับได้ว่าตนเองก็มีส่วนผิดที่ทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จนวุ่นวายทั้งวัดและลามไปถึงฆราวาสญาติโยม(รวมทั้งเทวดาในสวรรค์) แม้ถึงเพียงนั้นแล้วก็ยังมองไม่เห็นว่าเกิดโทษภัยอะไรบ้าง เพราะใจจดจ่ออยู่แต่ความถูกของตนและความผิดของอีกฝ่าย

    ไม่มีอะไรทำให้ใจปิดและสติปัญญาคับแคบ มองเห็นแค่ปลายจมูก ได้มากเท่ากับความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน ผลก็คือทำผิดโดยไม่รู้ตัว และทั้ง ๆ ที่ทำผิดก็ยังเชื่อว่าตนเองทำถูก ซึ่งก็หนุนส่งให้ทำผิดมากขึ้น โดยยากที่จะยอมรับผิด ดังกรณีภิกษุโกสัมพี ทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงปลีกพระองค์ไปจำพรรษาในป่าแต่พระองค์เดียว ก็ยังไม่รู้สำนึก ทุ่มเถียงกันต่อไป ต่อเมื่อถูกชาวบ้านประท้วงด้วยการไม่กราบไหว้ ไม่ถวายอาหาร ร่างกายซูบผอม จึงยอมลดทิฐิมานะ ยอมรับผิด กลับมาสามัคคีกัน แม้กระนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการสำนึกผิดอย่างแท้จริง เนื่องจากทำไปเพราะถูกแรงกดดันจากญาติโยม นั่นเป็นเหตุผลเดียวกับที่พากันไปขอขมาโทษจากพระพุทธองค์ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากญาติโยมอีกต่อไป

    นี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับ “คนดี” เพราะยิ่งทำดีมากเท่าใด ก็ยิ่งยึดติดในความดีหรือความถูกต้องของตนได้ง่ายเท่านั้น สามารถทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้โดยไม่รู้ตัว ความขัดแย้งที่ลุกลามจนกลายเป็นการทะเลาะวิวาทถึงกับฆ่าฟันห้ำหั่นกันกลายเป็นสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า จำนวนไม่น้อยเป็นเพราะความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน จนไม่สนใจว่ามีความพินาศเกิดขึ้นกับตนและผู้อื่นมากมายเพียงใด ขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะก็พอ

    ถ้าเรายึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตนให้น้อยลง เปิดใจฟังผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งเปิดตามองเห็นโทษภัยที่เกิดจากความยึดติดดังกล่าวบ้าง อย่าคิดแต่จะเอาชนะกัน ความวิวาทบางหมางและการทำลายล้างกันจะน้อยลง ชีวิตจะผาสุกและบ้านเมืองจะมีความสงบกว่านี้มาก
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255701.html

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    “สติ” ที่ถูกมองข้าม
    พระไพศาล วิสาโล
    การฝึกสติกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา สิ่งซึ่งครั้งหนึ่งจำกัดวงอยู่ในสำนักปฏิบัติธรรมของชาวพุทธกลุ่มเล็ก ๆ บัดนี้ได้แพร่หลายไปตามโรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย องค์กรธุรกิจ หน่วยงานราชการ ไม่เว้นกระทั่งเรือนจำ ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าการฝึกสติได้เข้าสู่กระแสหลักของสังคมอเมริกันไปแล้ว

    บริษัทชั้นนำของอเมริกาเป็นอันมากได้จัดคอร์สเจริญสติให้แก่ผู้บริหารและพนักงานอย่างจริงจัง กูเกิลมีโครงการฝึกสติชื่อ “แสวงหาด้านในของคุณ” (Search Inside Yourself) ปีละ ๔ ครั้ง ๆ ละ ๗ สัปดาห์สำหรับเจ้าหน้าที่ของตน ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ในสำนักงานของกูเกิลยังมีทางเดินจงกรมซึ่งทำเป็นรูปเขาวงกต ขณะที่อีเบย์จัดห้องสมาธิที่มีบรรยากาศชวนนั่งเจริญสติ ส่วนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คก็ไม่ยอมน้อยหน้า มีการจัดคอร์สเจริญสติแก่พนักงานเช่นกัน ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์คนหนึ่ง แม้แยกตัวมาตั้งบริษัทใหม่ แต่ก็ยังจัดให้มีการฝึกสติเป็นประจำ

    ล่าสุดท่านติช นัท ฮันห์ ได้รับนิมนต์ให้ไปนำการเจริญสติที่สำนักงานของกูเกิล โดยมีผู้บริหารของบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีมาร่วมปฏิบัติด้วย ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นธนาคารโลกเป็นเจ้าภาพอาราธนาท่านติช นัท ฮันห์ไปบรรยายเรื่องพลังแห่งสติ ซึ่งได้รับความสนใจจากพนักงานอย่างล้นหลามจนห้องประชุมแน่นขนัด

    กิจกรรมหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้นำด้านเทคโนโลยีมีร่วมอย่างคับคั่ง คือ Wisdom 2.0 ซึ่งเป็นเสมือนมหกรรมประจำปีด้านการเจริญสติ ปีนี้มีคนเข้าร่วมกว่า ๒,๐๐๐ คน (ปีแรกที่จัดคือ ๒๕๕๒ มีคนร่วมเพียง ๓๒๕ คน) มีองค์กรมากมายผุดขึ้นเพื่อรับจัดคอร์สฝึกสติให้แก่บริษัทต่าง ๆ โดยมีรูปแบบและจุดเน้นจุดขายที่หลากหลาย ใช่แต่เท่านั้นอุปกรณ์ส่งเสริมการเจริญสติก็ขายดีมาก นอกจากเบาะรองนั่ง เสื่อ ระฆัง ธูป แล้ว ปัจจุบันมีแอปส์( apps)นับร้อย ๆ ที่เกี่ยวกับการฝึกสติและทำสมาธิ ยิ่งหนังสือด้วยแล้ว ไม่ยากเลยที่จะหาหนังสือที่มีชื่อผูกกับคำว่า “สติ” หรือ mindfulness เช่น การเลี้ยงลูกอย่างมีสติ การกินอย่างมีสติ การสอนอย่างมีสติ การบำบัดด้วยสติ การเรียนรู้อย่างมีสติ การเมืองแห่งสติ (Mindful Politics) สมองกับสติ (The Mindful Brain) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่นิตยสารไทม์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขึ้นปกด้วยภาพหญิงสาวในชุดขาวกำลังหลับตาทำสมาธิอย่างสงบ พร้อมกับพาดข้อความว่า “The Mindful Revolution” เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา

    อะไรทำให้การฝึกสติได้รับความนิยมอย่างมากมายเช่นนี้ เหตุผลสำคัญก็คือ ความเครียดที่มากขึ้น อันเนื่องจากชีวิตที่เร่งรีบและข้อมูลที่ท่วมท้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น อีกส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีด้านสารสนเทศที่ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกับโลกแห่งข้อมูลอันมากมายมหาศาล ทำให้ผู้คนแทบไม่มีเวลาเป็นของตนเอง ยังไม่ต้องพูดถึงการงานที่สามารถแทรกเข้ามาในช่วงเวลาที่ควรจะเป็นส่วนตัว (เช่น เวลาพักผ่อน อยู่กับครอบครัว หรือเวลานอน) ความเครียดเหล่านี้ผู้คนพบว่าไม่อาจบรรเทาได้ด้วยวิธีการที่คุ้นเคย เช่น กิน เที่ยว เล่น เพราะให้ผลเพียงชั่วคราว อีกทั้งยังมีโทษตามมาโดยเฉพาะการเสพติดยาหรืออบายมุข

    หลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่ชี้ว่า การเจริญสตินั้นช่วยลดความเครียดได้ อีกทั้งยังมีผลดีต่อสุขภาพ แถมยังช่วยให้มีสมาธิดีขึ้นด้วย ผลดีที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้เชื้อเชิญให้ผู้คนเข้าหาการเจริญสติ ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจก็เห็นว่ามันเป็นผลดีต่อหน่วยงานของตนด้วย เพราะช่วยให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการหลังนี้เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดใจผู้บริหารองค์กรธุรกิจมากเพราะเชื่อว่ามันจะทำให้หน่วยงานของตนมี “ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน” นี้คือเหตุผลประการหนึ่งที่มีการนำการเจริญสติเข้าไปในคณะธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ใช่แต่เท่านั้นมันยังเป็นจุดขายขององค์กรที่รับจัดทำคอร์สเจริญสติให้แก่องค์กรธุรกิจด้วย
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    สภาพการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องดีเสมอไป หลายคนเป็นห่วงว่า การเจริญสติกำลังกลายเป็นธุรกิจทำกำไร ซึ่งทำให้ “สติ”กลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่ง นั่นหมายความว่า ความหมายและคุณค่าของสติย่อมแปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไป คุณค่าของสติไม่ได้อยู่ที่การลดความเครียดหรือการมีสมาธิกับงานเท่านั้น ที่สำคัญก็คือสติช่วยให้เรารู้เท่าทันกิเลสตัณหาของตนและไม่ตกอยู่ในอำนาจของมัน รวมทั้งช่วยให้เห็นกายและใจตามเป็นจริง ไม่เห็นผิดหรือหลงในมายาภาพที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา สติอย่างนี้แหละที่เรียกว่าสัมมาสติ ตราบใดที่การเจริญสติยังอยู่ในระดับที่ช่วยให้จิตหายฟุ้งซ่านเท่านั้น ความเครียดหรือความสงบที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นของชั่วคราว เนื่องจากกิเลสตัณหายังมีอยู่เท่าเดิม พอมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้อยาก หรือประสบกับความไม่สมอยาก หรือเห็นคนอื่นได้รับความสำเร็จมากกว่าตน จิตใจก็จะรุ่มร้อน เครียดและเป็นทุกข์อีก

    การใช้สติเพื่อช่วยให้จิตสงบและเป็นสมาธิ จะได้ทำกำไรยิ่งกว่าเดิมนั้น จะไม่ช่วยให้เราพบกับความสงบเย็นและผ่อนคลายอย่างแท้จริง กลับทำให้รากเหง้าของความทุกข์และความเครียดมั่นคงแข็งแรงขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหาให้มากขึ้น การเจริญสติที่แท้ไม่เพียงบรรเทาความฟุ้งซ่านเท่านั้น หากยังช่วยให้เราเห็นความจริงว่า ความสุขที่แท้มิได้อยู่ที่เงินทอง ชื่อเสียง และความสำเร็จ หากอยู่ที่ใจซึ่งสงบจากกิเลส ตัณหาเบาบาง ไม่คับแคบเพราะความเห็นแก่ตัว แม้จะทำงานเต็มที่ แต่ก็มิได้มุ่งหมายเอาชนะผู้อื่นหรือตักตวงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แทนที่จะเอาเข้าตัว สติช่วยเปิดใจให้กว้าง มีเมตตาเกื้อกูลผู้อื่น ซึ่งยิ่งทำก็ยิ่งช่วยให้ใจสงบเย็น

    จะว่าไปแล้วสัมมาสติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ย่อมอาศัยกุศลธรรมอื่น ๆ เป็นตัวรองรับสนับสนุน เช่น ความเห็นชอบ การคิดชอบ การพูดชอบ การกระทำชอบ(คือ มีศีล ) และการเลี้ยงชีพชอบ เป็นต้น ดังนั้นการรักษากาย วาจา ใจให้ดีงาม จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเจริญสติด้วย เพียงแค่นั่งในห้องสมาธิหรือเดินอย่างสงบบนทางจงกรม ยังไม่พอ หากจำต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องทั้งภายในและภายนอกอย่างกลมกลืนกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งในการทำงานด้วย

    สติจึงไม่ใช่แค่เทคนิคการฝึกจิตเท่านั้น แต่สัมพันธ์กับโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตทั้งหมดด้วย หากแยกการเจริญสติออกมาจากการดำเนินชีวิต หรือเอามาใช้เฉพาะเรื่องเฉพาะกิจ มันก็อาจกลายเป็นมิจฉาสติได้ เพราะอย่าลืมว่าแม้แต่โจรหรือขโมยก็ต้องใช้สติในการประกอบมิจฉาชีพเช่นกัน แต่สติอย่างนั้นย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากมิจฉาสติ เพราะนอกจากจะปล่อยให้กิเลสตัณหาครอบงำจิตแล้ว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทำความชั่วอีกด้วย

    สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกานั้น จะว่าไปก็ไม่ต่างกับที่กำลังเกิดในเมืองไทย ดังทุกวันนี้แทบทุกวงการพากันพูดถึงการเจริญสติ ทำสมาธิ และปฏิบัติธรรม ขณะที่หนังสือธรรมะก็ขายดี แต่หากการปฏิบัติธรรมยังไม่ช่วยให้กิเลสของเราลดลง ยังมีความเห็นแก่ตัว อยากได้ใคร่ดี หรือไร้น้ำใจเหมือนเดิม ก็แน่ใจได้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่การเจริญสัมมาสติอย่างแน่นอน
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255705.html
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    พร้อมตายจึงพ้นตาย
    พระไพศาล วิสาโล
    ในการธุดงค์คราวหนึ่งพระอาจารย์ลี ธัมมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม ได้พบผู้เฒ่าสองสามีภรรยา ซึ่งมีอาชีพหาของป่า ทั้งสองได้เล่าประสบการณ์เฉียดตายให้ท่านฟังว่า ขณะที่กำลังเก็บน้ำมันยางกลางดงใหญ่ ทั้งสองได้ประจันหน้ากับหมีกลางป่า แม่เฒ่าวิ่งหนีขึ้นต้นไม้ทัน ส่วนพ่อเฒ่าหนีไม่ทันจึงถูกหมีทำร้าย เขาพยายามต่อสู้แต่สู้ไม่ไหว ทำท่าว่าจะไม่รอด เพราะหมีตัวใหญ่และดุร้ายมาก ขณะนั้นเองก็ได้ยินแม่เฒ่าตะโกนว่า ให้นอนหงายเหมือนคนตาย อย่ากระดุกกระดิก พ่อเฒ่าจึงล้มตัวลงนอนแผ่ ไม่ไหวติงเหมือนคนตาย หมีเห็นเช่นนั้นก็หยุดตะปบ แล้วสำรวจร่างพ่อเฒ่า ทั้งดึงขาและหัวของเขา กับเอาปากดุนตัว พ่อเฒ่าก็ทำตัวอ่อนไปมา ขณะเดียวกันก็คุมสติให้มั่นด้วยการบริกรรม “พุทโธ”

    หมีเห็นพ่อเฒ่าไม่กระดุกกระดิก นึกว่าตายจริงจึงเดินจากไป ด้วยอุบายดังกล่าวพ่อเฒ่าจึงรอดตาย เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าดังกล่าวพระอาจารย์ลี จึงได้ข้อคิดว่า “คนที่จะพ้นตายต้องทำตนเหมือนคนตาย”

    หลายคนมีประสบการณ์คล้ายพ่อเฒ่าผู้นี้คือรอดตายเพราะทำตัวแน่นิ่งเหมือนคนตาย โจรหรือผู้ร้ายจึงตายใจและเดินจากไป อย่างไรก็ตามการ “ทำตนเหมือนคนตาย”นั้น ไม่ได้หมายความถึงการแกล้งตายหรือทำตัวแน่นิ่งอย่างเดียว แม้คนที่ทำใจสงบนิ่งเมื่อภัยมาถึงตัว พร้อมรับความตายเต็มที่ ก็สามารถ “พ้นตาย”ได้เหมือนกัน

    หญิงผู้หนึ่งขับรถบนทางด่วนด้วยความเร็วสูง สักพักก็เห็นรถติดเป็นแพยาวเหยียดอยู่ข้างหน้า เธอจึงชะลอรถแต่ไกล แต่เมื่อรถใกล้ต่อท้ายคันหน้า เธอเหลือบมองกระจกหลัง ก็เห็นรถคันหนึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วสูง ไม่มีทีท่าชะลอเลยทั้ง ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากรถของเธอ ชั่วขณะนั้นเองเธอรู้ว่ารถของเธอต้องถูกชนแน่ ซึ่งหมายความว่าเธอต้องถูกอัดกระแทกทั้งจากคันหน้าและคันหลัง และเธออาจไม่รอด

    วินาทีที่รู้ว่าเธอจะต้องตาย เธอก้มดูมือทั้งสองซึ่งกำพวงมาลัยไว้แน่น เห็นได้ชัดว่าใจของเธอกำลังเครียดเกร็ง เธอเพิ่งรู้ว่านี้คือสิ่งที่เธอเป็นมาตลอดชีวิต เธอตั้งใจว่าถ้าจะต้องตายก็ต้องไม่ตายในอาการแบบนี้ เธอจึงหลับตา หายใจเข้าลึก ๆ และปล่อยมือลงข้างตัว ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น วินาทีต่อมารถคันหลังก็พุ่งชนรถของเธออย่างแรง ส่งเสียงดังสนั่น

    รถทั้งสองคันพังยับเยิน แต่เธอกลับไม่เป็นอะไรเลย ตำรวจบอกว่าเธอโชคดีที่ปล่อยตัวตามสบาย ถ้าเธอเกร็งตัว ก็อาจบาดเจ็บสาหัสหรือถึงกับคอหักตายได้เพราะแรงกระแทก

    อีกรายหนึ่งเล่าว่าครั้งหนึ่งได้ไปว่ายน้ำที่เกาะสมุย จู่ ๆ ก็สังเกตว่ากระแสน้ำพัดเธอออกห่างจากฝั่งไกลขึ้นเรื่อย ๆ เธอพยายามว่ายเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งเหนื่อย เพราะไม่อาจทานกระแสน้ำที่พัดออกจากฝั่งได้ เพื่อน ๆ พยายามว่ายมาช่วยเธอ แต่พอรู้ว่าสู้กระแสน้ำไม่ได้ ก็ว่ายกลับเข้าฝั่ง เธอตกใจมากพยายามรวบรวมกำลังว่ายเข้าฝั่งแต่ไม่เป็นผล จนใกล้จะหมดแรง เธอรู้ว่าเธออาจจะไม่รอด ชั่ววินาทีนั้นเธอรวบรวมสติ คุมใจให้หายตื่นตระหนก พร้อมรับความตายที่จะมาถึง แทนที่จะว่ายต่อ เธอเลือกที่จะลอยตัวอยู่ในน้ำนิ่ง ๆ เธอพบว่าช่วงนั้นจิตใจสงบเป็นอย่างมาก ไม่มีความอาลัยหรือห่วงใยสิ่งใดทั้งสิ้น

    เวลาผ่านไปครู่ใหญ่เธอก็สังเกตว่าคลื่นค่อย ๆ ซัดตัวเธอเข้าหาฝั่ง ถึงตอนนี้เพื่อน ๆ ก็ว่ายมาช่วยพาเธอเข้าฝั่ง เธอเล่าว่าที่รอดตายได้ก็เพราะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ ในทะเล จนมาถึงบริเวณที่ปลอดกระแสน้ำดังกล่าว หากเธอกระเสือกกระสนว่ายเข้าฝั่งตั้งแต่ทีแรก ก็คงหมดแรงและจมน้ำในที่สุด

    ทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างของคนที่รอดตายเพราะทำใจพร้อมรับความตาย โดยไม่ขัดขืนดิ้นรน เพราะรู้ว่าภัยมาถึงตัวแน่แล้ว ป่วยการที่จะต่อสู้ มีอย่างเดียวที่จะทำได้คือทำใจนิ่ง ยอมรับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อใจนิ่ง กายก็นิ่งและผ่อนคลาย และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองรอดตายได้

    เป็นธรรมชาติของคนเรา เมื่อมีภัยมาประชิดตัว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันทีคือ “สู้” หรือ “หนี”
    ปฏิกิริยาทั้งสองประการจะได้ผลก็ต่อเมื่อมีกำลังสู้ไหว หรือหนีได้ แต่หากสู้ไม่ได้หนีไม่พ้น ไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับมันโดยดุษณี อย่างน้อยก็ทำให้ใจไม่ทุกข์ ดีกว่าทุกข์ทั้งกายและใจ และหาก “โชคดี” ก็อาจรอดพ้นจากอันตรายได้ ดังตัวอย่างทั้งสามกรณี

    การยอมรับความจริงด้วยใจสงบ มีประโยชน์ไม่เฉพาะในยามที่อันตรายจากภายนอกมาประชิดตัวเท่านั้น แม้ในยามที่เจ็บป่วย ใจที่ไม่ต่อสู้ขัดขืนก็ช่วยได้มากเช่นกัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยกายไม่มาก แต่เนื่องจากใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ยิ่งปรุงแต่งไปในทางร้าย ใจก็ยิ่งยอมรับความป่วยไม่ได้ ผลก็คือร่างกายทรุดหนัก นับประสาอะไรกับคนที่ป่วยหนักด้วยโรคร้าย ถ้าใจยอมรับความจริงไม่ได้ อาจตายเร็วกว่าที่หมอคาดการณ์ไว้เสียอีก ตรงข้ามกับคนที่ทำใจได้ พร้อมรับความตายทุกขณะ กลับมีชีวิตยืนยาวมากกว่า และบางคนสามารถเอาชนะโรคร้ายได้ด้วยซ้ำ

    ใจที่ดิ้นรนหรือต่อสู้ขัดขืนกับโรคร้าย อาจทำให้ความทุกข์ทางกายเพิ่มพูนขึ้นสองหรือสามเท่าตัวด้วยซ้ำ ซึ่งเท่ากับเร่งความตายให้มาถึงเร็วเข้า ถามว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ใจดิ้นรนหรือต่อสู้ขัดขืน คำตอบก็คือ ความกลัว เช่น กลัวตาย กลัวสูญเสีย กลัวเจ็บปวด ความจริงอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนว่าโลกเล่นตลกก็คือ ยิ่งกลัวเจ็บปวด ก็กลับเจ็บปวดมากขึ้น มีคนทำวิจัยพบว่า คนที่กลัวเจ็บจากเข็มฉีดยา เมื่อถูกเข็มแทงเข้าจะรู้สึกเจ็บมากกว่าปกติถึงสามเท่า ส่วนคนที่ไม่กลัว ยอมให้ฉีดยาโดยดุษณี จะรู้สึกเจ็บน้อยมาก เรียกว่าความเจ็บหารสองหรือหารสามก็น่าจะได้
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    สำหรับคนทั่วไปไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับความตาย แต่ความจริงแล้วสิ่งที่น่ากลัวกว่าความตายก็คือความกลัวตายต่างหาก คนเรากลัวตายด้วยหลายสาเหตุ เช่น กลัวพลัดพรากจากคนรัก ห่วงใยลูกเมียที่ยังอยู่ มีงานการที่ยังสะสางไม่เสร็จ กล่าวโดยสรุป ใจที่ยังยึดติดผูกพัน ปล่อยวางไม่ได้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรากลัวตาย ดังนั้นจึงต่อสู้ขัดขืนกับโรคร้ายและความตาย ยิ่งต่อสู้ขัดขืนใจก็ยิ่งทุกข์ เพราะโรคไม่ยอมหาย และยิ่งใจทุกข์ โรคก็ยิ่งกำเริบ ซึ่งก็ทำให้ทุกข์ใจมากขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกายและใจทรุดหนักเกินกว่าที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้

    แต่สำหรับบางคน สาเหตุที่ต่อสู้ขัดขืนกับโรคภัยและความตายก็เพราะเป็นห่วงคนที่อยู่รอบตัว มีพระรูปหนึ่งป่วยเรื้อรังโดยหมอไม่พบสาเหตุ ระยะหลังท่านมีอาการอ่อนเพลียมากจนต้องนอนซมอยู่บนเตียงตลอดเวลา ทางวัดพยายามช่วยท่านทุกวิถีทาง ทั้งด้วยการรักษาแผนใหม่และการรักษาแบบทางเลือก แต่อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้น เพื่อนพระจากวัดต่าง ๆ พากันมาให้กำลังใจ ท่านจึงพยายามรักษาตัวให้ดีขึ้น แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด อาการของท่านมีแต่จะทรุดลง หลายคนเป็นห่วงว่าท่านจะไม่รอด แต่ท่านก็พยายามฝืนสู้โรคภัยไข้เจ็บ แต่ดูจะไม่ค่อยมีหวังเท่าใด

    แล้ววันหนึ่งพระอาจารย์ของท่านซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอีกวัดหนึ่งได้มาเยี่ยมท่าน ท่านเรียกชื่อของพระรูปนั้น แล้วพูดสั้น ๆ ว่า “ถ้าท่านจะตายก็ตายได้นะ ท่านไม่ต้องพยายามหายหรอก” ทันทีที่ได้ยิน ท่านถึงกับร้องไห้ ไม่ใช่ด้วยความเสียใจ แต่เพราะซาบซึ้งใจที่พระอาจารย์ได้ช่วยปลดเปลื้องภาระอันหนักอึ้งออกไปจากจิตใจของท่าน ที่ผ่านมาท่านรู้สึกผิดที่ทำให้เพื่อนผิดหวัง แต่ละคนอยากให้ท่านหาย แต่เมื่อท่านไม่หาย ท่านจึงมีความทุกข์ใจมาก และพยายามที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บเต็มที่ แต่ยิ่งปฏิเสธความเจ็บป่วย ใจก็ยิ่งทุกข์และซ้ำเติมความเจ็บป่วยให้หนักขึ้น แต่เมื่อพระอาจารย์อนุญาตให้ท่านตาย ท่านก็รู้สึกว่าท่านตายได้แล้วโดยไม่ต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป ใจจึงพร้อมที่จะตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืน ปรากฏว่านับแต่วันนั้นอาการของท่านดีขึ้นเป็นลำดับจนหายเป็นปกติ เป็นที่อัศจรรย์ใจของผู้ติดตามอาการของท่าน กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าเมื่อใจพร้อมตายก็กลับรอดตายได้

    ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องคล้าย ๆ กันนี้ นกุลบิดาเป็นอุบาสกผู้ใฝ่ธรรม ต่อมาท่านป่วยหนักเจียนตาย นกุลมารดาซึ่งเป็นภรรยาเห็นสีหน้าของสามีก็รู้ว่าเป็นทุกข์มาก ไม่อยากให้สามีสิ้นลมด้วยใจที่ยังห่วงใย จึงพูดให้นกุลบิดาปล่อยวางด้วยการให้ความมั่นใจทีละอย่าง ๆ ว่า ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะเลี้ยงลูกและดูแลบ้านเรือนไม่ได้ ขอให้มั่นใจว่าเราจะดูแลลูกและบ้านเรือนได้ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไปหาชายอื่น ขอให้มั่นใจว่าเราจะไม่มีชายอื่นแน่นอน ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่ต้องการเห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ขอให้มั่นใจว่าเราปรารถนาจะเห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์อยู่เนือง ๆ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์ ขอให้มั่นใจว่าเราจะรักษาศีลให้บริบูรณ์ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่มีความสงบใจ ขอให้มั่นใจว่าเราจะมีความสงบใจ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะมีความเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัย ขอให้มั่นใจว่าเราจะพ้นจากความเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัย

    พระไตรปิฎกกล่าวว่าเมื่อได้ฟังคำของภรรยาเช่นนี้ นกุลบิดาก็หายป่วยทันที ทั้งสองกรณีหลัง หากอธิบายอย่างสมัยใหม่ก็คือ ใจที่ปล่อยวาง ไร้ความวิตกกังวล ย่อมรู้สึกผ่อนคลาย นิ่งสงบ และเป็นสุข นอกจากจะช่วยบรรเทาความทุกข์ทางกายแล้ว ยังกระตุ้นกระบวนการเยียวยาตนเองจนร่างกายหายจากความเจ็บป่วยได้

    เมื่อใจพร้อมตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืนความตาย ก็ไม่ต่างจากการ “ทำตนเหมือนคนตาย” และดังนั้นจึงอาจ “พ้นตาย”ดังคำของพระอาจารย์ลีได้ อย่างไรก็ตามประโยคข้างต้นของพระอาจารย์ลีมีความหมายลึกกว่าการอยู่นิ่ง ๆ ทำตัวเสมือนตายหรือทำใจนิ่งสงบพร้อมตาย ความหมายที่ลึกกว่านั้นก็คือ การอยู่อย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่อาลัยในชีวิต อีกทั้งไร้ความทะยานอยาก ไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรม จะอยู่หรือตายก็มีความรู้สึกเท่ากัน ผู้ที่วางใจได้เช่นนี้ความตายย่อมทำอะไรไม่ได้

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ทำใจพร้อมตาย ก็อาจหนีความตายไม่พ้น แต่หากใครก็ตามสามารถทำใจถึงขั้นว่าไม่อาลัยในชีวิต และปล่อยวางทุกสิ่งแม้กระทั่งความยึดถือในตัวตน จน “ตัวกู”ไม่มีที่ตั้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ตายก่อนตาย” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาส บุคคลเช่นนี้ย่อมอยู่เหนือความตาย เมื่อความตายมาถึงก็มีแต่นามรูปเท่านั้นที่แตกดับไป แต่หามี “ผู้ตาย”ไม่ นี้ใช่ไหมที่เป็นการ “พ้นตาย”อย่างแท้จริง
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255109.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    ต่อยอดด้วยมิติทางจิตใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    พระชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนสมัยที่สงครามในเขมรเพิ่งยุติใหม่ ๆ ท่านกับเพื่อน ๆ รวบรวมเงินได้หลายล้านเยนเพื่อจะนำไปช่วยเหลือชาวเขมรที่ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากท่านต้องการให้เงินก้อนนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้คนที่ทุกข์ยากจริง ๆ จึงเดินทางไปพบปะกับชาวเขมรตามที่ต่าง ๆ ด้วยตนเอง

    มีคราวหนึ่งท่านได้ไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งในชนบท โรงเรียนแห่งนี้ขัดสนไปเกือบทุกอย่าง มีเพียงอาคารหลังเก่า ๆ และบรรยากาศที่ดูเศร้าสร้อย ท่านได้ถามครูใหญ่ว่าอยากให้ท่านช่วยเหลืออะไรบ้าง ปรากฏว่าคำตอบที่ได้นั้น ไม่ใช่โต๊ะ เก้าอี้ กระดาน และเครื่องเขียน แต่ได้แก่ “เมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ดอก”

    พระญี่ปุ่นนึกไม่ถึงว่าจะได้คำตอบนี้ จึงถามถึงเหตุผล ครูใหญ่อธิบายว่า เด็กนักเรียนในโรงเรียนนี้ได้พบเห็นสงคราม การฆ่าฟันและการทำลายล้าง มาตั้งแต่เกิด เด็กเหล่านี้แทบจะไม่เห็นอะไรที่ดี ๆ เลยในชีวิต จิตใจจึงหดหู่แห้งแล้ง ครูใหญ่เห็นว่าสิ่งสำคัญอย่างแรกที่เด็ก ๆ ต้องการก็คือ ความสดใสงดงามและความชื่นบาน ครูใหญ่เชื่อว่าดอกไม้ที่เบ่งบานไปทั่วโรงเรียนจะช่วยให้เด็กกลับมีความหวังและความเบิกบานขึ้นใหม่

    พระญี่ปุ่นท่านนี้บอกว่าฟังแล้วก็รู้สึกละอายใจที่นึกถึงแต่วัตถุ ตัวเองเป็นพระแท้ ๆ แต่ไม่ได้นึกถึงเรื่องของจิตใจเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อท่านกลับไปญี่ปุ่น ได้ส่งเงินไปให้โรงเรียนซื้อเมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ตามต้องการ ไม่นานโรงเรียนแห่งนั้นก็สะพรั่งด้วยดอกไม้ ทั้งดอกไม้บนพื้นดินและดอกไม้ในใจเด็ก

    ใช่หรือไม่ว่าคนส่วนใหญ่ก็คิดแบบพระญี่ปุ่นท่านนี้(ในตอนแรก) ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จไปแล้วว่าหากเจอโรงเรียนเก่า ๆ ที่ยากจน ก็ต้องนึกถึงโต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องเขียน (จะให้ทันสมัยหน่อยก็ต้องพ่วงคอมพิวเตอร์ไปด้วย) เป็นอันดับแรก ส่วนสิ่งที่จะบำรุงจิตใจนั้นเอาไว้ท้าย ๆ หรือไม่ก็ลืมไปเลย

    การเน้นวัตถุแต่มองข้ามจิตใจ มิเพียงสะท้อนให้เห็นจากค่านิยมของโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศที่แข่งกันทำป้ายชื่อโรงเรียนขนาดยักษ์และรั้วราคาแพง ๆ ในขณะที่คุณธรรมและความรู้ของนักเรียนกลับตกต่ำอย่างน่าเป็นห่วงแล้ว เรายังพบทัศนคติอย่างนี้ไปทุกวงการแม้กระทั่งวงการศาสนา

    มิติทางจิตใจนับวันจะกลายเป็นส่วนเกินของชีวิตและกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมไปเสียแล้ว การทำมาหากินและการพัฒนาเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องของการหาเงินและเพิ่มรายได้ล้วน ๆ จนเม็ดเงินกลายเป็นจุดหมายในตัวมันเอง วัฒนธรรมและประเพณีก็มิใช่อะไรอื่นหากคือสินค้าอีกอย่างหนึ่งที่สามารถดึงเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวได้เท่านั้น เวลารัฐบาลรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ผลเสียที่ยกมาย้ำเตือนให้ประชาชนตระหนักก็คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ราวกับว่าความทุกข์ยากและความเศร้าโศกจากการสูญเสียชีวิตหรือพิการนั้นไม่มีความสำคัญพอที่จะกล่าวถึง

    ความจริงแล้วมิติทางจิตใจไม่จำเป็นต้องแยกขาดจากชีวิตและกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมเลย กล่าวอีกนัยหนึ่งการให้ความสำคัญแก่จิตใจไม่ได้หมายความว่าต้องละทิ้งเรื่องวัตถุหรือเงินทอง เราสามารถทำอาชีพการงานเพื่อปากท้องควบคู่กับการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตนเอง หรืออาจไปถึงขั้นพัฒนาคุณภาพจิตใจพร้อม ๆ ไปกับการทำงานได้ ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุย้ำว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม”
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    ในทำนองเดียวกันการพัฒนาเศรษฐกิจก็สามารถผนวกมิติทางด้านจิตใจเข้าไปได้ กล่าวคือแทนที่จะเน้นแต่เม็ดเงินอย่างเดียว ก็มุ่งนำโภคทรัพย์ที่ได้นั้นมาพัฒนาสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ช่วยให้ผู้คนเอื้อเฟื้อต่อกันรวมทั้งมีชีวิตที่สงบสุขมากขึ้น วัตถุนั้นมิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อจิตใจเสมอไป หากรู้จักใช้กลับก็มีประโยชน์ต่อจิตใจ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้แนะให้สาวกของพระองค์รู้จักใช้โภคทรัพย์เพื่อ “ฝึกอบรมตน ทำตนให้สงบ ทำตนให้ดับเย็นสนิท”

    เราสามารถต่อเติมมิติทางจิตใจหรือจิตวิญญาณเข้าไปแม้กระทั่งในกิจกรรมพื้น ๆ ของชีวิต เช่น การกิน การหายใจ และการเดิน เวลากิน เราไม่เพียงบำรุงร่างกายเท่านั้น หากยังสามารถบำรุงจิตใจได้ด้วยหากกินอย่างมีสติ หรือกินโดยตระหนักถึงบุญคุณของสรรพชีวิต เช่นเดียวกัน เวลาหายใจ เราสามารถนำความสงบมาเลี้ยงจิตใจได้ด้วยหากมีสติกับการหายใจ เมื่อก้าวเดิน เราไม่เพียงแต่พาตัวให้ถึงเป้าหมายเท่านั้น หากยังสามารถนำพาจิตใจให้บรรลุถึงความรู้ตัวทั่วพร้อมได้ด้วย

    กายกับใจไม่จำเป็นต้องแยกจากกัน แต่มาเดี๋ยวนี้เรากำลังแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันมากขึ้น การกิน การหายใจกลายเป็นเรื่องกายล้วน ๆ ในทำนองเดียวกันเพศสัมพันธ์ก็ถูกทอนให้เหลือเพียงแค่กิจกรรมทางกาย แม้แต่เพศศึกษาก็มุ่งไปทำนองนี้ คือเน้นแต่เรื่องชีววิทยาและกายวิภาค ทั้ง ๆ ที่อีกส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ ความรัก ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจกันในระหว่างคนสองคน เช่นเดียวกันกีฬาก็กลายเป็นเพียงแค่การออกกำลังกาย ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้เป็นสื่อสร้างคุณธรรม คุณภาพจิตและความเข้าใจในชีวิตได้เป็นอย่างดี

    การตัดมิติทางจิตใจออกไปจากกิจกรรมต่าง ๆ ของชีวิตและสังคมนั้น มีแต่จะทำให้มนุษย์แปลกแยกจากตนเองมากขึ้น เพราะจิตใจนั้นก็เป็นส่วนสำคัญของเราทุกคน ละทิ้งจิตใจก็เท่ากับละทิ้งอีกครึ่งหนึ่งของตัวเราเองให้ตกต่ำ ผลก็คือมันจะคอยก่อกวนและฉุดรั้งชีวิตของเราให้เสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ ชีวิตที่ละเลยมิติทางจิตใจคือชีวิตที่อมทุกข์ ในทำนองเดียวกันประเทศที่ละเลยมิติทางจิตวิญญาณย่อมหาความสงบสุขได้ยาก แม้จะมั่งคั่งเพียงใดก็ตาม

    จะร่ำรวยแค่ไหน จะพัฒนาประเทศด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการนำมิติทางจิตใจมาต่อยอดทุกกิจกรรมของชีวิตและสังคม

    :- https://visalo.org/article/jitvivat254704.htm
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    ฟังด้วยใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    “แก้ว” ป่วยด้วยโรคมะเร็ง อาการของเธอลุกลามจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย โรงพยาบาลที่เธอรักษาตัวได้ส่งจิตอาสาผู้หนึ่งชื่อ “แพรว” มาเยี่ยมเธอ มาเป็นเพื่อนรับฟัง มาวันแรกแพรวก็ตั้งหน้าตั้งตาคุยฝ่ายเดียว และเรื่องที่คุยส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวของแพรวทั้งนั้น แก้วซึ่งเป็นคนไข้ก็ดีมาก เวลาแพรวมาเยี่ยมและพูดมากๆ แก้วก็ตั้งใจฟัง บางครั้งแพรวพูดจาวกวน แก้วก็ช่วยจับประเด็นให้เธอ การเยี่ยมเป็นเช่นนี้อยู่นานนับเดือน

    วันหนึ่ง แพรวมาหาแก้ว สีหน้าดูดีมากเธอเล่าว่าเธอเคยมีปัญหาทางจิต และเคยไปพบจิตแพทย์ก่อนที่จะมาเป็นจิตอาสา แต่อาการของเธอไม่ดีขึ้นเลย หมอเอาแต่ให้ยา เธอไม่ชอบ ตอนหลังเธอจึงไม่ได้ไปหาหมอ พอมีการเปิดรับจิตอาสา เธอก็เลยสมัครมาทำงานนี้ ล่าสุดเธอได้ไปหาจิตแพทย์อีก หมอทักว่าเธอดูดีขึ้นเยอะ แล้วถามว่าเธอไปรักษาที่ไหนมา เธอก็บอกว่าเธอไม่ได้ไปรักษาที่ไหนเลย นอกจากมาเป็นจิตอาสาให้แก้ว เธอเชื่อว่าที่เธอมีอาการดีขึ้นก็เพราะแก้วช่วยรับฟังเรื่องราวของเธออยู่เสมอ จึงอยากขอบคุณแก้วมาก

    การรับฟังนั้นเยียวยาผู้อื่นได้ ไม่เพียงเยียวยาทางใจเท่านั้น แต่ยังเยียวยาทางกายด้วย ถ้าใจสบาย กายก็ดีขึ้น

    มีหญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งเต้านม เธอรักษาตัวเองตามมาตรฐานคือฉายแสง คีโม แต่ก็รู้สึกปวดมาก เธอบ่นกับหมอว่าปวดมาก แต่หมอและพยาบาลสังเกตว่าเวลาเธอเดินเหินก็ดูปกติดี วันหนึ่งพยาบาลจึงลากเก้าอี้มานั่งคุยกับคนไข้นานเป็นชั่วโมง ส่วนใหญ่คนไข้เป็นฝ่ายคุย พยาบาลฟังด้วยความใส่ใจ เรื่องที่เล่าส่วนใหญ่เป็นการตัดพ้อสามีและลูก ที่ไม่สนใจเธอ ไม่มาเยี่ยมเลย เธอมีความโกรธ ไม่พอใจ น้อยใจ พยาบาลก็ฟังด้วยความใส่ใจ ไม่แทรก ไม่ขัด ไม่สอน การใส่ใจฟังของพยาบาลเป็นสิ่งที่คนไข้รู้สึกได้ เมื่อพูดจบเธอก็พูดขึ้นว่า “อืม หายปวดไปเยอะเลยนะ” แสดงว่าอาการปวดของเธอนั้นส่วนใหญ่เกิดจากความโกรธและความน้อยใจ เมื่อมีคนใส่ใจฟังโดยไม่ได้ชี้แนะอะไรเลย ก็ทำให้อาการดีขึ้น

    ปัญหาที่เกิดกับคนจำนวนไม่น้อยทุกวันนี้ก็คือ รู้สึกว่าไม่ค่อยมีคนฟังตน การฟังที่ว่าหมายถึงการฟังจริงๆ โดยไม่ต้องชี้แนะ ไม่ต้องสอน การฟังด้วยความใส่ใจนั้นสามารถเยียวยาผู้อื่นได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้คนฟังโดยไม่ค่อยใส่ใจเท่าไร ถึงแม้เราจะได้ยินเสียงที่เขาพูด แต่จริงๆ แล้วเราอาจไม่ได้เข้าใจอะไรเลย มีคำพูดที่ว่า ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง ซึ่งเป็นปัญหามาก ความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นเพราะเราไม่ได้ฟังกันอย่างจริงจัง และเมื่อไม่ฟังก็ทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น

    นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ เคยเล่าว่า ระหว่างที่เป็นวิทยากรได้พบว่าหมอฟันกับผู้ช่วยคู่หนึ่งมีความขัดแย้งกัน จึงชวนมาพูดคุยปรับความเข้าใจกัน โดยมีกติกาว่าให้แต่ละคนผลัดกันพูดว่า ตนไม่พอใจอีกฝ่ายด้วยเรื่องอะไร แต่ละคนมีเวลาพูด ๕ นาที ขณะที่ฝ่ายหนึ่งพูด อีกฝ่ายหนึ่งฟังอย่างเดียว ห้ามซัก เมื่อผู้พูด พูดจนครบ 5 นาทีแล้ว ให้ฝ่ายที่เป็นผู้ฟังสรุปสิ่งที่ได้ยิน หากเจ้าของเรื่องฟังแล้วเห็นว่าการสรุปนั้นตรงกับสิ่งที่ตนพูดก็พยักหน้า แล้วสลับบทบาท ให้อีกฝ่ายพูด ตนเป็นฝ่ายฟัง

    เบื้องต้น ผู้ช่วยทันตแพทย์เป็นผู้พูดก่อน เขาเล่าว่าเขาไม่พอใจทันตแพทย์อย่างไรบ้าง เมื่อฟังจบทันตแพทย์ก็สรุปว่าตนได้ยินผู้ช่วยฯ พูดว่าอะไร ไม่พอใจเธอเรื่องอะไร เธอสรุปได้ถูกต้อง ผู้ช่วยจึงพยักหน้า จากนั้นทันตแพทย์ก็เป็นฝ่ายพูดบ้าง ส่วนผู้ช่วยฯเป็นฝ่ายรับฟัง ทันตแพทย์เล่าว่าตนไม่พอใจผู้ช่วยอย่างไร เมื่อครบ 5 นาที ผู้ช่วยฯ ก็สรุปว่าตนได้ยินทันตแพทย์พูดว่าอะไร ปรากฏว่าสรุปไม่ตรง ทันตแพทย์ส่ายหน้า เธอจึงเล่าซ้ำ ครั้งที่สองผู้ช่วยฯ ก็ยังสรุปไม่ถูก ทันตแพทย์จึงต้องพูดอีกครั้ง คราวนี้ผู้ช่วยฯ ตั้งใจฟังมากขึ้น เมื่อทันตแพทย์พูดจบ เขาก็สรุปเป็นครั้งที่สาม คราวนี้เขาสรุปได้ถูกต้อง จากนั้นก็เป็นกระบวนการของการแบ่งปันความรู้สึก

    ทันตแพทย์บอกว่า หลังจากที่เธอฟังผู้ช่วยฯ เล่า เธอเข้าใจเขามากขึ้น และยอมรับว่า หากตนเป็นผู้ช่วย ฯ ก็คงไม่พอใจทันตแพทย์เช่นเดียวกัน จากนั้นผู้ช่วยฯ ก็เป็นฝ่ายแบ่งปันความรู้สึกบ้าง หมอวิธานถามผู้ช่วยฯ ว่า ทำไมสองครั้งแรกจึงจับใจความไม่ได้ว่าทันตแพทย์พูดอะไร ผู้ช่วยฯ บอกว่าเมื่อได้ยินทันตแพทย์พูด ใจเขามีแต่ความคิดที่จะเถียงจะแย้ง จึงฟังไม่เต็มที่ สุดท้ายจึงสรุปใจความไม่ได้ว่าทันตแพทย์พูดอะไร นี่เรียกว่า ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง เพราะใจไม่ว่าง ใจคอยแต่จะเถียง แต่พอครั้งที่สามไม่เถียงแล้ว ตั้งใจฟังอย่างเดียว ความเข้าใจจึงเริ่มเกิดขึ้น ดังนั้นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการฟังคือใจ ใจไม่ว่างพอที่จะรับฟังอย่างจริงจัง

     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    การฟังที่ดีนั้นหมายความว่าเราต้องวางเรื่องที่จะโต้แย้งไว้ก่อน การฟังไม่สมบูรณ์ก็เพราะจิตไม่ว่าง และนี่คือคำตอบว่า ทำไมความขัดแย้งบ่อยครั้งจึงกลายเป็น “พูดไม่รู้เรื่อง” เพราะต่างฝ่ายต่างจับไม่ได้ว่าปัญหาของอีกฝ่ายคืออะไร เขาไม่พอใจเรื่องอะไร เพราะเหตุใด โดยเฉพาะหากความขัดแย้งนั้นยืดเยื้อยาวนาน ผู้คนก็จะยิ่งไม่ฟังกัน ความจริงแล้ว กติกาง่ายๆ ก็คือ ฝ่ายหนึ่งพูดแล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งฟัง ยังไม่ต้องยกมือขอพูด นี่เป็นกระบวนการพื้นฐานของการไกล่เกลี่ยและระงับความขัดแย้ง คือ ฟังว่าอีกฝ่ายกำลังทุกข์เรื่องอะไร ต้องการอะไร

    การฟังมีหลายระดับ นอกจากฟังว่าเขาพูดอะไรแล้ว บางครั้งเราอาจต้องฟังให้ลึกกว่านั้น มีคนเล่าประสบการณ์ในวงประชุมสรุปงานของมูลนิธิฯ หนึ่ง ในวงประชุมนั้นมีกรรมการและจิตอาสาซึ่งเป็นผู้ใหญ่มากๆ จิตอาสาคนนี้เป็นผู้ที่หวังดีกับมูลนิธิฯ มาก อยากให้ทำนั่นทำนี่ ในวงประชุมจึงมีการต่อว่าต่อขาน ทำไมกรรมการไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ คนที่เล่าเรื่องก็ยกมือขึ้นเพื่อชี้แจงว่าทำไมมูลนิธิฯ จึงทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ แต่จิตอาสาคนนั้นก็ยิ่งไม่พอใจ ยังคงวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ตัวคนเล่านี้ก็ยกมือจะชี้แจงอีก พระภิกษุที่นั่งอยู่ในวงประชุมจึงแตะมือเธอเป็นสัญญาณว่าให้หยุด ขอให้ฟังเฉยๆเท่านั้น เมื่อจิตอาสาคนนั้นพูดจบ พระภิกษุนี้ก็พูดว่า ท่านรู้สึกขอบคุณผู้ใหญ่คนนี้ที่มีจิตใจดี มีน้ำใจอยากจะช่วยเหลือมูลนิธิฯ พร้อมกันนี้ก็รับทราบความเสียใจที่ความหวังดีนั้นถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับการตอบสนอง ท่านอยากให้ผู้ใหญ่คนนี้รับรู้ว่ามูลนิธิฯ รับทราบความรู้สึกนี้แล้ว และขออภัยที่ความหวังดี ความปรารถนาดีนั้นยังตอบสนองไม่ได้ มูลนิธิฯ ยังทำสิ่งนั้นไม่ได้ พอพูดจบผู้ใหญ่คนนี้ก็สงบลง

    เรื่องนี้ให้แง่คิดเป็นบทเรียนว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่คนนั้นต้องการ ไม่ใช่คำชี้แจง ไม่ใช่เหตุผล แต่เป็นความ
    ต้องการที่จะให้มูลนิธิฯ ได้รับรู้ความรู้สึกของตน รับรู้ความหวังดีของตนและความผิดหวังที่ตน ไม่ได้รับการตอบสนอง จึงเป็นตัวอย่างที่ดีว่า เวลาเรารับฟังเราไม่ควรฟังแต่เพียงถ้อยคำเท่านั้น แต่ควรรับฟังความรู้สึกของเขาซึ่งไม่ได้ปรากฏออกมาเป็นถ้อยคำด้วย ไม่ควรฟังเพียงแค่เขาพูดอะไรเท่านั้น แต่ควรฟังว่าเขารู้สึกอย่างไรด้วย คนที่เก่งเรื่องการคิด ใช้สมอง จะพบว่าทักษะแบบนี้เป็นเรื่องยากมาก จับได้แต่ความคิด แต่สัมผัสความรู้สึกไม่ได้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาของเราทำให้เราฉลาดแต่ในการวิเคราะห์ความคิด แต่ไม่รู้ทันความรู้สึกของผู้คน นี่เป็นการใช้สมองคนละส่วนทีเดียว

    พูดอีกอย่างคือ เราใช้สมองในการรับรู้เหตุผล แต่เราใช้หัวใจในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น การฟังที่ดีเราต้องใช้ทั้งสมองและหัวใจ เมื่อใช้สมองเราจะได้ยินความคิด แล้วเราก็ใช้เหตุผลเพื่อตัดสินว่าผิดหรือถูก หรือเพื่อโต้แย้งกัน แต่ถ้าเราใช้หัวใจ เราจะรับรู้ความรู้สึก รู้ว่าเขากำลังมีความทุกข์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในใจเราก็คือ ความเห็นใจ ความเมตตา กรุณา ถ้าใช้เพียงความคิดก็จะมีแต่เหตุผล นำไปสู่การตอบโต้ การฟังที่ดีต้องอาศัยทั้งสมองและหัวใจ จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจได้อย่างครบถ้วน

    นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ พูดไว้อย่างน่าสนใจว่า “เวลาสามีภรรยาทะเลาะกัน อย่าใช้เหตุผลเป็นอันขาด ให้ใช้อารมณ์ วางเหตุผลลงให้ได้ ปล่อยให้อารมณ์ลอยขึ้นมา อารมณ์รักที่เคยมีต่อกันในอดีตจะเข้ามาแก้ปัญหาให้เอง” ทำไมจึงไม่ควรใช้เหตุผล คำตอบก็คือเมื่อเราใช้เหตุผลเราจะเอาแต่ยืนยันความถูกต้องของตน ว่า ฉันถูกแต่เธอผิด เราใช้เหตุผลเพื่อปกป้องตนเองและกล่าวหาผู้อื่น เอาถูกเอาผิดกัน แต่เมื่อเราใช้อารมณ์บ้าง เราจะรับรู้ถึงความทุกข์ของเขา และจะเกิดความรักความเมตตา การใช้อารมณ์ที่หมอประเสริฐพูดถึง คือการใช้ความเมตตา ความปรารถนาดีที่มีต่อกัน อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวจะเป็นตัวเชื่อมประสานให้หันมาคืนดีสนิทสนมกัน แต่การใช้เหตุผลมักจะนำไปสู่การเอาถูกเอาผิด และก่อให้เกิดการแบ่งเขา-แบ่งเรา

    การใช้หัวใจในการฟังนั้นจะเชื่อมประสานผู้คนให้เข้ากัน และหากเรารู้จักใช้หัวใจในการฟังความรู้สึกของตนเอง ก็สามารถทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น รับรู้ถึงความทุกข์ แม้กระทั่งความว่างเปล่าเคว้งคว้างที่กำลังเกิดขึ้นในใจตน ปราศจากการฟังด้วยหัวใจแล้ว ยากที่เราจะเป็นมิตรกับตนเอง อย่าว่าเป็นมิตรกับผู้อื่นเลย

    พระไพศาล วิสาโล
    www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
    สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
    พิมพ์ใน มติชนรายวัน วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๘

    :- https://visalo.org/article/jitvivat255801.html
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    พบสิ่งใหม่ในความซ้ำ
    พระไพศาล วิสาโล
    นักปราชญ์กรีกคนหนึ่งชื่อเฮราคลิตุส วาทะประโยคหนึ่งของเขาที่มีชื่อเสียงมากก็คือ “ไม่มีใครที่ก้าวเท้าลงไปในแม่น้ำสายเดียวได้ ๒ ครั้ง” เราทุกคนทำได้แค่ครั้งเดียว เพราะถ้าก้าวลงไปอีกครั้ง มันก็เป็นแม่น้ำสายใหม่แล้ว แม้ว่าชื่อมันยังเป็นชื่อเดิม คือ ลำปะทาว เจ้าพระยา ชี มูล หรือบางปะกง เมื่อวานกับวันนี้ มันยังมีชื่อเดิม แต่ที่จริงแม่น้ำเมื่อวานกับวันนี้เป็นแม่น้ำคนละสาย ที่เห็นตอนนี้เป็นแม่น้ำสายใหม่ มันไม่ใช่แค่เมื่อวาน แม้วินาทีที่ผ่านมากับวินาทีนี้ แม่น้ำที่อยู่ต่อหน้าเราก็เป็นแม่น้ำคนละสาย เราจึงไม่สามารถก้าวเท้าลงไปในแม่น้ำสายเดิมได้ ๒ ครั้ง ทำได้แค่ครั้งเดียว

    เทียนที่เราจุดก็เหมือนกัน วินาทีที่แล้วกับวินาทีนี้ มันเป็นเทียนคนละเล่ม ลองถ่ายรูปหรือเอาไปชั่งน้ำหนักดู ก็จะพบว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงขึ้น คือสั้นลงหรือเบาลง เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่เคยซ้ำเดิม มันไม่ซ้ำซาก มันใหม่เสมอ อยู่ที่ว่าเราจะสังเกตไหม อยู่ที่ใจของเรา

    ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่ง ชื่อ พระจูฬปันถกะ ท่านมีพี่ชายชื่อพระมหาปันถกะ เป็นคนฉลาดมาก บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้เร็ว ตรงข้ามกับท่านจูฬปันถกะ เป็นคนสมองทึบ มีความจำที่แย่มาก แค่คาถาเดียวท่านใช้เวลา ๔ เดือนก็ยังจำไม่ได้ จนพี่ชายไล่ออกไปจากสำนัก ท่านจูฬปันถกะเสียใจมากจึงคิดจะสึก บังเอิญได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเห็นว่าท่านจูฬปันถกะเป็นผู้ที่มีความตั้งใจ ถึงจะโง่เพียงใดก็สามารถบรรลุธรรมได้

    พระพุทธเจ้าจึงประทานผ้าขาวบริสุทธิ์ให้ แล้วตรัสสั่งให้ท่านจูฬปันถกะลูบคลำผ้าผืนนั้นพร้อมกับบริกรรมด้วยคำสั้นๆ ว่า รโชหรณํ (ระ-โช-หะ-ระ-นัง) แปลว่าผ้าเปื้อนฝุ่น ท่านจูฬปันถกะเป็นคนว่าง่าย เมื่อพระพุทธองค์สั่ง ก็ทำตาม ท่านลูบผ้าไปเรื่อยๆ ลูบไปก็ท่องรโชหรณํๆๆ ไปด้วย ตอนแรกก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอลูบไปนานๆ ผ่านไปหลายชั่วโมง ผ้าก็เริ่มคล้ำ ที่จริงมันไม่ใช่เพิ่งคล้ำ มันเริ่มคล้ำทันทีที่ถูกลูบคลำแล้ว แต่ไม่ปรากฏชัดเจน ครั้นลูบไปนานๆ รอยคล้ำที่เกิดจากฝุ่นก็มีมากขึ้นจนมองเห็นได้ชัดเจน

    ทีแรกท่านจูฬปันถกะลูบผ้าโดยไม่ได้คิดอะไร ท่านลูบเพียงเพราะพระพุทธเจ้าสั่ง แต่เมื่อลูบไปนานๆ ทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นว่าผ้าขาวกลายเป็นผ้าคล้ำ ความที่ท่านท่องรโชหรณํ ท่องไปนานๆ จิตก็แนบแน่นอยู่กับคำดังกล่าวจนเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่น พอเห็นความคล้ำของผ้า ก็ได้คิดขึ้นมาว่า ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเช้าผ้ายังขาว แต่ตอนนี้มันหมองคล้ำเสียแล้ว ท่านยังเห็นต่อไปว่า ฝุ่นทำให้ผ้าคล้ำ เฉกเช่นกิเลสทำให้จิตมัวหมอง ผ้าคล้ำเพราะฝุ่น จิตก็หมองทุกข์เพราะกิเลส ได้คิดเช่นนี้ท่านก็เห็นโทษของกิเลส ขณะเดียวกัน เมื่อได้เห็นอนิจจังของผ้า ท่านก็เกิดปัญญาแจ่มแจ้งในพระไตรลักษณ์ บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    จากคนโง่ที่หวังเอาดีทางธรรมแทบไม่ได้ กลับกลายเป็นพระอรหันต์ ทั้งนี้เป็นเพราะท่านขยันทำซ้ำๆ ทุกครั้งที่ท่านลูบผ้า ผ้าไม่ใช่ผืนเดิม เป็นผ้าผืนใหม่ มันมีความคล้ำหรือความสกปรกเกิดขึ้นทีละนิดๆ เป็นผลของการทำซ้ำๆ พิจารณาให้ดีจะพบว่า ไม่ใช่แต่การลูบผ้าเท่านั้น อะไรก็ตามที่เราทำซ้ำๆ ที่จริงมันไม่ซ้ำเดิม มันเป็นของใหม่อยู่เสมอ แต่เราเข้าใจผิดว่ามันเป็นความซ้ำซาก พอมองว่าซ้ำซากก็เลยกลายเป็นความจำเจ พอเห็นว่าจำเจ ความเบื่อก็เกิดขึ้นตามมา

    ที่จริงแม้ว่าเป็นการทำซ้ำๆ แต่อย่าลืมว่าชีวิตของเราอยู่ได้ก็เพราะการทำอะไรซ้ำๆ นี่แหละ ทุกวันเราต้องกินข้าว เช้าก็ข้าว กลางวันก็ข้าว เย็นก็ข้าว พรุ่งนี้ก็กินข้าว มะรืนก็กินข้าว สมัยก่อนคนไทยยังไม่รู้จักขนมปัง ก็กินข้าวได้ทุกวัน ทุกวันนี้เรากินข้าวทุกวันเหมือนกัน ไม่เห็นมีใครบ่นว่ามันซ้ำซาก ทุกวันเราต้องเข้านอน นอนวันละ ๗-๘ ชั่วโมง ก็ไม่เห็นใครบ่นว่ามันซ้ำซาก

    ยิ่งลมหายใจแล้วยิ่งเห็นชัด หายใจเข้าหายใจออกอยู่อย่างนี้ทั้งปีทั้งชาติ ตั้งแต่เกิดจนตาย ลมหายใจเรามี ๒ จังหวะเท่านั้น คือ เข้าและออก เข้าและออก เข้าและออก มันไม่ใช่แค่เข้านานๆ ที และออกนานๆ ที มันเข้าออกแทบทุกวินาที ก็ไม่มีใครบ่นว่าทำไมถึงหายใจซ้ำซาก ปอดกับหัวใจของเราก็เหมือนกัน มันยุบและขยายอย่างนี้ทุกวัน ทุกวินาที ดูให้ดีจะพบว่าชีวิตเราต้องพึ่งพาอาศัยความซ้ำๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เราเป็นหนี้บุญคุณความซ้ำ จึงไม่ควรรังเกียจมัน ควรเห็นอานิสงส์ของความซ้ำ เห็นคุณค่าของมันบ้าง

    จะว่าไป เราควรฝึกใจให้คุ้นกับความซ้ำเสียแต่ตอนนี้ เพราะต่อไปจะต้องไปเจอกับความซ้ำแบบที่ไม่อยากจะเจอ เช่น เวลาเจ็บป่วย ต้องนอนติดเตียง หรือนอนอยู่ในท่าเดียว ยิ่งกว่าซ้ำอีก แถมอาจจะต้องกินอาหารที่ซ้ำ เพราะว่าเป็นเบาหวาน จึงต้องคุมอาหาร โรคบางชนิดพอเป็นหนักแล้วเราจะกินอะไรไม่ได้มาก ต้องกินอาหารที่ซ้ำๆ ชีวิตของพวกเราแต่ละคนมีโอกาสมากที่จะไปอยู่ในสภาพนั้นในอนาคต คือนอนติดเตียงเป็นเดือน วันๆ ไม่เห็นอะไรนอกจากเพดาน ผนัง ซ้ำเดิม เพราะไปไหนไม่ได้ อยู่ในห้องเดิมๆ ๒๔ ชั่วโมง อยู่บนเตียงตัวเดิม อาหารอย่างเดิม ถ้าเราไม่รู้จักทำใจให้ใหม่เสมอกับสิ่งซ้ำๆ ถึงเวลาที่เราต้องนอนติดเตียงเพราะป่วยหนัก หรือเกิดเป็นอัมพาต จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต จะทุกข์ทรมานมาก

    คนสมัยนี้ขี้เบื่อ เพราะว่าได้เสพได้สัมผัสกับอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เล็กก็ว่าได้ หลายคนติดโทรทัศน์ตั้งแต่อายุ ๒-๓ ขวบ คนที่เติบโตมากับโทรทัศน์ จะว่าไปก็น่าสงสาร เพราะเขาเห็นแต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในจอ ลองสังเกตดูจอโทรทัศน์ มันไม่ค่อยมีภาพนิ่งๆ เกิน ๕ วินาที ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา หนัง ละคร ยกเว้นสารคดี แม้แต่สารคดีก็ต้องเปลี่ยนภาพฉับไวตลอดเวลา เด็กที่โตมากับโทรทัศน์ ไอแพด ยูทูบ จะเป็นคนที่เบื่อง่าย ถ้าเจออะไรที่ซ้ำๆ แค่ ๕ วินาที พอเจออะไรซ้ำๆ ก็เลยรู้สึกเบื่อ

    ที่จริงแม้แต่ความเบื่อ มองให้ดีมันมีประโยชน์ จะว่าไปแล้ว เราโชคดีที่เจอความเบื่อ เพราะความเบื่อเป็นตัวบ่งชี้ว่าชีวิตเราตอนนี้ราบรื่นเป็นปกติ ไม่มีอะไรย่ำแย่เลวร้ายเกิดขึ้น แต่เมื่อใดที่ชีวิตของเราเกิดไม่ปกติขึ้นมา ความเบื่อจะหายไป มีอารมณ์อย่างอื่นมาแทนที่ ซึ่งแย่กว่าความเบื่อเสียอีก เช่น ถ้ามีคนมาด่าเรา เราจะยังรู้สึกเบื่อไหม ไม่เบื่อแล้ว เพราะมีความโกรธมาแทน ถ้าเงินหาย รถถูกขโมย ถามว่ายังจะเบื่ออยู่ไหม ไม่เบื่อแล้ว เพราะมีความเสียใจและเคืองแค้นมาแทน ถ้าเกิดแฟนทิ้ง ขอเลิก เราจะยังเบื่ออยู่ไหม ไม่เบื่อแล้ว เพราะมีความโศกเศร้าและกลุ้มใจมาแทน ถ้าหากงานมีปัญหา เราจะไม่รู้สึกเบื่อ แต่จะรู้สึกหนักใจ เครียดจัด ถ้าเกิดคนรักตาย ก็ไม่รู้สึกเบื่อเช่นกัน เพราะความเศร้าเสียใจ อาลัยอาวรณ์ มาแทน

    ลองถามตัวเอง ระหว่างความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจ ความอาลัยอาวรณ์ ความหนักอกหนักใจ กับความเบื่อ จะเลือกอะไร เราคงจะเลือกความเบื่อ ความเบื่อดีกว่าความโกรธ ดีกว่าความเศร้า ดีกว่าความเสียใจ ดีกว่าความหนักใจ ดีกว่าความกลุ้มใจ ใคร่ครวญให้ดี ความเบื่อแสดงว่าชีวิตเราปกติ ราบรื่น ถ้าชีวิตเราไม่ปกติ เราจะไม่เบื่อ มันจะมีความรู้สึกอื่นมาแทนที่ อย่างที่ยกตัวอย่างไป เราชอบไหม ระหว่างชีวิตปกติกับชีวิตที่ไม่ปกติ มีเหตุร้ายเกิดขึ้น จะเลือกอะไร ระหว่างชีวิตปกติกับชีวิตที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม เช่น สูญเสียคนรัก เงินหาย ถูกต่อว่าด่าทอ ถูกแฟนทิ้ง งานมีปัญหา ถูกไล่ออกจากงาน ดังนั้นเราควรตระหนักว่าเราโชคดีที่รู้สึกเบื่อ มันแสดงว่าชีวิตเราปกติ ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น จึงควรขอบคุณความเบื่อและอยู่กับความเบื่อให้ได้ ต่อไปถ้าเราฝึกใจให้คุ้นชินกับสิ่งซ้ำๆ ได้ก็จะไม่รู้สึกเบื่อ
    พระไพศาล วิสาโล
    www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
    สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
    ตีพิมพ์ใน มติชนรายวันวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256211.html

     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    อย่าทำผิดในสิ่งที่ถูก
    พระไพศาล วิสาโล
    “ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ตน” เป็นพุทธภาษิตที่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยคุณเคย หลายคนฟังแล้วก็โมทนาสาธุ แต่บางคนที่ช่างสังเกตหน่อยอาจสงสัยว่า ทำไมต้องมีคำว่า “ประพฤติดีแล้ว” เพราะธรรมนั้นเป็นสิ่งดีสิ่งประเสริฐ ปฏิบัติเมื่อไหร่ก็น่าจะเกิดผลดีเมื่อนั้นไม่ใช่หรือ ทำไมจึงต้องต่อท้ายว่า “ประพฤติดีแล้ว” ด้วย แสดงว่าอาจมีการประพฤติที่ไม่ดีก็ได้ นั่นก็หมายความว่าถ้าหากประพฤติไม่ดีก็ไม่นำสุขมาให้ตน อาจจะเกิดผลตรงข้ามก็คือทำให้เกิดทุกข์ได้

    ธรรมที่ประพฤติไม่ดีย่อมนำทุกข์มาให้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มีภาษิตหนึ่งในคาถาธรรมบทที่มีความหมายสอดคล้องกัน ก็คือ “หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือตนเองฉันใด ความเป็นสมณอันบรรพชิตรักษาไม่ดี ย่อมฉุดไปนรกฉันนั้น” หญ้าคานั้นดูเผิน ๆ ไม่มีพิษมีภัยอะไร เพราะไม่มีหนาม แต่ถ้าจับไม่ดีมันก็บาดมือเอาได้ ความเป็นสมณะหรือความเป็นพระนั้นแม้จะเป็นสิ่งดี สิ่งประเสริฐ แต่เมื่อได้ครองเพศนี้แล้ว ใช่ว่าจะเกิดความเจริญงอกงามหรือเกิดผลดีเสมอไป ถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็สามารถลงนรกได้ เช่น พอบวชเป็นพระแล้วมีคนกราบไหว้ เคารพนับถือมากมาย ก็หลงคิดว่าตัวเองปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว หรือเมื่อปฏิบัติดีมีคนศรัทธามีลาภสักการะเกิดขึ้น เกิดหลงติดในลาภสักการะนั้นก็จะเกิดความโลภ หลงตัวลืมตัวนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดก็เป็นได้ เช่น ใช้ความเป็นสมณะของตัวล่อลวงให้คนหลง จะได้เอาลาภสักการะมาถวายมาก ๆ หรือทำยิ่งกว่านั้น คือใช้ความเป็นพระเพื่อหลอกให้สีกามาปรนเปรอกิเลสของตัว อันนี้เรียกว่าความเป็นสมณะที่ปฏิบัติไม่ถูกย่อมฉุดลงนรก

    ธรรมะเป็นของดีของประเสริฐก็จริง แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วย ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลเสีย เช่น เมื่อรู้ธรรมะแล้ว แทนที่จะเอาธรรมะมาขัดเกลาตัวเองให้เจริญงอกงาม กลับเอาไปใช้ตำหนิผู้อื่นหรือยกตนข่มท่าน เป็นการเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนทิฏฐิมานะ มานะในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความขยันหมั่นเพียร แต่หมายถึงความถือตัวหรือสำคัญมั่นหมายว่าฉันดี ฉันประเสริฐ ฉันเก่งกว่าคนอื่น คนที่จบปริญญาเอกหากคิดว่าฉันเก่งกว่าปริญญาโท คนที่จบปริญญาโทถ้าดูถูกคนจบมัธยม ก็เรียกว่ามี “มานะ” ถ้าเอาธรรมะที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ในการดูถูกคนอื่น เชิดชูอัตตา โอ้อวดว่าฉันเก่ง ฉันรู้ธรรมะ อย่างนี้เรียกว่า เอาธรรมะมาปฏิบัติแบบไม่ถูกต้อง

    การให้ทานก็เช่นกัน การให้ทานเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าเราให้ทานเพื่อมุ่งประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อลดความตระหนี่ ลดความเห็นแก่ตัว อันนี้เรียกว่าปฏิบัติดี ย่อมทำให้เกิดสุข ทีนี้ปฏิบัติไม่ดีเป็นอย่างไร เช่น ให้ทานเพื่อแสดงว่าฉันเป็นคนใจบุญ อย่างนี้เรียกว่าทำบุญเอาหน้า อีกอย่างก็คือให้ทานเพราะอยากได้โชคได้ลาภ เช่น บริจาคสิบ อยากได้ร้อย บริจาคร้อย อยากได้ล้าน ให้ทานเพื่อหวังว่าจะถูกล็อตเตอรี่ ถูกหวย อย่างนี้เป็นการให้ทานเพื่อเพิ่มพูนกิเลส ได้บุญเหมือนกันแต่ได้น้อย

    การรักษาศีลหากปฏิบัติผิดหรือวางใจไม่ถูกก็มีปัญหาเช่นกัน ศีลนั้นมีไว้เพื่อขัดเกลาตัวเอง แต่บางคนพอรักษาศีลอย่างเคร่งครัดแล้วก็เกิดความหลงตัวว่าเป็นคนมีศีล สำคัญมั่นหมายว่าฉันมีศีลมากกว่าเธอ เวลาเถียงกัน ถ้ามีเหตุผลสู้เขาไม่ได้ ก็เอาศีลมาข่ม อ้างว่าฉันศีล ๘ เธอแค่ศีล ๕ เธออย่ามาเถียงฉัน อย่างนี้เรียกว่าเอาธรรมะมาปฏิบัติไม่ถูกต้อง แทนที่จะลดกิเลส กลายเป็นการเพิ่มกิเลส นักปฏิบัติธรรมหลายคนที่เข้าวัดเป็นประจำ ถ้าไม่ระวังจะมีกิเลสตัวนี้พอกพูนยิ่งขึ้น อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรมไม่ดีประพฤติไม่ถูกต้อง

    ในทำนองเดียวกัน บางคนภาวนาแล้วเกิดนิมิตเห็นแสงสี ก็หลงตัวว่าฉันเป็นผู้วิเศษ บางคนก็หลงตัวว่าเป็นอริยบุคคล แล้วก็ไปข่มคนอื่น บางทีข่มครูบาอาจารย์ด้วยซ้ำ สมัยที่หลวงปู่ดูลย์ยังมีชีวิตอยู่ มีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อว่าหลวงตาพวง ท่านบวชเมื่อแก่แล้ว จึงปฏิบัติตั้งใจมาก ปรากฏว่าวันหนึ่งเกิดวิปัสสนูปกิเลส คิดว่าตนเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงเดินเท้า ๘๐ กิโลเมตรจากบุรีรัมย์ไปหาหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งเป็นอาจารย์ของตนที่สุรินทร์ ไปถึงตอนเที่ยงคืนแล้วก็ตะโกนหน้ากุฏิว่า “หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว” ครั้นหลวงปู่ดูลย์ออกมาจากกุฏิ แทนที่หลวงตาพวงจะกราบหลวงปู่ดูลย์ กลับพูดว่า “อ้าว ไม่เห็นกราบ ท่านผู้สำเร็จมาแล้ว”

    หลวงตาพวงคิดว่าตัวเองสำเร็จเสร็จกิจเป็นพระอรหันต์แล้วจะมาสั่งสอนครูบาอาจารย์ อย่างนี้เรียกว่าหลงเพราะภาวนาไม่ถูก อันนี้ไม่ได้เกิดจากเจตนาที่จะหลอกใคร แต่เป็นเพราะหลง จึงทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

    บางคนแกล้งภาวนาเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าฉันเป็นนักปฏิบัติที่เคร่ง สมัยก่อนมีสำนวนว่า “ทำบุญเอาหน้า ภาวนาตอแหล” สมัยนี้ไม่ค่อยได้ยินแล้ว สำนวนนี้เตือนใจเราว่า เวลาทำบุญอย่าเอาหน้า เวลาภาวนาก็ทำด้วยความซื่อตรง อย่าตอแหล หลอกลวง หรือทำตัวเรียบร้อยเพื่อสร้างภาพ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการนำธรรมะมาปฏิบัติแบบไม่ถูกต้อง ผลเสียที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดอยู่แล้ว กิเลสแทนที่จะลดลงกลับเพิ่มพูนมากขึ้น แล้วยังเป็นการเบียดเบียนคนอื่นด้วย
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์ปัจจุบัน (ป.อ.ปยุตโต) เคยกล่าวว่า “อย่าทำผิดในสิ่งที่ถูก” ที่พูดมาทั้งหมดคือการทำผิดในสิ่งที่ถูก คือการเอาสิ่งที่ดีมาปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเพราะเป็นความหลงหรือด้วยเจตนาไม่ดีก็ตาม สิ่งที่ถูกที่ดีนั้นจะให้ผลดีก็ต้องปฏิบัติให้ถูกด้วย ปฏิบัติไม่ถูกก็เกิดผลเสีย หรือไม่เกิดผลดีอย่างที่ต้องการ

    ท่านพ่อลี ธัมมธโร แห่งวัดอโศการาม เคยเล่าถึงผู้ชายสองคนซึ่งเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งขึ้น ๘ ค่ำเป็นวันพระ คนหนึ่งตั้งใจว่าจะไปวัด ใส่บาตรและฟังเทศน์ จึงชวนเพื่อนอีกคนไปด้วย ฝ่ายหลังคิดในใจว่า ถ้าเราเข้าวัดใส่บาตรฟังเทศน์ กลับมาก็ไม่มีอะไรจะกิน จึงตัดสินใจไปทอดแหดีกว่า

    ชายคนที่ไปวัด ขณะที่ฟังพระเทศน์ ใจก็คิดถึงเพื่อนว่าจะได้ปลามากินไหม คิดไปคิดมาก็อยากกินแกงปลา เลยนึกอยากให้เพื่อนจับปลามาให้ได้ ส่วนคนที่ไปทอดแหนั้น ในใจนึกถึงเพื่อนว่าป่านนี้ใส่บาตรเสร็จแล้วยังหนอ รับศีลหรือยัง หรือว่ากำลังฟังเทศน์อยู่ พอได้ยินเสียงฆ้องดังมาจากวัด แกก็วางแห โมทนาสาธุทุกครั้ง ใจแกจึงเป็นบุญ ตรงข้ามกับคนที่อยู่ในวัด ฟังเทศน์ก็จริงแต่ใจไม่ได้บุญเลยเพราะนึกถึงแต่ปลาที่เพื่อนจะจับ

    ชายคนแรกทำผิดในสิ่งที่ถูก คือตัวฟังเทศน์แต่ใจนึกถึงการจับปลา ส่วนชายอีกคน ทำถูกในสิ่งที่ผิด คือจับปลาก็จริงแต่ใจนึกถึงบุญกุศล

    ทำผิดในสิ่งที่ถูก สู้ทำถูกในสิ่งที่ผิดไม่ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรทำถูกในสิ่งที่ถูก อย่างเช่น ธรรมะเมื่อเรารู้ว่าเป็นของดีก็ควรจะประพฤติให้ดี ปฏิบัติให้ถูก จะเกิดสุขตามมา อย่าคิดว่าขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้วจะปฏิบัติอย่างไรก็ได้ อันนั้นไม่ใช่ ถ้าคิดว่าจะปฏิบัติอย่างไรก็ได้ กิเลสจะฉวยโอกาสเข้ามาเล่นงานเราทันที กิเลสจะฉวยเอาการปฏิบัติธรรมนั่นแหละเป็นเครื่องสนองกิเลส จนอาจนำไปสู่การเบียดเบียนคนอื่นด้วย

    สงครามศาสนาเป็นตัวอย่างของการทำผิดในสิ่งที่ถูก ศาสนาเป็นสิ่งที่ดี แต่หากยึดติดถือมั่น ก็สามารถนำไปสู่การทำลายล้างกันได้ คนที่เคร่งศาสนา จำนวนไม่น้อย หลงตนว่าเป็นคนดี จะคิดหรือทำอะไรก็มักเข้าข้างตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นเวลาเจอใครที่ไม่เห็นด้วยกับตน ปฏิบัติไม่เหมือนตน ก็มักตัดสินว่าเขาเป็นคนไม่ดี เป็นคนชั่ว และเมื่อใดที่เราตัดสินใครว่าเป็นคนชั่ว เราก็พร้อมจะทำร้ายเขา ไม่ด้วยคำพูดก็ด้วยการกระทำ โดยไม่เฉลียวใจว่าการกระทำของเรานั้นเป็นความไม่ดี หรือเป็นความชั่ว อาจชั่วยิ่งกว่าคนที่เราทำร้ายเขาด้วยซ้ำ
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256003.html
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    รู้เท่าทันภาพตัวตน
    พระไพศาล วิสาโล
    เป็นคนเก่ง หรือ คนขยัน อย่างใดจะดีกว่ากัน

    แครอล ดเว็ค แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีคำตอบ เธอได้ทำการทดลองกับนักเรียนนับร้อย ส่วนใหญ่เพิ่งย่างเข้าวัยรุ่น ทุกคนได้ทำแบบทดสอบที่ค่อนข้างยาก จากนั้นบางคนก็ได้รับคำชมที่เน้นเรื่องความสามารถ เช่น “คุณเก่งมาก” แต่บางคนได้รับคำชมที่เน้นเรื่องความพยายาม เช่น “คุณพยายามมากเลย”

    เธอพบว่านักเรียนที่ได้รับคำชมว่าเก่ง มีความสามารถ มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงทำสิ่งยาก ๆ ที่ไม่เคยทำ ทั้ง ๆ ที่เขาสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากสิ่งนั้น เหตุผลก็คือเขากลัวว่าจะทำได้ไม่ดี ซึ่งทำให้คนอื่นเห็นจุดอ่อนของตน และสงสัยในความสามารถของตัว

    ในทางตรงข้ามร้อยละ ๙๐ ของเด็กที่ได้รับคำชมว่าขยัน สู้งาน กลับกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งยาก ๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเขาไม่กลัวความล้มเหลว ถึงแม้ผลจะออกมาเป็นลบ ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกแย่หรือรู้สึกลบกับตนเอง เพราะเขาได้ทำเต็มที่แล้ว

    กล่าวอีกนัยหนึ่ง สำหรับคนที่ได้รับคำชมว่าขยัน ผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่กระทบกับสำนึกในตัวตนของเขา ต่างจากคนที่ได้รับคำชมว่าเก่ง เขาจะสร้างภาพตัวตนว่าเป็นคนเก่ง ดังนั้นหากประสบความล้มเหลว มันไม่เพียงส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเขาในสายตาของคนอื่นเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับตัวตนที่เป็นคนเก่งของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจทำให้ภาพตัวตนดังกล่าวคลอนแคลน จนเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นคนไม่เก่ง ซึ่งนั่นย่อมสร้างความทุกข์ใจแก่เขาอย่างมาก ดังนั้นเขาจึงมักเลี่ยงทำงานที่ยากหรือเสี่ยงต่อความล้มเหลว และพอใจที่จะทำงานที่ถนัดหรือมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า

    การทดลองดังกล่าวให้ข้อคิดที่ดี ไม่เฉพาะกับเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อผู้ใหญ่ด้วย ไม่ใช่ในแง่ที่ว่า ควรชมลูกหลานของตนอย่างไรเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าในแง่ที่ว่า เราควรจะเลือกสร้างสำนึกเกี่ยวกับตัวตนอย่างไร รวมทั้งตระหนักถึงจุดอ่อนจุดแข็งของภาพตัวตนแต่ละอย่างที่ตนสร้างขึ้นมาหรือเลือกรับเอามาด้วย

    อันที่จริง ความเป็นคนเก่ง กับความเป็นคนสู้งาน นั้นไม่จำเป็นต้องแยกกัน คน ๆ หนึ่งสามารถมีภาพตัวตนทั้งสองอย่างควบคู่กันได้ แต่สำนึกดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้อันใด หรือมีอะไรมากระตุ้นให้สำนึกอันใดผุดขึ้นมาในจิตใจของเรา จะว่าไปแล้วนอกจากความเป็นคนเก่ง หรือความเป็นคนสู้งานแล้ว ยังมีภาพตัวตนอีกมากมายที่ก่อตัวขึ้นในใจของเรา เช่น ความเป็นหญิง เป็นชาย เป็นไทย เป็นพุทธ เป็นพ่อแม่ เป็นคนสุภาพ เป็นคนหัวก้าวหน้า ฯลฯ ภาพตัวตนแต่ละอย่างที่ผุดขึ้นมานั้นสามารถส่งผลให้เกิดพฤติกรรม หรือความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกันได้ รวมทั้งความสามารถที่แสดงออกมาด้วย

    มาร์กาเร็ต ชิน และคณะ ได้เคยทำการทดลองกับผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยขอให้ทำแบบทดสอบด้านคณิตศาสตร์ แต่ก่อนหน้านั้นมีการแบ่งผู้หญิงดังกล่าวออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศของเธอ (เช่น ถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับหอพักรวม) เพื่อปูทางให้พวกเธอตระหนักถึงเพศของตน ส่วนกลุ่มที่สองนั้นถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเชื้อชาติ (เช่น ภาษาที่เธอใช้ในบ้าน รวมถึงประวัติครอบครัวของพวกเธอ) เพื่อปูทางให้พวกเธอตระหนักถึงเชื้อชาติของตน

    เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จ ผลปรากฏว่า ผู้หญิงที่ถูกเตือนใจว่าตนเป็นผู้หญิงนั้นทำผลงานได้แย่กว่าผู้หญิงที่ถูกเตือนใจว่าตนเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำอธิบายก็คือ เมื่อพวกเธอถูกกระตุ้นให้เกิดสำนึกว่าเป็นผู้หญิง ก็จะนึกไปถึงทัศนคติที่ผู้คนทั่วไปมีต่อผู้หญิงว่า เรียนคณิตศาสตร์ไม่เก่ง ผลก็คือไม่มีความมั่นใจในการทำแบบทดสอบนั้น ส่วนอีกกลุ่มนั้นเมื่อถูกปูทางให้เกิดสำนึกว่าเป็นอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ก็จะรู้สึกมั่นใจในการทำแบบทดสอบนั้น เพราะคนทั่วไปมองว่าคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียเก่งคณิตศาสตร์

    การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าความคาดหวังหรือสายตาที่ผู้อื่นมองเรานั้น มีผลต่อพฤติกรรมของเราด้วย แต่จะมีผลในทางบวกหรือลบ ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาพตัวตนอันใดที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาในจิตสำนึกของเรา ภาพตัวตนเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักส่งผลต่อพฤติกรรมของเราโดยไม่รู้ตัว ทั้งความรู้สึกนึกคิด ความคาดหวัง และการแสดงออก

    เมื่ออยู่กับลูก ภาพตัวตนว่าเป็นพ่อแม่ก็เกิดขึ้น แต่เมื่อไปทำงานเจอเจ้านาย ภาพตัวตนว่าเป็น ลูกน้องก็มาแทนที่เ แต่ถ้าเจอลูกน้อง ภาพตัวตนว่าเป็นเจ้านายก็ผุดขึ้น ในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละบริบทนั้น เราจะแสดงอาการต่างกัน เช่น ตอนที่มีสำนึกว่าเป็นเจ้านาย ก็วางตัวขึงขัง พูดเสียงห้วน แต่พอเกิดสำนึกว่าเป็นลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ก็มีทีท่าอ่อนน้อม พูดจาสุภาพ มีน้ำเสียงนุ่มนวล ครั้นกลับถึงบ้าน ก็ใช้อำนาจกับลูก สั่งให้ลูกหยุดเล่นวีดีโอเกม และรีบทำการบ้านทันที
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    การเกิดภาพตัวตนหรือมีสำนึกว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ พุทธศาสนาเรียกว่า “ชาติ” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเกิดจากท้องแม่เท่านั้น แต่รวมถึงการเกิดทางใจด้วย คือ เกิด “ตัวกู” ขึ้นมา ซึ่งมักนำไปสู่ความทุกข์ในที่สุด เพราะตัวกูแต่ละอย่างนั้นจะมีกิเลสและความยึดติดถือมั่นบางอย่างพ่วงติดมาด้วยเสมอ เริ่มตั้งแต่กิเลสที่อยากให้ตัวกูคงอยู่ยั่งยืน (หรือดับไปหากเป็นตัวกูที่ไม่ปรารถนา) กิเลสที่อยากให้ผู้อื่นสนองปรนเปรอตัวกูให้เติบใหญ่มั่นคง (ดังนั้นจึงทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นเก่งกว่าตน รวยกว่าตน หรือมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมมากกว่าตน) รวมทั้งกิเลสที่อยากให้ใครก็ตามที่ขัดขวางการเติบใหญ่ของตัวกูนี้มีอันเป็นไป

    เมื่อเกิดสำนึกในความเป็นแม่ หญิงสาวย่อมมีความสุขที่เห็นลูกเจริญเติบโตและมีความสุข แต่จะเป็นทุกข์ทันทีหากลูกไม่เชื่อฟังแม่หรือพูดจาไม่สุภาพกับแม่ เพราะแม่ย่อมคาดหวังความเคารพของลูก แม่ผู้หนึ่งตำหนิลูกที่เอาแต่เล่นวีดีโอเกมจนไม่สนใจทำการบ้าน แถมยังนอนดึก ไปโรงเรียนสายเป็นประจำ พอแม่ว่าลูกมาก ๆ ลูกก็โกรธ ไม่ยอมคุยกับแม่ แม่พยายามพูดคุยกับลูก แต่ลูกก็ไม่สนใจ เอาแต่เล่นวีดีโอเกม สุดท้ายแม่ยื่นคำขาดว่า ถ้าลูกไม่หันมาคุยกับแม่ แม่จะฆ่าตัวตาย แต่ลูกก็ยังทำหูทวนลม แม่ทนไม่ได้อีกต่อไป จึงปราดไปที่ระเบียงแล้วโดดลงมาจากตึกสูง ร่างกระแทกพื้นตายคาที่

    เมื่อเกิดสำนึกหรือภาพตัวตนว่าเป็นแม่ ก็ย่อมมีกิเลสหรือความยึดติดถือมั่นอย่างแม่ คือต้องการให้ลูกเคารพเชื่อฟัง เมื่อลูกไม่เคารพเชื่อฟัง ก็เป็นทุกข์ ตัวกูถูกบีบคั้นอย่างแรง จึงต้องการตอบโต้เพื่อเอาชนะ หากใช้วิธีอื่นไม่ได้ผล ก็อาจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งหาได้เป็นประโยชน์แก่ใครเลยไม่

    มีสำนึกว่าเป็นอะไร ก็มีทุกข์ทั้งนั้น การพ้นทุกข์ในพุทธศาสนาก็คือการไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรเลย มีก็แต่รับรู้สมมติว่าเป็นอะไรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อพราหมณ์ผู้หนึ่งถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านเป็นเทวดาหรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ถามว่าเป็นคนธรรพ์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ถามว่าเป็นยักษ์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ครั้นถามว่า ท่านเป็นมนุษย์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธเช่นกัน สุดท้ายพราหมณ์ถามว่า ท่านเป็นอะไรเล่า พระองค์ตรัสตอบว่า อาสวะหรือกิเลสที่ทำให้เป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ พระองค์ละได้หมดสิ้นแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้พราหมณ์สับสน จึงตรัสว่า “ท่านจงถือว่าเราเป็นพุทธะเถิด”

    ปุถุชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ย่อมต้องมีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ แต่อย่างน้อยมีบางสิ่งที่เราสามารถทำได้คือ รู้เท่าทันภาพตัวตนที่สร้างขึ้นในใจ ว่ามีจุดอ่อนตรงไหน มีความอยากหรือหรือความยึดมั่นในเรื่องอะไรที่จะทำให้เป็นทุกข์ได้ เมื่อรู้เท่าทันแล้วก็ไม่ปล่อยให้ความอยากความยึดมั่นนั้นครอบงำใจ จนบีบคั้นผลักไสให้เราเป็นทุกข์เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นไปดั่งใจ ขณะเดียวกันก็รู้จักเลือกใช้ภาพตัวตนให้เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมชักนำให้เราทำความดี มีความเพียร ขัดเกลาตนเอง เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว รวมทั้งบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม

    กล่าวอีกนัยหนึ่งคือใช้สำนึกในตัวตนเพื่อละความยึดมั่นในตัวตน เช่นเดียวกับที่พระสาวกหลายท่านใช้ตัณหาละตัณหาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255509.htm
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    ศิลปะแห่งการจัดการความดี : ศึกษาจากฉือจี้
    พระไพศาล วิสาโล
    มูลนิธิฉือจี้เป็นองค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานสูงติดอันดับต้น ๆ ของประเทศถึง ๖ แห่ง มีธนาคารไขกระดูกใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก มีสถาบัน การศึกษาที่ครบทุกระดับจากประถม มัธยม วิทยาลัย ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ที่มีเอกลักษณ์ในด้านการสอนและการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งเผยแพร่คุณธรรมผ่านเครือข่ายทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อีกมากมายกระจายทั่วประเทศ เช่น ช่วยเหลือคนยากจน สงเคราะห์คนชรา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งงานแยกขยะ ทั้งนี้โดยมีอาสาสมัครที่ทำงานอย่างแข็งขันถึง ๒ แสนคน

    มูลนิธิฉือจี้ถือกำเนิดเมื่อปี ๒๕๐๙ โดยภิกษุณีเจิ้งเหยียนวัย ๒๙ ปี เริ่มต้นด้วยการเชิญชวนแม่บ้านในเมืองห่างไกลความเจริญ จำนวน ๓๐ คน สละเงินทุกวัน ๆ ละ ๕๐ เซ็นต์ (เทียบเท่ากับ ๒๕ สตางค์ในเวลานั้น) ภายในเวลา ๒๐ ปีสามารถสร้างโรงพยาบาลขนาด ๑,๐๐๐ เตียงด้วยทุนสูงถึง ๘๐๐ ล้านเหรียญไต้หวัน (ขณะที่งบประมาณประจำปีของทั้งจังหวัดมีเพียง ๑๐๐ ล้านเหรียญ) อีก ๒๐ ปีต่อมา สามารถขยายกิจการสู่งานด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และพัฒนาจากองค์กรการกุศลระดับจังหวัด ไปเป็นระดับชาติ และระดับโลกได้ โดยมีสมาชิกเกือบ ๖ ล้านคนในไต้หวัน (เกือบ ๑ ใน ๔ ของประชากร) และอีก ๔ ล้านคนใน ๓๙ ประเทศ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกำลังเงินจำนวนมหาศาล และความรู้ที่ทันยุค แต่หัวใจสำคัญก็คือกำลังคนที่มีคุณภาพ


    บุคลากรเหล่านี้ไม่ได้อาศัยเงิน ชื่อเสียง อำนาจ หรือผลประโยชน์ส่วนตนเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างธุรกิจเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ แต่อาศัยคุณธรรมหรือความดีเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งทำให้เห็นเป็นแบบอย่างว่า แม้ไม่ใช้ผลประโยชน์ส่วนตนหรือตัณหาเป็นแรงจูงใจ องค์กรอย่างฉือจี้ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพระดับชาติหรือระดับโลกได้ไม่แพ้บรรษัทข้ามชาติ โดยก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

    การใช้ความดีเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดงานสร้างสรรค์จำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน ๆ ทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากคนเล็กคนน้อยเพียง ๓๐ คน และเงินบริจาควันละ ๕๐ เซนต์ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว จะเรียกว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ ก็คงไม่ผิด สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ลำพังเจตนาดีย่อมไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยความสามารถอย่างมาก ความสามารถที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การดึงเอาความดีจากแต่ละคนออกมา และนำมารวมกันให้มากพอจนเกิดพลัง ขณะเดียวกันก็รักษาความดีนั้นให้คงอยู่ และพัฒนาให้เพิ่มพูนมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้ อาจเรียกได้ว่า “การจัดการความดี”

    ๑.ศรัทธาในความดีของมนุษย์ทุกคน

    ชาวฉือจี้ได้รับแรงบันดาลใจจากท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ซึ่ง เน้นเสมอว่ามนุษย์ทุกคนมีโพธิสัตวภาวะอยู่แล้วในตัว แนวความคิดดังกล่าวทำให้ชาวฉือจี้มีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีเมตตากรุณาและคุณงามความดีอยู่แล้วในจิตใจ เป็นแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะนำคุณธรรมดังกล่าวออกมา หรือดูแลรักษาให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น แนวความคิดนี้เป็นที่มาของท่าทีและวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์ของฉือจี้ เช่น การมองคนในแง่บวก การกล่าวคำชื่นชมมากกว่าการตำหนิ การแสดงความเคารพและอ่อนน้อมต่อผู้อื่น แม้ในยามที่ไปช่วยเหลือเขาก็ตาม

    ๒.น้อมนำความดีออกมาจากใจ

    ฉือจี้มีวิธีการหลากหลายในการดึงความดีออกมาจากใจของผู้คน เริ่มจาก

    ก. เปิดโอกาสให้เขาได้ทำความดี
    เมื่อคนเราได้ทำความดี ย่อมเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะได้ตอบสนองความใฝ่ดีใน
    ส่วนลึก ขณะเดียวกันก็ทำให้ความใฝ่ดีหรือคุณภาพฝ่ายบวกมีพลังมากขึ้น จนสามารถควบคุมคุณภาพฝ่ายลบ (เช่น ความเห็นแก่ตัว โลภะ โทสะ โมหะ) การที่บางคนทำความชั่ว ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความใฝ่ดีหรือคุณธรรมในจิตใจ เป็นแต่ว่าคุณภาพฝ่ายบวกเหล่านั้นไม่มีกำลังที่จะต่อสู้ทัดทานคุณภาพฝ่ายลบได้ต่างหาก

     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)

    ฉือจี้พยายามเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำความดี โดยเริ่มตั้งแต่การให้ทานหรือบริจาคเงิน
    จากนั้นจึงเขยิบมาสู่การทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ อาทิ งานแยกขยะ การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือช่วยเหลือผู้ประสบภัย งานเหล่านี้นอกจากเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวอาสาสมัครเอง หลายคนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อสังคม คนชรา ซึ่งมาช่วยแยกขยะบางคนถึงกับพูดว่าตนเองเป็นเสมือน “ขยะคืนชีพ”


    ข.ชื่นชมมากกว่าตำหนิ
    ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนจะเน้นให้ชาวฉือจี้กล่าวแสดงความชื่นชมผู้อื่นให้มาก มิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้พูด แต่เพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง กล่าวคือเมื่อได้รับคำชม ก็ทำให้ผู้ฟังอยากทำความดีหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์มากขึ้น คำชมจึงเปรียบเสมือนการชักชวนความดีหรือคุณภาพฝ่ายบวกให้ออกมาจากใจมากขึ้น ตรงกันข้ามกับคำตำหนิ ที่มักกระตุ้นให้คุณภาพฝ่ายลบออกมาจากใจของผู้ฟัง เช่น เกิดความโกรธ ปฏิเสธความผิดพลาด โทษผู้อื่น หรือโกหกเพื่อปกป้องตนเองทำความดีเพิ่มขึ้น

    ค.เห็นความทุกข์ของผู้อื่น
    ความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนมนุษย์สามารถกระตุ้นเมตตากรุณาในใจเราให้เกิดพลังที่อยากทำความดีเพื่อช่วยเขาออกจากทุกข์ได้ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจเขา ดังนั้นกิจกรรมส่วนหนึ่งของฉือจี้คือการพาสมาชิกไปประสบสัมผัสกับผู้ทุกข์ยาก เริ่มตั้งแต่คนชรา คนป่วย คนพิการ ไปจนถึงผู้ประสบภัยพิบัติ สมาชิกเหล่านี้เริ่มต้นด้วยการบริจาคเงิน หลังจากที่ได้รับฟังกิจกรรมของฉือจี้จากอาสาสมัครที่ไปเยี่ยมเยือนเป็นประจำ ใครที่สนใจก็จะได้รับการเชื้อเชิญให้เยี่ยมดูงานสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยากของฉือจี้ ทำให้เกิดความอยากที่จะช่วยเหลือคนเหล่านั้น

    ง.แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกัน
    การได้รับรู้เรื่องราวของคนที่ทำความดี ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี ฉือจี้จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมส่วนนี้มาก ส่วนหนึ่งด้วยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เช่น หนังสือ ละคร หรือรายการโทรทัศน์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของคนทำดี (เรียกว่า “โพธิสัตว์รากหญ้า”) แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือ การสนทนาแลกเปลี่ยนกันในหมู่สมาชิก การนำเอาประสบการณ์ของแต่ละคนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ย่อมทำให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจอยากทำความดี ฉือจี้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำนองนี้ในหลายระดับ ทั้งในระหว่างสมาชิกกลุ่มเดียวกัน และแลกเปลี่ยนข้ามกลุ่ม



    ๓. รวบรวมและประสานความดีให้เกิดพลัง

    เมื่อสามารถดึงความดีของแต่ละคนออกมาแล้ว ฉือจี้ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ แต่ยังสามารถรวบรวมความดีของแต่ละคนมาผนึกให้เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ได้ ตรงนี้อาจแตกต่างจากองค์กรศาสนาทั่ว ๆ ไป เช่น วัด ซึ่งเมื่อสอนให้คนทำดี หรือดึงความดีออกมาจากใจเขาแล้ว ก็มักจะปล่อยให้ต่างคนต่างทำความดีในชีวิตประจำวันตามปกติ เช่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น ทำบุญให้ทาน ความดีที่กระทำจึงมักเป็นความดีส่วนบุคคล ซึ่งแม้จะมีคุณค่า แต่ขาดพลังที่จะก่อให้ความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม

    ความสามารถในการประสานเชื่อมโยงความดีของบุคคลจำนวนมากมายให้เกิดพลังเป็นเรื่องของการจัดองค์กร จุดเด่นของฉือจี้อยู่ตรงที่มีการบริหารและจัดการอาสาสมัครที่ดี อาสาสมัครเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการรักษาและขยายจำนวนสมาชิก (อาสาสมัครที่ “ฝึกงาน” มีหน้าที่บอกบุญหาสมาชิกหรือผู้บริจาค ๒๕ รายเป็นประจำทุกเดือนในปีแรก และเพิ่มเป็น ๔๐ รายในปีที่สอง อีกทั้งยังไปเยี่ยมเยือนผู้บริจาคอย่างสม่ำเสมอ) ขณะเดียวกันยังมีการสร้างสายสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ อีกหลายด้าน เช่น สายสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครกับพี่เลี้ยง สายสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครด้วยกันตามศูนย์ต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนั้นในแต่ละเมืองยังมีการซอยย่อยออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ละกลุ่มมีสมาชิกไม่เกิน ๒๐ คน มีหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ประสานงาน การจัดองค์กรในระดับนี้เอื้อให้เกิดกลุ่มกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างใกล้ชิด

    ๔.หล่อเลี้ยงและเพิ่มพูนความดี

    ความดีนั้นนอกจากจะต้องนำออกมาและใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว จำเป็นต้องมีการหล่อเลี้ยงรักษาและทำให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น จึงจะก่อให้เกิดผลสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน กระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องของ “การศึกษา” หรือ ไตรสิกขาตามหลักพุทธศาสนาโดยตรง แต่เวลาพูดถึงการศึกษา เรามักนึกถึงครูและห้องเรียน แท้ที่จริงการศึกษาสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและในทุกรูปแบบ กรณีฉือจี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ใช้วิธีการหลากหลายในการหล่อเลี้ยงและเพิ่มพูนความดีของบุคคล เช่น การปลูกฝังคุณธรรมผ่านการทำงานอาสาสมัคร (เป็นธรรมดาที่จะเห็นนักธุรกิจหรือซีอีโอของฉือจี้ยืนถือกล่องรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย นั่งแยกขยะ หรือกวาดใบไม้ในโรงพยาบาล เช่นเดียวกับเด็กเรียนดีจะได้รับเกียรติให้ทำความสะอาดห้องน้ำในโรงเรียน) การเคารพและเห็นคุณค่าของผู้อื่นผ่านการเรียนรู้ชีวิตของเขา การมีกำลังใจทำความดีผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น การซึมซับความดีงามผ่านการเล่านิทาน เล่นละคร หรือวาดภาพ (ซึ่งใช้มากในโรงเรียนประถมของฉือจี้) ที่น่าสนใจอีกอย่างคือการส่งเสริมคุณธรรมด้วย “จริยศิลป์” ได้แก่ การจัดดอกไม้ ชงชา และเขียนพู่กันจีน ซึ่งแม้แต่นักศึกษาแพทย์ก็ยังต้องเรียน ทั้งนี้เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้ละเมียดละไม และหล่อหลอมให้นักศึกษามีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์

    กระบวนการจัดการความดีทั้ง ๔ ประการ จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เริ่มจาก การเชื่อมั่นและมองเห็นความดีในมนุษย์ทุกคน จากนั้นก็พยายามน้อมนำความดีออกมาจากใจของเขา แล้วรวบรวมความดีเหล่านั้นมาผนึกเป็นพลังสร้างสรรค์ พร้อมกันนั้นก็มีการหล่อเลี้ยงและต่อเติมความดีเพื่อให้มีความให้ยั่งยืนและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ

    ในยุคที่เมืองไทยกำลังแสวงหาทางออกจากวิกฤตทางศีลธรรม ที่กำลังรุมเร้าอยู่ในเวลานี้ แทนที่จะนึกถึงแต่การเพิ่มวิชาศีลธรรม ระดมคนเข้าวัด นิมนต์พระมาเทศน์ให้มากขึ้น เซ็นเซอร์สื่อ หรือกวดขันกับการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ น่าจะช่วยกันคิดค้นและสร้างสรรค์ศิลปะในการส่งเสริมคุณธรรมและจัดการความดีให้มากกว่านี้ อย่างน้อยฉือจี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าศึกษา
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255007.htm
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    คุณธรรมในสายเลือด
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อ ๒-๓ ปีก่อนมีการทดลองเพื่อศึกษาแบบแผนการเลือกคู่ของผู้คน ผู้วิจัยได้นำภาพถ่ายของชายและหญิงที่อยู่กินด้วยกันนานหลายปีมาสลับกันแล้วรวมไว้ในกองเดียวกัน จากนั้นให้อาสามัครเลือกเอาภาพของคนที่หน้าตาคล้ายกันมาจับคู่กัน ปรากฏว่าคู่ที่อาสาสมัครเลือกมานั้นมักเป็นคู่สามีภรรยากันจริง ๆ การทดลองหลายครั้งได้ผลถูกต้องบ่อยครั้งเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญ

    มีการทดลองคล้าย ๆ กันอีก คราวนี้ให้อาสาสมัครทำการเจรจาต่อรองเรื่องเงิน ปรากฏว่าคู่เจรจาอีกฝ่ายมักจะได้รับความไว้วางใจมากกว่าหากว่าเขาหรือเธอมีหน้าตาคล้ายกับอาสาสมัคร การทดลองนี้ให้ผลสอดคล้องกับข้อสังเกตที่มีมานานแล้วว่า คนเราจะให้ความไว้วางใจมากกว่าแก่คนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับตน

    การทดลองทั้งสองกรณีชี้ว่าหน้าตาที่คล้ายกันนั้นมีผลต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยั่งยืน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าหน้าตาและรูปร่างที่คล้ายกันนั้นกันนั้นบ่งชี้ถึงความใกล้ชิดกันทางด้านพันธุกรรม สัตว์ทุกชนิดมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งคือการพยายามถ่ายทอดและรักษาพันธุกรรม(หรือยีน)ของตนให้อยู่รอดและยั่งยืน แม่เสือยอมตายเพื่อรักษาชีวิตของลูกน้อยก็เพื่อให้ยีนของลูก(ซึ่งมียีนของแม่ครึ่งหนึ่ง)สามารถอยู่รอดและถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อ ๆ ไปได้ มดปลวกและผึ้งยอมตายเพื่อปกป้องรังและพวกพ้องของมัน ก็เพราะทุกตัวในรังล้วนมียีนเหมือนกัน (เพราะมาจากแม่หรือนางพญาตัวเดียวกัน) “ตัวตายแต่ยีนอยู่” คือภารกิจของทุกชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายถึงการรักษาตัวให้รอดเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการช่วยเหลือให้ตัวอื่น ๆ ที่มียีนใกล้ชิดกับตนอยู่รอดด้วย ด้วยเหตุนี้สัตว์จึงมีความรู้สึกใกล้ชิดเป็นพิเศษกับตัวอื่น ๆ ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้าย ๆ กัน เพราะนั่นหมายถึงการมีพันธุกรรมเดียวกัน(หรือใกล้กัน)

    สมมติฐานดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดสัตว์จึงมักจับคู่กับตัวที่มีลักษณะคล้ายกับมัน แต่ต้องไม่คล้ายกันมากเกินไป (เพราะนั่นอาจหมายถึงการสืบพันธุ์กับพี่น้องร่วมสายเลือดซึ่งเป็นผลเสียต่อพันธุกรรมของลูกหลาน) เคยมีการทดลองกับหนูและนกคุ่ม พบว่าตัวผู้มักจะจับคู่และผสมพันธุ์กับตัวเมียที่มีสีหรือกลิ่นคล้ายกับพี่น้องหรือแม่ของมัน หรือคล้ายกับตัวที่มันคุ้นเคยตั้งแต่ยังเล็ก ๆ

    ทั้งหมดนี้อธิบายได้ไม่มากก็น้อยว่าทำไมเราถึงนิยมแต่งงานกับคนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกัน และเหตุใดคนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกันจึงคบหาหรืออยู่กินด้วยกันได้นานกว่า อย่างไรก็ตามคำอธิบายดังกล่าวมีนัยที่กว้างกว่านั้น เพราะหากคำอธิบายดังกล่าวเป็นความจริง นั่นก็หมาย ความว่า ความรู้สึกว่าเป็น “พวกเรา” นั้นมีรากเหง้าอยู่ในยีนของเราด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมหรือการบ่มเพาะทางสังคมเท่านั้น

    ความรู้สึกว่าเป็น “พวกเรา” นั้นมักเกิดขึ้นเมื่อพูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน บริโภคสินค้ายี่ห้อเดียวกัน ชื่นชมนักร้องคนเดียวกัน สังกัดสถาบันเดียวกัน และอยู่ประเทศเดียวกัน แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็คือ การมีสีผิวและชาติพันธุ์เดียวกัน
    สีผิวและชาติพันธุ์เดียวกันในสมัยก่อน(และแม้กระทั่งปัจจุบัน)ย่อมหมายถึงภาษา วัฒนธรรม และเผ่าเดียวกัน อย่างไรก็ตามลึกลงไปกว่านั้นมันยังหมายถึงการมียีนหรือพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน อย่างน้อยก็ใกล้กว่าคนต่างเผ่า ต่างสีผิวและต่างชาติพันธุ์

    ยีนหรือพันธุกรรมในเซลของเรานั้นมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความรู้สึกนึกคิดของเราชนิดที่ยากจะปฏิเสธได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะถูกกำหนดโดยยีนไปเสียทั้งหมด มีพฤติกรรมหลายอย่างของมนุษย์ที่อธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะอำนาจของยีน เช่น การมีกลุ่มนักบวชที่ครองชีวิตพรหมจรรย์ หรือการเห็นแก่ประเทศชาติ(ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์)ยิ่งกว่าชีวิตของตน จนเกิดคำพูดว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง”

    มนุษย์เรานั้นมีความคิดที่สามารถพัฒนาเป็น “ปัญญา” และมีอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถพัฒนาเป็น “กรุณา” ได้ ปัญญาและกรุณานี้เองที่ทำให้มนุษย์สามารถเป็นอิสระจากอำนาจบงการของยีน อย่างน้อยก็ในแง่พฤติกรรม (แม้มันยังคุมได้ในแง่กายภาพอยู่) ด้วยเหตุนี้เองความสำคัญมั่นหมายว่า “พวกเรา” จึงสามารถข้ามพ้นเส้นแบ่งทางด้านสีผิว ชาติพันธุ์ ตลอดจนศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมได้ อิสรภาพดังกล่าวทำให้มนุษย์สามารถทำวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่พบเห็นได้แม้ในชีวิตประจำวัน

    แม่ชีเทเรซ่าเล่าว่าครั้งหนึ่งได้ข่าวว่ามีชาวฮินดูครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกแปดคนไม่ได้กินอาหารมาหลายวันแล้ว ท่านจึงจัดอาหารเพียงพอสำหรับหนึ่งมื้อและเดินทางไปยังบ้านของพวกเขา ภาพที่ท่านเห็นคือเด็กผอมแห้ง ตาโปน น่าสะเทือนใจมาก เมื่อผู้เป็นแม่ได้ข้าวมา ก็แบ่งข้าวออกครึ่งหนึ่ง และเดินออกไปข้างนอก เมื่อเธอกลับมา แม่ชีเทเรซ่าถามว่า “เธอไปไหนมา ?” ผู้เป็นแม่ตอบว่า “ พวกเขา ก็หิวเหมือนกัน” เธอหมายถึงเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ถัดไป พวกเขามีลูกที่ต้องเลี้ยงดูจำนวนใกล้เคียงกัน และไม่ได้กินอะไรเลยมาหลายวัน ทั้งหมดเป็นครอบครัวมุสลิม แต่ความต่างศาสนาไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกว่าพวกเขาเป็น “คนอื่น” และแม้เธอจะลำบากมากแต่ก็ยังมีใจนึกถึงคนอื่นซึ่งลำบากเหมือนกัน
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    ยีนที่ทำให้สัตว์นึกถึงแต่พวกพ้องที่มีสายเลือดใกล้เคียงกันนั้นอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถบงการให้ผู้เป็นแม่คิดถึงแต่ลูกของตนเท่านั้น มองในอีกแง่หนึ่ง ถ้าเราเชื่อว่ายีนมีอิทธิพลจริง ๆ เป็นไปได้ไหมว่ามียีนอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเอื้อเฟื้อเสียสละข้ามสายเลือด ข้ามพันธุกรรม ข้ามชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ข้ามชนิดพันธุ์ (species)

    เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ที่รัฐแมรี่แลนด์มีผู้พบเห็นห่านตัวหนึ่งติดอยู่กลางลำธารซึ่งกลายเป็นน้ำแข็ง ปีกทั้งสองข้างอ่อนแรงหุบอยู่ข้างตัว ส่วนเท้าทั้งสองจมหายไปในแผ่นน้ำแข็ง ขณะที่เธอกำลังตัดสินใจทำอะไรบางอย่างก็เหลือบเห็นฝูงหงส์บินผ่านมา สักพักก็แปรขบวนเป็นวงกลมและร่อนลงพื้นรอบ ๆ ตัวห่าน หงส์กับห่านนั้นปกติไม่ค่อยคบค้าสมาคมกัน บางครั้งก็เป็นปฏิปักษ์กันด้วยซ้ำ ขณะที่เธอกำลังวิตกว่าห่านกำลังจะถูกหงส์รุมจิกตี การณ์กลับกลายเป็นว่าหงส์ต่างพากันใช้จะงอยปากจิกแซะน้ำแข็งที่ยึดเท้าห่านอยู่ เหล่าหงส์ใช้เวลาอยู่นานจนน้ำแข็งบางพอที่ห่านจะยกเท้าขึ้นได้ พอเป็นอิสระแล้วห่านก็ขยับปีก แต่ก็ไม่สามารถบินได้ ทีนี้ก็มีหงส์สี่ตัวเข้ามาไซ้ปีกห่านทั้งด้านนอกและด้านในเพื่อเอาน้ำแข็งออก สักพักห่านก็ลองสยายและหุบปีกทีละนิด พอหงส์เห็นห่านสามารถกางได้สุดปีก ก็รวมกลุ่มกันใหม่แล้วบินต่อไปจนลับสายตา

    ความเอื้ออาทรมิได้มีอยู่แต่ในมนุษย์เท่านั้น หากยังมีในหมู่สัตว์โดยไม่จำกัดเฉพาะเผ่าพันธุ์ของตัว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าคุณธรรมนั้นก็เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของสัตว์ด้วย (อย่างน้อยก็ในสัตว์ชั้นสูง) แม้ไม่มีการอบรมบ่มเพาะ ก็สามารถแสดงอานุภาพให้ประจักษ์ได้

    มนุษย์เรามีความสามารถที่จะรักและเอื้อเฟื้อผู้อื่นแม้จะต่างสีผิว ศาสนา และเผ่าพันธุ์ ความสามารถนี้เกิดจากคุณสมบัติที่ฝังอยู่ในสัญชาตญาณของเราไม่น้อยไปกว่าปัญญาและกรุณาที่สั่งสมบ่มเพาะในภายหลัง บางทีเราอาจไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าการเปิดโอกาสให้คุณสมบัติดังกล่าวมีโอกาสแสดงออกเท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ไปทำลายมันด้วยการเรียนรู้แบบผิด ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคม
    :- https://visalo.org/article/jitvivat254803.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...