บทความให้กำลังใจ(เผชิญเสือโคร่ง)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    ช้างรับศีล
    หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี เป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แม้ท่านจะล่วงลับดับขันธ์ไปแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ แต่ท่านก็ยังเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ผู้ใฝ่ธรรมอย่างไม่เสื่อมคลาย

    ท่านเป็นพระปฏิบัติที่ใฝ่ในธุดงควัตรมาตั้งแต่ยังหนุ่ม เมื่อท่านได้ยินกิตติศัพท์พระอาจารย์มั่นก็บุกป่าฝ่าดงตามหาท่าน และเที่ยวติดตามท่านจนภายหลังได้รับเมตตาเข้าไปจำพรรษากับท่านอาจารย์ใหญ่

    คืนหนึ่งในพรรษา ขณะที่ท่านกำลังนั่งภาวนาอยู่ในกุฏิ ช้างบ้านใหญ่เชือกหนึ่งได้พลัดตรงเข้ามายังกุฏิท่าน แต่เผอิญกุฏิด้านหลังมีม้าหินใหญ่ก้อนหนึ่งบังอยู่ ช้างจึงไม่สามารถเข้ามาถึงตัวท่านได้ แต่กระนั้นก็เอางวงสอดเข้ามาในกุฏิจนถึงกลดและมุ้ง เสียงสูดลมหายใจดมกลิ่นท่านดังฟูดฟาดๆ จนกลดและมุ้งไหวไปมา แต่ท่านเองไม่ไหวติง นั่งภาวนาบริกรรมพุทโธ ๆ ตลอด ๒ ชั่วโมง ช้างใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมหนีไปไหนราวกับจะคอยทำร้ายท่าน ต่อมาก็เคลื่อนไปทางตะวันตกของกุฏิ แล้วล้วงเอามะขามมากิน

    ท่านเห็นว่าหากนิ่งเฉยคงไม่ได้การ จึงตัดสินใจออกไปพูดกับมันให้รู้เรื่อง เพราะเชื่อว่าช้างนั้นรู้ภาษาคน หากพูดกับช้างดี ๆ มันคงจะไม่พุ่งมาทำร้ายเป็นแน่

    เมื่อตกลงใจแล้วท่านก็ออกจากกุฏิมายืนแอบโคนต้นไม้หน้ากุฏิ แล้วพูดกับช้างว่า “พี่ชาย น้องขอพูดด้วยสักคำสองคำ ขอพี่ชายจงฟังคำของน้องจะพูดเวลานี้” ท่านว่าพอช้างได้ยินเสียงท่านก็หยุดนิ่งเงียบแล้วท่านก็พูดต่อไปว่า

    “พี่ชายเป็นสัตว์ของมนุษย์นำมาเลี้ยงไว้ในบ้านเป็นเวลานานจนเป็นสัตว์บ้าน ความรู้สึกทุกอย่างตลอดจนภาษามนุษย์ที่เขาพูดกันและพร่ำสอนพี่ชายตลอดมานั้น พี่ชายรู้ได้ดีทุกอย่างยิ่งกว่ามนุษย์บางคนเสียอีก ดังนั้นพี่ชายควรจะรู้ขนบธรรมเนียมและข้อบังคับของมนุษย์ ไม่ควรทำอะไรตามใจชอบ เพราะการกระทำบางอย่างแม้จะถูกใจเรา แต่เป็นการขัดใจมนุษย์ก็ไม่ใช่ของดี เมื่อขัดใจมนุษย์แล้วเขาอาจทำอันตรายเราได้ ดีไม่ดีอาจถึงตายก็ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ฉลาดแหลมคมกว่าบรรดาสัตว์ที่อยู่ร่วมโลกกัน สัตว์ทั้งหลายจึงกลัวมนุษย์มากกว่าสัตว์ด้วยกัน ตัวพี่ชายเองก็อยู่ในบังคับของมนุษย์ จึงควรเคารพมนุษย์ผู้ฉลาดกว่าเรา ถ้าดื้อดึงต่อเขา อย่างน้อยเขาก็ตี เขาเอาขอสับลงที่ศีรษะพี่ชายให้ได้รับความเจ็บปวด มากกว่านั้นเขาฆ่าให้ตาย พี่ชายจงจำไว้อย่าได้ลืมคำที่น้องสั่งสอนด้วยความเมตตาอย่างยิ่งนี้”

    แล้วท่านก็ขอให้ช้างรับศีลห้า และกำชับให้รักษาให้ดี เมื่อตายไปจะได้สู่ความสุข มีชาติที่สูงขึ้น จากนั้นท่านก็สรุปว่า “เอาละ น้องสั่งสอนเพียงเท่านี้ หวังว่าพี่ชายจะยินดีทำตาม ต่อไปนี้ขอให้พี่ชายจงไปเที่ยวหาอยู่หากินตามสบายเป็นสุขกายสุขใจเถิด น้องก็จะได้เริ่มบำเพ็ญภาวนาต่อไปและอุทิศส่วนกุศลแผ่เมตตาให้พี่ชายเป็นสุขทุก ๆ วัน และไม่ลดละเมตตา เอ้าพี่ชายไปได้แล้วจากที่นี่”
    ท่านว่าขณะที่ท่านกำลังให้โอวาทสั่งสอน ช้างยืนนิ่งราวก้อนหินไม่กระดุกกระดิกหรือเคลื่อนอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งแม้แต่น้อย ต่อเมื่อท่านให้ศีลให้พรเสร็จและบอกให้ไปได้ มันจึงเริ่มหันหลังกลับออกไปจากที่นั้น

    เมตตาและปิยวาจานั้นไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แม้ช้างก็ซาบซึ้งและสัมผัสได้ด้วยใจ

    เมตตาของหลวงพ่อ

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังนั้น ท่านเป็นคนสมัยรัชกาลที่ ๑ หากแต่มีกิตติศัพท์เลื่องลือจนถึงปัจจุบัน แต่ส่วนมากเวลานึกถึงท่าน ผู้คนมักมองไปในแง่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือพระเครื่อง ทั้ง ๆ ที่คุณธรรมของพระองค์ท่านมีอยู่อเนกประการที่สมควรน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ คุณธรรมของท่านประการหนึ่งได้แก่ ความเมตตา ไม่เฉพาะต่อผู้คน หากยังเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์เล็กสัตว์น้อย

    มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งเขานิมนต์ท่านไปในงานบ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านได้ไปโดยทางเรือ ครั้นเรือจะเข้าทางอ้อม ท่านได้ขึ้นบกลัดทุ่งนาไปด้วยหมายจะให้ถึงเร็ว ปล่อยให้ศิษย์แจวเรือไปตามลำพัง ระหว่างทางท่านได้พบนกกระสาตัวหนึ่งติดแร้วอยู่ จึงแก้บ่วงปล่อยนกนั้นไป แล้วท่านเอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วงแทน เมื่อศิษย์แจวเรือถึงบ้านงาน ไต่ถามได้ความว่าท่านขึ้นบกเดินมาก่อนนานแล้ว เจ้าภาพจึงได้ให้คนออกติดตามสืบหา ไปพบท่านติดแร้วอยู่ พอจะเข้าไปแก้บ่วง ท่านร้องห้ามว่า “อย่า อย่าเพิ่งแก้ เพราะขรัวโตยังมีโทษอยู่ ต้องให้เจ้าของแร้วเขาอนุญาตให้ก่อนจ้ะ”

    ครั้นท่านได้รับอนุญาตแล้วจึงบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ แล้วท่านได้กล่าวคำอนุโมทนา ยถา สัพพี เสร็จแล้วท่านจึงได้เดินทางต่อไปยังบ้านงาน

    หลวงพ่อชากับรถยนต์

    ทุกวันนี้รถยนต์กลายเป็นปัจจัยที่ ๕ สำหรับคนมีเงินไปแล้ว เป็นธรรมดาอยู่เองที่ฆราวาสเห็นอะไรดีก็อยากถวายให้พระได้ใช้บ้าง เพราะเชื่อว่าจะได้บุญมาก ดังนั้นการถวายรถยนต์แก่พระจึงเป็นที่นิยมในหมู่คนมีเงิน จนกระทั่งรถกลายเป็นเครื่องแสดงสถานภาพของพระว่าเป็นที่ศรัทธานับถือของญาติโยม ผลก็คือพระที่มีสมณศักดิ์ท่านใดที่ไม่มีใครถวายรถให้ ก็ต้องถือเป็นกิจที่จะขวนขวายหารถมาประดับบารมี

    สำหรับหลวงพ่อชา สุภทฺโทนั้น ท่านไม่ต้องขวนขวายหารถ เพราะมีคนอยากถวายรถยนต์ให้ท่าน แต่แทนที่ท่านจะตอบรับ ท่านได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสงฆ์วัดหนองป่าพงหลังสวดปาฏิโมกข์เพื่อฟังความเห็นพระสงฆ์ ทุกรูปต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะรับด้วยเหตุลว่าสะดวกแก่หลวงพ่อเวลาไปเยี่ยมสำนักสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีมากมายกว่า ๔๐ สาขาในเวลานั้น อีกทั้งเวลาพระเณรอาพาธก็จะได้นำส่งหมดได้ทันท่วงที

    หลังจากที่หลวงพ่อชารับฟังความคิดเห็นของที่ประชุมแล้ว ท่านก็แสดงทัศนะของท่านว่า “สำหรับผม มีความเห็นไม่เหมือนกับพวกท่าน ผมเห็นว่าเราเป็นพระ เป็นสมณะ คือผู้สงบระงับ เราต้องเป็นคนมักน้อยสันโดษ เวลาเช้าเราอุ้มบาตรออกไปเที่ยวบิณฑบาตรับอาหารจากชาวบ้านมาเลี้ยงชีวิตเพื่อยังอัตภาพนี้ให้เป็นไป ชาวบ้านส่วนมากเขาเป็นคนยากจน เรารับอาหารมาจากเขา เรามีรถยนต์แต่เขาไม่มี นี่ลองคิดดูซิว่ามันจะเป็นอย่างไร เราอยู่ในฐานะอย่างไร เราต้องรู้จักตัวเอง เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่มีรถ เราก็อย่ามีเลยดีกว่า ถ้ามี สักวันหนึ่งก็จะมีข่าวว่ารถวัดนั้นคว่ำที่นั่น รถวัดนี้ไปชนคนที่นี่...อะไรวุ่นวาย เป็นภาระยุ่งยากในการรักษา

    “เมื่อก่อนนี้จะไปไหนแต่ละทีมีแต่เดินไปทั้งนั้น ไปธุดงค์สมัยก่อนไม่ได้นั่งรถไปเหมือนทุกวันนี้ ถ้าไปธุดงค์ก็ธุดงค์กันจริง ๆ ขึ้นเขาลงห้วยมีแต่เดินทั้งนั้น เดินกันจนเท้าพองทีเดียว แต่ทุกวันนี้พระเณรเขาไปธุดงค์มีแต่นั่งรถกันทั้งนั้น เขาไปเที่ยวดูบ้านนั้นเมืองนี้กัน ผมเรียกทะลุดง ไม่ใช่ธุดงค์ เพราะดงที่ไหนมีทะลุกันไปหมด นั่งรถทะลุมันเลย ไม่มีรถก็ช่างมันเถอะ ขอแต่ให้เราประพฤติปฏิบัติให้ดีเข้าไว้ก็แล้วกัน เทวดาเห็นเข้าก็เลื่อมใสศรัทธาเองหรอก

    “ผมไม่รับรถยนต์ที่เขาจะเอามาถวายก็เพราะเหตุนี้ ยิ่งสบายเสียอีก ไม่ต้องเช็ดไม่ต้องล้างให้เหนื่อย ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำไว้ อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายกันนักเลย”
    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    กระต่ายน้อย นั่งภาวนา
    ก่อนที่พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ จะมาบุกเบิกสร้างวัดเจติยาคิริวิหารที่ภูทอก กิ่งอำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคายนั้น ท่านใช้ชีวิตเยี่ยงพระธุดงค์กรรมฐานอย่างไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อย เจริญรอยตามพระอาจารย์ใหญ่คือหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จะอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งก็จำเพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น ออกพรรษาเมื่อใดก็ออกเที่ยววิเวก ถือเอาป่าเขาและเพิงถ้ำเป็นที่พักพิง กระนั้นก็มีอยู่หลายปีที่ท่านได้อาศัยป่าเป็นที่จำพรรษา

    เมื่อ ๕๐ ปีก่อน อีสานทั้งภาคเต็มไปด้วยป่าทึบเป็นที่สิงอาศัยของสัตว์นานาชนิด จึงเป็นธรรมดาที่พระธุดงค์อย่างท่านจะต้องพานพบสัตว์ร้ายน้อยใหญ่ บางครั้งช้างและเสือก็แวะเวียนให้เห็นใกล้ ๆ กุฏิที่พัก มีพรรษาหนึ่ง ท่านและหมู่มิตรได้ร่วมกันบำเพ็ญเพียรที่ดงหม้อทองในจังหวัดสกลนคร ท่านเล่าว่าคราวหนึ่งอาหารเกิดผิดสำแดงทั้งพระและเณรเกิดท้องเสียกลางดึก แต่ส้วมมีไม่พอ พระบางรูปจึงต้องเลี่ยงเข้าป่า แต่ไม่ทันจะได้ถ่ายทุกข์ เสือตัวหนึ่งก็เกิดผลุนผลันโผล่มาแล้วกระโดดข้ามหัวท่าน ไปยังทางส้วมที่เณรกำลังอยู่ พอรู้ว่าเสือมาเท่านั้น เณรก็กระโจนออกจากมา วิ่งป่าราบเลยทีเดียว

    บางวันช้างก็มาเดินเล่น พอมาถึงกระต๊อบของผ้าขาวผู้หนึ่งก็ยื่นงวงเข้าไปหยิบรองเท้าออกมาเล่นแล้วโยนเข้าป่าไป เท่านั้นไม่พอ ยังรื้อบันไดกุฏิออกมาอีกด้วย พอควานหาของเล่นพักใหญ่ก็เตรียมกลับ แต่ก่อนจะกลับก็เอางวงดุนฝาจนกุฏิโยก ตอนนั้นผ้าขาวอยู่กุฏิพอดี แต่ตอนที่ช้างหยิบรองเท้า ถอนบันไดนั้น แกคงไม่รู้สึกผิดปกติด้วยเป็นคนหูตึง แต่ครั้นรู้สึกว่ากุฏิโยกก็เลยออกมาดู พอเห็นช้างป่าเต็มตาเท่านั้นแหละ ก็กระโจนหนีออกจากกุฏิ

    แต่ชีวิตในป่ามิได้มีแต่เรื่องน่ากลัวตัวสั่นเท่านั้น สิ่งอภิรมย์น่าชื่นชมก็มีให้เห็นอยู่เนือง ๆ ในระหว่างจำพรรษาที่ถ้ำพวง จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์จวนเล่าว่า ทุกวันที่ท่านออกเดินจงกรมเวลาบ่ายแก่ ๆ จะมีกระต่ายน้อยน่ารักตัวหนึ่งมานั่งหลับตานิ่งอยู่ห่างจากทางจงกรมเพียง ๑ ศอกเท่านั้น ทำเช่นนี้เป็นประจำโดยไม่มีอาการตื่นกลัวท่านเลย อาการนั่งหลับตาพริ้มเช่นนี้ ดูราวกับว่ามันจะขอมานั่งภาวนากับท่านด้วย แต่ถ้าได้ยินเสียงคนเดินมา กระต่ายก็จะวิ่งเข้าไปทันที

    ท่านเองก็ไม่แน่ใจว่า จริง ๆ แล้วกระต่ายต้องการจะภาวนากับท่านหรือไม่ แต่ท่านเชื่อว่า มันเคยมี “นิสัยวาสนา” ทางนี้มาแล้ว
    กระต่ายมานั่งหลับตาพริ้มยามท่านเดินจงกรมอยู่หลายวัน ก่อนที่ต่างจะแยกย้ายไปตามวิถีทางของตน
    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    ในหลวงกับหลวงตา
    หลวงพ่อโตหรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านเป็นผู้ไม่ปรารถนายศศักดิ์ แม้จะเชี่ยวชาญทางพระปริยัติธรรมแต่ก็ไม่ยอมเข้าสอบเพื่อเป็นเปรียญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ ท่านก็ทูลขอตัว ว่ากันว่าท่านเกรงว่าจะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ จึงมักธุดงค์หลีกเร้นไปยังจังหวัดห่างไกลเนือง ๆ

    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ อาจเป็นเพราะหลวงพ่อโตมีอายุมากแล้ว จึงไม่ขัดข้องที่จะรับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในชั่วเวลาไม่ถึง ๑๕ ปี ท่านได้รับเลื่อนเป็นถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งเป็นพระราชาคณะชั้นสูง แต่แม้กระนั้นท่านก็ยังดำรงตนเป็นพระธรรมดาสามัญ

    ลักษณะพิเศษของท่าน นอกเหนือจากความสันโดษและไม่ถือยศถืออย่าง ก็คือความกล้าหาญ ท่านไม่เพียงสอนธรรมแก่ชาวบ้านเท่านั้น หากยังกล้าตักเตือนพระมหากษัตริย์ โดยไม่กลัวว่าจะทรงกริ้วหรือไม่โปรดปราน

    คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จงานลอยกระทงหลวง ขณะที่ทรงประทับที่ตำหนักแพพร้อมด้วยฝ่ายในเป็นอันมาก ก็ทอดพระเนตรเห็นหลวงพ่อโตแจวเรือข้ามฟากมา เจ้ากรมเรือต้องไปขวางเอาไว้ ครั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าเป็นเรือของหลวงพ่อโต ก็รับสั่งถามว่าจะไปไหน ท่านตอบว่าตั้งใจมาเฝ้า

    “ทำไมเป็นถึงสมเด็จเจ้าแล้วต้องแจวเรือเอง เสียเกียรติยศแผ่นดิน”

    หลวงพ่อโตตอบว่า “ขอถวายพระพร อาตมาภาพทราบว่าเจ้าชีวิตเสวยน้ำเหล้า สมเด็จก็ต้องแจวเรือ”

    พระองค์พอทรงสดับเช่นนั้นก็ได้สติ ตรัสว่า “อ้อ จริง จริง การกินเหล้าเป็นโทษ เป็นมูลเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติยศแผ่นดินใหญ่โตทีเดียว ตั้งแต่วันนี้ไปโยมจะถวายพระคุณเจ้า จักไม่กินเหล้าอีกแล้ว”

    อีกคราวหนึ่งท่านจุดไต้เข้าไปในพระราชวังเวลากลางวันแสก ๆ แล้วเอาไต้นั้นทิ่มกำแพงวังจนดับก่อนกลับวัด พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็น ตรัสว่า “ขรัวโตเขารู้แล้ว ๆ ๆ “

    เรื่องของเรื่องก็คือท่านวิตกว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงหมกมุ่นมัวเมาในกามคุณมากเกินไป จึงทำอุบายถือไต้เข้าไปในราชวังกลางวัน ประหนึ่งว่าในพระราชฐานนั้นกำลังมืดมิดดังกลางคืน

    มีอีกหลายครั้งที่หลวงพ่อโตกล้าขัดพระราชหฤทัย คราวหนึ่งท่านได้ถวายเทศน์ในพระราชฐาน ๓ วันติดต่อกัน บังเอิญวันที่ ๒ นั้น พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทรงสดับแต่พอสังเขป ด้วยมีพระราชกิจอย่างอื่น (นัยว่าเจ้าจอมจะมีประสูติกาล) แต่หาได้ตรัสอย่างใดไม่ ปรากฏว่าท่านถวายพระธรรมเทศนาอย่างยืดยาว ครั้นวันต่อมาพอท่านตั้งนโมเสร็จก็กล่าวสั้น ๆ ว่า “พระธรรมเทศนาหมวดใด ๆ มหาบพิตรก็ทราบหมดแล้ว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้” แล้วก็ลงธรรมาสน์ พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสถามว่าเหตุใดวันก่อนจึงถวายเทศน์มาก วันนี้กลับถวายน้อย หลวงพ่อโตถวายพระพรว่า “เมื่อวานนี้มหาบพิตรมีพระราชหฤทัยขุ่นมัว จะทำให้หายขุ่นมัวได้ด้วยทรงสดับพระธรรมเทศนาให้มาก วันนี้มีพระราชหฤทัยผ่องใส จะไม่ทรงสดับก็ได้”

    มีครั้งหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วท่านมาก เพราะท่านถวายเทศน์เกี่ยวกับเมืองกบิลพัสดุ์ว่า พี่เอาน้อง น้องเอาพี่ เอากันเรื่อยมาไม่ว่ากัน เพราะถือว่าบริสุทธิ์ไม่เจือไพร่ จนถึงประเทศสยามก็เอาอย่าง เอาพี่เอาน้อง ขึ้นราชาภิเษกแล้วก็สมรสกันเป็นธรรมเนียมมา

    พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ไล่ลงธรรมาสน์ตรัสว่า “ไป ไป ไป ไปให้พ้นพระราชอาณาจักรไม่ให้อยู่ในดินแดนของฟ้าไปให้พ้น”

    หลวงพ่อโตออกจากวังแล้วกลับวัดระฆัง เข้าไปนอนในโบสถ์ ไม่ออกมา บิณฑบาตในโบสถ์ ไม่ลงดิน

    ครั้นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถวายพระกฐินวัดระฆังพบท่านก็รับสั่งว่า “อ้าว ไล่แล้วไม่ให้อยู่ในราชอาณาจักรทำไมยังขืนอยู่”

    “ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่ได้อยู่ในพระราชอาณาจักร อาศัยอยู่ในพุทธจักรตั้งแต่วันมีพระราชโองการ ไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย”
    “ก็กินข้าวที่ไหน ไปถานที่ไหน”
    “ขอถวายพระพร บิณฑบาตบนโบสถ์นี้ ถานในกระโถน เทวดาเป็นคนนำไปลอยน้ำ”

    “โบสถ์นี้ไม่ใช่อาณาจักรสยามหรือ”

    “โบสถ์เป็นวิสุงคาม เป็นส่วนหนึ่งจากพระราชอาณาจักร กษัตริย์ไม่มีอำนาจขับไล่ได้ ขอถวายพระพร”

    “ขอโทษ ๆ” แล้วทรงถวายกฐิน รับสั่งใหม่ว่าให้สมเด็จโตอยู่ในสยามประเทศได้

    โบสถ์เป็นของพระพุทธเจ้าฉันใด หลวงพ่อโตก็ถือว่าท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าฉันนั้น หาใช่พระของในหลวงไม่แม้ท่านจะเป็นพระราชาคณะก็ตาม ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล้าเตือนพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างไม่หวั่นเกรงภัยใด ๆ ทั้งนี้ด้วยกรุณาและปัญญาของท่านเป็นสำคัญ
    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    ทุนที่ไม่มีวันหมด
    หลังจากที่หลวงพ่อชา สุภทฺโท ได้ริเริ่มบุกเบิกวัดหนองป่าพงแต่พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา วัดนี้ก็ค่อย ๆ เติบโตจนกลายเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเหตุให้มีผู้คนหลั่งไหลมาจาริกบุญศึกษาธรรมที่วัดนี้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งมีความคิดว่าวัดหนองป่าพงควรมีมูลนิธิเหมือนอย่างวัดอื่นบ้างเพื่อวัดจะได้มีทุนดำเนินงานอย่างมั่นคง

    เมื่อลูกศิษย์นำความดังกล่าวไปปรึกษาหลวงพ่อ ประโยคแรกที่ท่านตอบก็คือ

    “อย่างนั้นก็ดีอยู่ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ถูกต้อง” แล้วท่านก็ให้ความเห็นต่อว่า “ถ้าพวกท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วคงจะไม่อด พระพุทธเจ้าท่านก็ยังไม่เคยมีมูลนิธิเลย ท่านก็โกนหัวปลงผมทำอะไรเหมือนพวกเรา ท่านก็ยังอยู่ได้ ท่านได้ปูทางไว้ให้แล้ว เราก็เดินตามทางก็น่าจะพอไปได้นะ”

    แล้วหลวงพ่อก็สรุปว่า

    “บาตรกับจีวรนี่แหละ มูลนิธิที่พระพุทธเจ้าตั้งไว้ให้ เรากินไม่หมดหรอก”

    หลวงพ่อชาเป็นอยู่อย่างมักน้อยสันโดษมาก กุฏิของท่านแทบจะโล่ง เพราะมีแต่เตียงนอนและของใช้ที่จำเป็น เช่น กระโถน ไม่มีของใช้ฟุ่มเฟือยเลย ส่วนวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่ญาติโยมนำมาถวายอยู่เสมอนั้นท่านก็ส่งต่อไปให้ลูกศิษย์ตามวัดสาขาต่าง ๆ หมด

    ท่านไม่เคยมีบัญชีเงินฝากส่วนตัว ปัจจัยหรือเงินทำบุญที่โยมถวายนั้น ท่านให้เป็นของกลางหมด “เราพอกิน พออยู่แล้ว จะมาอะไรทำไมนะ กินข้าวมือเดียว” ท่านเคยพูดให้ฟัง

    บ่อยครั้งที่โยมมาตัดพ้อต่อว่า เพราะได้ปวารณาถวายปัจจัยไว้ให้ท่านใช้ในกิจส่วนตัว แต่หลวงพ่อไม่เคยเรียกใช้สักที ท่านเคยปรารภกับลูกศิษย์ว่า “ยิ่งเขามาปวารณาแล้ว ผมยิ่งกลัว”

    คราวหนึ่งมีผู้เอารถไปถวายหลวงพ่อ รบเร้าให้หลวงพ่อรับให้ได้ โดยขับมาจอดหลังกุฏิท่าน แล้วเอากุญแจใส่ย่ามท่านไว้ แต่ปรากฏว่าหลวงพ่อไม่เคยไปดูรถคันนั้นเลย พอออกจากกุฏิท่านจะเดินไปทางอื่น จะไปในเมือง ท่านก็ขึ้นรถคันอื่น หลังจากนั้น ๗ วัน ท่านก็เรียกโยมคนหนึ่งมาหาแล้วบอกว่า

    “ไปบอกเขาเอารถกลับคืนไปนะ เอามาถวายข้อ ย ข้อยก็รับไปแล้ว เดี๋ยวนี้ข้อยจะส่งคืน มันไม่ใช่ของพระ"

    อีกครั้งหนึ่ง หลวงพ่อจะไปวัดถ้ำแสงเพชร ลูกศิษย์ที่มีรถส่วนตัวคันงามยี่ห้อดัง ต่างแย่งกันนิมนต์ให้ท่านขึ้นรถส่วนตัวคันงามยี่ห้อดัง ต่างแย่งกันนิมนต์ให้ท่านขึ้นรถของตนซึ่งจอดเรียงรายอยู่ที่ลานวัดให้ได้ หลวงพ่อกวาดตาดูสักครู่ ก็ชี้มือไปที่รถเก่าบุโรทั่งคันหนึ่งพร้อมกับพูดว่า “อ้า ไปคันนั้น” เจ้าของได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจสุดขีด รีบเปิดประตูนิมนต์ให้หลวงพ่อนั่ง

    ว่ากันว่าการเดินทางวันนั้นใช้เวลานานกว่าปกติ เพราะขบวนรถคันงามความเร็วสูงต้องค่อย ๆ ขับตามหลังรถโกโรโกโสไปโดยดุษณีภาพ
    :-https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    รู้ธรรมจากความประหยัด
    มีศิษย์เพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าท่านอาจารย์พุทธทาสมี “สมบัติชิ้นเอก” อยู่ชิ้นหนึ่ง สมบัติชิ้นนี้หาในกุฏิก็ไม่พบเพราะอยู่ข้างกายท่านตลอดเวลา สมบัติชิ้นที่ว่าก็คือ แหนบถอนหนวด

    แหนบดังกล่าวไม่ได้ทำด้วยวัสดุพิเศษอะไรเลย ออกจะด้อยคุณภาพด้วยซ้ำ เพราะทำจากขาปิ่นโตที่ลูกศิษย์เอามาถวาย ท่านเพียงแต่เอามาพับก็เป็นแหนบได้แล้ว หากจะมีความพิเศษก็ตรงที่เป็นของที่ท่านใช้มานานร่วม ๗๐ ปี คือตั้งแต่บวชมาได้ ๒ พรรษา แม้จบบั้นปลายชีวิตท่านก็ยังใช้แหนบดังกล่าวอยู่

    ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นพระที่ขึ้นชื่อในเรื่องความประหยัดและใช้สิ่งต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง ท่านเคยเล่าว่าหากไม่ประหยัด สวนโมกข์คงจะ “พินาศ” ไปนานแล้ว เนื่องจากตั้งอยู่ในป่า ไกลจากแหล่งชุมชนมาก สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ จึงหาได้ยากไม่เหมือนปัจจุบัน แม้กระทั่งกระดาษชำระก็เป็นของมีค่าสำหรับสวนโมกข์ ท่านเคยเล่าว่าหากมีคนเอาวิมานมาให้ท่านหลังหนึ่งกับกระดาษชำระม้วนหนึ่ง ท่านขอเอากระดาษชำระม้วนเดียว เพราะกระดาษมีประโยชน์ ตรงกันข้ามกับวิมานซึ่งใช้ทำอะไรไม่ได้เลย

    เวลาฉันอยู่ หากมีแกงหก ท่านจะดึงกระดาษชำระ (แบบม้วน) มาใช้เพียงแผ่นเดียว เมื่อเช็ดเสร็จท่านจะไม่ทิ้ง แต่วางไว้บนโต๊ะ หากมีใครจะเก็บไปทิ้งท่านจะห้ามไว้ โดยให้เหตุผลว่าปล่อยไว้สักครู่กระดาษก็จะแห้ง สามารถเอามาเช็ดใหม่ได้อีก

    กระดาษคาร์บอนที่ใช้พิมพ์สำเนาต้นฉบับ สมัยนี้ใช้ ๒ – ๓ ครั้งก็ทิ้งแล้ว แต่ท่านจะใช้พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้คาร์บอนจะจางแล้ว หากยังพิมพ์ได้อยู่ท่านก็ยังใช้ต่อจนกว่าคาร์บอนจะจางกระทั่งอ่านไม่ออก ที่ยิ่งแย่กว่านั้นก็คือต้นฉบับพิมพ์ดีดหลายพันหน้าที่ออกจากสวนโมกข์สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น เรียกได้ว่าไม่เคยได้สัมผัสกับยางลบหมึกเลย เวลาลูกศิษย์พิมพ์ผิด ท่านจะแนะให้ใช้เข็มซ่อนปลายค่อย ๆ เขี่ยเอา การแก้ไขคำผิดด้วยวิธีนี้ ทำให้ลูกศิษย์ต้องพิมพ์ดีดอย่างระมัดระวัง พยายามไม่ให้ผิด นับเป็นการฝึกสติอย่างดี

    ท่านอาจารย์ไม่ได้ประหยัดเฉพาะกับอุปกรณ์ที่ต้องซื้อหามาเท่านั้น กระทั่งของที่หาได้ง่าย ๆ ในสวนโมกข์ท่านก็ใช้อย่างระมัดระวัง เวลาฉันน้ำ ท่านจะเตือนให้ลูกศิษย์ใส่น้ำมาเพียงครึ่งแก้ว อย่าใส่เต็มแก้ว ท่านว่าท่านฉันครึ่งแก้วแล้วต้องทิ้งอีกครึ่งแก้ว ไม่เป็นการประหยัด เรียกว่าไม่ใช้น้ำด้วยสติปัญญา

    ทุกวันนี้เรามักได้ยินคำประกาศเชิญชวนให้ประหยัดน้ำไฟและอะไรต่ออะไรมากมาย แต่การรณรงค์ให้ประหยัดในปัจจุบันมักเกิดจากความจำเป็นบีบบังคับ เช่น เพราะว่าทรัพยากรกำลังขาดแคลน สิ่งแวดล้อมกำลังวิกฤต แต่สำหรับท่านอาจารย์พุทธทาส ความประหยัดไม่ได้เกิดจากความจำเป็นเท่านั้น หากยังเป็นคุณธรรมในตัวมันเอง นั่นหมายความว่าแม้สิ่งของจะมีมาก ก็ไม่ควรใช้อย่างฟุ่มเฟือย การใช้อย่างประหยัดนอกจากจะเป็นการฝึกให้มีสติ ใช้สิ่งของอย่างระมัดระวังและละเอียดลออแล้ว ยังทำให้พึ่งพิงวัตถุน้อยลง และเอื้อให้ชีวิตเป็นอิสระและโปร่งเบามากขึ้น
    ท่านเคยเล่าว่าธรรมะเป็นของละเอียด ดังนั้นคนที่จะรู้ธรรมะได้ จึงต้องเป็นคนละเอียดลออ ความละเอียดลออนี้มาจากไหน ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้สิ่งต่าง ๆ อย่างระมัดระวังนั่นเอง
    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm

     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    เผชิญเสือโคร่ง
    พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต วิปัสสนาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคปัจจุบัน พระอาจารย์ชอบเป็นผู้ฝักใฝ่ในการเที่ยวธุดงค์กรรมฐาน และนิยมบำเพ็ญปฏิบัติอยู่ในป่าเขามาโดยตลอด เมื่อ ๔๐ – ๕๐ ปีก่อน ป่าดงพงไพรปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ สิงสาราสัตว์จึงมีอยู่อย่างชุกชุม พระอาจารย์ชอบจึงมักพานพบสัตว์ป่านานาชนิดอยู่ไม่ขาด

    มีคราวหนึ่งท่านไปเที่ยวธุดงค์ในประเทศพม่า ขณะนั่งภาวนาอยู่ในถ้ำราว ๕ โมงเย็นก็เห็นเสือโคร่งใหญ่ลายพาดกลอนตัวหนึ่งเดินมาหน้าถ้ำ แม้ท่าทางดูน่ากลัว แตาเมื่อมันมองเข้ามาในถ้ำสบตาท่าน แทนที่จะแสดงอาการกลัวหรือคำรามตามวิสัยสัตว์ป่า กลับมีอาการเฉย ๆ เมื่อขึ้นมาถึงถ้ำแล้วก็กระโดดขึ้นไปนั่งอยู่บนก้อนหินด้านทางขึ้นถ้ำสูงประมาณ ๑ เมตร ห่างจากท่านประมาณ ๖ เมตร แล้วก็นั่งเลียแข้งเลียขาโดยหาได้สนใจท่านแต่อย่างใดไม่ ท่านว่ามันนั่งราวกับสุนัขบ้าน พอเลียแข้งเลียขาเหนื่อยก็นอนหมอบแบบสุนัขอีก แล้วก็เลียขาแล้วลำตัวต่อโดยไม่สนใจอะไร

    แม้ท่าทีของมันจะไม่ดุร้าย แต่ท่านก็ไม่วางใจ จึงงดออกไปเดินจงกรมที่หน้าถ้ำเหมือนอย่างเคย ในใจรู้สึกหวาดเสียวเล็กน้อย แต่ก็นั่งภาวนาต่อไปตามปกติ เสือโคร่งนาน ๆ ก็หันมามองดูท่านสักครั้งหนึ่ง เป็นการมองอย่างธรรมดา ๆ คล้ายกับมิตร แม้มันเลียแข้งเลียขาเสร็จนานแล้ว แต่ก็ไม่ไปไหนต่อ จนมืดแล้วท่านจึงเข้าไปในกลด ตกดึกท่านจะเข้านอนมันก็ยังอยู่ที่เดิม

    ท่านตื่นนอนราวตี ๓ มองไปที่หน้าถ้ำก็ยังเห็นมันนอนอยู่ท่าเก่าจวบจนรุ่งเช้า ก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่าท่านจะไปบิณฑบาตได้อย่างไรในเมื่อมันนอนอยู่หน้าถ้ำ แต่ท่านตัดสินใจว่าจะต้องออกไป แม้ว่าทางที่จะเดินห่างตัวมันราว ๑ เมตรเศษ ๆ เท่านั้น

    เมื่อท่านครองผ้าสะพายบาตรเสร็จก็ดำรงสติมั่น เจริญเมตตาแล้วพูดกับมันว่า “นี่ถึงเวลาออกบิณฑบาตแล้ว เราก็มีท้องมีปากมีความหิวกระหายเหมือนสัตว์โลกทั่วไปเราจะขอทางไปบิณฑบาตมาฉันหน่อยนะ จงให้ทางเราบ้าง ถ้าเจ้าอยากอยู่ที่นี่ต่อไปก็ได้ หรือจะไปเพื่อหาอยู่หากินที่ไหนก็ตามใจสะดวก เราไม่ว่า”

    ท่านว่า มันนอนฟังท่านเหมือนสุนักนอนฟังเจ้าของพูด พอพูดจบท่านก็เดินผ่านหน้ามัน ส่วนมันก็นอนสบายปล่อยให้ท่านเดินผ่านออกไป พลางชำเลืองดูด้วยสายตาอ่อน ๆ
    เมื่อท่านบิณฑบาตกลับมา ก็ไม่พบมันแล้ว นับแต่วันนั้นก็ไม่พบมันอีกเลย
    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 ธันวาคม 2024 at 01:26

แชร์หน้านี้

Loading...