บทความให้กำลังใจ(เห็นประโยชน์ของสรรพสิ่ง)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,578
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,042
    (ต่อ)
    เธอดีใจมาก เข้าไปในเมืองทันทีเพื่อขอเมล็ดผักกาด บ้านไหน ๆ ก็มีเมล็ดผักกาด แต่เมื่อถามว่ามีคนตายในบ้านไหม ก็ปรากฏว่ามีคนตายทุกบ้าน คนสมัยก่อนเขาตายที่บ้าน ไม่ได้ตายที่โรงพยาบาล หลังจากที่ถามบ้านแล้วบ้านเล่า สุดท้ายเธอก็เห็นความจริงว่าความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นกับทุกครอบครัว ทุกคนล้วนสูญเสียคนรักทั้งนั้น เธอก็เลยทำใจยอมรับได้ว่าลูกตายแล้ว จึงเอาลูกไปเผาที่ป่าช้า แล้วกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า คราวนี้พระองค์แสดงธรรมสั้นๆ ว่า “มฤตยูย่อมพาเอาคนผู้มัวเมาในลูกและสัตว์เลี้ยง ผู้มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ เหมือนห้วงน้ำใหญ่ย่อมพัดพาเอาชาวบ้านที่หลับใหลไป ฉะนั้น” นางกีสาโคตมีได้พิจารณาตาม ปัญญาเกิดก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

    การเห็นความจริงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักปฏิบัติธรรม ถ้าหากทำแต่ความดีแต่ไม่เปิดใจเห็นความจริงก็ยังต้องถูกความพลัดพราก ความเจ็บป่วย รวมทั้งความตายคุกคาม เล่นงานบีบคั้น ไม่ใช่แค่กายเท่านั้น แต่ยังบีบคั้นจิตใจด้วย เมื่อยอมรับความจริง เห็นความจริงแล้ว แม้เจอความพลัดพรากสูญเสีย ใจก็สงบได้

    มีผู้หญิงอีกคนหนึ่งชื่อนางมัลลิกา เป็นภรรยาของพันธุลเสนาบดี พันธุละเป็นโอรสของเจ้ามัลละแห่งแคว้นมัลละ แต่มีความน้อยเนื้อต่ำใจในหมู่พระญาติ จึงอยู่กับพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งเป็นเพื่อนที่เคยไปเรียนที่สำนักตักศิลาด้วยกัน มีความสามารถทางการทหารมาก เมื่อมาอยู่กับพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้เป็นเสนาบดีคู่ใจ แต่ตอนหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลเกิดความระแวงเพราะหูเบาเชื่อคำยุยงของคนใกล้ชิด ว่าพันธุละจะยึดอำนาจ ก็เลยหลอกไปฆ่า โดยสั่งให้ไปปราบโจรที่ชายแดนแล้วหาคนซุ่มโจมตี ซึ่งก็สำเร็จ พันธุละกับลูกชาย ๓๒ คนถูกฆ่าตายไม่เหลือสักคน

    ข่าวนี้มาถึงนางมัลลิกาในเช้าวันที่กำลังเลี้ยงพระ มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นประธาน เมื่อนางเปิดอ่านจดหมายและรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น นางก็ไม่ได้มีสีหน้าผิดปกติ ยังคงทำงานต่อคือถวายอาหารเลี้ยงพระ ในช่วงนั้นเองคนใช้ของนางเกิดทำถาดใส่เนยใสตกแตกต่อหน้า พระสารีบุตรจึงพูดปลอบใจนางว่า ของที่แตกได้ก็แตกไปแล้วอย่าเสียใจไปเลย นางมัลลิกาจึงกล่าวกับพระสารีบุตรว่า เมื่อกี้มีคนส่งข่าวมาให้ดิฉันว่า สามีและลูกชายทั้ง ๓๒ คนถูกฆ่าตาย ดิฉันยังไม่เสียใจเลย เมื่อถาดเนยใสตกแตก ดิฉันจะเสียใจทำไมเจ้าคะ

    นางมัลลิกาเป็นผู้ที่มีธรรมะ นางเห็นว่าความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิต ความพลัดพรากจากคนรักเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น เมื่อเหตุร้ายนั้นเกิดขึ้นกับตนก็ยอมรับได้ นางมัลลิกาไม่ใช่นักบวช แต่มีความเข้าใจในธรรมะอย่างมาก เมื่อเห็นความจริงในเรื่องอนิจจังของชีวิต ก็สามารถรักษาใจเป็นปกติได้ยามเกิดความพลัดพรากสูญเสีย

    ดังนั้นการฝึกใจให้เห็นความจริงเป็นการปฏิบัติธรรมที่สำคัญ ช่วยให้เราสามารถอยู่ในโลกที่ผันผวนแปรปรวนได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ เมื่อเราได้เห็นความจริงในเรื่องไตรลักษณ์แล้ว ก็ทำให้เรามีท่าทีและวางใจเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา ใจก็เป็นปกติได้ ไม่ต้องรู้ความจริงถึงขั้นเป็นพระอริยเจ้าก็ได้ แม้เป็นปุถุชน แต่ถ้าเปิดใจยอมรับความจริงเหล่านี้อยู่เสมอ ก็สามารถที่จะอยู่กับความทุกข์ ความพลัดพรากสูญเสียได้โดยใจไม่ทุกข์
    :- https://visalo.org/article/5000s07_2.html

     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,578
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,042
    สุขที่ใจใฝ่หา
    พระไพศาล วิสาโล
    มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาความสุข แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักความสุขที่ควรแสวงหา ความสุขที่ผู้คนส่วนใหญ่แสวงหานั้น จะว่าไปแล้วก็เป็นความสุขแค่แบบเดียวเท่านั้น ทั้งที่ความสุขนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท

    ความสุขประเภทแรก เป็นความสุขที่เกิดจากการเสพ เรียกว่ากามสุข เกิดจากการเสพผัสสะที่เร้าใจ มีสิ่งมากระตุ้นอายตนะ ทำให้เกิดความตื่นเต้น ความสนุกสนาน เช่น ได้ดูหนังที่สนุกตื่นเต้น ได้ฟังเพลงที่เร้าใจไพเราะ ได้กินอาหารที่อร่อย ได้เห็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจ ได้เจออะไรที่แปลกใหม่ ถือเป็นการเร้าจิตกระตุ้นใจแบบหนึ่ง ความสุขที่ผู้คนรู้จักส่วนใหญ่เป็นความสุขชนิดนี้

    ลองทบทวนดูก็จะพบว่าความสุขที่เราแสวงหาส่วนใหญ่หนีไม่พ้นความสนุก ความตื่นเต้น สิ่งที่กระตุ้นตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมถึงใจด้วย หลายคนเห็นเงินก็มีความสุขแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันได้ใช้เงินนั้นเลย ที่สุขก็เพราะรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เงินก้อนใหญ่ บางคนอาจจะมีความสุขจากสิ่งเร้าใจประเภทเสี่ยงอันตราย เช่น ปีนเขา แข่งรถซิ่ง หรือจากการดูกีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส วอลเล่ย์บอล ฯลฯ ที่มีความสุขก็เพราะได้ลุ้น มันกระตุ้นใจให้ตื่นเต้น แต่ถ้าเรารู้ผลการแข่งขันแล้ว ไปเปิดเทปดูย้อนหลังความสุขก็จะน้อยลง รสชาติจะจืดจางไปมากทีเดียว อันนี้รวมถึงความสุขทางเพศด้วย แค่ได้เห็นด้วยตา ได้สัมผัสด้วยกายก็เร้าให้เกิดความตื่นตัว เกิดความตื่นเต้น ยิ่งตื่นเต้นยิ่งกระตุ้นเร้ามากเท่าไร ผู้คนก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น

    แต่ความสุขแบบนี้มีข้อเสียคือ พอได้เสพบ่อย ๆ เสพมาก ๆ ก็เริ่มชินชา เมื่อได้กินอาหารจานอร่อยวันแล้ววันเล่า ลิ้นก็เริ่มชินชา ไม่รู้สึกว่าอร่อยเหมือนเดิม เพลงที่สนุก ฟังทีแรกก็เร้าใจ แต่พอฟังไปนาน ๆ มันก็จืดจางลง ความสุขทางเพศก็เหมือนกัน ใหม่ ๆ ก็ตื่นเต้น แต่พอทำไปบ่อย ๆ ก็ชินชา ไม่ตื่นเต้นแล้ว ต้องไปหาของใหม่มาเสพ หรือไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ มีการเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนท่วงท่า เปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อให้มันกลายเป็นของใหม่ขึ้นมา เพื่อจะได้เร้าใจ หรือกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวเหมือนเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่ความสุขประเภทนี้ คือต้องสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ

    ความสุขประเภทที่สอง เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ เรียกว่าความสงบสุข สามารถเกิดขึ้นได้แม้จะมีสิ่งเร้าน้อย มีสิ่งเสพไม่มาก คนที่เสพความสุขประเภทแรกจนเต็มที่แล้ว ในที่สุดก็จะรู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง จึงเริ่มแสวงหาความสุขที่เกิดจากความสงบแทน มีคนรวยจำนวนมากที่เดินทางไปประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น หรือมาประเทศไทย เพราะว่าต้องการแสวงหาสถานที่ที่สงบ ยอมเหนื่อยยาก เสียเงินทอง เสียเวลา ละทิ้งความสนุก ละทิ้งความสบาย แต่เขาถือว่าคุ้ม เพราะความสงบเป็นสิ่งที่หาได้ยากในบ้านเมืองของเขา ข้อสำคัญก็คือ ในส่วนลึกของจิตใจ ความสงบสุขคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา

    ปัจจุบันนี้ประเทศในยุโรปหรืออเมริกา มีวัดหรือโบสถ์หลายแห่งกลายเป็นสถานที่ดึงดูดผู้คน ไม่ใช่เพราะเขาสนใจศาสนา แต่เพราะเป็นสถานที่ที่สงบ วัดบางวัดซึ่งเป็นที่อยู่ของนักบวชที่เคร่งครัด เปิดให้คนมาพัก โดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีสัญญาณไวไฟ แม้ราคาห้องพักจะแพงมาก แต่คนก็นิยมไป เพราะว่าเขาต้องการความสงบ จะเสียเงินเท่าไร จะลำบากอย่างไรก็ไป เพราะเป็นสิ่งที่เขาขาด

    ฝรั่งหลายคนมาบวช โกนหัว ห่มเหลือง เพื่อลิ้มรสความสงบ เพราะรู้ว่าความสุขจากการเสพที่เรียกว่ากามสุขนั้นไม่ใช่คำตอบของชีวิต คนที่แสวงหาความสุขประเภทนี้ และพร้อมที่จะละทิ้งความสุขจากการเสพ มีมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เพิ่งจะมีในสมัยนี้เท่านั้น เช่นเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้า ก็เป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกว่าความสุขที่มีในปราสาท ๓ หลังนั้น ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง หรือมานพหนุ่มที่ชื่อว่ายสกุลบุตร ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เบื่อหน่ายในกามสุข

    ยสกุลบุตรเป็นบุตรของเศรษฐีเมืองพาราณสี มีชีวิตอยู่กับการเสพสุขสนุกสนาน รอบตัวเต็มไปด้วยสิ่งเร้าจิตกระตุ้นใจ มีดนตรีขับกล่อม มีผู้หญิงมาร่ายรำทั้งวันทั้งคืน แต่กลับรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ความสุขที่ตัวเองต้องการ วันหนึ่งตื่นขึ้นมากลางดึก เห็นนางรำทั้งหลายนอนก่ายกองกันด้วยความเพลีย บ้างก็เสื้อผ้าหลุดลุ่ย บ้างก็น้ำลายไหล ยสกุลบุตรเห็นแล้วนึกถึงซากศพ เกิดความสังเวชขึ้นมา จึงเดินออกจากคฤหาสน์ เดินออกไปอย่างไร้จุดหมาย เดินไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ทิศทาง รู้แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นไม่ใช่คำตอบ แล้วก็พูดรำพึงตลอดทางว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" จนกระทั่งเดินไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธเจ้าได้ยินเสียงยสกุลบุตร จึงตรัสขึ้นมาว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง"
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,578
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,042
    (ต่อ)
    ยสกุลบุตรได้ยินก็สะดุดใจ เดินเข้าไปหาพระพุทธเจ้าเพื่อสนทนาธรรมด้วย พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำความดีก่อน เช่น การให้ทาน การรักษาศีล ซึ่งมีสวรรค์เป็นอานิสงส์ จากนั้นก็ทรงชี้ให้เห็นโทษของสุขในสวรรค์ ซึ่งเป็นกามสุขอย่างหนึ่ง แล้วทรงชี้ให้เห็นสิ่งที่ดีกว่านั้น คือ การเป็นอิสระจากกามสุข หรือเนกขัมมะ เพียงเท่านั้นยสกุลบุตรก็ตาสว่าง เกิดปัญญาขึ้นมา จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เพราะจิตใจของยสกุลบุตรนั้นเหนื่อยหน่ายในกามสุข และปรารถนาความสุขที่เกิดจากความสงบอยู่ก่อนแล้ว

    พระภัททิยะเดิมเป็นเจ้าชายในตระกูลศากยวงศ์ ได้ออกบวชพร้อมกับพระอานนท์ และพระเทวทัตซึ่งเป็นพระญาติด้วยกัน ไม่ได้ตั้งใจอยากจะมาบวชเลย แต่เพื่อนคือเจ้าชายอนุรุทธะขอร้องให้มาบวชด้วยกัน พอมาบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติ ไม่นานก็บรรลุธรรม วันหนึ่งก็รำพึงขึ้นมาว่า "สุขหนอ สุขหนอ" เพื่อนพระได้ยินก็คิดว่าพระภัททิยะรำพึงถึงความสุขในสมัยอยู่วัง จึงไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเรียกมาถาม และได้คำตอบจากพระภัททิยะว่า ท่านไม่ได้นึกถึงความสุขในอดีต แต่ท่านกำลังมีความสุขในเพศสมณะ ท่านบอกว่าสมัยที่อยู่วังแม้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย มีองครักษ์รายล้อม ก็ยังมีความหวาดกลัว ไม่มีความสุข แต่พอมาครองผ้ากาสาวพัสตร์ อยู่อย่างเรียบง่าย ฉันมื้อเดียว นอนใต้โคนไม้ ไม่มีองครักษ์คอยปกป้อง อยู่ในป่าที่เงียบสงัด กลับมีความสุขมากกว่า

    ความสงบที่เกิดจากสิ่งเร้า เกิดจากความตื่นเต้นหวือหวานั้นเสพง่าย แต่ก็เบื่อง่ายด้วยเช่นกัน มันทำให้ต้องดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น เพราะว่าเมื่อเสพไปแล้วไม่นานก็เบื่อ อยากได้ของใหม่ ทำให้ดิ้นรนแสวงหาสิ่งเสพใหม่ ๆตลอดเวลา แต่ได้เสพเท่าไร มีเท่าไรก็ยังไม่พอ ยิ่งดิ้นรนก็ยิ่งทำให้เกิดความเหนื่อยอ่อน พอเหนื่อยถึงจุดหนึ่ง ก็อยากจะแสวงหาความสงบ เริ่มจากการไปหาสถานที่ที่สงบสงัด อย่างที่วัดป่าสุคะโตนี้ หลายคนมาก็เพราะรู้สึกพึงพอใจหรือติดใจในความสงบ บางคนเพียงแค่มาไม่กี่นาทีก็รู้สึกถึงความสงบ เพราะว่าแตกต่างไปจากที่บ้าน หรือในเมืองที่แสนวุ่นวาย อึกทึก

    ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนไม่น้อยพากันแสวงหาที่ที่สงบ สงัด เพื่อจะได้สัมผัสกับความสุขสงบ อย่างไรก็ตาม ความสุขสงบที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมอันสงัด ยังไม่ใช่ความสุขที่เราจะฝากจิตฝากใจเอาไว้ได้ เพราะว่าความสุขแบบนี้ไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนง่าย อย่างที่วัดป่าสุคะโตนี้ บางช่วงก็อึกทึกคึกโครม อย่างวันพรุ่งนี้จะมีการบวชเณร มีผู้คนมามากมาย เด็ก ๆ ก็จะส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว คนที่หวังความสงัดก็อาจจะไม่พอใจ บางช่วงหมู่บ้านหน้าวัดก็มีงานศพ มีการฉายหนัง หรือเปิดเพลงเสียงดังทั้งคืน ชาวบ้านเขาชอบ แต่พวกเราอาจจะไม่ชอบเพราะว่ามันทำลายความสงบ

    หลายคนพออยู่ไป ๆ ก็รู้สึกว่าไม่สงบแล้ว จึงคิดหาสถานที่ใหม่ที่สงบกว่า แต่ถึงจะหาเจอ ในที่สุดก็จะพบว่ามันก็ไม่สงบอย่างที่คิด เพราะเจอเสียงดังรบกวนอีก สุดท้ายต้องหนีไปหาที่ใหม่อีก นอกจากเสียงดังแล้ว บางครั้งก็ยังมีสิ่งอื่น ๆ รบกวนจิตใจ เช่น คนที่พูดหรือทำอะไรไม่ถูกใจ ดังนั้นใครก็ตามที่แสวงหาความสงบจากสถานที่ จะสมหวังได้ยาก ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็หนีเสียงดังไม่พ้น แถมยังต้องเจอสิ่งที่กระทบใจ ขัดใจให้ขุ่นมัวอยู่เสมอ

    ในสมัยพุทธกาล มีพราหมณีคนหนึ่งร่ำรวยมาก ชื่อว่าเวเทหิกา นางมีความสุขมาก จิตใจนิ่งสงบ เธอคิดว่าเป็นเพราะตัวเองปฏิบัติธรรมดี พูดอวดคนนั้นคนนี้ทำนองว่าฉันเก่ง นางทาสีคนหนึ่งได้ยิน วันหนึ่งจึงอยากทดสอบนาง แกล้งนอนตื่นสาย ไม่ลุกมาตักน้ำให้นางเวเทหิกาล้างหน้า พอนางเวเทหิการู้เข้าก็ไม่พอใจ ด่าว่านางทาสีคนนั้นด้วยความโกรธ นางทาสีจึงได้โอกาสบอกให้นางเวเทหิการู้ว่า ที่เธอเป็นสุขและใจสงบได้นั้น ไม่ใช่เพราะปฏิบัติธรรมดี แต่เป็นเพราะทุกอย่างรอบตัวเธอราบรื่นหรือถูกใจเธอต่างหาก แต่พอมีอะไรไม่ถูกใจ ไม่สมหวัง ก็ขุ่นมัวขึ้นมาทันที

    การที่ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราจะเป็นไปอย่างราบรื่นตามใจหวังตลอดเวลานั้นเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่อยู่วัดก็อาจเจอสิ่งขัดใจ ทำให้ว้าวุ่นใจ มีหลายคนไม่อยากรับผิดชอบงานในวัด อยากอยู่ในกุฏิเฉย ๆ เพราะกลัวว่าถ้าทำงานแล้วใจจะไม่สงบ ความคิดแบบนี้ทำให้กลายเป็นคนไม่รับผิดชอบ ไม่เอื้อเฟื้อต่อส่วนรวม และที่สำคัญคือกลายเป็นคนจิตใจอ่อนแอ เพราะเจออะไรมากระทบนิดหน่อยจิตใจก็เป็นทุกข์แล้ว ใครก็ตามที่พยายามหนีไปอยู่ในที่ที่สงบสงัด ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เพื่อจะได้มีความสงบสุข พึงตระหนักว่าความสงบสุขแบบนั้นเป็นสิ่งที่เปราะบางมาก เพราะอะไรมากระทบก็ไม่ได้ ถ้าพึ่งพาสิ่งแวดล้อมที่สงบอย่างเดียว จะผิดหวังเพราะของแบบนี้ไม่จิรัง ไม่ยั่งยืน มันเป็นของชั่วคราว

    เราต้องเรียนรู้ที่จะเข้าถึงความสงบแบบไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องอาศัยคนอื่นมาปรนนิบัติให้ถูกใจเรา เราต้องเรียนรู้ที่จะหาความสงบได้ด้วยตัวเอง ความสงบแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการฝึกใจ ด้วยการปฏิบัติธรรม เจริญสติ ฝึกสมาธิภาวนา ไม่เช่นนั้นความสุขหรือความสงบที่เกิดขึ้นกับเรา ก็จะหลุดลอยไปจากเราได้ง่าย ๆ เพียงแค่มีคนมาพูดกระทบ ตำหนิ หรือแม้แต่ท้วงติง จิตใจเราก็รุ่มร้อนแล้ว ถ้าไม่อยากให้จิตใจเรารุ่มร้อนหรือวุ่นวายง่าย ๆ ก็ต้องฝึกใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวง่าย ๆ มีการวางจิตวางใจที่ถูกต้อง ถ้าเราฝึกจิตฝึกใจจนมั่นคง รู้จักวางใจให้ถูก เราก็จะพบกับความสงบได้ในทุกที่ ทุกสถานการณ์ แม้แต่เวลาเจ็บป่วยก็ยังพบกับความสงบใจได้ ใครพูดอะไรมาใจก็ไม่กระเพื่อม รู้จักปล่อยวางได้ หรือว่าเจอสิ่งไม่สมหวัง งานล้มเหลว ใจก็ไม่ทุกข์

    อาจารย์ของอาตมา หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ท่านทำงานเยอะตั้งแต่ยังหนุ่ม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการสอนธรรมเท่านั้น ท่านยังทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน การช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก การอนุรักษ์ธรรมชาติ ท่านทำมาเป็นเวลาหลายสิบปี เคยมีคนถามว่างานที่ท่านทำนั้นสำเร็จหรือไม่ ท่านก็มักจะตอบว่า “งานที่หลวงพ่อทำล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ แต่ถึงแม้งานล้มเหลว แต่หลวงพ่อไม่ล้มเหลว" คือแม้งานของท่านล้มเหลว แต่ท่านก็ยังสงบเย็นอยู่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเข้าถึงความสงบที่ใจ เพราะว่าได้ฝึกจิตฝึกใจมาจนกระทั่งวางใจถูก เมื่อวางใจถูก มีอะไรมากระทบใจก็สงบได้

    เราควรสัมผัสกับความสงบที่เกิดจากใจ ไม่ควรหวังพึ่งความสงบจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หรือความสงบจากการพูดดีทำดีของคนรอบข้าง เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่จีรัง หลายคนทำดีแล้วทุกข์ เพราะว่าคนอื่นไม่เห็นความดีของตัว แถมบางครั้งยังถูกเอาเปรียบอีก มีคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า ไม่อยากทำความดีแล้ว ทำดีแล้วไม่ได้ดีเพราะว่าคนรอบข้างคิดแต่จะรังแก เอาเปรียบ ที่เขาทุกข์ไม่ใช่เพราะทำดี แต่ทุกข์เพราะคาดหวังความดีจากคนรอบตัวมากไป ถ้าคาดหวังความดีจากคนรอบตัว คาดหวังให้คนอื่นพูดดี ทำดี ก็ยากที่จะพบกับความสงบสุขได้

    เราควรปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความสงบและความสุขที่เกิดจากใจของตัวเอง ใครเขาจะทำไม่ดีหรือพูดไม่ดีกับเรา ใจเราก็ยังนิ่งสงบได้ นี้เป็นความสุขที่เราควรรู้จัก เป็นสุขที่เราควรแสวงหา เกิดมาทั้งทีหากไม่รู้จักความสุขชนิดนี้ก็น่าเสียดายอย่างยิ่ง
    :- https://visalo.org/article/5000s14.html
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,578
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,042
    อยู่กับปัจจุบัน
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน อาตมาได้ไปร่วมงานธรรมยาตราทางภาคเหนือ ไปเยือนหมู่บ้านชาวเขาที่ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย มีคนเข้าร่วมประมาณ ๓๐ คน ทั้งไทย ฝรั่ง พระ โยม ต้องแบกสัมภาระทุกอย่างเอง รวมทั้งบาตรด้วย จำได้ว่าตอนนั้นเดินขึ้นดอยไม่ถึง ๑๐ นาทีก็เหนื่อยแล้ว เพราะสัมภาระหนัก มัคคุเทศก์ที่เป็นชาวเขาจึงแนะนำว่า ให้เดินช้า ๆ และอย่าพัก แม้จะรู้สึกคลางแคลงใจในคำแนะนำของเขา แต่อาตมาก็ลองทำตาม

    การเดินช้าไม่ใช่เรื่องง่าย เดินช้าไปได้สักพัก ก็เผลอกลับไปเดินเร็วตามความเคยชินอีก ต้องพยายามกำกับขาตัวเองให้เดินช้า ๆ เดินไปไม่นานก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คนที่หนุ่มสาวกว่าก็พากันเดินแซงไป แต่เดินช้าได้สักพักก็เผลอเดินเร็วขึ้นอีก เพราะใจไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว และยังกลัวว่าจะไปไม่ทันเพลด้วย พอรู้ตัวก็กลับมาเดินช้าลง แต่เผลอเมื่อไหร่ก็จะเดินเร็วขึ้นอีก จึงต้องพยายามกำกับจิตให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่ที่แต่ละก้าว ประสานลมหายใจและเท้าเข้าด้วยกัน ไม่นานก็รู้สึกว่าเป็นสมาธิ และเดินไปได้เรื่อย ๆ

    เดินได้พักใหญ่ก็สามารถแซงคนหนุ่มสาว เพราะคนเหล่านั้นนั่งพักเหนื่อยกันแล้ว ส่วนอาตมายังเดินได้สบายอย่างที่มัคคุเทศก์แนะนำ คือไม่ต้องพักเลย เพราะมันไม่เหนื่อย และพบว่าจริง ๆ แล้วการเดินแบบนี้ แต่ละก้าวก็เป็นการพักไปในตัวอยู่แล้ว เดินไปพักใหญ่ก็ปรากฏว่าอยู่หน้าแถวเสียแล้ว ทิ้งคนข้างหลังห่างออกไปเรื่อย ๆ มีคนตามมาทันแค่ไม่กี่คน สุดท้ายก็ถึงหมู่บ้านชาวเขาก่อนใคร และทันเวลาฉันเพลพอดี

    ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้พบหลักการเดินขึ้นเขาว่า เดินช้า ๆ และไม่ต้องหยุดพัก ตอนหลังก็เอาวิธีนี้ไปใช้กับการเดินหลายครั้ง ทั้งการเดินทางไกล เดินธรรมยาตรา เมื่อปีที่แล้วไปเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน ทั้งที่เขาชันมาก แต่ก็เดินขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ล่าสุดก็ไปปีนเขาศรีปาทะ ที่ประเทศศรีลังกา ศรีปาทะถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวศรีลังกาทุกศาสนา ชาวพุทธเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับที่นี่ เพราะมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขา ชาวฮินดูเชื่อว่าพระศิวะเคยมาประทับพระบาทที่นี่ ชาวมุสลิมและชาวคริสต์ก็เชื่อว่า หลังจากอดัมถูกไล่ลงจากสวรรค์ ตรงนี้เป็นก้าวแรกที่ลงมาเหยียบโลก จึงเรียกยอดเขานี้ว่าอดัมสพีค

    การเดินขึ้นเขาศรีปาทะถ้ามองว่าง่ายกว่าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวก็ได้ เพราะมีบันไดตลอด แต่จะมองว่ายากกว่าก็ได้ เพราะใช้เวลานาน ประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง ต้องเดินตั้งแต่เที่ยงคืนหรือตีหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นเวลานอนมากกว่า อาตมาก็เดินไปเรื่อย ๆ และไม่พักเลย ช่วงชั่วโมงสุดท้ายบันไดจะชันมากประมาณ ๔๕ องศา บางครั้งใจอยากเดินให้ถึงเร็ว ๆ แต่พอมีสติก็กลับมาเดินช้า ๆ ปรากฏว่าไปถึงจุดหมายบนยอดเขาได้ทันก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

    หลังจากที่เดินขึ้นดอยแม่สลองและอีกหลายแห่งก็พบว่า ไม่ว่าเส้นทางจะไกลแค่ไหน อยู่สูงเพียงใด แต่ถ้าใจอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับการเดินแต่ละก้าว ๆ ถ้าเราเดินไม่หยุดก็จะถึง และอาจจะถึงเร็วด้วย นี้เป็นเคล็ดลับการปีนเขาของพวกมืออาชีพเหมือนกัน ฝรั่งคนหนึ่งชื่อบรู๊ซ เคิร์กบี้ เขาพิชิตยอดเขาสูงที่สุดในทุกทวีปมาแล้วรวมทั้งเอเวอเรสต์ด้วย เขาได้สรุปบทเรียนจากการเดินเขามานานหลายทศวรรษว่า “ทุกอย่างมักดูน่ากลัวกว่าความเป็นจริงเสมอเมื่อมองจากที่ไกล” เช่นเวลาปีนเขา ถ้ามองไปที่ยอดเขาจะรู้สึกว่ามันน่ากลัวมาก และชวนให้ท้อ เพราะทั้งชันทั้งไกล บางที่ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะถึงยอดเขา

    เขาพบว่า วิธีเดินเขาที่ดีที่สุดคือ ไม่ต้องกังวลถึงจุดหมาย ให้ใส่ใจจดจ่ออยู่กับพื้นดินใต้ฝ่าเท้า และเดินไปทีละก้าว ๆ วิธีนี้ทำให้เดินได้สบายมาก ไม่ต้องกังวลถึงจุดหมาย รวมทั้งอันตรายและอุปสรรคข้างหน้า ใจจะรู้สึกผ่อนคลาย และถ้าเดินไม่หยุดก็จะถึงจุดหมายในที่สุด และสามารถไปถึงได้เร็วด้วย ต่างกับคนที่เดินจ้ำเอา ๆ ตาจ้องอยู่ที่จุดหมายปลายทาง ใจก็คิดแต่ว่าเมื่อไรจะถึง ๆ ปรากฏว่าอยากเดินให้ถึงเร็ว กลับถึงช้า

    ประสบการณ์จากการเดินทางไกลและเดินขึ้นเขา ทำให้พบว่าเทคนิคการเดินที่ดีก็คือ "ไม่ว่าทางไกลแค่ไหน ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน" และพบว่า "เดินเร็วถึงช้า เดินช้าถึงเร็ว" อาตมาเคยเดินจาริกในญี่ปุ่นประมาณ ๗-๘ วัน มีพระญี่ปุ่นที่บวชอยู่วัดเดียวกับอาตมาร่วมเดินด้วย ทุกวันจะแวะเยี่ยมเยียนชุมชนคนไทยที่อยู่ตามเส้นทาง เมื่อไปถึงแต่ละเมือง เขาก็จะจัดถวายเพล เป็นโอกาสให้ได้พบปะคนไทย ส่วนคนไทยเหล่านั้นก็ได้มีโอกาสทำบุญหรือถวายสังฆทาน การเดินในแต่ละวันจึงต้องไปให้ถึงจุดหมายก่อนเพล บางช่วงระยะทางไกลก็ไม่แน่ใจว่าจะไปทันเพลหรือเปล่า ส่วนพระญี่ปุ่นก็จะเดินเร็ว รีบไปให้ถึงจุดหมาย แต่อาตมาได้บทเรียนจากการขึ้นเขาแล้ว จึงเดินไปตามจังหวะไม่เร่งรีบ ปรากฏว่าเดินไปแค่ ๓-๔ วัน ท่านก็เจ็บเท้า ต้องเปลี่ยนรองเท้า แต่ก็ไม่ช่วยให้การเดินสะดวกขึ้นมากนัก จากเดินเร็วกลายเป็นเดินช้า ส่วนอาตมาเดินช้า ๆ ตลอดเส้นทางจนถึงเมืองนากาโน ก็เดินถึงได้อย่างสบายโดยที่แข้งขาและเท้าไม่เป็นอะไรเลย เพราะได้เตือนตัวเองว่าให้เดินไปเรื่อย ๆ ถ้าเดินไม่หยุดเดี๋ยวก็ถึงเอง เดินช้ากลับถึงเร็ว แต่ว่าเดินเร็วเพราะอยากถึงที่หมายไว ๆ กลับถึงช้า

    การขับรถก็เช่นกัน บางทีขับเร็วอาจถึงที่หมายช้าก็ได้ เพราะประสบอุบัติเหตุ เฉี่ยว ชน หรือรถพัง ยิ่งอยากไปเร็วกลับถึงช้า แต่การไปช้า ๆ หรือมีสติอยู่กับปัจจุบันกลับถึงเร็วกว่า คนส่วนใหญ่อยากไปเร็วเพราะใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจกระโดดไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,578
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,042
    (ต่อ)
    นี้ไม่ใช่ศิลปะการเดินทางไกลหรือการขึ้นเขาเท่านั้น แต่เป็นศิลปะในการทำงานด้วย โดยเฉพาะงานที่ยาก หลายคนทำงานด้วยความเครียด เครียดว่าเมื่อไรจะเสร็จ กังวลว่าผลงานจะออกมาไม่ดี เจ้านายจะว่าอย่างไร เพื่อนร่วมงานจะชมไหม ถ้าคิดแบบนี้ก็จะทำงานด้วยความเครียด ทำด้วยความทุกข์ แต่ถ้าเราเอาใจจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ข้อดีคือนอกจากไม่เครียดไม่กังวลแล้ว ยังทำให้มีสมาธิกับงานมากขึ้น ยิ่งถ้าแบ่งงานดี ๆ ซอยจุดหมายปลายทางให้สั้นลง แล้วทำให้ได้อย่างที่วางแผนเอาไว้ พยายามทำแต่ละชั่วโมง แต่ละวันให้ดีที่สุด งานยากก็จะง่ายขึ้น ส่วนใจก็ไม่เครียดไม่ทุกข์

    หากทำได้เช่นนี้ ก็เท่ากับว่าทำกิจและทำจิตไปพร้อมกัน คือขณะที่เราทำงาน เราก็ทำจิตให้อยู่กับปัจจุบันด้วย คนส่วนใหญ่ทำกิจแต่ไม่ทำจิต หรือไม่รู้จักวางใจให้ถูก เช่น ทำงานวันจันทร์ตอนเช้า ใจมัวคิดถึงตอนบ่าย หรือทำงานวันจันทร์ ใจไปคิดถึงวันพุธหรือวันศุกร์แล้ว ยิ่งอยากจะทำงานให้เสร็จไว ก็ยิ่งพะวง ทำให้งานล่าช้าเพราะมัวแต่คิดมาก มัวแต่เครียด หรือพอกังวลแล้วก็หักโหม ทำงานจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็อาจป่วยได้ ทำให้งานเสร็จช้าลงไปอีก

    หากเราทำจิตควบคู่กับการทำกิจ เราก็จะรู้สึกผ่อนคลาย ทำงานเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส ที่ไม่ซีเรียสเพราะใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้จดจ่อถึงอนาคต และไม่กังวลถึงผลที่จะเกิดขึ้น ลองสังเกตดู เวลาเราทำงานแล้วใจไม่ค่อยอยู่กับปัจจุบัน คิดข้ามช็อตไปยังอนาคต หรือคิดถึงเส้นตายที่ใกล้เข้ามา ก็เลยรน อยากทำให้เสร็จไว ๆ แต่มันก็ไม่เสร็จสักที จึงรู้สึกหงุดหงิด นี่เรียกว่าไม่ทำจิต การทำจิตกับทำกิจไปพร้อมกันแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่หากทำได้มันก็จะทำให้ "งานได้ผล คนเป็นสุข"

    อาตมามีเพื่อนคนหนึ่งเป็นพระเซนชาวอเมริกัน อยู่ที่เบิร์กเลย์ เขาเล่าว่าอาจารย์ของอาจารย์ชื่อชุนเรียว ซูซูกิ เป็นอาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงในหมู่ชาวอเมริกัน และเป็นคนสร้างวัดเซนแห่งแรกในอเมริกา คือวัดเซนที่ซานฟรานซิสโก เมื่อประมาณ ๖๐ ปีที่แล้ว ตอนที่เริ่มสร้างวัดเซนในอเมริกานั้น อาจารย์ชุนเรียวอายุ ๖๐ ปีแล้ว เป็นคนญี่ปุ่นร่างเล็ก แต่มีลูกศิษย์หลายคนเป็นหนุ่มสาวอเมริกัน ส่วนใหญ่เป็นฮิปปี้ ตอนนั้นพวกฮิปปี้หันมาสนใจศาสนาตะวันออกกันมาก รุ่นเดียวกับเดอะบีทเทิลส์ที่ไปหาฤษีที่อินเดีย แต่ชาวอเมริกันหลายคนสนใจไปหาพระเซน ทั้งที่ญี่ปุ่นและอเมริกา

    ตอนสร้างวัดอาจารย์ชุนเรียวได้ลูกศิษย์หลายคนมาช่วยงาน มีการขนหินขนไม้ทั้งวัน ลูกศิษย์ฝรั่งตัวใหญ่และยังหนุ่มสาว ทำงานได้ครึ่งวันก็เหนื่อยมากต้องพัก แต่อาจารย์ชุนเรียวทำงานได้ทั้งวัน ลูกศิษย์ก็แปลกใจว่าอาจารย์ทำได้อย่างไร ไม่เหนื่อยเหรอ อาจารย์ซุนเรียวบอกว่า "ก็ผมพักทั้งวัน" ลูกศิษย์งงเลยเมื่อเจอคำตอบแบบนี้

    ลูกศิษย์ฝรั่งเวลาทำงาน ตัวแบกหิน ส่วนใจแบกทุกข์ ระหว่างที่ขนก็เอาแต่นึกว่าเมื่อไรจะเสร็จสักที ส่วนอาจารย์ชุนเรียวนั้นตัวแบกหิน แต่ใจไม่ได้แบกทุกข์ ใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่เอาความเหนื่อยกาย มาเป็นความทุกข์ของใจ ที่อาจารย์บอกว่าพักทั้งวัน คือพักใจ ใจไม่ได้แบกอะไรเลย ไม่ได้แบกหิน ไม่ได้แบกทุกข์

    เมื่อใจอยู่กับปัจจุบัน กายก็สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ "ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส" อาจดูเหมือนว่าเป็นสิ่งตรงข้าม ที่ไม่น่าประสานกันได้ คล้าย ๆ กับ "เดินช้า แต่ถึงเร็ว" มันแย้งกันแต่กลับเป็นไปได้จริง ๆ ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียสนี้คล้ายกับที่หลวงพ่อเทียนสอนว่า "ทำเล่น ๆ แต่ทำจริง ๆ" ทำเล่น ๆ กับทำจริง ๆ สองสิ่งนี้ดูเหมือนตรงข้ามกันเลย แต่ในการปฏิบัติธรรมมันสามารถประสานกันได้

    "ทำเล่น ๆ" คือ ทำโดยใจไม่คาดหวังกับผลที่จะเกิดขึ้น ไม่กังวลถึงผลที่จะตามมา ผิดพลาดอย่างไรก็ไม่เป็นไร แต่ขณะเดียวกันก็ "ทำจริง ๆ" คือทำไม่หยุด ตอนที่อาตมาเริ่มปฏิบัติธรรมที่วัดสนามใน มีความสงสัยว่าควรจะปฏิบัติธรรมตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง จึงถามหลวงพ่อเทียน ท่านตอบว่าให้ทำทั้งวัน ตั้งแต่เช้าตื่นขึ้นมาจนถึงเข้านอนเลย แต่คำว่า "ทำ" ที่หลวงพ่อเทียนพูดไม่ใช่การสร้างจังหวะ เดินจงกรม หรือปฏิบัติในรูปแบบเท่านั้น แต่ให้มีสติรู้ตัวกับทุกอย่าง นั่นคือ "ทำจริง ๆ" ซึ่งสอดคล้องกับที่บรู๊ซ เคิร์กบี้พูดว่า เวลาปีนเขาอย่าไปสนใจยอดเขา อย่าสนใจจุดหมาย สนใจแต่ดินใต้ฝ่าเท้า แล้วเดินไปทีละก้าว ๆ เดินไม่หยุด แล้วจะถึงเอง

    การปีนเขา การเดินทางไกล และการปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้แยกขาดจากกัน ใช้หลักการเดียวกันคือ ใจอยู่กับปัจจุบัน และทำความเพียรไม่หยุด เมื่อใจอยู่กับปัจจุบัน มันก็ผ่อนคลายไปเอง ตอนเดินธรรมยาตราอาตมาบอกผู้เดินอยู่เสมอว่า จุดหมายอยู่ไกลแค่ไหน ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ให้จุดหมายอยู่ที่ปลายเท้า ไม่ใช่อยู่ข้างหน้า เดินทีละก้าว ๆ ถ้าเดินไม่หยุดเดี๋ยวก็ถึงเอง เมื่อใจอยู่กับปัจจุบันความเครียดก็จะน้อยลง มีสมาธิได้ง่ายขึ้น เดินไป ๆ "อ้าว ถึงแล้วหรือนี่" หลายคนจะรู้สึกแบบนี้ เมื่อมีสมาธิกับการเดิน

    ยิ่งอยากให้ถึงไว กลับถึงช้า ยิ่งไม่สนใจที่จะถึงไว กลับถึงเร็ว ใครที่นับถอยหลังว่าเมื่อไรจะได้กลับบ้าน จะรู้สึกว่าแต่ละวันช่างผ่านไปช้าเหลือเกิน นึกบ่นในใจว่า "ทำไมช้าอย่างนี้" แต่ใครที่ไม่สนใจ ไม่ได้นับวัน เผลอแพล็บเดียวก็พบว่า "ถึงวันสุดท้ายแล้วหรือนี่" ความรู้สึกว่าเวลามันเคลื่อนไปเร็วหรือช้า อยู่ที่ใจของเราด้วย แค่นั่งสมาธิห้านาที ถ้าอยากจะให้ถึงห้านาทีไว ๆ ก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน นั่งประเดี๋ยวเดียวก็เปิดตาดูนาฬิกาว่าห้านาทีหรือยัง ทั้ง ๆ ที่เพิ่งผ่านไปแค่นาทีเดียว แต่คนที่ไม่ได้อยากให้เวลาผ่านไปไว ๆ มันกลับยิ่งผ่านไปเร็ว ยิ่งไม่สนใจจุดหมายก็ยิ่งถึงเร็ว วิธีที่จะทำให้เราวางจุดหมายปลายทางได้ก็คือ ใจอยู่กับปัจจุบัน

    หากมีท่าทีแบบนี้ การปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยาก หลวงพ่อเทียนบอกว่า “ทำเล่น ๆ แต่ทำจริง ๆ” มันจะไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเราทำงานด้วยท่าทีแบบนี้ การทำงานจะไม่ใช่เรื่องน่าหนักอกหนักใจ ถ้าเราเดินทางด้วยท่าทีแบบนี้ ทางไกลแค่ไหนใจก็ไม่ทุกข์ทรมาน ที่จริงยิ่งเดินทางไกลหรือไปเที่ยว ยิ่งจุดหมายปลายทางอยู่ไกล ยิ่งต้องใส่ใจปัจจุบันให้มาก

    อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เล่าว่า ตอนที่เดินจากเชียงใหม่กลับเกาะสมุยครั้งแรก มีช่วงหนึ่งที่ผ่านดอยอินทนนท์ ขาเดินขึ้นดอย ใจก็มีความกังวล นึกถึงว่าเมื่อไหร่จะถึง เพราะไม่ได้กินข้าวกินน้ำมาเลยทั้งวัน ปรากฏว่าพอใกล้ถึงยอดดอยก็เหนื่อยจนหมดแรง อาจารย์ประมวลบอกว่าตอนนั้นเหนื่อยแทบจะขาดใจ โชคดีมีคนชวนขึ้นรถเมื่อพอขึ้นไปถึงดอยอินทนนท์ ได้กินน้ำและพักผ่อนก็รู้สึกสบายขึ้น ขากลับเดินลงมา ระหว่างที่เดินได้เห็นทัศนียภาพสองข้างทาง และทิวทัศน์ที่อยู่ข้างล่างลิบ ๆ ก็อุทานขึ้นมาในใจว่าอัศจรรย์มาก สวยงามมาก สักพักก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ตอนขาขึ้นเราก็มาทางนี้ แต่ทำไมไม่เห็นทิวทัศน์อันสวยงามนี้เลย เพราะอะไร เพราะใจมัวจดจ่ออยู่ที่จุดหมาย จึงไม่ได้เห็นความงามสองข้างทาง

    แม้แต่การเดินทางท่องเที่ยว เราก็ควรหันมาใส่ใจกับสองข้างทาง มากกว่าจดจ่อถึงจุดหมายปลายทาง หลายคนไปเที่ยวแท้ ๆ แต่กลับเครียดมาก จะไปชมธรรมชาติที่ภูกระดึง แต่ใจกลับหงุดหงิดเพราะแฟนตื่นสาย ลูกก็เงอะงะ จึงกลัวว่าจะไปถึงที่หมายช้า ระหว่างทางรถติดก็หงุดหงิด ตั้งใจไปเที่ยวแต่หงุดหงิดตลอดทาง เพราะกลัวไปถึงที่หมายช้าหรือไม่ทันเวลา ทั้ง ๆ ที่ควรไปแบบสบาย ๆ ใจผ่อนคลาย แต่คนจำนวนมากเวลาไปเที่ยว ทั้ง ๆ ที่อยากผ่อนคลาย แต่กลับเครียด เพราะใจจดจ่อถึงแต่จุดหมายปลายทางตลอดเวลา จึงไม่ได้เห็นสองข้างทางที่สวยงาม อย่างนี้เรียกว่าใจอยู่กับอนาคต หรือไม่ก็หงุดหงิดที่ผัวตื่นสาย ลูกโอ้เอ้ ผ่านไปหลายชั่วโมงแล้วก็ยังหงุดหงิด อย่างนี้เรียกว่าติดอยู่กับอดีต ใจอยู่กับอดีตก็ทุกข์ ใจอยู่กับอนาคตก็กังวล เพราะฉะนั้นการกลับมาอยู่กับปัจจุบันเป็นเทคนิคที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรม การทำงาน หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยว

    ถ้าเราทำงานด้วยใจที่อยู่กับปัจจุบัน ก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว เป็นการเจริญสติในการทำงาน เวลาทำงานก็วางเรื่องอื่นลงชั่วคราว หลายคนเวลาทำงานก็กังวลถึงลูก จึงไม่มีสมาธิในการทำงาน เวลากลับบ้าน ตัวอยู่กับลูกแต่ใจกลับนึกถึงงาน เลยเครียดหนักอกหนักใจ แล้วก็เผลอด่าลูกโดยที่ลูกไม่รู้เรื่องอะไรด้วย หลายคนเป็นอย่างนี้ เวลาทำงานก็เป็นห่วงลูก เวลาอยู่กับลูกก็นึกถึงงาน เวลาจะนอนก็นึกถึงงาน ครั้นถึงเวลาทำงานก็ง่วงนอน พวกเราเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า

    อยู่กับปัจจุบัน หมายความว่า เวลาทำงานใจก็อยู่กับงาน วางลูก คนรัก พ่อแม่ไว้ก่อน เพราะตัวอยู่ที่ทำงานก็ช่วยอะไรไม่ได้ แต่เวลาอยู่กับลูก คนรัก พ่อแม่ ก็วางเรื่องงานเอาไว้ เพราะมีแต่จะทำให้เครียด และไม่ได้ช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นเลย การวางใจอยู่กับปัจจุบันช่วยทำให้ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างดีขึ้น ช่วยให้ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งความเครียดและความทุกข์ก็น้อยลงด้วย
    :- https://visalo.org/article/5000s11.html
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,578
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,042
    เห็นประโยชน์ของสรรพสิ่ง
    พระไพศาล วิสาโล
    ในสมัยพุทธกาล มีหมอท่านหนึ่งซึ่งเก่งมาก เรียกได้ว่าเป็นหมอเทวดา คือหมอชีวกโกมารภัจจ์ ทุกวันนี้ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ของการแพทย์แผนไทย หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นแพทย์ประจำตัวของพระพุทธเจ้า ประวัติของท่านน่าสนใจ มีเรื่องเล่าว่า ท่านไปเรียนวิชาแพทย์ที่ตักศิลา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน ท่านไปเรียนกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์นานถึง ๗ ปี ท่านตั้งใจเรียนมาก แต่หลังจากเรียนมา ๗ ปีแล้ว ก็สงสัยว่าตนมีความรู้พอหรือยัง วันหนึ่งจึงไปถามอาจารย์ว่า ที่ตนเรียนมานั้นพอใช้การได้หรือยัง จะต้องเรียนต่ออีกไหม

    อาจารย์จึงทดสอบความรู้ด้วยการให้ไปสำรวจพื้นที่ในรัศมี ๑ โยชน์ รอบเมืองตักศิลา หาดูว่ามีอะไรบ้างที่ใช้ทำยาไม่ได้ ชีวกโกมารภัจจ์ทำตามที่อาจารย์สั่ง ใช้เวลาอยู่นานก็กลับมารายงานอาจารย์ว่า ไม่มีอะไรที่ใช้ทำยาไม่ได้เลย ทุกอย่างสามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ทั้งนั้น รวมทั้งหญ้าคา วัชพืช หรือพวกที่มีพิษทั้งหลาย สามารถทำเป็นยาได้ทั้งนั้น บางอย่างใช้ราก บางอย่างใช้เม็ด บางอย่างใช้ใบ บางอย่างใช้เปลือก พอมารายงานเช่นนี้ อาจารย์ของท่านก็บอกว่า เธอสำเร็จการศึกษาแล้ว กลับบ้านได้

    ทุกอย่างที่อยู่รอบเมืองตักศิลา ไม่มีอะไรที่ใช้ทำยาไม่ได้เลย ที่จริงไม่ใช่เฉพาะพืชพรรณทั้งหลายเท่านั้น ต้องเรียกว่าทุกอย่างในโลกนี้ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น อาจจะไม่ใช่ประโยชน์ในทางรักษาโรค แต่ก็มีประโยชน์อย่างอื่น

    ทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่ไร้ประโยชน์เลย ขยะก็สามารถทำเป็นปุ๋ยได้ นำไปรีไซเคิล ใช้ประโยชน์ได้อีกหลายทอด เชื้อโรคก็มีประโยชน์ เอาไปทำวัคซีนได้ วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคก็มาจากเชื้อโรคนั่นแหละ พิษร้ายของงูก็เอามาทำเป็นเซรุ่มได้ เอาไว้รักษาแก้พิษงู สิ่งที่เป็นพิษหลายอย่างก็เอามาใช้รักษาโรคได้ สารเคมีที่ใช้รักษามะเร็ง ก็เป็นสารพิษแทบทั้งนั้น แต่มนุษย์ก็เอามาใช้รักษาโรคมะเร็งได้

    ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ที่เรามองว่าเป็นของไม่ดี มันมีประโยชน์ทั้งนั้น โรคภัยไข้เจ็บก็มีประโยชน์ ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด” และ “ป่วยทุกทีก็ให้ฉลาดทุกที” ฉลาดเรื่องอะไร ก็ฉลาดเรื่องชีวิต ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต มาเตือนให้เราเห็นว่าสังขารนี้ต้องถนอมรักษา เพราะถ้าไม่ถนอมรักษา ก็จะผุพังเร็ว เสื่อมโทรมเร็ว มันมาเตือนว่าเวลาที่เราอยู่ในโลกนี้ ที่เราสามารถจะทำอะไรได้อย่างเต็มที่ ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ ต้องรีบทำก่อนที่จะไม่มีโอกาสทำ

    พระพุทธเจ้าสอนพระภิกษุว่า เวลาเจ็บป่วยก็ให้ตระหนักว่า ตอนนี้ยังดีที่ป่วยเท่านี้ ต่อไปเราจะต้องป่วยหนักกว่านี้ ถึงตอนนั้นก็คงทำความเพียรไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ต้องรีบทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ แม้ป่วยอยู่ก็ต้องรีบฉวยโอกาส เพราะว่าต่อไปจะป่วยหนักกว่านี้ ไม่ควรใช้ความป่วยเป็นข้ออ้างในการเกียจคร้าน

    เมื่อมีสิ่งแย่ ๆ เกิดขึ้นกับเรา มองให้ดีมันมีประโยชน์ทั้งนั้น เช่น คำตำหนิติเตียน เมื่อถูกตำหนิติเตียนก็ให้รู้ว่ากำลังมีคนชี้ขุมทรัพย์ให้เรา มันไม่ใช่ความซวย แต่เป็นโชคดีที่มีคนชี้ขุมทรัพย์ให้ คำต่อว่าด่าทอ ช่วยงฝึกความอดทนให้กับเรา หรือฝึกให้เรารู้จักปล่อยวาง เวลาเกิดเหตุร้ายกับเรา อย่าไปมองว่าเป็นความซวย ให้มองหาว่าเราจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร เพราะทุกอย่างมีประโยชน์ทั้งนั้น

    มีชายคนหนึ่งเป็นช่างไฟ แล้วเกิดความผิดพลาด ไฟช็อตที่ขา ต้องตัดขาทั้งสองข้าง พิการตลอดชีวิต หลังจากนั้นไม่นานเมียก็ทิ้ง มีคนไปถามชายคนนี้ว่า รู้สึกอย่างไรที่ถูกเมียทิ้ง เขาตอบว่า“ผมไม่รู้สึกอะไรหรอกครับ ขนาดขาผมแท้ ๆ ยังไม่อยู่กับผม แล้วจะให้เมียมาอยู่กับผมได้อย่างไร”

    เขาไม่รู้สึกทุกข์กับการถูกเมียทิ้ง เพราะเขาได้เรียนรู้จากการถูกตัดขาทั้งสองข้าง ได้เรียนรู้ว่าขานี้ไม่ใช่ของเรา ถึงจะยึดมั่นว่าเป็นของเรา แต่มันก็จะไม่อยู่กับเราไปตลอด บางคนพอจะถูกตัดขาก็ฟูมฟาย คร่ำครวญว่า ทำไมถึงต้องเป็นฉัน ฉันอุตส่าห์สร้างความดี สร้างบุญกุศล แต่ชายคนนี้กลับมองว่า มันสอนเราว่าแม้แต่ขายังไม่อยู่กับเรา ตรงนี้เรียกว่าเกิดปัญญาซึ่งเป็นภูมิคุ้มกัน ทำให้พอถูกเมียทิ้งก็ไม่ทุกข์แล้ว แสดงว่าเขารู้จักใช้ประโยชน์จากเหตุร้ายให้กลายเป็นภูมิคุ้มกันความทุกข์ที่จะตามมา

     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,578
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,042
    (ต่อ)
    ไม่ใช่แต่เหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราเท่านั้น แม้กระทั่งกิเลสที่อยู่ภายในใจเราก็มีประโยชน์ ถ้ารู้จักใช้ มีเรื่องเล่าว่า สมัยที่หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพลยังมีชีวิตอยู่ วันหนึ่งมีโยมพาลูกชายวัย ๓ ขวบมาถวายจังหัน ถวายเสร็จเด็กก็เหลือบเห็นเงาะที่ปอกเปลือกแล้ว บนฝาบาตรของหลวงปู่ขาว เด็กเห็นว่ามันขาวน่ากินก็เกิดอยากกินขึ้นมา จึงจ้องมองตาไม่กะพริบ

    หลวงปู่ขาวถามว่าอยากกินเหรอ เด็กตอบว่าอยากกิน หลวงปู่ขาวก็บอกว่าถ้าอยากกินต้องนั่งสมาธิ เด็กถามว่านั่งสมาธิยังไง หลวงปู่ขาวจึงแนะนำให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้ายแล้วก็หลับตา ด้วยความอยากกินเงาะเด็กก็ทำตาม หลวงปู่ขาวให้คำบริกรรม บอกว่าให้ท่องในใจว่า “หมากเงาะ” เด็กอยากกินจึงทำตาม หลับตา แล้วนึกถึงคำว่าหมากเงาะ ตามที่หลวงปู่ขาวแนะนำ

    ระหว่างที่นั่งสมาธิ ทีแรกก็นั่งเลียริมฝีปากไปด้วย เพราะอยากกินมาก แต่พอนั่งไปสักพักจิตก็รวมเป็นหนึ่ง รู้สึกสงบ ไม่นานเด็กได้ยินเสียงระฆัง ลืมตามาอีกทีปรากฏว่าไม่มีใครอยู่บนศาลาแล้ว มีแต่หลวงปู่ขาวนั่งอยู่ใกล้ ๆ ปรากฏว่าตอนนั้นเป็นเวลาบ่าย ๓ แล้ว แสดงว่าเด็กนั่งนาน ๖-๗ ชั่วโมง

    ความอยากนั้นถือว่าเป็นโลภะหรือตัณหา แต่หลวงปู่ขาวฉลาด ท่านเอามาใช้ในการชักชวนเด็กให้นั่งสมาธิ ซึ่งเด็กก็สามารถทำได้ดี

    ในสมัยพุทธกาล มีเศรษฐีชื่อว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี ลูกชายคนหนึ่งของท่านไม่ค่อยสนใจธรรมะ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว แต่ว่าสอนลูกไม่ได้ จึงออกอุบายให้ลูกไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ลูกอยากได้เงินจึงไปฟังธรรมที่เชตวัน แต่ก็ไม่ได้ฟัง แค่ไปนั่งเฉย ๆ ปล่อยใจลอย คิดโน่นคิดนี่ ฟังธรรมเสร็จก็กลับบ้านมาขอเงินพ่อ พ่อก็ให้ ทำแบบนี้ครั้งสองครั้ง พ่อจึงกำชับว่า เวลาไปฟังธรรมครั้งต่อไปก็ให้จดจำคำสอนของพระพุทธองค์ แล้วกลับมาเล่าให้ฟัง

    ด้วยความอยากได้เงิน เมื่อไปฟังธรรมครั้งต่อไปเขาจึงตั้งใจฟัง และพยายามจดจำคำสอนให้ได้ แต่พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้เขาจำไม่ค่อยได้ ได้หน้าลืมหลัง จึงต้องตั้งใจฟังมากขึ้น พอตั้งใจฟังมากขึ้น ก็เข้าใจธรรม ถึงขั้นบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พอกลับมาบ้าน พ่อจะให้เงิน ลูกก็บอกว่าไม่ต้องแล้ว เพราะได้รับสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินคือธรรมะ

    ความอยากได้เงินเป็นโลภะ เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เอามาใช้ทำให้ลูกชายเห็นธรรม แบบนี้เรียกว่าใช้ตัณหาละตัณหา

    ขอให้เราตระหนักว่า แม้มีอกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ มันก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่จะต้องผลักไส กดข่ม อกุศลธรรมก็มีประโยชน์ มันเกิดขึ้นเพื่อให้เราเรียนรู้ ให้เราฝึกสติ ฝึกให้รู้ทันมัน มันมาเพื่อให้เราจดจำมันได้ ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อย ๆ แล้วเรามีสติ เห็นมัน จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า การจดจำภาวะอารมณ์ เมื่อมันเกิดขึ้นอีก เราจะจำมันได้เร็วขึ้น เมื่อเราจำมันได้เร็วขึ้น เราก็จะปล่อยวางได้เร็วขึ้น และไม่ถลำเข้าไปในอารมณ์นั้น

    คนเราเกิดโลภะ โทสะ? ปีหนึ่ง ๆ นับครั้งไม่ถ้วน วันหนึ่งก็หลายครั้ง แต่ก็ยังปล่อยให้มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ปล่อยให้มันเล่นงานจิตใจเราครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้จดจำมัน เหมือนกับว่าเราปล่อยให้พวกสิบแปดมงกุฏ มาหลอกเอาเงินเราครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นคนเดิม หน้าเดิม แต่มันก็หลอกเราครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเราไม่ได้เรียนรู้หรือจดจำมันเลย

    การเจริญสติ เป็นการฝึกให้เราเรียนรู้ จดจำมันได้ ทีแรกก็โดนกิเลส ตัณหา ความโลภมาหลอก แต่หลังจากที่มันเกิดขึ้น ครั้งแล้วครั้งเล่า สติก็จะทำให้เราจดจำมันได้ เมื่อมันมาอีก คราวนี้เรารู้จักแล้ว ไม่ยอมให้มันหลอกอีก เราแค่เห็น ไม่เข้าไปเป็น เข้าไปเป็นก็คือหลงเชื่อมัน หลงทำตามมัน แต่พอเราเห็น เราไม่เข้าไปเป็นแล้ว มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ มันก็หน้าม้านกลับไป เพราะมันหลอกเราไม่ได้อีกแล้ว

    แต่ประโยชน์ของมันไม่ได้มีเท่านั้น มีมากกว่านั้น คือสอนให้เราเข้าใจไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่เข้าใจจากการอ่านหนังสือ แต่เข้าใจจากการได้เห็นความจริง ทั้งจากกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในใจ ความฟุ้งซ่าน ความง่วงหงาวหาวนอน ความเครียด ความวิตกกังวล ความโกรธ เหล่านี้ล้วนสอนธรรมได้ทั้งสิ้น สอนให้เห็นถึงความไม่เที่ยง สอนให้เห็นว่า มันทนอยู่ไม่ได้นาน คือทุกขัง เพราะมันพร่อง ไม่สมบูรณ์ ถูกบีบคั้นด้วยความเกิด ความดับ และมันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่อาจยึดว่าเป็นเรา เป็นของเราได้

    อันนี้คือประโยชน์อย่างหนึ่งที่เราควรจะมองให้เห็นจากอกุศลธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่เห็นแล้วคิดแต่จะไปผลักไส เราต้องรู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์ ถ้าเราตระหนักว่าทุกอย่างล้วนมีประโยชน์ มันจะทำให้เรายอมรับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เมื่อเรารู้จักยอมรับสิ่งต่าง ๆ หรือรู้จักวางใจเป็นกลางต่อสิ่งต่าง ๆ ก็ไม่มีอะไรที่ทำให้เราทุกข์ได้ ความทุกข์ในใจ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่ามีสิ่งแย่ ๆ เกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร ถ้าเรารู้สึกลบ เราก็เป็นทุกข์ ถ้าเราไม่รู้สึกลบ ใจเราก็เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดัง แดดร้อน อากาศหนาว คำต่อว่าด่าทอ ความเจ็บป่วย ความสูญเสีย ถ้าเรายอมรับได้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ใจก็เป็นปกติ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ข้างหน้าเราคือความตาย ใจก็ยังสงบเย็นได้
    :- https://visalo.org/article/5000s17_2.html

     

แชร์หน้านี้

Loading...